พระสมณธรรมนูญ
FIDEI DEPOSITUM

ในโอกาสจัดพิมพ์หนังสือคำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิก

ซึ่งจัดพิมพ์เผยแผ่หลังสภาสังคายนาสากลวาติกันครั้งที่ 2

ยอห์น ปอล สังฆราช

ผู้รับใช้บรรดาผู้รับใช้พระเจ้า

ถึงบรรดาพระคาร์ดินัล พระสังฆบิดร พระอัครสังฆราช พระสังฆราช

พระสงฆ์ สังฆานุกรที่นับถือ

และสมาชิกประชากรทั้งมวลของพระเจ้า

เพื่อเป็นที่จดจำไว้ตลอดไป

องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบหลักความเชื่อไว้ให้พระศาสนจักรของพระองค์พิทักษ์รักษาไว้ และพระศาสนจักรก็ได้ปฏิบัติภารกิจนี้ตลอดมาโดยไม่หยุดยั้ง สภาสังคายนาสากลวาติกันครั้งที่ 2 ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปายอห์นที่ 23 ผู้ทรงดำรงตำแหน่งก่อนหน้าเรา และล่วงลับไปแล้ว ทรงเปิดประชุมเมื่อ 30 ปีก่อน มีความตั้งใจและหวังให้พันธกิจของพระศาสนจักรในด้านการแพร่ธรรมและงานอภิบาลได้ปรากฏอย่างเด่นชัด เพื่อแสงสว่างเจิดจ้าแห่งความจริงของพระวรสารจะได้ดึงดูดมวลมนุษย์ให้มาแสวงหาและรับความรักซึ่งเกินกว่าจะหยั่งรู้ได้ของพระคริสตเจ้า (เทียบ อฟ 3:19)

       สมเด็จพระสันตะปาปายอห์นที่ 23 ทรงมอบบทบาทสำคัญแก่สภาสังคายนานี้ให้ปกปักรักษาประมวลคำสอนคาทอลิกที่พระศาสนจักรได้รับสืบทอดต่อกันมาเป็นเสมือนขุมทรัพย์ประเสริฐนี้ไว้และพยายามมอธิบายอย่างเหมาะสม ให้มีความชัดเจน เข้าถึงบรรดาผู้มีความเชื่อในพระคริสตเจ้าและมวลมนุษย์ผู้มีน้ำใจดีได้มากยิ่งขึ้น ดังนั้นบทบาทของสภาสังคายนาจึงไม่ใช่การประณามความผิดร่วมสมัยนี้ทันที แต่ก่อนอื่นหมดจะต้องมีใจเป็นกลางพยายามแสดงให้ทุกคนแลเห็นพลังและความงดงามของคำสอนที่ความเชื่อสอนไว้ พระองค์ตรัสไว้ว่า “จากการที่ได้รับความสว่างจากสภาสังคายนานี้ พระศาสนจักรจึงได้รับความร่ำรวยทางจิตวิญญาณเพิ่มขึ้นดังที่เรามั่นใจ และได้รับพลังใหม่จากการประชุมครั้งนี้ สามารถมองไปข้างหน้าได้อย่างไม่หวั่นไหว....เป็นหน้าที่ของเราที่จะขวนขวายทำงานโดยไม่มีความกลัว ตามความต้องการในสมัยของเรา ขณะนี้พวกเรากำลังพยายามดำเนินตามวิถีทางที่พระศาสนจักรได้ดำเนินมาตลอดเวลาเกือบยี่สิบศตวรรษแล้ว”[1]

       เดชะพระเจ้าทรงช่วยเหลือ บรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมสภาสังคายนาได้ทำงานเป็นเวลาสี่ปีเพื่อรวบรวมข้อคำสอนและแนวทางปฏิบัติด้านอภิบาลต่างๆ ที่ไม่ควรละเลยเสนอต่อพระศาสนจักรสากล   ที่ตรงนี้บรรดาผู้อภิบาลและบรรดาคริสตชนผู้มีความเชื่อจะพบคำแนะนำเพื่อทำให้เกิด “การรื้อฟื้นความคิดกิจกรรม การปฏิบัติและคุณธรรมต่างๆ รวมทั้งความยินดีและความหวัง ตามที่สภาสังคายนาเคยหวังไว้อย่างเต็มที่”[2]

       แม้เมื่อการประชุมเสร็จสิ้นไปแล้ว สภาสังคายนาก็ยังครั้งนี้ก็ยังคงเป็นแรงบันดาลใจชีวิตของพระศาสนจักรอยู่ต่อไปโดยไม่หยุดยั้ง เมื่อปี ค.ศ. 1985 เราได้ประกาศว่า “สำหรับเราซึ่งได้รับโอกาสพิเศษให้มีส่วนร่วมงานในการประชุมครั้งนี้ด้วยนั้น สภาสังคายนาวาติกันครั้งที่สองยังดำรงอยู่เสมอ และยังมีเหตุผลพิเศษที่จะคงเป็นข้ออ้างอิงถาวรสำหรับงานอภิบาลสากล โดยเฉพาะตลอดสมณสมัยของเรา ในความพยายามที่จะนำข้อแนะนำต่างๆ มาปรับใช้สำหรับพระศาสนจักรท้องถิ่นและทั่วพระศาสนจักรคาทอลิก โดยต้องย้ำถึงที่มาของข้อแนะนำเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา”[3]

       ในความสำนึกเช่นนี้ เราจึงได้เรียกประชุมสมัชชาพิเศษของบรรดาพระสังฆราชเมื่อวันที่ 25 เดือนมกราคม ค.ศ. 1985 ซึ่งตรงกับโอกาสครบรอบ 20 ปีของการปิดประชุมสภาสังคายนา เจตนาของการประชุมสมัชชาพิเศษครั้งนี้ก็เพื่อเฉลิมฉลองพระหรรษทานและผลประโยชน์ด้านจิตใจของสภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 เพื่อศึกษาคำสั่งสอนของสภาสังคายนาให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อบรรดาคริสตชนผู้มีความเชื่อจะได้ยึดมั่นคำสั่งสอนเหล่านี้อย่างมั่นใจ ยอมรับและนำมาปฏิบัติอย่างกว้างขวางมากขึ้น

       ในโอกาสนั้น บรรดาพระสังฆราชที่ร่วมประชุมสมัชชาได้ประกาศว่า “แทบทุกคนมีความปรารถนาร่วมกันอยากให้มีการเรียบเรียงหนังสือคำสอน หรือการรวบรวมคำสั่งสอนคาทอลิกทั้งเกี่ยวกับความเชื่อและแนวทางปฏิบัติ ไว้ให้เป็นจุดอ้างอิงสำหรับหนังสือคำสอนหรือการรวบรวม คำสั่งสอนที่จะเรียบเรียงขึ้นในท้องถิ่นต่างๆ การนำเสนอคำสั่งสอนควรมีลักษณะที่อิงอยู่กับพระคัมภีร์และพิธีกรรม นำเสนอคำสั่งสอนที่ถูกต้องพร้อมทั้งปรับให้เหมาะกับชีวิตปัจจุบันของบรรดาคริสตชนด้วย”[4] เมื่อการประชุมสมัชชาจบแล้ว เราก็ทำให้ความปรารถนาเช่นนี้เป็นของเราด้วย โดยคิดว่าความปรารถนาเช่นนี้ “ตรงกับความต้องการแท้จริงของพระศาสนจักรสากลและพระศาสนจักรท้องถิ่นต่างๆ ด้วย”[5]

       เพราะเหตุนี้เราจึงขอบพระคุณองค์พระผู้เป็นเจ้าในวันที่เราเสนอ “เอกสารเพื่อใช้อ้างอิง” นี้ที่เรียกว่า “คำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิก” ได้เพื่อใช้เป็นแหล่งข้อมูลความเชื่อทันสมัยสำหรับปรับปรุง    การสอนคำสอน

       หลังจากที่ได้ปฏิรูปพิธีกรรมและรวบรวมประมวลกฎหมายพระศาสนจักรละตินและพระศาสนจักรคาทอลิกจารีตตะวันออกแล้ว หนังสือคำสอนเล่มนี้จะช่วยเหลือการปรับปรุงชีวิตของทั่วพระศาสนจักรได้อย่างมากตามที่สภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ปรารถนาและได้เริ่มปฏิบัติแล้ว

       หนังสือคำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิกฉบับนี้เป็นผลของการร่วมมือกันอย่างกว้างขวาง ได้สำเร็จลงจากการทำงานอย่างแข็งขันเป็นเวลา 6 ปีด้วยการเปิดใจอย่างจริงจังและกระตือรือร้น

       เมื่อปี ค.ศ. 1986 เราได้มอบให้พระคาร์ดินัลและพระสังฆราชกลุ่มหนึ่งจำนวน 12 ท่าน ซึ่งมีพระคาร์ดินัลโยเซฟ รัตซิงเกอร์เป็นประธาน เป็นธุระจัดการเตรียมร่างหนังสือคำสอนที่บรรดาพระสังฆราชของสภาสังคายนาขอร้อง คณะกรรมการยกร่างซึ่งประกอบด้วยพระสังฆราชประจำสังฆมณฑลเจ็ดท่าน  ผู้เชี่ยวชาญด้านเทววิทยาและคำสอนคอยช่วยเหลือการทำงานคณะกรรมการกลุ่มนี้

       คณะกรรมการซึ่งมีหน้าที่เสนอหลักการและคอยเฝ้าดูแลการดำเนินงานได้เอาใจใส่ติดตามยกร่างทั้ง 9 ฉบับ คณะกรรมการบรรณาธิการมีหน้าที่รับผิดชอบในการเรียบเรียงตัวบท เปลี่ยนแปลงแก้ไขตามที่คณะกรรมการขอร้อง และตรวจดูข้อสังเกตของนักเทววิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านการสอนคริสตศาสนาหลายคน และโดยเฉพาะของบรรดาพระสังฆราชจากทั่วโลก เพื่อปรับปรุงตัวบทให้ดีขึ้น ความเห็นต่างๆ ถูกนำมาเปรียบเทียบกันในที่ประชุมและเกิดประโยชน์อย่างใหญ่หลวง ตัวบทที่ได้มาจึงมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นและมีความต่อเนื่องเป็นเอกภาพ

       โครงการที่นำเสนอนี้ได้รับการพิจารณาอย่างกว้างขวางจากบรรดาพระสังฆราชคาทอลิก สภาและสมัชชาต่างๆ ของบรรดาพระสังฆราช รวมทั้งสถาบันทางเทววิทยาและการสอนคำสอนด้วย กล่าวโดยรวมแล้วบรรดาพระสังฆราชได้ตอบรับโครงการนี้เป็นอย่างดี จนอาจกล่าวได้ว่าหนังสือคำสอนฉบับนี้เป็นผลงานจากการร่วมมือกันของพระสังฆราชทุกคนของพระศาสนจักรคาทอลิกซึ่งได้ตอบรับคำเชื้อเชิญของเราด้วยใจกว้างที่จะมีส่วนร่วมความรับผิดชอบในการริเริ่มงานนี้ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิตของพระศาสนจักร การตอบรับเช่นนี้ทำให้เรามีความยินดีอย่างยิ่ง เพราะความเห็นต่างๆ ที่กลมกลืนกันเหล่านี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นเสมือน “วงดุริยางค์” ความเชื่อวงใหญ่ การประสบความสำเร็จของหนังสือคำสอนฉบับนี้จึงยิ่งสะท้อนลักษณะการร่วมงานเป็นหมู่คณะของบรรดาพระสังฆราช เป็นเครื่องหมายของความเป็นสากลของ
พระศาสนจักร

       หนังสือคำสอนจำเป็นต้องเสนอคำสั่งสอนของพระคัมภีร์และธรรมประเพณีที่เป็นปัจจุบันของพระศาสนจักรอย่างซื่อสัตย์และเป็นระเบียบ รวมทั้งคำสั่งสอนทางการของพระศาสนจักรและมรดกด้านจิตวิญญาณของบรรดาปิตาจารย์ นักปราชญ์ และบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งชายและหญิงของพระศาสนจักร เพื่อว่าพระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้าจะได้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นและประชากรของพระเจ้าจะได้มีความเชื่อเข้มแข็งขึ้นด้วย จำเป็นต้องคำนึงถึงวิธีการที่เหมาะสมเพื่อประกาศคำสั่งสอนที่พระจิตเจ้าทรงเสนอแนะแก่พระศาสนจักรตลอดมาในอดีต หนังสือคำสอนนี้ยังต้องใช้แสงสว่างของความเชื่อช่วยอธิบายสถานการณ์และปัญหาใหม่ๆ ในปัจจุบันที่ไม่เคยเกิดขึ้นในอดีตอีกด้วย

       ดังนั้น หนังสือคำสอนจึงจะต้องกล่าวถึงทั้งเรื่องใหม่และเรื่องเก่า (เทียบ มธ 13:52) เพราะความเชื่อยังคงเป็นเหมือนเดิมอยู่เสมอและยังต้องเป็นบ่อเกิดความสว่างใหม่อยู่เสมอด้วย

       เพื่อจะตอบสนองความต้องการทั้งสองประการนี้ได้ หนังสือคำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิกในด้านหนึ่งจึงจัดเรียงเนื้อหาตามลำดับเดิมที่เคยใช้ในหนังสือคำสอนของนักบุญปีโอที่ 5 โดยแบ่งเนื้อหาเป็นสี่ภาค คือ (1) ข้อความเชื่อ (2) พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ที่ส่วนใหญ่กล่าวถึงศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ (3) วิธีดำเนินชีวิตของคริสตชน โดยเริ่มอธิบายถึงพระบัญญัติสิบประการ และในที่สุด (4) การอธิษฐานภาวนาของ
 

คริสตชน อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกันเนื้อหาเหล่านี้บ่อยๆ ก็ได้รับการเสนอในแบบ “ใหม่” ให้สอดคล้องกับความต้องการของสมัยปัจจุบันของเรา

       เนื้อหาทั้งสี่ภาคนี้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน พระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้าเป็นเรื่องที่เราต้องเชื่อ (ภาคแรก) พระธรรมล้ำลึกนี้ได้รับการเฉลิมฉลองและเรามีส่วนร่วมในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ (ภาคสอง) พระธรรมล้ำลึกนี้อยู่ใกล้ชิดเพื่อส่องสว่างและค้ำจุนประชากรของพระเจ้าในกิจกรรมต่างๆ ที่เขาปฏิบัติ (ภาคสาม) พระธรรมล้ำลึกนี้ยังเป็นพื้นฐานของคำอธิษฐานภาวนาของเรา ซึ่งบทภาวนาที่มีความหมายพิเศษสุดก็คือบท “ข้าแต่พระบิดา” และยังเป็นเนื้อหาคำวอนขอ คำสรรเสริญ และการอธิษฐานภาวนาแทนพี่น้องของเราด้วย (ภาคสี่)

       พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์เองก็เป็นการอธิษฐานภาวนา การประกาศแสดงความเชื่อมีที่อยู่เหมาะสมในการเฉลิมฉลองพิธีกรรม พระหรรษทานซึ่งเป็นผลของศีลศักดิ์สิทธิ์เป็นเงื่อนไขที่ไม่มีสิ่งใดมาแทนได้สำหรับชีวิตที่มีประสิทธิภาพของคริสตชน เช่นเดียวกับที่เราจำเป็นต้องมีความเชื่อในการร่วมพิธีกรรมของพระศาสนจักร ถ้าความเชื่อไม่มีผลงานก็เป็นความเชื่อที่ตายแล้ว (เทียบ ยก 2:14-26) และไม่อาจเกิดผลเป็นชีวิตนิรันดรได้

       ขณะที่อ่านหนังสือคำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิก เราจะรู้สึกได้ว่าพระธรรมล้ำลึกของพระเจ้ามีเอกภาพอย่างน่าพิศวง เช่นเดียวกับแผนการของพระองค์เพื่อบันดาลความรอดพ้น และความเป็นศูนย์กลางของพระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระเจ้า ผู้ที่พระบิดาทรงส่งมาให้รับสภาพมนุษย์ในพระครรภ์ของพระมารดาพรหมจารีมารีย์เดชะพระจิตเจ้าเพื่อทรงเป็นพระผู้กอบกู้ของเรา พระคริสตเจ้านี้ เมื่อทรงสิ้นพระชนม์และกลับคืนพระชนมชีพแล้ว ยังประทับอยู่ตลอดไปในพระศาสนจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ พระองค์ยังทรงเป็นบ่อเกิดแห่งความเชื่อ เป็นแบบฉบับของการดำเนินชีวิตคริสตชนและเป็นอาจารย์สอนเราให้อธิษฐานภาวนา

       หนังสือคำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิก ซึ่งเราได้อนุมัติรับรองเมื่อวันที่ 25 เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และวันนี้ยังสั่งโดยอำนาจของเราในฐานะพระสันตะปาปาให้จัดการพิมพ์เผยแพร่นี้ เป็นการประกาศสอนความเชื่อคาทอลิกโดยมีพระคัมภีร์ ธรรมประเพณีที่สืบทอดมาจากบรรดาอัครสาวก รวมทั้งอำนาจสั่งสอนของพระศาสนจักรเป็นพยานยืนยันและอธิบายอย่างชัดเจน เราขอประกาศว่าหนังสือนี้ฉบับนี้เป็นกฎเกณฑ์ถาวรเพื่อสั่งสอนข้อความเชื่อ และดังนี้จึงเป็นอุปกรณ์ซึ่งได้รับการรับรองอย่างมั่นคงเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ภายในพระศาสนจักร ขอหนังสือนี้สนับสนุนพระศาสนจักรให้ได้รับการฟื้นฟูที่พระจิตเจ้าทรงเรียกพระศาสนจักรซึ่งเป็นพระกายของพระคริสตเจ้ามารับอยู่ตลอดเวลาในการเดินทางไปสู่แสงสว่างของพระอาณาจักรโดยไม่มีเงามืดใดๆ มาปิดบังไว้เลย

       การรับรองและจัดการพิมพ์เผยแพร่หนังสือคำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิกนับเป็นบทบาทหน้าที่ซึ่งผู้สืบตำแหน่งจากนักบุญเปโตรปรารถนาจะมอบให้แก่พระศาสนจักรคาทอลิก แก่พระศาสนจักรท้องถิ่นทุกแห่งที่มีความสัมพันธ์และสันติภาพกับพระศาสนจักรแห่งกรุงโรมที่สืบทอดมาจากบรรดาอัครสาวก นั่นคือบทบาทหน้าที่ที่จะสนับสนุนและส่งเสริมความเชื่อของมวลศิษย์ของพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าให้มั่นคง (เทียบ ลก 22:32) เช่นเดียวกับการส่งเสริมเอกภาพของความเชื่อเดียวกันที่ได้รับมาจากบรรดาอัครสาวกด้วย

       เราจึงขอร้องผู้อภิบาลและคริสตชนผู้มีความเชื่อทุกคนของพระศาสนจักรให้รับหนังสือคำสอนฉบับนี้ด้วยจิตวิญญาณของความร่วมเป็นหนึ่งเดียวกัน และพยายามใช้หนังสือฉบับนี้ในการปฏิบัติภารกิจประกาศความเชื่อและเชิญชวนทุกคนให้ดำเนินชีวิตตามพระวรสาร เรามอบหนังสือคำสอนฉบับนี้ให้แก่ทุกคนเพื่อเขาจะได้มีตัวบทที่ถูกต้องชัดเจนไว้ใช้อ้างอิงในการสอนคำสอนคาทอลิกและโดยเฉพาะเพื่อใช้เตรียมหนังสือคำสอนตามท้องถิ่นต่างๆ เรายังมอบหนังสือนี้แก่คริสตชนผู้มีความเชื่อทุกคนที่ปรารถนาจะรู้จักให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น “ถึงความไพบูลย์สุดที่จะหยั่งรู้ได้ของพระคริสตเจ้า” (เทียบ อฟ 3:8) หนังสือฉบับนี้ยังปรารถนาจะสนับสนุนงานคริสตศาสนิกสัมพันธ์ในความพยายามสร้างเอกภาพของมวลคริสตชนโดยพยายามเป็นพิเศษที่จะชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันอย่างน่าพิศวงยิ่งของความเชื่อคาทอลิก ในที่สุดเรายังมอบหนังสือคำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิกนี้แก่ทุกคนที่แสวงหาเหตุผลของความหวังนั้นที่เรามี (เทียบ 1 ปต 3:15) และปรารถนาจะเรียนรู้ว่าพระศาสนจักรคาทอลิกมีความเชื่อถึงเรื่องใดบ้าง

       หนังสือคำสอนฉบับนี้ไม่ต้องการเข้าไปแทนที่หนังสือคำสอนที่เคยแต่งขึ้นไว้ตามท้องถิ่นต่างๆ และได้รับการรับรองเป็นทางการแล้วจากผู้ปกครองพระศาสนจักร พระสังฆราชประจำสังฆมณฑลและสภาพระสังฆราชในที่ต่างๆ โดยเฉพาะที่ได้รับการรับรองจากสันตะสำนักแล้ว หนังสือคำสอนฉบับนี้มีเจตนาเพื่อส่งเสริมและช่วยเหลือการเรียบเรียงหนังสือคำสอนใหม่ของท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งคำนึงถึงสภาพความเป็นอยู่และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แต่ยังคงเอาใจใส่รักษาเอกภาพของความเชื่อและความซื่อสัตย์ต่อคำสอนคาทอลิกไว้ด้วย

       เพื่อสรุปเอกสารฉบับนี้ที่แนะนำหนังสือคำสอนของพระศาสนจักร เราวอนขอพระนางพรหมจารีมารีย์ผู้ศักดิ์สิทธิ์ พระมารดาของพระวจนาตถ์ผู้ทรงรับสภาพมนุษย์และพระมารดาของพระศาสนจักร ทรงวอนขอพระเจ้าแทนชาวเราให้ทรงค้ำจุนงานสอนคำสอนทั่วพระศาสนจักรในระดับต่างๆ ที่พระศาสนจักรในปัจจุบันได้รับเรียกให้พยายามประกาศข่าวดีในแบบใหม่ ขอให้แสงสว่างแห่งความเชื่อแท้จริงได้ช่วยมวลมนุษย์ให้พ้นจากความไม่รู้และการเป็นทาสของบาป เพื่อนำทุกคนไปรับอิสรภาพหนึ่งเดียวที่เหมาะสมกับนามนี้ (เทียบ ยน 8:32) นั่นคืออิสรภาพที่จะดำเนินชีวิตบนแผ่นดินนี้ในองค์พระเยซูคริสตเจ้าโดยมี
พระจิตเจ้าทรงเป็นผู้นำ เพื่อจะได้ชมเชยพระพักตร์ของพระเจ้าโดยตรง มีความสุขอย่างเต็มเปี่ยมใน
พระอาณาจักรสวรรค์ (เทียบ 1 คร 13:12; 2 คร 5:6-8)!

       ให้ไว้ ณ วันที่ 11 เดือนตุลาคม ค.ศ. 1992 ตรงกับปีที่ 30 ของการเริ่มประชุมสภาสังคายนาสากลวาติกันครั้งที่ 2 เป็นปีที่สิบสี่แห่งสมณสมัยของเรา

ยอห์น ปอล ที่ 2 พระสันตะปาปา

[1] Ioannis Pp. XXIII allocutio in sollemni ritu ineundi Concilii Oecumenici Vaticani Secundi, die XI mensis Octobris, anno MCMLXII: AAS 54 (1962), 788-791.

[2] Pauli Pp. VI allocutio in sollemni ritu conclusionis Concilii Oecumenici Vaticani Secundi, die VIII mensis Decembris, anno MCMLXV: AAS 58 (1966), 7-8.

[3] Allocutio habita die xxv mensis Ianuarii, anno MCMLXXXV: L’Osservatore Romano, die XXVII mensis Ianuarii, anno MCMLXXXV.

[4] Synodus Episcoporum (in coetum generalem extraordinarium congregata, 1985), Relatio finalis, die VII mensis Decembris, anno MCMLXXXV, II, B, a, n. 4 (E Civitate Vaticana 1985) p. 11.

[5] Allocutio habita ad Patres congregatos exeunte Synodo Episcoporum (in coetum generalem extraordinarium congregata) die VII mensis Decembris, anno MCMLXXXV, n. 6: AAS 78 (1986), 435.