ส่วนที่หนึ่ง
การอธิษฐานภาวนาในชีวิตคริสตชน
2558 “พระธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่อนั้นยิ่งใหญ่” พระศาสนจักรกล่าวถึงพระธรรมล้ำลึกนี้ในสูตรประกาศความเชื่อของบรรดาอัครสาวก (ภาคที่หนึ่ง) และเฉลิมฉลองพระธรรมล้ำลึกนี้ในพิธีกรรมศีลศักดิ์สิทธิ์ (ภาคที่สอง) เพื่อให้ชีวิตของบรรดาผู้มีความเชื่อได้สอดคล้องกับพระคริสตเจ้าในพระจิตเจ้าเพื่อพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าพระบิดา (ภาคที่สาม) ดังนั้น พระธรรมล้ำลึกนี้จึงเรียกร้องให้บรรดาผู้มีความเชื่อได้เชื่อ ได้เฉลิมฉลอง และดำเนินชีวิตจากพระธรรมล้ำลึกนี้ในความสัมพันธ์ที่มีชีวิตชีวาและเป็นส่วนตัวกับพระเจ้าเที่ยงแท้ผู้ทรงชีวิต ความสัมพันธ์นี้ก็คือการอธิษฐานภาวนา
การอธิฐานภาวนาคืออะไร?
“สำหรับดิฉัน การอธิษฐานภาวนา ก็คือการยกใจขึ้น เป็นเพียงการเพ่งมองไปยังสวรรค์ เป็นเสียงร้องแสดงความกตัญญูรู้คุณและความรักทั้งในยามทุกข์และในยามสุข”[1]
การอธิษฐานภาวนาในฐานะของประทานจากพระเจ้า
2559 “การอธิษฐานภาวนาเป็นการยกความคิดจิตใจขึ้นหาพระเจ้าหรือเป็นการวอนขอพระเจ้าประทานให้เราตามพระทัยพระองค์”[2] เพื่ออธิษฐานภาวนาเราพูดจากอะไร? จากความยิ่งใหญ่ของเราและจากความปรารถนาอันสูงส่งของเรา หรือ “จากเหวลึก” (สดด 130:1) ของจิตใจต่ำต้อยและเป็นทุกข์? ผู้ที่ถ่อมตนลงย่อมได้รับการยกย่อง[3] ความสุภาพถ่อมตนเป็นรากฐานของการอธิษฐานภาวนา “เราไม่รู้ว่าจะต้องอธิษฐานภาวนาขอสิ่งใดที่เหมาะสม” (รม 8:26) ความสุภาพถ่อมตนเป็นการเตรียมตนเพื่อรับสิ่งที่เราวอนขอมาโดยไม่ต้องมีอะไรแลกเปลี่ยน มนุษย์เป็นเหมือนขอทานเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า[4]
2560 “หากท่านรู้จักของประทานของพระเจ้า” (ยน 4:10) ความน่าพิศวงของการอธิษฐานภาวนาได้รับการเปิดเผยริมบ่อน้ำที่พวกเรามาตักน้ำ ที่ตรงนั้นพระคริสตเจ้าเสด็จมาพบเรามนุษย์
ทุกคน พระองค์ทรงเป็นคนแรกที่มาหาพวกเราและขอน้ำดื่ม พระเยซูเจ้าทรงกระหาย คำขอของพระองค์มาจากส่วนลึกของพระเจ้าผู้ทรงปรารถนาพวกเรา ไม่ว่าเราจะรู้หรือไม่ การอธิษฐานภาวนาเป็นการที่ความกระหายของพระเจ้าและของเรามาพบกัน พระเจ้าทรงกระหายอยากให้เรากระหายหาพระองค์[5]
2561 “ท่านคงกลับเป็นผู้ขอ และผู้นั้นจะให้น้ำที่ให้ชีวิตแก่ท่าน” (ยน 4:10) ดูเหมือนว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ คำภาวนาวอนขอของเรากลับเป็นคำตอบ เป็นคำตอบต่อคำวอนขอของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต “เขาได้ละทิ้งเราซึ่งเป็นพุน้ำไหล แล้วไปสกัดหินเป็นที่ขังน้ำสำหรับตน เป็นที่ขังน้ำรั่วซึ่งเก็บน้ำไว้ไม่ได้” (ยรม 2:13) เป็นคำตอบของความเชื่อต่อพระสัญญาที่จะประทานความรอดพ้นให้เปล่าๆ[6] เป็นคำตอบของความรักต่อความกระหายของพระบุตรเพียงพระองค์เดียว[7]
การอธิษฐานภาวนาในฐานะพันธสัญญา
2562 การอธิษฐานภาวนาของมนุษย์มาจากไหน ไม่ว่าการอธิษฐานภาวนาแสดงออกมาอย่างไร (โดยท่าทางและคำพูด) ก็เป็นมนุษย์ทั้งตัวที่อธิษฐานภาวนา แต่ถ้าจะให้บอกว่าการอธิษฐานภาวนามาจากที่ใด พระคัมภีร์บางครั้งกล่าวถึงวิญญาณหรือจิต แต่บ่อยที่สุดกล่าวถึง “ดวงใจ” (มากกว่าหนึ่งพันครั้ง) ดวงใจอธิษฐานภาวนา ถ้า “ใจ” อยู่ห่างจากพระเจ้า ถ้อยคำอธิษฐานภาวนาก็ไร้ความหมาย
2563 ใจเป็นที่ที่ฉันอยู่ เป็นที่อาศัยของฉัน (ตามสำนวนเซมีติคของพระคัมภีร์ – เป็นที่ที่ฉัน “หลบลงไป”) เป็นศูนย์กลางที่ซ่อนเร้นของเรา ที่เหตุผลของเราหรือของผู้อื่นไม่อาจเข้าใจได้ มีแต่พระจิตของพระเจ้าเท่านั้นที่เข้าไปสำรวจและหยั่งรู้ได้ เป็นสถานที่ของการตัดสินใจ ในส่วนลึกที่สุดของความโน้มเอียงทางจิตใจของเรา เป็นที่อยู่ของความจริง เป็นที่ที่เราเลือกชีวิตหรือความตาย ใจยังเป็นที่พบกันด้วย ดังนั้น ในเมื่อเราเป็นภาพลักษณ์ของพระเจ้า เราจึงมีชีวิตอยู่ในความสัมพันธ์กับพระองค์ ใจจึงเป็นสถานที่ของพันธสัญญากับพระองค์ด้วย
2564 การอธิษฐานภาวนาของคริสตชนเป็นความสัมพันธ์ของพันธสัญญาระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ในพระคริสตเจ้า เป็นกิจการของพระเจ้าและของมนุษย์ เกิดขึ้นจากพระจิตเจ้าและจากพวกเรามุ่งไปหาพระบิดาโดยตรง ร่วมกับพระประสงค์แบบมนุษย์ของพระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงรับสภาพเป็นมนุษย์
การอธิษฐานภาวนาในฐานะความสัมพันธ์
2565 ในพันธสัญญาใหม่ การอธิษฐานภาวนาเป็นความสัมพันธ์มีชีวิตชีวาที่บรรดาบุตรของพระเจ้ามีกับพระบิดาผู้ทรงความดีหาขอบเขตมิได้ของเขา มีกับพระบุตรของพระองค์ คือพระเยซูคริสตเจ้าและกับพระจิตเจ้า พระหรรษทานของพระอาณาจักรเป็น “การพิศเพ่งพระตรีเอกภาพศักดิ์สิทธิ์ผู้ทรงปกครองสรรพสิ่ง […] และทรงรวมพระองค์ทั้งหมดกับจิตใจของเรา”[8] ดังนั้น ชีวิตการอธิษฐานภาวนาจึงเป็นการอยู่เฉพาะพระพักตร์พระเจ้าและมีความสัมพันธ์กับพระองค์จนเป็นนิสัย ความสัมพันธ์แห่งชีวิตเช่นนี้เป็นไปได้อยู่เสมอ เพราะเราเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้าอาศัยศีลล้างบาป[9] การอธิษฐานภาวนาเป็นแบบคริสตชนในฐานะที่เป็นความสัมพันธ์กับพระคริสตเจ้าและขยายกว้างออกไปทั่วพระศาสนจักรซึ่งเป็นพระกายทิพย์ของพระองค์ ขอบเขตของการอธิษฐานภาวนานี้ก็คือขอบเขตความรักของพระคริสตเจ้านั่นเอง[10]
[1] Sancta Theresia a Iesu Infante, Manuscrit C, 25r: Manuscrits autobiographiques (Paris 1992) p. 389-390.
[2] Sanctus Ioannes Damascenus, Expositio fidei, 68 [De fide orthodoxa 3, 24]: PTS 12, 167 (PG 94, 1089).
[3] เทียบ ลก 18:9-14.
[4] Cf Sanctus Augustinus, Sermo 56, 6, 9: ed. P. Verbraken: Revue Bénédictine 68 (1958) 31 (PL 38, 381).
[5] Cf Sanctus Gregorius Nazianzenus, Oratio 40, 25: SC 358, 261 (PG 36, 398); Sanctus Augustinus, De diversis quaestionibus octoginta tribus, 64, 4: CCL 44A, 140 (PL 40, 56).
[6] เทียบ ยน 7:37-39; อสย 12:3; 51:1.
[7] เทียบ ยน 19:28; ศคย 12:10; 13:1.
[8] Sanctus Gregorius Nazianzenus, Oratio 16, 9: PG 35, 945.
[9] เทียบ รม 6:5.
[10] อฟ 3:18-21.