บทที่หนึ่ง

ข้าพเจ้าเชื่อในพระเจ้าพระบิดา

 

 198      การยืนยันความเชื่อของเราเริ่มจาก พระเจ้า เพราะพระเจ้าทรงเป็น “เบื้องต้นและบั้นปลาย” (อสย 44:6) ทรงเป็นจุดเริ่มต้นและจุดจบของทุกสิ่ง บท “ข้าพเจ้าเชื่อ” เริ่มจากพระเจ้าพระบิดา เพราะพระบิดาทรงเป็นพระบุคคลแรกของพระตรีเอกภาพ สูตรยืนยันความเชื่อของเราเริ่มจากการเนรมิตสร้างฟ้าดิน เพราะการเนรมิตสร้างเป็นจุดเริ่มและรากฐานของพระราชกิจทั้งหลายของพระเจ้า

ตอนที่ 1

ข้าพเจ้าเชื่อในพระเจ้า พระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพ ทรงเนรมิตฟ้าดิน

 

วรรค 1

ข้าพเจ้าเชื่อในพระเจ้า

 

 199     “ข้าพเจ้าเชื่อในพระเจ้า” – การยืนยันความเชื่อข้อแรกนี้เป็นการประกาศยืนยันที่เป็นพื้นฐานที่สุด สูตรยืนยันความเชื่อทั้งบทกล่าวถึงพระเจ้า และเมื่อกล่าวถึงมนุษย์และโลก ก็ทำเช่นนี้โดยพาดพิงถึงพระเจ้าด้วย ข้อความทุกข้อของการยืนยันความเชื่อขึ้นอยู่กับข้อแรกนี้ เช่นเดียวกับที่บทบัญญัติของพระเจ้าทุกข้ออธิบายบทบัญญัติข้อแรก การยืนยันความเชื่อข้ออื่นๆ ทำให้เรารู้จักดียิ่งขึ้นว่าพระเจ้าทรงค่อยๆ เปิดเผยพระองค์ให้มนุษย์รู้จักว่าทรงเป็นอย่างไร จึง“เป็นการถูกต้องแล้วที่ผู้มีความเชื่อจะประกาศก่อนอื่นว่าตนเชื่อในพระเจ้า”[1]

[1] Catechismus  Romanus, 1,2, 6: ed. P.Rodriguez (Città del Vaticano-Pamplona 1989) p. 23.

I.“ข้าพเจ้าเชื่อในพระเจ้าหนึ่งเดียว”

I. “ข้าพเจ้าเชื่อในพระเจ้าหนึ่งเดียว

 200 สูตรยืนยันความเชื่อของสภาสังคายนานิเชอา-คอนสแตนติโนเปิลเริ่มต้นด้วยวลีนี้ การประกาศว่ามีพระเจ้าหนึ่งเดียว ซึ่งมีรากอยู่ในการที่พระเจ้าทรงเปิดเผยความจริงของพันธสัญญาเดิมนั้นเป็นความจริงพื้นฐานและไม่อาจแยกได้เลยจากการประกาศว่ามีพระเจ้า พระเจ้าทรงเป็นหนึ่งเดียว และมีพระเจ้าเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น “ความเชื่อของคริสตชนจึงเชื่อและประกาศว่าพระเจ้าทรงเป็นหนึ่งเดียวโดยธรรมชาติ ในสาระและความเป็นอยู่”[2]

 201 พระเจ้าทรงเปิดเผยพระองค์แก่อิสราเอลผู้ที่ทรงเลือกสรรว่าทรงเป็นอยู่เพียงหนึ่งเดียว “อิสราเอลเอ๋ย จงฟังเถิด องค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของเราทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าแต่เพียงองค์เดียว ท่านจะต้องรักองค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่านสุดจิตใจ สุดวิญญาณ และสุดกำลังของท่าน” (ฉธบ 6:4-5) อาศัยบรรดาประกาศก พระเจ้าทรงเรียกอิสราเอลและชนทุกชาติให้หันมาหาพระองค์ พระเจ้าหนึ่งเดียว “จงหันมาหาเราเถิด ท่านจะได้รับความรอดพ้น เพราะเราคือพระเจ้า และไม่มีพระเจ้าอื่นใดอีก [….] เข่าทุกเข่าจะย่อลงนมัสการเรา ลิ้นทุกลิ้นจะปฏิญาณ.... เขาทั้งหลายจะพูดว่า ‘เราพบความชอบธรรมและพละกำลังในองค์พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น’” (อสย 45:22-24)[3]

 202 พระเยซูเจ้าเองก็ทรงยืนยันว่าพระเจ้า “ทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าเพียงพระองค์เดียว” และเราต้องรักพระองค์สุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดสติปัญญาและสุดกำลัง[4] แต่ในขณะเดียวกันก็ทรงบอกว่าพระองค์ทรงเป็น “องค์พระผู้เป็นเจ้า” ด้วย[5] ลักษณะเฉพาะของคริสตศาสนาก็คือประกาศว่า “พระเยซูเจ้าทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า”ด้วย  การประกาศเช่นนี้ไม่ขัดกับความเชื่อในพระเจ้าหนึ่งเดียว การเชื่อในพระจิตเจ้า “องค์พระผู้เป็นเจ้าและผู้ประทานชีวิต” ก็ไม่นำความแตกแยกเข้ามาในพระเจ้าหนึ่งเดียว

           “เราเชื่อมั่นและประกาศชัดเจนว่ามีพระเจ้าแท้เพียงหนึ่งเดียว นิรันดร ยิ่งใหญ่ ไม่เปลี่ยนแปร มนุษย์ไม่อาจเข้าใจพระองค์ได้ทั้งหมด ทรงสรรพานุภาพ มนุษย์ไม่อาจกล่าวถึงพระองค์ได้ คือพระบิดา พระบุตร และพระจิตเจ้า ทรงเป็นสามพระบุคคล แต่ทรงเป็นหนึ่งเดียวในสาระและความเป็นอยู่ หรือทรงมีพระธรรมชาติเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น”[6]

[2] Catechismus  Romanus, 1,2, 8: ed. P.Rodriguez (Città del Vaticano-Pamplona 1989) p. 26.            

[3] เทียบ ฟป 2:10-11.            

[4] เทียบ มก 12:29-30.           

[5] เทียบ มก 12:35-37.           

[6] Concilium Lateranense IV, Cap. 1, De fide catholica: DS 800.

II.พระเจ้าทรงเปิดเผยพระนามของพระองค์

II. พระเจ้าทรงเปิดเผยพระนามของพระองค์

 203     พระเจ้าทรงเปิดเผยพระองค์แก่อิสราเอลประชากรของพระองค์ ทรงแสดงพระนามของพระองค์ให้รู้จักด้วย นามย่อมแสดงให้ทราบสารัตถะ เอกลักษณ์ของบุคคล และความหมายชีวิตของเขา พระเจ้าทรงมีพระนาม พระองค์ไม่ทรงเป็นพลังนิรนาม การที่ทรงเปิดเผยพระนามเป็นการแสดงพระองค์ให้ผู้อื่นรู้จัก เป็นการมอบพระองค์อย่างหนึ่ง เป็นการทำให้เราเข้าพบพระองค์ได้ ทำให้มนุษย์รู้จักและเรียกขานพระองค์ได้ในฐานะที่ทรงเป็นพระบุคคลหนึ่ง

 204     พระเจ้าทรงเปิดเผยพระองค์แก่ประชากรของพระองค์ทีละเล็กละน้อยโดยพระนามต่างๆ แต่การที่ทรงเปิดเผยพระนามของพระองค์แก่โมเสสในการสำแดงพระองค์ที่พุ่มไม้ซึ่งลุกเป็นไฟ ก่อนการอพยพ(ออกจากอียิปต์)และพันธสัญญาที่ภูเขาซีนาย นับได้ว่าเป็นพื้นฐานของพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่ทีเดียว


พระเจ้าทรงชีวิต

 205     พระเจ้าทรงเรียกโมเสสจากกลางพุ่มไม้ซึ่งลุกเป็นไฟแต่ไม่มอดไหม้ไป พระเจ้าทรงบอกโมเสสว่า “เราเป็นพระเจ้าของบรรพบุรุษของท่าน เป็นพระเจ้าของอับราฮัม พระเจ้าของอิสอัค และพระเจ้าของยาโคบ” (อพย 3:6) พระเจ้าทรงเป็นพระเจ้าของบรรพบุรุษ พระองค์ทรงเรียกบรรพบุรุษและทรงนำเขาในการเดินทางย้ายถิ่นฐาน ทรงเป็นพระเจ้าผู้ซื่อสัตย์และทรงพระกรุณา ทรงระลึกถึงเขาและพันธสัญญาที่ทรงทำไว้กับเขา พระองค์เสด็จมาเพื่อทรงช่วยลูกหลานของเขาให้เป็นอิสระจากการเป็นทาส ทรงเป็นพระเจ้าซึ่งทรงอยู่เหนือกาลเวลาและสถานที่ ทรงกระทำได้ตามพระประสงค์ ทรงใช้พระสรรพานุภาพเพื่อทำให้แผนการนี้สำเร็จเป็นจริง


เราเป็นผู้ซึ่งเป็น

              โมเสสทูลพระเจ้าว่า “เมื่อข้าพเจ้าไปหาชาวอิสราเอลแล้วบอกเขาว่า พระเจ้าของบรรพบุรุษของท่านทรงส่งข้าพเจ้ามาหาท่าน  ถ้าเขาถามข้าพเจ้าว่า ‘พระองค์ทรงพระนามว่าอะไร’ ข้าพเจ้าจะตอบเขาอย่างไร พระเจ้าตรัสกับโมเสสว่า ‘เราเป็นผู้ซึ่งเป็น’ แล้วตรัสต่อไปว่า ‘ท่านต้องบอกชาวอิสราเอลดังนี้ว่า “เราเป็น” ทรงส่งข้าพเจ้ามาหาท่านทั้งหลาย’ [....] นามนี้จะเป็นนามของเราตลอดไป ชนรุ่นต่อๆ ไปจะต้องเรียกเราด้วยนามนี้” (อพย 3:13-15)

 206    เมื่อพระเจ้าทรงเปิดเผยพระนามลึกลับของพระองค์ว่า YHWH ซึ่งแปลว่า “เราเป็นผู้ซึ่งเป็น” หรือ “เราเป็นผู้ซึ่งเราเป็น” หรือยังแปลได้อีกว่า “เราคือเราเป็น” พระองค์ทรงบอกว่าทรงเป็นใครและจะต้องใช้พระนามใดเรียกพระองค์ พระนามนี้ของพระเจ้ามีความลึกลับเหมือนกับที่พระเจ้าทรงเป็นความลึกลับ ยิ่งกว่านั้นพระนามที่ทรงเปิดเผยยังเป็นเหมือนการปฏิเสธไม่ยอมเปิดเผยพระนามอีกด้วย ดังนั้นพระนามนี้จึงแสดงอย่างดีที่สุดว่าทรงเป็นอะไร – คือทรงเป็นอะไรที่อยู่เหนือทุกสิ่งที่เราอาจเข้าใจหรือกล่าวถึงได้ พระองค์ทรงเป็น “พระเจ้าผู้ทรงซ่อนเร้น” (อสย 45:15) พระนามของพระองค์จึงลึกล้ำเกินกว่าที่มนุษย์จะเข้าใจได้[7] และทรงเป็นพระเจ้าที่ทรงมาอยู่ใกล้ชิดกับมนุษย์

 207     เมื่อทรงเปิดเผยพระนาม พระเจ้าก็ทรงเปิดเผยความซื่อสัตย์ที่ทรงมีมาแต่นิรันดรและจะคงอยู่ต่อไปตลอดนิรันดรด้วย มีอยู่ในอดีต (“เราเป็นพระเจ้าของบรรพบุรุษของท่าน” อพย 3:6) เช่นเดียวกันสำหรับอนาคต (“เราจะอยู่กับท่าน” อพย 3:12) พระเจ้าผู้ทรงเปิดเผยพระนามว่า “เราเป็น” ทรงเปิดเผยว่าทรงเป็นพระเจ้าซึ่งทรงเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ ทรงอยู่เคียงข้างประชากรของพระองค์เพื่อทรงช่วยเขาให้รอดพ้น

 208    มนุษย์รู้สำนึกถึงความเล็กน้อยต่ำต้อยของตนเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าผู้น่าหลงใหลและลึกลับนี้ เมื่ออยู่หน้าพุ่มไม้ที่ลุกเป็นไฟ โมเสสถอดรองเท้าและใช้ผ้าคลุมใบหน้าไว้ต่อหน้าความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า[8] เมื่ออยู่ต่อหน้าพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง ประกาศกอิสยาห์ต้องร้องออกมาว่า “วิบัติจงเกิดแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าพินาศแล้ว เพราะข้าพเจ้าเป็นคนริมฝีปากมีมลทิน” (อสย 6:5) เมื่อเห็นเครื่องหมายอัศจรรย์ที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำ เปโตรต้องร้องออกมาว่า  “โปรดไปจากข้าพเจ้าเสียเถิด พระเจ้าข้า เพราะข้าพเจ้าเป็นคนบาป” (ลก 5:8) แต่เพราะพระเจ้าทรงความศักดิ์สิทธิ์ พระองค์จึงทรงให้อภัยแก่มนุษย์ซึ่งยอมรับว่าตนเป็นคนบาปเฉพาะพระพักตร์พระองค์ได้ “เราจะไม่ลงอาญาตามที่เราโกรธจัด [....] เพราะเราเป็นพระเจ้า มิใช่มนุษย์ เราเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ในหมู่ท่าน” (ฮชย 11:9) ยอห์นอัครสาวกจะกล่าวเช่นเดียวกันว่า “เราจะมั่นใจเฉพาะพระพักตร์ของพระองค์ แม้ใจของเราอาจจะยังกล่าวโทษเราอยู่ก็ตาม เพราะพระเจ้าทรงยิ่งใหญ่กว่าใจของเราและทรงล่วงรู้ทุกสิ่ง” (1ยน 3:19-20)

 209    ประชากรอิสราเอลไม่ออกพระนามพระเจ้าเพราะความเคารพต่อความศักดิ์สิทธิ์ของพระนามนี้ เมื่ออ่าน     พระคัมภีร์ พระนามที่ทรงเปิดเผยให้เรารู้จึงถูกแทนที่ด้วยตำแหน่งของพระองค์ว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า”           (“อาโดนาย” ในภาษาฮีบรู และ “Kyrios” ในภาษากรีก) เราประกาศพระเทวภาพของพระเยซูเจ้าด้วยข้อความว่า “พระเยซูทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า”)


พระเจ้าทรงอ่อนหวานและทรงพระกรุณา

 210     เมื่ออิสราเอลทำบาป ละทิ้งพระเจ้าไปกราบไหว้รูปลูกโคทองคำ[9] พระองค์ทรงฟังคำวอนขอที่โมเสสขออภัย ทรงยอมดำเนินไปพร้อมกับประชากรที่ไม่ซื่อสัตย์ และดังนี้จึงทรงแสดงให้เห็นความรักของพระองค์[10] เมื่อโมเสสทูลขอดูพระสิริรุ่งโรจน์ พระองค์ทรงตอบว่า “เราจะบันดาลให้ความรุ่งเรืองทั้งหมดของเราปรากฏต่อหน้าท่าน และเราจะประกาศนามองค์พระผู้เป็นเจ้า (ยาห์เวห์) ของเราต่อหน้าท่าน” (อพย 33:18-19) องค์พระผู้เป็นเจ้ายังเสด็จผ่านไปข้างหน้าโมเสส ทรงประกาศว่า “เราเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าผู้เมตตาและกรุณา ไม่โกรธง่าย เปี่ยมด้วยความรักมั่นคงและความซื่อสัตย์” (อพย 34:6) เวลานั้น โมเสสจึงประกาศว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพระเจ้าผู้ทรงยกโทษความผิด[11]

 211     พระนามของพระเจ้า “เราเป็น” หรือ “ผู้เป็น” แสดงถึงความซื่อสัตย์ของพระเจ้า พระองค์      “ทรงรักษาความรักมั่นคงของพระองค์ไว้แก่ชนหลายพันชั่วอายุคน” (อพย 34:7) แม้เมื่อมนุษย์ได้ทำบาปเพราะความไม่ซื่อสัตย์และสมควรจะได้รับโทษก็ตาม พระเจ้าทรงเปิดเผยว่าพระองค์ “ทรงเปี่ยมด้วยพระเมตตา” (อฟ 2:4) จนถึงกับทรงมอบพระบุตรของพระองค์ให้เรา เมื่อพระเยซูเจ้าทรงมอบพระองค์เพื่อช่วยเราให้รอดพ้นจากบาป จะทรงเปิดเผยว่าพระองค์เองทรงพระนามของพระเจ้าด้วย “เมื่อใดที่ท่านยกบุตรแห่งมนุษย์ขึ้น เมื่อนั้นท่านจะรู้ว่า ‘เราเป็น’” (ยน 8:28)

พระเจ้าเท่านั้นทรงเป็น

 212     ตลอดเวลาหลายศตวรรษต่อมา ความเชื่อของอิสราเอลจึงอธิบายความหมายยิ่งใหญ่ของพระนามนี้และเข้าใจได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น พระเจ้ามีเพียงหนึ่งเดียวและนอกจากพระองค์แล้วไม่มีพระเจ้าอื่นใดอีก[12] พระองค์ทรงอยู่เหนือโลกและประวัติศาสตร์ ทรงเนรมิตสร้างฟ้าและแผ่นดิน “สิ่งเหล่านี้จะผ่านพ้นไป แต่พระองค์จะยังทรงดำรงอยู่ สิ่งต่างๆ จะผุกร่อนไปเหมือนเสื้อผ้า [....] แต่พระองค์ไม่ทรงเปลี่ยนแปรเลย และปีของพระองค์ก็ไม่มีวันสิ้นสุด (สดด 102:26-27) “พระองค์ไม่ทรงเปลี่ยนแปลง ไม่ทรงมีแม้แต่เงาแห่งความแปรปรวนใดๆ” (ยก 1:17) พระองค์ทรงเป็น “ผู้เป็น” ตั้งแต่นิรันดรตลอดไปชั่วนิรันดร และยังทรงซื่อสัตย์ต่อพระองค์เองและต่อพระสัญญาเช่นนี้เสมอตลอดไป

 213   ดังนั้น การที่ทรงเปิดเผยพระนามที่กล่าวถึงไม่ได้ว่า “เราคือเราเป็น” จึงแสดงความจริงนี้ว่า “มีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่ทรงเป็น” คำแปลพระคัมภีร์ฉบับ “เจ็ดสิบ” (Septuaginta หรือ LXX) และธรรมประเพณีของพระศาสนจักรต่อมาหลังจากนั้นก็เข้าใจพระนามของพระเจ้าเช่นนี้: พระเจ้าทรงเป็นความเป็นอยู่อย่างสมบูรณ์ ไม่มีต้นไม่มีปลาย ขณะที่สิ่งสร้างต่างๆ รับอะไรไม่ว่าที่เป็นอยู่หรือมีอยู่มาจากพระองค์ พระองค์เท่านั้นทรงเป็นความเป็นอยู่ของพระองค์ และไม่ว่าจะทรงเป็นอะไรก็ทรงเป็นเช่นนั้นจากพระองค์เอง

[7] เทียบ วนฉ 13:18

[8] เทียบ อพย 3:5-6.

[9] เทียบ อพย 32.

[10] เทียบ อพย 33:12-17.          

[11] เทียบ อพย 34:9.             

[12] เทียบ อสย 44:6.

III.พระเจ้า “ผู้เป็น” ทรงเป็นความจริงและความรัก

III.  พระเจ้าผู้เป็นทรงเป็นความจริงและความรัก

 214 พระเจ้า “ผู้เป็น” ทรงเปิดเผยพระองค์แก่อิสราเอลว่าทรงเป็น “ผู้เปี่ยมด้วยความรักมั่นคงและความซื่อสัตย์” (อพย 34:6) คำสองคำนี้สรุปสั้นๆ ถึงความหมายกว้างขวางของพระนามของพระเจ้า พระเจ้าทรงสำแดงพระกรุณา ความดี ความโปรดปราน ความรักของพระองค์ในผลงานทุกอย่างที่ทรงกระทำ ทั้งยังทรงสำแดงอีกด้วยว่าทรงสมควรจะรับความเชื่อถือไว้วางใจได้ ทรงความมั่นคง ความซื่อสัตย์ ความจริง “ข้าพเจ้าจะขอบพระคุณพระนามของพระองค์ เพราะความรักมั่นคงและความสัตย์จริงของพระองค์” (สดด 138:2)[13] พระองค์ทรงเป็นความจริง “เพราะพระเจ้าทรงเป็นความสว่าง และไม่มีความมืดใดๆ อยู่ในพระองค์เลย” (1 ยน 1:5) พระองค์ทรงเป็น “ความรัก” ดังที่ยอห์นอัครสาวกสอนไว้ (1 ยน 4:8)

พระเจ้าทรงเป็นความจริง

 215     “สาระสำคัญแห่งพระวาจาของพระองค์เป็นความจริง พระวินิจฉัยเที่ยงธรรมทุกประการของพระองค์ดำรงอยู่เป็นนิตย์” (สดด 119:160) “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้า พระองค์ทรงเป็นพระเจ้า พระวาจาของพระองค์เป็นความจริง” (2 ซมอ 7:28) ดังนั้นพระสัญญาของพระเจ้าจึงสำเร็จเป็นจริงเสมอ[14] พระเจ้าทรงเป็นความจริงเอง พระวาจาของพระองค์ไม่อาจหลอกลวงได้ เพราะเหตุนี้ ทุกคนจึงอาจมอบตนได้อย่างมั่นใจเต็มที่ต่อความจริงและความซื่อสัตย์ของพระวาจาของพระองค์ในทุกเรื่อง จุดเริ่มของบาปและความตกต่ำของมนุษย์ก็คือการมุสาของผู้ล่อลวงซึ่งชักชวนมนุษย์ให้สงสัยพระวาจาของพระเจ้า สงสัยพระทัยดีและความซื่อสัตย์ของพระองค์

 216     ความจริงของพระเจ้าคือพระปรีชาของพระองค์ ซึ่งปกครองดูแลระเบียบของสิ่งสร้างทั้งปวงในโลก[15] พระเจ้าผู้ทรงสร้างสวรรค์และแผ่นดินเพียงพระองค์เดียว[16] พระองค์เท่านั้นอาจประทานความรู้แท้จริงให้แก่เราได้ว่าสิ่งสร้างทั้งหลายมีความสัมพันธ์กับพระองค์อย่างไร[17]

 217     พระเจ้าทรงความจริงเมื่อทรงเปิดเผยพระองค์ด้วย ความรู้ที่มาจากพระเจ้าเป็น “คำสั่งสอนที่ถูกต้อง” (มลค 2:6)*** พระองค์ทรงส่งพระบุตร “เข้ามาในโลก” ก็เพื่อให้พระบุตร “ทรงเป็นพยานถึงความจริง” (ยน 18:37) “เรารู้ว่าพระบุตรของพระเจ้าเสด็จมาแล้ว พระองค์ประทานความเข้าใจให้เราเพื่อเราจะได้รู้จักพระเจ้าแท้” (1 ยน 5:20)[18]

 

พระเจ้าทรงเป็นความรัก

 218     ตลอดเวลาประวัติศาสตร์ของตน อิสราเอลพบความจริงได้ว่าพระเจ้าทรงมีเหตุผลเพียงประการเดียวที่ทรงเปิดเผยพระองค์ และทรงเลือกเขาให้เป็นประชากรของพระองค์ในหมู่ชนทุกชาติ ความรักของพระองค์เป็นความรักที่ประทานให้เขาเปล่าๆ[19] ผ่านทางบรรดาประกาศก  อิสราเอลเข้าใจว่าเพราะความรักด้วย[20] พระเจ้าทรงช่วยตนให้รอดพ้น และไม่ทรงหยุดยั้งที่จะให้อภัย ความไม่ซื่อสัตย์และบาปของตน[21]

 219     ความรักของพระเจ้าต่ออิสราเอลเปรียบได้กับความรักของบิดาต่อบุตรของตน[22] ความรักนี้ทรงพลังมากกว่าความรักของมารดาต่อบุตรของตน[23] พระเจ้าทรงรักประชากรของพระองค์มากกว่าเจ้าบ่าวรักเจ้าสาวของตน[24]  ความรักนี้จะพิชิตกระทั่งความไม่ซื่อสัตย์ที่เลวร้ายที่สุดด้วย[25] ความรักนี้จะขยายไปจนถึงการให้ของประทานประเสริฐที่สุด “พระเจ้าทรงรักโลกอย่างมาก จึงประทานพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระองค์” (ยน 3:16)

 220      ความรักของพระเจ้าเป็น “ความรักนิรันดร” (อสย 54:8) “แม้ภูเขาจะเคลื่อนย้าย และเนินเขาจะคลอนแคลน ความรักมั่นคงของเราจะไม่พรากไปจากเจ้า” (อสย 54:10) “เรารักท่านด้วยความรักนิรันดร ดังนั้น เราจึงมีความรักมั่นคงต่อท่านตลอดไป” (ยรม 31:3)

 221     นักบุญยอห์นยังก้าวไกลกว่านั้นเมื่อยืนยันว่า “พระเจ้าทรงเป็นความรัก” (1 ยน 4:8,16) สารัตถะของพระเจ้าก็คือความรัก เมื่อในเวลาที่ทรงกำหนดไว้ พระเจ้าทรงส่งพระบุตรเพียงพระองค์เดียวและพระจิตแห่งความรักของพระองค์มา ก็ทรงเปิดเผยความลับที่ซ่อนเร้นที่สุดของพระองค์แก่เรา[26] พระเจ้าเองก็ทรงเป็นการแลกเปลี่ยนความรักต่อกันตลอดนิรันดร  พระบิดา พระบุตร และพระจิตเจ้า พระองค์ทรงกำหนดให้เราเป็นผู้มีส่วนในการแลกเปลี่ยนนี้ด้วย

[13] เทียบ สดด 85:11.             

[14] เทียบ ฉธบ 7:9.

[15] เทียบ ปชญ 13:1-9.            

[16] เทียบ สดด 115:15.            

[17] เทียบ ปชญ 7 :17-21.
*** ต้นฉบับยกข้อความนี้จากพระคัมภีร์ฉบับ Vulgata ซึ่งแปลได้ว่า “กฎแห่งความจริง” (Lex veritatis) – ผู้แปล.   

[18] เทียบ ยน 17:3.

[19] เทียบ ฉธบ 4:37; 7:8; 10:15.   

[20] เทียบ อสย 43:1-7.            

[21] เทียบ ฮชย 2. 

[22] เทียบ ฮชย 11:1.             

[23] เทียบ อสย 49:14-15.         

[24] เทียบ อสย 62:4-5.          

[25] เทียบ อสค 16; ฮชย 11.       

[26] เทียบ 1 คร 2:7-16; อฟ 3:9-12.

IV.ความหมายของความเชื่อในพระเจ้าหนึ่งเดียว

IV.   ความหมายของความเชื่อในพระเจ้าหนึ่งเดียว

 222      การเชื่อในพระเจ้าหนึ่งเดียว การรักพระองค์จากทั้งหมดที่เราเป็น มีผลตามมาที่ยิ่งใหญ่สำหรับชีวิตทั้งหมดของเรา

 223     หมายถึงการยอมรับความยิ่งใหญ่และพระบรมเดชานุภาพของพระเจ้า – “ดูเถิด พระเจ้าทรงยิ่งใหญ่เกินกว่าที่เราจะเข้าใจพระองค์ได้” (โยบ 36:26) ดังนั้นพระเจ้าจึงต้องเป็น “บุคคลแรกที่เราจะต้องรับใช้”[27]

 224     หมายความว่าเราต้องขอบพระคุณพระองค์ตลอดชีวิต – ถ้าพระเจ้าทรงเป็นหนึ่งเดียว อะไรไม่ว่าที่เราเป็นหรือมีล้วนมาจากพระองค์ “ท่านมีอะไรบ้างที่ไม่ได้รับจากพระเจ้า” (1 คร 4:7)  “ข้าพเจ้าจะตอบแทนองค์พระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไรให้สมกับที่ทรงดีต่อข้าพเจ้า” (สดด 116:12)

 225     หมายถึงการยอมรับว่ามนุษย์ทุกคนมีเอกภาพและมีศักดิ์ศรีแท้จริง – เพราะพระเจ้าทรงเนรมิตสร้างมนุษย์ทุกคนขึ้น “ตามภาพลักษณ์เหมือนพระเจ้า” (ปฐก 1:26)

 226     เราต้องใช้สิ่งสร้างอย่างดีความเชื่อในพระเจ้าหนึ่งเดียวนำเราให้ใช้ทุกสิ่งที่ไม่ใช่พระเจ้าในแบบที่สิ่งสร้างเหล่านี้นำเราให้เข้าใกล้พระองค์ยิ่งขึ้น และให้เราแยกตนจากสิ่งสร้างเหล่านี้เพื่อมิให้มันนำเราให้หันเหออกจากพระองค์[28]

            “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของข้าพเจ้า โปรดทรงนำไปจากข้าพเจ้าอะไรไม่ว่าที่ขัดขวางไม่ให้ข้าพเจ้าเข้าหาพระองค์

             ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของข้าพเจ้า โปรดประทานแก่ข้าพเจ้าอะไรไม่ว่าที่นำข้าพเจ้าเข้าหาพระองค์

             ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของข้าพเจ้า โปรดปลดเปลื้องข้าพเจ้าออกจากตนเอง และทำให้ข้าพเจ้าเป็นของพระองค์โดยสิ้นเชิง”[29]

 227    วางใจพระเจ้าในทุกสิ่ง แม้เมื่อประสบอุปสรรคต่างๆ บทภาวนาบทหนึ่งของนักบุญเทเรซาแห่งพระกุมารเยซูแสดงความวางใจต่อพระเจ้าอย่างน่าฟังไว้เช่นนี้

            “อย่าให้สิ่งใดกวนใจท่าน/ อย่าให้สิ่งใดทำให้ท่านกลัว

             ทุกสิ่งทุกอย่างผ่านพ้นไป/ พระเจ้าไม่ทรงเปลี่ยนแปลง

             ความอดทน/ ทำให้เราได้รับทุกสิ่ง

             ผู้ใดมีพระเจ้า/ ย่อมไม่ขาดสิ่งใด

             พระเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้นเพียงพอ”[30]

[27] Sancta Ioanna de Arco, Dictum:  Procès de condamnation ; ed. P. Tisset-Y. Lanhers, v. 1 (Paris 1960) p. 280 et 288.

[28] เทียบ มธ 5:29-30; 16:24; 19:23-24.           

[29] Sanctus Nicolaus a Flue, Bruder-Klausen-Gebet, apud R. Amschwand, Bruder Klaus, Ergänzungsband zum Quellenwerk  von R. Durrer (Sarnen 1987) p. 215.

[30] Sancta Theresia a Iesu, Poesia, 9: Biblioteca Mistica Carmelitana,  v. 6 (Burgos 1919) p. 90.        

สรุป

สรุป

 228      “ชาวอิสราเอลเอ๋ย จงฟังเถิด องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพระเจ้าของเรา องค์พระผู้เป็นเจ้ามีเพียงพระองค์เดียว.....” (ฉธบ 6:4; มก 12:29) สิ่งยิ่งใหญ่ที่สุดจำเป็นต้องมีเพียงหนึ่งเดียวไม่มีอะไรเทียบเท่าได้[….] ถ้าพระเจ้าไม่มีเพียงพระองค์เดียว ก็ไม่ใช่พระเจ้า[31]

 229      ความเชื่อในพระเจ้านำเราให้มุ่งไปหาพระเจ้าหนึ่งเดียว ในฐานะที่ทรงเป็นต้นกำเนิดและจุดหมายสุดท้ายของเรา และไม่ให้เราเห็นว่าอะไรอื่นดีกว่าพระองค์และนำมาทดแทนพระองค์

 230      พระเจ้า แม้เมื่อทรงเปิดเผยพระองค์แก่เรา ก็ยังทรงเป็นความลึกลับที่อธิบายไม่ได้ถ้าท่านเข้าใจพระองค์ พระองค์ก็ไม่ใช่พระเจ้า[32]

 231      พระเจ้าที่เราเชื่อทรงเปิดเผยพระองค์ในฐานะ “ผู้เป็น” พระองค์ทรงเปิดเผยให้เรารู้จักพระองค์ว่าทรงเป็นพระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยความรักมั่นคงและความซื่อสัตย์(อพย 34:6) สารัตถะของพระองค์ก็คือความจริงและความรัก

[31] Tertullianus,  Adversus Marcionem 1, 3, 5: CCL 1, 444 (PL 2, 274).

[32] Sanctus Augustinus, Sermo,  52, 6, 16: ed. P. Verbraken: Revue Bénédictine 74 (1964) 27 (PL 2, 274).

วรรค 2

พระบิดา

I.“เดชะพระนามพระบิดา และพระบุตร และพระจิต”

I.  “เดชะพระนามพระบิดา และพระบุตร และพระจิต

 232     คริสตชนรับศีลล้างบาป “เดชะพระนามพระบิดา และพระบุตร และพระจิต” (มธ 28:19) ก่อนหน้านั้นเขาตอบว่า “ข้าพเจ้าเชื่อ” ต่อคำถาม 3 ข้อที่พระสงฆ์ขอให้เขาแสดงความเชื่อในพระบิดา พระบุตร และพระจิตเจ้า – “ความเชื่อของคริสตชนทุกคนตั้งอยู่บนพระตรีเอกภาพ”[33]

 233      คริสตชนรับศีลล้างบาป “เดชะพระนาม” ของพระบิดา และพระบุตร และพระจิตเจ้า และไม่ใช่ “เดชะพระนาม” ของทั้งสามพระองค์[34] เพราะมีพระเจ้าพระองค์เดียว คือพระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพ พระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระองค์ และพระจิตเจ้า คือพระตรีเอกภาพ

 234     พระธรรมล้ำลึกเรื่องพระตรีเอกภาพเป็นพระธรรมล้ำลึกศูนย์กลางของความเชื่อและชีวิตคริสตชนเป็นพระธรรมล้ำลึกของพระเจ้าในพระองค์เอง ดังนั้น จึงเป็นที่มาของพระธรรมล้ำลึกอื่นๆทั้งหมดของความเชื่อ เป็นแสงที่ส่องสว่างพระธรรมล้ำลึกเหล่านั้น คำสอนเรื่องนี้เป็นพื้นฐานและสาระสำคัญยิ่งใน “ลำดับความสำคัญของความจริงทุกประการ” แห่งความเชื่อ[35] “ประวัติศาสตร์ความรอดพ้นเป็นประวัติศาสตร์เดียวกันกับประวัติศาสตร์เรื่องวิธีการและเหตุผลที่พระเจ้าเที่ยงแท้และหนึ่งเดียว คือพระบิดา พระบุตร และพระจิตเจ้า ทรงเปิดเผยพระองค์แก่มนุษย์ ช่วยเขาให้พ้นจากบาป กลับคืนดีและรวมไว้กับพระองค์”[36]

 235      ข้อความต่อไปนี้จะอธิบายสั้นๆ ว่า (I) พระเจ้าทรงเปิดเผยพระธรรมล้ำลึกเรื่องพระตรีเอกภาพนี้อย่างไร (II) พระศาสนจักรสอนคำสอนพระธรรมล้ำลึกเรื่องพระตรีเอกภาพนี้อย่างไร (III) พระเจ้าพระบิดาทรงส่งพระบุตรและพระจิตเจ้ามาทำให้ “แผนการความรัก” ของพระองค์ที่จะกอบกู้มนุษยชาติและบันดาลความศักดิ์สิทธิ์สำเร็จสมบูรณ์ไปอย่างไร

 236     บรรดาปิตาจารย์ของพระศาสนจักรแยกแยะ “เทววิทยา” (theologia) จาก “แผนการกอบกู้” (oikonomia) เทววิทยาหมายถึงพระธรรมล้ำลึกที่เกี่ยวกับชีวิตภายในของพระเจ้า-พระตรีเอกภาพ ส่วนแผนการกอบกู้หมายถึงกิจการทุกอย่างของพระเจ้าที่พระองค์ทรงเปิดเผยพระองค์และทำให้มนุษย์มีส่วนสัมพันธ์กับพระองค์ พระเจ้าทรงเปิดเผย เทววิทยา (Theologia) ผ่านทาง แผนการกอบกู้ (Oikonomia) แต่ในทางกลับกัน เทววิทยา อธิบาย แผนการกอบกู้  กิจการต่างๆ ของพระเจ้าเปิดเผยให้เรารู้ว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ใดในพระองค์เอง และในทางกลับกัน พระธรรมล้ำลึกเรื่องสารัตถะภายในของพระองค์ช่วยให้เราเข้าใจกิจการทุกอย่างที่ทรงกระทำได้ ถ้าจะว่าไปแล้วก็คล้ายกับในมนุษย์ กิจการย่อมแสดงบุคลิกของแต่ละคน ยิ่งเราเข้าใจการกระทำของผู้ใดมากขึ้น เราก็ยิ่งรู้จักบุคลิกของเขามากขึ้นด้วย

 237     พระตรีเอกภาพเป็นพระธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่อในความหมายเฉพาะ  นั่นคือเป็นพระธรรมล้ำลึกประการหนึ่งที่ซ่อนอยู่ในพระเจ้า “ซึ่งถ้าพระเจ้าไม่ทรงเปิดเผยแล้วก็ไม่อาจเป็นที่รู้จักได้”[37] ใช่แล้วที่พระเจ้าทรงละทิ้งร่องรอยความเป็นพระตรีเอกภาพของพระองค์ไว้ในผลงานที่ทรงเนรมิตสร้างและในการเปิดเผยที่ประทานให้ตลอดมาในพันธสัญญาเดิม แต่ความลึกล้ำในความเป็นอยู่ของพระองค์ เช่นพระธรรมล้ำลึกเรื่องพระตรีเอกภาพนั้นเป็นพระธรรมล้ำลึก ซึ่งก่อนที่พระบุตรของพระเจ้าจะทรงรับสภาพมนุษย์และก่อนที่จะทรงส่งพระจิตเจ้าลงมานั้น เหตุผลเพียงอย่างเดียวและแม้ความเชื่อของอิสราเอลไม่อาจเข้าถึงได้

[33] Sanctus Caesarius Arelatensis,  Expositio vel tradition Symboli (sermo 9): CCL 103, 47.

[34] Cf. Vigilius, Professio fidei  (552): DS 415.     

[35] Cf. Sacra Congregatio pro Clericis, Directorium catechisticum generale,  43: AAS 64 (1972) 123.

[36] Cf. Sacra Congregatio pro Clericis, Directorium catechisticum generale,  47: AAS 64 (1972) 125.     

[37] Concilium Vaticanum I, Const. dogm. Dei Filius, c. 4: DS 3015.   

II.พระเจ้าทรงเปิดเผยว่าทรงเป็นพระตรีเอกภาพ

II.  พระเจ้าทรงเปิดเผยว่าทรงเป็นพระตรีเอกภาพ

พระบุตรทรงเปิดเผยพระบิดาให้เรารู้จัก

 238     การเรียกพระเจ้าเป็น “พระบิดา” เป็นที่รู้จักกันในหลายศาสนา บ่อยๆ คนเราคิดว่าพระเจ้าทรงเป็น “บิดาของบรรดาเทพเจ้าและมนุษย์” ในอิสราเอล พระเจ้าในฐานะผู้เนรมิตสร้างโลก ทรงได้รับการขานพระนามว่า “พระบิดา”[38] ยิ่งกว่านั้น พระเจ้าทรงเป็นพระบิดาจากเหตุผลของการที่พระองค์ประทานพันธสัญญาและธรรมบัญญัติแก่ประชากรที่พระองค์ตรัสถึงว่า “อิสราเอลเป็นบุตรคนแรกของเรา” (อพย 4:22) พระองค์ยังทรงได้รับพระนามว่า “พระบิดาของกษัตริย์แห่งอิสราเอล”[39] และโดยเฉพาะยังทรงเป็น “พระบิดาของคนยากจน” ลูกกำพร้าและหญิงม่าย ซึ่งอยู่ภายใต้ความปกป้องที่ทรงพระกรุณาของพระองค์[40]

 239     ภาษาของความเชื่อเมื่อเรียกพระเจ้าว่า “พระบิดา” นั้นมาจากเหตุผลสำคัญสองประการ เหตุผลประการแรกคือพระเจ้าทรงเป็นต้นกำเนิด ทรงอำนาจเหนือทุกสิ่ง พร้อมกันนั้นยังทรงเป็นความดีและทรงรักเอาพระทัยใส่บรรดาบุตรทุกคนของพระองค์ พระทัยอ่อนโยนเยี่ยงบิดาเช่นนี้ของพระเจ้ายังแสดงออกในภาพของความเป็นมารดาได้อีกด้วย[41] ภาพนี้เน้นให้เห็นชัดยิ่งขึ้นอีกว่าพระเจ้าประทับอยู่ใกล้ชิดกับทุกสิ่งที่ทรงเนรมิตสร้างขึ้นไว้ และดังนี้ภาษาของความเชื่อจึงสะท้อนประสบการณ์ของบิดามารดาซึ่งนับได้ว่าเป็นผู้แทนคนแรกของพระเจ้าอย่างหนึ่งสำหรับมนุษย์ ถึงกระนั้นประสบการณ์ยังแสดงให้เห็นว่ามนุษย์ที่เป็นบิดามารดาอาจเคยผิดพลาดทำให้ภาพของความเป็นบิดามารดาต้องบิดเบี้ยวไป เราจึงต้องระลึกว่าพระเจ้าทรงอยู่เหนือความแตกต่างทางเพศของมนุษย์ พระองค์ไม่ทรงเป็นชายหรือเป็นหญิง พระองค์ทรงเป็นพระเจ้า พระองค์ยังทรงอยู่เหนือความเป็นบิดาหรือเป็นมารดาอย่างมนุษย์อีกด้วย[42] แม้ว่าทรงเป็นบ่อเกิดและมาตรฐานของความเป็นบิดามารดานี้[43] – ไม่มีผู้ใดเป็นบิดาเหมือนที่พระเจ้าทรงเป็นพระบิดา

 240     พระเยซูเจ้าทรงเปิดเผยว่าพระเจ้าทรงเป็น “พระบิดา” ในความหมายที่ไม่เคยมีใครได้ยินมาก่อน – พระเจ้าไม่ทรงเป็นพระบิดาเพียงในฐานะพระผู้เนรมิตสร้าง และทรงเป็นพระบิดาตั้งแต่นิรันดรโดยความสัมพันธ์ต่อพระบุตรเพียงพระองค์เดียว ซึ่งทรงเป็นพระบุตรตั้งแต่นิรันดรก็โดยความสัมพันธ์ที่ทรงมีต่อพระบิดาด้วยเช่นเดียวกัน “ไม่มีใครรู้จักพระบุตร นอกจากพระบิดาและไม่มีใครรู้จักพระบิดา นอกจากพระบุตรและผู้ที่พระบุตรทรงเปิดเผยให้รู้” (มธ 11:27)

 241      เพราะเหตุนี้ บรรดาอัครสาวกจึงประกาศว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็น “พระวจนาตถ์” ซึ่ง “ตั้งแต่แรกเริ่มประทับอยู่กับพระเจ้า และพระวจนาตถ์เป็นพระเจ้า” (ยน 1:1) เป็นพระองค์ “ผู้ทรงเป็นภาพลักษณ์ของพระเจ้าที่เรามองไม่เห็น” (คส 1:15) และทรงเป็น “รังสีแห่งพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า” (ฮบ 1:3)

 242     ในสมัยต่อมา พระศาสนจักรดำเนินตามธรรมประเพณีของบรรดาอัครสาวกก็ได้ประกาศในสภาสังคายนาครั้งแรกที่เมืองนีเชอาเมื่อปี ค.ศ. 325 ว่าพระบุตร “ทรงบังเกิดร่วมพระธรรมชาติเดียวกันกับพระบิดา”[44] นั่นคือทรงเป็นพระเจ้าหนึ่งเดียวกันกับพระบิดา สภาสังคายนาสากลครั้งที่ 2 ซึ่งประชุมกันที่กรุงคอนสแตนติโนเปิลเมื่อปี ค.ศ. 381 ยังคงรักษาสูตรยืนยันความเชื่อของสภาสังคายนาแห่งนีเชอานี้ไว้และประกาศ “พระบุตรหนึ่งเดียวของพระเจ้า ทรงบังเกิดจากพระบิดาก่อนกาลเวลา ทรงเป็นองค์ความสว่างจากองค์ความสว่าง ทรงเป็นพระเจ้าแท้จากพระเจ้าแท้ มิได้ทรงถูกสร้าง แต่ทรงบังเกิดร่วมพระธรรมชาติเดียวกับพระบิดา”[45]


พระจิตเจ้าทรงเปิดเผยพระบิดาและพระบุตร

 243     ก่อนฉลองปัสกา พระเยซูเจ้าทรงแจ้งให้บรรดาสาวกรู้ว่าพระองค์จะทรงส่ง “พระผู้บรรเทา” (หรือ “พระผู้แก้ต่าง”) มา คือพระจิตเจ้า พระจิตเจ้าพระองค์นี้ซึ่งทรงปฏิบัติพระภารกิจตั้งแต่ทรงเนรมิตสร้างโลกแล้ว[46] หลังจากนั้นยัง “ดำรัสทางประกาศก”[47] บัดนี้พระจิตเจ้าจะประทับอยู่กับและในบรรดาศิษย์[48] เพื่อทรงสอนพวกเขา[49] และนำเขา “ไปสู่ความจริงทั้งมวล” (ยน 16:13) ดังนั้น พระจิตเจ้าจึงทรงเป็นอีกพระบุคคลหนึ่งที่ทรงได้รับการเปิดเผยว่าทรงมีความสัมพันธ์กับ     พระเยซูเจ้าและกับพระบิดา

 244     จุดเริ่มนิรันดรของพระจิตเจ้าได้รับการเปิดเผยจากการที่พระองค์ท่านถูกส่งมาในกาลเวลา พระบิดาทรงส่งพระจิตเจ้ามายังบรรดาอัครสาวกและพระศาสนจักรในพระนามของพระบุตรและจากองค์พระบุตรโดยตรงหลังจากที่พระบุตรเสด็จกลับไปหาพระบิดาแล้ว[50] การส่งพระบุคคลของพระจิตเจ้าลงมาหลังจากที่พระเยซูเจ้าทรงได้รับพระสิริรุ่งโรจน์แล้ว[51]เป็นการเปิดเผยพระธรรมล้ำลึกเรื่องพระตรีเอกภาพโดยสมบูรณ์

 245     ความเชื่อที่สืบต่อมาตั้งแต่สมัยอัครสาวกเกี่ยวกับพระจิตเจ้าได้รับการประกาศเป็นทางการในสภาสังคายนาสากลครั้งที่ 2 ที่นครคอนสแตนติโนเปิลเมื่อปี ค.ศ. 381 ว่า “ข้าพเจ้าทั้งหลายยังเชื่อในพระจิต องค์พระผู้เป็นเจ้าและผู้บันดาลชีวิต ทรงเนื่องมาจากพระบิดา”[52] โดยวิธีนี้ พระศาสนจักรยอมรับว่าพระบิดาทรงเป็น “บ่อเกิดและที่มาของพระเทวภาพทั้งหมด”[53] ถึงกระนั้น จุดเริ่มนิรันดรของพระจิตเจ้าก็มิใช่จะไม่มีความสัมพันธ์กับพระบุตร “ข้าพเจ้าทั้งหลายยังเชื่อว่าพระจิตเจ้าซึ่งเป็นพระบุคคลที่สามในพระตรีเอกภาพ เป็นหนึ่งเดียวและเท่ากับพระเจ้าพระบิดาและพระบุตร ทรงมีพระสภาวะหนึ่งเดียวและพระธรรมชาติหนึ่งเดียว[….]ซึ่งไม่เป็นของพระบิดาและพระบุตรเท่านั้น แต่กล่าวได้ว่าเป็นพระจิตพร้อมกันทั้งของพระบิดาและพระบุตร”[54] สูตรยืนยันความเชื่อของพระศาสนจักรของสภาสังคายนาที่นครคอนสแตนติโนเปิลก็ประกาศว่า “พระองค์ (คือพระจิตเจ้า) ทรงรับการถวายสักการะและพระสิริรุ่งโรจน์ร่วมกับพระบิดาและพระบุตร”[55]

 246      ธรรมประเพณีสูตรยืนยันความเชื่อในภาษาละตินประกาศว่าพระจิตเจ้าทรงเนื่องมา “จากพระบิดาและพระบุตร(“a Patre Filioque”) สภาสังคายนาที่เมืองฟลอเรนซ์ในปี ค.ศ. 1438 อธิบายว่า “พระจิตเจ้า [….] ทรงมีสารัตถะและความเป็นอยู่จากพระบิดาและพร้อมกับจากพระบุตรด้วย (พระจิตเจ้า)ทรงเนื่องมาจากทั้งสองพระบุคคลพร้อมกันตั้งแต่นิรันดรประหนึ่งว่ามาจากจุดเริ่มแรกและด้วยการระบายลมปราณเดียวกัน [….] และเนื่องจากว่าพระบิดาเองประทานทุกสิ่งที่เป็นของพระบิดาเองแก่พระบุตรเมื่อทรงให้กำเนิดแก่พระบุตรเว้นแต่ความเป็นพระบิดา การที่พระจิตสืบเนื่องมาจากพระบุตร พระบุตรก็ทรงมีตั้งแต่นิรันดรจากพระบิดาผู้ให้กำเนิดแก่พระองค์ (คือพระบุตร) ตั้งแต่นิรันดรด้วย”[56]

 247      การประกาศว่า “และพระบุตร” (Filioque) ไม่ได้มีอยู่ในสูตรยืนยันความเชื่อซึ่งประกาศที่นครคอนสแตนติโนเปิลเมื่อปี ค.ศ. 381 แต่พระสันตะปาปานักบุญเลโอซึ่งทรงรักษาธรรมประเพณีโบราณของพระศาสนจักรละตินและอเล็กซานเดรีย ได้ประกาศวลีนี้เป็นข้อความเชื่อตั้งแต่ปี ค.ศ. 447 แล้ว[57] ก่อนที่กรุงโรมจะรู้และยอมรับสูตรยืนยันความเชื่อของปี ค.ศ. 381 นี้ในสภาสังคายนาที่เมืองคัลเชโดนเมื่อปี ค.ศ. 451 เสียด้วย การใช้วลีนี้ (“และพระบุตร” หรือ “Filioque”) ในสูตรยืนยันความเชื่อค่อยๆ (ระหว่างช่วงเวลาศตวรรษที่ 8 ถึง 11) เป็นที่ยอมรับเข้ามาในพิธีกรรมภาษาละติน ถึงกระนั้น การที่พิธีกรรมในภาษาละตินนำวลี “และพระบุตร” (หรือ “Filioque”) เข้ามาในสูตรยืนยันความเชื่อของสภาสังคายนานีเชอา-คอนสแตนติโนเปิลก็ยังคงเป็นข้อโต้แย้งกันกับพระศาสนจักรออร์โธด๊อกซ์มาจนถึงทุกวันนี้

 248      ธรรมประเพณีทางตะวันออกเน้นเป็นพิเศษถึงลักษณะของพระบิดาในฐานะที่ทรงเป็นบ่อเกิดแรกที่เกี่ยวกับพระจิตเจ้า เมื่อประกาศว่าพระจิตเจ้า “ทรงเนื่องมาจากพระบิดา” (ยน 15:26) ก็ประกาศว่าพระองค์ทรงเนื่องมาจากพระบิดาผ่านทางพระบุตร[58] ส่วนธรรมประเพณีทางตะวันตกยืนยันเป็นพิเศษถึงความสัมพันธ์ร่วมพระธรรมชาติเดียวกันของพระบิดากับพระบุตร ดังนั้นจึงกล่าวว่าพระจิตเจ้าทรงสืบเนื่องมาจากพระบิดาและพระบุตร การกล่าวเช่นนี้ “เป็นการถูกต้องสมเหตุสมผล”[59] เพราะลำดับแต่นิรันดรของพระบุคคลของพระเจ้าหมายความว่าพระบิดาในฐานะที่ทรงเป็น “จุดเริ่มต้นที่ไม่มีจุดเริ่มต้น” (principium sine principio)[60] ทรงเป็นบ่อเกิดแรกของพระจิตเจ้า แต่ในฐานะที่ทรงเป็นพระบิดาของพระบุตรเพียงพระองค์เดียว จึงทรงเป็นจุดเริ่มต้นเพียงจุดเดียวพร้อมกับพระบุตรที่พระจิตเจ้าทรงเนื่องมาจากนั้น “ดังจากจุดเริ่มต้นเดียวกัน” ด้วย[61] ลักษณะเสริมกันและกัน***ที่ถูกต้องไม่มีอะไรขัดข้องนี้ ถ้าเราไม่เรียกร้องเคร่งครัดเกินไป ย่อมไม่มีผลกระทบต่อความเชื่อซึ่งในความเป็นจริงแล้วก็ประกาศพระธรรมล้ำลึกเดียวกัน

[38] เทียบ ฉธบ 32:6; มลค 2:10.    

[39] เทียบ 2 ซมอ 7:14.            

[40] เทียบ สดด 68:5.             

[41] เทียบ อสย 66:13 ; สดด 131:2. 

[42] เทียบ สดด 27:10.             

[43] เทียบ อฟ 3:14-15; อสย 49:15. 

[44] Symbolum Nicaenum: DS 125. 

[45] Symbolum Nicaenum-Constantinopolitanum: DS 150.              

[46] เทียบ ปฐก 1:2.

[47] Symbolum Nicaenum-Constantinopolitanum: DS 150.             

[48] เทียบ ยน 14:17.              

[49] เทียบ ยน 14:26.             

[50] เทียบ ยน 14:26; 15:26; 16:14.

[51] เทียบ ยน 7:39.              

[52] Symbolum Nicaenum-Constantinopolitanum: DS 150.             

[53] Concilium Toletanum VI (anno 638), De Trinitate et de Filio Dei Redemptore incarnato: DS 490.    

[54] Concilium Toletanum XI (anno 675), Symbolum: DS 527.        

[55] Symbolum Nicaenum-Constantinopolitanum: DS 150.             

[56] Concilium Florentinum, Decretum pro Graecis: DS 1300-1301.     

[57] Cf. Sanctus Leo Magnus, Epistula Quam laudabiliter : DS 284.   

[58] Cf. Concilium Vaticanum II, Decr. Ad gentes, 2: AAS 58 (1966) 948.            

[59] Concilium Florentinum, Decretum pro Graecis (anno 1439) : DS 1302.            

[60] Concilium Florentinum, Decretum pro Jacobitis (anno 1442): DS 1331.            

[61] Concilium Lugdunense II, Constitutio de Summa Trinitate et fide catholica (1274) : DS 850.
*** “ลักษณะเสริมกันและกัน” (complementaritas, complementarity) หมายถึงความเป็นจริงที่เรียกร้องกันและกัน เช่น ความเป็น “บิดา” ย่อมมีไม่ได้ถ้าไม่มี “บุตร” และ ความเป็น “บุตร” จะมีและเข้าใจไม่ได้ถ้าไม่มี “บิดา” – ผู้แปล.

III. พระตรีเอกภาพในคำสอนข้อความเชื่อ

III.  พระตรีเอกภาพในคำสอนข้อความเชื่อ

ข้อความเชื่อเรื่องพระตรีเอกภาพเกิดขึ้นอย่างไร

 249     ตั้งแต่แรกเริ่มมาแล้ว ความจริงที่ได้รับการเปิดเผยเรื่องพระตรีเอกภาพอยู่ที่รากฐานความเชื่อที่มีชีวิตของพระศาสนจักรทีเดียว โดยเฉพาะโดยทางศีลล้างบาป การแสดงความเชื่อนี้พบได้ในสูตรแสดงความเชื่อของพิธีศีลล้างบาป ได้รับการประกาศในการเทศน์สอน  ในการสอนคำสอนและในการอธิษฐานภาวนาของพระศาสนจักร สูตรเช่นนี้พบได้แล้วในข้อเขียนของบรรดาอัครสาวก ดังที่คำทักทายในพิธีกรรมบูชาขอบพระคุณเป็นพยาน “ขอพระหรรษทานของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า ขอความรักของพระเจ้า และความสนิทสัมพันธ์ของพระจิตเจ้า สถิตกับทุกท่านเทอญ” (2 คร 13:13)[62]

 250     ในช่วงคริสตศตวรรษแรกๆ พระศาสนจักรได้พยายามที่จะยืนยันความเชื่อเรื่องพระตรีเอกภาพให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อจะได้เข้าใจความเชื่อของตนให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น หรือเพื่อจะป้องกันให้พ้นจากความผิดที่บิดเบือนความเชื่อนี้ นี่คือผลงานของสภาสังคายนาในสมัยแรกๆ ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากผลงานทางเทววิทยาของบรรดาปิตาจารย์ และจากการค้ำจุนจากความสำนึกเรื่องความเชื่อของประชากรคริสตชน (sensus fidei populi christiani)

 251     เพื่อประกาศข้อความเชื่อเรื่องพระตรีเอกภาพ พระศาสนจักรจำเป็นต้องพัฒนาศัพท์เฉพาะของตนโดยได้รับความช่วยเหลือจากความรู้ที่ได้จากวิชาปรัชญา เช่นคำว่า “พระธรรมชาติ” (substantia) “พระบุคคล” (persona, hypostasis) หรือ “ความสัมพันธ์” (relatio) ฯลฯ เมื่อทำเช่นนี้ พระศาสนจักรมิได้ทำให้ความเชื่ออยู่ภายใต้ปรีชาญาณแบบมนุษย์ แต่ให้ความหมายใหม่ที่ไม่เคยมีแก่คำศัพท์เหล่านี้เพื่อให้หมายถึงพระธรรมล้ำลึกที่อธิบายไม่ได้ “และอยู่เหนือทุกสิ่งอย่างไร้ขอบเขตที่เรามนุษย์อาจเข้าใจได้”[63]

 252      พระศาสนจักรใช้คำว่า “substantia” (ซึ่งบางครั้งหมายถึง “สารัตถะ” คือ “essentia” หรือบางครั้งก็ใช้คำ “natura”) เพื่อหมายถึงความเป็นอยู่ของพระเจ้าในความเป็นเอกภาพของพระองค์ ใช้คำ “พระบุคคล” (“persona” หรือ “hypostasis”) เพื่อหมายถึงพระบิดา พระบุตร และพระจิตเจ้าในการที่ทรงความแตกต่างระหว่างกัน ใช้คำ “ความสัมพันธ์” (relatio) เพื่อแสดงว่าความแตกต่างของพระบุคคลเหล่านี้ตั้งอยู่บนการที่ทรงความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน


ข้อความเชื่อเรื่องพระตรีเอกภาพ

 253     พระตรีเอกภาพทรงเป็นหนึ่งเดียว เราไม่ยืนยันความเชื่อในพระเจ้าสามพระองค์ แต่ในพระเจ้าพระองค์เดียวเป็นสามพระบุคคล “พระตรีเอกภาพที่ทรงร่วมพระธรรมชาติเดียวกัน”[64] ทั้งสามพระบุคคลของพระเจ้าไม่แบ่งพระเจ้าหนึ่งเดียวระหว่างกัน พระบุคคลแต่ละพระบุคคลเป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ “เนื่องจากที่พระบิดาทรงเป็นอย่างที่พระบุตรทรงเป็น พระบุตรทรงเป็นอย่างที่พระบิดาทรงเป็น พระบิดาและพระบุตรทรงเป็นอย่างที่พระจิตเจ้าทรงเป็น นั่นคือทรงเป็นพระเจ้าหนึ่งเดียวโดยพระธรรมชาติ”[65] “แต่ละพระบุคคลเป็นความเป็นจริงสูงสุดเดียวกัน นั่นคือเป็นพระธรรมชาติ หรือสารัตถะพระเจ้า”[66]

 254     พระบุคคลของพระเจ้าแต่ละพระบุคคลแตกต่างกัน “เราเคารพนับถือและประกาศว่าพระเจ้าทรงเป็นหนึ่งเดียว แต่ไม่ใช่ทรงโดดเดี่ยว”[67] “พระบิดา”  “พระบุตร” “พระจิตเจ้า” ไม่เป็นเพียงพระนามที่หมายถึงวิธีที่พระเจ้า “ทรงมีความเป็นอยู่” เท่านั้น เพราะแต่ละพระบุคคลทรงแตกต่างกันจริงๆ “เพราะพระบิดาไม่ใช่พระบุตร และพระบุตรไม่ใช่พระบิดาและพระจิตเจ้าก็ไม่ใช่พระบิดาหรือพระบุตร”[68] ทั้งสามพระบุคคลแตกต่างกันโดยความสัมพันธ์ของที่มา “ทรงเป็นพระบิดาเพราะทรงให้กำเนิด(พระบุตร) ทรงเป็นพระบุตรเพราะทรงบังเกิด(จากพระบิดา) และทรงเป็นพระจิตเจ้าเพราะทรงเนื่องมา(จากพระบิดาและพระบุตร)”[69] เอกภาพของพระเจ้าเป็นสามพระบุคคล

 255     พระบุคคลทั้งสามของพระเจ้ามีความสัมพันธ์ระหว่างกัน ความแตกต่างกันจริงๆ ของ(ทั้งสาม) พระบุคคล เนื่องจากว่าไม่แบ่งแยกเอกภาพ ตั้งอยู่ในความสัมพันธ์ที่พระบุคคลทั้งสามมีต่อกันเท่านั้น “ในพระนามที่มีความสัมพันธ์ต่อกัน พระบิดาทรงมีความสัมพันธ์กับพระบุตร  พระบุตรทรงมีความสัมพันธ์กับพระบิดา พระจิตเจ้าทรงมีความสัมพันธ์กับทั้งพระบิดาและพระบุตร เรากล่าวว่าทั้งสามพระบุคคลมีความสัมพันธ์ต่อกัน แต่ก็เชื่อว่าทรงมีพระธรรมชาติเดียวกัน”[70] ระหว่างพระบุคคลทั้งสาม “ทุกสิ่งเป็นหนึ่งเดียวกัน ถ้าไม่มีความแตกต่างในด้านความสัมพันธ์”[71] “เพราะเอกภาพนี้พระบิดาทรงอยู่ในพระบุตรอย่างสมบูรณ์ ทรงอยู่ในพระจิตเจ้าอย่างสมบูรณ์ พระบุตรทรงอยู่ในพระบิดาอย่างสมบูรณ์ ทรงอยู่ในพระจิตเจ้าอย่างสมบูรณ์ พระจิตเจ้าทรงอยู่ในพระบิดาอย่างสมบูรณ์ ทรงอยู่ในพระบุตรอย่างสมบูรณ์”[72]

 256     นักบุญเกรโกรีแห่งนาซีอันซัส ซึ่งมีสมญาว่า “นักเทววิทยา” ให้ข้อสรุปความเชื่อเรื่องพระตรีเอกภาพนี้ให้แก่ชาวคอนสแตนติโนเปิลผู้เรียนคำสอนเตรียมตัวเป็นคริสตชนไว้เช่นนี้

             “ก่อนอื่นหมด ขอให้ท่านรักษาสมบัติความเชื่อที่ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่และสู้รบเพื่อความเชื่อนี้ ขอให้สมบัติความเชื่อนี้อยู่กับข้าพเจ้าเมื่อข้าพเจ้ากำลังจะออกจากชีวิตนี้ด้วย เพราะความเชื่อนี้ข้าพเจ้าสู้ทนความยากลำบากทุกอย่างในชีวิต ดูหมิ่นความสุขสบายทุกอย่าง คิดว่ามันไม่มีคุณค่าใดเลย ใช่แล้ว (ท่านจงรักษา)ความเชื่อและการยืนยันความเชื่อในพระบิดา พระบุตร และพระจิตเจ้า วันนี้ข้าพเจ้ามอบความเชื่อนี้แก่ท่าน พร้อมกับความเชื่อนี้ข้าพเจ้าจะจุ่มท่านลงในน้ำและจะดึงท่านขึ้นมา ข้าพเจ้าให้ความเชื่อนี้ไว้เป็นเพื่อนและผู้อุปถัมภ์ของทั้งชีวิต ข้าพเจ้ามอบพระเจ้าและพระอานุภาพหนึ่งเดียวซึ่งรวมทั้งสาม(พระบุคคล)ที่แตกต่างไว้ด้วยกัน แต่หาได้มีพระธรรมชาติสูงหรือต่ำกว่ากัน และไม่ได้เพิ่มอำนาจเหนือกว่าหรือลดศักดิ์ศรีต่ำต้อยกว่ากัน [….] ทั้งสามพระบุคคลไร้ขอบเขต แต่ละพระบุคคล ถ้าพิจารณาแยกกัน ล้วนไร้ขอบเขต […] ถ้าพิจารณาพร้อมกันทั้งสามพระบุคคลก็เป็นพระเจ้าหนึ่งเดียวอีก […] ข้าพเจ้ายังไม่ทันคิดถึง(พระเจ้า)หนึ่งเดียว ทั้งสามพระบุคคลก็ส่องแสงมาห้อมล้อมข้าพเจ้าไว้ทันที ข้าพเจ้ายังไม่ทันจะคิดแยกสามพระบุคคล ข้าพเจ้าก็ถูกนำมาให้คิดถึงพระเจ้าหนึ่งเดียว.....”[73]

[62] เทียบ 1 คร 12:4-6; อฟ 4:4-6.  

[63] Paulus VI, Sollemnis Professio fidei, 9: AAS 60 (1968) 437.     

[64] Concilium Constantinopolitanum II (anno 553),  Anathematismi de tribus Capitulis, 1: DS 421.        

[65] Concilium Toletanum XI (anno 675), Symbolum:  DS 530.        

[66] Concilium Lateranense IV (anno 1215), Cap. 2, De errore abbatis Ioachim: DS 804. 

[67] Fides Damasi: DS 71.         

[68] Concilium Toletanum XI (anno 675), Symbolum:  DS 530.        

[69] Concilium Lateranense IV (anno 1215), Cap. 2, De errore abbatis Ioachim: DS 804. 

[70] Concilium Toletanum XI (anno 675), Symbolum:  DS 528.        

[71] Concilium Florentinum, Decretum pro Jacobitis (anno 1442): DS 1330.            

[72] Concilium Florentinum, Decretum pro Jacobitis (anno 1442): DS 1331.             

[73] Sanctus Gregorius Nazianzenus, Oratio, 40, 41: SC 358, 292-294 (PG 36, 417).   

IV.พระราชกิจของพระเจ้าและพันธกิจของพระตรีเอกภาพ

IV.   พระราชกิจของพระเจ้าและพันธกิจของพระตรีเอกภาพ

 257 “ข้าแต่พระตรีเอกภาพ องค์แสงสว่างรุ่งโรจน์และความสุข เอกภาพตั้งแต่แรกเริ่ม”[74] พระเจ้าทรงเป็นความสุขตั้งแต่นิรันดร เป็นความสว่างไม่สิ้นสุด พระเจ้าทรงเป็นองค์ความรัก พระบิดา พระบุตรและพระจิตเจ้า พระเจ้าทรงประสงค์อย่างอิสระที่จะแบ่งปันพระสิริรุ่งโรจน์แห่งชีวิตสุขสันต์ของพระองค์แก่มนุษย์ พระองค์ “พอพระทัย” เช่นนี้ (อฟ 1:9) ตามที่ทรงพระดำริไว้ในพระบุตรสุดที่รักตั้งแต่ก่อนการเนรมิตสร้างโลก “ทรงกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้วที่จะให้เราเป็นบุตรบุญธรรมเดชะพระเยซูคริสตเจ้าตามพระประสงค์ที่พอพระทัย” (อฟ 1:5)นั่นคือ “ทรงกำหนดจะให้เราเป็นภาพลักษณ์ของพระบุตร” (รม 8:29) โดยโปรดให้เรา “ได้รับจิตการเป็นบุตรบุญธรรม” (รม 8:15) พระประสงค์เช่นนี้เป็นพระหรรษทาน “ที่ประทานแก่เราแล้วก่อนกาลเวลา” (2 ทธ 1:9) พระประสงค์นี้สืบเนื่องโดยตรงมาจากความรักในองค์พระตรีเอกภาพ พัฒนาต่อมาในงานเนรมิตสร้าง และเมื่อมนุษย์ตกในบาปแล้วก็ยังพัฒนา ต่อมาตลอดประวัติศาสตร์ความรอดพ้นเมื่อทรงส่งพระบุตรและพระจิตเจ้ามาในโลกนี้ และพระศาสนจักรก็ปฏิบัติพันธกิจนี้สืบต่อมา[75] 

 258 แผนการณ์กอบกู้ทั้งหมดเป็นพระภารกิจของพระเจ้าทั้งสามพระบุคคล เพราะพระตรีเอกภาพทรงมีพระธรรมชาติหนึ่งเดียวเท่านั้นฉันใด ก็ทรงปฏิบัติพระราชกิจหนึ่งเดียวกันฉันนั้น[76] “พระบิดาและพระบุตรและพระจิตเจ้าไม่ทรงเป็นสามจุดเริ่มแรกของสิ่งสร้าง แต่ทรงเป็นจุดเริ่มแรกหนึ่งเดียว”[77] ถึงกระนั้น แต่ละพระบุคคลก็ทรงประกอบพระราชกิจตามลักษณะเฉพาะของพระองค์ ดังนี้พระศาสนจักรจึงประกาศตามอย่างพันธสัญญาใหม่[78] ว่า “พระเจ้าพระองค์เดียวคือพระบิดา สรรพสิ่งมาจากพระองค์ องค์พระผู้เป็นเจ้าหนึ่งเดียวคือพระเยซูคริสต์ สรรพสิ่งเป็นมาโดยทางพระองค์ และพระจิตเจ้าหนึ่งเดียว สรรพสิ่งอยู่ในพระองค์”[79] พระพันธกิจของพระบุตรผู้ทรงรับสภาพมนุษย์และพระพรที่พระจิตเจ้าประทานให้นั้นทำให้ลักษณะของ    พระบุคคลของพระเจ้าปรากฏชัดเจนเป็นพิเศษ

 259 แผนการณ์กอบกู้ทั้งหมด ซึ่งในเวลาเดียวกันเป็นพระภารกิจของทั้งสามพระบุคคลและเป็น พระภารกิจของแต่ละพระบุคคล แสดงให้เรารู้จักลักษณะเฉพาะและพระธรรมชาติหนึ่งเดียวของพระบุคคลทั้งสามได้ ชีวิตทั้งหมดของคริสตชนยังเป็นการมีส่วนร่วมกับพระเจ้าแต่ละพระบุคคลโดยที่ไม่แยกจากกันแม้แต่น้อย ผู้ที่ถวายพระสิริรุ่งโรจน์แด่พระบิดาย่อมทำดังนี้อาศัยพระบุตรในพระจิตเจ้า ผู้ที่ติดตามพระคริสตเจ้าย่อมทำเช่นนี้เพราะพระบิดาทรงชักนำเขา[80] และ
พระจิตทรงเป็นผู้ผลักดัน[81]

 260 จุดประสงค์สูงสุดของแผนการณ์กอบกู้ทั้งหมดของพระเจ้าคือการที่สิ่งสร้างทั้งปวงเข้ามารวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระตรีเอกภาพอย่างสมบูรณ์[82] แต่ทว่าตั้งแต่บัดนี้แล้วเราได้รับเรียกมาให้พระตรีเอกภาพประทับอยู่ด้วย เพราะองค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสว่า “ผู้ใดรักเรา ผู้นั้นจะปฏิบัติตามวาจาของเรา พระบิดาของเราจะทรงรักเขา พระบิดาจะเสด็จพร้อมกับเรามาหาเขา จะทรงพำนักอยู่กับเขา” (ยน 14:23)

          “ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้า พระตรีเอกภาพที่ข้าพเจ้ากราบนมัสการ โปรดช่วยข้าพเจ้าให้ลืมตนเองอย่างสมบูรณ์เพื่อจะวางตนในพระองค์ได้อย่างมั่นคงและมั่นใจประหนึ่งว่าวิญญาณข้าพเจ้าอยู่ในนิรันดรภาพแล้ว ขออย่าให้สิ่งใดมารบกวนสันติของข้าพเจ้าและดึงข้าพเจ้าไปจากพระองค์ ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้าผู้ไม่ทรงเปลี่ยนแปลง แต่ขอให้เวลาทุกขณะนำข้าพเจ้าเข้าในพระธรรมล้ำลึกของพระองค์ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โปรดบันดาลให้วิญญาณข้าพเจ้าอยู่ในสันติ โปรดให้วิญญาณข้าพเจ้าเป็นสวรรค์ของพระองค์ เป็นที่ประทับซึ่งทรงรักของพระองค์ เป็นที่พักผ่อนของพระองค์ โปรดอย่าให้ข้าพเจ้าทอดทิ้งพระองค์ไว้โดดเดี่ยวที่นั่นเลย แต่ขอให้ข้าพเจ้าอยู่ที่นั่นกับพระองค์อย่างสมบูรณ์ ให้ข้าพเจ้าตื่นเฝ้าพระองค์อย่างสมบูรณ์ด้วยความเชื่อ กราบนมัสการพระองค์อย่างสมบูรณ์ มอบตนเองให้ทรงเนรมิตสร้างอย่างสมบูรณ์”[83]

[74] «O lux, beata Trinitas, et principalis Unitas!»: Hymnus ad II Vesperas Domincae, in Hebdomadis 2 et 4: Liturgia Horarum, edition typical, v. 3 (Typis Polyglottis Vaticanis 1973) p. 684 et 931; v. 4 (Typis Polyglottis Vaticanis 1974) p. 632 et 879.

[75] Cf. Concilium Vaticanum II, Decr. Ad gentes, 2-9: AAS 58 (1966) 948-958.       

[76] Cf. Concilium Constantinopolitanum II (anno 553), Anathematismi de tribus Capitulis, I: DS 421.      

[77] Concilium Florentinum, Decretum pro Jacobitis (anno 1442): DS 1331.              

[78] เทียบ 1 คร 8:6.

[79] Concilium Constantinopolitanum II (anno 553), Anathematismi de tribus Capitulis, I: DS 421.         

[80] เทียบ ยน 6:44.

[81] เทียบ รม 8:14.

[82] เทียบ ยน 17:21-23.           

[83] Beata Elizabeth a Trinitiate, Elevation à la Trinité: Ecris spirituels, 50, ed. M.M. Philipon (Paris 1949) p. 80.          

สรุป

สรุป

 261      พระธรรมล้ำลึกเรื่องพระตรีเอกภาพเป็นพระธรรมล้ำลึกศูนย์กลางของความเชื่อและชีวิตคริสตชน พระเจ้าเท่านั้นอาจทรงเปิดเผยพระองค์ให้เรารู้จักได้ว่าทรงเป็นพระบิดาพระบุตรและพระจิตเจ้า

 262      การที่พระบุตรของพระเจ้าทรงรับสภาพมนุษย์เปิดเผยว่าพระเจ้าทรงเป็นพระบิดานิรันดร และพระบุตรทรงมีพระธรรมชาติเดียวกันกับพระบิดา นั่นคือ(พระบุตร)ทรงเป็นพระเจ้าหนึ่งเดียวในพระบิดาและพร้อมกับพระบิดา

 263      พันธกิจของพระจิตเจ้า ซึ่งพระบิดาทรงส่งมาในพระนามของพระบุตร[84]และพระบุตรทรงส่งมาจากพระบิดา” (ยน 15:26) คือทรงเปิดเผยว่าทรงเป็นพระเจ้าหนึ่งเดียวกันกับ  พระบิดาและพระบุตรทรงรับการถวายสักการะและพระสิริรุ่งโรจน์ร่วมกับพระบิดาและพระบุตร[85]

 264      “พระจิตเจ้าทรงเนื่องมาจากพระบิดาเป็นอันดับแรก และเพราะพระบิดาประทาน(ความเป็นอยู่)แก่พระบุตรตั้งแต่นิรันดร (พระจิตเจ้า)จึงทรงเนื่องมาจากทั้งสองพระบุคคลร่วมกันด้วย[86]

 265      อาศัยพระหรรษทานของศีลล้างบาปเดชะพระนามพระบิดา และพระบุตร และพระจิต” (มธ 28:19) เราได้รับเรียกให้มามีส่วนร่วมชีวิตของพระตรีเอกภาพ “(การมีส่วนร่วมนี้)ยังไม่ชัดเจนในแผ่นดินนี้อาศัยความเชื่อ แต่หลังจากความตายแล้วจะปรากฏชัดเจนจากแสงสว่างนิรันดร[87]

 266      “ความเชื่อคาทอลิกคือ เรากราบนมัสการพระเจ้าหนึ่งเดียวในพระตรีเอกภาพ และกราบนมัสการพระตรีเอกภาพในเอกภาพ โดยไม่นำพระบุคคลทั้งสามมาปะปนกัน และไม่แยก พระธรรมชาติ(หนึ่งเดียวของทั้งสามพระบุคคล) พระบุคคลของพระบิดาไม่ใช่พระบุคคลของพระบุตรและของพระจิตเจ้า แต่พระบิดา พระบุตรและพระจิตเจ้าทรงมีพระธรรมชาติพระเจ้าหนึ่งเดียวกัน ทรงพระสิริรุ่งโรจน์เท่ากัน และทรงพระมหิทธิภาพนิรันดรร่วมกัน[88]

 267      พระบุคคล(ทั้งสาม)ของพระเจ้าไม่ทรงแยกกันในความเป็นอยู่ และไม่ทรงแยกกันในพระภารกิจที่ทรงกระทำด้วย แต่ในการประกอบพระภารกิจหนึ่งเดียวกันนั้นแต่ละพระบุคคลก็ทรงแสดงให้เห็นพระบุคลิกเฉพาะที่ทรงมีในพระตรีเอกภาพ โดยเฉพาะในพระภารกิจที่พระบุตรทรงรับสภาพมนุษย์และพระจิตเจ้าที่ประทานพระพรของพระองค์(แก่มนุษย์)”

[84] เทียบ ยน 14:26.

[85] Symbolum Nicaenum-Constantinopolitanum: DS 150.              

[86] Sanctus Augustinus, De Trinitate, 15, 26, 47: CCL 50A, 529 (PL 42, 1095).       

[87] Paulus VI, Sollemnis Professio fidei, 9: AAS 60 (1968) 436.     

[88] Symbolum « Quicumque » : DS 75.             

วรรค 3

พระผู้ทรงสรรพานุภาพ

 268     จากคุณลักษณะทั้งมวลของพระเจ้า บทยืนยันความเชื่อกล่าวถึงเพียงสรรพานุภาพของพระองค์เท่านั้น การประกาศเรื่องนี้สำคัญมากสำหรับชีวิตของเรา เราเชื่อว่าพระอานุภาพนี้ครอบคลุมทุกสิ่ง เพราะพระเจ้าผู้ทรงเนรมิตสร้างสรรพสิ่ง[89] ทรงปกครองทุกสิ่ง ทรงทำทุกสิ่งได้ (เราเชื่อว่า)พระอานุภาพนี้เปี่ยมด้วยความรัก เพราะพระเจ้าทรงเป็นพระบิดาของเรา[90] (พระอานุภาพนี้)ยังลึกลับ เพราะความเชื่อเท่านั้นอาจแยกแยะความรักนี้ได้ ในเมื่อ“(พระอานุภาพนี้)แสดงออกเต็มที่เมื่อมนุษย์มีความอ่อนแอ” (2 คร 12:9)[91]

[89] เทียบ ปฐก 1:1; ยน 1:3.        

[90] เทียบ มธ 6:9.

[91] เทียบ 1 คร 1:18.              

พระองค์ทรงทำทุกสิ่งตามพระประสงค์” (สดด 115:3)

พระองค์ทรงทำทุกสิ่งตามพระประสงค์” (สดด 115:3)

 269      พระคัมภีร์กล่าวบ่อยๆ ว่าพระอานุภาพของพระเจ้าครอบคลุมทุกสิ่ง พระองค์ทรงได้รับพระนามว่า “พระผู้ทรงอานุภาพแห่งยาโคบ” (ปฐก 49:24; อสย 1:24 และที่อื่นๆ) “องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพลัง” “ทรงเข้มแข็งและทรงอานุภาพ” (สดด 24:8-10) ดังนั้น พระเจ้าจึงทรงสรรพานุภาพ “ในท้องฟ้าและบนแผ่นดิน” (สดด 135:6) เพราะพระองค์ทรงสร้างทุกสิ่งเหล่านี้ ไม่มีอะไรที่ทรงทำไม่ได้[92] และทรงจัดผลงานทุกสิ่งตามพระประสงค์[93] พระองค์ทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าของจักรวาลที่ทรงจัดระเบียบให้อยู่ใต้พระอำนาจอย่างสมบูรณ์ พระองค์ทรงเป็นเจ้านายของประวัติศาสตร์ ทรงควบคุมจิตใจและเหตุการณ์ต่างๆ ตามพระประสงค์[94] “เพราะพระองค์ทรงเลือกใช้พระอานุภาพยิ่งใหญ่ได้เสมอ ใครเล่าจะต้านทานพลังแห่งพระกรของพระองค์ได้” (ปชญ 11:21)

[92] เทียบ ยรม 32:17 ; ลก 1:37.    

[93] เทียบ ยรม 27:5.              

[3] เทียบ อสธ 4:17c ; สภษ 21:1; ทบต 13:2.        

พระองค์ทรงพระเมตตาต่อทุกคน เพราะพระองค์ทรงกระทำได้ทุกอย่าง” (ปชญ 11:23)

พระองค์ทรงพระเมตตาต่อทุกคน เพราะพระองค์ทรงกระทำได้ทุกอย่าง” (ปชญ 11:23)

 270     พระเจ้าทรงเป็นพระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพ การที่ทรงเป็นพระบิดาและพระอานุภาพนี้อธิบายความหมายของกันและกัน พระองค์ทรงสำแดงพระอานุภาพเยี่ยงพระบิดาโดยวิธีการที่ทรงเอาพระทัยใส่ต่อความต้องการของเรา[95] โดยทรงรับเราเป็นบุตรบุญธรรม (“เราจะเป็นเหมือนบิดาของท่าน และท่านจะเป็นเหมือนบุตรและธิดาของเรา พระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพตรัสดังนี้”: 2 คร 6:18) ในที่สุด เพราะทรงพระกรุณาอย่างที่สุด พระองค์ทรงสำแดงพระอานุภาพอย่างยิ่งโดยทรงอภัยบาปให้อย่างอิสระเสรี

 271      พระสรรพานุภาพของพระเจ้าหาได้ไร้เหตุผลไม่ “ในพระเจ้านั้น พระอานุภาพ ความเป็นอยู่ พระประสงค์ พระปัญญา พระปรีชาและความยุติธรรมเป็นสิ่งเดียวกัน ดังนั้นจึงไม่มีสิ่งใดในพระอานุภาพของพระเจ้าที่ไม่อาจอยู่ในพระประสงค์ที่ยุติธรรม และในพระปัญญาที่ทรงปรีชาของพระองค์ได้”[96]

[95] เทียบ มธ 6:32.

[96] Sanctus Thomas Aquinas, Summa theologiae 1, q.25,a.5, ad 1: Ed. Leon. 4,297.     

พระธรรมล้ำลึกที่ดูเหมือนว่าพระเจ้าทรงทำอะไรไม่ได้

พระธรรมล้ำลึกที่ดูเหมือนว่าพระเจ้าทรงทำอะไรไม่ได้

 272     ความเชื่อในพระเจ้าพระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพอาจถูกทดสอบได้จากประสบการณ์ความชั่วร้ายและความทุกข์ บางครั้งอาจดูเหมือนว่าพระเจ้าไม่ทรงอยู่ที่นี่และไม่ทรงสามารถขัดขวางความชั่วร้ายได้ ดังนั้นพระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพจึงทรงเปิดเผยพระสรรพานุภาพของพระองค์ด้วยวิธีการที่ลึกลับอย่างมากในการที่พระบุตรทรงยินดีถ่อมพระองค์และทรงกลับคืนพระชนมชีพ โดยวิธีนี้พระองค์ทรงพิชิตความชั่วร้าย ดังนี้พระคริสตเจ้าผู้ทรงถูกตรึงกางเขนจึงเป็นพระอานุภาพและพระปรีชาของพระเจ้า “ความโง่เขลาของพระเจ้ายังฉลาดยิ่งกว่าปรีชาญาณของมนุษย์ และความอ่อนแอของพระเจ้าก็ยังเข้มแข็งยิ่งกว่าพละกำลังของมนุษย์” (1 คร 1:25) เมื่อพระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพและทรงได้รับพระเกียรติ พระบิดาทรงแสดง “พระอานุภาพยิ่งใหญ่ของพระองค์ต่อเราผู้มีความเชื่อ” (เทียบ อฟ 1:19-22)

 273     ความเชื่อเท่านั้นอาจยอมรับวิธีการล้ำลึกที่พระเจ้าทรงสำแดงพระสรรพานุภาพได้ ความเชื่อนี้ภูมิใจในความอ่อนแอของตนเพื่อชักนำพละกำลังของพระคริสตเจ้าให้มาอยู่กับตน[97] พระนามพรหมจารีมารีย์ทรงเป็นแบบฉบับสูงสุดของความเชื่อเช่นนี้ พระนางทรงเชื่อว่า “ไม่มีสิ่งใดที่พระเจ้าจะทรงกระทำไม่ได้” (ลก 1:37) และทรงประกาศความยิ่งใหญ่ขององค์พระผู้เป็นเจ้าได้ว่า “พระผู้ทรงสรรพานุภาพทรงกระทำกิจการยิ่งใหญ่สำหรับข้าพเจ้า พระนามของพระองค์ศักดิ์สิทธิ์” (ลก 1:49)

 274     “ไม่มีสิ่งใดทำให้ความเชื่อและความหวังของเรามั่นคงได้เท่ากับการที่เรามีใจเชื่อมั่นว่าไม่มีสิ่งใดที่พระเจ้าทรงกระทำไม่ได้ เพราะถ้าเหตุผลของมนุษย์ยอมรับว่าพระเจ้าทรงสรรพานุภาพแล้ว   สิ่งใดไม่ว่าที่เราจำเป็นต้องเชื่อต่อไป แม้จะยิ่งใหญ่ น่าพิศวง และอยู่เหนือระเบียบและวิธีการของธรรมชาติสักเพียงไร เราก็อาจรับได้โดยไม่ลังเลใจเลยว่าเป็นเรื่องง่ายสำหรับพระองค์”[98]

[97] เทียบ 2 คร 12:9; ฟป 4:13.     

[98] Catechismus Romanus, 1,2,13:  ed. P. Rodriguez (Città del Vaticano-Pamplona) p. 31. 

สรุป

สรุป

 275      เราประกาศพร้อมกับโยบผู้ชอบธรรมว่าข้าพเจ้าเข้าใจว่าพระองค์ทรงกระทำได้ทุกสิ่ง ไม่มีผู้ใดขัดขวางพระประสงค์ของพระองค์ได้” (โยบ 42:2)

 276      พระศาสนจักรเชื่อคำยืนยันของพระคัมภีร์ ถวายคำอธิษฐานภาวนาต่อพระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพสถิตนิรันดร(ภาษาละตินว่า “Omnipotens sempiterne Deus….”) โดยเชื่อมั่นว่าไม่มีสิ่งใดที่พระเจ้าจะทรงกระทำไม่ได้ (ลก 1:37)[99]

 277      พระเจ้าทรงสำแดงว่าทรงสรรพานุภาพเมื่อทรงบันดาลให้เราหันออกจากบาปและประทาน พระหรรษทานนำเราให้มีมิตรภาพกับพระองค์อีก (“ข้าแต่พระเจ้า พระองค์ทรงสำแดงพระเดชานุภาพเฉพาะอย่างยิ่งโดยทรงพระกรุณาและอภัยโทษ” – “Deus, qui omnipotentiam Tuam parcendo maxime et miserando manifestas”)[100]

 278      ถ้าผู้ใดไม่เชื่อว่าพระเจ้าทรงสรรพานุภาพ เขาจะเชื่อได้อย่างไรว่าพระเจ้าทรงเนรมิตสร้างเรา พระบุตรทรงไถ่เรา พระจิตเจ้าทรงบันดาลความศักดิ์สิทธิ์แก่เราได้

[99] เทียบ ปฐก 18:14; มธ 19:26.   

[100] Dominica XXVI  “per annum”, Collecta: Missale Romanum, editio typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1970) p. 365.

วรรค 4

พระผู้ทรงเนรมิตสร้าง

 

 279      พระคัมภีร์เริ่มต้นอย่างสง่าด้วยถ้อยคำว่า “เมื่อแรกเริ่มนั้น พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างฟ้าและแผ่นดิน” (ปฐก 1:1) บทยืนยันความเชื่อก็นำถ้อยคำเหล่านี้มาประกาศอีกว่าพระเจ้าพระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพ “ทรงเนรมิตฟ้าดิน”[101] “ทั้งสิ่งที่เห็นได้และเห็นไม่ได้”[102] ดังนั้น เราจึงจะกล่าวถึงพระผู้สร้างก่อน แล้วจึงจะกล่าวถึงสิ่งที่ทรงเนรมิตสร้าง และในที่สุด จะกล่าวถึงการตกในบาป ซึ่งพระเยซูเจ้า พระบุตรของพระเจ้าเสด็จมาช่วยเราให้รอดพ้น

 280     การเนรมิตสร้างเป็นพื้นฐานของ “จุดเริ่มประวัติศาสตร์ความรอดพ้น” เกี่ยวข้องกับ “แผนการไถ่กู้สรรพสิ่งของพระเจ้า”[103] ซึ่งมีจุดยอดอยู่ที่พระคริสตเจ้า ในอีกด้านหนึ่ง  พระธรรมล้ำลึกเรื่องพระคริสตเจ้าก็เป็นแสงสว่างช่วยให้เราเข้าใจธรรมล้ำลึกเรื่องการเนรมิตสร้างได้อย่างสมบูรณ์ พระธรรมล้ำลึกนี้เปิดเผยให้เรารู้จุดประสงค์ที่ “เมื่อเริ่มแรกนั้น พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างฟ้าและแผ่นดิน” (ปฐก 1:1) ตั้งแต่เริ่มแรก พระเจ้าทรงตั้งพระทัยถึงพระสิริรุ่งโรจน์ของการเนรมิตสร้างใหม่ในพระคริสตเจ้า[104]

 281     เพระเหตุนี้ บทอ่านของพิธีตื่นเฝ้าสมโภชปัสกาในคืนวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองการเนรมิตสร้างใหม่ในพระคริสตเจ้าจึงเริ่มจากการเล่าถึงการเนรมิตสร้าง ในพิธีกรรมจารีตไบซันติน เรื่องการเนรมิตสร้างเป็นบทอ่านบทแรกเสมอในวันเตรียมฉลองใหญ่ๆ ขององค์พระผู้เป็นเจ้า จากพยานหลักฐานแต่โบราณ การสอนคำสอนเตรียมผู้จะรับศีลล้างบาปก็ดำเนินตามทางเดียวกันนี้[105]

[101] Symbolum apostolicum: DS 30. 

[102] Symbolum Nicaenum-Constantinopolitanum: DS 150.              

[103] Sacra Congregatio pro Clericis, Directorium catechisticum generale, 51: AAS 64 (1972) 128.          

[104] เทียบ รม 8:18-23.            

[105] Cf. Egeria, Itinerarium seu Peregrinatio ad loca sancta 46, 2: SC 296, 308; PLS 1, 1089-1090; Sanctus Augustinus, De catechizandis rudibus 3, 5; CCL 46, 124 (PL 40, 313).

I. การสอนคำสอนเรื่องการเนรมิตสร้าง

I. การสอนคำสอนเรื่องการเนรมิตสร้าง

 282 การสอนคำสอนเรื่องการเนรมิตสร้างมีความสำคัญมาก คำสอนเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับพื้นฐานของชีวิตมนุษย์และชีวิตคริสตชน เพราะคำตอบของความเชื่อของคริสตชนอธิบายความสงสัยพื้นฐานที่มนุษย์ทุกสมัยมักถามตนเองว่า “เรามาจากไหน” “เรากำลังไปไหน” “อะไรคือจุดเริ่มของเรา” “จุดหมายของเราคืออะไร” “ทุกสิ่งที่มีความเป็นอยู่มาจากไหนและกำลังมุ่งไปไหน” คำถามทั้งสองนี้ คือจุดเริ่มต้นและจุดหมาย แยกกันไม่ได้ คำถามทั้งสองมีความสำคัญยิ่งเพื่อจะเข้าใจความหมายและจัดระเบียบชีวิตและการกระทำของเรา

 283     ปัญหาเรื่องกำเนิดของโลกและมนุษยชาติเป็นสาระของการค้นคว้าหลากหลายทางวิชาการ ซึ่งทำให้เราได้รับความรู้มากมายเกี่ยวกับอายุ ขนาดความยิ่งใหญ่ของเอกภพ วิวัฒนาการของชีวิตในรูปแบบต่างๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรากฏขึ้นมาครั้งแรกของมนุษย์ การค้นพบเหล่านี้เชิญชวนเราให้รู้สึกพิศวงยิ่งขึ้นถึงความยิ่งใหญ่ของพระผู้สร้าง จะได้ขอบพระคุณพระองค์เพราะพระราชกิจผลงานทั้งหมดของพระองค์ และเพราะความเข้าใจและความรู้ที่พระองค์ประทานแก่บรรดาผู้รู้และค้นคว้าหาความรู้เหล่านี้ เขาเหล่านี้กล่าวพร้อมกับกษัตริย์ซาโลมอนได้ว่า “พระองค์ประทานความรู้เรื่องต่างๆโดยไม่หลงผิด ให้ข้าพเจ้ารู้จักโครงสร้างของโลกและพลังของสารต่างๆ [......] เพราะปรีชาญาณผู้จัดสร้างทุกสิ่งได้สอนข้าพเจ้า” (ปชญ 7:17-21)

 284      ความสนใจยิ่งใหญ่จะศึกษาค้นคว้าหาความรู้เรื่องเหล่านี้ยังได้รับการปลุกเร้าจากปัญหาอีกระดับหนึ่งซึ่งอยู่เหนือขอบเขตของวิชาการตามธรรมชาติ ปัญหาไม่จำกัดอยู่เพียงเพื่อจะรู้ว่าเอกภพที่เป็นสสารถือกำเนิดขึ้นเมื่อไรและอย่างไร และมนุษยชาติปรากฏขึ้นเมื่อไร แต่โดยเฉพาะเพื่อจะค้นพบว่าจุดกำเนิดดังกล่าวมีความหมายอย่างไร ถูกควบคุมโดยความบังเอิญ โดยโชคชะตามืดบอด โดยความจำเป็นที่เราไม่อาจรู้ได้ หรือโดยผู้ใดผู้หนึ่งที่เป็นโลกุตระ (transcendent) ทรงปัญญาและความดี ซึ่งเราเรียกว่า “พระเจ้า” และถ้าโลกนี้สืบเนื่องมาจากพระปรีชาและความดีของพระเจ้าแล้ว ทำไมจึงมีความชั่วอยู่ด้วย ความชั่วนี้มาจากไหน ใครเป็นผู้รับผิดชอบความชั่วนี้ มีความรอดพ้นจากความชั่วนี้หรือไม่

 285     ตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว ความเชื่อของคริสตชนก็พบว่าตนอยู่ต่อหน้าคำตอบที่แตกต่างจากคำตอบของตนต่อคำถามเกี่ยวกับต้นกำเนิดเหล่านี้ ดังนั้นจึงมีตำนานธรรมหลายหลากเกี่ยวกับต้นกำเนิดนี้ในศาสนาและอารยธรรมโบราณต่างๆ นักปรัชญาบางคนกล่าวว่าทุกสิ่งเป็นพระเจ้า โลกเป็นพระเจ้า วิวัฒนาการของโลกเป็นวิวัฒนาการของพระเจ้า (สรรพเทวนิยม) บางคนกล่าวว่าโลกเป็นการหลั่งออกด้วยความจำเป็นมาจากพระเจ้า ออกมาจากบ่อเกิดนี้และจำเป็นต้องกลับไปยังที่เดิมอีก ยังมีอีกบางคนที่ยืนยันว่ามีปฐมเหตุนิรันดรอยู่สองเหตุ คือปฐมเหตุของความดีและของความชั่ว ของแสงสว่างและของความมืด ปฐมเหตุทั้งสองนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อกันอยู่ตลอดเวลา (ทวินิยม-dualism; ลัทธิมานีเคอัสนิยม-Manichaeism) ตามความคิดของทฤษฎีเหล่านี้บางทฤษฎี โลกนี้ (อย่างน้อยโลกของสสาร) เป็นสิ่งไม่ดี เป็นผลจากความตกต่ำบางอย่าง จึงจำเป็นต้องถูกทิ้งไปหรือมองข้ามไปเสีย (gnosis – ไญยนิยม) บางคนยอมรับว่าโลกถูกสร้างจากพระเจ้า แต่โดยวิธีเหมือนกับที่นายช่างสร้างนาฬิกา ชนิดที่ว่าเมื่อทรงสร้างขึ้นแล้ว พระองค์ก็ทรงทิ้งให้เดินไปด้วยตัวเอง (deismus – เทวัสนิยม)  ในที่สุด บางคนไม่ยอมรับว่าโลกมีกำเนิดที่เป็นโลกกุตระ แต่เห็นว่าในโลกมีแต่บทบาทของสสารซึ่งมีความเป็นอยู่เสมอมา (ลัทธิวัตถุนิยม – materialism) ความพยายามเหล่านี้ทั้งหมดเป็นพยานยืนยันว่าปัญหาเรื่องต้นกำเนิดนั้นมีอยู่ตลอดมาและเป็นสากล ความพยายามค้นคว้านี้เป็นลักษณะเฉพาะของมนุษย์โดยแท้จริง

 286     ใช่แล้ว สติปัญญาของมนุษย์มีสมรรถภาพที่จะค้นพบคำตอบต่อปัญหาเรื่องต้นกำเนิด เพราะมนุษย์อาจใช้แสงสว่างของเหตุผลรู้ได้แน่นอนว่ามีพระเจ้าพระผู้เนรมิตสร้าง[106] แม้ว่าความรู้นี้มักจะไม่ชัดเจนและบิดเบือนบ่อยๆ เพราะความหลงผิด เพราะเหตุนี้ ความเชื่อจึงทำให้เหตุผลมีความมั่นใจและช่วยส่องสว่างให้เข้าใจความจริงอย่างถูกต้อง “เพราะความเชื่อ เราจึงเข้าใจว่าพระวาจาของพระเจ้าเนรมิตสร้างโลก ดังนั้น สิ่งที่มนุษย์มองเห็นได้จึงเกิดขึ้นจากสิ่งที่มนุษย์มองไม่เห็น” (ฮบ 11:3)

 287     ความจริงเรื่องการเนรมิตสร้างสำคัญมากสำหรับชีวิตทั้งหมดของมนุษย์ จนว่าพระเจ้าผู้ทรงพระทัยอ่อนโยนทรงประสงค์เปิดเผยให้ประชากรของพระองค์รู้จักความจริงทุกประการในเรื่องนี้ที่จำเป็นสำหรับความรอดพ้น พระเจ้าทรงค่อยๆ เปิดเผยให้อิสราเอลรู้จักพระธรรมล้ำลึกเรื่องการเนรมิตสร้างนอกเหนือไปจากความรู้ตามธรรมชาติที่มนุษย์อาจมีได้เกี่ยวกับพระผู้สร้าง[108] พระองค์ผู้ทรงเลือกสรรบรรดาบรรพบุรุษ ทรงนำอิสราเอลจากอียิปต์ และเมื่อทรงเลือกสรรอิสราเอล ทรงเนรมิตสร้างและปั้นเขาขึ้นมา[108] ก็ทรงเปิดเผยพระองค์ว่าทรงมีกรรมสิทธิ์เหนือประชากรทั้งหลายในโลก รวมทั้งสากลโลกด้วย ในฐานะที่ทรงเป็นพระผู้ “ทรงสร้างท้องฟ้าและแผ่นดิน” (สดด 115:15; 124:8; 134:3)

 288     ดังนี้ การเปิดเผยเรื่องการเนรมิตสร้างจึงแยกกันไม่ได้จากการเปิดเผยและการกระทำพันธสัญญาของพระเจ้าหนึ่งเดียวกับประชากรของพระองค์ การเนรมิตสร้างได้รับการเปิดเผยเป็นดังก้าวแรกที่จะก้าวเดินไปถึงพันธสัญญานี้ เป็นประหนึ่งพยานแรกและสากลถึงความรักของพระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพ[109] ความจริงเรื่องการเนรมิตสร้างยังแสดงให้เห็นอย่างแข็งขันยิ่งขึ้นในการประกาศสอนของบรรดาประกาศก[110] ในคำภาวนาของเพลงสดุดี[111] และพิธีกรรม ในการคิดคำนึงของวรรณกรรมปรีชาญาณ[112] ของประชากรที่ทรงเลือกสรร

 289     ในบรรดาข้อความของพระคัมภีร์ที่กล่าวถึงการเนรมิตสร้าง เรื่องราวที่เล่าไว้ในสามบทแรกของหนังสือปฐมกาลมีความสำคัญเป็นพิเศษ ถ้าพิจารณาในด้านวรรณกรรม ตัวบทเหล่านี้อาจมีแหล่งข้อมูลต่างกัน ผู้นิพนธ์ซึ่งได้รับการดลใจจากพระเจ้าจัดวางข้อความเหล่านี้ไว้ที่จุดเริ่มต้นของพระคัมภีร์ เป็นการใช้ถ้อยคำที่สง่างามเพื่อแสดงความจริงเรื่องการเนรมิตสร้างซึ่งมีจุดเริ่มและจุดจบในพระเจ้า ความจริงเรื่องระเบียบและความดีของสิ่งสร้าง เรื่องบทบาทของมนุษย์ และในที่สุดเรื่องเศร้าของบาปและเรื่องความหวังในความรอดพ้น ข้อความเหล่านี้ ถ้าอ่านในมุมมองไปถึงพระคริสตเจ้าโดยคำนึงถึงเอกภาพของพระคัมภีร์ และในธรรมประเพณีที่เป็นปัจจุบันของ
พระศาสนจักร ยังคงเป็นบ่อเกิดสำคัญสำหรับการสอนคำสอนเรื่องพระธรรมล้ำลึก “ของจุดเริ่มต้น” ซึ่งหมายถึง การเนรมิตสร้าง การที่มนุษย์ตกในบาป และพระสัญญาจะประทานความรอดพ้น

[106] Cf. Concilium Vaticanum I, Const. dogm. Dei Filius,  De Revelatione, canon 1: DS 3026.             

[107] เทียบ กจ 17:24-29; รม 1:19-20.

[108] เทียบ อสย 43:1.              

[109] เทียบ ปฐก 15:5; ยรม 33 :19-26.

[110] เทียบ อสย 44:24             

[111] เทียบ สดด 104.

[112] เทียบ สภษ 8:22-31.           

II. การเนรมิตสร้างเป็นผลงานของพระตรีเอกภาพ

II. การเนรมิตสร้างเป็นผลงานของพระตรีเอกภาพ

 290 “เมื่อแรกเริ่มนั้น พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างฟ้าและแผ่นดิน” (ปฐก 1:1) คำเริ่มแรกของพระคัมภีร์นี้ยืนยันความจริงสามประการ คือ พระเจ้านิรันดรทรงทำให้ทุกสิ่งที่อยู่นอกพระองค์เริ่มมีขึ้น พระองค์เพียงผู้เดียวทรงเป็น “พระผู้เนรมิตสร้าง” (กริยา “เนรมิตสร้าง” หรือ “bara’” ในภาษาฮีบรู มี “พระเจ้า” เป็น “ประธาน” เสมอ) เอกภพของทุกสิ่งที่เป็นอยู่ (วลี “ฟ้าและแผ่นดิน”) ล้วนขึ้นกับพระองค์ผู้ประทานความเป็นอยู่ให้

 291 “เมื่อแรกเริ่มนั้น พระวจนาตถ์ทรงดำรงอยู่แล้ว [….] พระวจนาตถ์เป็นพระเจ้า [….] พระเจ้าทรงสร้างทุกสิ่งอาศัยพระวจนาตถ์ ไม่มีสักสิ่งเดียวที่พระเจ้าไม่ทรงสร้างโดยทางพระวจนาตถ์” (ยน 1:1-3) พันธสัญญาใหม่เปิดเผยว่าพระเจ้าทรงเนรมิตสร้างทุกสิ่งอาศัยพระวจนาตถ์นิรันดร พระบุตรสุดที่รักของพระองค์ “สรรพสิ่งทั้งในสวรรค์และบนแผ่นดิน [….] ทุกสิ่งถูกเนรมิตขึ้นโดยพระองค์และเพื่อพระองค์ พระองค์ทรงดำรงอยู่ก่อนสรรพสิ่ง และสรรพสิ่งดำรงอยู่เป็นระเบียบในพระองค์” (คส 1:16-17) ความเชื่อของพระศาสนจักรยังยืนยันเช่นเดียวกันถึงพระราชกิจเนรมิตสร้างของพระจิตเจ้า พระผู้ซึ่งเราประกาศว่าเป็น “ผู้ทรงบันดาลชีวิต”[113] ทรงเป็น “พระจิตผู้ทรงเนรมิตสร้าง” (ในบท “Veni, Creator Spiritus”) ทรงเป็น “บ่อเกิดแห่งความดี”[114]

 292 พระราชกิจการเนรมิตสร้างของพระบุตรและพระจิตเจ้า ซึ่งเป็นหนึ่งเดียวอย่างแยกกันไม่ได้กับการเนรมิตสร้างของพระบิดา ก็ได้รับการกล่าวถึงเป็นนัยแล้วในพันธสัญญาเดิม[115] ได้รับการเปิดเผยในพันธสัญญาใหม่ ได้รับการยืนยันอย่างชัดเจนในข้อความเชื่อของพระศาสนจักร “ที่นี่มีพระเจ้าเพียงพระองค์เดียว [….] ที่นี่มีพระบิดา ที่นี่มีพระเจ้า ที่นี่มีพระผู้สถาปนา ที่นี่มีพระผู้ทำ ที่นี่มีพระผู้ก่อสร้าง ผู้ที่ทรงกระทำทุกสิ่งเหล่านี้ ด้วยพระองค์เอง นั่นคืออาศัยพระวจนาตถ์และพระปรีชาของพระองค์”[116] “พระบุตรและพระจิต” ทรงเป็นเสมือน “พระหัตถ์” ของพระองค์[117] การเนรมิตสร้างเป็นผลงานของพระตรีเอกภาพ

[113] Symbolum Nicaenum-Constantinopolitanum: DS 150.

[114] Liturgia Byzantina, 2um Sticherum Vesperarum Dominicae Pentecostes: Pentekostarion (Rome 1883) p. 408.           

[115] เทียบ กจ 33:6; 104:30; ปฐก 1:2-3.            

[116] Sanctus Irenaeus Lugdunensis, Adversus haereses, 2, 30, 9: SC 294, 318-320 (PG 7, 822).         

[117] Sanctus Irenaeus Lugdunensis, Adversus haereses, 4, 20, 1: SC 100, 626 (PG 7, 1032).             

III.  “โลกถูกสร้างขึ้นเพื่อพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า”

III.  “โลกถูกสร้างขึ้นเพื่อพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า

 293     ความจริงพื้นฐานที่พระคัมภีร์และธรรมประเพณีไม่เคยหยุดสอนก็คือ “โลกถูกเนรมิตสร้างขึ้นมาเพื่อพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า”[118] นักบุญโบนาเวนตูราอธิบายว่า พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างทุกสิ่ง “ไม่ใช่เพื่อทรงเพิ่มเติมพระสิริรุ่งโรจน์ แต่เพื่อทรงสำแดงและถ่ายทอด พระสิริรุ่งโรจน์”[119] พระเจ้าไม่ทรงมีเหตุผลอื่นใดได้เพื่อจะเนรมิตสร้าง ถ้าไม่ใช่ความรักและความดีของพระองค์ “สิ่งสร้างทั้งหลายเกิดขึ้นเมื่อกุญแจความรักเปิดพระหัตถ์ของพระองค์”[120] สภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 1 อธิบายว่า

             “เพราะความดีและพระสรรพานุภาพ มิใช่เพื่อทรงเพิ่มเติมหรือแสวงหาความสุข แต่เพื่อทรงสำแดงและประทานความสมบูรณ์ที่ทรงมีให้แก่สิ่งสร้าง ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของเวลา พระเจ้าจึงทรงเนรมิตสิ่งสร้างตามแผนการอิสระเสรียิ่งของพระองค์จากความเปล่า ทั้งสิ่งที่เป็นจิตและสิ่งที่มีร่างกาย”[121]

 294    พระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าคือเพื่อทำให้การสำแดงและถ่ายทอดความดี ที่เป็นเหตุให้โลกถูกเนรมิตสร้างขึ้นนี้เป็นจริงขึ้นมา “พระองค์ทรงกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้วที่จะให้เราเป็นบุตรบุญธรรมเดชะพระเยซูคริสตเจ้าตามพระประสงค์ที่พอพระทัย เพื่อสรรเสริญพระสิริรุ่งโรจน์แห่งพระหรรษทานของพระองค์” (อฟ 1:5-6) “มนุษย์ผู้มีชีวิตคือพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า อันว่าการแลเห็นพระเจ้าคือชีวิตของมนุษย์ ถ้าสิ่งที่เป็นการแสดงให้เห็นพระเจ้าโดยมีเงื่อนไขยังประทานชีวิตให้แก่ทุกสิ่งที่มีชีวิตอยู่บนแผ่นดินแล้ว การแสดงพระบิดาให้ปรากฏอาศัยพระวจนาตถ์นั้นจะประทานชีวิตแก่ผู้ที่แลเห็นพระเจ้ามากยิ่งขึ้นสักเพียงใด”[122] จุดหมายสุดท้ายของการเนรมิตสร้างก็เพื่อให้พระเจ้า “ผู้ทรงสถาปนาทุกสิ่งในที่สุดทรงเป็น “ทุกสิ่งในทุกคน” (1 คร 15:28) เมื่อทรงนำพระสิริรุ่งโรจน์มาให้พระองค์และนำความสุขมาให้เรา[123]

[118] Concilium Vaticanum I, Const. dogm. Dei Filius, De Deo rerum omnium Creatore, canon 5: DS 3025.  

[119] Sanctus Bonaventura, In secundum librum Sententiarum, dist. 1, p. 2, a. 2, q. 1, concl.: Opera omnia, v. 2 (Ad Claras Aquas 1885) p. 44.

[120] Sanctus Thomas Aquinas, Commentarium in secundum librum Sententiarum, Prologus: Opera Omnia, v. 8 (Parisiis 1873) p. 2.            

[121] Concilium Vaticanum I, Const. dogm. Dei Filius, c. 1: DS 3002.   

[122] Sanctus Irenaeus Lugdunensis, Adversus haereses, 4, 20, 7: SC100, 648 (PG 7, 1037).             

[123] Concilium Vaticanum II, Decr. Ad gentes, 2: AAS 58 (1966) 948.

IV. ธรรมล้ำลึกการเนรมิตสร้าง

IV. ธรรมล้ำลึกการเนรมิตสร้าง

พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างด้วยพระปรีชาและความรัก

 295     เราเชื่อว่าพระเจ้าทรงเนรมิตสร้างโลกตามพระปรีชาของพระองค์[124] โลกนี้มิได้เป็นผลของความจำเป็น ของโชคชะตามืดบอดหรือความบังเอิญใดๆ เราเชื่อว่าโลกนี้เนื่องมาจากพระประสงค์อิสระของพระเจ้าผู้ทรงประสงค์ให้สิ่งสร้างทั้งหลายมีส่วนร่วมในความเป็นอยู่ พระปรีชาและความดีของพระองค์  “พระองค์ทรงสร้างสรรพสิ่ง และทุกสิ่งถูกสร้างและดำรงอยู่ตามพระประสงค์ของพระองค์” (วว 4:11) “พระราชกิจของพระองค์ช่างมีมากเหลือล้น พระองค์ทรงกระทำทุกอย่างด้วยพระปรีชาญาณ” (สดด 104:24) “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงพระทัยดีแก่ทุกคน ความอ่อนโยนของพระองค์ครอบคลุมสิ่งสร้างทั้งมวล” (สดด 145:9)


พระเจ้าทรงเนรมิตสร้าง
จากความว่างเปล่า” (ex nihilo)

 296     เราเชื่อว่าพระเจ้าไม่ทรงต้องการสิ่งใดที่มีความเป็นอยู่ก่อนแล้ว หรือความช่วยเหลือใดๆ เพื่อทรงเนรมิตสร้าง[125] และการเนรมิตสร้างก็มิใช่การหลั่งไหลที่จำเป็นจากพระธรรมชาติของพระเจ้า[126] พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างอย่างอิสระ “จากความว่างเปล่า”[127]

            “ถ้าพระเจ้าทรงเนรมิตสร้างโลกจากวัสดุที่มีอยู่ก่อนแล้ว การเนรมิตสร้างจะมีความสำคัญอะไรเป็นพิเศษ  นายช่างในหมู่เราย่อมทำอะไรก็ได้ตามใจจากวัสดุที่ได้รับมา เราเห็นพระอานุภาพของพระเจ้าก็เพราะพระองค์ทรงเนรมิตสร้างสิ่งใดไม่ว่าที่ทรงประสงค์จากความว่างเปล่า”[128]

 297     พระคัมภีร์ยืนยันความเชื่อเรื่องการเนรมิตสร้าง “จากความว่างเปล่า” ว่าเป็นความจริงที่ทรงสัญญาและประทานความหวัง มารดาของบุตรเจ็ดคนเตือนใจบุตรให้ยินดีรับการเป็นมรณสักขีดังนี้

             “แม่ไม่รู้ว่าลูกมาอยู่ในครรภ์ของแม่ได้อย่างไร แม่มิใช่ผู้ที่ให้ลูกมีลมหายใจและชีวิต แม่มิใช่ผู้ที่จัดโครงสร้างของลูกแต่ละคน แต่พระเจ้าผู้ทรงเนรมิตโลกทรงเป็นผู้ให้กำเนิดมนุษยชาติและทรงเป็นบ่อเกิดของทุกสิ่ง พระองค์จะทรงพระกรุณาประทานลมหายใจและชีวิตคืนให้แก่ลูก เพราะบัดนี้ลูกสละชีวิตของตนเพราะเห็นแก่ธรรมบัญญัติของพระองค์ [….] ลูกเอ๋ย แม่ขอร้องให้ลูกมองดูสวรรค์และแผ่นดินเถิด จงดูทุกสิ่งที่อยู่ในนั้น แล้วลูกจะรู้ว่าพระเจ้าทรงสร้างสิ่งเหล่านี้มิใช่จากสิ่งที่มีอยู่ก่อน มนุษยชาติก็เกิดขึ้นโดยวิธีเดียวกัน” (2 มคบ 7:22-3,28)

 298     เนื่องจากพระเจ้าทรงเนรมิตสร้างได้จากความว่างเปล่า พระองค์ก็ประทานชีวิตวิญญาณให้แก่คนบาปอาศัยพระจิตเจ้าและทรงเนรมิตสร้างใจบริสุทธิ์แก่เขาได้[129] และยังประทานชีวิตร่างกายแก่ผู้ล่วงลับอาศัยการกลับคืนชีพ พระองค์ “ทรงเป็นผู้นำคนตายให้คืนชีพ และทรงทำให้สิ่งที่ยังไม่มีภาวะความเป็นอยู่ได้มีภาวะความเป็นอยู่” (รม 4:17) และเพราะอาศัยพระวาจาพระองค์ทรงทำให้แสงสว่างส่องในความมืดได้[130] พระองค์ยังประทานแสงสว่างแห่งความเชื่อแก่ผู้ที่ไม่รู้จักพระองค์ได้อีกด้วย[131]


พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างโลกที่มีระเบียบและดีงาม

 299     ถ้าพระเจ้าทรงเนรมิตสร้างด้วยพระปรีชา สิ่งสร้างทั้งมวลจึงมีระเบียบเรียบร้อย “พระองค์ทรงจัดการทุกสิ่งตามขนาด จำนวน และน้ำหนัก” (ปชญ 11:20) สิ่งทั้งหลายที่สร้างขึ้นในและอาศัยพระวจนาตถ์นิรันดร ซึ่ง “เป็นภาพลักษณ์ของพระเจ้าที่เรามองไม่เห็น” (คส 1:15) นั้นถูกกำหนดไว้และมุ่งไปหามนุษย์ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ของพระเจ้า[132] และได้รับเรียกมาให้มีความสัมพันธ์เป็นส่วนตัวกับพระเจ้า สติปัญญาของเราซึ่งมีส่วนร่วมแสงพระปัญญาของพระเจ้า ย่อมเข้าใจสิ่งที่พระเจ้าตรัสกับเราอาศัยการเนรมิตสร้าง[133] แม้ว่าเราจะต้องใช้ความพยายามอยู่ไม่น้อยและยังต้องมีจิตใจที่ถ่อมตนและเคารพต่อพระผู้เนรมิตสร้างและผลงานของพระองค์[134] การเนรมิตสร้างซึ่งเกิดจากความดีของพระเจ้าย่อมมีส่วนในความดีนี้ (“และพระเจ้าทรงเห็นว่าดี [….] ดีมาก”: ปฐก 1:4,10,12,18,21,31) เพราะพระเจ้าทรงประสงค์ให้การเนรมิตสร้างเป็นเสมือนของประทานที่ทรงจัดไว้สำหรับมนุษย์ เป็นเสมือนมรดกที่กำหนดไว้สำหรับเขาและทรงฝากไว้กับเขา หลายต่อหลายครั้ง พระศาสนจักรจึงต้องปกป้องความดีงามของสิ่งสร้าง รวมทั้งความดีของโลกที่เป็นวัตถุด้วย[135]

 

พระเจ้าทรงอยู่เหนือสิ่งสร้างและทรงคอยดูแลสิ่งสร้าง

 300     พระเจ้าทรงยิ่งใหญ่เหนือพระราชกิจทุกสิ่งที่ทรงกระทำ[136] “คำสรรเสริญพระองค์ขึ้นไปถึงฟากฟ้า”(สดด 8:1) “ความยิ่งใหญ่ของพระองค์เกินกว่าจะหยั่งรู้ได้” (สดด 145:3) แต่เพราะพระผู้เนรมิตสร้างนี้ทรงยิ่งใหญ่ทรงอิสระเสรี ทรงเป็นปฐมเหตุของทุกสิ่งที่มีความเป็นอยู่ พระองค์จึงประทับอยู่ในส่วนลึกที่สุดของทุกสิ่งที่ทรงเนรมิตสร้างขึ้น “เรามีชีวิต เคลื่อนไหวและมีความเป็นอยู่ในพระองค์” (กจ 17:28) ดังที่นักบุญออกัสตินกล่าวไว้ว่า “พระองค์ประทับอยู่ลึกกว่าจุดลึกที่สุด และสูงกว่าส่วนสูงที่สุดของข้าพเจ้า”[137]


พระเจ้าทรงทำนุบำรุงรักษาสิ่งสร้าง

 301     หลังจากที่ทรงเนรมิตสร้างสรรพสิ่งขึ้นมาแล้ว พระเจ้ามิได้ทรงละทิ้งสิ่งสร้างไว้โดยลำพัง เมื่อประทานความเป็นอยู่ให้แก่สิ่งสร้างแล้ว พระองค์ยังทรงปกปักรักษาไว้ใน “ความเป็นอยู่” ทุกๆ ขณะ ทรงจัดให้แต่ละสิ่งทำหน้าที่ของตนและทรงนำทุกสิ่งไปยังจุดหมายปลายทางของมัน การยอมรับว่าสิ่งสร้างทั้งหลายขึ้นอย่างเด็ดขาดกับพระผู้เนรมิตสร้างเช่นนี้เป็นบ่อเกิดแห่งปรีชาญาณและอิสรภาพ ความยินดีและความไว้วางใจ

              “พระองค์ทรงรักทุกสิ่งที่มีอยู่ ไม่ทรงรังเกียจสิ่งใดที่ทรงเนรมิต เพราะถ้าพระองค์ทรงเกลียดสิ่งใด ก็คงจะไม่ทรงเนรมิตสิ่งนั้น  หากพระองค์ไม่ทรงประสงค์สิ่งใด สิ่งนั้นจะดำรงอยู่ได้อย่างไร สิ่งนั้นจะคงอยู่ต่อไปได้อย่างไร ถ้าพระองค์ไม่ทรงเรียกให้เกิดขึ้น ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงรักทุกสิ่งที่มีชีวิต พระองค์ทรงพระกรุณาต่อทุกสิ่ง เพราะทุกสิ่งเป็นของพระองค์” (ปชญ 11:24-26)

[124] เทียบ ปชญ 9:9.

[125] Cf. Concilium Vaticanum I, Const. dogm. Dei Filius, c.1: DS 3002. 

[126] Cf. Concilium Vaticanum I, Const. dogm. Dei Filius, De Deo rerum omnium Creatore, canones 1-4: DS 3023-3024.

[127] Concilium Lateranense IV, Cap. 2, De fide catholica: DS 800; Concilium Vaticanum I, Const. dogm. Dei Filius, De Deo rerum omnium Creatore,  canon 5: DS 3025.         

[128] Sanctus Theopilus Antiochenus Ad Autolycum, 2, 4: SC 20, 102 (PG 6, 1052).     

[129] เทียบ สดด 51:12.             

[130] เทียบ ปฐก 1:3.

[131] เทียบ สดด 19:2-5.            

[132] เทียบ ปฐก 1:26.              

[133] เทียบ สดด 19:2-5.           

[134] เทียบ โยบ 42:3.             

[135] Cf. Sanctus Leo Magnus, Epistula Quam laudabiliter: DS 286; Concilium Bracarense I, Anathematismi praesertim contra Priscillianistas, 5-13: DS 455-463; Concilium Lateranense IV, Cap. 2, De fide catholica: DS 800; Concilium Florentinum, Decretum pro Iacobitis: DS 1333; Concilium Vaticanum I, Const. dogm. Dei Filius, c.1: DS 3002.    

[136] เทียบ บสร 43:28. (Vg 43:30).

[137] Sanctus Augustinus, Confessiones, 3, 6, 11: CCL 27, 33 (PL 32, 688).           

V. พระเจ้าทรงทำตามที่ทรงวางแผนไว้ – พระญาณเอื้ออาทรของพระเจ้า

V. พระเจ้าทรงทำตามที่ทรงวางแผนไว้พระญาณเอื้ออาทรของพระเจ้า

 302      สิ่งสร้างมีความดีและความสมบูรณ์ของตน แต่ก็หาได้เป็นอิสระโดยสิ้นเชิงจากพระหัตถ์ของพระเจ้า บรรดาสิ่งสร้างล้วนอยู่ “ในสภาวะการเดินทาง” (in statu viae) มุ่งไปรับความสมบูรณ์สูงสุดที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้ แต่ยังไม่บรรลุถึง เราเรียกระบอบจัดการที่พระเจ้าทรงนำสิ่งสร้างทั้งมวลให้บรรลุถึงความสมบูรณ์นี้ว่า “พระญาณเอื้ออาทร” (providence)

               “พระเจ้าทรงปกครองดูแลสิ่งทั้งมวลที่ทรงเนรมิตสร้างขึ้นนี้ด้วยพระญาณเอื้ออาทร ‘ซึ่งแผ่พลังไปทั่วทุกมุมโลก ปกครองทุกสิ่งอย่างดีเลิศ’ (เทียบ ปชญ 8:1) ‘ทุกสิ่งเปิดเผยอย่างชัดเจนต่อสายพระเนตรของพระองค์’ (ฮบ 4:13) รวมทั้งสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากการกระทำอย่างอิสระของสิ่งสร้างด้วย”[138]

 303    พยานหลักฐานจากพระคัมภีร์กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ความเอาพระทัยใส่ของพระญาณเอื้ออาทรนั้นเป็นรูปธรรมและทันเหตุการณ์ พระเจ้าเอาพระทัยใส่ต่อทุกสิ่ง ตั้งแต่สิ่งเล็กน้อยที่สุดในโลกรวมไปถึงเหตุการณ์ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ พระคัมภีร์ยืนยันอย่างแข็งขันว่าพระเจ้าทรงควบคุมเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น “พระเจ้าของเราประทับอยู่ในสวรรค์ พระองค์ทรงทำทุกสิ่งตาม พระประสงค์” (สดด 115:3) และยังกล่าวถึงพระคริสตเจ้าอีกว่า “เมื่อพระองค์ทรงปิด ก็ไม่มีผู้ใดเปิดได้” (วว 3:7) “ในใจมนุษย์มีแผนการมากมาย แต่พระประสงค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าจะตั้งมั่นอยู่อย่างมั่นคง” (สภษ 19:21)

 304    เราจึงเห็นว่าพระจิตเจ้าซึ่งเป็นผู้แต่งเอกของพระคัมภีร์มักจะยกให้เหตุการณ์ต่างๆ เป็นการกระทำของพระเจ้าอยู่บ่อยๆ โดยไม่กล่าวถึงสาเหตุทุติยภูมิ การกล่าวเช่นนี้ไม่ถือว่าเป็น “วิธีโบราณ” แต่เป็นวิธีการลึกซึ้งเพื่อเตือนให้ระลึกถึงการที่พระเจ้าทรงอำนาจสูงสุดเหนือประวัติศาสตร์และโลกนี้[139] และดังนี้เพื่ออบรมสั่งสอนให้ไว้วางใจในพระองค์ บทภาวนาในหนังสือเพลงสดุดีนับว่าเป็นสถานศึกษายิ่งใหญ่สอนความไว้วางใจเช่นนี้[140]

 305    พระเยซูเจ้าทรงเรียกร้องให้เรามอบความไว้วางใจเยี่ยงบุตรต่อพระญาณเอื้ออาทรของพระบิดาเจ้าสวรรค์ซึ่งเอาพระทัยใส่ต่อความต้องการแม้เล็กน้อยที่สุดของบรรดาบุตรของพระองค์ “ดังนั้น อย่ากังวลและกล่าวว่า ‘เราจะกินอะไร หรือจะดื่มอะไร’ [….] พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์ทรงทราบแล้วว่าท่านต้องการทุกสิ่งเหล่านี้ จงแสวงหาพระอาณาจักรของพระเจ้าและความชอบธรรมของพระองค์ก่อน แล้วพระองค์จะทรงเพิ่มทุกสิ่งเหล่านี้ให้” (มธ 6:31-33)[141]


พระญาณเอื้ออาทรและสาเหตุทุติยภูมิ

 306     พระเจ้าทรงเป็นเจ้านายสูงสุดแห่งแผนการของพระองค์ แต่เพื่อจะทรงทำให้แผนการนั้นเป็นจริง พระองค์ยังทรงใช้ความร่วมมือของสิ่งสร้างด้วย การทรงทำเช่นนี้ไม่เป็นเครื่องหมายแสดงความอ่อนแอ แต่เป็นเครื่องหมายแสดงความยิ่งใหญ่และความดีของพระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพ เพราะพระเจ้ามิได้เพียงประทานให้สิ่งสร้างมีความเป็นอยู่เท่านั้น แต่ยังประทานให้สิ่งเหล่านี้มีศักดิ์ศรีที่จะปฏิบัติงานเองได้ด้วย ให้สิ่งหนึ่งเป็นสาเหตุและบ่อเกิดของอีกสิ่งหนึ่งได้ และดังนี้จึงเป็นผู้ร่วมงานทำให้แผนการของพระองค์ประสบความสำเร็จ

 307     พระเจ้ายังประทานความสามารถให้มนุษย์มีส่วนในพระญาณเอื้ออาทรของพระองค์ด้วย โดยทรงมอบให้เขารับผิดชอบในการทำให้โลกอยู่ใต้อำนาจและเป็นนายปกครองโลก[142] ดังนี้ พระเจ้าโปรดให้มนุษย์เป็นสาเหตุที่มีความเข้าใจและอิสระเสรีที่จะทำให้งานเนรมิตสร้างสำเร็จบริบูรณ์และทำให้สิ่งสร้างมีความกลมกลืนอย่างสมบูรณ์เพื่อความดีของตนเองและของเพื่อนมนุษย์ มนุษย์ในฐานะผู้ร่วมงานตามพระประสงค์ของพระเจ้าก็ยังอาจสมัครใจเข้ามาร่วมแผนงานของพระเจ้าได้อาศัยการกระทำ การอธิษฐานภาวนา และแม้กระทั่งอาศัยความทุกข์ทรมานของตนได้บ่อยๆ โดยไม่รู้ตัว[143] ดังนี้ เขาจึงกลายเป็น “ผู้ร่วมงาน [….] ของพระเจ้า” (1 คร 3:9)[144] เพื่อ
พระอาณาจักรของพระเจ้า[145] อย่างสมบูรณ์

 308     ความจริงที่ว่าพระเจ้าทรงทำงานในการงานทุกอย่างของสิ่งสร้างของพระองค์นี้ แยกไม่ออกจากความเชื่อในพระเจ้าผู้ทรงเนรมิตสร้าง พระองค์ทรงเป็นสาเหตุปฐมภูมิ (causa prima – primary cause) และทรงปฏิบัติงานในและอาศัยสาเหตุทุติยภูมิ (causae secundae – secondary causes) “พระเจ้าทรงทำงานในท่าน เพื่อให้ท่านมีทั้งความปรารถนาและความสามารถที่จะทำงานตามพระประสงค์” (ฟป 2:13)[146] ความจริงข้อนี้ไม่เพียงแต่ไม่ทำให้ศักดิ์ศรีของสิ่งสร้างลดลง แต่ยังทำให้ศักดิ์ศรีนี้เพิ่มขึ้น สิ่งสร้างที่เกิดขึ้นมาจากความว่างเปล่าโดยพระอานุภาพพระปรีชา และพระทัยดีของพระเจ้านั้น ไม่อาจทำอะไรได้ถ้าถูกตัดขาดจากพระเจ้า “เพราะสิ่งสร้างย่อมสูญหายไปถ้าไม่มีพระผู้สร้าง”[147] ยิ่งกว่านั้นสิ่งสร้างเหล่านี้ไม่อาจบรรลุถึงจุดหมายสุดท้ายของตนได้ถ้าไม่มีพระหรรษทานคอยช่วยเหลือ[148]


พระญาณเอื้ออาทรและความชั่วร้ายที่เป็นอุปสรรค

 309     ถ้าพระเจ้าพระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพ พระผู้เนรมิตสร้างโลกที่ดีมีระเบียบ ทรงเอาพระทัยใส่ทุกสิ่งที่ทรงเนรมิตสร้างขึ้นมา ทำไมความชั่วจึงมีอยู่ ต่อคำถามที่กวนใจและหลีกเลี่ยงไม่ได้ คำถามที่ชวนให้เป็นทุกข์และลับลึกประการนี้ ไม่มีคำตอบใดเป็นที่น่าพอใจได้ ความเชื่อของ คริสตศาสนาโดยส่วนรวมทั้งหมดเท่านั้นเป็นคำตอบสำหรับคำถามนี้ นั่นคือ ความเชื่อเรื่องความดีของการเนรมิตสร้าง โชคร้ายเรื่องบาป ความรักที่เปี่ยมด้วยความอดทนของพระเจ้า ผู้ทรงทำพันธสัญญาเพื่อเสด็จมาพบมนุษย์ก่อน การให้พระบุตรเสด็จมารับสภาพมนุษย์เพื่อทรงไถ่กู้ การประทานพระจิตเจ้า ทรงเรียกมวลมนุษย์มารวมกันเป็นพระศาสนจักร พลังของศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ การที่ทรงเรียกมนุษย์ไปรับชีวิตที่เป็นสุขโดยทรงเชื้อเชิญสิ่งสร้างที่อิสระเสรีให้ยินดียอมรับ แต่ก็ยังเป็นความลึกลับน่ากลัวด้วยที่สิ่งสร้างเหล่านี้ก็อาจปฏิเสธไม่ยอมรับได้ด้วย ไม่มีคำสอนส่วนใดของคริสตศาสนาไม่มีเหตุผลที่อาจตอบคำถามเรื่องความชั่วได้เป็นบางส่วน

 310     ทำไมพระเจ้าจึงไม่ได้ทรงเนรมิตสร้างโลกให้สมบูรณ์จนความชั่วใดไม่อาจมีอยู่ได้ อาศัยพระอานุภาพไร้ขอบเขต พระเจ้าอาจทรงเนรมิตสร้างอะไรๆ ที่ดีกว่าได้เสมอ[149] กระนั้นก็ดี โดยพระปรีชาและความดีไร้ขอบเขตของพระองค์ พระเจ้าทรงประสงค์จะเนรมิตสร้างโลก  “ในสภาพของการเดินทาง” ไปสู่ความสมบูรณ์ขั้นสุดท้าย กระบวนการเช่นนี้ในแผนการของพระเจ้าจึงรวมเอาการปรากฏมาของบางสิ่งกับการอันตรธานหายไปของอีกบางสิ่ง รวมสิ่งที่ดีบริบูรณ์กับสิ่งที่ดีบริบูรณ์น้อยกว่า รวมการทำลายล้างกับการเสริมสร้างของธรรมชาติด้วย ดังนี้ ความชั่วทางวัตถุจึงมีอยู่ร่วมกับความดีทางวัตถุ จนกระทั่งถึงเวลาที่สิ่งสร้างทั้งมวลจะบรรลุถึงความสมบูรณ์ของตน[150]

 311     บรรดาทูตสวรรค์และมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งสร้างที่มีสติปัญญาและอิสระเสรี ต้องดำเนินไปสู่จุดหมายสุดท้ายของตนโดยการเลือกที่อิสระเสรีและมีความรักต่อสิ่งที่ดีกว่า เพราะฉะนั้นเขาเหล่านี้จึงอาจผิดหลงไปได้ และในความเป็นจริงก็ได้ทำบาปแล้ว ดังนี้ ความชั่วทางจริยะ ที่หนักกว่าความชั่วทางวัตถุอย่างเทียบกันไม่ได้จึงเข้ามาในโลก พระเจ้าไม่ใช่ต้นเหตุของความชั่วทางจริยะแต่ประการใด ไม่ว่าโดยตรงหรือทางอ้อม[151] ถึงกระนั้นพระองค์ทรงอนุญาตให้ความชั่วเกิดขึ้น เพราะทรงรักษาอิสระเสรีของสิ่งที่ทรงเนรมิตสร้าง และทรงทราบที่จะทำให้ความดีเกิดขึ้นจากความชั่วนั้นได้ด้วยวิธีการลึกลับ

           “เพราะพระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพ [….] เนื่องจากว่าพระองค์ทรงความดีอย่างสูงสุด คงจะทรงยอมไม่ได้ให้มีความชั่วใดๆ ในผลงานของพระองค์ นอกจากว่าจะทรงสรรพานุภาพและทรงความดีจนทรงทำความดีได้จากความชั่วด้วย”[152]

 312    ดังนี้ เมื่อเวลาผ่านไป เราจึงอาจค้นพบได้ว่าพระเจ้า โดยพระญาณเอื้ออาทรที่ทรงสรรพานุภาพ ทรงทำให้ความดีเกิดขึ้นได้จากผลของความชั่วที่สิ่งสร้างของพระองค์ได้ทำไป รวมทั้งความชั่วทางจริยะด้วย “ไม่ใช่พวกพี่ที่ส่งฉันมาที่นี่ แต่เป็นพระเจ้า [….] พวกพี่วางแผนทำร้ายฉัน แต่พระเจ้าทรงเปลี่ยนให้ร้ายกลายเป็นดี [….] เพื่อรักษาชีวิตของหลายคนไว้” (ปฐก 45:8; 50:20)[153] จากความชั่วทางจริยะยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้น คือจากการที่ พระบุตรของพระเจ้าทรงถูกปฏิเสธไม่ยอมรับและถูกประหารชีวิต ซึ่งมีสาเหตุมาจากบาปของมวลมนุษย์ อาศัยความอุดมบริบูรณ์แห่งพระหรรษทานของพระองค์[154] พระเจ้าทรงก่อให้เกิดความดีสูงสุด คือการที่พระคริสตเจ้าทรงได้รับพระสิริรุ่งโรจน์และพวกเราได้รับการไถ่กู้ ถึงกระนั้นเพราะเหตุนี้ความชั่วก็มิได้กลายเป็นความดี

 313    “พระเจ้าทรงบันดาลให้ทุกสิ่งกลับเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่รักพระองค์” (รม 8:28) การเป็นพยานของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ไม่เคยเลิกยืนยันความจริงประการนี้

                นักบุญแคธรินชาวซีเอนากล่าวแก่ผู้ที่รู้สึก “ไม่พอใจขาดความอดทนในหลายเหตุการณ์” และต่อต้านเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนว่า “พระเจ้าประทานเหตุการณ์เหล่านี้ทั้งหมดเพราะความรักและจัดการไว้ล่วงหน้าเพื่อความรอดพ้นของมนุษย์ ไม่ใช่เพราะจุดประสงค์อื่นใดเลย”[155]

                นักบุญโทมัส โมร์ ก่อนจะถูกประหารชีวิตเป็นมรณสักขีไม่นาน ปลอบโยนบุตรสาวว่า “ไม่มีสิ่งใดที่พระเจ้าไม่ทรงประสงค์เกิดขึ้นได้ สิ่งใดไม่ว่าที่พระองค์ทรงประสงค์ แม้เราจะเห็นว่าเป็นสิ่งเลวร้าย โดยแท้จริงแล้วเป็นสิ่งดีที่สุด”[156]

                ท่านผู้หญิงยูลีอานาแห่งนอริชก็ยืนยันว่า “พระหรรษทานของพระเจ้าช่วยให้ดิฉันได้เรียนรู้ว่าต้องยึดมั่นในความเชื่ออย่างเข้มแข็ง [….] และเชื่ออย่างกล้าหาญว่าทุกเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องดี [….] ท่านจะเห็นเองว่าเหตุการณ์ในอนาคตทุกอย่างเป็นเรื่องดีทั้งนั้น”[157]

 314     เราเชื่อมั่นว่าพระเจ้าทรงเป็นเจ้าผู้ทรงปกครองโลกและประวัติศาสตร์ แต่บ่อยๆ เราไม่รู้ถึงวิถีทางแห่งพระญาณเอื้ออาทรของพระองค์ เพราะความรู้ของเราจำกัดแลมีขอบเขต ในวาระสุดท้ายเท่านั้น เมื่อเราจะเห็นพระเจ้า “เหมือนพระองค์ทรงอยู่ต่อหน้าเรา” (1 คร 13:12) เราจะรู้จักวิถีทางที่พระเจ้าทรงใช้นำสิ่งที่ทรงเนรมิตสร้างขึ้น แม้โดยผ่านเรื่องเศร้าของความชั่วร้ายและบาป ไปจนถึงการพักผ่อนของการหยุดพัก[158] ยิ่งใหญ่ที่พระองค์ทรงเนรมิตสร้างฟ้าและแผ่นดินให้บรรลุถึง

[138] Concilium Vaticanum I, Const. dogm. Dei Filius, c.1: DS 3003.     

[139] เทียบ อสย 10:5-15; 45:5-7; ฉธบ 32:39 ; บสร 11:14.             

[140] เทียบ สดด 22; 32; 35; 103; 138; ฯลฯ          

[141] เทียบ มธ 10:29-31.           

[142] เทียบ ปฐก 1:26-28.           

[143] เทียบ คส 1:24.      

[144] เทียบ 1 ธส 3:2.

[145] เทียบ คส 4:11.

[146] เทียบ 1 คร 12:6.              

[147] Concilium Vaticanum II, Const. Past. Gaudium et spes, 36: AAS 58 (1966) 1054. 

[148] เทียบ มธ 19:26; ยน 15:5; ฟป 4:13.           

[149] Cf. Sanctus Thomas Aquinas, Summa theologiae, I, q. 25, a. 6: Ed. Leon. 4, 298-299.             

[150] Cf. Sanctus Thomas Aquinas, Summa contra gentiles, 3, 71: Ed. Leon. 14, 209-211.

[151] Cf. Sanctus Augustinus, De libero arbitrio, 1,1,1: CCL 29, 211 (PL 32, 1221-1223); Sanctus Thomas Aquinas, Summa theologiae, I-2, q. 79, a.1: Ed. Leon. 7, 76-77.         

[152] Sanctus Augustinus, Enchiridion de fide, spe et caritate, 3,11: CCL 46, 53 (PL 40, 236).           

[153] เทียบ ทบต 2: 12-18 (Vulg.).  

[154] เทียบ รม 5:20.

[155] Sancta Catharina Senensis, Il dialogo della Divina provvidenza  138: ed. G. Cavallini (Roma 1995), p. 441.            

[156] Margarita Roper, Epistula ad Alticiam Alinfron  (mense augusti 1534): The Correspondence of Sir Thomas More,  ed. E.F. Rogers (Princeton 1947) p. 531-532            

[157] Iuliana de Norwich, Revelatio 13, 32: A Book of Showings to the Anchoress Julian of Norwich, ed. E. Colledge-J. Walsh, vol. 2 (Toronto 1978) p. 426 et 422.            

[158] เทียบ ปฐก 2:2.              

สรุป

สรุป

 315      เมื่อทรงเนรมิตสร้างโลกและมนุษย์ พระเจ้าทรงสำแดงให้เห็นหลักฐานแรกและสากลแห่งความรัก พระสรรพานุภาพ และพระปรีชาญาณของพระองค์ เป็นการบอกกล่าวครั้งแรกให้รู้ถึงแผนการพระทัยดีของพระองค์ซึ่งบรรลุถึงจุดหมายของตนในการเนรมิตสร้างใหม่ในพระคริสตเจ้า

 316      แม้ว่าเรามักจะให้การเนรมิตสร้างเป็นผลงานของพระบิดา แต่ก็เป็นความจริงเช่นเดียวกันว่าพระบิดา พระบุตรและพระจิตเจ้าทรงเป็นบ่อเกิดหนึ่งเดียวที่แบ่งแยกไม่ได้ของการเนรมิตสร้าง

 317      พระเจ้าเท่านั้นทรงเนรมิตสร้างโลกโดยอิสระเสรี โดยตรง โดยไม่มีใครหรืออะไรอื่นคอยช่วยเหลือ

 318      ไม่มีสิ่งสร้างใดที่มีความสามารถไร้ขอบเขตที่จำเป็นเพื่อจะเนรมิตสร้างได้ในความหมายแท้จริงของคำนี้ นั่นคือเพื่อทำให้สิ่งหนึ่งมีความเป็นอยู่ที่มันไม่เคยมีมาก่อนเลย (นั่นคือเรียกมันออกมาจาก “ความว่างเปล่า” ให้มีความเป็นอยู่)[159]

 319      พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างโลกเพื่อทรงสำแดงและแบ่งปันพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ พระสิริรุ่งโรจน์ที่เป็นพลังผลักดันให้ทรงเนรมิตสร้างสิ่งสารพัดก็คือเพื่อให้สิ่งสร้างทั้งหลายมีส่วนร่วมในความจริง ความดีและความงามของพระองค์

 320      พระเจ้าผู้ทรงเนรมิตสร้างสากลโลก ทรงทำนุบำรุงไว้ให้ดำรงอยู่อาศัยพระวจนาตถ์ พระบุตรของพระองค์ผู้ทรงผดุงจักรวาลไว้ด้วยพระวาจาทรงฤทธิ์(ฮบ 1:3) และอาศัยพระจิตเจ้าพระผู้สร้างและประทานชีวิต

 321      พระญาณเอื้ออาทรคือการจัดการที่พระเจ้าทรงใช้นำสิ่งสร้างทั้งหลายด้วยพระปรีชาและความรักจนบรรลุถึงจุดหมายปลายทางของมัน

 322      พระคริสตเจ้าทรงเชิญเราให้มอบตนไว้กับพระญาณเอื้ออาทรของพระบิดาเจ้าสวรรค์ของเรา[160] และนักบุญเปโตรก็กล่าวย้ำว่าท่านจง(ดำเนินชีวิต)ละความกระวนกระวายทั้งมวลของท่านไว้กับพระองค์ เพราะพระองค์ทรงห่วงใยท่าน(1 ปต 5:7)[161]

 323      พระญาณเอื้ออาทรของพระเจ้าทำงานอาศัยการกระทำของสิ่งสร้าง พระเจ้าประทานความสามารถให้มนุษย์ร่วมงานอย่างอิสระเสรีกับแผนการของพระองค์ได้

 324      การที่พระเจ้าทรงอนุญาตให้มีความชั่วร้ายทั้งด้านวัตถุและด้านจริยะนั้นเป็นธรรมล้ำลึก ซึ่งพระเจ้าทรงอธิบายความหมายให้เราเข้าใจโดยอาศัยพระบุตร คือพระเยซูคริสตเจ้า ผู้ทรงสิ้นพระชนม์ กลับคืนพระชนมชีพ เพื่อทรงพิชิตความชั่วร้าย ความเชื่อทำให้เรามีความมั่นใจว่าพระเจ้าคงไม่ทรงอนุญาตให้มีความชั่วร้าย ถ้าพระองค์ไม่อาจทรงทำให้ความดีเกิดขึ้นได้จากความชั่วร้ายนั้น ด้วยวิธีการที่เราจะรู้ได้อย่างสมบูรณ์ในชีวิตนิรันดรเท่านั้น

[159] Cf. Sacra Congregatio Studiorum, Decretum  (27 iulii 1914): DS 3624.             

[160] เทียบ มธ 6:26-34.            

[161] เทียบ สดด 55:23.            

วรรค 5

ทรงเนรมิตฟ้าดิน

 

 325      บท “ข้าพเจ้าเชื่อ” ของบรรดาอัครสาวก (Symbolum Apostolicum) ประกาศว่าพระเจ้า “ทรงเนรมิตฟ้าดิน”[162] และบทยืนยันความเชื่อของสภาสังคายนานิเชอา-คอนสแตนติโนเปิล (Symbolum Nicaenum-Constantinopolitanum) อธิบายต่อไปว่า “.....ทั้งสิ่งที่เห็นได้และเห็นไม่ได้”[163]

 326     ในพระคัมภีร์ วลี “ฟ้าดิน” หมายถึงทุกสิ่งที่มีความเป็นอยู่ เอกภพของสิ่งสร้างทั้งมวล และยังหมายถึงความสัมพันธ์ภายในสิ่งสร้างที่รวมและแยกท้องฟ้ากับแผ่นดิน “แผ่นดิน” คือโลกของมนุษย์[164]   “ฟ้า” หรือ “สวรรค์” อาจหมายถึง “ท้องฟ้า”[165] และยังอาจหมายถึง “สวรรค์ที่ประทับ” เฉพาะของพระเจ้า ของพระบิดา “ผู้สถิตในสวรรค์” (มธ 5:16)[166] ดังนั้นจึงหมายถึง “สวรรค์” ซึ่งเป็นสิริรุ่งโรจน์แห่งอันตกาล ในที่สุด “สวรรค์” ยังหมายถึง “สถานที่” ของสิ่งสร้างที่เป็นจิต – หรือทูตสวรรค์ – ที่เฝ้าล้อมพระเจ้าอยู่ด้วย

 327     สูตรยืนยันความเชื่อของสภาสังคายนาลาเตรันที่ 4 ยืนยันว่า พระเจ้า “เมื่อทรงเนรมิตสร้างตั้งแต่แรกจากความว่างเปล่า ทรงเนรมิตสร้างทั้งสิ่งสร้างที่เป็นจิตและที่มีร่างกาย นั่นคือสิ่งที่เป็นทูตสวรรค์และสิ่งที่อยู่ในโลกนี้ และในที่สุดทรงเนรมิตสร้างมนุษย์ซึ่งประกอบด้วยทั้งจิตและร่างกาย”[167]

[162] DS 30.      

[163] DS 150.     

[164] เทียบ สดด 115:16.            

[165] เทียบ สดด19:2.

[166] เทียบ สดด 115:16.            

[167] Concilium Lateranense IV, Cap. 1, De fide catholica: DS 800; cf. Concilium Vaticanum I, Const. dogm. Dei Filius, c.1: DS 3002 et Paulus VI, Sollemnis Professio fidei, 8: AAS 60 (1968) 436.

I. ทูตสวรรค์

I. ทูตสวรรค์

การมีอยู่ของทูตสวรรค์ความจริงของความเชื่อ

 328     การมีอยู่ของสิ่งที่เป็นจิต ไม่มีร่างกาย ที่พระคัมภีร์มักจะเรียกว่า “ทูตสวรรค์” นั้นเป็นความจริงของข้อความเชื่อ เรื่องนี้ปรากฏชัดจากการยืนยันของพระคัมภีร์และความเห็นเป็นหนึ่งเดียวกันของธรรมประเพณี


ทูตสวรรค์เป็นใคร

 329      นักบุญออกัสตินกล่าวไว้ว่า “ ‘ทูตสวรรค์’ [….] เป็นนามบอกหน้าที่ ไม่ใช่นามที่บอกถึงธรรมชาติ ถ้าใครถามนามของธรรมชาตินี้ คำตอบก็คือ ทูตสวรรค์เป็น “จิต” แต่ถ้าถามว่าจิตนี้มีหน้าที่ทำอะไร คำตอบก็คือ “เป็นทูต(สวรรค์)” หรือ “ผู้ถือสาร”[168] จากความเป็นอยู่ทั้งหมดของตน บรรดาทูตสวรรค์เป็นผู้รับใช้และผู้ถือสารของพระเจ้า เนื่องจากว่าบรรดาทูตสวรรค์เหล่านี้ “เฝ้าชมพระพักตร์พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์” (มธ 18:10) “พร้อมสรรพที่จะฟังเสียง
พระบัญชา” (สดด 103:20)

 330      ในฐานะเป็นสิ่งสร้างที่เป็นจิตล้วน ทูตสวรรค์จึงมีสติปัญญาและเจตจำนง เป็นสิ่งสร้างที่มีบุคลิก[168] และเป็นอมต[170] มีความสมบูรณ์เหนือกว่าสิ่งสร้างทั้งมวลที่เราเห็น สิริรุ่งโรจน์ที่สว่างไสวของบรรดาทูตสวรรค์เป็นพยานถึงเรื่องนี้[171]


พระคริสตเจ้า
กับทูตสวรรค์ทั้งมวลของพระองค์

 331     พระคริสตเจ้าทรงเป็นศูนย์กลางของบรรดาทูตสวรรค์ ทูตสวรรค์เหล่านี้เป็นของพระองค์ “เมื่อบุตรแห่งมนุษย์จะเสด็จมาในพระสิริรุ่งโรจน์พร้อมกับบรรดาทูตสวรรค์.....” (มธ 25:31) บรรดาทูตสวรรค์เหล่านี้เป็นของพระองค์ เพราะได้รับการเนรมิตสร้างมาโดยทางพระองค์และในพระองค์ “เพราะสรรพสิ่งทั้งในสวรรค์และบนแผ่นดิน ทั้งที่แลเห็นได้และไม่อาจแลเห็นได้ เทพนิกรบัลลังก์ เทพนิกรนาย เทพนิกรเจ้าและเทพนิกรอำนาจ ล้วนถูกสร้างโดยพระองค์ทั้งสิ้น ทุกสิ่งถูกเนรมิตขึ้นโดยพระองค์และเพื่อพระองค์” (คส 1:16) บรรดาทูตสวรรค์ยังเป็นของพระองค์มากกว่านั้น เพราะพระองค์ทรงสร้างมาให้เป็นผู้ส่งสารแผนการความรอดพ้นที่พระองค์ทรงนำมาให้ “ทูตสวรรค์ทั้งหลายเป็นเพียงจิตที่มีหน้าที่รับใช้พระเจ้า พระองค์ทรงส่งมารับใช้ผู้ที่จะต้องได้รับความรอดพ้นมิใช่หรือ” (ฮบ 1:14)

 332      ตั้งแต่การเนรมิตสร้างแล้ว[172] บรรดาทูตสวรรค์ปรากฏอยู่ตลอดช่วงเวลาประวัติศาสตร์ความรอดพ้น คอยแจ้งทั้งจากใกล้และไกลให้มนุษย์รู้ถึงความรอดพ้นและคอยรับใช้ปฏิบัติตามแผนการนี้ของพระเจ้า บรรดาทูตสวรรค์เป็นผู้ปิดสวนอุทยานไม่ให้มนุษย์เข้าไปได้[173] คอยปกป้องภัยให้โลท[174] คอยช่วยเหลือนางฮาการ์และบุตรให้พ้นภัย[175] ยับยั้งอับราฮัมไว้ไม่ให้ฆ่าบุตร[177] ทำหน้าที่รับใช้พระเจ้าในการประทานธรรมบัญญัติแก่มนุษย์[177] เป็นผู้นำประชากรของพระเจ้า[178] แจ้งข่าวการเกิด[179] การเรียก[180] คอยช่วยเหลือบรรดาประกาศก[181] นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางประการเท่านั้น ในที่สุด ทูตสวรรค์กาเบรียลยังบอกข่าวการเกิดของผู้นำหน้าพระผู้ไถ่ และแจ้งข่าวการประสูติของพระเยซูเจ้าอีกด้วย[182]

 333     นับตั้งแต่การรับสภาพมนุษย์จนถึงการเสด็จสู่สวรรค์ พระชนมชีพของพระวจนาตถ์ผู้รับสภาพมนุษย์มีทูตสวรรค์คอยนมัสการและรับใช้อยู่ตลอดเวลา เมื่อพระเจ้า “ทรงส่งพระโอรสองค์แรกมาสู่โลกมนุษย์ พระองค์ตรัสว่า ‘ให้ทูตสวรรค์ทั้งหลายของพระเจ้ากราบนมัสการพระองค์เถิด’” (ฮบ 1:6) บทเพลงสรรเสริญของบรรดาทูตสวรรค์ในการสมภพของพระคริสตเจ้ายังคงดังก้องอยู่ตลอดมาในการขับร้องสรรเสริญของพระศาสนจักร “พระสิริรุ่งโรจน์จงมีแด่พระเจ้าในสวรรค์สูงสุด.....”(ลก 2:14) บรรดาทูตสวรรค์คอยปกป้องพระเยซูเจ้าในปฐมวัย[183] คอยปรนนิบัติรับใช้พระองค์ในถิ่นทุรกันดาร[184] มาปลอบโยนเมื่อพระองค์ทรงทนทุกข์ในสวนเกทเสมนี[185] ถ้าทรงประสงค์ พระองค์อาจทรงได้รับความช่วยเหลือจากทูตสวรรค์ให้พ้นจากเงื้อมมือของบรรดาศัตรู[186] เช่นเดียวกับที่อิสราเอลเคยได้รับในอดีตด้วย[187] บรรดาทูตสวรรค์ยังนำข่าวดีมาบอก[188] ให้บรรดาคนเลี้ยงแกะรู้เรื่องการที่พระเจ้าเสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์[189] และประกาศข่าวการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าให้บรรดาศิษย์รู้[190] บรรดาทูตสวรรค์จะปรากฏมาประกาศการเสด็จกลับมาของพระคริสตเจ้า[191] และมารับใช้พระองค์ในการพิพากษามวลมนุษย์[192]

 

บรรดาทูตสวรรค์ในชีวิตของพระศาสนจักร

 334      ยิ่งกว่านั้น ชีวิตทั้งหมดของพระศาสนจักรยังได้รับประโยชน์จากความช่วยเหลือลึกลับและทรงอำนาจของบรรดาทูตสวรรค์[193]

 335     ในพิธีกรรม พระศาสนจักรร่วมใจกับบรรดาทูตสวรรค์เพื่อนมัสการถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าผู้ทรงศักดิ์สิทธิ์ที่สุด[194] เชิญชวนบรรดาทูตสวรรค์ให้มาช่วยเหลือ (เช่นในบทภาวนา In paradisum deducant te angeli…  [“ขอให้บรรดาทูตสวรรค์นำท่านเข้าสวรรค์...”] ในพิธีกรรมปลงศพ[195] หรือใน “บทเพลงสรรเสริญของบรรดาเครูบ” ในพิธีกรรมจารีตไบเซนไตน์[196]) และยังจัดให้มีการระลึกถึงทูตสวรรค์บางองค์เป็นพิเศษด้วย (เช่นนักบุญมีคาเอล นักบุญกาเบรียล นักบุญราฟาเอล และบรรดาทูตสวรรค์ผู้อารักขา)

 336     ชีวิตของมนุษย์ ตั้งแต่เกิด[197] จนตาย[198] อยู่ในความอารักขาของบรรดาทูตสวรรค์[199] และมีบรรดาทูตสวรรค์คอยวอนขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า[200] “ไม่มีผู้ใดปฏิเสธว่าผู้มีความเชื่อแต่ละคนมีทูตสวรรค์เป็นผู้คอยแนะนำดูแลและนำชีวิต”[201] ตั้งแต่ในโลกนี้แล้ว ชีวิตคริสตชนมีส่วนในมิตรภาพที่บรรดาทูตสวรรค์และมนุษย์มีร่วมกันกับพระเจ้าอาศัยความเชื่อ

[168] Sanctus Augustinus, Enarratio in Psalmum 103, 1, 15: CCL 40, 1488 (PL 37, 1348-1349).            

[169] Cf. Pius XII, Litt. Enc. Humani generis: DS 3891.

[170] เทียบ ลก 20:36.             

[171] เทียบ ดนล 10:9-12.           

[172] เทียบ โยบ 38:7, ที่นี่ บรรดาทูตสวรรค์ได้รับนามว่า “บุตรของพระเจ้า”   

[173] เทียบ ปฐก 3:24.             

[174] เทียบ ปฐก 19.

[175] เทียบ ปฐก 21:17.             

[176] เทียบ ปฐก 22:11.             

[177] เทียบ กจ 7:53.

[178] เทียบ อพย 23:20-23.         

[179] เทียบ วนฉ 13.

[180] เทียบ วนฉ 6:11-24; อสย 6:6. 

[181] เทียบ 1 พกษ 19:5.           

[182] เทียบ ลก 1:11,26.            

[183] เทียบ มธ 1:20; 2:13,19.      

[184] เทียบ มก 1:13; มธ 4:11.      

[185] เทียบ ลก 22:43.            

[186] เทียบ มธ 26:53.             

[187] เทียบ 2 มคบ 10 :29-30; 11:8.

[188] เทียบ ลก 2:10.

[189] เทียบ ลก 2:8-14.            

[190] เทียบ มก 16:5-7.            

[191] เทียบ กจ 1:10-11.            

[192] เทียบ มธ 13:41; 24:31; ลก 12:8-9.            

[193] เทียบ กจ 5:18-20; 8:26-29; 10:3-8; 12:6-11; 27:23-25.         

[194] Cf. Prex eucharistica, 27, Sanctus: Missale Romanum, edition typical (Typis Polyglottis Vaticanis 1970) p. 392.        

[195] Ordo exsequiarum, 50, edition typical (Typis Polyglottis Vaticanis 1969) p. 23.     

[196] Liturgia Byzantina sancti Ioannis Chrysostomi, Hymnus cherubinorum: Liturgies Eastern and Western,  ed. F.E. Brightman (Oxford 1896) p. 377.

[197] เทียบ มธ 18:10.             

[198] เทียบ ลก 16:22.             

[199] เทียบ สดด 34:8; 91:10-13.   

[200] เทียบ โยบ 33:23-24 ;ศคย 1:12 ; ทบต 12:12.   

[201] Sanctus Basilius Magnus, Adversus Eunomium 3, 1: SC 305, 148 (PG 29, 656).   

II. โลกที่เราแลเห็น

II. โลกที่เราแลเห็น

 337 พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างโลกที่เราแลเห็นนี้ให้มีความยิ่งใหญ่ มีความหลากหลายและมีระเบียบ พระคัมภีร์เล่าเรื่องงานของพระผู้ทรงเนรมิตสร้างในรูปแบบของสัญลักษณ์ว่างานนี้เกิดขึ้นในกรอบ “วันทำงาน” หกวัน และเมื่อทรงเสร็จงานก็ทรง “พักผ่อน” ในวันที่เจ็ด[202] เกี่ยวกับการเนรมิตสร้าง พระคัมภีร์สอนความจริงที่พระเจ้าทรงเปิดเผยเพื่อความรอดพ้นของเรา[203] ช่วยให้เรา “เข้าใจธรรมชาติภายใน คุณค่า และระเบียบของสิ่งสร้างทั้งมวลเป็นการสรรเสริญพระเจ้า”[204]

 338 ไม่มีสิ่งใดมีความเป็นอยู่ได้ถ้าไม่ได้รับความเป็นอยู่นั้นมาจากพระเจ้าผู้ทรงเนรมิตสร้าง โลกเริ่มมีขึ้นเมื่อถูกสร้างจากความว่างเปล่าอาศัยพระวาจาของพระเจ้า ทุกสิ่งที่มีความเป็นอยู่ ธรรมชาติทั้งมวล ประวัติศาสตร์ทั้งหมดของมนุษยชาติตั้งอยู่บนเหตุการณ์แรกเริ่มนี้ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดที่ทำให้โลกถูกสร้างและกาลเวลาเริ่มต้นขึ้นมา[205]

 339 สิ่งสร้างแต่ละอย่างมีความดีและความสมบูรณ์เฉพาะของตน พระคัมภีร์กล่าวถึงงานเนรมิตสร้างแต่ละงาน “ในช่วงเวลาหกวัน” ว่า “และพระเจ้าทรงเห็นว่าดี” “จากธรรมชาติของการเนรมิตสร้างสิ่งสร้างทั้งมวลล้วนมีความมั่นคง ความจริง และความดีตามกฎเกณฑ์และระเบียบเฉพาะของตน”[206] สิ่งสร้างที่มีความเป็นอยู่หลากหลายตามที่พระเจ้าทรงประสงค์ล้วนฉายแสงแห่ง    พระปรีชาและความดีไร้ขอบเขตของพระเจ้า แต่ละสิ่งโดยวิธีการของตน เพราะเหตุนี้ มนุษย์จึงต้องเคารพความดีเฉพาะของสิ่งสร้างแต่ละสิ่ง ต้องหลีกเลี่ยงไม่ใช้สิ่งต่างๆ อย่างไร้ระเบียบ ซึ่งจะเป็นการดูหมิ่นพระผู้สร้างและก่อให้เกิดผลร้ายตามมาสำหรับมนุษย์และสภาพแวดล้อมของสิ่งสร้างเหล่านี้

 340 พระเจ้าทรงประสงค์ให้สิ่งสร้างทั้งหลายมีความสัมพันธ์กัน ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ต้นสนสีดาร์และดอกไม้เล็กๆ นกอินทรีและนกกระจอก การแลเห็นว่าสิ่งเหล่านี้มีความแตกต่าง  มีคุณสมบัติและจำนวนไม่เท่ากันเช่นนี้หมายความว่าไม่มีสิ่งสร้างใดอยู่ได้ด้วยตนเอง สิ่งสร้างต่างๆมีความเป็นอยู่โดยต้องพึ่งพาอาศัยกันเพื่อนำความสมบูรณ์มาให้กันและรับใช้กัน

 341 ความงามของสรรพสิ่ง ระเบียบและความกลมกลืนของโลกที่พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างเป็นผลจากความแตกต่างของสิ่งต่างๆ และความสัมพันธ์ซึ่งสิ่งที่เป็นอยู่เหล่านี้มีระหว่างกัน มนุษย์ค่อยๆ ค้นพบทุกสิ่งเหล่านี้เป็นกฎของธรรมชาติที่ทำให้นักวิชาการรู้สึกพิศวง ความงามของสิ่งสร้างสะท้อนความงามไร้ขอบเขตของพระผู้สร้าง และต้องเป็นแรงบันดาลให้สติปัญญาและเจตจำนงของมนุษย์มีความเคารพและยอมรับความงามนี้

 342 ลำดับความใหญ่น้อยของสิ่งสร้างทั้งหลายแสดงให้เห็นโดยลำดับของการสร้าง “หกวัน” ที่เริ่มจากสิ่งที่สมบูรณ์น้อยกว่าไปยังสิ่งที่สมบูรณ์มากกว่า พระเจ้าทรงรักทุกสิ่งที่ทรงเนรมิตสร้างมา[207] และทรงเอาพระทัยใส่ดูแลสิ่งสร้างทุกสิ่งเหล่านี้แม้กระทั่งนกกระจอก ถึงกระนั้น  พระเยซูเจ้ายังตรัสว่า “ท่านมีค่ามากกว่านกกระจอกจำนวนมาก” (ลก 12:7) หรือ “มนุษย์คนหนึ่งย่อมมีค่ากว่าแกะมากนัก” (มธ 12:12)

 343 มนุษย์เป็นยอดของงานเนรมิตสร้าง เรื่องเล่าของพระคัมภีร์แสดงความจริงข้อนี้ โดยแยกการเนรมิตสร้างมนุษย์ออกมาจากการสร้างสิ่งอื่นๆ อย่างชัดเจน[208]

 344 สิ่งสร้างทั้งหลายมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันเพราะทุกสิ่งมีพระผู้เนรมิตสร้างองค์เดียวกัน และถูกจัดไว้สำหรับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์

“ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า ขอทรงได้รับการสรรเสริญพร้อมกับสิ่งสร้างทั้งหลาย

โดยเฉพาะกับนายดวงอาทิตย์พี่ชาย

ซึ่งเป็นวันและส่องสว่างข้าพเจ้าทั้งหลายตลอดวัน

ดวงอาทิตย์นี้งดงามและส่องแสงแรงกล้า

เป็นเครื่องหมายถึงพระองค์เป็นพิเศษ ข้าแต่พระผู้สูงสุด.....

ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า ขอทรงได้รับการสรรเสริญเนื่องจากวารีน้องสาว

ซึ่งให้ประโยชน์ยิ่งและต่ำต้อย

ทรงคุณค่าและบริสุทธิ์......

ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า ขอทรงได้รับการสรรเสริญเนื่องจากแม่ธรณีน้องสาวของเรา

ซึ่งคอยเกื้อหนุนและดูแลข้าพเจ้าทั้งหลาย

ผลิตผลต่างๆ มากมาย

พร้อมกับดอกไม้ใบหญ้าหลากสีสัน......

ท่านทั้งหลายจงสรรเสริญถวายพระพรแด่องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า

จงขอบพระคุณและรับใช้พระองค์

ด้วยความถ่อมตนอย่างยิ่งเถิด”[209]

 345     วันสับบาโตจุดจบของงานเนรมิตสร้างหกวันพระคัมภีร์กล่าวว่า “ในวันที่เจ็ด พระเจ้าทรงเสร็จสิ้นจากงานที่ทรงกระทำ” และดังนี้ “ฟ้าและแผ่นดิน....ก็สำเร็จบริบูรณ์” และในวันที่เจ็ด “พระองค์ทรงอวยพรวันที่เจ็ดและทรงทำให้วันนั้นเป็นวันศักดิ์สิทธิ์” (ปฐก 2:1-3) ถ้อยคำที่ได้รับการดลใจนี้อุดมด้วยคำสอนมากมายที่เป็นประโยชน์

 346     ในการเนรมิตสร้าง พระเจ้าทรงวางหลักการและกฎเกณฑ์ที่คงอยู่อย่างมั่นคง[210] ผู้มีความเชื่ออาจวางใจได้อย่างมั่นใจ และกฎเหล่านี้จะเป็นเครื่องหมายและประกันถึงความซื่อสัตย์ที่ไม่หวั่นไหวแห่งพันธสัญญาของพระเจ้า[211] ในส่วนของตน มนุษย์จะต้องยืนหยัดมั่นคงอยู่กับหลักฐานนี้และเคารพกฎเกณฑ์ที่พระผู้สร้างทรงจารึกไว้ในหลักฐานนี้ด้วย

 347     การเนรมิตสร้างเกิดขึ้นโดยมุ่งถึงวันสับบาโต เพราะเหตุนี้จึงมุ่งถึงคารวกิจและการนมัสการพระเจ้า คารวกิจถูกจารึกไว้ในระเบียบของการเนรมิตสร้าง[212] พระวินัยของนักบุญเบเนดิกต์
กล่าวไว้ว่า “อย่าให้สิ่งใดมีความสำคัญกว่า ‘งานของพระเจ้า(ซึ่งหมายถึง “พิธีกรรม”)”[213] และดังนี้จึงกำหนดระเบียบความสนใจต่างๆ ของมนุษย์

  348     วันสับบาโตนับเป็นศูนย์กลางของธรรมบัญญัติของอิสราเอล การปฏิบัติตามบทบัญญัติจึงสอดคล้องกับพระปรีชาและพระประสงค์ของพระเจ้าที่ปรากฏในงานเนรมิตสร้าง

 349     วันที่แปด แต่สำหรับเราวันใหม่ได้เริ่มขึ้น คือวันที่พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพ วันที่เจ็ดปิดฉากการเนรมิตสร้างครั้งแรก วันที่แปดเป็นการเริ่มต้นการเนรมิตสร้างครั้งใหม่ ดังนี้ งานเนรมิตสร้างจึงมีจุดยอดอยู่ที่การเนรมิตสร้างใหม่ในพระคริสตเจ้า ความรุ่งโรจน์ของการเนรมิตสร้างครั้งใหม่นี้ยิ่งใหญ่กว่าความรุ่งโรจน์ของการเนรมิตสร้างครั้งแรก[214]

[202] เทียบ ปฐก 1:1 – 2:4.          

[203] Cf. Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Dei Verbum, 11: AAS 58 (1966) 823.    

[204] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium,  36: AAS 57 (1965) 41.    

[205] Cf. Sanctus Augustinus, De Genesi contra Manichaeos, 1, 2, 4: PL 36, 175.        

[206] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 36: AAS 58 (1966) 1054.  

[207] เทียบ สดด 145:9.            

[208] เทียบ ปฐก 1:26.              

[209] Sanctus Franciscus Assisiensis, Canticum Fratris Solis: Opuscula sancti Patris Francisci Assisiensis, ed. C. Esser (Grottaferrata 1978) p. 84-86.

[210] เทียบ ฮบ 4:3-4.

[211] เทียบ ยรม 31:35-37; 33:19-26.

[212] เทียบ ปฐก 1:14.             

[213] Sanctus Benedictus, Regula, 43, 3: CSEL 75, 106 (PL 66, 675).

[214] Cf. Vigilia Paschatis, oratio post primam lectionem: Missale Romanum, edition typical (Typis Polyglottis Vaticanis 1970) p. 276.           

สรุป

สรุป

 350      ทูตสวรรค์เป็นสิ่งสร้างที่เป็นจิต ซึ่งถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าโดยไม่หยุดหย่อน และปฏิบัติตามแผนการของพระเจ้าเพื่อความรอดพ้นสำหรับสิ่งสร้างอื่นๆบรรดาทูตสวรรค์ร่วมทำงานเพื่อความดีทั้งหมดของพวกเรา[215]

 351      บรรดาทูตสวรรค์ห้อมล้อมพระคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าของตน คอยรับใช้พระองค์โดยเฉพาะในการทำให้พันธกิจของพระองค์ในงานกอบกู้มวลมนุษย์สำเร็จไป

 352      พระศาสนจักรเคารพบรรดาทูตสวรรค์ซึ่งคอยช่วยเหลือตนในการเดินทางในโลกนี้ และคอยปกป้องมนุษย์ทุกคนด้วย

 353      พระเจ้าทรงพระประสงค์ให้สิ่งสร้างต่างๆ มีความแตกต่างและความดีเฉพาะของตน รวมทั้งให้มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันและมีระเบียบ พระองค์ทรงกำหนดให้สิ่งสร้างที่เป็นวัตถุมีอยู่เพื่อความดีของมนุษยชาติ มนุษย์ถูกกำหนดไว้เพื่อพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า และสิ่งสร้างทั้งมวลก็ถูกกำหนดไว้เพื่อพระสิริรุ่งโรจน์ด้วยโดยอาศัยมนุษย์

 354      การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่มีจารึกไว้ในสิ่งสร้างทั้งหลายและการให้ความสำคัญแก่ความสัมพันธ์ที่เกิดจากธรรมชาติของสิ่งต่างๆ เป็นบ่อเกิดแห่งปรีชาญาณและเป็นรากฐานของจริยธรรม

[215] Sanctus Thomas Aquinas, Summa theologiae, 1, 114, 3, ad 3: Ed. Leon. 5, 535.     

วรรค 6

มนุษย์

  355     “พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ตามภาพลักษณ์ของพระองค์ พระองค์ทรงสร้างเขาตามภาพลักษณ์ของพระเจ้า พระองค์ทรงสร้างให้เป็นชายและหญิง” (ปฐก 1:27) มนุษย์มีตำแหน่งโดดเด่นในการเนรมิตสร้าง – (I) มนุษย์ถูกสร้างมาให้เป็น “ภาพลักษณ์ของพระเจ้า”; (II) โดยธรรมชาติ มนุษย์เป็นผู้เชื่อมโลกของจิตกับโลกของวัตถุ; (III) พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างมนุษย์ “ให้เป็นชายและหญิง”; (IV) พระเจ้าทรงกำหนดให้มนุษย์เป็นมิตรกับพระองค์

I.  “ตามภาพลักษณ์ของพระเจ้า”

I.  “ตามภาพลักษณ์ของพระเจ้า

 356    ในบรรดาสิ่งสร้างที่เราแลเห็นได้ มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่มีสมรรถภาพ “จะรู้จักและรักพระผู้เนรมิตสร้างตนได้”[216] “เป็นสิ่งสร้างเพียงหนึ่งเดียวในโลกนี้ที่พระเจ้าทรงพระประสงค์เพราะตนเอง”[217] มนุษย์เท่านั้นได้รับเรียกให้มีส่วนในชีวิตของพระเจ้าโดยรู้จักและรักพระองค์ มนุษย์ถูกสร้างมาเพื่อจุดประสงค์นี้และเหตุผลพื้นฐานแห่งศักดิ์ศรีของมนุษย์ก็อยู่ที่ตรงนี้

           “เพราะเหตุใดพระองค์จึงทรงจัดตั้งมนุษย์ไว้ให้มีศักดิ์ศรียิ่งใหญ่เช่นนี้ ใช่แล้ว เพราะความรักที่คาดไม่ถึงซึ่งทำให้พระองค์ทอดพระเนตรดูสิ่งที่ทรงเนรมิตสร้างในพระองค์เอง พระองค์ทรง “หลงรัก” สิ่งสร้างนี้ เพราะทรงเนรมิตสร้างขึ้นมาก็เพราะความรัก ประทานความเป็นอยู่ให้ก็เพราะความรัก เพื่อสิ่งที่ทรงเนรมิตสร้างมานี้จะได้ลิ้มรสความดีสูงสุดนิรันดรของพระองค์”[218]

 357     มนุษย์แต่ละคน เพราะสร้างขึ้นมาตามภาพลักษณ์ของพระเจ้า มีศักดิ์ศรีเป็น บุคคลไม่เป็นเพียง “อะไรสิ่งหนึ่ง” แต่เป็น “ใครคนหนึ่ง” มนุษย์มีสมรรถภาพจะรู้จักตนเอง ควบคุมตนเอง และมอบตนเองให้แก่ผู้อื่นได้โดยอิสระเสรี รวมทั้งเข้าไปมีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นได้ อาศัยพระหรรษทานมนุษย์ได้รับเรียกมาให้ทำพันธสัญญากับพระผู้เนรมิตสร้างตน ให้แสดงความเชื่อและความรักเพื่อตอบสนองพระองค์ ไม่มีผู้ใดอื่นอาจแสดงการกระทำเช่นนี้แทนเขาได้

 358     พระเจ้าทรงเนรมิตทุกสิ่งเพื่อมนุษย์[219] มนุษย์ถูกสร้างมาเพื่อรับใช้พระเจ้า เพื่อรักพระองค์ และถวายสิ่งสร้างทั้งมวลแด่พระองค์

             “ดังนั้นใครเล่าเป็นผู้ที่จะต้องถูกเนรมิตสร้างขึ้นมาเพื่อรับศักดิ์ศรียิ่งใหญ่เช่นนี้ ผู้นั้นคือมนุษย์ สิ่งที่มีจิตวิญญาณน่าพิศวงยิ่งใหญ่นั้น และที่มีเกียรติกว่าสิ่งสร้างทั้งมวลเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า ซึ่งสวรรค์และแผ่นดิน ทะเลและสิ่งสร้างทั้งมวลถูกสร้างขึ้นมาก็เพื่อเขา –  มนุษย์ซึ่งพระเจ้าทรงประสงค์ความรอดพ้นของเขาอย่างยิ่ง จนกระทั่งไม่ทรงยอมไว้ชีวิตแม้พระบุตรเพียงพระองค์เดียวเพื่อเขา พระองค์ยังไม่ทรงหยุดยั้งที่จะกระทำและพยายามทุกอย่างจนกว่าจะได้ยกเขาให้สูงขึ้นและสถาปนาเขาไว้ ณ เบื้องขวาของพระองค์”[220]

 359    “จริงแล้ว ธรรมล้ำลึกของมนุษย์ปรากฏชัดในพระธรรมล้ำลึกของพระวจนาตถ์ผู้รับสภาพมนุษย์เท่านั้น”[221]

             “วันนี้นักบุญเปาโลกล่าวถึงมนุษย์สองคนที่เป็นต้นกำเนิดของมนุษยชาติ นั่นคืออาดัมและพระคริสตเจ้า […] ท่านกล่าวดังนี้ว่าอาดัมมนุษย์คนแรกถูกสร้างขึ้นเป็นสิ่งมีชีวิต อาดัมคนสุดท้ายเป็นจิตซึ่งประทานชีวิต มนุษย์คนแรกถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์คนสุดท้ายนี้ซึ่งบันดาลให้เขามีวิญญาณเพื่อจะมีชีวิต [….] มนุษย์คนสุดท้ายนี้คืออาดัมซึ่งประทานภาพลักษณ์ของตนแก่อาดัมคนแรกเมื่อสร้างเขาขึ้นมา ดังนี้เขาจึงรับบทบาทและนามของอาดัมคนแรก เพื่อจะไม่สูญเสียสิ่งที่เขาได้สร้างขึ้นมาตามภาพลักษณ์ของตน อาดัมคนแรก อาดัมคนสุดท้าย อาดัมคนแรกมีจุดเริ่มต้น ส่วนอาดัมคนสุดท้ายไม่มีจุดจบ เพราะอาดัมคนสุดท้ายนี้เป็นคนแรกโดยแท้จริง เมื่อกล่าวว่า ‘เราเป็นปฐมเหตุและอวสาน’[222]

 360    เนื่องจากมนุษยชาติมีต้นกำเนิดร่วมกันจึงรวมกันเป็นเอกภาพ เพราะพระเจ้า “ทรงทำให้มนุษย์ทุกชาติสืบเชื้อสายมาจากมนุษย์คนเดียว และทรงทำให้เขาทั้งหลายอยู่ทั่วพื้นแผ่นดิน” (กจ 17:26)[223]

            “โดยวิสัยทัศน์น่าพิศวง เราอาจพิจารณาเห็นได้ว่ามนุษยชาติเป็นหนึ่งเดียวกันเพราะมีต้นกำเนิดร่วมกันจากพระผู้สร้าง [….] และเป็นหนึ่งเดียวกันโดยธรรมชาติที่เกิดมาจากการที่ร่างกายรวมเป็นหนึ่งเดียวกันกับวิญญาณที่เป็นจิต เป็นหนึ่งเดียวกันเพราะจุดหมายที่ทุกคนกำลังมุ่งหน้าไปหา เป็นหนึ่งเดียวกันเพราะมีที่อาศัยอยู่เดียวกันคือโลกนี้ ที่ทุกคนมีสิทธิรับผลประโยชน์จากโลกนี้ได้เพื่อหล่อเลี้ยงและพัฒนาชีวิตของตนได้ และในที่สุดยังเป็นหนึ่งเดียวเพราะมีจุดหมายสูงสุดคือพระเจ้าเองที่ทุกคนจำเป็นต้องมุ่งไปหาโดยอาศัยสิ่งต่างๆ ที่ช่วยให้ทุกคนบรรลุถึงจุดหมายได้ในที่สุด [….] รวมทั้งโดยการ กอบกู้เดียวกันที่พระคริสตเจ้า [….] ประทานให้แก่ทุกคน”[224]

 361     หลักการนี้ที่ว่า “มนุษย์มีความสัมพันธ์กันและต้องรักกัน”[225] โดยยังคงรักษาความหลากหลายในด้านบุคลิก วัฒนธรรม และประชากรไว้นี้ทำให้เรามั่นใจว่ามนุษย์ทุกคนล้วนเป็นพี่น้องกันจริงๆ

[216] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 12: AAS 58 (1966) 1034.   

[217] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 24: AAS 58 (1966) 1045.  

[218] Sancta Catharin Senensis, Il dialogo della Divina provvidenza,  13: ed. G. Cavallini (Roma 1995) p. 43.

[219] Cf. Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 12: AAS 58 (1966) 1034; ibid., 24: AAS 58 (1966) 1045; Ibid., 39: AAS 58 (1966) 1056-1057.

[220] Sanctus Ioannes Chrysostomus, Sermones in Genesim, 2, 1: PG 54, 587-588.      

[221] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 22: AAS 58 (1966) 1042.  

[222] Sanctus Petrus Chrysologus, Sermones  117, 1-2: CCL 24A, 709 (PL 52, 520).      

[223] เทียบ ทบต 8:6.

[224] Pius XII, Litt.enc. Summi Pontificatus: AAS 31 (1939) 427; cf. Concilium Vaticanum II, Decl. Nostra aetate, 1: AAS 58 (1966) 740.     

[225] Pius XII, Litt.enc. Summi Pontificatus: AAS 31 (1939) 426.     

II.  “ร่างกายและวิญญาณรวมเป็นมนุษย์คนเดียว”

II.  “ร่างกายและวิญญาณรวมเป็นมนุษย์คนเดียว

 362     มนุษย์ บุคคลที่ถูกสร้างมาตามภาพลักษณ์ของพระเจ้านั้น เป็นสิ่งที่มีสภาพความเป็นอยู่เป็นร่างกายและจิตในเวลาเดียวกัน เรื่องเล่าในพระคัมภีร์แสดงความจริงนี้โดยใช้ภาษาสัญลักษณ์เมื่อบอกว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าทรงเอาฝุ่นจากพื้นดินมาปั้นมนุษย์และทรงเป่าลมแห่งชีวิตเข้าในจมูกของเขา มนุษย์จึงเป็นผู้มีชีวิต” (ปฐก 2:7) มนุษย์ทั้งคนจึงเป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงประสงค์

 363     ในพระคัมภีร์ คำว่า “วิญญาณ บ่อยๆ หมายถึงชีวิต ของมนุษย์[226] หรือ บุคคล มนุษย์ทั้งตัว[227] แต่ยังหมายถึงสิ่งที่อยู่ลึกที่สุดในตัวมนุษย์[228] และสิ่งมีค่าที่สุด[229] ที่ทำให้เขาเป็นภาพลักษณ์ของพระเจ้าโดยเฉพาะด้วย “วิญญาณ” หมายถึงต้นกำเนิดที่เป็นจิตในตัวมนุษย์

 364    ร่างกายของมนุษย์มีส่วนในศักดิ์ศรีการเป็น “ภาพลักษณ์” ของพระเจ้า ร่างกายมนุษย์นี้เองในฐานะที่วิญญาณซึ่งเป็นจิตทำให้มีชีวิต และมนุษย์ที่ทั้งคนเป็นบุคคลยังถูกกำหนดไว้ให้เป็นพระวิหารของพระจิตเจ้าในพระวรกายของพระคริสตเจ้า[230]

              “แม้ประกอบด้วยร่างกายและวิญญาณ มนุษย์ก็มีเอกภาพเป็นบุคคลหนึ่ง โดยสถานภาพทางร่างกายของตน มนุษย์รวมองค์ประกอบของโลกวัตถุเข้าไว้ในตน จนกระทั่งว่าโลกวัตถุนี้อาจบรรลุถึงจุดยอดของตนและส่งเสียงสรรเสริญพระผู้สร้างได้อย่างอิสระเสรีอาศัยมนุษย์ ดังนั้น มนุษย์จึงต้องไม่รังเกียจชีวิตที่มีร่างกาย ตรงกันข้าม เขาต้องคิดว่าร่างกายของตน ในฐานะที่พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างมาและจะต้องกลับคืนชีพในวันสุดท้าย เป็นสิ่งที่ดีและสมจะได้รับเกียรติ”[231]

 365      เอกภาพของวิญญาณกับร่างกายนี้ลึกซึ้งจนต้องถือว่าวิญญาณเป็น “รูปแบบ” ของร่างกาย[232]    นั่นคือเพราะวิญญาณซึ่งเป็นจิต ร่างกายซึ่งประกอบด้วยสสารจึงเป็นร่างกายแบบมนุษย์และมีชีวิตจิตและสสารในมนุษย์จึงไม่ใช่ธรรมชาติสองอย่างที่มารวมกัน แต่การรวมกันของทั้งสองสิ่งทำให้เกิดธรรมชาติหนึ่งเดียวเท่านั้น

 366     พระศาสนจักรสอนว่าวิญญาณที่เป็นจิตแต่ละดวงได้รับการเนรมิตสร้างขึ้นมาโดยตรงจากพระเจ้า[233] – ไม่ใช่เป็น “ผลผลิต”ของบิดามารดา – พระศาสนจักรยังสอนอีกว่าวิญญาณเป็น “อมต”[234] ไม่สูญสลายไปเมื่อแยกจากร่างกายเมื่อตาย และจะมารวมกับร่างกายอีกในการ กลับคืนชีพครั้งสุดท้าย

 367     บางครั้งก็พบว่าวิญญาณแตกต่างจากจิต นักบุญเปาโลอธิษฐานภาวนาขอพระเจ้าทรงคุ้มครองทุกสิ่งในตัวเรา “ทั้งจิตใจ วิญญาณ และร่างกาย” ให้ “พ้นคำตำหนิ เมื่อพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราเสด็จมา” (1 ธส 5:23) พระศาสนจักรสอนว่าความแตกต่างนี้ไม่แยกวิญญาณออกเป็นสองส่วน[235] “จิต” หมายความว่าพระเจ้าทรงกำหนดว่ามนุษย์ถูกกำหนดไว้สำหรับจุดประสงค์เหนือธรรมชาติตั้งแต่ถูกเนรมิตสร้างขึ้นมาแล้ว[236] และวิญญาณของมนุษย์ก็มีสมรรถภาพที่พระเจ้าจะทรงยกขึ้นให้มีความสัมพันธ์กับพระองค์ได้โดยที่ตนไม่สมจะได้รับเกียรติเช่นนี้เลย[237]

 368     ธรรมประเพณีของพระศาสนจักรในด้านจิตยังเน้นถึง “ดวงใจ ตามความหมายในพระคัมภีร์ซึ่งหมายถึง “ส่วนลึกที่สุด” (“ในใจ” เทียบ ยรม 31:33) ที่บุคคลหนึ่งตัดสินใจเพื่อพระเจ้าหรือต่อสู้พระเจ้า[238]

[226] เทียบ มธ 16:25-26; ยน 15:13. 

[227] เทียบ กจ 2:41.

[228] เทียบ มธ 26:38; ยน 12:27.    

[229] เทียบ มธ 10:28 ; 2 มคบ 6:30. 

[230] เทียบ 1 คร 6:19-20; 15:44-45. 

[231] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 14: AAS 58 (1966) 1035   

[232] Cf. Concilium Viennense (anno 1312), Const. “Fidei catholicae”: DS 902.           

[233] Cf. Pius XII, Litt. Enc. Humani generis (anno 1950): DS 3896; Paulus VI, Sollemnis Professio fidei, 8: AAS 60 (1968) 436.           

[234] Cf. Concilium Lateranense V (anno 1513), Bulla Apostolici regiminis: DS 1440.      

[235] Cf. Concilium Constantinopolitanum IV (anno 870), canon 11: DS 657.             

[236] Cf. Concilium Vaticanum I, Const. dogm. Dei Filius, c. 2: DS 3005; Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 22: AAS 58 (1966) 1042-1043.

[237] Cf. Pius XII, Litt. Enc. Humani generis (anno 1950): DS 3891.  

[238] เทียบ ฉธบ 6 :5; 29:3 ; อสย 29:13 ;  อสค 36:26 ; มธ 6:21 ; ลก 8:15 ; รม 5:5.  

 III. “ทรงสร้างเขาให้เป็นชายและหญิง”

 III. “ทรงสร้างเขาให้เป็นชายและหญิง

ความเท่าเทียมและความแตกต่างที่พระเจ้าทรงประสงค์

 369      พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างชายและหญิง ซึ่งหมายความว่าทรงประสงค์เช่นนั้น ในด้านหนึ่งให้มีความเท่าเทียมกันอย่างสมบูรณ์ในฐานะที่เป็นบุคคล และในอีกด้านหนึ่งให้มีความเป็นอยู่เฉพาะของชายและหญิง “ความเป็นชาย” และ “ความเป็นหญิง” จึงเป็นความเป็นจริงที่ดีและที่พระเจ้าทรงประสงค์ ชายและหญิงมีศักดิ์ศรีที่ไม่อาจสลัดทิ้งได้ ศักดิ์ศรีนี้มาถึงเขาโดยตรงจากพระผู้สร้าง[239] ชายและหญิงมีศักดิ์ศรีเดียวกัน “ตามภาพลักษณ์ของพระเจ้า” ทั้งชายและหญิงสะท้อนพระปรีชาและความดีของพระผู้สร้างใน “ความเป็นชาย” และใน “ความเป็นหญิง” ของตน

 370     พระเจ้าไม่เป็นภาพลักษณ์ของมนุษย์เลยไม่ว่าชายหรือหญิง พระเจ้าทรงเป็นจิตล้วนซึ่งไม่มีความแตกต่างทางเพศอยู่ด้วย แต่ “ความสมบูรณ์” ของชายและหญิงสะท้อนบางสิ่งบางอย่างของความสมบูรณ์ของพระเจ้า เช่นความสมบูรณ์ของมารดา[240] และความสมบูรณ์ของบิดาและสามี[241]

 

เพื่อกันและกัน” – “ความเป็นหนึ่งเดียวของทั้งสองคน

 371     ชายและหญิงซึ่งถูกสร้างมา พร้อมกัน พระเจ้าทรงประสงค์ให้เป็นอยู่เพื่อกันและกัน พระวาจาของพระเจ้าเสนอแนะตัวบทหลายแบบเพื่อเข้าใจความจริงข้อนี้ “มนุษย์อยู่เพียงคนเดียวนั้นไม่ดีเลย เราจะสร้างผู้ช่วยที่เหมาะสมกับเขาให้” (ปฐก 2:18) ในบรรดาสัตว์ ไม่มีสัตว์ใดเลยที่อาจ “เท่าเทียม” กับมนุษย์ได้[242] หญิงที่พระเจ้า “ทรงสร้างมา” จากกระดูกซี่โครงของชาย และที่ทรงนำมาให้เขานั้นชวนให้ชายรู้สึกพิศวงจนร้องออกมาแสดงความรักและความผูกพัน “นี่คือกระดูกจากกระดูกของฉัน และเนื้อจากเนื้อของฉัน” (ปฐก 2:23) ชายได้พบว่าหญิงเป็น “ตัวฉัน” อีกคนหนึ่งที่ร่วมมีความเป็นมนุษย์เหมือนกับตน

 372     ชายและหญิงถูกสร้างมา “เพื่อกันและกัน” – ไม่ใช่ในความหมายว่าชายหญิงเป็นมนุษย์ “เพียงครึ่งเดียว” และ “ไม่เสร็จสมบูรณ์” – พระองค์ทรงสร้างเขาทั้งสองขึ้นมาให้มีบุคลิกสัมพันธ์กัน แต่ละคนเป็น “ผู้ช่วยเหลือกัน” ได้ เพราะในเวลาเดียวกันเขาเป็นบุคคลเท่ากัน (“กระดูกจากกระดูกของฉัน....”) และในฐานะที่เป็นชายและหญิง เขาทั้งสองจึงเติมเต็มให้กัน[243] ในการสมรส พระเจ้าทรงรวมเขาให้เป็น “เนื้อเดียวกัน” (ปฐก 2:24) จนสามารถถ่ายทอดชีวิตมนุษย์ต่อไป “จงมีลูกมากและทวีจำนวนขึ้นจนเต็มแผ่นดิน” (ปฐก 1:28) ชายและหญิง เมื่อถ่ายทอดชีวิตมนุษย์ต่อมาแก่ลูกหลานในฐานะสามีภรรยาและบิดามารดา ก็ร่วมงานของพระผู้เนรมิตสร้างในแบบเฉพาะของตน[244]

 373     ในแผนการของพระเจ้า ชายและหญิงมีกระแสเรียกให้ปกครองแผ่นดิน[245] ในฐานะ “ผู้จัดการ” ของพระเจ้า การเป็นนายปกครองนี้ต้องไม่เป็นการเป็นนายปกครองตามอำเภอใจและเพื่อทำลาย พระเจ้าทรงเรียกชายและหญิงผู้ถูกสร้างมาตามภาพลักษณ์ของพระผู้สร้างซึ่งทรงรัก “ทุกสิ่งที่มีอยู่” (ปชญ 11:24) ให้มามีส่วนร่วมในพระญาณเอื้ออาทรต่อสิ่งสร้างอื่นๆ ดังนั้น เขาจึงมีความรับผิดชอบต่อโลกที่พระเจ้าทรงมอบหมายไว้ให้เขา

[239] เทียบ ปฐก 2:7,22.            

[240] เทียบ อสย 49:14-15; 66:13 ; สดด 131:2-3.      

[241] เทียบ ฮชย 11:1-4 ; ยรม 3:4-19.

[242] เทียบ ปฐก 2:19-20.           

[243] Cf. Ioannes Paulus II, Ep. Ap. Mulieris dignitatem, 7: AAS 80 (1988) 1664-1665.  

[244] Cf. Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 50: AAS 58 (1966) 1070-1071.           

[245] เทียบ ปฐก 1:28.              

IV. มนุษย์ในสวนอุทยาน

IV. มนุษย์ในสวนอุทยาน

 374   มนุษย์คนแรกไม่เพียงถูกสร้างมาให้ดีเท่านั้น แต่ยังให้เป็นมิตรกับพระผู้สร้างและมีความกลมกลืนกับตนและกับสิ่งสร้างที่ถูกกำหนดให้อยู่รอบเขา สิ่งสร้างเหล่านี้จะเป็นรองก็เพียงต่อสิริรุ่งโรจน์ของสิ่งที่จะถูกสร้างใหม่ในพระคริสตเจ้าเท่านั้น

 375   พระศาสนจักรอธิบายสัญลักษณ์ของข้อความในพระคัมภีร์อย่างเป็นทางการโดยคำนึงถึงพันธสัญญาใหม่และธรรมประเพณี สอนว่าพระเจ้าทรงเนรมิตสร้างอาดัมและเอวา บิดามารดาเดิมของเราใน “สภาพความศักดิ์สิทธิ์และความชอบธรรม” ดั้งเดิม[246] พระหรรษทานความศักดิ์สิทธิ์ดั้งเดิมนี้คือการมีส่วนร่วมชีวิตของพระเจ้า[247]

 376   ทุกมิติของชีวิตมนุษย์ได้รับการรับรองเมื่อคำนึงถึงพระหรรษทานนี้ ถ้าหากว่ามนุษย์ยังคงสนิทสัมพันธ์อยู่กับพระเจ้า มนุษย์ก็คงไม่ต้องตาย[248] หรือมีความทุกข์[249] ความกลมกลืนภายในของบุคคลมนุษย์ ความกลมกลืนระหว่างชายและหญิง[250] ในที่สุด ความกลมกลืนระหว่างมนุษย์คู่แรกกับสิ่งสร้างทั้งมวลก่อให้เกิดสภาพที่เราเรียกว่า “ความชอบธรรมดั้งเดิม” (original justice)

 377   “การปกครอง”โลกที่พระเจ้าทรงมอบให้มนุษย์นั้น ก่อนอื่นหมดเป็นจริงขึ้นมาในตัวมนุษย์เองในฐานะ การปกครองตนเอง มนุษย์ยังไม่บอบช้ำและมีระเบียบในความเป็นอยู่ทั้งหมดของตน เพราะมนุษย์ยังเป็นอิสระจากความใคร่ทั้งสามประการ[251] ที่ครอบงำเขาให้มัวเมาในโลกีย์ โลภอยากได้ทุกสิ่ง และหยิ่งทะนงในตนเองไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจของเหตุผล

 378   เครื่องหมายของความสนิทสนมของมนุษย์กับพระเจ้าคือการที่พระเจ้าทรงนำเขามาให้อยู่ในสวนอุทยาน[252]  เขามีชีวิตอยู่ที่นั่นเพื่อ “เพาะปลูกและดูแลสวน” (ปฐก 2:15) การทำงานไม่เป็นภาระหรือการลงโทษ[253]  แต่เป็นการร่วมมือของชายและหญิงกับพระเจ้าในการทำให้การเนรมิตสร้างโลกที่เราแลเห็นนี้สำเร็จสมบูรณ์

379    ความกลมกลืนทั้งหมดของความชอบธรรมดั้งเดิมที่แผนการของพระเจ้ากำหนดไว้ล่วงหน้านี้จะสูญเสียไปเพราะบิดามารดาเดิมของเราได้ทำบาป

[246] Cf. Concilium Tridentinum, Sess. 5a, Decretum de peccato originali, canaon 1: DS 1511.

[247] Cf. Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 2: AAS 57 (1965) 5-6.  

[248] เทียบ ปฐก 2:17; 3:19.        

[249] เทียบ ปฐก 3:16.              

[250] เทียบ ปฐก 2:25.             

[251] เทียบ 1 ยน 2:16.             

[252] เทียบ ปฐก 2:8.

[253] เทียบ ปฐก 3:17-19.

สรุป

สรุป

 380      พระเจ้าทรงเนรมิตมนุษย์ตามภาพลักษณ์ของพระองค์ แล้วทรงมอบสากลโลกไว้ให้ดูแล เมื่อมนุษย์รับใช้พระองค์พระผู้สร้างแต่องค์เดียว เขาก็จะได้เป็นเจ้าปกครองสัตว์โลกทั้งมวล[254]

 381      พระเจ้าทรงกำหนดไว้ล่วงหน้าให้มนุษย์สะท้อนภาพลักษณ์ของพระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ – “พระองค์ทรงเป็นภาพลักษณ์ของพระเจ้าที่เรามองไม่เห็น” (คส 1:15) – เพื่อพระคริสตเจ้าจะได้ทรงเป็นบุตรคนแรกในบรรดาพี่น้องจำนวนมาก[255]

 382      มนุษย์มีร่างกายและวิญญาณรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน[256] คำสอนของความเชื่อยืนยันว่าวิญญาณที่เป็นจิตและอมตถูกสร้างโดยตรงจากพระเจ้า

 383      “พระเจ้าไม่ทรงสร้างมนุษย์ให้อยู่โดดเดี่ยว เพราะตั้งแต่แรกแล้ว พระองค์ทรงสร้างเขาให้เป็นชายและหญิง” (ปฐก 1:27) การอยู่ร่วมกันของชายและหญิงก่อให้เกิดรูปแบบแรกของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล[257]

 384      การเปิดเผยบอกให้เรารู้ว่าก่อนทำบาป ชายและหญิงอยู่ในสภาพความศักดิ์สิทธิ์และความชอบธรรมดั้งเดิม ความสุขของเขาทั้งสองคนในสวนอุทยานเกิดจากมิตรภาพที่เขามีกับพระเจ้า

[254] Prex eucharistica IV, 118: Missale Romanum, editio typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1970) p. 467.   

[255] เทียบ อฟ 1:3-6; รม 8:29.     

[256] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 14: AAS 58 (1966) 1035.   

[257] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 12: AAS 58 (1966) 1034.   

วรรค 7

มนุษย์ตกในบาป

 385     พระเจ้าทรงความดีไร้ขอบเขตและพระราชกิจของพระองค์ทุกอย่างก็ดีด้วย ถึงกระนั้นไม่มีผู้ใดที่หนีพ้นประสบการณ์เรื่องความทุกข์ ความชั่วร้ายในธรรมชาติ – สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะสัมพันธ์กับขอบเขตจำกัดของสิ่งสร้างโดยเฉพาะ – รวมทั้งปัญหาเรื่องความชั่วร้ายด้านจริยธรรม ความชั่วร้ายมาจากไหน นักบุญออกัสตินเคยถามว่า “ข้าพเจ้าพยายามค้นหาว่าความชั่วมาจากไหน แต่ก็หาไม่พบ”[258] และการค้นคว้าที่เจ็บปวดของท่านก็จะไม่ประสบความสำเร็จนอกจากเมื่อท่านได้กลับใจมาพบพระเจ้าผู้ทรงชีวิตแล้ว เพราะ “ความลึกลับของความชั่วร้าย” (เทียบ 2 ธส 2:7) นั้นเข้าใจไม่ได้นอกจากจะพิจารณาถึงธรรมล้ำลึกเรื่องความเคารพเลื่อมใสพระเจ้า[259] การเปิดเผยความจริงถึงความรักของพระเจ้าในองค์พระคริสตเจ้าแสดงให้เห็นขอบเขตของความชั่วร้ายและความยิ่งใหญ่เกินคาดของพระหรรษทาน[260] เราจึงต้องพิจารณาปัญหาเรื่องที่มาของความชั่วร้ายโดยใช้ความเชื่อหันไปมองพระองค์(พระคริสตเจ้า)ผู้ทรงเป็นผู้เดียวที่ทรงพิชิตความชั่วร้าย[261]

[258] Sanctus Augustinus, Confessiones 7, 7, 11: CCL 27, 99 (PL 32, 739).              

[259] เทียบ 1 ทธ 3:16.             

[260] เทียบ รม 5:20.

[261] เทียบ ลก 11:21-22; ยน 16:11; 1 ยน 3:8.        

I. ที่ใดบาปทวีขึ้น ที่นั่นพระหรรษทานก็ยิ่งทวีขึ้นมากกว่า

I. ที่ใดบาปทวีขึ้น ที่นั่นพระหรรษทานก็ยิ่งทวีขึ้นมากกว่า

บาปมีอยู่จริงๆ

 386     บาปมีอยู่เสมอในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ คงเป็นเรื่องไร้สาระถ้าจะพยายามไม่รับรู้หรือให้ชื่ออื่นแก่ความเป็นจริงที่มืดมนนี้ ถ้าผู้ใดพยายามจะเข้าใจว่าบาปคืออะไร เขาจำเป็นต้องรับรู้ก่อนโดยเฉพาะว่ามนุษย์มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับพระเจ้า เพราะถ้าไม่คำนึงถึงความสัมพันธ์นี้ เราก็ไม่อาจพบว่าความชั่วร้ายของบาปตามอัตลักษณ์แท้จริงของมันก็คือการปฏิเสธพระเจ้าและต่อต้านพระองค์ แม้ว่าบาปยังคงทำร้ายต่อชีวิตและประวัติศาสตร์ของมนุษย์อยู่ต่อไปก็ตาม

 387     อาศัยการที่พระเจ้าทรงเปิดเผยความจริงเท่านั้นเราจึงเข้าใจว่าบาปคืออะไร และโดยเฉพาะบาปตั้งแต่แรกเริ่ม ถ้าไม่มีความรู้ที่การเปิดเผยนี้บอกให้เรารู้เกี่ยวกับพระเจ้า เราก็ไม่อาจรู้จักบาปได้อย่างชัดเจน และอาจทำได้เพียงพยายามอธิบายว่าบาปเป็นความบกพร่องที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น เป็นความอ่อนแอทางจิตใจ เป็นความหลงผิด เป็นผลจำเป็นที่เกิดจากโครงสร้างที่บกพร่องของสังคม ฯลฯ ถ้าเราเพียงรู้แผนการของพระเจ้าเกี่ยวกับมนุษย์เท่านั้น เราก็จะเข้าใจว่าบาปคือการใช้เสรีภาพอย่างไม่ถูกต้อง พระเจ้าประทานเสรีภาพนี้แก่สิ่งสร้างที่เป็นบุคคลเพื่อให้เขารักพระองค์และรักกันได้


บาปดั้งเดิม
(บาปกำเนิด) – ความจริงที่เป็นสาระสำคัญของความเชื่อ

 388     ความเข้าใจว่าบาปคืออะไรปรากฏชัดควบคู่ไปพร้อมกับวิวัฒนาการของการเปิดเผย แม้ว่าประชากรของพระเจ้าในพันธสัญญาเดิมพยายามหาความเข้าใจสภาพความทุกข์ยากของมนุษย์จากเรื่องที่หนังสือปฐมกาลเล่าถึงการตกในบาป แต่ก็ไม่อาจเข้าถึงความหมายสุดท้ายของเรื่องนี้ได้ เพราะความหมายนี้จะปรากฏชัดเจนเมื่อพิจารณาถึงการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูคริสตเจ้าเท่านั้น[262] เราจำเป็นต้องรู้ว่าพระคริสตเจ้าทรงเป็นบ่อเกิดของพระหรรษทานเช่นเดียวกับที่อาดัมเป็นบ่อเกิดของบาป พระจิตเจ้า พระผู้ช่วยเหลือที่พระคริสตเจ้าทรงส่งมานั้น เสด็จมาเพื่อทรง “แสดงให้โลกเห็นความหมายของบาป” (ยน 16:8) เมื่อทรงเปิดเผยพระองค์ผู้ทรงเป็นพระผู้ไถ่ของโลก

 389     เราอาจกล่าวได้ว่าคำสอนเรื่องบาปกำเนิดเป็น “ส่วนที่ตรงข้าม” ของข่าวดีนี้ – พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระผู้ไถ่ของมวลมนุษย์ ทุกคนต้องการความรอดพ้นและพระเจ้าประทานความรอดพ้นแก่ทุกคนผ่านทางพระคริสตเจ้า พระศาสนจักรซึ่งมีความคิดของพระคริสตเจ้า[263] รู้ว่าเราไม่อาจ มองข้ามการเปิดเผยเรื่องบาปกำเนิดได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้า


วิธีอ่านเรื่องการตกในบาป

 390     เรื่องเล่าการที่มนุษย์ตกในบาป (ในหนังสือ ปฐก บทที่ 3) ใช้ภาษาสัญลักษณ์ แต่ก็ยืนยันถึงเหตุการณ์ในสมัยแรกเริ่มที่เกิดขึ้นเมื่อประวัติศาสตร์ของมนุษย์เริ่มต้น[264] การเปิดเผยบอกให้เรามีความเชื่อมั่นว่าประวัติศาสตร์ทั้งหมดของมนุษยชาติมีเครื่องหมายบอกว่าบิดามารดาเดิมของเราได้ทำความผิดโดยอิสระเสรีมาตั้งแต่ต้นแล้ว[265]

[262] เทียบ รม 5:12-21.             

[263] เทียบ 1 คร 2:16.              

[264] Cf. Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 13: AAS 58 (1966) 1034-1035.           

[265] Cf. Concilium Tridentinum, Sess. 5a, Decretum de peccato originali, canon 3: DS 1513; Pius XII, Litt.enc. Humani generis: DS 3897; Paulus VI, Allocutio iis qui interfuerunt Coetui v. D. “Simposio” a theologis doctisque viris habito de originali peccato (11 iulii 1966): AAS 58 (1996) 649-655.

II.  ทูตสวรรค์ตกในบาป

II.  ทูตสวรรค์ตกในบาป

 391      เบื้องหลังการที่บิดามารดาเดิมของเราเลือกจะไม่เชื่อฟังพระบัญชาของพระเจ้านั้นมีเสียงต่อต้านพระเจ้าที่คอยล่อลวงซ่อนอยู่[266] เสียงนี้มีความอิจฉาจึงทำให้เขาต้องพลาดพลั้งถึงตาย[267] พระคัมภีร์และธรรมประเพณีของพระศาสนจักรเห็นว่าสิ่งนี้คือทูตสวรรค์ที่ทำบาปและได้ชื่อว่า “ซาตาน” หรือ “ปีศาจ”[268] พระศาสนจักรสอนว่าก่อนหน้านั้นปีศาจเป็นทูตสวรรค์ที่ดี “ปีศาจและจิตชั่วอื่นๆ โดยธรรมชาติแล้วถูกพระเจ้าสร้างมาดี แต่ชั่วไปเพราะการกระทำของตนเอง”[269]

 392     พระคัมภีร์กล่าวถึงบาปของทูตสวรรค์เหล่านี้[270] สาระของการ “ตกในบาป” นี้อยู่ที่การเลือกอย่างอิสระเสรีของจิตที่พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างขึ้นมานี้ ซึ่งปฏิเสธไม่ยอมรับพระเจ้าและพระอาณาจักรของพระองค์โดยสมัครใจและไม่มีวันเปลี่ยนแปลงอีก เราพบเสียงสะท้อนของการเป็นกบฏนี้ในถ้อยคำที่ผู้ล่อล่วงพูดกับบิดามารดาเดิมของเรา “ท่านจะเป็นเหมือนพระเจ้า” (ปฐก 3:5) “ปีศาจทำบาปมาตั้งแต่แรกเริ่ม” (1 ยน 3:8) “เขาเป็นผู้พูดเท็จและเป็นบิดาของการพูดเท็จ” (ยน 8:44)

 393     บาปของทูตสวรรค์เหล่านี้รับการอภัยไม่ได้ ไม่ใช่เพราะพระเจ้าไม่ทรงพระกรุณาหาขอบเขตมิได้ แต่เป็นเพราะลักษณะที่ทูตสวรรค์ตัดสินใจเลือกแล้วไม่อาจเปลี่ยนใจได้อีก “หลังจากตกในบาปแล้ว ทูตสวรรค์เหล่านี้ไม่มีโอกาสกลับใจได้อีก เช่นเดียวกับที่มนุษย์ไม่มีโอกาสกลับใจอีกหลัง ความตาย”[271]

 394     พระคัมภีร์ยืนยันถึงอิทธิพลอันตรายของผู้ที่พระเยซูเจ้าทรงเรียกว่า “ฆาตกรมาตั้งแต่แรกเริ่ม” (ยน 8:44) และที่ยังพยายามที่จะทำให้พันธกิจที่พระเยซูเจ้าทรงรับมาจากพระบิดาเบี่ยงเบนไป[272] “พระบุตรของพระเจ้าทรงสำแดงพระองค์เพื่อทรงทำลายงานของปีศาจ” (1 ยน 3:8) ผลร้ายที่สุดของงานเหล่านี้ก็คือการมุสาล่อลวงที่ชักชวนให้มนุษย์ไม่เชื่อฟังพระเจ้า

 395     แต่อำนาจของปีศาจก็ยังมีขอบเขต มันเป็นเพียงสิ่งสร้าง มีอำนาจเพราะเป็นจิตล้วน แต่ก็ยังคงเป็นสิ่งสร้างตลอดเวลา มันไม่อาจขัดขวางการสร้างพระอาณาจักรของพระเจ้าได้ แม้ว่าปีศาจทำงานในโลกต่อต้านพระเจ้าและพระอาณาจักรของพระเจ้าในพระเยซูคริสตเจ้า เพราะความเกลียดชัง และแม้ว่าการกระทำของมันก่อให้เกิดผลร้ายอย่างหนัก – ทั้งในธรรมชาติด้านจิตใจและในธรรมชาติด้านกายภาพด้วยทางอ้อม – ต่อมนุษย์แต่ละคนและต่อสังคม แต่พระญาณเอื้ออาทรของพระเจ้าที่ปกครองประวัติศาสตร์ของมนุษย์และของโลกอย่างเข้มแข็งและอ่อนโยนทรงอนุญาตให้เกิดขึ้น การที่พระเจ้าทรงอนุญาตให้ปีศาจทำงานของมันได้นี้เป็นธรรมล้ำลึกยิ่งใหญ่ “เรารู้ว่าพระเจ้าทรงบันดาลให้ทุกสิ่งกลับเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่รักพระองค์” (รม 8:28)

[266] เทียบ ปฐก เทียบ ปฐก 3:1-5.   

[267] เทียบ ปชญ 2:24.             

[268] เทียบ ยน 8:44; วว 12:9.      

[269] Concilium Lateranense IV (anno 1215), Cap. 1, De fide catholica: DS 800.

[270] เทียบ 2 ปต 2:4.              

[271] Sanctus Ioannes Damascenus, Expositio fidei 18 [De fide orthodoxa 2,4] : PTS 12, 50 (PG 94, 877). 

[272] เทียบ มธ 4:1-11.

III.  บาปกำเนิด

III.  บาปกำเนิด

การทดสอบเสรีภาพ

 396     พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างมนุษย์ตามภาพลักษณ์ของพระองค์และทรงตั้งเขาให้เป็นมิตรกับพระองค์ มนุษย์ในฐานะสิ่งสร้างที่มีจิตวิญญาณย่อมดำเนินชีวิตในมิตรภาพนี้ไม่ได้ถ้าเขาไม่สมัครใจยอมอ่อนน้อมเชื่อฟังพระเจ้าโดยอิสระเสรี การที่พระเจ้าทรงห้ามมนุษย์มิให้กินผลไม้แห่งความรู้ดีรู้ชั่วแสดงถึงความจริงเรื่องนี้ “วันใดที่ท่านกินผลจากต้นนั้น ท่านจะต้องตาย” (ปฐก 2:17) ต้นไม้ “แห่งความรู้ดีรู้ชั่ว” (ปฐก 2:17) เป็นสัญลักษณ์แสดงขอบเขตที่มนุษย์จะล่วงละเมิดไม่ได้ ในฐานะสิ่งสร้าง เขาต้องยอมรับโดยอิสระเสรีและปฏิบัติตามด้วยความไว้วางใจ มนุษย์ขึ้นกับพระผู้สร้าง เขาอยู่ภายใต้กฎการเนรมิตสร้างและระเบียบทางจริยธรรมซึ่งควบคุมการใช้เสรีภาพ


บาปแรกของมนุษย์

 397     เมื่อมนุษย์ถูกปีศาจทดลอง เขายอมให้ความไว้วางใจที่เขามีต่อพระผู้สร้างตายไปในใจ[273] และใช้เสรีภาพของเขาอย่างไม่ถูกต้อง ไม่ได้เชื่อฟังพระบัญชาของพระเจ้า นี่คือสาระของบาปแรกของมนุษย์[274] บาปทั้งหลายที่ตามมาจะเป็นการไม่เชื่อฟังพระเจ้าและการขาดความไว้วางใจต่อความดีของพระองค์

 398     ในบาปนี้ มนุษย์ให้ความสำคัญแก่ตนเองมากกว่าแก่พระเจ้า และโดยการนี้ยังดูหมิ่นพระองค์ เขาเลือกตนเอง ต่อต้านพระเจ้า ต่อต้านเงื่อนไขจำเป็นของสถานะความเป็นสิ่งสร้างของตน และดังนี้จึงต่อต้านผลดีสำหรับตนเอง มนุษย์ที่พระเจ้าทรงสร้างมาในสถานะความศักดิ์สิทธิ์ พระองค์ทรงกำหนดเขาไว้เพื่อจะรับ “การร่วมพระเทวภาพ” ในพระสิริรุ่งโรจน์อย่างสมบูรณ์ แต่เขาถูกปีศาจหลอกลวง อยาก“เป็นเหมือนพระเจ้า”[275] “แต่โดยไม่มีพระเจ้า นอกเหนือพระเจ้า และไม่ตามแผนของพระเจ้า”[276]

 399      พระคัมภีร์แสดงให้เห็นผลของการไม่เชื่อฟังครั้งแรกนี้ อาดัมและเอวาสูญเสียพระหรรษทานความศักดิ์สิทธิ์ดั้งเดิมทันที[277] เขากลัวพระเจ้า[278]ที่เขามีภาพลักษณ์ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับพระองค์ – คิดว่าพระองค์ทรงหวงแหนอภิสิทธิ์ส่วนพระองค์[279]

 400     ความกลมกลืนที่เป็นสภาพแวดล้อมของมนุษย์เนื่องมาจากความชอบธรรมดั้งเดิมถูกทำลาย สมรรถนะที่จิตวิญญาณจะควบคุมร่างกายต้องพังทลายลง[280] การอยู่ร่วมกันของชายกับหญิงตกอยู่ในความตรึงเครียด[281] ความสัมพันธ์ระหว่างเขาทั้งสองคนจะมีลักษณะของความใคร่และการเป็นนายปกครอง[282] ความกลมกลืนกับสิ่งสร้างก็ถูกทำลายลง สิ่งสร้างที่เรามองเห็นกลายเป็นสิ่งที่แตกต่างและเป็นศัตรูกับมนุษย์[283] เพราะมนุษย์สิ่งสร้างทั้งหลายจึงตกเป็นทาสของความเสื่อมสลาย[284] ในที่สุด ผลของการไม่เชื่อฟังที่พระเจ้าตรัสล่วงหน้าไว้อย่างชัดเจน[285] ก็จะเกิดขึ้นจริง มนุษย์จะกลับเป็นฝุ่นดิน เพราะเขาถูกปั้นมาจากดิน[286] ความตายจึงเข้ามาในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ[287]

 401     หลังจากบาปแรก บาปก็ “เข้ามารุกราน” ทั่วโลกอย่างแท้จริง กาอินฆ่าอาแบลน้องชาย[288] ความเสื่อมทรามทั่วโลกเป็นผลตามมาของบาป[289] บาปแสดงตัวออกมาบ่อยๆ แม้กระทั่งในประวัติศาสตร์ของอิสราเอล โดยเฉพาะในรูปของความไม่ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าแห่งพันธสัญญาและในฐานะการฝ่าฝืนธรรมบัญญัติของโมเสส แม้กระทั่งหลังจากการไถ่กู้โดยพระคริสตเจ้าแล้ว ในหมู่คริสตชน บาปก็ยังแสดงตัวในแบบต่างๆ มากมาย[290] พระคัมภีร์และธรรมประเพณีของพระศาสนจักรไม่เคยหยุดเตือนเลยให้ระลึกว่าบาปมีอยู่ทั่วไปในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ “เรื่องราวที่พระเจ้าทรงเปิดเผยให้เรารู้สอดคล้องกับประสบการณ์ด้วย เมื่อมนุษย์เราสำรวจดูจิตใจของตนก็พบว่าตนมีความโน้มเอียงไปหาความชั่วและยังจมอยู่ในความชั่วร้ายมากมาย ซึ่งไม่อาจมาได้จากพระผู้สร้างที่ดีของตน เมื่อมนุษย์ปฏิเสธไม่ยอมรับพระเจ้าเป็นปฐมเหตุของตน รวมทั้งไม่ยอมรับระเบียบที่ทรงจัดไว้เพื่อมุ่งไปหาจุดหมายสุดท้ายของตน เขาก็ยังทำลายทั้งระเบียบที่ถูกจัดไว้สำหรับตนหรือต่อเพื่อนมนุษย์และต่อสิ่งสร้างทั้งมวลในเวลาเดียวกันด้วย”[291]


ผลจากบาปของอาดัมต่อมนุษยชาติ

 402     มนุษย์ทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับบาปของอาดัมด้วย นักบุญเปาโลกล่าวยืนยันไว้ดังนี้  “มวลมนุษย์กลายเป็นคนบาปเพราะความไม่เชื่อฟังของมนุษย์เพียงคนเดียว” (รม 5:19) “บาปเข้ามาในโลกเพราะมนุษย์คนเดียว และความตายเข้ามาเพราะบาปฉันใด ความตายก็แพร่กระจายไปถึงมนุษย์ทุกคนเพราะทุกคนทำบาปฉันนั้น....” (รม 5:12) ท่านอัครสาวกยังกล่าวถึงการที่มนุษย์ทั้งมวลได้รับความรอดพ้นในพระคริสตเจ้าควบคู่กันกับการที่มนุษย์ทุกคนทำบาปด้วย “การล่วงละเมิดของมนุษย์คนเดียวเป็นเหตุให้มนุษย์ทุกคนถูกลงโทษฉันใด กิจการชอบธรรมของมนุษย์คนเดียวก็นำความชอบธรรมที่บันดาลชีวิตมาให้มนุษย์ทุกคนฉันนั้น” (รม 5:18)

 403     พระศาสนจักรดำเนินตามคำสอนของนักบุญเปาโล ยังสอนอยู่ตลอดเวลาถึงความน่าสงสารยิ่งใหญ่ที่ครอบงำมนุษย์ และความโน้มเอียงของมนุษย์ต่อความชั่วร้ายและความตายก็อธิบายไม่ได้ถ้าความโน้มเอียงเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องกับบาปของอาดัม และกับความจริงที่ว่าเขาถ่ายทอดบาปมาถึงเราที่ทุกคนเกิดมาโดยรับผลกระทบของบาปซึ่งเป็น “ความตายของวิญญาณ” ด้วย[292] จากความเชื่อมั่นนี้พระศาสนจักรจึงประกอบพิธีศีลล้างบาปแก่ทารกที่ยังไม่ได้ทำบาปส่วนตัวของตนด้วย[293]

 404     บาปของอาดัมเป็นบาปที่มีผลต่อลูกหลานทุกคนของเขาได้อย่างไร มนุษยชาติทั้งมวลเป็น “เสมือนร่างกายของมนุษย์คนเดียว” ในอาดัม[294] เนื่องจาก “เอกภาพของมวลมนุษย์” เช่นนี้ มนุษย์ทุกคนย่อมมีส่วนร่วมกับบาปของอาดัมเช่นเดียวกับที่ทุกคนมีส่วนร่วมกับความชอบธรรมของพระคริสตเจ้าด้วย ถึงกระนั้น การที่บาปกำเนิดถ่ายทอดต่อมานั้นก็ยังเป็นธรรมล้ำลึกที่เราไม่อาจเข้าใจได้ทั้งหมด แต่อาศัยการเปิดเผย เรารู้ว่าอาดัมได้รับความศักดิ์สิทธิ์และความชอบธรรมแรกเริ่มไม่ใช่เพื่อตนเองเท่านั้น แต่เพื่อมนุษยชาติทั้งมวลด้วย เมื่ออาดัมและเอวาหลงเชื่อผู้ล่อลวง ทั้งสองทำบาป ส่วนตัวแต่บาปนี้มีผลกระทบต่อธรรมชาติมนุษย์ ที่เขาจะถ่ายทอดสภาพที่ตกอยู่ในบาปต่อมาถึงลูกหลาน[295] เป็นบาปที่จะถูกถ่ายทอดต่อมาสู่มนุษยชาติทั้งมวลโดยการแพร่พันธุ์ นั่นคือโดยการส่งต่อธรรมชาติมนุษย์ที่สูญเสียความศักดิ์สิทธิ์และความชอบธรรมดั้งเดิมไปแล้ว เพราะเหตุนี้ บาปกำเนิดจึงได้ชื่อว่า “บาป” ในแบบอุปมา (analogical sense) เท่านั้น คือเป็นบาปที่ “ติดต่อกันมา” ไม่ใช่บาปที่ตนทำ คือเป็น “สภาพ” ไม่ใช่เป็น “การกระทำ”

 405     บาปกำเนิด แม้จะเป็นบาปของแต่ละคน[296] ก็ไม่มีลักษณะเป็นความผิดส่วนตัวในลูกหลานคนใดของอาดัม เป็นการขาดความศักดิ์สิทธิ์และความชอบธรรมดั้งเดิม แต่ธรรมชาติมนุษย์ก็มิได้เสื่อมทรามไปทั้งหมด แต่ก็เป็นธรรมชาติที่บาดเจ็บในพลังเฉพาะของตน อยู่ใต้อำนาจของอวิชา ความเจ็บปวดและความตาย ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะทำบาป (แนวโน้มต่อความชั่วนี้เรียกว่า “ความใคร่”) ศีลล้างบาปประทานชีวิตพระหรรษทานของพระคริสตเจ้า ทำลายบาปกำเนิดและหันมนุษย์กลับมาหาพระเจ้า แต่ผลของบาปกำเนิดต่อธรรมชาติที่อ่อนแอลงและโน้มหาความชั่วนั้นยังคงอยู่ในมนุษย์และชวนให้เขาต้องต่อสู้ด้านจิตใจ

 406      คำสอนของพระศาสนจักรเรื่องการถ่ายทอดบาปกำเนิดได้รับคำอธิบายชัดเจน  โดยเฉพาะในศตวรรษที่ 5 ภายใต้อิทธิพลการคิดคำนึงของนักบุญออกัสตินต่อสู้กับคำสอนของลัทธิเป-ลาเจียน  และในศตวรรษที่ 16 ก็ได้รับการยืนยันต่อสู้กับการปฏิรูปของลัทธิโปรเตสแตนท์ เป-ลาจีอัสสอนว่ามนุษย์อาจดำเนินชีวิตที่ดีด้านจริยะโดยพลังเจตนาอิสระเสรีตามธรรมชาติของตนได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งความช่วยเหลือของพระหรรษทาน ดังนี้เขาจึงทำให้อิทธิพลความผิดของอาดัมเป็นเพียงตัวอย่างไม่ดีเท่านั้น ตรงกันข้าม นักปฏิรูปศาสนาชาวโปรเตสแตนท์รุ่นแรกๆ สอนว่าเพราะบาปกำเนิด มนุษย์เสื่อมทรามถึงที่สุดและไม่มีอิสระเสรีเหลืออยู่เลย เขาเหล่านั้นคิดว่าบาปที่มนุษย์แต่ละคนได้รับตกทอดต่อกันมาเป็นมรดกนั้นเป็นสิ่งเดียวกันกับความโน้มเอียงไปหาความชั่ว (ความใคร่) ซึ่งเราไม่อาจเอาชนะได้ พระศาสนจักรประกาศถึงความหมายของข้อมูลที่ได้รับการเปิดเผยเรื่องบาปกำเนิดในสภาสังคายนาที่เมืองโอเรนจ์ครั้งที่ 2 เมื่อปี ค.ศ. 529[297] และในสภาสังคายนาที่เมืองเตรนท์เมื่อปี ค.ศ. 1546[298]

 

การต่อสู้ที่หนักหน่วง.....

 407     คำสอนเรื่องบาปกำเนิด – ที่เกี่ยวข้องกับคำสอนเรื่องการไถ่กู้โดยอาศัยพระคริสตเจ้า – เปิดโอกาสให้เราพิจารณาได้อย่างชัดเจนถึงสภาพของมนุษย์และกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ในโลก เพราะบาปของบิดามารดาเดิม ปีศาจได้มีอำนาจบางอย่างเหนือมนุษย์ แม้ว่ามนุษย์ก็ยังคงมีอิสระเสรีอยู่อีก บาปกำเนิดนำ “การทำให้มนุษย์เป็นทาสอยู่ใต้อำนาจของผู้นั้น ‘ซึ่งมีอำนาจเหนือความตาย’ ซึ่งได้แก่ปีศาจ” มากับตนด้วย[299] การไม่รู้ว่ามนุษย์มีธรรมชาติที่บาดเจ็บ มีความโน้มเอียงไปหาความชั่วเปิดโอกาสแก่ความหลงผิดอย่างหนักเกี่ยวกับเรื่องการอบรม เรื่องการเมือง กิจกรรมด้านสังคม[300] และจริยธรรม

 408      ผลตามมาของบาปกำเนิดและบาปส่วนตัวของมนุษย์ทุกคนนำสภาพบาปมาให้โลกในส่วนรวม สภาพที่อาจเรียกได้โดยใช้สำนวนของนักบุญยอห์นว่า “บาปของโลก” (ยน 1:29) วลีนี้ยังหมายถึงอิทธิพลด้านลบที่สภาพความเป็นอยู่ของชุมชนและโครงสร้างด้านสังคม ซึ่งเป็นผลจากบาปของมนุษย์ มีอิทธิพลต่อมนุษย์แต่ละคนด้วย[301] 

 409     สภาพน่าเศร้านี้ของโลก ซึ่ง “อยู่ใต้อำนาจของมารร้าย” (1 ยน 5:19)[302] ทำให้ชีวิตมนุษย์กลายเป็นการต่อสู้ “ประวัติศาสตร์สากลของมวลมนุษย์เต็มไปด้วยการต่อสู้อย่างหนักหน่วงกับอำนาจของความมืด ที่คงดำเนินอยู่ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของโลกจนถึงวันสุดท้าย ดังที่องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ตรัสไว้ มนุษย์ที่เข้ามาอยู่ในการต่อสู้นี้ ต้องสู้รบอยู่ตลอดเวลาเพื่อจะยึดมั่นในความดี และเขาจะมีความสมดุลในตนเองได้ ก็ต้องออกแรงอย่างมาก โดยมีพระหรรษทานของพระเจ้าคอยช่วยเหลือ”[303]  

 

[273] เทียบ ปฐก เทียบ ปฐก 3:1-11.

[274] เทียบ รม 5:19.             

[275] เทียบ ปฐก 3:5.            

[276] Sanctus Maximus Confessor, Ambiguorum liber: PG 91, 1156.   

[277] เทียบ รม 3:23.             

[278] เทียบ ปฐก 3:9-10.          

[279] เทียบ ปฐก 3:5.            

[280] เทียบ ปฐก 3:7.            

[281] เทียบ ปฐก 3:11-13.         

[282] เทียบ ปฐก 3:16.           

[283] เทียบ ปฐก 3:17,19.         

[284] เทียบ รม 8:20.            

[285] เทียบ ปฐก 2:17.           

[286] เทียบ ปฐก 3:19.           

[287] เทียบ รม 5:12.             

[288] เทียบ ปฐก 4:3-15.         

[289] เทียบ ปฐก 6:5,12; รม 1:18-32.

[290] เทียบ 1 คร บทที่ 1-6; วว บทที่ 2-3.           

[291] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 13: AAS 58 (1966) 1035.

[292] Cf. Concilium Tridentinum, Sess. 5a, Decretum de peccato originali, canon 2: DS 1512.            

[293] Cf. Concilium Tridentinum, Sess. 5a, Decretum de peccato originali, canon 4: DS 1514.            

[294] Sanctus Thomas Aquinas, Quaestiones disputatae de malo, 4, 1. c.: Ed. Leon. 23, 105.

[295] Cf. Concilium Tridentinum, Sess. 5a, Decretum de peccato originali, canon 1-2: DS 1511-1512.      

[296] Cf. Concilium Tridentinum, Sess. 5a, Decretum de peccato originali, canon 3: DS 1513.            

[297] Concilium Arausicanum II, Canones 1-2: DS 371-372.           

[298] Concilium Tridentinum, Sess. 5a, Decretum de peccato originali: DS 1510-1516.   

[299] Concilium Tridentinum, Sess. 5a, Decretum de peccato originali, canon 1: DS 1511; เทียบ ฮบ 2:14  

[300] Cf. Ioannes Paulus II, Litt. Enc. Centesimus annus, 25: AAS 83 (1991) 823-824.

[301] Cf. Ioannes Paulus II, Adh.ap. Reconciliatio et paenitentia, 16: AAS 77 (1985) 213-217.           

[302] เทียบ 1 ปต 5:8.            

[303] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 37: AAS 58 (1966) 1055.

IV.   “พระองค์ไม่ทรงละทิ้งเขาไว้ในอำนาจของความตาย”

IV.  “พระองค์ไม่ทรงละทิ้งเขาไว้ในอำนาจของความตาย

 410 พระเจ้าไม่ทรงละทิ้งมนุษย์หลังจากที่เขาตกในบาปแล้ว ตรงกันข้าม พระเจ้าทรงเรียกเขา[304] และทรงใช้วิธีการลึกลับแจ้งให้เขารู้ว่าจะมีชัยชนะเหนือความชั่วและได้รับการยกขึ้นมาจากการตกในบาปนี้[305] ข้อความนี้ในหนังสือปฐมกาลได้ชื่อว่า “ข่าวดีประการแรก” (Protoevangelium หรือ first gospel) เพราะเป็นการแจ้งข่าวครั้งแรกเรื่องพระเมสสิยาห์พระผู้กอบกู้ เรื่องการต่อสู้ระหว่าง “งู” กับ “หญิง” และชัยชนะในที่สุดของเชื้อสายคนหนึ่งของหญิงผู้นี้

 411 ธรรมประเพณีของคริสตชนเห็นว่าข้อความนี้เป็นการแจ้งข่าวถึง “อาดัมคนใหม่”[306] ซึ่งเพราะความเชื่อฟัง “จนถึงกับยอมรับแม้ความตาย[…]บนไม้กางเขน” (ฟป 2:8) จะแก้ไขความไม่เชื่อฟังของอาดัมได้อย่างเหลือเฟือ[307] ยิ่งกว่านั้น ปิตาจารย์และนักปราชญ์ของพระศาสนจักรหลายท่านยังเห็นว่าหญิงที่กล่าวถึงใน “ข่าวดีแรก” นี้ก็คือพระแม่มารีย์พระมารดาของพระคริสตเจ้าซึ่งเป็น “เอวาคนใหม่” พระนางทรงเป็นหญิงคนแรกที่ได้รับผลจากชัยชนะที่พระคริสตเจ้าทรงมีเหนือบาป พระเจ้าทรงสงวนพระนางไว้ให้พ้นจากมลทินใดๆ ของบาปกำเนิด[308] และตลอดพระชนมชีพของพระนางในโลกนี้ อาศัยพระหรรษทานพิเศษของพระเจ้า พระนางไม่ได้ทรงทำบาปชนิดใดเลย[309]

412  แต่ ทำไมพระเจ้าจึงไม่ทรงขัดขวางมิให้มนุษย์คนแรกทำบาป นักบุญเลโอผู้ยิ่งใหญ่ให้คำตอบว่า “เราได้รับพระพรอาศัยพระหรรษทานที่อยู่เหนือคำบรรยายใดๆ ของพระคริสตเจ้ามากกว่าพระพรที่เราสูญเสียไปเพราะความอิจฉาของปีศาจ”[310] และนักบุญโทมัสอไควนัสยังเขียนไว้ด้วยว่า “ไม่มีสิ่งใดขัดขวางมิให้ธรรมชาติมนุษย์ได้รับการยกให้ขึ้นไปถึงอะไรที่ใหญ่กว่าหลังจากที่ได้ทำบาปแล้ว เพราะพระเจ้าทรงอนุญาตให้ความชั่วเกิดขึ้นก็เพื่อจะก่อให้เกิดบางสิ่งที่ดีกว่า ดังนั้นจดหมายถึงชาวโรม รม 5:20 จึงกล่าวว่า ‘ที่ใดบาปทวีขึ้น ที่นั่นพระหรรษทานก็ยิ่งทวีขึ้นมากกว่า’ และในบทเสกเทียนปัสกายังมีข้อความนี้ว่า ‘ความผิดนี้ช่างมีโชคอย่างเหลือล้นที่มีบุญได้มีพระผู้ไถ่ยิ่งใหญ่ถึงเพียงนี้’”[311]

 

[304] เทียบ ปฐก  3:9.           

[305] เทียบ ปฐก 3:15.           

[306] เทียบ 1 คร 15:21-22,45.    

[307] เทียบ รม 5:19-20.          

[308] Cf. Pius IX, Bulla Ineffabilis Deus: DS 2803. 

[309] Cf. Concilium Tridentinum, Sess. 6a, Decretum de iustificatione, canon 23: DS 1573.

[310] Sanctus Leo Magnus, Sermo 73, 4; CCL 88A, 453 (PL 54, 151).

[311] Sanctus Thomas Aquinas, Summa theologiae, 3, q. 1, a. 3, ad 3: Ed. Leon. 11, 14;   ถ้อยคำที่นักบุญโทมัสกล่าวอ้างถึงที่นี่มาจากบทขับร้องสมโภชเทียนปัสกาที่เรียกว่า “Exsultet”.   

สรุป

สรุป

 413      “พระเจ้าไม่ทรงสร้างความตาย และไม่พอพระทัยให้ผู้มีชีวิตต้องพินาศ [....] แต่เพราะความอิจฉาของปีศาจ ความตายจึงเข้ามาในโลก” (ปชญ 1:13; 2:24)

 414      ซาตานหรือเจ้าปีศาจและปีศาจอื่นๆ เป็นทูตสวรรค์ที่ตกในบาปเพราะจงใจปฏิเสธพระเจ้าและไม่ยอมปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระองค์ การตัดสินใจไม่ยอมรับพระเจ้าของมันเป็นอันเด็ดขาด มันจึงพยายามชักชวนมนุษย์ให้เข้าร่วมกับมันในการกบฏต่อพระเจ้าด้วย

 415      “แม้ว่าพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์มาในความชอบธรรม ถึงกระนั้น ตั้งแต่แรกเริ่มประวัติศาสตร์แล้วมนุษย์ได้ถูกมารร้ายชักชวน ได้ใช้เสรีภาพของตนผิดๆ ตั้งตนต่อสู้พระเจ้า และต้องการแสวงหาจุดหมายของตนนอกเหนือจากพระเจ้า[312]

 416      เมื่ออาดัม ในฐานะมนุษย์คนแรก ทำบาป เขาก็ได้สูญเสียความศักดิ์สิทธิ์และความชอบธรรมดั้งเดิมที่เขาได้รับจากพระเจ้า ไม่ใช่สำหรับตนเองเท่านั้น แต่สำหรับมวลมนุษย์ด้วย

 417      อาดัมและเอวาได้ถ่ายทอดธรรมชาติมนุษย์ที่บาดเจ็บเพราะบาปแรก และดังนี้จึงไม่มีความศักดิ์สิทธิ์และความชอบธรรมดั้งเดิมแก่ลูกหลานต่อมา การขาดความศักดิ์สิทธิ์และความชอบธรรมดั้งเดิมนี้เรียกว่าบาปกำเนิด

 418      ผลตามมาของบาปกำเนิดก็คือ ธรรมชาติมนุษย์มีพลังอ่อนแอลง อยู่ในอำนาจของความทุกข์และความตาย รวมทั้งมีความโน้มเอียงเข้าหาบาป (ความโน้มเอียงนี้ได้ชื่อว่าตัณหาหรือความใคร่”)

 419      ดังนี้ เราจึงยึดมั่นตามคำสอนของสภาสังคายนาที่เมืองเตรนท์ว่า บาปกำเนิดได้รับการถ่ายทอดต่อมาพร้อมกับธรรมชาติมนุษย์โดยการให้กำเนิด ไม่ใช่โดยการเอาอย่าง[313] บาปกำเนิดนี้จึงเป็นบาปเฉพาะของแต่ละคน’”

 420      ชัยชนะที่พระคริสตเจ้าทรงได้มาเหนือบาปนำพระพรที่ดีกว่าพระพรที่บาปได้แย่งไปจากเรากลับมาให้เราอีก: “ที่ใดบาปทวีขึ้น ที่นั่นพระหรรษทานก็ยิ่งทวีขึ้นมากกว่า” (รม 5:20)

 421      “บรรดาคริสตชนเชื่อว่า โลกนี้ที่พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างมาและบำรุงรักษาไว้ด้วยความรัก แม้ได้ตกเป็นทาสของบาป แต่ก็ได้รับอิสรภาพจากพระคริสตเจ้าซึ่งทรงถูกตรึงบนไม้กางเขนและกลับคืนพระชนมชีพทำลายล้างอำนาจของเจ้ามารร้าย......”[314]

 

[312] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 13: AAS 58 (1966) 1034-1035.            

[313] Paulus VI, Sollemnis Professio fidei, 16: AAS 60 (1968) 439.  

[314] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 2: AAS 58 (1966) 1026.