ตอนที่ 6

พระเยซูเจ้าเสด็จสู่สวรรค์

ประทับเบื้องขวาพระเจ้า พระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพ

 

 659     “เมื่อพระเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสดังนี้แล้ว พระเจ้าทรงรับพระองค์ขึ้นสู่สวรรค์ให้ประทับ ณ เบื้องขวา” (มก 16:19) พระกายของพระคริสตเจ้าทรงพระสิริรุ่งโรจน์นับตั้งแต่ทรงกลับคืนพระชนมชีพ ดังที่สภาพใหม่เหนือธรรมชาติแสดงให้เห็นว่าจะทรงสภาพเช่นนี้ตลอดไป[587]แต่ระหว่างช่วงเวลาสี่สิบวันที่ทรงดื่มและเสวยพระกระยาหารอย่างเป็นกันเองกับบรรดาศิษย์[588]   สอนพวกเขาเรื่องพระอาณาจักร[589] พระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ยังคงซ่อนอยู่ในรูปร่างของมนุษย์ธรรมดาทั่วไป[590] การสำแดงพระองค์ครั้งสุดท้ายของพระเยซูเจ้าจบสิ้นลงเมื่อสภาพมนุษย์ของพระองค์เข้าไปรับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าอย่างเด็ดขาดโดยมีเมฆเป็นเครื่องหมาย[591] ในสวรรค์[592] ที่พระองค์ประทับเบื้องขวาของพระเจ้านับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา[593] นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงสำแดงองค์โดยวิธีพิเศษเป็นการยกเว้นแก่เปาโล “ผู้เป็นเสมือนเด็กที่คลอดก่อนกำหนด” ด้วย เป็นการแสดงพระองค์ครั้งสุดท้ายและแต่งตั้งเขาให้เป็นอัครสาวก[594]

 660      เราเห็นลักษณะพระสิริรุ่งโรจน์ที่ยังซ่อนเร้นของพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วจากพระวาจาที่ตรัสกับมารีย์ชาวมักดาลาว่า “เรายังไม่ได้ขึ้นไปเฝ้าพระบิดา แต่จงไปหาพี่น้องของเราและบอกเขาว่า เรากำลังขึ้นไปเฝ้าพระบิดาของเราและพระบิดาของท่านทั้งหลาย ไปเฝ้าพระเจ้าของเราและพระเจ้าของท่านทั้งหลาย” (ยน 20:17) ข้อความนี้แสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างพระสิริรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพกับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้าผู้ทรงได้รับศักดิ์ศรียกย่องให้ประทับเบื้องขวาของพระบิดา การเสด็จสู่สวรรค์จึงเป็นทั้งเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์และเหตุการณ์โลกุตระที่หมายถึงการข้ามจากสภาพหนึ่งไปยังอีกสภาพหนึ่งด้วย

 661     ก้าวสุดท้าย(ของพระคริสตเจ้า)นี้จึงสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับก้าวแรก คือการเสด็จลงมาจากสวรรค์ซึ่งสำเร็จเป็นจริงในการรับสภาพมนุษย์ ผู้ที่ “มาจากพระบิดา” เท่านั้น สามารถ “กลับไปเฝ้าพระบิดา” ได้อีก คือพระคริสตเจ้า[595] “ไม่มีใครเคยขึ้นไปบนสวรรค์ นอกจากผู้ที่ลงมาจากสวรรค์ คือบุตรแห่งมนุษย์เท่านั้น” (ยน 3:13)[596] ธรรมชาติมนุษย์ โดยพลังตามธรรมชาติของตนเอง ไม่อาจเข้าถึง “บ้านของพระบิดา”[597]ไม่อาจเข้าถึงชีวิตและความสุขของพระเจ้าได้ พระคริสตเจ้าเท่านั้นอาจเปิดทางเข้านี้ให้แก่มนุษย์ได้ “เมื่อพระองค์ท่านผู้ทรงเป็นศีรษะและบุตรคนแรกเสด็จสู่สวรรค์ ข้าพเจ้าทั้งหลายผู้เป็นส่วนประกอบอื่นๆ แห่งพระวรกาย ก็จะติดตามไปรับความรุ่งเรืองที่นั่นดุจเดียวกัน”[598]

 662     “และเมื่อเราจะถูกยกขึ้นจากแผ่นดิน เราจะดึงดูดทุกคนเข้ามาหาเรา” (ยน 12:32) การที่ทรงถูกยกขึ้นบนไม้กางเขนหมายถึงและบอกล่วงหน้าถึงการเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ ทั้งยังเป็นการเริ่มต้นการเสด็จสู่สวรรค์ด้วย พระเยซูคริสตเจ้า พระสมณะเพียงพระองค์เดียวของพันธสัญญาใหม่นิรันดร “มิได้เสด็จเข้าสู่พระวิหารที่มือมนุษย์สร้าง […] แต่พระองค์เสด็จเข้าสู่สวรรค์เพื่อจะทรงปรากฏอยู่เฉพาะพระพักตร์ของพระเจ้าแทนเรา” (ฮบ 9:24) พระคริสตเจ้าในสวรรค์ทรงปฏิบัติหน้าที่สมณะของพระองค์ตลอดไป “พระองค์ทรงพระชนม์อยู่เป็นนิจเพื่อทูลขอพระกรุณาให้คนทั้งปวงซึ่งเข้ามาถึงพระเจ้าโดยทางพระองค์” (ฮบ 7:25) ในฐานะที่ “ทรงเป็นมหาสมณะผู้นำพระพรต่างๆ ที่พระเจ้าทรงสัญญาจะประทานมาให้” (ฮบ 9:11) พระองค์จึงทรงเป็นศูนย์กลางและประธานผู้ประกอบพิธีกรรมถวายพระเกียรติแด่พระบิดาในสวรรค์[599]

 663     พระคริสตเจ้าจึงประทับเบื้องขวาพระบิดา “สำนวน ‘เบื้องขวาพระบิดา’ หมายถึง  พระเกียรติและพระสิริรุ่งโรจน์แบบพระเจ้าที่พระบุตรทรงมีในฐานะพระบุตรของพระเจ้า ร่วมพระธรรมชาติเดียวกับพระบิดาตั้งแต่นิรันดร และเมื่อทรงรับสภาพมนุษย์แล้ว พระวรกายของพระองค์ก็ทรงพระสิริรุ่งโรจน์เช่นเดียวกันด้วย”[600]

 664     การประทับเบื้องขวาพระบิดาหมายถึงการเริ่มต้นของพระอาณาจักรของพระเมสสิยาห์ พระมหากษัตริย์ เป็นการทำให้คำประกาศพระวาจาของประกาศกดาเนียลเกี่ยวกับ “บุตรแห่งมนุษย์” สำเร็จเป็นความจริง “เขาได้รับมอบอำนาจปกครอง สิริรุ่งโรจน์และอาณาจักร ประชาชนทุกชาติทุกภาษารับใช้เขา อำนาจปกครองของเขาเป็นอำนาจที่คงอยู่ตลอดไปไม่มีวันสิ้นสุด และอาณาจักรของเขาจะไม่มีวันถูกทำลายเลย” (ดนล 7:14) นับตั้งแต่เวลานี้ บรรดาอัครสาวกก็เป็นพยานยืนยันว่า “รัชสมัยของพระองค์จะไม่มีวันสิ้นสุด”[601]

 

สรุป

 665      การที่พระคริสตเจ้าเสด็จสู่สวรรค์หมายถึงการที่มนุษยภาพของพระเยซูเจ้าเข้าไปในอำนาจเขตปกครองของพระเจ้าในสวรรค์และจะเสด็จกลับมาจากที่นั่นอีกครั้งหนึ่ง[602] แต่ในระหว่างนั้นพระองค์ทรงซ่อนองค์จากสายตาของมนุษย์[603]

 666      พระเยซูคริสตเจ้า ซึ่งทรงเป็นเสมือนศีรษะของพระศาสนจักร เสด็จนำหน้าพวกเราเข้าไปในพระอาณาจักรรุ่งโรจน์ของพระบิดา เพื่อว่าพวกเราซึ่งเป็นเสมือนส่วนต่างๆ ของพระวรกาย จะได้ดำเนินชีวิตโดยหวังว่าสักวันหนึ่งจะไปอยู่ร่วมกับพระองค์ตลอดนิรันดร

 667      พระเยซูคริสตเจ้าเสด็จเข้าในสักการสถานสวรรค์ครั้งเดียวตลอดไปแล้ว ทรงอธิษฐานภาวนาโดยไม่หยุดหย่อนในฐานะคนกลางเพื่อประทานพระจิตเจ้าแก่เราอยู่ตลอดเวลา

 

[587] เทียบ ลก 24:31; ยน 20:19,26.

[588] เทียบ กจ 10:41.            

[589] เทียบ กจ 1:3.              

[590] เทียบ มก 16:12; ลก 24:15; ยน 20:14-15; 21:4.

[591] เทียบ กจ 1:9 และ ลก 9:34-35 ด้วย; อพย 13:22.

[592] เทียบ ลก 24:51.           

[593] เทียบ มก 16:19; กจ 2:33; 7:56; และ สดด 110:1 ด้วย.         

[594] เทียบ 1 คร 9:1; กท 1:16.    

[595] เทียบ ยน 16:28.           

[596] เทียบ อฟ 4:8-10.

[597] เทียบ ยน 14:2.             

[598] Praefatio de Ascencione Domini,I: Missale Romanum, editio typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1970) p. 410.        

[599] เทียบ วว 4:6-11.           

[600] Sanctus Ioannes Damascenus, Expositio fidei, 75 [De fide orthodoxa, 4,2]: PTS 12, 173 (PG 94, 1104).             

[601] Cf. Symbolum Nicaenum-Constantinopolitanum: DS 150.        

[602] เทียบ กจ 1:11.             

[603] เทียบ คส 3:3.