ตอนที่หนึ่ง

ศีลล้างบาป

 

1213    ศีลล้างบาปเป็นรากฐานของชีวิตทั้งหมดของคริสตชน เป็นประหนึ่งทางเข้าสู่ชีวิตจิตและประตูเปิดเข้าไปยังศีลศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ศีลล้างบาปทำให้เรารอดพ้นจากบาปและให้กำเนิดเราในฐานะบุตรของพระเจ้า ทำให้เราเป็นส่วนพระวรกายของพระคริสตเจ้า เข้ามาเป็นสมาชิกและมีส่วนร่วมในพันธกิจของพระศาสนจักร[4] “ดังนี้ศีลล้างบาปจึงรับคำนิยามได้อย่างถูกต้องและเหมาะเจาะว่าเป็นศีลแห่งการเกิดใหม่อาศัยน้ำในพระวาจา”[5]

 

[4] Cf Concilium Florentinum, Decretum pro Armenis: DS 1314; CIC canones 204, § 1. 849; CCEO canon 675, § 1.        

[5] Catechismus Romanus 2, 2, 5: ed. P. Rodríguez (Città del Vaticano-Pamplona 1989) p. 179.          

I. ศีลนี้มีชื่อเรียกอย่างไร

I. ศีลนี้มีชื่อเรียกอย่างไร

 1214   ศีลนี้เรียกว่า “ศีลล้าง(บาป)” ตามจารีตพิธีสำคัญ คำภาษากรีก “baptizein” แปลว่า “จุ่ม” “การจุ่มตัว” ลงไปในน้ำหมายถึง “การฝัง” ผู้เตรียมตนเป็นคริสตชนเข้าในการสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้าและการกลับคืนชีพพร้อมกับพระองค์[6] กลับขึ้นมาเป็นเสมือน “สิ่งสร้างใหม่” (2 คร 5:17; กท 6:14)

 1215   ศีลนี้ยังมีชื่ออีกว่า “การชำระล้างที่ทำให้เราเกิดใหม่และได้รับการฟื้นฟูโดยพระจิตเจ้า” (ทต 3:5) เพราะยังหมายถึงและทำให้มีการบังเกิดจากน้ำและพระจิตเจ้า ถ้าไม่มีการบังเกิดใหม่นี้แล้วก็ไม่มีผู้ใด “อาจเข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้าได้” (ยน 3:5)

 1216   “การล้างนี้ยังมีชื่อเรียกอีกว่า ‘การส่องสว่าง’ เพราะผู้ที่เรียนคำสอนได้รับการส่องสว่างในจิตใจ”[7] ผู้รับศีลล้างบาป เมื่อได้รับในศีลล้างบาปพระวจนาตถ์ (หรือ “พระวาจา”) ซึ่งเป็น “แสงสว่างแท้จริงซึ่งส่องสว่างแก่มนุษย์ทุกคน” (ยน 1:9) เมื่อ “ได้รับความสว่าง” แล้ว[8] เขาก็กลับเป็น “บุตรแห่งความสว่าง”[9] และเขาเองก็เป็น “แสงสว่าง” (อฟ 5:8) ด้วย

ศีลล้างบาปเป็น “ของประทานยิ่งใหญ่และงดงามที่สุดของพระเจ้า […] เราเรียกศีลนี้ว่าเป็น ของประทาน พระหรรษทาน ศีลล้างบาป การเจิม การส่องสว่าง อาภรณ์ของความไม่รู้จักเสื่อมสลาย การล้างที่บันดาลให้เกิดใหม่ ตราประทับ และในที่สุดเรียกด้วยนามที่ยอดเยี่ยมที่สุดกว่านามใดๆ คือ ศีลนี้ได้ชื่อว่า ของประทาน เพราะพระเจ้าประทานให้แก่ผู้ที่ไม่เคยนำอะไรมาถวายเลย ได้ชื่อว่า พระหรรษทาน เพราะพระเจ้าประทานให้แม้แก่คนบาป ได้ชื่อว่า ศีลล้างบาป เพราะบาปถูกฝังไว้ในน้ำ ได้ชื่อว่า การเจิม เพราะทำให้ผู้รับศักดิ์สิทธิ์และเป็นกษัตริย์(เหมือนผู้ที่ได้รับการเจิมในอดีต) ได้ชื่อว่า การส่องสว่าง เพราะส่องแสงสว่างเจิดจ้า ได้ชื่อว่า อาภรณ์ เพราะปิดบังความน่าอายของเราไว้ ได้ชื่อว่า การล้าง เพราะชำระล้าง ได้ชื่อว่า ตราประทับ เพราะเป็นการป้องกันและเครื่องหมายของการเป็นเจ้าของ”[10]

 

[6] เทียบ รม 6:3-4; คส 2:12.     

[7] Sanctus Iustinus, Apologia 1, 61: CA 1, 168 (PG 6, 421).         

[8] เทียบ ฮบ 10:32.              

[9] เทียบ 1 ธส 5:5.               

[10] Sanctus Gregorius Nazianzenus, Oratio 40, 3-4: SC 358, 202-204 (PG 36, 361-364).

II. ศีลล้างบาปในแผนการความรอดพ้น

II.  ศีลล้างบาปในแผนการความรอดพ้น

รูปแบบล่วงหน้าของศีลล้างบาปในพันธสัญญาเดิม

1217    เมื่อมีการเสกน้ำศีลล้างบาปในพิธีกรรมตื่นเฝ้าปัสกา พระศาสนจักรระลึกอย่างสง่าถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์แห่งความรอดพ้น เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องหมายล่วงหน้าถึงพระธรรมล้ำลึกแห่งศีลล้างบาป

“ข้าแต่พระเจ้า พระองค์ทรงใช้พระอานุภาพซึ่งไม่ปรากฏแก่ตาทำให้เครื่องหมายของศีลศักดิ์สิทธิ์บังเกิดผลน่าพิศวง และทรงจัดเตรียมน้ำด้วยวิธีหลายประการเพื่อแสดงให้เห็นพระหรรษทานของศีลล้างบาป”[11]

 1218   นับตั้งแต่เริ่มสร้างโลก น้ำ สิ่งสร้างต่ำต้อยและน่าพิศวงนี้ก็เป็นบ่อเกิดของชีวิตและความอุดมสมบูรณ์ พระคัมภีร์มองเห็นน้ำว่ามีพระจิตของพระเจ้า “ปกคลุมอยู่”[12]

“ข้าแต่พระเจ้า พระจิตของพระองค์ประทับอยู่เหนือน้ำเมื่อแรกเริ่มสร้างโลกเพื่อให้น้ำมีพลังบันดาลความศักดิ์สิทธิ์”[13]

 1219   พระศาสนจักรแลเห็นเรือของโนอาห์เป็นภาพล่วงหน้าของความรอดพ้นอาศัยศีลล้างบาป อันที่จริง เรือนี้ช่วย “เพียงแปดชีวิตให้รอดพ้นจากน้ำวินาศ” (1 ปต 3:20)

“พระองค์โปรดให้น้ำวินาศเป็นรูปแบบหมายถึงการบังเกิดใหม่ด้วยศีลล้างบาป ให้น้ำเป็นจุดจบของบาป และเป็นจุดเริ่มต้นของคุณธรรมทั้งปวง”[14]

 1220   ถ้าน้ำจากพุน้ำบนพื้นดินเป็นสัญลักษณ์ของชีวิต น้ำทะเลก็เป็นสัญลักษณ์ของความตาย เพราะเหตุนี้จึงใช้เป็นภาพของพระธรรมล้ำลึกแห่งไม้กางเขนได้ อาศัยสัญลักษณ์นี้ ศีลล้างบาปจึงหมายถึงความสัมพันธ์กับการสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้าด้วย

1221    การเดินทางข้ามทะเลแดงโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นการช่วยชาวอิสราเอลให้พ้นจากการเป็นทาสในอียิปต์ จึงกล่าวล่วงหน้าถึงการช่วยให้รอดพ้นอาศัยศีลล้างบาป

“พระองค์โปรดให้บุตรหลานของอับราฮัมเดินผ่านทะเลแดงบนหนทางแห้ง เพื่อให้ชนชาติที่หลุดพ้นจากการเป็นทาสของกษัตริย์ฟาโรห์เป็นรูปแบบหมายถึงประชากรที่ได้รับศีลล้างบาป”[15]

1222    ในที่สุด ศีลล้างบาปยังได้รับการกล่าวถึงล่วงหน้าในการข้ามแม่น้ำจอร์แดนที่ประชากรของพระเจ้าได้รับแผ่นดินที่พระเจ้าทรงสัญญาจะประทานแก่ลูกหลานของอับราอัม แผ่นดินแห่งพระสัญญานี้เป็นภาพของชีวิตนิรันดร พระสัญญาที่จะประทานความสุขเป็นมรดกนี้สำเร็จเป็นจริงในพันธสัญญาใหม่

 

พิธีล้างของพระคริสตเจ้า

 1223   รูปแบบต่างๆ ที่เป็นการกล่าวล่วงหน้าในพันธสัญญาเดิมสำเร็จเป็นจริงสมบูรณ์ในพระเยซูคริสตเจ้า พระองค์ทรงเริ่มพระชนมชีพเปิดเผยหลังจากเสด็จไปรับพิธีล้างจากนักบุญยอห์นผู้ทำพิธีล้างในแม่น้ำจอร์แดน[16] และหลังจากที่ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว พระองค์ยังทรงมอบพันธกิจนี้แก่บรรดาอัครสาวกว่า “ดังนั้น ท่านทั้งหลายจงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา ทำพิธีล้างบาปให้เขาเดชะพระนามพระบิดา พระบุตรและพระจิต จงสอนเขาให้ปฏิบัติตามคำสั่งทุกข้อที่เราให้แก่ท่าน” (มธ 28:19-20)[17]

 1224   องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทรงสมัครพระทัยรับพิธีล้างของยอห์นผู้ทำพิธีล้างที่กำหนดไว้สำหรับคนบาปเพื่อทรงทำทุกอย่างตามพระประสงค์ของพระเจ้า[18] การกระทำเช่นนี้ของพระเยซูเจ้าเป็นการแสดงถึง “การสละพระองค์จนหมดสิ้น”[19] พระจิตเจ้าซึ่งเคยทรงร่อนอยู่เหนือน้ำเมื่อทรงเนรมิตสร้างโลกตั้งแต่แรกนั้นเสด็จลงมาประทับเหนือพระคริสตเจ้า เป็นการเกริ่นถึงการเนรมิตสร้างครั้งใหม่ และพระบิดาก็ทรงประกาศว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระบุตรของพระองค์[20]

 1225   ในการฉลองปัสกาของพระองค์ พระคริสตเจ้าทรงเปิดธารแห่งศีลล้างบาปแก่มนุษย์ทุกคน อันที่จริง ก่อนที่จะทรงรับทรมานที่กรุงเยรูซาเล็มแล้ว พระองค์ทรงกล่าวถึงพระทรมานนี้ว่าเป็น “พิธีล้าง” ที่จะทรงรับในไม่ช้า[21] พระโลหิตและน้ำที่ออกมาจากด้านข้างพระวรกายที่เปิดอยู่ของพระเยซูเจ้าผู้ทรงถูกตรึงบนไม้กางเขน[22]ก็เป็นรูปแบบของศีลล้างบาปและศีลมหาสนิท ศีลศักดิ์สิทธิ์ที่ประทานชีวิตใหม่ให้เรา[23] หลังจากนี้มนุษย์จึงอาจบังเกิด “จากน้ำและพระจิตเจ้า” เพื่อเข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้าได้ (ยน 3:5)

“เมื่อท่านรับศีลล้างบาป จงดูเถิดว่าศีลล้างบาปนี้มาจากไหนถ้าไม่ใช่จากไม้กางเขนของพระคริสตเจ้า จากการสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้า พระธรรมล้ำลึกทั้งหมดอยู่ที่นั่น เพราะพระองค์ทรงรับทรมานเพื่อท่าน ท่านได้รับการไถ่กู้ในพระองค์ ท่านได้รับความรอดพ้นในพระองค์”[24]

 

ศีลล้างบาปในพระศาสนจักร

 1226   นับตั้งแต่วันเปนเตกอสเตแล้ว พระศาสนจักรประกอบพิธีศีลล้างบาปแก่ผู้รับ ถูกแล้ว  นักบุญเปโตรประกาศแก่ประชาชนที่รู้สึกประทับใจจากการเทศน์สอนของท่านว่า “..จงกลับใจเถิด แต่ละคนจงรับศีลล้างบาปเดชะพระนามของพระเยซูคริสตเจ้าเพื่อจะได้รับการอภัยบาป แล้วท่านจะได้รับพระพรของพระจิตเจ้า” (กจ 2:38) บรรดาอัครสาวกและผู้ร่วมงานประกอบพิธีศีลล้างบาปแก่ใครไม่ว่าที่มีความเชื่อในพระเยซูเจ้า ทั้งชาวยิว ผู้ยำเกรงพระเจ้า และคนต่างศาสนา[25] เราเห็นว่าศีลล้างบาปปรากฏว่าต้องร่วมกับความเชื่อเสมอ นักบุญเปาโลประกาศแก่ผู้คุมคุกที่เมืองฟิลิปปีว่า “จงเชื่อพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าเถิด ท่านและครอบครัวจะได้รอดพ้น” เรื่องยังเล่าต่อไปว่า “ทันทีหลังจากนั้น เขาได้รับศีลล้างบาปพร้อมกับทุกคนในครอบครัว” (กจ 16:31-33)

 1227   นักบุญเปาโลสอนว่า ผู้มีความเชื่อมีส่วนร่วมกับการสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้าโดยทางศีลล้างบาป เขาถูกฝังไว้และกลับคืนชีพพร้อมกับพระองค์

“เราทุกคนที่ได้รับศีลล้างบาปเดชะพระคริสตเยซู ก็ได้รับศีลล้างบาปเข้าร่วมกับการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ด้วย ดังนั้น เราถูกฝังไว้ในความตายพร้อมกับพระองค์อาศัยศีลล้างบาป เพื่อว่า  พระคริสตเจ้า
ทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตายเดชะพระสิริรุ่งโรจน์ของพระบิดาฉันใด เราก็จะดำเนินชีวิตแบบใหม่ด้วยฉันนั้น” (รม 6:3-4)[26]

           ผู้ที่ได้รับศีลล้างบาป “ก็สวมพระคริสตเจ้าไว้”[27]  เดชะพระจิตเจ้า ศีลล้างบาปเป็นการล้างที่ชำระ บันดาลความศักดิ์สิทธิ์และความชอบธรรม[28]

1228    ศีลล้างบาปจึงเป็นการล้างด้วยน้ำซึ่งทำให้พระวาจาของพระเจ้าซึ่งเป็นเสมือน “เมล็ดพันธุ์ที่ไม่มีวันเสื่อมสลายได้” บังเกิดผลนำชีวิตมาให้[29]นักบุญออกัสตินกล่าวถึงศีลล้างบาปไว้ว่า “พระวาจาเข้ามาหาวัตถุธาตุ แล้วศีลศักดิ์สิทธิ์ก็เกิดขึ้น”[30]

 

[11] Vigilia Paschalis, Benedictio aquae: Missale Romanum, editio typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1970) p. 283.

[12]  เทียบ ปฐก 1:2.

[13] Vigilia Paschalis, Benedictio aquae: Missale Romanum, editio typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1970) p. 283.

[14]  Vigilia Paschalis, Benedictio aquae: Missale Romanum, editio typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1970) p. 283.

[15] Vigilia Paschalis, Benedictio aquae: Missale Romanum, editio typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1970) p. 283.

[16] เทียบ มธ 3:13.

[17] เทียบ มก 16:15-16.

[18] เทียบ มธ 3:15.

[19] เทียบ ฟป 2:7.

[20] เทียบ มธ 3:16-17.

[21] เทียบ มก 10:38; ลก 12:50.

[22] เทียบ ยน 19:34.

[23] เทียบ 1 ยน 5:6-8.

[24] Sanctus Ambrosius, De sacramentis, 2, 2, 6: CSEL 73, 27-28 (PL 16, 425-426).

[25] เทียบ กจ 2:41; 8:12-13; 10:48; 16:15.

[26] เทียบ คส 2:12.

[27] เทียบ กท 3:27.

[28] เทียบ 1 คร 6:11; 12:13.

[29] เทียบ 1 ปต 1:23; อฟ 5:26.

[30] Sanctus Augustinus, In Iohannis evangelium tractatus, 80,3: CCL 36, 529 (PL 35, 1840).

III. ประกอบพิธีศีลล้างบาปอย่างไร

III. ประกอบพิธีศีลล้างบาปอย่างไร

พิธีรับคริสตชนใหม่

1229    นับตั้งแต่สมัยอัครสาวกแล้ว ใครคนหนึ่งจะเข้ามาเป็นคริสตชนได้ก็ต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ ของกระบวนการรับผู้ใหญ่เข้าเป็นคริสตชน การเดินทางนี้อาจทำได้โดยรวดเร็วหรืออย่างช้าๆ แต่จะต้องมีองค์ประกอบสำคัญบางประการที่ขาดไม่ได้เสมอ นั่นคือ การประกาศพระวาจา การรับข่าวดีที่นำไปสู่การกลับใจ การประกาศความเชื่อ พิธีล้างบาป การรับพระพรของพระจิตเจ้า และการเข้าไปรับศีลมหาสนิท

 1230   กระบวนการรับผู้ใหญ่เข้าเป็นคริสตชนนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปมากตามโอกาสในช่วงเวลาที่ผ่านมาหลายศตวรรษ ในศตวรรษแรกๆ ของพระศาสนจักร กระบวนการรับผู้ใหญ่เข้าเป็นคริสตชนได้พัฒนาขึ้นอย่างมาก มีช่วงเวลาการเรียนคำสอนที่ยาวนานพร้อมกับจารีตพิธีกรรมเตรียมตัวเป็นระยะๆ ที่หมายความถึงขั้นตอนต่างๆของการเดินทางเตรียมตัวของผู้เรียนคำสอน และนำผู้เรียนคำสอนไปสู่การประกอบพิธีกรรมศีลศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนการรับเข้าเป็นคริสตชน (ศีลล้างบาป ศีลกำลัง และศีลมหาสนิท)

 1231   เมื่อพิธีล้างบาปทารกกลายเป็นรูปแบบปกติของการประกอบพิธีศีลนี้ กระบวนการรับเข้าเป็นคริสตชนจึงกลายเป็นกิจกรรมหนึ่งเดียวที่รวมขั้นตอนต่างๆ ล่วงหน้าเหล่านี้เข้าไว้ด้วยกันแบบรวบรัด โดยธรรมชาติแล้ว ศีลล้างบาป
ทารกเรียกร้องให้มีการเรียนคำสอนหลังจากรับศีลล้างบาปแล้ว การนี้หมายถึงไม่เพียงแต่ความจำเป็นของศึกษาหลังจากรับศีลล้างบาป แต่ยังหมายถึงการอธิบายที่จำเป็นถึงการเจริญเติบโตของพระหรรษทานแห่งศีลล้างบาปในตัวผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้วด้วย การเรียนคำสอนจึงจำเป็นต้องทำที่ตรงนี้

 1232   สภาสังคายนาวาติกันที่ 2 ได้รื้อฟื้น “กระบวนการรับผู้ใหญ่เข้าเป็นคริสตชน ซึ่งแบ่งเป็นหลายขั้นตอน”[31] จารีตพิธีของกระบวนการนี้พบได้ในหนังสือ Ordo initiationis chistianae adultorum  (พิธีการรับผู้ใหญ่เข้าเป็น
คริสตชน) (1972) สภาสังคายนายังอนุญาตให้ “นำองค์ประกอบบางประการที่เป็นประเพณีท้องถิ่นในดินแดน
มิสซัง มาใช้ในกระบวนการรับผู้ใหญ่เข้าเป็นคริสตชน ถ้าปรับให้สอดคล้องกับจารีตพิธีของคริสตชนได้ นอกเหนือจากพิธีเฉพาะที่เคยใช้ตามธรรมประเพณี” ได้ด้วย[32]

 1233   ดังนั้น ทุกวันนี้ในจารีตละตินและจารีตตะวันออกทุกจารีต กระบวนการรับผู้ใหญ่เข้าเป็นคริสตชนจึงเริ่มต้นจากการที่เขาเข้ามาเรียนคำสอน และบรรลุถึงจุดยอดในการประกอบพิธีศีลล้างบาป ศีลกำลังและศีลมหาสนิทเป็นพิธีเดียวกัน[33] ในจารีตตะวันออก กระบวนการรับทารกเข้าเป็นคริสตชนเริ่มจากศีลล้างบาปที่ศีลกำลังและศีลมหาสนิทตามมาทันที ส่วนในจารีตโรมัน กระบวนการนี้ยังดำเนินต่อไปโดยการเรียนคำสอนเป็นเวลาหลายปีเพื่อจะจบลงในภายหลังโดยการรับศีลกำลังและศีลมหาสนิทซึ่งเป็นจุดยอดของกระบวนการรับเข้าเป็นคริสตชนของเขา[34]

 

การอธิบายความหมายขั้นตอนต่างๆ ของพิธีกรรม

1234    ความหมายและพระหรรษทานของศีลล้างบาปปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในจารีตของการประกอบพิธีศีลนี้ บรรดาผู้มีความเชื่อที่ตั้งใจร่วมติดตามการกระทำและถ้อยคำของการประกอบพิธีก็จะเข้าถึงขุมทรัพย์ที่ศีลนี้แสดงถึงและมอบให้แก่คริสตชนใหม่แต่ละคนที่เพิ่งรับศีลล้างบาป

 1235   เครื่องหมายกางเขน เมื่อเริ่มพิธี เป็นการประทับตราของพระคริสตเจ้าบนผู้นั้นซึ่งในไม่ช้าจะเป็นของพระองค์ และยังหมายถึงพระหรรษทานของการไถ่กู้ที่พระคริสตเจ้าทรงได้มาสำหรับเราผ่านทางไม้กางเขนของพระองค์

 1236   การประกาศพระวาจาของพระเจ้าเปิดเผยความจริงที่พระเจ้าทรงเผยแสดงให้แก่ผู้สมัครรับศีลล้างบาปและผู้ร่วมพิธีและยังปลุกให้มีความเชื่อเป็นการตอบสนองด้วย การตอบสนองนี้แยกกันไม่ได้จากศีลล้างบาป ศีลล้างบาปเป็น “ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งความเชื่อ” อย่างพิเศษ เพราะเป็นเสมือนประตูนำเข้าไปสู่ชีวิตแห่งความเชื่อ

 1237   เนื่องจากว่าศีลล้างบาปหมายถึงการช่วยให้รอดพ้นจากบาปและจากปีศาจ ผู้เสี้ยมสอนให้ทำบาป จึงมีการกล่าวถ้อยคำขับไล่ปีศาจครั้งหนึ่งหรือหลายครั้งเหนือผู้สมัครรับศีลล้างบาป เขารับเจิมด้วยน้ำมันสำหรับผู้เตรียมตัวรับศีลล้างบาป หรือผู้ประกอบพิธีปกมือเหนือเขา และเขาเองก็ประกาศละทิ้งปีศาจอย่างชัดเจน เมื่อได้เตรียมตัวเช่นนี้แล้ว เขาจึงประกาศความเชื่อของพระศาสนจักรที่เขา “จะเข้าไปรับมอบไว้” อาศัยศีลล้างบาป[35]

 1238   ต่อจากนั้นมีการเสกน้ำศีลล้างบาปด้วยบทภาวนาอัญเชิญพระจิตเจ้า(ในขณะนั้นเองหรือในพิธีตื่นเฝ้าปัสกา) พระศาสนจักรทูลวอนขอจากพระเจ้าให้พระอานุภาพของพระจิตเจ้าลงมาเหนือน้ำนี้เดชะพระบุตร เพื่อว่าผู้ที่จะรับศีลล้างบาปในน้ำนี้จะได้เกิด “จากน้ำและพระจิตเจ้า” (ยน 3:5)

 1239   แล้วจารีตพิธีสำคัญที่สุดก็ตามมา คือการจุ่มตัวลงไปในน้ำจริงๆ ซึ่งหมายถึงความตายต่อบาปและการเข้าไปในชีวิตของพระตรีเอกภาพผ่านการเข้าร่วมกับพระธรรมล้ำลึกปัสกาของพระคริสตเจ้า พิธีศีลล้างบาปอย่างมีความหมายที่สุดประกอบด้วยการจุ่มตัวลงไปในน้ำ ศีลล้างบาปสามครั้ง  แต่ทว่าตั้งแต่โบราณแล้วศีลล้างบาปอาจรับได้โดยการเทน้ำสามครั้งบนศีรษะของผู้สมัครรับศีลล้างบาป

1240    ในพระศาสนจักรละติน ถ้อยคำต่อไปนี้ของศาสนบริกรควบคู่ไปกับการจุ่มตัวทั้งสามครั้งนี้ คือ “น....ข้าพเจ้าล้างท่านเดชะพระนามพระบิดา และพระบุตร และพระจิต” ส่วนในจารีตตะวันออก พระสงฆ์กล่าวแก่ผู้เตรียมตัวรับศีลล้างบาปที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออกว่า “น....ผู้รับใช้พระเจ้า รับศีลล้างบาปเดชะพระนามพระบิดา และพระบุตร และพระจิต” และเมื่อออกพระนามของพระตรีเอกภาพแต่ละพระบุคคล เขาก็จุ่มตัวผู้รับศีลฯ ลงไปในน้ำและพยุงเขาขึ้นมาจากน้ำ

 1241   การเจิมน้ำมันคริสมา น้ำมันหอมที่พระสังฆราชเสกแล้ว หมายถึงพระพรของพระจิตเจ้าที่ผู้เพิ่งรับศีลล้างบาปได้รับ เขาเป็นคริสตชน นั่นคือ “ผู้ได้รับเจิม” จากพระจิตเจ้า ร่วมเข้าเป็นกายเดียวกันกับพระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นสมณะ ประกาศก และกษัตริย์[36]

 1242   ในพิธีกรรมของพระศาสนจักรจารีตตะวันออก การเจิมหลังจากพิธีล้างนี้เป็นศีลของการเจิมน้ำมันคริสมา (Chrismatio, Confirmatio) ในพิธีกรรมจารีตโรมัน การเจิมนี้แจ้งล่วงหน้าถึงการเจิมน้ำมันคริสมาอีกครั้งหนึ่งที่พระสังฆราชจะเจิมในภายหลัง – เป็นศีลของการรับรอง (confirmation) ที่คล้ายกับว่า “รับรอง” และทำให้การเจิมในศีลล้างบาปสมบูรณ์

 1243   เสื้อขาว เป็นสัญลักษณ์บอกให้รู้ว่าผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้วได้สวมพระคริสตเจ้าไว้[37] และได้กลับคืนชีพพร้อมกับพระคริสตเจ้าแล้ว เทียนที่จุดมาจากเทียนปัสกาหมายความว่า พระคริสตเจ้าได้ทรงส่องสว่างผู้รับศีลล้างบาปใหม่แล้ว ในพระคริสตเจ้า ผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้วก็เป็น “แสงสว่างส่องโลก” (มธ 5:14)[38]

           ผู้ที่เพิ่งรับศีลล้างบาปใหม่ๆ เป็นบุตรของพระเจ้าในองค์พระบุตรเพียงพระองค์เดียว เขาอาจกล่าวบทภาวนาของบรรดาบุตรของพระเจ้าได้ คือ บท “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย”

 1244   การรับศีลมหาสนิทครั้งแรก คริสตชนใหม่ซึ่งเป็นบุตรของพระเจ้าแล้วและสวมเสื้อสำหรับงานมงคลสมรสได้รับอนุญาตให้เข้าไปใน “การเลี้ยงงานสมรสของลูกแกะ” และรับอาหารเลี้ยงชีวิตใหม่ คือพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า บรรดาพระศาสนจักรจารีตตะวันออกยังคงรักษาความสำนึกอย่างชัดเจนถึงเอกภาพของกระบวนการรับคริสตชนใหม่ จึงให้ศีลมหาสนิทแก่ทุกคนที่เพิ่งรับศีลล้างบาปและศีลกำลัง รวมทั้งเด็กทารกด้วย โดยระลึกถึงพระวาจาขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่ว่า “ปล่อยให้เด็กเล็กๆ มาหาเราเถิด อย่าห้ามเลย” (มก 10:14) พระศาสนจักรละตินซึ่งสงวนการรับศีลมหาสนิทไว้สำหรับผู้ถึงอายุรู้ความแล้วเท่านั้นก็ยังแสดงให้เห็นว่าศีลล้างบาปนำไปหาศีลมหาสนิทโดยให้นำทารกที่เพิ่งรับศีลล้างบาปเข้าไปที่พระแท่นบูชาเพื่อสวดภาวนาบท “ข้าแต่พระบิดา”

1245    การอวยพรอย่างสง่า ปิดพิธีศีลล้างบาป ถ้าเป็นพิธีศีลล้างบาปของทารกที่เพิ่งเกิด พิธีอวยพรมารดาของเด็กมีความสำคัญเป็นพิเศษ

 

[31] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 64: AAS 56 (1964) 117.

[32] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 65: AAS 56 (1964) 117; cf Ibid., 37-40: AAS 56 (1964) 110-111.

[33] Cf Concilium Vaticanum II, Decr. Ad gentes, 14: AAS 58 (1966) 963; CIC canones 851. 865-866.

[34] Cf CIC canones 851, 2. 868.

[35] เทียบ รม 6:17.

[36] Cf Ordo Baptismi parvulorum, 62 (Typis Polyglottis Vaticanis 1969) p. 32.        

[37] เทียบ กท 3:27.

[38] เทียบ ฟป 2:15.

IV. ใครรับศีลล้างบาปได้

IV. ใครรับศีลล้างบาปได้

1246    “มนุษย์ทุกคน และมนุษย์ที่ยังไม่ได้รับศีลล้างบาปเท่านั้น รับศีลล้างบาปได้”[39]

 

ศีลล้างบาปของผู้ใหญ่

1247    นับตั้งแต่จุดเริ่มของพระศาสนจักรแล้ว การล้างบาปของผู้ใหญ่เป็นแนวทางปฏิบัติตามปกติทั่วไปในที่ที่เพิ่งมีการประกาศพระวรสาร การสอนคำสอนเตรียมตัวผู้สมัครรับศีลล้างบาปจึงมีความสำคัญมาก เนื่องจากกิจกรรมนี้เป็นกระบวนการนำไปสู่ความเชื่อและชีวิตคริสตชนต้องจัดเตรียมผู้สมัครเพื่อรับพระพรของพระเจ้าในศีลล้างบาป ศีลกำลัง และศีลมหาสนิท

 1248   จุดประสงค์ของการสอนคำสอนหรือการอบรมผู้สมัครเป็นคริสตชนก็คือการช่วยให้ผู้ที่เริ่มตอบสนองการริเริ่มจากพระเจ้าและเข้ามามีความสัมพันธ์กับชุมชนพระศาสนจักรแห่งหนึ่งบ้างแล้วนั้น ทำให้การกลับใจและความเชื่อของตนได้บรรลุถึงความสมบูรณ์ การสอนคำสอนต้องเป็นการอบรมเกี่ยวกับ “ทุกเรื่องในชีวิตคริสตชน” ทำให้ “บรรดาศิษย์มีความสัมพันธ์กับพระคริสตเจ้า พระอาจารย์ของตน ดังนั้น ผู้ที่เรียนคำสอนจึงต้องรับคำแนะนำให้เข้ามารู้จักพระธรรมล้ำลึกเรื่องความรอดพ้น การปฏิบัติคุณธรรมตามคำสอนของพระวรสารและจารีตพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ที่ประกอบตามขั้นตอนเป็นระยะ เพื่อจะได้นำเขาเข้ามาในชีวิตแห่งความเชื่อ พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ และความรักของประชากรของพระเจ้า”[40]

 1249.  ผู้สมัครเรียนคำสอน (หรือ “คริสตชนสำรอง”) “มีความสัมพันธ์รวมกับพระศาสนจักรแล้ว เขาเป็นสมาชิกในบ้านของพระคริสตเจ้าและบ่อยครั้งยังมีชีวิตความเชื่อ ความหวัง และความรักบ้างแล้วด้วย”[41] “พระศาสนจักรมารดาเอาใจใส่ดูแลสวมกอดพวกเขาไว้แล้วด้วยความรัก”[42]

 

ศีลล้างบาปของทารก

 1250   บรรดาเด็กทารกก็เกิดมาพร้อมกับธรรมชาติที่ตกในบาปและมีมลทินของบาปกำเนิด เขาจึงจำเป็นต้องเกิดใหม่ในศีลล้างบาปด้วย[43] เพื่อจะได้พ้นจากอำนาจความมืดมนและถูกนำไปสู่พระอาณาจักรแห่งอิสรภาพของบรรดาบุตรของพระเจ้า[44] ซึ่งมนุษย์ทุกคนได้รับเรียกให้เข้ามา ศีลล้างบาปของทารกแสดงให้เราเห็นชัดเจนเป็นพิเศษว่าพระเจ้าประทานความรอดพ้นให้เปล่าๆโดยไม่ต้องมีสิ่งแลกเปลี่ยนอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้น พระศาสนจักรและบิดามารดาอาจทำให้ทารกไม่ได้รับพระหรรษทานที่ทำให้เขากลายเป็นบุตรของพระเจ้าได้ ถ้าเขาไม่รีบประกอบพิธีศีลล้างบาปให้ทารกไม่นานหลังจากเกิดแล้ว[45]

1251    บิดามารดาคริสตชนควรจะรับรู้ว่าการปฏิบัติเช่นนี้ยังสอดคล้องกับบทบาทของผู้เลี้ยงดูชีวิตที่พระเจ้าทรงฝากมอบไว้กับตน[46]

1252    ธรรมเนียมการล้างบาปเด็กทารกเป็นธรรมประเพณีของพระศาสนจักรมาตั้งแต่โบราณแล้ว หลักฐานชัดเจนเรื่องนี้มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 2 ถึงกระนั้นยังเป็นไปได้ด้วยที่ตั้งแต่เมื่อบรรดาอัครสาวกเริ่มเทศน์สอน เมื่อ
“ทุกคนในครอบครัว” ได้รับศีลล้างบาป[47] ก็มีการล้างบาปเด็กทารกด้วย[48]

 

ความเชื่อและศีลล้างบาป

 1253   ศีลล้างบาปเป็นศีลแห่งความเชื่อ[49] แต่ความเชื่อเรียกร้องให้มีชุมชน ผู้มีความเชื่อในพระคริสตเจ้าแต่ละคนมีความเชื่อได้ก็ในความเชื่อของพระศาสนจักรเท่านั้น ความเชื่อที่จำเป็นสำหรับศีลล้างบาปไม่ใช่ความเชื่อที่สมบูรณ์และเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว แต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ถูกเรียกมาเพื่อพัฒนาตนให้เติบโตขึ้น (ในพิธีรับศีลล้างบาป) พระสงฆ์ผู้ประกอบพิธีถามผู้สมัครรับศีลหรือพ่อแม่อุปถัมภ์ว่า “ท่านขออะไรจากพระศาสนจักรของพระเจ้า” และเขาตอบว่า “ขอความเชื่อ”

 1254   ความเชื่อในทุกคนที่รับศีลล้างบาปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเด็กทารกหรือผู้ใหญ่ ต้องเติบโตขึ้นหลังจากรับศีลล้างบาป เพราะเหตุนี้ ทุกปีในพิธีตื่นเฝ้าปัสกา พระศาสนจักรจึงมีพิธีรื้อฟื้นคำสัญญาศีลล้างบาปการเตรียมตัวรับศีลล้างบาปเพียงแต่นำมาถึงธรณีของชีวิตใหม่เท่านั้น ศีลล้างบาปเป็นต้นธารของชีวิตใหม่ในพระคริสตเจ้าซึ่งชีวิตคริสตชนทั้งหมดหลั่งไหลออกมาจากพระองค์

 1255   ความช่วยเหลือของบิดามารดามีความสำคัญมาก เพื่อให้พระหรรษทานแห่งศีลล้างบาปพัฒนาขึ้นได้ ในเรื่องนี้ บิดามารดาอุปถัมภ์ก็มีบทบาทด้วย เขาต้องเป็นผู้มีความเชื่อเข้มแข็ง เหมาะสมและพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้ที่เพิ่งรับศีลล้างบาปในการเดินทางแห่งชีวิตคริสตชน[50] บทบาทของพ่อแม่อุปถัมภ์เป็นหน้าที่แท้จริงในพระศาสนจักร[51] ชุมชนพระศาสนจักรท้องถิ่นทั้งชุมชนมีส่วนรับผิดชอบในการอธิบายและรักษาพระหรรษทานที่ได้รับจากศีลล้างบาป

 

[39] CIC canon 864; cf CCEO canon 679.

[40] Concilium Vaticanum II, Decr. Ad gentes, 14: AAS 58 (1966) 962-963; cf Ordo initiationis christianae adultorum, Praenotanda 19 (Typis Polyglottis Vaticanis 1972) p. 11; Ibid., De tempore catechumenatus eiusque ritibus 98, p. 36.

[41] Concilium Vaticanum II, Decr. Ad gentes, 14: AAS 58 (1966) 963.

[42] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 14: AAS 57 (1965) 19; cf CIC canones 206. 788.

[43] Cf Concilium Tridentinum, Sess. 5a, Decretum de peccato originali, canon 4: DS 1514.

[44] เทียบ คส 1:12-14.           

[45] Cf CIC canon 867; CCEO canon 686, § 1.     

[46] Cf Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 11: AAS 57 (1965) 15-16; Ibid., 41: AAS 57 (1965) 47; Id., Const. past. Gaudium et spes, 48: AAS 58 (1966) 1067-1069; CIC canones 774, § 2. 1136.           

[47] เทียบ กจ 16:15,33; 18:8; 1 คร 1:16.

[48] Cf Sacra Congregatio pro Doctrina Fidei, Instr. Pastoralis actio, 4: AAS 72 (1980) 1139.

[49] เทียบ มก 16:16.

[50] Cf CIC canones 872-874.

[51] Cf Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 67: AAS 56 (1964) 118.

V. ใครอาจประกอบพิธีศีลล้างบาปได้

V. ใครอาจประกอบพิธีศีลล้างบาปได้

 1256 ศาสนบริกรผู้ประกอบพิธีศีลล้างบาปตามปกติคือพระสังฆราช พระสงฆ์ และในพระศาสนจักรละติน แม้สังฆานุกรด้วย[52] ในกรณีจำเป็น ทุกคน แม้แต่ผู้ที่ยังไม่ได้รับศีลล้างบาปด้วย ถ้ามีเจตนาตามที่กำหนดไว้ ก็อาจประกอบพิธีศีลล้างบาปได้[53]โดยใช้สูตรเรียกขานพระตรีเอกภาพ เจตนาที่จำเป็นต้องมีก็คือความปรารถนาที่จะทำสิ่งที่พระศาสนจักรทำเมื่อประกอบพิธีล้างบาป พระศาสนจักรพบเหตุผลของการทำเช่นนี้ได้ในพระประสงค์ของพระเจ้าที่ทรงประสงค์ให้ทุกคนได้รอดพ้น[54] และในความจำเป็นของศีลล้างบาปเพื่อจะรอดพ้นได้[55]

 

[52] Cf CIC canon 861, § 1; CCEO canon 677, § 1.

[53] Cf CIC canon 861, § 2.      

[54] เทียบ 1 ทธ 2:4.             

[55] เทียบ มก 16:16.

VI. ความจำเป็นของศีลล้างบาป

VI. ความจำเป็นของศีลล้างบาป

 1257   องค์พระผู้เป็นเจ้าเองทรงยืนยันว่าศีลล้างบาปจำเป็นสำหรับความรอดพ้น[56] พระองค์ยังประทานพระบัญชาให้บรรดาศิษย์ไปประกาศข่าวดีและล้างบาปแก่ชนทุกชาติ[57] ศีลล้างบาปจำเป็นสำหรับผู้ที่ได้รับฟังการประกาศพระวรสารแล้วและมีโอกาสที่จะขอรับศีลนี้[58] พระศาสนจักรไม่รู้จักวิธีการอื่นเพื่อจะเข้าไปรับความสุขนิรันดรได้อย่างมั่นใจนอกจากโดยศีลล้างบาป ดังนั้น พระศาสนจักรจึงระวังที่จะไม่ละเลยพันธกิจที่ได้รับมาจากองค์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อทำให้ทุกคนที่อาจรับศีลล้างบาปได้เกิดใหม่ “จากน้ำและพระจิตเจ้า” พระเจ้าทรงผูกมัดความรอดพ้นไว้กับศีลล้างบาป แต่พระองค์ไม่ทรงถูกผูกมัดโดยศีลศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์

 1258   นับตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว พระศาสนจักรมีความเชื่อมั่นว่าผู้ที่ถูกฆ่าตายเพราะความเชื่อโดยที่ยังไม่ได้รับศีลล้างบาป ก็ได้รับศีลล้างบาปด้วยความตายของตนเพื่อพระคริสตเจ้า การล้างบาปด้วยโลหิตเช่นนี้เป็นเสมือนความปรารถนาที่จะรับศีลล้างบาป ให้ผลของศีลล้างบาปทั้งๆ ที่ไม่ใช่ศีลล้างบาปจริงๆ

 1259   สำหรับคริสตชนสำรอง (ผู้เรียนคำสอนเตรียมตัวรับศีลล้างบาป) ที่สิ้นชีวิตก่อนจะรับศีลล้างบาป ความปรารถนาชัดเจนของเขาที่จะรับศีลนี้พร้อมกับการเป็นทุกข์กลับใจจากบาปของตน รวมทั้งความรัก นำความรอดพ้นที่เขาไม่อาจรับโดยศีลศักดิ์สิทธิ์มาให้เขา

 1260   “เนื่องจากว่าพระคริสตเจ้าทรงสิ้นพระชนม์เพื่อทุกคน และมนุษย์ทุกคนได้รับเรียกไปสู่จุดหมายสุดท้ายเดียวกัน นั่นคือไปพบพระเจ้า เราจึงต้องคิดว่าพระจิตเจ้าประทานโอกาสให้ทุกคนที่เพิ่งมารู้จักพระเจ้าได้เข้ามาร่วมมีส่วนพระธรรมล้ำลึกปัสกานี้ด้วย”[59] มนุษย์คนใดไม่ว่าที่ไม่รู้จักข่าวดีของพระคริสตเจ้าและพระศาสนจักรของพระองค์ แต่ก็ยังแสวงหาความจริงและปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้าตามความรู้ของตนก็อาจรับความรอดพ้นได้ด้วย เราอาจกล่าวได้ว่าบุคคลเช่นนี้คงจะปรารถนารับศีลล้างบาปอย่างเปิดเผย ถ้าได้รู้ว่าจำเป็นต้องรับศีลนี้

 1261   เกี่ยวกับเด็กทารกที่ตายไปโดยไม่ได้รับศีลล้างบาป พระศาสนจักรไม่อาจทำอะไรได้นอกจากฝากเขาไว้กับพระกรุณาของพระเจ้าเหมือนกับที่ปฏิบัติในพิธีฝังศพสำหรับเด็กเหล่านี้ อันที่จริง พระกรุณายิ่งใหญ่ของพระเจ้า “ผู้มีพระประสงค์ให้ทุกคนได้รับความรอดพ้น” (1 ทธ 2:4) และพระทัยอ่อนโยนของพระเยซูเจ้าต่อเด็กๆ เมื่อตรัสว่า “ปล่อยให้เด็กเล็กๆ มาหาเราเถิด อย่าห้ามเลย” (มก 10:14) ทำให้เราหวังได้ว่ามีหนทางความรอดพ้นสำหรับเด็กทารกที่ตายไปโดยยังไม่ได้รับศีลล้างบาป ยิ่งกว่านั้น พระศาสนจักรยังเตือนอย่างแข็งขันยิ่งขึ้นไม่ให้ขัดขวางเด็กทารกเข้ามาหาพระคริสตเจ้าอาศัยพระพรแห่งศีลล้างบาป

 

[56] เทียบ ยน 3:5.

[57] เทียบ มธ 28:20. Cf Concilium Tridentinum, Sess. 7a, Decretum de sacramentis, Canones de sacramento Baptismi, canon 5: DS 1618; Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 14: AAS 57 (1965) 18; Id., Decr. Ad gentes, 5: AAS 58 (1966) 951-952.

[58] เทียบ มก 16:16.             

[59] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 22: AAS 58 (1966) 1043; cf Id., Const. dogm. Lumen gentium, 16: AAS 57 (1965) 20; Id., Decr. Ad gentes, 7: AAS 58 (1966) 955.

VII. พระหรรษทานของศีลล้างบาป

VII. พระหรรษทานของศีลล้างบาป

 1262   เราเข้าใจผลต่างๆ ของศีลล้างบาปได้จากองค์ประกอบต่างๆ ที่สัมผัสได้ของจารีตพิธีศีลล้างบาปการจุ่มตัวลงไปในน้ำเป็นสัญลักษณ์หมายถึงความตายและการชำระ แต่ยังเป็นสัญลักษณ์หมายถึงการเกิดใหม่และการฟื้นฟูอีกด้วย ดังนั้น ผลสำคัญสองประการของศีลล้างบาปจึงได้แก่การชำระบาปและการเกิดใหม่ในพระจิตเจ้า[60]

 

เพื่ออภัยบาป......

 1263   อาศัยศีลล้างบาป บาปทุกประการได้รับอภัย คือ บาปกำเนิด และบาปทุกประการที่แต่ละคนได้ทำ โทษทุกประการของบาปก็ได้รับอภัยด้วย[61] อันที่จริงในผู้ที่ได้เกิดใหม่(ด้วยศีลล้างบาป)แล้ว ก็ไม่เหลือสิ่งใดที่เป็นอุปสรรคไม่ให้เขาเข้าในพระอาณาจักรของพระเจ้าได้ ทั้งบาปของอาดัม ทั้งบาปส่วนตัวของเขา รวมทั้งผลต่างๆ ของบาปด้วย ผลร้ายแรงที่สุดของบาปก็คือการแยกจากพระเจ้า

 1264   ถึงกระนั้น ผลตามมาในโลกนี้ของบาปยังคงเหลืออยู่ในผู้ที่ได้รับศีลล้างบาปแล้ว เช่น ความทุกข์โรคภัยไข้เจ็บ ความตาย หรือความเปราะบางของชีวิตมนุษย์ เช่น การมีนิสัยอ่อนแอ ฯลฯ หรือความโน้มเอียงไปหาบาปที่เรียกว่า “กิเลส ตัณหา ความใคร่ หรือที่เคยเรียกกันมาแบบเปรียบเทียบว่า “เชื้อ(เพลิง)ของบาป แม้ว่า “กิเลสตัณหาเหล่านี้ถูกทิ้งไว้เพื่อให้เราต่อสู้กับมัน มันก็ไม่อาจทำร้ายเราได้ถ้าเราไม่ยินยอม และต่อสู้กับมันอย่างกล้าหาญอาศัยพระหรรษทานของ พระคริสตเจ้า ยิ่งกว่านั้น ‘ผู้ที่ได้แข่งขันตามกติกาก็จะได้ชัยชนะ’ (2 ทธ 2:5)”[62]

 

สิ่งสร้างใหม่

 1265   ศีลล้างบาปนอกจากชำระให้พ้นจากบาปทุกประการแล้ว ยังทำให้ผู้ที่เพิ่งรับศีลล้างบาปเป็น “สิ่งสร้างใหม่”[63] เป็นบุตรบุญธรรมของพระเจ้า[64] ซึ่งมาเป็นผู้ “มีส่วนร่วมในพระธรรมชาติของพระเจ้า”[65] เป็นส่วนพระวรกายของพระคริสตเจ้า[66] เป็นทายาทร่วมกับพระองค์[67] เป็นพระวิหารของพระจิตเจ้า[68]

 1266   พระตรีเอกภาพประทานพระหรรษทานศักดิ์สิทธิกร พระหรรษทานซึ่งบันดาลความชอบธรรมให้แก่ผู้ที่รับศีลล้างบาป

    - พระหรรษทานนี้บันดาลให้เขาเชื่อในพระเจ้า มีความหวังในพระองค์ และรักพระองค์ได้โดยมีคุณธรรมที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้า (Theological virtues)

     - ประทานพลังให้เขาสามารถดำเนินชีวิตและปฏิบัติงานได้ตามการดลใจของพระจิตเจ้าอาศัยพระพรที่พระจิตเจ้าประทานให้ (gifts of the Holy Spirit)

     - ประทานโอกาสให้เขาเติบโตขึ้นในความดีโดยมีคุณธรรมด้านความประพฤติ (moral virtues)องค์ประกอบชีวิตเหนือธรรมชาติทั้งหมดของคริสตชนจึงมีรากฐานอยู่ที่ศีลล้างบาป

 

คริสตชนร่วมเป็นส่วนพระวรกายของพระคริสตเจ้า คือพระศาสนจักร

 1267   ศีลล้างบาปทำให้เราเป็นส่วนพระวรกายของพระคริสตเจ้า “ดังนั้น....เราจึงต่างเป็นเสมือนอวัยวะของกันและกัน” (อฟ 4:25) ศีลล้างบาปทำให้เราเข้าเป็นส่วนของพระศาสนจักร จากอ่างล้างบาปในที่ต่างๆ ประชากรหนึ่งเดียวของพันธสัญญาใหม่ถือกำเนิดขึ้นมา อยู่เหนือขอบเขตทุกอย่างตามธรรมชาติหรือที่มนุษย์สมมุติขึ้นในด้านเชื้อชาติ วัฒนธรรม ชาติตระกูล หรือเพศ “เดชะพระจิตเจ้าองค์เดียว เราทุกคนได้รับการล้างมารวมเข้าเป็นร่างกายเดียวกัน” (1 คร 12:13)

 1268   บรรดาผู้รับศีลล้างบาปเป็นเหมือน “ศิลาที่มีชีวิต” กำลังก่อสร้างขึ้น “เป็นวิหารของพระจิตเจ้าเป็นสมณตระกูลศักดิ์สิทธิ์” (1 ปต 2:5) โดยศีลล้างบาป เขาเหล่านี้มีส่วนในสมณภาพของพระคริสตเจ้า พันธกิจประกาศกและกษัตริย์ของพระองค์ เขาเป็น “ชาติที่ทรงเลือกสรรไว้ เป็นสมณราชตระกูล เป็นชนชาติศักดิ์สิทธิ์ เป็นประชากรที่เป็นกรรมสิทธิ์พิเศษของพระเจ้า เพื่อจะประกาศพระฤทธานุภาพของพระองค์ผู้ทรงเรียกท่านจากความมืดมาสู่ความสว่างน่าพิศวงของพระองค์” (1 ปต 2:9) ศีลล้างบาปประทานให้เรามีส่วนร่วมสมณภาพสามัญของบรรดาผู้มีความเชื่อ

1269    ผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้วเป็นสมาชิกของพระศาสนจักร จึงไม่เป็นของตนเองอีกต่อไป[69] แต่มีชีวิตอยู่เพื่อพระองค์ผู้ได้สิ้นพระชนม์และทรงกลับคืนพระชนมชีพเพื่อเรา[70] ตั้งแต่นี้ไป เขาจึงได้รับเรียกมาเพื่ออยู่ใต้อำนาจของผู้อื่น[71] รับใช้เขา[72]ในความสนิทสัมพันธ์ของพระศาสนจักรและเพื่อ “เชื่อฟังและอยู่ใต้อำนาจ” ของผู้ปกครองพระศาสนจักร[73] ให้ความเคารพและความรักแก่ท่านเหล่านี้[74] ศีลล้างบาปเป็นบ่อเกิดความรับผิดชอบและหน้าที่ฉันใด ผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้วย่อมมีสิทธิต่างๆ ในพระศาสนจักรด้วยฉันนั้น คือสิทธิที่จะรับศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ สิทธิที่จะรับพระวาจาของพระเจ้าเป็นอาหารเลี้ยงชีวิตและรับความช่วยเหลือฝ่ายจิตอื่นๆ จากพระศาสนจักร[75]

1270    บรรดาผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้ว “ได้เกิดใหม่(อาศัยศีลล้างบาป)เป็นบุตรของพระเจ้าแล้ว จึงมีหน้าที่ประกาศความเชื่อที่ได้รับมาจากพระเจ้าผ่านทางพระศาสนจักรต่อเพื่อนมนุษย์”[76] และต้องมีส่วนร่วมกิจกรรมแพร่ธรรมประกาศความเชื่อของประชากรของพระเจ้าด้วย[77]

 

สายสัมพันธ์จากศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งเอกภาพของบรรดาคริสตชน

1271    ศีลล้างบาปเป็นรากฐานของความสนิทสัมพันธ์ระหว่างคริสตชนทุกคน รวมไปถึงผู้ที่ยังไม่มีความสัมพันธ์โดยสมบูรณ์กับพระศาสนจักรคาทอลิกด้วย “คนเหล่านี้ที่มีความเชื่อในพระคริสตเจ้าและได้รับศีลล้างบาปแล้วก็นับว่ามีความสัมพันธ์อยู่บ้างกับพระศาสนจักรคาทอลิก แม้ความสัมพันธ์นี้ยังไม่สมบูรณ์ก็ตาม […] เขาเหล่านี้ได้รับความชอบธรรมอาศัยความเชื่อเมื่อรับศีลล้างบาป ได้ร่วมเข้าเป็นพระวรกายเดียวกันกับพระคริสตเจ้า ดังนั้นเขาจึงมีสิทธิได้รับนามคริสตชนและรับการยอมรับอย่างสมเหตุผลจากบรรดาบุตรของพระศาสนจักรคาทอลิกว่าเป็นพี่น้องกับตนในองค์พระผู้เป็นเจ้า”[78] “ศีลล้างบาปจึงนับได้ว่าเป็นสายสัมพันธ์จากศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งเอกภาพซึ่งมีอยู่ระหว่างทุกคนที่ได้เกิดใหม่อาศัยศีลล้างบาปนี้”[79]

 

เครื่องหมายด้านจิตที่ลบไม่ได้

1272    ผู้ได้รับศีลล้างบาปแล้วร่วมเป็นพระวรกายเดียวกับพระคริสตเจ้าอาศัยศีลล้างบาป ยังเป็นภาพลักษณ์ของพระองค์ด้วย[80] ศีลล้างบาปประทับตราด้านจิตที่ลบไม่ได้ให้คริสตชน (ตราประทับ) มีความหมายว่าเขาเป็นของพระคริสตเจ้า ตราประทับนี้ไม่มีบาปใดจะลบได้ แม้ว่าบาปย่อมขัดขวางมิให้ศีลล้างบาปนำผลเป็นความรอดพ้นมาให้[81] ศีลล้างบาป เมื่อรับไปครั้งหนึ่งก็พอแล้ว ไม่อาจรับซ้ำอีกได้

1273    ผู้มีความเชื่อที่เข้ามาร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระศาสนจักรอาศัยศีลล้างบาปแล้ว ได้รับตราของศีลศักดิ์สิทธิ์ที่มอบถวายเขาเพื่อคารวกิจแบบคริสตศาสนา[82]  ตราประทับศีลศักดิ์สิทธิ์ของศีลล้างบาปทำให้คริสตชนสามารถและจำเป็นต้องรับใช้พระเจ้าในการมีส่วนร่วมพิธีกรรมของพระศาสนจักรอย่างแข็งขัน และปฏิบัติสมณภาพจากศีลล้างบาปของตนเป็นพยานดำเนินชีวิตศักดิ์สิทธิ์แสดงความรักด้านปฏิบัติ[83]

 1274   ตราประทับขององค์พระผู้เป็นเจ้า[84] เป็นตราประทับที่พระจิตเจ้าทรงหมายตัวเราไว้ “สำหรับวันแห่งการไถ่กู้” (อฟ 4:30)[85] “ศีลล้างบาปเป็นตราประกันชีวิตนิรันดร”[86] ผู้มีความเชื่อที่ “รักษาตราประทับ” นี้ นั่นคือ ยังคงซื่อสัตย์ต่อข้อเรียกร้องของศีลล้างบาปไว้จนถึงที่สุด ก็จะจบชีวิตนี้ได้ “พร้อมกับมีตราความเชื่อประทับไว้”[87] มีความเชื่อแห่งศีลล้างบาปของตน รอคอยความสุขจากการแลเห็นพระเจ้า – ซึ่งเป็นการบรรลุถึงความสำเร็จสมบูรณ์ของความเชื่อ – และความหวังที่จะกลับคืนชีพ

 

[60] เทียบ กจ 2:38; ยน 3:5.

[61] Cf Concilium Florentinum, Decretum pro Armenis: DS 1316.      

[62] Concilium Tridentinum, Sess. 5a, Decretum de peccato originali, canon 5: DS 1515.

[63] เทียบ 2 คร 5:17.

[64] เทียบ กท 4:5-7.

[65] เทียบ 2 ปต 1:4.

[66] เทียบ 1 คร 6:15; 12:27.      

[67] เทียบ รม 8:17.

[68] เทียบ 1 คร 6:19.

[69] เทียบ 1 คร 6:19.

[70] เทียบ 2 คร 5:15.

[71] เทียบ อฟ 5:21; 1 คร 16:15-16.

[72] เทียบ ยน 13:12-15.

[73] เทียบ ฮบ 13:17.

[74] เทียบ 1 ธส 5:12-13.

[75] Cf Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 37: AAS 57 (1965) 42-43; CIC canones 208-223; CCEO canon 675, § 2.

[76] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 11: AAS 57 (1965) 16.     

[77] Cf Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 17: AAS 57 (1965) 21; Id., Decr. Ad gentes, 7: AAS 58 (1966) 956; Ibid., 23: AAS 58 (1966) 974-975.      

[78] Concilium Vaticanum II, Decr. Unitatis redintegratio, 3: AAS 57 (1965) 93.

[79] Concilium Vaticanum II, Decr. Unitatis redintegratio, 22: AAS 57 (1965) 105.

[80] เทียบ รม 8:29.

[81] Cf Concilium Tridentinum, Sess. 7a, Decretum de sacramentis, Canones de sacramentis in genere, canon 9: DS 1609; Ibid., Canones de sacramento Baptismi, canon 6: DS 1619.

[82] Cf Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 11: AAS 57 (1965) 16.  

[83] Cf Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 10: AAS 57 (1965) 15-16.

[84] Cf Sanctus Augustinus, Epistula 98, 5: CSEL 34, 527 (PL 33, 362).

[85] เทียบ อฟ 1:13-14; 2 คร 1:21-22.

[86] Sanctus Irenaeus Lugdunensis, Demonstratio praedicationis apostolicae, 3: SC 62, 32.

[87] Prex Eucharistica I seu Canon Romanus: Missale Romanum, editio typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1970) p. 454.

สรุป

สรุป

1275    พิธีรับคริสตชนใหม่ประกอบด้วยศีลศักดิ์สิทธิ์สามประการ คือ ศีลล้างบาปซึ่งเป็นจุดเริ่มของชีวิตใหม่ ศีลกำลังซึ่งเป็นการรับรองศีลล้างบาป และศีลมหาสนิทซึ่งบำรุงเลี้ยงศิษย์ของพระคริสตเจ้าด้วยพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้าและเปลี่ยนแปลงเขาให้เป็นเหมือนพระองค์

1276    ดังนั้น ท่านทั้งหลายจงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา ทำพิธีล้างบาปให้เขาเดชะพระนามพระบิดา พระบุตร และพระจิต จงสอนเขาให้ปฏิบัติตามคำสั่งทุกข้อที่เราให้แก่ท่าน” (มธ 28:19-20)

 

1277    ศีลล้างบาปเป็นการเกิดมามีชีวิตใหม่ในพระคริสตเจ้า ตามพระประสงค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า ศีลล้างบาปจำเป็นสำหรับความรอดพ้นเช่นเดียวกับพระศาสนจักรที่ศีลนี้นำผู้หนึ่งเข้ามาเป็นสมาชิก

1278    จารีตพิธีสำคัญของศีลล้างบาปประกอบด้วยการจุ่มตัวผู้สมัครลงไปในน้ำ หรือการเทน้ำลงบนศีรษะของเขา พร้อมกับกล่าวเรียกขานพระนามของพระตรีเอกภาพ คือ พระบิดา พระบุตร และพระจิตเจ้า

1279    ผลของศีลล้างบาปหรือพระหรรษทานของศีลล้างบาปเป็นพระพรมีค่ามากที่ประกอบด้วยการอภัยบาปกำเนิดและบาปทุกอย่างที่เขาได้ทำ การเกิดมารับชีวิตใหม่ที่ทำให้มนุษย์กลับเป็นบุตรบุญธรรมของพระบิดา เป็นส่วนพระวรกายของพระคริสตเจ้าและเป็นวิหารของพระจิตเจ้า จากการนี้ ผู้ที่รับศีลล้างบาปเข้ามาร่วมเป็นร่างกายเดียวกับพระศาสนจักรซึ่งเป็นพระวรกายของพระคริสตเจ้า และมีส่วนร่วมสมณภาพของพระคริสตเจ้าด้วย

1280    ศีลล้างบาปประทับเครื่องหมายฝ่ายจิตที่ไม่มีวันลบออกได้ในวิญญาณ คือตราประทับ ซึ่งเจิมถวายผู้รับศีลล้างบาปสำหรับคารวกิจของคริสตศาสนา เนื่องจากตราประทับนี้ ศีลล้างบาปจึงรับซ้ำอีกไม่ได้[88]

1281    ผู้ที่ตายเพราะความเชื่อ คริสตชนสำรอง และทุกคนที่ได้รับการดลใจจากพระหรรษทานพยายามแสวงหาพระเจ้าและปฏิบัติตามพระประสงค์อย่างจริงใจ แม้จะไม่รู้จักพระศาสนจักร
ก็อาจรอดพ้นได้ แม้ยังไม่ได้รับศีลล้างบาป[89]

1282    มีการประกอบพิธีศีลล้างบาปแก่เด็กทารกมาตั้งแต่สมัยแรกๆ ของพระศาสนจักรแล้ว เพราะศีลล้างบาปเป็นพระหรรษทานและของประทานของพระเจ้าที่ไม่ขึ้นกับบุญกุศลของมนุษย์
เด็กทารกรับศีลล้างบาปในความเชื่อของพระศาสนจักร  การเข้ามาอยู่ในชีวิตคริสตชนทำให้เข้ามารับอิสรภาพแท้จริงได้

1283    เกี่ยวกับเด็กทารกที่ตายโดยยังไม่ได้รับศีลล้างบาป พิธีกรรมของพระศาสนจักรเชิญชวนเราให้มีความวางใจในพระเมตตากรุณาของพระเจ้า และอธิษฐานภาวนาเพื่อความรอดพ้นของทารกเหล่านี้

1284    ในกรณีจำเป็น ใครๆก็อาจประกอบพิธีศีลล้างบาปได้ เพียงแต่ขอให้เขามีเจตนาทำการที่พระศาสนจักรทำ และเทน้ำลงบนศีรษะของผู้สมัครพลางกล่าวว่าข้าพเจ้าล้างท่านเดชะพระนามพระบิดา และพระบุตร และพระจิต

 

[88] Cf Concilium Tridentinum, Sess. 7a, Decretum de sacramentis, Canones de sacramentis in genere, canon 9: DS 1609; Ibid., Canones de sacramento Baptismi, canon 11: DS 1624.

[89] Cf Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 16: AAS 57 (1965) 20.