ตอนที่ 3
พระเยซูคริสตเจ้า
“ทรงปฏิสนธิเดชะพระจิตเจ้า
ทรงบังเกิดจากพระนางมารีย์พรหมจารี”
วรรค 1
พระบุตรของพระเจ้าทรงรับสภาพมนุษย์
I. ทำไมพระวจนาตถ์จึงทรงรับสภาพมนุษย์
I. ทำไมพระวจนาตถ์จึงทรงรับสภาพมนุษย์
456 เราตอบคำถามนี้พร้อมกับสูตรยืนยันความเชื่อของสภาสังคายนานิเชอา-คอนสแตนติโนเปิลเมื่อประกาศว่า “เพราะเห็นแก่เรามนุษย์ เพื่อทรงช่วยเราให้รอดพ้น พระองค์จึงเสด็จจากสวรรค์ ...ทรงรับสภาพมนุษย์จากพระนางมารีย์พรหมจารีด้วยพระอานุภาพของพระจิตเจ้า และทรงบังเกิดเป็นมนุษย์”[79]
457 พระวจนาตถ์ทรงรับธรรมชาติมนุษย์ก็เพื่อช่วยเราให้รอดพ้นโดยทำให้เราคืนดีกับพระเจ้า พระเจ้า “ทรงรักเราและทรงส่งพระบุตรของพระองค์มาเพื่อชดเชยบาปของเรา” (1 ยน 4:10) “พระบิดาทรงส่งพระบุตรของพระองค์มาเป็นพระผู้ไถ่โลก” (1 ยน 4:14) “พระองค์ทรงปรากฏเพื่อทรงลบล้างบาปให้สิ้นไป” (1 ยน 3:5)
“ธรรมชาติของเรา เมื่อเจ็บป่วยย่อมต้องการแพทย์ มนุษย์ที่ล้มลงย่อมต้องการผู้ช่วยพยุงให้ลุกขึ้น ผู้ที่สิ้นชีวิตแล้วย่อมต้องการผู้ให้ชีวิต ผู้ที่สูญเสียความดีย่อมต้องการผู้นำกลับมาพบความดีอีก ผู้ที่ถูกกักขังในความมืดย่อมต้องการให้มีแสงสว่าง ผู้ถูกจับเป็นเชลยย่อมแสวงหาผู้ช่วยไถ่ให้รอดพ้น ผู้ถูกจองจำย่อมต้องการผู้ช่วยเหลือ ผู้ที่เป็นทาสย่อมต้องการผู้ช่วยให้มีอิสรภาพ นี่เป็นเรื่องเล็กน้อยไม่พอจะชักชวนพระเจ้าให้เสด็จลงมาเยี่ยมเยียนมนุษยชาติในเมื่อมนุษยชาติตกอยู่ในสภาพเป็นทุกข์และน่าสงสารถึงเพียงนี้ดอกหรือ”[80]
458 พระวจนาตถ์ทรงรับสภาพมนุษย์ เพื่อเราจะได้รู้จักความรักของพระเจ้า “ความรักของพระเจ้าปรากฏให้เราเห็นดังนี้คือ พระเจ้าทรงส่งพระบุตรพระองค์เดียวมาในโลก เพื่อเราจะได้มีชีวิตโดยทางพระบุตรนั้น” (1 ยน 4:9) “พระเจ้าทรงรักโลกอย่างมาก จึงประทานพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่มีความเชื่อในพระบุตรจะไม่พินาศ แต่จะมีชีวิตนิรันดร” (ยน 3:16)
459 พระวจนาตถ์ทรงรับสภาพมนุษย์เพื่อทรงเป็นตัวอย่างความศักดิ์สิทธิ์ให้เรา “จงรับแอกของเราแบกไว้ และมาเป็นศิษย์ของเรา.....” (มธ 11:29) “เราเป็นหนทาง ความจริง และชีวิต ไม่มีใครไปเฝ้าพระบิดาได้นอกจากผ่านทางเรา” (ยน 14:6) พระบิดาทรงบัญชาเมื่อพระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์บนภูเขาว่า “จงฟังท่านเถิด” (มก 9:7)[81] พระเยซูเจ้าทรงเป็นตัวอย่างความสุขแท้และแนวปฏิบัติของบัญญัติใหม่ “ท่านทั้งหลายจงรักกันเหมือนดังที่เรารักท่าน” (ยน 15 :12) ความรักนี้รวมถึงการถวายตัวเราตามแบบฉบับของพระองค์[82]
460 พระวจนาตถ์ทรงรับสภาพมนุษย์เพื่อทำให้เรา “เข้ามามีส่วนร่วมในพระธรรมชาติของพระเจ้า” (2 ปต 1:4) “เพราะเหตุนี้พระวจนาตถ์ของพระเจ้าจึงมาเป็นมนุษย์ และผู้ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้าทรงกลับเป็นบุตรแห่งมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์ซึ่งร่วมสนิทกับพระวจนาตถ์ของพระเจ้าและได้รับการเป็นบุตรบุญธรรมของพระเจ้า ได้กลับเป็นบุตรของพระเจ้าด้วย”[83] “พระบุตรของพระเจ้าทรงรับสภาพมนุษย์ เพื่อพวกเราจะได้กลับเป็นพระเจ้า”[84] “พระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระเจ้า ทรงประสงค์ให้เรามีส่วนในพระเทวภาพของพระองค์ ทรงรับธรรมชาติของเรามาเป็นมนุษย์ เพื่อทรงทำให้มนุษย์เป็นพระเจ้า”[85]
[79] DS 150.
[80] Sanctus Gregorius Nyssenus, Oratio catechetica 15, 3: TD 7, 78 (PG 45, 48)
[81] เทียบ ฉธบ 6:4-5.
[82] เทียบ มก 8:34.
[83] Sanctus Irenaeus Lugdunensis, Adversus haereses 3, 19, 1 : SC 211, 374 (PG 7, 939).Sanctus Athanasius Alexandrinus, De Incarnatione 54, 3: SC 199, 458 (PG 24, 192).
[84] Sanctus Athanasius Alexandrinus, De Incarnatione 54, 3: SC 199, 458 (PG 24, 192).
[85] Sanctus Thomas Aquinas, Officium de festo corporis Christi, Ad Matutinas, In primo Nocturno, Lectio 1: Opera Omnia, v. 29 (Parisiis 1876)
p. 336.
II. การรับสภาพมนุษย์
II. การรับสภาพมนุษย์
461 พระศาสนจักรนำวลีของนักบุญยอห์น (“พระวจนาตถ์ทรงรับสภาพมนุษย์” ยน 1:14) มาใช้เรียกการที่พระบุตรของพระเจ้ามารับสภาพมนุษย์ของเราใช้ทำให้ความรอดพ้นของเราสำเร็จไปว่า “การรับสภาพมนุษย์” (แปลตามตัวอักษรว่า “การรับเนื้อหนัง” หรือ “การรับร่างกาย”) พระศาสนจักรขับร้องเรื่องการรับสภาพมนุษย์โดยใช้บทเพลงที่นักบุญเปาโลยกมาไว้ในจดหมายของท่านดังนี้ว่า
“จงมีความรู้สึกนึกคิดเช่นเดียวกับที่พระคริสตเยซูทรงมีเถิด แม้ว่าพระองค์ทรงมีธรรมชาติพระเจ้า พระองค์ก็มิได้ทรงถือว่าศักดิ์ศรีเสมอพระเจ้านั้นเป็นสมบัติที่จะต้องหวงแหน แต่ทรงสละพระองค์จนหมดสิ้น ทรงรับสภาพดุจทาส เป็นมนุษย์ดุจเรา ทรงแสดงพระองค์ในสภาพมนุษย์ ทรงถ่อมพระองค์จนถึงกับทรงยอมรับแม้ความตาย เป็นความตายบนไม้กางเขน” (ฟป 2:5-8)[86]
462 จดหมายถึงชาวฮีบรูกล่าวถึงธรรมล้ำลึกเดียวกันด้วยว่า
“ดังนั้นเมื่อ(พระคริสตเจ้า)เสด็จมาในโลกจึงตรัสว่า ‘พระองค์ไม่มีพระประสงค์เครื่องบูชาและของถวายอื่นใด พระองค์จึงทรงเตรียมร่างกายไว้ให้ข้าพเจ้า พระองค์ไม่พอพระทัยในเครื่องเผาบูชาและเครื่องบูชาชดเชยบาป ข้าพเจ้าจึงทูลว่า ข้าแต่พระเจ้า [....] ข้าพเจ้ามาเพื่อปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระองค์’” (ฮบ 10:5-7 ซึ่งอ้างถึง สดด 40:7-9 LXX).
463 ความเชื่อในการที่พระบุตรของพระเจ้าทรงรับสภาพมนุษย์แท้จริงเป็นเครื่องหมายชัดเจนแสดงความเชื่อของคริสตชน “ท่านทั้งหลายรู้จักการดลใจของพระเจ้าโดยวิธีนี้คือ การดลใจใดที่ยอมรับว่าพระเยซูคริสตเจ้าเสด็จมารับสภาพมนุษย์ ก็เป็นการดลใจที่มาจากพระเจ้า” (1 ยน 4:2) นี่คือความแน่ใจน่ายินดีของพระศาสนจักรมาตั้งแต่แรกเริ่ม เมื่อพระศาสนจักรขับร้อง “พระธรรมล้ำลึกยิ่งใหญ่เรื่องความเคารพเลื่อมใส” ว่า “พระองค์ทรงปรากฏให้แลเห็นได้ในสภาพมนุษย์” (1 ทธ 3:16)
[86] Cf. Canticum ad I Vesperas Dominicae: Liturgia Horarum, edition typical, v. 1, p. 545, 629, 718 et 808; v. 2, p. 844, 937, 1037 et 1129; v. 3, p. 548, 669, 793 et 916; v. 4, p.496, 617, 741 et 864 (Typis Polyglottis Vaticanis 1973-1974).
III. พระเจ้าแท้และมนุษย์แท้
III. พระเจ้าแท้และมนุษย์แท้
464 เหตุการณ์พิเศษหนึ่งเดียวเรื่องการที่พระบุตรของพระเจ้าทรงรับสภาพมนุษย์มิได้หมายความว่าพระเยซูคริสตเจ้าส่วนหนึ่งเป็นพระเจ้า อีกส่วนหนึ่งเป็นมนุษย์ และไม่ใช่ผลของการผสมกันของสิ่งที่เป็นพระเจ้าและสิ่งที่เป็นมนุษย์ พระองค์ทรงเป็นมนุษย์โดยแท้จริง และยังคงเป็นพระเจ้าอยู่อย่างแท้จริงด้วย พระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็นพระเจ้าแท้และมนุษย์แท้ พระศาสนจักรต้องปกป้องความจริงนี้ของความเชื่อ และต้องอธิบายความจริงนี้ตลอดมาในหลายศตวรรษแรกๆต่อสู้กับบรรดาลัทธิมิจฉาทิฐิซึ่งพยายามบิดเบือนความเชื่อข้อนี้
465 ลัทธิมิจฉาทิฐิแรกๆ มักจะไม่ปฏิเสธพระเทวภาพของพระคริสตเจ้า แต่จะสอนว่าพระสภาพมนุษย์ของพระองค์ไม่มีอยู่จริงๆ (docetismus gnosticus = ลัทธิไญยนิยมที่สอนว่าพระธรรมชาติมนุษย์ของพระคริสตเจ้าเป็นเพียงภาพลวงตา) นับตั้งแต่สมัยอัครสาวกแล้ว ความเชื่อของคริสตชนย้ำว่าพระบุตรของพระเจ้าทรงรับสภาพมนุษย์จริงๆ[87] แต่นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 3 แล้ว ในสภาสังคายนาที่เมืองอันทิโอค พระศาสนจักรต้องยืนยันต่อสู้กับเปาโลแห่งซาโมซาตา (Paul of Samosata) ว่าพระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้าโดยธรรมชาติ ไม่ใช่โดยการรับเป็นบุตรบุญธรรม สภาสังคายนาสากลที่เมืองนิเชอาเมื่อปี 325 ก็ยืนยันในสูตรประกาศความเชื่อว่าพระบุตรของพระเจ้า “มิได้ทรงถูกสร้าง แต่ทรงบังเกิดร่วมพระธรรมชาติเดียวกับพระบิดา (ซึ่งคำภาษากรีกว่า homo-ousios)”[88] และประณามอาริอัส (Arius) ซึ่งสอนว่า “พระบุตรของพระเจ้าเกิดมาจากความเปล่า (ex nihilo)”[89] และทรงมี “พระธรรมชาติและความเป็นอยู่แตกต่างจากพระบิดา”[90]
466 คำสอนผิดๆ ของเนสโตรีอุสอ้างว่าพระบุคคลมนุษย์ในพระคริสตเจ้าเข้ามารวมกับพระบุคคลพระเจ้าของพระบุตรของพระเจ้า นักบุญซีริลแห่งอเล็กซานเดรียและสภาสังคายนาสากล ครั้งที่ 3 ซึ่งมาประชุมกันที่เมืองเอเฟซัสเมื่อปี ค.ศ. 431 ประณามคำสอนดังกล่าวนี้และประกาศว่า “พระวจนาตถ์ทรงมาเป็นมนุษย์เมื่อทรงรวมร่างกายซึ่งมีวิญญาณที่คิดตามเหตุผลได้เข้ากับตนโดยธรรมชาติ (hypostasis)”[91] พระธรรมชาติมนุษย์ของพระคริสตเจ้าไม่มีความเป็นอยู่อื่นใดนอกจากเป็นพระบุคคลพระเจ้าของพระบุตรพระเจ้าซึ่งรับสภาพมนุษย์นี้เข้ามารวมเป็นของตนนับตั้งแต่ทรงปฏิสนธิ เพราะเหตุนี้สภาสังคายนาที่เมืองเอเฟซัสเมื่อปี 431 จึงประกาศว่าเมื่อพระนางมารีย์ทรงปฏิสนธิพระบุตรของพระเจ้าเป็นมนุษย์ในพระครรภ์ จึงทรงเป็น “พระมารดาของพระเจ้า” โดยแท้จริง “ทรงเป็นพระมารดาของพระเจ้า ไม่ใช่เพราะพระธรรมชาติของพระวจนาตถ์และพระเทวภาพของพระองค์ถือกำเนิดจากพระนางพรหมจารี แต่เพราะ[พระวจนาตถ์]ทรงรับพระวรกายศักดิ์สิทธิ์พร้อมกับพระวิญญาณที่มีสติปัญญาจากพระนาง และกล่าวได้ว่าพระวจนาตถ์ของพระเจ้าซึ่งรวมเป็นหนึ่งเดียวตามธรรมชาตินี้ทรงบังเกิดเป็นมนุษย์จากพระนาง”[92]
467 พวกมิจฉาทิฐิเอกธรรมชาตินิยม (Monophysites) ยืนยันว่าพระธรรมชาติมนุษย์ในพระคริสตเจ้าเลิกมีความเป็นอยู่เมื่อถูกรับเข้ามารวมอยู่กับพระบุคคลพระเจ้าของพระบุตรของพระเจ้า สภาสังคายนาสากลที่เมืองคัลเชโดนเมื่อปี ค.ศ. 451 ตอบโต้คำสอนมิจฉาทิฐินี้ ประกาศว่า
“ตามคำสอนของบรรดาปิตาจารย์ พวกเราทุกคนจึงประกาศยืนยันและสอนเป็นเสียงเดียวกันว่า พระบุตร พระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา ทรงเป็นพระองค์เดียวกันที่สมบูรณ์ในพระเทวภาพกับพระองค์ที่สมบูรณ์ในพระธรรมชาติมนุษย์ ทรงเป็นพระเจ้าแท้และมนุษย์แท้ ทรงเป็นพระองค์เดียวกันที่ประกอบด้วยพระวิญญาณที่คิดตามเหตุผลและพระวรกาย ทรงร่วมพระธรรมชาติกับพระบิดาใน พระเทวภาพ และทรงร่วมพระธรรมชาติกับเราโดยธรรมชาติมนุษย์ ‘ทรงเหมือนกับเราทุกอย่างยกเว้นบาป’[93] ทรงบังเกิดจากพระบิดาก่อนกาลเวลาในฐานะพระเจ้า ในวาระสุดท้ายพระองค์ทรงบังเกิดจากพระนางมารีย์พรหมจารี พระมารดาพระเจ้าในฐานะมนุษย์ เพราะเห็นแก่เราและเพื่อช่วยเราให้รอดพ้น
เราต้องยอมรับว่าพระคริสตเจ้าทรงเป็นพระองค์เดียวกับพระบุตรหนึ่งเดียว องค์พระผู้เป็นเจ้า ทรงมีสองพระธรรมชาติที่ไม่ปะปนกัน ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่แบ่งแยก ไม่มีวันจะแยกจากกันได้ ความแตกต่างของพระธรรมชาติทั้งสองไม่มีวันถูกการรวมกันนี้ทำลายลงได้ คุณลักษณะเฉพาะของพระธรรมชาติทั้งสองยังคงอยู่ดังเดิม แม้จะเข้ามารวมกันอยู่เป็นพระบุคคลหนึ่งเดียว”[94]
468 หลังจากสภาสังคายนาครั้งนี้ บางคนทำให้พระธรรมชาติมนุษย์ของพระคริสตเจ้าเป็นบุคคลหนึ่งสภาสังคายนาสากลครั้งที่ 5 คือสภาสังคายนาที่กรุงคอนสแตนติโนเปิลเมื่อปี ค.ศ. 553 จึงประกาศโต้แย้งคนเหล่านี้ว่า “มีเพียงพระบุคคลหนึ่งเดียว (hypostasis = person) ซึ่งเป็นพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า(ของเรา) เป็นพระบุคคลหนึ่งในพระตรีเอกภาพ”[95] ทุกสิ่งทุกอย่างในพระธรรมชาติมนุษย์ของพระคริสตเจ้าจึงต้องนับว่าเป็นคุณสมบัติเฉพาะของพระบุคคลพระเจ้าของพระองค์[96] ไม่เพียงแต่อัศจรรย์ที่ทรงทำเท่านั้น แต่พระทรมาน[97] และการสิ้นพระชนม์ด้วย เราประกาศว่า “พระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา ผู้ทรงถูกตรึงกางเขนในพระกาย ทรงเป็นพระเจ้าแท้ และทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระสิริรุ่งโรจน์ เป็นหนึ่งในพระตรีเอกภาพ”[98]
469 พระศาสนจักรจึงประกาศยืนยันว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นทั้งพระเจ้าแท้และมนุษย์แท้โดยไม่แยกจากกัน ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้าอย่างแท้จริงซึ่งทรงรับสภาพมนุษย์ กลายเป็นพี่น้องของเรา ถึงกระนั้นก็ยังไม่เลิกเป็นพระเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา
พิธีกรรมจารีตโรมันมีบทเพลงบทหนึ่งความว่า “พระองค์ยังคงเป็นอย่างที่เคยเป็น ทรงรับสภาพที่ไม่เคยเป็น”[99] พิธีกรรมของนักบุญยอห์น ครีโซสตม ก็มีบทขับร้องที่ประกาศว่า “ข้าแต่พระบุตรเพียงพระองค์เดียวและพระวจนาตถ์ของพระเจ้า ผู้ทรงอมตะ พระองค์ทรงยอมรับสภาพมนุษย์จากพระมารดาของพระเจ้า พระนางมารีย์ผู้ทรงเป็นพรหมจารีเสมอ เพื่อความรอดพ้นของข้าพเจ้าทั้งหลาย พระองค์ทรงรับสภาพมนุษย์และทรงถูกตรึงกางเขนโดยไม่ทรงเปลี่ยนแปลง ข้าแต่พระคริสตเจ้า พระองค์ทรงพิชิตความตาย ทรงเป็นพระองค์หนึ่งในพระตรีเอกภาพ ทรงพระสิริรุ่งโรจน์ร่วมกับพระบิดาและพระจิตเจ้า โปรดทรงช่วยข้าพเจ้าทั้งหลายให้รอดพ้นเถิด”[100]
[87] เทียบ 1 ยน 4:2-3; 2 ยน 7.
[88] Symbolum Nicaenum: DS 125.
[89] Concilium Nicaenum, Epistula synodalis “Epeide tes” ad Aegyptios: DS 130.
[90] Symbolum Nicaenum: DS 126.
[91] Concilium Ephesinum, Epistula II Cyrilli Alexandrini ad Nestorium: DS 250.
[92] Concilium Ephesinum, Epistula II Cyrilli Alexandrini ad Nestorium: DS 251.
[93] เทียบ ฮบ 4:15.
[94] Concilium Chalcedonense, Symbolum. DS 301-302.
[95] Concilium Constantinopolitanum II, Sess. 8a, Canon 4: DS 424.
[96] Cf. iam Concilium Ephesinum, Anathematismi Cyrilli Alexandrini, 4: DS 255.
[97] Cf. Concilium Constantinopolitanum II, Sess. 8a, Canon 3: DS 423.
[98] Concilium Constantinopolitanum II, Sess. 8a, Canon 10: DS 432.
[99] In sollemnitate sanctae Dei Genitricis Mariae, Antiphona ad “Benedictus”: Liturgia Horarum, editio typica, v. 1 (Typis Polyglottis Vaticanis 1973) p. 394; cf. Sanctus Leo Magnus, Sermo 21, 2: CCL 138, 87 (PL 54, 192).
[100] Officium Horarum Byzantinum, Hymnus ‘Ho monogenes Horologion to mega’ (Romae 1876) p. 82.
IV. พระบุตรของพระเจ้าทรงเป็นมนุษย์อย่างไร
IV. พระบุตรของพระเจ้าทรงเป็นมนุษย์อย่างไร
470 เนื่องจากว่าในพระธรรมล้ำลึกการรับสภาพมนุษย์ ธรรมชาติมนุษย์นี้ถูก “รับมา ไม่ได้ถูกกลืนหายไป”[101] จึงทำให้พระศาสนจักรประกาศยืนยันตลอดมาทุกสมัยว่าพระคริสตเจ้าทรงเป็นมนุษย์โดยแท้จริง ทรงมีวิญญาณพร้อมกับสติปัญญาและเจตนาที่ปฏิบัติงานได้อย่างสมบูรณ์เต็มที่และมีร่างกายเช่นเดียวกับมนุษย์ทุกคน โดยวิธีเดียวกัน พระศาสนจักรก็ต้องเตือนให้ระลึกด้วยว่าสภาพมนุษย์ของพระคริสตเจ้าเป็นของพระบุคคลพระเจ้าขององค์พระบุตรพระเจ้าผู้ทรงรับสภาพมนุษย์นี้ อะไรไม่ว่าที่ทรงเป็นหรือทรงทำโดยทางสภาพมนุษย์นี้ล้วนมาจาก “พระองค์หนึ่งในพระตรีเอกภาพ” ดังนั้น พระบุตรของพระเจ้าจึงทรงถ่ายทอดวิธีความเป็นอยู่เฉพาะส่วนพระองค์ที่ทรงมีในพระตรีเอกภาพแก่สภาพมนุษย์ของพระองค์ พระคริสตเจ้าทั้งในพระวิญญาณและ พระกายจึงทรงแสดงคุณสมบัติพระเจ้าของพระตรีเอกภาพด้วยการกระทำอย่างมนุษย์[102]
“พระบุตรของพระเจ้า[….]ทรงทำงานด้วยมือมนุษย์ ทรงคิดด้วยใจมนุษย์ ทรงกระทำด้วยเจตนามนุษย์ ทรงรักด้วยหัวใจมนุษย์ เมื่อทรงบังเกิดจากพระนางมารีย์พรหมจารี พระองค์ทรงกลับเป็นพวกเราคนหนึ่ง เหมือนกับเราทุกอย่างเว้นแต่บาป”[103]
พระวิญญาณและความรู้เยี่ยงมนุษย์ของพระคริสตเจ้า
471 อโปลลีนาริส ชาวลาวดีเซียสอนว่าพระวจนาตถ์อยู่แทนที่พระวิญญาณหรือจิตในพระคริสตเจ้า พระศาสนจักรประณามความหลงผิดนี้ ประกาศยืนยันว่าพระบุตรนิรันดรยังทรงรับเอาวิญญาณมนุษย์ที่คิดตามเหตุผลได้ด้วย[104]
472 พระวิญญาณมนุย์ที่พระบุตรของพระเจ้าทรงรับนี้มีความรู้แบบมนุษย์จริงๆ ความรู้นี้โดยธรรมชาติแล้วไม่อาจเป็นความรู้ที่ไร้ขอบเขตได้ แต่ทำงานในสภาพความเป็นอยู่ของตนทางประวัติศาสตร์ตามสถานที่และเวลา เพราะเหตุนี้ พระบุตรของพระเจ้าเมื่อทรงรับเป็นมนุษย์จึงทรงรับสมรรถนะที่จะ “เจริญขึ้นทั้งในพระปรีชาญาณ พระชนมายุ และพระหรรษทาน” (ลก 2:52) ได้ด้วย และดังนี้จึงต้องทรงค้นคว้าหาความรู้เรื่องต่างๆ เช่นเดียวกับที่มนุษย์ทั่วไปต้องเรียนรู้จากประสบการณ์[105] สภาพเช่นนี้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่ทรงประสงค์จะสละพระองค์มาทรงรับ “สภาพดุจทาส”[106]
473 แต่ในเวลาเดียวกัน ความรู้แบบมนุษย์จริงๆ นี้ของพระบุตรพระเจ้าก็สะท้อนชีวิตพระเจ้าที่ทรงมีด้วย[107] “พระบุตรพระเจ้าทรงทราบทุกสิ่ง และโดยทางพระองค์ผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ ไม่ใช่โดยธรรมชาติ แต่ในฐานะที่ทรงร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระวจนาตถ์ [….] สภาพมนุษย์ที่ทำให้พระองค์รวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระวจนาตถ์นี้รู้ทุกสิ่งเกี่ยวกับพระเจ้าและแสดงทุกสิ่งเหล่านี้ให้เห็นในพระองค์ว่าทรงพระเดชานุภาพ”[108] นี่เป็นกรณีโดยเฉพาะของความรู้ลึกซึ้งและโดยตรงที่พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงเป็นมนุษย์ทรงมีเกี่ยวกับพระบิดาของพระองค์[109] พระบุตร แม้ในความรู้แบบมนุษย์ที่ทรงมี ก็ยังแสดงให้เห็นว่าทรงทราบถึงความคิดลึกลับภายในใจมนุษย์ได้ด้วย[110]
474 ความรู้แบบมนุษย์ของพระคริสตเจ้า จากความสัมพันธ์ที่ทรงมีกับพระปรีชาญาณของพระเจ้าในพระบุคคลของพระวจนาตถ์ผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ ยังอาจเข้าใจพระประสงค์นิรันดรของพระเจ้าได้อย่างสมบูรณ์ และเสด็จมาเพื่อเปิดเผยพระประสงค์เหล่านี้[111] ในเรื่องเหล่านี้ถ้าพระองค์ทรงบอกว่าไม่ทรงทราบ[112] ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทรงประกาศว่าไม่ทรงมีพันธกิจให้เปิดเผยเรื่องนี้ให้เรารู้[113]
เจตนาแบบมนุษย์ของพระคริสตเจ้า
475 ในทำนองเดียวกัน พระศาสนจักรประกาศยืนยันในสภาสังคายนาสากลครั้งที่ 6 ว่าพระคริสตเจ้าทรงมีสองเจตนาและมีการกระทำตามธรรมชาติสองแบบ คือการกระทำแบบพระเจ้าและแบบมนุษย์ การกระทำทั้งสองแบบนี้ไม่ขัดแย้งกัน แต่ร่วมทำงานด้วยกันอย่างที่ว่าพระวจนาตถ์ผู้รับสภาพมนุษย์ทรงประสงค์แบบมนุษย์สิ่งใดไม่ว่าที่ทรงประสงค์แบบพระเจ้าที่จะกระทำพร้อมกับพระบิดาและพระจิตเจ้าเพื่อความรอดพ้นของเรา[114] พระศาสนจักรยอมรับว่า “พระเจตนาแบบมนุษย์ของพระองค์ไม่ต่อต้านหรือไม่เต็มใจ แต่ยอมอยู่ใต้บังคับพระประสงค์ทรงอานุภาพของพระเจ้า”[115]
พระกายแท้จริงของพระคริสตเจ้า
476 พระวจนาตถ์ทรงรับสภาพมนุษย์โดยแท้จริง พระกายของพระคริสตเจ้าจึงมีขอบเขตจำกัด[116] เพราะเหตุนี้ เราจึงอาจ “วาดภาพ” พระพักตร์แบบมนุษย์ของพระเยซูเจ้าได้[117] ในสภาสังคายนาสากลครั้งที่ 7[118]พระศาสนจักรยอมรับว่าการแสดงพระพักตร์ด้วยรูปภาพศักดิ์สิทธิ์นั้นเป็นการถูกต้อง
477 พร้อมกันนี้ พระศาสนจักรยอมรับอยู่เสมอว่า ในพระวรกายของพระเยซูเจ้านี้ พระเจ้า “ซึ่งเราไม่อาจมองเห็นได้ในพระองค์เอง ทรงปรากฏในร่างกายให้เราแลเห็นได้”[119] โดยแท้จริงแล้ว คุณสมบัติเฉพาะตนของพระกายของพระคริสตเจ้าแสดงให้เห็นพระบุคคลพระเจ้าของพระบุตรของพระเจ้า พระองค์ทรงทำให้รูปร่างเฉพาะของร่างกายมนุษย์เป็นของพระองค์อย่างที่ว่าเราอาจแสดงคารวะต่อรูปที่วาดอยู่ในภาพศักดิ์สิทธิ์ได้ เพราะผู้มีความเชื่อที่แสดงคารวะต่อรูปภาพที่วาดนี้ “ย่อมนมัสการพระบุคคลของพระองค์ที่วาดอยู่ในภาพนั้น”[120]
พระหทัยของพระวจนาตถ์ผู้ทรงรับสภาพมนุษย์
478 พระเยซูเจ้าทรงรู้จักและรักเราทุกคน แต่ละคนในพระชนมชีพของพระองค์ ในขณะที่ทรงเป็นทุกข์ในสวนมะกอกเทศ และเมื่อทรงรับทรมาน พระองค์ยังทรงมอบพระองค์เพื่อพวกเราแต่ละคนด้วย พระบุตรของพระเจ้า “ทรงรักข้าพเจ้าและทรงมอบพระองค์เพื่อข้าพเจ้า” (กท 2:20) พระองค์ทรงรักเราทุกคนด้วยพระหทัยมนุษย์ เพราะเหตุนี้ พระหทัยศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้าซึ่งถูกแทงเพราะบาปของเราและเพื่อช่วยเราให้รอดพ้น[121] “จึงนับได้ว่าเป็นเครื่องบ่งชี้และเป็นสัญลักษณ์ [.....] ของความรักที่พระผู้ไถ่ทรงรักพระบิดานิรันดรและมวลมนุษย์อยู่ตลอดเวลา”[122]
[101] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 22: AAS 58 (1966) 1042.
[102] เทียบ ยน 14:9-10.
[103] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 22: AAS 58 (1966) 1042-1043.
[104] Cf. Sanctus Damasus I, Epistula ‘Hoti te apostolikke kathedra’: DS 149.
[105] เทียบ มก 6:38; 8:27; ยน 11:34; ฯลฯ
[106] เทียบ ฟป 2:7.
[107] Cf. Sanctus Gregorius Magnus, Epistula Sicutaqua: DS 475.
[108] Sanctus Maximus Confessor, Quaestiones et dubia, Q. I, 67: CCG 10, 155 (66: PG 90, 840).
[109] เทียบ มก 14:36; มธ 11:27; ยน 1:18; 8:55; ฯลฯ
[110] เทียบ มก 2:8; ยน 2 :25; 6:61; ฯลฯ
[111] เทียบ มก 8 :31; 9:31; 10:33-34; 14:18-20,26-30.
[112] เทียบ มก 13:32.
[113] เทียบ กจ 1:7.
[114] Cf. Concilium Constantinopolitanum III (anno 681), Sess. 18a, Definitio de duabus in Christo voluntatibus et operationibus: DS 556-559.
[115] Concilium Constantinopolitanum III, Sess. 18a, Definitio de duabus in Christo voluntatibus et operationibus: DS 556.
[116] Cf. Concilium Lateranense (anno 649), Canon 4: DS 504.
[117] เทียบ กท 3:1.
[118] Concilium Nicaenum II (anno 787), Act. 7a, Definitio de sacris imaginibus: DS 600-603.
[119] Cf. Praefatio in Nativitate Domini, II: Missale Romanum, editio typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1970) p. 396.
[120] Concilium Nicaenum II, Act. 7a, Definitio de sacris imaginibus: DS 601.
[121] เทียบ ยน 19:34.
[122] Pius XII, Litt.Enc. Haurietis aquas: DS 3924; cf. Id., Litt.Enc. Mystici corporis: DS 3812.
สรุป
สรุป
479 เมื่อถึงเวลาที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้ พระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระบิดา พระวจนาตถ์นิรันดร และภาพลักษณ์แท้จริงของพระบิดา ทรงรับสภาพมนุษย์ พระองค์ทรงรับสภาพมนุษย์ โดยที่มิได้ทรงละทิ้งพระธรรมชาติพระเจ้า
480 พระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็นพระเจ้าแท้และมนุษย์แท้ โดยมีพระบุคคลพระเจ้าเพียงพระบุคคลเดียว ดังนั้นจึงทรงเป็นคนกลางคนเดียวระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์
481 พระเยซูคริสตเจ้าทรงมีสองธรรมชาติ คือ พระธรรมชาติพระเจ้า และพระธรรมชาติมนุษย์ ซึ่งไม่ปะปนกัน แต่พระธรรมชาติทั้งสองนี้รวมกันอยู่ในพระบุคคลพระเจ้าเพียงพระบุคคลเดียว
482 พระคริสตเจ้า เนื่องจากทรงเป็นพระเจ้าแท้และมนุษย์แท้ ทรงพระสติปัญญาและเจตนาแบบมนุษย์ที่สอดคล้องและเชื่อฟังพระประสงค์ของพระเจ้าซึ่งทรงมีร่วมกับพระบิดาและพระจิตเจ้า
483 ดังนั้น การรับสภาพมนุษย์จึงเป็นพระธรรมล้ำลึกการรวมกันอย่างน่าพิศวงของพระธรรมชาติ
พระเจ้าและธรรมชาติมนุษย์อยู่ในพระบุคคลเดียวของพระวจนาตถ์
วรรค 2
“....ทรงปฏิสนธิเดชะพระจิตเจ้า
ทรงบังเกิดจากพระนางมารีย์พรหมจารี”
I. ทรงปฏิสนธิเดชะพระจิตเจ้า.....
I. ทรงปฏิสนธิเดชะพระจิตเจ้า.....
484 เมื่อทูตสวรรค์มาแจ้งข่าวแก่พระนางมารีย์ “เวลาที่กำหนดไว้” (กท 4:4) ก็มาถึง เป็นการทำให้พระสัญญาและการเตรียมสำเร็จลง พระนางมารีย์ทรงได้รับเชิญให้ปฏิสนธิพระองค์ซึ่งมี “พระเทวภาพบริบูรณ์สถิตอยู่ในสภาพมนุษย์” (คส 2:9) เมื่อพระนางถามว่า “เหตุการณ์นี้จะเป็นไปได้อย่างไร เพราะข้าพเจ้าตั้งใจจะเป็นพรหมจารี” (ลก 1:34) พระดำรัสตอบจากพระเจ้าก็คือ พระนางจะปฏิสนธิเดชะพระจิตเจ้า “พระจิตเจ้าจะเสด็จลงมาเหนือท่าน” (ลก 1:35)
485 พันธกิจของพระจิตเจ้าเกี่ยวข้องกับพันธกิจของพระบุตรและถูกจัดไว้สำหรับพันธกิจนี้เสมอ[123]พระจิตเจ้าซึ่งเป็น “องค์พระผู้เป็นเจ้าและผู้ประทานชีวิต” ทรงถูกส่งมาเพื่อบันดาลความศักดิ์สิทธิ์แก่พระครรภ์ของพระนางมารีย์พรหมจารีและบันดาลให้พระนางทรงครรภ์ปฏิสนธิพระบุตรของพระบิดานิรันดร ให้พระบุตรรับสภาพมนุษย์จากสภาพมนุษย์ของพระนาง
486 พระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระบิดาทรงปฏิสนธิเป็นมนุษย์ในพระครรภ์ของพระนางมารีย์พรหมจารี ทรงเป็น “พระคริสตเจ้า” นั่นคือทรงรับเจิมจากพระจิตเจ้า[124] ตั้งแต่แรกเริ่มที่ทรงความเป็นอยู่อย่างมนุษย์ แม้ว่าการแสดงความจริงประการนี้ค่อยๆ ปรากฏตามลำดับ แก่บรรดาผู้เลี้ยงแกะ[125] แก่โหราจารย์[126] แก่ยอห์นผู้ประกอบพิธีล้าง[127] แก่บรรดาศิษย์[128] ดังนั้น พระชนมชีพทั้งหมดของพระเยซูคริสตเจ้าจะแสดงให้ปรากฏว่า “พระเจ้าทรงเจิมพระเยซูเจ้าชาวนาซาเร็ธด้วยพระอานุภาพเดชะพระจิตเจ้า” (กจ 10:38)
[123] เทียบ ยน 16:14-15.
[124] เทียบ มธ 1:20; ลก 1:35.
[125] เทียบ ลก 2:8-20.
[126] เทียบ มธ 2:1-12.
[127] เทียบ ยน 1:31-34.
[128] เทียบ ยน 2:11.
II. ...ทรงบังเกิดจากพระนางมารีย์พรหมจารี
II. ...ทรงบังเกิดจากพระนางมารีย์พรหมจารี
487 ความจริงที่ชาวคาทอลิกเชื่อเกี่ยวกับพระนางมารีย์ตั้งอยู่บนความจริงของความเชื่อนี้เกี่ยวกับพระคริสตเจ้า แต่ความจริงที่ความเชื่อนี้สอนเกี่ยวกับพระนางมารีย์ยังอธิบายความเชื่อในพระคริสตเจ้าให้ชัดเจนด้วย
การทรงเลือกสรรพระนางมารีย์ไว้ล่วงหน้า
488 “พระเจ้าทรงส่งพระบุตรของพระองค์”(กท 4:4) แต่เพื่อทรงจัดเตรียมร่างกายไว้สำหรับพระบุตรนี้[129] พระองค์ทรงประสงค์ให้มนุษย์คนหนึ่งมีส่วนร่วมงานด้วย เพื่อการนี้ ตั้งแต่นิรันดร พระเจ้าทรงเลือกธิดาของอิสราเอล หญิงสาวชาวยิวจากเมืองนาซาเร็ธในแคว้นกาลิลี “หญิงพรหมจารีซึ่งหมั้นอยู่กับชายชื่อโยเซฟในราชวงศ์ของกษัตริย์ดาวิด หญิงพรหมจารีผู้นั้นชื่อมารีย์” (ลก 1:26-27) ให้เป็นพระมารดาของพระบุตรของพระองค์
“พระบิดาเจ้าผู้ทรงพระกรุณาทรงประสงค์ให้มีการยอมรับของพระมารดาก่อนที่พระบุตรจะทรงรับสภาพมนุษย์ ก็เพื่อว่า หญิงคนหนึ่งได้นำเรามนุษย์ไปสู่ความตายฉันใด หญิงอีกคนหนึ่งก็จะนำเราไปรับชีวิตฉันนั้น”[130]
489 ตลอดช่วงเวลาทั้งหมดของพันธสัญญาเดิม พันธกิจของสตรีศักดิ์สิทธิ์หลายคนได้เตรียมพันธกิจของพระนางมารีย์แล้ว ตั้งแต่แรกเริ่ม นางเอวาซึ่งแม้มิได้เชื่อฟังพระเจ้า ก็ได้รับพระสัญญาจากพระองค์ว่านางจะมีเชื้อสายผู้หนึ่งซึ่งจะมีชัยชนะต่อเจ้ามารร้าย[131] และรับพระสัญญาว่าจะเป็นมารดาของผู้มีชีวิตทั้งหลาย[132]จากพระสัญญานี้ แม้นางซาราห์จะชรามากแล้ว ก็ยังให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่ง[133]เหนือความคาดหมายของมนุษย์ พระเจ้าทรงเลือกสิ่งที่ใครๆ คิดว่าไร้พลังและอ่อนแอ[134] เพื่อทรงแสดงว่าทรงซื่อสัตย์ต่อพระสัญญา ทรงเลือกนางอันนา มารดาของซามูเอล[135]นางเดโบราห์ รูธ ยูดิธ เอสเธอร์ และสตรีอื่นๆ อีกหลายคน พระนางมารีย์ “ทรงเด่นในหมู่ผู้ต่ำต้อยและยากจนขององค์พระผู้เป็นเจ้า เขาเหล่านี้มีความมั่นใจหวังจะได้รับความรอดพ้นจากพระองค์ และก็ได้รับ ในที่สุด หลังจากที่ได้รอคอยพระสัญญามาเป็นเวลานาน กาลเวลาและแผนการกอบกู้แบบใหม่ก็สำเร็จลงในธิดาผู้สูงส่งแห่งศิโยนผู้นี้”[136]
การปฏิสนธินิรมล
490 เพื่อพระนางมารีย์จะได้เป็นพระมารดาของพระผู้ไถ่ พระนาง “ทรงได้รับพระพรจากพระเจ้าหลายประการที่เหมาะสมกับบทบาทยิ่งใหญ่เช่นนี้”[137] เมื่อทูตสวรรค์กาเบรียลมาแจ้งข่าวแก่พระนาง ได้กล่าวทักทายพระนางว่า “ท่านผู้ที่พระเจ้าโปรดปราน” (ตามสำนวนภาษาละตินว่า “เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน”)[138] จำเป็นอย่างยิ่งที่พระนางจะต้องได้รับการนำจากพระหรรษทาน (หรือความโปรดปราน) ของพระเจ้าเพื่อจะได้ตอบสนองการเรียกที่ได้รับแจ้งนี้ด้วยความเชื่ออย่างอิสระเสรี
491 ตลอดเวลาหลายศตวรรษในอดีต พระศาสนจักรมั่นใจว่าพระนางมารีย์เป็นผู้ที่ “พระเจ้าโปรดปราน” (“เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน”)[139] ให้รับการไถ่กู้ตั้งแต่ทรงปฏิสนธิ ข้อความเชื่อเรื่องการปฏิสนธินิรมลของพระนาง ที่สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 9 ทรงประกาศเมื่อปี ค.ศ. 1854 สอนว่า
“ตั้งแต่ทรงเริ่มปฏิสนธิ พระนางพรหมจารีมารีย์ทรงได้รับพระหรรษทานและอภิสิทธิพิเศษของพระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพ โดยทรงคำนึงถึงบุญบารมีของพระคริสต์เยซู พระผู้กอบกู้มนุษยชาติ ปกป้องไว้ให้พ้นจากมลทินทุกประการของบาปกำเนิด”[140]
492 ความรุ่งเรือง “ของความศักดิ์สิทธิ์พิเศษ” ที่พระนาง “ทรงได้รับตั้งแต่ขณะแรกที่ทรงปฏิสนธิ”[141] ทั้งหมดนี้ มาจากพระคริสตเจ้า พระนางทรง “ได้รับการไถ่กู้ด้วยวิธีการสูงส่งโดยคำนึงถึงพระบุญญาบารมีของพระบุตรของพระนาง”[142] พระบิดา “ทรงอวยพรพระนางโดยประทานพระพรนานาประการของพระจิตเจ้าจากสวรรค์เดชะพระคริสตเจ้า” (อฟ 1:3) มากกว่าบุคคลอื่นใดๆ พระองค์ “ทรงเลือกสรร” พระนาง “ในพระคริสตเจ้าแล้วตั้งแต่ก่อนการเนรมิตสร้างโลก เพื่อให้พระนางศักดิ์สิทธิ์และปราศจากมลทินเฉพาะพระพักตร์ของพระองค์ด้วยความรัก” (อฟ 1:4)
493 บรรดาปิตาจารย์ในธรรมประเพณีจารีตตะวันออกเรียกพระมารดาของพระเจ้าว่า “ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมด” (Panagian) ท่านเหล่านั้นกล่าวชมพระนางว่า “ทรงปลอดจากมลทินทุกอย่างของบาป เป็นดังสิ่งสร้างใหม่ที่พระจิตเจ้าทรงประดิษฐ์ขึ้นมา”[143] โดยพระหรรษทานของพระเจ้า พระนางมารีย์ยังทรงคงบริสุทธิ์จากบาปส่วนตัวตลอดพระชนมชีพของพระนางด้วย
“ขอให้เป็นไปกับข้าพเจ้าตามวาจาของท่านเถิด....”
494 เมื่อทรงได้รับแจ้งว่าพระนางจะให้กำเนิด “พระบุตรของพระเจ้าสูงสุด” อาศัยพระอานุภาพของพระจิตเจ้าทั้งที่ยังทรงเป็นพรหมจารีอยู่[144] พระนางมารีย์ก็ทรง “ปฏิบัติตามความเชื่อ”[145] ตอบโดยทรงทราบแน่ว่าไม่มีสิ่งใดที่พระเจ้าทรงกระทำไม่ได้ว่า “ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ขององค์พระผู้เป็นเจ้า ขอให้เป็นไปกับข้าพเจ้าตามวาจาของท่านเถิด” (ลก 1:38) ดังนี้ เมื่อพระนางมารีย์ทรงตอบสนองพระวาจาของพระเจ้า ก็ทรงเป็นพระมารดาของพระเยซูเจ้า และทรงถวายตนทั้งหมดแก่พระบุคคลและพันธกิจของพระบุตร โดยที่ไม่มีบาปใดหน่วงเหนี่ยวพระนางไว้ เพื่อจะได้รับใช้พระธรรมล้ำลึกการไถ่กู้ของพระบุตรโดยอยู่ใต้อำนาจและร่วมงานกับพระบุตรอาศัยพระหรรษทานของพระเจ้า[146]
นักบุญอีเรเนกล่าวไว้ว่า “เมื่อพระนางทรงเชื่อฟัง ก็ทรงเป็นเหตุของความรอดพ้นสำหรับพระนางเองและสำหรับมนุษยชาติทั้งหมด”[147]ดังนี้ ปิตาจารย์บางท่านยินดีกล่าวในบทเทศน์ของตนพร้อมกับท่านนักบุญว่า “ปมที่ความไม่เชื่อฟังของนางเอวาผูกไว้นั้นได้รับการแก้ออกแล้วโดยความเชื่อฟังของพระนางมารีย์ ปมที่นางเอวาพรหมจารีได้ผูกไว้ด้วยความไม่เชื่อ พระนางพรหมจารีมารีย์ก็ได้แก้ออกแล้วโดยความเชื่อ”[148] และเมื่อเปรียบเทียบกับนางเอวาแล้ว ท่านเหล่านั้นก็เรียกพระนางมารีย์ว่า “มารดาของผู้มีชีวิต” และยังกล่าวหลายครั้งอีกว่า “ความตาย(เข้ามา)ทางนางเอวา ชีวิต(เข้ามา)ทางพระนางมารีย์”[149]
พระนางมารีย์ทรงเป็นพระมารดาของพระเจ้า
495 พระนางมารีย์ ซึ่งในพระวรสารได้รับพระนามว่า “พระมารดาของพระเยซูเจ้า” (ยน 2:1; 19:25)[150] แม้ก่อนจะประสูติพระบุตร นางเอลีซาเบธก็ได้รับการดลใจจากพระจิตเจ้าประกาศว่าพระนางทรงเป็น “พระมารดาขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (ลก 1:43) แล้ว พระองค์ที่พระนางได้ปฏิสนธิเป็นมนุษย์เดชะพระจิตเจ้า และทรงรับสภาพมนุษย์มาเป็นพระบุตรของพระนางนี้ก็มิใช่ผู้ใดอื่นจากพระบุตรนิรันดรของพระบิดา พระบุคคลที่สองของพระตรีเอกภาพ พระศาสนจักรประกาศว่าพระนางมารีย์ทรงเป็นพระมารดาของพระเจ้า (Theotokos) โดยแท้จริง[151]
ความเป็นพรหมจารีของพระนางมารีย์
496 นับตั้งแต่สูตรแสดงความเชื่อแบบแรกๆ แล้ว[152] พระศาสนจักรประกาศว่าพระเยซูเจ้าทรงปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางพรหมจารีมารีย์เดชะพระอานุภาพของพระจิตเจ้า โดยยืนยันถึงลักษณะทางกายภาพของเหตุการณ์นี้ด้วยว่า พระเยซูเจ้าทรงปฏิสนธิ “เดชะพระจิตเจ้า[…]โดยไม่มีเชื้อพันธุ์ของมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย”[153] ในการปฏิสนธิจากพรหมจารีนี้ บรรดาปิตาจารย์แลเห็นเครื่องหมายจากการที่พระบุตรของพระเจ้าเสด็จมารับสภาพมนุษย์เหมือนกับสภาพมนุษย์ของเรา
นักบุญอิกญาซีโอแห่งอันทิโอค (ต้นศตวรรษที่ 2) กล่าวไว้ดังนี้ว่า “ข้าพเจ้าสังเกตเห็นว่าท่านทั้งหลายมีความเชื่อมั่นเต็มที่ว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าของเราโดยธรรมชาติมนุษย์ทรงบังเกิดโดยแท้จริงในราชวงศ์ของกษัตริย์ดาวิด[154] ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้าตามพระประสงค์และโดยพระอานุภาพของพระเจ้า[155] ทรงบังเกิดจริง ๆ จากหญิงพรหมจารี...พระกายถูกตะปูตรึงบนไม้กางเขนเพื่อพวกเราสมัยปอนทิอัส ปีลาต....ทรงรับทรมานโดยแท้จริงเพื่อจะทรงกลับคืนพระชนมชีพโดยแท้จริงด้วย”[156]
497 เรื่องที่เล่าในพระวรสาร[157]เข้าใจว่าการปฏิสนธิจากหญิงพรหมจารีเป็นผลงานของพระเจ้า ทั้งยังอยู่เหนือความเข้าใจและความสามารถของมนุษย์[158] ทูตสวรรค์บอกโยเซฟเรื่องมารีย์ซึ่งเป็นภรรยาว่า “เพราะเด็กที่ปฏิสนธิในครรภ์ของนางนั้นมาจากพระจิตเจ้า” (มธ 1:20) พระศาสนจักรมองเห็นเหตุการณ์นี้เป็นการทำให้พระสัญญาที่ประกาศกอิสยาห์เคยกล่าวไว้ (ตามสำนวนภาษากรีกของ มธ 1:23) สำเร็จไป “หญิงพรหมจารีจะตั้งครรภ์และจะคลอดบุตรชาย” (อสย 7:14)
498 บางครั้งหลายคนรู้สึกสับสนเรื่องการปฏิสนธิจากหญิงพรหมจารี เพราะพระวรสารของมาระโกและจดหมายต่างๆ ในพันธสัญญาใหม่ไม่กล่าวถึงเรื่องนี้ บางคนอาจคิดว่านี่เป็นเพียงนิยายหรือความคิดทางเทววิทยาที่แต่งขึ้นโดยอ้างว่าเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ เราต้องตอบข้อกังขานี้ว่า ความเชื่อเรื่องการปฏิสนธิของพระเยซูเจ้าจากหญิงพรหมจารีถูกโต้แย้ง ได้รับการเยาะเย้ย หรือความไม่เข้าใจอย่างรุนแรง ตลอดมาจากชาวยิวและชนต่างชาติผู้ไม่มีความเชื่อ[159] เรื่องนี้จึงไม่ได้เกิดมาจากตำนานเทพของคนต่างศาสนา หรือจากการปรับให้เข้ากับความคิดร่วมสมัย ความเชื่อเท่านั้นอาจเข้าใจความหมายของเหตุการณ์นี้ได้ ความเชื่อเข้าใจเหตุการณ์นี้ “ในความสัมพันธ์กันของพระธรรมล้ำลึกต่างๆ”[160] ในประมวลพระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้า นับตั้งแต่การรับสภาพมนุษย์จนถึงปัสกาของพระองค์ นักบุญอิกญาซีโอแห่งอันทิโอคก็เป็นพยานยืนยันถึงความสัมพันธ์นี้แล้วว่า “ความเป็นพรหมจารีของพระนางมารีย์และการที่พระนางประสูติพระบุตรถูกซ่อนไว้ไม่ให้เจ้านายของโลกนี้ได้เห็น เช่นเดียวกับการสิ้นพระชนม์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า พระธรรมล้ำลึกสามประการที่เราต้องประกาศนี้สำเร็จไปในความเงียบของพระเจ้า”[161]
พระนางมารีย์ “ผู้ทรงเป็นพรหมจารีเสมอ”
499 การไตร่ตรองลึกซึ้งยิ่งขึ้นถึงความเชื่อในการเป็นพระมารดาพรหมจารีทำให้พระศาสนจักรประกาศยืนยันว่าการเป็นพรหมจารีนี้เป็นความเป็นจริงและคงอยู่เสมอ[162] แม้ในการประสูติพระบุตรพระเจ้าผู้ทรงรับสภาพมนุษย์[163] อันที่จริง การสมภพของพระคริสตเจ้า “มิได้ทำให้ความบริสุทธิ์ผุดผ่องของพระนางด้อยลง แต่กลับทำให้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น”[164] พิธีกรรมของพระศาสนจักรจึงเฉลิมฉลองพระนางมารีย์ว่าทรงเป็น “aeiparthenos” หรือ “ทรงเป็นพรหมจารีเสมอ”[165]
500 บางครั้งมีผู้แย้งคำสอนนี้โดยอ้างว่าพระคัมภีร์กล่าวถึง “พี่น้องชายหญิง” ของพระเยซูเจ้า[166] พระศาสนจักรเข้าใจเสมอมาว่าข้อความเหล่านี้มิได้หมายถึงบุตรคนอื่นของพระนางพรหมจารีมารีย์ จริงแล้ว ยากอบและโยเซฟ “พี่น้อง” ของพระเยซูเจ้า (มธ 13:55) นี้เป็นบุตรของมารีย์อีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นศิษย์ของพระคริสตเจ้า[167] ซึ่งมัทธิวกล่าวถึงอย่างชัดเจนว่า “มารีย์อีกคนหนึ่ง” (มธ 28:1) ข้อความเหล่านี้จึงหมายถึงญาติใกล้ชิดตามสำนวนที่ใช้และรู้จักกันดีในพันธสัญญาเดิม[168]
501 พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระนางมารีย์ แต่ความเป็นพระมารดาฝ่ายจิตของพระนางมารีย์[169]แผ่ขยายครอบคลุมมนุษย์ทุกคนที่พระองค์เสด็จมาทรงกอบกู้ “พระนางประสูติพระบุตรซึ่งพระเจ้าทรงกำหนดให้เป็นบุตรคนแรกในบรรดาพี่น้องจำนวนมาก (เทียบ รม 8:29) ซึ่งหมายถึงผู้มีความเชื่อที่พระนางทรงร่วมมือให้กำเนิดและอบรมสั่งสอนด้วยความรักเยี่ยงมารดา”[170]
การที่พระนางมารีย์ทรงเป็นมารดาพรหมจารีอยู่ในแผนการของพระเจ้า
502 ถ้าพิจารณาความเชื่อร่วมกับเรื่องราวทั้งหมดที่พระเจ้าทรงเปิดเผย เราอาจค้นพบเหตุผลที่พระเจ้าทรงมีในแผนการความรอดพ้นเมื่อทรงประสงค์ให้พระบุตรทรงประสูติจากพระมารดาพรหมจารี เหตุผลเหล่านี้เกี่ยวข้องกับพระบุคลิกและพันธกิจกอบกู้ของพระคริสตเจ้า และยังขึ้นกับการยอมรับของพระนางมารีย์เพื่อจะมีส่วนร่วมในพันธกิจนี้เพื่อมวลมนุษย์อีกด้วย
503 สภาพความเป็นพรหมจารีของพระนางมารีย์แสดงให้ปรากฏอย่างชัดเจนว่าพระเจ้าทรงเป็นผู้ริเริ่มอย่างสมบูรณ์ในการที่พระวจนาตถ์ทรงรับสภาพมนุษย์ พระเยซูเจ้าทรงมีพระเจ้าเท่านั้นเป็นพระบิดา[171] “พระองค์ไม่ทรงแตกต่างจากพระบิดาเลยเพราะพระธรรมชาติมนุษย์ที่ทรงรับเพื่อกอบกู้มนุษย์ [….] พระองค์ทรงเป็นพระบุตรองค์เดียวทั้งของพระเจ้าและของมนุษย์ ทรงมีพระธรรมชาติพระเจ้าเหมือนพระบิดา และทรงมีพระธรรมชาติมนุษย์เหมือนพระมารดา แต่ทรงเป็นพระบุตรของพระบิดาโดยแท้จริงในทั้งสองพระธรรมชาติ”[172]
504 พระเยซูเจ้าทรงปฏิสนธิในพระครรภ์พระนางพรหมจารีมารีย์เดชะพระจิตเจ้าเพราะทรงเป็นอาดัมคนใหม่[173] ซึ่งทรงสถาปนาการเนรมิตสร้างใหม่ “มนุษย์คนแรกมาจากดิน เป็นมนุษย์ดิน มนุษย์คนที่สองมาจากสวรรค์”(1 คร 15:47) พระธรรมชาติมนุษย์ของพระคริสตเจ้านับตั้งแต่ทรงปฏิสนธิได้รับพระจิตเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม เพราะพระเจ้า “ประทานพระจิตเจ้าให้พระองค์อย่างไม่จำกัด” (ยน 3:34) “จากความไพบูลย์ของพระองค์” ความไพบูลย์ซึ่งเป็นของพระองค์โดยเฉพาะเพราะทรงเป็นประมุขของมนุษยชาติที่ได้รับการไถ่กู้แล้ว[174]
“เราทุกคนได้รับพระหรรษทานต่อเนื่องกัน” (ยน1:16)
505 พระเยซูเจ้า อาดัมคนใหม่ ทรงใช้การที่ทรงปฏิสนธิจากพระมารดาพรหมจารีเพื่อสถาปนาการบังเกิดใหม่ของบรรดาบุตรบุญธรรมในพระจิตเจ้าอาศัยความเชื่อ “เหตุการณ์นี้จะเป็นไปได้อย่างไร” (ลก 1:34)[175] การมีส่วนร่วมในชีวิตของพระเจ้าไม่ได้ “เกิดจากสายเลือด มิได้เกิดจากความปรารถนาตามธรรมชาติ มิได้เกิดจากความต้องการของมนุษย์ แต่เกิดจากพระเจ้า” (ยน 1:13) ชีวิตนี้ได้รับมาประหนึ่งจากหญิงพรหมจารี เพราะพระเจ้าประทานให้แก่มนุษย์จากพระจิตเจ้า ความหมายของการที่มนุษย์ได้รับเรียกมามีความสัมพันธ์คล้ายการหมั้นไว้กับพระเจ้า[176]สำเร็จสมบูรณ์ไปในการที่พระนางมารีย์ทรงเป็นพระมารดาพรหมจารี
506 พระนางมารีย์ทรงเป็นพรหมจารีเพราะการเป็นพรหมจารีของพระนางเป็นเครื่องหมายความเชื่อ “ที่ไม่มีความสงสัยใดๆ เจือปน”[177] และเป็นการมอบตนปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้าโดยไม่แบ่งแยก[178] ความเชื่อของพระนางทำให้พระนางทรงเป็นพระมารดาของพระผู้ไถ่ “พระนางมารีย์ทรงเป็นสุขเพราะทรงมีความเชื่อในพระคริสตเจ้ายิ่งกว่าเพราะทรงปฏิสนธิพระวรกายของพระคริสตเจ้า”[179]
507 พระนางมารีย์ทรงเป็นทั้งพรหมจารีและมารดาเพราะทรงเป็นภาพลักษณ์และความเป็นจริงที่สมบูรณ์ของพระศาสนจักร[180] “เมื่อพระศาสนจักร […] รับพระวาจาของพระเจ้าด้วยความเชื่อ ก็เป็นมารดา เพราะโดยการประกาศพระวาจาและอาศัยศีลล้างบาป ก็ให้กำเนิดบุตรที่ปฏิสนธิเดชะพระจิตเจ้า และบังเกิดจากพระเจ้า ทำให้มี[181] ชีวิตใหม่และอมต พระศาสนจักรเองก็เป็นดังพรหมจารีซึ่งรักษาความซื่อสัตย์ที่ให้แก่พระสวามีไว้อย่างสมบูรณ์และบริสุทธิ์”
[129] เทียบ ฮบ 10:5.
[130] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 56: AAS 57 (1965) 60; cf. Ibid., 61: AAS 57 (1965) 63.
[131] เทียบ ปฐก 3:15.
[132] เทียบ ปฐก 3:20.
[133] เทียบ ปฐก 18:10-14; 21:1-2.
[134] เทียบ 1 คร 1:27.
[135] เทียบ 1 ซมอ 1.
[136] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 55: AAS 57 (1965) 59-60.
[137] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 56: AAS 57 (1965) 60.
[138] เทียบ ลก 1:28.
[139] เทียบ ลก 1:28.
[140] Pius IX, Bulla Ineffabilis Deus: DS 2803.
[141] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 56: AAS 57 (1965) 60.
[142] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 53: AAS 57 (1965) 58.
[143] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 56: AAS 57 (1965) 60.
[144] เทียบ ลก 1:28-37.
[145] เทียบ รม 1:5.
[146] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 56: AAS 57 (1965) 60-61.
[147] Sanctus Irenaeus Lugdunensis, Adversus haereses 3, 22, 4: SC 211, 440 (PG 7, 959).
[148] Cf. Sanctus Irenaeus Lugdunensis, Adversus haereses 3, 22, 4: SC 211, 442-444 (PG 7, 959-960).
[149] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 56: AAS 57 (1965) 60-61.
[150] เทียบ มธ 13:55.
[151] Cf. Concilium Ephesinum, Epistula II Cyrilli Alexandrini ad Nestorium: DS 251.
[152] Cf. DS 10-64.
[153] Concilium Lateranense (anno 649), Canon 3: DS 503.
[154] เทียบ รม 1:3.
[155] เทียบ ยน 1:13.
[156] Sanctus Ignatius Antiochenus, Epistula ad Smyrnaeos 1-2: SC 10bis, p. 132-134 (Funk 1, 274-276).
[157] เทียบ มธ 1:18-25; ลก 1:26-38.
[158] เทียบ ลก 1:34.
[159] Cf. Sanctus Iustinus, Dialogus cum Tryphone Iudaeo 66-67: CA 2, 234-236 (PG 6, 628-629); Origenes, Contra Celsum, 1, 32: SC 132, 162-164 (PG 8, 720-724); Ibid., 1, 69: SC 132, 270 (PG 8, 788-789); et alii.
[160] Concilium Vaticanum I, Const. dogm. Dei Filius, c.4: DS 3016.
[161] Sanctus Ignatius Antiochenus, Epistula ad Ephesios 19, 1: SC 10bis, 74 (Funk 1, 228); เทียบ 1 คร 2:8.
[162] Cf. Concilium Constantinopolitanum II, Sess. 8a, Canon 6: DS 427.
[163] Cf. Sanctus Leo Magnus, Tomus ad Flavianum: DS 291; Ibid.: DS 294; Pelagius I, Epistula Humani generis: DS 442; Concilium Lateranense, Canon 3: DS 503; Concilium Toletanum XVI, Symbolum: DS 571; Paulus VI, Const. Cum quorumdam hominum: DS 1880.
[164] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 57: AAS 57 (1965) 61.
[165] Cf. Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 52: AAS 57 (1965) 58.
[166] เทียบ มก 3:31-35; 6:3; 1 คร 9:5; กท 1:19.
[167] เทียบ มธ 27:56.
[168] เทียบ ปฐก 13:8; 14:16; 29:15; ฯลฯ
[169] เทียบ ยน 19:26-27; วว 12:17.
[170] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 63: AAS 57 (1965) 64.
[171] เทียบ ลก 2:48-49.
[172] Concilium Foroiuliense (anno 796 vel 797), Symbolum: DS 619.
[173] เทียบ 1 คร 15:45.
[174] เทียบ คส 1:18.
[175] เทียบ ยน 3:9.
[176] เทียบ 2 คร 11:2.
[177] Cf. Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 63: AAS 57 (1965) 64.
[178] เทียบ 1 คร 7:34-35.
[179] “Beatior ergo Maria percipiendo fidem Christi quam concipiendo carnem Christi”: Sanctus Augustinus, De sancta virginitate 3,3: CSEL 41,237 (PL 40,398).
[180] Cf. Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 63: AAS 57 (1965) 64.
[181] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 63: AAS 57 (1965) 64.
สรุป
สรุป
508 พระเจ้าทรงเลือกสรรพระนางพรหมจารีมารีย์จากเชื้อสายของนางเอวาให้เป็นพระมารดาพระบุตรของพระองค์ พระนางทรง “เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน” ทรงเป็น “ผลประเสริฐสุดของการกอบกู้[182] นับตั้งแต่ทรงปฏิสนธิ พระเจ้าทรงปกป้องพระนางไว้ให้พ้นจากมลทินทั้งสิ้นของบาปกำเนิดและพระนางทรงดำรงอยู่บริสุทธิ์จากบาปส่วนตัวทั้งหลายตลอดพระชนมชีพของพระนาง
509 พระนางมารีย์ทรงเป็น “พระมารดาพระเจ้า” โดยแท้จริง เพราะพระนางทรงเป็นพระมารดาพระบุตรนิรันดรของพระเจ้า พระบุตรซึ่งทรงเป็นพระเจ้าได้ทรงรับสภาพเป็นมนุษย์
510 พระนางมารีย์ทรงเป็นพรหมจารีอยู่เสมอ “ทรงเป็นพรหมจารีเมื่อทรงปฏิสนธิพระบุตร ทรงเป็นพรหมจารีเมื่อทรงประสูติพระบุตร ทรงเป็นพรหมจารีเมื่อทรงครรภ์ ทรงเป็นพรหมจารีเมื่อทรงเลี้ยงดูพระบุตร ทรงเป็นพรหมจารีตลอดไป”[183] ทรงเป็น “ผู้รับใช้ขององค์พระผู้เป็นเจ้า” อย่างสมบูรณ์ (ลก 1:38)
511 พระนางมารีย์พรหมจารีทรงร่วมงานกับพระเจ้า “เพื่อความรอดของมนุษยชาติด้วยความเชื่อและความเชื่อฟังอย่างอิสระ”[184] พระนางทรงตอบรับพระเจ้า “แทนมวลมนุษยชาติ”[185] โดยความเชื่อฟัง พระนางจึงกลายเป็นนางเอวาใหม่ มารดาของผู้มีชีวิตทั้งหลาย.
[182] Cf. Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 103: AAS 56 (1964) 125.
[183] Sanctus Augustinus, Serni 186,1: PL38,999.
[184] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 56: AAS 57 (1965) 60.
[185] Sanctus Thomas Aquinas, Summa theologiae 3,q. 30, a. 1,c: Ed. Leon. 11, 315.
วรรค 3
พระธรรมล้ำลึกพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า
512 สูตรยืนยันความเชื่อไม่กล่าวถึงพระชนมชีพของพระคริสตเจ้านอกจากพระธรรมล้ำลึกเรื่องการรับสภาพมนุษย์ (การปฏิสนธิและการประสูติ) และพระธรรมล้ำลึกปัสกา (พระทรมาน การทรงถูกตรึงกางเขน การสิ้นพระชนม์และถูกฝัง การเสด็จลงไปยังแดนผู้ตาย การกลับคืนพระชนมชีพและการเสด็จสู่สวรรค์) แต่ไม่กล่าวอะไรอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับพระธรรมล้ำลึกการดำรงพระชนมชีพซ่อนเร้นและพระพันธกิจเทศน์สอนประชาชนของพระเยซูเจ้า ถึงกระนั้น ข้อความเชื่อที่กล่าวถึงการรับสภาพมนุษย์และปัสกาของพระเยซูเจ้าก็อธิบายพระชนมชีพทั้งหมดของพระคริสตเจ้าในโลกนี้ เราต้องพิจารณาทุกสิ่ง “ที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำและสั่งสอน เริ่มตั้งแต่ต้นจนกระทั่งถึงวันที่พระองค์ทรงได้รับการยกขึ้นสวรรค์” (กจ 1:1-2) โดยคำนึงถึงพระธรรมล้ำลึกการสมภพและปัสกานี้
513 การสอนคำสอนจะต้องอธิบายข้อมูลพระธรรมล้ำลึกที่เรามีมากมายเกี่ยวกับพระเยซูเจ้าตามโอกาสต่างๆ ที่ตรงนี้จึงเพียงพอแล้วที่จะชี้แจงเพียงองค์ประกอบทั่วๆ ไปบางเรื่องเกี่ยวกับพระธรรมล้ำลึกทั้งหมดของพระชนมชีพพระคริสตเจ้า (I) แล้วจึงกล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญในพระชนมชีพซ่อนเร้น (II) และพระชนมชีพเปิดเผย (III) ของพระเยซูเจ้า
I. พระชนมชีพทั้งหมดของพระคริสตเจ้าเป็นพระธรรมล้ำลึก
I. พระชนมชีพทั้งหมดของพระคริสตเจ้าเป็นพระธรรมล้ำลึก
514 เรื่องราวหลายเรื่องที่เราอยากรู้เกี่ยวกับพระเยซูเจ้าไม่มีบันทึกไว้ในพระวรสาร พระวรสารแทบจะไม่ได้เล่าอะไรเลยเกี่ยวกับพระชนมชีพของพระองค์ที่เมืองนาซาเร็ธ และส่วนใหญ่ของพระชนมชีพเปิดเผยของพระองค์ก็ไม่มีเล่าไว้เลย[186] เรื่องราวที่พระวรสารบันทึกไว้ก็ถูกเล่า “เพื่อท่านทั้งหลายจะได้เชื่อว่าพระเยซูเจ้าเป็นพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้า และเมื่อมีความเชื่อนี้แล้ว ท่านทั้งหลายก็จะมีชีวิตเดชะพระนามของพระองค์” (ยน 20:31)
515 พระวรสารเขียนขึ้นโดยคนรุ่นแรกๆ ที่เข้ามารับความเชื่อ[187] และต้องการแบ่งปันความเชื่อนี้แก่ผู้อื่น เมื่อเขารู้โดยอาศัยความเชื่อว่าพระเยซูเจ้าคือใครแล้ว เขาก็อาจแลเห็นและช่วยให้ผู้อื่นแลเห็นร่องรอยพระธรรมล้ำลึกเกี่ยวกับพระองค์ในพระชนมชีพบนแผ่นดินนี้ของพระองค์ได้ชัดเจน ทุกสิ่งทุกอย่างในพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า ทุกสิ่งทุกอย่าง นับตั้งแต่ผ้าอ้อมที่หุ้มห่อพระวรกายเพื่อทรงสมภพ[188] จนถึงน้ำองุ่นเปรี้ยวเมื่อทรงรับทรมาน[189] ผ้าห่อพระศพในพระคูหา เมื่อทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว[190] ล้วนเป็นเครื่องหมายถึงพระธรรมล้ำลึกของพระองค์ พระภารกิจและการอัศจรรย์ที่ทรงกระทำ พระวาจาที่ตรัสล้วนเปิดเผยว่า “ในพระองค์นั้น พระเทวภาพบริบูรณ์สถิตอยู่ในสภาพมนุษย์ที่สัมผัสได้” (คส 2:9) ดังนี้ มนุษยภาพของพระองค์จึงปรากฏเป็นเสมือน “ศีลศักดิ์สิทธิ์” นั่นคือ เครื่องหมายและเครื่องมือที่พระเทวภาพของพระองค์ทรงใช้นำความรอดพ้นมาประทานแก่มนุษยชาติ และปรากฏให้เห็นในพระชนมชีพในโลกนี้ นำเราเข้าไปสัมผัสกับพระธรรมล้ำลึกที่เรามองเห็นไม่ได้ว่าทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้าและทรงรับพันธกิจมากอบกู้มนุษยชาติให้รอดพ้น
คุณลักษณะทั่วไปของพระธรรมล้ำลึกของพระเยซูเจ้า
516 พระชนมชีพทั้งหมดของพระคริสตเจ้า พระวาจาและพระภารกิจ ความเงียบและพระทรมาน วิธีการเป็นอยู่ วิธีตรัสของพระองค์ เป็นการเปิดเผยพระบิดาให้เรารู้จัก พระเยซูเจ้าจึงตรัสได้ว่า “ผู้ที่เห็นเราก็เห็นพระบิดาด้วย” (ยน 14:19) พระบิดายังตรัสอีกว่า “ท่านผู้นี้เป็นบุตรของเรา ผู้ที่เราเลือกสรร จงฟังท่านเถิด” (ลก 9:35) เนื่องจากว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทรงรับสภาพมนุษย์เพื่อปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดา[191] ลักษณะแม้เพียงเล็กน้อยจากพระธรรมล้ำลึกของพระองค์จึงแสดงให้เราเห็นความรักที่พระเจ้าทรงมีต่อเรา[192]
517 พระชนมชีพทั้งหมดของพระคริสตเจ้าเป็นพระธรรมล้ำลึกแห่งการไถ่กู้ การไถ่กู้มาถึงเราโดยเฉพาะโดยทางพระโลหิตที่ทรงหลั่งบนไม้กางเขน[193] แต่พระธรรมล้ำลึกนี้ทำงานอยู่ตลอดพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า นับตั้งแต่การที่ทรงรับสภาพเป็นมนุษย์ ที่ทรงยอมกลายเป็นคนยากจนเพื่อเราจะได้ร่ำรวยเพราะความยากจนของพระองค์[194] ในพระชนมชีพซ่อนเร้น พระองค์ทรงยอมเชื่อฟัง[195] เพื่อชดเชยความไม่เชื่อฟังของเรา ในพระวาจาที่ชำระเราผู้ฟังให้สะอาด[196] ในการที่ทรงรักษาคนเจ็บป่วยและขับไล่ปีศาจที่ “พระองค์ทรงรับเอาความอ่อนแอของเราไว้ และทรงแบกความเจ็บป่วยของเรา” (มธ 8:17)[197] ในการทรงกลับคืนพระชนมชีพที่ทรงทำให้เราเป็นผู้ชอบธรรม[198]
518 ตลอดทั้งพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าคือพระธรรมล้ำลึกแห่งการเริ่มต้นใหม่ (recapitulationis mysterium) ทุกสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำ ตรัส และทรงรับทรมาน มีจุดประสงค์เพื่อทำให้มนุษยชาติที่ตกในบาปได้กลับสู่สภาพเดิมดังที่ได้รับเรียกตั้งแต่แรกเริ่ม
“เมื่อ(พระวจนาตถ์)ทรงรับสภาพมนุษย์แล้ว พระองค์ทรงรับเอาประวัติศาสตร์ยาวนานของมนุษยชาติมาไว้กับพระองค์ และทรงเสนอ “ทางลัด” ไปสู่ความรอดพ้นให้แก่เรา เพื่อว่าสิ่งที่อาดัมทำให้เราสูญเสียไป คือการที่เรามีภาพลักษณ์และความเหมือนกับพระเจ้า เราจะได้รับสิ่งนี้กลับคืนมาในพระคริสต์เยซู”[199] “เพราะเหตุนี้ พระองค์จึงทั้งทรงผ่านทุกขั้นตอนของชีวิต และทรงคืนชีวิตนี้ซึ่งเป็นความสัมพันธ์กับพระเจ้าให้แก่ทุกคน”[200]
ความสัมพันธ์ของเรากับพระธรรมล้ำลึกของพระเยซูเจ้า
519 ความร่ำรวยทุกอย่างของพระคริสตเจ้ามีอยู่สำหรับมนุษย์ทุกคนและเป็นสมบัติของมนุษย์ทุกคน[201] พระคริสตเจ้ามิได้ทรงพระชนม์อยู่เพื่อพระองค์เอง แต่เพื่อเรา นับตั้งแต่ทรงรับสภาพมนุษย์ “เพราะเห็นแก่เรามนุษย์ เพื่อทรงช่วยเราให้รอดพ้น”[202] จนถึงเวลาที่ทรงสิ้นพระชนม์ “เพราะบาปของเรา”(1คร 15:3) และทรงกลับคืนพระชนมชีพ “เพื่อให้เราเป็นคนชอบธรรม” (รม 4:25) จนทุกวันนี้ พระองค์ยังทรงเป็นทนายแก้ต่างให้เรา “เฉพาะพระพักตร์ของพระบิดา” (1 ยน 2:1) “ทรงพระชนม์อยู่เป็นนิจเพื่อทูลขอพระกรุณา” ให้เรา (ฮบ 7:25) พระองค์ทรงปรากฏอยู่ “เฉพาะพระพักตร์ของพระเจ้า” (ฮบ 9:24) พร้อมกับทุกสิ่งที่ทรงดำเนินพระชนมชีพและทรงรับทรมานเพื่อพวกเราเพียงครั้งเดียวสำหรับตลอดไป
520 ตลอดพระชนมชีพของพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์เป็นแบบฉบับของเรา[203] พระองค์ทรงเป็น “มนุษย์ครบครัน”[204] และทรงเชื้อเชิญเราให้เป็นศิษย์ติดตามพระองค์ พระองค์ประทานแบบฉบับให้เราปฏิบัติตามโดยการถ่อมพระองค์[205] ทรงอธิษฐานภาวนาเป็นตัวอย่างการอธิษฐานภาวนา[206] ทรงเรียกเราให้เอาอย่างความยากจนของพระองค์โดยยอมรับความขัดสนและการถูกเบียดเบียน[207]
521 พระคริสตเจ้าทรงบันดาลให้เราดำเนินชีวิตของเราในพระองค์ดังที่พระองค์ทรงดำเนิน และพระองค์ทรงดำเนินพระชนมชีพในเรา “โดยการรับสภาพเป็นมนุษย์ เราอาจกล่าวได้ว่าพระบุตรของพระเจ้าทรงร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับมนุษย์แต่ละคน”[208] เราได้รับเรียกเพื่อให้มาเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ พระองค์ทรงทำให้เราเป็นเสมือนส่วนต่างๆ แห่งพระวรกายของพระองค์ เราจะได้มีส่วนร่วมการที่ทรงดำเนินพระชนมชีพในสภาพมนุษย์เพื่อเราและเป็นตัวอย่างของเรา
“เราต้องพยายามทำให้สถานะและพระธรรมล้ำลึกของพระเยซูเจ้าสำเร็จเป็นจริงในตัวเรา และวอนขอพระองค์บ่อยๆ ให้พระธรรมล้ำลึกเหล่านี้สำเร็จเป็นจริงอย่างสมบูรณ์ในตัวเราและในพระศาสนจักรสากล.....เพราะพระบุตรของพระเจ้าทรงประสงค์ให้เราและพระศาสนจักรทั้งหมดมีส่วนในพระธรรมล้ำลึกเหล่านี้และทำให้พระธรรมล้ำลึกนี้แผ่ขยายไปในตัวเราและทั่วพระศาสนจักร...โดยพระหรรษทานที่ทรงประสงค์ประทานแก่เราเพื่อเราจะได้ทำให้พระธรรมล้ำลึกนี้บังเกิดผลตามพระประสงค์”[209]
[186] เทียบ ยน 20:30.
[187] เทียบ มก 1:1; ยน 21:24.
[188] เทียบ ลก 2:7.
[189] เทียบ มธ 27:48.
[190] เทียบ ยน 20:7.
[191] เทียบ ฮบ 10:5-7.
[192] เทียบ 1 ยน 4:9.
[193] เทียบ อฟ 1:7 ; คส 1:13-14 (Vulgata); 1 ปต 1:18-19.
[194] เทียบ 2 คร 8:9.
[195] เทียบ ลก 2:51.
[196] เทียบ ยน 15:3.
[197] เทียบ อสย 53:4.
[198] เทียบ รม 4:25.
[199] Sanctus Irenaeus Lugdunensis, Adversus haereses 3, 18, 1: SC 211, 342-344 (PG 7, 932).
[200] Sanctus Irenaeus Lugdunensis, Adversus haereses 3, 18, 1: SC 211, 366 (PG 7, 937); cf. Id., Adversus haereses 2, 22, 4: SC 294,220-222 (PG 7, 784).
[201] Cf. Ioannes Paulus II, Litt. Enc. Redemptor hominis, 11: AAS 71 (1979) 278.
[202] Symbolum Nicaenum-Constantinopolitanum: DS 150.
[203] เทียบ รม 15:5; ฟป 2:5.
[204] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 38: AAS 58 (1966) 1055.
[205] เทียบ ยน 13:15.
[206] เทียบ ลก 11:1.
[207] เทียบ มธ 5:11-12.
[208] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 22: AAS 58 (1966) 1042.
[209] Sanctus Ioannes Eudes, Le royaume de Jésus, 3,4: Œuvres complètes, v. 1 (Vannes 1905) p. 310-311.
II. พระธรรมล้ำลึกเรื่องปฐมวัยและพระชนมชีพซ่อนเร้น
II. พระธรรมล้ำลึกเรื่องปฐมวัยและพระชนมชีพซ่อนเร้น
การจัดเตรียมจากพระเจ้า
522 การเสด็จมาของพระบุตรพระเจ้าในโลกเป็นเหตุการณ์ยิ่งใหญ่ พระเจ้าจึงทรงประสงค์จัดเตรียมเหตุการณ์นี้แล้วเป็นเวลาหลายศตวรรษ พระองค์ทรงจัดให้ทุกสิ่งทุกอย่าง คือจารีตพิธีและการถวายบูชา รูปแบบและสัญลักษณ์ “ในพันธสัญญาเดิม”[210] ล้วนมุ่งหาพระคริสตเจ้าพระองค์ทรงใช้ปากของบรรดาประกาศกซึ่งปฏิบัติภารกิจสืบต่อกันมาในอิสราเอลแจ้งให้มนุษย์ทราบเรื่องนี้ นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงปลุกให้นานาชาติมีความหวังแม้จะไม่ชัดเจนนักอยู่ในใจถึงการเสด็จมาของพระบุตรนี้อีกด้วย
523 พระเจ้าทรงส่งนักบุญยอห์นผู้ทำพิธีล้างเป็นผู้นำหน้าคนสุดท้ายขององค์พระผู้เป็นเจ้า[211]เพื่อเตรียมทางให้พระองค์ท่าน[212] ท่านยอห์นในฐานะ “ประกาศกของพระผู้สูงสุด” (ลก 1:76) ยิ่งใหญ่กว่าบรรดาประกาศกทั้งหลาย[213] และเป็นประกาศกคนสุดท้าย[214] เป็นผู้เริ่มประกาศข่าวดี (หรือพระวรสาร)[215] ตั้งแต่จากครรภ์มารดาแล้วท่านต้อนรับการเสด็จมาของพระคริสตเจ้า[216] และมีความยินดีที่ได้เป็นเสมือน “เพื่อนเจ้าบ่าว” (ยน 3:29) ซึ่งได้รับนามว่า “ลูกแกะของพระเจ้า ผู้ทรงลบล้างบาปของโลก” (ยน 1:29) ท่าน “มีจิตใจและพลังของประกาศกเอลียาห์”(ลก 1:17) นำหน้าพระเยซูเจ้า เป็นพยานยืนยันถึงพระองค์โดยการเทศน์สอน โดยประกอบพิธีล้างให้ประชาชนกลับใจ และในที่สุดโดยการเป็นมรณสักขีของท่านด้วย[217]
524 พระศาสนจักรซึ่งเฉลิมฉลองพิธีกรรมเทศกาลเตรียมรับเสด็จทุกๆ ปีนั้น ทำให้การรอคอยพระเมสสิยาห์นี้เป็นปัจจุบัน เมื่อพระศาสนจักรแจ้งให้บรรดาผู้มีความเชื่อรู้ถึงการเตรียมอันยาวนานรอคอยการเสด็จมาครั้งแรกของพระผู้กอบกู้ ก็ปลุกจิตใจของทุกคนให้ปรารถนารอคอยให้พระองค์เสด็จมาอีกครั้งหนึ่ง[218] เมื่อพระศาสนจักรเฉลิมฉลองทั้งการบังเกิดและการเป็นมรณสักขีของท่านยอห์นผู้นำหน้าพระผู้ไถ่ พระศาสนจักรก็มีส่วนร่วมในความปรารถนาของท่านที่ว่า “พระองค์จะต้องทรงยิ่งใหญ่ขึ้น ส่วนข้าพเจ้าจะต้องด้อยลง” (ยน 3:30)
พระธรรมล้ำลึกการสมภพ
525 พระเยซูเจ้าทรงสมภพในคอกสัตว์ต่ำต้อย จากครอบครัวยากจน[219] บรรดาคนเลี้ยงแกะธรรมดาเป็นพยานรู้เห็นเหตุการณ์นี้ แต่พระสิริรุ่งโรจน์จากสวรรค์ปรากฏมาในความยากจนเช่นนี้[220]พระศาสนจักรจึงยังคงขับร้องของคืนนี้ต่อมาไม่หยุดว่า
“วันนี้พระนางพรหมจารีทรงประสูติพระเจ้าสูงสุด
แผ่นดินถวายถ้ำแก่พระผู้ที่มนุษย์ไม่อาจเข้าถึงได้
บรรดาทูตสวรรค์ถวายเกียรติแด่พระองค์พร้อมกับบรรดาผู้เลี้ยงแกะ
บรรดาโหราจารย์เดินทางมาพร้อมกับดวงดาว
เพราะพระกุมารน้อย ทรงสมภพเพื่อเรา
พระองค์ทรงเป็นพระเจ้านิรันดร”[221]
526 “การกลับเป็นเด็ก” ในความสัมพันธ์กับพระเจ้าเป็นเงื่อนไขเพื่อจะเข้าพระอาณาจักรได้[222] เพื่อจะทำเช่นนี้ได้ จึงจำเป็นต้องถ่อมตน[223] กลายเป็นคนไม่มีความสำคัญ ยิ่งกว่านั้นยังจำเป็นต้อง “เกิดใหม่” (ยน 3:7) คือเกิดจากพระเจ้า[224] เพื่อใครคนหนึ่งจะเป็นบุตรของพระเจ้าได้[225]พระธรรมล้ำลึกการสมภพของพระคริสตเจ้าจะสำเร็จสมบูรณ์ก็เมื่อพระคริสตเจ้า “จะปรากฏอยู่ในเราอย่างชัดเจน”[226] การสมภพของพระเยซูเจ้าจึงเป็นพระธรรมล้ำลึกแห่ง “การแลกเปลี่ยนน่าพิศวง” นี้
“การแลกเปลี่ยนเช่นนี้น่าพิศวงจริง พระผู้เนรมิตสร้างมนุษยชาติทรงรับร่างกายที่มีชีวิตมาบังเกิดจากพระนางพรหมจารี และเมื่อทรงถ่อมพระองค์สมภพเป็นมนุษย์ พระองค์ก็ประทานพระเทวภาพของพระองค์ให้แก่เรา”[227]
พระธรรมล้ำลึกปฐมวัยของพระเยซูเจ้า
527 การรับพิธีสุหนัตของพระเยซูเจ้าในวันที่แปดหลังจากทรงสมภพ[228] เป็นเครื่องหมายว่าพระองค์ทรงเข้ามาเป็นลูกหลานของอับราฮัม เป็นสมาชิกของประชากรที่พระเจ้าทรงทำพันธสัญญาด้วย ทรงอยู่ใต้ธรรมบัญญัติ[229] เพื่อทรงมีส่วนร่วมในคารวกิจของอิสราเอลตลอดพระชนมชีพของพระองค์ เครื่องหมายนี้บอกล่วงหน้าถึงศีลล้างบาป ซึ่งเป็นเสมือน “พิธีสุหนัตที่มาจากพระคริสตเจ้า”[230]
528 การที่พระเยซูกุมารทรงแสดงองค์(แก่บรรดาโหราจารย์)เป็นการที่พระเยซูเจ้า ในฐานะที่ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ของอิสราเอล ทรงสำแดงพระองค์เป็นพระบุตรของพระเจ้าและเป็นพระผู้กอบกู้โลก การสมโภชนี้เฉลิมฉลองการที่บรรดา “โหราจารย์” จากทิศตะวันออกมานมัสการพระเยซูกุมาร[231] พร้อมกันนั้นยังเฉลิมฉลองการที่พระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้างที่แม่น้ำจอร์แดนและงานมงคลสมรสที่หมู่บ้านคานา[232] ในบรรดา “โหราจารย์” เหล่านี้ พระวรสารแลเห็นผู้แทนศาสนาของชนต่างชาติที่อยู่โดยรอบนั้นเป็นคนกลุ่มแรกที่รับข่าวดีถึงความรอดพ้น(ของมนุษยชาติ)ซึ่งพระเยซูคริสตเจ้าทรงนำมาให้โดยการทรงรับสภาพเป็นมนุษย์ การที่บรรดาโหราจารย์มาที่กรุงเยรูซาเล็มเพื่อนมัสการกษัตริย์ของชาวยิว[233]แสดงให้เห็นว่าเขาเหล่านั้นได้รับแรงบันดาลใจจากดวงดาวของกษัตริย์ดาวิดซึ่งหมายถึงพระเมสสิยาห์[234] ให้มาแสวงหาพระผู้ทรงเป็นกษัตริย์ของนานาชาติ[235] การมาถึงของบรรดาโหราจารย์หมายถึงการที่ชนต่างศาสนามาพบพระเยซูเจ้าและนมัสการพระองค์เป็นพระบุตรของพระเจ้า และยอมรับว่าตนจะมานมัสการพระผู้กอบกู้โลกไม่ได้นอกจากจะหันมาหาชาวยิว[236]และรับพระสัญญาของพระเมสสิยาห์ตามที่มีบันทึกไว้ในพันธสัญญาเดิม[237] วันสมโภชพระคริสต์ทรงแสดงองค์แสดงว่านานาชาติเข้ามาอยู่ในครอบครัวของบรรดาบรรพบุรุษ(ของอิสราเอล)[238] และเข้ามารับ “ศักดิ์ศรีเป็นประชากรอิสราเอล”[239] ด้วย
529 การถวายพระกุมารเยซูในพระวิหาร[240] แสดงว่าพระองค์ทรงเป็นบุตรคนแรกที่เป็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าโดยแท้จริง[241] พร้อมกับท่านผู้เฒ่าสิเมโอนและประกาศกหญิงอันนา ประชากรอิสราเอลทั้งหมดรอคอยจะพบกับพระผู้ไถ่ของตน – ธรรมประเพณีพิธีกรรมของจารีตไบเซนไตน์ใช้ชื่อเรียกเหตุการณ์นี้ว่า “การพบ” – พระเยซูเจ้าทรงได้รับการยอมรับว่าเป็น พระเมสสิยาห์ที่มนุษยชาติรอคอยมาเป็นเวลานาน เป็น “แสงสว่างส่องนานาชาติ” และเป็น “สิริรุ่งโรจน์สำหรับอิสราเอล” แต่ก็ยังทรงเป็น “เครื่องหมายแห่งการต่อต้าน” อีกด้วยดาบแห่งความทุกข์ที่ท่านสิเมโอนกล่าวพยากรณ์แก่พระนางมารีย์ยังแจ้งถึงการถวายพระองค์อีกประการหนึ่ง ซึ่งเป็นการถวายองค์อย่างสมบูรณ์หนึ่งเดียว คือการถวายองค์บนไม้กางเขนซึ่งจะนำความรอดพ้นที่พระเจ้า “ทรงจัดเตรียมไว้สำหรับนานาประชาชาติ” มาให้มวลมนุษย์
530 การเสด็จหนีไปอียิปต์และการประหารเด็กทารกผู้บริสุทธิ์[242] แสดงให้เห็นการต่อต้านของความมืดต่อแสงสว่าง “พระองค์เสด็จมาสู่บ้านเมืองของพระองค์ แต่ประชากรของพระองค์ไม่ยอมรับพระองค์” (ยน 1:11) ตลอดพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าจะถูกหมายด้วยการถูกเบียดเบียน ผู้ที่เป็น(ศิษย์)ของพระองค์ย่อมมีส่วนในการถูกเบียดเบียนพร้อมกับพระองค์ด้วย[243] การเสด็จกลับจากอียิปต์[244] ชวนให้เราคิดถึงการ(ที่ชาวอิสราเอล)อพยพออกจากอียิปต์[245] และแสดงว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระผู้กอบกู้โดยสมบูรณ์ด้วย
พระธรรมล้ำลึกพระชนมชีพซ่อนเร้นของพระเยซูเจ้า
531 ตลอดเวลาส่วนใหญ่ในพระชนมชีพของพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงดำเนินพระชนมชีพในสภาพแวดล้อมคล้ายกับมนุษย์ส่วนมาก ทรงทำงานที่ต้องออกแรงเหมือนคนทั่วไป ทรงอยู่ใต้ธรรมบัญญัติทางศาสนาของชาวยิว[246] ทรงดำเนินพระชนมชีพในชุมชน ตลอดช่วงเวลานี้ พระวรสารบอกเราว่าพระเยซูเจ้าทรงเชื่อฟังบิดามารดา[247] และ “ทรงเจริญขึ้นทั้งในพระปรีชาญาณ พระชนมายุและพระหรรษทานเฉพาะพระพักตร์ของพระเจ้าและต่อหน้ามนุษย์” (ลก 2:52)
532 การที่พระเยซูเจ้าทรงเชื่อฟังพระมารดาและบิดาเลี้ยงของพระองค์เป็นการปฏิบัติตามพระบัญญัติประการที่สี่อย่างสมบูรณ์ และเป็นภาพในกาลเวลาของความเชื่อฟังอย่าง พระบุตรที่ทรงมีต่อพระบิดาในสวรรค์ของพระองค์ ความเชื่อฟังประจำวันที่ทรงมีต่อโยเซฟและพระนางมารีย์เป็นการบอกล่วงหน้าถึงการเชื่อฟังและเกริ่นถึงคำอธิษฐานภาวนาของพระองค์ในสวนเกทเสมนี “อย่าให้เป็นไปตามใจข้าพเจ้า.....” (ลก 22:42) การเชื่อฟังของพระคริสตเจ้าในชีวิตประจำวันแห่งพระชนมชีพซ่อนเร้นได้เริ่มงานปฏิรูปฟื้นฟูแก้ไขทุกสิ่งทุกอย่างที่ความไม่เชื่อฟังของอาดัมได้ทำลายล้างไปแล้วขึ้นใหม่[248]
533 พระชนมชีพซ่อนเร้นที่เมืองนาซาเร็ธช่วยมนุษย์ทุกคนให้มีส่วนร่วมชีวิตกับพระคริสตเจ้าโดยเฉพาะด้วยการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างธรรมดา
“บ้านนาซาเร็ธเป็นเหมือนโรงเรียนที่เราเริ่มรู้จักพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า – คือเป็นโรงเรียนแห่งพระวรสาร […] ก่อนอื่นใด โรงเรียนแห่งนี้สอน ความเงียบ ขอให้เรารู้จักคุณค่าของความเงียบซึ่งเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นในชีวิต […] ที่นี่เรายังเรียนรู้วิธีการดำเนินชีวิต บ้านนาซาเร็ธสอนเราให้รู้ว่าครอบครัวคืออะไร สอนให้สมาชิกในครอบครัวรู้จักรักกัน รู้จักความงดงามที่หนักแน่นแท้จริง รวมทั้งคุณสมบัติศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่อาจล่วงละเมิดได้ […] ที่นี่ในที่สุด เรายังเรียนรู้การทำงานและระเบียบวินัย บ้านนาซาเร็ธที่รัก บ้านของ “บุตรช่างไม้” ณ ที่นี้ข้าพเจ้าปรารถนาจะเข้าใจและเฉลิมฉลองกฎเกณฑ์ที่กำหนดให้มนุษย์ต้องทำงาน กฎเกณฑ์นี้แม้จะเคร่งครัด แต่ก็นำความรอดพ้นมาให้โลก […] ณ ที่นี้ ในที่สุด ข้าพเจ้าต้องการแจ้งข่าวความรอดพ้นแก่ผู้ใช้แรงงานทั่วโลก และแสดงให้ทุกคนแลเห็นว่า พระเยซู พระเจ้าผู้เป็นพี่ชายของท่าน เป็นแบบฉบับยิ่งใหญ่ในการทำงาน”[249]
534 การพบพระเยซูเจ้าในพระวิหาร[250] เป็นเพียงเหตุการณ์เดียวที่ทำลายความเงียบของพระวรสารเกี่ยวกับช่วงเวลาพระชนมชีพซ่อนเร้นของพระเยซูเจ้า ในเรื่องนี้พระเยซูเจ้าทรงอนุญาตให้เราแลเห็นพระธรรมล้ำลึกของการที่ทรงเป็นพระบุตรพระเจ้าและทรงถวายพระองค์อย่างสมบูรณ์ต่อพันธกิจที่ทรงรับมาจากพระบิดา “พ่อแม่ไม่รู้หรือว่าลูกต้องอยู่ในบ้านของพระบิดาของลูก” โยเซฟพร้อมกับพระนางมารีย์ “ไม่เข้าใจ” ที่พระองค์ตรัส แต่ก็ยอมรับพระวาจานี้ด้วยความเชื่อ และพระนางมารีย์ “ทรงเก็บเรื่องทั้งหมดเหล่านี้ไว้ในพระทัย” ตลอดช่วงเวลาหลายปีที่พระเยซูเจ้าทรงดำเนินพระชนมชีพซ่อนเร้นอย่างเงียบๆ ตามปรกติเหมือนคนทั่วไป
[210] เทียบ ฮบ 9:15.
[211] เทียบ กจ 13:24.
[212] เทียบ มธ 3:3.
[213] เทียบ ลก 7:26.
[214] เทียบ มธ 11:13.
[215] เทียบ กจ 1:22; ลก 16:16.
[216] เทียบ ลก 1:41.
[217] เทียบ มก 6:17-29.
[218] เทียบ วว 22:17.
[219] เทียบ ลก 2:6-7.
[220] เทียบ ลก 2:8-20.
[221] Sanctus Romanus Melodus, Kontakion, 10, In diem Nativitatis Christi, Prooemium: SC 110, 50.
[222] เทียบ มธ 18:3-4.
[223] เทียบ มธ 23:12.
[224] เทียบ ยน 1:13.
[225] เทียบ ยน 1:12.
[226] เทียบ กท 4:19.
[227] บทลำนำทำวัตรเย็นในวันสมโภชพระนางพรหมจารีมารีย์ทรงเป็นพระมารดา เทียบ Liturgia Horarum, editio typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1973) p. 385 et 397.
[228] เทียบ ลก 2:21.
[229] เทียบ กท 4:4.
[230] เทียบ คส 2:11-13.
[231] เทียบ มธ 2:1.
[232] Cf. In sollemnitate Epiphaniae Domini, Antiphona ad “Magnificat” in II Vesperis: Liturgia Horarum, editio typica, v. 1 (Typis Polylottis Vaticanis 1973) p. 465.
[233] เทียบ มธ 2:2.
[234] เทียบ กดว 24:17; วว 22:16.
[235] เทียบ กดว 24:17-19.
[236] เทียบ ยน 4:22.
[237] เทียบ มธ 2:4-6.
[238] Cf. Sanctus Leo Magnus, Sermo 33, 3: CCL 138, 173 (PL 54, 242).
[239] Vigilia Paschatis, Oratio post tertiam lectionem:Missale Romanum, editio typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1970) p.277.
[240] เทียบ ลก 2:22-39.
[241] เทียบ อพย 13:12-13.
[242] เทียบ มธ 2:13-18.
[243] เทียบ ยน 15:20.
[244] เทียบ มธ 2:15.
[245] เทียบ ฮชย 11:1
[246] เทียบ กท 4:4.
[247] เทียบ ลก 2:51.
[248] เทียบ รม 5:19.
[249] Paulus VI, Homilia in templo Annuntiationis beatae Mariae Virginis in Nazareth (5 ianuarii 1964): AAS 56 (1964) 167-168.
[250] เทียบ ลก 2:41-52.
III. พระธรรมล้ำลึกพระชนมชีพเปิดเผยของพระเยซูเจ้า
III. พระธรรมล้ำลึกพระชนมชีพเปิดเผยของพระเยซูเจ้า
พระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้าง
535 พระเยซูเจ้าทรงเริ่ม[251]พระชนมชีพเปิดเผยโดยทรงรับพิธีล้างจากยอห์นในแม่น้ำจอร์แดน[252] ยอห์น “เทศน์สอนเรื่องพิธีล้างซึ่งแสดงถึงการเป็นทุกข์กลับใจเพื่อจะได้รับการอภัยบาป” (ลก 3:3)คนบาปจำนวนมาก คนเก็บภาษีและทหาร[253] ชาวฟาริสีและสะดูสี[254] และหญิงโสเภณี[255] พากันมารับพิธีล้างจากยอห์น “เวลานั้น พระเยซูเจ้าก็เสด็จมา” ด้วย ยอห์นรู้สึกลังเลใจ แต่พระเยซูเจ้าทรงยืนยันและรับพิธีล้าง แล้วพระจิตเจ้าเสด็จลงมาเหนือพระเยซูเจ้าดุจนกพิราบ และมีเสียงจากสวรรค์กล่าวว่า “ผู้นี้เป็นบุตรสุดที่รักของเรา” (มธ 3:13-17) เหตุการณ์นี้เป็นการแสดงองค์ของพระเยซูเจ้า (“Epiphania”) ว่าทรงเป็นพระเมสสิยาห์แห่งอิสราเอลและพระบุตรของพระเจ้า
536 สำหรับพระเยซูเจ้า การทรงรับพิธีล้าง เป็นการยอมรับและเริ่มพันธกิจของพระองค์ในฐานะ “ผู้รับใช้ผู้รับทรมาน(ของพระเจ้า)” พระองค์ทรงอนุญาตให้ใครๆ นับว่าทรงเป็นคนบาปคนหนึ่ง[256] พระองค์ทรงเป็น “ลูกแกะของพระเจ้า ผู้ทรงลบล้างบาปของโลก” (ยน 1:29) อยู่แล้ว “พิธีล้าง”ยังเกริ่นถึงการสิ้นพระชนม์อย่างเหี้ยมโหดของพระองค์[257] พระองค์เสด็จมาก็เพื่อ “ทำให้ความยุติธรรมทุกอย่างสมบูรณ์” (มธ 3:15) ซึ่งหมายความว่า “ทรงทำทุกอย่างตามพระประสงค์ของพระเจ้า” พระองค์ทรงยอมด้วยความรักที่จะรับการล้างซึ่งหมายถึงการสิ้นพระชนม์เพื่อบาปของเราจะได้รับการอภัย[258] พระสุรเสียงของพระบิดาตอบการยอมรับนี้โดยตรัสว่าทรงพอพระทัยอย่างยิ่งในพระบุตรของพระองค์[259] พระจิตเจ้าซึ่งพระเยซูเจ้าทรงมีอย่างเต็มเปี่ยมแล้วตั้งแต่ทรงปฏิสนธิยังเสด็จลงมา “ประทับอยู่เหนือพระองค์”[260] พระเยซูเจ้าจะทรงเป็นผู้ประทานพระจิตเจ้านี้สำหรับมวลมนุษย์ เมื่อทรงรับพิธีล้าง “ท้องฟ้าเปิดออก” (มธ 3:16) ท้องฟ้านี้ซึ่งบาปของอาดัมได้ปิดไว้ และน้ำที่ได้รับความศักดิ์สิทธิ์โดยพระเยซูเจ้าและการเสด็จลงมาของพระจิตเจ้าจึงเป็นเสมือนการเปิดฉากการเนรมิตสร้างครั้งใหม่
537 อาศัยศีลล้างบาป คริสตชนกลับเป็นเหมือนพระเยซูเจ้าโดยศีลศักดิ์สิทธิ์ เมื่อทรงรับพิธีล้าง พระองค์ทรงสิ้นพระชนม์และกลับคืนพระชนมชีพล่วงหน้าแล้ว คริสตชนจึงต้องเข้าร่วมพระธรรมล้ำลึกการถ่อมตนและกลับใจนี้ ลงไปในน้ำ และขึ้นมาจากน้ำพร้อมกับพระองค์ และเกิดใหม่เป็นบุตรที่รักของพระบิดาจากน้ำและพระจิตเจ้าในพระบุตร เพื่อจะ “ดำเนินชีวิตแบบใหม่” ด้วย (รม 6:4):
“ดังนั้น เราจงถูกฝังด้วยศีลล้างบาปไว้พร้อมกับพระคริสตเจ้า เพื่อจะได้กลับคืนชีพพร้อมกับพระองค์ เราจงลงไป(ในน้ำ)พร้อมกับพระองค์ เพื่อจะได้รับการยกย่องพร้อมกับพระองค์ ให้เรากลับคืนชีพพร้อมกับพระองค์เพื่อจะได้รับสิริรุ่งโรจน์พร้อมกับพระองค์ด้วย”[261]
จึงเป็นอันว่า “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพระคริสตเจ้าช่วยให้เรารู้ว่าหลังจากพิธีล้างด้วยน้ำแล้ว พระจิตเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์ ทรงเจิมเราด้วยพระสิริรุ่งโรจน์จากสวรรค์ และพระสุรเสียงของพระบิดาก็ทรงรับเราเป็นบุตรบุญธรรม”[262]
พระเยซูเจ้าทรงถูกทดลอง
538 พระวรสารเล่าว่าทันทีหลังจากทรงรับพิธีล้างจากยอห์นแล้ว พระองค์เสด็จไปประทับในถิ่นทุรกันดารอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง “พระจิตเจ้าทรงดลให้พระองค์เสด็จเข้าไปในถิ่นทุรกันดาร” (มก 1:12) และประทับอยู่ที่นั่นสี่สิบวันโดยไม่เสวยสิ่งใดเลย ทรงอยู่กับสัตว์ป่าและบรรดาทูตสวรรค์ปรนนิบัติรับใช้พระองค์[263] เมื่อจบช่วงเวลานี้ ปีศาจมาทดลองพระองค์สามครั้ง พยายามตั้งคำถามให้ทรงสงสัยความสัมพันธ์ของพระองค์กับพระเจ้าในฐานะพระบุตร พระเยซูเจ้าทรงตอบโต้การจู่โจมเหล่านี้ซึ่งเป็นเหมือนการรื้อฟื้นการถูกทดลองของอาดัมในสวนอุทยานและของอิสราเอลในถิ่นทุรกันดาร ในที่สุดปีศาจแยกจากพระองค์ไป “รอจนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสม” (ลก 4:13)
539 บรรดาผู้นิพนธ์พระวรสารอธิบายว่าเหตุการณ์ลึกลับนี้มีความหมายเกี่ยวกับความรอดพ้น พระเยซูเจ้าในฐานะอาดัมคนใหม่ยังคงซื่อสัตย์ในเมื่ออาดัมคนแรกได้พ่ายแพ้การผจญ พระเยซูเจ้าทรงปฏิบัติตามการเรียกอิสราเอลอย่างสมบูรณ์ ขณะที่อิสราเอลได้ท้าทายพระเจ้าเมื่อเดินทางในถิ่นทุรกันดารเป็นเวลาสี่สิบปี[264] พระคริสตเจ้ากลับทรงแสดงพระองค์เป็นผู้รับใช้พระเจ้าที่เชื่อฟังปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้าอย่างเต็มที่ พระเยซูเจ้าทรงพิชิตปีศาจในเรื่องนี้ พระองค์ทรงมัดคนเข้มแข็งนั้นไว้เพื่อจะปล้นเอาทรัพย์ของเขาไปได้[265] ชัยชนะของพระเยซูเจ้าเหนือปีศาจผู้มาผจญในถิ่นทุรกันดารบอกล่วงหน้าถึงชัยชนะแห่งพระทรมาน ซึ่งเป็นการแสดงการเชื่อฟังอย่างสูงสุดด้วยความรักเยี่ยงบุตรต่อพระบิดา
540 การที่พระเยซูเจ้าทรงถูกทดลองแสดงให้เห็นวิธีการที่พระบุตรของพระเจ้าทรงเป็นพระเมสสิยาห์ตรงข้ามกับวิธีการที่ปีศาจและมนุษย์เสนอแนะพระองค์ให้ทรงกระทำ[266] เพราะเหตุนี้พระคริสตเจ้าจึงทรงพิชิตผู้ผจญแทนเรา “เราไม่มีมหาสมณะที่ร่วมทุกข์กับเราผู้อ่อนแอไม่ได้ แต่เรามีมหาสมณะผู้ทรงผ่านการผจญทุกอย่างเหมือนกับเรายกเว้นบาป” (ฮบ 4:15) ทุกๆ ปี พระศาสนจักรร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระธรรมล้ำลึกของพระเยซูเจ้าในถิ่นทุรกันดารตลอดเวลาสี่สิบวันของเทศกาลมหาพรตที่ยิ่งใหญ่
“พระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ใกล้แล้ว”
541 “หลังจากที่ยอห์นถูกจองจำ พระเยซูเจ้าเสด็จไปยังแคว้นกาลิลี ทรงประกาศเทศนาข่าวดีของพระเจ้า ตรัสว่า ‘เวลาที่กำหนดไว้มาถึงแล้ว พระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ใกล้แล้ว จงกลับใจและเชื่อข่าวดีเถิด’” (มก 1:14-15) “ดังนั้น พระคริสตเจ้าจึงทรงสถาปนาพระอาณาจักรสวรรค์ เพื่อทรงปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดา”[267] พระประสงค์ของพระบิดาก็คือ “การยกมนุษย์ขึ้นให้มีส่วนร่วมพระธรรมชาติพระเจ้า”[268] พระองค์ทรงทำเช่นนี้โดยทรงรวมมวลมนุษย์มาอยู่รอบพระบุตรเยซูคริสตเจ้า การมารวมกันเช่นนี้คือ “พระศาสนจักร” ซึ่งเป็น “เมล็ดพันธุ์และจุดเริ่มต้น” ของพระอาณาจักรของพระเจ้าในโลกนี้[269]
542 พระคริสตเจ้าทรงอยู่ในหัวใจของการรวมมวลมนุษย์เข้ามาเป็น “ครอบครัวของพระเจ้า” เช่นนี้ พระองค์ทรงเรียกมนุษย์ทั้งหลายมาอยู่รอบพระองค์ โดยพระวาจา โดยเครื่องหมายปาฏิหาริย์ซึ่งแสดงให้เห็นพระอาณาจักรของพระเจ้า โดยทรงส่งบรรดาศิษย์ออกไปเทศน์สอน พระองค์จะทรงบันดาลให้พระอาณาจักรของพระองค์มาถึงจริงๆ โดยเฉพาะทางพระธรรมล้ำลึกปัสกายิ่งใหญ่ของพระองค์ คือการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนและการกลับคืนพระชนมชีพ “และเมื่อเราจะถูกยกขึ้นจากแผ่นดิน เราจะดึงดูดทุกคนเข้ามาหาเรา” (ยน 12:32) พระเจ้าทรงเรียกมนุษย์ทุกคนเข้ามาร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้า[270]
การแจ้งข่าวเรื่องพระอาณาจักรของพระเจ้า
543 พระเจ้าทรงเรียกมนุษย์ทุกคนเข้ามาในพระอาณาจักร พระอาณาจักรพระเมสสิยาห์นี้ ซึ่งก่อนใดอื่นทรงแจ้งไว้แก่บุตรหลานของอิสราเอล[271]นั้น ถูกกำหนดไว้ให้รับมนุษย์ทุกชาติ[272] เพื่อจะเข้ามาในพระอาณาจักรนี้ได้ จำเป็นต้องรับพระวาจาของพระเยซูเจ้า
“พระวาจาขององค์พระผู้เป็นเจ้าเปรียบได้กับเมล็ดพันธุ์ที่หว่านลงในทุ่งนา ผู้ที่ฟังพระวาจาด้วยความเชื่อและรวมเข้ามาอยู่ในกลุ่มเล็กๆ ของผู้ติดตามพระคริสตเจ้าก็ได้รับพระอาณาจักรนี้ ต่อจากนั้น โดยพลังของตน เมล็ดพันธุ์ก็งอกขึ้นและเจริญเติบโตจนถึงเวลาเก็บเกี่ยว”[273]
544 พระอาณาจักรนี้เป็นอาณาจักรของคนยากจนและต่ำต้อย นั่นคือเป็นของคนเหล่านั้นที่รับพระอาณาจักรด้วยจิตใจถ่อมตน พระเจ้าทรงส่งพระเยซูเจ้ามา “ประกาศข่าวดีแก่คนยากจน” (ลก 4:18)[274] พระองค์ทรงประกาศว่าคนเหล่านี้ย่อมเป็นสุข “เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา” (มธ 5:3) พระบิดาทรงโปรดที่จะเปิดเผยเรื่องที่ถูกปิดบังไว้จากผู้มีปรีชาและรอบรู้[275]ให้แก่ “บรรดาผู้ต่ำต้อย” เหล่านี้ พระเยซูเจ้าทรงร่วมชีวิตของผู้ยากจนนับตั้งแต่ทรงสมภพในรางหญ้าจนถึงไม้กางเขน ทรงมีประสบการณ์ความหิวโหย[276] ความกระหาย[277] และความขัดสน[278] ยิ่งกว่านั้น พระองค์ยังทรงกระทำพระองค์เป็นหนึ่งเดียวกับคนยากจนทุกชนิดและทรงกำหนดให้ความรักต่อคนเหล่านี้เป็นเงื่อนไขที่ผู้หนึ่งจะเข้าในพระอาณาจักรของพระองค์ได้[279]
545 พระเยซูเจ้าทรงเชิญคนบาปเข้ามาร่วมโต๊ะของพระอาณาจักร “เราไม่ได้มาเพื่อเรียกคนชอบธรรม แต่เรามาเพื่อเรียกคนบาป” (มก 2:17)[280] พระองค์ทรงเชิญคนเหล่านี้ให้กลับใจ ถ้าไม่กลับใจก็จะเข้าพระอาณาจักรไม่ได้ แต่ก็ยังทรงแสดงทั้งด้วยพระวาจาและการกระทำให้เขาเหล่านั้นแลเห็นพระกรุณาหาขอบเขตมิได้ของพระบิดาต่อเขาทั้งหลายด้วย[281] และยังตรัสด้วยว่า “จะมีความยินดียิ่งใหญ่ในสวรรค์เพราะคนบาปคนหนึ่งกลับใจ” (ลก 15:7) การพิสูจน์สูงสุดของความรักนี้ก็คือการถวายชีวิตของพระองค์เองเป็นบูชา “เพื่ออภัยบาปของมนุษย์ทั้งหลาย” (มธ 26:28)
546 พระเยซูเจ้าทรงเชื้อเชิญให้เข้าในพระอาณาจักรโดยใช้เรื่องอุปมาซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะสำคัญของคำสอนของพระองค์[282] อาศัยเรื่องอุปมาเหล่านี้ พระองค์ทรงเชิญทุกคนเข้ามาร่วมงานเลี้ยงของพระอาณาจักร[283] แต่ก็ยังทรงเรียกร้องให้ต้องเลือกอย่างเด็ดขาดด้วย เพื่อจะได้พระอาณาจักรนี้จำเป็นต้องสละทุกสิ่ง[284] คำพูดเท่านั้นไม่พอ จำเป็นต้องมีกิจการด้วย[285] เรื่องอุปมาเป็นเสมือนกระจกสำหรับมนุษย์ เขาได้รับพระวาจาเหมือนกับพื้นดินแข็งหรือเหมือนกับดินดี?[286] เขาทำอะไรกับเงินตะลันต์ที่ได้รับมา[287] พระเยซูเจ้าและพระอาณาจักรที่มีอยู่ในโลกนี้ซ่อนอยู่ในความหมายของเรื่องอุปมาเหล่านี้ จำเป็นที่เราต้องเข้าในพระอาณาจักร นั่นคือต้องเป็นศิษย์ของพระคริสตเจ้าเพื่อรู้จัก “ธรรมล้ำลึกเรื่องอาณาจักรสวรรค์” (มธ 13:11) สำหรับผู้ที่อยู่ “ภายนอก” (มก 4:11) ทุกสิ่งเป็นปริศนา[288]
เครื่องหมายพระอาณาจักรของพระเจ้า
547 พระเยซูเจ้าทรง “ทำอัศจรรย์ ปาฏิหาริย์และเครื่องหมาย” (กจ 2:22) ควบคู่ไปกับพระวาจาเพื่อแสดงว่าพระอาณาจักรปรากฏอยู่ในพระองค์ และเป็นพยานยืนยันว่าพระเยซูเจ้าคือพระเมสสิยาห์ที่บรรดาประกาศกแจ้งไว้ล่วงหน้าแล้ว[289]
548 เครื่องหมายอัศจรรย์ที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำเป็นพยานยืนยันว่าพระบิดาทรงส่งพระองค์มา[290] เครื่องหมายอัศจรรย์เหล่านี้เชิญชวนให้ทุกคนมีความเชื่อในพระองค์[291] พระองค์โปรดให้ผู้ที่มีความเชื่อในพระองค์ได้รับตามที่ขอ[292] อัศจรรย์จึงเสริมความเชื่อต่อพระองค์ผู้ทรงทำกิจการของพระบิดา กิจการเหล่านี้เป็นพยานยืนยันว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า[293] แต่อัศจรรย์เหล่านี้ก็อาจเป็นโอกาสความแคลงใจได้เหมือนกัน[294] อัศจรรย์เหล่านี้ไม่มีเจตนาตอบสนองความมักรู้มักเห็นหรือความอยากดูมายากล แม้ทรงทำอัศจรรย์ที่ชัดเจนเช่นนี้แล้ว หลายคนก็ยังไม่ยอมรับพระองค์[295] และยังทรงถูกกล่าวหาว่าทรงทำเช่นนี้อาศัยอำนาจของปีศาจ[296]
549 เมื่อพระเยซูเจ้าทรงทำเครื่องหมายอัศจรรย์ที่แสดงว่าทรงเป็นพระเมสสิยาห์ ช่วยให้บางคนพ้นจากความชั่วร้ายในโลก เช่นความหิว[297] ความอยุติธรรม[298] โรคภัยไข้เจ็บและความตาย[299] ถึงกระนั้นพระองค์ก็ไม่ได้เสด็จมาเพื่อทำลายความชั่วร้ายทั้งหมดในแผ่นดิน[300] แต่เสด็จมาเพื่อช่วยมนุษย์ให้พ้นจากการเป็นทาสที่เลวร้ายที่สุด นั่นคือการเป็นทาสของบาป[301] ซึ่งเป็นอุปสรรคขัดขวางเขาที่ได้รับเรียกให้เป็นบุตรของพระเจ้าและเป็นสาเหตุของการเป็นทาสทุกรูปแบบของมนุษย์
550 การมาถึงของพระอาณาจักรของพระเจ้าเป็นการพิชิตอาณาจักรของซาตาน[302] “ถ้าเราขับไล่ปีศาจด้วยพระจิตของพระเจ้า ก็หมายความว่าพระอาณาจักรของพระเจ้ามาถึงท่านแล้ว” (มธ 12:28) การที่พระเยซูเจ้าทรงขับไล่ปีศาจช่วยให้มนุษย์เป็นอิสระจากอำนาจของปีศาจ[303] เป็นการเกริ่นถึงชัยชนะยิ่งใหญ่ที่พระเยซูเจ้าทรงมีเหนือ “เจ้านายแห่งโลกนี้”[304] พระอาณาจักรของพระเจ้าจะได้รับการสถาปนาเป็นการถาวรอาศัยไม้กางเขนของพระคริสตเจ้า “พระเจ้าทรงครองราชย์จากไม้(กางเขน)”[305]
“กุญแจพระอาณาจักร”
551 นับตั้งแต่ทรงเริ่มเทศน์สั่งสอนประชาชน พระเยซูเจ้าทรงเรียกชายกลุ่มหนึ่งจำนวนสิบสองคนให้อยู่กับพระองค์เพื่อจะมีส่วนร่วมพันธกิจกับพระองค์[306] พระองค์ทรงจัดให้เขามีส่วนร่วมพระอำนาจของพระองค์ “ทรงส่งเขาไปประกาศพระอาณาจักรพระเจ้าและรักษาโรค” (ลก 9:2) บุคคลเหล่านี้คงมีส่วนร่วมกับพระอาณาจักรของพระคริสตเจ้าตลอดไป เพราะพระองค์ทรงนำพระศาสนจักรผ่านเขาเหล่านี้
“เราจัดพระอาณาจักรให้ท่านทั้งหลายดังที่พระบิดาทรงจัดไว้ให้เรา ท่านจะได้กินและดื่มร่วมโต๊ะกับเราในพระอาณาจักรและจะนั่งบนบัลลังก์พิพากษาอิสราเอลทั้งสิบสองตระกูล” (ลก 22:29-30)
552 ในกลุ่มชายทั้งสิบสองคนนี้ ซีโมนเปโตรมีตำแหน่งเป็นที่หนึ่ง[307] พระเยซูเจ้าทรงมอบพันธกิจพิเศษให้เขา เปโตรได้รับการเปิดเผยจากพระบิดาประกาศว่า “พระองค์คือพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต” (มธ 16:16) องค์พระผู้เป็นเจ้าจึงประกาศแก่เขาว่า “ท่านคือศิลา และบนศิลานี้เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา ประตูนรกจะไม่มีวันชนะพระศาสนจักรได้” (มธ 16:18) พระคริสตเจ้า “ศิลาทรงชีวิต”[308] ทรงยืนยันว่าพระศาสนจักรที่ทรงตั้งไว้บนเปโตรผู้เป็นดังศิลาจะมีชัยชนะเหนืออำนาจของความตาย เพราะความเชื่อที่เขาได้ประกาศ เปโตรจะคงเป็นหินผาที่ไม่มีวันสั่นคลอนของพระศาสนจักร เขาจะมีพันธกิจรักษาความเชื่อนี้ไว้ไม่ให้ลดลงเลย แต่จะช่วยค้ำจุนพี่น้องไว้ในความเชื่อนี้ตลอดไป[309]
553 พระเยซูเจ้าทรงมอบอำนาจพิเศษแก่เปโตร “เราจะมอบกุญแจอาณาจักรสวรรค์ให้ท่าน ทุกสิ่งที่ท่านจะผูกบนแผ่นดินนี้ จะผูกไว้ในสวรรค์ด้วย ทุกสิ่งที่ท่านจะแก้ในแผ่นดินนี้ ก็จะแก้ในสวรรค์ด้วย” (มธ 16:19) “อำนาจถือกุญแจ” หมายถึงอำนาจดูแลบ้านของพระเจ้า คือพระศาสนจักร พระเยซูเจ้า “ผู้เลี้ยงแกะที่ดี” (ยน 10:11) ทรงยืนยันถึงบทบาทนี้หลังจากทรงกลับคืนพระชนมชีพ
แล้ว “จงเลี้ยงดูแกะของเราเถิด” (ยน 21:15-17) อำนาจ “ผูกและแก้” จึงหมายถึงอำนาจที่จะอภัยบาป ที่จะตัดสินเรื่องคำสอนและระเบียบการปกครองในพระศาสนจักร พระเยซูเจ้าทรงมอบอำนาจนี้ให้แก่พระศาสนจักรผ่านทางการปฏิบัติงานของบรรดาอัครสาวก[310] และโดยเฉพาะของเปโตร ซึ่งเป็นผู้เดียวที่ทรงเจาะจงมอบกุญแจพระอาณาจักรให้
การมีประสบการณ์ล่วงหน้าถึงพระอาณาจักร – การทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งเรือง
554 ในวันที่เปโตรประกาศความเชื่อว่าพระเยซูเจ้าคือพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิตนั้น พระอาจารย์เจ้า “ทรงเริ่มแจ้งแก่บรรดาศิษย์ว่าพระองค์จะต้องเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็มเพื่อรับการทรมานอย่างมาก […] จะถูกประหารชีวิต แต่จะทรงกลับคืนพระชนมชีพในวันที่สาม” (มธ 16:21) เปโตรไม่ยอมรับข่าวนี้[311] ศิษย์คนอื่นก็ไม่เข้าใจเรื่องนี้มากกว่าเขาเลย[312] เหตุการณ์ลึกลับที่พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์[313]บนภูเขาสูงต่อหน้าพยานสามคนที่ทรงเลือกไว้ คือเปโตร ยากอบและยอห์น จึงถูกจัดไว้ในบริบทดังกล่าว พระพักตร์และฉลองพระองค์ของพระเยซูเจ้าเปล่งรัศมีรุ่งโรจน์, โมเสสและประกาศกเอลียาห์สำแดงตนสนทนาอยู่กับพระองค์ “กล่าวถึงการจากไปของพระองค์ที่กำลังจะสำเร็จในกรุงเยรูซาเล็ม” (ลก 9:31) เมฆก้อนหนึ่งลอยมาปกคลุมพวกเขาไว้และเสียงหนึ่งดังออกมาจากฟากฟ้าว่า “ท่านผู้นี้เป็นบุตรของเรา ผู้ที่เราได้เลือกสรร จงฟังท่านเถิด”(ลก 9:35)
555 พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระสิริรุ่งโรจนของพระองค์ชั่วขณะหนึ่ง จึงเป็นการรับรองการประกาศความเชื่อของเปโตร พระองค์ยังทรงแสดงด้วยว่าเพื่อจะเสด็จเข้าไปรับ “พระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์” (ลก 24:26) พระองค์จำเป็นต้องเสด็จผ่านไม้กางเขนที่กรุงเยรูซาเล็ม โมเสสและประกาศกเอลียาห์เคยเห็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าบนภูเขา ทั้งธรรมบัญญัติและบรรดาประกาศก (หมายถึง “พันธสัญญาเดิม”) ได้กล่าวไว้ล่วงหน้าแล้วถึงพระทรมานของพระเมสสิยาห์[314] พระทรมานของพระเยซูเจ้าจึงเป็นพระประสงค์ของพระบิดา พระบุตรทรงปฏิบัติภารกิจเหมือน “ผู้รับใช้ของพระเจ้า”[315] กลุ่มเมฆชี้ให้เห็นการประทับอยู่ของพระจิตเจ้า “พระตรีเอกภาพจึงทรงสำแดงองค์ทั้งหมด พระบิดาในพระสุรเสียงที่ตรัส พระบุตรในมนุษย์คนหนึ่ง พระจิตเจ้าในกลุ่มเมฆสุกใส”[316]
“พระองค์ทรงสำแดงองค์อย่างรุ่งโรจน์บนภูเขา ข้าแต่พระคริสตเจ้า บรรดาศิษย์ได้แลเห็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์เท่าที่สามารถจะเห็นได้ เพื่อว่าเมื่อเขาจะเห็นพระองค์ทรงถูกตรึงกางเขน เขาจะได้เข้าใจว่าพระองค์ทรงประสงค์พระทรมานนี้ และประกาศว่าพระองค์ทรงเป็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระบิดาอย่างแท้จริง”[317]
556 การรับพิธีล้างเป็นเสมือนการก้าวเข้าสู่พระพันธกิจเทศน์สอนประชาชน การสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์เป็นการก้าวเข้าสู่พระธรรมล้ำลึกปัสกา พิธีล้างของพระเยซูเจ้าเป็นการ “ประกาศพระธรรมล้ำลึกเรื่องการบังเกิดใหม่ครั้งแรก” คือศีลล้างบาปของเรา การสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์เป็น “เครื่องหมายและเครื่องมือการบังเกิดใหม่ครั้งที่สอง” คือการ กลับคืนชีพของเรา[318] ตั้งแต่บัดนี้แล้ว เรามีส่วนในการกลับคืนพระชนมชีพขององค์พระผู้เป็นเจ้าโดยทางพระจิตเจ้าซึ่งทรงทำงานในศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ของพระวรกายของพระคริสตเจ้า การสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์โปรดให้เรามีประสบการณ์ล่วงหน้าถึงการเสด็จมาของพระคริสตเจ้า “ซึ่งจะทรงเปลี่ยนรูปร่างอันต่ำต้อยของเราให้เหมือนพระกายรุ่งโรจน์ของพระองค์” (ฟป 3:21) แต่เหตุการณ์นี้ยังเตือนเราให้ระลึกด้วยว่า “พวกเราจำเป็นต้องฟันฝ่าความทุกข์ยากเป็นอันมากจึงจะเข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้าได้” (กจ 14:22):
“เปโตรยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ เมื่อเขาปรารถนาจะอยู่บนภูเขากับพระคริสตเจ้า[319] เปโตรเอ๋ย พระองค์ทรงสงวนเรื่องนี้ไว้สำหรับท่านเมื่อท่านตายแล้ว แต่บัดนี้พระองค์ตรัสว่า จงลงไปทำงานในโลก ลงไปรับใช้ในโลก ลงไปถูกสบประมาทและถูกตรึงกางเขนในโลก ชีวิตลงไปเพื่อถูกประหาร อาหารลงไปเพื่อหิว หนทางลงไปเพื่อหมดแรงขณะเดินทาง พุน้ำลงไปเพื่อกระหายน้ำ แล้วท่านยังปฏิเสธไม่ยอมลำบากเทียวหรือ?”[320]
พระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นไปกรุงเยรูซาเล็ม
557 “เวลาที่พระเยซูเจ้าจะต้องทรงจากโลกนี้ไปใกล้เข้ามาแล้ว พระองค์ทรงตั้งพระทัยแน่วแน่จะเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็ม” (ลก 9:51)[321] การตัดสินพระทัยเช่นนี้แสดงว่าทรงพร้อมจะเสด็จขึ้นไปกรุงเยรูซาเล็มเพื่อสิ้นพระชนม์ที่นั่น พระองค์ทรงแจ้งเรื่องพระทรมานและการกลับคืนพระชนมชีพถึงสามครั้ง[322] ขณะที่กำลังทรงพระดำเนินไปยังกรุงเยรูซาเล็ม พระองค์ตรัสว่า “ประกาศกจะตายนอกกรุงเยรูซาเล็มไม่ได้” (ลก 13:33)
558 พระเยซูเจ้าทรงเชิญชวนให้คิดถึงความตายของบรรดาประกาศกซึ่งถูกฆ่าที่กรุงเยรูซาเล็ม[323] ถึงกระนั้นพระองค์ก็ยังเน้นที่จะเรียกกรุงเยรูซาเล็มให้เข้ามารวมอยู่รอบพระองค์ “กี่ครั้งกี่หนแล้วที่เราอยากรวบรวมบุตรของเจ้าเหมือนดังแม่ไก่รวบรวมลูกไว้ใต้ปีก แต่ท่านทั้งหลายไม่ต้องการ” (มธ 23:37ข) เมื่อทรงทอดพระเนตรเห็นกรุงเยรูซาเล็ม พระองค์ทรงพระกันแสงสงสารเมืองนั้น”[324] และยังทรงแสดงความปรารถนาในพระทัยอีกด้วย “ถ้าในวันนี้เจ้าเพียงแต่รู้จักทางนำไปสู่สันติก็จะเป็นการดี แต่ทางนั้นถูกซ่อนไว้จากดวงตาของเจ้าเสียแล้ว” (ลก 19:42)
พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างพระเมสสิยาห์
559 กรุงเยรูซาเล็มจะต้อนรับพระเมสสิยาห์ของตนอย่างไร พระเยซูเจ้าผู้ทรงหลีกเลี่ยงอยู่เสมอไม่ให้ประชาชนพยายามต้องการจะแต่งตั้งพระองค์เป็นกษัตริย์[325] ทรงเลือกเวลาเสด็จอย่างพระเมสสิยาห์เข้าในนคร “ของกษัตริย์ดาวิดบรรพบุรุษของพระองค์” (ลก 1:32) และทรงจัดเตรียมการเสด็จเข้านี้โดยละเอียด[326] พระองค์ทรงรับการโห่ร้องต้อนรับดุจพระโอรสของกษัตริย์ดาวิด เหมือนผู้นำความรอดพ้นมาให้ (คำว่า “โฮซานนา” แปลว่า “จงช่วยให้รอดพ้นเถิด”) แต่บัดนี้ “กษัตริย์ผู้ทรงพระสิริรุ่งโรจน์” (สดด 24:7-10) “ประทับบนหลังลา” (ศคย 9:9) เสด็จเข้านครของพระองค์ ทรงพิชิตธิดาแห่งศิโยน ซึ่งเป็นภาพของ พระศาสนจักรมาอยู่ใต้พระอานุภาพ มิใช่ด้วยกลอุบายหรือความรุนแรง แต่ด้วยความถ่อมตนซึ่งเป็นพยานถึงความจริง[327] เพราะเหตุนี้ ในวันนั้นพวกเด็กๆ[328] และ “ผู้ยากจนของพระเจ้า” ซึ่งโห่ร้องต้อนรับพระองค์เหมือนกับที่บรรดาทูตสวรรค์เคยแจ้งข่าวแก่พวกคนเลี้ยงแกะ[329] จะเป็นผู้อยู่ใต้ปกครองของพระอาณาจักร พระศาสนจักรจะนำคำโห่ร้องของพวกเด็กๆ เหล่านี้ที่ว่า “ท่านผู้มาในพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้าจงได้รับพระพร” (สดด 118:26) มาขับร้องอีกในบท “Sanctus [ศักดิ์สิทธิ์]” ของพิธีบูชาขอบพระคุณเพื่อเริ่มต้นการระลึกถึงงานฉลองปัสกาขององค์พระผู้เป็นเจ้า
560 การเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มของพระเยซูเจ้าแสดงถึงการมาถึงของพระอาณาจักรที่พระเมสสิยาห์กษัตริย์กำลังจะทำให้เป็นจริงอย่างสมบูรณ์โดยปัสกาการสิ้นพระชนม์และกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ พิธีกรรมของพระศาสนจักรเริ่มสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์โดยการฉลองระลึกถึงเหตุการณ์นี้ในวันอาทิตย์ใบลาน
[251] เทียบ ลก 3:23.
[252] เทียบ กจ 1:22.
[253] เทียบ ลก 3:10-14.
[254] เทียบ มธ 3:7.
[255] เทียบ มธ 21:32.
[256] เทียบ อสย 53:12.
[257] เทียบ มก 10:38; ลก 12:50.
[258] เทียบ มธ 26:39.
[259] เทียบ ลก 3:22; อสย 42:1.
[260] เทียบ ยน 1:32-33; อสย 11:2.
[261] Sanctus Gregorius Nazianzenus, Oratio 40, 9: SC 358, 216 (PG 36, 369).
[262] Sanctus Hilarius Pictaviensis, In evangelium Matthaei 2,6: SC 254, 110 (PL 9, 927).
[263] เทียบ มก 1:13.
[264] เทียบ สดด 95:10.
[265] เทียบ มก 3:27.
[266] เทียบ มธ 16:21-23.
[267] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 3: AAS 57 (1965) 6.
[268] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 2: AAS 57 (1965) 5-6.
[269] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 5: AAS 57 (1965) 8.
[270] Cf. Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 3: AAS 57 (1965) 6.
[271] เทียบ มธ 10:5-7.
[272] เทียบ มธ 8:11; 28:19.
[273] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 5: AAS 57 (1965) 7.
[274] เทียบ ลก 7:22.
[275] เทียบ มธ 11:25.
[276] เทียบ มก 2:23-26; มธ 21:18.
[277] เทียบ ยน 4:6-7; 19:28.
[278] เทียบ ลก 9:58.
[279] เทียบ มธ 25:31-46.
[280] เทียบ 1 ทธ 1:15.
[281] เทียบ ลก 15:11-32.
[282] เทียบ มก 4:33-34.
[283] เทียบ มธ 22:1-14.
[284] เทียบ มธ 13:44-45.
[285] เทียบ มธ 21:28-32.
[286] เทียบ มธ 13:3-9.
[287] เทียบ มธ 25:14-30.
[288] เทียบ มธ 13:10-15.
[289] เทียบ ลก 7:18-23.
[290] เทียบ ยน 5:36; 10:25.
[291] เทียบ ยน 10:38.
[292] เทียบ มก 5:25-34: 10:52; ฯลฯ
[293] เทียบ ยน 10:31-38.
[294] เทียบ มธ 11:6.
[295] เทียบ ยน 11:47-48.
[296] เทียบ มก 3:22.
[297] เทียบ ยน 6:5-15.
[298] เทียบ ลก 19:8.
[299] เทียบ มธ 11:5.
[300] เทียบ ลก 12:13-14; ยน 18:36.
[301] เทียบ ยน 8:34-36.
[302] เทียบ มธ 12:26.
[303] เทียบ ลก 8:26-39.
[304] เทียบ ยน 12:31.
[305] “Regnavit a ligno Deus”: Venantius Fortunatus, Hymnus «Vexilla Regis » : MGH 1/4/1, 34 (PL 88, 96).
[306] เทียบ มก 3:13-19.
[307] เทียบ มก 3:16; 9:2; ลก 24 :34; 1 คร 15:5.
[308] เทียบ 1 ปต 2:4.
[309] เทียบ ลก 22:32.
[310] เทียบ มธ 18:18.
[311] เทียบ มธ 16:22-23.
[312] เทียบ มธ 17:23 ; ลก 9:45.
[313] เทียบ มธ 17:1-8//; 2 ปต 1:16-18.
[314] เทียบ ลก 24:27.
[315] เทียบ อสย 42:1.
[316] Sanctus Thomas Aquinas, Summa theologiae 3, q.45, a.4 ad 2: Ed. Leon. 11, 433.
[317] Liturgia Byzantina, Kontakion in die Transigurationis: Menaia tou holou eniautou, v. 6 (Romae 1901) p. 341.
[318] Sanctus Thomas Aquinas, Summa theologiae 3. q.45, a.4 ad 2: Ed. Leon. 11, 433.
[319] เทียบ ลก 9:33.
[320] Sanctus Augustinus, Sermo 78, 6: PL 38, 492-493.
[321] เทียบ ยน 13:1.
[322] เทียบ มก 8:31-33; 9:31-32; 10:32-34.
[323] เทียบ มธ 23:37ก.
[324] เทียบ ลก 19:41.
[325] เทียบ ยน 6:15.
[326] เทียบ มธ 21:1-11.
[327] เทียบ ยน 18:37.
[328] เทียบ มธ 21:15-16; สดด 8:3.
[329] เทียบ ลก 19:38; 2:14.
สรุป
สรุป
561 ถ้าพิจารณาดีๆ “เราจะเห็นว่าตลอดพระชนมชีพทั้งหมดของพระคริสตเจ้าเป็นคำสั่งสอนอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นความเงียบ การทำเครื่องหมายอัศจรรย์ การอธิษฐานภาวนา การแสดงความรักต่อทุกคน ความสนใจเป็นพิเศษต่อผู้ต่ำต้อยและผู้ยากไร้ การถวายบูชาพระองค์บนไม้กางเขนที่ทรงยอมรับเต็มที่เป็นการไถ่กู้มวลมนุษย์ ในที่สุดการกลับคืนพระชนมชีพ ล้วนเป็นการปฏิบัติตามพระวาจาและทำให้การเปิดเผยความจริงของพระองค์สำเร็จบริบูรณ์”[330]
562 บรรดาศิษย์ของพระคริสตเจ้าต้องปรับตนให้เหมือนกับพระองค์จนกว่าพระองค์จะทรงปรากฏในตัวเขาอย่างชัดเจน[331] “ดังนั้นเราจึงถูกรวมเข้าในพระธรรมล้ำลึกของพระองค์มีภาพลักษณ์ร่วมตายและกลับคืนชีพร่วมกับพระองค์ จนกว่าเราจะร่วมครองราชย์กับพระองค์”[332]
563 ไม่มีมนุษย์คนใด ไม่ว่าคนเลี้ยงแกะหรือโหราจารย์ อาจเข้ามาพบพระเจ้าบนแผ่นดินนี้ได้ นอกจากว่าเขาจะได้มาคุกเข่าต่อหน้ารางหญ้าที่เบธเลเฮม และกราบนมัสการพระองค์ซึ่งซ่อนอยู่ในความอ่อนแอของเด็กทารกคนหนึ่ง
564 พระเยซูเจ้า ทรงยอมเชื่อฟังพระนางมารีย์และโยเซฟ และทรงทำงานต่ำต้อยที่เมืองนาซาเร็ธตลอดเวลาหลายปี เพื่อประทานแบบฉบับความศักดิ์สิทธิ์แก่เราในชีวิตประจำวันของครอบครัวและการทำงาน
565 นับตั้งแต่ทรงเริ่มออกเทศน์สอนประชาชน ตั้งแต่ทรงรับพิธีล้าง พระเยซูเจ้าทรงเป็น “ผู้รับใช้”(ของพระเจ้า) ผู้ถวายองค์อย่างสมบูรณ์เพื่องานกอบกู้ที่พระองค์จะทรงปฏิบัติจนสำเร็จเมื่อทรงรับ “การล้าง” คือพระทรมานและการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน
566 การที่ทรงถูกทดลองในถิ่นทุรกันดารแสดงว่าทรงเป็นพระเมสสิยาห์ผู้ถ่อมองค์และมีชัยชนะเหนือซาตานโดยทรงยึดมั่นอย่างสมบูรณ์ต่อแผนการความรอดพ้นตามพระประสงค์ของพระบิดา
567 พระคริสตเจ้าทรงเริ่มสถาปนาพระอาณาจักรสวรรค์ในโลกนี้ “พระอาณาจักรนี้ปรากฏชัดแก่มนุษย์ในพระวาจา พระราชกิจและการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้า”[333] พระศาสนจักรเป็นเสมือนเมล็ดพันธุ์และจุดเริ่มต้นของพระอาณาจักรนี้ พระคริสตเจ้าทรงมอบกุญแจ (ซึ่งหมายถึง “อำนาจปกครอง”) ของพระศาสนจักรนี้ไว้กับเปโตร
568 การสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้ามีจุดประสงค์เสริมความเชื่อของบรรดาอัครสาวกให้เข้มแข็งมั่นคงขึ้นเพื่อเผชิญกับพระทรมาน การขึ้นไป “บนภูเขาสูง” ก็เตรียมการขึ้นบนเนินกัลวาริโอ พระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็น “ศีรษะของพระศาสนจักร” ทรงแสดงให้เห็นสิ่งที่มีอยู่ใน “พระกาย” ของพระองค์ (คือพระศาสนจักร) และสิ่งที่พระกายนี้แสดงให้ปรากฏในศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ซึ่งได้แก่ “ความหวังว่าจะได้รับความรุ่งเรือง” (คส 1:27)[334]
569 พระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นไปกรุงเยรูซาเล็มโดยสมัครพระทัย แม้จะทรงทราบดีว่าบรรดาคนบาปจะต่อต้านและประหารชีวิตพระองค์บนไม้กางเขน[335]
570 การเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มของพระเยซูเจ้าเป็นการแสดงว่าพระอาณาจักรที่พระเมสสิยาห์-กษัตริย์ซึ่งบรรดาเด็กและผู้มีจิตใจถ่อมตนโห่ร้องรับเสด็จในนครของพระองค์จะทรงบันดาลให้เป็นจริงอย่างสมบูรณ์อาศัยปัสกาการสิ้นพระชนม์และกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์นั้นได้มาถึงแล้ว
[330] Ioannes Paulus II, Adh. ap. Catechesi tradendae, 9: AAS 71 (1979) 1284.
[331] เทียบ กท 4:19.
[332] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 7:AAS 57 (1965) 10.
[333] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 5:AAS 57 (1965) 7.
[334] Cf. Sanctus Leo Magnus, Sermo 51, 3: CCL 138A, 298-299 (PL 54, 310).
[335] เทียบ ฮบ 12:3.