ตอนที่เจ็ด

พระบัญญัติประการที่เจ็ด

 

             “อย่าลักขโมย” (อพย 20:15)[146]

             “อย่าลักขโมย” (มธ 19:18)

 2401   พระบัญญัติประการที่เจ็ดห้ามไม่ให้เอาหรือยึดทรัพย์สินของเพื่อนพี่น้องไว้อย่างอยุติธรรม ทั้งยังห้ามทำให้พี่น้องต้องสูญเสียทรัพย์สินของเขาไม่ว่าโดยวิธีใด พระบัญญัติประการนี้ยังสั่งให้รักษาความยุติธรรมและความรักในการจัดการทรัพย์สินของโลกและผลงานของมนุษย์  เพื่อความดีส่วนรวมพระบัญญัติประการนี้ยังเรียกร้องให้เคารพและใช้สิทธิในทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ส่วนรวมและเคารพสิทธิต่อทรัพย์สินส่วนตัว  ชีวิตคริสตชนพยายามจัดให้ทรัพย์สมบัติของโลกนี้มุ่งไปหาพระเจ้าและความรักต่อเพื่อนพี่น้อง

 

[146] เทียบ ฉธบ 5:19.            

I. จุดหมายสากลและกรรมสิทธิ์ส่วนตัวของทรัพย์สิน

I. จุดหมายสากลและกรรมสิทธิ์ส่วนตัวของทรัพย์สิน

 2402  ตั้งแต่แรกเริ่ม พระเจ้าทรงมอบโลกนี้และทรัพย์สมบัติของโลกนี้ไว้ให้มนุษยชาติจัดการร่วมกันเอาใจใส่ดูแล ใช้แรงงานควบคุมดูแลและได้รับผลประโยชน์จากโลก[147] สิ่งของดีๆ จากการเนรมิตสร้างถูกกำหนดไว้สำหรับมนุษยชาติทั้งหมด ถึงกระนั้น พระเจ้าก็ทรงจัดแบ่งแผ่นดินให้แก่มนุษย์เพื่อให้เขามีความมั่นคงของชีวิตที่เสี่ยงต่อความขัดสนและถูกคุกคามจากความรุนแรง การเป็นเจ้าของทรัพย์สินเป็นสิ่งถูกต้องเพื่อประกันอิสรภาพและศักดิ์ศรีของบุคคล เพื่อช่วยแต่ละคนให้สามารถให้ความช่วยเหลือต่อความจำเป็นพื้นฐานของผู้ที่เขามีหน้าที่ต้องดูแล  การเป็นเจ้าของทรัพย์สินเช่นนี้ต้องเปิดโอกาสให้มนุษย์ทุกคนแสดงความร่วมมือกันได้ด้วย

 2403   สิทธิการมีทรัพย์สินส่วนตัวที่หาได้มาหรือได้รับมาอย่างถูกต้องไม่ได้ยกเลิกการที่พระเจ้าประทานแผ่นดินตั้งแต่แรกให้แก่มนุษยชาติเป็นส่วนรวม การที่พระเจ้าประทานทุกสิ่งแก่มวลมนุษย์ยังคงเป็นหลักการพื้นฐาน แม้ว่าการส่งเสริมผลประโยชน์ของมวลมนุษย์เรียกร้องให้เคารพสิทธิที่จะมีทรัพย์สินส่วนตัวและสิทธิที่จะจัดการทรัพย์สินเหล่านั้นได้ด้วย

 2404  “เมื่อมนุษย์ใช้สิ่งของเหล่านี้ เขาต้องคิดว่าสิ่งของภายนอกเหล่านี้ที่เขาเป็นเจ้าของไม่เป็นสมบัติส่วนตัวของตนเท่านั้น แต่ยังเป็นของส่วนรวมด้วย ในความหมายที่ว่าเขาอาจใช้ได้ไม่ใช่สำหรับตนเองเท่านั้น แต่ต้องเป็นประโยชน์สำหรับผู้อื่นได้ด้วย”[148] การเป็นเจ้าของทรัพย์สินอย่างหนึ่งทำให้เจ้าของสิ่งนั้นเป็นผู้จัดการพระญาณเอื้ออาทรเพื่อทำให้ทรัพย์สินนั้นเกิดผลและแบ่งปันผลประโยชน์ของสิ่งนั้นแก่ผู้อื่น โดยเฉพาะแก่ผู้ใกล้ชิดกับตน

 2405    ผลิตผลที่เกิดมา – ทั้งที่เป็นวัตถุและไม่ใช่วัตถุ – เช่นจากทุ่งนาหรือโรงงาน จากความสามารถหรือศิลปะ เรียกร้องให้เจ้าของเอาใจใส่ให้ผลิตผลเหล่านั้นเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นให้มากที่สุด ผู้ที่มีหรือใช้สิ่งของเหล่านี้ ต้องใช้อย่างมัธยัสถ์ โดยสงวนรักษาส่วนที่ดีที่สุดไว้สำหรับแขกแปลกหน้า ผู้เจ็บป่วยหรือคนยากจน

 2406  ผู้มีอำนาจทางการเมืองมีสิทธิและหน้าที่ที่จะควบคุมการใช้สิทธิการครอบครองทรัพย์สมบัติให้ถูกต้องโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม[149]

 

[147] เทียบ ปฐก 1:26-29.         

[148] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 69: AAS 58 (1966) 1090.

[149] Cf Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 71: AAS 58 (1966) 1093; Ioannes Paulus II, Litt. enc. Sollicitudo rei socialis, 42: AAS 80 (1988) 572-574; Id., Litt. enc. Centesimus annus, 40: AAS 83 (1991) 843; Ibid., 48: AAS 83 (1991) 852-854      

II. การเคารพต่อบุคคลและทรัพย์สินของเขา

II. การเคารพต่อบุคคลและทรัพย์สินของเขา

 2407  ในเรื่องเศรษฐกิจ ความเคารพต่อศักดิ์ศรีของมนุษย์เรียกร้องให้ใช้คุณธรรมการเดินสายกลางเพื่อควบคุมให้เอาใจใส่แต่พอควรต่อทรัพย์สมบัติของโลกนี้ ยังเรียกร้องให้ใช้คุณธรรมความยุติธรรม เพื่อปกป้องสิทธิของเพื่อนพี่น้องและคืนสิทธิที่เขาควรจะมีให้เขา เรียกร้องให้ใช้คุณธรรมความร่วมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันตามกฎพึงปฏิบัติและตามพระทัยกว้างขององค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ที่แม้ทรงร่ำรวย ก็ยังทรงยอมกลายเป็นคนยากจน เพื่อเราจะได้ร่ำรวยเพราะความยากจนของพระองค์[150]


การเคารพทรัพย์สมบัติของผู้อื่น

 2408   พระบัญญัติประการที่เจ็ดห้ามการลักขโมย นั่นคือการยึดเอาทรัพย์สินของผู้อื่นขัดกับความประสงค์ตามเหตุผลของเจ้าของ  ไม่นับว่าเป็นการขโมย ถ้าอาจคาดว่าเขาจะเห็นด้วย หรือถ้าการปฏิเสธไม่ยอมให้สิ่งนั้นขัดกับเหตุผลและจุดประสงค์สากลของทรัพย์สินเหล่านั้น กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นเมื่อมีความจำเป็นที่เห็นได้ชัดและเร่งด่วนซึ่งในกรณีที่วิธีการเพียงอย่างเดียวจะช่วยเหลือโดยจำเป็นและเร่งด่วน (ด้วยอาหาร ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม....) คือการนำทรัพย์สินของผู้อื่นมาแบ่งปันให้ใช้กัน[151]

 2409  วิธีการทุกอย่างเพื่อได้มาหรือเก็บสิ่งของของผู้อื่นไว้อย่างอยุติธรรม แม้จะไม่ขัดกับข้อกำหนดของกฎหมายบ้านเมือง ก็ยังผิดต่อพระบัญญัติประการที่เจ็ด เช่น การจงใจยึดของที่ยืมมาหรือของที่สูญหายไว้ การคดโกงในการทำธุรกิจ[152] การให้ค่าจ้างอย่างไม่ยุติธรรม[153] การโก่งราคาสินค้าเพื่อทำกำไรเพราะความไม่รู้หรือเพราะความต้องการของผู้อื่น[154]

                  กิจกรรมต่อไปนี้ยังเป็นการทำผิดศีลธรรมด้วย เช่น การกำหนดราคาสินค้าเพื่อหากำไรเอาเปรียบผู้อื่น การให้สินบนให้ผู้ต้องตัดสินตามกฎหมายตัดสินเข้าข้างตน การนำสิ่งของเพื่อประโยชน์สาธารณะมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว การทำงานเสร็จอย่างไม่ดี การหนีภาษี การปลอมแปลงเช็คหรือใบเสร็จรับเงิน การใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยและเสียเปล่า การจงใจทำให้ทรัพย์สินส่วนตัวหรือสาธารณะเสียหายล้วนผิดกฎศีลธรรมและเรียกร้องให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย

 2410   จำเป็นต้องรักษาคำสัญญา และต้องรักษาเอกสารสัญญาอย่างเคร่งครัดเท่าที่ข้อตกลงกันนั้นถูกต้องตามศีลธรรม  ส่วนใหญ่ของชีวิตทางสังคมและเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับคุณค่าของข้อตกลงระหว่างบุคคลตามธรรมชาติหรือนิติบุคคล เช่นสัญญาซื้อขาย สัญญาเช่าและสัญญาว่าจ้างแรงงาน หนังสือสัญญาทุกอย่างต้องทำและปฏิบัติตามโดยสุจริตใจ

 2411   การทำสัญญาย่อมอยู่ใต้การควบคุมของความยุติธรรมแลกเปลี่ยน (commutative justice)ที่จัดระเบียบการติดต่อกันระหว่างบุคคลและสถาบันให้เคารพสิทธิกันอย่างเคร่งครัด ความยุติธรรมแลกเปลี่ยนบังคับอย่างเคร่งครัด เรียกร้องให้ดูแลสิทธิเรื่องทรัพย์สิน  การชำระหนี้ และการปฏิบัติตามข้อตกลงที่ได้ทำไว้อย่างอิสระ  ถ้าไม่มีความยุติธรรมแลกเปลี่ยน ความยุติธรรมรูปแบบอื่นย่อมมีไม่ได้เลย

                 ความยุติธรรมแลกเปลี่ยนแตกต่างจากความยุติธรรมทางกฎหมาย (legal justice) ซึ่งเกี่ยวกับสิ่งที่ประชาชนต้องปฏิบัติต่อสังคมโดยเท่าเทียมกัน และแตกต่างจากความยุติธรรมในการแจกจ่าย (distributive justice)ซึ่งกำหนดให้สังคมต้องจัดให้ประชาชนได้รับส่วนแบ่งตามความจำเป็นและตามที่เขาได้บริจาคแก่สังคม

 2412   ความยุติธรรมแลกเปลี่ยนเรียกร้องให้ชดใช้ทรัพย์สินที่ถูกขโมยไปคืนแก่เจ้าของเป็นการซ่อมแซมความอยุติธรรมที่ได้ทำลงไป

                 พระเยซูเจ้าทรงชมเชยศักเคียสที่ได้ตัดสินใจทำเช่นนี้ “ถ้าข้าพเจ้าโกงสิ่งใดของใครมา ข้าพเจ้าจะคืนให้เขาสี่เท่า” (ลก 19:8) ผู้ที่ได้ไปยึดเอาทรัพย์สินของผู้อื่นมาครอบครองไม่ว่าจะโดยตรงหรือไม่ จำเป็นต้องคืนทรัพย์สินดังกล่าวหรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะหรือเป็นสิ่งของชนิดเดียวกัน ถ้าสิ่งของนั้นหายไป รวมทั้งกำไรและผลประโยชน์ที่เจ้าของเดิมน่าจะได้รับจากสิ่งของนั้นด้วย เช่นเดียวกัน ทุกคนที่มีส่วนในการขโมยสิ่งของนั้นไม่ว่าด้วยวิธีใดและได้รับผลประโยชน์โดยรู้ตัวจากการนี้ ยังต้องคืนให้เจ้าของตามส่วนความรับผิดชอบและผลกำไรของตนด้วย ตัวอย่างเช่น ผู้ที่สั่งการ ให้ความช่วยเหลือ หรือช่วยปกปิดการนี้

 2413     การเล่นเสี่ยงโชค (การเล่นไพ่  ฯลฯ) หรือการพนัน ในตัวเองไม่ขัดต่อความยุติธรรม แต่การเล่นเช่นนี้เป็นที่ยอมรับไม่ได้ทางศีลธรรม ถ้าทำให้บุคคลหนึ่งต้องขาดสิ่งที่จำเป็นสำหรับช่วยเหลือความต้องการของตนเองหรือของผู้อื่น  ความอยากเล่นมักจะเสี่ยงที่จะกลายเป็นการเป็นทาสการพนันอย่างหนัก  การพนันขันต่ออย่างอยุติธรรมหรือเล่นโกงในการพนันนับเป็นเรื่องหนัก เว้นแต่ว่าความเสียหายที่ได้รับนั้นเบาจนว่าผู้รับความเสียหายไม่อาจถือตามเหตุผลได้ว่าเป็นเรื่องสำคัญ

 2414  พระบัญญัติประการที่เจ็ดยังห้ามการกระทำและการริเริ่มที่ไม่ว่าเพราะเหตุใด – เช่นจากความรักตนเองอย่างตาบอด (“เห็นแก่ตัว”) หรือจากความคิดทางทฤษฎี จากธุรกิจการค้าหรือการปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ – ที่นำมนุษย์ให้กลายเป็นทาส โดยการไม่ยอมรับรู้ศักดิ์ศรีของบุคคล โดยการค้าขายหรือแลกเปลี่ยนมนุษย์เหมือนกับว่าเป็นสินค้า การใช้กำลังทำให้บุคคลเหล่านี้มีค่าเป็นเสมือนเครื่องมือการผลิต หรือเพื่อเป็นโอกาสหากำไร เป็นบาปผิดต่อศักดิ์ศรีของบุคคลและต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของเขา  นักบุญเปาโลเคยบอกคริสตชนที่เป็นนายคนหนึ่งให้ปฏิบัติต่อทาสที่เป็นคริสตชนของเขา “มิใช่ในฐานะทาสอีก แต่ […] ในฐานะที่เป็นน้องชายที่รัก […] ทั้งในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์และในฐานะที่เป็นพี่น้องในองค์พระผู้เป็นเจ้า” (ฟม 16)


การเคารพต่อบูรณภาพของสิ่งสร้าง

 2415  พระบัญญัติประการที่เจ็ดยังเรียกร้องให้เคารพต่อบูรณภาพของสิ่งสร้าง สัตว์ต่างๆ รวมทั้งพืชและสิ่งที่ไม่มีชีวิตล้วนถูกธรรมชาติกำหนดไว้เพื่อผลประโยชน์ของมนุษยชาติในอดีต ในปัจจุบันและในอนาคต[155] การใช้ทรัพยากรแร่ธาตุ พืชพันธุ์ และสัตว์ต่างๆ ของโลกทั้งหมดไม่อาจแยกตัวออกจากความเคารพต่อข้อเรียกร้องทางศีลธรรมได้ การที่พระผู้ทรงเนรมิตสร้างทรงมอบอำนาจให้มนุษย์เป็นนายเหนือสรรพสิ่งทั้งที่ไม่มีชีวิตและที่มีชีวิตนั้นไม่ใช่อำนาจเด็ดขาด อำนาจนี้ต้องถูกจำกัดโดยการเอาใจใส่ต่อคุณภาพชีวิตของเพื่อนพี่น้อง รวมทั้งเพื่อนมนุษย์ในชั่วอายุคนต่อๆไปด้วย บูรณภาพของสิ่งสร้างเรียกร้องให้มีความเคารพทางศาสนาด้วย[156]

 2416  สัตว์ต่างๆ เป็นสิ่งสร้างของพระเจ้า พระองค์ทรงใช้พระญาณเอื้ออาทรเอาใจใส่ดูแลบรรดาสัตว์ด้วย[157] บรรดาสัตว์ใช้เพียงความเป็นอยู่ของมันเท่านั้นถวายพระพรและถวายพระเกียรติแด่พระองค์[158] มนุษย์จึงต้องแสดงความใจดีต่อสัตว์เหล่านี้ด้วย เราจึงต้องระลึกว่าบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ เช่น
นักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซีหรือนักบุญฟีลิปเนรี เคยเอาใจใส่ดูแลสัตว์ต่างๆ ด้วยความอ่อนโยนอย่างไร

 2417   พระเจ้าทรงมอบบรรดาสัตว์ให้อยู่ในความเอาใจใส่ดูแลของผู้ที่พระองค์ทรงเนรมิตสร้างขึ้นมาตามภาพลักษณ์ของพระองค์[159] ดังนั้น จึงเป็นการถูกต้องที่จะใช้สัตว์มาเป็นอาหารหรือทำเครื่องนุ่งห่ม
มนุษย์อาจนำสัตว์มาทำให้เชื่องเพื่อช่วยเขาทำงานหรือหย่อนใจได้ การใช้สัตว์ในการทดลองทางแพทย์และวิทยาศาสตร์เป็นที่ยอมรับได้ทางศีลธรรม ถ้าจำกัดอยู่ในขอบเขตที่สมเหตุสมผลและเพื่อช่วยบำบัดรักษาและช่วยชีวิตมนุษย์ให้รอดพ้น

 2418  การทำให้สัตว์บาดเจ็บหรือตายโดยไม่มีประโยชน์เป็นการขัดกับศักดิ์ศรีของมนุษย์  เป็นการไม่เหมาะสมเช่นเดียวกันที่จะใช้เงินทองที่ควรจะใช้เพื่อช่วยบรรเทาความทุกข์ของมนุษย์ไปใช้เพื่อช่วยเหลือสัตว์ เราอาจรักสัตว์ได้ แต่เราไม่ควรหันเหความรักที่ควรมีต่อบุคคลมนุษย์เท่านั้นไปให้สัตว์

 

[150] เทียบ 2 คร 8:9.            

[151] Cf Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 69: AAS 58 (1966) 1090-1091.         

[152] เทียบ ฉธบ 25:13-16.       

[153] เทียบ ฉธบ 24:14-15; ยก 5:4.

[154] เทียบ อมส 8:4-6.          

[155] เทียบ ปฐก 1:28-31.         

[156] Cf Ioannes Paulus II, Litt. enc. Centesimus annus, 37-38: AAS 83 (1991) 840-841.

[157] เทียบ มธ 6:26.             

[158] เทียบ ดนล 3:79-81.        

[159] เทียบ ปฐก 2:19-20; 9:1-4.  

III.  คำสอนของพระศาสนจักรเรื่องสังคม

III.  คำสอนของพระศาสนจักรเรื่องสังคม

 2419  “การเปิดเผยของคริสตศาสนา […] ส่งเสริมให้เราเข้าใจกฎของชีวิตสังคมได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น”[160] พระศาสนจักรได้รับการเปิดเผยอย่างสมบูรณ์ถึงความจริงเกี่ยวกับมนุษย์ เมื่อปฏิบัติพันธกิจการประกาศข่าวดีแก่มนุษย์ในพระนามของพระคริสตเจ้า พระศาสนจักรจึงเป็นพยานถึงศักดิ์ศรีและกระแสเรียกเฉพาะที่มนุษย์มีต่อความสัมพันธ์ของบุคคลต่างๆ พระศาสนจักรสอนมนุษย์ถึงข้อเรียกร้องของสันติภาพและความยุติธรรมตามพระปรีชาญาณของพระเจ้า

 2420  พระศาสนจักรตัดสินความถูกผิดด้านศีลธรรมในเรื่องเศรษฐกิจและสังคม “ในเมื่อสิทธิขั้นพื้นฐาน
ของบุคคลหรือความรอดพ้นของวิญญาณเรียกร้องให้ทำเช่นนี้”[161] พระศาสนจักรมีพันธกิจที่ต้องปฏิบัติในระเบียบศีลธรรมแตกต่างจากพันธกิจของอำนาจทางบ้านเมือง พระศาสนจักรสนใจเรื่องทรัพยากรทางโลกส่วนรวมของทุกคนในฐานะที่ทรัพยากรเหล่านี้ถูกจัดไว้ให้มุ่งหาความดีสูงสุดซึ่งเป็นจุดหมายสุดท้ายของเรา พระศาสนจักรจึงพยายามที่จะปลูกฝังท่าทีที่ถูกต้องเกี่ยวกับทรัพยากรของโลกในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคม

2421    คำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักรได้พัฒนาขึ้นในศตวรรษที่ 19 เมื่อพระวรสารต้องเผชิญหน้ากับสังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่มีโครงสร้างมุ่งผลิตผลเพื่อการบริโภคซึ่งมีความคิดแบบใหม่เกี่ยวกับสังคม รัฐ และอำนาจปกครอง รวมทั้งรูปแบบใหม่ของแรงงานและการถือกรรมสิทธิ์ พัฒนาการความรู้ของพระศาสนจักรในเรื่องเศรษฐกิจและสังคมเป็นพยานว่าคำสอนของพระศาสนจักร รวมทั้งความหมายแท้จริงของธรรมประเพณีนั้นยังทรงคุณค่าถาวรและทันสมัยใช้ได้อยู่เสมอ[162]

 2422  คำสอนของพระศาสนจักรเกี่ยวกับสังคมประกอบด้วยประมวลคำสอนที่พระศาสนจักรอธิบายความหมายของเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ด้วยความช่วยเหลือของพระจิตเจ้าโดยคำนึงถึงพระวาจาทั้งหมดที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงเปิดเผยไว้[163] คำสอนนี้ยิ่งเป็นแรงบันดาลใจการ กระทำของผู้มีความเชื่อมากขึ้นเท่าใด ก็ย่อมเป็นที่ยอมรับของมนุษย์ผู้มีน้ำใจดียิ่งขึ้นเท่านั้น

 2423   คำสอนของพระศาสนจักรเกี่ยวกับสังคมเสนอหลักการให้คิดพิจารณา เสนอมาตรการเพื่อตัดสิน ให้คำแนะนำเพื่อการกระทำ

                    ทุกระบอบการปกครองที่ใช้หลักการด้านเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ทางสังคมล้วนขัดกับธรรมชาติและการกระทำของบุคคลมนุษย์ทั้งสิ้น[164]

 2424   ทฤษฎีที่ใช้ผลกำไรเป็นตัวกำหนดเพียงอย่างเดียวและเป็นจุดหมายสุดท้ายของกิจกรรมทางเศรษฐกิจย่อมเป็นที่ยอมรับไม่ได้ทางศีลธรรม ความกระหายเงินทองอย่างไร้ระเบียบมีแต่จะก่อให้เกิดผลร้ายอยู่เสมอ ความกระหายนี้เป็นหนึ่งในสาเหตุต่างๆ ของการต่อสู้กันที่ทำลายระเบียบของสังคม[165]

                     ระบอบการปกครองที่ถือว่า “สิทธิพื้นฐานของแต่ละบุคคลและหมู่คณะมีความสำคัญน้อยกว่าองค์กรจัดการการผลิตส่วนรวม”[166] ย่อมขัดกับศักดิ์ศรีของมนุษย์ การกระทำทุกอย่างที่ทำให้บุคคลกลายเป็นเพียงเครื่องมือหากำไรเท่านั้น ทำให้มนุษย์กลายเป็นทาส นำไปสู่การบูชาเงินทองและช่วยให้ลัทธิอเทวนิยมเผยแพร่ยิ่งขึ้น “ท่านทั้งหลายจะปรนนิบัติรับใช้พระเจ้าและเงินทองพร้อมกันไม่ได้” (มธ 6:24; ลก 16:13)

 2425   พระศาสนจักรปฏิเสธไม่ยอมรับแนวความคิดการปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จและไม่ยอมรับพระเจ้าที่ในสมัยปัจจุบันนี้มักควบคู่ไปกับ “ลัทธิคอมมิวนิสต์” หรือ “สังคมนิยม” นอกจากนั้นยังปฏิเสธไม่ยอมรับลัทธิปัจเจกชนนิยม (individualism) ในการปฏิบัติ “ลัทธิทุนนิยม” (capitalism) รวมทั้งการที่กฎหมายการตลาดมีอำนาจเหนือการงานของมนุษย์[167] การจัดระเบียบเศรษฐกิจโดยใช้ระเบียบที่ส่วนกลางกำหนดไว้แล้วเพียงอย่างเดียวเป็นการทำผิดต่อหลักการความสัมพันธ์ทางสังคม เพราะว่า “ยังมีความต้องการบางอย่างของมนุษย์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตลาด”[168] จำเป็นต้องส่งเสริมให้มีการจัดระเบียบการตลาดอย่างมีเหตุผลและ(ส่งเสริม)การริเริ่มทางเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงลำดับที่ยุติธรรมของคุณค่าต่างๆ และผลประโยชน์ส่วนรวม

 

[160] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 23: AAS 58 (1966) 1044.

[161] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 76: AAS 58 (1966) 1100. 

[162] Cf Ioannes Paulus II, Litt. enc. Centesimus annus, 3: AAS 83 (1991) 794-796.  

[163] Cf Ioannes Paulus II, Litt. enc. Sollicitudo rei socialis, 1: AAS 80 (1988) 513-514; Ibid., 41: AAS 80 (1988) 570-572.

[164] Cf Ioannes Paulus II, Litt. enc. Centesimus annus, 24: AAS 83 (1991) 821-822. 

[165] Cf Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 63: AAS 58 (1966) 1085; Ioannes Paulus II, Litt. enc. Laborem exercens, 7: AAS 73 (1981) 592-594; Id., Litt. enc. Centesimus annus, 35: AAS 83 (1991) 836-838.              

[166] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 65: AAS 58 (1966) 1087.

[167] Cf Ioannes Paulus II, Litt. enc. Centesimus annus, 10: AAS 83 (1991) 804-806; Ibid., 13: AAS 83 (1991) 809-810; Ibid., 44: AAS 83 (1991) 848-849.

[168] Ioannes Paulus II, Litt. enc. Centesimus annus, 34: AAS 83 (1991) 836.        

IV.  กิจกรรมทางเศรษฐกิจและความยุติธรรมด้านสังคม

IV.  กิจกรรมทางเศรษฐกิจและความยุติธรรมด้านสังคม

 2426  ความเจริญก้าวหน้าของการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการเพิ่มผลผลิตมีเจตนาเพื่อตอบสนองความต้องการที่จำเป็นของมนุษยชาติ กิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่มีจุดหมายเพื่อเพิ่มผลผลิตและเพื่อเพิ่มผลกำไรหรืออำนาจเท่านั้น แต่กิจกรรมนี้ถูกจัดไว้โดยเฉพาะเพื่อรับใช้บุคคลต่างๆ เพื่อรับใช้มนุษย์แต่ละคนและสังคมมนุษย์ทั้งหมด  จึงจำเป็นต้องปฏิบัติกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามวิธีการและกฎโดยเฉพาะของตนภายในขอบเขตของระเบียบทางศีลธรรมตามความยุติธรรมด้านสังคมเพื่อให้สอดคล้องกับแผนการของพระเจ้าสำหรับมนุษย์[169]

 2427  การงานของมนุษย์สืบเนื่องโดยตรงมาจากบุคคลที่ถูกเนรมิตสร้างมาตามภาพลักษณ์ของพระเจ้าและได้รับเรียกให้เป็นนายเหนือแผ่นดินเพื่อสืบต่องานเนรมิตสร้างพร้อมกับผู้อื่นและเพื่อผู้อื่น[170] การทำงานจึงเป็นหน้าที่อย่างหนึ่ง “ถ้าผู้ใดไม่อยากทำงานก็อย่ากิน” (2 ธส 3:10)[171] การทำงานให้เกียรติของประทานจากพระผู้เนรมิตสร้างและพระพรความสามารถที่ได้รับจากพระองค์ การทำงานยังอาจเป็นการกอบกู้ได้ด้วย เมื่อมนุษย์ยอมรับการลงโทษ[172] ทำงานร่วมกับพระเยซูเจ้าคนงานจากเมืองนาซาเร็ธและถูกตรึงกางเขนบนเนินกัลวารีโอ  เขาประหนึ่งว่ากำลังร่วมงานกับพระบุตรของพระเจ้าในงานไถ่กู้ของพระองค์ เขาแสดงตนว่าเป็นศิษย์ของพระคริสตเจ้า แบกไม้กางเขนทุกๆ วันในการทำงานประจำวันที่เขาได้รับเรียกมาให้ปฏิบัติ[173] การทำงานจึงอาจเป็นวิธีการทำตนให้ศักดิ์สิทธิ์และทำให้สิ่งต่างๆ ในโลกนี้มีชีวิตชีวาในพระจิตของพระคริสตเจ้า

 2428  เมื่อทำงาน บุคคลหนึ่งแสดงออกและทำให้ความสามารถส่วนหนึ่งที่ฝังอยู่ในธรรมชาติของตนสำเร็จเป็นจริง คุณค่าพื้นฐานของการทำงานมาจากมนุษย์ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดและจุดหมายของการงาน การงานมีอยู่สำหรับมนุษย์ ไม่ใช่มนุษย์มีอยู่เพื่อการงาน[174]

                   แต่ละคนต้องมีโอกาสที่จะทำงานเพื่อสามารถช่วยเหลือค้ำจุนชีวิตของตนและครอบครัว อีกทั้งเพื่อรับใช้สังคมมนุษย์ด้วย

2429   แต่ละคนมีสิทธิที่จะริเริ่มธุรกิจ แต่ละคนต้องใช้ความสามารถของตนเพื่อส่งเสริมความอุดมสมบูรณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อทุกคนและเพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ที่ถูกต้องจากความพยายามของตน เขาจะต้องเอาใจใส่ปฏิบัติตามระเบียบซึ่งผู้มีอำนาจปกครองที่ถูกต้องกำหนดไว้เพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม[175]

2430   วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจก่อให้เกิดผลประโยชน์แตกต่างกันหลายอย่างซึ่งบางทีก็ขัดแย้งกันเอง จากการนี้เราจึงเข้าใจได้ว่าทำไมจึงเกิดการต่อสู้แข่งขันกันในธุรกิจต่างๆ[176] จึงจำเป็นต้องพยายามให้การต่อสู้แข่งขันกันเหล่านี้ลดน้อยลงอาศัยการเจรจาที่เคารพสิทธิและหน้าที่ของทุกส่วนในสังคม - ของเจ้าของธุรกิจ ของผู้แทนผู้ใช้แรงงาน เช่นสหภาพแรงงาน และถ้าเป็นไปได้ ของผู้มีอำนาจปกครองด้วย

 2431   ความรับผิดชอบของรัฐ “กิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการตลาด จะดำเนินไปไม่ได้ถ้าไม่มีสถาบันทางกฎหมายและกฎเกณฑ์ทางศาลและการเมืองคอยควบคุมดูแล ตรงกันข้ามกิจกรรมเช่นนี้เรียกร้องความมั่นใจถึงอิสรภาพของแต่ละคนและการครอบครองทรัพย์สินส่วนตัวนอกเหนือจากระบบการเงินที่มั่นคงและบริการสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น บทบาทสำคัญของรัฐจึงอยู่ที่การจัดให้มีความมั่นใจนี้เพื่อให้ทั้งคนงานและผู้ผลิตสินค้าได้ประโยชน์จากผลงานของตนเพื่อจะได้รับแรงบันดาลใจให้ทำงานของตนอย่างมีประสิทธิภาพและซื่อสัตย์ […] ยิ่งกว่านั้น รัฐยังต้องคอยควบคุมดูแลและแนะนำการใช้สิทธิของประชาชนในวงการเศรษฐกิจ แต่บทบาทสำคัญในเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของรัฐ แต่เป็นหน้าที่ของแต่ละคนและของสมาคมและกลุ่มต่างๆ ที่รวมกันเป็นสังคม”[177]

 2432  หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมต้องรับผิดชอบการปฏิงานของตนต่อหน้าสังคม[178] หน่วยงานเหล่านี้มีหน้าที่ต้องคำนึงถึงไม่เพียงแต่การเพิ่มผลกำไรเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของบุคคลด้วย ผลกำไรเป็นสิ่งจำเป็นก็จริง ผลกำไรช่วยให้ใช้เงินประกันอนาคตของธุรกิจและยังช่วยให้ผู้คนมีงานทำด้วย

 2433   โอกาสมีงานทำ และมีอาชีพต้องเปิดไว้สำหรับทุกคนโดยไม่มีการกีดกัน ทั้งสำหรับชายและหญิง สำหรับผู้มีสุขภาพดีและคนทุพพลภาพ สำหรับคนท้องถิ่นและคนแปลกถิ่น[179] โดยหน้าที่ สังคมต้องช่วยประชาชนตามสภาพแวดล้อมให้หางานและอาชีพสำหรับตนได้[180]

 2434  ค่าจ้างที่ยุติธรรมเป็นผลที่ถูกต้องของการทำงาน การไม่ยอมให้หรือหน่วงเหนี่ยวค่าจ้างไว้อาจเป็นความอยุติธรรมอย่างหนัก[181] เพื่อกำหนดค่าตอบแทนได้อย่างยุติธรรม จึงต้องคำนึงถึงความต้องการที่จำเป็นและผลงานของแต่ละคน “การทำงานต้องได้รับค่าตอบแทนเพื่อผู้ทำงานจะได้รับโอกาสที่จะดำเนินชีวิตของตนด้านวัตถุ สังคม วัฒนธรรมและจิตใจได้อย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงบทบาทและผลผลิตของแต่ละคน รวมทั้งสภาพของที่ทำงานและผลประโยชน์ส่วนรวมด้วย”[182] การตกลงกันของคู่กรณีไม่เพียงพอที่จะทำให้จำนวนเงินค่าจ้างที่ได้รับนั้นมีความยุติธรรมทางศีลธรรม

 2435   การนัดหยุดงานนั้นทำได้และไม่ผิดศีลธรรมก็เมื่อเป็นทางออกที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือจำเป็น เพื่อจะได้ผลประโยชน์ตามที่ควรจะได้รับ การทำเช่นนี้ยอมรับไม่ได้ทางศีลธรรมเมื่อควบคู่ไปกับการใช้ความรุนแรง หรือถ้ามีจุดประสงค์อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับสภาพการทำงานหรือเมื่อขัดกับผลประโยชน์ส่วนรวม

2436   เป็นการผิดยุติธรรมที่จะไม่จ่ายเบี้ยประกันสังคมที่ผู้มีอำนาจปกครองตามกฎหมายกำหนดไว้

        การไม่มีอาชีพเพราะไม่มีงานทำ สำหรับผู้ต้องรับเคราะห์เพราะการนี้ นับได้ว่าเป็นบาดแผลต่อศักดิ์ศรีของเขาและเป็นการคุกคามต่อความสมดุลของชีวิต นอกจากเป็นผลร้ายที่ผู้นั้นต้องรับทนแล้ว สภาพเช่นนี้ยังก่อให้เกิดอันตรายหลายอย่างสำหรับครอบครัวของเขาด้วย[183]

 

[169] Cf Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 64: AAS 58 (1966) 1086.             

[170] เทียบ ปฐก 1:28; Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 34: AAS 58 (1966) 1052-1053; Ioannes Paulus II, Litt. enc. Centesimus annus, 31: AAS 83 (1991) 831-832.      

[171] เทียบ 1 ธส 4:11.            

[172] เทียบ ปฐก 3:14-19.         

[173] Cf Ioannes Paulus II, Litt. enc. Laborem exercens, 27: AAS 73 (1981) 644-647. 

[174] Cf Ioannes Paulus II, Litt. enc. Laborem exercens, 6: AAS 73 (1981) 589-592.  

[175] Cf Ioannes Paulus II, Litt. enc. Centesimus annus, 32: AAS 83 (1991) 832-833; Ibid., 34: AAS 83 (1991) 835-836.

[176] Cf Ioannes Paulus II, Litt. enc. Laborem exercens, 11: AAS 73 (1981) 602-605.  

[177] Ioannes Paulus II, Litt. enc. Centesimus annus, 48: AAS 83 (1991) 852-853.    

[178] Cf Ioannes Paulus II, Litt. enc. Centesimus annus, 37: AAS 83 (1991) 840.     

[179] Cf Ioannes Paulus II, Litt. enc. Laborem exercens, 19: AAS 73 (1981) 625-629; Ibid., 22-23: AAS 73 (1981) 634-637.

[180] Cf Ioannes Paulus II, Litt. enc. Centesimus annus, 48: AAS 83 (1991) 852-854. 

[181] เทียบ ลนต 19:13; ฉธบ 24:14-15; ยก 5:4.     

[182] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 67: AAS 58 (1966) 1088-1089.           

[183] Cf Ioannes Paulus II, Litt. enc. Laborem exercens, 18: AAS 73 (1981) 622625. 

V. ความยุติธรรมและความร่วมมือระหว่างชาติ

V. ความยุติธรรมและความร่วมมือระหว่างชาติ

 2437  ในระดับนานาชาติ ประชากรชาติต่างๆ มีทรัพยากรและความสามารถทางเศรษฐกิจไม่เท่ากันจนก่อให้เกิด “ช่องว่าง” ระหว่างชาติเหล่านี้[1]  ในด้านหนึ่ง ประชาชนบางชาติมีและพัฒนาวิธีการเจริญเติบโตได้  แต่ในอีกด้านหนึ่งประชาชนอีกหลายชาติยิ่งกลับมีหนี้สินมากขึ้น

 2438  สาเหตุต่างๆ ด้านศาสนา การเมือง เศรษฐกิจและการเงิน ก่อให้เกิด “ปัญหาด้านสังคมที่ครอบคลุมมนุษย์ทั่วโลก”[2]  จึงจำเป็นต้องมีการร่วมมือร่วมใจกันระหว่างชนชาติต่างๆ ที่มีกิจกรรมทางการเมืองที่ไม่ขึ้นกันอยู่แล้ว การร่วมมือร่วมใจกันเช่นนี้ยิ่งจำเป็นอย่างมากเมื่อเป็นเรื่องการกำจัด “กลไกชั่วร้าย” ที่ขัดขวางความเจริญก้าวหน้าของประชากรที่พัฒนาน้อยกว่า[3] จำเป็นต้องมีความพยายามร่วมกันเพื่อกำจัดระบบเศรษฐกิจที่ไม่ถูกต้องและเอารัดเอาเปรียบ[4]  ความสัมพันธ์ชั่วร้ายทางการค้าระหว่างชาติ การแข่งขันกันผลิตอาวุธยุทธภัณฑ์ เพื่อร่วมมือกันช่วยผลักดันความช่วยเหลือไปสู่จุดหมายการพัฒนาความก้าวหน้าทางศีลธรรม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ “โดยกำหนดขั้นตอนก่อนหลังและลำดับความสำคัญของแผนงานที่ต้องทำ”[5]

2439   ชาติที่ร่ำรวยมีความรับผิดชอบสำคัญทางศีลธรรมต่อชาติที่โดยตนเองหรือถูกขัดขวางโดยเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ให้ไม่อาจนำความเจริญมาสู่ตนเองได้  เป็นหน้าที่ของความร่วมมือร่วมใจกันและของความรัก และยังเป็นข้อบังคับของความยุติธรรมด้วย ถ้าสภาพความเจริญของชาติที่ร่ำรวยนั้นเกิดมาจากความช่วยเหลือที่ไม่ได้ถูกจัดแบ่งปันแจกจ่ายกันอย่างยุติธรรม

2440   การให้ความช่วยเหลือโดยตรงเป็นการตอบสนองที่เหมาะกับความจำเป็นพิเศษเร่งด่วนที่เกิดขึ้น เช่นจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ โรคระบาด ฯลฯ แต่การให้ความช่วยเหลือเช่นนี้ไม่เพียงพอเพื่อแก้ไขความเสียหายหนักที่เกิดจากสภาพความยากจน และไม่เพียงพอเพื่อตอบสนองความต้องการได้อย่างถาวร ยังจำเป็นต้องจัดตั้งองค์กรระหว่างชาติด้านเศรษฐกิจและการตลาดเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อย่างเป็นธรรมระหว่างประชากรที่ด้อยพัฒนาได้ดียิ่งขึ้น[6] ความพยายามของชนชาติที่ยากจนเพื่อพัฒนาและเพื่อปลดปล่อยตนเองต้องได้รับการสนับสนุน[7]  คำสอนเรื่องนี้เรียกร้องให้นำมาใช้โดยเฉพาะในแวดวงการกสิกรรม บรรดากสิกร โดยเฉพาะในประเทศโลก  ที่สาม มักเป็นส่วนใหญ่ของประชากรที่ยากจน

 2441  การเพิ่มความสำนึกถึงพระเจ้าและการรู้จักตนเองนับเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาที่สมบูรณ์ของสังคมมนุษย์ การพัฒนานี้เพิ่มทรัพยากรด้านวัตถุและจัดทรัพยากรนี้ไว้เพื่อรับใช้บุคคลและเสรีภาพของเขา ลดความยากจนและการเอาเปรียบด้านเศรษฐกิจ  ช่วยให้ความเคารพต่อเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและการเปิดตัวต่อโลกุตระเพิ่มขึ้น[8]

 2442  ไม่ใช่หน้าที่ของผู้อภิบาลของพระศาสนจักรที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงในการจัดโครงสร้างทางการเมืองและจัดการองค์กรด้านสังคม บทบาทนี้เป็นกระแสเรียกส่วนหนึ่งของผู้มีความเชื่อที่เป็นฆราวาส ซึ่งทำงานด้วยการริเริ่มของตนเองร่วมกับเพื่อนประชาชนคนอื่น กิจกรรมด้านสังคมอาจมีแนวทางปฏิบัติได้หลากหลาย กิจกรรมนี้ต้องถูกจัดไว้เพื่อความดีส่วนรวมเสมอ และต้องสอดคล้องกับข่าวดีของพระวรสารและคำสอนของพระศาสนจักรด้วย  เป็นหน้าที่ของผู้มีความเชื่อซึ่งเป็นฆราวาส “ที่จะจัดการสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ด้วยความเอาใจใส่ต่อหน้าที่เยี่ยงคริสตชนและแสดงตนเป็นพยานและผู้สร้างสันติภาพและความยุติธรรม”[9]

 

[1] Cf Ioannes Paulus II, Litt. enc. Sollicitudo rei socialis, 14: AAS 80 (1988) 526-528.

[2] Ioannes Paulus II, Litt. enc. Sollicitudo rei socialis, 9: AAS 80 (1988) 520521.    

[3] Cf Ioannes Paulus II, Litt. enc. Sollicitudo rei socialis, 17: AAS 80 (1988) 532-533; Ibid., 45: AAS 80 (1988) 577-578.

[4] Cf Ioannes Paulus II, Litt. enc. Centesimus annus, 35: AAS 83 (1991) 836-838.   

[5] Ioannes Paulus II, Litt. enc. Centesimus annus, 28: AAS 83 (1991) 828.          

[6] Cf Ioannes Paulus II, Litt. enc. Sollicitudo rei socialis, 16: AAS 80 (1988) 531.    

[7] Cf Ioannes Paulus II, Litt. enc. Centesimus annus, 26: AAS 83 (1991) 824-826.   

[8] Cf Ioannes Paulus II, Litt. enc. Sollicitudo rei socialis, 32: AAS 80 (1988) 556-557; Id., Litt. enc. Centesimus annus, 51: AAS 83 (1991) 856-857.      

[9] Ioannes Paulus II, Litt. enc. Sollicitudo rei socialis, 47: AAS 80 (1988) 582; cf Ibid., 42: AAS 80 (1988) 572-574.

VI.  ความรักต่อผู้ยากไร้

VI.  ความรักต่อผู้ยากไร้

 2443  พระเจ้าทรงอวยพระพรผู้ให้ความช่วยเหลือต่อผู้ยากไร้และทรงตำหนิผู้ที่ไม่ยอมทำเช่นนี้ “ผู้ใดขออะไรจากท่าน ก็จงให้ อย่าหันหลังให้ผู้ที่มาขอยืมสิ่งใดจากท่าน” (มธ 5:42) “ท่านได้รับมาโดยไม่เสียค่าตอบแทน ก็จงให้เขาโดยไม่รับค่าตอบแทนด้วย” (มธ 10:8) พระเยซูเจ้าจะทรงยอมรับผู้ที่ทรงเลือกสรรจากการที่เขาปฏิบัติต่อผู้ยากจน[193] ในเมื่อการที่ “คนยากจนได้รับการประกาศข่าวดี” (มธ 11:5)[194]เป็นเครื่องหมายการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้า

 2444  “ความเอาใจใส่ของพระศาสนจักรต่อผู้ยากไร้ […] ยังคงดำเนินเป็นธรรมเนียมตลอดมา”[195] เรื่องนี้ได้รับพลังบันดาลใจจากการประกาศข่าวดีเรื่องความสุขแท้[196] จากความยากจนของพระเยซูเจ้า[197] และการที่ทรงเอาพระทัยใส่ต่อผู้ยากไร้[198] ความเอาใจใส่ต่อผู้ยากไร้ยังต้องนับว่าเป็นเหตุผลของหน้าที่ที่จะต้องทำงานเพื่อจะได้มีความสามารถที่จะช่วยเหลือผู้มีความจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ[199] เรื่องนี้ไม่ครอบคลุมเพียงความยากไร้ด้านวัตถุเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงความยากไร้ด้านวัฒนธรรมและศาสนาอีกหลายรูปแบบด้วย[200]

 2445  ความรักต่อผู้ยากไร้เข้ากันไม่ได้กับความรักเกินควรต่อทรัพย์สมบัติหรือกับการใช้ทรัพย์สมบัติเหล่านี้เพื่อตนเองเท่านั้น (“ความเห็นแก่ตัว”)

               “ผู้มั่งมีทั้งหลาย จงร้องไห้คร่ำครวญ เพราะความทุกข์ยากกำลังจะมาถึงท่านแล้ว ทรัพย์สมบัติของท่านเสื่อมสลาย เสื้อผ้าก็ถูกมอดกัดกินหมดแล้ว เงินทองของท่านก็เป็นสนิม และสนิมนั้นจะเป็นพยานกล่าวโทษท่าน มันจะกัดกินเนื้อของท่านประดุจไฟซึ่งท่านสะสมไว้สำหรับวันสุดท้าย ท่านคดโกง ไม่จ่ายค่าจ้างให้กรรมกรที่เก็บเกี่ยวในทุ่งนาของท่าน ค่าจ้างนี้กำลังร้อง และเสียงร้องของคนเก็บเกี่ยวไปถึงพระกรรณขององค์พระผู้เป็นเจ้าจอมจักรวาลแล้ว ท่านมีชีวิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือยในโลกนี้และกินเลี้ยงอย่างสนุกสนาน ท่านบำรุงจิตใจของท่านไว้รอวันประหารชีวิต ท่านตัดสินลงโทษและ
ฆ่าผู้ชอบธรรม เขาก็มิได้ขัดขืนท่าน” (ยก 5:1-6)

 2446  นักบุญยอห์น ครีโซสตม ใช้ถ้อยคำรุนแรงเตือนว่า “การไม่แบ่งปันแก่ผู้ยากไร้เป็นการขโมยพวกเขา และทำร้ายชีวิตของเขา […] ของที่เรามีนั้นเป็นของพวกเขา ไม่ใช่ของเรา”[201] “ก่อนอื่นหมด เราต้องตอบสนองตามที่ความยุติธรรมเรียกร้อง เพื่อว่าสิ่งที่เราต้องให้ตามความยุติธรรมแล้วนั้น เราจะไม่นำไปให้ประหนึ่งเป็นทานจากความรัก”[202]

                 “เมื่อเราตอบสนองสิ่งที่จำเป็นแก่ผู้ขัดสน เราก็คืนของๆ เขาให้เจ้าของ ไม่ใช่เอาของๆ เราไปให้เขา เราจ่ายหนี้ตามความยุติธรรมมากกว่าให้ทาน”[203]

 2447  งานเมตตากรุณาเป็นกิจการแสดงความรักที่เราช่วยเหลือเพื่อนพี่น้องของเราเมื่อเขามีความต้องการทางร่างกายและจิตใจ[204] การสั่งสอน ให้คำแนะนำ ปลอบโยน ให้กำลังใจเป็นงานเมตตากรุณาด้านจิตใจ เช่นเดียวกับการให้อภัยและความพากเพียรอดทน งานเมตตากรุณาด้านร่างกายส่วนมากประกอบด้วยการเลี้ยงดูผู้หิวโหย ให้ที่อยู่แก่ผู้ไม่มีที่อาศัย ให้เสื้อผ้าแก่ผู้ไม่มี เยี่ยมเยียนคนเจ็บป่วยและผู้ถูกจองจำ ฝังศพผู้ตาย[205] ในบรรดางานเหล่านี้ การให้ทานแก่ผู้ยากไร้[206]

 นับว่าเป็นงานแสดงความรักต่อเพื่อนพี่น้องเป็นพิเศษประการหนึ่ง การทำเช่นนี้ยังเป็นการงานแสดงความยุติธรรมที่พอพระทัยพระเจ้าด้วย[207]

            “ใครมีเสื้อสองตัว จงแบ่งตัวหนึ่งให้กับคนที่ไม่มี คนที่มีอาหารก็จงทำเช่นเดียวกัน” (ลก 3:11)
              “ถ้าจะให้ดีแล้ว จงให้สิ่งที่อยู่ภายในเป็นทานเถิด แล้วทุกสิ่งก็จะสะอาดสำหรับท่าน” (ลก 11:41)
             “ถ้าพี่น้องชายหญิงคนใดขัดสนเครื่องนุ่งห่ม และไม่มีอาหารประจำวัน แล้วท่านคนหนึ่งพูดกับเขาว่า ‘จงไป
              เป็นสุขเถิด ขอให้อบอุ่นและอิ่มเถิด’ แต่มิได้ให้สิ่งที่จำเป็นสำหรับร่างกายแก่เขา จะมีประโยชน์ใดเล่า” (ยก 2:15-16)[208]

 2448  “ความขาดแคลนสิ่งของที่เป็นวัตถุอย่างที่สุด การถูกเบียดเบียนอย่างอยุติธรรม ความเจ็บป่วยทั้งร่างกายและจิตใจ และในที่สุดความตาย นั่นคือความน่าสงสารของมนุษยชาติ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเครื่องหมายชัดเจนของสภาพความอ่อนแอดั้งเดิมที่เป็นสภาพของมนุษย์หลังจากบาปแรกที่อาดัมได้ทำแล้ว สภาพน่าสงสารประการนี้เองจึงเรียกร้องพระกรุณาของพระคริสตเจ้าพระผู้กอบกู้ผู้ทรงประสงค์จะรับสภาพนี้ ทรงทำพระองค์ให้เหมือน ‘พี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุดของพระองค์’ (มธ 25:40,45) ดังนั้น นับตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว พระศาสนจักรจึงมีความรักเป็นพิเศษต่อที่ประสบความทุกข์ยาก ไม่เคยหยุดยั้งที่จะทำหน้าที่บรรเทาใจ ปกป้อง และช่วยให้คนเหล่านี้เป็นอิสระ แม้ว่าสมาชิกหลายคนของพระศาสนจักรก็ได้ทำผิดในเรื่องนี้ด้วย พระศาสนจักรได้ทำการนี้โดยให้ความช่วยเหลืออย่างมากมายอยู่เสมอไปทั่วทุกแห่งที่มีความจำเป็น”[209]

 2449  นับตั้งแต่พันธสัญญาเดิมมาแล้ว ข้อกำหนดทางกฎหมายนานาชนิด (ปีปลอดหนี้ ข้อห้ามให้ยืมโดยคิดดอกเบี้ยและยึดของประกัน ข้อบังคับให้จ่ายภาษีหนึ่งในสิบ ให้จ่ายค่าจ้างประจำวันแก่ลูกจ้าง สิทธิให้คนยากจนไปเก็บข้าวตกและผลองุ่นตกค้าง) สอดคล้องกับคำแนะนำของหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติที่ว่า “ในแผ่นดินจะยังคงมีคนยากจนอยู่เสมอ ข้าพเจ้าจึงสั่งให้ท่านมีใจเอื้อเฟื้อต่อพี่น้องที่ยากจนและขัดสนในแผ่นดินของท่าน” (ฉธบ 15:11) พระเยซูเจ้าก็ตรัสเช่นเดียวกันว่า “คนยากจนนั้นอยู่กับท่านทั้งหลายเสมอ แต่เราจะไม่อยู่กับท่านตลอดไป” (ยน 12:8) พระวาจาของพระองค์จึงไม่ทำให้คำกล่าวอย่างรุนแรงของบรรดาประกาศกหมดลดพลังลง “เราจะได้ใช้เงินซื้อคนจน และใช้รองเท้าสานคู่หนึ่งซื้อคนขัดสน” (อมส 8:6) แต่ทรงเชิญเราให้ยอมรับว่าพระองค์ประทับอยู่ในคนยากจนซึ่งเป็นพี่น้องของพระองค์[210]

                   นักบุญโรซาแห่งกรุงลีมาได้ตอบคุณแม่เมื่อคุณแม่ดุท่านที่ได้นำคนยากจนและคนเจ็บป่วยเข้ามาในบ้านว่า “เราเป็นกลิ่นหอมของพระคริสตเจ้าเมื่อเรารับใช้คนเจ็บป่วย”[211]

 

[193] เทียบ มธ 25:31-36.        

[194] เทียบ ลก 4:18.             

[195] Ioannes Paulus II, Litt. enc. Centesimus annus, 57: AAS 83 (1991) 862-863.   

[196] เทียบ ลก 6:20-22.         

[197] เทียบ มธ 8:20.             

[198] เทียบ มก 12:41-44.         

[199] เทียบ อฟ 4:28.            

[200] Cf Ioannes Paulus II, Litt. enc. Centesimus annus, 57: AAS 83 (1991) 863.     

[201] Sanctus Ioannes Chrysostomus, In Lazarum, concio 2, 6: PG 48, 992.          

[202] Concilium Vaticanum II, Decr. Apostolicam actuositatem, 8: AAS 58 (1966) 845.

[203] Sanctus Gregorius Magnus, Regula pastoralis, 3, 21, 45: SC 382, 394 (PL 77, 87).

[204] เทียบ อสย 58:6-7; ฮบ 13:3.

[205] เทียบ มธ 25:31-46.        

[206] เทียบ ทบต 4:5-11; บสร 17:18.

[207] เทียบ มธ 6:2-4.            

[208] เทียบ 1 ยน 3:17.           

[209] Congregatio pro Doctrina Fidei, Instr. Libertatis conscientia, 68: AAS 79 (1987) 583.             

[210] เทียบ มธ 25:40.           

[211] P. Hansen, Vita mirabilis [...] venerabilis sororis Rosae de sancta Maria Limensis (Romae 1664) p. 200.             

สรุป

สรุป

 2450   “อย่าลักขโมย” (ฉธบ 5:19)  คนขโมย คนโลภ […] คนฉ้อโกง...จะไม่ได้รับพระอาณาจักรของพระเจ้าเป็นมรดก” (1 คร 6:10)

 2451   พระบัญญัติประการที่เจ็ดกำหนดการปฏิบัติเกี่ยวกับทรัพยากรของโลกและผลตอบแทนการทำงานของมนุษย์

 2452   พระเจ้าทรงกำหนดให้ทรัพยากรของสิ่งสร้างต่างๆ ต้องเป็นประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ สิทธิในทรัพย์สินส่วนตัวไม่ลบล้างความจริงที่ว่าทรัพยากรต่างๆ มีไว้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมเช่นนี้

 2453   พระบัญญัติประการที่เจ็ดห้ามการลักขโมย การลักขโมยเป็นการนำทรัพย์สินของผู้อื่นมาเป็นของตนขัดกับเจตนาตามเหตุผลของเจ้าของทรัพย์สินนั้น

 2454   วิธีการทุกอย่างเพื่อเอาทรัพย์สินของผู้อื่นมาหรือใช้มันอย่างอยุติธรรมเป็นการทำผิดต่อพระบัญญัติประการที่เจ็ด การทำผิดความยุติธรรมเรียกร้องให้มีการชดใช้ความเสียหาย ความยุติธรรมแลกเปลี่ยน (commutative justice) เรียกร้องให้คืนทรัพย์สินที่ถูกแย่งชิงไป

 2455   กฎศีลธรรมห้ามกิจกรรมที่นำมนุษย์มาเป็นทาสเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าหรือเพื่อเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนประหนึ่งเป็นสินค้า

 2456   การที่พระผู้เนรมิตสร้างทรงมอบอำนาจให้มนุษย์ใช้แร่ธาตุ พืช และสัตว์ในสากลโลกไม่อาจแยกได้จากการเคารพข้อบังคับทางศีลธรรม รวมทั้งความเคารพต่ออนุชนในอนาคต

 2457   พระเจ้าทรงมอบบรรดาสัตว์ให้มนุษย์ดูแลด้วย มนุษย์จึงต้องแสดงความเมตตากรุณาต่อสัตว์เหล่านี้ เราอาจใช้สัตว์เหล่านี้เพื่อตอบสนองความจำเป็นของมนุษย์ได้ตามที่ควร

 2458   พระศาสนจักรตัดสินเรื่องเศรษฐกิจและสังคมเมื่อสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลหรือความรอดพ้นของวิญญาณเรียกร้อง พระศาสนจักรเอาใจใส่ทรัพยากรทางโลกส่วนรวม เพราะทรัพยากรเหล่านี้ถูกจัดไว้เพื่อผลประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นจุดหมายสุดท้ายของเรา

 2459   มนุษย์เองเป็นผู้จัดการ เป็นศูนย์กลาง และเป็นจุดหมายของชีวิตทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งหมด สาระสำคัญที่สุดในปัญหาทางสังคมก็คือให้ทรัพยากรที่พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างไว้สำหรับทุกคนได้เข้าถึงทุกคนจริงๆตามความยุติธรรม โดยมีความรักคอยช่วยเหลือ

 2460   คุณค่าดั้งเดิมของการงานขึ้นอยู่กับมนุษย์ซึ่งเป็นผู้ทำและรับผล มนุษย์ใช้แรงงานของตนมีส่วนร่วมงานเนรมิตสร้าง การทำงานร่วมกับพระคริสตเจ้าจึงอาจเป็นงานไถ่กู้ได้ด้วย

 2461   พัฒนาการที่แท้จริงคือพัฒนาการของมนุษย์อย่างสมบูรณ์ จึงเป็นเพิ่มสมรรถนะของแต่ละบุคคลให้ตอบสนองกระแสเรียกของเขา นั่นคือตอบสนองพระเจ้าผู้ทรงเรียกเขา[212]

 2462   ทานที่ให้แก่ผู้ยากไร้เป็นพยานถึงความรักแบบคริสตชน และยังเป็นการปฏิบัติความยุติธรรมซึ่งพอพระทัยพระเจ้าด้วย

 2463   ทำไมเราจึงแลไม่เห็นลาซารัส ยาจกผู้หิวโหยของเรื่องเปรียบเทียบในเพื่อนมนุษย์จำนวนมากที่ไม่มีอาหาร บ้านพัก ที่อยู่อาศัย?[213] ทำไมเราจึงไม่ได้ยินพระเยซูเจ้าตรัสว่า “ท่านไม่ได้ทำสิ่งใดต่อผู้ต่ำต้อยของเราคนหนึ่ง ท่านก็ไม่ได้ทำสิ่งนั้นต่อเรา” (มธ 25:45)?

 

[212] Cf Ioannes Paulus II, Litt. enc. Centesimus annus, 29: AAS 83 (1991) 828-830. 

[213] เทียบ ลก 16:19-31.