บทที่สอง
ข้าพเจ้าเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้า
พระบุตรหนึ่งเดียวของพระเจ้า
ข่าวดี – พระเจ้าทรงส่งพระบุตรของพระองค์
422 “แต่เมื่อถึงเวลาที่กำหนดไว้ พระเจ้าทรงส่งพระบุตรของพระองค์ให้มาบังเกิดจากหญิงผู้หนึ่ง เกิดมาอยู่ใต้ธรรมบัญญัติ เพื่อทรงไถ่ผู้ที่อยู่ใต้ธรรมบัญญัติ และทำให้เราได้เป็นบุตรบุญธรรม” (กท 4:4-5) นี่เป็น “ข่าวดีเรื่องพระเยซูเจ้าเป็นพระคริสต์ พระบุตรของพระเจ้า”[1] พระเจ้าเสด็จเยี่ยมประชากรของพระองค์[2] ทรงทำให้พระสัญญาที่ทรงทำไว้แก่อับราฮัมและบุตรหลานสำเร็จลง[3] พระเจ้าทรงทำเช่นนี้เหนือความคาดหมายทั้งหลาย คือทรงส่งพระบุตรสุดที่รักของพระองค์[4]
423 เราเชื่อและประกาศว่าพระเยซูเจ้าจากเมืองนาซาเร็ธ ซึ่งทรงถือกำเนิดเป็นชาวยิวจากธิดาแห่งอิสราเอลที่เมืองเบธเลเฮม ในรัชสมัยของกษัตริย์เฮโรดมหาราชและพระจักรพรรดิซีซาร์ออกัสตัสที่ 1 มีอาชีพเป็นช่างไม้ ได้สิ้นพระชนม์โดยทรงถูกตรึงบนไม้กางเขนที่กรุงเยรูซาเล็ม ขณะที่ปอนติอัสปีลาตเป็นข้าหลวงปกครองในรัชสมัยพระจักรพรรดิทีเบริอัส ทรงเป็นพระบุตรนิรันดรของพระเจ้าผู้ทรงรับธรรมชาติมนุษย์ “พระองค์ทรงมาจากพระเจ้า” (ยน 13:3) “เสด็จลงมาจากสวรรค์” (ยน 3:13; 6:33) มารับสภาพมนุษย์[5] เพราะ “พระวจนาตถ์ทรงรับสภาพมนุษย์และเสด็จมาประทับอยู่ท่ามกลางเรา เราได้เห็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ เป็นพระสิริรุ่งโรจน์ที่ทรงรับจากพระบิดาในฐานะพระบุตรเพียงพระองค์เดียว เปี่ยมด้วยพระหรรษทานและความจริง [.....] และจากความไพบูลย์ของพระองค์ เราทุกคนได้รับพระหรรษทานต่อเนื่องกัน” (ยน 1:14,16)
424 เราได้รับพลังผลักดันของพระจิตเจ้าและพลังดึงดูดจากพระบิดา จึงเชื่อและประกาศความเชื่อถึงพระเยซูเจ้าว่า “พระองค์คือพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต” (มธ 16:16) และบนความเชื่อเช่นนี้ของเปโตร ซึ่งเป็นเสมือนศิลา พระคริสตเจ้าทรงสถาปนาพระศาสนจักรของพระองค์[6]
“เพื่อประกาศความไพบูลย์สุดที่จะหยั่งรู้ได้ของพระคริสตเจ้า” (อฟ 3:8)
425. การส่งต่อความเชื่อของคริสตชนก่อนอื่นใดเป็นการประกาศถึงพระเยซูคริสตเจ้าเพื่อนำมนุษย์ให้มีความเชื่อในพระองค์ ตั้งแต่แรกเริ่ม บรรดาศิษย์รุ่นแรกๆ มีความกระตือรือร้นที่จะประกาศเรื่องพระคริสตเจ้า “เราจำเป็นต้องพูดถึงสิ่งที่เราได้เห็นและได้ยินมา” (กจ 4:20) เขาเหล่านั้นเชิญชวนมนุษย์ทุกสมัยให้เข้ามามีส่วนร่วมความยินดีที่เขามีในความสนิทสัมพันธ์กับพระคริสตเจ้า“เราได้ฟัง เราได้เห็นด้วยตาของเรา เราได้เฝ้ามอง และเราได้สัมผัสด้วยมือของเรา - ชีวิตนั้นได้ปรากฏ เราได้เห็นและได้เป็นพยาน เราประกาศให้ท่านทั้งหลายรู้ถึงชีวิตนิรันดร ซึ่งอยู่กับพระบิดาและปรากฏให้เราเห็น -สิ่งที่เราได้เห็นและได้ฟังนี้ เราประกาศให้ท่านทั้งหลายรู้ด้วย เพื่อท่านจะได้สนิทสัมพันธ์กับเรา ความสนิทสัมพันธ์นี้คือความสนิทสัมพันธ์กับพระบิดาและกับพระบุตรของพระองค์ คือพระเยซูคริสตเจ้า เราเขียนเรื่องนี้ถึงท่าน เพื่อความปีติยินดีของเราจะได้สมบูรณ์” (1 ยน 1:1-4)
พระคริสตเจ้าคือสาระสำคัญ (หัวใจ) ของการสอนคำสอน
426 “เราจึงต้องยืนยันทันทีว่าสาระสำคัญของการสอนคำสอนก็คือบุคคลหนึ่ง ซึ่งได้แก่พระเยซูคริสต-เจ้าชาวนาซาเร็ธ ‘พระบุตรเพียงพระองค์เดียวซึ่งทรงบังเกิดจากพระบิดา’ [….]; ทรงรับทรมานและสิ้นพระชนม์เพื่อเรา ยิ่งกว่านั้น ทรงกลับคืนพระชนมชีพและดำรงพระชนม์อยู่กับเราเสมอ [….] การสอนคำสอนจึงหมายถึงการประกาศให้ทุกคนรู้แผนการนิรันดรทั้งหมดของพระเจ้าในพระบุคคลของพระคริสตเจ้า [….] เช่นเดียวกันให้พยายามเข้าใจความหมายของการกระทำและพระวาจาของพระคริสตเจ้า รวมทั้งเครื่องหมายที่ทรงทำ”[7] จุดประสงค์ของการสอนคำสอนก็คือ “เพื่อให้มนุษย์เข้ามามีความสัมพันธ์กับพระองค์ (คือกับพระเยซูคริสตเจ้า) [….] พระองค์เท่านั้นทรงนำเราเข้ามารักพระบิดาในพระจิตเจ้าและมีส่วนในชีวิตของพระตรีเอกภาพได้”[8]
427 “ในการสอนคำสอน เราจึงต้องประกาศพระคริสตเจ้า พระวจนาตถ์ผู้ทรงรับสภาพมนุษย์และพระบุตรของพระเจ้า เรื่องอื่นๆ ทั้งหมดต้องถูกสอนให้สัมพันธ์ถึงพระองค์ด้วยพระคริสตเจ้าเท่านั้นทรงเป็นผู้สอน ส่วนผู้สอนอื่นๆ เป็นเพียงผู้ส่งข่าวและอธิบายประหนึ่งว่าพระคริสตเจ้าทรงสอนจากพระโอษฐ์ […] ผู้สอนคำสอนทุกคนจึงต้องทำให้พระวาจาลึกลับนี้ของพระคริสตเจ้านำมาใช้กับตนได้ว่า ‘คำสอนของเราไม่ใช่ของเรา แต่เป็นของพระองค์ผู้ทรงส่งเรามา’ (ยน 7:16)”[9]
428 ผู้ที่ได้รับเรียกมาให้ประกาศข่าวดีเรื่องพระคริสตเจ้าก่อนอื่นจึงต้อง “แสวงหาความรู้สูงส่งเรื่องพระเยซูคริสตเจ้า” ต้อง “ยอมสูญเสียทุกสิ่ง” “เพื่อจะได้องค์พระคริสตเจ้ามาเป็นกำไรและอยู่ในพระองค์” “รู้จักพระองค์ รู้จักพระฤทธานุภาพของการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ ต้องการมีส่วนร่วมในพระทรมานของพระองค์โดยมีสภาพเหมือนพระองค์ในความตาย จะได้บรรลุถึงการ กลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตายด้วย” (ฟป 3:8-11)
429 ความปรารถนาที่จะประกาศพระคริสตเจ้า “ประกาศข่าวดี” และนำผู้อื่นให้เข้ามา“ยอมรับความเชื่อ”ในพระเยซูคริสตเจ้าเช่นนี้เกิดจากความรู้จักพระคริสตเจ้าซึ่งผุดขึ้นมาจากความรักต่อพระองค์ แต่ในขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องรู้จักความเชื่อนี้ให้ดียิ่งขึ้นด้วย เพื่อบรรลุถึงจุดประสงค์นี้ ตามลำดับของการประกาศยืนยันข้อความเชื่อ จะมีการกล่าวถึงพระเยซูเจ้าเป็นพิเศษในหัวข้อ “พระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้า” (ตอนที่ 2) ต่อจากนั้น สูตรยืนยันความเชื่อประกาศพระธรรมล้ำลึกสำคัญเกี่ยวกับพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า คือเรื่องการรับธรรมชาติมนุษย์ของพระองค์ (ตอนที่ 3) พระธรรมล้ำลึกปัสกาของพระองค์ (ตอนที่ 4 และ 5) และในที่สุด พระธรรมล้ำลึกการรับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ (ตอนที่ 6 และ 7)
[1] เทียบ มก 1:1.
[2] เทียบ ลก 1:68.
[3] เทียบ ลก 1:55.
[4] เทียบ มก 1:11.
[5] เทียบ 1 ยน 4:2.
[6] เทียบ มธ 16:18; Sanctus Leo Magnus, Sermo 4,3: CCL 88, 19-20 (PL 54, 151); Sermo 51,1: CCL 88A (PL 54, 309); Sermo 62,2: CCL 88A, 377-378 (PL
[7] Ioannes Paulus II, Adh.ap. Catechesi tradendae, 5 : AAS 71 (1979) 1280-1281.
[8] Ioannes Paulus II, Adh.ap. Catechesi tradendae, 5 : AAS 71 (1979) 1281.
[9] Ioannes Paulus II, Adh.ap. Catechesi tradendae, 6 : AAS 71 (1979) 1281-1282.
ตอนที่ 2
“ข้าพเจ้าเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรหนึ่งเดียวของพระเจ้า
องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้าทั้งหลาย”
I. พระเยซูเจ้า
I. พระเยซูเจ้า
430 “เยซู” ในภาษาฮีบรูแปลว่า “พระเจ้าทรงช่วยให้รอดพ้น” เมื่อทูตสวรรค์กาเบรียลมาแจ้งข่าว ท่านถวายพระนามให้พระองค์ว่า “เยซู” ซึ่งในเวลาเดียวกันก็แสดงถึงพันธกิจของพระองค์ด้วย[10] ในเมื่อไม่มีใคร “อภัยบาปได้ นอกจากพระเจ้าเท่านั้น” (มก 2:7) พระองค์จึง “จะทรงช่วยประชากรของพระองค์ให้รอดพ้นจากบาป” (มธ 1:21) ในพระเยซูเจ้าพระบุตรนิรันดรของพระองค์ ผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ ดังนี้ ในพระเยซูเจ้า พระเจ้าจึงทรงเริ่มประวัติศาสตร์ของพระองค์ที่จะทรงช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นขึ้นมาใหม่
431 ในประวัติศาสตร์ความรอดพ้น พระเจ้าไม่ทรงต้องการเพียงช่วยอิสราเอลให้พ้น “จากการเป็นทาส” (ฉธบ 5:6) ช่วยให้ออกมาจากอียิปต์ พระองค์ยังทรงช่วยเขาให้พ้นจากบาปด้วย เพราะบาปคือการทำผิดต่อพระเจ้าเสมอ[11] พระองค์เท่านั้นจึงทรงอภัยบาปได้[12] เพราะเหตุนี้ อิสราเอลซึ่งมีสำนึกยิ่งๆ ขึ้นอยู่เสมอว่าบาปครอบคลุมมนุษย์ทั้งมวล จึงไม่อาจแสวงหาความรอดพ้นได้อีกนอกจากจะร้องหาพระนามของพระเจ้าพระผู้ช่วยให้รอดพ้นเท่านั้น[13]
432 พระนาม “เยซู” หมายความว่าพระนามของพระเจ้าเองอยู่ในพระบุคคลของพระบุตรของพระองค์[14] ผู้ทรงรับสภาพมนุษย์เพื่อทรงไถ่กู้มวลมนุษย์ให้พ้นจากบาป “เยซู” เป็นพระนามของพระเจ้า เป็นพระนามเดียวที่นำความรอดพ้นมาให้มนุษยชาติ[15] ดังนั้นมนุษย์ทุกคนจึงเรียกหาพระนามนี้ได้ เพราะเมื่อทรงรับสภาพมนุษย์ พระองค์ทรงรวมเป็นหนึ่งเดียวกับมนุษย์ทุกคน[16] จนว่าไม่มีนามอื่นใดอีกแล้ว “ใต้ฟ้านี้ที่พระเจ้าประทานแก่มนุษย์นอกจากนามนี้ที่ช่วยเราให้รอดพ้นได้”
(กจ 4:12)[17]
433 ในอดีต พระนามของพระเจ้าผู้ทรงช่วยให้รอดพ้นได้รับเรียกขานโดยมหาสมณะเพียงปีละครั้งเดียวเพื่อขออภัยบาปของประชากรอิสราเอล เมื่อเขาเข้าไปประพรมเลือดสัตว์ที่ฆ่าเป็นบูชาแล้วบนพระที่นั่งพระกรุณา[18] พระที่นั่งพระกรุณาเป็นที่ประทับของพระเจ้า[19] เมื่อนักบุญเปาโลกล่าวถึงพระเยซูเจ้าว่าทรงเป็นผู้ที่ “พระเจ้าทรงสถาปนาเป็นเครื่องบูชาชดเชยบาป […] โดยอาศัยการหลั่งโลหิต” (รม 3:25) ก็หมายความว่าอาศัยพระธรรมชาติมนุษย์ “พระเจ้าทรงทำให้โลกคืนดีกับพระองค์ในองค์พระคริสตเจ้า” (2 คร 5:19)
434 การกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้าทำให้พระนามของพระเจ้า “ผู้ทรงช่วยให้รอดพ้น” ได้รับสิริรุ่งโรจน์[20] เพราะนับตั้งแต่เวลานั้นพระนามเยซูแสดงอานุภาพของพระนามอย่างสมบูรณ์ “พระนามนี้ประเสริฐกว่านามอื่นใดทั้งสิ้น” (ฟป 2:9-10) บรรดาจิตชั่วเกรงกลัวพระนามของพระองค์[21] และบรรดาศิษย์ของพระองค์ก็ทำอัศจรรย์ในพระนามนี้[22] เพราะไม่ว่าเขาทั้งหลายจะขออะไรจากพระบิดาในพระนามของพระองค์ พระบิดาก็ประทานให้[23]
435 พระนามเยซูเป็นศูนย์กลางของคำอธิษฐานภาวนาของคริสตชน คำภาวนาทางพิธีกรรมทุกบทล้วนลงท้ายด้วยสูตรว่า “อาศัยพระบารมีพระเยซูคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้าทั้งหลาย” บท “วันทามารีย์” มีจุดยอดอยู่ที่คำว่า “และพระเยซูโอรสของท่านทรงได้รับพระพรยิ่งนัก” บทภาวนายกจิตใจของคริสตชนตะวันออกที่เรียกว่า “บทภาวนาเยซู” (Jesus prayer) มีข้อความว่า “ข้าแต่พระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้า โปรดทรงพระเมตตาข้าพเจ้าคนบาปเถิด” คริสตชนจำนวนมาก อย่างเช่นนักบุญโยนออฟอาร์ค สิ้นใจขณะที่ออกพระนาม “เยซู” จากปากของตน[24]
[10] เทียบ ลก 1:31.
[11] เทียบ สดด 51:4.
[12] เทียบ สดด 51:12.
[13] เทียบ สดด 79:9.
[14] เทียบ กจ 5:41; 3 ยน 7.
[15] เทียบ ยน 3:18; กจ 2:21.
[16] เทียบ รม 10:6-13.
[17] เทียบ กจ 9:14; ยก 2:7
[18] เทียบ ลนต 16:15-16; บสร 50:22; ฮบ 9:7.
[19] เทียบ อพย 25 :22 ; ลนต 16 :2 ; กดว 7:89 ; ฮบ 9:7.
[20] เทียบ ยน 12:28.
[21] เทียบ ยน 12:28.
[22] เทียบ มก 16:17.
[23] เทียบ ยน 15:16.
[24] Cf. La réhabilitation de Jeanne la Pucelle: L’enquete ordonnée par Charles VII en 1450 et le codicille de Guillau,e Bouillé, ed : P :Doncoeur-Y.Lanhers (Paris 1956) p. 39, 45, 56.
II. พระคริสตเจ้า
II. พระคริสตเจ้า
436 คำว่า “พระคริสตเจ้า” (Christos) เป็นคำแปลภาษากรีกของคำภาษาฮีบรูว่า “เมสสิยาห์” ซึ่งแปลว่า “ผู้รับเจิม” คำนี้กลายเป็นพระนามเฉพาะของพระเยซูเจ้าก็เพราะพระองค์ทรงปฏิบัติพระภารกิจที่พระเจ้าทรงมอบให้ตามความหมายของคำนี้สำเร็จอย่างสมบูรณ์ เพราะในอิสราเอลผู้ที่ถวายตนปฏิบัติภารกิจที่พระเจ้าทรงมอบหมายให้ทำมักได้รับการเจิมถวายแด่พระองค์ เช่นในกรณีของกษัตริย์[25] สมณะ[26] และบางครั้ง ประกาศก[27]ด้วย ดังนั้น กรณีพิเศษสุดต้องเป็นกรณีของผู้รับเจิมที่พระเจ้าจะทรงส่งมาเพื่อสถาปนาพระอาณาจักรของพระองค์ขึ้นใหม่ในยุคสุดท้าย[28] พระเมสสิยาห์จำเป็นต้องได้รับเจิมโดยพระจิตขององค์พระผู้เป็นเจ้า[29] ในฐานะกษัตริย์และสมณะ[30] รวมทั้งในฐานะประกาศก[31]ด้วย พระเยซูเจ้าทรงทำให้ความหวังของอิสราเอลเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์ในทั้งสามบทบาทของสมณะ ประกาศก และกษัตริย์สำเร็จเป็นจริง
437 ทูตสวรรค์แจ้งข่าวการสมภพของพระเยซูเจ้าว่าเป็นการสมภพของพระเมสสิยาห์ที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้แก่อิสราเอล “วันนี้ในเมืองของกษัตริย์ดาวิด พระผู้ไถ่ประสูตรเพื่อท่านแล้ว พระองค์คือพระคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า” (ลก 2:11) ตั้งแต่แรกแล้ว พระองค์ทรงเป็น “ผู้ที่พระบิดาทรงบันดาลให้ศักดิ์สิทธิ์และทรงส่งมาในโลก” (ยน 10:36) เป็น “ผู้ศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งปฏิสนธิในพระครรภ์พรหมจารีของพระนางมารีย์[32] พระเจ้าทรงเรียกโยเซฟให้มารับพระนางมารีย์ผู้ทรงครรภ์แล้วเป็นภรรยา เพราะ “เด็กที่ปฏิสนธิในครรภ์ของนางนั้นมาจากพระจิตเจ้า” (มธ 1:20) เพื่อให้พระเยซูเจ้า “ที่ขานพระนามว่า ‘พระคริสตเจ้า’” จะได้เกิดจากภรรยาของโยเซฟ อยู่ในลำดับวงศ์ตระกูลพระเมสสิยาห์ของกษัตริย์ดาวิด (มธ 1:16)[33]
438 การที่พระเยซูเจ้าทรงรับเจิมเป็นพระเมสสิยาห์นี้แสดงให้เห็นพันธกิจที่ทรงได้รับจากพระเจ้า “ตามความหมายของพระนาม เพราะนาม ‘พระคริสต์’ หมายถึง ‘ผู้เจิม’ และ ‘ผู้รับเจิม’ รวมทั้งการเจิมที่ทรงรับด้วย ผู้ที่ทรงเจิมคือพระบิดา ผู้ทรงรับเจิมคือพระบุตร พระองค์ทรงรับเจิมในองค์พระจิตเจ้าซึ่งทรงเป็นการเจิม”[34] การที่ทรงรับเจิมเป็นพระเมสสิยาห์ตั้งแต่นิรันดรนี้ถูกเปิดเผยในช่วงเวลาที่ทรงพระชนมชีพในโลกเมื่อทรงรับพิธีล้างจากยอห์น เมื่อ “พระเจ้าทรงเจิมพระองค์ด้วยพระอานุภาพเดชะพระจิตเจ้า” (กจ 10:38) “เพื่อทำให้พระองค์เป็นที่รู้จักแก่อิสราเอล” (ยน 1:31) ในฐานะพระเมสสิยาห์ของตน พระภารกิจและพระวาจาของพระองค์แสดงให้พระองค์เป็นที่รู้จักในฐานะ “พระผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า”[35]
439 ชาวยิวจำนวนมาก และแม้แต่ชนต่างชาติบางคนที่ร่วมความหวังของชาวยิว ยอมรับคุณลักษณะพื้นฐานของพระเมสสิยาห์ในองค์พระเยซูเจ้า คือการที่ทรงเป็น “พระโอรสของกษัตริย์ดาวิด” ที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้กับอิสราเอล[36] พระเยซูเจ้าทรงยอมรับตำแหน่งพระเมสสิยาห์ตามสิทธิที่ทรงมี[37] แต่ก็ยังคงสงวนท่าที เพราะผู้ร่วมสมัยของพระองค์หลายคนเข้าใจตำแหน่งนี้ตามความเข้าใจแบบมนุษย์มากเกินไป[38] คือเข้าใจตามความหมายทางการเมืองโดยเฉพาะ[39]
440 พระเยซูเจ้าทรงรับการประกาศแสดงความเชื่อของเปโตรซึ่งยอมรับพระองค์เป็นพระเมสสิยาห์ พร้อมกับทรงแจ้งถึงพระทรมานที่กำลังจะมาถึงของ “บุตรแห่งมนุษย์”[40] พร้อมกันนั้นยังทรงเปิดเผยความหมายแท้จริงของการทรงเป็นกษัตริย์-พระเมสสิยาห์อีกด้วยว่าทรงเป็น “บุตรแห่งมนุษย์” โลกุตระผู้ซึ่ง “ลงมาจากสวรรค์” (ยน 3:13)[41] และในพันธกิจการกอบกู้ยังทรงเป็นผู้รับใช้ผู้รับทรมาน “บุตรแห่งมนุษย์มิได้มาเพื่อให้ผู้อื่นรับใช้ แต่มาเพื่อรับใช้ผู้อื่น และมอบชีวิตของตนเป็นสินไถ่เพื่อมนุษย์ทั้งหลาย” (มธ 20:28)[42] เพราะเหตุนี้ ความหมายแท้จริงของการเป็นกษัตริย์ของพระองค์จึงปรากฏชัดเจนเมื่อจะทรงถูกตรึงบน[43]ไม้กางเขน หลังจากที่ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วเท่านั้นเปโตรจะประกาศให้ประชากรรู้ได้ว่าทรงเป็นกษัตริย์ “ขอให้เผ่าพันธุ์อิสราเอลทั้งมวลรู้แน่เถิดว่าพระเจ้าทรงแต่งตั้งพระเยซูผู้นี้ที่ท่านทั้งหลายนำไปตรึงบนไม้กางเขน ให้เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าและพระคริสตเจ้า”(กจ 2:36)
[25] เทียบ 1 ซมอ 9:16; 10 :1; 16 :1,12-13 ; 1 พกษ 1:39.
[26] เทียบ อพย 29:7; ลนต 8:12.
[27] เทียบ 1 พกษ 19:16.
[28] เทียบ สดด 2:2; กจ 4:26-27.
[29] เทียบ อสย 11:2.
[30] เทียบ ศคย 4:14; 6:13.
[31] เทียบ อสย 61:1; ลก 4:16-21.
[32] เทียบ ลก 1:35.
[33] เทียบ รม 1:3; 2 ทธ 2:8; วว 22:16.
[34] Sanctus Irenaeus Lugdunensis, Adversus haereses 3,18,3: SC 211, 350 (PG 7,934).
[35] เทียบ มก 1:24; ยน 6:69; กจ 3:14.
[36] เทียบ มธ 2:2; 9:27; 12:23; 15:22; 20:30; 21:9,15.
[37] เทียบ ยน 4:25-26; 11:27.
[38] เทียบ มธ 22:41-46.
[39] เทียบ ยน 6:15; ลก 24:21.
[40] เทียบ มธ 16:16-23.
[41] เทียบ ยน 6:62; ดนล 7:13
[42] เทียบ อสย 53:10-12.
[43] เทียบ ยน 19:19-22; ลก 23:39-43.
III. พระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระเจ้า
III. พระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระเจ้า
441 “บุตรของพระเจ้า” ในพันธสัญญาเดิม เป็นตำแหน่งที่ให้แก่ทูตสวรรค์[44] แก่ประชากรที่ทรงเลือกสรร[45] แก่บรรดาบุตร[46]ของอิสราเอล และกษัตริย์[47]ของเขา คำว่า “บุตรของพระเจ้า” นี้จึงหมายถึง “การเป็นบุตรบุญธรรม” ที่พระเจ้าทรงตั้งไว้เป็นความสัมพันธ์พิเศษระหว่างพระองค์กับสิ่งสร้าง เมื่อ “พระเมสสิยาห์-กษัตริย์” ที่พระองค์ทรงสัญญาไว้ถูกเรียกว่า “บุตรของพระเจ้า”[48] นามนี้จึงไม่จำเป็นต้องหมายความว่าผู้นี้ ตามความหมายตามตัวอักษรของคำ มีธรรมชาติเหนือมนุษย์ ประชาชนที่เรียกพระเยซูเจ้า “พระเมสสิยาห์ของอิสราเอล” ว่า “บุตรของพระเจ้า”[49] จึงอาจไม่ต้องการบอกอะไรมากกว่านี้[50]
442 แต่นี่ไม่ใช่ในกรณีของเปโตรที่ประกาศว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็น “พระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต”[51] เพราะพระเยซูเจ้าทรงตอบเขาอย่างสง่าว่า “มิใช่มนุษย์ที่เปิดเผยให้ท่านรู้ แต่พระบิดาเจ้าของเราผู้สถิตในสวรรค์ทรงเปิดเผย” (มธ 16:17) เปาโลก็จะกล่าวเช่นเดียวกันถึงการกลับใจของตนขณะที่กำลังเดินทางไปยังกรุงดามัสกัสว่า “พระเจ้าผู้ทรงเลือกสรรข้าพเจ้าไว้ตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์มารดา ก็ทรงเรียกข้าพเจ้าเดชะพระหรรษทานของพระองค์ และพอพระทัยที่จะแสดงพระบุตรของพระองค์ในตัวข้าพเจ้า เพื่อข้าพเจ้าจะได้ประกาศข่าวดีถึงพระบุตรแก่บรรดาคนต่างศาสนา....” (กท 1:15-16) “เขาเทศน์สอนในศาลาธรรมทันที ประกาศว่าพระเยซูเจ้าพระองค์นี้เป็นพระบุตรของพระเจ้า” (กจ 9:20) ตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว[52] การรับว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้าจะเป็นหัวใจของความเชื่อที่ได้รับสืบทอดมาจากบรรดาอัครสาวก[53] ซึ่งเปโตรได้ประกาศเป็นรากฐานของพระศาสนจักร[54]
443 ถ้าเปโตรสามารถรับรู้ลักษณะโลกุตระของการที่พระเยซูพระเมสสิยาห์ทรงเป็นบุตรของพระเจ้าได้นั้นก็เพราะว่าพระองค์เองทรงแสดงให้ท่านเห็นอย่างชัดเจน ต่อหน้าสภาซันเฮดริน เมื่อบรรดาผู้กล่าวโทษพระองค์ถามว่า “ดังนั้น ท่านเป็นบุตรของพระเจ้าใช่ไหม?” พระเยซูเจ้าทรงตอบว่า “ท่านพูดเองนะว่าเราเป็น” (ลก 22:70)[55] เป็นเวลานานก่อนหน้านั้นแล้วพระองค์ตรัสว่าทรงเป็น “บุตร” ซึ่งรู้จักพระบิดา[56] แตกต่างจาก “ผู้รับใช้” ซึ่งพระเจ้าทรงเคยส่งมาหาประชากรอิสราเอลก่อนหน้านั้น[57] ทรงอยู่เหนือกว่าบรรดาทูตสวรรค์[58] พระองค์ทรงแยกการทรงเป็นบุตรของพระเจ้าจากการที่บรรดาสาวกเป็นโดยไม่เคยตรัสเลยว่า “พระบิดาของพวกเรา”[59] นอกจากเพื่อทรงสั่งเขาว่า “ท่านทั้งหลายจงอธิษฐานภาวนาดังนี้ ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย” (มธ 6:9) และยังทรงเน้นความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่าง “พระเจ้าของเราและพระเจ้าของท่านทั้งหลาย”(ยน 20:17)
444 พระวรสารเล่าว่าในโอกาสสำคัญสองครั้ง คือเมื่อพระคริสตเจ้าทรงรับพิธีล้างและทรงแสดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ พระบิดาทรงเปล่งพระสุรเสียงประกาศว่าพระคริสตเจ้าทรงเป็น “บุตรสุดที่รัก” ของพระองค์[60] พระเยซูเจ้ายังตรัสถึงพระองค์เองว่าทรงเป็น “พระบุตรเพียงพระองค์เดียว” ของพระเจ้า (ยน 3:16) และทรงใช้ตำแหน่งนี้ยืนยันว่าทรงดำรงอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่นิรันดร[61] ทรงเรียกร้องให้ทุกคนมีความเชื่อ “ในพระนามของพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระเจ้า” (ยน 3:18) การประกาศความเชื่อของคริสตชนเช่นนี้ปรากฏแล้วเมื่อนายร้อยโรมันประกาศเฉพาะพระพักตร์พระเยซูเจ้าบนไม้กางเขนว่า “ชายคนนี้เป็นพระบุตรของพระเจ้าแน่ทีเดียว” (มก 15:39) ในพระธรรมล้ำลึกปัสกาเท่านั้น ผู้มีความเชื่อจึงอาจให้ความหมายของตำแหน่ง “พระบุตรของพระเจ้า” ได้อย่างสมบูรณ์
445 หลังจากที่ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว การเป็นพระบุตรของพระเจ้าปรากฏให้เห็นในพลังของพระธรรมชาติมนุษย์ที่รุ่งโรจน์ของพระองค์ด้วย “ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระบุตรผู้ทรงอำนาจของพระเจ้าโดยการกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย” (รม 1:4)[62] บรรดาอัครสาวกจึงจะกล่าวได้ว่า “เราได้เห็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ เป็นพระสิริรุ่งโรจน์ที่ทรงรับจากพระบิดาในฐานะพระบุตรเพียงพระองค์เดียว เปี่ยมด้วยพระหรรษทานและความจริง” (ยน 1:14)
[44] เทียบ ฉธบ (LXX) 32:8; โยบ 1:6.
[45] เทียบ อพย 4 :22; ฮชย 11:1; ยรม 3:19; บสร 36:14; ปชญ 18:13.
[46] เทียบ ฉธบ 14:1; ฮชย 2:1.
[47] เทียบ 2 ซมอ 7:14; สดด 2:1.
[48] เทียบ 1 พศด 17:13; สดด 2:7.
[49] เทียบ มธ 27:54.
[50] เทียบ ลก 23:47.
[51] เทียบ มธ 16:16.
[52] เทียบ 1 ธส 1:10.
[53] เทียบ ยน 20:31.
[54] เทียบ มธ 16:18.
[55] เทียบ มธ 26:64; มก 14:62.
[56] เทียบ มธ 11:27; 21:37-38.
[57] เทียบ มธ 21:34-36.
[58] เทียบ มธ 24:36.
[59] เทียบ มธ 5:48; 6:8; 7:21; ลก 11:13.
[60] เทียบ มธ 3:17; 17:5.
[61] เทียบ ยน 10:36.
[62] เทียบ กจ 13:33.
IV. องค์พระผู้เป็นเจ้า
IV. องค์พระผู้เป็นเจ้า
446 พันธสัญญาเดิมฉบับแปลเป็นภาษากรีกใช้คำว่า “Kyrios” (= “เจ้านาย” หรือ “องค์พระผู้เป็นเจ้า”) แปลพระนามลึกล้ำภาษาฮีบรู YHWH ที่พระเจ้าทรงเปิดเผยแก่โมเสส[63] คำนี้ (ซึ่งแปลเป็นภาษาละตินว่า “Dominus” หรือเป็นภาษาอังกฤษว่า “The Lord”) เป็นพระนามที่อิสราเอลใช้โดยเฉพาะเพื่อเรียกพระนามพระเจ้าของตน พันธสัญญาใหม่ก็ใช้พระนามที่มีความหมายทรงพลังนี้กับพระบิดา และพร้อมกันนั้นยังใช้ในความหมายใหม่กับพระเยซูเจ้า และดังนี้จึงเป็นการยอมรับด้วยว่าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้า[64]
447 เมื่อทรงโต้เถียงกับชาวฟาริสีถึงความหมายของเพลงสดุดีบทที่ 110[65] พระเยซูเจ้าก็ตรัสเป็นนัยว่าพระองค์ทรงตำแหน่งนี้ แต่ยังตรัสถึงเรื่องนี้อย่างชัดเจนกับบรรดาอัครสาวก[66] ตลอดช่วงเวลาที่ทรงเทศน์สอนประชาชน พระองค์ทรงสำแดงให้ทุกคนเห็นว่าทรงอำนาจเหมือนพระเจ้าเหนือธรรมชาติ เหนือโรคภัยไข้เจ็บ เหนือปีศาจ เหนือความตายและบาป
448 หลายต่อหลายครั้งในพระวรสาร ประชาชนที่เข้ามาเฝ้าพระเยซูเจ้าทูลเรียกพระองค์ว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” ตำแหน่งนี้เป็นพยานยืนยันถึงความเคารพและความเชื่อมั่นของผู้ที่เข้ามาเฝ้าพระเยซูเจ้าและขอให้พระองค์ทรงช่วยเหลือและรักษาโรค[67] การทูลเรียกดังกล่าวโดยการดลใจของพระจิตเจ้าแสดงถึงการยอมรับพระธรรมล้ำลึกว่าพระเยซูเจ้าคือองค์พระผู้เป็นเจ้า[68] เมื่อพบพระองค์หลังจากทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว การทูลเรียกพระนามเช่นนี้เป็นการถวายนมัสการแด่พระองค์ด้วย “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า และพระเจ้าของข้าพเจ้า” (ยน 20:28) ถ้อยคำเช่นนี้จึงรวมความหมายถึงความรักและความเลื่อมใสที่ปรากฏเป็นอัตลักษณ์ของธรรมประเพณีคริสตชนตลอดมา “เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้านี่” (ยน 21:7)
449 เมื่อสูตรยืนยันความเชื่อตั้งแต่สมัยแรกเริ่มของพระศาสนจักรประกาศว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า ก็ยืนยันตั้งแต่ต้น[69]ว่าพระเยซูเจ้าทรงสมควรได้รับพระอานุภาพ พระเกียรติ และพระสิริรุ่งโรจน์ที่เป็นของพระบิดาเจ้าด้วย[70] เพราะพระองค์ทรง “มีธรรมชาติพระเจ้า” (ฟป 2:6) และเพราะว่าพระบิดาทรงสำแดงพระเทวภาพนี้ของพระเยซูเจ้าเมื่อทรงบันดาลให้พระองค์กลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตายและทรงยกย่องพระองค์ในพระสิริรุ่งโรจน์”[71]
450 นับตั้งแต่เริ่มแรกของประวัติศาสตร์คริสตศาสนาแล้ว การยืนยันว่าพระเยซูเจ้าทรงอำนาจปกครองเหนือโลกและประวัติศาสตร์[72] ยังหมายถึงการยอมรับด้วยว่ามนุษย์ไม่ต้องยอมให้เสรีภาพของตนอยู่ใต้อำนาจใดๆ ในโลก แต่ต้องให้อยู่ใต้อำนาจของพระเจ้าพระบิดาและของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าโดยสิ้นเชิงเท่านั้น พระจักรพรรดิซีซาร์ไม่ใช่ “องค์พระผู้เป็นเจ้า”[73] พระศาสนจักร “เชื่อว่ากุญแจ ศูนย์กลางและจุดหมายของประวัติศาสตร์มนุษยชาติทั้งหมดพบได้ในองค์พระผู้เป็นเจ้าและพระอาจารย์ของตนเท่านั้น”[74]
451 คำอธิษฐานภาวนาของคริสตชนมีวลีว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” (Dominus) ปรากฏอยู่ทั่วไป เช่นในคำเชิญชวนให้อธิษฐานภาวนา “Dominus vobiscum” (“พระเจ้าสถิตกับท่าน”) หรือในวลีลงท้ายบทภาวนา “per Dominum nostrum Iesum Christum” (“เดชะพระบารมีพระคริสตเจ้า[องค์พระผู้เป็นเจ้า] ของข้าพเจ้าทั้งหลาย” หรือในคำโห่ร้องด้วยความหวังอย่างมั่นใจว่า “Maran atha” (องค์พระผู้เป็นเจ้าเสด็จมา) หรือ “Marana tha” (ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า โปรดเสด็จมาเถิด) (1 คร 16:22) “อาเมน ข้าแต่พระเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้า เชิญเสด็จมาเถิด” (วว 22:20)
[63] เทียบ อพย 3:14.
[64] เทียบ 1 คร 2:8.
[65] เทียบ มธ 22:41-46; และ เทียบ กจ 2 :34-36; ฮบ 1:13 ด้วย
[66] เทียบ ยน 13:13.
[67] เทียบ มธ 8:2; 14:30; 15:22 และที่อื่นๆ
[68] เทียบ ลก 1:43; 2:11.
[69] เทียบ กจ 2:34-36.
[70] เทียบ รม 9:5; ทต 2:13; วว 5:13.
[71] เทียบ รม 10:9; 1 คร 12:3; ฟป 2:9-12.
[72] เทียบ วว 11:15.
[73] เทียบ มก 12:17; กจ 5:29.
[74] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 10: AAS 58 (1966) 1033 ; cf ibid. 45: AAS 58 (1966) 1066.
สรุป
สรุป
452 พระนาม “เยซู” แปลว่า “พระเจ้าทรงช่วยให้รอดพ้น” ทารกซึ่งเกิดจากพระนางพรหมจารีมารีย์ได้รับนามว่า “เยซู” “เพราะเขาจะช่วยประชากรของเขาให้รอดพ้นจากบาป” (มธ 1:21) “เพราะใต้ฟ้านี้ พระเจ้ามิได้ประทานนามอื่นแก่มนุษย์นอกจากนามนี้ที่ช่วยเราให้รอดพ้นได้” (กจ 4:12)
453 นาม “พระคริสตเจ้า” หมายความว่า “ผู้รับเจิม” หรือ “พระเมสสิยาห์” พระเยซูทรงเป็น พระคริสตเจ้าเพราะ “พระเจ้าทรงเจิมพระองค์ด้วยพระอานุภาพเดชะพระจิตเจ้า” (กจ 10:38) พระองค์ทรงเป็น “ผู้ที่จะต้องมา” (ลก 7:19) เป็นความหวังของชาวอิสราเอล[75]
454 พระนาม “พระบุตรของพระเจ้า” หมายถึงความสัมพันธ์เฉพาะตั้งแต่นิรันดรของพระเยซูคริสตเจ้ากับพระเจ้าพระบิดาของพระองค์ พระองค์ทรงเป็นพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระบิดา[76] และพระองค์ก็ทรงเป็นพระเจ้าด้วย[77] ผู้ใดจะเป็นคริสตชนได้จำเป็นต้องเชื่อว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า[78]
455 ตำแหน่ง “องค์พระผู้เป็นเจ้า” หมายถึงอำนาจปกครองของพระเจ้า การประกาศหรือเรียกพระเยซูเจ้าว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” เป็นการเชื่อในพระเทวภาพของพระองค์ “หากพระจิตเจ้ามิได้ทรงดลใจก็ไม่มีผู้ใดพูดได้ว่า ‘พระเยซูคือองค์พระผู้เป็นเจ้า’” (1 คร 12:3)
[75] เทียบ กจ 28:20.
[76] เทียบ ยน 1:14,18; 3:16,18.
[77] เทียบ ยน 1:1.
[78] เทียบ กจ 8:37; 1 ยน 2:23.