บทที่สี่
การประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ชนิดอื่นๆ
ตอนที่หนึ่ง
สิ่งคล้ายศีล (Sacramentalia)
1667 “พระศาสนจักรมารดาศักดิ์สิทธิ์ยังตั้งสิ่งคล้ายศีลไว้ด้วย สิ่งคล้ายศีล คือ เครื่องหมายศักดิ์สิทธิ์ซึ่งคล้ายกับศีลศักดิ์สิทธิ์ แสดงและประสาทผล โดยเฉพาะผลฝ่ายจิต โดยอาศัยการวอนขอของพระศาสนจักร สิ่งคล้ายศีลนี้เตรียมมนุษย์ให้พร้อมที่จะรับผลสำคัญของศีลศักดิ์สิทธิ์ และทำให้สถานการณ์ต่างๆ ของชีวิตได้รับความศักดิ์สิทธิ์ด้วย”[1]
[1] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 60: AAS 56 (1964) 116; cf CIC canon 1166; CCEO canon 867.
ลักษณะสำคัญของสิ่งคล้ายศีล
ลักษณะสำคัญของสิ่งคล้ายศีล
1668 พระศาสนจักรจัดตั้งสิ่งคล้ายศีลเพื่อบันดาลความศักดิ์สิทธิ์แก่ศาสนบริการ แก่รูปแบบชีวิต และสภาพแวดล้อมของชีวิตคริสตชนต่างๆ หลากหลายมาก รวมทั้งแก่ของใช้ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่มนุษย์ด้วย ตามข้อกำหนดด้านงานอภิบาลของบรรดาพระสังฆราช สิ่งคล้ายศีลเหล่านี้ยังอาจตอบสนองความต้องการ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของประชากรคริสตชนเฉพาะของท้องที่และช่วงเวลาที่เกี่ยวข้อง สิ่งคล้ายศีลย่อมประกอบเสมอด้วยบทภาวนาซึ่งบ่อยๆ ควบคู่กับเครื่องหมายชัดเจน เช่น การปกมือ เครื่องหมายกางเขน การพรมน้ำเสก (ซึ่งชวนให้ระลึกถึงศีลล้างบาป)
1669 สิ่งคล้ายศีลต่างๆ เกิดจากสมณภาพที่สืบเนื่องมาจากศีลล้างบาป ผู้รับศีลล้างบาปทุกคนได้รับเรียกมาให้เป็น “การอวยพร”[2] และเพื่อ “อวยพร”[3] เพราะเหตุนี้ ฆราวาสจึงอาจประกอบพิธีอวยพรบางอย่างได้[4] ยิ่งการเสกหรือการอวยพรเกี่ยวข้องกับชีวิตพระศาสนจักรหรือศีลศักดิ์สิทธิ์มากขึ้นเท่าใด การเป็นประธานประกอบพิธีดังกล่าวก็ยิ่งสงวนไว้ให้เป็นหน้าที่ของศาสนบริกรที่ได้รับศีลบวช (พระสังฆราช พระสงฆ์ หรือสังฆานุกร)[5]
1670 สิ่งคล้ายศีลไม่ประทานพระหรรษทานของพระจิตเจ้าเหมือนกับศีลศักดิ์สิทธิ์ แต่ใช้คำอธิษฐานภาวนาของพระศาสนจักรเตรียมเราไว้เพื่อรับพระหรรษทานและช่วยเราให้พร้อมที่จะร่วมงานกับพระหรรษทาน “สำหรับบรรดาผู้มีความเชื่อที่เตรียมพร้อมอย่างดี แทบทุกเหตุการณ์ในชีวิตย่อมรับความศักดิ์สิทธิ์จากพระหรรษทานของพระเจ้าที่หลั่งไหลมาจากพระธรรมล้ำลึกปัสกาแห่งการรับทรมาน การสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า ศีลศักดิ์สิทธิ์และสิ่งคล้ายศีลทั้งหลายย่อมได้รับประสิทธิผลของตนจากพระธรรมล้ำลึกนี้เอง จึงแทบไม่มีการใช้วัสดุใดๆ อย่างถูกต้องที่ไม่อาจบันดาลความศักดิ์สิทธิ์แก่มนุษย์และสรรเสริญพระเจ้า”ได้[6]
[2] เทียบ ปฐก 12:2.
[3] เทียบ ลก 6:28; รม 12:14; 1 ปต 3:9.
[4] Cf Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 79: AAS 56 (1964) 120; cf CIC canon 1168.
[5] Cf De Benedictionibus, Praenotanda generalia, 16 et 18, Editio typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1984) p. 13.14-15.
[6] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 61: AAS 56 (1964) 116-117.
รูปแบบต่างๆ ของสิ่งคล้ายศีล
รูปแบบต่างๆ ของสิ่งคล้ายศีล
1671 ในบรรดาสิ่งคล้ายศีล ก่อนอื่นหมดเราพบการอวยพร (บุคคล โต๊ะอาหาร สิ่งของ สถานที่) การอวยพรทุกอย่างเป็นการถวายเกียรติแด่พระเจ้าและวอนขอพระเจ้าให้ประทานพระพรของพระองค์ บรรดาคริสตชนรับการอวยพรจากพระเจ้าพระบิดาในพระคริสตเจ้า “โดยพระองค์ประทานพระพรนานาประการของพระจิตเจ้า” (อฟ 1:3) เพราะเหตุนี้ พระศาสนจักรจึงอวยพรโดยเรียกขานพระนามพระเยซูเจ้าพร้อมกับทำเครื่องหมายกางเขนของพระคริสตเจ้าเกือบทุกครั้ง
1672 การอวยพรบางอย่างมีจุดประสงค์ที่คงอยู่ตลอดไป ผลของการอวยพรเช่นนี้คือการมอบถวายบุคคล สิ่งของ และสงวนสถานที่ไว้ใช้ในพิธีกรรม ในบรรดาการอวยพรที่กำหนดไว้สำหรับบุคคล – อย่านำไปปนกับการบวชที่เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ – เราหมายถึงการอวยพรเจ้าอธิการหรืออธิการิณีของอารามนักพรต การมอบถวายสาวพรหมจารีและหญิงม่าย พิธีปฏิญาณถวายตนของนักบวชและการอวยพรสำหรับผู้ปฏิบัติศาสนบริการบางประการของพระศาสนจักร (ผู้อ่านพระคัมภีร์ ผู้ช่วยพิธีกรรม ครูสอนคำสอน ฯลฯ) ส่วนที่เป็นตัวอย่างของการอวยพรสิ่งของ เราอาจคิดถึงการมอบถวายหรือการเสกโบสถ์หรือพระแท่นบูชา การเสกน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ ภาชนะและอาภรณ์ศักดิ์สิทธิ์ การเสกระฆัง ฯลฯ
1673 เมื่อพระศาสนจักรวอนขอต่อหน้าสาธารณะและวอนขอเดชะพระนามของพระเยซูคริสตเจ้าอย่างเป็นทางการให้บุคคลหนึ่งหรือสิ่งหนึ่งได้รับการปกป้องจากอิทธิพลของปีศาจและพ้นจากอำนาจปกครองของมัน เราเรียกกิจการเช่นนี้ว่าการขับไล่ปีศาจ (exorcismus) พระเยซูเจ้าเคยทรงปฏิบัติกิจกรรมนี้[7] และพระศาสนจักรก็มีอำนาจและหน้าที่ขับไล่ปีศาจด้วย[8] ในพิธีศีลล้างบาปก็มีการประกอบพิธีขับไล่ปีศาจในรูปแบบธรรมดา พิธีขับไล่ปีศาจอย่างสง่า ที่เรียกว่า “magnus exorcismus” นั้น พระสงฆ์ไม่อาจประกอบพิธีได้นอกจากจะได้รับอนุญาตจากพระสังฆราชเสียก่อน ในเรื่องนี้ จำเป็นต้องดำเนินการอย่างรอบคอบโดยปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่พระศาสนจักรกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด[9] การขับไล่ปีศาจมีเจตนาที่จะขับไล่ปีศาจหรือช่วยให้พ้นจากอิทธิพลของปีศาจโดยอาศัยอำนาจด้านจิตวิญญาณที่พระเยซูเจ้าทรงมอบไว้แก่พระศาสนจักรของพระองค์ กรณีของความเจ็บป่วย โดยเฉพาะความเจ็บป่วยทางจิต เป็นกรณีที่แตกต่างกันอย่างมาก (จากการถูกปีศาจสิง) การบำบัดรักษากรณีเช่นนี้จึงเป็นเรื่องของวิทยาการทางการแพทย์ จึงสำคัญมากที่ก่อนจะประกอบพิธีขับไล่ปีศาจจะต้องรู้ให้แน่ว่าเป็นเรื่องของการถูกปีศาจสิงและไม่ใช่ความเจ็บป่วยทางจิต
[7] เทียบ มก 1:25-26.
[8] เทียบ มก 3 :15; 6:7,13; 16:17.
[9] Cf CIC canon 1172.
ความศรัทธาแบบชาวบ้าน
ความศรัทธาแบบชาวบ้าน
1674 นอกจากพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับศีลศักดิ์สิทธิ์และสิ่งคล้ายศีลแล้ว ยังต้องสอนคริสตชนถึงรูปแบบกิจศรัทธาต่างๆ ของบรรดาผู้มีความเชื่อและความศรัทธาแบบชาวบ้าน ความสำนึกทางศาสนาของประชากรคริสตชนย่อมพบการแสดงออกในรูปแบบต่างๆ ของความศรัทธาที่พบได้พร้อมกับชีวิตด้านศีลศักดิ์สิทธิ์ เช่นการเคารพพระธาตุ การเยี่ยมสักการสถาน การเดินทางแสวงบุญ การแห่แหน การเดินรูปสิบสี่ภาค การฟ้อนรำเกี่ยวกับศาสนา สายประคำ เหรียญรูปศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ฯลฯ[10]
1675 การแสดงความศรัทธาเช่นนี้เป็นการขยายชีวิตด้านพิธีกรรมของพระศาสนจักร แต่ไม่เข้าไปแทนพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ได้ “ดังนั้น จึงควรจัดกิจศรัทธาเหล่านี้โดยคำนึงถึงเทศกาลทางพิธีกรรม ให้สอดคล้องกับพิธีกรรม ได้รับอิทธิพลจากพิธีกรรม และนำประชากรเข้าหาพิธีกรรม เพราะพิธีกรรมในตัวเองก็มีความสำคัญเหนือกิจศรัทธาใดๆ อยู่แล้ว”[11]
1676 บรรดาผู้อภิบาลจำเป็นต้องมีวิจารณญาณในการสนับสนุนและส่งเสริมให้ถูกต้องความศรัทธาแบบชาวบ้าน และถ้าจำเป็น เพื่อชำระและแก้ไขความหมายทางศาสนาที่แทรกซึมอยู่ในกิจศรัทธาเหล่านี้ และเพื่อช่วยทำให้ความรู้เรื่องพระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้าได้รับการพัฒนาขึ้นด้วย การปฏิบัติกิจศรัทธาเหล่านี้จึงต้องอยู่ภายใต้ความดูแลและการพิจารณาตัดสินของพระสังฆราชและกฎทั่วไปของพระศาสนจักรด้วย[12]
“ในสาระสำคัญ ความศรัทธาแบบชาวบ้านเป็นแหล่งรวมคุณค่าต่างๆ ซึ่งตอบสนองต่อปัญหาสำคัญของชีวิตด้วยปรีชาญาณของคริสตศาสนา ปรีชาญาณคาทอลิกแบบชาวบ้านมีความสามารถที่จะมองชีวิตแบบองค์รวม และดังนี้จึงนำเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับพระเจ้าและมนุษย์เข้ามารวมกันในแบบสร้างสรรค์ พระคริสตเจ้าและพระแม่มารีย์ จิตวิญญาณและร่างกาย การรวมตัวกันและสถาบัน ปัจเจกบุคคลและชุมชน ความเชื่อและบ้านเกิดเมืองนอน ความเข้าใจและความรู้สึก ปรีชาญาณนี้เป็นมนุษยวิทยาแบบคริสตชนที่ยืนยันอย่างมั่นคงถึงศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์ในฐานะบุคคลของบุตรพระเจ้า จัดตั้งการรวมตัวกันฉันพี่น้อง สอนให้มนุษย์เข้าถึงธรรมชาติและเข้าใจความหมายของการงาน และนำเหตุผลให้รู้จักดำเนินชีวิตด้วยความยินดีแม้เมื่อชีวิตประสบความยากลำบากอย่างหนัก ปรีชาญาณเช่นนี้ยังเป็นหลักการสำหรับประชาชนเพื่อแยกแยะ และเป็นสามัญสำนึกตามพระวรสารเพื่อจะรู้สึกได้ทันทีเลยว่าเมื่อไร
เรากำลังปฏิบัติตามพระวรสารรับใช้ในพระศาสนจักร และเมื่อไรเรากำลังทำให้พระวรสารไร้ความหมายและนำความสะดวกสบายอื่นๆ มาอัดไว้แทน”[13]
[10] Cf Concilium Nicaenum II, Definitio de sacris imaginibus: DS 601; Ibid.: DS 603; Concilium Tridentinum, Sess. 25a, Decretum de invocatione, veneratione et reliquiis sanctorum, et sacris imaginibus: DS 1822.
[11] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 13: AAS 56 (1964) 103.
[12] Cf Ioannes Paulus II, Adh. ap. Catechesi tradendae, 54: AAS 71 (1979) 1321-1322.
[13] III Conferencia General del Episcopado Latinoamericano, Puebla. La Evangelización en el presente y en el futuro de América Latina, 448 (Bogotá 1979) p. 131; cf Paulus VI, Adh. ap. Evangelii nuntiandi, 48: AAS 68 (1976) 37-38.
สรุป
สรุป
1677 เราเรียกเครื่องหมายที่พระศาสนจักรกำหนดไว้ว่า “สิ่งคล้ายศีล” ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อเตรียมมนุษย์เพื่อรับผลของศีลศักดิ์สิทธิ์และเพื่อบันดาลความศักดิ์สิทธิ์แก่สภาพการณ์ต่างๆ ของชีวิต
1678 ในบรรดาสิ่งคล้ายศีล การอวยพรมีความสำคัญเป็นพิเศษ การอวยพรต่างๆ ในเวลาเดียวกันรวมการสรรเสริญพระเจ้าเพราะผลงานและของประทานจากพระองค์ กับการวอนขอของพระศาสนจักรเพื่อให้มนุษย์ใช้ของประทานเหล่านี้ของพระเจ้าตามเจตนารมณ์ของพระวรสาร
1679 นอกจากพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์แล้ว ชีวิตคริสตชนยังรับการหล่อเลี้ยงจากรูปแบบต่างๆ ของกิจศรัทธาแบบชาวบ้านที่ฝังรากอยู่ในวัฒนธรรมต่างๆ พระศาสนจักรส่งเสริมกิจศรัทธาแบบชาวบ้านในรูปแบบต่างๆ เหล่านี้ที่แสดงให้เห็นสามัญสำนึกแห่งพระวรสาร ปรีชาญาณตามประสามนุษย์ และทำให้ชีวิตคริสตชนร่ำรวยขึ้น แต่พระศาสนจักรก็ยังเอาใจใส่ให้กิจศรัทธาเหล่านี้สอดคล้องกับแสงสว่างแห่งความเชื่อด้วย
ตอนที่สอง
การปลงศพแบบคริสตชน
1680 ศีลศักดิ์สิทธิ์ทุกประการ และโดยเฉพาะศีลแห่งกระบวนการรับคริสตชนใหม่ มีปัสกาสุดท้ายของบุตรพระเจ้าเป็นจุดหมาย คือปัสกานั้นที่ใช้ความตายทำให้เขาเข้าไปในชีวิตแห่งพระอาณาจักรได้ ในเวลานั้นสิ่งที่เขาประกาศในความเชื่อก็เป็นจริง คือ “ข้าพเจ้ารอวันที่ผู้ตายจะกลับคืนชีพ และชีวิตในโลกหน้า”[14]
[14] Symbolum Nicaenum-Constantinopolitanum: DS 150.
I. ปัสกาสุดท้ายของคริสตชน
I. ปัสกาสุดท้ายของคริสตชน
1681 ความหมายแบบคริสตชนของความตายได้รับการเปิดเผยโดยคำนึงถึงพระธรรมล้ำลึกปัสกาการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า ซึ่งเป็นเหตุผลที่ความหวังเพียงประการเดียวของเราตั้งอยู่ คริสตชนที่ตายในพระคริสตเยซูนั้นถูกเนรเทศออกจากร่างกายและไปอยู่กับองค์พระผู้เป็นเจ้า[15]
1682 สำหรับคริสตชน วันตาย ในจุดจบชีวิตศีลศักดิ์สิทธิ์ของเขา เป็นการเริ่มต้นความสมบูรณ์ของการเกิดใหม่ของเขาที่เริ่มขึ้นในศีลล้างบาป เป็น “ความเหมือน”อย่างเด็ดขาดกับ”ภาพลักษณ์ของพระบุตร” ที่เขาได้รับอาศัยการเจิมของพระจิตเจ้าและเป็นการร่วมโต๊ะงานเลี้ยงแห่งพระอาณาจักร ซึ่งเคยถูกเกริ่นไว้แล้วในศีลมหาสนิท แม้ว่าเขายังต้องการการชำระครั้งสุดท้ายซึ่งจำเป็นเพื่อจะสวมเสื้องานวิวาหมงคลอยู่อีกก็ตาม
1683 พระศาสนจักรซึ่งเป็นเสมือนมารดา คอยโอบอุ้มคริสตชนไว้ในอ้อมอกอาศัยศีลศักดิ์สิทธิ์ตลอดเวลาที่เขากำลังเดินทางอยู่ในโลกนี้จนสุดปลายของการเดินทางเพื่อจะมอบเขาไว้ “ในพระหัตถ์ของพระบิดาเจ้า” พระศาสนจักรถวายบุตรแห่งพระหรรษทานของพระองค์แด่พระบิดาเจ้าในพระบุตร และฝากเมล็ดพันธุ์ของร่างกายไว้ในแผ่นดินด้วยความหวังว่าร่างกายนี้จะกลับคืนชีพในสิริรุ่งโรจน์[16] การถวายนี้สำเร็จอย่างสมบูรณ์ในพิธีถวายบูชาขอบพระคุณ ส่วนการอวยพรที่นำหน้าหรือที่ตามพิธีบูชาขอบพระคุณมานั้นเป็น “สิ่งคล้ายศีล”
[15] เทียบ 2 คร 5:8.
[16] เทียบ 1 คร 15:42-44.
II. การประกอบพิธีปลงศพ
II. การประกอบพิธีปลงศพ
1684 พิธีปลงศพแบบคริสตชนเป็นการประกอบพิธีกรรมของพระศาสนจักร ในพิธีนี้ ศาสนบริการของพระศาสนจักรมีเจตนาแสดงความสัมพันธ์กับผู้ตาย เป็นความสัมพันธ์ที่มีผลทำให้เขามีส่วนในชุมชนที่มาชุมนุมกันเพื่อพิธีปลงศพ และประกาศให้ชุมชนนี้ตระหนักถึงชีวิตนิรันดร
1685 จารีตต่างๆ ของพิธีปลงศพจะต้องแสดงให้เห็นลักษณะธรรมล้ำลึกปัสกาของความตายแบบ คริสตชนอย่างเด่นชัดยิ่งขึ้น และจะต้องสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและประเพณีของแต่ละท้องถิ่นยิ่งขึ้น แม้ในการใช้สีของอาภรณ์ในพิธีกรรมด้วย[17]
1686 หนังสือพิธีปลงศพของพิธีกรรมจารีตโรมันเสนอสามรูปแบบของการประกอบพิธีปลงศพ สอดคล้องกับสถานที่สามแห่งที่อาจประกอบพิธีนี้ (ที่บ้านผู้ตาย ที่โบสถ์ ที่สุสาน) และตามความสำคัญที่ครอบครัว ธรรมเนียมของสถานที่ วัฒนธรรมและความศรัทธาของชาวบ้าน ให้กับสถานที่เหล่านี้ นอกจากนั้น ลำดับการประกอบพิธีก็เป็นแบบเดียวกันในธรรมประเพณีพิธีกรรมต่างๆ และมีองค์ประกอบสี่ประการด้วยกันดังต่อไปนี้
1687 การต้อนรับของชุมชน พิธีเริ่มด้วยการปราศรัยทักทายด้วยความเชื่อ ประธานในพิธีปราศรัยทักทายญาติพี่น้องของผู้ตายด้วยถ้อยคำ “ปลอบใจ” (ในความหมายของพันธสัญญาใหม่ ซึ่งหมายถึงพลังในความหวังจากพระจิตเจ้า[18]) ชุมชนที่มาชุมนุมกับอธิษฐานภาวนายังหวังจะรับ “ถ้อยคำแห่งชีวิตนิรันดร” ด้วย ความตาย (หรือวันครบรอบปี วันที่เจ็ดหรือสามสิบ) ของสมาชิกคนหนึ่งในชุมชนเป็นเหตุการณ์ที่ต้องนำเราให้มองข้าม “โลกนี้” ไป และนำผู้มีความเชื่อให้มุ่งมองไปยังพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืน พระชนมชีพแล้ว
1688 วจนพิธีกรรม ในพิธีปลงศพ เรียกร้องให้มีการเตรียมด้วยความละเอียดถี่ถ้วนยิ่งขึ้น เพราะผู้มาร่วมพิธีอาจรวมผู้มีความเชื่อที่ไม่ค่อยคุ้นเคยกับพิธีกรรม และเพื่อนที่ไม่ใช่คริสตชนของผู้ล่วงลับ โดยเฉพาะบทเทศน์อธิบายพระคัมภีร์ (homily) ต้องไม่ใช่เป็นการยกย่องผู้ตาย (funeral eulogy)[19] แต่ต้องเป็นการอธิบายความหมายธรรมล้ำลึกเรื่องความตายของคริสตชนจากมุมมองของพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ
1689 พิธีบูชาขอบพระคุณ เมื่อมีการถวายบูชาขอบพระคุณในโบสถ์ ศีลมหาสนิทก็เป็นสาระสำคัญของความจริงที่ว่าความตายของคริสตชนก็เป็นปัสกาที่เป็นความจริง[20] ในพิธีบูชาขอบพระคุณ พระศาสนจักรแสดงความสัมพันธ์ที่มีผลกับผู้ล่วงลับ เมื่อพระศาสนจักรถวายบูชาแห่งการสิ้นพระชนม์และกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าแด่พระบิดาในพระจิตเจ้า ก็วอนขอให้บุตรของตนได้รับการชำระจากบาปของตนและผลของบาปเหล่านั้นด้วยและเพื่อจะได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมโต๊ะความบริบูรณ์ปัสกาของพระอาณาจักร[21] อาศัยการประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณเช่นนี้ ชุมชนของบรรดาผู้มีความเชื่อ โดยเฉพาะครอบครัวของผู้ล่วงลับ ก็เรียนรู้ที่จะดำเนินชีวิตร่วมกับผู้ที่ “ได้หลับไปในองค์พระผู้เป็นเจ้า” โดยการมีส่วนร่วมรับพระกายของพระคริสตเจ้าที่เขาเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งที่มีชีวิต แล้วจึงอธิษฐานภาวนาสำหรับและพร้อมกับผู้ล่วงลับผู้นี้
1690 การอำลาผู้ล่วงลับเป็นการที่พระศาสนจักร “ฝากฝังเขาไว้กับพระเจ้า” เป็น “การร่ำลาครั้งสุดท้ายที่กลุ่มคริสตชนอำลาสมาชิกของตนก่อนที่จะนำร่างของเขาไปฝัง”[22] ธรรมประเพณีจารีตไบซันไตน์แสดงการอำลานี้โดยการจุมพิตอำลาผู้ล่วงลับ
โดยการอำลาครั้งสุดท้ายนี้ “เราขับร้องการจากไปและการส่งเขาออกจากชีวิตนี้ แต่เนื่องจากความสัมพันธ์และการอยู่ร่วมกันยังคงอยู่ต่อไป เพราะเมื่อตาย เราจะไม่มีวันแยกจากกันอีกเลย เราทุกคนจะเดินทางเดียวกัน จะไปอยู่ในสถานที่เดียวกัน และจะไม่แยกจากกันอีกเลย เพราะเราจะมีชีวิตเพื่อพระคริสตเจ้า และขณะที่กำลังเดินหน้าไปพบพระองค์ บัดนี้เราก็รวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้า กำลังก้าวหน้าไปหาพระองค์ […] เราทุกคนผู้มีความเชื่อจะอยู่พร้อมกันกับพระคริสตเจ้า”[23]
[17] Cf Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 81: AAS 56 (1964) 120.
[18] เทียบ 1 ธส 4:18.
[19] Cf Ordo exsequiarum, De primo typo exsequiarum, 41, Editio typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1969) p. 21.
[20] Cf Ordo exsequiarum, Praenotanda, 1, Editio typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1969) p. 7.
[21] Cf Ordo exsequiarum, De primo typo exsequiarum, 56, Editio typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1969) p. 26.
[22] Cf Ordo exsequiarum, Praenotanda, 10, Editio typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1969) p. 9.
[23] Sanctus Simeon Thessalonicensis, De ordine sepulturae, 367: PG 155, 685.