ส่วนที่สอง
ศีลศักดิ์สิทธิ์เจ็ดประการของพระศาสนจักร
1210 พระคริสตเจ้าทรงตั้งศีลศักดิ์สิทธิ์ของพันธสัญญาใหม่ซึ่งมีอยู่เจ็ดประการ คือ ศีลล้างบาป ศีลกำลัง ศีลมหาสนิท ศีลอภัยบาป ศีลเจิมคนไข้ ศีลบวช และศีลสมรส ศีลศักดิ์สิทธิ์ทั้งเจ็ดประการนี้เกี่ยวข้องกับทุกขั้นตอนที่สำคัญในชีวิตของคริสตชน ศีลศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ให้กำเนิดและการเจริญเติบโตของชีวิตความเชื่อของบรรดาคริสตชน ให้การบำบัดรักษาและพันธกิจแก่เขา ดังนั้นจึงมีความละม้ายคล้ายกันอย่างหนึ่งระหว่างขั้นตอนต่างๆ ของชีวิตตามธรรมชาติกับขั้นตอนต่างๆ ของชีวิตฝ่ายจิต[1]
1211 ตามความคิดเรื่องความคล้ายคลึงเช่นนี้ เราจะอธิบายถึงศีลศักดิ์สิทธิ์สามประการของการรับเข้าเป็นคริสตชน (บทที่หนึ่ง) ต่อจากนั้นจะอธิบายถึงศีลศักดิ์สิทธิ์การบำบัดรักษา (บทที่สอง) แล้วในที่สุดศีลศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่เพื่อการดำเนินชีวิตร่วมกันและการประกอบพันธกิจของบรรดาผู้มีความเชื่อ (บทที่สาม) แม้ว่าลำดับเช่นนี้ไม่ใช่ลำดับที่เป็นไปได้เพียงอย่างเดียว แต่ก็ช่วยให้เราเห็นได้ว่าศีลศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ร่วมกันประกอบเป็นประหนึ่งร่างกายเดียวกันที่มีชีวิตและศีลศักดิ์สิทธิ์แต่ละประการมีบทบาทชีวิตเฉพาะของตน ในองค์ประกอบนี้ ศีลมหาสนิทมีตำแหน่งพิเศษเฉพาะเหมือนกับ “ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งศีลศักดิ์สิทธิ์” - “ศีลศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ทั้งหมดดูเหมือนว่าถูกจัดลำดับไว้ให้มุ่งไปหาศีลนี้ประหนึ่งว่าเป็นจุดหมาย”[2]
บทที่หนึ่ง
ศีลของกระบวนการรับเข้าเป็นคริสตชน
1212 พื้นฐานของชีวิตคริสตชนทั้งหมดตั้งอยู่บนศีลของการรับเข้าเป็นคริสตชน ได้แก่ศีลล้างบาป ศีลกำลัง และศีลมหาสนิท “การมีส่วนร่วมกับชีวิตพระเจ้าผู้ประทานให้มนุษย์ได้รับพระหรรษทานของพระคริสตเจ้าแสดงให้เห็นความเหมือนกันอย่างหนึ่งกับการให้กำเนิด การเจริญเติบโต และการหล่อเลี้ยงชีวิตตามธรรมชาติ บรรดาผู้มีความเชื่อที่ได้เกิดใหม่ด้วยศีลล้างบาปแล้วได้รับพลังจากศีลกำลังและในที่สุดได้รับศีลมหาสนิทเป็นอาหารหล่อเลี้ยงชีวิตนิรันดร ดังนี้ โดยศีลของการรับเข้าเป็นคริสตชนทั้งสามศีลนี้ เขาจึงรับขุมทรัพย์แห่งชีวิตพระเจ้าและก้าวหน้ามากยิ่งๆ ขึ้นไปสู่ความสมบูรณ์แห่งความรัก”[3]
[1] Sanctus Thomas Aquinas, Summa theologiae 3, q. 65, a. 1, c: Ed. Leon. 12, 56-57.
[2] Sanctus Thomas Aquinas, Summa theologiae 3, q. 65, a. 3, c: Ed. Leon. 12, 60.
[3] Paulus VI, Const. ap. Divinae consortium naturae: AAS 63 (1971) 657; cf Ordo initiationis christianae adultorum, Praenotanda 1-2 (Typis Polyglottis Vaticanis 1972) p. 7.