ตอนที่สี่
บทยอพระเกียรติสุดท้าย
2855 บทยอพระเกียรติสุดท้าย “เหตุว่า พระอาณาจักร พระอานุภาพ และพระสิริรุ่งโรจน์ เป็นของพระองค์” ซ้ำคำวอนขอต่อพระบิดาสามข้อแรกเป็นการสรุปปิดท้าย เป็นการสรรเสริญพระสิริรุ่งโรจน์แห่งพระนาม การมาถึงของพระอาณาจักร และพระอานุภาพแห่งพระประสงค์ที่จะทรงช่วยให้รอดพ้นของพระองค์ ถึงกระนั้น การกล่าวซ้ำเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่งเป็นการกล่าวในรูปแบบของการนมัสการและขอบพระคุณ เหมือนกับในพิธีกรรมในสวรรค์[151] เจ้าแห่งโลกนี้กล่าวมุสาอ้างทั้งสามตำแหน่งนี้เป็นของตน คือตำแหน่งกษัตริย์ อานุภาพ และสิริรุ่งโรจน์[152] พระคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงคืนตำแหน่งเหล่านี้แด่พระบิดาของพระองค์และพระบิดาของเรา จนกว่าพระองค์จะทรงมอบพระอาณาจักรคืนแด่พระบิดาเมื่อพระธรรมล้ำลึกแห่งความรอดพ้นจะสำเร็จสมบูรณ์อย่างเด็ดขาด และพระเจ้าจะทรงเป็นทุกสิ่งในทุกคน[153]
2856 “และเมื่อจบบทอธิษฐานภาวนาแล้ว ท่านกล่าวว่า ‘อาเมน’ จากคำ ‘อาเมน’ นี้ ซึ่งแปลว่า ‘ขอให้เป็นเช่นนี้’[154] เป็นการรับรองสิ่งต่างๆ ที่มีกล่าวไว้ในบทภาวนานี้ที่พระเจ้าทรงสอนเราไว้”[155]
สรุป
2857 คำวอนขอสามข้อแรกของบท “ข้าแต่พระบิดา” กล่าวถึงพระสิริรุ่งโรจน์ของพระบิดา นั่นคือ ขอให้พระนามจงเป็นที่สักการะ ขอให้พระอาณาจักรมาถึง ขอให้พระประสงค์สำเร็จไป ส่วนคำขอสี่ข้อที่เหลือแสดงความปรารถนาของเรา เกี่ยวข้องกับชีวิตของเรา ทูลขอให้มีอาหารหล่อเลี้ยง หรือทูลขอให้ทรงบำบัดรักษาเราให้พ้นจากบาป และเกี่ยวข้องกับการที่เราต้องต่อสู้เพื่อความดีจะได้มีชัยชนะเหนือความชั่ว
2858 เมื่อทูลขอว่า “พระนามพระองค์จงเป็นที่สักการะ” เราก็เข้าร่วมกับแผนการของพระเจ้า เพื่อทำให้พระนาม – ที่ทรงเปิดเผยแก่โมเสส แล้วยังทรงเปิดเผยในพระเยซูเจ้า – ได้รับการสักการะจากเราและในตัวเรา เช่นเดียวกับในชนทุกชาติและในมนุษย์แต่ละคน
2859 ในคำวอนขอข้อสอง พระศาสนจักรคิดถึงการเสด็จกลับมาของพระคริสตเจ้าและโดยเฉพาะการที่พระอาณาจักรของพระเจ้าจะมาถึงในวาระสุดท้าย พระศาสนจักรยังวอนขอให้พระอาณาจักรของพระเจ้าได้เติบโตขึ้น “วันนี้” ในชีวิตของเราด้วย
2860 ในคำวอนขอข้อสาม เราวอนขอพระบิดาของเราให้ทรงรวมความปรารถนาของเราเข้ากับพระประสงค์ของพระบุตรที่ทรงประสงค์ให้แผนการของพระบิดาที่จะให้มนุษย์ทุกคนได้รับความรอดพ้นสำเร็จไปในชีวิตของโลก
2861 ในคำวอนขอข้อสี่ เมื่อกล่าวว่า “โปรดประทาน...แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย” เรามีความสัมพันธ์ร่วมกับเพื่อนพี่น้องของเรา แสดงความไว้วางใจของเราเยี่ยงบุตรต่อพระบิดาในสวรรค์ “อาหาร(ของเรา)” หมายถึงอาหารหล่อเลี้ยงชีวิตของเราในโลกนี้เพื่อทุกคนจะได้มีอาหารที่จำเป็นเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิต และยังหมายถึงอาหารที่จำเป็นสำหรับชีวิต คือพระวาจาของพระเจ้าและพระวรกายของพระคริสตเจ้า (ในศีลมหาสนิท) ด้วย เราต้องรับอาหารนี้ “ประจำวัน” ใน “วันนี้” ของพระเจ้า เป็นอาหารที่จำเป็นอย่างยิ่ง จากงานเลี้ยงในพระอาณาจักรสวรรค์ ที่ศีลมหาสนิทเป็นการเกริ่นล่วงหน้าถึงงานเลี้ยงนี้
2862 คำวอนขอข้อห้าวอนขอพระกรุณาของพระเจ้าสำหรับความผิดที่เราได้ทำ พระกรุณานี้ไม่อาจเข้าไปในใจของเราได้นอกจากว่าเราได้เรียนรู้ที่จะให้อภัยแก่ศัตรูของเราตามพระฉบับแบบของพระคริสตเจ้าและได้รับความช่วยเหลือจากพระองค์เสียก่อน
2863 เมื่อกล่าวว่า “โปรดช่วยข้าพเจ้าไม่ให้แพ้การผจญ” (หรือตามตัวอักษรว่า “อย่านำข้าพเจ้าทั้งหลายเข้าไปในการผจญ”) เราวอนขอพระเจ้าอย่าปล่อยให้เราเข้าไปในหนทางที่จะนำไปหาบาป คำวอนขอข้อนี้ขอให้เรามีจิตที่รู้จักแยกแยะและทรงพลัง วอนขอพระหรรษทานที่จะระวังตัวและยืนหยัดมั่นคงจนถึงที่สุด
2864 ในคำวอนขอข้อสุดท้าย “แต่โปรดช่วยให้พ้นจากความชั่วร้ายเทอญ” คริสตชนวอนขอพระเจ้าพร้อมกับพระศาสนจักรให้ชัยชนะที่พระคริสตเจ้าทรงได้รับมาแล้ว “ต่อเจ้าแห่งโลกนี้” คือจากปีศาจ ทูตสวรรค์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพระเจ้าโดยตรงและต่อแผนงานความรอดพ้นของพระองค์นั้น ได้เป็นที่ปรากฏอย่างชัดเจน
2865 โดยคำสุดท้าย “อาเมน” เราแสดงความปรารถนา “ขอให้เป็นเช่นนี้” ต่อคำวอนขอของเราทั้งเจ็ดข้อว่า “สาธุ – ขอให้เป็นเช่นนี้เทอญ”
[151] เทียบ วว 1:6; 4:11; 5:13.
[152] เทียบ ลก 4:5-6.
[153] เทียบ 1 คร 15:24-28.
[154] เทียบ ลก 1:38.
[155] Sanctus Cyrillus Hierosolymitanus, Catecheses mystagogicae, 5, 18: SC 126, 168 (PG 33, 1124).