บทที่สอง
การประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์
เฉลิมฉลองพระธรรมล้ำลึกปัสกา
1135 คำสอนเรื่องพิธีกรรมกล่าวถึงความเข้าใจเรื่องระเบียบการเกี่ยวกับศีลศักดิ์สิทธิ์เป็นส่วนใหญ่ (บทที่หนึ่ง) จากความเข้าใจนี้เราจะเห็นความใหม่ของการประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้น ในบทนี้จะกล่าวถึงการประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักร เราจะพิจารณาสิ่งที่เป็นองค์ประกอบร่วมกันในการประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ทั้งเจ็ดประการในธรรมประเพณีต่างๆ ที่ไม่เหมือนกันด้านพิธีกรรม ส่วนเรื่ององค์ประกอบเฉพาะของธรรมประเพณีเหล่านี้จะได้รับคำอธิบายในโอกาสต่อไป คำสอนพื้นฐานเกี่ยวกับการประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์นี้จะตอบคำถามแรกๆ ที่บรรดาผู้มีความเชื่อมักจะตั้งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้แก่
- ใครประกอบพิธี
- ประกอบพิธีอย่างไร
- ประกอบพิธีเมื่อไร
- ประกอบพิธีที่ไหน
ตอนที่หนึ่ง
การประกอบพิธีกรรมของพระศาสนจักร
I. ใครประกอบพิธี
I. ใครประกอบพิธี
1136 พิธีกรรมเป็น “กิจกรรม” ของพระคริสตเจ้าทั้งองค์ บรรดาผู้ประกอบพิธีในขณะนี้โดยไม่ใช้เครื่องหมายนั้นอยู่ในพิธีกรรมของสวรรค์แล้ว ที่นั่นเป็นการประกอบพิธีและการเฉลิมฉลองร่วมกันอย่างสมบูรณ์
ผู้ประกอบพิธีกรรมในสวรรค์
1137 หนังสือวิวรณ์ของนักบุญยอห์นที่อ่านในพิธีกรรมของพระศาสนจักร ก่อนอื่นเปิดเผยให้เราเห็นพระบัลลังก์องค์หนึ่งตั้งไว้ในสวรรค์และผู้ประทับอยู่บนพระบัลลังก์นั้น[1] คือ “องค์พระผู้เป็นเจ้า” (อสย 6:1)[2] แล้วจึงเห็น “ลูกแกะยืนอยู่ทั้งๆ ที่ถูกประหารชีวิตแล้ว” (วว 5:6)[3] พระคริสตเจ้าผู้ทรงถูกตรึงกางเขนและกลับคืนพระชนมชีพแล้ว พระมหาสมณะหนึ่งเดียวของกระโจมแท้จริง[4] ทรงเป็นพระองค์เดียวที่ทรงเป็น “ทั้งผู้ถวายและถูกถวาย ผู้รับและผู้ให้”[5] ในที่สุด เรายังเห็น “แม่น้ำแห่งชีวิต […] ไหลจากพระบัลลังก์ของพระเจ้าและของลูกแกะ” (วว 22:1) เป็นหนึ่งในเครื่องหมายงดงามที่สุดของพระจิตเจ้า[6]
1138 ในพระคริสตเจ้า “ผู้ที่ได้รับการฟื้นฟูใหม่” มีส่วนในศาสนบริการถวายเกียรติแด่พระเจ้าและทำให้แผนการไถ่กู้ของพระองค์สำเร็จสมบูรณ์ อำนาจต่างๆ ในสวรรค์[7] สิ่งสร้างทั้งมวล (ผู้มีชีวิตสี่ตน) บรรดาผู้รับใช้พันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่ (ผู้อาวุโสยี่สิบสี่คน) ประชากรใหม่ของพระเจ้า (ผู้ได้รับการประทับตราจำนวนหนึ่งแสนสี่หมื่นสี่พันคน)[8] โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดามรณสักขีที่ถูกประหารชีวิต “เพราะพระวาจาของพระเจ้า” (วว 6:9) และพระมารดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระเจ้า (สตรี[9] เจ้าสาวของลูกแกะ[10]) ในที่สุด “ประชาชนมากมายเหลือคณานับจากทุกชาติทุกเผ่า ทุกประเทศและทุกภาษา” (วว 7:9)
1139 เมื่อเราประกอบพิธีเฉลิมฉลองพระธรรมล้ำลึกแห่งความรอดพ้นในศีลศักดิ์สิทธิ์ พระจิตเจ้าและพระศาสนจักรก็บันดาลให้เรามีส่วนร่วมพิธีกรรมนิรันดรนี้
ผู้ประกอบพิธีกรรมศีลศักดิ์สิทธิ์
1140 ชุมชนทั้งหมด ซึ่งรวมกับศีรษะเป็นพระวรกายของพระคริสตเจ้า เป็นผู้ประกอบพิธี “พิธีกรรมไม่ใช่กิจการของแต่ละคนเป็นส่วนตัว แต่เป็นการเฉลิมฉลองของพระศาสนจักร ซึ่งเป็น ‘เครื่องหมายแสดงเอกภาพ’ กล่าวคือ ประชากรศักดิ์สิทธิ์ที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียว และอยู่ใต้ปกครองของบรรดาพระสังฆราช ดังนั้น พิธีกรรมจึงเป็นกิจกรรมของพระศาสนจักรทั้งหมดที่รวมกันเป็นพระกายทิพย์ แสดงให้เห็นและก่อให้เกิดพระกายนี้ แต่สมาชิกแต่ละคนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมนี้โดยวิธีการ สถานภาพ หน้าที่ และการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในรูปแบบต่างๆ”[11] และเพราะเหตุนี้ “ทุกครั้งที่พิธีต่างๆ ตามลักษณะเฉพาะของแต่ละพิธี เรียกร้องให้มีการเฉลิมฉลองส่วนรวม โดยที่สัตบุรุษทุกคนมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน จึงต้องย้ำเท่าที่ทำได้ว่า การฉลองแบบนี้ดีกว่าการเฉลิมฉลองเป็นเอกเทศซึ่งเป็นกิจกรรมส่วนตัว”[12]
1141 ชุมชนที่ประกอบพิธีกรรมเป็นชุมชนของผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้ว ซึ่ง “เดชะการเกิดใหม่และการเจิมของพระจิตเจ้าได้รับเจิมถวายเป็นวิหารของพระจิตเจ้า เป็นสมณตระกูลศักดิ์สิทธิ์ เพื่อถวายการงานทุกอย่างของคริสตชนเป็นเครื่องบูชาฝ่ายจิต”[13] “สมณภาพสามัญ” เป็นสมณภาพของพระคริสตเจ้า พระสมณะเพียงพระองค์เดียว ที่อวัยวะทุกส่วนของพระวรกายของพระองค์มีส่วนร่วมด้วย[14]
“พระศาสนจักรผู้เป็นมารดา ปรารถนาอย่างยิ่งที่บรรดาผู้มีความเชื่อจะได้รับการแนะนำให้มีส่วนร่วมประกอบพิธีกรรมอย่างเต็มที่ โดยมีความรู้และอย่างแข็งขัน ธรรมชาติของพิธีกรรมเองก็เรียกร้องให้ทำเช่นนี้ และประชากรคริสตชนในฐานะที่เป็น “ชาติที่ทรงเลือกสรรไว้ เป็นสมณราชตระกูล เป็นชนชาติศักดิ์สิทธิ์ เป็นประชากรที่เป็นกรรมสิทธิ์พิเศษของพระเจ้า” (1 ปต 2:9)[15] ก็มีสิทธิและหน้าที่อาศัยศีลล้างบาปที่จะทำเช่นนี้”[16]
1142 “สมาชิก(ของพระศาสนจักร)ทุกคนไม่มีหน้าที่เดียวกัน” (เทียบ รม 12:4) สมาชิกบางคนได้รับเรียกจากพระเจ้าในพระศาสนจักรและโดยพระศาสนจักรให้ทำหน้าที่พิเศษรับใช้ชุมชน ศาสนบริกรเหล่านี้ได้รับเลือกและเจิมถวายโดยศีลบวชที่พระจิตเจ้าทรงบันดาลให้เขาเหล่านี้เหมาะที่จะปฏิบัติงานในพระบุคคลของพระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นศีรษะเพื่อรับใช้สมาชิกทุกคนของพระศาสนจักร[17] ศาสนบริกรที่ได้รับศีลบวชเป็นเสมือน “ภาพวาด (icon)” ของพระคริสตเจ้าพระสมณะ เนื่องจากว่า “ศีลศักดิ์สิทธิ์” ของพระศาสนจักรปรากฏชัดอย่างสมบูรณ์ในพิธีบูชาขอบพระคุณ โดยเฉพาะศาสนบริการของพระสังฆราชปรากฏชัดในการเป็นประธานพิธีบูชาขอบพระคุณ และศาสนบริการของบรรดาพระสงฆ์และสังฆานุกรในสัมพันธภาพกับพระสังฆราชด้วย
1143 ยังมีศาสนบริการเฉพาะอื่นๆ ที่ไม่ได้รับการเจิมถวายโดยศีลบวชเพื่อรับใช้บทบาทของสมณภาพสามัญของบรรดาผู้มีความเชื่ออีกด้วย พระสังฆราชเป็นผู้กำหนดบทบาทของเขาเหล่านี้ตามธรรมประเพณีพิธีกรรมและความจำเป็นในงานอภิบาล “ผู้ช่วยพิธี ผู้อ่าน ผู้อธิบายพิธี และคณะนักขับร้อง ต่างมีส่วนในพิธีกรรมอย่างแท้จริงด้วย”[18]
1144 ดังนั้น ในการประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ ชุมชนทั้งหมดจึงเป็น “ผู้ประกอบพิธีกรรม” แต่ละคนปฏิบัติตามบทบาทของตน แต่ก็ “รวมเป็นหนึ่งเดียวในพระจิตเจ้า” ซึ่งทรงทำงานในทุกคน “ในพิธีกรรม แต่ละคน ทั้งศาสนบริกรและสัตบุรุษผู้มีหน้าที่ ต้องทำเฉพาะหน้าที่นั้นทั้งหมดซึ่งเป็นของตน ตามลักษณะของพิธีและตามกฎของพิธีกรรม”[19]
[1] เทียบ วว 4:2.
[2] เทียบ อสค 1:26-28.
[3] เทียบ ยน 1:29.
[4] เทียบ ฮบ 4:14-15; 10:19-20; ฯลฯ
[5] Liturgia Byzantina. Anaphora Iohannis Chrysostomi: F.E. Brithtman, Liturgies Eastern and Western (Oxford 1896) p. 378 (PG 63, 913)
[6] เทียบ ยน 4:10-14; วว 21:6.
[7] เทียบ วว บทที่ 4-5; อสย 6:2-3.
[8] เทียบ วว 7:1-8; 14:1.
[9] เทียบ วว 12
[10] เทียบ วว 21:9.
[11] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 26: AAS 56 (1964) 107.
[12] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 27: AAS 56 (1964) 107.
[13] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 10: AAS 57 (1965) 14.
[14] Cf. Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 10: AAS 57 (1965) 14; Ibid., 34: AAS 5 (1965) 40; Id., Decr. Presbyterorum ordinis, 2: AAS 58 (1966) 991-992.
[15] เทียบ 1 ปต 2:4-5.
[16] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 14: AAS 56 (1964) 104.
[17] Concilium Vaticanum II, Decr. Presbyterorum ordinis, 2: AAS 58 (1966) 992; Ibid., 15: AAS 58 (1966) 1014.
[18] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 29: AAS 56 (1964) 107.
[19] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 28: AAS 56 (1964) 107.
II. จะต้องประกอบพิธีกรรมอย่างไร
II. จะต้องประกอบพิธีกรรมอย่างไร
เครื่องหมายและสัญลักษณ์
1145 การประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ประกอบด้วยเครื่องหมายและสัญลักษณ์ต่างๆ ตามวิธีการที่พระเจ้าทรงสั่งสอนมนุษย์เกี่ยวกับความรอดพ้น ความหมายของเครื่องหมายและสัญลักษณ์เหล่านี้สืบเนื่องมาจากงานเนรมิตสร้างและวัฒนธรรมของมนุษย์ ถูกกำหนดโดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพันธสัญญาเดิม และได้รับการเปิดเผยโดยสมบูรณ์ในพระบุคคลและพระภารกิจการงานของพระคริสตเจ้า
1146 เครื่องหมายของโลกมนุษย์ เครื่องหมายและสัญลักษณ์ต่างๆ มีความสำคัญมากในชีวิตมนุษย์ มนุษย์ซึ่งประกอบด้วยร่างกายและจิตในเวลาเดียวกันแสดงออกและรับรู้ความเป็นจริงที่เป็นจิตโดยทางเครื่องหมายและสัญลักษณ์ ในฐานะที่เป็น “สัต” สังคม มนุษย์ต้องการเครื่องหมายและสัญลักษณ์เพื่อสื่อกับผู้อื่น เช่น โดยคำพูด ท่าทาง และกิจการต่างๆ เรื่องนี้จึงเกิดขึ้นเมื่อเขาต้องมีความสัมพันธ์กับพระเจ้าด้วย
1147 พระเจ้าทรงใช้สิ่งสร้างที่เราแลเห็นได้เมื่อตรัสกับมนุษย์ โลกจักรวาลที่เป็นวัตถุแสดงตนให้มนุษย์เข้าใจว่าตนอาจแลเห็นร่องรอยของพระผู้สร้างได้ในโลกนี้[20] แสงสว่างและความมืด ลมและไฟ น้ำและแผ่นดิน ต้นไม้และผลไม้ล้วนกล่าวถึงพระเจ้าและเป็นสัญลักษณ์แสดงความยิ่งใหญ่และความใกล้ชิดของพระองค์ให้แก่เราในเวลาเดียวกันด้วย
1148 สิ่งต่างๆ ที่เราสัมผัสได้นี้ ในฐานะสิ่งสร้าง อาจเป็นอุปกรณ์แสดงถึงกิจการของพระเจ้าผู้ทรงบันดาลความศักดิ์สิทธิ์แก่มนุษย์ และแสดงถึงกิจการของมนุษย์ผู้กำลังถวายคารวกิจแด่พระเจ้า สิ่งเดียวกันนี้เกิดขึ้นโดยเครื่องหมายและสัญลักษณ์ในชีวิตสังคมของมนุษย์ การล้างและเจิม การบิขนมปังและร่วมดื่มจากถ้วยเดียวกันอาจหมายถึงการประทับอยู่ของพระเจ้าที่บันดาลความศักดิ์สิทธิ์แก่เรา และหมายถึงการขอบพระคุณของมนุษย์ต่อพระผู้สร้างของตน
1149 ศาสนาสำคัญๆ ของมนุษยชาติเป็นพยาน และบ่อยๆ ด้วยวิธีการที่น่าประทับใจ ถึงความหมายที่เป็นสากลและสัญลักษณ์ของจารีตพิธีต่างๆ ทางศาสนา พิธีกรรมของพระศาสนจักรเห็นด้วยกับองค์ประกอบต่างๆ ของสิ่งสร้างและวัฒนธรรมของมนุษย์ ยอมรับและบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ ทำให้องค์ประกอบเหล่านี้มีศักดิ์ศรีหมายถึงพระหรรษทานและการเนรมิตสร้างขึ้นใหม่ในพระเยซูคริสตเจ้า
1150 เครื่องหมายของพันธสัญญา ประชากรที่พระเจ้าทรงเลือกสรรได้รับสัญลักษณ์พิเศษที่เป็นลักษณะเฉพาะหมายถึงชีวิตด้านพิธีกรรมของเขา พิธีกรรมเหล่านี้จึงไม่เป็นเพียงการฉลองวัฏจักรของจักรภพและเหตุการณ์ทางสังคม แต่เป็นเครื่องหมายของพันธสัญญา เป็นสัญลักษณ์ถึงพระราชกิจยิ่งใหญ่ที่พระเจ้าทรงกระทำเพื่อประชากรของพระองค์ ในบรรดาเครื่องหมายด้านพิธีกรรมเหล่านี้ของพันธสัญญาเดิมเราอาจคิดถึงพิธีสุหนัต การเจิมและมอบถวายบรรดากษัตริย์และสมณะ การปกมือ การถวายบูชา และโดยเฉพาะการฉลองปัสกา พระศาสนจักรมองเห็นการเกริ่นล่วงหน้าถึงศีลศักดิ์สิทธิ์ของพันธสัญญาใหม่ในเครื่องหมายเหล่านี้
1151 เครื่องหมายที่พระคริสตเจ้าทรงรับมา พระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงใช้สิ่งสร้างเป็นเครื่องหมายเพื่อทรงสอนพระธรรมล้ำลึกเรื่องพระอาณาจักรของพระเจ้า[21] ทรงใช้วัตถุหรือการกระทำแบบสัญลักษณ์เป็นเครื่องหมายเมื่อทรงรักษาโรคหรือเทศน์สอน[22] พระองค์ทรงให้ความหมายใหม่แก่เหตุการณ์และเครื่องหมายต่างๆ ในพันธสัญญาเดิม โดยเฉพาะการอพยพและฉลองปัสกา[23] เพราะพระองค์ทรงเป็นความหมายของเครื่องหมายเหล่านี้ทั้งหมด
1152 เครื่องหมายของศีลศักดิ์สิทธิ์ หลังจากวันเปนเตกอสเต พระจิตเจ้าทรงใช้เครื่องหมายของศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ทำงานบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ ศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ของพระศาสนจักรไม่ยกเลิก แต่ชำระและเชื่อมคุณค่าของเครื่องหมายและสัญลักษณ์ต่างๆ ในโลกวัตถุและชีวิตสังคมเข้าไว้ด้วยกันอย่างสมบูรณ์ นอกจากนั้นยังทำให้รูปแบบและภาพต่างๆ ของพันธสัญญาเดิมสำเร็จไป หมายถึงและบันดาลความรอดพ้นที่พระคริสตเจ้าทรงบันดาลให้สำเร็จและทรงหมายล่วงหน้าและเกริ่นถึงสิริรุ่งโรจน์ในสวรรค์ไว้แล้ว
ถ้อยคำและการกระทำ
1153 การประกอบพิธีกรรมศีลศักดิ์สิทธิ์เป็นการพบกันระหว่างบุตรของพระเจ้ากับพระบิดาในพระคริสตเจ้าและพระจิตเจ้า และการพบกันนี้แสดงให้เห็นเป็นเสมือนการสนทนากันผ่านทางการกระทำและคำพูด การกระทำที่เป็นสัญลักษณ์เองก็เป็นเสมือนการพูดอย่างหนึ่งด้วย แต่จำเป็นต้องมีพระวาจาของพระเจ้าและการตอบรับด้วยความเชื่อควบคู่ไปกับการ กระทำและทำให้การ กระทำนั้นมีชีวิต เพื่อให้เมล็ดพืชของพระอาณาจักรผลิตผลในเนื้อดินที่ดี การกระทำในพิธีกรรมแสดงความหมายของสิ่งที่พระวาจาของพระเจ้ากล่าวถึง ได้แก่การริเริ่มที่พระเจ้าประทานให้เราเปล่าๆ พร้อมกับการที่ประชากรของพระองค์ตอบสนองด้วยความเชื่อ
1154 วจนพิธีกรรมเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ของการประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ เราต้องเน้นความสำคัญของพระวาจาของพระเจ้าเพื่อหล่อเลี้ยงความเชื่อของบรรดาคริสตชน ให้ความสำคัญแก่หนังสือพระวาจาของพระเจ้า (หนังสือบทอ่านและพระวรสาร) สถานที่ประกาศพระวาจา (บรรณฐาน)การอ่านพระวาจาอย่างชัดเจนให้เข้าใจได้ง่าย การเทศน์อธิบายพระวาจาซึ่งเป็นการยืดเวลาการประกาศพระวาจา การตอบรับของชุมชน (การส่งเสียงโห่ร้องตอบรับ เพลงสดุดีที่ช่วยให้คิดคำนึงถึงพระวาจา บทร่ำวิงวอน การประกาศแสดงความเชื่อ)
1155 พระวาจาและการกระทำในพิธีกรรมแยกกันไม่ได้ในฐานะที่เป็นเครื่องหมายและคำสั่งสอน และยังแยกกันไม่ได้ในฐานะที่ทั้งสองสิ่งทำให้เกิดผลตามที่หมายถึง พระจิตเจ้าไม่เพียงแต่ประทานความเข้าใจปลุกความเชื่อ พระองค์ยังทรงใช้ศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เพื่อทรงบันดาลให้ “กิจการน่าพิศวง” ของพระเจ้าที่พระวาจาประกาศนั้นเป็นความจริง ทรงทำให้พระราชกิจของพระบิดาซึ่งพระบุตรที่ทรงรักทรงปฏิบัตินั้นเป็นปัจจุบันและบังเกิดผลแก่เรา
การขับร้องและดนตรี
1156 “ประเพณีการใช้ดนตรีในพระศาสนจักรสากล เป็นขุมทรัพย์ล้ำค่าสุดจะประมาณได้ ประเสริฐกว่าศิลปะแบบอื่นใด ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าการขับร้องบทเพลงศักดิ์สิทธิ์ซึ่งประสานเป็นหนึ่งเดียวกับถ้อยคำ เป็นส่วนประกอบที่จำเป็นของพิธีกรรมอย่างสง่า”[24] การแต่งทำนองและขับร้องเพลงสดุดีที่ได้รับการดลใจซึ่งบ่อยๆ ขับร้องคลอกับเครื่องดนตรีนั้นควบคู่กันอย่างใกล้ชิดมาแล้วตั้งแต่ในการประกอบพิธีกรรมของพันธสัญญาเดิม พระศาสนจักรสืบต่อธรรมประเพณีนี้ต่อมาและพัฒนาขึ้น “จงร่วมใจกันขับร้องเพลงสดุดี เพลงสรรเสริญและบทเพลงศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ จงขับร้องสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้าจากจิตใจ” (อฟ 5:19)[25] ผู้ที่ขับร้อง ก็อธิษฐานภาวนาสองครั้ง[26]
1157 การขับร้องและดนตรีทำหน้าที่เป็นเครื่องหมายอย่างมีความหมายมากยิ่งขึ้นตามส่วนที่ “ดนตรีศาสนามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับการประกอบพิธีกรรม”[27] ตามมาตรการสำคัญสามประการต่อไปนี้ คือ ความงดงามในการแสดงคำอธิษฐานออกมา การมีส่วนร่วมพิธีกรรมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชุมชนในเวลาที่กำหนดไว้ และความสง่างามของการประกอบพิธี ดังนั้นการขับร้องและดนตรีจึงมีจุดประสงค์ร่วมกับพระวาจาและจารีตพิธีต่างๆ คือเพื่อ พระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าและการบันดาลความศักดิ์สิทธิ์แก่ผู้มีความเชื่อ[28]
“ข้าพเจ้าได้ร่ำไห้อย่างมากเพราะความสะเทือนใจอย่างรุนแรงเมื่อได้ยินเสียงเพลงสรรเสริญและบทขับร้องที่พระศาสนจักรของพระองค์บรรเลงอย่างไพเราะ เสียงเหล่านั้นเข้าไปในหูและความจริงค่อยๆซึมซาบเข้าไปในใจข้าพเจ้า แล้วความรู้สึกศรัทธาก็ค่อยๆ อุ่นขึ้น น้ำตาเริ่มไหลออกมาและทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกสบายใจขึ้น”[29]
1158 ความกลมกลืนกันของเครื่องหมายต่างๆ (บทเพลง ดนตรี ถ้อยคำและการกระทำ) ยิ่งมีความหมายและมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้นเมื่อแสดงออกในความหลากหลายทางวัฒนธรรมเฉพาะตนของประชากรของพระเจ้าที่กำลังประกอบพิธีนั้น[30] ดังนั้น จึง “ควรเอาใจใส่ส่งเสริมบทเพลงศักดิ์สิทธิ์แบบชาวบ้าน เพื่อช่วยให้สัตบุรุษร่วมขับร้องได้ทั้งในกิจศรัทธาทั่วไปและเมื่อประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ตามกฎเกณฑ์และข้อบังคับของจารีตพิธี”[31] กระนั้นก็ดี “ข้อความที่ใช้ในบทเพลงศักดิ์สิทธิ์ต้องสอดคล้องกับคำสอนคาทอลิก ยิ่งกว่านั้น ควรเป็นข้อความที่คัดมาจากพระคัมภีร์หรือจากแหล่งข้อมูลทางพิธีกรรม”[32]
รูปภาพศักดิ์สิทธิ์
1159 รูปภาพศักดิ์สิทธิ์ ภาพวาด (icon) เกี่ยวกับพิธีกรรม แสดงให้เห็นพระคริสตเจ้าเป็นพิเศษ รูปภาพไม่อาจแสดงให้เห็นพระเจ้าที่เราแลเห็นและเข้าใจถึงไม่ได้ การรับสภาพมนุษย์ของพระบุตรพระเจ้าก็ได้เริ่ม “ระบบ” การใช้รูปภาพ
“แต่ก่อนนั้น เนื่องจากพระเจ้าซึ่งไม่มีร่างกายและรูปร่าง จึงไม่อาจใช้รูปภาพแสดงถึงพระองค์ได้เลย แต่เดี๋ยวนี้ หลังจากที่เราเห็นพระเจ้าในสภาพมนุษย์ และพระองค์มาประทับอยู่กับมนุษย์แล้ว ข้าพเจ้าจึงอาจวาดภาพของพระเจ้าในแบบที่พระองค์ทรงแสดงพระองค์ให้เราเห็นได้ […] และเมื่อทรงเปิดเผยพระพักตร์แล้ว เราก็ชมพระสิริรุ่งโรจน์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า”[33]
1160 ศิลปะการวาดภาพในคริสตศาสนาใช้รูปภาพเพื่อสื่อข่าวของพระวรสารที่พระคัมภีร์ใช้ถ้อยคำถ่ายทอดต่อกันมา รูปภาพและถ้อยคำอธิบายกันและกัน
“พูดสั้นๆ เรารักษาธรรมประเพณีต่างๆ ของพระศาสนจักรไว้ครบถ้วนทั้งที่เขียนกำหนดไว้และไม่ได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร ธรรมประเพณีหนึ่งก็คือศิลปะการวาดภาพซึ่งสอดคล้องกับการประกาศสอนเรื่องที่เล่าไว้ในพระวรสาร เพื่อยืนยันความจริงเรื่องการรับสภาพมนุษย์ของพระวจนาตถ์ว่าไม่ใช่การเพ้อฝัน และเพื่อประโยชน์ของเราด้วย เพราะสิ่งที่แสดงถึงกันก็ย่อมสะท้อนความหมายของกันและกันด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย”[34]
1161 เครื่องหมายทุกอย่างในการประกอบพิธีกรรมล้วนมีความสัมพันธ์กับพระคริสตเจ้า แม้กระทั่งรูปภาพศักดิ์สิทธิ์ของพระมารดาของพระเจ้าและบรรดานักบุญ รูปภาพเหล่านี้โดยแท้จริงแล้วหมายถึงพระคริสตเจ้าซึ่งทรงพระสิริรุ่งโรจน์ในท่านเหล่านี้ รูปภาพเหล่านี้แสดงถึง “พยานจำนวนมากที่ห้อมล้อมอยู่” (ฮบ 12:1) และยังคงมีส่วนร่วมในความรอดพ้นของโลกและพวกเราก็ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับท่านโดยเฉพาะในการประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ด้วย ผ่านทางรูปภาพของท่านเหล่านี้ มนุษย์ที่เป็น “ภาพของพระเจ้า” แล้วในที่สุดจะเปลี่ยนเป็น “ภาพเหมือนของพระองค์”[35] ตามที่ความเชื่อเปิดเผยให้ทราบ และทางรูปภาพเหล่านี้ บรรดาทูตสวรรค์เองก็มารวมกันอยู่ใต้ปกครองของพระคริสตเจ้าด้วย
“เรามีความเห็นตามคำสั่งสอนของบรรดาปิตาจารย์ที่ได้รับการดลใจจากพระเจ้า และตามธรรมประเพณีของพระศาสนจักรคาทอลิก (เรารู้ว่าธรรมประเพณีนี้เป็นของพระจิตเจ้าผู้ประทับอยู่ในพระศาสนจักร) จึงกำหนดอย่างมั่นใจในความถูกต้องเสนอแนะว่า ควรตั้งรูปภาพของพระเจ้าและพระเยซูคริสตเจ้าพระผู้ไถ่กู้ของเรา รวมทั้งรูปภาพของพระนางพรหมจารีผู้นิรมล พระมารดาของพระเจ้า รูปภาพของบรรดาทูตสวรรค์และบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ทั้งที่วาดด้วยสีและที่ทำขึ้นจากชิ้นหินสีต่างๆ (ภาพโมเสค)
ไว้ในโบสถ์ศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า บนภาชนะและอาภรณ์ศักดิ์สิทธิ์ บนฝาผนัง ตามบ้านและตามถนนต่างๆ เพื่อรับความเคารพเช่นเดียวกับรูปภาพของไม้กางเขนประเสริฐที่นำความรอดพ้นมาให้เราด้วย”[36]
1162 “ความงดงามและสีต่างๆ ของรูปภาพปลุกเร้าคำอธิษฐานภาวนาของข้าพเจ้า รูปภาพของดอกไม้ชวนมอง เช่นเดียวกับทุ่งหญ้าน่ามองและค่อยๆ ทำให้พระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าซึมซาบเข้าไปในใจ”[37] การเพ่งดูภาพวาดศักดิ์สิทธิ์พร้อมกับการคิดคำนึงถึงพระวาจาของพระเจ้าและการขับร้องบทเพลงสรรเสริญในพิธีกรรมช่วยทำให้เครื่องหมายต่างๆ ในการประกอบพิธีมีความกลมกลืนกันเพื่อทำให้พระธรรมล้ำลึกที่เรากำลังเฉลิมฉลองนั้นประทับแน่นในความทรงจำแล้วจึงแสดงออกในชีวิตใหม่ของบรรดาผู้มีความเชื่อ
[20] เทียบ ปชญ 13:1; รม 1:19-20; กจ 14:17.
[21] เทียบ ลก 8:10.
[22] เทียบ ยน 9:6; มก 7:33-35; 8:22-25.
[23] เทียบ ลก 9:31; 22:7-20.
[24] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 112: AAS 56 (1964) 128.
[25] เทียบ คส 3:16-17.
[26] Cf. Sanctus Augustinus, Enarratio in Psalmum 72, 1: CCL 39, 986 (PL 36, 914).
[27] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 112: AAS 56 (1964) 128.
[28] Cf. Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 112: AAS 56 (1964) 128.
[29] Sanctus Augustinus, Confessiones 9, 6, 14: CCL 27, 141 (PL 32, 769-770).
[30] Cf. Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 119: AAS 56 (1964) 129-130.
[31] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 118: AAS 56 (1964) 129.
[32] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 121: AAS 56 (1964) 130.
[33] Sanctus Iohannes Damascenus, De sacris imaginibus oratio 1, 16 : PTS 17, 89 et 92 (PG 94, 1245 et 1248).
[34] Concilium Nicaenum II (anno 787), Terminus: COD p. 135.
[35] เทียบ รม 8:29; 1 ยน 3:2.
[36] Concilium Nicaenum II, Definitio de sacris imaginibus: DS 600.
[37] Sanctus Iohannes Damascenus, De sacris imaginibus oratio 1, 47 : PTS 17, 151 (PG 94,1268).
III. ต้องประกอบพิธีกรรมเมื่อไร
III. ต้องประกอบพิธีกรรมเมื่อไร
เทศกาลทางพิธีกรรม
1163 “พระศาสนจักรมารดาศักดิ์สิทธิ์ถือว่าตนมีหน้าที่จะต้องเฉลิมฉลองระลึกถึงงานช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นของพระคริสตเจ้า ผู้เป็นทรงเป็นเสมือนเจ้าบ่าวของตน ในวันที่กำหนดไว้ระหว่างปี ดังนั้น ทุกสัปดาห์ในวันที่เรียกว่า “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า” พระศาสนจักรจึงรำลึกถึงการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า ซึ่งพระศาสนจักรยังเฉลิมฉลองพร้อมกับการทรงรับทรมานของพระองค์อีกปีละครั้งในวันสมโภชปัสกา พระศาสนจักรยังนำพระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้ามาตีแผ่ตลอดเวลาทั้งปี […] พระศาสนจักรระลึกถึงพระธรรมล้ำลึกการไถ่กู้เช่นนี้ เพื่อเปิดให้ผู้มีความเชื่อได้รับผลกิจการช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นและพระบารมีขององค์พระผู้เป็นเจ้าซึ่งเป็นเสมือนขุมทรัพย์ล้ำค่า และทำให้ขุมทรัพย์เหล่านี้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ เขาจะได้รับสัมผัสและรับพระหรรษทานที่ช่วยให้รอดพ้นอย่างเต็มเปี่ยม”[38]
1164 นับตั้งแต่สมัยธรรมบัญญัติของโมเสสแล้ว ประชากรของพระเจ้ารู้จักวันฉลองต่างๆ ที่กำหนดไว้ตายตัว เริ่มตั้งแต่ฉลองปัสกา เพื่อระลึกถึงกิจการน่าพิศวงต่างๆ ของพระเจ้าพระผู้ไถ่กู้ เพื่อจะได้ขอบพระคุณพระองค์สำหรับกิจการเหล่านี้ จะได้จดจำไว้และสั่งสอนอนุชนรุ่นใหม่ให้ดำเนินชีวิตสอดคล้องกับเหตุการณ์เหล่านี้ ในสมัยของพระศาสนจักร ซึ่งอยู่ระหว่างปัสกาของพระคริสตเจ้าที่สำเร็จสำหรับตลอดไปแล้วกับความสำเร็จสมบูรณ์ของปัสกานี้ในพระอาณาจักรของพระเจ้า พิธีกรรมที่ประกอบในวันต่างๆ ที่กำหนดไว้ก็มีลักษณะความใหม่ของพระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม
1165 เมื่อพระศาสนจักรเฉลิมฉลองพระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้า มีคำหนึ่งที่เน้นคำอธิษฐานภาวนา คือคำว่า “วันนี้” คำภาวนาที่สะท้อนบทภาวนาที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงสอนไว้[39] และสะท้อนการเชื้อเชิญของพระจิตเจ้า[40] คำว่า “วันนี้” นี้ของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์ที่เชิญมนุษย์ให้เข้าไปก็คือ “เวลา” แห่งปัสกาของพระเยซูเจ้าผู้ทรงอยู่เหนือกาลเวลาและทรงนำประวัติศาสตร์
“ชีวิตเปิดอยู่สำหรับทุกสิ่ง และทุกสิ่งเต็มไปด้วยแสงสว่างนิรันดร ตะวันออกแห่งตะวันออกปกคลุมจักรวาล และพระองค์ผู้ทรงถือกำเนิดก่อนดาวประจำรุ่ง พระคริสตเจ้าผู้ทรงอมตและยิ่งใหญ่ทรงส่องแสงเหนือจักรวาลมากกว่าดวงอาทิตย์ ดังนั้นวันยาวนาน นิรันดรและไม่มีวันดับจึงเป็นวันเจิดจ้าสำหรับเราผู้เชื่อในพระองค์ เป็นปัสกาล้ำลึก”[41]
วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า
1166 “ตามธรรมประเพณีที่สืบเนื่องมาจากอัครสาวก และมีต้นกำเนิดจากวันที่พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพ พระศาสนจักรเฉลิมฉลองพระธรรมล้ำลึกปัสกาทุกวันที่แปด ซึ่งเรียกได้อย่างถูกต้องว่า ‘วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า’ หรือ ‘วันพระ’”[42] วันกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าในเวลาเดียวกันยังเป็น “วันแรกของสัปดาห์” เป็นการระลึกถึงวันแรกของการเนรมิตสร้าง และ “วันที่แปด” ที่พระคริสตเจ้า หลังจากการ “พักผ่อน” ของวันหยุดยิ่งใหญ่ ทรงเริ่มวัน “ที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้าง” (สดด 118:24) “วันไม่มีเวลาเย็น”[43] “การเลี้ยงอาหารค่ำขององค์พระผู้เป็นเจ้า” เป็นศูนย์กลางของวันนี้ เพราะในการเลี้ยงนี้ทั้งชุมชนของบรรดาผู้มีความเชื่อมาพบกับองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพที่ทรงเชิญเขาทั้งหลายมาร่วมงานเลี้ยงของพระองค์[44]
“วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า วันแห่งการกลับคืนพระชนมชีพ วันของบรรดาคริสตชน เป็นวันของเรา วันนี้ถูกเรียกว่า “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า” เพราะในวันนี้องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้พิชิตเสด็จขึ้นไปหาพระบิดา ถ้าบรรดาคนต่างศาสนาเรียกวันนี้ว่า “วันอาทิตย์” เราก็ยินดีเห็นด้วย เพราะแสงสว่างส่องโลกเกิดขึ้นในวันนี้ ดวงอาทิตย์แห่งความยุติธรรมซึ่งส่องรัศมีรักษาโรคให้หายได้ขึ้นมาในวันนี้”[45]
1167 วันอาทิตย์เป็นวันดีที่สุดสำหรับการชุมนุมประกอบพิธีกรรม “เพื่อฟังพระวาจาของพระเจ้า และร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณ ระลึกถึงพระทรมาน การกลับคืนพระชนมชีพและพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้า และขอบพระคุณพระเจ้าผู้ทรงบันดาล ให้เราบังเกิดใหม่และมีความหวังที่จะมีชีวิตอาศัยการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูคริสตเจ้าจากบรรดาผู้ตาย”[46]
“[ข้าแต่พระคริสตเจ้า] เมื่อข้าพเจ้าทั้งหลายคิดคำนึงถึงการอัศจรรย์รุ่งโรจน์และเครื่องหมายน่าพิศวงที่สำเร็จไปในวันอาทิตย์ศักดิ์สิทธิ์นี้ที่ทรงกลับคืนพระชนมชีพอย่างรุ่งโรจน์ ข้าพเจ้าทั้งหลายก็กล่าวว่า วันอาทิตย์เป็นวันที่ได้รับพระพร เพราะการเนรมิตสร้างได้เริ่มขึ้นในวันนี้.... รวมทั้งการไถ่โลก... การรื้อฟื้นมนุษยชาติขึ้นใหม่... ในวันนี้สวรรค์และแผ่นดินส่องแสงสว่างจ้าและโลกจักรวาลเต็มไปด้วยแสงสว่าง วันอาทิตย์เป็นวันที่ได้รับพระพร เพราะประตูสวรรค์ได้เปิดออกในวันนี้เพื่อให้อาดัมและ
ทุกคนที่ถูกกันไว้เข้าไปได้โดยไม่ต้องกลัวสิ่งใด”[47]
ปีพิธีกรรม
1168 เทศกาลใหม่ของการกลับคืนพระชนมชีพ ที่เริ่มตั้งแต่ตรีวารปัสกาซึ่งเป็นเสมือนบ่อเกิดของแสงสว่าง ทำให้ปีพิธีกรรมทั้งปีเต็มเปี่ยมไปด้วยแสงสว่างรุ่งโรจน์ ช่วงเวลาปีหนึ่งค่อยๆ รับการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงผ่านทางพิธีกรรมทีละเล็กละน้อยจากทั้งสองด้านของเหตุการณ์ที่เป็นจุดกำเนิดนี้ ปี(ทางพิธีกรรม)จึงเป็นปีแห่งความโปรดปรานจากพระเจ้า[48] แผนการความรอดพ้นดำเนินไปภายในกรอบเวลานี้ แต่นับตั้งแต่แผนการนี้สำเร็จลงในปัสกาของพระเยซูเจ้าและ
การประทานพระพรของพระจิตเจ้า จุดหมายของประวัติศาสตร์เริ่มขึ้นก่อนแล้ว “เป็นการชิมลาง” และพระอาณาจักรของพระเจ้าก็เข้ามาในเวลาของเรา
1169 เพราะเหตุนี้ สมโภชปัสกาจึงไม่เป็นเพียงวันฉลองวันหนึ่งเหมือนกับวันฉลองอื่นๆ วันนี้เป็น “ยอดวันฉลอง” เป็น “ยอดวันสมโภช” เช่นเดียวกับที่ศีลมหาสนิทเป็น “ยอดศีลศักดิ์สิทธิ์” (ศีลศักดิ์สิทธิ์ยิ่งใหญ่) นักบุญอาทานัสเรียกวันปัสกาว่าเป็น “วันอาทิตย์ยิ่งใหญ่”[49] เช่นเดียวกับที่คริสตชนจารีตตะวันออกเรียกสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ว่า “สัปดาห์ยิ่งใหญ่” พระธรรมล้ำลึกการกลับคืนพระชนมชีพที่พระคริสตเจ้าทรงทำลายความตาย ทรงใช้พระอานุภาพทรงพลังของพระองค์แทรกเข้ามาในช่วงเวลาเก่าของเราจนกระทั่งทุกสิ่งถูกปราบไว้ใต้อำนาจของพระองค์
1170 ในสภาสังคายนาที่เมืองนิเชอา (ปี ค.ศ. 325) พระศาสนจักรทุกแห่งลงความเห็นร่วมกันว่าปัสกาของคริสตชนจะฉลองในวันอาทิตย์หลังวันเพ็ญ (วันที่ 14 เดือนนิสาน) ต่อจากวันที่กลางวันกลางคืนเท่ากันในฤดูใบไม้ผลิ
(21 มีนาคม) เนื่องจากการนับวันที่ 14 เดือนนิสานมีวิธีการนับแตกต่างกัน วันปัสกาในพระศาสนจักรตะวันตกและตะวันออกจึงไม่ตรงกันเสมอไป ดังนั้น ทุกวันนี้พระศาสนจักรตะวันตกและตะวันออกจึงยังแสวงหาความเห็นพ้องกันเพื่อจะบรรลุถึงการกำหนดเวลาวันฉลองการกลับคืนพระชนมชีพขององค์พระผู้เป็นเจ้าให้เป็นวันเดียวกัน
1171 ปีพิธีกรรมเป็นการอธิบายแง่มุมต่างๆ ของพระธรรมล้ำลึกปัสกาประการเดียว ความคิดนี้ใช้ได้โดยเฉพาะกับวันฉลองต่างๆในชุดที่เกี่ยวข้องกับการรับสภาพมนุษย์ของพระวจนาตถ์ (การแจ้งสารพระคริสตสมภพ พระคริสต์ทรงสำแดงองค์) ซึ่งระลึกถึงจุดเริ่มของความรอดพ้นของเราและสื่อเหตุการณ์แรกๆ ของพระธรรมล้ำลึกปัสกาให้เรารับรู้
ภาคการฉลองบรรดานักบุญในปีพิธีกรรม
1172 “ในการเฉลิมฉลองพระธรรมล้ำลึกต่างๆ ของพระคริสตเจ้าตามลำดับประจำปีเช่นนี้ พระศาสนจักรยังแสดงความเคารพนับถือด้วยความรักเป็นพิเศษต่อพระนางมารีย์ผู้ได้รับพระพร พระมารดาของพระเจ้า พระนางทรงร่วมงานไถ่กู้ด้วยความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับพระบุตร พระศาสนจักรชื่นชมและเทิดทูนพระนางมารีย์ เป็นผลงานประเสริฐสุดของการไถ่กู้ เพ่งมองพระนางด้วยความยินดี ในฐานะที่ทรงเป็นรูปแบบบริสุทธิ์ยิ่งของสภาพที่พระศาสนจักรปรารถนาและหวังจะเป็นอย่างสมบูรณ์ด้วยเช่นเดียวกัน”[50]
1173 “ตลอดปี พระศาสนจักรยังกำหนดวันระลึกถึงบรรดามรณสักขีและผู้ศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ซึ่งได้บรรลุถึงความดีพร้อมอาศัยพระหรรษทานหลากหลายของพระเจ้า และบัดนี้ได้รับความรอดพ้นนิรันดร อยู่ในสวรรค์ขับร้องสรรเสริญพระองค์ และอธิษฐานภาวนาแทนเรา ในวันฉลองบรรดานักบุญ พระศาสนจักรประกาศพระธรรมล้ำลึกปัสกาในผู้ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ซึ่งได้ร่วมรับทรมานและร่วมพระสิริรุ่งโรจน์กับพระคริสตเจ้า พระศาสนจักรเสนอแบบฉบับของท่านเหล่านี้แก่บรรดาผู้มีความเชื่อเพื่อดึงดูดทุกคนไปพบพระบิดาเจ้าโดยทางพระคริสตเจ้า พระศาสนจักรยังวอนขอพระพรจากพระเจ้าอาศัยบุญกุศลของท่านเหล่านี้ด้วย”[51]
พิธีกรรมทำวัตร
1174 พระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้า การทรงรับสภาพมนุษย์และปัสกาของพระองค์ที่เราเฉลิมฉลองโดยเฉพาะในการชุมนุมวันอาทิตย์ ยังเข้าไปและปรับปรุงเวลาของแต่ละวันให้ดีขึ้นโดยการประกอบพิธีกรรมทำวัตร หรือ “หน้าที่สำหรับพระเจ้า” (Officium divinum)[52] พิธีกรรมทำวัตรนี้ปฏิบัติตามคำเตือนของท่านอัครสาวกอย่างซื่อสัตย์ “ให้อธิษฐานภาวนาอย่างสม่ำเสมอ”[53] และ “ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อถวายการสรรเสริญแด่พระเจ้า ทำให้เวลาทั้งกลางวันกลางคืนศักดิ์สิทธิ์”[54] เป็น “การอธิษฐานภาวนาทางการของพระศาสนจักร”[55] ในการอธิษฐานภาวนานี้บรรดาผู้มีความเชื่อ(บรรพชิต นักบวชและฆราวาส) แสดงบทบาทสมณภาพราชตระกูลของผู้รับศีลล้างบาป เมื่อพระศาสนจักรประกอบพิธีกรรมทำวัตร ‘ตามรูปแบบที่ได้รับการรับรองแล้ว’ ก็เป็นเสียงของเจ้าสาวซึ่งสนทนากับเจ้าบ่าว ยิ่งกว่านั้นยังเป็นคำอธิษฐานภาวนาที่พระคริสตเจ้าพร้อมกับพระวรกายถวายแด่พระบิดาเจ้า”[56]
1175 พิธีกรรมทำวัตรมีเจตนาให้เป็นการอธิษฐานภาวนาของประชากรทั้งหมดของพระเจ้า ในพิธีกรรมนี้พระคริสตเจ้าเอง “ยังทรงปฏิบัติหน้าที่สมณะต่อไปในพระศาสนจักร”[57] แต่ละคนมีส่วนร่วมในพิธีกรรมนี้ตามบทบาทและสภาพชีวิตเฉพาะของตนในพระศาสนจักร บรรดาพระสงฆ์ในฐานะเป็นผู้รับผิดชอบในงานอภิบาลได้รับเรียกมาเพื่อเอาใจใส่ในการอธิษฐานภาวนาและศาสนบริการเกี่ยวกับพระวาจา[58] บรรดานักพรตชายหญิงก็ต้องมีส่วนร่วมในพิธีกรรมนี้ตามพระพรพิเศษการถวายตนแด่พระเจ้า[59] ส่วนบรรดาฆราวาสก็มีส่วนร่วมในพิธีกรรมนี้เท่าที่สามารถด้วย “ผู้อภิบาลสัตบุรุษควรเอาใจใส่ให้ประกอบพิธีกรรมทำวัตรชั่วโมงสำคัญ โดยมีสัตบุรุษมาร่วมพิธีในโบสถ์ เฉพาะอย่างยิ่งการทำวัตรเย็น (เวสเปรัส)ในวันอาทิตย์และวันสมโภช ควรแนะนำฆราวาสให้ประกอบพิธีกรรมทำวัตรพร้อมกับพระสงฆ์ หรือร่วมกันเป็นกลุ่ม หรือเป็นการส่วนตัว”[60]
1176 การประกอบพิธีกรรมทำวัตรเรียกร้องไม่เพียงแต่ให้ผู้อธิษฐานภาวนาเปล่งเสียงให้สอดคล้องกับจิตใจเท่านั้น แต่ยังเรียกร้องให้ศึกษา “หาความรู้มากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับพิธีกรรมและพระคัมภีร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงสดุดี”[61]
1177 บทเพลงสรรเสริญ (hymns) และบทร่ำวิงวอน (litaniae) สอดแทรกการภาวนาเพลงสดุดีต่างๆให้เข้ากับเวลาของพระศาสนจักร แสดงถึงสัญลักษณ์ของช่วงเวลาของวัน เทศกาลหรือวันฉลองที่กำลังประกอบพิธีอยู่ นอกจากนั้นการอ่านพระวาจาของพระเจ้าในการทำวัตรแต่ละชั่วโมง (พร้อมกับบทตอบรับหรือข้อความ [troparia] ที่ตามมา) และการอ่านผลงานของบรรดาปิตาจารย์และอาจารย์ผู้สอนวิชาการด้านชีวิตจิตในการทำวัตรบางชั่วโมงเปิดเผยให้เข้าใจพระธรรมล้ำลึกที่ฉลองในวันนั้น หรือความหมายของเพลงสดุดีต่างๆ ได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และเตรียมเราให้อธิษฐานภาวนาอย่างเงียบๆ ดังนี้ การอ่านพระคัมภีร์แบบ Lectio divina ที่อ่านพระวาจาของพระเจ้าและไตร่ตรองด้วยการรำพึงภาวนาเพื่อทำให้พระวาจานั้นเป็นการอธิษฐานภาวนาจึงมีรากฐานอยู่ในการประกอบพิธีกรรมทำวัตรด้วย
1178 พิธีกรรมทำวัตรที่เป็นเสมือนการขยายพิธีบูชาขอบพระคุณออกไปนี้ไม่ขัดกับกิจศรัทธาต่างๆแบบชาวบ้าน แต่เรียกร้องให้มีกิจศรัทธาเหล่านี้เป็นการเสริมด้วย โดยเฉพาะการนมัสการและ
แสดงคารวะต่อศีลมหาสนิท
[38] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 102: AAS 56 (1964) 125.
[39] เทียบ มธ 6:11.
[40] เทียบ ฮบ 3:7-4; สดด 95:8.
[41] Pseudo-Hippolytus Romanus, In sanctum Pascha 1, 1-2: Studia patristica mediolanensia 15, 230-232 (PG 59, 755).
[42] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 106: AAS 56 (1964) 126.
[43] Cf. Matutinum in die Paschatis ritus Byzantini, Oda 9, troparium: Pentekostarion (Romae 1884) p. 11.
[44] เทียบ ยน 21:12; ลก 24:30.
[45] Sanctus Hieronymus: In die Dominica Paschae homilia: CCL 78, 550 (PL 30, 218-219).
[46] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 106: AAS 56 (1964) 126.
[47] Fanqith, Breviarium iuxta ritum Ecclesiae Antiochenae Syrorum, v. 6 (Mossul 1886) p. 193b.
[48] เทียบ ลก 4:19.
[49] Sanctus Athanasius Alexandrinus, Epistula festivalis 1 (anno 329), 10: PG 26, 1366.
[50] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 103: AAS 56 (1964) 125.
[51] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 104: AAS 56 (1964) 126; cf. Ibid.,108: AAS 56 (1964) 126 et Ibid., 111: AAS 56 (1964) 127.
[52] Cf. Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, IV, 83-101: AAS 56 (1964) 121-125.
[53] เทียบ 1 ธส 5:15; อฟ 6:18.
[54] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 84: AAS 56 (1964) 121.
[55] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 98: AAS 56 (1964) 124.
[56] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 84: AAS 56 (1964) 121.
[57] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 83: AAS 56 (1964) 121.
[58] Cf. Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 86: AAS 56 (1964) 121; Ibid., 96: AAS 56 (1964) 123; Id., Decr. Presbyterorum ordinis, 5: AAS 58 (1966) 998.
[59] Cf. Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 98: AAS 56 (1964) 124.
[60] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 100: AAS 56 (1964) 124.
[61] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 90: AAS 56 (1964) 122.
IV. ต้องประกอบพิธีกรรมที่ไหน?
IV. ต้องประกอบพิธีกรรมที่ไหน?
1179 คารวกิจของพันธสัญญาใหม่ “ด้วยจิตและตามความจริง” (ยน 4:24) ไม่ผูกติดอยู่กับสถานที่เพียงแห่งเดียว โลกทั้งโลกนั้นศักดิ์สิทธิ์และพระเจ้าทรงมอบไว้ให้แก่มวลมนุษย์ เมื่อบรรดาผู้มีความเชื่อมาชุมนุมในสถานที่เดียวกัน เหตุผลแรกก็คือเพราะเขาเป็น “ศิลาที่มีชีวิตสำหรับก่อสร้างขึ้นเป็นวิหารของพระจิตเจ้า” (1 ปต 2:5) พระวรกายของพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วนี้เป็นพระวิหารฝ่ายจิต เป็นท่อธารที่หลั่งน้ำทรงชีวิตออกมา พวกเราทุกคนที่รวมเป็นพระวรกายเดียวกับพระคริสตเจ้าโดยทางพระจิตเจ้าล้วนเป็น “พระวิหารของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต” (2 คร 6:16)
1180 เมื่อการใช้เสรีภาพทางศาสนาไม่ถูกขัดขวาง[62] บรรดาคริสตชนก็ก่อสร้างอาคารเพื่อใช้ประกอบคารวกิจต่อพระเจ้า โบสถ์ต่างๆ ที่แลเห็นได้เหล่านี้ไม่เป็นเพียงสถานที่ชุมนุมตามธรรมดาเท่านั้นแต่ยังหมายและแสดงออกถึงพระศาสนจักรที่มีชีวิตอยู่ในสถานที่นั้น ระลึกถึงการที่พระเจ้าประทับอยู่กับมนุษย์ที่ได้รับการคืนดีแล้วและรวมเป็นหนึ่งเดียวกันในพระคริสตเจ้า
1181 “บ้านการอธิษฐานภาวนาที่มีการประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณ เก็บรักษาศีลมหาสนิท เป็นที่ชุมนุมของบรรดาผู้มีความเชื่อ และเป็นที่ซึ่งพระบุตรของพระเจ้าประทับอยู่ สถานที่ซึ่งพระผู้ไถ่ของเราผู้ทรงถวายพระองค์แทนชาวเราบนพระแท่นถวายบูชาเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาใจเราได้รับความเคารพนี้จำเป็นต้องงดงามและเหมาะกับการภาวนาและประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์อย่างสง่า”[63] ใน “บ้านของพระเจ้า” หลังนี้ เครื่องหมายต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบต้องแสดงให้เห็นจริงอย่างกลมกลืนว่าพระคริสตเจ้าประทับอยู่และทรงปฏิบัติงานในสถานที่แห่งนี้[64]
1182 ไม้กางเขนขององค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นพระแท่นบูชาของพันธสัญญาใหม่[65] ศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ของพระธรรมล้ำลึกปัสกาล้วนหลั่งมาจากไม้กางเขนนี้ การถวายบูชาบนไม้กางเขนเป็นปัจจุบันบนพระแท่นบูชานี้ซึ่งเป็นศูนย์กลางของโบสถ์ พระแท่นบูชายังเป็น “โต๊ะอาหารขององค์พระผู้เป็นเจ้า” ที่ประชากรของพระเจ้ารับเชิญมาร่วม งานเลี้ยง[66] ในพิธีกรรมของจารีตตะวันออกบางจารีต พระแท่นบูชาอย่างเป็นสัญลักษณ์ของพระคูหาด้วย (พระคริสตเจ้าทรงสิ้นพระชนม์และกลับคืนพระชนมชีพอย่างแท้จริง)
1183 ตู้เก็บศีลมหาสนิทต้องตั้งอยู่ “ในสถานที่เหมาะสมและมีเกียรติที่สุด”[67] ความสง่างาม ที่ตั้ง และความปลอดภัยของตู้เก็บศีลมหาสนิท[68]ต้องส่งเสริมการนมัสการองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ประทับอยู่อย่างแท้จริงในศีลมหาสนิท
น้ำมันคริสมา (myron) ที่ใช้เจิมเป็นเครื่องหมายศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งตราประทับของพระจิตเจ้ามีธรรมเนียมเก็บรักษาไว้ในสถานที่มีเกียรติและปลอดภัยภายในสถานประกอบพิธีกรรม ที่นั่นยังอาจใช้เป็นที่เก็บรักษาน้ำมันสำหรับเจิมผู้เตรียมเป็นคริสตชนและเจิมคนไข้รวมไว้ได้ด้วย
1184 ที่นั่งของพระสังฆราชหรือพระสงฆ์ “ต้องแสดงความหมายบทบาทของท่านในการเป็นประธานของชุมชนและเป็นผู้นำการอธิษฐานภาวนา”[69]
บรรณฐาน – “ศักดิ์ศรีแห่งพระวาจาของพระเจ้าเรียกร้องให้มีสถานที่เหมาะสมในโบสถ์เพื่อประกาศพระวาจาและให้ความสนใจของสัตบุรุษมุ่งไปยังที่นั้นในช่วงเวลาของภาควจนพิธีกรรม”[70]
1185 การชุมนุมกันของประชากรของพระเจ้าเริ่มตั้งแต่ศีลล้างบาป ดังนั้นโบสถ์จึงต้องมีสถานที่ประกอบพิธีศีลล้างบาป(baptisterium) และต้องส่งเสริมให้ระลึกถึงคำสัญญาของศีลล้างบาป (น้ำเสก)
การรื้อฟื้นชีวิตจากศีลล้างบาปเรียกร้องให้มีการกลับใจ พระศาสนจักรจึงต้องยินดีรับการแสดงออกของการกลับใจและการรับอภัยบาป การนี้จึงเรียกร้องให้มีสถานที่เหมาะสมเพื่อต้อนรับผู้เป็นทุกข์กลับใจ
โบสถ์จึงต้องเป็นสถานที่ซึ่งเชิญชวนให้มีการสำรวมจิตใจและอธิษฐานภาวนาเงียบๆ ซึ่งเป็นการยืดเวลาของบทภาวนาขอบพระคุณและทำให้บทภาวนานี้ซึมซาบเข้าไปภายในจิตใจ
1186 ในที่สุด พระศาสนจักรยังมีความหมายของอันตวิทยา เพื่อจะเข้าไปในบ้านของพระเจ้า จำเป็นต้องผ่านธรณีประตู ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการผ่านจากโลกที่มีบาดแผลจากบาปเข้าไปยังโลกของชีวิตใหม่ที่มนุษย์ทุกคนได้รับเรียกให้เข้าไป โบสถ์ที่เราแลเห็นจึงเป็นสัญลักษณ์ของบ้านพระบิดาที่ประชากรของพระเจ้ากำลังมุ่งหน้าไปหา และที่ซึ่งพระบิดา “จะทรงเช็ดน้ำตาทุกหยดจากนัยน์ตาของเขา” (วว 21:4) เพราะเหตุนี้ โบสถ์จึงเป็นบ้านของบุตรทุกคนของพระเจ้า เปิดกว้างและต้อนรับทุกคน
[62] Cf. Concilium Vaticanum II, Decl. Dignitatis humanae, 4: AAS 58 (1966) 932-933.
[63] Concilium Vaticanum II, Decr. Presbyterorum ordinis, 5: AAS 58 (1966) 998; cf. Id., Const. Sacrosanctum Concilium, 122-127: AAS 56 (1964) 130-132.
[64] Cf. Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 7: AAS 56 (1964) 100-101.
[65] เทียบ ฮบ 13:10.
[66] Cf. Institutio generalis Missalis Romani, 259: Missale Romanum, editio typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1970) p. 75.
[67] Paulus VI, Litt. Enc. Mysterium fidei: AAS 57 (1965) 771.
[68] Cf. Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 128: AAS 56 (1964) 132.
[69] Cf. Institutio generalis Missalis Romani, 271: Missale Romanum, editio typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1970) p. 77.
[70] Cf. Institutio generalis Missalis Romani, 272: Missale Romanum, editio typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1970) p. 77.
สรุป
สรุป
1187 พิธีกรรมเป็นงานของพระคริสตเจ้าทั้งพระองค์ คือศีรษะและพระวรกาย พระมหาสมณะของเราประกอบพิธีกรรมอยู่ตลอดเวลาในพิธีกรรมในสวรรค์พร้อมกับพระมารดาของพระเจ้า บรรดาอัครสาวก บรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมด และมวลมนุษย์ที่เข้าไปในพระอาณาจักรแล้ว
1188 ในการประกอบพิธีกรรม ผู้ร่วมประชุมทุกคนและแต่ละคนล้วนเป็น “liturgus” (ผู้มีบทบาทสาธารณะ) ปฏิบัติงานตามหน้าที่ของตน สมณภาพที่มาจากศีลล้างบาปเป็นของพระกายทิพย์ทั้งหมดของพระคริสตเจ้า แต่ผู้มีความเชื่อบางคนได้รับศีลบวชเพื่อปฏิบัติบทบาทเป็นผู้แทนพระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นศีรษะของพระกายทิพย์
1189 การประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ใช้เครื่องหมายและสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเนรมิตสร้าง (แสงสว่าง น้ำ ไฟ) กับชีวิตมนุษย์ (การชำระล้าง การเจิม การบิขนมปัง) และเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ความรอดพ้น (จารีตพิธีฉลองปัสกา) องค์ประกอบจากธรรมชาติ จารีตพิธีที่มนุษย์กำหนดขึ้น กิริยาท่าทางที่ชวนให้ระลึกถึงพระเจ้า ซึ่งถูกรับแทรกเข้ามาในโลกแห่งความเชื่อและเดชะพระอานุภาพของพระจิตเจ้าจึงกลายเป็นสื่อบอกเราให้รู้จักกิจการช่วยให้รอดพ้นและบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ที่พระคริสตเจ้าทรงกระทำเพื่อเรา
1190 วจนพิธีกรรมเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ของการประกอบพิธีกรรม พระวาจาของพระเจ้าที่ประกาศนี้อธิบายความหมายของพิธีกรรมที่กำลังประกอบพิธีอยู่และเรียกร้องให้ตอบสนองด้วยความเชื่อ
1191 การขับร้องและดนตรีมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพิธีกรรม มาตรการเพื่อจะใช้ทั้งสองสิ่งนี้อย่างดีก็คือ ความไพเราะงดงามที่แสดงการอธิษฐานภาวนาออกมา การช่วยให้ทุกคนมีส่วนร่วมพิธีกรรมพร้อมกันเป็นหนึ่งเดียวกันได้ และลักษณะความศักดิ์สิทธิ์ของการประกอบพิธี
1192 รูปภาพศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในโบสถ์และบ้านของเราต้องมีไว้เพื่อปลุกและหล่อเลี้ยงความเชื่อของเราต่อพระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้า เราใช้รูปภาพของพระคริสตเจ้าและงานไถ่กู้ที่ทรงกระทำเพื่อนมัสการพระองค์ ส่วนรูปภาพศักดิ์สิทธิ์ของพระมารดาพระเจ้า บรรดาทูตสวรรค์และนักบุญต่างๆ ช่วยเราให้แสดงคารวะต่อบุคคลต่างๆ ที่รูปภาพเหล่านั้นแสดงให้เห็น
1193 วันอาทิตย์ “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า” เป็นวันพิเศษสำหรับประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณเพราะเป็นวันกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า เป็นวันพิเศษสุดสำหรับการชุมนุมเพื่อประกอบพิธีกรรม เป็นวันของครอบครัวคริสตชน เป็นวันแห่งความยินดีและวันพักผ่อนจากการงาน เป็น “พื้นฐานและแก่นแท้ของปีพิธีกรรมทั้งหมด”[71]
1194 “พระศาสนจักร […] นำพระธรรมล้ำลึกทั้งหมดของพระคริสตเจ้ามาตีแผ่ตลอดเวลาทั้งปี ตั้งแต่การทรงรับธรรมชาติมนุษย์และการประสูติ จนถึงการเสด็จสู่สวรรค์ วันเปนเตกอสเตและการที่เรารอคอยด้วยความหวังให้องค์พระผู้เป็นเจ้าเสด็จกลับมา”[72]
1195 เมื่อระลึกถึงบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ในวันต่างๆ ที่กำหนดไว้ของปีพิธีกรรม โดยเฉพาะพระมารดาศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า แล้วจึงระลึกถึงบรรดามรณสักขีและนักบุญอื่นๆนั้น พระศาสนจักรในโลกนี้แสดงให้เห็นว่าตนร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพิธีกรรมในสวรรค์ พระศาสนจักรถวายพระสิริรุ่งโรจน์แด่พระคริสตเจ้าเพราะความรอดพ้นที่ได้รับจากพระองค์และที่สำเร็จไปแล้วในบรรดาสมาชิกที่ได้รับสิริรุ่งโรจน์ แบบฉบับของท่านเหล่านี้เป็นพลังผลักดันพระศาสนจักรขณะที่กำลังเดินทางไปพบพระบิดา
1196 บรรดาผู้มีความเชื่อที่ประกอบพิธีสวดทำวัตรร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้าพระมหาสมณะของเราโดยการภาวนาเพลงสดุดี คิดคำนึงพระวาจาของพระเจ้า บทเพลงและคำอวยพร เพื่อร่วมการอธิษฐานภาวนาไม่หยุดหย่อนและสากลของพระองค์ที่ถวายพระเกียรติแด่พระบิดาและวอนขอพระพรของพระจิตเจ้าแก่มวลมนุษย์ทั่วโลก
1197 พระคริสตเจ้าทรงเป็นพระวิหารแท้จริงของพระเจ้า “เป็นที่ประทับแห่งพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์” อาศัยพระหรรษทานของพระเจ้า บรรดาคริสตชนก็กลายเป็นพระวิหารของพระจิตเจ้าเป็นศิลาที่มีชีวิตสร้างขึ้นเป็นพระศาสนจักร
1198 พระศาสนจักรในสภาพปัจจุบันในโลกนี้ต้องการสถานที่เพื่อชุมชนอาจมาร่วมประชุมด้วยกันได้ โบสถ์ที่เราแลเห็นได้และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ล้วนเป็นภาพของนครศักดิ์สิทธิ์หรือกรุงเยรูซาเล็มแห่งสวรรค์ที่เราทุกคนกำลังเดินทางมุ่งหน้าไปหา
1199 พระศาสนจักรประกอบพิธีคารวกิจสาธารณะในโบสถ์เหล่านี้เพื่อถวายพระเกียรติแด่พระตรีเอกภาพ ฟังพระวาจาของพระเจ้าและขับร้องถวายพระเกียรติแด่พระองค์ ทำให้คำอธิษฐานภาวนาของตนขึ้นไปหาพระเจ้าและทำให้พระคริสตเจ้าประทับเป็นปัจจุบันโดยศีลศักดิ์สิทธิ์เพื่อถวายบูชาท่ามกลางชุมชนที่มาชุมนุมกัน บรรดาโบสถ์เหล่านี้ยังเป็นสถานที่ของการสำรวมใจและอธิษฐานภาวนาเป็นการส่วนตัวด้วย
[71] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 106: AAS 56 (1964) 126.
[72] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 102: AAS 56 (1964) 125.
ตอนที่สอง
พิธีกรรมหลากหลาย – พระธรรมล้ำลึกหนึ่งเดียว
ธรรมประเพณีต่างๆ ด้านพิธีกรรมและความเป็นสากลของพระศาสนจักร
ธรรมประเพณีต่างๆ ด้านพิธีกรรมและความเป็นสากลของพระศาสนจักร
1200 พระศาสนจักรต่างๆ ของพระเจ้า ตั้งแต่คริสตชนกลุ่มแรกที่กรุงเยรูซาเล็มจนถึงการเสด็จกลับมาอย่างรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้า ซื่อสัตย์ต่อความเชื่อของบรรดาอัครสาวก เฉลิมฉลองพระธรรมล้ำลึกปัสกาเดียวกันทุกแห่งหน พระธรรมล้ำลึกที่เฉลิมฉลองในพิธีกรรมมีหนึ่งเดียว แต่รูปแบบการเฉลิมฉลองพระธรรมล้ำลึกนี้มีหลากหลาย
1201 พระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้ามีความร่ำรวยสุดจะหยั่งถึงจนว่าไม่มีธรรมประเพณีทางพิธีกรรมใดอาจแสดงออกได้จนหมดสิ้น ประวัติของกำเนิดและวิวัฒนาการของจารีตต่างๆ เหล่านี้ช่วยให้เราเข้าใจจารีตเหล่านี้ได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ เมื่อพระศาสนจักรต่างๆ นำธรรมประเพณีด้านพิธีกรรมต่างๆ เหล่านี้มาใช้ในชีวิตจึงช่วยกันให้มีความร่ำรวยยิ่งขึ้นและเติบโตในความซื่อสัตย์ต่อธรรมประเพณีและพันธกิจร่วมกันของพระศาสนจักรทั้งหมด[73]
1202 ธรรมประเพณีต่างๆ ด้านพิธีกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นเนื่องจากพันธกิจของพระศาสนจักรนั่นเอง พระศาสนจักร(ท้องถิ่น)ในพื้นที่และวัฒนธรรมเดียวกันได้เฉลิมฉลองพระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้าด้วยการแสดงออกโดยเฉพาะตามวัฒนธรรมของตน ในธรรมประเพณี “ของมรดกความเชื่อ”[74] ในการใช้สัญลักษณ์ด้านพิิธีกรรม ในการจัดระเบียบความสัมพันธ์ฉันพี่น้องในความเข้าใจพระธรรมล้ำลึกทางเทววิทยา และในรูปแบบต่างๆ ของความศักดิ์สิทธิ์ ดังนี้ พระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นแสงสว่างและความรอดพ้นของประชากรทุกชาติ ในชีวิตด้านพิธีกรรมของพระศาสนจักรแห่งหนึ่ง จึงทรงสำแดงพระองค์แก่ประชากรและวัฒนธรรมที่พระศาสนจักรถูกส่งไปหาและฝังรากอยู่ในหมู่เขา พระศาสนจักรเป็น “สากล” แต่ในเอกภาพของตนก็ยังอาจรวมขุมทรัพย์แท้จริงทุกอย่างของวัฒนธรรมต่างๆ ไว้และชำระให้บริสุทธิ์ได้ด้วย[75]
1203 ธรรมประเพณีพิธีกรรมหรือ “จารีต” ที่เวลานี้ใช้อยู่ในพระศาสนจักรได้แก่จารีตละติน (โดยเฉพาะจารีตโรมัน แต่ก็ยังมีจารีตของพระศาสนจักรท้องถิ่นบางแห่งอีกด้วย เช่นจารีตอัมโบรเซียนหรือจารีตของคณะนักพรตบางคณะ) และจารีตไบซันติน จารีตอเล็กซานเดรียหรือค็อปต์ จารีตซีเรียน จารีตอาร์เมเนียน จารีตมาโรไนต์และจารีตคัลเด “สภาสังคายนาศักดิ์สิทธิ์นอบน้อมเชื่อฟังธรรมประเพณีอย่างซื่อสัตย์ ประกาศว่า พระศาสนจักรมารดาศักดิ์สิทธิ์ถือว่าจารีตต่างๆ
ที่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้องแล้ว มีสิทธิและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันหมด พระศาสนจักรต้องการจะรักษาและส่งเสริมทุกวิถีทางให้จารีตต่างๆ เหล่านี้คงอยู่ต่อไป”[76]
[73] Cf. Paulus VI, Adh. ap. Evangelii nuntiandi, 63-64: AAS 68 (1976) 53-55.
[74] เทียบ 2 ทธ 1 :14.
[75] Cf. Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 23: AAS 57 (1965) 28-29; Id., Decr. Unitatia redintegratio, 4: AAS 57 (1964) 95.
[76] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 4: AAS 56 (1964) 98.
พิธีกรรมและวัฒนธรรมต่าง ๆ
พิธีกรรมและวัฒนธรรมต่าง ๆ
1204 ดังนั้น การประกอบพิธีกรรมจึงต้องสอดคล้องกับภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของชนชาติต่างๆ[77] เพื่อจะทำให้พระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้าได้เป็นที่รู้จัก “เพื่อจะได้นำพวกเขามายอมรับความเชื่อ” (รม 16:26) พระธรรมล้ำลึกนี้จึงจำเป็นต้องได้รับการประกาศ เฉลิมฉลองและนำมาดำเนินชีวิตในทุกวัฒนธรรมโดยที่วัฒนธรรมต่างๆ เหล่านี้จะไม่ถูกทำลายล้างจากพระธรรมล้ำลึกนี้ แต่ได้รับการกอบกู้และทำให้สมบูรณ์ขึ้น[78] บรรดาบุตรของพระเจ้าจำนวนมากจะเข้าหาพระบิดาเจ้าเพื่อจะถวายพระสิริรุ่งโรจน์แด่พระองค์ในพระจิตเจ้าองค์เดียวกันได้ก็พร้อมกับและผ่านทางวัฒนธรรมเฉพาะของตนที่พระคริสตเจ้าทรงรับมาและปรับปรุงให้สมบูรณ์ขึ้นแล้วเท่านั้น
1205 “ในพิธีกรรม และโดยเฉพาะในพิธีกรรมของศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ จำเป็นต้องพิจารณาดูว่ามีองค์ประกอบบางส่วนที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะพระเจ้าทรงกำหนดไว้ และพระศาสนจักรเป็นเพียงผู้ดูแลรักษาเท่านั้น และมีบางส่วนที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งพระศาสนจักรอาจหรือบางครั้งต้องทำเพื่อให้เหมาะกับวัฒนธรรมของประชาชนที่เพิ่งได้รับการประกาศข่าวดี”[79]
1206 “ความหลากหลายด้านพิธีกรรมอาจก่อให้เกิดผลดีมากมาย แต่ยังอาจชวนให้เกิดการชิงดีกัน การไม่เข้าใจกัน หรือแม้กระทั่งการแตกแยกกันได้ด้วย ในเรื่องนี้จึงเห็นได้ชัดว่าความหลายหลากต้องไม่ทำลายเอกภาพ และไม่อาจแสดงออกได้นอกจากจะมีความซื่อสัตย์ต่อความเชื่อร่วมกัน ต่อเครื่องหมายต่างๆ ของศีลศักดิ์สิทธิ์ที่พระศาสนจักรได้รับมาจากพระคริสตเจ้า และต่อความสัมพันธ์ร่วมกันในพระฐานานุกรม การปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมจึงเรียกร้องให้มีการกลับใจและ ถ้าจำเป็น ยังเรียกร้องให้เลิกธรรมเนียมของบรรพบุรุษบางประการที่เข้ากันไม่ได้เลยกับความเชื่อคาทอลิกด้วย”[80]
[77] Cf. Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 37-40: AAS 56 (1964) 110-111.
[78] Cf. Ioannes Paulus II, Adh. ap. Catechesi tradendae, 53: AAS 71 (1979) 1319-1321.
[79] Ioannes Paulus II, Litt. Ap. Vicesimus quintus annus, 16: AAS 81 (1989) 912-913; cf. Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 21: AAS 56 (1964) 105-106. .
[80] Ioannes Paulus II, Litt. Ap. Vicesimus quintus annus, 16: AAS 81 (1989) 913.
สรุป
สรุป
1207 การประกอบพิธีกรรมจำเป็นต้องพยายามแสดงตนออกในวัฒนธรรมของประชาชนที่พระศาสนจักรปรากฏอยู่โดยไม่ขึ้นกับวัฒนธรรมนั้น ในอีกด้านหนึ่ง พิธีกรรมเองต้องเป็นผู้ให้กำเนิดและรูปแบบของวัฒนธรรมต่างๆ
1208 ธรรมประเพณีด้านพิธีกรรม หรือ “จารีต” ต่างๆ ที่พระศาสนจักรรับรองแล้ว ในฐานะที่แสดงความหมายและสื่อถึงพระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้าแสดงให้เห็นความเป็นสากลของพระศาสนจักร
1209 มาตรการที่ปกป้องเอกภาพของพระศาสนจักรไว้ ขณะที่มีธรรมประเพณีหลายหลากด้านพิธีกรรมก็คือความซื่อสัตย์ต่อธรรมประเพณีที่สืบทอดมาจากบรรดาอัครสาวก นั่นคือการมีความสัมพันธ์ร่วมกันในความเชื่อและศีลศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับมาจากบรรดาอัครสาวก ความสัมพันธ์ร่วมกันนี้แสดงออกและรับการปกป้องให้ปลอดภัยอาศัยการสืบตำแหน่งตกทอดมาจากบรรดาอัครสาวก