ภาคที่สาม
การดำเนินชีวิตในพระคริสตเจ้า
1691 “คริสตชนเอ๋ย จงระลึกถึงศักดิ์ศรีของท่านเถิด เมื่อท่านได้มีส่วนในพระธรรมชาติพระเจ้าแล้ว อย่ากลับตกลงไปในความไร้สาระเหมือนดังแต่ก่อนด้วยการดำเนินชีวิตที่เลวทราม จงระลึกว่าใครเป็นศีรษะของท่าน ท่านเป็นส่วนพระวรกายของผู้ใด อย่าลืมว่าท่านได้ถูกฉุดออกมาจากอำนาจความมืดแล้ว ท่านถูกย้ายเข้าไปอยู่ในแสงสว่างและอาณาจักรของพระเจ้าแล้ว”[1]
1692 สูตรยืนยันความเชื่อประกาศว่าพระเจ้าได้ประทานพระพรยิ่งใหญ่แก่มนุษย์ในงานเนรมิตสร้าง และยิ่งกว่านั้นโดยงานไถ่กู้และบันดาลความศักดิ์สิทธิ์อีกด้วย ศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ นำสิ่งที่ความเชื่อประกาศนี้มาให้เรา โดยทางศีลศักดิ์สิทธิ์ที่ทำให้บรรดาคริสตชนเกิดใหม่นี้ เขาก็กลายเป็น “บุตรของพระเจ้า” (1 ยน 3:1)[2] “มีส่วนร่วมในพระธรรมชาติของพระเจ้า” (2 ปต 1:4) เมื่อ บรรดาคริสตชนมารับรู้ศักดิ์ศรีใหม่ของตนโดยความเชื่อแล้ว เขาก็ได้รับเชิญมาดำเนินชีวิตหลังจากนั้นให้สมกับพระวรสารของพระคริสตเจ้า[3] โดยอาศัยศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ และการอธิษฐานภาวนา เขาย่อมรับพระหรรษทานของพระคริสตเจ้าและพระพรของพระจิตเจ้าซึ่งทำให้เขามีความสามารถทำเช่นนี้ได้
1693 พระเยซูคริสตเจ้าทรงทำตามที่พระบิดาพอพระทัยเสมอ[4] พระองค์ทรงดำเนินพระชนมชีพสนิทสัมพันธ์กับพระบิดาอย่างสมบูรณ์ที่สุด เช่นเดียวกัน พระองค์จึงทรงเชิญบรรดาศิษย์ของพระองค์ให้ดำเนินชีวิตเฉพาะพระพักตร์พระบิดาเจ้า “ผู้ทรงเห็นในที่เร้นลับ” (มธ 6:6) เพื่อจะได้เป็น “คนดีอย่างสมบูรณ์ ดังที่พระบิดาเจ้าสวรรค์ […] ทรงความดีอย่างสมบูรณ์เถิด” (มธ 5:48)
1694 คริสตชนซึ่งได้ร่วมเป็นกายเดียวกันกับพระคริสตเจ้าอาศัยศีลล้างบาป[5] ได้ตายจากบาปแล้ว และดำเนินชีวิตเพื่อพระเจ้าในพระคริสตเยซู[6] ดังนี้จึงมีส่วนร่วมชีวิตของพระองค์ผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วด้วย[7] ขณะที่กำลังติดตามพระคริสตเจ้าและชิดสนิทกับพระองค์[8] คริสตชนอาจพยายามที่จะเป็นเหมือนพระเจ้าในฐานะบุตรสุดที่รักและดำเนินชีวิตในความรัก[9] ทำให้ความคิด คำพูดและการกระทำของตนสอดคล้องกับของพระองค์ เพื่อจะได้มีความรู้สึกในตนเองเช่นเดียวกับที่มีอยู่ในพระคริสตเยซู[10]และปฏิบัติตามแบบฉบับของพระองค์[11]
1695 บรรดาคริสตชน “ซึ่งได้รับความชอบธรรม [...] เดชะพระนามของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าและเดชะพระจิตของพระเจ้าของเราแล้ว” (1 คร 6:11) ย่อมได้รับความศักดิ์สิทธิ์และได้รับเรียกเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์[12] กลายเป็น “พระวิหารของพระจิตเจ้า” (1 คร 6:19) “พระจิตของพระบุตร”นี้สอนเขาให้ภาวนาวอนขอพระบิดา[13] และกลายเป็นชีวิตของเขาทั้งหลาย ทรงทำให้เขาปฏิบัติงาน[14]เพื่อบังเกิดผลของพระจิตเจ้า[15]โดยปฏิบัติงานด้านเมตตาจิต เมื่อพระจิตเจ้าทรงบำบัดรักษาบาดแผลของบาป ก็ทรงเปลี่ยนแปลงรื้อฟื้นจิตใจภายในของเรา[16] พระองค์ทรงส่องสว่างและประทานพลังแก่เราเพื่อจะได้ดำเนินชีวิตเช่น “บุตรแห่งความสว่าง” (อฟ 5:8) “ในความดี ความชอบธรรมและความจริงทุกประการ” (อฟ 5:9)
1696 ทางของพระคริสตเจ้า “นำไปสู่ชีวิต” (มธ 7:14) ส่วนทางตรงข้ามนั้น “นำไปสู่หายนะ” (มธ 7:13)[17] คำเปรียบเทียบเรื่องทางสองแพร่งในพระวรสารนี้คงอยู่เสมอมาในการสอนคำสอนของพระศาสนจักร มีความหมายถึงความสำคัญของการตัดสินใจเรื่องความประพฤติสำหรับความรอดพ้นของเรา “มีทางอยู่สองสาย สายหนึ่งเป็นทางชีวิต อีกสายหนึ่งเป็นทางความตาย แต่ทางทั้งสองสายนี้แตกต่างกันมาก”[18]
1697 การสอนคำสอนต้องชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความยินดีและสิ่งที่ทางเดินของพระคริสตเจ้าเรียกร้อง[19] การสอนคำสอนเรื่อง “การดำเนินชีวิตใหม่” (รม 6:4) ในพระองค์จะต้องเป็นดังนี้:
- คำสอนเรื่องพระจิตเจ้า พระอาจารย์ภายในแห่งชีวิตตามแบบพระคริสตเจ้า แขกรับเชิญผู้อ่อนหวานและมิตรสหายผู้ให้แรงบันดาล แนะนำ แก้ไข และเพิ่มพลังแก่ชีวิตนี้
- คำสอนเรื่องพระหรรษทาน เพราะเราได้รับความรอดพ้นอาศัยพระหรรษทาน และพระหรรษทานยังช่วยให้เราทำงานบังเกิดผลสำหรับชีวิตนิรันดร
- คำสอนเรื่องความสุขแท้จริง เพราะวิถีทางของพระคริสตเจ้าสรุปรวมอยู่ในคำสอนเรื่องความสุขแท้จริง เป็นหนทางเพียงหนึ่งเดียวไปยังความสุขนิรันดรที่ใจมนุษย์มุ่งหา
- คำสอนเรื่องบาปและการให้อภัย เพราะถ้ามนุษย์ไม่ยอมรับว่าตนเป็นคนบาปก็ไม่อาจรู้ความจริงเกี่ยวกับตนเอง ความจริงซึ่งเป็นเงื่อนไขเพื่อปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง และถ้าเขาไม่ได้รับอภัย เขาก็คงไม่อาจรับความจริงนี้ได้
- คำสอนเรื่องคุณธรรมของมนุษย์ ซึ่งทำให้เขารับรู้ถึงความงดงามและพลังดึงดูดของความโน้มเอียงอย่างถูกต้องให้ทำความดี
- คำสอนเรื่องคุณธรรมแบบคริสตชน ได้แก่ความเชื่อ ความหวังและความรัก ซึ่งมีแบบฉบับของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์เป็นแรงบันดาลใจ
- คำสอนเรื่องพระบัญญัติความรักทั้งสองประการ (ต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์) ที่อธิบายไว้ในพระบัญญัติสิบประการ
- คำสอนเรื่องพระศาสนจักร เพราะชีวิตคริสตชนจะเติบโต แผ่ขยายและแบ่งปันกับผู้อื่นได้ก็โดยการแลกเปลี่ยนแบ่งปัน “พระพรฝ่ายจิตในความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวของผู้ศักดิ์สิทธิ์” เท่านั้น
1698 จุดอ้างอิงแรกและสุดท้ายของการสอนคำสอนเช่นนี้จะต้องเป็นพระเยซูคริสตเจ้าเองเสมอ พระองค์ทรงเป็น “หนทาง ความจริงและชีวิต” (ยน 14:6) ถ้าคริสตชนผู้มีความเชื่อหันมองดูพระองค์ด้วยความเชื่อ ย่อมอาจหวังได้ว่าพระองค์จะทรงทำให้พระสัญญาของพระองค์สำเร็จไปในตัวเขา และถ้าเขารักพระองค์ด้วยความรักที่พระองค์ทรงรักเขา เขาก็จะปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับศักดิ์ศรีของตน
“ข้าพเจ้าวอนขอท่านให้คิดว่า […] พระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทรงเป็นศีรษะแท้จริงของท่าน และท่านเป็นส่วนหนึ่งของพระวรกายของพระองค์ […] พระองค์ทรงเป็นกับท่านเสมือนส่วนต่างๆ ของร่างกายกับศีรษะ ทุกสิ่งของพระองค์ก็เป็นของท่าน จิต ดวงใจ ร่างกาย วิญญาณและความสามารถต่างๆ […] ทุกอย่างที่ท่านต้องใช้เหมือนกับว่าเป็นของท่านเองเพื่อรับใช้พระเจ้า สรรเสริญ รักพระองค์ และถวายพระสิริรุ่งโรจน์แด่พระองค์. สำหรับพระองค์ ท่านเป็นเสมือนส่วนของร่างกายสำหรับศีรษะ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงทรงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะใช้ความสามารถทั้งหลายของท่านเหมือนกับว่าเป็นของพระองค์เพื่อทรงรับใช้พระบิดาของพระองค์และถวายพระสิริรุ่งโรจน์แด่พระบิดา”[20]
“ข้าพเจ้าคิดว่าการมีชีวิตอยู่ก็คือพระคริสตเจ้า” (ฟป 1:21)
[1] Sanctus Leo Magnus, Sermo 21, 3: CCL 138, 88 (PL 54, 192-193).
[2] เทียบ ยน 1:12.
[3] เทียบ ฟป 1:27.
[4] เทียบ ยน 8:29.
[5] เทียบ รม 6:5.
[6] เทียบ รม 6:11.
[7] เทียบ คส 2:12.
[8] เทียบ ยน 15:5.
[9] เทียบ อฟ 5:1-2.
[10] เทียบ ฟป 2:5.
[11] เทียบ ยน 13:12-16.
[12] เทียบ 1 คร 1:2.
[13] เทียบ กท 4:6.
[14] เทียบ กท 5:25.
[15] เทียบ กท 5:22.
[16] เทียบ อฟ 4:23.
[17] เทียบ ฉธบ 30:15-20.
[18] Didaché, 1, 1: SC 248, 140 (Funk 1, 2).
[19] Cf Ioannes Paulus II, Adh. ap. Catechesi tradendae, 29: AAS 71 (1979) 1301.
[20] Sanctus Ioannes Eudes, Le Coeur admirable de la Très Sacrée Mère de Dieu, 1, 5: Oeuvres completes, v. 6 (Paris 1908) p. 113-114.