ตอนที่สอง

“ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย พระองค์สถิตในสวรรค์”

I. “เรากล้าเข้าไปเฝ้าพระองค์ด้วยความไว้วางใจ”

I.  เรากล้าเข้าไปเฝ้าพระองค์ด้วยความไว้วางใจ

 2777   ในพิธีกรรมจารีตโรมัน ชุมชนที่ร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณรับเชิญให้ภาวนาบท “ข้าแต่พระบิดา” ด้วยความกล้าเยี่ยงบุตร    พิธีกรรมจารีตตะวันออกก็ใช้ข้อความคล้ายกันและพัฒนาข้อความเหล่านี้ด้วย เช่น “กล้าอย่างมั่นใจที่สุด” “ทำให้เราเหมาะสมสำหรับ” พระเจ้าตรัสกับโมเสสต่อหน้าพุ่มไม้ที่ลุกเป็นไฟว่า “อย่าเข้ามาใกล้กว่านี้ จงถอดรองเท้าออก” (อพย 3:5) มีแต่พระเยซูเจ้าเพียงพระองค์เดียวที่อาจก้าวข้ามเขตความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าได้ พระองค์ผู้ “ทรงลบล้างมลทินแห่งบาปแล้ว” (ฮบ 1:3) ทรงนำเราไปอยู่เฉพาะพระพักตร์พระบิดา “ข้าพเจ้าและบรรดาบุตรที่พระเจ้าได้ประทานอยู่ที่นี่” (ฮบ 2:13)

            “ความสำนึกถึงสภาพผู้รับใช้อาจทำให้ท้อแท้ สภาพที่เรามาจากแผ่นดินอาจทำให้เราหมดกำลังใจ ถ้าอำนาจของพระบิดาเอง และพระจิตของพระบุตรของพระองค์ไม่ปลุกเร้าเราให้ร้องตะโกนเช่นนี้ เมื่อกล่าวว่า พระเจ้าทรงส่งจิตของพระบุตรของพระองค์เข้ามาในใจของเรา ทำให้เราร้องออกมาว่าอับบา พระบิดา(รม 8:15) […] เมื่อไรเล่าที่มนุษย์ผู้รู้ตายกล้าเรียกพระเจ้าว่าพระบิดา นอกจากเมื่อเขาได้รับพลังบันดาลใจภายในนี้มาจากเบื้องบน?”[21]

 2778   พลังนี้ของพระจิตเจ้าผู้ทรงนำเราให้สวดบทข้าแต่พระบิดา ในพิธีกรรมทั้งจารีตตะวันออกและตะวันตกได้รับสมญาเป็นภาษาคริสตังอย่างงดงามว่า parresia หรือ “ความกล้า” หรือพูดซื่อๆอย่างไม่อ้อมค้อมก็คือ “ความวางใจเยี่ยงบุตร” “ความมั่นใจด้วยความยินดี” “ความกล้าอย่างสุภาพถ่อมตน” “ความมั่นใจว่าพระเจ้าทรงรักตน”[22]

 

[21] Sanctus Petrus Chrysologus, Sermo 71, 3: CCL 24A, 425 (PL 52, 401).           

[22] เทียบ อฟ 3:12; ฮบ 3:6; 4:16; 10:19; 1 ยน 2:28; 3:21; 5:14.    

II. “ข้าแต่พระบิดา”

II.  ข้าแต่พระบิดา

 2779   ก่อนที่จะทำให้การร้องเรียกคำแรกของบทข้าแต่พระบิดานี้เป็นของเรา เราควรจะถ่อมใจของเราชำระจิตใจให้พ้นจากภาพพจน์ที่ผิดๆ เกี่ยวกับ “โลกนี้” เสียก่อน ความสุภาพถ่อมตนทำให้เรายอมรับความจริงข้อนี้ว่า “ไม่มีใครรู้จักพระบุตร นอกจากพระบิดา และไม่มีใครรู้จักพระบิดา นอกจากพระบุตรและผู้ที่พระบุตรเปิดเผยให้รู้” (มธ 11:27) นั่นคือ “ให้แก่บรรดาผู้ต่ำต้อย” (มธ 11:25) การชำระจิตใจเรื่องภาพพจน์ที่เกี่ยวกับบิดามารดา ซึ่งเกิดจากประวัติความเป็นมา
ส่วนตัวหรือทางวัฒนธรรม ย่อมมีผลกระทบถึงความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้า ความคิดว่าพระเจ้าเป็นพระบิดาของเราอยู่เหนือมโนทัศน์ของโลกนี้  การนำแนวคิดของเรามาใช้กับพระองค์หรือต่อต้านพระองค์ในเรื่องนี้คงเป็นเหมือนกับการสร้างรูปเคารพขึ้นมาหรือทำลายรูปเคารพนั้น การที่เราอธิษฐานภาวนาต่อพระบิดาเป็นการเข้าไปในพระธรรมล้ำลึกของพระองค์ ตามที่พระองค์ทรงเป็นและตามที่พระบุตรทรงเปิดเผยให้เรารู้

            “พระนามของพระเจ้าพระบิดาไม่เคยถูกเปิดเผยให้แก่ผู้ใดเลย แม้แต่โมเสสที่ได้ทูลถามเรื่องนี้ เขากลับได้ยินนามอื่น พระบุตรทรงเปิดเผยพระนามนี้ให้แก่เรา ก่อนจะมีพระบุตรก็ไม่มีพระนามของพระบิดา”[23]

 2780  เราเรียกพระเจ้าเป็น “พระบิดา” ได้ก็เพราะว่าพระองค์ทรงเปิดเผยพระองค์เองโดยทางพระบุตรผู้ทรงมาเป็นมนุษย์และเพราะพระจิตของพระองค์ทรงบันดาลให้เรารู้จักพระองค์ สิ่งที่มนุษย์ไม่อาจรู้จักและบรรดาอำนาจทูตสวรรค์ไม่อาจมองเห็นแม้แต่เพียงรางๆ ได้ก็คือความสัมพันธ์ในฐานะบุคคลของพระบุตรกับพระบิดา[24] แต่พระจิตของพระบุตรทรงบันดาลให้เรามีส่วนร่วมความสัมพันธ์นี้ เราซึ่งเชื่อว่าพระเยซูเจ้าคือพระคริสตเจ้าและเรายังบังเกิดจากพระเจ้าอีกด้วย[25]

 2781   เมื่อเราอธิษฐานภาวนาต่อพระบิดา เราก็มีความสัมพันธ์กับพระองค์และกับพระเยซูคริสต์พระบุตรของพระองค์[26] เวลานั้น เรารู้จักและรับรู้พระองค์ด้วยความพิศวงใหม่ๆ อยู่เสมอ คำแรกของบทข้าแต่พระบิดานี้ ก่อนจะเป็นการวอนขอ เป็นการถวายพระพรนมัสการพระองค์ เพราะเรารับรู้ว่าพระองค์ทรงพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าเที่ยงแท้ในฐานะ “พระบิดา” เราจึงขอบพระคุณพระองค์ที่ทรงเปิดเผยพระนามและโปรดให้เราเชื่อเช่นนี้ทั้งยังประทับอยู่กับเราด้วย

 2782  เราอาจนมัสการพระบิดาได้ เพราะทรงบันดาลให้เราบังเกิดใหม่มารับชีวิตของพระองค์ ทรงรับเราเป็นบุตรบุญธรรมในพระบุตรเพียงพระองค์เดียว พระองค์ทรงให้เราร่วมอยู่ในพระกายของพระคริสตเจ้าของพระองค์อาศัยศีลล้างบาป และโดยการเจิมของพระจิตเจ้าซึ่งหลั่งจากพระเศียรลงมายังพระวรกายส่วนอื่นๆ ทำให้เรากลายเป็น “ผู้รับเจิม” หรือ “พระคริสต์” ด้วย

          “พระเจ้าผู้ทรงกำหนดรับเราเป็นบุตรบุญธรรมไว้แล้ว ทรงบันดาลให้เราละม้ายคล้ายกับพระวรกายรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้า เราจึงมีส่วนร่วมกับพระคริสตเจ้า สมจะได้ชื่อว่า “ผู้รับเจิม (พระคริสตเจ้า)”ด้วย[27]

            “มนุษย์คนใหม่ ผู้บังเกิดใหม่และกลับเป็นของพระเจ้าอีกเดชะพระหรรษทานของพระองค์แล้ว ก่อนอื่นหมดย่อมกล่าวว่า ข้าแต่พระบิดา เพราะเขาเริ่มเป็นบุตรแล้ว”[28]

 2783  ดังนี้ บทภาวนาขององค์พระผู้เป็นเจ้าเปิดเผยให้เรารู้จักตนเอง พร้อมกับเปิดเผยให้เรารู้จักพระบิดา[29]

          “มนุษย์เอ๋ย ท่านไม่กล้าเงยหน้าขึ้นมองท้องฟ้า ท่านทอดสายตามองแผ่นดิน และท่านก็ได้รับพระหรรษทานของพระคริสตเจ้าทันที บาปทั้งหมดของท่านได้รับการอภัย จากผู้รับใช้ที่เลว ท่านกลายเป็นบุตรที่ดี […] ดังนั้น จงเงยหน้าขึ้นหาพระบิดา ซึ่งได้ชำระล้างทำให้ท่านเกิดใหม่ จงเงยหน้าขึ้นหาพระบิดาผู้ทรงไถ่ท่านโดยทางพระบุตร และจงกล่าวว่า ‘ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย’ […] แต่อย่าเรียกร้องอะไรเป็นพิเศษสำหรับตนเอง พระองค์ทรงเป็นพระบิดาเฉพาะของพระคริสตเจ้าเท่านั้น แต่ทรงเป็นพระบิดาสำหรับเราทุกคนเป็นส่วนรวม เพราะทรงให้กำเนิดแก่พระบุตรเพียงพระองค์เดียว แต่ทรงเนรมิตสร้างพวกเรา ข้าพเจ้าและท่านจงกล่าวว่า “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย” อาศัยพระหรรษทาน เพื่อท่านจะสมเป็นบุตรได้”[30]

 2784 พระพรการรับเป็นบุตรบุญธรรมที่พระองค์ประทานให้เปล่านี้เรียกร้องให้เรากลับใจและมีชีวิตใหม่อยู่ตลอดเวลา การอธิษฐานภาวนาต่อพระบิดาของเราจึงต้องพัฒนาคุณสมบัติพื้นฐานสองประการ

           ประการแรกได้แก่ ความปรารถนาและตั้งใจจะเป็นเหมือนพระองค์ เราถูกเนรมิตสร้างมาตามภาพลักษณ์ของพระองค์ พระหรรษทานคืนภาพลักษณ์นี้ให้แก่เรา เราจึงต้องตอบสนองพระหรรษทานนี้

              “เมื่อเราเรียกพระเจ้าเป็นพระบิดา เราก็ต้องปฏิบัติตนเหมือนกับบุตรของพระองค์”[31]

              “ใครๆ ที่มีจิตใจโหดร้ายและไร้เมตตาไม่อาจเรียกพระเจ้าผู้ทรงพระเมตตาเป็นพระบิดาได้ เพราะเขา ไม่รักษาลักษณะความเมตตากรุณาที่อยู่ในพระบิดาเจ้าสวรรค์ไว้”[32]

              “เพื่อจะชมความงามของพระบิดาได้ตลอดเวลา แต่ละคนก็ต้องประดับวิญญาณของตนตามความงามนี้ด้วย”[33]

 2785  นอกจากนั้น เรายังต้องกลับใจทำตนให้มีใจถ่อมตนและวางใจในพระองค์ กลับเป็น “เหมือนเด็กเล็กๆ” (มธ 18:3) เพราะพระบิดาทรงเปิดเผยพระองค์ “แก่บรรดาผู้ต่ำต้อย” (มธ 11:25)

          การอธิษฐานภาวนาเป็นสภาพ “ที่เกิดขึ้นจากการพิศเพ่งดูเพียงพระเจ้า และจากความรักกระตือรือร้นที่ทำให้จิตใจมุ่งหาความรักของพระเจ้า และสละตนให้มีความใกล้ชิด สนทนากับพระองค์ด้วยความศรัทธาเป็นพิเศษเหมือนสนทนากับบิดาของตน”[34]

            “‘ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย’ เมื่อออกพระนามนี้ ความรักย่อมปลุกตัวขึ้น – จะมีอะไรเป็นที่รักของบุตรมากกว่าบิดา? – ความรักที่วอนขอก็ปลุกตัวขึ้นด้วย […] พร้อมกับความรู้สึกว่าเราจะได้รับตามที่เรากำลังจะวอนขอ […] มีอะไรเล่าที่พระองค์จะไม่ประทานให้บุตรที่วอนขอ ในเมื่อก่อนหน้านั้นพระองค์ได้ประทานให้เขาเป็นบุตรแล้ว”[35]

 

[23] Tertullianus, De oratione, 3, 1: CCL 1, 258-259 (PL 1, 1257).    

[24] เทียบ ยน 1:1.

[25] เทียบ 1 ยน 5:1.             

[26] เทียบ 1 ยน 1:3.             

[27] Sanctus Cyrillus Hierosolymitanus, Catecheses mystagogicae, 3, 1: SC 126, 120 (PG 33, 1088).      

[28] Sanctus Cyprianus Carthaginiensis, De dominica Oratione, 9: CCL 3A, 94 (PL 4, 541).             

[29] Cf Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 22: AAS 58 (1966) 1042.

[30] Sanctus Ambrosius, De sacramentis, 5, 19: CSEL 73, 66 (PL 16, 450).           

[31] Sanctus Cyprianus Carthaginiensis, De dominica Oratione, 11: CCL 3A, 96 (PL 4, 543).             

[32] Sanctus Ioannes Chrysostomus, De angusta porta et in Orationem dominicam, 3: PG 51, 44.        

[33] Sanctus Gregorius Nyssenus, Homiliae in Orationem dominicam, 2: Gregorii Nysseni opera, ed. W. Jaeger-H. Langerbeck, v. 72 (Leiden 1992) p. 30 (PG 44, 1148).        

[34] Sanctus Ioannes Cassianus, Conlatio 9, 18, 1: CSEL 13, 265-266 (PL 49, 788).   

[35] Sanctus Augustinus, De sermone Domini in monte, 2, 4, 16: CCL 35, 106 (PL 34, 1276).          

III. ข้าแต่พระบิดา “ของข้าพเจ้าทั้งหลาย”

III. ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย

 2786  ข้าแต่พระบิดา “ของข้าพเจ้าทั้งหลาย”  เกี่ยวกับพระเจ้า คุณศัพท์คำนี้ไม่ได้หมายถึงการเป็นเจ้าของทางด้านของเรา แต่หมายถึงความสัมพันธ์ใหม่ที่เรามีกับพระเจ้า

 2787   เมื่อเรากล่าวว่า “ข้าแต่พระบิดา ‘ของข้าพเจ้าทั้งหลาย’ เรายอมรับโดยเฉพาะพระสัญญาความรักทั้งหมดของพระองค์ ตามที่บรรดาประกาศกได้ประกาศไว้ และสำเร็จเป็นไป โดยพันธสัญญาใหม่นิรันดร ในพระคริสต์ของพระองค์ พระองค์ทรงบันดาลให้เราทั้งหลายเป็นประชากร “ของพระองค์”และพระองค์จึงทรงเป็นพระเจ้า “ของเรา” ความสัมพันธ์ใหม่นี้เป็นความสัมพันธ์ที่แต่ละฝ่ายยินดีแลกเปลี่ยนกันโดยไม่เรียกร้องอะไรตอบแทน เราจึงต้องตอบสนอง “พระหรรษทานและความจริง” ที่พระเจ้าประทานแก่เราในพระเยซูคริสตเจ้านี้[36]ด้วยความรักและซื่อสัตย์[37]

 2788   เนื่องจากบทภาวนาขององค์พระผู้เป็นเจ้า (หรือ บทข้าแต่พระบิดา) นี้เป็นบทภาวนาของประชากรของพระองค์ใน “ยุคสุดท้าย” คำว่า “ของข้าพเจ้าทั้งหลาย” นี้จึงยังหมายถึงความหวังอย่างมั่นใจต่อพระสัญญาสุดท้ายของพระเจ้าด้วย พระองค์จะตรัสแก่ผู้มีชัยชนะในกรุงเยรูซาเล็มใหม่ว่า “เราจะเป็นพระเจ้าของเขา เขาจะเป็นบุตรของเรา” (วว 21:7)

 2789  เมื่อเราอธิษฐานภาวนาต่อพระบิดา “ของข้าพเจ้าทั้งหลาย” เราก็กราบทูลพระบิดาของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราเป็นการส่วนตัว เราไม่แบ่งแยกพระเทวภาพ เพราะว่าพระบิดาทรงเป็น “ต้นธารและบ่อเกิด” ของพระเทวภาพของพระบุตร แต่เราประกาศว่าพระบุตรทรงบังเกิดจากพระบิดาและพระจิตเจ้าทรงสืบเนื่องมาจากพระองค์ตั้งแต่นิรันดร และเราก็ไม่สับสนพระบุคคลเพราะเราประกาศว่าความสัมพันธ์ของเรากับพระบิดาก็เป็นความสัมพันธ์กับพระบุตรของพระองค์ คือพระเยซูคริสตเจ้า ในพระจิตเจ้าหนึ่งเดียวของทั้งสองพระบุคคลด้วย  พระตรีเอกภาพทรงมีพระเทวภาพร่วมกันที่แบ่งแยกไม่ได้  เมื่อเราอธิษฐานต่อพระบิดา เราก็นมัสการและถวายพระสิริรุ่งโรจน์แด่พระบุตรและพระจิตเจ้าด้วย

 2790  ตามหลักไวยากรณ์ วลี “ของข้าพเจ้าทั้งหลาย” หมายถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เป็นของหลายคนร่วมกัน มีพระเจ้าเพียงหนึ่งเดียวและพระองค์ทรงเป็นที่ยอมรับว่าเป็นพระบิดาโดยผู้ที่อาศัยความเชื่อในพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระองค์ (พระบิดา) บังเกิดใหม่จากพระองค์อาศัยน้ำและพระจิตเจ้า[38] พระศาสนจักรเป็นสัมพันธภาพใหม่นี้ของพระเจ้าและมนุษย์ มีความสัมพันธ์กับพระบุตรเพียงพระองค์เดียวผู้ทรงกลับเป็น “บุตรคนแรกในบรรดาพี่น้องจำนวนมาก” (รม 8:29) พระศาสนจักรนี้มีความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกับพระบิดาหนึ่งเดียวกัน ในพระจิตเจ้าหนึ่งเดียวกันด้วย[39] เมื่ออธิษฐานภาวนาต่อพระบิดา “ของข้าพเจ้าทั้งหลาย” ผู้รับศีลล้างบาปแล้วแต่ละคนย่อมอธิษฐานภาวนาในความสัมพันธ์นี้ “กลุ่มผู้มีความเชื่อ […] เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” (กจ 4:32)

 2791   เพราะเหตุนี้ แม้บรรดาคริสตชนยังแตกแยกกัน บทภาวนาต่อพระบิดา “ของเรา” ก็ยังคงเป็นสมบัติส่วนรวมและเป็นการเรียกอย่างแข็งขันสำหรับคริสตชนทุกคน คริสตชนทุกคนในความสัมพันธ์ต่อกันอาศัยความเชื่อในพระคริสตเจ้าและศีลล้างบาป จึงต้องมีส่วนในการอธิษฐานภาวนาของพระเยซูเจ้าเพื่อบรรดาศิษย์ของพระองค์จะได้มีเอกภาพร่วมกัน[40]

 2792   ในที่สุด ถ้าเราอธิษฐานภาวนาบท “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย” เราย่อมออกจากความเป็นเอกเทศ เพราะว่าความรักที่เราได้รับมานั้นช่วยเราให้พ้นจากสภาพเช่นนี้ คำว่า “ของข้าพเจ้าทั้งหลาย” ตอนต้นของบทภาวนาบทข้าแต่พระบิดานี้ เช่นเดียวกับคำว่า “ข้าพเจ้าทั้งหลาย” (เรา) ในคำขอสุดท้ายสี่ข้อนั้น จึงไม่กีดกันผู้ใดออกไปเลย เพื่อให้เรากล่าวคำนี้ตามความจริง[41] เราจะต้องเอาชนะการแตกแยกและการขัดแย้งกันเองให้ได้

 2793  ผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้วไม่อาจกล่าวว่า “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย” ได้ถ้าเราไม่นำทุกคนที่พระองค์ทรงสละพระบุตรสุดที่รักเพื่อพวกเขาเข้ามาหาพระองค์ด้วย ความรักของพระเจ้าไม่มีขอบเขต การอธิษฐานภาวนาของเราก็ต้องไม่มีขอบเขตด้วย[42] การสวดบทข้าแต่พระบิดา “ของข้าพเจ้าทั้งหลาย” เปิดใจเราให้มีขนาดความรักของพระองค์ที่แสดงตัวในพระคริสตเจ้า เป็นการอธิษฐานภาวนาพร้อมกับมนุษย์ทุกคนและสำหรับมนุษย์ทุกคนที่ยังไม่รู้จักพระองค์ เพื่อเขาเหล่านั้นจะได้มารวมกันเป็นหนึ่งเดียว[43] ความสาละวนของพระเจ้าต่อมวลมนุษย์และมวลสิ่งสร้างเช่นนี้ได้เป็นพลังบันดาลใจนักอธิษฐานภาวนาผู้ยิ่งใหญ่ทุกคน ความรู้สำนึกเช่นนี้จึงต้องขยายการอธิษฐานภาวนาของเราให้มีความรักที่กว้างใหญ่เมื่อเรากล้ากล่าวว่า “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย”

 

[36] เทียบ ยน 1:17.

[37] เทียบ ฮชย 2:21-22; 6:1-6.    

[38] เทียบ 1 ยน 5:10; ยน 3:5.    

[39] เทียบ อฟ 4:4-6.             

[40] Cf Concilium Vaticanum II, Decr. Unitatis redintegratio, 8: AAS 57 (1965) 98; Ibid., 22: AAS 57 (1965) 105-106.

[41] เทียบ มธ 5:23-24; 6:14-15.  

[42] Cf Concilium Vaticanum II, Decl. Nostra aetate, 5: AAS 58 (1966) 743-744.      

[43] เทียบ ยน 11:52.             

IV. “พระองค์สถิตในสวรรค์”

IV. “พระองค์สถิตในสวรรค์

 2794  สำนวนนี้ของพระคัมภีร์ไม่ได้หมายถึงสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง (“พื้นที่”) แต่หมายถึงวิถีความเป็นอยู่ ไม่ได้หมายความว่าพระเจ้าทรงอยู่ห่างไกล แต่หมายถึงพระมหิทธานุภาพของพระองค์ พระบิดาของเราไม่ได้อยู่ “ที่อื่น” พระองค์ทรงอยู่ “เหนือทุกสิ่ง” ที่เราอาจคาดคิดได้ถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ จากเหตุผลที่ว่าพระองค์ทรงความศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่ง พระองค์จึงทรงอยู่ใกล้ชิดอย่างยิ่งกับจิตใจที่สุภาพถ่อมตนและเป็นทุกข์

          “เราเข้าใจวลีที่ว่า ‘ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย พระองค์สถิตในสวรรค์’ ได้ถูกต้องก็เมื่อเราเข้าใจว่าพระองค์ประทับอยู่ในใจของบรรดาผู้ชอบธรรม เหมือนประทับอยู่ในพระวิหารศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ และยังมีความหมายอีกว่าผู้อธิษฐานภาวนาต้องมีความปรารถนาให้พระองค์ผู้ที่ตนเรียกหานั้นมาประทับอยู่ในตนเองด้วย”[44]

          “สวรรค์ยังอาจหมายถึงผู้ที่มีภาพของสวรรค์อยู่ในตัว ซึ่งพระเจ้าประทับอยู่และทรงพระดำเนินในตัวเขาด้วย”[45]

 2795  สัญลักษณ์ของสวรรค์ชวนให้เราหันไปคิดถึงพระธรรมล้ำลึกเรื่องพันธสัญญาที่เราดำเนินชีวิตอยู่เมื่อเราอธิษฐานภาวนาต่อพระบิดาของเรา พระองค์สถิตในสวรรค์ ที่ประทับของพระองค์ บ้านของพระบิดาจึงเป็น “บ้านเกิดเมืองนอน” ของเรา บาปทำให้เราถูกเนรเทศจากแผ่นดินแห่งพันธสัญญา[46] และการกลับใจทำให้เรากลับไปหาพระบิดา กลับไปสวรรค์[47] ดังนั้นสวรรค์และแผ่นดินจึงคืนดีกันในพระคริสตเจ้า[48] เพราะพระบุตร “ได้เสด็จลงมาจากสวรรค์” เพียงพระองค์เดียว และพระองค์ทรงบันดาลให้เราไปสวรรค์พร้อมกับพระองค์ อาศัยไม้กางเขน การกลับคืนพระชนมชีพ และการเสด็จสู่สวรรค์ของพระองค์[49]

 2796  เมื่อพระศาสนจักรอธิษฐานภาวนาว่า “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย พระองค์สถิตในสวรรค์” พระศาสนจักรก็ประกาศว่าพวกเราเป็นประชากรของพระเจ้า มีที่นั่งในสวรรค์อยู่ร่วมกับพระองค์ในพระคริสตเยซู[50] ซ่อนอยู่กับพระคริสตเจ้าในพระเจ้า[51]แล้ว และยัง “คร่ำครวญปราถนาอย่างยิ่งที่จะสวมใส่ร่างกายที่มาจากสวรรค์” (2 คร 5:2);[52]

            บรรดาคริสตชน “อยู่ในร่างกาย แต่ไม่ดำเนินชีวิตตามอย่างร่างกาย เขาอาศัยอยู่ในโลกนี้ แต่มีบ้านแท้ถาวรอยู่ในสวรรค์”[53]

 

[44] Sanctus Augustinus, De sermone Domini in monte, 2, 5, 18: CCL 35, 108-109 (PL 34, 1277).      

[45] Sanctus Cyrillus Hierosolymitanus, Catecheses mystagogicae, 5, 11: SC 126, 160 (PG 33, 1117).     

[46] เทียบ ปฐก บทที่ 3.           

[47] เทียบ ยรม 3:19 – 4:1a; ลก 15:18,20.          

[48] เทียบ อสย 45:8; สดด 85:12. 

[49] เทียบ ยน 12:32; 14:2-3; 16:28; 20:17; อฟ 4:9-10; ฮบ 1:3; 2:13.

[50] เทียบ  อฟ 2:6.              

[51] เทียบ คส 3:3.

[52] เทียบ ฟป 3:20; ฮบ 13:14.   

[53] Epistula ad Diognetum, 5, 8-9: SC 33, 62-64 (Funk 1,398).     

สรุป

สรุป

 2797    เงื่อนไขที่ผู้อธิษฐานภาวนาบท “ข้าแต่พระบิดา”  ควรจะมีก็คือ ความไว้วางใจอย่างซื่อๆ เยี่ยงบุตรที่ซื่อสัตย์ ความเชื่อมั่นและยินดีอย่างถ่อมตน

 2798   เราอาจเรียกพระเจ้าเป็น “พระบิดา” ได้ก็เพราะว่าพระบุตรของพระเจ้าที่เราร่วมเป็นกายเดียวกับพระองค์อาศัยศีลล้างบาป และที่พระเจ้าทรงรับเราให้เป็นบุตรบุญธรรมในพระบุตรนี้ได้ทรงเปิดเผยให้เราทราบ

 2799   บทภาวนาขององค์พระผู้เป็นเจ้า (หรือ “บทข้าแต่พระบิดา”) ทำให้เรามีความสัมพันธ์กับพระบิดาและกับพระเยซูคริสตเจ้าพระบุตรของพระองค์ พร้อมกันนั้น บทภาวนาบทนี้ยังเปิดเผยความจริงนี้ให้เราทราบด้วย[54]

 2800   การอธิษฐานภาวนาบท “ข้าแต่พระบิดา” ต้องพัฒนาความปรารถนาในใจเราให้อยากเป็นเหมือนพระองค์ เช่นเดียวกับอยากมีจิตใจถ่อมตนและวางใจในพระองค์

 2801    เมื่อกล่าวบทข้าแต่พระบิดาเราก็เรียกหาพันธสัญญาใหม่ในพระเยซูคริสตเจ้า ความสนิทสัมพันธ์กับพระตรีเอกภาพ และเรียกหาความรักของพระเจ้าที่พระศาสนจักรช่วยให้แผ่ขยายไปทั่วโลก

 2802   “พระองค์สถิตในสวรรค์” มิได้หมายถึงสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง แต่หมายถึงพระมหิทธานุภาพของพระเจ้าและการที่พระองค์ประทับอยู่ในจิตใจของบรรดาผู้ชอบธรรม “สวรรค์” ที่ประทับของพระบิดานั้นเป็นบ้านแท้จริงที่เรากำลังมุ่งหน้าไปหา และที่เรากำลังเป็นสมาชิกอยู่แล้วด้วย

 

[54] Cf Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 22: AAS 58 (1966) 1042.