ตอนที่ 11

ข้าพเจ้าเชื่อการกลับคืนชีพของร่างกาย

 

 988      สูตรยืนยันความเชื่อของคริสตชน – การประกาศความเชื่อของเราในพระเจ้าพระบิดา  พระบุตร และพระจิตเจ้า และเกี่ยวกับพระราชกิจของพระองค์ในการเนรมิตสร้าง ประทานความรอดพ้นและความศักดิ์สิทธิ์ – มาถึงจุดยอดในการประกาศยืนยันการกลับคืนชีพของบรรดาผู้ตายในวันสุดท้าย และยืนยันถึงชีวิตนิรันดร

 989     เราเชื่อมั่นและหวังว่าพระคริสตเจ้าสิ้นพระชนม์ ทรงกลับคืนพระชนมชีพ และทรงพระชนมชีพตลอดนิรันดรฉันใด บรรดาผู้ชอบธรรมที่สิ้นใจแล้วก็จะมีชีวิตตลอดนิรันดรพร้อมกับพระคริสตเจ้าผู้จะทรงปลุกเขาให้กลับคืนชีพในวันสุดท้ายด้วยฉันนั้น[558] การกลับคืนชีพของเราจะเป็นผลงานของพระตรีเอกภาพศักดิ์สิทธิ์ยิ่งเช่นเดียวกับการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า

           “ถ้าพระจิตของพระผู้ทรงบันดาลให้พระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตายนั้นสถิตในท่าน พระผู้ทรงบันดาลให้พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตายก็จะทรงบันดาลให้ร่างกายที่ตายได้ของท่านกลับมีชีวิต เดชะพระจิตของพระองค์ ซึ่งสถิตในท่านด้วย” (รม 8:11)[559]

 990     คำว่า “เนื้อ” (ภาษาละตินว่า “caro” – ภาษาอังกฤษว่า “flesh”) หมายถึงมนุษย์ในสภาพความอ่อนแอและตายได้[560] วลี “การคืนชีพของร่างกาย” (หรือ “เนื้อหนัง”) จึงหมายความว่าหลังจากความตายแล้ววิญญาณจะมีชีวิตที่ไม่มีวันตายและ “ร่างกายที่ตายได้ของเรา” (รม 8:11)ก็จะได้รับชีวิตที่ไม่มีวันตายด้วย

 991     การเชื่อว่าผู้ตายจะกลับคืนชีพเป็นองค์ประกอบสำคัญของความเชื่อของคริสตศาสนามาตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว “การกลับคืนชีพของผู้ตายเป็นความหวังของบรรดาคริสตชน พวกเรามีความเชื่อเรื่องนี้”[561]

             “เพราะเหตุใดบางท่านจึงพูดว่าบรรดาผู้ตายจะไม่กลับคืนชีพ ถ้าผู้ตายไม่กลับคืนชีพ พระคริสตเจ้าก็มิได้ทรงกลับคืนพระชนมชีพด้วยเช่นเดียวกัน ถ้าพระคริสตเจ้ามิได้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ การเทศน์สอนของเราก็ไร้ประโยชน์ และความเชื่อของท่านก็ไร้ประโยชน์เช่นเดียวกัน […] ความจริง พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย เป็นผลแรกของบรรดาผู้ล่วงหลับไปแล้ว” (1 คร 15:12-14,20)

 

[558] เทียบ ยน 6:39-40.         

[559] เทียบ  1 ธส  4:14; 1 คร 6:14; 2 คร 4:14;ฟป 3:10-11.         

[560] เทียบ ปฐก 6:3; สดด 56:5; อสย 40:6.       

[561] Tertullianus, De resurrectione mortuorum  1, 1: CCL 2, 921 (PL 2, 841).         

I. การกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าและการกลับคืนชีพของเรา

I.  การกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าและการกลับคืนชีพของเรา

พระเจ้าทรงค่อยๆ เปิดเผยเรื่องการกลับคืนชีพตามลำดับ

 992   พระเจ้าทรงค่อยๆ เปิดเผยเรื่องการกลับคืนชีพของบรรดาผู้ตายแก่ประชากรของพระองค์ ความหวังว่าร่างกายของผู้ตายจะกลับคืนชีพเป็นผลที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจากความเชื่อว่าพระเจ้าทรงเนรมิตสร้างมนุษย์ทั้งหมดทุกส่วน ทั้งวิญญาณและร่างกาย พระผู้เนรมิตสร้างสวรรค์และแผ่นดินทรงเป็นผู้ทรงรักษาพันธสัญญาของพระองค์กับอับราฮัมและเชื้อสายของเขาอย่างซื่อสัตย์ด้วย ความเชื่อเรื่องการกลับคืนชีพจะเริ่มแสดงให้เห็นในมุมมองทั้งสองนี้ บรรดามรณสักขีมัคคาบีประกาศความเชื่อนี้ขณะที่กำลังถูกทรมานว่า

            “กษัตริย์จอมจักรวาลจะทรงบันดาลให้เรากลับคืนชีพมีชีวิตตลอดไป เพราะเราได้ตายเพื่อธรรมบัญญัติของพระองค์” (2 มคบ 7:9) “ตายด้วยน้ำมือมนุษย์เป็นสิ่งสวยงามเมื่อมีความหวังว่าพระเจ้าจะประทานชีวิตให้อีก” (2 มคบ 7:14)[562] 

 993     ชาวฟารีสี[563] และผู้ร่วมสมัยกับพระคริสตเจ้าจำนวนมาก[564] รอคอยการกลับคืนชีพพระเยซูเจ้าทรงสอนเรื่องนี้อย่างแข็งขัน พระองค์ทรงตอบชาวสะดูสีที่ปฏิเสธเรื่องนี้ว่า “ท่านไม่เข้าใจพระคัมภีร์และไม่รู้จักพระอานุภาพของพระเจ้า” (มก 12:24) ความเชื่อเรื่องการกลับคืนชีพตั้งอยู่บนความเชื่อในพระเจ้า “ผู้มิใช่พระเจ้าของผู้ตาย แต่เป็นพระเจ้าของผู้เป็น” (มก 12:27)

 994     ยิ่งกว่านั้น พระเยซูเจ้ายังทรงรวมความเชื่อเรื่องการกลับคืนชีพไว้กับพระบุคคลของพระองค์เองด้วย “เราเป็นการกลับคืนชีพและเป็นชีวิต” (ยน 11:25) พระเยซูเจ้าพระองค์เองจะทรงบันดาลให้ผู้ที่เชื่อในพระองค์กลับคืนชีพในวันสุดท้าย[565] รวมทั้งผู้ที่กินพระกายและดื่ม  พระโลหิตด้วย[566] พระองค์ประทานเครื่องหมายและประกันเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อทรงคืนชีวิตให้แก่ผู้ตายบางคน[567] และดังนี้ก็ทรงแจ้งล่วงหน้าถึงการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ด้วยแม้ว่าการนี้จะอยู่ในอีกระดับหนึ่ง พระองค์ตรัสถึงเหตุการณ์พิเศษนี้เช่นเดียวกับเมื่อตรัสถึงเครื่องหมายของประกาศกโยนาห์[568] ถึงเครื่องหมายเรื่องพระวิหาร[569] พระองค์ทรงแจ้งล่วงหน้าถึงการกลับคืนพระชนมชีพที่จะเกิดขึ้นในวันที่สามหลังจากที่จะทรงถูกประหารชีวิต[570]

 995     การเป็นพยานถึงพระคริสตเจ้าคือ “การเป็นพยานถึงการกลับคืนพระชนมชีพ” (กจ 1:22)[571] กินและดื่ม “ร่วมกับพระองค์หลังจากที่ทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย”  (กจ 10:41) ความหวังของบรรดาคริสตชนเรื่องการกลับคืนชีพได้รับการประทับตรารับรองจากการได้พบกับพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว พวกเราจะกลับคืนชีพเหมือนพระองค์ พร้อมกับพระองค์ และอาศัยพระองค์

 996      ตั้งแต่แรกแล้ว ความเชื่อของคริสตชนเรื่องการกลับคืนชีพต้องเผชิญกับความไม่เข้าใจและการต่อต้าน[572] “ไม่มีเรื่องใดในความเชื่อของคริสตชนที่ถูกต่อต้านและโจมตีอย่างรุนแรงและต่อเนื่องเหมือนกับเรื่องการกลับคืนชีพของร่างกาย”[573] โดยทั่วไปส่วนมากมักยอมรับกันว่าชีวิตของบุคคลมนุษย์ยังคงอยู่ต่อไปหลังจากความตายในแบบของจิต แต่จะเชื่อได้อย่างไรว่าร่างกายที่ตายได้แน่ๆ นี้จะยังกลับเป็นขึ้นมารับชีวิตนิรันดรได้


ผู้ตายกลับคืนชีพได้อย่างไร

 997     “กลับคืนชีพคืออะไร? เมื่อตาย คือวิญญาณและร่างกายแยกจากกัน ร่างกายของมนุษย์ก็เน่าเปื่อยเสื่อมสลาย ส่วนวิญญาณก็ไปพบพระเจ้า แต่ก็ยังคงรอคอยที่จะกลับไปรวมอยู่กับร่างกายรุ่งโรจน์ของตน เดชะสรรพานุภาพของพระองค์ พระเจ้าจะประทานชีวิตที่ไม่มีวันจะเสื่อมสลายตลอดไปคืนให้แก่วิญญาณ และจะทรงรวมร่างกายเหล่านี้กับวิญญาณของเราเดชะการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า

 998     ใครจะกลับคืนชีพ? มนุษย์ทุกคนที่ตายแล้ว “ผู้ที่ได้ทำความดีจะกลับคืนชีวิตมารับชีวิตนิรันดร ส่วนผู้ที่ทำความชั่วก็จะกลับคืนชีวิตมารับโทษทัณฑ์” (ยน 5:29)[574]

 999      กลับคืนชีพอย่างไร? พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพพร้อมกับพระวรกายของพระองค์ “จงดูมือและเท้าของเราซิ เป็นเราเองจริงๆ” (ลก 24:39) แต่พระองค์ก็มิได้ทรงกลับมายังชีวิตของโลกนี้ เช่นเดียวกัน “ทุกคนจะกลับคืนชีพพร้อมกับร่างกายที่เขามีอยู่ขณะนี้”[575] ในพระองค์ แต่ร่างกายนี้จะเปลี่ยนรูปไปเป็นร่างกายที่รุ่งโรจน์[576] เป็น “ร่างกายที่มีพระจิตเจ้าเป็นชีวิต” (spiritual body) (1 คร 15:44)

               “บางคนอาจถามว่า ‘คนตายจะกลับคืนชีพได้อย่างไร เขาจะกลับมีร่างกายแบบใด’ ช่างโง่จริง เมล็ดที่ท่านหว่านลงไปนั้นจะมีชีวิตใหม่ได้อย่างไรถ้าไม่ตายเสียก่อน  เมล็ดข้าวสาลีหรือเมล็ดพืชอย่างอื่นที่ท่านหว่านลงไปนั้นเป็นเพียงเมล็ด มิใช่ลำต้นที่จะงอกขึ้น [...] สิ่งที่หว่านลงไปนั้นเน่าเปื่อย แต่สิ่งที่กลับคืนชีพนั้นไม่เน่าเปื่อยอีก [...] ผู้ตายจะกลับคืนชีพอย่างไม่เน่าเปื่อย [...] ร่างกายที่เน่าเปื่อยได้นี้จะต้องสวมใส่ความไม่เน่าเปื่อยและร่างกายที่ต้องตายนี้จะต้องสวมใส่ความไม่รู้จักตาย” (1คร 15:35-37,42,52-53)

 1000   “วิธีการที่ว่าการกลับคืนชีพเกิดขึ้นได้อย่างไร” นี้อยู่เหนือจินตนาการและความเข้าใจของเรา เราเข้าถึงได้ด้วยความเชื่อเท่านั้น แต่การที่เรามีส่วนร่วมในศีลมหาสนิทก็เป็นการชิมลางแล้วถึงการที่ร่างกายของเราจะรับความรุ่งโรจน์โดยทางพระคริสตเจ้า

              “เมื่อขนมปังที่มาจากดินได้รับการเรียกพระพรจากพระเจ้าแล้วไม่ใช่ขนมปังธรรมดาอีกต่อไป แต่เป็นศีลมหาสนิทที่ประกอบด้วยสององค์ประกอบจากแผ่นดินและจากสวรรค์ฉันใด ร่างกายของเราที่รับ  ศีลมหาสนิทก็ไม่ใช่ร่างกายที่เสื่อมสลายได้ แต่มีความหวังของการกลับคืนชีพฉันนั้น”[577]

 1001   กลับคืนชีพเมื่อไร?  การกลับคืนชีพจะเกิดขึ้นอย่างเด็ดขาด “ในวันสุดท้าย” (ยน 6:30-40,44,54; 11:24) “เมื่อสิ้นพิภพ”[578] ใช่แล้ว การกลับคืนชีพของผู้ตายต่อเนื่องอย่างใกล้ชิดกับการเสด็จกลับมาอย่างรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้า

              “เพราะองค์พระผู้เป็นเจ้าจะเสด็จลงมาจากสวรรค์ตามพระบัญชา เมื่อมีเสียงหัวหน้าทูตสวรรค์และเสียงแตรของพระเจ้า บรรดาผู้ตายในพระคริสตเจ้าจะกลับคืนชีพก่อน” (1 ธส 4:16)


กลับคืนชีพพร้อมกับพระคริสตเจ้า

 1002   ถ้าเป็นความจริงว่าพระคริสตเจ้าจะทรงปลุกเราให้กลับคืนชีพ “ในวันสุดท้าย” ก็เป็นความจริงด้วยว่าเราก็ได้กลับคืนชีพอย่างหนึ่งพร้อมกับพระคริสตเจ้าแล้วด้วย อันที่จริง ชีวิตคริสตชนก็เป็นการมีส่วนร่วมในการสิ้นพระชนม์และกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าแล้วด้วยเดชะพระจิตเจ้า

             “เมื่อรับศีลล้างบาป ท่านทั้งหลายถูกฝังพร้อมกับพระคริสตเจ้าและกลับคืนชีพพร้อมกับพระองค์ด้วยความเชื่อในพระเดชานุภาพของพระเจ้าผู้ทรงบันดาลให้พระคริสตเจ้ากลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย […] ดังนั้น ถ้าท่านทั้งหลายกลับคืนชีพพร้อมกับพระคริสตเจ้าแล้ว ก็จงใฝ่หาแต่สิ่งที่อยู่เบื้องบนเถิด ณ ที่นั้นพระคริสตเจ้าประทับเบื้องขวาของพระเจ้า” (คส 2:12; 3:1)

 1003   บรรดาผู้มีความเชื่อซึ่งรวมอยู่กับพระคริสตเจ้าอาศัยศีลล้างบาปก็มีส่วนร่วมโดยแท้จริงกับพระชนมชีพในสวรรค์ของพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว[579] แต่ชีวิตนี้ยังคง “ซ่อนอยู่กับพระคริสตเจ้าในพระเจ้า (คส 3:3) พระองค์ “โปรดให้เรากลับคืนชีพและโปรดให้เรามีที่นั่งในสวรรค์พร้อมกับพระคริสตเยซู” (อฟ 2:6) เราได้รับศีลมหาสนิทเป็นอาหารเลี้ยงดู เป็นพระกายส่วนหนึ่งของพระองค์แล้ว เมื่อเราจะกลับคืนชีพในวันสุดท้าย “เวลานั้นเราก็จะปรากฏพร้อมกับพระองค์ในพระสิริรุ่งโรจน์ด้วย” (คส 3:4)

 1004   ขณะที่ยังรอคอยวันนี้ ร่างกายและวิญญาณของผู้มีความเชื่อก็มีส่วนร่วมแล้วที่จะอยู่ “ในพระคริสตเจ้า” ดังนั้น จึงจำเป็นต้องให้ความเคารพต่อร่างกายของตนและร่างกายของผู้อื่นด้วย โดยเฉพาะผู้ที่กำลังทนทุกข์

             “ร่างกายมีไว้ […] สำหรับองค์พระผู้เป็นเจ้า และองค์พระผู้เป็นเจ้ามีไว้สำหรับร่างกาย พระเจ้าผู้ทรงบันดาลให้องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพ  จะทรงบันดาลให้เรากลับคืนชีพด้วยพระอานุภาพของพระองค์เช่นเดียวกัน ท่านไม่รู้หรือว่าร่างกายของท่านเป็นส่วนประกอบของพระวรกายของพระคริสตเจ้า […] ท่านจึงไม่เป็นเจ้าของของตนเอง […] ดังนั้น จงใช้ร่างกายของท่านถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าเถิด” (1 คร 6:13-15,19-20)

 

[562] เทียบ 2 มคบ 7:29; ดนล 12:1-3.             

[563] เทียบ กจ 23:6.            

[564] เทียบ ยน 11:24.           

[565] เทียบ ยน 5:24-25; 6:40.   

[566] เทียบ ยน 6:54.            

[567] เทียบ มก 5:21-43; ลก 7:11-17; ยน 11.        

[568] เทียบ มธ 12:39.           

[569] เทียบ ยน 2:19-22.         

[570] เทียบ มก 10:34.           

[571] เทียบ กจ 4:33.             

[572] เทียบ กจ 17:32; 1 คร 15:12-13.

[573] Sanctus Augustinus, Enarratio in Psalmum 88, 2, 5: CCL 39, 1237 (PL 37, 1134).

[574] เทียบ ดนล 12:12.          

[575] Concilium Lateranense IV, Cap. 1, De fide catholica: DS 801.   

[576] เทียบ ฟป 3:21.             

[577] Sanctus Irenaeus Lugdunensis, Adversus haereses  4, 18, 5: SC 100, 610-612 (PG 7, 1028-1029).  

[578] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 48: AAS 57 (1965) 54.  

[579] เทียบ กท 3:20.            

II. ตายในพระคริสตเจ้า

II.  ตายในพระคริสตเจ้า

 1005 เพื่อจะกลับคืนชีพพร้อมกับพระคริสตเจ้า เราต้องตายพร้อมกับพระคริสตเจ้า เราต้อง “ถูกเนรเทศจากร่างกายและไปอยู่กับองค์พระผู้เป็นเจ้า” (2 คร 5:8) ในการเนรเทศ[580] ซึ่งหมายถึงความตาย วิญญาณแยกจากร่างกาย วิญญาณจะรวมกับร่างกายอีกครั้งหนึ่งในวันที่บรรดาผู้ตายจะกลับคืนชีพ[581]

ความตาย

 1006 “สถานภาพของมนุษย์กลายเป็นปัญหายิ่งใหญ่ที่สุดเมื่อต้องเผชิญความตาย”[582] ในความหมายหนึ่ง ความตายของร่างกายเป็นเรื่องตามธรรมชาติ แต่สำหรับความเชื่อแล้ว “ความตายเป็นค่าตอบแทนที่ได้จากบาป” (รม 6:23)[583] และสำหรับผู้ที่ตายในพระหรรษทานของพระคริสตเจ้า ความตายเป็นการมีส่วนร่วมในความตายของพระคริสตเจ้า เพื่อจะมีส่วนในการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ได้ด้วย”[584]

 1007  ความตายเป็นจุดจบของชีวิตในโลก ชีวิตของเราวัดได้ด้วยเวลา เราเปลี่ยนแปลงและแก่ชราไปตามเวลาที่ผ่านไปเช่นเดียวกับสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายในโลกนี้ ความตายจึงดูเหมือนเป็นจุดจบตามปกติของชีวิต ลักษณะนี้ของความตายเป็นความเร่งรัดสำหรับชีวิตของเรา การระลึกว่าเราทุกคนต้องตายช่วยให้เราระลึกว่าเรามีเวลาจำกัดเพื่อทำให้ชีวิตของเรามีความหมาย

            “จงระลึกถึงพระผู้สร้างของท่านขณะที่ท่านยังเยาว์วัย ก่อนที่ […] ร่างกายของท่านจะกลายเป็นฝุ่นดินดังเดิม และลมปราณจะกลับไปหาพระเจ้าผู้ประทานลมปราณแก่ท่าน” (ปญจ 12:1,7)

 1008  ความตายเป็นผลจากบาป  อำนาจสอนของพระศาสนจักรซึ่งมีอำนาจอธิบายพระคัมภีร์[585] และอธิบายความหมายของธรรมประเพณีได้อย่างถูกต้อง สอนว่าความตายเข้ามาในโลกเพราะบาปของมนุษย์[586] แม้ว่ามนุษย์มีธรรมชาติที่ตายได้ พระเจ้าก็ได้ทรงกำหนดไว้ให้ไม่ต้องตาย ความตายจึงตรงข้ามกับแผนการของพระเจ้าผู้ทรงเนรมิตสร้างและเข้ามาในโลกในฐานะผลตามมาของบาป[587] “ความตายทางกายที่มนุษย์อาจไม่ต้องประสบถ้าไม่ได้ทำบาป”[588] ยังเป็น “ศัตรูสุดท้าย” (1 คร 15:26)  ที่จะต้องถูกปราบลงด้วย

 1009  ความตายถูกพระคริสตเจ้าเปลี่ยนรูปไป พระเยซูเจ้า พระบุตรพระเจ้า ทรงยอมรับความตายในฐานะที่เป็นสภาพเฉพาะของมนุษย์ด้วย แต่พระองค์ แม้จะทรงหวาดกลัวเมื่อต้องเผชิญความตาย[589] ก็ได้ทรงยอมรับความตายตามพระประสงค์ของพระบิดาโดยอิสระเสรีอย่างสมบูรณ์ ความเชื่อฟังของพระเยซูเจ้าได้เปลี่ยนความตายซึ่งเป็นการสาปแช่งให้กลายเป็นพระพร[590]

 

 ความหมายของความตายของคริสตชน

 1010   อาศัยพระคริสตเจ้า ความตายของคริสตชนมีความหมายด้านบวก “ข้าพเจ้าคิดว่าการมีชีวิตอยู่ก็คือพระคริสตเจ้า และการตายก็เป็นกำไร” (ฟป 1:21) “ต่อไปนี้คือถ้อยคำที่เชื่อถือได้ ถ้าเราตายพร้อมกับพระองค์ เราจะมีชีวิตอยู่กับพระองค์” (2 ทธ 2:11) ความใหม่ที่เป็นสาระสำคัญของความตายของคริสตชนอยู่ที่ตรงนี้คือ คริสตชนโดยศีลล้างบาปก็ “ตายพร้อมกับพระคริสตเจ้า”ตามความหมายของศีลศักดิ์สิทธิ์แล้ว เพื่อจะดำเนินชีวิตด้วยชีวิตใหม่ ถ้าเราตายในพระหรรษทานของพระคริสตเจ้า ความตายทางร่างกายทำให้  “การตายพร้อมกับพระคริสตเจ้า” สำเร็จไปและดังนี้ก็ทำให้ความตายของเรากลายเป็นการร่วมกิจการไถ่กู้ของพระองค์โดยสมบูรณ์

               “สำหรับข้าพเจ้า การตายเข้าร่วมกับ (eis) พระเยซูคริสตเจ้านั้นดีกว่าได้เป็นเจ้าปกครองจนสุดปลายแผ่นดิน ข้าพเจ้าแสวงหาพระองค์ผู้สิ้นพระชนม์เพื่อพวกเรา ข้าพเจ้าปรารถนาพระองค์ผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพเพราะเห็นแก่พวกเรา ข้าพเจ้ากำลังจะจากไปแล้ว […] ท่านทั้งหลายจงปล่อยให้ข้าพเจ้าได้รับแสงสว่างบริสุทธิ์เถิด เมื่อข้าพเจ้าจะไปถึงที่นั่นแล้ว ข้าพเจ้าก็จะเป็นมนุษย์”[591]

 1011  พระเจ้าทรงเรียกมนุษย์เมื่อตายไปหาพระองค์ เพราะเหตุนี้ คริสตชนจึงอาจมีความรู้สึกถึงความปรารถนาเกี่ยวกับความตายเหมือนกับความปรารถนาของนักบุญเปาโลได้ “ข้าพเจ้าปรารถนาจะพ้นจากชีวิตนี้ไปเพื่ออยู่กับพระคริสตเจ้า” (ฟป 1:23) และเปลี่ยนแปลงความตายของตนให้กลายเป็นกิจการแสดงความเชื่อฟังและความรักต่อพระบิดาตามพระฉบับแบบของพระคริสตเจ้า[592]

            “ความรักของข้าพเจ้าถูกตรึงบนไม้กางเขนแล้ว […] มีน้ำไหลและพูดในตัวข้าพเจ้า กล่าวภายในข้าพเจ้าว่า ‘จงมาหาพระบิดาเถิด’”[593]

            “ข้าพเจ้าปรารถนาเห็นพระองค์ /  ข้าพเจ้าอยากตาย”[594]

            “ข้าพเจ้าไม่ตาย ข้าพเจ้ากำลังเข้าในชีวิต”[595]

 1012   มุมมองความตายของคริสตชน[596] ปรากฏชัดเจนในพิธีกรรมของพระศาสนจักร

             “พระเจ้าข้า สำหรับผู้มีความเชื่อในพระองค์ ชีวิตมิได้สูญหาย แต่กลับกลายเป็นชีวิตใหม่ และเมื่อร่างกายในโลกนี้สลายไป ก็จะพบที่พำนักนิรันดรในสวรรค์”[597]

 1013    ความตายเป็นจุดจบของการเดินทางของมนุษย์ในโลกนี้ เป็นจุดจบของเวลาแห่งพระหรรษทานและพระกรุณาที่พระเจ้าประทานให้เขาเพื่อเขาจะได้ดำเนินชีวิตในโลกนี้ตามแผนการของพระเจ้าและกำหนดชะตากรรมสุดท้ายของตน “เมื่อจบวิถีชีวิตหนึ่งเดียวของเราในโลกนี้แล้ว”[598] เราจะไม่กลับมารับชีวิตอื่นๆ ในโลกนี้อีก “มนุษย์ถูกกำหนดให้ตายเพียงครั้งเดียว” (ฮบ 9:27) ไม่มี “การเวียนว่ายตายเกิด” อีกหลังจากความตาย

 1014   พระศาสนจักรเตือนเราให้เตรียมตัวสำหรับเวลาที่เราจะตาย (ดังที่บทร่ำวิงวอนโบราณต่อนักบุญทั้งหลายกล่าวไว้ว่า “จากความตายฉับพลันโดยไม่คาดฝัน ขอช่วยให้พ้นเถิด พระเจ้าข้า”) ขอให้พระมารดาของพระเจ้าทรงภาวนาวอนขอเพื่อเรา “เมื่อจะตาย” (บท “วันทามารีย์”) พระศาสนจักรยังเตือนเราให้มอบตนแก่นักบุญโยเซฟผู้อุปถัมภ์ให้ตายดี

              “ดังนั้นในทุกการกระทำและความคิดท่านต้องคิดประหนึ่งว่าท่านจะต้องตายทันทีในขณะนี้ ถ้าท่านมีมโนธรรมที่ดี ท่านก็คงไม่ต้องกลัวความตายมากนัก น่าจะเป็นการดีที่จะระวังตัวหลีกหนีบาปมากกว่าที่จะหลีกหนีความตาย ถ้าท่านยังไม่เตรียมพร้อมในวันนี้ ท่านจะเตรียมพร้อมพรุ่งนี้ได้อย่างไร”[599]

               “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า ขอพระองค์ทรงรับคำสรรเสริญเพราะความตายซึ่งเป็นเสมือนน้องสาวที่ไม่มีมนุษย์ที่ยังมีชีวิตคนใดอาจหนีพ้นได้ วิบัติแก่คนเหล่านั้นที่จะตายในบาปหนัก เขาเหล่านั้นเป็นสุข ผู้ที่ความตายพบเขากำลังปฏิบัติตามพระประสงค์ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระองค์ เพราะความตายครั้งที่สองจะไม่ทำร้ายเขา”[600]

 

[580] เทียบ ฟป 3:20.            

[581] Cf. Paulus VI, Sollemnis Professio fidei, 28: AAS 60 (1968) 444.

[582] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes,  18: AAS 58 (1966) 1038.

[583] เทียบ ปฐก 2:17.           

[584] เทียบ รม 6:3-9; ฟป 3:10-11.

[585] เทียบ ปฐก 2:17; 3:3,19; ปชญ 1:13; รม 5:12; 6:23.            

[586] Cf. Concilium Tridentinum, Sess. 5a, Decretum de peccato originali, canon 1: DS 1511.            

[587] เทียบ ปชญ 2:23-24.        

[588] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 18: AAS 58 (1966) 1038.

[589] เทียบ มก 14:33-34; ฮบ 5:7-8.

[590] เทียบ รม 5:19-21.          

[591] Sanctus Ignatius Antiochenus,  Epistula ad Romanos  6.1-2: SC 10bis, 114 (Funk 1, 258-260).     

[592] เทียบ ลก 23:46.           

[593] Sanctus Ignatius Antiochenus,  Epistula ad Romanos  7.2: SC 10bis, 114 (Funk 1, 260).           

[594] Sancta Theresia a Iesu, Poesia, 7: Biblioteca Mistica Carmelitana, v. 6 (Burgos 1919)  p. 86.      

[595] Sancta Theresia a Iesu Infante,  Lettre  (9 iunii 1897): Correspondance Générale, v. 2 (Paris 1973) p. 1015.        

[596] เทียบ 1 ธส 4:13-14.        

[597] Praefatio defunctorum I: Missale Romanum, editio typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1970) p. 439. 

[598] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 48: AAS 57 (1965) 54.  

[599] De imitatione Christi  1, 23, 5-8: ed. T. Lupo (Città del Vaticano) p. 70.         

[600] Sanctus Franciscus Assisiensis, Canticum Fratris Solis: Opuscula sancti Patris Francisci Assisiensis, ed. C. Esser (Grotaferrata   1978) p. 85-86.                        

สรุป

สรุป

 1015    “ร่างกายเป็นเดือยแห่งความรอดพ้น”[601] เราเชื่อในพระเจ้าผู้ทรงเนรมิตสร้างร่างกาย เราเชื่อในพระวจนาตถ์ผู้ทรงรับสภาพมนุษย์เพื่อไถ่มนุษย์ให้รอดพ้น เราเชื่อในการกลับคืนชีพของร่างกาย ซึ่งเป็นจุดยอดของการเนรมิตสร้างและการไถ่กู้

 1016    วิญญาณแยกจากร่างกายเมื่อตาย แต่ในการกลับคืนชีพ พระเจ้าจะทรงคืนชีวิตที่ไม่มีวันเสื่อมสลายให้แก่ร่างกายของเราที่เปลี่ยนสภาพแล้ว ทรงบันดาลให้ร่างกายมารวมกับวิญญาณของเราอีก เราทุกคนจะกลับคืนชีพในวันสุดท้ายเหมือนกับที่พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพและทรงชีวิตอยู่ตลอดนิรันดร

 1017    “เราเชื่อ […] ว่าร่างกายที่เรามีอยู่เวลานี้จะกลับคืนชีพจริงๆ”[602] ร่างกายที่หว่านลงไปในหลุมศพเป็นร่างกายที่เน่าเปื่อยได้ แต่ร่างกายที่กลับคืนชีพนั้นไม่เน่าเปื่อยอีก[603] เป็น “ร่างกายที่มีพระจิตเจ้าเป็นชีวิต” (1 คร 15:44)

 1018    เป็นผลตามมาจากบาปกำเนิด มนุษย์ต้องประสบความตายของร่างกายซึ่งถ้าเขาไม่ได้ทำบาป เขาคงไม่ต้องประสบ[604]

 1019    พระเยซู พระบุตรของพระเจ้า ทรงยอมรับความตายอย่างอิสระ ยินดีเชื่อฟังและปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้า พระบิดาของพระองค์โดยสิ้นเชิง โดยการสิ้นพระชนม์พระองค์ทรงชัยชนะเหนือความตาย และดังนี้จึงทรงเปิดโอกาสให้มนุษย์ทุกคนเข้าถึงความรอดพ้นได้

 

[601] Tertullianus, De resurrectione mortuorum 8, 2: CCL 2, 931 (PL 2, 852).         

[602] Concilium  Lugdunense II, Professio fidei Michaelis Palaeologi imperatoris: DS 854.

[603] เทียบ 1 คร 15:42.          

[604] Concilium Vaticanum II, Const. past.  Gaudium et spes, 18: AAS 58 (1966) 1038.