ตอนที่ 12

ข้าพเจ้าเชื่อถึงชีวิตนิรันดร

 1020   คริสตชนที่นำความตายของตนมารวมกับการสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้าย่อมเห็นว่าความตายเป็นเสมือนการเข้าไปหาพระองค์และเข้าไปสู่ชีวิตนิรันดร เมื่อพระศาสนจักรกล่าวพระวาจาของพระคริสตเจ้าอภัยบาปคริสตชนที่กำลังจะตายเป็นครั้งสุดท้ายนั้น พระศาสนจักรยังให้กำลังเขาเป็นครั้งสุดท้ายด้วยการเจิม และยังให้เขารับพระคริสตเจ้าในศีลเสบียงเป็นดังเสบียงอาหารในการเดินทางโดยกล่าวกับเขาอย่างอ่อนโยนให้มีความมั่นใจดังนี้

              “วิญญาณคริสตชนเอ๋ย จงออกไปจากโลกนี้เดชะพระนามพระเจ้าพระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพ ผู้ทรงเนรมิตสร้างท่าน จงออกไปเดชะพระนามพระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต พระองค์ทรงรับทรมานเพื่อท่าน จงออกไปเดชะพระนามพระจิตเจ้า ที่พระเจ้าทรงหลั่งลงเหนือท่าน ในวันนี้ขอให้ท่านมีที่พำนักในสันติ ขอให้ท่านพำนักอยู่กับพระเจ้าในศิโยนนครศักดิ์สิทธิ์ พร้อมกับพระนางพรหมจารีมารีย์พระมารดาพระเจ้า พร้อมกับนักบุญโยเซฟ บรรดาทูตสวรรค์และผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายของพระเจ้า […] ขอให้ท่านกลับไปหาพระผู้เนรมิตสร้างท่านจากฝุ่นดิน ดังนั้น เมื่อท่านออกจากชีวิตนี้ ขอให้พระนางมารีย์ บรรดาทูตสวรรค์และผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายมาต้อนรับท่าน […] ขอให้ท่านได้ชมพระพักตร์พระผู้ไถ่ของท่านโดยตรง และขอให้ท่านได้พิศเพ่งพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าตลอดนิรันดร”[605]

 

[605] Ordo Unctonis infirmorum eorumque pastoralis curae, Ordo commendationis morientium, 146-147, editio typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1972). P. 60-61.

I. การพิพากษาทีละคน

I.  การพิพากษาทีละคน

 1021   ความตายทำให้ชีวิตของมนุษย์ในฐานะที่เป็นเวลาเปิดไว้เพื่อจะรับหรือไม่ยอมรับพระหรรษทานที่พระเจ้าทรงเปิดเผยให้เห็นในพระคริสตเจ้า[606] พันธสัญญาใหม่กล่าวถึงการพิพากษาโดยเฉพาะเมื่อกล่าวถึงการพบกับพระคริสตเจ้าเมื่อจะเสด็จมาเป็นครั้งที่สอง แต่หลายครั้งก็ยังกล่าวถึงการตอบแทนการกระทำของแต่ละคนทันทีหลังจากความตายโดยสัมพันธ์กับกิจการและความเชื่อของเขา นิทานเปรียบเทียบเรื่องยาจกลาซารัส[607] และพระดำรัสของพระคริสตเจ้ากับโจรที่กลับใจบนไม้กางเขน[608] เช่นเดียวกับข้อความอื่นอีกหลายตอนในพันธสัญญาใหม่[609]กล่าวถึงชะตากรรมสุดท้ายของวิญญาณ[610] ซึ่งอาจแตกต่างกันสำหรับแต่ละคน

 1022   เมื่อเขาตาย มนุษย์แต่ละคนก็รับรางวัลนิรันดรของตนในวิญญาณที่ไม่รู้จักตายแล้วในการพิพากษาแต่ละคนที่นำชีวิตของเขาไปหาพระคริสตเจ้า โดยผ่านการชำระ[611] หรือเพื่อเข้าในความสุขของสวรรค์ทันที[612] หรือเพื่อไปรับโทษตลอดนิรันดรทันที[613]

             “เมื่อถึงเวลาสายัณห์แห่งชีวิต เขาจะตรวจสอบท่านเกี่ยวกับความรัก”[614]

 

[606] เทียบ 2 ทธ 1:9-10.         

[607] เทียบ ลก 16:22.           

[608] เทียบ ลก 23:43.           

[609] เทียบ  2 คร 5:8; ฟป 1:23; ฮบ 9:27; 12:23.  

[610] เทียบ มธ 16:26.            

[611] Cf. Concilium Lugdunense II, Professio fidei Michaelis Palaeologi imperatoris:  DS 856; Concilium Florentinum, Decretum pro Graecis: DS 1304; Concilium Tridentinum, Sess. 25a, Decretum de purgatorio: DS 1820.           

[612] Cf. Concilium Lugdunense II, Professio fidei Michaelis Palaeologi imperatoris:  DS 857; Ioannes XXII, Bulla Ne super his: DS 991; Benedictus XII, Const. Benedictus Deus: DS 1000-1001; Concilium Florentinum,  Decretum pro Graecis: DS 1305.  

[613] Cf. Concilium Lugdunense II, Professio fidei Michaelis Palaeologi imperatoris:  DS 858; Benedictus XII, Const. Benedictus Deus: DS 1002; Concilium Florentinum,  Decretum pro Graecis: DS 1306.         

[614] Sanctus Ioannes a Cruce, Avisos y sentencias, 57: Biblioteca Mistica Carmelitana, v. 13 (Burgos 1931) p. 238.      

II. สวรรค์

II.  สวรรค์

 1023 ผู้ที่ตายในหรรษทานและมิตรภาพกับพระเจ้าและผู้ที่ได้รับการชำระอย่างสมบูรณ์แล้วย่อมมีชีวิตกับพระคริสตเจ้าตลอดนิรันดร เขาจะเป็นเหมือนพระเจ้าตลอดนิรันดรเพราะเขาจะได้เห็นพระองค์ “อย่างที่พระองค์ทรงเป็น” (1 ยน 3:2) “เหมือนพระองค์ทรงอยู่ต่อหน้า” (1 คร 13:12)[615]

          “โดยอำนาจที่ได้รับจากบรรดาอัครสาวก เราขอประกาศดังต่อไปนี้ว่า ตามแผนการณ์ทั่วไปของพระเจ้าวิญญาณของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ […] และของบรรดาผู้มีความเชื่อผู้ล่วงลับไปแล้วหลังจากที่ได้รับศีลล้างบาปของพระคริสตเจ้า และไม่มีอะไรจะต้องรับการชำระอีกเมื่อจากโลกนี้ไปแล้ว […] หรือเมื่อได้รับการชำระหลังจากที่ตายไปแล้ว ถ้าเขายังมีอะไรที่จะต้องรับการชำระอยู่อีก […] แม้ก่อนที่เขาจะรับร่างกายกลับคืนมาและผ่านการพิพากษาประมวลพร้อมหลังการเสด็จสู่สวรรค์ของพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา เขาก็ได้อยู่ กำลังอยู่ และจะอยู่ในสวรรค์ ในพระอาณาจักรสวรรค์และความบรมสุขในสวรรค์พร้อมกับพระคริสตเจ้าร่วมกับบรรดาทูตสวรรค์ผู้ศักดิ์สิทธิ์  และหลังจากพระทรมานและการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า เขาก็ได้เห็นและกำลังเห็นพระเจ้าโดยตรงประหนึ่งทรงอยู่ต่อหน้าอย่างที่ทรงเป็นอยู่โดยไม่ต้องผ่านสิ่งสร้างใดๆ”[616]

 1024   เราเรียกชีวิตที่สมบูรณ์เช่นนี้พร้อมกับพระตรีเอกภาพศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง การร่วมชีวิตกับพระองค์ กับพระนางมารีย์พรหมจารี กับบรรดาทูตสวรรค์และผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายนี้ว่า “สวรรค์” สวรรค์เป็นจุดหมายสุดท้ายและความสำเร็จบริบูรณ์ของความกระหายที่ลึกซึ้งของมนุษย์ เป็นสภาพความสุขสุดยอดและเด็ดขาดที่คงอยู่ตลอดไป

 1025   มีชีวิตอยู่ในสวรรค์ก็คือ “อยู่กับพระคริสตเจ้า”[617] บรรดาผู้รับเลือกสรรมีชีวิตอยู่ “ในพระองค์” แต่ที่นั่นก็ยังรักษา ยิ่งกว่านั้นยังพบอัตลักษณ์เฉพาะของตน นามเฉพาะของตนด้วย[618]

             “เพราะชีวิตก็คือการอยู่กับพระคริสตเจ้า เพราะพระคริสตเจ้าทรงอยู่ที่ใด พระอาณาจักรก็อยู่ที่นั่น”[619]

 1026  พระเยซูคริสตเจ้าทรง “เปิด” สวรรค์ให้เราโดยการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ ชีวิตของบรรดาผู้รับความสุขในสวรรค์อยู่ที่การได้รับผลการไถ่กู้อย่างเต็มที่ตามที่พระคริสตเจ้าทรงทำให้สำเร็จแล้ว พระองค์ทรงทำให้ผู้ที่มีความเชื่อในพระองค์และยังคงซื่อสัตย์ต่อพระประสงค์ได้มีส่วนร่วมกับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ในสวรรค์ สวรรค์เป็นชุมชนของทุกคนที่ร่วมส่วนเป็นพระวรกายเดียวกับพระองค์อย่างสมบูรณ์

 1027  พระธรรมล้ำลึกประการนี้เรื่องการร่วมความบรมสุขกับพระเจ้าและกับทุกคนที่อยู่ในพระคริสตเจ้าอยู่เหนือความเข้าใจและการบรรยายทุกอย่าง พระคัมภีร์บอกเรื่องนี้กับเราเป็นภาพพจน์ เช่น ชีวิต แสงสว่าง สันติภาพ งานเลี้ยงในงานมงคลสมรส  เหล้าองุ่นของพระอาณาจักร บ้านของพระบิดา นครเยรูซาเล็มแห่งสวรรค์ สวนสวรรค์ ฯลฯ “สิ่งที่ตาไม่เคยเห็นและหูไม่เคยได้ยิน และจิตใจของมนุษย์คิดไม่ถึง คือสิ่งที่พระเจ้าทรงเตรียมไว้สำหรับผู้ที่รักพระองค์” (1 คร 2:9)

 1028  เนื่องจากโลกุตรภาพของพระองค์ เราไม่อาจแลเห็นพระเจ้าได้อย่างที่ทรงเป็นนอกจากเมื่อพระองค์ทรงเปิดเผยพระธรรมล้ำลึกของพระองค์นี้ให้มนุษย์พิศเพ่งได้โดยตรงและประทานความสามารถพิเศษให้เขา พระศาสนจักรเรียกการพิศเพ่งพระเจ้าในพระสิริรุ่งโรจน์แห่งสวรรค์เช่นนี้ว่า “การแลเห็นที่บันดาลความสุข” (beatific vision)

            “จะเป็นความรุ่งโรจน์อะไรและความยินดียิ่งใหญ่เพียงไรที่ท่านจะได้รับอนุญาตให้แลเห็น ได้รับเกียรติให้รับความยินดีที่จะได้รับความรอดพ้นและแสงสว่างนิรันดรร่วมกับพระคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่าน [...] มีความยินดีในความสุขพร้อมกับบรรดาผู้ชอบธรรมและมิตรสหายของพระเจ้าในพระอาณาจักรสวรรค์”[620]

 1029  ในสิริรุ่งโรจน์แห่งสวรรค์ บรรดาผู้มีความสุขยังคงยินดีปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้าต่อไปในความสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่นๆ และสิ่งสร้างในจักรวาล เขาร่วมครองราชย์แล้วกับพระคริสตเจ้ากับพระองค์ “เขาจะครองราชย์อยู่ตลอดนิรันดร” (วว 22:5)[621]

 

[615] เทียบ วว 22:4.             

[616] Benedictus XII, Const. Benedictus Deus: DS 1000; cf. Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 49: AAS 57 (1965) 54. 

[617] เทียบ ยน 14:3; ฟป 1:23; 1 ธส 4:17.          

[618] เทียบ วว 2:17.              

[619] Sanctus Ambrosius, Expositio evangelii secundum Lucam 10, 121: CCL 14, 379 (PL 15, 1927).     

[620] Sanctus Cyprianus Carthaginiensis, Epistula 58, 10: CSEL 3/2, 665 (56, 10: PL 4, 367-368).      

[621] เทียบ มธ 25:21,23.         

III. การชำระครั้งสุดท้ายหรือ “แดนชำระ”

III.  การชำระครั้งสุดท้ายหรือแดนชำระ

 1030    ผู้ที่สิ้นชีวิตในพระหรรษทานและมิตรภาพกับพระเจ้า และยังไม่ได้รับการชำระอย่างสมบูรณ์ แม้จะแน่ใจได้ว่าตนจะรับความรอดพ้นนิรันดร เมื่อตายแล้วยังต้องรับการชำระเพื่อรับความศักดิ์สิทธิ์ที่จำเป็นเพื่อจะเข้าในความยินดีแห่งเมืองสวรรค์ได้

 1031   พระศาสนจักรเรียกการชำระผู้รับเลือกสรรเหล่านี้เป็นครั้งสุดท้ายว่า “แดนชำระ”(“purgatorium” ที่เคยแปลกันว่า “ไฟชำระ”) ที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับโทษของผู้ถูกสาปแช่งตลอดนิรันดร พระศาสนจักรกำหนดคำสอนความเชื่อเกี่ยวกับ “แดนชำระ” นี้ไว้ โดยเฉพาะในสภาสังคายนาที่เมืองฟลอเรนซ์[622] และที่เมืองเตรนท์[623] ธรรมประเพณีของพระศาสนจักรกล่าวถึง “ไฟที่ชำระ” โดยอ้างถึงข้อความบางตอนของพระคัมภีร์[624]

             “เกี่ยวกับความผิดเบาบางประการ เราต้องเชื่อถึงไฟที่ชำระความผิดเหล่านี้ก่อนการพิพากษา เพราะองค์ความจริงเคยตรัสไว้ว่าถ้าผู้ใดกล่าวดูหมิ่นพระจิตเจ้า เขาจะไม่ได้รับอภัยทั้งในโลกนี้และโลกหน้า (มธ 12:32) จากประโยคนี้จึงเข้าใจได้ว่าความผิดบางประการอาจได้รับอภัยในโลกนี้ บางประการอาจได้รับอภัยในโลกหน้า”[625]

 1032   คำสอนเรื่องนี้ยังได้รับการยืนยันจากธรรมเนียมการภาวนาอุทิศแก่ผู้ล่วงลับซึ่งพระคัมภีร์ก็มีกล่าวไว้แล้วด้วย “(ยูดาส มัคคาบี)จึงสั่งให้ถวายเครื่องบูชาชดเชยบาปของผู้ตายเพื่อจะได้พ้นจากบาป” (2 มคบ 12:45) นับตั้งแต่สมัยแรกแล้ว พระศาสนจักรให้เกียรติระลึกถึงผู้ล่วงลับและถวายคำอธิษฐานภาวนาอุทิศแก่เขา โดยเฉพาะถวายบูชาขอบพระคุณ[626] เพื่อให้เขารับการชำระอาจเข้าถึงความบรมสุขในการชมพระพักตร์พระเจ้าได้ พระศาสนจักรยังสนับสนุนการบริจาคทาน การรับพระคุณการุณย์ และประกอบกิจการชดเชยบาปอุทิศแก่ผู้ล่วงลับด้วย

             “ดังนั้น ให้เราช่วยเหลือและระลึกถึงพวกเขา ถ้าการถวายบูชาของบิดาได้ชดเชยความผิดที่บรรดาบุตรของโยบทำไว้[627] ทำไมท่านจึงสงสัยว่าการถวายบูชาของเราสำหรับผู้ล่วงลับจะนำความบรรเทามาให้เขาบ้างหรือไม่ […] เราจงอย่าลังเลใจเลยที่จะช่วยเหลือบรรดาผู้ล่วงลับและถวายคำอธิษฐานภาวนาอุทิศแก่เขา”[628]

 

[622] Cf. Concilium Florentinum, Decretum pro Graecis: DS 1304.    

[623] Cf. Concilium Tridentinum, Sess. 25a, Decretum de purgatorio:  DS 1820, Sess. 6a, Decretum de iustificatione, canon 30: DS 1580.   

[624] ตัวอย่างเช่น  1 คร 3:15; 1 ปต 1:7.           

[625] Sanctus Gregorius Magnus, Dialogi  4, 41, 3: SC 265, 148 (4, 39: PL 77, 396). 

[626] Cf. Concilium Lugdunense II, Professio fidei Michaelis Palaeologi imperatoris:  DS 856.           

[627] เทียบ โยบ 1:5.             

[628] Sanctus Ioannes Chrysostomus, In epistulam I ad Corinthios homilia 41, 5: PG 61, 361.

IV. นรก

IV. นรก

 1033 เราไม่อาจเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าได้นอกจากเราจะได้เลือกที่จะรักพระองค์โดยอิสระเสรี แต่เราก็ไม่อาจรักพระเจ้าได้ถ้าเราทำบาปหนักผิดต่อพระองค์ ต่อเพื่อนพี่น้องของเรา หรือต่อตัวเราเอง “ผู้ใดไม่มีความรักย่อมดำรงอยู่ในความตาย ทุกคนที่เกลียดชังพี่น้องของตนย่อมเป็นฆาตกร และท่านก็รู้ว่าไม่มีฆาตกรคนใดมีชีวิตนิรันดรอยู่ในตน” (1 ยน 3:14-15) องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเตือนเราว่าเราจะถูกแยกจากพระองค์ถ้าเราละเลยไม่ตอบสนองความต้องการเรื่องสำคัญๆ ของบรรดาผู้ยากจนและผู้ต่ำต้อยซึ่งเป็นพี่น้องของพระองค์[629] การที่เราตายในบาปหนักโดยไม่ได้เป็นทุกข์กลับใจจากบาปนั้นและไม่ยอมรับความรักทรงพระกรุณาของพระเจ้าหมายความว่า เพราะการเลือกของเราโดยอิสระเสรีเราจะคงแยกจากพระองค์ตลอดนิรันดร สภาพการแยกตนเองจากความสัมพันธ์กับพระเจ้าและกับบรรดาผู้มีความสุขในสวรรค์เช่นนี้ได้ชื่อเรียกว่า “นรก”

 1034  พระเยซูเจ้าตรัสบ่อยๆ ถึง “เกเฮนนา – ขุมไฟที่ไม่รู้จักดับ”[630] ที่สงวนไว้สำหรับผู้ที่ปฏิเสธไม่ยอมเชื่อและกลับใจจนถึงปลายชีวิตของตนเมื่อวิญญาณและร่างกายอาจถูกทำลายได้[631] พระเยซูเจ้าทรงใช้พระวาจารุนแรงแจ้งว่า “บุตรแห่งมนุษย์จะใช้ทูตสวรรค์มารวบรวม [...] ทุกคนที่ประกอบการอธรรมให้ออกจากพระอาณาจักร แล้วเอาไปทิ้งในกองไฟ” (มธ 13:41-42) และพระองค์จะทรงประกาศคำตัดสินลงโทษ “ท่านทั้งหลายที่ถูกสาปแช่ง จงไปให้พ้น ลงไปในไฟนิรันดร” (มธ 25:41)

 1035   คำสอนของพระศาสนจักรยืนยันว่ามีนรกและนรกนี้คงอยู่ตลอดนิรันดร วิญญาณของผู้ที่ตายในสถานภาพบาป หลังจากความตายก็ลงไปในนรกและรับการทรมานของนรก คือ “ไฟนิรันดร”[632] ทันที โทษโดยเฉพาะของนรกอยู่ที่การแยกตลอดนิรันดรจากพระเจ้า ในพระองค์เพียงผู้เดียวเท่านั้นมนุษย์อาจมีชีวิตและความสุขที่เขาถูกเนรมิตสร้างมาเพื่อรับและที่เขาปรารถนาได้

 1036   ข้อความของพระคัมภีร์และคำสอนของพระศาสนจักรเรื่องนรกเป็นการเรียกร้องให้มีความรับผิดชอบที่มนุษย์ต้องใช้อิสรภาพโดยคำนึงถึงชะตากรรมนิรันดรของตน พร้อมกันนั้นยังเป็นการเร่งรัดเชิญชวนให้กลับใจอีกด้วย “จงเข้าทางประตูแคบ เพราะประตูและทางที่นำไปสู่หายนะนั้นกว้างขวาง คนที่เข้าทางนี้มีจำนวนมาก แต่ประตูและทางซึ่งนำไปสู่ชีวิตนั้นคับแคบ คนที่พบทางนี้มีจำนวนน้อย” (มธ 7:13-14)

              “เนื่องจากว่าเราไม่รู้วันเวลา องค์พระผู้เป็นเจ้าจึงทรงเตือนว่าเราจำเป็นต้องตื่นเฝ้าระวังตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อว่าเมื่อช่วงเวลาชีวิตในโลกนี้ของเราที่มีเพียงครั้งเดียวแล้ว เราจะได้เหมาะสมที่จะได้รับเชิญเข้าไปร่วมงานวิวาห์กับพระองค์และรวมอยู่ในจำนวนของบรรดาผู้ได้รับพระพรจากพระเจ้า ไม่ถูกสั่งเหมือนผู้รับใช้ที่เลวให้ต้องไปอยู่ในไฟนิรันดร ในที่มืดภายนอกที่จะมีแต่การร่ำไห้และขบฟันด้วยความขุ่นเคือง”[633]

 1037   พระเจ้าไม่ทรงกำหนดล่วงหน้าไว้ก่อนว่าผู้ใดต้องไปอยู่ในนรก[634] เพราะสำหรับการไปอยู่ในนรกได้นี้จำเป็นต้องมีการจงใจหันเหไปจากพระเจ้า (บาปหนัก) และดื้อดึงอยู่ในสภาพนั้นจนถึงที่สุด ในพิธีกรรมบูชาขอบพระคุณและในบทภาวนาประจำวันของบรรดาผู้มีความเชื่อ พระศาสนจักรวอนขอพระเมตตาของพระเจ้าผู้ไม่ทรงประสงค์ “ให้ผู้ใดต้องพินาศ แต่ทรงประสงค์ให้ทุกคนกลับใจเปลี่ยนวิถีชีวิต” (2 ปต 3:9)

              “ข้าแต่พระเจ้า โปรดกรุณารับเครื่องบูชานี้ที่ข้าพเจ้าทั้งหลายถวายร่วมกับข้ารับใช้ทั้งมวล โปรดบันดาลให้เกิดสันติสุขในยุคนี้ โปรดช่วยข้าพเจ้าทั้งหลายให้พ้นจากโทษนิรันดร ได้ร่วมอยู่ในจำนวนผู้ได้รับเลือกสรร”[635]

 

[629] เทียบ มธ 25:31-46.

[630] เทียบ มธ 5:22,29 ; 13:42,50; มก 9:43-48.

[631] เทียบ มธ 10:28.

[632] Cf. Symbolum Quicumque: DS 76; Synodus Constantinopolitana (anno 543), Anathematismi contra Origenem, 7: DS 409; Ibid., 9: DS 411; Concilium Lateranense IV, Cap. 1, De fide catholica: DS 801; Concilium Lugdunense II, Professio fidei Michaelis Palaeologi imperatoris:  DS 858; Benedictus XII, Const. Benedictus Deus: DS 1002; Concilium Florentinum,  Decretum pro Iacobitis: DS 1351; Concilium Tridentinum, Sess. 6a, Decretum de iustificatione, canon 25: DS 1575; Paulus VI, Sollemnis Professio fidei, 12: AAS 60 (198) 438.         

[633] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 48: AAS 57 (1965) 54.

[634] Cf. Concilium Arausicanum II, Conclusio: DS 397; Concilium Tridentinum, Sess. 6a, Decretum de iustificatione, canon 17: DS 1567

[635] Prex eucharistica I seu Canon Romanus, 88: Missale Romanum, editio typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1970) p. 450.

V. การพิพากษาครั้งสุดท้าย

V. การพิพากษาครั้งสุดท้าย

 1038   การกลับคืนชีพของบรรดาผู้ตาย “ทั้งผู้ชอบธรรมและคนอธรรม” (กจ 24:15) จะมาถึงก่อนการพิพากษาครั้งสุดท้าย แล้วจะถึง “เวลาที่ทุกคนในหลุมศพจะได้ยินพระสุรเสียง […] [ของบุตรแห่งมนุษย์] และจะออกมา ผู้ที่ได้ทำความดีจะกลับคืนชีพมารับชีวิตนิรันดร ส่วนผู้ที่ทำความชั่วก็จะกลับคืนชีวิตมารับโทษทัณฑ์” (ยน 5:28-29) แล้วพระคริสตเจ้า “จะเสด็จมาในพระสิริรุ่งโรจน์พร้อมกับบรรดาทูตสวรรค์ […] บรรดาประชาชาติจะมาชุมนุมกันเฉพาะพระพักตร์ พระองค์จะทรงแยกเขาออกเป็นสองพวกดังคนเลี้ยงแกะแยกแกะออกจากแพะ ให้แกะอยู่เบื้องขวา ส่วนแพะอยู่เบื้องซ้าย […] แล้วพวกนี้ก็จะไปรับโทษนิรันดร ส่วนผู้ชอบธรมจะไปรับชีวิตนิรันดร” (มธ 25:31-33,46)

 1039   พระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นความจริงจะทรงทราบแจ้งชัดถึงความจริงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของมนุษย์แต่ละคนกับพระเจ้า[636] การพิพากษาครั้งสุดท้ายจะเปิดเผยกิจการที่แต่ละคนได้ทำหรือละเว้นไม่ได้ทำตลอดช่วงเวลาของชีวิตในโลกนี้ รวมถึงผลสุดท้ายที่ตามมาด้วย

             “ทุกสิ่งที่คนชั่วทำและไม่รู้ถูกบันทึกไว้ เมื่อพระเจ้าของเราจะเสด็จมา พระองค์จะไม่ทรงนิ่งเงียบ (สดด 50:3) […] แล้วพระองค์จะทรงหันไปยังผู้ที่อยู่เบื้องซ้าย ตรัสว่า ‘เราได้จัดผู้ต่ำต้อยที่สุดของเราไว้ให้ท่านในโลก เราเป็นศีรษะ เรานั่งอยู่เบื้องขวาพระบิดาในสวรรค์ แต่ร่างกายส่วนต่างๆ ของเรายังลำบากอยู่ในโลกนี้ เขามีความขัดสนในโลก สิ่งใดที่ท่านให้แก่ร่างกายส่วนต่างๆ ของเราคงมาถึงศีรษะด้วย ถ้าท่านรู้ว่าเมื่อเราได้จัดให้ผู้ต่ำต้อยที่สุดของเรามีความขัดสน เราได้แต่งตั้งเขาให้เป็นผู้นำกิจการของท่านมาเก็บไว้ในขุมทรัพย์ของเรา แต่ท่านไม่ได้วางสิ่งใดไว้ในมือของเขาเลย เพราะฉะนั้นท่านจึงไม่ได้พบอะไรต่อหน้าเรา’”[637]

 1040   การพิพากษาครั้งสุดท้ายจะเกิดขึ้นเมื่อพระคริสตเจ้าจะเสด็จกลับมาอย่างรุ่งโรจน์ พระบิดาเท่านั้นทรงทราบวันเวลา พระองค์เท่านั้นทรงตัดสินว่าการนี้จะมาถึงเมื่อไร เวลานั้นพระองค์จะทรงประกาศพระวาจาสุดท้ายถึงประวัติศาสตร์ทั้งหมดผ่านทางพระเยซูคริสตเจ้าพระบุตรของพระองค์ เราจะรู้ถึงความหมายสุดท้ายของงานเนรมิตสร้างทั้งหมดและแผนงานการกอบกู้ทั้งหมด และเราจะเข้าใจแนวทางต่างๆ ที่พระญาณเอื้ออาทรของพระองค์ทรงนำทุกสิ่งไปถึงจุดหมายสุดท้าย การพิพากษาครั้งสุดท้ายจะเปิดเผยพระยุติธรรมของพระเจ้าเกี่ยวกับความอยุติธรรมทุกอย่างที่สิ่งสร้างต่างๆ ได้ทำไว้ และเปิดเผยว่าความรักของพระองค์นั้นแข็งแรงกว่าความตาย[638]

 1041   การรู้ถึงเรื่องการพิพากษาเชิญชวนให้กลับใจขณะที่พระเจ้ายังประทาน “เวลาที่เหมาะสม” และ “วันแห่งความรอดพ้น” (2 คร 6:2) ให้มนุษย์อยู่อีก ความรู้นี้ชวนให้เกิดความยำเกรงศักดิ์สิทธิ์ต่อพระเจ้า ผลักดันให้สร้างความยุติธรรมเพื่อเข้าในพระอาณาจักรของพระเจ้า ประกาศแจ้ง “ความหวังที่ให้ความสุข” (ทต 2:13) เรื่องการเสด็จกลับมาขององค์พระผู้เป็นเจ้า พระองค์จะเสด็จมา “เพื่อรับพระสิริรุ่งโรจน์ในหมู่ผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์  และเพื่อให้ทุกคนที่มีความเชื่อได้ชมพระพักตร์ด้วยความพิศวง” (2 ธส 1:10)

 

[636] เทียบ ยน 12:48.

[637] Sanctus Augustinus, Sermo  18, 4, 4: CCL 41, 247-249 (PL 38, 130-131).       

[638] เทียบ พซม 8:6..           

VI. ความหวังถึงฟ้าใหม่และแผ่นดินใหม่

VI. ความหวังถึงฟ้าใหม่และแผ่นดินใหม่

 1042   เมื่อสิ้นพิภพ พระอาณาจักรของพระเจ้าจะบรรลุถึงความสมบูรณ์ หลังการพิพากษามวลมนุษย์แล้ว บรรดาผู้ชอบธรรมจะรับความรุ่งโรจน์ทั้งกายและวิญญาณ จะครองราชย์ตลอดนิรันดรพร้อมกับพระคริสตเจ้า และโลกจักรวาลเองก็จะรับการฟื้นฟูขึ้นใหม่

เวลานั้น พระศาสนจักร “จะบรรลุถึงความบริบูรณ์ในสิริรุ่งโรจน์แห่งเมืองสวรรค์ เมื่อ […] โลกจักรวาลทั้งหมดซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับมนุษย์และบรรลุถึงจุดหมายของตนอาศัยมนุษย์ ก็จะรับการสถาปนาขึ้นใหม่อย่างสมบูรณ์ในพระคริสตเจ้าพร้อมกับมนุษยชาติทั้งมวลด้วย”[639]

 1043  พระคัมภีร์เรียกการฟื้นฟูอย่างลึกลับที่จะเปลี่ยนแปลงมนุษยชาติและโลกนี้ว่า “ฟ้าใหม่และแผ่นดินใหม่” (2 ปต 3:13)[640] นี่จะเป็นการทำให้แผนการของพระเจ้า “ที่จะทรงนำทุกสิ่ง ทั้งที่อยู่บนสวรรค์และบนแผ่นดิน ให้มารวมกันอยู่ใต้ปกครองของพระคริสตเจ้า” (อฟ 1:10) ให้สำเร็จบริบูรณ์โดยเด็ดขาด

 1044   พระเจ้าจะทรงพำนักในหมู่มนุษย์ในโลกจักรวาลใหม่นี้[641] ในนครเยรูซาเล็มจากสวรรค์ “พระองค์จะทรงเช็ดน้ำตาทุกหยดจากนัยน์ตาของเขา จะไม่มีความตายอีกต่อไป จะไม่มีการไว้ทุกข์ การร้องไห้ และความทุกข์อีกต่อไป เพราะโลกเดิมผ่านพ้นไปแล้ว” (วว 21:4)[642]

 1045  สำหรับมนุษย์ ความบริบูรณ์นี้จะเป็นการทำให้เอกภาพของมนุษยชาติที่พระเจ้าทรงประสงค์ตั้งแต่ทรงเริ่มเนรมิตสร้างสำเร็จสมบูรณ์ไปและพระศาสนจักรที่กำลังเดินทางในโลกนี้เป็น “ประดุจศีลศักดิ์สิทธิ์ (เครื่องหมายและเครื่องมือ) ของการนี้”[643] ผู้ที่จะรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้าจะเป็นชุมชนของผู้รับการไถ่กู้ เป็น “นครศักดิ์สิทธิ์” (วว 21:2) ของพระเจ้า เป็น “เจ้าสาวของลูกแกะ (วว 21:9) ชุมชนนี้จะไม่ได้รับบาดแผลจากบาป สิ่งที่เป็นมลทิน[644] ความเห็นแก่ตัว ที่มักทำลายหรือทำให้ชุมชนมนุษย์ในโลกนี้เป็นบาดแผล การแลเห็นนำความสุขซึ่งเปิดโอกาสให้เราเห็นพระเจ้าได้โดยไม่มีที่สิ้นสุดจะเป็นบ่อเกิดแห่งความบรมสุข สันติภาพ และความเป็นหนึ่งเดียวกันตลอดไป

 1046  สำหรับสากลโลก การเปิดเผยย้ำว่าระหว่างโลกของสสารและของมนุษย์มีชะตากรรมสัมพันธ์ร่วมกันอย่างลึกซึ้ง

             “เพราะสรรพสิ่งต่างกำลังรอคอยอย่างกระวนกระวายเพื่อพระเจ้าจะได้ทรงบันดาลให้บรรดาบุตรของพระองค์ปรากฎ [...] ในความหวัง เพราะสรรพสิ่งยังมีความหวังว่าจะได้รับการปลดปล่อยจากการเป็นทาสของความเสื่อมสลาย [...] เรารู้ดีว่าจนถึงเวลานี้ สรรพสิ่งกำลังร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวดราวกับสตรีคลอดบุตร มิใช่เพียงแต่สรรพสิ่งเท่านั้น แม้แต่เราเองซึ่งได้รับผลิตผลครั้งแรกของพระจิตเจ้าแล้ว ก็ยังคร่ำครวญอยู่ภายใน [...] รอคอยให้ร่างกายของเราได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระ” (รม 8:19-23)

 1047    โลกจักรวาลที่เราแลเห็นได้นี้จึงถูกกำหนดไว้ให้รับการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น “ดังนั้น สภาพที่ได้รับการรื้อฟื้นแก้ไขให้อยู่ในสภาพดั้งเดิมแล้วจึงจำเป็นต้องรับใช้บรรดาผู้ชอบธรรมโดยไม่มีอุปสรรคใดๆ อีก”[645] มีส่วนในการรับสิริรุ่งโรจน์ของเขาเหล่านั้นร่วมกับพระเยซูคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ

 1048   “เราไม่รู้เวลาที่โลกและมนุษยชาติจะต้องจบสิ้น และไม่รู้วิธีการที่จักรภพจะต้องเปลี่ยนแปลง รูปร่างของโลกนี้ที่บิดเบี้ยวไปเพราะบาปกำลังผ่านพ้นไป แต่เราก็รับคำสั่งสอนมาว่าพระเจ้ากำลังทรงเตรียมที่พำนักใหม่และแผ่นดินใหม่ซึ่งเป็นที่พำนักของความยุติธรรม และความสุขของที่พำนักใหม่และแผ่นดินใหม่นี้จะทำให้ความปรารถนาสันติภาพทั้งหลายที่เกิดขึ้นในใจของมนุษย์นั้นเต็มเปี่ยมจนล้นเสียด้วย”[646]

 1049   “ถึงกระนั้น การรอคอยแผ่นดินใหม่แทนที่จะต้องไม่ทำให้ความสนใจที่จะพัฒนาโลกนี้ลดน้อยลงตรงกันข้ามควรทำให้ความสนใจนี้เพิ่มพูนขึ้น เพราะโลกนี้เป็นสถานที่ซึ่งสังคมครอบครัวใหม่ๆ ของมนุษย์เจริญเติบโตขึ้นและอาจแสดงภาพลักษณ์ล่วงหน้าของโลกใหม่ได้ ดังนั้น แม้ว่าเราจะต้องเอาใจใส่แยกแยะความเจริญก้าวหน้าของโลกจากการขยายตัวของพระอาณาจักรของพระคริสตเจ้าก็จริง ถึงกระนั้น พระอาณาจักรของพระเจ้าก็สนใจอย่างมากให้ความเจริญก้าวหน้านี้จัดระเบียบให้สังคมมนุษย์ได้ดียิ่งขึ้น[647]

 1050   “เมื่อเราได้พัฒนาศักดิ์ศรีของมนุษย์ ความสนิทสัมพันธ์ฉันพี่น้องและอิสรภาพ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลดีของธรรมชาติและความพยายามของเราในพระจิตขององค์พระผู้เป็นเจ้าและตามพระบัญชาของพระองค์ในแผ่นดินนี้แล้ว หลังจากนั้นเราก็จะพบทุกสิ่งเหล่านี้อีก แต่จะบริสุทธิ์จากมลทินทั้งมวล ส่องแสงและเปลี่ยนสภาพไปแล้ว เมื่อพระคริสตเจ้าจะทรงคืนพระอาณาจักรนิรันดร และสากลคืนแด่พระบิดา”[648] เมื่อนั้น พระเจ้าจะทรงเป็น “ทุกสิ่งในทุกคน” (1 คร 15:28) ในชีวิตนิรันดร

               “ชีวิตแท้จริงก็คือพระบิดา ผู้ทรงหลั่งพระพรจากสวรรค์ทุกประการประหนึ่งจากบ่อเกิดแก่ทุกคนโดยทางพระบุตรในพระจิตเจ้า แต่อาศัยพระกรุณา พระองค์ยังทรงสัญญาโดยแท้จริงจะประทานพระพรแห่งชีวิตนิรันดรแก่เรามนุษย์ด้วย”[649]

 

[639] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 48: AAS 57 (1965) 53.  

[640] เทียบ วว 21:1.

[641] เทียบ วว 21:5.

[642] เทียบ วว 21:27.

[643] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 1: AAS 57 (1965) 5.     

[644] เทียบ วว 21:27.

[645] Sanctus Irenaeus Lugdunensis, Adversus haereses  5, 32, 1: SC 153, 398 (PG 7, 1210).

[646] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 39: AAS 58 (1966) 1056-1057.           

[647] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 39: AAS 58 (1966) 1057.

[648] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 39: AAS 58 (1966) 1057; cf. Id., Const. dogm. Lumen gentium, 2: AAS 57 (1965) 5-6.

[649] Sanctus Cyrillus Hierosolymitanus, Catecheses illuminandorum  18, 29: Opera,  v. 2, ed. J. Rupp (Monaci 1870) p. 332 (PG 33, 1049).

สรุป

สรุป

 1051    ตั้งแต่ที่มนุษย์แต่ละคนตาย เขาย่อมรับค่าตอบแทนนิรันดรจากพระคริสตเจ้าผู้ทรงพิพากษาผู้เป็นและผู้ตาย ในวิญญาณอมตของตนในการพิพากษาแต่ละคน

 1052    “ข้าพเจ้าทั้งหลายเชื่อว่าวิญญาณของทุกคนที่ตายในพระหรรษทานของพระคริสตเจ้า […] เป็นประชากรของพระคริสตเจ้าหลังจากความตายซึ่งจะถูกทำลายในวันกลับคืนชีพที่วิญญาณเหล่านี้จะรวมเข้ากับร่างกายของตนอีกครั้งหนึ่ง[650]

 1053    “ข้าพเจ้าทั้งหลายเชื่อว่าวิญญาณมากมายที่รวมอยู่กับพระเยซูเจ้าและพระแม่มารีย์ในสวรรค์นั้นเป็นพระศาสนจักรในสวรรค์ ณ ที่นั้นบรรดาวิญญาณที่มีความสุขนิรันดรแลเห็นพระเจ้าอย่างที่ทรงเป็นอยู่ และยังมีส่วนในการที่พระคริสตเจ้าทรงปกครองสรรพสิ่งในพระสิริรุ่งโรจน์ พร้อมกับบรรดาทูตสวรรค์ศักดิ์สิทธิ์ แต่ในระดับต่างกัน เขาเหล่านั้นยังวอนขอพระเจ้าเพื่อพวกเราและยังเอาใจใส่เยี่ยงพี่น้องคอยช่วยเหลือความอ่อนแอของเราอย่างมากด้วย[651]

 1054    ผู้ที่ตายในพระหรรษทานและมิตรภาพกับพระเจ้า แต่ยังไม่ได้รับการชำระอย่างสมบูรณ์ แม้จะแน่ใจว่าตนรอดพ้นตลอดนิรันดรแล้ว ยังต้องผ่านการชำระหลังความตายก่อนที่จะได้รับความศักดิ์สิทธิ์ที่จำเป็นเพื่อจะเข้าไปรับความยินดีพร้อมกับพระเจ้า

 1055    สืบเนื่องจากความสัมพันธ์ของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์พระศาสนจักรวอนขอพระเมตตาของพระเจ้าแทนผู้ล่วงลับ และถวายคำอธิษฐานภาวนาเพื่อเขาเหล่านั้น โดยเฉพาะพิธีบูชาขอบพระคุณ

 1056    พระศาสนจักรปฏิบัติตามพระฉบับของพระคริสตเจ้า เตือนบรรดาผู้มีความเชื่อถึงความจริงที่น่าเศร้าและน่าเวทนาเรื่องความตายนิรันดร[652]ที่ยังมีชื่ออีกด้วยว่านรก

 1057    โทษนรกที่สำคัญอยู่ที่การต้องแยกตลอดนิรันดรไปจากพระเจ้าซึ่งมนุษย์จะมีชีวิตและความสุขได้ในพระองค์เท่านั้น และพระเจ้าก็ทรงเนรมิตสร้างเขามาเพื่อชีวิตและความสุขดังกล่าว และมนุษย์เองก็ปรารถนาจะได้ชีวิตและความสุขนี้ด้วย

 1058    พระศาสนจักรอธิษฐานภาวนาขออย่าให้ผู้ใดต้องพินาศ “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า […] ขออย่าทรงปล่อยข้าพเจ้าให้พรากจากพระองค์เลย[653] ถ้าเป็นความจริงว่าไม่มีผู้ใดอาจช่วยตนเองให้รอดพ้นได้ ก็เป็นความจริงด้วยว่าพระเจ้าทรงประสงค์ให้มนุษย์ทุกคนได้รับความรอดพ้น”      (1 ทธ 2:4)  และสำหรับพระเจ้าทุกอย่างเป็นไปได้” (มธ 19:26)

 1059    “พระศาสนจักรโรมันศักดิ์สิทธิ์เชื่อมั่นและยืนยันอย่างมั่นคงว่า […] ในวันพิพากษา มนุษย์ทุกคนจะปรากฏตัวพร้อมกับร่างกายของตนเฉพาะพระบัลลังก์ของพระคริสตเจ้า เพื่อรายงานถึงการกระทำของตน[654]

 1060    พระอาณาจักรของพระเจ้าจะบรรลุถึงความบริบูรณ์ของตนเมื่อสิ้นพิภพ เวลานั้นบรรดาผู้ชอบธรรมจะครองราชย์ตลอดนิรันดรพร้อมกับพระคริสตเจ้า ได้รับสิริรุ่งโรจน์ทั้งกายและวิญญาณ และโลกจักรวาลที่เป็นวัตถุก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย เวลานั้น พระเจ้าจะทรงเป็นทุกสิ่งในทุกคน” (1 คร 15:28) ในชีวิตนิรันดร

 

[650] Paulus VI, Sollemnis Professio fidei,  28: AAS 60 (1968) 444.

[651] Paulus VI, Sollemnis Professio fidei,  29: AAS 60 (1968) 444.

[652] Cf. Sacra Congregatio pro Clericis,  Directorium catechisticum generale,  69: AAS 64 (1972) 141.  

[653] Oratio ante Communionem,  132: Missale Romanum,  editio typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1970)  p. 474.        

[654] Concilium Lugdunense II, Professio fidei Michaelis Palaeologi imperatoris:  DS 859; cf. Concilium Tridentinum, Sess. 6a, Decretum de iustificatione, canon 16: DS 1549.

อาเมน

 

 1061   สูตรประกาศความเชื่อจบด้วยคำภาษาฮีบรูว่า “อาเมน” เช่นเดียวกับหนังสือฉบับสุดท้ายของพระคัมภีร์[655] เรายังพบคำเดียวกันนี้ตอนปลายของคำภาวนาของพันธสัญญาใหม่ด้วย เช่นเดียวกัน พระศาสนจักรจบบทภาวนาของตนด้วยคำว่า “อาเมน

 1062   คำ “อาเมน” ในภาษาฮีบรูมีรากศัพท์เดียวกับคำว่า “เชื่อ” รากศัพท์นี้หมายถึงความมั่นคง ความน่าเชื่อถือ ความซื่อสัตย์ จึงเข้าใจได้ว่าทำไมคำว่า “อาเมน” จึงอาจหมายถึงความซื่อสัตย์ของพระเจ้าต่อเราและหมายถึงความไว้วางใจของเราต่อพระองค์ด้วย

 1063   ในคำประกาศพระวาจาของประกาศกอิสยาห์ เราพบวลี “พระเจ้าผู้ซื่อสัตย์” ตามตัวอักษรว่า “พระเจ้าอาเมน” ซึ่งหมายความว่าพระเจ้าทรงซื่อสัตย์ต่อพระสัญญาของพระองค์ “ผู้ที่ขอพรให้ตนเองบนแผ่นดินจะขอพรจากพระเจ้าผู้ซื่อสัตย์ (ตามตัวอักษรว่า “พระเจ้าอาเมน”)” (อสย 65:16) พระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าของเราก็ทรงใช้คำ “อาเมน” (ที่เราแปลโดยใช้วลีว่า “เรา[บอก]ความจริง”) บ่อยๆ[656] และบางครั้งยังซ้ำคำนี้ด้วย[657] เพื่อย้ำว่าคำสอนของพระองค์มีความน่าเชื่อถือ และอำนาจของพระองค์ตั้งอยู่บนความจริงของพระเจ้า

 1064   คำว่า “อาเมน” ตอนปลายของสูตรประกาศความเชื่อนี้จึงซ้ำและย้ำคำแรกที่ว่า “ข้าพเจ้าเชื่อ” การเชื่อเป็นการกล่าวคำว่า “อาเมน” ต่อพระวาจา พระสัญญา และพระบัญชาของพระเจ้า เป็นการมอบตนทั้งสิ้นแก่พระองค์ผู้ทรงเป็น “อาเมน” (ผู้ซื่อสัตย์) ของความรักไร้ขอบเขตและความซื่อสัตย์ที่สมบูรณ์ ชีวิตแต่ละวันของคริสตชนจึงต้องเป็น “อาเมน” แก่คำว่า “ข้าพเจ้าเชื่อ” ในการประกาศความเชื่อเมื่อเรารับศีลล้างบาป

             “ขอให้สูตรประกาศความเชื่อของท่านเป็นเหมือนกระจกเงาสำหรับท่าน ท่านจงเห็นตนเองในกระจกเงานี้ ถ้าท่านเชื่อทุกสิ่งที่ท่านประกาศว่าเชื่อ และจงยินดีทุกๆ วันในความเชื่อของท่าน”[658]

1065    พระเยซูคริสตเจ้าเองทรงเป็น “พระองค์ผู้ทรงเป็นอาเมน” (วว 3:14) พระองค์ทรงเป็น “อาเมน” เบ็ดเสร็จสมบูรณ์แห่งความรักของพระบิดาต่อเรา พระองค์ทรงรับเอาและทำให้ “อาเมน” ของเราสมบูรณ์ถวายแด่พระบิดา “พระสัญญาทั้งปวงของพระเจ้าสำเร็จลงในพระองค์ด้วยคำว่า ‘จริง’ เพราะเหตุนี้เราจึงกล่าวคำว่า ‘อาเมน’ โดยทางพระองค์เป็นการถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า”(2 คร 1:20)

              “อาศัยพระคริสตเจ้า พร้อมกับพระคริสตเจ้า และในพระคริสตเจ้า

               ข้าแต่พระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพ พระองค์ทรงพระสิริรุ่งโรจน์กับพระจิตเจ้า

               ตลอดนิรันดร

                   อาเมน[659]

 

[655] เทียบ วว 22:21.

[656] เทียบ มธ 6:2,5,16.         

[657] เทียบ ยน 5:19.             

[658] Sanctus Augustinus,  Sermo 58, 11, 13: PL 38, 399.          

[659] Doxologia post precem eucharisticam: Missale Romanum, editio typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1970) p. 455, 460, 464 et 471.