ส่วนที่สอง
พระบัญญัติสิบประการ
“พระอาจารย์ ข้าพเจ้าต้องทำ […] อะไร....?
2052 “พระอาจารย์ ข้าพเจ้าต้องทำอะไรเพื่อจะมีชีวิตนิรันดร” พระเยซูเจ้าทรงตอบชายหนุ่มที่ทูลถามคำถามนี้ โดยก่อนอื่นทรงเน้นว่าพระเจ้าทรงเป็น “ผู้ทรงความดีแต่ผู้เดียวเท่านั้น” ทรงเป็นความดีสูงสุดและบ่อเกิดแห่งความดีทั้งหลาย พระองค์ยังตรัสกับเขาอีกว่า “ถ้าท่านอยากเข้าสู่ชีวิตนิรันดร ก็จงปฏิบัติตามบทบัญญัติเถิด” แล้วทรงเตือนคู่สนทนาของพระองค์ให้ระลึกถึงบทบัญญัติเกี่ยวกับเพื่อนมนุษย์ “อย่าฆ่าคน อย่าล่วงประเวณี อย่าลักขโมย อย่าเป็นพยานเท็จ จงนับถือบิดามารดา” ในที่สุด พระเยซูเจ้ายังทรงสรุปบทบัญญัติเหล่านี้ไว้ในเชิงบวกว่า “จงรักผู้อื่นเหมือนรักตนเอง” (มธ 19:16-19)
2053 พระองค์ยังทรงเสริมคำตอบแรกนี้อีกว่า “ถ้าท่านอยากเป็นคนดีอย่างสมบูรณ์ จงไปขายทุกสิ่งที่มี มอบเงินให้คนยากจน และท่านจะมีขุมทรัพย์ในสวรรค์ แล้วจงติดตามเรามาเถิด” (มธ 19:21) บัญญัติข้อนี้ไม่ลบล้างข้อแรก การติดตามพระคริสตเจ้ารวมบทบัญญัติทุกข้อ ธรรมบัญญัติไม่ถูกลบล้าง[1] แต่เชิญชวนมนุษย์ให้พบธรรมบัญญัติในพระบุคคลของพระอาจารย์ซึ่งเป็นผู้ปรับปรุงธรรมบัญญัติให้สมบูรณ์ ในพระวรสารสหทรรศน์ทั้งสามฉบับ พระวาจาที่พระเยซูเจ้าทรงเรียกเศรษฐีหนุ่มให้เป็นศิษย์ติดตามพระองค์ด้วยความเชื่อฟังและปฏิบัติตามบทบัญญัติยังทรงเสริมการเรียกให้ปฏิบัติความยากจนและความบริสุทธิ์[2] คำแนะนำของพระวรสารแยกไม่ออกจากบทบัญญัติ
2054 พระเยซูเจ้าทรงยอมรับพระบัญญัติสิบประการมาเทศน์สอนอีก แต่ทรงย้ำถึงพลังของพระจิตเจ้าที่ทำงานในตัวบทของบัญญัติเหล่านี้ด้วย พระองค์ทรงประกาศสอนเรื่องความชอบธรรมที่ดีกว่าความชอบธรรมของบรรดาธรรมาจารย์และชาวฟาริสี[3] รวมทั้งของคนต่างศาสนาด้วย[4] พระองค์ทรงอธิบายข้อเรียกร้องต่างๆ ของธรรมบัญญัติเหล่านี้ทุกข้อ “ท่านได้ยินคำกล่าวแก่คนโบราณว่า อย่าฆ่าคน […] แต่เรากล่าวแก่ท่านว่า ทุกคนที่โกรธเคืองพี่น้องจะต้องขึ้นศาล” (มธ 5:21-22)
2055 เมื่อมีผู้ถามพระองค์ว่า “บทบัญญัติข้อใดเป็นเอกในธรรมบัญญัติ” (มธ 22:36) พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “ท่านจะต้องรักองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่านสุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดสติปัญญาของท่าน นี่คือบทบัญญัติเอกและเป็นบทบัญญัติแรก บทบัญญัติประการที่สองก็เช่นเดียวกัน คือท่านต้องรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง ธรรมบัญญัติและคำสอนของบรรดาประกาศกก็ขึ้นอยู่กับบทบัญญัติสองประการนี้” (มธ 22:37-40)[5] พระบัญญัติสิบประการต้องรับการอธิบายโดยคำนึงถึงบัญญัติหนึ่งเดียวแต่มีสองหน้าเรื่องความรักนี้ ซึ่งเป็นการทำให้ธรรมบัญญัติบรรลุความสมบูรณ์
“พระบัญญัติกล่าวว่า อย่าผิดประเวณี อย่าฆ่าคน อย่าลักขโมย อย่าโลภ และถ้ามีบทบัญญัติอื่นอีกก็สรุปได้ในข้อความนี้ว่า จงรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง ความรักไม่ทำความเสียหายแก่เพื่อนมนุษย์ ความรักเป็นการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติอย่างครบถ้วน” (รม 13:9-10)
พระบัญญัติสิบประการในพระคัมภีร์
2056 คำ “Decalogus” (ที่เราแปลว่า “พระบัญญัติสิบประการ”) แปลตามตัวอักษรได้ว่า “ถ้อยคำสิบคำ”(อพย 34:28; ฉธบ 4:13; 10:4) พระเจ้าทรงเปิดเผย “พระวาจาสิบคำ” นี้แก่ประชากรของพระองค์บนภูเขาศักดิ์สิทธิ์ พระองค์ทรงเขียนพระวาจาสิบคำนี้ “ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์”[6] ต่างจากบัญญัติอื่นๆ ที่เขียนโดยโมเสส[7] พระวาจาสิบคำนี้จึงเป็นพระวาจาของพระเจ้าในความหมายพิเศษ พระบัญญัติสิบประการได้รับการถ่ายทอดมาถึงเราในหนังสืออพยพ[8]และในหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ[9] ตั้งแต่ในพันธสัญญาเดิมแล้วพระคัมภีร์กล่าวถึง “พระวาจาสิบคำ”[10] แต่ในพันธสัญญาใหม่ ความหมายสมบูรณ์ของพระวาจาเหล่านี้จะได้รับการเปิดเผยในพระเยซูเจ้า
2057 พระบัญญัติสิบประการเข้าใจได้โดยเฉพาะในบริบทของการอพยพซึ่งเป็นกิจการช่วยให้รอดพ้นที่ยิ่งใหญ่ของพระเจ้า ไม่ว่าพระบัญญัติสิบประการนี้จะเรียบเรียงไว้เป็นข้อห้าม หรือเป็นคำสั่ง (เช่น “จงนับถือบิดามารดาของท่าน”) ก็ล้วนแสดงเงื่อนไขสำหรับชีวิตที่ได้รับการช่วยให้พ้นจากการเป็นทาสของบาปแล้ว พระบัญญัติสิบประการเป็นแนวทางชีวิต
“ถ้า […] ท่านจะรักองค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่านและเดินตามวิถีทางของพระองค์ ปฏิบัติตามบทบัญญัติ ข้อกำหนดและกฎเกณฑ์ของพระองค์แล้ว ท่านจะมีชีวิตและทวีจำนวนขึ้น” (ฉธบ 30:16)
พลังช่วยให้รอดพ้นของพระบัญญัติสิบประการนี้ปรากฏให้เห็น เช่นในบัญญัติให้พักผ่อนในวันสับบาโตที่กำหนดไว้ทั้งสำหรับคนต่างด้าวและบรรดาทาสด้วย
“จงจำไว้ว่าท่านเคยเป็นทาสในแผ่นดินอียิปต์ และองค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่านทรงใช้พระหัตถ์ทรงฤทธิ์และพระอานุภาพยิ่งใหญ่นำท่านออกจากที่นั่น” (ฉธบ 5:15)
2058 พระบัญญัติสิบประการสรุปและประกาศกฎของพระเจ้า “องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสพระวาจาเหล่านี้แก่ท่านทุกคนที่มาชุมนุมกันที่ภูเขาด้วยพระสุรเสียงดังจากกองไฟ จากเมฆและความมืดทึบ หลังจากนั้นพระองค์ไม่ได้ตรัสอะไรอีก พระองค์ทรงจารึกพระวาจานี้ไว้บนศิลาสองแผ่นและทรงมอบให้ข้าพเจ้า” (ฉธบ 5:22) เพราะฉะนั้น ศิลาสองแผ่นนี้จึงเรียกว่า “แผ่นศิลาจารึก” (หรือ “คำยืนยัน” หรือ “คำสั่ง” หรือ “ข้อกำหนด”) (อพย 25:16) เพราะแผ่นศิลาจารึกเหล่านี้บรรจุเงื่อนไขพันธสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างพระเจ้ากับประชากรของพระองค์ จึงจำเป็นต้องบรรจุ “แผ่นศิลาจารึก” เหล่านี้ (อพย 31:18; 32:15; 34:29) ไว้ใน “หีบ(พันธสัญญา)” (อพย 25:16; 40:1-3)
2059 พระเจ้าทรงประกาศพระบัญญัติสิบประการ (“พระวาจาสิบคำ”) ในระหว่างการแสดงพระองค์บนภูเขาซีนาย (“พระองค์ตรัสแก่ท่านโดยตรงจากกองไฟบนภูเขา” ฉธบ 5:4) การที่ทรงแสดงพระองค์และพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์นี้เป็นเรื่องของการเปิดเผย (revelation) การประทานพระบัญญัติจึงเป็นการประทานพระเจ้าพระองค์เองและพระประสงค์ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ ทำให้เรารู้พระประสงค์ของพระองค์ พระเจ้าทรงเปิดเผยพระองค์แก่ประชากรของพระองค์
2060 การประทานธรรมบัญญัติและกฎหมายจึงเป็นส่วนหนึ่งของพันธสัญญาที่พระเจ้าทรงทำกับประชากรของพระองค์ ในหนังสืออพยพ “พระบัญญัติสิบประการ” ได้รับการเปิดเผยในกระบวนการระหว่างการเสนอพันธสัญญา[11] กับการทำสัตยาบรรณของการนี้[12] - หลังจากที่ประชากรผูกมัดตนเองเพื่อ “ทำ” สิ่งใดไม่ว่าที่องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ตรัส และ “เชื่อฟัง” พระองค์[13] พระบัญญัติสิบประการไม่เคยได้รับการถ่ายทอดต่อมาเลยถ้าไม่ได้กล่าวถึงการทำพันธสัญญาเสียก่อน (“องค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของเราทรงทำพันธสัญญาไว้กับเราที่ภูเขาโฮเรบ” ฉธบ 5:2)
2061 พระบัญญัติมีความหมายสมบูรณ์ภายในพันธสัญญา พระคัมภีร์สอนว่าความประพฤติของมนุษย์มีความหมายสมบูรณ์ในพันธสัญญาและโดยทางพันธสัญญา พระบัญญัติประการแรกจาก “พระบัญญัติสิบประการ” ก่อนอื่นใดหมดเตือนให้ระลึกถึงความรักที่พระเจ้าทรงมีต่อประชากรของพระองค์
“เนื่องจากการที่มนุษย์ได้ตกลงมาจากอิสรภาพแห่งสวนอุทยานมารับสภาพการเป็นทาสในโลกนี้ ข้อความแรกของพระบัญญัติสิบประการจึงเป็นพระสุรเสียงของพระเจ้าที่กล่าวถึงอิสรภาพ ตรัสว่า ‘เราคือองค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่าน เป็นผู้นำท่านออกจากแผ่นดินอียิปต์ ให้พ้นจากการเป็นทาส’ (อพ 20:2; ฉธบ 5:6)”[14]
2062 พระบัญญัติจริงๆ มาเป็นอันดับที่สอง แสดงข้อเรียกร้องของสภาพการเป็น(ประชากร)ของพระเจ้าที่เกิดจากพันธสัญญา การมีศีลธรรมเป็นคำตอบต่อการริเริ่มของพระเจ้าที่เต็มด้วยความรัก เป็นการยอมรับ เป็นการถวายคารวะต่อพระเจ้าและเป็นคารวกิจการขอบพระคุณ เป็นการร่วมมือกับแผนงานที่พระเจ้าทรงกระทำตลอดมาในประวัติศาสตร์
2063 พันธสัญญาและการสนทนาระหว่างพระเจ้าและมนุษย์ยังมีหลักฐานยืนยันจากการที่ว่าข้อผูกมัดทั้งหลายกล่าวไว้ในกริยาบุรุษที่หนึ่ง (“เราคือองค์พระผู้เป็นเจ้า....”) และพูดกับผู้อื่นอีกคนหนึ่ง (“ท่าน....”) พระบัญญัติทุกข้อของพระเจ้าล้วนใช้บุรุษสรรพนามในรูป เอกพจน์ หมายถึงผู้รับพระบัญญัติเหล่านี้ พระเจ้าทรงแสดงพระประสงค์ของพระองค์ให้เป็นที่รู้จักทั้งแก่ประชากรทั้งหมดพร้อมกัน และให้เป็นที่รู้จักแก่ประชากรแต่ละคนด้วย
“องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาให้มีความรักต่อพระเจ้าและยังทรงสอนอีกว่าความรักต่อเพื่อนมนุษย์เป็นความชอบธรรรม เพื่อมิให้เขาเป็นผู้ไม่ชอบธรรมและไม่เหมาะสมกับพระเจ้า พระองค์ทรงกำหนดให้มนุษย์เข้าอยู่ในมิตรภาพกับพระองค์และเป็นมิตรและมีความสามัคคีกับเพื่อนพี่น้อง […] โดยปฏิบัติตามพระบัญญัติสิบประการ และดังนี้ [ถ้อยคำของพระบัญญัติสิบประการ] จึงยังคงเป็นเช่นเดิมสำหรับพวกเรา [คริสตชน] ได้รับการขยายความและพัฒนาขึ้น ไม่ใช่ถูกยกเลิกเพราะการเสด็จมารับสภาพมนุษย์ของพระองค์”[15]
พระบัญญัติสิบประการในธรรมประเพณีของพระศาสนจักร
2064 ธรรมประเพณีของพระศาสนจักรซื่อสัตย์ต่อพระคัมภีร์และปฏิบัติตามพระแบบฉบับของพระเยซูเจ้า ได้ยอมรับว่าพระบัญญัติสิบประการมีความสำคัญและความหมายพิเศษในอันดับแรก
2065 ตั้งแต่สมัยนักบุญออกัสตินมาแล้ว “พระบัญญัติสิบประการ” มีบทบาทสำคัญในการสอนบรรดาผู้เตรียมตัวรับศีลล้างบาปและผู้มีความเชื่อแล้ว ในศตวรรษที่ 15 ได้เริ่มมีธรรมเนียมเรียบเรียงข้อความของพระบัญญัติสิบประการให้เป็นสูตรคล้องจองกันให้จดจำได้ง่าย สูตรเช่นนี้ยังคงใช้อยู่จนถึงวันนี้ การสอนคำสอนของพระศาสนจักรบ่อยๆยังอธิบายคำสอนด้านศีลธรรมของคริสตชนตามลำดับของ “พระบัญญัติสิบประการ”
2066 การแบ่งและนับตำแหน่งของบัญญัติต่างๆ มีความแตกต่างกันบ้างในช่วงเวลาที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ หนังสือคำสอนเล่มนี้ทำตามการแบ่งบัญญัติตามที่นักบุญออกัสตินกำหนดไว้และได้กลายเป็นธรรมประเพณีในพระศาสนจักรคาทอลิก ลำดับนี้ยังใช้ในกลุ่มชาวลูเธรันด้วยเช่นเดียวกัน บรรดาปิตาจารย์กรีกได้แบ่งบัญญัติแตกต่างไปเล็กน้อย ซึ่งยังพบได้ในพระศาสนจักรออร์โธดอกซ์และชุมชนคริสเตียนปฏิรูปกลุ่มต่างๆ
2067 พระบัญญัติสิบประการกล่าวถึงข้อเรียกร้องของความรักต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์ พระบัญญัติสามประการแรกเกี่ยวข้องกับความรักต่อพระเจ้า และพระบัญญัติอีกเจ็ดประการเกี่ยวข้องกับความรักต่อเพื่อนมนุษย์
“เนื่องจากบัญญัติความรักมีอยู่สองประการ ที่องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสว่าธรรมบัญญัติและ(คำสอนของ)ประกาศกทั้งหมดขึ้นอยู่ฉันใด […] พระเจ้าจึงประทานพระบัญญัติสิบประการไว้บนศิลาจารึกสองแผ่นด้วยฉันนั้น พระบัญญัติสามประการเขียนไว้บนศิลาแผ่นหนึ่ง และเจ็ดประการเขียนไว้บนอีกแผ่นหนึ่ง”[16]
2068 สภาสังคายนาแห่งเมืองเตร็นท์สอนว่าบรรดาคริสตชนและมนุษย์ที่ได้รับความชอบธรรมยังจำเป็นต้องปฏิบัติตามพระบัญญัติสิบประการนี้[17] สภาสังคายนาวาติกันที่ 2 ยังกล่าวย้ำอีกว่า “บรรดาพระสังฆราช ในฐานะผู้สืบตำแหน่งต่อจากบรรดาอัครสาวก ได้รับพันธกิจจากองค์พระผู้เป็นเจ้า […] ให้ไปสอนนานาชาติและประกาศข่าวดีให้มนุษย์ทั้งปวง เพื่อว่ามนุษย์ทุกคน อาศัยความเชื่อ ศีลล้างบาป และการปฏิบัติตามพระบัญญัติ จะได้บรรลุถึงความรอดพ้น”[18]
เอกภาพของพระบัญญัติสิบประการ
2069 พระบัญญัติสิบประการร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างแยกกันไม่ออก พระบัญญัติ (หรือ “ถ้อยคำ”) แต่ละข้อมีความสัมพันธ์ต่อกันและต่อทุกข้อ ศิลาจารึกทั้งสองแผ่นให้ความกระจ่างต่อกัน รวมกันเป็นเอกภาพอย่างใกล้ชิด การละเมิดธรรมบัญญัติข้อหนึ่งก็เป็นการละเมิดธรรมบัญญัติทุกข้อด้วย[19] เราจะให้เกียรติผู้อื่นไม่ได้ถ้าไม่ถวายพระพรแด่พระเจ้าพระผู้ที่ทรงสร้างเขามาด้วย เราจะนมัสการพระเจ้าไม่ได้ถ้าเราไม่รักมนุษย์ทุกคนที่พระองค์ทรงเนรมิตสร้างมาด้วย พระบัญญัติสิบประการรวมชีวิตที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าและชีวิตสังคมของมนุษย์ไว้ด้วยกัน
พระบัญญัติสิบประการและกฎธรรมชาติ
2070 พระบัญญัติสิบประการเกี่ยวข้องกับการเปิดเผยจากพระเจ้า ในเวลาเดียวกันพระบัญญัติเหล่านี้ยังสอนเราให้เป็นคนดีด้วย พระบัญญัติบอกให้เรารู้จักหน้าที่ที่สำคัญของเรา แล้วนั้นจึงกล่าวถึงสิทธิพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติของเรามนุษย์ที่เป็นบุคคลด้วย พระบัญญัติสิบประการจึงเป็นการกล่าวถึง “กฎธรรมชาติ” ไว้อย่างดีเลิศ
“เพราะตั้งแต่แรกแล้ว พระเจ้าประทานกฎธรรมชาติแก่มนุษย์แล้วยังเตือนเขาอาศัยพระบัญญัติสิบประการว่า ถ้าผู้ใดไม่ปฏิบัติตาม ก็จะไม่ได้รับความรอดพ้น – และไม่ทรงเรียกร้องอะไรอีกมากกว่านี้”[20]
2071 แม้ว่าเราอาจใช้เหตุผลเข้าถึงข้อกำหนดของพระบัญญัติสิบประการได้ แต่ข้อกำหนดเหล่านี้ก็ได้รับการเปิดเผย มนุษยชาติที่เป็นคนบาปต้องการการเปิดเผยนี้เพื่อจะรับความรู้ให้แน่ชัดถึงการเรียกร้องของกฎธรรมชาตินี้ได้
“จำเป็นต้องอธิบายข้อบังคับของพระบัญญัติสิบประการอย่างสมบูรณ์ตามสภาพของบาป เนื่องจากความมืดมัวของเหตุผลและความบิดเบี้ยวของเจตนา(ของมนุษย์)”[21]
เรารู้จักพระบัญญัติของพระเจ้าจากการเปิดเผยของพระเจ้าที่พระศาสนจักรบอกให้ เราทราบ รวมทั้งอาศัยเสียงมโนธรรมของเราด้านศีลธรรม
อำนาจบังคับของพระบัญญัติสิบประการ
2072 เนื่องจากว่า พระบัญญัติสิบประการ กล่าวถึงหน้าที่พื้นฐานของมนุษย์ต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์ เปิดเผยข้อบังคับเรื่องสำคัญ(หนัก)ในบัญญัติเหล่านี้ โดยหลักการแล้ว บัญญัติเหล่านี้จึงเปลี่ยนแปลงไม่ได้และมีอำนาจบังคับตลอดไปและทั่วทุกแห่ง ไม่มีใครอาจรับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามได้ พระเจ้าทรงจารึกพระบัญญัติทั้งสิบประการนี้ไว้ในใจของมนุษย์ทุกคน
2073 การปฏิบัติตามพระบัญญัติเหล่านี้ยังรวมถึงข้อบังคับที่ในตัวเองมีเนื้อหาไม่หนักหนาอะไร ดังนี้การทำร้ายด้วยวาจาจึงถูกห้ามโดยพระบัญญัติประการที่ห้าด้วย และความผิดคงไม่อาจเป็นเรื่องหนักได้นอกจากโดยเหตุผลของสภาพแวดล้อมหรือเจตนาของผู้ที่กล่าวถ้อยคำนั้น
“ถ้าไม่มีเรา ท่านก็ทำอะไรไม่ได้เลย”
2074 พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เราเป็นเถาองุ่น ท่านทั้งหลายเป็นกิ่งก้าน ผู้ที่ดำรงอยู่ในเรา และเราดำรงอยู่ในเขา ก็ย่อมเกิดผลมาก เพราะถ้าไม่มีเรา ท่านก็ทำอะไรไม่ได้เลย” (ยน 15:5) ผลที่พระวาจานี้กล่าวถึงก็คือความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตที่เกิดจากความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้า เมื่อเราเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้า ร่วมสัมพันธ์กับพระธรรมล้ำลึกของพระองค์และปฏิบัติตามพระบัญชาของพระองค์ พระองค์พระผู้ไถ่ก็เสด็จมาพบพระบิดาและพี่น้องของพระองค์ มารักพระบิดาและพี่น้องของเราในตัวเรา เดชะพระจิตเจ้า พระบุคคลของพระองค์กลับเป็นกฎปฏิบัติที่มีชีวิตชีวาในตัวเรา “นี่คือบทบัญญัติของเรา ให้ท่านทั้งหลายรักกัน เหมือนดังที่เรารักท่าน” (ยน 15:12)
สรุป
2075 “ข้าพเจ้าต้องทำความดีอะไรเพื่อจะมีชีวิตนิรันดร” – “ถ้าท่านอยากเข้าสู่ชีวิตนิรันดร ก็จงปฏิบัติตามบทบัญญัติเถิด” (มธ 19:16-17)
2076 พระเยซูเจ้าทรงยืนยันด้วยวิธีการปฏิบัติและเทศน์สอนของพระองค์ว่าพระบัญญัติสิบประการมีผลบังคับใช้ตลอดไป
2077 พระบัญญัติสิบประการเป็นของประทานที่พระเจ้าประทานให้ภายในพันธสัญญาที่ทรงกระทำกับประชากรของพระองค์ พระบัญญัติของพระเจ้ามีความหมายแท้จริงภายในและโดยทางพันธสัญญาครั้งนี้
2078 ธรรมประเพณีของพระศาสนจักร ซื่อสัตย์ต่อพระคัมภีร์และปฏิบัติตามพระฉบับของพระเยซูเจ้า ยอมรับตลอดมาว่าพระบัญญัติสิบประการมีความสำคัญและความหมายเป็นอันดับหนึ่ง
2079 พระบัญญัติสิบประการรวมกันมีเอกภาพคล้ายกับร่างกายมีชีวิตที่ “บทบัญญัติ” หรือ “ถ้อยคำ” แต่ละข้อมีความสัมพันธ์กับบัญญัติทั้งชุด การฝ่าฝืนบัญญัติข้อหนึ่งก็เป็นการผิดต่อธรรมบัญญัติทุกข้อ[22]
2080 พระบัญญัติสิบประการบรรจุความหมายของกฎธรรมชาติไว้อย่างดีเลิศ ทำให้เรารู้จักกฎธรรมชาติได้อาศัยการเปิดเผยความจริงของพระเจ้าและการใช้เหตุผลของมนุษย์
2081 บทบัญญัติที่มีอยู่เป็นพิเศษในพระบัญญัติสิบประการบอกให้เรารู้ถึงข้อบังคับสำคัญ ถึงกระนั้น การปฏิบัติตามบทบัญญัติเหล่านี้ยังอาจรวมถึงข้อบังคับที่ในตัวเองมีเนื้อหาไม่สำคัญนักก็ได้
2082 พระเจ้าทรงบัญญัติสิ่งใด ก็ประทานพระหรรษทานของพระองค์ทำให้เราปฏิบัติตามบทบัญญัติเหล่านั้นได้ด้วย
[1] เทียบ มธ 5:17.
[2] เทียบ มธ 19:6-12,21,23-29.
[3] เทียบ มธ 5:20.
[4] เทียบ มธ 5:46-47.
[5] เทียบ ฉธบ 6:5; ลนต 19:18.
[6] เทียบ อพย 31:18; ฉธบ 5:22.
[7] เทียบ ฉธบ 31:9,24.
[8] เทียบ อพย 20:1-17.
[9] เทียบ ฉธบ 5:6-22.
[10] เทียบ เช่น ฮชย 4:2; ยรม 7:9; อสค 18:5-9.
[11] เทียบ อพย บทที่ 19.
[12] เทียบ อพย บทที่ 24.
[13] เทียบ อพย 24:7.
[14] Origenes, In Exodum homilia 8, 1: SC 321, 242 (PG 12, 350).
[15] Sanctus Irenaeus Lugdunensis, Adversus haereses, 4, 16, 3-4: SC 100, 566-570 (PG 7, 1017-1018).
[16] Sanctus Augustinus, Sermo 33,2: CCL 41, 414 (PL 38, 208).
[17] Cf Concilium Tridentinum, Sess. 6a, Decretum de iustificatione, canones 19-20: DS 1569-1570.
[18] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 24: AAS 57 (1965).
[19] เทียบ ยก 2:10-11.
[20] Sanctus Irenaeus Lugdunensis, Adversus haereses, 4, 15, 1: SC 100, 548 (PG 7, 1012).
[21] Sanctus Bonaventura, In quattuor libros Sententiarum, 3, 37, 1, 3: Opera omnia, v. 3 (Ad Claras Aquas 1887) p. 819-820.
[22] เทียบ ยก 2:10-11.