ภาคที่สอง
การเฉลิมฉลองพระธรรมล้ำลึก
ของพระคริสตเจ้า
ทำไมต้องมีพิธีกรรม
1066 ในสูตรประกาศความเชื่อ พระศาสนจักรประกาศยืนยันพระธรรมล้ำลึกของพระตรีเอกภาพและ “พระประสงค์เร้นลับของพระองค์ซึ่งพอพระทัยดำริไว้” (อฟ 1:9) สำหรับสิ่งสร้างทั้งหลาย พระบิดาทรงบันดาลให้ “พระประสงค์เร้นลับซึ่งพอพระทัยดำริไว้” สำเร็จไปโดยประทานพระบุตรสุดที่รักของพระองค์และพระจิตเจ้าเพื่อความรอดพ้นของโลกและเพื่อพระสิริรุ่งโรจน์แห่งพระนามของพระองค์ พระธรรมล้ำลึกเช่นนี้เรื่องพระคริสตเจ้า[1]ซึ่งได้รับการเปิดเผยและสำเร็จไปในประวัติศาสตร์ตามพระประสงค์ที่ทรงจัดไว้ด้วยพระปรีชาดังที่นักบุญเปาโลเรียกว่า “แผนการล้ำลึก” (อฟ 3:9) และธรรมประเพณีของบรรดาปิตาจารย์จะเรียกว่า “แผนการของพระวจนาตถ์ผู้ทรงรับสภาพมนุษย์” หรือ “แผนการแห่งความรอดพ้น”
1067 “กิจการไถ่กู้มนุษยชาติและการถวายเกียรติแด่พระเจ้าอย่างสมบูรณ์นี้ ได้เริ่มต้นในพระราชกิจน่าพิศวงที่พระเจ้าทรงกระทำในหมู่ประชากรแห่งพันธสัญญาเดิม และสำเร็จไปโดยพระคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า โดยเฉพาะอาศัยธรรมล้ำลึกปัสกา คือการรับทรมาน การกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย และการเสด็จสู่สวรรค์อย่างรุ่งโรจน์ โดยธรรมล้ำลึกนี้ ‘พระองค์สิ้นพระชนม์เพื่อทำลายความตายของเรา และทรงกลับคืนพระชนมชีพเพื่อคืนชีวิตแก่เรา’ เพราะพระศาสนจักรทั้งหมดซึ่งเป็นเครื่องหมายและเครื่องมือน่าพิศวงแห่งความรอดพ้นเกิดจากด้านข้างพระวรกายของพระคริสตเจ้าผู้สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน[2] เพราะเหตุนี้ พระศาสนจักร โดยเฉพาะในพิธีกรรม จึงเฉลิมฉลองพระธรรมล้ำลึกปัสกาที่พระคริสตเจ้าทรงใช้เพื่อทรงบันดาลให้งานความรอดพ้นของเราสำเร็จไป
1068 พระศาสนจักรประกาศและเฉลิมฉลองพระธรรมล้ำลึกนี้ของพระคริสตเจ้าในพิธีกรรมของตน เพื่อบรรดาผู้มีความเชื่อจะได้ดำเนินชีวิตตามพระธรรมล้ำลึกนี้และเป็นพยานถึงพระธรรมล้ำลึกนี้แก่โลกด้วย
“งานไถ่กู้มนุษย์สำเร็จลุล่วงไปอาศัยพิธีกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพิธีบูชาขอบพระคุณ พิธีกรรมจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผู้มีความเชื่อดำเนินชีวิตแสดงพระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้าและธรรมชาติแท้จริงของพระศาสนจักรแท้ให้ผู้อื่นแลเห็น”[3]
คำว่า “Liturgia” (พิธีกรรม) หมายความว่าอย่างไร
1069 คำว่า “Liturgy – Liturgia” ที่เราแปลว่า “พิธีกรรม” นั้น ตามรากศัพท์หมายความว่า “งานสาธารณะ” ธรรมประเพณีของคริสตชนต้องการให้ “งานที่ทำในนามของประชาชน/เพื่อประชาชน” หมายถึงการที่ประชากรของพระเจ้ามีส่วนใน “งานของพระเจ้า”[4]พระคริสตเจ้าพระผู้ไถ่และพระมหาสมณะของเรายังทรงงานกอบกู้พวกเราต่อไปโดยทางพิธีกรรม ในพระศาสนจักร พร้อมกับพระศาสนจักร และอาศัยพระศาสนจักรของพระองค์
1070 คำว่า “พิธีกรรม” (liturgy) มีใช้ในพันธสัญญาใหม่เพื่อหมายถึง ไม่เพียงแต่พิธีนมัสการหรือการประกอบศาสนพิธี[5]เท่านั้นแต่ยังหมายถึงการประกาศข่าวดี[6]และการปฏิบัติงานเมตตาจิต[7]อีกด้วย ในกิจกรรมทั้งหมดนี้เป็นการกล่าวถึงงานรับใช้พระเจ้าและมนุษย์ เมื่อประกอบพิธีกรรม พระศาสนจักรเป็นเสมือนผู้รับใช้ตามพระฉบับขององค์พระผู้เป็นเจ้าของตน “ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ”[8]เพียงผู้เดียว มีส่วนร่วมบทบาทสมณะ (ในการประกอบคารวกิจ) ประกาศก (ประกาศข่าวดี) และกษัตริย์ (การรับใช้ในเมตตากิจ)
“ดังนั้น พิธีกรรมจึงเรียกได้อย่างถูกต้องว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่สมณะของพระเยซูคริสตเจ้า ในพิธีกรรม มนุษย์ได้รับความศักดิ์สิทธิ์อาศัยเครื่องหมายที่ประสาทรับรู้แลเห็นได้ และบังเกิดผลตามความหมายเฉพาะของเครื่องหมายแต่ละประการ ในพิธีกรรม พระกายทิพย์ของพระเยซูคริสตเจ้า กล่าวคือ พระองค์ผู้ทรงเป็นศีรษะกับบรรดาคริสตชนผู้เป็นประหนึ่งส่วนต่างๆ ของพระวรกาย เป็นผู้ประกอบคารวกิจทางการร่วมกันของพระวรกายทั้งหมด ดังนั้น การประกอบพิธีกรรมทุกอย่าง ในฐานะที่เป็นกิจการของพระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นสมณะ และเป็นกิจการของพระศาสนจักรซึ่งเป็นพระวรกายของพระองค์ จึงเป็นกิจการศักดิ์สิทธิ์อย่างเลอเลิศ ไม่มีกิจการอื่นใดของพระศาสนจักรที่มีประสิทธิภาพเสมอเหมือนได้ ทั้งในความสำคัญและในคุณภาพ”[9]
พิธีกรรมในฐานะที่เป็นบ่อเกิดแห่งชีวิต
1071 พิธีกรรม งานของพระคริสตเจ้า ยังเป็นกิจกรรมของพระศาสนจักรด้วย ทำงานและแสดงให้เห็นว่าพระศาสนจักรเป็นเครื่องหมายที่แลเห็นได้ว่าพระเจ้าทรงมีสัมพันธภาพกับมนุษย์ผ่านทางพระคริสตเจ้า ทำให้บรรดาผู้มีความเชื่อมีชีวิตชุมชนแบบใหม่ ซึ่งรวมถึงการที่ทุกคนมีส่วนร่วมพิธีกรรม “โดยมีความรู้ ร่วมพิธีอย่างแข็งขัน เพื่อจะได้รับผลจากพิธีกรรมนั้นด้วย”[10]
1072 “กิจกรรมทั้งหมดของพระศาสนจักรไม่มีแต่เพียงพิธีกรรมเท่านั้น”[11]ก่อนพิธีกรรมต้องมีการประกาศข่าวดี ความเชื่อและการกลับใจเสียก่อน พิธีกรรมจึงจะบังเกิดผลในชีวิตของบรรดาผู้มีความเชื่อได้ ผลเหล่านี้ได้แก่ชีวิตใหม่ในพระจิตเจ้า ความจำเป็นจะต้องร่วมพันธกิจ และการให้บริการเพื่อเอกภาพของพระศาสนจักร
การอธิษฐานภาวนาและพิธีกรรม
1073 พิธีกรรมเป็นการมีส่วนร่วมการอธิษฐานภาวนาของพระคริสตเจ้าต่อพระบิดาในพระจิตเจ้า ในพิธีกรรม การอธิษฐานภาวนาทั้งหมดของคริสตชนมีกำเนิดและจุดจบในพิธีกรรม อาศัยพิธีกรรม ชีวิตภายในของเรามนุษย์ฝังรากและตั้งมั่นอยู่[12]บน “ความรักยิ่งใหญ่ที่พระเจ้าทรงมีต่อเรา” (เทียบ อฟ 2:4) ในพระบุตรสุดที่รักของพระองค์ เป็น “พระราชกิจน่าพิศวงของพระเจ้า” ที่เราดำเนินชีวิตและเป็นชีวิตภายในโดยการอธิษฐานภาวนา “ทุกโอกาสในพระจิตเจ้า” (อฟ 6:18)
การสอนคำสอนและพิธีกรรม
1074 “พิธีกรรมเป็นจุดยอดที่กิจกรรมของพระศาสนจักรมุ่งไปหา และในเวลาเดียวกันยังเป็นบ่อเกิดที่พลังทั้งหมดของพระศาสนจักรหลั่งไหลออกมา”[13] พิธีกรรมเป็นที่พิเศษเพื่อสอนคำสอนแก่ประชากรของพระเจ้า “โดยธรรมชาติของตน การสอนคำสอนมีความสัมพันธ์กับการประกอบพิธีกรรมและสิ่งคล้ายศีลทุกประการ เพราะในศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ โดยเฉพาะศีลมหาสนิท พระเยซูคริสตเจ้าทรงทำงานทุกอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงมนุษย์”[14]
1075 การสอนคำสอนในพิธีกรรมพยายามแนะนำคริสตชนให้เข้าใจพระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้า (กิจกรรมเช่นนี้เรียกว่า “mystagogia”) โดยเริ่มจากสิ่งที่แลเห็นได้เข้าไปถึงสิ่งที่แลเห็นไม่ได้ จากเครื่องหมายเข้าไปถึงความหมาย จาก “ศีลศักดิ์สิทธิ์” เข้าไปถึง “พระธรรมล้ำลึก” การสอนคำสอนเช่นนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้สอนคำสอนในท้องถิ่นหรือเขตแขวงนั้น การสอนคำสอนแบบนี้ซึ่งต้องการรับใช้พระศาสนจักรทั้งหมดที่มีจารีตและวัฒนธรรมต่างๆ[15] จะต้องสอนความรู้พื้นฐานที่สมาชิกทั่วพระศาสนจักรจำเป็นต้องรู้เพื่อเข้าถึงพิธีกรรมในฐานะที่เป็นพระธรรมล้ำลึกและเกี่ยวข้องกับการเฉลิมฉลอง (ตอนที่หนึ่ง) แล้วจึงสอนเรื่องศีลศักดิ์สิทธิ์เจ็ดประการและสิ่งคล้ายศีลต่างๆ (ตอนที่สอง)
[1] เทียบ อฟ 3:4.
[2] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 5: AAS 56 (1964) 99.
[3] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 2: AAS 56 (1964) 97-98.
[4] เทียบ ยน 17:4.
[5] เทียบ กจ 13:2; ลก 1:23.
[6] เทียบ รม 15:16; ฟป 2:14-17,30.
[7] เทียบ รม 15 :27; 2 คร 9:12; ฟป 2:25.
[8] เทียบ ฮบ 8:2,6.
[9] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 7: AAS 56 (1964) 101.
[10] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 11: AAS 56 (1964) 103.
[11] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 9: AAS 56 (1964) 101.
[12] เทียบ อฟ 3:16-17.
[13] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 10: AAS 56 (1964) 102.
[14] Ioannes Paulus II, Adh. ap. Catechesi tradendae, 23: AAS 71 (1979) 1296.
[15] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 3-4: AAS 56 (1964) 98.