บทที่สอง

ท่านจะต้องรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง

 

                    พระเยซูเจ้าตรัสกับบรรดาศิษย์ว่า “เรารักท่านทั้งหลายอย่างไร ท่านก็จงรักกันอย่างนั้นเถิด” (ยน 13:34)

 2196   พระเยซูเจ้าทรงตอบผู้ทูลถามพระองค์ถึงบทบัญญัติประการเอกว่า “บทบัญญัติเอกก็คือ ‘อิสราเอลเอ๋ย จงฟังเถิด องค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของเราเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าแต่เพียงพระองค์เดียว ท่านจะต้องรักองค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่านสุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดสติปัญญาและสุดกำลังของท่าน’ บทบัญญัติประการที่สองก็คือ ‘ท่านจะต้องรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง’ ไม่มีบทบัญญัติข้อใดยิ่งใหญ่กว่าบทบัญญัติสองประการนี้” (มก 12 :29-31)

                    นักบุญเปาโลยังเตือนเราอีกว่า “ผู้ที่รักเพื่อนมนุษย์ก็ปฏิบัติตามธรรมบัญญัติครบถ้วนแล้ว พระบัญญัติกล่าวว่า อย่าผิดประเวณี อย่าฆ่าคน อย่าลักขโมย อย่าโลภ และถ้ามีบทบัญญัติอื่นอีกก็สรุปได้ในข้อความนี้ว่า จงรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง ความรักไม่ทำความเสียหายแก่เพื่อนมนุษย์ ความรักเป็นการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติอย่างครบถ้วน” (รม 13:8-10)

ตอนที่สี่

พระบัญญัติประการที่สี่

                        “จงนับถือบิดามารดา เพื่อท่านจะได้มีอายุยืนอยู่บนแผ่นดินที่องค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่านประทานให้” (อพย 20:12)

                        “พระเยซูเจ้าทรงเชื่อฟังท่านทั้งสอง” (ลก 2:51)

                         พระเยซูเจ้าทรงเน้นความสำคัญของ “บทบัญญัติของพระเจ้า”[1] ท่านอัครสาวกสอนว่า “บุตรทั้งหลาย จงเชื่อฟังบิดามารดาในองค์พระผู้เป็นเจ้า เพราะการทำเช่นนี้ถูกต้อง พระบัญญัติที่ว่า จงให้เกียรติบิดามารดา เป็นพระบัญญัติแรกซึ่งมีพระสัญญาควบคู่อยู่ด้วยว่า แล้วท่านจะอยู่บนแผ่นดินอย่างเป็นสุขและมีอายุยืน” (อฟ 6:1-3)[2]

 2197   พระบัญญัติประการที่สี่เปิดศิลาจารึกแผ่นที่สองของพระบัญญัติสิบประการ กล่าวถึงคำสั่งเรื่องความรัก พระเจ้าทรงประสงค์ว่า ต่อจากพระองค์ เราต้องให้เกียรติบิดามารดาที่ให้ชีวิตแก่เราและสอนเราให้รู้จักพระเจ้า เราจึงจำเป็นต้องให้เกียรติและเคารพทุกคนที่พระเจ้าประทานอำนาจให้เพื่อความดีของเรา

 2198  พระบัญญัติประการนี้แสดงออกในรูปแบบของหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติ เป็นการเกริ่นถึงพระบัญญัติที่ตามมาที่เกี่ยวกับรายละเอียดของชีวิต การแต่งงาน ทรัพย์สินในโลก และการใช้คำพูด นับเป็นรากฐานประการหนึ่งของคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร

 2199   พระบัญญัติประการที่สี่เป็นคำสั่งแก่บุตรโดยตรงเรื่องความสัมพันธ์กับบิดามารดา เพราะความสัมพันธ์ประการนี้ครอบคลุมถึงทุกคน ในทำนองเดียวกันยังขยายไปเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของสมาชิกอื่นๆ ของครอบครัวอีกด้วย พระบัญญัติประการนี้เรียกร้องให้เราให้เกียรติ ความรักและความกตัญญูรู้คุณต่อปู่ย่าตายายอีกด้วย ในที่สุดยังขยายไปถึงหน้าที่ของศิษย์ต่อครู ลูกจ้างต่อนายจ้าง ผู้อยู่ใต้บังคับต่อผู้นำ พลเมืองต่อบ้านเกิดเมืองนอนและต่อผู้บริหารและมีอำนาจปกครอง

           พระบัญญัติประการนี้ยังครอบคลุมไปถึงบทบาทหน้าที่ของบิดามารดา ผู้ดูแล ครูบาอาจารย์ ผู้ปกครอง ข้าราชการและทุกคนที่มีอำนาจปกครองเหนือชุมชนหรือบุคคล

 2200   การปฏิบัติตามพระบัญญัติประการที่สี่นี้มีรางวัลติดมาด้วย “จงนับถือบิดามารดา เพื่อท่านจะได้มีอายุยืนอยู่ในแผ่นดินที่องค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่านประทานให้” (อพย 20:12)[3]
การปฏิบัติตามบทบัญญัติข้อนี้ยังให้ผลเป็นสันติและความเจริญ นอกเหนือจากผลด้านจิตใจ
ในชีวิตนี้ด้วย ตรงกันข้าม การไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติข้อนี้ย่อมนำผลร้ายยิ่งใหญ่มาสู่ชุมชนและปัจเจกบุคคล

 

[1]  เทียบ มก 7:8-13.

[2] เทียบ ฉธบ 5:16.

[3] เทียบ ฉธบ 5:16.