บทที่หนึ่ง

พระธรรมล้ำลึกปัสกาในช่วงเวลาของพระศาสนจักร

 

ตอนที่หนึ่ง

พิธีกรรมพระราชกิจของพระตรีเอกภาพ

I. พระบิดา บ่อเกิดและจุดหมายของพิธีกรรม

I.  พระบิดา บ่อเกิดและจุดหมายของพิธีกรรม

 1077 “ขอถวายพระพรแด่พระเจ้า พระบิดาของพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา พระองค์ทรงอวยพรแก่เราโดยประทานพระพรนานาประการของพระจิตเจ้าจากสวรรค์เดชะพระคริสตเจ้า พระเจ้าทรงเลือกสรรเราในพระคริสตเจ้าแล้วตั้งแต่ก่อนการเนรมิตสร้างโลกเพื่อให้เราศักดิ์สิทธิ์และปราศจากมลทินเฉพาะพระพักตร์พระองค์ด้วยความรัก พระเจ้าทรงกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้วที่จะให้เราเป็นบุตรบุญธรรมเดชะพระเยซูคริสตเจ้า ตามพระประสงค์ที่พอพระทัย เพื่อสรรเสริญพระสิริรุ่งโรจน์แห่งพระหรรษทานของพระองค์ซึ่งโปรดประทานให้เราเดชะพระบุตรผู้ทรงเป็นที่รัก” (อฟ 1:3-6)

 1078 การอวยพรเป็นการกระทำของพระเจ้าที่ประทานชีวิต มีพระบิดาทรงเป็นบ่อเกิด การอวยพรของพระองค์เป็นทั้งพระวาจาและของประทาน (bene-dictio, eu-logia = การกล่าวดี) คำนี้เมื่อมนุษย์ใช้จะหมายถึงการนมัสการและขอบพระคุณต่อพระผู้เนรมิตสร้าง

1079  ตั้งแต่สร้างโลกจนถึงการสิ้นพิภพ พระราชกิจทั้งหมดของพระเจ้าก็เป็นการอวยพร จากบทประพันธ์ในพิธีกรรมที่กล่าวถึงตั้งแต่การเนรมิตสร้างจนถึงบทขับร้องที่กล่าวถึงกรุงเยรูซาเล็มในสวรรค์ บรรดาผู้ประพันธ์ที่ได้รับการดลใจกล่าวถึงแผนงานกอบกู้ว่าเป็นการอวยพรยิ่งใหญ่ของพระเจ้า

1080  นับตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว พระเจ้าทรงอวยพรบรรดาผู้มีชีวิต โดยเฉพาะชายและหญิง พันธสัญญากับโนอาห์และสรรพสัตว์ก็รื้อฟื้นการอวยพรนี้ให้มีลูกดก แม้ว่าแผ่นดินได้ “ถูกสาปแช่ง” แล้วเพราะบาปของมนุษย์ แต่นับตั้งแต่อับราฮัม การอวยพรของพระเจ้าก็ซึมแทรกเข้ามาในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่กำลังมุ่งไปสู่ความตาย เพื่อจะทำให้มวลมนุษย์ลุกขึ้นมาสู่ชีวิต มาสู่ต้นกำเนิดของตนอีก อาศัยความเชื่อของ “บิดาของบรรดาผู้มีความเชื่อ” ซึ่งรับพระพร  ประวัติศาสตร์ความรอดพ้นจึงเริ่มขึ้น

1081  การอวยพรของพระเจ้าปรากฏให้เห็นได้ในเหตุการณ์น่าพิศวงที่นำความรอดพ้นมาให้ เช่นการเกิดของอิสอัค การเดินทางออกจากอียิปต์ (ปัสกาและการอพยพ) การประทานแผ่นดินที่ทรงสัญญาไว้ การเลือกสรรกษัตริย์ดาวิด การประทับอยู่ของพระเจ้าในพระวิหาร การถูกกวาดต้อนเป็นเชลยไปในแดนเนรเทศที่ชำระประชากรและการกลับมาของ “ผู้รอดชีวิตเหลืออยู่จำนวนน้อย” ธรรมบัญญัติ บรรดาประกาศกและเพลงสดุดีที่รวมกันเป็นพิธีกรรมของประชากรที่ทรงเลือกสรร ล้วนชวนให้ระลึกถึงการอวยพรเหล่านี้จากพระเจ้า และตอบสนองการอวยพรเหล่านี้ด้วยการถวายพระพรสรรเสริญและขอบพระคุณ

1082  พระพรของพระเจ้ารับการเปิดเผยและสื่อให้ทุกคนทราบในพิธีกรรมของพระศาสนจักร  พระบิดาทรงเป็นที่รับรู้และรับการนมัสการว่าเป็นบ่อเกิดและจุดหมายของพระพรการเนรมิตสร้างและความรอดพ้น ในพระวจนาตถ์ผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ สิ้นพระชนม์และกลับคืนพระชนมชีพเพื่อเรา พระบิดาประทานพรให้เรามากมาย และยังทรงหลั่งของประทานที่รวมพระพรทุกอย่างลงในจิตใจของเราอีกด้วย คือพระจิตเจ้า

 1083 เราจึงเข้าใจได้ว่าพิธีกรรมของคริสตศาสนามีสองมิติ คือเป็นการตอบสนองด้วยความเชื่อและความรักต่อ “พระพรฝ่ายจิตต่างๆ” ที่พระบิดาพอพระทัยประทานให้เรา ในด้านหนึ่ง พระศาสนจักรที่ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับองค์พระผู้เป็นเจ้าของตนและเดชะพระจิตเจ้า[2] ถวายพรแด่พระบิดา “สำหรับของประทานของพระองค์ที่อยู่เหนือคำบรรยายทั้งปวง” (2 คร 9:15) โดยการ กราบนมัสการ ถวายคำสรรเสริญและขอบพระคุณ ในอีกด้านหนึ่ง และตราบจนจบสิ้นแผนการของพระเจ้า พระศาสนจักรไม่เลิกที่จะถวาย “ของถวายที่พระบิดาประทานให้พระศาสนจักร” แด่พระองค์ และยังวอนขอพระองค์ให้ทรงส่งพระจิตเจ้าลงมาเหนือของถวายนี้ เหนือพระศาสนจักรเหนือบรรดาผู้มีความเชื่อและมวลมนุษย์ทั่วโลก เพื่อว่าอาศัยการมีส่วนร่วมในการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า-พระสมณะ และเดชะพระอานุภาพของพระจิตเจ้าการถวายพรแด่พระเจ้านี้จะได้บังเกิดผลเป็นชีวิต “เพื่อสรรเสริญพระสิริรุ่งโรจน์แห่งพระหรรษทาน
ของพระองค์” (อฟ 1:6)

 

[2] เทียบ ลก 10:21

II. บทบาทของพระคริสตเจ้าในพิธีกรรม

II.  บทบาทของพระคริสตเจ้าในพิธีกรรม

พระคริสตเจ้าทรงรับพระสิริรุ่งโรจน์.....

 1084   พระคริสตเจ้า “ผู้ประทับเบื้องขวาของพระบิดา” และประทานพระจิตเจ้าลงเหนือพระกายทิพย์ของพระองค์ ซึ่งได้แก่พระศาสนจักร ทรงปฏิบัติงานแล้วอาศัยศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่ทรงสถาปนาไว้เพื่อประทานพระหรรษทานของพระองค์แก่มนุษย์ ศีลศักดิ์สิทธิ์เป็นเครื่องหมายที่สัมผัสได้ (เป็นคำพูดและการกระทำ) และเข้าถึงมนุษยชาติปัจจุบันของเราได้ศีลศักดิ์สิทธิ์มีประสิทธิผลเป็นพระหรรษทานที่ศีลเหล่านี้หมายถึงโดยการกระทำของพระคริสตเจ้าและเดชะพระอานุภาพของพระจิตเจ้า

1085    ในพิธีกรรมของพระศาสนจักร พระคริสตเจ้าทรงหมายถึงและบันดาลให้พระธรรมล้ำลึก ปัสกาของพระองค์เป็นปัจจุบัน ในช่วงเวลาที่ทรงพระชนม์อยู่ในโลกนี้ พระเยซูเจ้าทรงใช้การเทศน์สอนประกาศ และทรงใช้กิจการที่ทรงกระทำเกริ่นล่วงหน้าถึงพระธรรมล้ำลึกปัสกาของพระองค์ เมื่อเวลานั้นมาถึง[3] พระองค์ทรงดำเนินพระชนมชีพเหตุการณ์หนึ่งเดียวที่ไม่ผ่านพ้นไปในประวัติศาสตร์ประการนี้ พระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์ ทรงถูกฝัง กลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตายและประทับอยู่เบื้องขวาของพระบิดา “เพียงครั้งเดียวตลอดไป” (รม 6:10; ฮบ 7:27; 9:12) เป็นเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของเรา แต่ก็เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว เหตุการณ์อื่นๆ ทุกอย่างในประวัติศาสตร์ก็เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวแล้วก็ผ่านไป ถูกเวลาอดีตกลืนหายไป แต่ตรงกันข้าม พระธรรมล้ำลึกปัสกาของพระคริสตเจ้าเท่านั้นไม่อาจคงอยู่ในอดีตเท่านั้นได้ ทั้งนี้ก็เพราะว่าพระองค์ได้สิ้นพระชนม์เพื่อทรงทำลายความตายของเรา และไม่ว่าพระคริสตเจ้าทรงเป็นอะไร ทรงกระทำหรือทนสิ่งใดเพื่อมวลมนุษย์ ล้วนมีส่วนนิรันดรภาพของพระเจ้าและดังนี้จึงอยู่เหนือกาลเวลาทั้งหลาย เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ เหตุการณ์ที่ทรงถูกตรึงบนไม้กางเขนและการกลับคืนพระชนมชีพคงอยู่ตลอดไปและดึงดูดทุกสิ่งมาหาชีวิต


.....
ตั้งแต่พระศาสนจักรสมัยอัครสาวก......

1086    “พระบิดาทรงส่งพระคริสตเจ้ามาฉันใด พระคริสตเจ้าก็ทรงส่งบรรดาอัครสาวกผู้ได้รับ พระจิตเจ้าอย่างเต็มเปี่ยมไปฉันนั้น ไม่เพียงเพื่อให้เขาทั้งหลายไปประกาศข่าวดีแก่มนุษย์ทุกคน ว่าพระบุตรของพระเจ้าได้สิ้นพระชนม์และกลับคืนพระชนมชีพเพื่อช่วยให้เราเป็นอิสระพ้นจากอำนาจของปีศาจและจากความตาย นำเราเข้าสู่พระอาณาจักรของพระบิดาเท่านั้น เขายังต้องทำให้งานไถ่กู้ที่เขาประกาศเป็นจริงโดยอาศัยการถวายบูชาและศีลศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นหัวใจของชีวิตพิธีกรรมทั้งหมด”[4]

 1087   ดังนี้พระคริสตเจ้า เมื่อทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว จึงประทานพระจิตเจ้าแก่บรรดาอัครสาวก ทรงมอบอำนาจของพระองค์แก่เขาเพื่อบันดาลความศักดิ์สิทธิ์แก่ผู้อื่น[5] เขาจึงเป็นเครื่องหมายศีลศักดิ์สิทธิ์ของพระคริสตเจ้า  เดชะพระอานุภาพของพระจิตเจ้าองค์เดียวกัน บรรดาอัครสาวกจึงมอบอำนาจนี้แก่ผู้สืบตำแหน่งต่อมา “การสืบตำแหน่งต่อจากบรรดาอัครสาวก” นี้เองเป็นโครงสร้างของชีวิตด้านพิธีกรรมทั้งหมดของพระศาสนจักร และการสืบตำแหน่งเช่นนี้ก็มีลักษณะเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ที่สืบทอดต่อมาโดยทางศีลบวช


.....
พระคริสตเจ้าประทับอยู่ในพิธีกรรมบนแผ่นดินนี้......

 1088   “เพื่อทำให้งานยิ่งใหญ่นี้สำเร็จ  พระคริสตเจ้าประทับอยู่เสมอในพระศาสนจักร โดยเฉพาะในการประกอบพิธีกรรม พระองค์ประทับในพิธีบูชามิสซา ทั้งในตัวของผู้ประกอบพิธี เพราะ “เป็นพระองค์เอง ซึ่งแต่ก่อนนั้นทรงถวายพระองค์บนไม้กางเขน บัดนี้ ยังทรงถวายพระองค์อาศัยศาสนบริการของพระสงฆ์” และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระองค์ประทับอยู่ภายใต้รูปปรากฏของศีลมหาสนิท พระองค์ยังประทับอยู่ในศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ด้วยพระอานุภาพ จนกระทั่ง เมื่อผู้ใดประกอบพิธีศีลล้างบาป พระคริสตเจ้าเองก็ทรงประกอบพิธีศีลล้างบาป พระองค์ประทับอยู่ในพระวาจา เพราะเป็นพระองค์ที่ตรัส เมื่อมีผู้อ่านพระคัมภีร์ในพระศาสนจักร ในที่สุด พระองค์ยังประทับอยู่เมื่อพระศาสนจักรอธิษฐานภาวนาและขับร้องเพลงสดุดี เพราะพระองค์ทรงสัญญาว่า “ที่ใดมีสองหรือสามคนประชุมกันในนามของเรา เราอยู่ที่นั่นในหมู่พวกเขา” (มธ18:20)”[6]

 1089   “โดยแท้จริงแล้ว พระคริสตเจ้าทรงทำให้พระศาสนจักร เจ้าสาวสุดที่รักของพระองค์ มีส่วนร่วมกับพระองค์เสมอในการประกอบพระราชกิจใหญ่ยิ่งนี้ ซึ่งถวายพระสิริรุ่งโรจน์แด่พระเจ้าอย่างสมบูรณ์ และบันดาลความศักดิ์สิทธิ์แก่มนุษย์ พระศาสนจักรเรียกขานพระคริสตเจ้าเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าของตน และอาศัยพระองค์ถวายคารวกิจแด่พระบิดานิรันดร”[7]


.........
ซึ่งมีส่วนร่วมกับพิธีกรรมในสวรรค์.........

 1090   “ในพิธีกรรมที่ประกอบบนแผ่นดินนี้ เรามีส่วนลิ้มรสล่วงหน้าพิธีกรรมในสวรรค์ซึ่งประกอบอยู่ในนครเยรูซาเล็มศักดิ์สิทธิ์ ที่เรากำลังเดินทางมุ่งหน้าไปหา ในนครเยรูซาเล็มนี้ พระคริสตเจ้าประทับ ณ เบื้องขวาของพระเจ้า ทรงเป็นศาสนบริกรในสถานศักดิ์สิทธิ์ที่สุด และกระโจมแท้จริง  เราขับร้องเพลงสรรเสริญพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า พร้อมกับพลโยธาในกองทัพสวรรค์ เมื่อระลึกถึงบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่เราหวังจะมีส่วนร่วมความสุขพร้อมกับท่าน เรากำลังรอคอยพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา  จนกว่าพระองค์ผู้ทรงเป็นชีวิตของเรา จะทรงสำแดงพระองค์ แล้วเราก็จะปรากฏพร้อมกับพระองค์ในพระสิริรุ่งโรจน์ด้วย”[8]

 

[3] เทียบ ยน 13:1; 17:1

[4] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 6: AAS 56 (1964) 100.   

[5] เทียบ ยน 20:21-23.           

[6] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 7: AAS 56 (1964) 100-101.

[7] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 7: AAS 56 (1964) 101.    

[8] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 8: AAS 56 (1964) 101; cf. Id. Const. dogm. Lumen gentium, 50: AAS 57 (1965) 55-57.        

III. พระจิตเจ้าและพระศาสนจักรในพิธีกรรม

III.  พระจิตเจ้าและพระศาสนจักรในพิธีกรรม

 1091   ในพิธีกรรม พระจิตเจ้าทรงเป็นผู้อบรมสั่งสอนความเชื่อของประชากรของพระเจ้า ทรงเป็นนายช่างสร้าง “งานชิ้นเอกของพระเจ้า” ซึ่งได้แก่ศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ของพันธสัญญาใหม่ พระประสงค์และผลงานของพระจิตเจ้าในใจของพระศาสนจักรก็คือเพื่อเราจะได้ดำเนินชีวิตจากพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว เมื่อพระจิตเจ้าทรงพบการตอบสนองความเชื่อที่ทรงปลุกขึ้นในตัวเราก็เกิดมีการร่วมมืออย่างแท้จริง เพราะการร่วมมือนี้ พิธีกรรมจึงเป็นผลงานร่วมกันของพระจิตเจ้าและของพระศาสนจักร

 1092   ในการแบ่งปันพระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้าโดยศีลศักดิ์สิทธิ์นี้พระจิตเจ้าทรงทำงานด้วยวิธีเดียวกันกับในเวลาอื่นๆ ของแผนการความรอดพ้น พระองค์ทรงเตรียมพระศาสนจักรเพื่อจะพบกับองค์พระผู้เป็นเจ้าของตน ทรงเตือนชุมชนผู้มีความเชื่อให้ระลึกถึงพระคริสตเจ้าและทำให้พระคริสตเจ้าปรากฏองค์แก่เขา ทรงทำให้พระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้าเป็นปัจจุบันโดยพระอานุภาพที่จะเปลี่ยนแปลง ในที่สุด พระจิตเจ้าผู้ทรงสร้างชุมชนก็ทรงรวมพระศาสนจักรเข้ากับพระชนมชีพและพันธกิจของพระคริสตเจ้า

พระจิตเจ้าทรงเตรียมให้รับพระคริสตเจ้า

 1093   ในระเบียบการเกี่ยวกับศีลศักดิ์สิทธิ์ พระจิตเจ้าทรงทำให้ “รูปแบบ” ในพันธสัญญาเดิมสำเร็จเป็นจริง เนื่องจากว่าพระศาสนจักรของพระคริสตเจ้า “ได้ถูกจัดเตรียมไว้แล้วอย่างน่าพิศวงในประวัติศาสตร์ของประชากรอิสราเอลและพันธสัญญาเดิม”[9] พิธีกรรมของพระศาสนจักร ในฐานะที่เป็นองค์ประกอบสำคัญและไม่อาจทดแทนได้ จึงยังคงรักษาองค์ประกอบของคารวกิจในพันธสัญญาเดิมไว้และทำให้องค์ประกอบเหล่านั้นมาเป็นของตน

- โดยเฉพาะบทอ่านของพันธสัญญาเดิม

- การอธิษฐานภาวนาโดยใช้เพลงสดุดี

- และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการระลึกถึงเหตุการณ์ที่นำความรอดพ้นและความหมายของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ซึ่งสำเร็จเป็นจริงสมบูรณ์ในพระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้า (เช่นพระสัญญาและพันธสัญญา การอพยพและการฉลองปัสกา พระอาณาจักรและพระวิหาร การถูกกวาดต้อนเป็นเชลยและกลับจากแดนเนรเทศ)

 1094   จากความสอดคล้องของพันธสัญญาทั้งสองนี้เอง[10] เราจึงจัดคำสอนเรื่องการกลับคืนพระชนมชีพขององค์พระผู้เป็นเจ้า[11] แล้วจึงเป็นคำสอนของบรรดาอัครสาวกและบรรดาปิตาจารย์ของพระศาสนจักร คำสอนนี้เปิดเผยสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้ข้อความที่เขียนไว้ในพันธสัญญาเดิม นั่นคือพระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้า วิธีการนี้เรียกว่าคำสอน “อธิบายรูปแบบ” เพราะเปิดเผยความใหม่ของพระคริสตเจ้าจาก “รูปแบบ” (types) ที่กล่าวล่วงหน้าถึงพระองค์โดยใช้เหตุการณ์ คำพูดและสัญลักษณ์ในพันธสัญญาเดิม รูปแบบในพันธสัญญาเดิมเหล่านี้ได้รับการเปิดเผยโดยการอ่านแบบใหม่เช่นนี้ในพระจิตเจ้าแห่งความจริงที่พระคริสตเจ้าประทานให้[12] ดังนี้ น้ำวินาศและเรือของโนอาห์เป็นรูปแบบของความรอดพ้นอาศัยศีลล้างบาป[13] เช่นเดียวกับเมฆและการข้ามทะเลแดง รวมทั้งน้ำจากหินผาล้วนเป็นรูปแบบของพระพรฝ่ายจิตที่พระคริสตเจ้าประทานให้[14] มานนาในถิ่นทุรกันดารเป็นรูปแบบหมายล่วงหน้าถึงศีลมหาสนิท “ขนมปังแท้จากสวรรค์” (ยน 6:32)

 1095   เพราะเหตุนี้ พระศาสนจักร โดยเฉพาะในเทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ เทศกาลมหาพรต และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในคืนปัสกา จึงอ่านและรื้อฟื้นเหตุการณ์ยิ่งใหญ่ต่างๆ เหล่านี้ทั้งหมดให้เป็นปัจจุบัน หรือเป็น “วันนี้” อีกครั้งหนึ่งในพิธีกรรมของตน แต่เรื่องนี้ยังเรียกร้องให้การสอนคำสอนช่วยบรรดาผู้มีความเชื่อเปิดตนเพื่อเข้าใจแผนการความรอดพ้นในมิติด้านจิตตามที่พิธีกรรมของพระศาสนจักรเปิดเผยและช่วยให้ดำเนินชีวิตตามแผนการดังกล่าว

1096    พิธีกรรมของชาวยิวและพิธีกรรมของชาวคริสต์ การรู้จักความเชื่อและชีวิตด้านศาสนาของประชากรชาวยิวดีขึ้น ดังที่ทุกวันนี้ยังแสดงให้เห็นในการยืนยันความเชื่อและการปฏิบัติในชีวิต อาจช่วยให้เข้าใจลักษณะบางประการของพิธีกรรมของชาวคริสต์ได้ดียิ่งขึ้น พระคัมภีร์เป็นส่วนสำคัญของพิธีกรรมทั้งสำหรับชาวยิวและชาวคริสต์ เพื่อประกาศพระวาจาของพระเจ้า ตอบรับพระวาจานี้ อธิษฐานภาวนาสรรเสริญและวอนขอสำหรับผู้เป็นและผู้ตาย เพื่อเข้ามาขอพระเมตตากรุณาจากพระเจ้า โดยโครงสร้างแล้ว วจนพิธีกรรมมีต้นกำเนิดมาจากพิธีกรรมของชาวยิว พิธีกรรมสวดทำวัตรและบทภาวนาอื่นๆ รวมทั้งสูตรทางพิธีกรรมก็มีรูปแบบและเนื้อหาคล้ายๆ กัน เช่นเดียวกับรูปแบบบทภาวนาที่น่าเคารพที่สุดของเรา เช่นบท “ข้าแต่พระบิดา” บท “ขอบพระคุณ” ก็ได้รับแรงบันดาลใจจากบทภาวนาในธรรมประเพณีของชาวยิว ความสัมพันธ์ของพิธีกรรมของชาวยิวและพิธีกรรมของคริสตชน รวมทั้งความแตกต่างของเนื้อหาด้วย เห็นได้ชัดเป็นพิเศษในวันฉลองใหญ่ๆ ของปีพิธีกรรม เช่นในวันฉลองปัสกา ทั้งคริสตชนและชาวยิวฉลองปัสกา สำหรับชาวยิว ฉลองปัสกามุ่งสู่อนาคตของประวัติศาสตร์ แต่สำหรับคริสตชน ฉลองปัสกาสำเร็จไปแล้วในการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าแม้ว่ายังมีการรอคอยอยู่ตลอดเวลาให้ปัสกานี้สำเร็จโดยสมบูรณ์

1097    ในพิธีกรรมของพันธสัญญาใหม่ พิธีกรรมทุกอย่าง โดยเฉพาะพิธีบูชาขอบพระคุณและศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เป็นการพบกันระหว่างพระคริสตเจ้ากับพระศาสนจักร ชุมชนที่ประกอบพิธีกรรมมีเอกภาพเป็นหนึ่งเดียวกันจาก “การมีความสัมพันธ์ร่วมกับพระจิตเจ้า” ผู้ทรงรวมบรรดาบุตรของพระเจ้าให้เป็นพระวรกายเดียวกันของพระคริสตเจ้า ความสัมพันธ์นี้อยู่เหนือสายสัมพันธ์ทั้งหลายของมนุษย์ ได้แก่ความสัมพันธ์ทางเครือญาติ เชื้อชาติ วัฒนธรรมและสังคม

 1098   ชุมชนนี้จึงต้องเตรียมตนเพื่อพบกับองค์พระผู้เป็นเจ้าของตน เพื่อเป็นประชากรพร้อมที่จะรับเสด็จองค์พระผู้เป็นเจ้า[15]การเตรียมจิตใจเช่นนี้เป็นผลงานร่วมกันของพระจิตเจ้าและชุมชน โดยเฉพาะของบรรดาศาสนบริกรของชุมชนนี้ พระหรรษทานของพระจิตเจ้าพยายามปลุกความเชื่อ การกลับใจและปรารถนาร่วมพระประสงค์ของพระบิดา จำเป็นต้องมีการเตรียมจิตใจล่วงหน้าเช่นนี้เพื่อจะได้รับพระหรรษทานอื่นๆ ที่พระเจ้าประทานให้ในการประกอบพิธีและเพื่อผลแห่งชีวิตใหม่ที่การประกอบพิธีนี้ถูกกำหนดไว้ให้เกิดผล

พระจิตเจ้าทรงเชิญชวนให้ระลึกถึงพระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้า

 1099   พระจิตเจ้าและพระศาสนจักรร่วมงานด้วยกันเพื่อให้พระคริสตเจ้าและผลงานไถ่กู้ของพระองค์ปรากฏในพิธีกรรม พิธีกรรมเป็นการระลึกถึงพระธรรมล้ำลึกแห่งความรอดพ้น โดยเฉพาะพิธีบูชาขอบพระคุณ และคล้ายๆ กันในศีลศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ด้วย  พระจิตเจ้าผู้ทรงชีวิตทรงให้พระศาสนจักรระลึกถึงทุกสิ่งที่พระคริสตเจ้าทรงกระทำไว้[16]

 1100   พระวาจาของพระเจ้า  ก่อนอื่น พระจิตเจ้าทรงปลุกชุมชนที่ประกอบพิธีกรรมให้ระลึกถึงเหตุการณ์การไถ่กู้ ประทานชีวิตแก่พระวาจาที่รับการประกาศให้เป็นที่ยอมรับและถูกนำมาใช้ในชีวิต

“พระคัมภีร์มีความสำคัญอย่างยิ่งในการประกอบพิธีกรรม เพราะพระคัมภีร์เป็นที่มาของบทอ่านที่อ่านและอธิบายในบทเทศน์ และของเพลงสดุดีที่ใช้ขับร้อง คำอธิษฐานภาวนา บทวอนขอ และบทเพลงสรรเสริญในพิธีกรรม ล้วนได้รับแรงบันดาลใจและเจตนารมณ์จากพระคัมภีร์ทั้งสิ้น กิจกรรมและสัญลักษณ์ต่างๆ ในพิธีกรรมก็ได้รับความหมายมาจากพระคัมภีร์ด้วย”[17]

 1101  พระจิตเจ้าประทานความเข้าใจพระวาจาของพระเจ้าด้านจิตใจแก่ผู้อ่านและผู้ฟังตามสภาพจิตใจของเขา อาศัยถ้อยคำ การกระทำและสัญลักษณ์ที่รวมกันเป็นโครงสร้างของการประกอบพิธีกรรม พระจิตเจ้าทรงจัดให้บรรดาผู้มีความเชื่อและศาสนบริกรมีความสัมพันธ์ที่มีชีวิตกับพระคริสตเจ้า พระวจนาตถ์และภาพลักษณ์ของพระบิดา เพื่อความหมายของสิ่งต่างๆ ที่เขาได้ฟัง ได้พิจารณาและกระทำในการประกอบพิธีจะได้ซึมซาบเข้าไปในชีวิต

 1102  “ความเชื่อในใจของบรรดาผู้มีความเชื่อ ที่ทำให้ชุมชนของบรรดาผู้มีความเชื่อเริ่มต้นและเติบโตขึ้นนั้น รับการหล่อเลี้ยงโดยพระวาจาที่นำความรอดพ้น”[18] การประกาศพระวาจาของพระเจ้าไม่จบลงที่การสั่งสอนเท่านั้น แต่ยังเรียกร้องการตอบสนองของความเชื่อในฐานะที่เป็นการเห็นพ้องด้วยและการผูกมัดตนเพื่อนำไปยังพันธสัญญาระหว่างพระเจ้ากับประชากรของพระองค์ พระจิตเจ้ายังประทานพระหรรษทานความเชื่อ เสริมพลังและทำให้เจริญเติบโตขึ้นในชุมชนด้วย ชุมชนที่ประกอบพิธีกรรมก่อนอื่นจึงเป็นการมีส่วนร่วมกันในความเชื่อ

 1103  ‘Anamnesis’ (แปลว่า “การระลึกถึง”) การประกอบพิธีกรรมมีความสัมพันธ์เสมอกับการที่พระเจ้าทรงนำความรอดพ้นเข้ามาเกี่ยวข้องกับมนุษย์ในประวัติศาสตร์ “แผนการเผยความจริง […] สำเร็จไปด้วยกิจการและพระวาจาซึ่งเกี่ยวเนื่องกันอย่างลึกซึ้งจนกระทั่ง […] พระวาจา [...] ประกาศถึงกิจการและอธิบายข้อเร้นลับในกิจการเหล่านั้นให้ชัดแจ้ง”[19] ในวจนพิธีกรรม พระจิตเจ้าทรงเตือนให้ที่ประชุม “ระลึกถึง” ทุกสิ่งที่พระคริสตเจ้าได้ทรงทำให้เรา ตามลักษณะของกิจกรรมในพิธีกรรมและธรรมประเพณีพิธีต่างๆ ของพระศาสนจักร การประกอบพิธีกรรม “ทำให้เราระลึกถึง” กิจกรรมน่าพิศวงของพระเจ้าใน “พิธีระลึกถึง” (Anamnesis) ที่ได้พัฒนามากบ้างน้อยบ้าง พระจิตเจ้าที่ทรงปลุกพระศาสนจักรให้มีความทรงจำเช่นนี้ขึ้นยังทรงปลุกพระศาสนจักรให้ขอบพระคุณและสรรเสริญอีกด้วย (Doxologia)

พระจิตเจ้าทรงทำให้พระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้าเป็นปัจจุบัน

 1104  พิธีกรรมของคริสตชนไม่เพียงแต่ระลึกถึงเหตุการณ์ที่ได้ช่วยเราให้รอดพ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้เหตุการณ์เหล่านั้นเป็นปัจจุบันและบังเกิดผลด้วย เราเฉลิมฉลองพระธรรมล้ำลึกปัสกาของพระคริสตเจ้า ไม่ทำให้พระธรรมล้ำลึกนี้เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แต่การเฉลิมฉลองเกิดขึ้นซ้ำได้ และในการเฉลิมฉลองเช่นนี้แต่ละครั้งก็มีการหลั่งพระจิตเจ้าผู้ทรงทำให้พระธรรมล้ำลึกหนึ่งเดียวนี้เป็นปัจจุบันด้วย

 1105  “Epiklesis” (= การเรียกลงมาเหนือ) เป็นการอธิษฐานภาวนาที่พระสงฆ์วอนขอพระบิดาให้ทรงส่งพระจิตเจ้าผู้ทรงบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้ของถวายของเรา (ขนมปังและเหล้าองุ่น) กลายเป็นพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า และบรรดาผู้มีความเชื่อที่รับของถวายเหล่านี้เองได้กลับเป็นของถวายมีชีวิตแด่พระเจ้าด้วย

 1106  Epiklesis (การเรียกลงมาเหนือ) พร้อมกับ Anamnesis (พิธีระลึกถึง) จึงเป็นศูนย์กลางของการประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์แต่ละครั้ง โดยเฉพาะศีลมหาสนิท

“ท่านถามว่าขนมปังกลายเป็นพระกายของพระคริสตเจ้า และเหล้าองุ่นเป็นพระโลหิตของพระคริสตเจ้าได้อย่างไร ข้าพเจ้าบอกท่านดังนี้ว่า พระจิตเจ้าเสด็จลงมาและทรงทำสิ่งที่อยู่เหนือคำพูดและความคิดทั้งหลาย […] ท่านเพียงแต่ฟังก็พอแล้ว สิ่งนี้เกิดขึ้นเดชะพระจิตเจ้า เช่นเดียวกันกับที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงรับสภาพมนุษย์สำหรับพระองค์เองและในพระองค์เองจากพระมารดาของพระเจ้าเดชะพระจิตเจ้า”[20]

 1107  พระอานุภาพเปลี่ยนแปลงของพระจิตเจ้าในพิธีกรรมเร่งให้พระอาณาจักรมาถึงและให้พระธรรมล้ำลึกแห่งความรอดบรรลุถึงความสำเร็จบริบูรณ์ ในการรอคอยและในความหวังนี้ พระองค์ทรงบันดาลให้ความสัมพันธ์กับพระตรีเอกภาพอย่างสมบูรณ์นี้ได้เกิดขึ้นก่อนโดยแท้จริง พระจิตเจ้า ที่พระบิดาผู้ทรงฟังคำวอนขอ (Epiklesis) ของพระศาสนจักรทรงส่งมานี้ ประทานชีวิตแก่ทุกคนที่รับพระองค์ผู้ทรงเป็น “ประกัน”[21] มรดกนิรันดรสำหรับเขาแล้วตั้งแต่เวลานี้

ความสนิทสัมพันธ์กับพระจิตเจ้า

 1108  จุดหมายพันธกิจของพระจิตเจ้าในการประกอบพิธีกรรมทุกอย่างก็คือเพื่อให้เรามีความสนิทสัมพันธ์กับพระคริสตเจ้าเพื่อเสริมสร้างพระวรกายทิพย์ของพระองค์ พระจิตเจ้าทรงเป็นเสมือนน้ำเลี้ยงเถาองุ่นของพระบิดาที่ทำให้เกิดผลบนเถาองุ่นเหล่านั้น[22] การร่วมงานอย่างใกล้ชิดของพระจิตเจ้าและพระศาสนจักรเป็นความจริงขึ้นในพิธีกรรม พระจิตเจ้า พระจิตแห่งความสนิทสัมพันธ์ ประทับอยู่ในพระศาสนจักรโดยไม่เสื่อมคลาย และเพราะเหตุนี้พระศาสนจักรจึงเป็นเครื่องหมายและเครื่องมือยิ่งใหญ่ของความสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้าที่รวบรวมบรรดาบุตรที่กระจัดกระจายของพระเจ้าเข้าไว้ด้วยกัน ผลของพระจิตเจ้าในพิธีกรรมก็คือความสนิทสัมพันธ์อย่างแยกไม่ได้กับพระตรีเอกภาพและความสนิทสัมพันธ์กันฉันพี่น้อง[23]

 1109 Epiklesis (คำวอนขอ) ยังเป็นบทภาวนาเพื่อให้เกิดผลสมบูรณ์เป็นความสนิทสัมพันธ์ของชุมชนกับพระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้า “พระหรรษทานของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า ความรักของพระเจ้า และความสนิทสัมพันธ์ของพระจิตเจ้า” (2 คร 13:13) ต้องคงอยู่เสมอไปกับเราและบังเกิดผลนอกเหนือไปจากพิธีบูชาขอบพระคุณ พระศาสนจักรจึงอธิษฐานภาวนาขอพระบิดาให้ทรงส่งพระจิตเจ้าเพื่อทรงบันดาลให้ชีวิตของบรรดาผู้มีความเชื่อกลับเป็นของถวายที่มีชีวิตโดยการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจเป็นภาพของพระคริสตเจ้า มีความสนใจต่อเอกภาพของพระศาสนจักรและมีส่วนร่วมในพันธกิจของพระศาสนจักรโดยการเป็นพยานและการรับใช้ด้านความรัก

 

[9] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 2: AAS 57 (1965) 6.       

[10] Cf. Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Dei Verbum, 14-16: AAS 58 (1966) 824-825.            

[11] เทียบ ลก 24:13-49.          

[12] เทียบ 2 คร 3:14-16.         

[13] เทียบ 1 ปต 3:21.            

[14] เทียบ 1 คร 10:1-6.           

[15] เทียบ ลก 1:17.

[16] เทียบ ยน 14:26.             

[17] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 24: AAS 56 (1964) 105-107.

[18] Concilium Vaticanum II, Decr. Presbyterorum ordinis, 4: AAS 58 (1966) 996.     

[19] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Dei Verbum, 2: AAS 58 (1966) 818.

[20] Sanctus Ioannes Damascenus, Expositio fidei, 86 [De fide orthodoxa, 4, 13]: PTS 12, 194-195 (PG 94, 1141, 1145).

[21] เทียบ อฟ 1:14; 2 คร 1:22.

[22] เทียบ ยน 15:1-17; กท 5:22.

[23] เทียบ 1 ยน 1:3-7.

สรุป

สรุป

1110    ในพิธีกรรมของพระศาสนจักร พระเจ้าพระบิดาทรงรับการถวายพรและนมัสการในฐานะที่ทรงเป็นบ่อเกิดพระพรทุกประการของการเนรมิตสร้างและการไถ่กู้ ที่พระองค์ทรงอวยพรเราในพระบุตร เพื่อประทานพระจิตการเป็นบุตรบุญธรรมแก่เรา

1111    ผลงานของพระคริสตเจ้าในพิธีกรรมมีลักษณะเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์เพราะพระธรรมล้ำลึกการไถ่กู้ของพระองค์ถูกทำให้เป็นปัจจุบันเดชะพระอานุภาพของพระจิตเจ้า เพราะพระวรกายของพระองค์ ซึ่งได้แก่พระศาสนจักร ในฐานะที่เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์” (เครื่องหมายและเครื่องมือ) เป็นสิ่งที่พระจิตเจ้าทรงใช้เพื่อเผยแผ่พระธรรมล้ำลึกแห่งความรอดพ้น เพราะพระศาสนจักรซึ่งกำลังเดินทางในโลกนี้ใช้กิจกรรมด้านพิธีกรรมของตนเพื่อมีส่วนร่วมพิธีกรรมในสวรรค์เป็นการชิมลางล่วงหน้า

1112    พันธกิจของพระจิตเจ้าในพิธีกรรมของพระศาสนจักรคือการเตรียมชุมชนไว้เพื่อรับเสด็จพระคริสตเจ้า เป็นการระลึกถึงและแสดงองค์พระคริสตเจ้าแก่ชุมชนแห่งความเชื่อ เป็นการใช้พลังเปลี่ยนแปลงของตนทำให้ผลงานไถ่กู้ของพระคริสตเจ้ามีประสิทธิผลเป็นปัจจุบัน และทำให้พระพรความสนิทสัมพันธ์บังเกิดผลในพระศาสนจักร

ตอนที่สอง

พระธรรมล้ำลึกปัสกา

ในศีลศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักร

 1113   กิจกรรมทั้งหมดด้านพิธีกรรมของพระศาสนจักรเกี่ยวข้องกับพิธีบูชาขอบพระคุณและศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ[24] ในพระศาสนจักรมีศีลศักดิ์สิทธิ์เจ็ดประการ ได้แก่ ศีลล้างบาป ศีลกำลัง ศีลมหาสนิท ศีลอภัยบาป ศีลเจิมคนไข้ ศีลบวช และศีลสมรส[25] ในตอนนี้กล่าวถึงเรื่องทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับศีลศักดิ์สิทธิ์ทั้งเจ็ดประการของพระศาสนจักร เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการประกอบพิธีร่วมกันของศีลต่างๆ จะกล่าวถึงในบทที่สอง และเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกับศีลแต่ละประการจะเป็นเนื้อหาของส่วนที่สอง

 

[24] Cf. Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 6: AAS 56 (1964) 100.

[25] Cf. Concilium Lugdunense II, Professio fidei Michaelis Palaeologi imperatoris: DS 860; Concilium Florentinum, Decretum pro Armenis: DS 1310; Concilium Tridentinum, Sess. 7a, Canones de sacramentis in genere, canon 1: DS 1610.

I. ศีลศักดิ์สิทธิ์ของพระคริสตเจ้า

I. ศีลศักดิ์สิทธิ์ของพระคริสตเจ้า

1114    “เรายึดมั่นในคำสอนของพระคัมภีร์ ธรรมประเพณีจากบรรดาอัครสาวก […] และความเห็นพ้องต้องกันของบรรดาปิตาจารย์”[26] ประกาศว่า “ศีลศักดิ์สิทธิ์ของพันธสัญญาใหม่ […] ทุกศีลได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยพระเยซูคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา”[27]

 1115   พระวาจาและพระราชกิจของพระเยซูเจ้า ระหว่างที่ทรงดำเนินพระชนมชีพซ่อนเร้น และเมื่อทรงประกอบพันธกิจเทศน์สอน ก็ทำให้มนุษย์ได้รับความรอดพ้นแล้วในฐานะที่เกริ่นล่วงหน้าถึงพระธรรมล้ำลึกปัสกาของพระองค์ พระวาจาและพระราชกิจเหล่านี้แจ้งให้ทราบและเตรียมสิ่งที่พระองค์ตั้งพระทัยจะประทานแก่พระศาสนจักรเมื่อทุกสิ่งสำเร็จแล้ว พระธรรมล้ำลึกต่างๆแห่งพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าเป็นรากฐานของสิ่งที่พระคริสตเจ้าทรงแจกจ่ายต่อมาในศีลศักดิ์สิทธิ์ผ่านทางศาสนบริกร เพราะว่า “สิ่งที่ปรากฏแจ้งชัดในพระผู้ไถ่ของเรานั้นผ่านเข้ามาในศีลศักดิ์สิทธิ์”[28]

 1116   “พระอานุภาพซึ่งออกมา” จากพระวรกายของพระคริสตเจ้า[29] ผู้ทรงพระชนม์และบันดาลชีวิตให้ตลอดเวลา พระราชกิจของพระจิตเจ้าผู้ทรงทำงานอยู่ในพระวรกายทิพย์ของพระองค์ ได้แก่พระศาสนจักรนี้เองเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็น “งานชิ้นเอก” ของพระเจ้าในพันธสัญญาใหม่และนิรันดร

 

[26] Concilium Tridentinum, Sess. 7a, Decretum de sacramentis, Prooemium: DS 1600.

[27] Concilium Tridentinum, Sess. 7a, Canones de sacramentis in genere,  canon 1: DS 1601.

[28] Sanctus Leo Magnus, Sermo 74, 2: CCL 138A, 457 (PL 54,398).

[29] เทียบ ลก 5:17; 6:19; 8:46   

II. ศีลศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักร

II. ศีลศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักร

 1117   พระศาสนจักรซึ่งพระจิตเจ้า “ทรงนำไปสู่ความจริงทั้งมวล” (ยน 16:13) ค่อยๆ รู้จักขุมทรัพย์นี้ที่ตนได้รับจากพระคริสตเจ้า และกำหนด “วิธีการแจกจ่าย” ขุมทรัพย์นี้เหมือนกับที่เคยทำเกี่ยวกับสารบบพระคัมภีร์และคำสั่งสอนความเชื่อเป็นเสมือนผู้จัดการดูแลพระธรรมล้ำลึกของพระเจ้าอย่างซื่อสัตย์[30] ดังนี้ ตลอดช่วงเวลาหลายศตวรรษที่ผ่านมา พระศาสนจักรจึงได้กำหนดไว้ในการประกอบพิธีกรรมของตนว่าศีลศักดิ์สิทธิ์ในความหมายเฉพาะของคำนี้ที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงตั้งไว้นั้นมีจำนวนเจ็ดศีลด้วยกัน

 1118   ศีลศักดิ์สิทธิ์เป็น “ของพระศาสนจักร” ในสองความหมายดังนี้ คือ เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ “โดยพระศาสนจักร” และ “เพื่อพระศาสนจักร”  ศีลศักดิ์สิทธิ์มีได้ “โดยพระศาสนจักร” ก็เพราะว่าพระศาสนจักรเป็น “ศีลศักดิ์สิทธิ์” (เครื่องหมายและเครื่องมือ) ของการกระทำของพระคริสตเจ้าผู้ทรงทำงานโดยพระพันธกิจของพระจิตเจ้าในพระศาสนจักร ศีลศักดิ์สิทธิ์ยังมีไว้ “เพื่อพระศาสนจักร” ก็เพราะว่า “พระศาสนจักรสร้างขึ้นได้โดยศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ”[31] เพราะศีลศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้แสดงและถ่ายทอดพระธรรมล้ำลึกความสัมพันธ์กับพระเจ้า-องค์ความรัก พระธรรมล้ำลึกเรื่องพระเจ้าหนึ่งเดียวในสามพระบุคคลให้แก่มนุษย์ โดยเฉพาะในศีลมหาสนิท

 1119   พระศาสนจักรซึ่งรวมกับพระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นเสมือนศีรษะ ร่วมเป็น “บุคคลล้ำลึกบุคคลเดียวกัน”[32] ทำงานในศีลศักดิ์สิทธิ์เหมือนกับเป็น “ชุมชนสมณะ” “ที่มีโครงสร้างเป็นระเบียบ”[33] โดยศีลล้างบาปและศีลกำลัง ประชากรสมณะเหมาะที่จะประกอบพิธีกรรม ในอีกด้านหนึ่ง ผู้มีความเชื่อบางคนที่ได้รับศีลบวช “ได้รับแต่งตั้งให้เลี้ยงดูพระศาสนจักรด้วยพระวาจาและพระหรรษทานของพระเจ้าในพระนามของพระคริสตเจ้า”[34]

 1120   ศาสนบริการของผู้รับศีลบวช หรือ “สมณภาพเพื่อศาสนบริการ[35] มีไว้เพื่อรับใช้สมณภาพที่มาจากศีลล้างบาป สมณภาพเพื่อศาสนบริการแสดงว่าพระคริสตเจ้าเองทรงทำงานใน  ศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เดชะพระจิตเจ้าเพื่อพระศาสนจักร พันธกิจประทานความรอดพ้นที่พระบิดาทรงมอบไว้กับพระบุตรผู้ทรงรับสภาพมนุษย์นี้ถูกมอบไว้แก่บรรดาอัครสาวกและผ่านต่อไปแก่ผู้สืบตำแหน่งต่อจากท่าน ท่านเหล่านี้รับพระจิตของพระเยซูเจ้าเพื่อปฏิบัติงานในพระนามและพระบุคคลของพระองค์[36] ศาสนบริการของผู้รับศีลบวชจึงเป็นพันธะจากศีลศักดิ์สิทธิ์ที่รวมกิจกรรมทางพิธีกรรมกับสิ่งที่บรรดาอัครสาวกเคยพูดและทำไว้ และผ่านทางท่าน กับสิ่งที่พระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นบ่อเกิดและรากฐานของศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เคยตรัสและทรงทำไว้

 1121   ศีลศักดิ์สิทธิ์สามประการ คือ ศีลล้างบาป ศีลกำลัง และศีลบวช นอกจากประทานพระหรรษทานแล้ว ยังประทานตรา หรือ “เครื่องหมาย”ที่ทำให้คริสตชนมีส่วนในสมณภาพของพระคริสตเจ้าและเป็นส่วนหนึ่งของพระศาสนจักรตามสถานะและบทบาทที่ต่างกัน การมีภาพลักษณ์ของพระคริสตเจ้าและพระศาสนจักรเช่นนี้เป็นผลงานของพระจิตเจ้าและไม่มีวันจะลบออกได้[37] แต่คงอยู่ตลอดไปในคริสตชนเป็นความพร้อมเพื่อจะรับพระหรรษทาน เป็นเสมือนคำสัญญาและประกันว่าพระเจ้าจะทรงปกป้องเขา และเป็นเสมือนการเรียกให้เข้ามาร่วมพิธีคารวกิจต่อพระเจ้าและรับใช้พระศาสนจักร เพราะฉะนั้นศีลทั้งสามนี้จึงรับซ้ำอีกไม่ได้เลย

 

[30] เทียบ มธ 13:52; 1 คร 4:1.

[31] Sanctus Augustinus, De civitate Dei 22, 17: CSEL 40/2, 625 (PL 41, 779); cf. Sanctus Thomas Aquinas, Summa theologiae 3, q. 64, a. 2, ad 3: Ed. Leon. 12, 43.

[32] Pius XII, Litt. Enc. Mystici corporis: AAS 35 (1943) 226.

[33] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 11: AAS 57 (1965) 15.

[34] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 11: AAS 57 (1965) 15.

[35] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 10: AAS 57 (1965) 14.

[36] เทียบ ยน 20:21-23; ลก 24:47; มธ 28:18-20.

[37] Concilium Tridentinum, Sess. 7a, Canones de sacramentis in genere,  canon 9: DS 1609.

III. ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งความเชื่อ

III. ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งความเชื่อ

 1122   พระคริสตเจ้าทรงส่งบรรดาอัครสาวกไปประกาศ “ในพระนามของพระองค์ให้นานาชาติกลับใจเพื่อรับอภัยบาป” (ลก 24:47) “ท่านทั้งหลายจงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา ทำพิธีล้างบาปให้เขาเดชะพระนามพระบิดา พระบุตรและพระจิต” (มธ 28:19) พันธกิจทำพิธีล้างบาปจึงเป็นพันธกิจเกี่ยวกับศีลศักดิ์สิทธิ์ รวมอยู่ในพันธกิจการประกาศข่าวดี เพราะศีลศักดิ์สิทธิ์มีการเตรียมตัวโดยพระวาจาของพระเจ้าและโดยความเชื่อซึ่งเป็นการเห็นพ้องกับพระวาจานี้

“ประชากรของพระเจ้าก่อนอื่นหมดมารวมกันโดยพระวาจาของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต […] ศาสนบริการด้านศีลศักดิ์สิทธิ์เรียกร้องการประกาศพระวาจา เพราะศีลศักดิ์สิทธิ์เป็นศีลแห่งความเชื่อซึ่งเกิดขึ้นและรับการหล่อเลี้ยงจากพระวาจา”[38] 

 1123  “ศีลศักดิ์สิทธิ์มีไว้เพื่อบันดาลความศักดิ์สิทธิ์แก่มนุษย์ เพื่อเสริมสร้างพระกายของพระคริสตเจ้าและเพื่อถวายคารวกิจแด่พระเจ้า ในฐานะที่เป็นเครื่องหมายยังมีจุดประสงค์เพื่อให้การสั่งสอนอบรมด้วย ผู้รับศีลต้องมีความเชื่ออยู่ก่อนแล้ว แต่ถ้อยคำและจารีตพิธีของศีลศักดิ์สิทธิ์ก็ยังหล่อเลี้ยง เสริมพลังและแสดงความเชื่อให้ปรากฏด้วย เพราะเหตุนี้ ศีลศักดิ์สิทธิ์จึงได้ชื่อว่า ศีลแห่งความเชื่อ[39]

 1124  ความเชื่อของพระศาสนจักรมาก่อนความเชื่อของผู้มีความเชื่อซึ่งได้รับเชิญให้เข้ามารับความเชื่อนี้ เมื่อพระศาสนจักรประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ ก็ประกาศความเชื่อที่ได้รับมาจากบรรดาอัครสาวก ดังที่มีคำพังเพยตามคำกล่าวของ Prosper แห่ง Aquitan (คริสตศตวรรษที่ 5) ว่า กฎการอธิษฐานภาวนาก็คือกฎการเชื่อ” (“Lex orandi, lex credendi” หรือ กฎความเชื่อต้องกำหนดกฎการอธิษฐานภาวนา”)[40] กฎของการอธิษฐานภาวนาเป็นกฎของความเชื่อ พระศาสนจักรเชื่อเหมือนกับที่อธิษฐานภาวนา พิธีกรรมเป็นองค์ประกอบของธรรมประเพณีศักดิ์สิทธิ์และทรงชีวิต[41]

 1125  เพราะเหตุนี้ จึงไม่มีจารีตพิธีใดๆ ของศีลศักดิ์สิทธิ์ที่จะถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขตามอำเภอใจหรือความสะดวกของศาสนบริกรหรือชุมชนได้ อำนาจปกครองสูงสุดของพระศาสนจักรเองก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงพิธีกรรมได้ตามอำเภอใจ แต่ต้องเชื่อฟังความเชื่อและให้ความเคารพทางศาสนาต่อพระธรรมล้ำลึกของพิธีกรรม

 1126  นอกจากนั้น เพราะศีลศักดิ์สิทธิ์แสดงให้เห็นและพัฒนาความสัมพันธ์ของความเชื่อในพระศาสนจักร กฎการอธิษฐานภาวนาจึงเป็นมาตรการหนึ่งที่สำคัญของการเสวนาที่ต้องการสถาปนาเอกภาพของบรรดาคริสตชนขึ้นใหม่[42]

 

[38] Concilium Vaticanum II, Decr. Presbyterorum ordinis, 4: AAS 58 (1966) 995-996.

[39] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 59: AAS 56 (1964) 116. 

[40] Indiculus, c. 8: DS 246 (PL 51, 209).

[41] Cf. Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Dei Verbum, 8: AAS 58 (1966) 821.

[42] Cf. Concilium Vaticanum II, Decr. Unitatis redintegratio, 2: AAS 57 (1965) 91-92; Ibid., 15: AAS (1965) 101-102.

IV. ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งความรอดพ้น

IV. ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งความรอดพ้น

 1127   ศีลศักดิ์สิทธิ์ที่ประกอบพิธีอย่างเหมาะสมกับความเชื่อ ประทานพระหรรษทานที่ศีลนั้นหมายถึง[43] (ศีลศักดิ์สิทธิ์)มีประสิทธิผลเพราะพระเยซูคริสตเจ้าเองทรงทำงานในศีลเหล่านี้ เป็นพระองค์ที่ทรงประกอบพิธีล้างบาป เป็นพระองค์ที่ทรงทำงานในศีลศักดิ์สิทธิ์เพื่อประทานพระหรรษทานที่ศีลนั้นหมายถึงให้แก่ผู้รับ พระบิดาทรงฟังคำอธิษฐานภาวนาของพระศาสนจักรของพระบุตรของพระองค์เสมอ ในบท Epiklesis (บทวอนขอพระจิตเจ้า)ของแต่ละศีล พระศาสนจักรแสดงความเชื่อของตนถึงพระอานุภาพของพระจิตเจ้า ไฟย่อมเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งที่ตนสัมผัสฉันใด พระจิตเจ้าก็ทรงเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ยอมอยู่ใต้พระอานุภาพให้มีชีวิตพระเจ้าด้วยฉันนั้น

 1128   นี่คือความหมายของคำกล่าวของพระศาสนจักร[44] ที่ว่า ศีลศักดิ์สิทธิ์ทำงาน ex opere operato(แปลตามตัวอักษรว่า “จากกิจการที่ทำเสร็จแล้ว”) ซึ่งหมายความว่า “โดยพระอานุภาพของงานไถ่กู้ของพระคริสตเจ้าที่สำเร็จแล้วครั้งเดียวโดยมีผลตลอดไป” ดังนั้น จึงมีข้อความนี้ต่อไปว่า “ศีลศักดิ์สิทธิ์มีประสิทธิผลไม่ใช่โดยความชอบธรรมของมนุษย์ผู้ให้หรือรับ แต่โดยพระอานุภาพของพระเจ้า”[45] จากความจริงที่ว่าศีลศักดิ์สิทธิ์ประกอบพิธีตามเจตนาของพระศาสนจักร พระอานุภาพของพระคริสตเจ้าและพระจิตของพระองค์จึงทำงานในพิธีนี้และผ่านทางพิธีนี้โดยไม่ขึ้นกับความศักดิ์สิทธิ์ส่วนตัวของศาสนบริกร กระนั้นก็ดี ผลของศีลศักดิ์สิทธิ์ก็ยังขึ้นกับสภาพจิตใจของผู้รับด้วยเหมือนกัน

 1129   พระศาสนจักรกล่าวย้ำว่าศีลศักดิ์สิทธิ์ของพันธสัญญาใหม่จำเป็นสำหรับความรอดพ้นของผู้มีความเชื่อ[46] “พระหรรษทานของศีลศักดิ์สิทธิ์” คือพระหรรษทานของพระจิตเจ้าที่พระคริสตเจ้าประทานให้และเป็นพระหรรษทานเฉพาะของแต่ละศีล พระจิตเจ้าทรงบำบัดรักษาและเปลี่ยนแปลงผู้ที่รับพระองค์โดยบันดาลให้เขาละม้ายคล้ายกับพระบุตรของพระเจ้า ผลของชีวิตศีลศักดิ์สิทธิ์ก็คือเพื่อพระจิตเจ้าจะได้ทรงบันดาลให้ผู้มีความเชื่อเป็นบุตรบุญธรรมของพระเจ้า[47] โดยทรงรวมเขาให้มีชีวิตร่วมกับพระบุตรเพียงพระองค์เดียว พระผู้ไถ่

 

[43] Cf. Concilium Tridentinum, Sess. 7a, Canones de sacramentis in genere,  canon 5: DS 1605; Ibid., canon 6: DS 1606.

[44] Cf. Concilium Tridentinum, Sess. 7a, Canones de sacramentis in genere,  canon 8: DS 1608.        

[45] Sanctus Thomas Aquinas, Summa theologiae 3, q. 68, a. 8, c: Ed. Leon. 12, 100.

[46] Cf. Concilium Tridentinum, Sess. 4a, Canones de sacramentis in genere,  canon 8: DS 1604.        

[47] เทียบ 2 ปต 1:4.

V. ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งชีวิตนิรันดร

V. ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งชีวิตนิรันดร

 1130   พระศาสนจักรเฉลิมฉลองพระธรรมล้ำลึกขององค์พระผู้เป็นเจ้า “จนกว่าพระองค์จะเสด็จมา” (1 คร 11:26) และ “เพื่อพระเจ้าจะได้ทรงเป็นทุกสิ่งในทุกคน” (1 คร 15:28) นับตั้งแต่สมัยอัครสาวกมาแล้ว พิธีกรรมมุ่งหาจุดหมายสุดท้ายของตนผ่านคำคร่ำครวญของพระจิตเจ้าในพระศาสนจักรว่า “มารานาธา(1 คร 16:22)  ดังนั้น พิธีกรรมจึงร่วมส่วนพระประสงค์ของพระเยซูเจ้าที่ว่า “เราปรารถนาอย่างยิ่งจะกินปัสกาครั้งนี้ร่วมกับท่าน [...] จนกว่าปัสกานี้จะเป็นความจริงในพระอาณาจักรของพระเจ้า” (ลก 22:15-16) ในศีลศักดิ์สิทธิ์ของพระคริสตเจ้า พระศาสนจักรรับประกันมรดก มีส่วนชีวิตนิรันดรกับพระองค์แล้ว แม้ว่ายังคงรอคอย “ความหวังที่ให้ความสุขคือการสำแดงพระองค์ในพระสิริรุ่งโรจน์ของพระคริสตเยซู พระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่และพระผู้ไถ่ของเรา” (ทต 2:13) “และพระจิตเจ้าตรัสพร้อมกับเจ้าสาวว่า ‘เชิญเสด็จมาเถิด’ [...] ข้าแต่พระเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้า เชิญเสด็จมาเถิด” (วว 22:17,20)

นักบุญโทมัสสรุปเหตุผลต่างๆ ของเครื่องหมายของศีลศักดิ์สิทธิ์ไว้ดังนี้ว่า “ศีลศักดิ์สิทธิ์เป็นทั้งเครื่องหมายระลึกอดีตที่เกิดขึ้นก่อนนี้ นั่นคือพระทรมานของพระคริสตเจ้า เป็นเครื่องหมายแสดงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในตัวเรา(ในปัจจุบัน)ผ่านทางพระทรมานของพระคริสตเจ้า ซึ่งได้แก่พระหรรษทาน และยังเป็นเครื่องหมายบอกล่วงหน้าด้วยว่าพระทรมานของพระคริสตเจ้าเป็นประกันของสิริรุ่งโรจน์ในอนาคต”[48]

 

[48] Sanctus Thomas Aquinas, Summa theologiae 3, q. 60, a. 3, c: Ed. Leon. 12, 6.

สรุป

สรุป

1131    ศีลศักดิ์สิทธิ์เป็นเครื่องหมายที่มีประสิทธิผลประทานพระหรรษทานที่พระคริสตเจ้าทรงตั้งไว้และมอบแก่พระศาสนจักรเพื่อเป็นเครื่องมือประทานชีวิตพระเจ้าแก่เรา จารีตพิธีที่เราเห็นได้เมื่อประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์หมายความถึงและทำให้เกิดผลเป็นพระหรรษทานเฉพาะของแต่ละศีล ศีลศักดิ์สิทธิ์บังเกิดผลในผู้ที่เตรียมตัวมีสภาพพร้อมตามที่ศีลนั้นเรียกร้องเท่านั้น

1132    พระศาสนจักรประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ในฐานะที่เป็นชุมชนสมณะจากสมณภาพที่เนื่องมาจากศีลล้างบาปและจากสมณภาพของศาสนบริกรที่ได้รับศีลบวช

1133    พระจิตเจ้าทรงเตรียมผู้มีความเชื่อให้รับศีลศักดิ์สิทธิ์โดยพระวาจาของพระเจ้าและโดยความเชื่อที่รับพระวาจาเหล่านี้ในใจที่เตรียมพร้อม เมื่อนั้นแหละศีลศักดิ์สิทธิ์ย่อมเสริมและแสดงความเชื่อนั้น

1134    ชีวิตที่เนื่องมาจากศีลศักดิ์สิทธิ์เป็นทั้งชีวิตส่วนตัวและส่วนรวมของพระศาสนจักรในเวลาเดียวกัน ในด้านหนึ่งผลนี้เป็นชีวิตสำหรับผู้มีความเชื่อแต่ละคนเพื่อพระเจ้าในพระเยซูคริสตเจ้า และในอีกด้านหนึ่งยังเป็นการเสริมพระศาสนจักรในความรักและในพันธกิจการเป็นพยานของ
พระศาสนจักรด้วย