บทที่สอง

ธรรมประเพณีเรื่องการอธิษฐานภาวนา

 2650  เราจะคิดว่าการอธิษฐานภาวนาเป็นเพียงความต้องการที่เกิดขึ้นเองภายในใจไม่ได้ เพื่อจะอธิษฐานภาวนา เราต้องมีความปรารถนาที่จะทำเช่นนั้น ไม่เป็นการเพียงพอที่จะรู้ว่าพระคัมภีร์เปิดเผยเรื่องการอธิษฐานภาวนา เรายังต้องเรียนรู้ที่จะอธิษฐานภาวนาด้วย บัดนี้ พระจิตเจ้าทรงถ่ายทอด “ธรรมประเพณี” ที่มีชีวิต ทรงสอนบรรดาบุตรของพระเจ้าในพระศาสนจักรผู้มีความเชื่อและอธิษฐานภาวนา[1]ให้รู้จักการอธิษฐานภาวนา

 2651  ธรรมประเพณีการอธิษฐานภาวนาเป็นรูปแบบหนึ่งที่ธรรมประเพณีความเชื่อพัฒนาขึ้น โดยเฉพาะอาศัยการพิศเพ่งฌาณและการศึกษาของผู้มีความเชื่อที่เก็บรักษาเรื่องราวและพระวาจาของแผนการความรอดพ้นไว้ในใจของตนและพยายามที่จะเข้าใจความเป็นจริงด้านจิตที่ตนมีประสบการณ์ให้ลึกซึ้ง[2]

 

[1]  Cf Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Dei Verbum, 8: AAS 58 (1966) 821.

[2] Cf Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Dei Verbum, 8: AAS 58 (1966) 821.

ตอนที่หนึ่ง

บ่อเกิดของการอธิษฐานภาวนา

 2652  พระจิตเจ้าซึ่งเป็น “ธารน้ำ” ที่ไหลริน “เพื่อชีวิตนิรันดร” ในใจของผู้อธิษฐานภาวนา[3] พระจิตเจ้ายังทรงสอนเราให้รับน้ำนี้จากพระคริสตเจ้าซึ่งทรงเป็นตาน้ำเอง ในชีวิตคริสตชนมีธารน้ำหลายสายจากตาน้ำนี้ ที่พระคริสตเจ้าทรงคอยอยู่เพื่อจะให้เราดื่มน้ำนี้ คือพระจิตเจ้า

 

[3] เทียบ ยน 4:14.

พระวาจาของพระเจ้า

พระวาจาของพระเจ้า

 2653  พระศาสนจักร “จึงขอเตือนอย่างหนักแน่นเป็นพิเศษให้คริสตชนทั้งหลาย […] ได้อ่านพระคัมภีร์บ่อยๆ เพื่อจะได้เรียนรู้ ‘ความรู้ล้ำเลิศถึงพระเยซูคริสตเจ้า’ (ฟป 3:8) […] ให้เขาระลึกด้วยว่าการอ่านพระคัมภีร์จะต้องมีการภาวนาควบคู่อยู่ด้วยเสมอ เพื่อจะเป็นการสนทนาของพระเจ้ากับมนุษย์ เพราะว่า ‘เราพูดกับพระเจ้าเมื่อเราภาวนา เราฟังพระองค์เมื่อเราอ่านพระวาจา’”[4]

 2654   บรรดาปิตาจารย์ผู้สอนเรื่องชีวิตจิต เมื่ออธิบายพระวรสาร มธ 7:7 สรุปถึงท่าทีของจิตใจที่ได้รับการหล่อเลี้ยงด้วยพระวาจาในการอธิษฐานภาวนาไว้ว่า “จงแสวงหาโดยอ่าน  และท่านจะพบเมื่อไตร่ตรอง จงเคาะด้วยการอธิษฐานภาวนา และพระเจ้าจะทรงเปิดใจให้ท่านโดยการ
เพ่งฌาณ”[5]

 

[4] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Dei Verbum, 25: AAS 58 (1966) 829; cf Sanctus Ambrosius, De officiis ministrorum, 1, 88: ed. N. Testard (Paris 1984) p. 138 (PL 16, 50)

[5] Guigo II Cartusiensis, Scala claustralium, 2, 2: PL 184, 476. Haec tamen verba non accipiuntur in textu editionis criticae SC 163, 84; vide ibi apparatum criticum

พิธีกรรมของพระศาสนจักร

พิธีกรรมของพระศาสนจักร

 2655  พันธกิจของพระคริสตเจ้าและของพระจิตเจ้าซึ่งประกาศพระธรรมล้ำลึกเรื่องความรอดพ้น ทำให้พระธรรมล้ำลึกนี้เป็นปัจจุบันเผยแผ่ออกไปในพิธีกรรมของพระศาสนจักร ยังดำเนินต่อไปในใจที่อธิษฐานภาวนา บรรดาปิตาจารย์ผู้สอนเรื่องชีวิตจิตบางครั้งเปรียบใจของเรากับพระแท่นบูชา การอธิษฐานภาวนาทำให้พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์เข้ามาอยู่ในใจเป็นของตนโดยเฉพาะ ทั้งในช่วงเวลาประกอบพิธีกรรมและหลังจากการประกอบพิธีแล้ว การอธิษฐานภาวนา แม้จะเกิดขึ้น “ในห้องส่วนตัว” (มธ 6:6) ก็เป็นการอธิษฐานภาวนาของพระศาสนจักรเสมอ การอธิษฐานภาวนานี้เป็นความสัมพันธ์กับพระตรีเอกภาพศักดิ์สิทธิ์[6]

 

[6] Cf Institutio generalis de liturgia Horarum, 9: Liturgia Horarum, editio typica, v. 1 (Typis Polyglottis Vaticanis 1973) p. 25.

คุณธรรมเกี่ยวกับพระเจ้า

คุณธรรมเกี่ยวกับพระเจ้า

 2656  การเข้าในการอธิษฐานภาวนาเกิดขึ้นเช่นเดียวกับการเข้าร่วมพิธีกรรม คือผ่านทางความเชื่อที่เป็นเหมือนประตูแคบ เราอยากได้และแสวงหาพระพักตร์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าผ่านเครื่องหมายการประทับอยู่ของพระองค์ เราอยากได้ยินและรักษาพระวาจาของพระองค์ไว้

 2657   พระจิตเจ้าผู้ทรงสอนเราให้ประกอบพิธีกรรมขณะที่รอคอยการเสด็จกลับมาของพระคริสตเจ้าทรงย้ำให้เราอธิษฐานภาวนาด้วยความหวัง  ในทางกลับกัน การอธิษฐานภาวนาของพระศาสนจักรและการอธิษฐานภาวนาส่วนตัวของเราก็หล่อเลี้ยงความหวังด้วย เพลงสดุดีโดยเฉพาะ ใช้สำนวนที่เป็นรูปธรรมต่างๆ สอนเราให้มีความหวังแน่วแน่ในพระเจ้า “ข้าพเจ้ารอคอยองค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยความหวังและพระองค์ก็ทรงฟังเสียงร้องของข้าพเจ้า” (สดด 40:1) “ขอพระเจ้าผู้ประทานความหวังโปรดให้ท่านทั้งหลายเปี่ยมด้วยความยินดีและสันติทุกประการในการที่ท่านเชื่อเช่นนั้น เพื่อว่าท่านทั้งหลายจะได้มีความหวังอย่างเต็มเปี่ยมเดชะพระฤทธานุภาพของพระจิตเจ้า” (รม 15:13)

 2658  “ความหวังไม่ทำให้เราผิดหวัง เพราะพระจิตเจ้าซึ่งพระเจ้าประทานให้เราทรงหลั่งความรักของพระเจ้าลงในดวงใจของเรา” (รม 5:5)  การอธิษฐานภาวนาที่รับการหล่อเลี้ยงจากพิธีกรรมตักตวงทุกสิ่งในความรักที่พระคริสตเจ้าทรงรักเราและโปรดให้เราตอบสนองพระองค์ด้วยความรักเหมือนกับที่ทรงรักเรา ความรักเป็นบ่อเกิดเพียงหนึ่งเดียวของการอธิษฐานภาวนา ผู้ที่ตักตวงจากความรักนี้ก็บรรลุถึงจุดยอดของการอธิษฐานภาวนา

             “ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้า ข้าพเจ้ารักพระองค์ ความปรารถนาเพียงประการเดียวของข้าพเจ้าก็คือ รักพระองค์จนถึงลมหายใจเฮือกสุดท้ายของชีวิตข้าพเจ้า ข้าพเจ้ารักพระองค์ ข้าแต่พระเจ้าผู้ทรงน่ารักอย่างหาขอบเขตมิได้ และข้าพเจ้าอยากตายโดยรักพระองค์มากกว่าจะมีชีวิตอยู่โดยไม่รักพระองค์
              ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้ารักพระองค์ และพระหรรษทานประการเดียวที่ข้าพเจ้าขอจากพระองค์ก็คือให้รักพระองค์ตลอดนิรันดร […] ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้า แม้ปากข้าพเจ้าไม่อาจกล่าวทุกขณะได้ว่าข้าพเจ้ารักพระองค์ ข้าพเจ้าก็อยากให้ใจข้าพเจ้ากล่าวซ้ำคำนี้ทุกครั้งที่ข้าพเจ้าหายใจ”[7]

 

[7]  Sanctus Ioannes Maria Vianney, Oratio, apud B. Nodet, Le Cure d’Ars. Sa pensee-son coeur (Le Puy 1966) p. 45.

“วันนี้”

วันนี้

 2659  เราเรียนรู้ที่จะอธิษฐานภาวนาในบางขณะที่เราฟังพระวาจาขององค์พระผู้เป็นเจ้า และมีส่วนร่วมพระธรรมล้ำลึกปัสกาของพระองค์ แต่พระองค์ประทานพระจิตของพระองค์ให้เราเสมอ ในเหตุการณ์ต่างๆ ของแต่ละวัน เพื่อให้การอธิษฐานภาวนาเกิดขึ้น คำสอนของพระเยซูเจ้าเรื่องการอธิษฐานภาวนายังพบได้ในแนวเดียวกันกับคำสอนเรื่องพระญาณเอื้ออาทร[8] เวลาอยู่ในพระหัตถ์ของพระบิดา  เราพบพระองค์ได้เสมอในปัจจุบัน ไม่ใช่เมื่อวานนี้หรือพรุ่งนี้ “ท่านทั้งหลายจงฟังพระสุรเสียงของพระองค์ในวันนี้เถิด อย่าทำใจให้แข็งกระด้าง” (สดด 95:7-8)

 2660  การอธิษฐานภาวนาในเหตุการณ์ของแต่ละวันและแต่ละขณะเป็นหนึ่งในความลับของพระอาณาจักรที่ทรงเปิดเผยแก่ “ผู้ต่ำต้อย” แก่ผู้รับใช้ของพระคริสตเจ้า แก่ผู้ยากจนในคำเทศน์เรื่องความสุขแท้ เป็นการเหมาะสมและถูกต้องที่จะอธิษฐานภาวนาให้การมาถึงของอาณาจักรแห่งความยุติธรรมและสันติมีอิทธิพลในความก้าวหน้าของประวัติศาสตร์ แต่ก็ยังมีความสำคัญอย่างมากด้วยที่จะอธิษฐานภาวนาสำหรับความเป็นอยู่ประจำวันของกลุ่มชนผู้ต่ำต้อย การอธิษฐานภาวนาทุกรูปแบบจึงจะเป็นเสมือนเชื้อแป้งที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงนำพระอาณาจักรมาเปรียบเทียบได้[9]

 

[8] เทียบ มธ 6:11,34.

[9] เทียบ ลก 13:20-21.

สรุป

สรุป

 2661   โดยการดำเนินชีวิตต่อเนื่อง โดยธรรมประเพณี พระจิตเจ้าทรงสอนบรรดาบุตรของพระเจ้าในพระศาสนจักรให้อธิษฐานภาวนา

 2662   พระวาจาของพระเจ้า พิธีกรรมของพระศาสนจักร คุณธรรมความเชื่อ ความหวัง และความรักเป็นบ่อเกิดของการอธิษฐานภาวนา

ตอนที่สอง

วิถีทางของการอธิษฐานภาวนา

 2663  ในธรรมประเพณีที่มีชีวิตชีวาของการอธิษฐานภาวนา พระศาสนจักรแต่ละแห่งเสนอภาษาของการอธิษฐานภาวนา ได้แก่ถ้อยคำ ทำนองเพลง ท่าทาง รูปภาพศักดิ์สิทธิ์ ให้แก่บรรดาผู้มีความเชื่อสมาชิกของตนตามบริบททางประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรมของเขา เป็นหน้าที่ผู้มีอำนาจสอนของพระศาสนจักร[10] ที่จะพิจารณาแนวทางของการอธิษฐานภาวนาเหล่านี้ว่าซื่อสัตย์สอดคล้องกับธรรมประเพณีความเชื่อที่ได้รับตกทอดมาจากบรรดาอัครสาวก และเป็นหน้าที่ของบรรดาผู้อภิบาลและผู้สอนคำสอน ที่จะอธิบายความหมายของบทภาวนาเหล่านี้ ซึ่งกล่าวพาดพิงถึงพระเยซูคริสตเจ้าเสมอ

 

[10] Cf Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Dei Verbum, 10: AAS 58 (1966) 822.   

การอธิษฐานภาวนาต่อพระบิดา

การอธิษฐานภาวนาต่อพระบิดา

 2664  การอธิษฐานภาวนาของคริสตชนไม่มีหนทางอื่นใดนอกจากพระคริสตเจ้า การอธิษฐานภาวนาของเรา ไม่ว่าจะเป็นการอธิษฐานภาวนาร่วมกันของชุมชนหรือส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นการอธิษฐานภาวนาโดยออกเสียงหรือเป็นการภาวนาในใจ จะไปถึงพระบิดาไม่ได้นอกจากเราจะอธิษฐานภาวนา “ในพระนาม” ของพระเยซูเจ้า พระธรรมชาติมนุษย์ที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้าจึงเป็นหนทางที่พระจิตเจ้าทรงใช้สอนเราให้อธิษฐานภาวนาต่อพระเจ้าพระบิดาของเรา

การอธิษฐานภาวนาต่อพระเยซูเจ้า

การอธิษฐานภาวนาต่อพระเยซูเจ้า

 2665  การอธิษฐานภาวนาของพระศาสนจักร ซึ่งได้รับการหล่อเลี้ยงจากพระวาจาของพระเจ้าและ   การประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ สอนเราให้อธิษฐานภาวนาต่อพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้า แม้ว่าการอธิษฐานภาวนาของพระศาสนจักรส่วนใหญ่จะมุ่งหาพระบิดา ก็ยังมีสูตรบทภาวนาจำนวนหนึ่งในทุกธรรมประเพณีทางพิธีกรรมที่มุ่งหาพระคริสตเจ้าด้วย เพลงสดุดีบางบทที่ในปัจจุบันได้รับการปรับใช้ตามสถานการณ์ในการอธิษฐานภาวนาของพระศาสนจักร และพันธสัญญาใหม่ยังเชิญชวนให้เราใช้คำพูดกล่าวเพลงสดุดีเหล่านี้ และคิดคำนึงในใจให้เป็นการอธิษฐานภาวนาเรียกหาพระคริสตเจ้า เช่น ข้าแต่พระบุตรของพระเจ้า ข้าแต่พระวจนาตถ์ของพระเจ้า ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า ข้าแต่พระผู้ไถ่กู้ ลูกแกะพระเจ้า ข้าแต่พระมหากษัตริย์ ข้าแต่พระบุตรสุดที่รัก ข้าแต่พระบุตรของพระนางพรหมจารี ข้าแต่ผู้อภิบาลที่ดี ชีวิตของข้าพเจ้าทั้งหลาย แสงสว่างของข้าพเจ้าทั้งหลาย ความหวังของข้าพเจ้าทั้งหลาย การกลับคืนชีพของข้าพเจ้าทั้งหลาย มิตรของมวลมนุษย์ ฯลฯ

 2666  แต่พระนามที่ครอบคลุมทุกอย่าง และที่พระบุตรของพระเจ้าทรงรับพร้อมกับพระธรรมชาติมนุษย์ก็คือพระนาม “เยซู” พระนามของพระเจ้าเป็นสิ่งที่ปากของเรากล่าวไม่ได้[11] แต่พระวจนาตถ์ของพระเจ้าเมื่อทรงรับพระธรรมชาติมนุษย์ ได้ทรงมอบพระนามนี้ให้เราทูลเรียกพระองค์ คือพระนาม “เยซู” ซึ่งแปลว่า “พระยาห์เวห์ทรงช่วยให้รอดพ้น”[12] พระนาม “เยซู” หมายความถึงทุกอย่าง หมายถึงพระเจ้าและมนุษย์ รวมทั้งสิ่งสร้างและแผนการการความรอดพ้นทั้งหมด อธิษฐานภาวนาถึง “พระเยซู” เป็นการร้องหาพระองค์ เป็นการเรียกพระองค์ในตัวเรา พระนามของพระองค์เป็นพระนามเดียวที่มีสิ่งที่พระนามนี้หมายถึงร่วมอยู่ด้วย พระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว และใครๆที่เรียกขานพระนามของพระองค์ย่อมรับพระบุตรของพระเจ้าซึ่งทรงรักเขาและทรงมอบพระองค์เพื่อเขา[13]

 2667   การเรียกหาด้วยความเชื่อแบบซื่อๆ เช่นนี้ในธรรมประเพณีการอธิษฐานภาวนาได้พัฒนาขึ้นในหลายรูปแบบในพระศาสนจักรตะวันออกและตะวันตก สูตรที่พบบ่อยมากจากผลงานของบรรดาผู้เขียนงานด้านชีวิตจิตจากภูเขาซีนาย ซีเรีย และภูเขาอาโทสก็คือคำเรียกหาว่า “ข้าแต่พระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรพระเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้า ทรงพระกรุณาต่อข้าพเจ้าทั้งหลายผู้เป็นคนบาปเทอญ” คำเรียกหาเช่นนี้รวมบทเพลงสรรเสริญพระคริสตเจ้าใน ฟป 2:6-11 กับการร้องหาของคนเก็บภาษีและการร้องขอแสงสว่างจากคนตาบอด[14] โดยการร้องหาเช่นนี้ ใจย่อมสัมผัสกับความน่าสงสารของมนุษย์และกับความเมตตากรุณาของพระผู้ไถ่

 2668   การเรียกขานพระนามศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้าเป็นหนทางซื่อที่สุดที่ทุกคนจะอธิษฐานภาวนาได้ตลอดเวลา การเรียกขานพระนามที่เอาใจใส่ทำซ้ำด้วยความถ่อมตนอยู่บ่อยๆ เช่นนี้ย่อมไม่สูญหายไป “ในการพูดพร่ำ” (มธ 6:7) แต่เป็นการ “ยึดพระวาจาไว้ด้วยความพากเพียรจนเกิดผล”[15] การอธิษฐานภาวนาเช่นนี้ทำได้ “ตลอดเวลา” เพราะไม่ใช่การทำงานหนึ่งซ้อนกับอีกงานหนึ่ง แต่เป็นการทำงานเดียวกัน คือการรักพระเจ้า งานนี้เป็นพลังบันดาลใจและปรับปรุงกิจการทุกอย่างในพระเยซูคริสตเจ้า

 2669   การอธิษฐานภาวนาของพระศาสนจักรถวายพระเกียรติและเคารพนับถือดวงพระทัยของพระเยซูเจ้า เช่นเดียวกับที่เรียกขานพระนามศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ กราบนมัสการพระวจนาตถ์ผู้ทรงรับพระธรรมชาติมนุษย์และดวงพระทัยของพระองค์ที่ทรงยอมให้ถูกแทงเพราะความรักต่อมนุษย์และเพราะบาปของเรา การอธิษฐานภาวนาของคริสตชนยังชอบเดินตามทางไม้กางเขน สถานที่ต่างๆ จากจวนผู้ว่าราชการถึงเนินกลโกธา ไปจนถึงพระคูหาเป็นการเดินตามหนทางของพระเยซูเจ้าผู้ทรงไถ่โลกด้วยไม้กางเขนศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์

 

[11] เทียบ อพย 3:14; 33:19-23.   

[12] เทียบ มธ 1:21.

[13] เทียบ รม 8:13; กจ 2:21; 3:15-16; กท 2:20.    

[14] เทียบ ลก 18:13; มก 10:46-52.

[15] เทียบ ลก 8:15.              

“เชิญเสด็จมา ข้าแต่พระจิตเจ้า”

เชิญเสด็จมา ข้าแต่พระจิตเจ้า

 2670  “หากพระจิตเจ้ามิได้ทรงดลใจก็ไม่มีผู้ใดพูดได้ว่า ‘พระเยซูคือองค์พระผู้เป็นเจ้า’” (1 คร 12:3) ทุกครั้งที่เราเริ่มอธิษฐานภาวนาต่อพระเยซูเจ้า พระจิตเจ้าย่อมประทานพระหรรษทานให้เราก่อนเพื่อนำเราเข้าในหนทางการอธิษฐานภาวนา เมื่อพระจิตเจ้าทรงสอนเราให้อธิษฐานภาวนา ดลใจให้เราระลึกถึงพระคริสตเจ้า แล้วทำไมเราจึงไม่อธิษฐานภาวนาต่อพระองค์ด้วย เพราะเหตุนี้พระศาสนจักรจึงเชิญชวนเราทุกวันให้เรียกหาพระจิตเจ้า โดยเฉพาะเมื่อเริ่มและจบกิจการงานที่สำคัญทุกอย่าง

             “ถ้าหากว่าเราไม่ต้องนมัสการพระจิตเจ้าแล้ว พระองค์จะทรงบันดาลให้เราเป็นบุตรของพระเจ้าอาศัยศีลล้างบาปได้อย่างไร ถ้าเราต้องนมัสการพระองค์แล้ว เราจะไม่ถวายพระเกียรติแด่พระองค์ด้วยหรือ”[16]

 2671    รูปแบบการวอนขอพระจิตเจ้าตามธรรมประเพณีคือการวอนขอพระบิดาให้ประทานพระจิตเจ้าพระผู้บรรเทาให้เราผ่านทางพระคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา[17] พระเยซูเจ้าทรงย้ำถึงการวอนขอนี้ในพระนามของพระองค์โดยเฉพาะเมื่อทรงสัญญาจะประทานพระจิตแห่งความจริงเป็นพระพรพิเศษแก่เรา[18] แต่บทภาวนาถึงพระจิตเจ้าแบบซื่อๆ และโดยตรงที่สุดยังเป็นบทภาวนาที่ใช้กันมาเป็นธรรมประเพณี “เชิญเสด็จมา ข้าแต่พระจิตเจ้า” และธรรมประเพณีทางพิธีกรรมแต่ละธรรมประเพณีก็ยังขยายความบทนี้ในบทลำนำและบทเพลงสรรเสริญต่างๆ ด้วย เช่น

           “เชิญเสด็จมา ข้าแต่พระจิตเจ้า เชิญเสด็จมาสถิตในดวงใจสัตบุรุษ และทรงบันดาลให้ลุกร้อนด้วยไฟความรักของพระองค์”[19]

             “ข้าแต่พระราชาแห่งสวรรค์ พระผู้ทรงบรรเทา พระจิตแห่งความจริง พระผู้ประทับอยู่ทั่วทุกแห่ง ทรงเติมเต็มทุกสิ่ง ข้าแต่ขุมทรัพย์แห่งความดีและบ่อเกิดแห่งชีวิต เชิญเสด็จมาประทับอยู่ในข้าพเจ้าทั้งหลาย โปรดทรงชำระข้าพเจ้าทั้งหลายให้ปลอดจากความแปดเปื้อน และทรงช่วยวิญญาณข้าพเจ้าทั้งหลายให้รอดพ้น พระองค์ผู้ทรงความดีทุกประการ”[20]

 2672  พระจิตเจ้าผู้ทรงเจิมพวกเราทั้งตัว ทรงเป็นอาจารย์สอนการอธิษฐานภาวนาของคริสตชน พระองค์ทรงเป็นผู้เสริมสร้างธรรมประเพณีการอธิษฐานภาวนาที่มีชีวิตชีวา ใช่แล้ว แนวทางการอธิษฐานภาวนามีจำนวนมากเท่ากับผู้อธิษฐานภาวนา แต่พระจิตเจ้าองค์เดียวกันก็ทรงทำงานในทุกคนและพร้อมกับทุกคน ในความสัมพันธ์ของพระจิตเจ้า การอธิษฐานภาวนาของคริสตชนจึงเป็นการอธิษฐานภาวนาในพระศาสนจักร

 

[16] Sanctus Gregorius Nazianzenus, Oratio 31 (theologica 5), 28: SC 250, 332 (PG 36, 165).          

[17] เทียบ ลก 11:13.              

[18] เทียบ ยน 14:17; 15:26; 16:13.

[19] In sollemnitate Pentecostes, Antiphona ad « Magnificat » in I Vesperis: Liturgia Horarum, editio typica, v. 2 (Typis Polyglottis Vaticanis 1973)
p. 798; cf Sollemnitas Pentecostes, Ad Missam in die, Sequentia: Lectionarium, v. 1, editio typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1970) p. 855-856.

[20] Officium Horarum Byzantinum, Vespertinum in die Pentecostes, Sticherum 4: “Pentekostarion” (Romae 1884) p. 394.

ในความสัมพันธ์กับพระมารดาของพระเจ้า

ในความสัมพันธ์กับพระมารดาของพระเจ้า

 2673  เมื่ออธิษฐานภาวนา พระจิตเจ้าทรงรวมเรากับพระบุคคลของพระบุตรเพียงพระองค์เดียวในพระธรรมชาติมนุษย์ที่ทรงพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ โดยทางพระธรรมชาติมนุษย์และในพระธรรมชาตินี้ การอธิษฐานภาวนาของเราในฐานะที่เป็นบุตรจึงมีความสัมพันธ์กับพระมารดาของพระเยซูเจ้าในพระศาสนจักร[21]

 2674  พระนางทรงตอบรับการแจ้งสารจากทูตสวรรค์ด้วยความเชื่อและยังทรงยึดมั่นโดยไม่ลังเลพระทัยที่เชิงไม้กางเขน การเป็นมารดาของพระนางมารีย์จึงแผ่ไปถึงบรรดาพี่น้องของพระบุตรที่ยังเดินทางโดยเสี่ยงอันตรายและประสบความยากลำบากอยู่ในโลกนี้[22] พระเยซูเจ้า คนกลาง(ระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์)แต่ผู้เดียว ทรงเป็นหนทางการอธิษฐานภาวนาของเรา พระนางมารีย์ พระมารดาของพระองค์และของเรา ทรงทำให้เราเห็นภาพของพระองค์อย่างชัดเจน พระนาง “ทรงแสดงหนทาง” (hodigitria) ทรงเป็น “ป้ายชี้ทาง” ของพระองค์ตามธรรมประเพณีภาพวาดของพระศาสนจักรทั้งตะวันออกและตะวันตก

 2675  นับตั้งแต่การร่วมมือเป็นพิเศษเช่นนี้ของพระนางมารีย์กับพระราชกิจของพระจิตเจ้า พระศาสนจักร(ทั้งตะวันออกและตะวันตก)จึงพัฒนาการอธิษฐานภาวนาต่อพระมารดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า โดยมุ่งการอธิษฐานภาวนาไปยังพระบุคคลของพระคริสตเจ้าตามที่ปรากฏให้เห็นในพระธรรมล้ำลึกของพระองค์เป็นจุดศูนย์กลาง ในบทเพลงสรรเสริญและบทลำนำจำนวนมากที่เราใช้แสดงการอธิษฐานภาวนาออกมานี้ ส่วนใหญ่แล้วจะแสดงความรู้สึกออกมาเป็นสองแนวทางสลับกัน ความรู้สึกทางหนึ่ง “ประกาศความยิ่งใหญ่” ขององค์พระผู้เป็นเจ้าเพราะ “เหตุการณ์ยิ่งใหญ่” ที่ทรงกระทำต่อผู้รับใช้ต่ำต้อยของพระองค์ และที่ทรงกระทำต่อมวลมนุษย์ผ่านทางพระนาง[23] ส่วนความรู้สึกอีกทางหนึ่งนั้นฝากคำวอนขอและคำสรรเสริญของบรรดาบุตรของพระเจ้าไว้ให้พระมารดาของพระเยซูเจ้าทรงวอนขอแทน เพราะพระนางทรงรู้จักธรรมชาติมนุษย์ที่พระบุตรของพระเจ้าทรงรวมไว้กับพระองค์ประหนึ่งเป็นเจ้าสาวของพระองค์ในพระนางเป็นอย่างดี

 2676  แนวความคิดทั้งสองแนวของการอธิษฐานภาวนาต่อพระนางมารีย์นี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนในบท “วันทามารีย์”

          “วันทามารีย์” (แปลตามตัวอักษรว่าจงยินดีเถิด มารีย์”) บท “วันทามารีย์” เริ่มด้วยคำทักทายของทูตสวรรค์กาเบรียล พระเจ้าเองทรงทักทายพระนางมารีย์ผ่านทางทูตสวรรค์ของพระองค์  คำภาวนาของเรากล้านำคำทักทายพระนางมารีย์นี้มาใช้อีกครั้งหนึ่งโดยคิดถึงการที่พระเจ้าทรงทอดพระเนตรผู้รับใช้ต่ำต้อยของพระองค์[24] และชื่นชมยินดีเหมือนกับที่ทรงยินดีในพระนาง[25]

          “เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน พระเจ้าสถิดกับท่านคำทักทายของทูตสวรรค์ทั้งสองประโยคนี้อธิบายความหมายของกันและกัน พระนางมารีย์ทรงเปี่ยมด้วยพระหรรษทาน เพราะพระเจ้าประทับอยู่กับพระนาง พระหรรษทานที่พระนางได้รับอย่างเต็มเปี่ยมก็คือการที่พระองค์ผู้เป็นบ่อเกิดพระหรรษทานทั้งหมดประทับอยู่ด้วย “จงเปล่งเสียงยินดีเถิด […] ธิดาแห่งเยรูซาเล็มเอ๋ย […] องค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของเจ้าทรงอยู่ในเจ้า” (ศฟย 3:14,17) พระนางมารีย์ที่องค์พระผู้เป็นเจ้าเสด็จมาประทับอยู่ด้วย ทรงเป็นธิดาแห่งศิโยน เป็นหีบพันธสัญญา เป็นสถานที่ที่พระสิริรุ่งโรจน์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าประทับอยู่ด้วย พระนางทรงเป็น “ที่พำนักของพระเจ้าในหมู่มนุษย์” (วว 21:3) “เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน” พระนางทั้งหมดเป็นของพระองค์ผู้เสด็จมาประทับอยู่ในพระนางซึ่งจะประทานพระองค์ให้แก่โลก

          “ผู้ได้รับพระพรกว่าสตรีใดๆ และพระเยซูโอรสของท่าน ทรงได้รับพระพรยิ่งนักหลังคำทักทายของทูตสวรรค์ เรานำคำทักทายของนางเอลีซาเบธมาเป็นคำทักทายของเราด้วย นางเอลีซาเบธ “ได้รับพระจิตเจ้าเต็มเปี่ยม” (ลก 1:41) นางเป็นคนแรกในลำดับมนุษย์ทุกยุคทุกสมัยที่จะประกาศว่าพระนางมารีย์ได้รับพระพรเป็นสุข[26] “เธอเป็นสุขที่เชื่อ....” (ลก 1:45) พระนางมารีย์ “ได้รับพระพรกว่าสตรีใดๆ” เพราะได้เชื่อว่าพระวาจาของพระเจ้าจะสำเร็จเป็นจริง เพราะความเชื่อ อับราฮัมจึงเป็นผู้ที่ “บรรดาเผ่าพันธุ์ทั้งสิ้นทั่วแผ่นดินจะได้รับพระพรเพราะท่าน” (ปฐก 12:3) อาศัยความเชื่อ พระนางมารีย์ก็เป็นมารดาของผู้มีความเชื่อทั้งหลายเพราะโดยทางพระนางชนทุกชาติทั่วแผ่นดินได้รับพระองค์ผู้ทรงเป็นพระพรจากพระเจ้า “พระเยซูโอรสของท่านทรงได้รับพระพรยิ่งนัก”

 2677   “สันตะมารีย์ พระมารดาพระเจ้า โปรดภาวนาเพื่อลูกทั้งหลาย....” เรารู้สึกแปลกใจเหมือนนางเอลีซาเบธ “ทำไมพระมารดาขององค์พระผู้เป็นเจ้าจึงเสด็จมาเยี่ยมข้าพเจ้า” (ลก 1:43) เพราะเหตุที่พระนางมารีย์ทรงให้พระเยซูพระบุตรของพระนางแก่เรา พระนางจึงเป็นพระมารดาพระเจ้าและพระมารดาของเรา เราจึงอาจฝากตัวเรา ความกังวลและความต้องการทุกอย่างของเราไว้กับพระนางและวอนขอได้ พระนางทรงวอนขอเพื่อเราเช่นเดียวกับเพื่อพระนางเอง “ขอให้เป็นไปกับข้าพเจ้าตามวาจาของท่านเถิด” (ลก 1:38) เราฝากตัวไว้กับคำวอนขอของพระนาง เรามอบตัวเราพร้อมกับพระนางไว้กับพระประสงค์ของพระเจ้า “พระประสงค์จงสำเร็จไปเถิด”

           “โปรดภาวนาเพื่อลูกทั้งหลายผู้เป็นคนบาป บัดนี้และเมื่อจะตายเทอญ เมื่อวอนขอให้พระนางมารีย์ภาวนาเพื่อเรา เรายอมรับว่าเป็นคนบาปน่าสงสารและหันมาหา “พระมารดาผู้ทรงเมตตากรุณา” มาหาพระนางผู้ศักดิ์สิทธิ์อย่างสมบูรณ์ เราฝากตัวเราไว้กับพระนาง “บัดนี้” ในวันนี้ชีวิตของเรา ความวางใจของเรายังขยายออกไปอีกเพื่อมอบ “เวลาที่เราจะสิ้นใจ” แก่พระนาง ณ บัดนี้ด้วย ขอให้พระนางอยู่กับเราในเวลานั้น เหมือนกับที่ได้ทรงอยู่กับพระบุตรเมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน และขอให้พระนางทรงรับเราเหมือนกับเป็นมารดาของเรา[27] และนำเราไปพบพระบุตรของพระนางในสวรรค์ด้วย

 2678   ความศรัทธาของคริสตชน พระศาสนจักรตะวันตกในสมัยกลางได้พัฒนาการสวดสายประคำขึ้นเป็นการทดแทนพิธีทำวัตรแบบชาวบ้าน ส่วนในพระศาสนจักรตะวันออก การภาวนาที่มีรูปแบบการตอบรับซ้ำๆ กัน เช่น Akathistos และ Parklesis ยังคงเป็นรูปแบบการอธิษฐานภาวนาคล้ายกับการขับร้องทำวัตรในพระศาสนจักรต่างๆ ของจารีตไบแซนไทน์ ขณะที่ธรรมประเพณีของพระศาสนจักรอาร์เมเนีย ค็อปต์ และซีเรียค ชอบบทเพลงสรรเสริญแบบชาวบ้านต่อพระมารดาพระเจ้ามากกว่า แต่บท “วันทามารีย์” บท Theotokia เพลงสรรเสริญของนักบุญเอเฟรมหรือเกรโกรีแห่งนาเร็ก ต่างยังรักษาธรรมประเพณีการอธิษฐานภาวนาที่มีรากฐานเดียวกัน

 2679 พระนางมารีย์เป็นผู้อธิษฐานภาวนาที่สมบูรณ์ เป็นรูปแบบของพระศาสนจักร เมื่อเราอธิษฐานภาวนาต่อพระนาง เราก็ใกล้ชิดกับแผนการของพระบิดาผู้ทรงส่งพระบุตรมาเพื่อช่วยมนุษย์ทุกคนให้รอดพ้น เรารับพระนางมาเป็นมารดาของเรา[28] พระมารดาของพระเยซูเจ้ากลับมาเป็นพระมารดาของทุกคนผู้มีชีวิต เราอาจอธิษฐานภาวนากับพระนางและอธิษฐานภาวนาต่อพระนางได้ การอธิษฐานภาวนาของพระศาสนจักรคล้ายกับว่าได้รับการอุดหนุนจากการอธิษฐานภาวนาของพระนางมารีย์ การอธิษฐานภาวนาเช่นนี้เป็นความสัมพันธ์กับพระองค์ในความหวัง[29]

 

[21] เทียบ กจ 1:14.

[22] Cf Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 62: AAS 57 (1965) 63. 

[23] เทียบ ลก 1:46-55.          

[24] เทียบ ลก 1:48.              

[25] เทียบ ศฟย 3:17.             

[26] เทียบ ลก 1:48.              

[27] เทียบ ยน 19:27.             

[28] เทียบ ยน 19:27.             

[29] Cf Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 68-69:AS 57 (1965) 66-67.             

สรุป

สรุป

 2680   คำอธิษฐานภาวนาย่อมมุ่งหาพระบิดาโดยเฉพาะ บางครั้งอาจมุ่งหาพระเยซูเจ้าได้ด้วย โดยเฉพาะเมื่อมีการเรียกพระนามของพระองค์ข้าแต่พระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรพระเจ้า ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า โปรดทรงพระกรุณาต่อข้าพเจ้าทั้งหลายผู้เป็นคนบาปเถิด

 2681   “หากพระจิตเจ้ามิได้ทรงดลใจก็ไม่มีผู้ใดพูดได้ว่า พระเยซูคือองค์พระผู้เป็นเจ้า’” (1 คร 12:3) พระศาสนจักรจึงเชิญชวนเราให้เรียกหาพระจิตเจ้าให้เป็นประหนึ่งพระอาจารย์ภายในผู้สอนการอธิษฐานภาวนาแบบคริสตชน

 2682   พระศาสนจักรยินดีอธิษฐานภาวนาร่วมกับพระนางพรหมจารีเพราะพระนางทรงร่วมงานเป็นพิเศษกับพระจิตเจ้าเพื่อประกาศกิจการยิ่งใหญ่ที่พระเจ้าทรงกระทำในพระนาง และเพื่อฝากคำวอนขอและคำสรรเสริญให้พระนางช่วยทูลถวายแด่พระเจ้าแทนเราด้วย

ตอนที่สาม

ผู้นำให้อธิษฐานภาวนา

พยานห้อมล้อมอยู่จำนวนมาก

พยานห้อมล้อมอยู่จำนวนมาก

 2683  บรรดาพยานที่นำหน้าเราในพระอาณาจักร[30] โดยเฉพาะผู้ที่พระศาสนจักรรับรองว่าเป็น “ผู้ศักดิ์สิทธิ์” (หรือ “นักบุญ”) เป็นผู้ถ่ายทอดธรรมประเพณีที่มีชีวิตของการอธิษฐานภาวนาไว้ให้เราด้วยแบบฉบับชีวิตของท่าน ด้วยการถ่ายทอดข้อเขียนของท่านต่อๆ มา และโดยคำอธิษฐานภาวนาทุกๆ วันของท่านด้วย ท่านเหล่านี้พิศเพ่งเห็นพระเจ้า สรรเสริญพระองค์ และไม่หยุดที่จะเอาใจใส่ถึงบุคคลที่ท่านได้ทิ้งไว้ในโลกนี้ เมื่อท่านเหล่านี้ “เข้าไปรับความยินดี” ขององค์พระผู้เป็นเจ้าของตนแล้ว ยังได้รับแต่งตั้ง “ให้จัดการในเรื่องใหญ่ๆ”[31] ด้วย การที่ท่านเหล่านี้จะวอนขอแทนเราเป็นบทบาทหน้าที่สูงส่งยิ่งตามแผนการของพระเจ้า เราจึงอาจและต้องขอให้ท่านเหล่านี้วอนขอเพื่อเราจะเพื่อสากลโลกด้วย

 2684  ในความสัมพันธ์กับบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ ตลอดเวลาในประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรได้มีการพัฒนา แนวชีวิตจิต (spiritualities) หลายแบบด้วยกัน พรพิเศษส่วนตัวของพยานคนหนึ่งถึงความรักของพระเจ้าต่อมวลมนุษย์อาจได้รับการถ่ายทอดมา เช่น “จิตตารมณ์” ของประกาศกเอลียาห์ถูกถ่ายทอดแก่เอลีชา[32]  และแก่ยอห์นผู้ทำพิธีล้าง[33] เพื่อบรรดาศิษย์จะได้มีส่วนใน   จิตตารมณ์นี้ด้วย[34] แนวชีวิตจิตแบบหนึ่งยังอาจเกิดขึ้นได้จากการรวมกันของขบวนการต่างๆด้านพิธีกรรมและเทววิทยา และเป็นพยานถึงการนำความเชื่อเข้าสู่วัฒนธรรมในสภาพแวดล้อมเฉพาะของสังคมและประวัติศาสตร์ของผู้คน แนวชีวิตจิตแบบต่างๆ ของคริสตชนมีส่วนในธรรมประเพณีการอธิษฐานภาวนาที่มีชีวิตชีวาและเป็นผู้นำที่จำเป็นสำหรับบรรดาผู้มีความเชื่อ แนวชีวิตจิตเหล่านี้ แม้จะมีคุณสมบัติแตกต่างกันอย่างมาก ก็ล้วนเป็นแสงสว่างบริสุทธิ์เดียวกันของพระจิตเจ้า

          “พระจิตเจ้าเป็นที่อยู่ของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์จริงๆ และผู้ศักดิ์สิทธิ์ก็เป็นที่ประทับเฉพาะของพระจิตเจ้าด้วย เพราะเขามอบตนเพื่ออยู่กับพระเจ้า จึงได้ชื่อว่าที่ประทับของพระองค์”[35]

 

[30]เทียบ ฮบ 12:1.

[31] เทียบ มธ 25:21.             

[32] เทียบ 2 พกษ 2:9.           

[33] เทียบ ลก 1:17.

[34] Cf Concilium Vaticanum II, Decr. Perfectae caritatis, 2: AAS 58 (1966) 703.     

[35] Sanctus Basilius Magnus, Liber de Spiritu Sancto, 26, 62: SC 17bis, 472 (PG 32, 184).            

ศาสนบริกรการอธิษฐานภาวนา

ศาสนบริกรการอธิษฐานภาวนา

 2685  ครอบครัวคริสตชน เป็นสถานที่แรกที่ให้การอบรมเพื่อการอธิษฐานภาวนา ครอบครัวที่มีรากฐานอยู่บนศีลสมรสนับเป็น “พระศาสนจักรประจำบ้าน” ที่บรรดาบุตรของพระเจ้าเรียนรู้ที่จะอธิษฐานภาวนา “ในฐานะพระศาสนจักร” และที่จะอธิษฐานภาวนาต่อไปอย่างต่อเนื่อง การภาวนาประจำวันภายในครอบครัวเป็นพยานแรก โดยเฉพาะสำหรับเด็กเล็กๆ ให้ระลึกถึงพระศาสนจักรที่พระจิตเจ้าทรงพยายามที่จะปลุกขึ้น

 2686  ศาสนบริกรที่ได้รับศีลบวช ยังเป็นผู้รับผิดชอบที่จะอบรมบรรดาพี่น้องในพระคริสตเจ้าให้อธิษฐานภาวนา เขาเหล่านี้เป็นผู้รับใช้ของพระผู้อภิบาลที่ดี ได้รับศีลบวชเพื่อนำประชากรของพระเจ้าไปยังต้นตอของการอธิษฐานภาวนา ได้แก่พระวาจาของพระเจ้า พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ชีวิตสนิทกับพระเจ้าอาศัยคุณธรรมความเชื่อ ความหวังและความรัก ซึ่งเป็นดัง “วันนี้” ของพระเจ้าในสภาพความเป็นจริง[36]

 2687  บรรดานักพรตจำนวนมากได้ถวายทั้งชีวิตของตนสำหรับการอธิษฐานภาวนา  นับตั้งแต่สมัยในทะเลทรายอียิปต์แล้ว บรรดานักพรตทั้งที่อาศัยอยู่โดดเดี่ยวหรือรวมกันในอาราม ทั้งชายและหญิงได้สละเวลาของตนเพื่อสรรเสริญพระเจ้าและวอนขอแทนประชากรของพระองค์ ชีวิตถวายตนที่ไม่มีการอธิษฐานภาวนาย่อมไม่คงอยู่และขยายตัวเผยแผ่ไปได้ การอธิษฐานภาวนาเป็นบ่อเกิดประการหนึ่งของการเพ่งฌาณและชีวิตจิตในพระศาสนจักร

 2688  การสอนคำสอนแก่เด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ มีจุดมุ่งหมายให้พระวาจาของพระเจ้าได้รับการรำพึงพิจารณาในการอธิษฐานภาวนาส่วนตัว เพื่อให้พระวาจาได้เป็นปัจจุบันในการอธิษฐานภาวนาของพิธีกรรม และซึมซาบเข้าไปในจิตใจเพื่อจะได้บังเกิดผลในชีวิตใหม่ การสอนคำสอนยังเป็นโอกาสที่ช่วยให้รู้จักแยกแยะและอบรมเรื่องความศรัทธาแบบชาวบ้านด้วย[37] การท่องจำบทภาวนาพื้นฐานให้การอุดหนุนที่จำเป็นสำหรับชีวิตการอธิษฐานภาวนา แต่การส่งเสริมให้ลิ้มรสความหมายของบทภาวนาเหล่านี้ก็มีความสำคัญยิ่ง[38]

 2689   กลุ่มอธิษฐานภาวนา หรือ “สำนักการอธิษฐานภาวนา” ทุกวันนี้เป็นเครื่องหมายและเป็นวิธีการรื้อฟื้นการอธิษฐานภาวนาในพระศาสนจักรถ้าได้รับการหล่อเลี้ยงจากบ่อเกิดของการอธิษฐานภาวนาแบบคริสตชนที่แท้จริง ความสนใจต่อความสนิทสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นเครื่องหมายของการอธิษฐานภาวนาแท้จริงในพระศาสนจักร

 2690   พระจิตเจ้าประทานพระพรแห่งปรีชาญาณ ความเชื่อ และการรู้จักแยกแยะ แก่ผู้มีความเชื่อบางคนเพื่อความดีส่วนรวมซึ่งได้แก่การอธิษฐานภาวนา (การแนะนำจิตใจ) ผู้ที่ได้รับพระพรนี้เป็นศาสนบริกรธรรมประเพณีที่มีชีวิตของการอธิษฐานภาวนา

            เพราะเหตุนี้ นักบุญยอห์นแห่งไม้กางเขนจึงแนะนำวิญญาณที่อยากก้าวหน้าในความครบครันให้ “เอาใจใส่ที่จะพิจารณาว่าจะต้องมอบตนไว้กับผู้ใด เพราะว่าอาจารย์เป็นเช่นไร ศิษย์ก็จะเป็นเช่นนั้น บิดาเป็นเช่นไร บุตรก็จะเป็นเช่นนั้น” นอกจากนั้น ยังจำเป็นต้องมีผู้แนะนำ “ที่ไม่เพียงแต่มีปรีชาและรอบคอบเท่านั้น แต่ยังต้องเชี่ยวชาญด้วย […] ถ้าผู้แนะนำจิตใจไม่มีประสบการณ์เรื่องชีวิตจิต เขาก็จะไม่อาจแนะนำวิญญาณให้มีชีวิตจิตที่พระเจ้าทรงเรียกเขาให้ไปถึงได้ เขาจะไม่เข้าใจวิญญาณเหล่านี้เสียด้วย”[39]

 

[36] Cf Concilium Vaticanum II, Decr. Presbyterorum ordinis, 4-6: AAS 58 (1966) 995-1001.           

[37] Cf Ioannes Paulus II, Adh. ap. Catechesi tradendae, 54: AAS 71 (1979) 1321-1322.

[38] Cf Ioannes Paulus II, Adh. ap. Catechesi tradendae, 55: AAS 71 (1979) 1322-1323.

[39] Sanctus Ioannes a Cruce, Llama de amor viva, redactio secunda, stropha 3, declaratio, 30: Biblioteca Mística Carmelitana, v. 13 (Burgos 1931) p. 171.     

สถานที่ที่เหมาะสำหรับอธิษฐานภาวนา

สถานที่ที่เหมาะสำหรับอธิษฐานภาวนา

 2691  โบสถ์ บ้านของพระเจ้าเป็นสถานที่เฉพาะของการอธิษฐานภาวนาตามพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์สำหรับชุมชนวัด ที่เดียวกันนี้ยังเป็นสถานที่พิเศษเพื่อนมัสการการประทับอยู่อย่างแท้จริงของพระคริสตเจ้าในศีลมหาสนิท การเลือกสถานที่โดยเฉพาะไม่ใช่เรื่องไม่สำคัญสำหรับการอธิษฐานภาวนาแท้จริง

          - สำหรับการอธิษฐานภาวนาส่วนตัวอาจเป็น “มุมสำหรับการอธิษฐานภาวนา” ที่มีหนังสือพระคัมภีร์และรูปภาพศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเราจะได้อยู่ “ตามลำพัง” ต่อหน้าพระบิดาของเรา[40] ในครอบครัวคริสตชน ห้องอธิษฐานภาวนาเล็กๆ เช่นนี้ช่วยให้มีการอธิษฐานภาวนาร่วมกันได้เป็นอย่างดี

          - ในท้องที่ที่มีอารามตั้งอยู่ กระแสเรียกของชุมชนเหล่านี้ก็คือช่วยส่งเสริมการภาวนาทำวัตรร่วมกับบรรดาสัตบุรุษและช่วยให้มีความสงบเงียบที่จำเป็นสำหรับการอธิษฐานภาวนา
ส่วนตัวอย่างเข้มข้นยิ่งขึ้นด้วย[41]

          - การแสวงบุญเชิญชวนให้เราคิดถึงการเดินทางของเราในโลกนี้ไปยังสวรรค์ โดยธรรมเนียมปฏิบัติยังเป็นเวลาพิเศษเพื่อรื้อฟื้นการอธิษฐานภาวนา  สักการสถานต่างๆ จึงเป็นสถานที่พิเศษสำหรับผู้แสวงบุญ ให้เป็นดัง “พระศาสนจักร” ที่แสวงหาพุน้ำทรงชีวิต นำรูปแบบของการอธิษฐานภาวนาแบบคริสตชนมาเป็นชีวิต

 

[40] เทียบ มธ 6:6.

[41] Cf Concilium Vaticanum II, Decr. Perfectae caritatis, 7: AAS 58 (1966) 705.      

สรุป

สรุป

 2692   เมื่อพระศาสนจักรที่ยังเดินทางอยู่ในโลกนี้อธิษฐานภาวนาก็สัมพันธ์การอธิษฐานภาวนาของตนกับของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ และขอให้ท่านเหล่านี้ช่วยวอนขอแทนตนด้วย

 2693   แนวปฏิบัติด้านชีวิตจิตคริสตชนในแบบต่างๆ ล้วนมีส่วนธรรมประเพณีที่มีชีวิตของการอธิษฐานภาวนาและเป็นผู้นำที่มีคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับชีวิตจิต

 2694   ครอบครัวคริสตชนเป็นสถานที่แห่งแรกที่ให้การศึกษาอบรมสำหรับการอธิษฐานภาวนา

 2695   ศาสนบริกรที่ได้รับศีลบวช ชีวิตที่ถวายแด่พระเจ้า การสอนคำสอน กลุ่มอธิษฐานภาวนากลุ่มต่างๆ “สำนักต่างๆ ที่แนะนำชีวิตจิต” ล้วนให้ความช่วยเหลือเพื่อการอธิษฐานภาวนาในพระศาสนจักร

 2696   สถานที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการอธิษฐานภาวนาได้แก่ห้องอธิษฐานภาวนาส่วนตัวหรือในครอบครัว อารามนักพรต สักการสถานสำหรับการจาริกแสวงบุญ และโดยเฉพาะโบสถ์ซึ่งเป็นสถานที่เฉพาะของพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์สำหรับชุมชนเขตวัดและเป็นสถานที่พิเศษเพื่อนมัสการศีลมหาสนิท