ตอนที่ห้า

ศีลเจิมคนไข้

1499   “โดยศีลเจิมคนไข้และคำภาวนาของพระสงฆ์ พระศาสนจักรทั้งหมดฝากฝังผู้ป่วยไว้กับองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงรับทนทรมานและทรงพระสิริรุ่งโรจน์ เพื่อพระองค์จะได้ทรงบรรเทาและช่วยเขาให้รอดพ้น ยิ่งกว่านั้นยังเตือนเขาให้ช่วยส่งเสริมความดีของประชากรของพระเจ้าโดยสมัครใจร่วมทุกข์กับพระคริสตเจ้าผู้ทรงรับทนทรมานและสิ้นพระชนม์”[96]

 

[96] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 11: AAS 57 (1965) 15.

I. พื้นฐานของศีลนี้ในแผนการความรอดพ้น

I. พื้นฐานของศีลนี้ในแผนการความรอดพ้น

ความเจ็บป่วยในชีวิตมนุษย์

 1500   ความเจ็บป่วยและความทุกข์เป็นปัญหาหนักที่สุดประการหนึ่งที่ชีวิตมนุษย์ต้องเผชิญ เมื่อเจ็บป่วย มนุษย์มีประสบการณ์ถึงความอ่อนแอ ขอบเขตจำกัด และความไม่จีรังยั่งยืนของตน การเจ็บป่วยทุกครั้งอาจทำให้เรามองเห็นความตายได้อย่างใกล้ชิด

1501     ความเจ็บป่วยอาจทำให้เรากังวลใจ ครุ่นคิดถึงแต่ตนเอง บางครั้งอาจทำให้เราหมดหวังและเคียดแค้นพระเจ้าได้ด้วย แต่ความเจ็บป่วยก็ยังอาจทำให้เราเป็นผู้มีวุฒิภาวะมากยิ่งขึ้น ช่วยให้รู้จักแยกแยะว่าในชีวิตสิ่งใดไม่ใช่สาระสำคัญ เพื่อจะมุ่งหาสิ่งที่เป็นสาระสำคัญ บ่อยๆ ความเจ็บป่วยปลุกให้เราแสวงหาพระเจ้า กลับไปหาพระองค์


ผู้ป่วยเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า

 1502   ในพันธสัญญาเดิม มนุษย์เมื่อเจ็บป่วยมีชีวิตเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า  เขารำพันถึงความเจ็บป่วยของเขาเฉพาะพระพักตร์พระองค์[97] และวอนขอให้พระองค์ผู้ทรงเป็นนายของชีวิตและความตายช่วยบำบัดรักษาตน[98] ความเจ็บป่วยเป็นหนทางการกลับใจ[99] และพระกรุณาของพระเจ้าก็เริ่มบำบัดรักษา[100] ชาวอิสราเอลรู้สึกว่าความเจ็บป่วยมีความสัมพันธ์กับบาปและความชั่วอย่างลึกลับ และความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าตามธรรมบัญญัตินำชีวิตกลับคืนมา “เราคือพระยาห์เวห์ ผู้รักษาท่านให้หาย” (อพย 15:26) ประกาศกยังเห็นด้วยว่าความทุกข์มีความหมายอาจช่วยผู้อื่นให้พ้นจากบาปได้ด้วย[101] ในที่สุด ประกาศกอิสยาห์ยังประกาศว่าพระเจ้าจะทรงนำช่วงเวลามาให้ศิโยน ซึ่งในเวลานั้นพระองค์จะทรงอภัยความผิดทั้งหมดและจะทรงบำบัดรักษาความเจ็บป่วยทั้งหมดด้วย[102]


พระคริสตเจ้าทรงเป็นเสมือนนายแพทย์

 1503   การที่พระคริสตเจ้าทรงแสดงความเห็นใจต่อคนเจ็บป่วยและทรงรักษาโรคคนเจ็บป่วยชนิดต่างๆ หลายครั้ง[103]เป็นเครื่องหมายแสดงให้เห็นชัดเจนว่าพระเจ้าทรงมาเยี่ยมประชากรของพระองค์[104]และพระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ใกล้เต็มทีแล้ว พระเยซูเจ้าไม่ทรงมีแต่เพียงอำนาจบำบัดรักษาเท่านั้น แต่ยังทรงมีอำนาจที่จะอภัยบาปด้วย[105] พระองค์เสด็จมาเพื่อจะทรงบำบัดรักษามนุษย์ทั้งตัว คือทั้งร่างกายและวิญญาณ พระองค์ทรงเป็นนายแพทย์ที่คนเจ็บป่วยต้องการ[106] ความเห็นอกเห็นใจที่ทรงมีต่อทุกคนที่กำลังทนทุกข์ก้าวไปไกลจนทำให้พระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียวกับเขาเหล่านั้น “เราเจ็บป่วย ท่านก็มาเยี่ยม” (มธ 25:36) ตลอดเวลาหลายศตวรรษที่ผ่านมา ความรักของพระองค์เป็นพิเศษต่อคนเจ็บป่วยไม่ได้หยุดยั้งที่จะปลุกให้บรรดาคริสตชนมีความเอาใจใส่เป็นพิเศษต่อผู้ที่ต้องทนทุกข์ทั้งในร่างกายหรือจิตใจ ความพยายามอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยที่จะช่วยเขาเหล่านี้เกิดจากความเอาใจใส่นี้เอง

 1504  พระเยซูเจ้าทรงขอร้องคนเจ็บป่วยให้มีความเชื่อ[107] ทรงใช้เครื่องหมายเพื่อบำบัดรักษา เช่นทรงใช้พระเขฬะ การปกพระหัตถ์[108] ทรงป้ายโคลนและสั่งให้ไปล้างออก[109] บรรดาคนเจ็บป่วยพยายามสัมผัสพระองค์[110] “เพราะมีพระอานุภาพออกจากพระองค์รักษาทุกคนให้หายโรค” (ลก 6:19) ดังนั้น ในศีลศักดิ์สิทธิ์ พระคริสตเจ้ายังคงทรง “สัมผัส” เพื่อบำบัดรักษาพวกเรา

 1505  พระคริสตเจ้าทรงสะเทือนพระทัยเพราะความเจ็บปวดมากมายเช่นนี้ไม่เพียงแต่ทรงอนุญาตให้คนเจ็บป่วยสัมผัสพระองค์ได้ แต่ยังทรงทำให้ความน่าสงสารของเราเป็นของพระองค์ด้วย “พระองค์ทรงรับเอาความอ่อนแอของเราไว้ และทรงแบกความเจ็บป่วยของเรา” (มธ 8:17)[111] พระองค์มิได้ทรงบำบัดรักษาความเจ็บป่วยทั้งหมด การที่ทรงบำบัดรักษาเป็นเครื่องหมายว่าพระอาณาจักรของพระเจ้ามาถึงแล้ว เป็นการแจ้งถึงการบำบัดรักษาที่ลึกซึ้งกว่านั้น คือแจ้งถึงชัยชนะต่อบาปและความตายโดยปัสกาของพระองค์ บนไม้กางเขน พระคริสตเจ้าทรงรับน้ำหนักทั้งหมดของความชั่วมาไว้กับพระองค์[112] และทรงแบก “บาปของโลก” ไว้ (ยน 1:29) ความเจ็บป่วยเป็นเพียงผลของบาปนี้เท่านั้น อาศัยพระทรมานและการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน พระคริสตเจ้าประทานความหมายใหม่ให้แก่ความทุกข์ ตั้งแต่นี้ไป ความทุกข์อาจทำให้เราเป็นเหมือนพระองค์และอาจมีส่วนร่วมกับพระทรมานเพื่อไถ่กู้ของพระองค์ด้วย


ท่านทั้งหลายจงบำบัดรักษาคนเจ็บป่วย...”

 1506  พระคริสตเจ้าทรงเชิญชวนบรรดาศิษย์ให้แบกไม้กางเขนของตนเองขึ้นติดตามพระองค์[113] และเมื่อติดตามพระองค์ เขาเหล่านี้ก็ได้มุมมองใหม่เกี่ยวกับความเจ็บป่วยและผู้ป่วย พระเยซูเจ้าทรงนำเขาเข้ามาร่วมพระชนมชีพที่ยากจนและยินดีรับใช้ผู้อื่น ทรงทำให้เขามีส่วนร่วมศาสนบริการความเห็นอกเห็นใจและบำบัดรักษาโรค “เขาจึงไปเทศน์สอนคนทั้งหลายให้กลับใจ ขับไล่ปีศาจจำนวนมาก เจิมน้ำมันผู้เจ็บป่วยหลายคน และรักษาเขาให้หายจากโรคภัย” (มก 6:12-13)

 1507   หลังจากทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงรื้อฟื้นพันธกิจประการนี้โดยตรัสว่า “ในนามของเรา […] เขาจะปกมือเหนือคนเจ็บ คนเจ็บเหล่านั้นก็จะหายจากโรคภัย” (มก 16:17-18)
และทรงรับรองพันธกิจนี้โดยเครื่องหมายอัศจรรย์ต่างๆ ที่พระศาสนจักรกระทำโดยเรียกขานพระนามของพระองค์[114] เครื่องหมายอัศจรรย์เหล่านี้แสดงให้เห็นโดยเฉพาะว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็น “พระเจ้าผู้ทรงช่วยให้รอดพ้น”[115]

 1508   พระจิตเจ้าประทานพระพรพิเศษการบำบัดรักษาให้แก่บางคน[116] เพื่อแสดงให้เห็นพลังพระหรรษทานของพระองค์ผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ ถึงกระนั้น คำอธิษฐานภาวนาด้วยความกระตือรือร้นอย่างที่สุดก็ไม่อาจวอนขอการบำบัดรักษาความเจ็บป่วยทุกอย่างได้เสมอไปทุกครั้ง ดังนั้น เปาโลจึงต้องเรียนรู้จากองค์พระผู้เป็นเจ้าว่า “พระหรรษทานของเราเพียงพอสำหรับท่าน เพราะพระอานุภาพแสดงออกเต็มที่เมื่อมนุษย์มีความอ่อนแอ” (2 คร 12:9) และเรียนรู้ว่าความทุกข์ที่ต้องทนนั้นอาจมีความหมายว่า “ความทรมานของพระคริสตเจ้ายังขาดสิ่งใด ข้าพเจ้าก็เสริมให้สมบูรณ์ด้วยการทรมานในกายของข้าพเจ้าเพื่อพระกายของพระองค์ คือพระศาสนจักร” (คส 1:24)

 1509  “จงรักษาคนเจ็บไข้” (มธ 10:8) พระศาสนจักรได้รับหน้าที่นี้มาจากองค์พระผู้เป็นเจ้าและให้ปฏิบัติทั้งโดยการบำบัดรักษาที่นำไปให้แก่คนเจ็บป่วยและโดยการอธิษฐานภาวนาวอนขอพร้อมกับคนเจ็บป่วยเหล่านั้น พระศาสนจักรเชื่อว่าการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้านั้นนำชีวิตมาให้ ในฐานะนายแพทย์ผู้บำบัดรักษาวิญญาณและร่างกาย การประทับอยู่นี้แสดงพลังเป็นพิเศษโดยทางศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านทางศีลมหาสนิท อาหารที่นำชีวิตนิรันดรมาให้[117] และนักบุญเปาโลยังกล่าวพาดพิงว่าศีลนี้ยังความสัมพันธ์กับการบำบัดรักษาร่างกายด้วย[118]

 1510   อย่างไรก็ตาม พระศาสนจักรสมัยอัครสาวกก็รับแล้วว่ามีพิธีพิเศษสำหรับคนเจ็บป่วยดังที่นักบุญยากอบยืนยันว่า “ท่านใดเจ็บป่วย จงเชิญบรรดาผู้อาวุโสของพระศาสนจักรมาอธิษฐานภาวนาเพื่อผู้ป่วย เจิมน้ำมันผู้นั้นในพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้า คำอธิษฐานภาวนาด้วยความเชื่อจะช่วยผู้ป่วยให้รอดชีวิต องค์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงโปรดให้ผู้ป่วยลุกขึ้น และถ้าเขาเคยทำบาป เขาก็จะ
ได้รับการอภัย” (ยก 5:14-15) ธรรมประเพณีได้ยอมรับว่าจารีตพิธีนี้เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ประการหนึ่งในเจ็ดประการของพระศาสนจักร[119]


ศีลเจิมคนไข้

1511    พระศาสนจักรเชื่อและประกาศว่าในบรรดาศีลศักดิ์สิทธิ์ทั้งเจ็ดประการ มีศีลหนึ่งที่กำหนดไว้โดยเฉพาะเพื่อบรรเทาผู้ที่เจ็บป่วย คือ ศีลเจิมคนไข้“มีการกล่าวพาดพิงไว้ในพระวรสารของมาระโกแล้วว่าพิธีเจิมคนไข้นี้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งพันธสัญญาใหม่โดยพระคริสตเจ้า[120] และยากอบอัครสาวกลูกพี่ลูกน้องขององค์พระผู้เป็นเจ้ายังประกาศและแนะนำศีลนี้แก่บรรดาผู้มีความเชื่ออีกด้วย”[121]

1512     ในธรรมประเพณีด้านพิธีกรรมทั้งในพระศาสนจักรจารีตตะวันออกและจารีตตะวันตกตั้งแต่โบราณมาแล้วเรามีหลักฐานถึงการเจิมผู้เจ็บป่วยด้วยน้ำมันที่เสกแล้ว ในเวลาหลายศตวรรษที่ผ่านมา ยิ่งทียิ่งมากขึ้น ศีลเจิมคนไข้มักจะทำให้กับผู้ที่อยู่ในอันตรายในวาระสุดท้ายของชีวิต จึงได้รับชื่อว่า “ศีลทาสุดท้าย” แม้จะมีวิวัฒนาการเช่นนี้ พิธีกรรมก็ไม่เคยหยุดยั้งที่จะอธิษฐานภาวนาขอองค์พระผู้เป็นเจ้าให้ผู้ป่วยได้รับสุขภาพกลับคืนมา ถ้าสิ่งนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับความรอดพ้นของเขา[122]

1513    พระสังฆธรรมนูญ “Sacram Unctionem infirmorum” (30 พฤศจิกายน 1972) ได้กำหนดตามคำสอนของสภาสังคายนาวาติกันที่ 2[123] ว่าตั้งแต่นี้ไปในจารีตโรมันให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้

“ให้ประกอบพิธีศีลเจิมคนไข้แก่ผู้ป่วยที่อยู่ในอันตราย โดยเจิมเขาบนหน้าผากและที่มือทั้งสองด้วยน้ำมันมะกอกเทศ หรือน้ำมันพืชอื่นที่ได้รับการเสกตามพิธีแล้ว พร้อมกับกล่าวคำต่อไปนี้เพียงครั้งเดียวว่า ‘อาศัยการเจิมศักดิ์สิทธิ์นี้ อาศัยพระเมตตาล้นพ้นของพระองค์ ขอองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงช่วยท่านด้วยพระหรรษทานของพระจิตเจ้า ขอพระองค์ทรงช่วยท่านให้พ้นบาป อีกทั้งทรงพระกรุณาบรรเทาทุกข์และช่วยท่านให้รอดพ้นด้วยเถิด’”[124]

 

[97] เทียบ สดด 38.

[98] เทียบ สดด 6:3; อสย 38.

[99] เทียบ สดด 38:5; 39:9,12.

[100] เทียบ สดด 32:5; 107:20; มก 2:5-12.         

[101] เทียบ อสย 53:11.           

[102] เทียบ อสย 33:24.          

[103] เทียบ มธ 4:24.             

[104] เทียบ ลก 7:16.             

[105] เทียบ มก 2:5-12.           

[106] เทียบ มก 2:17.             

[107] เทียบ มก 5:34,36; 9:23.    

[108] เทียบ มก 7:32-36; 8:22-25. 

[109] เทียบ ยน 9:6-15.           

[110] เทียบ มก 3:10; 6:56.       

[111] เทียบ อสย 53:4.

[112] เทียบ อสย 53:4-6.         

[113] เทียบ มธ 10:38.            

[114] เทียบ กจ 9:34; 14:3.       

[115] เทียบ 1:21; กจ 4:12.        

[116] เทียบ 1 คร 12:9,28,30.      

[117] เทียบ ยน 6:54,58.

[118] เทียบ 1 คร 11:30.           

[119] Cf Sanctus Innocentius I, Epistula Si instituta ecclesiastica: DS 216; Concilium Florentinum, Decretum pro Armenis: DS 1324-1325; Concilium Tridentinum, Sess. 14a, Doctrina de sacramento extremae Unctionis, c. 1-2: DS 1695-1696; Id., Sess. 14a, Canones de extrema Unctione,
canones 1-2: DS 1716-1717.      

[120] เทียบ มก 6:13.             

[121] Concilium Tridentinum, Sess. 14a, Doctrina de sacramento extremae Unctionis, c. 1: DS 1695. Cf Iac 5,14-15.        

[122] Concilium Tridentinum, Sess. 14a, Doctrina de sacramento extremae Unctionis, c. 2: DS 1696.      

[123] Cf Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 73: AAS 54 (1964) 118-119.          

[124] Paulus VI, Const. ap. Sacram Unctionem infirmorum: AAS 65 (1973) Cf CIC 847, § 1.            

II. ใครเป็นผู้รับและใครเป็นผู้ประกอบพิธีศีลนี้ให้

II. ใครเป็นผู้รับและใครเป็นผู้ประกอบพิธีศีลนี้ให้

ในกรณีป่วยหนัก

1514    ศีลเจิมคนไข้ “ไม่เป็นเพียงศีลสำหรับผู้ที่ใกล้จะตายเท่านั้น ดังนั้น เวลาเหมาะที่จะรับศีลนี้จึงเริ่มตั้งแต่เมื่อผู้มีความเชื่ออยู่ในอันตรายจะตายเพราะความเจ็บป่วยหรือเพราะวัยชรา”[125]

1515    ถ้าผู้ป่วยที่ได้รับการเจิมแล้วมีสุขภาพดีขึ้นยังอาจรับศีลนี้ได้อีก ถ้าเกิดป่วยหนักครั้งใหม่  ศีลนี้ยังอาจรับซ้ำได้ขณะที่ความเจ็บป่วยเดิมนี้ยังคงอยู่ถ้าความเจ็บป่วยมีอาการหนักขึ้น ควรรับศีลเจิมคนไข้ก่อนจะรับการผ่าตัดใหญ่แต่ละครั้ง กฎนี้ยังใช้ได้กับผู้ชราที่ความอ่อนแอของวัยชราปรากฏชัดมากขึ้น


“...
จงเชิญบรรดาผู้อาวุโสของพระศาสนจักร

1516    พระสงฆ์ (และพระสังฆราช) เท่านั้นเป็นศาสนบริกรประกอบพิธีศีลเจิมคนไข้[126] เป็นหน้าที่ของบรรดาผู้อภิบาลที่จะสอนบรรดาผู้มีความเชื่อให้เข้าใจถึงผลดีของศีลนี้ เขาควรเตือนบรดาผู้มีความเชื่อที่เจ็บป่วยให้เชิญพระสงฆ์มาเพื่อจะรับศีลนี้ บรรดาผู้ป่วยควรเตรียมตัวให้มีความพร้อมที่จะรับศีลนี้อาศัยความช่วยเหลือของผู้อภิบาลและทุกคนในชุมชนของพระศาสนจักร ผู้รับเชิญมาเพื่อคอยเอาใจใส่ช่วยเหลือเพื่อนพี่น้องเป็นพิเศษด้วยคำอธิษฐานภาวนาของตน

 

[125] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 73: AAS 56 (1964) 118-119; cf CIC canones 1004, § 1. 1005. 1007; CCEO canon 738.

[126] Cf Concilium Tridentinum, Sess. 14a, Doctrina de sacramento extremae Unctionis, c. 3: DS 1697; Id., Sess. 14a,Canones de extrema Unctione, canon 4: DS 1719; CIC canon 1003; CCEO canon 739, § 1.    

III.  ศีลนี้ประกอบพิธีอย่างไร

III.  ศีลนี้ประกอบพิธีอย่างไร

 1517   ศีลเจิมคนไข้ เช่นเดียวกับศีลศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ เป็นพิธีกรรมและเป็นการเฉลิมฉลองส่วนรวม[127] ไม่ว่าจะประกอบพิธีในครอบครัว ในโรงพยาบาล หรือในโบสถ์ สำหรับผู้ป่วยเพียงคนเดียวหรือสำหรับกลุ่มผู้ป่วยร่วมกัน เป็นการเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะประกอบพิธีศีลนี้ภายในพิธีบูชาขอบพระคุณซึ่งเป็นการระลึกถึงปัสกาขององค์พระผู้เป็นเจ้า ถ้าสภาพแวดล้อมอำนวย อาจประกอบพิธีศีลอภัยบาปก่อนและประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณหลังศีลนี้ พิธีบูชาขอบพระคุณ (หรือ ศีลมหาสนิท) ในฐานะที่เป็นศีลแห่งปัสกาของพระคริสตเจ้าน่าจะเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์สุดท้ายของการเดินทางในแผ่นดินนี้ เป็น “เสบียงอาหาร” สำหรับ “การเดินทางผ่าน” ไปสู่ชีวิตนิรันดร

1518    พระวาจาและศีลศักดิ์สิทธิ์รวมเป็นเอกภาพที่แยกจากกันไม่ได้ วจนพิธีกรรมที่มาก่อนศีลอภัยบาปเป็นการเริ่มการประกอบพิธี พระวาจาของพระคริสตเจ้า การเป็นพยานของบรรดาอัครสาวกปลุกความเชื่อของผู้ป่วยและของชุมชนเพื่อวอนขอองค์พระผู้เป็นเจ้าให้ประทานพลังพระจิตของพระองค์

1519    พิธีของศีลนี้มีองค์ประกอบสำคัญดังต่อไปนี้ “ผู้อาวุโส (พระสงฆ์) ของพระศาสนจักร”[128] ปกมือเหนือผู้ป่วย – โดยไม่กล่าวอะไร – อธิษฐานภาวนาเพื่อผู้ป่วยด้วยความเชื่อของพระศาสนจักร[129] คำอธิษฐานภาวนานี้เป็นการอัญเชิญพระจิตเจ้าโดยเฉพาะของศีลนี้ แล้วพระสงฆ์จึงเจิมด้วยน้ำมันที่เสกโดยพระสังฆราช ถ้าทำได้
         
           กิจการตามพิธีกรรมเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าศีลนี้นำพระหรรษทานใดมาให้แก่ผู้ป่วย

 

[127] Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 27: AAS 56 (1964) 107. 

[128] เทียบ ยก 5:14.             

[129] เทียบ ยก 5:15.             

IV.  ผลของการประกอบพิธีศีลนี้

IV.  ผลของการประกอบพิธีศีลนี้

 1520   พระพรพิเศษของพระจิตเจ้า พระหรรษทานประการแรกของศีลนี้ก็คือพระหรรษทานแห่งความบรรเทาใจ สันติและพลังใจให้เอาชนะความยากลำบากที่มาพร้อมกับสภาพความเจ็บป่วยหนักหรือความอ่อนแอของวัยชรา พระหรรษทานนี้เป็นของประทานจากพระจิตเจ้าที่ปลุกความวางใจและความเชื่อในพระเจ้า พร้อมทั้งประทานพลังต่อสู้กับการผจญของปีศาจ คือการผจญให้ท้อแท้หมดกำลังใจเมื่อต้องเผชิญกับความตาย[130]  ความช่วยเหลือนี้ขององค์พระผู้เป็นเจ้าโดยพระอานุภาพของพระจิตเจ้าต้องการนำผู้ป่วยไปรับการบำบัดรักษาจิตใจและการบำบัดรักษาร่างกายด้วย ถ้าพระเจ้าทรงประสงค์เช่นนั้น[131] นอกจากนั้น “ถ้าเขาเคยทำบาป เขาก็จะได้รับการอภัย” (ยก 5:1)[132]

 1521   ความสัมพันธ์กับพระทรมานของพระคริสตเจ้า  เดชะพระหรรษทานของศีลนี้ ผู้ป่วยรับพลังและพระพรที่จะมีความสัมพันธ์กับพระทรมานและการสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้าเป็นการเจิมถวายแบบหนึ่งเพื่อจะเกิดผลโดยการมีส่วนร่วมพระทรมานแบบเดียวกับพระทรมานของพระผู้ไถ่ที่ช่วยให้รอดพ้น ความทุกข์ซึ่งเป็นผลของบาปกำเนิดก็รับความหมายใหม่ เป็นการมีส่วนในงานกอบกู้ของพระเยซูเจ้า

 1522   พระหรรษทานเกี่ยวข้องกับพระศาสนจักร บรรดาผู้มีความเชื่อที่รับศีลนี้ “มีส่วนร่วมโดยสมัครใจกับพระทรมานและการสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้าเพื่อเสริมสร้างผลดีแก่ประชากรของพระเจ้า”[133]ขณะที่พระศาสนจักรประกอบพิธีนี้ในความสัมพันธ์ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ ก็วอนขอพระเจ้าเพื่อความดีของผู้ป่วย อาศัยพระหรรษทานของศีลนี้ ผู้ป่วยเองก็ช่วยส่งเสริมความศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักรและความดีของมนุษย์ทุกคนที่พระศาสนจักรทนทุกข์และถวายตนแด่พระเจ้าพระบิดาผ่านทางพระคริสตเจ้า

 1523   การเตรียมตัวเดินทางครั้งสุดท้าย ถ้าศีลเจิมคนไข้ประกอบพิธีแก่ทุกคนที่ป่วยหนัก หรือยิ่งกว่านั้นแก่ผู้ “ที่จวนจะสิ้นชีวิต”[134] จนกระทั่งศีลนี้จึงยังได้ชื่ออีกว่า “ศีลทาสุดท้าย” อีกด้วย[135] ศีลเจิมคนไข้ทำให้เรามีความละม้ายคล้ายกับการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าได้โดยสมบูรณ์ เหมือนกับที่ศีลล้างบาปได้เริ่มการนี้ไว้แล้ว ศีลนี้ทำให้การเจิมศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่เป็นเครื่องหมายของชีวิตคริสตชนทั้งหมดเสร็จสมบูรณ์ การเจิมของศีลล้างบาปประทับตราชีวิตใหม่ให้เรา การเจิมแห่งศีลกำลังประทานพลังให้เราต่อสู้ในชีวิตนี้ การเจิมครั้งสุดท้ายนี้เป็นเสมือนกำแพงปกป้องปลายชีวิตของเราอย่างมั่นคงในการสู้รบก่อนที่จะเข้าไปในบ้านของพระบิดา[136]

 

[130] เทียบ ฮบ 2:15.             

[131] Concilium Florentinum, Decretum pro Armenis: DS 1325.        

[132] Cf Concilium Tridentinum, Sess. 14a, Canones de extrema Unctione, canon 2: DS 1717.            

[133] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 11: AAS 57 (1965) 15.   

[134] Concilium Tridentinum, Sess. 14a, Doctrina de sacramento extremae Unctionis, c. 3: DS 1698.      

[135] Ibid.      

[136] Cf Concilium Tridentinum, Sess. 14a, Doctrina de sacramento extremae Unctionis, Prooemium: DS 1694.             

V.   ศีลเสบียง – ศีลศักดิ์สิทธิ์สุดท้ายของคริสตชน

V.   ศีลเสบียงศีลศักดิ์สิทธิ์สุดท้ายของคริสตชน

 1524  สำหรับผู้ที่กำลังจะจากชีวิตนี้ไป นอกจากศีลเจิมคนไข้แล้ว พระศาสนจักรยังจัดศีลมหาสนิทให้เขาเป็นเสมือนเสบียงสำหรับการเดินทาง พระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้าในศีลมหาสนิทที่ผู้ป่วยรับขณะที่กำลังจะจากโลกนี้ไปหาพระบิดาย่อมมีความหมายและความสำคัญเป็นพิเศษ เป็นเมล็ดพันธุ์แห่งชีวิตนิรันดรและเป็นพลังของการกลับคืนชีพตามพระวาจาขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่ว่า “ผู้ที่กินเนื้อของเราและดื่มโลหิตของเรา ก็มีชีวิตนิรันดร เราจะทำให้เขากลับคืนชีพในวันสุดท้าย” (ยน 6:54) ศีลมหาสนิท ศีลของพระคริสตเจ้าผู้สิ้นพระชนม์และกลับคืนพระชนมชีพ ในขณะนี้จึงเป็นศีลแห่งการข้ามจากความตายไปสู่ชีวิต จากโลกนี้ไปหาพระบิดาเจ้า[137]

 1525  ดังนั้น ศีลล้างบาป ศีลกำลังและศีลมหาสนิทรวมเป็นเอกภาพที่เรียกว่า “ศีลของกระบวนการรับเข้าเป็นคริสตชน” ฉันใด เราก็อาจกล่าวได้ว่า ศีลอภัยบาป ศีลเจิมคนไข้ และศีลมหาสนิทในวาระสุดท้ายของชีวิตคริสตชนก็รวมกันเป็น “ศีลเสบียง” คือ “ศีลที่เตรียมเราให้ไปพบพระบิดา” หรือศีลที่ทำให้การเดินทางในโลกนี้ของเราเสร็จสมบูรณ์ฉันนั้น

 

[137] เทียบ ยน 13:1.             

สรุป

สรุป

1526   ท่านใดเจ็บป่วย จงเชิญบรรดาผู้อาวุโสของพระศาสนจักรให้มาอธิษฐานภาวนาเพื่อผู้ป่วย เจิมน้ำมันผู้นั้นในพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้า คำอธิษฐานภาวนาด้วยความเชื่อจะช่วยผู้ป่วยให้รอดชีวิต องค์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงโปรดให้ผู้ป่วยลุกขึ้น และถ้าเขาเคยทำบาป เขาก็จะได้รับการอภัย” (ยก 5:14-15)

1527    ศีลเจิมคนไข้มีเจตนาเพื่อประทานพระหรรษทานพิเศษแก่คริสตชนที่ประสบความยากลำบากเพราะป่วยหนักหรือจากความแก่ชรา

1528     เวลาเหมาะที่จะรับศีลเจิมคนไข้นี้ก็คือเวลาที่ผู้มีความเชื่อเริ่มอยู่ในอันตรายเนื่องมาจากความเจ็บป่วยหรือวัยชรา

1529     ทุกครั้งที่คริสตชนล้มป่วยหนัก เขาอาจรับศีลเจิมคนไข้ได้ และเมื่อรับแล้ว เขายังอาจรับได้อีกเมื่อมีอาการทรุดหนักลง

1530     พระสงฆ์ (หรือพระสังฆราช) เท่านั้นอาจประกอบพิธีศีลเจิมคนไข้ได้ โดยใช้น้ำมันที่พระสังฆราชได้เสกไว้เพื่อการนี้ หรือ ถ้าจำเป็นจริงๆ พระสงฆ์ผู้ประกอบพิธีอาจเสกน้ำมันนี้ได้เองด้วย

1531     องค์ประกอบสำคัญในการประกอบพิธีศีลนี้อยู่ที่การเจิมน้ำมันที่หน้าผากและมือของผู้ป่วย (ในจารีตโรมัน) หรือที่ส่วนอื่นๆ ของร่างกาย (ในจารีตตะวันออก) พร้อมกับคำอธิษฐานภาวนาที่พิธีกรรมกำหนดไว้สำหรับพระสงฆ์ผู้ประกอบพิธีซึ่งวอนขอพระหรรษทานพิเศษของศีลนี้

 

1532     พระหรรษทานเฉพาะของศีลเจิมคนไข้ซึ่งเป็นเสมือนผลของศีลนี้คือ
         - การรวมผู้ป่วยกับพระทรมานของพระคริสตเจ้าเพื่อความดีของเขาและของพระศาสนจักรทั้งหมด

         - ความบรรเทา สันติ และพลังที่จะทนความเจ็บปวดของโรคภัยและความชราตามแบบของคริสตชน

         - การอภัยบาป ถ้าผู้ป่วยไม่อาจรับได้อาศัยศีลอภัยบาป

         - การรับสุขภาพคืนมา ถ้าเรื่องนี้สอดคล้องกับความรอดพ้นด้านจิตใจ

         - การเตรียมตัวผ่านไปรับชีวิตนิรันดร