บทที่หนึ่ง

ท่านจะต้องรักองค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่าน

สุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดสติปัญญาของท่าน

 2083  พระเยซูเจ้าทรงสรุปหน้าที่ของมนุษย์ต่อพระเจ้าไว้ในบัญญัติข้อนี้ว่า “ท่านจะต้องรักองค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่านสุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดสติปัญญาของท่าน” (มธ 22:37)[1] ข้อความนี้ชวนให้เราคิดถึงพระสุรเสียงเรียกอย่างสง่าที่ว่า “อิสราเอลเอ๋ย จงฟังเถิด องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพระเจ้าของเรา องค์พระผู้เป็นเจ้ามีเพียงพระองค์เดียว” (ฉธบ 6:4)

          พระเจ้าทรงรักเราก่อน บทบัญญัติประการแรกของ “พระบัญญัติสิบประการ” จึงเตือนให้ระลึกถึงความรักต่อพระเจ้าหนึ่งเดียวนี้ บทบัญญัติต่อไปจึงค่อยๆ คลี่คลายว่ามนุษย์ต้องตอบสนองความรักต่อพระเจ้าที่ทรงเรียกเขาให้ตอบสนองได้อย่างไร

 

[1]  เทียบ ลก 10:27:  “สุดกำลังของท่าน”

ตอนที่หนึ่ง

พระบัญญัติประการแรก

“เราคือองค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่าน เป็นผู้นำท่านออกจากแผ่นดินอียิปต์ ให้พ้นจากการเป็นทาส ท่านต้องไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากเรา ท่านต้องไม่ทำรูปเคารพสำหรับตน ไม่ว่าจะเป็นรูปสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งอยู่ในท้องฟ้าเบื้องบน หรืออยู่ในแผ่นดินเบื้องล่าง หรืออยู่ในน้ำใต้แผ่นดิน ท่านต้องไม่กราบไหว้หรือรับใช้เทพเจ้าเหล่านั้น” (อพย 20:2-5)[2]

“มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า จงกราบนมัสการองค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่าน และรับใช้พระองค์แต่ผู้เดียวเท่านั้น” (มธ 4:10)

 

[2] เทียบ ฉธบ 5:6-9.

I.  “จงกราบนมัสการองค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่านและรับใช้พระองค์”

I.  “จงกราบนมัสการองค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่านและรับใช้พระองค์

 2084  พระเจ้าทรงสำแดงพระองค์ให้เป็นที่รู้จักโดยทรงเตือนให้ระลึกถึงกิจการทรงสรรพานุภาพ แสดงพระทัยดีที่ช่วยให้รอดพ้นในประวัติศาสตร์ของประชากรที่พระองค์ทรงมุ่งหาว่า “เรา […] เป็นผู้นำท่านออกมาจากแผ่นดินอียิปต์ ให้พ้นจากการเป็นทาส” (ฉธบ 5:6) พระวาจาคำแรกบรรจุพระบัญญัติประการแรก “ท่านจะต้องยำเกรงองค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่าน ท่านจะต้องกราบไหว้พระองค์ […] เท่านั้น ท่านจะต้องไม่ติดตามเทพเจ้าอื่น” (ฉธบ 6:13-14) การเรียกและข้อเรียกร้องที่ยุติธรรมประการแรกของพระเจ้าก็คือให้มนุษย์ยอมรับและนมัสการพระองค์

 2085  พระเจ้าเที่ยงแท้หนึ่งเดียวทรงเปิดเผยพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์โดยเฉพาะแก่ชนชาติอิสราเอล[3] การเปิดเผยเรื่องการเรียกและความจริงของมนุษย์มีความสัมพันธ์กับการเปิดเผยเรื่องพระเจ้า มนุษย์ได้รับเรียกให้เปิดเผยพระเจ้าอาศัยการกระทำของตนที่สอดคล้องกับการที่เขาถูกเนรมิตสร้างมา “ตามภาพลักษณ์ให้มีความคล้ายคลึง” กับพระเจ้า (ปฐก 1:26)

          “ตรีโฟเอ๋ย จะไม่มีพระเจ้าอื่นใดอีกเลย และแต่ไหนแต่ไรมา […] ก็ไม่เคยมีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ผู้ได้ทรงสร้างและจัดระเบียบเอกภพนี้ และเราก็ไม่คิดว่าเราหรือท่านมีพระเจ้าอื่นนอกจากพระเจ้าองค์นั้นที่ได้ทรงนำบรรพบุรุษของท่านทั้งหลายออกมาจากแผ่นดินอียิปต์ด้วยพระหัตถ์ทรงฤทธิ์และพระพาหาสูงส่ง และเราก็ไม่หวังในผู้ใดอื่น (เพราะไม่มี) แต่หวังในพระองค์ที่ท่านเองก็หวังด้วย คือพระเจ้าของอับราฮัม อิสอัค และยาโคบ”[4]

 2086  “พระบัญญัติประการแรกนี้รวมบัญญัติให้มีความเชื่อ ความหวัง และความรัก เพราะเมื่อเรากล่าวถึงพระเจ้า เราก็ประกาศว่าพระองค์ทรงมั่นคง ไม่เคลื่อนไหว ไม่เปลี่ยนแปลง ดำรงอยู่เช่นนั้นตลอดไป ทรงซื่อสัตย์ เที่ยงตรง ไม่มีความชั่วใดๆ เลย เมื่อเราเห็นด้วยกับพระวาจาของพระองค์ เราก็จำเป็นต้องเชื่อและยอมรับพระอำนาจของพระองค์ ใครเล่าที่พิจารณาพระสรรพานุภาพ พระกรุณา และความพร้อมของพระองค์ที่จะประทานความดีแก่เราแล้ว จะไม่วางความหวังทั้งหมดของตนไว้ในพระองค์? และถ้าใครพิจารณาถึงความดีและความรักของพระองค์ที่ประทานพระพรต่างๆ ให้เราอย่างมากมาแล้ว เขาอาจจะไม่รักพระองค์ได้หรือ? ดังนั้น ข้อความที่พระเจ้าทรงใช้ตรัสในพระคัมภีร์ว่า เราคือองค์พระผู้เป็นเจ้า จึงเป็นทั้งคำนำและข้อสรุปของพระบัญญัติประการนี้[5]

 
ความเชื่อ

 2087  ชีวิตศีลธรรมของเรามีจุดกำเนิดในความเชื่อในพระเจ้าผู้ทรงเปิดเผยความรักของพระองค์ให้เรารู้  นักบุญเปาโลกล่าวถึงการปฏิบัติตามความเชื่อ[6]ว่าเป็นข้อบังคับประการแรก ท่านบอกว่า “ความไม่รู้จักพระเจ้า” เป็นต้นตอและคำอธิบายของความประพฤตินอกลู่นอกทางด้านศีลธรรมทั้งหลาย[7] การมีความเชื่อและเป็นพยานถึงพระองค์จึงเป็นหน้าที่ของเราต่อพระเจ้า

 2088  พระบัญญัติประการแรกเรียกร้องจากเราให้หล่อเลี้ยงและรักษาความเชื่อของเราไว้อย่างเอาใจใส่และชาญฉลาด ทั้งให้เราละทิ้งทุกสิ่งที่ขัดกับความเชื่อนี้ เราอาจทำบาปผิดต่อความเชื่อได้หลายวิธี เช่น

          ความสงสัยโดยจงใจเกี่ยวกับความเชื่อไม่สนใจหรือไม่ยอมรับว่าเรื่องที่พระเจ้าทรงเปิดเผยและพระศาสนจักรกำหนดให้เชื่อนั้นเป็นความจริง  ความสงสัยโดยไม่จงใจหมายถึงความลังเลใจที่จะเชื่อ ความยากลำบากที่จะเอาชนะข้อโต้แย้งที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ หรือแม้กระทั่งความไม่สบายใจที่เกิดจากความเข้าใจได้ยากของความเชื่อ ความสงสัย ถ้าจงใจปล่อยให้คงอยู่ต่อไป อาจนำไปถึงจิตใจมืดบอดได้

 2089  การไม่ยอมเชื่อ (incredulity) คือความไม่สนใจต่อความจริงที่พระเจ้าทรงเปิดเผย หรือการจงใจไม่ยอมรับความจริงนั้น  “มิจฉาทิฐิ (heresy) หมายถึงความดื้อด้าน หลังจากได้รับศีลล้างบาปแล้ว ปฏิเสธไม่ยอมเชื่อความจริงบางข้อที่ต้องเชื่อตามความเชื่อที่พระเจ้าและพระศาสนจักรคาทอลิกกำหนดให้เชื่อ หรือดื้อด้านในความสงสัยเกี่ยวกับความเชื่อดังกล่าว การปฏิเสธละทิ้งความเชื่อ (apostasy) คือการปฏิเสธไม่ยอมรับความเชื่อของคริสตศาสนาโดยสิ้นเชิง
         การแตกแยก (schism) เป็นการไม่ยอมอยู่ใต้ปกครองของสมเด็จพระสันตะปาปา หรือการไม่ยอมมีความสัมพันธ์กับสมาชิกของพระศาสนจักรที่อยู่ใต้ปกครองของพระองค์”[8]


ความหวัง

 2090  เมื่อพระเจ้าทรงเปิดเผยพระองค์และทรงเรียกมนุษย์ มนุษย์ก็ไม่อาจตอบสนองความรักของพระเจ้าได้เต็มที่ด้วยพลังของตน เขาต้องหวังว่าพระเจ้าจะประทานความสามารถให้ตนรักตอบพระองค์และปฏิบัติตามบัญญัติความรักได้ ความหวังคือการรอคอยพระพรของพระเจ้าและการจะได้ชมพระพักตร์พระเจ้าด้วยความมั่นใจ ความหวังยังเป็นความกลัวไม่กล้าทำผิดต่อความรักพระเจ้าและกลัวจะรับโทษจากพระองค์

 2091   พระบัญญัติประการแรกยังกล่าวถึงบาปที่เกี่ยวกับความหวังด้วย ได้แก่ความหมดหวัง และความชะล่าใจ

           ความหมดหวัง เมื่อมนุษย์เลิกหวังต่อไปว่าจะได้รับความรอดพ้นส่วนตัวของตนจากพระเจ้า เลิกหวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากพระองค์เพื่อบรรลุถึงความรอดพ้น หรือเลิกหวังว่าจะได้รับการอภัยบาปของตน ความหมดหวังขัดกับความดีของพระเจ้า ขัดต่อความยุติธรรมของพระองค์ – เพราะพระเจ้าทรงซื่อสัตย์ต่อพระสัญญาของพระองค์ – และขัดต่อพระกรุณาของพระองค์

 2092  ความชะล่าใจมีอยู่สองชนิด หรือมนุษย์ทึกทักว่าตนมีความสามารถ (หวังว่าตนสามารถช่วยรอดพ้นได้โดยไม่ต้องได้รับความช่วยเหลือจากเบื้องบน) หรือมั่นใจในพระสรรพานุภาพและพระกรุณาของพระเจ้า (หวังว่าจะได้รับการอภัยจากพระองค์โดยไม่ต้องกลับใจ และรับสิริรุ่งโรจน์โดยไม่ต้องทำดีอะไร)


ความรัก

 2093   ความเชื่อถึงความรักของพระเจ้ารวมการเชื้อเชิญและเรียกร้องให้ตอบสนองความรักของพระเจ้าด้วยความรักจากใจจริง พระบัญญัติประการแรกสั่งให้เรารักพระเจ้าเหนือทุกสิ่ง[9] และรักสิ่งสร้างทุกอย่างเพื่อพระองค์และเพราะพระองค์

 2094  เราอาจทำบาปผิดต่อความรักต่อพระเจ้าได้หลายวิธี ได้แก่

          - ความไม่สนใจ ที่จะคิดถึงความรักต่อพระเจ้าหรือปฏิเสธไม่ยอมรักพระองค์ ไม่รับรู้ความรักและพลังของความรักนี้

          - การไม่รู้บุญคุณ ไม่สนใจหรือไม่ยอมรับรู้ความรักของพระเจ้าและตอบสนองความรักนี้

          - ความเย็นชา เป็นความลังเลใจหรือไม่สนใจที่จะตอบสนองความรักของพระเจ้า อาจรวมไปถึงการไม่ยอมรับพลังผลักดันของความรัก

          - ความเกียจคร้าน ด้านจิตใจจนกระทั่งไม่ยอมรับความยินดีที่มาจากพระเจ้า และรังเกียจไม่ยอมรับความดีของพระเจ้า

          - ความเกลียดชังพระเจ้า ซึ่งมาจากความหยิ่งยโส ขัดแย้งกับความรักของพระเจ้าที่เขาปฏิเสธไม่ยอมรับความรักของพระองค์ และตั้งใจสาปแช่งพระเจ้าที่ทรงห้ามไม่ให้เขาทำบาปและทรงลงโทษบาป

 

[3] เทียบ อพย 19:16-25; 24:15-18.

[4] Sanctus Iustinus, Dialogus cum Tryphone Iudaeo, 11, 1: CA 2, 40 (PG 6, 497).

[5] Catechismus Romanus, 3, 2, 4: ed. P. Rodríguez (Città del Vaticano-Pamplona 1989) p. 408-409.

[6] เทียบ รม 1:5; 16:26.

[7]  เทียบ รม 1:18-32.

[8] CIC canon 751.

[9] เทียบ ฉธบ 6:4-5.

II.  “ท่านจะต้องรับใช้พระองค์เพียงผู้เดียว”

II.  ท่านจะต้องรับใช้พระองค์เพียงผู้เดียว

 2095  คุณธรรมเกี่ยวกับพระเจ้า คือความเชื่อ ความหวัง และความรัก เพิ่มพลังและให้ชีวิตแก่คุณธรรมเกี่ยวกับความประพฤติ ดังนั้น ความรักชักนำเราให้ถวายสิ่งที่เราในฐานะสิ่งสร้างต้องถวายคืนแด่พระเจ้าตามความยุติธรรม  คุณธรรมการนับถือศาสนาช่วยจัดให้เรามีท่าทีประการนี้

 การนมัสการพระเจ้า

 2096   การนมัสการเป็นกิจกรรมแรกของคุณธรรมการนับถือศาสนา การนมัสการพระเจ้าคือการยอมรับว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้า ทรงเป็นพระผู้เนรมิตสร้างและพระผู้ช่วยให้รอดพ้น ทรงเป็นเจ้านายปกครองสรรพสิ่งที่มีความเป็นอยู่ ทรงเป็นความรักและผู้ทรงเมตตาไร้ขอบเขต พระเยซูเจ้าได้ตรัสโดยทรงยกข้อความจากหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ (ฉธบ 6:13) ว่า “จงนมัสการองค์พระผู้เป็นเจ้าของท่านและรับใช้พระองค์แต่ผู้เดียวเท่านั้น” (ลก 4:8)

 2097  นมัสการพระเจ้าหมายถึงการยอมรับด้วยความเคารพและยอมอยู่ใต้อำนาจอย่างที่สุดว่า “สิ่งสร้างเป็นความเปล่า” ที่มีความเป็นอยู่ได้จากพระเจ้าเท่านั้น  นมัสการพระเจ้าคือการสรรเสริญพระองค์เช่นเดียวกับที่พระนางมารีย์ทรงกระทำในบท “Magnificat” (“วิญญาณข้าพเจ้าประกาศความยิ่งใหญ่”) ยกย่องพระองค์และถ่อมตน ประกาศด้วยความกตัญญูรู้คุณว่าพระองค์ทรงกระทำกิจการยิ่งใหญ่ และพระนามของพระองค์ศักดิ์สิทธิ์[10] การนมัสการพระเจ้าหนึ่งเดียวช่วยมนุษย์ให้เป็นอิสระจากการให้ความสำคัญแก่ตนเท่านั้น จากการเป็นทาสของบาป และจากการนับถือโลกนี้เป็นเทพเจ้า

 การอธิษฐานภาวนา

 2098  กิจกรรมความเชื่อ ความหวังและความรักที่พระบัญญัติประการแรกสั่งให้ปฏิบัติสำเร็จไปในการอธิษฐานภาวนา การยกจิตใจขึ้นหาพระเจ้าเป็นการแสดงออกถึงการที่เรานมัสการพระเจ้า การอธิษฐานภาวนาสรรเสริญและขอบพระคุณ การวอนขอแทนผู้อื่นและขอความช่วยเหลือ การอธิษฐานภาวนาเป็นเงื่อนไขจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้ผู้หนึ่งสามารถปฏิบัติตามพระบัญชาของพระเจ้าได้ “จำเป็นต้องอธิษฐานภาวนาอยู่เสมอโดยไม่ท้อถอย” (ลก 18:1)

การถวายบูชา

 2099  เป็นการถูกต้องที่จะถวายบูชาแด่พระเจ้าเป็นเครื่องหมายของการนมัสการและการสำนึกในพระคุณ การวอนขอและความสนิทสัมพันธ์กับพระองค์   “การถวายบูชาที่แท้จริงก็คือกิจกรรมทุกอย่างที่ทำไปเพื่อเราจะได้มีความสัมพันธ์ศักดิ์สิทธิ์ชิดสนิทกับพระเจ้า นั่นคือมีความสัมพันธ์กับจุดหมายแห่งความดีนั้นที่ทำให้เรามีความสุขได้อย่างแท้จริง”[11]

 2100   การถวายบูชาภายนอก เพื่อจะเป็นการถวายบูชาแท้จริง ต้องเป็นการแสดงออกของการถวายบูชาฝ่ายจิต “เครื่องบูชาแด่พระเจ้าคือดวงจิตที่เป็นทุกข์....” (สดด 51:19?) บรรดาประกาศกในพันธสัญญาเดิมหลายครั้งตำหนิการถวายบูชาที่ไม่มาจากการมีส่วนร่วมจากภายในจริงๆ[12] หรือการถวายบูชาที่ไม่ควบคู่ไปกับความรักต่อเพื่อนมนุษย์[13] พระเยซูเจ้าทรงเตือนให้ระลึกถึงถ้อยคำของประกาศกโฮเชยาว่า “เราพอใจความเมตตากรุณา มิใช่พอใจเครื่องบูชา” (มธ 9:13; 12:7)[14] การถวายบูชาที่สมบูรณ์หนึ่งเดียวก็คือการถวายบูชานั้นที่พระคริสตเจ้าทรงถวายบนไม้กางเขนด้วยการถวายพระองค์ทั้งหมดแด่ความรักของพระบิดาและเพื่อความรอดพ้นของเรา[15] ถ้าเราร่วมถวายตัวเรากับการถวายบูชาของพระองค์ เราก็อาจทำให้ชีวิตของเราเป็นการถวายบูชาแด่พระเจ้าได้

คำสัญญาและบนบาน

 2101   ในหลายกรณี คริสตชนได้รับเรียกให้ทำสัญญากับพระเจ้า ศีลล้างบาปและศีลกำลัง ศีลสมรสและศีลบวชมีคำสัญญารวมอยู่ด้วยเสมอ คริสตชน โดยความศรัทธาส่วนตัว ยังอาจสัญญากับพระเจ้าว่าจะทำกิจการบางประการ อธิษฐานภาวนาบางบท ทำทานบางอย่าง เดินทางไปแสวงบุญบางแห่ง ฯลฯ ด้วยก็ได้ ความซื่อสัตย์ต่อคำสัญญาที่ได้ทำไว้แด่พระเจ้าเป็นการถวายเกียรติแด่พระมหิทธานุภาพของพระเจ้าและแสดงความรักต่อพระเจ้าผู้ทรงสัตย์

 2102    การบนบาน นั่นคือคำสัญญาโดยจงใจและอิสระที่ทำต่อพระเจ้าว่า  จากคุณธรรมความศรัทธา  ตนจะทำกิจกรรมดีกว่าที่จำเป็นต้องทำให้สำเร็จ”[16] การบนบานเป็นกิจศรัทธาที่คริสตชนผูกมัดตนเองแด่พระเจ้าหรือเป็นกิจกรรมดีที่เขาสัญญาจะทำถวายพระองค์ ดังนั้น โดยการปฏิบัติตามการบนบานของตน เขาจึงทำตามที่เขาได้สัญญาหรือถวายตนไว้แด่พระองค์ หนังสือกิจการอัครสาวกแสดงให้เราเห็นว่านักบุญเปาโลได้สนใจที่จะปฏิบัติตามการบนบานที่ท่านได้ทำไว้[17]

 2103   พระศาสนจักรยอมรับคุณค่าของคำบนบานจะปฏิบัติตามคำแนะนำของพระวรสารว่าเป็นแบบอย่างน่าปฏิบัติตาม[18]

           “พระศาสนจักรมารดายินดีที่พบว่าภายนอกอ้อมอกของตนมีชายและหญิงหลายคนที่ติดตามการสละตนของพระผู้ไถ่อย่างใกล้ชิด และแสดงอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น รับความยากจนโดยอิสระเสรีเยี่ยงบุตรของพระเจ้า และสละน้ำใจของตนเอง เขาเหล่านี้ยอมอยู่ใต้บังคับของมนุษย์ด้วยกันมากกว่าตามพระบัญญัติ เพราะเห็นแก่พระเจ้าในเรื่องความครบครัน เพื่อทำตนให้ละม้ายอย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้นกับพระคริสตเจ้าผู้ทรงยอมเชื่อฟัง”[19]

           ในบางกรณี พระศาสนจักร เพราะเหตุผลสมควร อาจยกเว้นจากพันธะของการบนบานและคำสัญญาได้[20]


 หน้าที่ของสังคมด้านศาสนา และสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา

 2104   “มนุษย์ทุกคนจำเป็นต้องแสวงหาความจริง โดยเฉพาะความจริงที่เกี่ยวกับพระเจ้าและพระศาสนจักรของพระองค์ ยอมรับและปฏิบัติตามความจริงนั้นเมื่อรู้แล้วด้วย”[21] หน้าที่นี้สืบเนื่องมาจากธรรมชาติของมนุษย์โดยตรง[22] และไม่ขัดกับการนับถือจากใจจริงต่อศาสนาต่างๆที่ “บ่อยๆ สะท้อนแสงแห่งความจริงที่ส่องสว่างมนุษย์ทุกคน”[23] และไม่ขัดกับข้อเรียกร้องของความรักที่เร่งเร้าบรรดาคริสตชน “ให้ทำทุกอย่างด้วยความรัก อย่างรอบคอบ และด้วยความเพียรกับเพื่อนมนุษย์ที่ยังคงอยู่ในความหลงผิดหรือความไม่รู้เกี่ยวกับความเชื่อ”[24]

 2105   หน้าที่จะต้องถวายคารวกิจแท้จริงต่อพระเจ้านั้นเกี่ยวข้องกับมนุษย์ทั้งแต่ละคนและในสังคม เรื่องนี้เป็น “คำสอนคาทอลิกที่สืบต่อกันมาเกี่ยวกับหน้าที่ทางปฏิบัติของมนุษย์แต่ละคนและของสังคมต่อศาสนาเที่ยงแท้และพระศาสนจักรหนึ่งเดียวของพระคริสตเจ้า”[25] พระศาสนจักรซึ่งประกาศข่าวดีแก่มวลมนุษย์โดยไม่หยุดยั้ง ยังคงทำงานเพื่อให้เขาทั้งหลายสามารถรับรู้ถึง “เจตนารมณ์และขนบธรรมเนียม กฎเกณฑ์และโครงสร้างของชุมชน”[26] ที่เขาดำเนินชีวิตอยู่ด้วย เป็นหน้าที่ด้านสังคมของบรรดาคริสตชน ที่จะต้องรักษาและปลุกเร้าแต่ละคนให้มีความรักความจริงและความดี หน้าที่นี้เรียกร้องให้เขาแสดงให้ทุกคนรู้จักคารวกิจของศาสนาเที่ยงแท้หนึ่งเดียวที่มีอยู่ในพระศาสนจักรคาทอลิกและสืบเนื่องมาจากบรรดาอัครสาวก[27] บรรดาคริสตชนได้รับเรียกมาให้เป็นแสงสว่างส่องโลก[28] ดังนี้ พระศาสนจักรจึงแสดงให้เห็นว่าพระคริสตเจ้าทรงเป็นกษัตริย์ปกครองเหนือสิ่งสร้างทั้งมวลและโดยเฉพาะเหนือสังคมมนุษย์ทั้งหลาย[29]

 2106   “ในเรื่องศาสนาไม่มีผู้ใดถูกบังคับให้ปฏิบัติขัดกับมโนธรรมของตน หรือถูกขัดขวางไม่ให้ปฏิบัติตามมโนธรรมของตนทั้งในเรื่องส่วนตัวและในเรื่องสาธารณะ ทั้งเมื่ออยู่คนเดียวหรืออยู่ร่วมกับผู้อื่น ภายในขอบเขตที่กำหนดไว้”[30] สิทธิประการนี้ตั้งอยู่บนธรรมชาติของมนุษย์แต่ละคนซึ่งมีศักดิ์ศรีที่จะยอมรับความจริงเกี่ยวกับพระเจ้าที่อยู่เหนือระเบียบของวัตถุได้โดยอิสระ เพราะเหตุนี้ สิทธิประการนี้ “จึงยังคงอยู่แม้ในเขาเหล่านั้นที่ไม่ยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องที่จะต้องแสวงหาความจริงและยึดมั่นในความจริงนี้ด้วย”[31]

 2107     “ถ้าเพราะสภาพแวดล้อมของประชากรต่างๆ มีการยอมรับศาสนาหนึ่งเป็นศาสนาพิเศษเฉพาะของชุมชนในธรรมนูญการปกครองของตน ในเวลาเดียวกัน ก็ยังจำเป็นต้องยอมรับและเคารพสิทธิในเสรีภาพในการนับถือศาสนาของประชาชนทุกคนและทุกชุมชนด้วย”[32]

 2108   สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการนับถือศาสนาไม่ใช่การอนุญาตด้านศีลธรรมให้ยึดมั่นในความผิด[33] และไม่ใช่การอ้างให้สิทธิแก่ความหลงผิด[34] แต่เป็นสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์บุคคลหนึ่งที่จะมีสิทธิโดยชอบธรรม นั่นคือ สิทธิที่จะต้องไม่ถูกบังคับจากภายนอกโดยอำนาจปกครองทางการเมือง ภายในขอบเขตที่ยุติธรรม ในเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนา สิทธิตามธรรมชาติประการนี้ต้องได้รับการรับรู้ตามกฎหมายของสังคมโดยถือว่าเป็นสิทธิของพลเมือง[35]

 2109    สิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาโดยธรรมชาติแล้วไม่อาจไม่มีขอบเขตจำกัด[36] และไม่อาจถูกจำกัดโดยระเบียบทางบ้านเมืองที่เข้าใจใน “ทางปฏิบัติ” หรือ “ตามธรรมชาติ” เท่านั้น[37] “ขอบเขตที่เหมาะสม” ในเรื่องนี้ต้องถูกกำหนดโดยผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมืองตามสภาพทางสังคมของแต่ละเรื่องด้วยความรอบคอบทางการเมืองตามที่ผลประโยชน์ส่วนรวมเรียกร้อง “ตามหลักการด้านกฎหมายและสอดคล้องกับมาตรฐานทางศีลธรรมโดยแท้จริง”[38]

 

[10] เทียบ ลก 1:46-49.           

[11] Sanctus Augustinus, De civitate Dei, 10, 6: CSEL 401, 454-455 (PL 41, 283).     

[12] เทียบ อมส 5:21-25.          

[13] เทียบ อสย 1:10-20.          

[14] เทียบ ฮชย 6:6.              

[15] เทียบ ฮบ 9:13-14.           

[16] CIC canon 1191, § 1.         

[17] เทียบ กจ 18:18; 21:23-24.    

[18] Cf CIC canon 654.          

[19] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 42: AAS 57 (1965) 48-49. 

[20] Cf CIC canones 692. 1196-1197.             

[21] Concilium Vaticanum II, Decl. Dignitatis humanae, 1: AAS 58 (1966) 930.        

[22] Cf Concilium Vaticanum II, Decl. Dignitatis humanae, 2: AAS 58 (1966) 931.     

[23] Concilium Vaticanum II, Decl. Nostra aetate, 2: AAS 58 (1966) 741.             

[24] Concilium Vaticanum II, Decl. Dignitatis humanae, 14: AAS 58 (1966) 940.      

[25] Concilium Vaticanum II, Decl. Dignitatis humanae, 1: AAS 58 (1966) 930.        

[26] Concilium Vaticanum II, Decr. Apostolicam actuositatem, 13: AAS 58 (1966) 849.

[27] Cf Concilium Vaticanum II, Decl. Dignitatis humanae, 1: AAS 58 (1966) 930.     

[28] Cf Concilium Vaticanum II, Decr. Apostolicam actuositatem, 13: AAS 58 (1966) 850.              

[29] Cf Leo XIII, Litt. enc. Immortale Dei: Leonis XIII Acta 5, 118-150; Pius XI, Litt enc. Quas primas: AAS 17 (1925) 593-610.          

[30] Concilium Vaticanum II, Decl. Dignitatis humanae, 2: AAS 58 (1966) 930; cf Id., Const. past. Gaudium et spes, 26: AAS 58 (1966) 1046.

[31] Concilium Vaticanum II, Decl. Dignitatis humanae, 2: AAS 58 (1966) 931.        

[32] Concilium Vaticanum II, Decl. Dignitatis humanae, 6: AAS 58 (1966) 934.       

[33] Cf Leo XIII, Litt. enc. Libertas praestantissimum: Leonis XIII Acta 8, 229-230.   

[34] Cf Pius XII, Allocutio iis qui interfuerunt Conventui quinto nationali Italico Unionis Iurisconsultorum catholicorum (6 decembris 1953): AAS 45 (1953) 799.

[35] Cf Concilium Vaticanum II, Decl. Dignitatis humanae, 2: AAS 58 (1966) 930-931. 

[36] Cf Pius VI, Breve Quod aliquantum (10 martii 1791): Collectio Brevium atque Instructionum SS. D. N. Pii Papae VI, quae ad praesentes Ecclesiae Catholicae in Gallia [...] calamitates pertinent (Romae 1800) p. 54-55.      

[37] Cf Pius IX, Litt. enc. Quanta cura: DS 2890.   

[38] Concilium Vaticanum II, Decl. Dignitatis humanae, 7: AAS 58 (1966) 935.       

III.  “ท่านอย่ามีพระเจ้าอื่นใดนอกจากเรา”

III.  ท่านอย่ามีพระเจ้าอื่นใดนอกจากเรา

 2110    พระบัญญัติประการแรกยังห้ามไม่ให้นับถือเทพเจ้าอื่นนอกจากองค์พระผู้เป็นเจ้าพระองค์เดียวผู้ทรงเปิดเผยพระองค์แก่ประชากรของพระองค์ ห้ามการปฏิบัตินอกรีตและการไม่มีศาสนา การปฏิบัตินอกรีตเป็นการถือศาสนามากเกินไปอย่างผิดๆ  การไม่มีศาสนาเป็นความผิดที่ขัดต่อคุณธรรมการนับถือศาสนาเพราะเป็นความบกพร่อง


การปฏิบัตินอกรีต
(superstition)

 2111    การปฏิบัตินอกรีตเป็นการเบี่ยงเบนของความรู้สึกด้านศาสนาและออกไปจากวิธีปฏิบัติที่กำหนดไว้ การปฏิบัตินอกรีตอาจเกี่ยวกับคารวกิจที่เราถวายแด่พระเจ้าเที่ยงแท้ได้ด้วย เช่นเราอาจให้กิจกรรมที่ตามปกติถูกต้องและจำต้องปฏิบัตินั้นมีมนต์ขลังหรืออำนาจพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง การกำหนดให้บทภาวนาบางบทหรือเครื่องหมายศีลศักดิ์สิทธิ์บางประการมีอำนาจพิเศษโดยการ กระทำภายนอกเท่านั้นโดยไม่เรียกร้องให้มีสภาพภายในจิตที่ศีลนั้นเรียกร้องย่อมเป็นการตกอยู่ในการปฏิบัตินอกรีต[39]

 

การกราบไหว้รูปเคารพ

 2112   พระบัญญัติประการแรกห้ามการเคารพนับถือเทพเจ้าหลายองค์ (polytheism) พระบัญญัติประการนี้เรียกร้องไม่ให้มนุษย์เชื่อและเคารพนับถือพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระเจ้าเพียงพระองค์เดียว  พระคัมภีร์ย้ำอยู่เสมอถึงการต้องไม่ยอมรับนับถือ “รูปเคารพ […]   เป็นเงินและทองคำ สร้างขึ้นด้วยฝีมือมนุษย์” รูปเคารพเหล่านี้ “มีปากแต่พูดไม่ได้ มีตาแต่มองไม่เห็น......” รูปเคารพไร้สาระเหล่านี้ทำให้มนุษย์ไร้สาระไปด้วย “ขอให้ผู้สร้างรูปเคารพเหล่านี้เป็นเหมือนรูปที่เขาสร้าง ทุกคนที่วางใจในรูปเหล่านี้จงเป็นเช่นเดียวกัน” (สดด 115:4-5,8)[40] ตรงกันข้าม พระเจ้าทรงเป็น “พระเจ้าผู้ทรงชีวิต” (ยชว 3:10)[41] พระองค์ประทานชีวิตและทรงเข้ามาเกี่ยวข้องกับมนุษย์ในประวัติศาสตร์

 2113   การกราบไหว้รูปเคารพไม่หมายถึงเพียงคารวกิจไม่ถูกต้องของคนต่างศาสนาเท่านั้น ยังคงเป็นการประจญความเชื่ออยู่ตลอดเวลา การกราบไหว้รูปเคารพนี้อยู่ที่การยกย่องสิ่งที่ไม่ใช่พระเจ้าขึ้นเป็นพระเจ้า การกราบไหว้รูปเคารพมีได้เสมอเมื่อมนุษย์เคารพนับถือสิ่งสร้างแทนที่พระเจ้า ไม่ว่าจะเป็นเทพเจ้าหรือปีศาจ (เช่นการเคารพนับถือผีปีศาจ) อำนาจ ความสนุกสนาน เชื้อชาติ บรรพบุรุษ รัฐ เงินทอง ฯลฯ “ท่านทั้งหลายจะปรนนิบัติรับใช้พระเจ้าและเงินทองพร้อมกันไม่ได้” (มธ 6:24) บรรดามรณสักขีจำนวนมากยอมสละชีวิตเพื่อจะไม่ต้องกราบไหว้ “สัตว์ร้าย”[42] ไม่ยอมแม้กระทั่งการเสแสร้งประกอบพิธีเหล่านี้ การกราบไหว้รูปเคารพปฏิเสธไม่ยอมรับอำนาจปกครองหนึ่งเดียวของพระเจ้า ดังนั้นจึงเข้ากันไม่ได้กับความสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้า[43]

 2114    ชีวิตมนุษย์พบเอกภาพในการนมัสการพระเจ้าหนึ่งเดียว บัญญัติให้นมัสการพระเจ้าเพียงหนึ่งเดียวทำให้มนุษย์ไม่มีความซับซ้อนและช่วยเขาให้พ้นจากความแตกแยกไร้ขอบเขต  การกราบไหว้รูปเคารพเป็นการทำลายความรู้สึกด้านศาสนาที่เกิดมาพร้อมกับมนุษย์ ผู้กราบไหว้รูปเคารพเป็นผู้ที่ “เปลี่ยนแปลงความรู้เรื่องพระเจ้าที่ฝังแน่นอยู่ในจิตใจไปหาสิ่งอื่นที่ไม่ใช่พระเจ้า”[44]


การทำนายอนาคตและใช้เวทย์มนต์

 2115   พระเจ้าอาจทรงเปิดเผยอนาคตให้แก่ประกาศกหรือผู้ศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ รู้ได้ ถึงกระนั้นท่าทีที่ถูกต้องของคริสตชนนั้นอยู่ที่การมอบตนด้วยความมั่นใจไว้ในพระญาณเอื้ออาทรของพระองค์เกี่ยวกับเหตุการณ์ในอนาคตและเลิกอยากรู้อยากเห็นอย่างไม่เหมาะสมเกี่ยวกับเรื่องนี้ ความสะเพร่าอาจก่อให้เกิดความไม่รับผิดชอบ

 2116    เราต้องไม่ยอมรับการทำนายอนาคตทุกรูปแบบ การเข้าหาผีหรือปีศาจ การปลุกผู้ตายขึ้นมาหรือการกระทำอื่นๆ ที่เข้าใจอย่างผิดๆ ว่าอาจ “เปิดเผย” ให้รู้อนาคตได้[45] การปรึกษาผู้ดูดวงโชคชะตา โหราศาสตร์ การดูลายมือ การดูฤกษ์ยามและการทำนายอนาคต การเข้าเจ้าเข้าทรงแสดงให้เห็นความต้องการที่จะควบคุมเวลา เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ควบคุมมนุษย์ และอำนาจลึกลับให้อยู่ในอำนาจของตน  กิจกรรมเหล่านี้อยู่ตรงข้ามกับการถวายเกียรติและความเคารพพร้อมกับความเคารพยำเกรงต่อคนรักที่เราต้องมีให้แก่พระเจ้าเพียงพระองค์เดียว

 2117    การทำเวทย์มนต์คาถาทุกอย่างที่ต้องการควบคุมอำนาจลึกลับเพื่อนำอำนาจเหล่านี้ให้มารับใช้ตนและเพื่อจะได้มีอำนาจเหนือธรรมชาติเหนือเพื่อนมนุษย์ – แม้เพื่อมีอำนาจบำบัดรักษาผู้อื่นด้วย – ล้วนเป็นความผิดอย่างหนักต่อคุณธรรมการนับถือศาสนา กิจกรรมเหล่านี้ยิ่งน่าประณามมากขึ้นถ้าควบคู่ไปกับความตั้งใจที่จะทำร้ายผู้อื่น หรือเพื่อขอให้ปีศาจเข้ามาช่วยเหลือ การสวมเครื่องลางของขลังก็เป็นกิจการน่าตำหนิด้วย  การใช้เวทย์มนต์คาถา (spiritism) บ่อยๆ ยังรวมถึงการทำนายอนาคตและศาสตร์ลึกลับ  พระศาสนจักรยังเตือนบรรดาผู้มีความเชื่อให้ละเว้นกิจกรรมนี้ การใช้วิชาการแพทย์แผนโบราณไม่ทำให้การไปเรียกหาอำนาจชั่วร้ายและหาประโยชน์จากความเชื่อง่ายของผู้อื่นกลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องขึ้นมาได้


การไม่มีศาสนา

 2118    พระบัญญัติของพระเจ้าประการแรกประณามบาปต่างๆที่เกี่ยวกับการไม่มีศาสนาโดยเฉพาะ เช่นการทดลองพระเจ้าด้วยคำพูดหรือการกระทำ การล่วงเกินพระเจ้าและการซื้อขายสิ่งของหรือตำแหน่งศักดิ์สิทธิ์ (simony)

 2119   การทดลองพระเจ้าเป็นการนำความดีและพระสรรพานุภาพของพระองค์มาทดสอบด้วยวาจาหรือกิจการ ปีศาจต้องการได้รับผลเช่นนี้จากพระเยซูเจ้า คือต้องการให้พระองค์ทรงกระโดดลงไปจากยอดพระวิหาร และทรงบังคับให้พระเจ้าทรงทำงานในการกระทำเช่นนี้[46] แต่พระเยซูเจ้าทรงนำพระวาจาของพระเจ้ามาตอบโต้ว่า “อย่าทดลององค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่านเลย” (ฉธบ 6:16) การท้าทายที่อยู่ในการทดลองพระเจ้าเช่นนี้เป็นการทำผิดต่อความเคารพและความไว้วางใจที่เราต้องมีต่อพระผู้ทรงเนรมิตสร้างและองค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา รวมทั้งความสงสัยถึงความรัก พระญาณเอื้ออาทร และพระอานุภาพของพระองค์อยู่เสมอ[47]

 2120   การล่วงเกิน (ทุราจาร - sacrilege) คือการกระทำที่ขาดความเคารพและไม่เหมาะสมต่อศีลศักดิ์สิทธิ์และกิจกรรมอื่นๆ ของพิธีกรรม รวมทั้งต่อบุคคลและสถานที่ได้ถวายแด่พระเจ้าแล้ว การล่วงเกินเป็นบาปหนัก โดยเฉพาะเมื่อทำต่อศีลมหาสนิท เพราะพระกายของพระคริสตเจ้าประทับอยู่โดยแท้จริง (substantially) ในศีลนี้[48]

 2121   การซื้อขายสิ่งของหรือตำแหน่งศักดิ์สิทธิ์ (simony)[49] ได้ชื่อเช่นนี้มาจากซีโมนผู้วิเศษในหนังสือกิจการอัครสาวก เขาต้องการซื้ออำนาจฝ่ายจิตที่เขาเห็นว่าแสดงผลในบรรดาอัครสาวก แต่เปโตรตอบว่า “ท่านและเงินของท่านจงพินาศ เพราะท่านคิดว่าท่านใช้เงินซื้อของประทานของพระเจ้าได้” (กจ 8:20) เปโตรปฏิบัติตามพระวาจาของพระเยซูที่ว่า “ท่านได้รับมาโดยไม่เสียค่าตอบแทน ก็จงให้เขาโดยไม่รับค่าตอบแทนด้วย” (มธ 10:8)[50] เป็นไปไม่ได้ที่เราจะหวงพระพรของพระจิตเจ้าไว้เป็นของตนเองและทำเหมือนกับว่าเราเป็นเจ้าของและเจ้านายของพระพรเหล่านี้ซึ่งเกิดมาจากพระเจ้า เรารับพระพรเหล่านี้ได้จากพระองค์เท่านั้นโดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทนอะไร

 2122    “ศาสนบริกรไม่อาจเรียกร้องอะไรได้สำหรับการประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ นอกจากของถวายที่ผู้มีอำนาจปกครองกำหนดไว้ ต้องระวังเสมออย่าให้คนยากจนไม่ได้รับความช่วยเหลือของศีลศักดิ์สิทธิ์เพราะความยากจน”[51] ผู้มีอำนาจปกครองที่เกี่ยวข้องย่อมกำหนด “ของถวาย” นี้โดยอาศัยหลักการที่ว่าประชากรคริสตชนต้องช่วยเหลือศาสนบริกรของพระศาสนจักร “คนงานย่อมมีสิทธิ์ได้รับอาหารของตน” (มธ 10:10)[52]


อเทวนิยม
(การไม่นับถือพระเจ้า, atheism)

 2123   “หลายคน..ร่วมสมัยของเราไม่เคยรู้สึกความสัมพันธ์ลึกซึ้งและมีชีวิตชีวากับพระเจ้า หรือไม่ยอมรับความสัมพันธ์นี้อย่างเปิดเผย ประหนึ่งว่าอเทวนิยมจัดได้ว่าเป็นปัญหาสำคัญในสมัยของเรา”[53]

 2124    คำว่า “อเทวนิยม” (atheism) มีความหมายครอบคลุมถึงปรากฏการณ์หลากหลาย รูปแบบที่เห็นอยู่บ่อยๆ คือลัทธิวัตถุนิยมทางปฏิบัติ (practical materislism) ที่จำกัดความต้องการและความทะเยอทะยานของตนอยู่ที่สถานที่และเวลาเท่านั้น มนุษยนิยมที่ไม่ยอมรับพระเจ้าเข้าใจอย่างผิดๆว่ามนุษย์เป็นอะไรที่ “เป็นจุดหมายของตนเอง เป็นผู้สร้างสรรค์และจัดการประวัติศาสตร์ของตนแต่เพียงผู้เดียว”[54]  อีกรูปแบบหนึ่งของอเทวนิยมทุกวันนี้มีความหวังว่ามนุษย์จะได้รับการปลดปล่อยให้รอดพ้นได้อาศัยการปลดปล่อยด้านเศรษฐกิจและสังคม “ที่ศาสนาโดยธรรมชาติของตนพยายามที่จะขัดขวางโดยตั้งความหวังอย่างลมๆ แล้งๆ ไว้ถึงชีวิตในอนาคต ทำให้มนุษย์ไม่กล้าทำงานเพื่อก่อสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในโลกนี้”[55]

 2125   อเทวนิยม ในฐานะที่ปฏิเสธหรือไม่ยอมรับว่ามีพระเจ้า เป็นบาปผิดต่อคุณธรรมการนับถือศาสนา[56] ความรับผิดชอบต่อความผิดนี้อาจลดลงได้เพราะเจตนาและกรณีแวดล้อม  “ผู้มีความเชื่ออาจมีบทบาทอยู่บ้างในการเกิดและขยายตัวของอเทวนิยมในฐานะที่เลินเล่อไม่ศึกษาความเชื่อ หรือโดยสอนความรู้อย่างไม่ถูกต้อง หรือโดยการดำเนินชีวิตด้านศาสนาของตน นับได้ว่า โดยความผิดด้านความประพฤติและสังคม เขาได้ปิดบังมากกว่าจะเปิดเผยภาพลักษณ์ของพระเจ้าและศาสนาให้ปรากฏ”[57]

 2126   อเทวนิยมหลายครั้งตั้งอยู่บนความเข้าใจผิดเรื่องอัตตานัติ (autonomy) ของมนุษย์ที่ก้าวไปไกลจนไม่ยอมรับการอยู่ใต้อำนาจของพระเจ้าแต่ประการใด[58] ถึงกระนั้น การยอมรับพระเจ้านั้นมิได้ขัดกับศักดิ์ศรีของมนุษย์แต่ประการใด “ในเมื่อศักดิ์ศรีเช่นนี้มีพื้นฐานและสมบูรณ์ขึ้นในพระเจ้าเอง”[59] พระศาสนจักรรู้ดีว่า “ข่าวดีของตนนั้นเข้ากันได้ดีกับความปรารถนาแม้ที่ลึกลับที่สุดในจิตใจของมนุษย์”[60]


อไญยนิยม
(agnosticism)

 2127   อไญยนิยมมีหลายรูปแบบ ในบางกรณี ผู้ที่ไม่ยอมรับว่าเรารู้จักพระเจ้าได้ก็ไม่ได้ปฏิเสธพระเจ้า  ตรงกันข้าม เขาเรียกร้องให้มีอะไรบางอย่างที่เป็นโลกุตระ (อยู่เหนือโลกออกไป) ที่ไม่อาจเปิดเผยตนเองและไม่มีผู้ใดอาจกล่าวอะไรเกี่ยวกับสิ่งนี้ได้   ในอีกบางกรณี ผู้ที่ไม่ยอมรับว่าเรารู้จักพระเจ้าได้ก็ไม่อาจตัดสินใจได้ว่ามีพระเจ้าหรือไม่ โดยประกาศว่าเราไม่อาจพิสูจน์ หรือแม้แต่จะยืนยันหรือปฏิเสธเรื่องนี้ได้

 2128 บางครั้ง อไญยนิยมอาจมีความพยายามค้นคว้าอะไรบ้างเรื่องพระเจ้า แต่ในขณะเดียวกันก็อาจหมายถึงการวางเฉยไม่สนใจ หมายถึงการหนีปัญหาสุดท้ายเรื่องที่ว่ามีพระเจ้าหรือไม่ และยังอาจหมายถึงความเกียจคร้านของมโนธรรมในเรื่องศีลธรรม บ่อยๆ ที่สุด อไญยนิยมก็เท่ากันกับอเทวนิยมในทางปฏิบัติ

 

[39] เทียบ มธ 23:16-22.         

[40] เทียบ อสย 44:9-20; ยรม 10:1-16; ดนล 14:1-30; บรค บทที่ 6; ปชญ 13:1-15,19.     

[41] เทียบ สดด 42:2; ฯลฯ        

[42] เทียบ วว บทที่ 13-14.         

[43] เทียบ กท 5:20; อฟ 5:5.     

[44] Origenes, Contra Celsum, 2, 40: SC 132, 378 (PG 11, 861).     

[45] เทียบ ฉธบ 18:10; ยรม 29:8. 

[46] เทียบ ลก 4:9.

[47] เทียบ 1 คร 10:9; อพย 17:2-7; สดด 95:9.      

[48] Cf CIC canones 1367. 1376. 

[49] เทียบ กจ 8:9-24.            

[50] เทียบ ข้อความที่กล่าวไว้แล้วใน อสย 55:1.        

[51] CIC canon 848.             

[52] เทียบ ลก 10:7; 1 คร 9:4-18; 1 ทธ 5:17-18.     

[53] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 19: AAS 58 (1966) 1039. 

[54] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 20: AAS 58 (1966) 1040. 

[55] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 20: AAS 58 (1966) 1040. 

[56] เทียบ รม 1:18.

[57] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 19: AAS 58 (1966) 1039.  

[58] Cf Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 20: AAS 58 (1966) 1040.

[59] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 21: AAS 58 (1966) 1040. 

[60] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 21: AAS 58 (1966) 1042. 

IV. “ท่านต้องไม่ทำรูปเคารพสำหรับตน....”

IV. “ท่านต้องไม่ทำรูปเคารพสำหรับตน....”

 2129   พระบัญชาของพระเจ้าประการนี้ห้ามไม่ให้มนุษย์สร้างรูปเหมือนทั้งหลายของพระเจ้า หนังสือเฉลยธรรมบัญญัติอธิบายไว้ว่า “เมื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสแก่ท่านจากกองไฟที่ภูเขาโฮเรบ ท่านไม่ได้เห็นพระองค์เลย เพราะฉะนั้น จงระวังให้ดี อย่าเสี่ยงชีวิต ท่านจะต้องไม่หลงทำบาปโดยทำรูปเคารพใดๆ ขึ้นมากราบไหว้” (ฉธบ 4:15-16) พระเจ้าทรงเป็นโลกุตระอย่างสมบูรณ์ พระองค์ทรงสำแดงพระองค์แก่ชาวอิสราเอล “พระองค์ทรงเป็นทุกสิ่ง” แต่ในเวลาเดียวกันก็ทรง “ยิ่งใหญ่เหนือพระราชกิจทุกสิ่งที่ทรงกระทำ” (บสร 43:27-28) ทรงเป็น “บ่อเกิดของความงดงาม” (ปชญ 13:3)

 2130    ในพันธสัญญาเดิม พระเจ้าทรงบัญชาหรือทรงอนุญาตให้สร้างภาพซึ่งเป็นสัญลักษณ์ช่วยชี้นำไปสู่ความรอดพ้นเดชะพระวจนาตถ์ผู้ทรงรับพระธรรมชาติมนุษย์ เช่นงูทองสัมฤทธิ์[61] หีบพระบัญญัติ และรูปบรรดาเครูบ[62]

 2131   สภาสังคายนาสากลครั้งที่ 7 ที่เมืองนีเชอา (ค.ศ. 787) ประกาศประณามพวกที่ทำลายรูปศักดิ์สิทธิ์ (Iconoclasts) รับรองการเคารพรูปภาพของพระคริสตเจ้า รวมทั้งของพระมารดาของพระเจ้า รูปภาพของบรรดาทูตสวรรค์และผู้ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เป็นการถูกต้อง โดยคำนึงถึงพระธรรมล้ำลึกการรับพระธรรมชาติมนุษย์ของพระวจนาตถ์ โดยการรับพระธรรมชาติมนุษย์ พระบุตรของพระเจ้าทรงเริ่ม “แผนการณ์” ใหม่เกี่ยวกับรูปภาพ

2132    การที่คริสตชนเคารพรูปภาพไม่ขัดกับพระบัญญัติประการแรกที่ห้ามไม่ให้กราบนมัสการรูปเคารพ โดยแท้จริงแล้ว “เกียรติที่เราถวายแด่รูปนั้นเป็นการแสดงความเคารพแก่ผู้เป็นแบบ(ของรูปนั้น)”[63] และ “ผู้ที่เคารพรูป ย่อมเคารพผู้ที่มีภาพวาดไว้ในรูปนั้น”[64] เกียรติที่เราถวายแก่รูปศักดิ์สิทธิ์เป็นการคารวะด้วยความเคารพ ไม่ใช่การกราบนมัสการที่เราต้องถวายแด่พระเจ้าเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น

           “เราแสดงความเคารพทางศาสนาต่อรูป(ของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์)ไม่ใช่ต่อรูปเหล่านั้นโดยตรง แต่ตามที่รูปเหล่านั้นนำเราไปหาพระเจ้าผู้ทรงรับพระธรรมชาติมนุษย์ ความเคารพไม่ได้มุ่งไปสู่รูปนั้นในฐานะที่เป็นรูป ไม่หยุดอยู่ที่นั่น แต่มุ่งไปหาผู้ที่รูปนั้นแสดงถึง”[65]

[61] เทียบ กดว 21:4-9; ปชญ 16:5-14;  ยน 3:14-15.  

[62] เทียบ อพย 25:10-22; 1 พกษ 6:26-28; 7:23-26.

[63] Sanctus Basilius Magnus, Liber de Spiritu Sancto, 18, 45: SC 17bis, 406 (PG 32, 149).            

[64] Concilium Nicaenum II, Definitio de sacris imaginibus: DS 601; cf Concilium Tridentinum, Sess. 25a, Decretum de invocatione, veneratione et reliquiis sanctorum, et sacris imaginibus: DS 1821-1825; Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 125: AAS 56 (1964) 132; Id., Const. dogm. Lumen gentium, 67: AAS 57 (1965) 65-66.             

[65] Sanctus Thomas Aquinas, Summa theologiae, II-II, q. 81, a. 3, ad 3: Ed. Leon. 9, 180.             

สรุป

สรุป

2133    ท่านจะต้องรักองค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่านสุดจิตใจ สุดวิญญาณ และสุดกำลังของท่าน” (ฉธบ 6:5)

2134    พระบัญญัติประการแรกเชิญชวนมนุษย์ให้เชื่อในพระเจ้า ให้หวังในพระองค์ และให้รักพระองค์เหนือทุกสิ่ง

2135    จงกราบนมัสการองค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่าน” (มธ 4:10) การกราบนมัสการพระเจ้า อธิษฐานวอนขอพระองค์ ถวายคารวกิจที่พระองค์ควรได้รับแด่พระองค์ รักษาคำสัญญาและการบนบานที่ถวายไว้แด่พระองค์ ทั้งหมดนี้เป็นกิจกรรมด้านศาสนาที่สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามพระบัญญัติประการแรก

2136    หน้าที่ถวายคารวกิจแท้จริงแด่พระเจ้าเป็นหน้าที่ของมนุษย์แต่ละคนและร่วมกันเป็นสังคม

2137    มนุษย์ต้องมีโอกาสที่จะนับถือศาสนาทั้งเป็นการส่วนตัวและอย่างเปิดเผยได้โดยอิสระ[66]

2138    การปฏิบัตินอกรีตเป็นการแสดงคารวะอย่างผิดเพี้ยนต่อพระเจ้าเที่ยงแท้ การปฏิบัติดังกล่าวแสดงออกในการกราบนมัสการรูปเคารพ เช่นเดียวกับในรูปแบบต่างๆ ของการทำนายอนาคตหรือการใช้เวทย์มนต์คาถา

2139    การทดลองพระเจ้าด้วยวาจาหรือกิจการ การล่วงเกิน (ทุราจาร) การซื้อขายสิ่งของหรือตำแหน่งศักดิ์สิทธิ์ (simony) ล้วนเป็นบาปผิดต่อศาสนาที่พระบัญญัติประการแรกห้ามไว้

2140    อเทวนิยม ในฐานะที่ปฏิเสธหรือไม่ยอมรับว่ามีพระเจ้า เป็นบาปผิดต่อพระบัญญัติประการแรก

2141    การเคารพรูปภาพ (หรือรูปปั้น) มีพื้นฐานอยู่บนพระธรรมล้ำลึกการรับสภาพมนุษย์ของพระวจนาตถ์ ไม่เป็นการขัดต่อพระบัญญัติประการแรก

 

[66] Cf Concilium Vaticanum II, Decl. Dignitatis humanae, 15: AAS 58 (1966) 940.