ตอนที่สาม

พระบัญญัติประการที่สาม

 

“จงระลึกถึงวันสับบาโตเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ ท่านจะต้องออกแรงทำงานทั้งหมดในหกวัน แต่วันที่เจ็ดเป็นวันพักผ่อนที่ถวายแด่องค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่าน ในวันนั้น ท่านต้องไม่ทำงานใดๆ” (อพย 20:8-10)[82]

“วันสับบาโตมีไว้เพื่อมนุษย์ มิใช่มนุษย์มีไว้เพื่อวันสับบาโต ดังนั้น บุตรแห่งมนุษย์จึงเป็นนายเหนือแม้กระทั่งวันสับบาโตด้วย” (มก 2:27-28)

 

[82] เทียบ ฉธบ 5:12-15.          

I. วันสับบาโต

I. วันสับบาโต

 2168   พระบัญญัติประการที่สามเตือนให้ระลึกถึงความศักดิ์สิทธิ์ของวันสับบาโต “วันที่เจ็ดจะเป็นวันหยุดงานโดยเด็ดขาด และเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ถวายแด่องค์พระผู้เป็นเจ้า” (อพย 31:15)

 2169   ในโอกาสนี้ พระคัมภีร์เตือนให้ระลึกถึงการเนรมิตสร้าง “ในหกวันองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างฟ้า แผ่นดิน ทะเล และสรรพสิ่งที่มีอยู่ในที่เหล่านี้ แต่ในวันที่เจ็ด พระองค์ทรงพักผ่อน ดังนั้น องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงอวยพระพรวันสับบาโต และทรงทำให้เป็นวันศักดิ์สิทธิ์” (อพย 20:11)

 2170   พระคัมภีร์ยังแสดงว่าวันขององค์พระผู้เป็นเจ้ายังเป็นการระลึกถึงการช่วยอิสราเอลให้รอดพ้นจากการเป็นทาสในอียิปต์ “จงจำไว้ว่าท่านเคยเป็นทาสในแผ่นดินอียิปต์ และองค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่านทรงใช้พระหัตถ์ทรงฤทธิ์และพระอานุภาพยิ่งใหญ่นำท่านออกจากที่นั่น เพราะฉะนั้น พระองค์จึงทรงบัญชาให้ท่านรักษาวันสับบาโตไว้เป็นวันพักผ่อน” (ฉธบ 5:15)

 2171    พระเจ้าทรงมอบวันสับบาโตให้อิสราเอลรักษาไว้เป็นเครื่องหมายของพันธสัญญาซึ่งจะล่วงละเมิดไม่ได้เลย[83] วันสับบาโตมีไว้สำหรับองค์พระผู้เป็นเจ้า จะต้องสงวนไว้เป็นวันศักดิ์สิทธิ์เพื่อสรรเสริญพระเจ้า สรรเสริญงานเนรมิตสร้างของพระองค์ และกิจการทรงช่วยให้รอดพ้นที่ทรงกระทำเพื่ออิสราเอล

 2172   วิธีการกระทำของพระเจ้าเป็นตัวอย่างการกระทำสำหรับมนุษย์ ถ้าพระเจ้า “ทรงพักผ่อน” ในวันที่เจ็ด (อพย 31:17) มนุษย์ก็ต้อง “หยุดพัก” จากการงานด้วย และยอมให้ผู้อื่น โดยเฉพาะคนยากจน “จะได้พักผ่อนมีกำลังขึ้นใหม่”[84]วันสับบาโตทำให้งานประจำวันต้องหยุดและอนุญาตให้มีการพักผ่อนได้ นับได้ว่าเป็นวันต่อต้านการเป็นขี้ข้าของการทำงานและการกราบไหว้เงินทอง[85]

 2173   พระวรสารเล่าถึงหลายกรณีที่พระเยซูเจ้าทรงถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดวันสับบาโต แต่พระเยซูเจ้าไม่ทรงเคยฝ่าฝืนความศักดิ์สิทธิ์ของวันนี้เลย[86] พระองค์ทรงตีความหมายของกฎนี้อย่างทรงอำนาจ “วันสับบาโตมีไว้เพื่อมนุษย์ มิใช่มนุษย์มีไว้เพื่อวันสับบาโต” (มก 2:27) พระคริสตเจ้าทรงใช้ความเห็นอกเห็นใจชี้ให้เห็นว่าทรงมีอำนาจทำดีในวันสับบาโต ไม่ใช่ทำชั่ว ช่วยชีวิตให้รอด ไม่ใช่ทำลายชีวิต[87] วันสับบาโตเป็นวันแห่งพระกรุณาขององค์พระผู้เป็นเจ้า และวันถวายเกียรติแด่พระเจ้า[88] “บุตรแห่งมนุษย์จึงเป็นนายเหนือแม้กระทั่งวันสับบาโตด้วย” (มก 2:28)

 

[83] เทียบ อยพ 31:16.           

[84] เทียบ อพย 23:12.           

[85] เทียบ นหม 13:15-22;  2 พศด 36:21.          

[86] เทียบ มก 1:21; ยน 9:16.     

[87] เทียบ มก 3:4.

[88] เทียบ มธ 12:5; ยน 7:23.     

II.  วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า

II.  วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า

        “นี่คือวันที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้าง เราจงยินดีและมีความสุขเถิด” (สดด 118:24)

วันที่(พระคริสตเจ้า)ทรงกลับคืนพระชนมชีพการเนรมิตสร้างใหม่

 2174   พระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพ “เช้าตรู่ของวันต้นสัปดาห์” (มก 16:2)[89] ในฐานะที่เป็น “วันที่หนึ่ง” วันที่พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพจึงชวนให้เราคิดถึงการเนรมิตสร้างครั้งแรก ในฐานะที่ “วันที่แปด” ที่ตามหลังวันสับบาโต[90] วันนี้จึงหมายถึงการเนรมิตสร้างครั้งใหม่ที่เริ่มขึ้นโดยการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า กลายเป็นวันแรกของวันทั้งหลายสำหรับคริสตชน เป็น “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (dies Dominica, he kyriake hemera) หรือ “Dominica”

            “เมื่อถึงวันอาทิตย์ พวกเราก็มาชุมนุมพร้อมกัน เพราะว่าวันนี้เป็นวันแรก [หลังวันสับบาโตของชาวยิว และยังเป็นวันแรก] ที่พระเจ้าทรงแยกวัตถุจากความมืด ทรงเนรมิตสร้างโลก และเพราะว่าพระเยซูคริสตเจ้า พระผู้ไถ่ของเราทรงกลับคืนพระชนมชีพในวันเดียวกันด้วย”[91]


วันอาทิตย์
(วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า) – ทำให้วันสับบาโตสมบูรณ์

 2175   วันอาทิตย์ต่างจากวันสับบาโตอย่างชัดเจน ทุกสัปดาห์ วันอาทิตย์ตามหลังวันสับบาโตตามลำดับเวลา  และสำหรับบรรดาคริสตชนวันอาทิตย์ก็เข้ามาแทนที่ข้อกำหนดด้านพิธีกรรมของวันสับบาโตด้วย  ในปัสกาของพระคริสตเจ้า วันอาทิตย์ทำให้ความจริงด้านจิตใจของวันสับบาโตของชาวยิวสมบูรณ์ขึ้นและกล่าวล่วงหน้าถึงการพักผ่อนนิรันดรของมนุษย์ในพระเจ้า อันที่จริง คารวกิจในพันธสัญญาเดิมเป็นการเตรียมพระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้าและเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นจริงในพระองค์ เป็นประหนึ่งโครงร่างภาพที่พาดพิงถึงพระคริสตเจ้า[92]

           “ผู้ที่มีชีวิตอยู่ในระเบียบเก่าได้มาถึงความหวังใหม่ เขาไม่ถือวันสับบาโตอีกต่อไป แต่ดำเนินชีวิตตามวันขององค์พระผู้เป็นเจ้า (วันอาทิตย์) วันที่ชีวิตของเราได้เริ่มต้นเดชะพระองค์และเดชะการสิ้นพระชนม์ของพระองค์”[93]

2176    การเฉลิมฉลององค์พระผู้เป็นเจ้าในวันอาทิตย์เป็นการปฏิบัติตามข้อกำหนดที่อยู่ในใจของมนุษย์แล้วโดยธรรมชาติที่ “สั่งให้ถวายคารวกิจภายนอกแด่พระเจ้าเป็นเครื่องหมายภายนอกแสดงถึงพระคุณความดีที่พระเจ้าประทานให้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกคน”[94]คารวกิจในวันอาทิตย์เป็นการปฏิบัติตามพระบัญญัติที่ต้องปฏิบัติของพันธสัญญาเดิมที่รับเอาลำดับและจิตตารมณ์ให้ประชากรเฉลิมฉลองพระผู้เนรมิตสร้างและพระผู้ช่วยให้รอดพ้นทุกๆ สัปดาห์


พิธีบูชาขอบพระคุณในวันอาทิตย์

 2177   การเฉลิมฉลองวันอาทิตย์และพิธีบูชาขอบพระคุณขององค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นศูนย์กลางชีวิตของพระศาสนจักร “วันอาทิตย์ที่มีการเฉลิมฉลองพระธรรมล้ำลึกปัสกาจากธรรมประเพณีตั้งแต่สมัยอัครสาวกต้องถือเป็นวันฉลองบังคับสำคัญที่สุดในพระศาสนจักรสากล”[95]

         “เช่นเดียวกัน ยังต้องถือวันเหล่านี้เป็นวันฉลองบังคับด้วย คือวันสมภพของพระเยซูคริสตเจ้าองค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา วันพระคริสต์สำแดงพระองค์ วันสมโภชการเสด็จสู่สวรรค์และวันสมโภชพระกายและพระโลหิตศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระคริสตเจ้า วันสมโภชพระนางมารีย์พระมารดาของพระเจ้าคือวันปฏิสนธินิรมลและวันทรงได้รับเข้าสู่สวรรค์ วันสมโภชนักบุญโยเซฟ นักบุญเปโตรและเปาโลอัครสาวก และวันสมโภชนักบุญทั้งหลาย”[96]

 2178   การปฏิบัติเช่นนี้ของกลุ่มคริสตชนเริ่มมาตั้งแต่สมัยอัครสาวกแล้ว[97] จดหมายถึงชาวฮีบรูเตือนว่า “อย่าขาดการเข้าร่วมชุมนุมกันดังที่บางคนเคยทำ แต่จงตักเตือนกัน” (ฮบ 10:25)

           ธรรมประเพณียังรักษาความทรงจำที่ระลึกถึงคำตักเตือนหนึ่งที่เป็นปัจจุบันอยู่เสมอที่ว่า “ดังนั้น เวลาเช้า ท่านจงมาอยู่ในที่ประชุมของพระเจ้า จงเข้ามาหาองค์พระผู้เป็นเจ้า จงสารภาพบาปของท่านต่อพระองค์ จงอธิษฐานภาวนาชดเชยบาป […] จงคงอยู่ในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า จงอธิษฐานภาวนาจนจบและอย่าออกไปก่อนได้รับอนุญาต […] ดังที่เราได้กล่าวไว้บ่อยๆ  พระเจ้าประทานวันนี้ให้ท่านเพื่ออธิษฐานภาวนาและพักผ่อน วันนี้จึงเป็นวันที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้าง เราจงยินดีและมีความสุขเถิด”[98]

 2179   “เขตวัด (parish) เป็นกลุ่มคริสตชนผู้มีความเชื่อที่ได้รับการจัดตั้งเป็นการถาวรในพระศาสนจักรท้องถิ่น ที่ได้รับการอภิบาลดูแลตามปกติจากผู้อภิบาลเฉพาะของตน คือคุณพ่อเจ้าวัดซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยอำนาจของพระสังฆราชของสังฆมณฑล”[99] วัดของชุมชนเป็นสถานที่ที่ผู้มีความเชื่อทุกคนอาจมาชุมนุมกันเพื่อเฉลิมฉลองพิธีบูชาขอบพระคุณวันอาทิตย์ อบรมคริสตชนให้เข้าใจการแสดงออกชีวิตด้านพิธีกรรม รวบรวมประชากรมาร่วมการเฉลิมฉลองนี้ สั่งสอนเขาให้รู้จักคำสอนที่นำความรอดพ้นมาให้ของพระคริสตเจ้า แสดงความรักขององค์พระผู้เป็นเจ้าในกิจการที่ดีและแสดงความรักฐานพี่น้อง[100]

           “ท่านยังอาจอธิษฐานภาวนาได้ที่บ้านด้วย แต่ท่านไม่อาจอธิษฐานภาวนาได้เหมือนกับในโบสถ์ที่มีผู้มาชุมนุมกันจำนวนมาก ที่มีการร้องหาพระเจ้าเป็นเสียงเดียวกัน […] ที่นี่มีอะไรมากกว่า นั่นคือมีการร่วมใจร่วมเสียง มีสายสัมพันธ์แห่งความรักและคำอธิษฐานภาวนาของพระสงฆ์”[101]


ข้อบังคับสำหรับวันอาทิตย์

 2180   พระบัญญัติของพระศาสนจักรกำหนดและจำกัดกฎขององค์พระผู้เป็นเจ้าให้ชัดเจน “ในวันอาทิตย์และวันฉลองบังคับอื่นๆ บรรดาผู้มีความเชื่อมีข้อบังคับให้ไปร่วมพิธีมิสซา”[102] “ผู้ที่ไปร่วมมิสซา ไม่ว่าจะประกอบที่ใดในจารีตคาทอลิก จะเป็นในวันฉลองหรือเย็นวันก่อนนั้น ย่อมปฏิบัติตามพระบัญญัติให้ไปร่วมมิสซา”[103]

 2181    พิธีบูชาขอบพระคุณในวันอาทิตย์เป็นรากฐานและส่งเสริมกิจกรรมปฏิบัติทั้งหมดของคริสตชน เพราะเหตุนี้ บรรดาผู้มีความเชื่อจึงมีข้อบังคับให้เข้าร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณในวันบังคับ เว้นแต่จะมีเหตุผลที่มีน้ำหนักพอเป็นข้อยกเว้นได้ (เช่น ความเจ็บป่วย การต้องดูแลเด็กทารก) หรือได้รับการยกเว้นจากผู้อภิบาลของตน[104] ผู้ที่จงใจฝ่าฝืนข้อบังคับประการนี้ก็ทำบาปหนัก

 2182   การมีส่วนร่วมเฉลิมฉลองพิธีบูชาขอบพระคุณพร้อมกันในวันอาทิตย์เป็นพยานยืนยันถึงความสัมพันธ์และความซื่อสัตย์กับพระคริสตเจ้าและพระศาสนจักรของพระองค์ ดังนี้ บรรดาผู้มี  ความเชื่อจึงยืนยันความสัมพันธ์ของตนในความเชื่อและความรัก พร้อมกันนั้นเขายังเป็นพยานถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าและความหวังในความรอดพ้นของตน พระจิตเจ้าทรงนำเขาทั้งหลายเพื่อให้กำลังใจกัน

 2183     “ถ้าเพราะไม่มีศาสนบริกรศักดิ์สิทธิ์หรือเพราะสาเหตุหนักอย่างอื่น การมีส่วนร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณไม่อาจมีได้ ก็ขอสนับสนุนอย่างมากให้บรรดาผู้มีความเชื่อมีส่วนร่วมวจนพิธีกรรม ถ้ามีพิธีนี้ในโบสถ์ประจำหมู่บ้านหรือในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อื่นตามข้อกำหนดของสมณประมุขผู้ปกครองสังฆมณฑล หรืออาจอธิษฐานภาวนาเป็นการส่วนตัวหรือในครอบครัว หรืออธิษฐานภาวนาร่วมกันหลายครอบครัวเป็นเวลาพอสมควรก็ได้”[105]

 

วันของพระหรรษทานและการหยุดงาน

 2184  เช่นเดียวกับที่พระเจ้า “ทรงหยุดพักในวันที่เจ็ดจากงานทั้งหมดที่ทรงกระทำ” (ปฐก 2:2) ชีวิตของมนุษย์ก็ย่อมมีจังหวะการทำงานและการพักผ่อนสลับกันไปด้วย การกำหนดวันขององค์พระผู้เป็นเจ้ามีไว้ก็เพื่อช่วยให้ทุกคนมีเวลาว่างและพักผ่อนเพียงพอเพื่ออนุญาตให้เขาเสริมสร้างชีวิตครอบครัว วัฒนธรรม สังคม และศาสนาได้[106]

 2185  ในวันอาทิตย์และวันฉลองบังคับอื่นๆ บรรดาผู้มีความเชื่อจะต้องละเว้นไม่ทำงานหรือกิจกรรมที่ขัดขวางคารวกิจที่จำเป็นต้องถวายแด่พระเจ้า ขัดต่อความยินดีที่เป็นวันขององค์พระผู้เป็นเจ้าโดยเฉพาะ ขัดต่อการปฏิบัติงานแสดงเมตตาจิตและการพักผ่อนจิตใจและร่างกาย[107] แต่ความจำเป็นของครอบครัวหรือผลประโยชน์สำคัญด้านสังคมเป็นข้อแก้ตัวที่ถูกต้องเกี่ยวกับบัญญัติเรื่องการพักผ่อนวันอาทิตย์ แต่ผู้มีความเชื่อก็จะต้องเอาใจใส่ไม่ให้ข้อแก้ตัวที่ถูกต้องเหล่านี้ทำให้เกิดนิสัยที่มีผลร้ายต่อศาสนกิจ ต่อชีวิตครอบครัวหรือต่อสุขภาพ

          “ความรักต่อความจริงย่อมแสวงหาการพักผ่อนที่ศักดิ์สิทธิ์ ความจำเป็นของความรักย่อมรับการทำงานที่ถูกต้อง”[108]

 2186  บรรดาคริสตชนที่มีเวลาพักผ่อนต้องระลึกถึงบรรดาพี่น้องซึ่งมีความจำเป็นและสิทธิเช่นเดียวกัน แต่ไม่อาจพักผ่อนได้เพราะความยากจนหรือความยากลำบาก ความศรัทธาแบบคริสตชนจึงมีธรรมเนียมที่จะยกถวายวันอาทิตย์เพื่อกิจกรรมที่ดีและต่ำต้อยเพื่อรับใช้คนเจ็บป่วย คนพิการและคนชรา คริสตชนยังจะทำให้วันอาทิตย์ศักดิ์สิทธิ์โดยให้เวลาและความเอาใจใส่แก่ครอบครัวของตนและเพื่อนพี่น้องที่อาจได้รับเวลาและความเอาใจใส่เช่นนี้ได้ยากในวันอื่นของสัปดาห์ วันอาทิตย์เป็นวันของการพิจารณาไตร่ตรอง ความเงียบ การพัฒนาและการคิดคำนึงที่ช่วยให้ชีวิตภายในและชีวิตคริสตชนเจริญเติบโตยิ่งขึ้น

 2187    การทำให้วันอาทิตย์และวันฉลองเป็นวันศักดิ์สิทธิ์เรียกร้องความพยายามร่วมกัน คริสตชนแต่ละคนต้องหลีกเลี่ยงเรียกร้องผู้อื่นโดยไม่จำเป็นให้ทำสิ่งที่ขัดขวางไม่ให้เขารักษาวันอาทิตย์ได้ แม้ว่าขนบธรรมเนียม (การกีฬา ร้านอาหาร ฯลฯ) และความจำเป็นของสังคม (บริการสาธารณะ ฯลฯ) เรียกร้องให้บางคนต้องทำงานในวันอาทิตย์ แต่ละคนก็ยังต้องรับผิดชอบให้มีเวลาเพียงพอสำหรับการพักผ่อน บรรดาผู้มีความเชื่อจะต้องเอาใจใส่ที่จะใช้ความรู้ประมาณและความรักหลีกเลี่ยงการทำเกินไปและการใช้ความรุนแรงที่บางครั้งการพักผ่อนของประชาชนอาจก่อให้เกิดขึ้นได้ แม้จะมีความขัดสนทางเศรษฐกิจ ผู้มีอำนาจปกครองจะต้องเอาใจใส่ให้ประชาชนมีเวลาที่กำหนดไว้สำหรับการพักผ่อนและคารวกิจต่อพระเจ้า บรรดานายจ้างก็มีหน้าที่เช่นเดียวกันต่อลูกจ้างของตน

 2188  บรรดาคริสตชน ขณะที่รักษาเสรีภาพในการนับถือศาสนาและผลประโยชน์ส่วนรวมของทุกคน ยังต้องเอาใจใส่ให้วันอาทิตย์และวันฉลองของพระศาสนจักรได้รับการรับรองเป็นวันหยุดงานตามกฎหมาย เขาต้องแสดงตัวอย่างแก่ทุกคนอย่างเปิดเผยของการอธิษฐานภาวนา การให้เกียรติแก่กัน และความยินดี อีกทั้งปกป้องธรรมประเพณีของตนว่าเป็นการส่งเสริมอย่างดีสำหรับชีวิตจิตของสังคมมนุษย์ ถ้ากฎหมายของท้องถิ่นหรือเหตุผลอื่นบังคับให้ต้องทำงานในวันอาทิตย์ ถึงกระนั้นในวันนี้ คริสตชนก็ยังต้องดำเนินชีวิตเหมือนกับในวันฉลองอิสรภาพของตนที่ทำให้ตนมีส่วน “ในการชุมนุมของบุตรคนแรกที่ได้รับการลงชื่อไว้ในสวรรค์แล้ว” (ฮบ 12:23)

 

[89] เทียบ มธ 28:1; ลก 24:1; ยน 20:1.            

[90] เทียบ มก 16:1; มธ 28:1.     

[91] Sanctus Iustinus, Apologia, 1, 67: CA 1, 188 (PG 6, 429-432).  

[92] เทียบ 1 คร 10:11.            

[93] Sanctus Ignatius Antiochenus, Epistula ad Magnesios, 9, 1: SC 10bis, 88 (Funk 1, 236-238).       

[94] Sanctus Thomas Aquinas, Summa theologiae, II-II, q. 122, a. 4, c: Ed. Leon. 9, 478.

[95] CIC canon 1246, § 1.        

[96] CIC canon 1246, § 1.        

[97] เทียบ กจ 2:42-46; 1 คร 11:17.

[98] Pseudo-Eusebius Alexandrinus, Sermo de die Dominica: PG 861, 416 et 421.      

[99] CIC canon 515, § 1.         

[100] Cf Ioannes Paulus II, Adh. ap. Christifideles laici, 26: AAS 81 (1989) 437-440.  

[101] Sanctus Ioannes Chrysostomus, De incomprehensibili Dei natura seu contra Anomoeos, 3, 6: SC 28bis, 218 (PL 48, 725).            

[102] CIC canon 1247.           

[103] CIC canon 1248, § 1.       

[104] Cf CIC canon 1245.        

[105] CIC canon 1248, § 2.      

[106] Cf Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 67: AAS 58 (1966) 1089.             

[107] Cf CIC canon 1247.        

[108] Sanctus Augustinus, De civitate Dei, 19, 19: CSEL 402, 407 (PL 41, 647).      

สรุป

สรุป

 2189   จงรักษาวันสับบาโตไว้เป็นวันศักดิ์สิทธิ์” (ฉธบ 5:12) วันที่เจ็ดเป็นวันสับบาโต (วันหยุดงาน) เป็นวันศักดิ์สิทธิ์ถวายแด่องค์พระผู้เป็นเจ้า(อพย 31:15)

 2190    วันสับบาโต ซึ่งระลึกถึงการเนรมิตสร้างโลกสำเร็จลง ถูกแทนโดยวันอาทิตย์ ซึ่งระลึกถึงการเนรมิตสร้างใหม่ที่เริ่มจากการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า

 2191    พระศาสนจักรเฉลิมฉลองการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าในวันที่แปด ซึ่งสมควรแล้วที่จะรับนามว่า “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (dies Domini – Dominica)[109]

 2192    วันขององค์พระผู้เป็นเจ้าหรือ วันอาทิตย์[…] ต้องถือว่าเป็นวันฉลองสำคัญกว่าเพื่อนในพระศาสนจักรสากล และเป็นวันฉลองบังคับ”[110]ในวันอาทิตย์และวันฉลองบังคับอื่นๆ บรรดาผู้มีความเชื่อจะต้องไปร่วมพิธีมิสซา[111]

 2193    “นอกจากนั้น ในวันอาทิตย์และวันฉลองบังคับอื่นๆ บรรดาผู้มีความเชื่อ […] ยังต้องหยุดงานและธุรกิจอื่นๆ  ที่ขัดขวางไม่ให้ถวายคารวกิจแต่พระเจ้า ขัดกับความยินดีของวันขององค์พระผู้เป็นเจ้า หรือไม่อนุญาตให้พักผ่อนร่างกายและจิตใจได้”[112]

 2194   ระเบียบการเรื่องวันอาทิตย์ช่วยให้ทุกคน “มีโอกาสพักผ่อนและมีเวลาว่างเพียงพอสำหรับชีวิตครอบครัว เพื่อประกอบกิจกรรมทางวัฒนธรรมและศาสนาได้ด้วย”[113]

 2195   คริสตชนแต่ละคนต้องหลีกเลี่ยงที่จะขอร้องโดยไม่จำเป็นให้ผู้อื่นทำงานที่อาจขัดขวางไม่ให้เขาถือกฎวันขององค์พระผู้เป็นเจ้าได้

 

[109] Cf Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 106: AAS 56 (1964) 126.            

[110] CIC canon 1246, § 1.       

[111] CIC canon 1247.            

[112] CIC canon 1247.           

[113] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 67: AAS 58 (1966) 1089.