อารัมภบท

           “ข้าแต่พระบิดา [.......] ชีวิตนิรันดรคือการรู้จักพระองค์ พระเจ้าแท้จริงแต่พระองค์เดียว และรู้จักผู้ที่พระองค์ทรงส่งมา คือพระเยซูคริสตเจ้า” (ยน 17:3) พระเจ้า พระผู้ทรงช่วยให้รอดพ้นของเรา “ทรงมีพระประสงค์ให้ทุกคนได้รับความรอดพ้นและรู้ความจริงที่สมบูรณ์” (1 ทธ 2:3-4) “ไม่มีผู้ใดช่วยให้เรารอดพ้น และใต้ฟ้านี้พระเจ้ามิได้ประทานนามอื่นแก่มนุษย์ นอกจากนาม ‘เยซู’ นี้ ที่ช่วยเราให้รอดพ้นได้” (กจ 4:12)

I. ชีวิตของมนุษย์ คือการรู้จักพระเจ้าและรักพระองค์

I. ชีวิตของมนุษย์ คือการรู้จักพระเจ้าและรักพระองค์

 1         พระเจ้าผู้ทรงความสมบูรณ์และความสุขอย่างไม่มีขอบเขต ได้ทรงเนรมิตสร้างมนุษย์ขึ้นมาโดยอิสระจากพระทัยดีของพระองค์ เพื่อให้มนุษย์ได้มีส่วนร่วมชีวิตและความสุขของพระองค์ ดังนั้นพระองค์จึงทรงอยู่ใกล้ชิดกับมนุษย์ทุกแห่งและทุกเมื่อ พระเจ้าทรงเรียกมนุษย์และทรงช่วยเขาให้แสวงหาพระองค์ รู้จักพระองค์ และรักพระองค์โดยสิ้นสุดกำลัง พระองค์ทรงเรียกมนุษย์ทุกคนที่บาปทำให้กระจัดกระจายไป ได้กลับมารวมกันเป็นหนึ่งเดียวในครอบครัวของพระองค์ คือพระศาสนจักร เพื่อให้ภารกิจนี้สำเร็จ พระองค์ทรงส่งพระบุตรมาเป็นพระผู้ไถ่กู้และช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นเมื่อถึงเวลากำหนด ในองค์พระบุตรและผ่านทางองค์พระบุตรนี้ พระเจ้าทรงเรียกมนุษย์ทั้งหลายให้กลับมาเป็นบุตรบุญธรรมของพระองค์ในพระจิตเจ้าและดังนี้จึงเป็นผู้รับชีวิตแห่งความสุขของพระองค์เป็นมรดกด้วย

 2         เพื่อให้มนุษย์ทั่วโลกได้ยินการเรียกนี้ของพระเจ้า พระคริสตเจ้าจึงทรงส่งบรรดาอัครสาวกที่ทรงเลือกสรรไว้ออกไปและทรงบัญชาเขาให้ไปประกาศข่าวดีว่าดังนี้ “ท่านทั้งหลายจงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา ทำพิธีล้างบาปให้เขาเดชะพระนามพระบิดา พระบุตร และพระจิต จงสอนเขาให้ปฏิบัติตามคำสั่งทุกข้อที่เราให้แก่ท่าน แล้วจงรู้เถิดว่าเราอยู่กับท่านทุกวันตลอดไปตราบจนสิ้นพิภพ” (มธ 28:19-20) จากภารกิจที่ได้รับมอบหมายนี้ บรรดาอัครสาวกจึง “แยกย้ายกันออกไปเทศนาสั่งสอนทั่วทุกแห่งหน องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงทำงานร่วมกับเขา และทรงรับรองคำสั่งสอนโดยอัศจรรย์ที่ติดตามมา” (มก 16:20)

 3         ทุกคนที่รับการเรียกของพระคริสตเจ้าโดยที่พระเจ้าทรงช่วยเหลือ และตอบสนองโดยอิสระเช่นนี้ยังได้รับแรงผลักดันจากความรักต่อพระคริสตเจ้าให้ไปประกาศข่าวดีทั่วทุกแห่งในโลก เขาทั้งหลายได้รักษาสมบัติล้ำค่าที่ได้รับมาจากบรรดาอัครสาวกนี้ไว้อย่างซื่อสัตย์ ทุกคนที่มีความเชื่อในพระคริสตเจ้าได้รับเรียกมาให้ถ่ายทอดสมบัติล้ำค่านี้ต่อไป เพื่อประกาศความเชื่อ ดำเนินชีวิตร่วมกันฉันพี่น้องและร่วมเฉลิมฉลองโดยพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์และการอธิษฐานภาวนา[6]

[6] เทียบ กจ 2:42.

II. การถ่ายทอดความเชื่อ – การสอนคำสอน

II.   การถ่ายทอดความเชื่อการสอนคำสอน

 4         ต่อมาไม่นาน ความพยายามทั้งหมดในพระศาสนจักรที่จะรวบรวมบรรดาศิษย์เพื่อช่วยให้มนุษย์มีความเชื่อว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า และเมื่อเชื่อแล้วจะได้รับชีวิตในพระนามของพระองค์ อีกทั้งเพื่ออบรมสั่งสอนเขาในชีวิตนี้ และดังนี้จะได้เสริมสร้างพระกาย(ทิพย์)ของพระคริสตเจ้า จึงได้รับนามว่า การสอนคำสอน (catechesis)[7]

 5         “โดยทั่วไปแล้วอาจกล่าวได้ว่าการสอนคำสอนก็คือ การอบรมสั่งสอนในความเชื่อ ที่เรามอบให้แก่เด็กๆ เยาวชน และผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอาศัยการจัดสอนความรู้คริสตศาสนาที่ส่วนใหญ่จัดขึ้นด้วยวิธีการต่อเนื่องและมีเหตุผล โดยมุ่งให้ผู้มีความเชื่อเข้ามาดำเนินชีวิตคริสตชนได้โดยสมบูรณ์”[8]

 6         แม้การสอนคำสอนจะไม่ใช่กิจกรรมทั้งหมด แต่ก็เกี่ยวข้องกับภารกิจงานอภิบาลอื่นๆ อีกหลายประการของพระศาสนจักร กิจกรรมเหล่านี้มีลักษณะบางประการของการสอนคำสอน เตรียมการสอนคำสอนหรือเป็นผลตามมาจากการสอนคำสอน กิจกรรมเหล่านี้ได้แก่ การเริ่มประกาศข่าวดีหรือการเทศน์สอนแพร่ธรรมเพื่อปลุกให้ผู้ฟังมีความเชื่อ การพิจารณาด้วยเหตุผลเพื่อให้มีความเชื่อ การมีประสบการณ์ชีวิตคริสตชน การประกอบพิธีกรรม ศีลศักดิ์สิทธิ์ การเข้าร่วมกลุ่มคริสตชน การเป็นพยานแบบอัครสาวกและผู้แพร่ธรรม[9]

 7         “เห็นได้ชัดว่าการสอนคำสอนมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับชีวิตทั้งหมดของพระศาสนจักร การขยายตัวของพระศาสนจักรในสถานที่ต่างๆ การเพิ่มจำนวนสมาชิก รวมทั้งความคิดเห็นสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระเจ้า ล้วนขึ้นอยู่กับการสอนคำสอนนี้เอง”[10]

 8         ช่วงเวลาการปรับปรุงของพระศาสนจักรก็เป็นช่วงเวลาของการสอนคำสอนที่เข้มข้นเป็นพิเศษด้วย ดังนั้นในช่วงเวลาสำคัญของบรรดาปิตาจารย์เราจึงพบว่าบรรดาพระสังฆราชผู้ศักดิ์สิทธิ์ได้สละช่วงเวลาส่วนสำคัญในการทำงานให้แก่การสอนคำสอน ตัวอย่างเช่นนักบุญซีริลแห่งกรุงเยรูซาเล็ม นักบุญยอห์นครีโซสตม นักบุญอัมโบรส นักบุญออกัสติน และบรรดาปิตาจารย์อีกหลายท่านที่ผลงานการสอนคำสอนของท่านยังคงเป็นแบบอย่างต่อมาจนถึงทุกวันนี้

 9         ศาสนบริการเรื่องคำสอนมักได้รับพลังใหม่อยู่เสมอในสภาสังคายนาต่างๆ ในเรื่องนี้สภาสังคายนาที่เมืองเตร็นท์น่ายกมาเป็นตัวอย่างในการให้ความสำคัญระดับต้นๆ แก่การสอนคำสอนในธรรมนูญและกฤษฎีกาต่างๆ ของสภาสังคายนา หนังสือคำสอนโรมัน (Catechismus Romanus) ถือกำเนิดขึ้น ได้รับนามมาจากสภาสังคายนาครั้งนี้เอง และนับเป็นผลงานที่สรุปคำสอนของคริสตศาสนาอย่างเด่นชัดที่สุด สภาสังคายนาครั้งนั้นได้ปลุกให้มีการจัดสอนคำสอนอย่างเป็นระบบที่น่าจดจำไว้ และยังปลุกให้มีการจัดพิมพ์หนังสือคำสอนหลายเล่ม ซึ่งเป็นผลงานของพระสังฆราชและนักเทววิทยาผู้ศักดิ์สิทธิ์หลายท่าน เช่น นักบุญเปโตรคานีซีอัส นักบุญชาร์ลส์โบโรเมโอ นักบุญทูรีบีอุสแห่งโมโกรเวโฮ และนักบุญโรเบิร์ตแบลลามีโน เป็นต้น

 10        จึงไม่น่าแปลกใจที่พระศาสนจักรได้รับแรงบันดาลใจจากสภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ให้มีความสนใจอีกครั้งหนึ่งเรื่องการสอนคำสอน (สมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 ก็ทรงคิดว่าสภาสังคายนาครั้งนี้นับได้ว่าเป็นหนังสือคำสอนเล่มใหญ่ของสมัยปัจจุบันนี้ด้วย) คำแนะนำทั่วไปเรื่องการสอนคำสอน (Directorium generale catecheticum) ที่ได้จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อปี 1971 สมัชชาของบรรดาพระสังฆราชเรื่องการประกาศข่าวดี (1974) และการสอนคำสอน (1977) พระดำรัสเตือน Evangelii nuntiandi (1975) และ Catechesi tradendae (1979) ซึ่งตอบสนองสมัชชาเหล่านี้เป็นพยานยืนยันความจริงเรื่องนี้ สมัชชาพิเศษของบรรดาพระสังฆราชเมื่อปี 1985 ได้ขอร้อง “ให้เขียนหนังสือคำสอนหรือข้อสรุปคำสอนคาทอลิก ที่กล่าวถึงทั้งเรื่องความเชื่อและจริยธรรม หนังสือนี้โดยทั่วไปแล้วเป็นที่ปรารถนาอย่างยิ่ง”[11] สมเด็จพระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 ทรงเห็นด้วยกับความปรารถนานี้ของสมัชชาพระสังฆราช โดยตรัสดังนี้ว่า “ความปรารถนานี้ตอบสนองโดยตรงต่อความต้องการของพระศาสนจักรสากลและบรรดาพระศาสนจักรท้องถิ่นต่างๆ”[12] พระองค์จึงทรงเอาพระทัยใส่อย่างจริงจังให้ความปรารถนานี้ของบรรดาพระสังฆราชแห่งสมัชชาได้ถูกนำมาปฏิบัติ

[7] Cf. Ioannes Paulus II, Adh.ap. Catechesi tradendae, I: AAS 71(1979) 1277-1278.

[8] Ioannes Paulus II, Adh.ap. Catechesi tradendae, 18 : AAS 71(1979) 1292.

[9] Cf. Ioannes Paulus II, Adh.ap. Catechesi tradendae 18 : AAS 71(1979) 1292.

[10] Ioannes Paulus II, Adh.ap. Catechesi tradendae 13 : AAS 71(1979) 1288.

[11] Synodus Episcoporum, Coetus extraordinarium, Ecclesia sub Verbo Dei mysteria Christi celebrans pro salute mundi. Relatio finalis II, B, a, 4
(E Civitate Vaticana 1985) p.11.

[12] Ioannes Paulus II, Allocutio Synodo extraordinaria exeunte ad Patres congregatos habita  (7 Decembris 1985), 6 : AAS 78 (1986) 435.

III. จุดประสงค์ของหนังสือคำสอนฉบับนี้และผู้ที่หนังสือนี้มุ่งถึง

III.  จุดประสงค์ของหนังสือคำสอนฉบับนี้และผู้ที่หนังสือนี้มุ่งถึง

 11        หนังสือคำสอนฉบับนี้ต้องการเสนอเนื้อหาสำคัญที่เป็นพื้นฐานของคำสอนคาทอลิกเรื่องความเชื่อและจริยธรรมอย่างเป็นระบบและสมบูรณ์โดยคำนึงถึงคำสอนของสภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 และธรรมประเพณีทั้งหมดของพระศาสนจักร แหล่งข้อมูลสำคัญของหนังสือคำสอนฉบับนี้ก็คือ พระคัมภีร์ บรรดาปิตาจารย์ พิธีกรรมและคำสั่งสอนที่พระศาสนจักรรักษาไว้ตลอดมา หนังสือฉบับนี้มุ่งที่จะเป็น “เอกสารอ้างอิงสำหรับหนังสือคำสอนหรือคู่มือที่จะแต่งขึ้นในประเทศต่างๆทั่วโลก”[13]

 12        หนังสือคำสอนฉบับนี้มีเจตนาเป็นพิเศษสำหรับผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงเรื่องการสอนคำสอนก่อนอื่นใดทั้งหมดเพื่อบรรดาพระสังฆราชในฐานะผู้สั่งสอนความเชื่อและผู้อภิบาลพระศาสนจักร เรามอบหนังสือนี้แก่ท่านเหล่านี้ให้เป็นเครื่องมือเพื่อปฏิบัติหน้าที่สั่งสอนประชากรของพระเจ้า เรามอบหนังสือคำสอนนี้ผ่านทางบรรดาพระสังฆราชให้แก่ผู้ที่เรียบเรียงหนังสือคำสอนให้แก่บรรดาพระสงฆ์และครูคำสอน การอ่านหนังสือคำสอนฉบับนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับบรรดาคริสตชนอื่นผู้มีความเชื่อด้วย

[13] Synodus Episcoporum, Coetus extraordinarius, Ecclesia sub Verbo Dei mysteria Christi celebrans pro salute mundi.
Relatio finalis
II, B, a, 4 (E Civitate Vaticana 1985) p.11.

IV. โครงสร้างของหนังสือคำสอนฉบับนี้

IV.   โครงสร้างของหนังสือคำสอนฉบับนี้

 13.       การจัดเนื้อหาของหนังสือคำสอนฉบับนี้ดำเนินตามธรรมเนียมที่เคยปฏิบัตสืบต่อกันมา คือจัดเนื้อหาคำสอนไว้บน “ฐานหลัก” สี่ฐาน ได้แก่ การประกาศยืนยันความเชื่อเมื่อรับศีลล้างบาป (บทข้าพเจ้าเชื่อหรือ fidei Symbolum) ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งความเชื่อ การดำเนินชีวิตตาม  ความเชื่อ (หรือพระบัญญัติ”) และบทอธิษฐานภาวนาของผู้มีความเชื่อ (บทข้าแต่พระบิดา”)

 

ภาคที่หนึ่งการประกาศยืนยันความเชื่อ

 14        ผู้ที่มีความเชื่อและรับศีลล้างบาปเป็น(ศิษย์)ของพระคริสตเจ้าต้องประกาศยืนยันความเชื่อของศีลล้างบาป[14] เพราะเหตุนี้ ก่อนอื่นหมด หนังสือคำสอนจึงกล่าวถึงการเปิดเผยที่พระเจ้าเสด็จมาพบและประทานพระองค์แก่มนุษย์ และกล่าวถึงความเชื่อที่มนุษย์ตอบสนองต่อพระเจ้า          (ตอนที่หนึ่ง)  บท “ข้าพเจ้าเชื่อ” สรุปข้อความเชื่อที่พระเจ้าในฐานะบ่อเกิดความดีทั้งปวง ในฐานะพระผู้กอบกู้  และในฐานะพระผู้ประทานความศักดิ์สิทธิ์ ประทานแก่มนุษย์ และจัดเรียบเรียงเนื้อหาเรื่องความเชื่อศีลล้างบาปของเราออกเป็น “สามบท” คือ ความเชื่อในพระเจ้าหนึ่งเดียว พระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพและพระผู้สร้าง – ความเชื่อในพระบุตร องค์พระผู้เป็นเจ้าและพระผู้ไถ่กู้ของเรา – และความเชื่อในพระจิตเจ้าผู้ประทานความศักดิ์สิทธิ์ในพระศาสนจักร (ตอนที่สอง)

 

ภาคที่สองศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งความเชื่อ

 15        ภาคที่สองของหนังสือคำสอนอธิบายว่าความรอดพ้นที่พระเจ้าประทานให้ครั้งเดียวสำหรับตลอดไปโดยพระคริสตเจ้าและพระจิตเจ้านี้แสดงออกเป็นปัจจุบันในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักร (ตอนที่หนึ่งโดยเฉพาะในศีลศักดิ์สิทธิ์ทั้งเจ็ดประการ (ตอนที่สอง)

 

ภาคที่สามการดำเนินชีวิตตามความเชื่อ

 16        ภาคที่สามของหนังสือคำสอนกล่าวถึงจุดหมายสุดท้ายของมนุษย์ที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้นมาตามภาพลักษณ์ของพระองค์ กล่าวถึงความสุขและวิถีทางเพื่อจะไปถึงความสุขนั้น – ซึ่งได้แก่การปฏิบัติตนอย่างอิสระเสรีโดยมีกฎเกณฑ์และพระหรรษทานที่พระเจ้าประทานให้คอยช่วยเหลือ (ตอนที่หนึ่ง) และการดำเนินชีวิตที่แสดงให้พระบัญญัติของพระเจ้าในเรื่องความรักต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์ ซึ่งพระบัญญัติสิบประการของพระเจ้าอธิบายไว้ปรากฏออกมาภายนอก (ตอนที่สอง)

 

ภาคที่สี่การอธิษฐานภาวนาในชีวิตที่สะท้อนความเชื่อ

 17        ภาคสุดท้ายของหนังสือคำสอนกล่าวถึงความหมายและความสำคัญของการอธิษฐานภาวนาในชีวิตของผู้มีความเชื่อ (ตอนที่หนึ่ง) การอธิษฐานภาวนานี้ทั้งหมดรวมอยู่ในการอธิบายคำขอสั้นๆ เจ็ดข้อของบท “ข้าแต่พระบิดา” (ตอนที่สอง) เราพบว่าคำขอเหล่านี้รวมทุกสิ่งที่ดีๆ ซึ่งเราต้องหวังจะได้รับ และพระบิดาเจ้าสวรรค์ของเราก็ทรงปรารถนาจะประทานให้เราด้วย

[14] เทียบ มธ 10:32; รม 10:9.

V. คำแนะนำทางปฏิบัติในการใช้หนังสือคำสอนฉบับนี้

V.    คำแนะนำทางปฏิบัติในการใช้หนังสือคำสอนฉบับนี้

 18        หนังสือคำสอนฉบับนี้เรียบเรียงขึ้นมาเพื่อเสนอความเชื่อคาทอลิกทั้งหมดอย่างเป็นระบบ  ดังนั้นจึงต้องอ่านให้เป็นผลงานที่มีเอกภาพ จากการที่บางครั้งที่ขอบหน้าหนังสือมีการอ้างอิงเชิญให้ผู้อ่านไปดูข้อความที่อื่นด้วย (โดยมีเลขพิมพ์ตัวเล็กกว่าที่บอกว่าข้อใดกล่าวถึงเรื่องเดียวกัน) และดรรชนีแยกแยะเนื้อหาสาระตอนปลายของหนังสือล้วนช่วยให้ผู้อ่านอาจตรวจดูได้ว่าเนื้อหาแต่ละเรื่องมีความสัมพันธ์อย่างไรกับความเชื่อ ข้อความเชื่อส่วนรวมทั้งหมด

 19        บ่อยครั้งข้อความของพระคัมภีร์ไม่ถูกยกมาอ้างอิงตรงตามตัวอักษร มีเพียงแต่การกล่าวอ้างถึงเท่านั้น (โดยใช้คำว่า “เทียบ” หรือ “cf”) เพื่อจะเข้าใจข้อความเหล่านี้ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นจึงจำเป็นต้องอ่านตัวบทจริง การอ้างอิงถึงพระคัมภีร์เช่นนี้เป็นวิธีการที่มีความสำคัญสำหรับการสอนคำสอน

 20        การใช้อักษรตัวเล็กในข้อความบางตอนบอกให้รู้ว่าข้อความดังกล่าวเป็นข้อสังเกตเกี่ยวกับประวัติศาสตร์หรืออธิบายความเชื่อ หรือเป็นการอธิบายความรู้เพิ่มเติม

 21        การยกข้อความอ้างอิงโดยใช้อักษรตัวเล็กจากข้อเขียนของบรรดาปิตาจารย์ จากพิธีกรรม จากคำสอนทางการของพระศาสนจักร และจากประวัติของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ มีไว้เพื่ออธิบายคำสั่งสอนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ตัวบทเหล่านี้บ่อยๆ เลือกมาเพื่อใช้สอนคำสอนโดยตรง

 22        ตอนปลายของแต่ละเรื่องจะมีข้อความสั้นๆ เป็นตัวเอนสรุปเนื้อหาสาระสำคัญของคำสอน “ข้อสรุปสั้นๆ”     เหล่านี้มีเจตนาเสนอแนะสูตรสั้นๆ ให้ผู้เรียนคำสอนในที่ต่างๆได้ท่องจำ

VI. การปรับตัวที่จำเป็น

VI.   การปรับตัวที่จำเป็น

 23        หนังสือคำสอนฉบับนี้เน้นการเสนอคำสอนเป็นระบบ มีเจตนาช่วยให้เข้าใจความเชื่อได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ด้วยวิธีนี้จึงมีเจตนาช่วยนำความเชื่อให้บรรลุวุฒิภาวะ ให้หยั่งรากลึกยิ่งขึ้นในชีวิต และแสดงออกโดยการเป็นพยานด้วยการดำเนินชีวิตส่วนตัว[15]

 24        จากเจตนาดังกล่าว หนังสือคำสอนฉบับนี้ไม่ต้องการเสนอแนะการจัดระเบียบและการปรับปรุงวิธีการสอนคำสอนให้เข้ากับวัฒนธรรม อายุ วุฒิภาวะทางจิตใจ สภาวะทางสังคมและศาสนาที่แตกต่างกันของผู้ใช้หนังสือคำสอน การปรับตัวที่จำเป็นเหล่านี้เป็นหน้าที่ของหนังสือคำสอนเฉพาะถิ่น และยิ่งกว่านั้นยังเป็นหน้าที่ของผู้ที่สั่งสอนผู้มีความเชื่อ

              “ผู้ปฏิบัติหน้าที่สั่งสอนต้องทำตนให้เป็น “ทุกอย่างสำหรับทุกคน” (1 คร 9:22) เพื่อนำทุกคนมาถวายแด่พระคริสตเจ้า […..] เขาต้องไม่คิดว่าตนได้รับมอบหมายให้ดูแลผู้มีความเชื่อเพียงกลุ่มเดียว เพื่อใช้สูตรและวิธีการที่กำหนดไว้เพียงแบบเดียวสอนให้ผู้มีความเชื่อทุกคนมีความเลื่อมใสศรัทธาแท้จริงเท่าเทียมกับ แต่เนื่องจากว่า(ผู้มีความเชื่อ)บางคนเป็นเหมือนเด็กทารกที่เพิ่งเกิด บางคนเริ่มเป็นผู้ใหญ่ในพระคริสตเจ้า บางคนเป็นผู้ใหญ่ที่มั่นคงแล้ว (ผู้มีหน้าที่สั่งสอน)จึงจำเป็นต้องพิจารณาให้ดีว่าผู้ใดต้องการน้ำนม ผู้ใดต้องการอาหารแข็ง [....] ท่านอัครสาวกได้ให้ข้อสังเกตเช่นนี้ […] คือให้ผู้ที่ได้รับเรียกให้ปฏิบัติพันธกิจนี้เข้าใจว่า ในการสั่งสอนธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่อและบทบัญญัติแห่งชีวิต      เขาจำเป็นต้องปรับตนให้เข้ากับความรู้สึกและความเข้าใจของผู้ฟัง”[16]

 

ความรักต้องอยู่เหนือทุกสิ่ง

 25        เพื่อสรุปอารัมภบทนี้เป็นการเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะระลึกถึงกฎนี้เกี่ยวกับงานอภิบาลที่หนังสือ Catechismus Romanus หรือหนังสือคำสอนโรมันกล่าวไว้ว่า

               “นี่เป็นหนทางที่ดีกว่า ซึ่ง [….] ท่านอัครสาวกบอกเราเมื่อท่านชี้นำเหตุผลทั้งหมดของคำสอนและการทำงานของท่านไปหาความรักซึ่งไม่มีสิ้นสุด ไม่ว่าเราจะตั้งใจเชื่อ หวัง หรือทำอะไร เราต้องเข้าให้ถึงความรักต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าของเราเสมอ เพื่อใครไม่ว่าที่มองเห็นผลงานจากคุณธรรมที่สมบูรณ์ทุกอย่างของคริสตชน ต้องไม่คิดว่าทุกสิ่งเหล่านี้เกิดมาจากอะไรอื่น หรือมีจุดมุ่งหมายอะไรอื่น นอกจากความรัก”[17]

[15] Cf. Ioannes Paulus II, Adh.ap. Catechesi tradendae, 20-22 : AAS 71 (1979) 1293-1296, Ibide., 25 ; AAS 71 (1979) 1297-1298.
* ในการแปลครั้งนี้ เราไม่ได้ทำดรรชนีแยกแยะนี้ไว้ ผู้ที่สนใจต้องไปค้นคว้าที่ต้นฉบับภาษาลาตินหรืออังกฤษเอาเอง

[16] Catechismus Romanus seu Catechismus ex decreto Concilii Tridentini ad parochos, Pii V Pontificis Maximi iussu editus,  Praefatio, II: ed. P. Rodriguez (Città del Vaticano-Pamplona 1989) p. 11.

[17] Catechismus Romanus, Praefatio 10 ; ed. P. Rodriguez (Città del Vaticano-Pamplona 1989) p. 10.