บทที่สาม

ข้าพเจ้าเชื่อในพระจิตเจ้า

 683     “หากพระจิตเจ้ามิได้ทรงดลใจก็ไม่มีผู้ใดพูดได้ว่า ‘พระเยซูคือองค์พระผู้เป็นเจ้า’” (1 คร 12:3) “พระเจ้าทรงส่งพระจิตของพระบุตรลงมาในดวงใจของเรา พระจิตผู้ตรัสด้วยเสียงดังว่า ‘อับบา พระบิดาเจ้าข้า’” (กท 4:6) ความรู้จากความเชื่อเรื่องนี้เป็นไปได้ในพระจิตเจ้าเท่านั้น ผู้ใดจะมีความสัมพันธ์กับพระคริสตเจ้าได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่เขาจะต้องสัมผัสกับพระจิตเจ้า พระองค์ทรงนำหน้าเราและทรงปลุกความเชื่อในตัวเรา อาศัยศีลล้างบาปศีลศักดิ์สิทธิ์ประการแรกของความเชื่อ พระจิตเจ้าเองประทานชีวิตซึ่งมีกำเนิดมาจากพระบิดาและทรงมอบให้เราในพระบุตร ทำให้เราชิดสนิทกับพระองค์ในพระศาสนจักร

               ศีลล้างบาป “ประทานพระหรรษทานทำให้เราเกิดใหม่ในพระเจ้าพระบิดา อาศัยพระบุตร ในพระจิตเจ้า เพราะผู้ที่มีพระจิตเจ้าย่อมถูกนำมาพบพระวจนาตถ์ นั่นคือพระบุตร แต่พระบุตรทรงนำเขามาถวายแด่พระบิดา และพระบิดาประทานความไม่เสื่อมสลายแก่เขา ดังนั้น ถ้าไม่มีพระจิตเจ้า เราจึงจะไม่อาจแลเห็นพระบุตรของพระเจ้าได้ และถ้าไม่มีพระบุตรก็ไม่มีผู้ใดอาจเข้าถึงพระบิดาได้ เพราะพระบุตรคือการรู้จักพระบิดา และการรู้จักพระบุตรก็มีได้อาศัยพระจิตเจ้า”[1]

 684    พระจิตเจ้าทรงเป็นพระองค์แรกที่ประทานพระหรรษทานเพื่อปลุกความเชื่อของเราและประทานชีวิตใหม่ซึ่งก็คือการรู้จักพระบิดาแต่พระองค์เดียวและผู้ที่พระบิดาทรงส่งมา คือพระเยซูคริสตเจ้า[2]ถึงกระนั้น พระจิตเจ้าทรงเป็นพระบุคคลสุดท้ายของพระตรีเอกภาพที่ทรงได้รับการเปิดเผย นักบุญเกรโกรีแห่งนาซีอันเซน ผู้มีสมญาว่า “นักเทววิทยา” อธิบายว่าการเปิดเผยตามลำดับเช่นนี้เป็นวิธีการสอนของที่พระเจ้าทรง “ปรับให้เข้ากับสภาพของเรามนุษย์”

             “พันธสัญญาเดิมประกาศสอนเรื่องบิดาอย่างเปิดเผย สอนเรื่องพระบุตรอย่างไม่ชัดเจนนัก พันธสัญญาใหม่แสดงพระบุตรให้เรารู้จักอย่างชัดเจน และชี้ให้เรารู้จักพระเทวภาพของพระจิตเจ้าอย่างไม่สู้จะชัดเจนนัก แต่บัดนี้พระจิตเจ้าเองเสด็จมาประทับอยู่กับเราและทรงเปิดเผยพระองค์แก่เราอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะไม่เป็นการรอบคอบที่จะประกาศเรื่องพระบุตรอย่างเปิดเผยขณะที่ยังไม่ได้ประกาศยืนยันพระเทวภาพของพระบิดา และถ้ายังไม่มีการยอมรับพระเทวภาพของพระบุตร การกล่าวเพิ่มเติมถึงพระจิตเจ้าก็จะเป็นเหมือนกับจะพูดว่าเป็นการเพิ่มภาระหนักกว่าให้เราแบก […] แต่การค่อยๆเข้าถึงและก้าวสูงขึ้นไปทีละน้อย ค่อยๆ ก้าวและเพิ่ม “ความชัดเจนให้มากยิ่งๆ ขึ้น” จะช่วยให้ความรู้เรื่องพระตรีเอกภาพได้ส่องแสงสว่างเจิดจ้าจริงๆ”[3]

 685     การเชื่อในพระจิตเจ้าจึงเป็นการประกาศว่าพระจิตเจ้าเป็นพระบุคคลหนึ่งของพระตรีเอกภาพ ร่วมพระธรรมชาติเดียวกับพระบิดาและพระบุตร “ทรงรับการถวายสักการะและพระสิริรุ่งโรจน์ร่วมกับพระบิดาและพระบุตร”[4]เพราะเหตุนี้ คำถามเกี่ยวกับพระธรรมล้ำลึกเรื่องพระจิตเจ้าจึงจัดอยู่ใน “เทววิทยาเรื่องพระตรีเอกภาพ” ดังนั้น ที่ตรงนี้เราจะกล่าวถึงพระจิตเจ้าเพียงแต่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ “แผนการณ์ของพระเจ้าเกี่ยวกับความรอดพ้น”

 686     พระจิตเจ้าทรงร่วมงานกับพระบิดาและพระบุตรตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงจุดจบของแผนการณ์ที่จะทรงช่วยมนุษยชาติให้รอดพ้น แต่ทรงได้รับการเปิดเผยและประทานแก่เรา ทรงเป็นที่รู้จักและยอมรับเป็นพระบุคคลหนึ่งเพียง “ในวาระสุดท้าย” ที่เริ่มตั้งแต่เมื่อพระบุตรทรงรับสภาพมนุษย์เพื่อไถ่กู้โลกเท่านั้น แผนการนี้ของพระเจ้า ที่สำเร็จไปในองค์พระคริสตเจ้าผู้เป็น “บุตรคนแรก” และเป็นศีรษะของการเนรมิตสร้างใหม่ จึงเป็นตัวตนขึ้นได้ในมนุษยชาติอาศัยการประทานพระจิตเจ้า การเนรมิตสร้างใหม่นี้ได้แก่พระศาสนจักร ความเป็นหนึ่งเดียวกันของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ การอภัยบาป การกลับคืนชีพของร่างกาย และชีวิตนิรันดร

 

ตอนที่ 8

ข้าพเจ้าเชื่อในพระจิตเจ้า

 

 687     “ไม่มีผู้ใดล่วงรู้ถึงความคิดของพระเจ้า นอกจากพระจิตของพระเจ้า” (1 คร 2:11) บัดนี้พระจิตผู้ทรงเปิดเผยพระเจ้า ทรงเปิดเผยให้เรารู้จักพระคริสตเจ้า พระวจนาตถ์ทรงชีวิตของพระองค์ แต่มิได้ทรงสำแดงพระองค์เอง “พระองค์ตรัสทางประกาศก”[5] ทรงบันดาลให้เราได้ยินพระวจนาตถ์ (หรือ “พระวาจา”) ของพระบิดา แต่เราไม่ได้ยินองค์พระจิตเจ้า เรารู้จักพระองค์เพียงในความเคลื่อนไหวที่ทรงใช้เพื่อเปิดเผยพระวจนาตถ์แก่เรา และเตรียมเราไว้เพื่อรับพระวจนาตถ์ด้วยความเชื่อ พระจิตแห่งความจริงผู้ “ทรงเปิดเผย” พระคริสตเจ้าแก่เรา  ไม่ตรัสโดยพระองค์เอง[6]การที่ทรงปิดบังพระเทวภาพของพระองค์เช่นนี้อธิบายให้เข้าใจว่าทำไม “โลกจึงรับพระองค์ไว้ไม่ได้ เพราะไม่เห็นพระองค์และไม่รู้จักพระองค์” แต่ผู้ที่เชื่อในพระคริสตเจ้านั้นรู้จักพระองค์ เพราะพระองค์ทรงดำรงอยู่กับเขา (ยน 14:17)

 688      พระศาสนจักร ชุมชนที่มีชีวิตในความเชื่อของบรรดาอัครสาวกที่พระศาสนจักรได้รับสืบทอดต่อกันมา เป็นสถานที่ที่เรารู้จักพระจิตเจ้าได้

- ในพระคัมภีร์ที่พระองค์ทรงดลใจให้เขียนไว้

- ในธรรมประเพณีที่บรรดาปิตาจารย์เป็นพยานปัจจุบันอยู่เสมอ

- ในอำนาจสอนของพระศาสนจักรที่พระองค์ทรงคอยช่วยเหลือค้ำจุนอยู่เสมอ

- ในพิธีกรรมศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ อาศัยถ้อยคำและสัญลักษณ์ที่พระจิตเจ้าทรงใช้เพื่อช่วยให้เรามีความสัมพันธ์กับพระคริสตเจ้า

- ในการอธิษฐานภาวนา ที่พระจิตเจ้าประทับอยู่เพื่อวอนขอเพื่อพวกเรา

- ในพรพิเศษและศาสนบริการต่างๆ ที่ช่วยเสริมสร้างพระศาสนจักร

- ในเครื่องหมายของชีวิตงานแพร่ธรรมประกาศข่าวดีเช่นเดียวกับบรรดาอัครสาวก

- ในการเป็นพยานของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่พระองค์ทรงใช้เพื่อแสดงความศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์และเพื่อต่องานนำความรอดพ้นแก่มนุษย์

 

[1] Sanctus Irenaeus Lugdunensis, Demonstratio praedicationis apostolicae, 7: SC 62, 41-42.

[2] เทียบ ยน 17:3.

[3] Sanctus Gregorius Nazianzensus, Oratio 31 (Theologica 5), 26: SC 250, 326 (PG 36, 161-164).

[4] Symbolum Nicaenum-Constantinopolitanum: DS 150.

[5] Symbolum Nicaenum-Constantinopolitanum: DS 150.

[6] เทียบ ยน 16:13.              

I. พันธกิจต่อเนื่องกันของพระบุตรและพระจิตเจ้า

I. พันธกิจต่อเนื่องกันของพระบุตรและพระจิตเจ้า

 689     ผู้ที่พระบิดาทรงส่งมาในใจของเรา คือพระจิตของพระบุตรของพระองค์[7] ทรงเป็นพระเจ้าโดยแท้จริง พระองค์ทรงร่วมพระธรรมชาติเดียวกันกับพระบิดาและพระบุตร และไม่อาจแยกจากทั้งสองพระองค์ได้ทั้งในชีวิตภายในของพระตรีเอกภาพและในการประทานความรักแก่โลก แต่ความเชื่อของพระศาสนจักรซึ่งนมัสการพระตรีเอกภาพผู้ประทานชีวิต ทรงร่วมพระธรรมชาติเดียวกันและแบ่งแยกไม่ได้ ก็ยังประกาศความแตกต่างกันของพระบุคคลทั้งสามด้วย เมื่อพระบิดาทรงส่งพระวจนาตถ์ของพระองค์ พระองค์ก็ทรงส่งพระจิตเจ้ามาด้วยเสมอ พระบุตรและพระจิตเจ้าทรงกระทำพันธกิจร่วมและแตกต่างกัน แต่ก็ทรงแยกจากกันไม่ได้ ใช่แล้วที่พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ที่ทรงสำแดงพระองค์ พระองค์ทรงเป็นภาพลักษณ์ที่แลเห็นได้ของพระเจ้าที่มนุษย์ไม่อาจแลเห็น แต่พระจิตเจ้าทรงเป็นผู้ที่เปิดเผยพระคริสตเจ้า

 690     พระเยซูทรงเป็นพระคริสตเจ้า “พระผู้ทรงรับเจิม” เพราะพระจิตเจ้าทรงเจิมพระองค์ และไม่ว่าอะไรที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ทรงรับสภาพมนุษย์ ก็ล้วนหลั่งไหลมาจากความบริบูรณ์นี้[8] ในที่สุด เมื่อพระคริสตเจ้าทรงได้รับพระสิริรุ่งโรจน์แล้ว[9] พระองค์ก็จะประทับอยู่กับพระบิดาและสามารถส่งพระจิตเจ้ามายังผู้ที่เชื่อในพระองค์ได้ด้วย พระจิตเจ้าจะทรงแบ่งปันพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์แก่เขา[10] ซึ่งหมายถึงพระจิตเจ้าผู้ประทานพระสิริรุ่งโรจน์แก่พระคริสตเจ้า[11]ตั้งแต่นี้ไป พันธกิจร่วมกัน(ของพระคริสตเจ้าและของพระจิตเจ้า)ก็จะครอบคลุมทุกคนที่พระบิดาทรงรับเป็นบุตรบุญธรรมร่วมอยู่ในพระกาย(ทิพย์)ของพระบุตร การส่งพระจิตการรับเป็นบุตรบุญธรรมจะเป็นการรวมมนุษย์กับพระคริสตเจ้าและทำให้เขามีชีวิตในพระองค์

“การเจิมหมายความว่า....เราต้องคิดว่าไม่มีช่องว่างระหว่างพระบุตรกับพระจิตเจ้า เช่นเดียวกับไม่มีช่องว่างที่เรารู้สึกหรือคิดได้คั่นกลางอยู่ระหว่างผิวหนังกับน้ำมันที่เจิม ดังนั้นผู้ที่อยากจะสัมผัสกับ
พระคริสตเจ้าด้วยความเชื่อ จึงต้องเข้าไปสัมผัสกับน้ำมันที่เจิมเสียก่อน เพราะไม่มีส่วนใดของร่างกายที่ไม่สัมผัสกับพระจิตเจ้า ดังนั้น การจะประกาศว่าพระบุตรทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าจึงเกิดขึ้นได้จากผู้ที่รับพระจิตเจ้า พระองค์เสด็จจากทุกทิศมายังทุกคนที่เข้ามาหาพระองค์”[12]

 

[7] เทียบ กท 4:6.

[8] เทียบ ยน 3:34.

[9] เทียบ ยน 7:39.

[10] เทียบ ยน 17:22.

[11] เทียบ ยน 16:14.

[12] Sanctus Gregorius Nyssenus, Adversus Macedonianos de Spiritu Sancto,16 : Gregorii Nysseni opera, ed. W. Jaeger-H. Langerbeck, v. 3/1 (Leiden 1958) p. 102-103 (PG 45, 1321).

II. พระนาม บทบาท และสัญลักษณ์ของพระจิตเจ้า

II. พระนาม บทบาท และสัญลักษณ์ของพระจิตเจ้า

พระนามเฉพาะของพระจิตเจ้า

 691      “พระจิตเจ้า” (แปลตามตัวอักษรว่า “จิตศักดิ์สิทธิ์”) เป็นพระนามเฉพาะของพระผู้ที่เรานมัสการและถวายสักการะร่วมกับพระบิดาและพระบุตร พระศาสนจักรได้รับพระนามนี้มาจากองค์พระผู้เป็นเจ้าและประกาศพระนามนี้ในพิธีศีลล้างบาปของสมาชิกซึ่งเป็นเสมือนบุตรของตนที่เกิดใหม่อาศัยศีลล้างบาป[13]

คำว่า “จิต” แปลคำภาษาฮีบรูว่า Ruah ซึ่งมีความหมายแรกว่า “ลม” “อากาศ” หรือ “ลมหายใจ” พระเยซูเจ้าทรงใช้ภาพของ “ลม” ที่เราสัมผัสได้นี้เพื่อสอนนีโคเดมัสถึงความใหม่เหนือธรรมชาติของพระองค์ผู้ทรงเป็นพระปราณของพระเจ้าโดยเฉพาะ เป็น “พระจิต” ของพระเจ้า[14] ในอีกด้านหนึ่ง ทั้ง “จิต” และ “ศักดิ์สิทธิ์” ล้วนเป็นคุณลักษณะที่ทั้งสามพระบุคคลของพระเจ้าทรงมีร่วมกัน แต่เมื่อพระคัมภีร์ พิธีกรรม และบทความทางเทววิทยารวมสองคำนี้ไว้ด้วยกัน ก็หมายความถึงพระบุคคลของพระจิตเจ้า (ตามตัวอักษร “จิตศักดิ์สิทธิ์”) โดยไม่มีโอกาสจะสับสนกับการใช้คำว่า “จิต” และ “ศักดิ์สิทธิ์” กับการใช้ในสำนวนอื่นๆ เลย


พระนามอื่นของพระจิตเจ้า

 692     เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสล่วงหน้าและทรงสัญญาถึงการเสด็จมาของพระจิตเจ้า พระองค์ทรงเรียกพระจิตเจ้าว่า “Parakletos” ซึ่งแปลตามรากศัพท์ได้ว่า “ผู้ถูกเรียกให้มาช่วย” หรือ “ผู้ถูกเรียกให้มาอยู่ใกล้ๆ” (ภาษาละตินว่า “ad-vocatus”) (ยน 14:16,26; 16:7) คำ “parakletos” นี้มักจะแปลกันว่า “ผู้บรรเทา” (หรือ “ทนายแก้ต่าง”) และพระเยซูเจ้าก็ทรงเป็น “ผู้บรรเทา” (หรือ “ทนายแก้ต่าง”) คนแรก[15] องค์พระผู้เป็นเจ้ายังทรงเรียกพระจิตเจ้าอีกว่า “พระจิตแห่งความจริง”[16]

 693      นอกจากพระนามเฉพาะของพระองค์ (“พระจิตเจ้า”) ที่ใช้เป็นประจำในหนังสือกิจการอัครสาวกและในจดหมายต่างๆ แล้ว เรายังพบว่าในจดหมายของท่านนักบุญเปาโลยังเรียกพระองค์อีกว่า “พระจิตเจ้าที่พระเจ้าทรงสัญญาจะประทานให้” (อฟ 1:13; กท 3:14)  “จิตการเป็นบุตรบุญธรรม” (รม 8:15; กท 4:6) “พระจิตของพระคริสตเจ้า” (รม 8:9) “พระจิตขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (2 คร 3:17) “พระจิตของพระเจ้า” (รม 8:9,14; 15:19; 1 คร 6:11; 7:40) และนักบุญเปโตรเรียกว่า “พระจิตผู้ทรงสิริรุ่งโรจน์” (1 ปต 4:14)


สัญลักษณ์ของพระจิตเจ้า

 694     “น้ำเป็นสัญลักษณ์ซึ่งหมายถึงการกระทำของพระจิตเจ้าในศีลล้างบาป เนื่องจากว่าหลังจากการเรียกขานพระจิตเจ้าแล้ว น้ำกลายเป็นเครื่องหมายศีลศักดิ์สิทธิ์ของการเกิดใหม่ การเกิดครั้งแรกของเราเกิดขึ้นในน้ำภายในครรภ์มารดาฉันใด อันที่จริงน้ำศีลล้างบาปก็หมายความว่าเราได้เกิดมารับชีวิตของพระเจ้าเดชะพระจิตเจ้าฉันนั้น แต่ “เดชะพระจิตเจ้าพระองค์เดียว เราทุกคนได้รับการล้างมารวมกัน[…] เราทุกคนต่างได้รับพระจิตเจ้าพระองค์เดียวกัน” (1 คร 12:13) พระจิตเจ้าเองจึงทรงเป็นน้ำทรงชีวิตที่เกิดจากพระคริสตเจ้าผู้ทรงถูกตรึงกางเขน[17]ประหนึ่งจากพุน้ำซึ่งไหลรินในตัวเราเพื่อชีวิตนิรันดร[18]

 695     “การเจิม”  การใช้น้ำมันเจิมยังหมายถึงพระจิตเจ้า จนกลายเป็นคำที่มีความหมายเดียวกัน[19]ด้วย ในพิธีรับคริสตชนใหม่ การเจิมเป็นเครื่องหมายของศีลกำลัง ซึ่งในพระศาสนจักรตะวันออกเรียกว่า “การเจิมน้ำมันคริสมา” แต่เพื่อจะเข้าใจความหมายทั้งหมดของการนี้ ก่อนอื่นจำเป็นต้องกลับไปยังการเจิมครั้งแรกที่พระจิตเจ้าทรงบันดาลให้ คือการเจิมของพระเยซูเจ้า พระคริสตเจ้า (“พระเมสสิยาห์” ในภาษาฮีบรู) หมายถึง “ผู้รับเจิม”ของพระจิตเจ้า ในพันธสัญญาเดิมมี “ผู้รับเจิม” อยู่หลายคน[20] กษัตริย์ดาวิดทรงเป็น “ผู้รับเจิม” พิเศษ[21] แต่พระเยซูเจ้าทรงเป็น “ผู้รับเจิม” พิเศษสุดของพระเจ้า พระธรรมชาติมนุษย์ที่พระบุตรทรงรับมานั้น “ได้รับเจิมทั้งหมดจากพระจิตเจ้า” พระเยซูเจ้าทรงได้รับแต่งตั้งจากพระจิตเจ้าเป็น “พระคริสตเจ้า”[22]  พระนางมารีย์พรหมจารีทรงปฏิสนธิพระคริสตเจ้าเดชะพระจิตเจ้าผู้ทรงใช้ทูตสวรรค์มาแจ้งข่าวเมื่อทรงประสูติว่าทรงเป็นพระคริสตเจ้า[23] และยังดลใจผู้เฒ่าสิเมโอนให้เข้ามาในพระวิหารเพื่อจะได้เห็นพระคริสต์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า[24] พระคริสตเจ้าทรงรับพระจิตเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม[25] และพระพลังของพระจิตเจ้าออกจากพระคริสตเจ้าเมื่อพระองค์ทรงรักษาโรคและประทานความรอดพ้น[26] ในที่สุด พระจิตเจ้ายังทรงปลุกพระเยซูเจ้าให้กลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย[27] บัดนี้พระเยซูเจ้าผู้ทรงได้รับแต่งตั้งเป็น “พระคริสตเจ้า” (ผู้รับเจิม)[28] โดยสมบูรณ์ในสภาพมนุษย์ที่มีชัยชนะเหนือความตาย ทรงหลั่งพระจิตเจ้าอย่างอุดมบริบูรณ์จนกระทั่งว่า “บรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์” ร่วมกับพระธรรมชาติมนุษย์ของพระบุตรพระเจ้า “เป็นผู้ใหญ่เต็มที่ตามมาตรฐานความสมบูรณ์ของพระคริสตเจ้า”  (อฟ 4:13) หรือเป็น “พระคริสตเจ้าสมบูรณ์” ตามสำนวนของนักบุญออกัสติน[29]

 696     “เพลิง” – ขณะที่น้ำหมายถึงการเกิดและความอุดมสมบูรณ์ของชีวิตที่พระเจ้าประทานแก่เราในพระจิตเจ้า เพลิงหรือไฟก็เป็นสัญลักษณ์ของพลังเปลี่ยนแปลงของพระจิตเจ้า ประกาศกเอลียาห์ซึ่ง “เป็นเหมือนไฟ วาจาของเขาเผาผลาญเหมือนคบไฟ” (บสร 48:1) ได้อธิษฐานภาวนาวอนขอไฟจากสวรรค์ลงมาเผาเครื่องบูชาบนภูเขาคาร์แมล[30] ซึ่งเป็นรูปแบบของพระจิตเจ้าที่ทรงเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งที่ทรงสัมผัส ยอห์นผู้ทำพิธีล้างซึ่ง “จะ ‘มีจิตใจ’ และพลังของประกาศกเอลียาห์มาเตรียมรับการเสด็จมาขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (ลก 1:17) แจ้งข่าวถึงพระคริสตเจ้าว่าพระองค์คือผู้ที่ “จะทำพิธีล้างด้วยพระจิตเจ้าและด้วยไฟ” (ลก 3:16) คือด้วยพระจิตเจ้าที่พระคริสตเจ้าเคยตรัสถึงว่า “เรามาเพื่อจุดไฟในโลก เราปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้โลกนี้ลุกเป็นไฟ” (ลก 12:49) เช้าวันเปนเตกอสเต พระจิตเจ้าเสด็จลงมาประทับเหนือบรรดาศิษย์ใน “เปลวไฟ” ลักษณะเหมือนลิ้น และโปรดให้เขาได้รับพระองค์เต็มเปี่ยม[31] ธรรมประเพณีด้านชีวิตจิตจะยังรักษา “เพลิง” ที่มีความหมายอย่างมากนี้เป็นสัญลักษณ์ของการกระทำของพระจิตเจ้าไว้ตลอดไป[32] “อย่าดับไฟของพระจิตเจ้า” (1 ธส 5:19)

 697     “เมฆและแสงสว่าง สัญลักษณ์ทั้งสองประการนี้แยกกันไม่ได้ในการสำแดงองค์ของพระจิตเจ้า ตั้งแต่การสำแดงพระองค์ในพันธสัญญาเดิมแล้ว เมฆทั้งที่มืดคลุ้มหรือส่องแสงจ้าเปิดเผยพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์   และกอบกู้ เป็นการเปิดเผยพระสิริรุ่งโรจน์ที่อยู่เหนือทุกสิ่งของพระองค์ เช่นกับโมเสสบนภูเขาซีนาย[33] เหนือกระโจมนัดพบ[34] ตลอดเวลาการเดินทางในถิ่นทุรกันดาร[35] แก่กษัตริย์ซาโลมอนในโอกาสถวาย   พระวิหาร[36] ดังนั้น พระคริสตเจ้าทรงทำให้ภาพลักษณ์เหล่านี้สำเร็จบริบูรณ์ในองค์พระจิตเจ้า พระจิตเจ้าทรง “แผ่เงา” ปกคลุมพระนางมารีย์พรหมจารีเพื่อให้พระนางปฏิสนธิและให้กำเนิดพระเยซูเจ้า[37] บนภูเขาที่พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ พระจิตเจ้าเสด็จมาในเมฆซึ่งปกคลุมพระเยซูเจ้า โมเสสและประกาศกเอลียาห์รวมทั้งเปโตร ยากอบและยอห์น “และเสียงหนึ่งดังออกมาจากเมฆว่า ‘ท่านผู้นี้เป็นบุตรของเรา ผู้ที่เราได้เลือกสรร จงฟังท่านเถิด’” (ลก 9:35) เมฆเช่นเดียวกันนี้เองในที่สุดก็ “บังพระเยซูเจ้าจากสายตา” ของบรรดาศิษย์ในวันที่เสด็จสู่สวรรค์[38] และจะเปิดเผยบุตรแห่งมนุษย์ในพระสิริรุ่งโรจน์ในวันที่พระองค์จะเสด็จกลับมา[39]

 698     “ตราประทับเป็นสัญลักษณ์คล้ายกับสัญลักษณ์ “การเจิม” พระคริสตเจ้าคือผู้ที่ “พระเจ้าพระบิดาทรงประทับตราไว้แล้ว” (ยน 6:27) และพระบิดายังทรงประทับตราพวกเราไว้กับ พระบุตรด้วย[40] เนื่องจากตราประทับหมายความว่าการเจิมของพระจิตเจ้ามีผลที่ไม่อาจลบออกได้ในศีลล้างบาป ศีลกำลัง และศีลบวช ธรรมประเพณีทางเทววิทยาบางสายจึงใช้ภาพของ “ตราประทับ” (ภาษากรีกว่า “sphragos”) เพื่อแสดงถึง “คุณสมบัติ” ที่ไม่อาจลบออกได้จากผู้ที่ได้รับศีลเหล่านี้ จึงทำให้ไม่อาจรับศีลทั้งสามนี้ซ้ำได้อีก

 699     “มือ” (หรือพระหัตถ์”) พระเยซูเจ้าทรงปกพระหัตถ์รักษาคนเจ็บป่วย[41] และอวยพระพรเด็กๆ[42] บรรดาอัครสาวกจะทำเช่นเดียวกันในพระนามของพระองค์[43] ยิ่งกว่านั้น พระเจ้ายังประทานพระจิตเจ้าอาศัยการปกมือของบรรดาอัครสาวก[44] จดหมายถึงชาวฮีบรูกล่าวถึง “การปกมือ” ว่าเป็น “คำสอนพื้นฐาน” สำคัญเรื่องหนึ่งของตน[45] พระศาสนจักรยังรักษาเครื่องหมายนี้ซึ่งแสดงถึงการประทานพลังของพระจิตเจ้าไว้ในพิธี “epiclesis” (= การอัญเชิญพระจิตเจ้า) ของศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ

 700     นิ้ว” (หรือ “พระดรรชนี”) “พระเยซูเจ้าทรงขับไล่ปีศาจด้วยอำนาจ (ตามตัวอักษรว่า “ด้วยนิ้วพระหัตถ์” หรือ “ดรรชนี”) ของพระเจ้า”[46] ถ้าพระธรรมบัญญัติของพระเจ้าได้รับการจารึกไว้บนแผ่นศิลา “ด้วยพระดรรชนีของพระเจ้า” (อพย 31:18) “จดหมายจากพระคริสตเจ้า” ที่บรรดาอัครสาวกได้รับมอบมา “ก็ถูกเขียน […] ด้วยพระจิตของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต มิได้จารึกไว้บนแผ่นศิลา แต่จารึกไว้ในดวงใจของมนุษย์ดุจจารึกบนแผ่น
ศิลา” (2 คร 3:3) บทขับร้อง “Veni Creator Spiritus” ก็เรียกพระจิตเจ้าด้วยวลีที่ว่า   “dextrae Dei Tu digitus” (= พระองค์คือพระดรรชนีพระหัตถ์ขวาของพระเจ้า)[47]

 701     “นกพิราบ เมื่อน้ำวินาศสิ้นสุด (น้ำวินาศยังเป็นสัญลักษณ์ของศีลล้างบาปซึ่งเป็นการทำลายล้างความชั่วร้ายทั้งหลาย) นกพิราบที่โนอาห์ส่งออกไปบินกลับมา คาบกิ่งอ่อนของต้นมะกอกเทศมาด้วย ซึ่งหมายความว่าพื้นดินแห้งสามารถอาศัยอยู่ได้แล้ว[48] เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นจากน้ำเมื่อทรงรับพิธีล้างแล้ว พระจิตเจ้าเสด็จลงมาประทับอยู่เหนือพระองค์ในรูปของนกพิราบ[49] พระจิตเจ้าเสด็จลงมาในใจบริสุทธิ์ของผู้รับศีลล้างบาปแล้วและประทับอยู่ที่นั่น ในโบสถ์บางแห่งมีธรรมเนียมเก็บรักษาศีลมหาสนิทไว้ในที่เก็บทำด้วยโลหะเป็นรูปนกพิราบ (ที่เรียกว่า “columarium”) แขวนไว้เหนือพระแท่นบูชา สัญลักษณ์รูปนกพิราบที่หมายถึงพระจิตเจ้าเห็นได้ทั่วไปในธรรมประเพณีวิจิตรศิลป์ของคริสตชน

 

[13] เทียบ มธ 28:19.

[14] เทียบ ยน 3:5-8.

[15] เทียบ 1 ยน 2:1 (parakleton).

[16] เทียบ ยน 16:13.             

[17] เทียบ ยน 19:34; 1 ยน 5:8.

[18] เทียบ ยน 4:10-14; 7:38; อพย 17:1-6; อสย 55:1; ศคย 14:8; 1 คร 10:4; วว 21:6; 22:17.

[19] เทียบ 1 ยน 2:20,27; 2 คร 1:22.

[20] เทียบ อพย 30:22-32.

[21] เทียบ 1 ซมอ 16:13.          

[22] เทียบ ลก 4:18-19; อสย 61:1.

[23] เทียบ ลก 2:11.

[24] ลก 2:26-27.

[25] เทียบ ลก 4:1.

[26] เทียบ ลก 6:19; 8:46.

[27] เทียบ รม 1:4; 8:11.

[28] เทียบ กจ 2:36.

[29] Sanctus Augustinus, Sermo 341,1,1: PL 39, 1439; Ibid. 9,11: PL 39, 1499.

[30] เทียบ 1 พกษ 18:38-39.

[31] เทียบ กจ 2:3-4.             

[32] Cf. Sanctus Ioannes a Cruce, Llama de amor viva: Biblioteca Mistica Carmelitana, v. 13 (Burgos 1931) p. 1-102; 103-213.

[33] เทียบ อพย 24:15-18.

[34] เทียบ อพย 33:9-10.

[35] เทียบ อพย 40:36-38; 1 คร 10:1-2.

[36] เทียบ 1 พกษ 8:10-12.

[37] เทียบ ลก 1:35.              

[38] เทียบ กจ 1:9.

[39] เทียบ ลก 21:27.

[40] เทียบ 2 คร 1:22; อฟ 1:13 ; 4:30.

[41] เทียบ มก 6:5; 8:23.         

[42] เทียบ มก 10:16.

[43] เทียบ มก 16:18; กจ 5:12; 14:3.

[44] เทียบ กจ 8:17-19; 13:3; 19:6.

[45] เทียบ ฮบ 6:2.

[46] เทียบ ลก 11:20.             

[47] In Dominica Pentecostes, Hymnus ad I et II Vesperas: Liturgia Horarum,  editio typica, v. 2 (Typis Polyglottis Vaticanis 1974) p. 795 et 812.

[48] เทียบ ปฐก 8:8-12.

[49] เทียบ มธ 3:16 และข้อความที่ตรงกัน.            

III. พระจิตเจ้าและพระวจนาตถ์ของพระเจ้าในเวลาแห่งพระสัญญา

III.  พระจิตเจ้าและพระวจนาตถ์ของพระเจ้าในเวลาแห่งพระสัญญา

 702     ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึง “เวลาที่กำหนดไว้”[50] พระพันธกิจร่วมกันของพระวจนาตถ์และของพระจิตของพระบิดาคงถูกซ่อนไว้แต่ก็ทำงานอยู่ตลอดเวลา พระจิตของพระเจ้าทรงเตรียมเวลาของพระเมสสิยาห์แม้ทั้งสองเรื่องนี้จะยังไม่ถูกเปิดเผยอย่างสมบูรณ์ แต่ก็ทรงสัญญาไว้ให้เรารอคอยและต้อนรับเมื่อจะปรากฏมา เพราะเหตุนี้ เมื่อพระศาสนจักรอ่านพันธสัญญาเดิม[51] จึงค้นหา[52]ความจริงที่พระจิตเจ้า “ผู้ตรัสทางประกาศก”[53]ทรงประสงค์จะบอกเราเกี่ยวกับพระคริสตเจ้า

เมื่อกล่าวถึง “ประกาศก” ความเชื่อของพระศาสนจักรหมายถึงทุกคนที่พระจิตเจ้าทรงดลใจในการเทศน์สอนและในการเขียนหนังสือศักดิ์สิทธิ์ทั้งในพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่ ธรรมประเพณีของชาวยิวแบ่งพระคัมภีร์เป็นสามภาค ได้แก่ (1) ธรรมบัญญัติ (ได้แก่หนังสือห้าเล่มแรก หรือ “ปัญจบรรพ”) (2) ประกาศก (ได้แก่หนังสือที่เราเรียกว่า “ประวัติศาสตร์” และ “ประกาศก”) และ (3) ข้อเขียน (โดยเฉพาะหนังสือประเภทปรีชาญาณและเพลงสดุดี)[54]


ในการเนรมิตสร้าง

 703     พระวาจาของพระเจ้าและพระปราณของพระองค์เป็นความเป็นอยู่และชีวิตของสิ่งสร้างทั้งหลายตั้งแต่แรกเริ่ม[55]

“บทบาทของพระจิตเจ้าคือปกครอง บันดาลความศักดิ์สิทธิ์ และให้ชีวิตแก่สิ่งสร้าง เพราะพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าและทรงพระธรรมชาติเดียวกันร่วมกับพระบิดาและพระวจนาตถ์ […] เนื่องจากทรงเป็นพระเจ้า พระองค์จึงประทานพลังแก่สิ่งสร้างทุกอย่างและทรงรักษาสิ่งสร้างเหล่านี้ไว้ในพระบิดาและในพระบุตร”[56]

 704     “พระองค์ทรงปั้นมนุษย์ขึ้นด้วยพระหัตถ์ (นั่นคือพระบุตรและพระจิตเจ้า) […] และทรงประทับภาพลักษณ์ของพระองค์บนเนื้อหนังที่ทรงปั้นขึ้นมานี้ เพื่อให้สิ่งที่เราแลเห็นได้นี้มีภาพลักษณ์ของพระเจ้าปรากฏอยู่”[57]

 

พระจิตเจ้าแห่งพระสัญญา

 705     แม้ว่ามนุษย์จะถูกบาปและความตายทำให้เสื่อมเสียไป แต่ก็ยังคงมี “ภาพลักษณ์ของพระเจ้า” ตามภาพลักษณ์ของพระบุตร แต่ก็ “ขาดพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า”[58] ไม่มี “ความเหมือน” กับพระองค์ พระสัญญาที่ทรงทำกับอับราฮัมเป็นการเริ่มแผนการณ์ความรอดพ้นที่มีจุดประสงค์ให้พระบุตรทรงรับ “ภาพลักษณ์”[59](นี้ของมนุษย์) และบันดาลให้ภาพลักษณ์นี้กลับ “เป็นเหมือน” กับพระบิดา คืนพระสิริรุ่งโรจน์ คือ “พระจิตเจ้าผู้ประทานชีวิต” แก่มนุษย์อีกครั้งหนึ่ง

 706     ตรงข้ามกับความหวังที่มนุษย์อาจมีได้ พระเจ้าทรงสัญญาจะประทานลูกหลานแก่อับราฮัมเป็นผลของความเชื่อและพระอานุภาพของพระจิตเจ้า[60] ชนทุกชาติบนแผ่นดินนี้จะได้รับพรผ่านทางเชื้อสายของเขา[61] “เชื้อสาย” นี้ก็คือพระคริสตเจ้า[62] ในพระคริสตเจ้านี้พระพรของพระจิตเจ้าจะนำบรรดาบุตรที่กระจัดกระจายไป[63]ของพระเจ้าเข้ามารวมด้วยกันอีก เมื่อทรงสาบานผูกมัดพระองค์[64] พระเจ้าก็ทรงผูกมัดพระองค์จะประทานพระบุตรสุดที่รักของพระองค์แล้ว[65] รวมทั้งทรงสัญญาจะประทานพระจิตเจ้าซึ่งจะทรงเตรียมการไถ่กู้ประชากรที่พระเจ้าทรงได้มาเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์[66]


ในการสำแดงพระองค์และการประทานธรรมบัญญัติ

 707      การสำแดงพระองค์ของพระเจ้า นับตั้งแต่บรรดาบรรพบุรุษจนถึงโมเสส และจากโยชูวาจนถึงนิมิตต่างๆ ที่บรรดาประกาศกผู้ยิ่งใหญ่ได้รับเมื่อเริ่มพันธกิจของเขา ล้วนแสดงให้เห็นแนวทางของพระสัญญา ธรรมประเพณีของคริสตชนยอมรับอยู่เสมอว่าในการสำแดงพระองค์เหล่านี้ พระวจนาตถ์ของพระเจ้าทรงแสดงองค์ให้เห็นให้ได้ยิน โดยมีเมฆของพระจิตเจ้าเปิดเผยและปิดบังไว้พร้อมกันด้วย

 708     วิธีการสอนของพระเจ้าเช่นนี้ปรากฏชัดโดยเฉพาะเมื่อประทานธรรมบัญญัติ(แก่ประชากรอิสราเอล)[67] พระองค์ประทานธรรมบัญญัติให้เป็นเสมือน “ครูพี่เลี้ยง” เพื่อนำประชากรมาพบพระคริสตเจ้า[68] แต่ธรรมบัญญัติไม่มีพลังที่จะช่วยกอบกู้มนุษย์ที่สูญเสีย “ความละม้ายคล้ายกับพระเจ้า” ไปแล้วได้ และความรู้เพิ่มขึ้นเรื่องบาปที่ธรรมบัญญัติมอบให้นั้น[69]ปลุกให้มนุษย์มีความปรารถนาจะได้รับพระจิตเจ้า การคร่ำครวญที่ปรากฏอยู่ในเพลงสดุดีต่างๆ เป็นพยานถึงเรื่องนี้

 

ในช่วงเวลาที่อิสราเอลมีกษัตริย์ปกครอง และช่วงเวลาถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย

 709     ธรรมบัญญัติ ซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งพระสัญญาและพันธสัญญา น่าจะได้ปกครองดูแลจิตใจและสถาบันต่างๆ ของประชากรที่เกิดจากความเชื่อของอับราฮัม “ถ้าท่านทั้งหลายเชื่อฟังเราและรักษาพันธสัญญาของเราไว้ […] ท่านจะเป็นอาณาจักรสมณะ เป็นชนชาติศักดิ์สิทธิ์” (อพย 19:5-6)[70] แต่หลังจากกษัตริย์ดาวิด อิสราเอลก็พ่ายแพ้การประจญที่จะแต่งตั้งกษัตริย์เหมือนกับชนชาติอื่น แต่พระอาณาจักรตามพระสัญญาที่พระเจ้าทรงทำไว้กับดาวิดนั้น[71]ควรจะเป็นผลงานของพระจิตเจ้านั่นคือเป็นของคนที่มี “จิตใจยากจน”

 710      การลืมธรรมบัญญัติและความไม่ซื่อสัตย์ต่อพันธสัญญานำประชากรไปสู่ความตาย การถูกกวาดต้อนเป็นเชลยไปในแดนเนรเทศดูเผินๆ เป็นเหมือนความล้มเหลวของพระสัญญา แต่อันที่จริงเป็นความซื่อสัตย์ลึกลับของพระเจ้าผู้ทรงกอบกู้ และเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างชาติขึ้นใหม่ตามพระสัญญา แต่เป็นพระสัญญาตามพระจิตเจ้า ประชากรของพระเจ้าจำเป็นต้องรับการชำระให้บริสุทธิ์[72] การถูกกวาดต้อนเป็นเชลยไปในถิ่นเนรเทศตามแผนการของพระเจ้าเป็นเสมือนเงาของไม้กางเขน และบรรดาผู้ยากจนที่รอดชีวิตกลับมาจากแดนเนรเทศก็เป็นภาพที่ชัดเจนมากภาพหนึ่งของพระศาสนจักร

 

การรอคอยพระเมสสิยาห์และจิตของพระองค์

 711     “ดูเถิด เรากำลังจะทำสิ่งใหม่” (อสย 43:19) มีคำสอนสองสายของประกาศกที่ค่อยๆ พัฒนาขึ้นสายหนึ่งนำไปสู่การรอคอยพระเมสสิยาห์ อีกสายหนึ่งเป็นการแจ้งล่วงหน้าถึงชีวิตจิตใจใหม่ คำสอนทั้งสองสายนี้มาบรรจบกันใน “บรรดาผู้รอดชีวิต” คือประชากรผู้ถ่อมตน (หรือ “ยากจน”)[73] ที่มีความหวังกำลังรอคอย “ความรอดพ้นของอิสราเอล” และ “การไถ่กู้กรุงเยรูซาเล็ม” (ลก 2:25,38)

เราได้เห็นมาแล้วว่าพระเยซูเจ้าทรงทำให้คำพยากรณ์ถึงพระองค์เป็นจริงไปอย่างไร ที่ตรงนี้เราจะจำกัดอยู่เพียงคำพยากรณ์ที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างพระเมสสิยาห์กับพระจิตของพระองค์ชัดเจนมากกว่า

 712     ภาพลักษณ์ของพระเมสสิยาห์เริ่มปรากฏใน “หนังสือเรื่องอิมมานูเอล”[74] (เมื่อ “ประกาศกอิสยาห์[…] ได้เห็นพระสิริรุ่งโรจน์” ของพระคริสตเจ้า – ยน 12:41) โดยเฉพาะ อสย 11:1-2.

“หน่อหนึ่งจะแตกออกจากตอของเจสซี

กิ่งหนึ่งจะงอกขึ้นจากรากของเขา

พระจิตขององค์พระผู้เป็นเจ้าจะพำนักอยู่เหนือเขา

คือจิตแห่งปรีชาญาณและความเข้าใจ

จิตแห่งความคิดอ่านและอานุภาพ

จิตแห่งความรู้และความยำเกรงองค์พระผู้เป็นเจ้า”

 713     ภาพลักษณ์ของพระเมสสิยาห์เปิดเผยให้เห็นชัดเจนโดยเฉพาะใน “บทเพลงของผู้รับใช้”[75] บทเพลงเหล่านี้แจ้งว่าพระทรมานของพระเยซูเจ้ามีความหมายอย่างไร และดังนี้จึงชี้ให้เห็นวิธีการที่พระองค์จะหลั่งพระจิตเจ้าเพื่อประทานชีวิตแก่คนจำนวนมาก ไม่ใช่จากภายนอก แต่เมื่อทรงรับ “สภาพดุจทาส” (ฟป 2:7) เป็นมนุษย์เหมือนเรา ทรงรับความตายของเรา พระองค์ก็อาจบันดาลให้เรามีส่วนในพระจิตแห่งชีวิตของพระองค์ได้
 714      เพราะเหตุนี้ พระคริสตเจ้าจึงทรงเริ่มประกาศข่าวดีโดยทรงนำข้อความนี้ของประกาศกอิสยาห์มาเป็นของพระองค์ (ลก 4:18-19):[76]

“พระจิตของพระเจ้าทรงอยู่เหนือข้าพเจ้า

เพราะพระองค์ทรงเจิมข้าพเจ้าไว้

ให้ประกาศข่าวดีแก่คนยากจน

ทรงส่งข้าพเจ้าไปประกาศการปลดปล่อยแก่ผู้ถูกจองจำ

คืนสายตาแก่คนตาบอด

ปลดปล่อยผู้ถูกกดขี่ให้เป็นอิสระ

ประกาศปีแห่งความโปรดปรานจากพระเจ้า”

 715    ข้อความของประกาศกกล่าวถึงการส่งพระจิตเจ้าเป็นคำประกาศที่พระเจ้าตรัสกับใจประชากรของพระองค์เป็นคำสัญญาแสดงถึงความรักและความซื่อสัตย์[77]ที่นักบุญเปโตรจะประกาศว่าสำเร็จเป็นจริงแล้วในเช้าวันเปนเตกอสเต[78] ตามพระสัญญาเหล่านี้ พระจิตขององค์พระผู้เป็นเจ้าจะรื้อฟื้นจิตใจมนุษย์โดยทรงจารึกธรรมบัญญัติใหม่ไว้ในใจมนุษย์ พระองค์จะทรงรวบรวมประชาชาติต่างๆ ที่กระจัดกระจายอยู่เข้ามาให้คืนดีกัน จะทรงเปลี่ยนโฉมของสิ่งสร้างแรกเริ่ม และพระเจ้าจะประทับอยู่อย่างสันติกับมนุษย์ที่นั่น

 716    ประชากร “ผู้ถ่อมตน” (หรือ “ยากจน”)[79] ต่ำต้อยและอ่อนโยนที่วางใจต่อแผนการของพระเจ้าของตนอย่างเต็มเปี่ยม ผู้ที่รอคอยความยุติธรรมไม่ใช่จากมนุษย์ แต่จากพระเมสสิยาห์ ในที่สุดเป็นผลงานซ่อนเร้นยิ่งใหญ่ของพระจิตเจ้าตลอดเวลาแห่งพระสัญญาเพื่อเตรียมรับการเสด็จมาของพระคริสตเจ้า คุณค่าจิตใจของคนเหล่านี้ที่พระจิตเจ้าทรงชำระและส่องสว่างแล้วมีแสดงอยู่ในบทเพลงสดุดี ในคนยากจนเหล่านี้ พระจิตเจ้าทรงเตรียม “ประชากรให้พร้อมที่จะรับเสด็จองค์พระผู้เป็นเจ้า”[80]

 

[50] เทียบ กท 4:4.

[51] เทียบ 2 คร 3:14.

[52] เทียบ ยน 5:39,46.

[53] Symbolum Nicaenum-Constantinopolitanum: DS 150.

[54] เทียบ ลก 24:44.

[55] เทียบ สดด 33:6; 104:30; ปฐก 1:2; 2:7; ปญจ 3:20-21; อสค 37:10.

[56] Officium Horarum Byzantinum, Matutinum pro die Dominica modi secundi, Antiphonae 1 et 2: Parakletikes (Romae 1885) p. 107.       

[57] Sanctus Irenaeus Lugdunensis, Demonstratio praedicationis apostolicae, 11: SC 62, 48-49.           

[58] เทียบ รม 3:23.

[59] เทียบ ยน 1:14; ฟป 2:7.

[60] เทียบ ปฐก 18:1-15; ลก 1:26-38,54-55; ยน 1:12-13; รม 4:16-21.

[61] เทียบ ปฐก 12:3.

[62] เทียบ กท 3:16.              

[63] เทียบ ยน 11:52.

[64] เทียบ ลก 1:73.

[65] เทียบ ปฐก 22:17-18; รม 8:32; ยน 3:16.

[66] เทียบ อฟ 1:13-14; กท 3:14.

[67] เทียบ อพย 19-20; ฉธบ 1-11; 29-30.           

[68] เทียบ กท 3:24.             

[69] เทียบ รม 3:20.              

[70] เทียบ 1 ปต 2:9.             

[71] เทียบ 2 ซมอ 7; สดด 89; ลก 1:32-33.         

[72] เทียบ ลก 24:26.            

[73] เทียบ ศฟย 2:3.

[74] เทียบ อสย บทที่ 6-12.        

[75] เทียบ อสย 42:1-9; มธ 12:18-21; ยน 1:32-34,  รวมทั้ง อสย 49:16; มธ 3:17; ลก 2:32, และที่สุดใน อสย 50:4-10 และ 52:13-15; 53:12.

[76] เทียบ อสย 61:1-2.

[77] เทียบ อสค 11:19; 36:25-28; 37:1-14; ยรม 31:31-34; ยอล 3:1-5.   

[78] เทียบ กจ 2:17-21.

[79] เทียบ ศฟย 2:3; สดด 22:27; 34:3; อสย 49:13; 61:1; ฯลฯ

[80] เทียบ ลก 1:17.

IV. พระจิตของพระคริสตเจ้าในเวลาที่ทรงกำหนดไว้

IV.   พระจิตของพระคริสตเจ้าในเวลาที่ทรงกำหนดไว้

ยอห์น ผู้นำหน้าพระคริสตเจ้า ประกาศก และผู้ประกอบพิธีล้าง

  717     “พระเจ้าทรงส่งชายผู้หนึ่งมา เขาชื่อยอห์น” (ยน 1:6) ยอห์น “ได้รับพระจิตเจ้า” เต็มเปี่ยม “ตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์ของมารดา” (ลก 1:15)[81] จากพระคริสตเจ้าที่พระนางพรหมจารีมารีย์เพิ่งทรงปฏิสนธิเดชะพระจิตเจ้า ดังนี้ “การเยี่ยมเยียน” นางเอลีซาเบธของพระนางมารีย์จึงเป็นการที่พระเจ้าทรงเยี่ยมเยียนประชากรของพระองค์[82]

 718     ยอห์นเป็น “(ประกาศก)เอลียาห์ที่จะต้องมา”[83] ไฟของพระจิตเจ้าพำนักอยู่ในเขาและบันดาลให้เขา “นำหน้า” องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้เสด็จมา ในยอห์นผู้นำหน้า(พระเมสสิยาห์)พระจิตเจ้าทรงบันดาลให้ “การเตรียมประชากรที่พร้อมจะรับเสด็จองค์พระผู้เป็นเจ้า”สำเร็จไป (ลก 1:17)

 719      ยอห์นเป็น “ยิ่งกว่าประกาศก”[84] พระจิตเจ้าทรงทำให้ “การตรัสทางประกาศก” สำเร็จไปในตัวเขา ยอห์นเป็นผู้ทำให้ “กลุ่ม” ประกาศกซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ประกาศกเอลียาห์สิ้นสุดลง[85] ยอห์นประกาศว่าการปลอบโยนอิสราเอลอยู่ใกล้แล้ว เป็น “เสียง” ของผู้ปลอบโยนซึ่งกำลังจะมาถึง[86] “เขามาในฐานะพยานเพื่อเป็นพยานถึงแสงสว่าง” (ยน 1:7) ตามที่พระจิตเจ้าแห่งความจริงจะทรงเป็นพยานด้วย[87] ดังนี้ ในยอห์น พระจิตเจ้าทรงบันดาลให้ “การค้นหาและวิเคราะห์ของบรรดาประกาศก” และ “ความปรารถนา” ของบรรดาทูตสวรรค์สำเร็จเป็นจริง[88] “เจ้าเห็นพระจิตเจ้าเสด็จลงมาประทับอยู่เหนือผู้ใด ผู้นั้นคือผู้ที่ทำพิธีล้างเดชะพระจิตเจ้า ข้าพเจ้าเห็นและเป็นพยานยืนยันว่าท่านผู้นี้เป็นพระบุตรของพระเจ้า […] นี่คือลูกแกะของพระเจ้า” (ยน 1:33-36)

 720      ในที่สุด ผ่านทางยอห์นผู้ทำพิธีล้างพระจิตเจ้าทรงเริ่มงานที่จะสำเร็จไปพร้อมกับ  พระคริสตเจ้าและในพระคริสตเจ้า นั่นคือการทำให้มนุษย์ได้รับ “ความเหมือนกับพระเจ้า” กลับคืนมา ยอห์นประกอบพิธีล้างเพื่อให้มนุษย์กลับใจ ส่วนพิธีล้าง “ในน้ำและพระจิตเจ้า” จะเป็นการเกิดใหม่ในพระจิตเจ้า[89]


วันทา ท่านผู้เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน

 721     พระนางมารีย์ พระมารดาศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระเจ้าและทรงเป็นพรหมจารีเสมอ คือผลงานประเสริฐสุดของพระพันธกิจของพระบุตรและพระจิตเจ้าเมื่อเวลาที่กำหนดมาถึง ในพระดำริที่จะประทานความรอดพ้นและให้พระจิตเจ้าทรงเตรียมพระนาง ก่อนอื่นหมด พระบิดาทรงพบว่าพระนางทรงเป็นที่พำนักของพระบุตรและพระจิตเจ้าได้ ด้วยความเข้าใจเช่นนี้ ธรรมประเพณีของพระศาสนจักรบ่อยๆ จึงอ่านข้อความที่กล่าวถึงปรีชาญาณโดยคิดถึงความสัมพันธ์กับพระนางมารีย์[90] ในพิธีกรรม พระนางมารีย์ได้รับการกล่าวถึงและขับร้องว่าทรงเป็น “พระที่นั่งแห่งปรีชาญาณ” “พระราชกิจน่าพิศวงของพระเจ้า” เริ่มแสดงให้เห็นในพระนาง พระจิตเจ้าทรงบันดาลให้พระราชกิจเหล่านี้สำเร็จเป็นจริงในพระคริสตเจ้าและในพระศาสนจักร

 722     พระจิตเจ้าประทานพระหรรษทานเพื่อเตรียมพระนางมารีย์ พระนางซึ่งเป็นพระมารดาของผู้ที่ “พระเทวภาพบริบูรณ์สถิตอยู่ในสภาพมนุษย์ที่สัมผัสได้” (คส 2:9) นั้นจำเป็นต้อง “เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน” พระนางจึงทรงได้รับการปฏิสนธิในพระหรรษทานอย่างสมบูรณ์ ไร้บาปทั้งมวล เป็นผู้ต่ำต้อยที่สุดในบรรดาสิ่งสร้างทั้งมวล เป็นผู้เหมาะสมที่สุดที่จะได้รับของประทานประเสริฐเหลือที่จะกล่าวได้ของพระผู้ทรงสรรพานุภาพ จึงเป็นการถูกต้องแล้วที่ทูตสวรรค์กาเบรียลทักทายพระนางในฐานะ “ธิดาแห่งศิโยน” ว่า “วันทา” (แปลตามตัวอักษรว่า “จงยินดีเถิด”)[91] ในบทเพลงสรรเสริญของพระนาง[92] พระนางทรงทำให้การขอบพระคุณของประชากรทุกคนของพระเจ้า และดังนี้จึงทำให้การขอบพระคุณของพระศาสนจักรด้วย ขึ้นไปหาพระบิดาในองค์พระจิตเจ้า ขณะที่พระนางทรงกำลังอุ้มพระบุตรนิรันดรในพระครรภ์ของพระนาง

 723     พระจิตเจ้าทรงบันดาลให้แผนการของพระบิดาสำเร็จเป็นจริงในพระนางมารีย์ พระนางพรหมจารีทรงปฏิสนธิและประสูติพระบุตรของพระเจ้า เดชะพระอานุภาพของพระจิตเจ้าและความเชื่อ พระนางพรหมจารีจึงให้กำเนิดพระบุตรอย่างพิเศษสุด[93]

 724     ในพระนางมารีย์ พระจิตเจ้าทรงสำแดงให้เห็นว่าพระบุตรของพระบิดาทรงบังเกิดจากหญิงพรหมจารีคนหนึ่ง พระนางทรงเป็นเหมือนพุ่มไม้ลุกเป็นไฟที่พระเจ้าทรงสำแดงพระองค์ในยุคสุดท้าย พระนางทรงได้รับพระจิตเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม ทรงสำแดงพระวจนาตถ์ในความต่ำต้อยของธรรมชาติมนุษย์และทรงบันดาลให้คนยากจน[94] และชนต่างชาติเป็นชนกลุ่มแรก[95]ที่มารับรู้เรื่องนี้

 725     ในที่สุด พระจิตเจ้าทรงเริ่มนำมนุษย์ซึ่ง “พระเจ้าโปรดปราน”[96] เข้ามามีความสัมพันธ์กับ พระคริสตเจ้าผ่านทางพระนางมารีย์ และผู้ต่ำต้อยมักจะเป็นคนกลุ่มแรกที่รับพระองค์ เช่น บรรดาคนเลี้ยงแกะ บรรดาโหราจารย์ ผู้เฒ่าสิเมโอนและประกาศกหญิงอันนา คู่บ่าวสาวที่หมู่บ้านคานา และบรรดาศิษย์

 726     พระพันธกิจนี้ของพระจิตเจ้าจบลงเมื่อพระนางมารีย์ทรงเป็น “หญิง” เป็นเหมือนกับ “นางเอวาคนใหม่” ซึ่งเป็น “มารดาของผู้มีชีวิตทั้งหลาย” พระนางทรงเป็นพระมารดา “ของพระคริสตเจ้าทั้งองค์” (totius Christi)[97] เมื่อเป็นเช่นนี้ พระคัมภีร์จึงกล่าวถึงพระนางว่าทรง “ร่วมภาวนาเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” พร้อมกับศิษย์ทั้งสิบสองคน (กจ 1:14) ในช่วงเริ่มแรกของ “ยุคสุดท้าย” ตอนเช้าของวันเปนเตกอสเตเมื่อพระศาสนจักรแสดงตนแก่มวลมนุษย์


พระเยซูคริสตเจ้า

 727     พระพันธกิจทั้งหมดของพระบุตรและพระจิตเจ้าเมื่อถึงเวลากำหนดนั้นอยู่ที่พระบุตรทรงเป็นผู้ที่รับเจิมโดยพระจิตของพระบิดานับตั้งแต่ทรงปฏิสนธิ พระเยซูเจ้าจึงทรงเป็น  “พระคริสตเจ้า” หรือ “พระเมสสิยาห์” (ซึ่งแปลว่า “ผู้รับเจิม”) เราต้องอ่านบทที่สองทั้งบทของการประกาศแสดงความเชื่อในมุมมองนี้ พระภารกิจทั้งหมดของพระคริสตเจ้าเป็นพันธกิจร่วมกันของพระบุตรและพระจิตเจ้า ที่ตรงนี้เราจะกล่าวถึงเพียงแต่ พระดำรัสที่พระเยซูเจ้าทรงสัญญาถึงพระจิตเจ้าและพระพรที่พระจิตเจ้าจะประทานให้จากองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงได้รับพระสิริรุ่งโรจน์แล้ว

 728     พระเยซูเจ้ามิได้ทรงเปิดเผยเรื่องพระจิตเจ้าเต็มที่จนกระทั่งพระองค์ทรงได้รับพระสิริรุ่งโรจน์โดยการสิ้นพระชนม์และทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วเท่านั้น ถึงกระนั้นพระองค์ก็ทรงกล่าวพาดพิงถึงพระจิตเจ้าบ้างแล้วเมื่อตรัสสอนประชาชน เมื่อทรงเปิดเผยว่าพระกายของพระองค์เป็นอาหารเพื่อชีวิตในอนาคตของโลก[98] พระองค์ยังตรัสพาดพิงถึงพระจิตเจ้าด้วยกับนิโคเดมัส[99] กับหญิงชาวสะมาเรีย[100] และกับประชาชนที่มาร่วมฉลองเทศกาลอยู่เพิงพร้อมกับพระองค์[101] พระองค์ตรัสอย่างเปิดเผยแก่บรรดาศิษย์เมื่อตรัสเกี่ยวกับการอธิษฐานภาวนา[102] และการเป็นพยานที่พวกเขาจะต้องแสดงถึงพระองค์[103]

 729      เมื่อถึงเวลาที่พระเยซูเจ้าจะทรงรับพระสิริรุ่งโรจน์เท่านั้น พระองค์ทรงสัญญาว่าพระจิตเจ้าจะเสด็จมา ทั้งนี้ก็เพราะว่าการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพจะเป็นการทำให้พระสัญญาแก่บรรดาบรรพบุรุษเป็นความจริง[104] พระบิดาจะประทานพระจิตแห่งความจริง “พระผู้ช่วยเหลือ” (Parakletos) อีกองค์หนึ่งตามคำอธิษฐานของพระเยซูเจ้า พระบิดาจะประทานพระองค์ในพระนามของพระเยซูเจ้า พระเยซูเจ้าจะทรงส่งพระองค์มาจากพระบิดา เพราะพระองค์ทรงสืบเนื่องมาจากพระบิดา พระจิตเจ้าจะเสด็จมา เราจะรู้จักพระองค์ พระองค์จะอยู่กับเราตลอดไป จะทรงพำนักอยู่กับเรา จะทรงสอนทุกสิ่งแก่เรา และจะทรงช่วยให้เราระลึกถึงทุกสิ่งที่พระเยซูเจ้าได้ตรัสไว้และจะทรงเป็นพยานถึงพระองค์ พระจิตเจ้าจะทรงนำเราไปพบความจริงทุกข้อและจะทรงบันดาลให้พระคริสตเจ้าทรงรับพระสิริรุ่งโรจน์ พระองค์จะทรงแสดงให้โลกเห็นความหมายของบาป ของความถูกต้อง และของการตัดสิน

 730     ในที่สุดเวลาของพระเยซูเจ้าก็มาถึง[105] ซึ่งหมายถึงเวลาที่พระเยซูเจ้าทรงมอบจิตของพระองค์ไว้ในพระหัตถ์ของพระบิดา[106] และเวลาที่จะทรงพิชิตความตายโดยการสิ้นพระชนม์ เพื่อ “จะทรงกลับคืนพระชนมชีพ […] เดชะพระสิริรุ่งโรจน์ของพระบิดา” (รม 6:4) และต่อมาไม่ช้าจะประทานพระจิตเจ้า “โดยทรงเป่าลม” เหนือบรรดาศิษย์[107] นับตั้งแต่เวลานี้เป็นต้นไป พระพันธกิจของพระคริสตเจ้าและของพระจิตเจ้าก็กลับเป็นพันธกิจของพระศาสนจักร “พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น” (ยน 20:22)[108]

 

[81] เทียบ ลก 1:41.

[82] เทียบ ลก 1:68.

[83] เทียบ มธ 17:10-13.

[84] เทียบ ลก 7:26.

[85] เทียบ มธ  11:13-14.

[86] เทียบ ยน 1:23; อสย 40:1-3.

[87] เทียบ ยน 15:26; 5:33.

[88] เทียบ 1 ปต 1:10-12.         

[89] เทียบ ยน 3:5.

[90] เทียบ สภษ 8:1 -9:6; บสร บทที่ 24.

[91] เทียบ ศฟย 3:14; ศคย 2:14.   

[92] เทียบ ลก 1:46-55.

[93] เทียบ ลก 1:26-38; รม 4:18-21; กท 4:26-28.

[94] เทียบ ลก 2:15-19.

[95] เทียบ มธ 2:11.

[96] เทียบ ลก 2:14.

[97] เทียบ ยน 19:25-27.

[98] เทียบ ยน 6:27,51,62-63.     

[99] เทียบ ยน 3:5-8.

[100] เทียบ ยน 4 :10,14,23-24.   

[101] เทียบ ยน 7:37-39.

[102] เทียบ ลก 11:13.            

[103] เทียบ มธ 10:19-20.         

[104] เทียบ ยน 14:16-17,26; 15:26; 16:7-15; 17:26.

[105] เทียบ ยน 13:1; 17:1.        

[106] เทียบ ลก 23:46; ยน 19:30. 

[107] เทียบ ยน 20:22.           

[108] เทียบ มธ 28:19; ลก 24:47-48; กจ 1:8.       

V. พระจิตเจ้าและพระศาสนจักรในยุคสุดท้าย

V. พระจิตเจ้าและพระศาสนจักรในยุคสุดท้าย

วันเปนเตกอสเต

 731     ในวันเปนเตกอสเต (เมื่อครบเจ็ดสัปดาห์หลังสมโภชปัสกา) ปัสกาของพระคริสตเจ้าก็สำเร็จบริบูรณ์เมื่อพระบิดาทรงหลั่งพระจิตเจ้าซึ่งทรงสำแดงพระองค์เป็นของประทานและมีสัมพันธ์กับเราในฐานะพระบุคคลพระเจ้า พระคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงหลั่งพระจิตเจ้าแก่เราอย่างอุดมบริบูรณ์จากความไพบูลย์ของพระองค์[109]

 732     วันนี้ พระตรีเอกภาพทรงได้รับการเปิดเผยโดยสมบูรณ์ หลังจากวันนี้ พระอาณาจักรที่พระคริสตเจ้าทรงเคยประกาศไว้นั้นเปิดแล้วสำหรับผู้ที่มีความเชื่อในพระองค์ เขาเหล่านี้เข้ามามีส่วนร่วมกับพระตรีเอกภาพศักดิ์สิทธิ์ยิ่งด้วยความเชื่อในสภาพมนุษย์ต่ำต้อย(ที่พระบุตรทรงรับ) พระจิตเจ้า โดยการเสด็จมาไม่หยุดหย่อน ทรงนำโลกเข้าไปยัง “ยุคสุดท้าย” ซึ่งเป็นยุคของพระศาสนจักร เป็นพระอาณาจักรที่เป็นมรดกของเราแล้ว แม้จะยังไม่บรรลุถึงความสมบูรณ์

“เราได้เห็นแสงสว่างแท้จริง ได้รับพระจิตจากสวรรค์ ได้พบความเชื่อแท้จริงแล้ว เราจึงกราบนมัสการพระตรีเอกภาพที่เรามองไม่เห็น เพราะพระองค์ทรงไถ่กู้เราแล้ว”[110] 

พระจิตเจ้าของประทานจากพระเจ้า

 733     “พระเจ้าทรงเป็นความรัก” (1 ยน 4:8,16) และความรักเป็นของประทานแรกซึ่งรวมของประทานอื่นๆ ทั้งหมด “พระจิตเจ้าซึ่งพระเจ้าประทานให้เราทรงหลั่งความรักนี้ลงในดวงใจของเรา” (รม 5:5)

 734     เนื่องจากว่าบาปทำให้เราตายหรืออย่างน้อยบาดเจ็บ ผลแรกจากความรักที่พระเจ้าประทานให้เราก็คือการอภัยบาปของเรา “ความสนิทสัมพันธ์ของพระจิตเจ้า” (2 คร 13:13) ทำให้ผู้รับศีลล้างบาปในพระศาสนจักรได้รับภาพลักษณ์ของพระเจ้าที่สูญเสียไปเพราะบาปกลับคืนมาใหม่

 735     พระจิตเจ้าจึงประทาน “มัดจำ” หรือ “ผลแรก” จากมรดกของเรา[111] นั่นคือชีวิตของพระตรีเอกภาพซึ่งเป็นการรัก “เช่นเดียวกับที่พระเจ้าทรงรักเรา”[112] ความรักนี้ (ความรักที่กล่าวไว้ใน  1 คร 13) เป็นจุดเริ่มของชีวิตใหม่ในพระคริสตเจ้า ความรักนี้เป็นจริงขึ้นได้เพราะเราได้รับ “พระอานุภาพของพระจิตเจ้าผู้เสด็จลงมาเหนือเรา” (กจ 1:8)

 736     เดชะพระอานุภาพนี้ของพระจิตเจ้าบรรดาบุตรของพระเจ้าจึงบังเกิดผลได้ พระองค์ผู้ทรงทาบเราเข้ากับเถาองุ่นแท้จะทรงบันดาลให้เราบังเกิดผลของพระจิตเจ้าซึ่ง “ได้แก่ความรัก ความชื่นชม ความสงบ ความอดทน ความเมตตา ความใจดี ความซื่อสัตย์ ความอ่อนโยนและการรู้จักควบคุมตนเอง” (กท 5:22-23) พระจิตเจ้าทรงเป็นชีวิตของเรา ยิ่งเราเลิกคิดถึงตนเองมากเท่าไร[113] พระจิตเจ้าก็ยิ่งทำให้เราดำเนินชีวิตตามพระองค์มากยิ่งขึ้น[114]

“เดชะพระจิตเจ้า เราจึงกลับเข้าสู่สวรรค์ ขึ้นไปยังพระอาณาจักรสวรรค์ กลับมาเป็นบุตรบุญธรรม(ของพระเจ้า)ได้อีก มีความมั่นใจที่จะเรียกพระเจ้าเป็นพระบิดา มีส่วนร่วมพระหรรษทานของพระคริสตเจ้า ได้ชื่อว่าเป็นบุตรแห่งความสว่าง มีส่วนร่วมรับพระสิริรุ่งโรจน์นิรันดรได้”[115]


พระจิตเจ้าและพระศาสนจักร

 737     พันธกิจของพระคริสตเจ้าและของพระจิตเจ้าสำเร็จสมบูรณ์ในพระศาสนจักรซึ่งเป็นพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้าและพระวิหารของพระจิตเจ้า พันธกิจร่วมกัน(ของพระคริสตเจ้าและพระจิตเจ้า)นี้จึงรวมบรรดาผู้มีความเชื่อในพระคริสตเจ้าเข้ามาร่วมความสัมพันธ์ของพระองค์กับพระบิดาและพระจิตเจ้า พระจิตเจ้าทรงเตรียมมนุษย์ ประทานพระหรรษทานของพระองค์เพื่อนำเขาเข้ามาหาพระคริสตเจ้า พระจิตเจ้าทรงสำแดงให้เขาพบองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ ทรงช่วยให้เขาระลึกถึงพระวาจาของพระคริสตเจ้าและเปิดใจของเขาให้เข้าใจการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ พระจิตเจ้าทรงสอนให้เขาเข้าใจพระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้า โดยเฉพาะในศีลมหาสนิท เพื่อช่วยให้เขาคืนดีและมีความสัมพันธ์กับพระเจ้าเพื่อทำให้ “เกิดผลมาก”[116]

 738     ดังนี้ พันธกิจของพระศาสนจักรจึงไม่เป็นการเพิ่มพันธกิจของพระคริสตเจ้าและของพระจิตเจ้า แต่เป็น “เครื่องหมายและเครื่องมือ” (sacrament) ของพันธกิจนี้ พระศาสนจักร ในความเป็นอยู่ทั้งหมดและในสมาชิกทุกคนของตน ถูกส่งไปเพื่อประกาศและเป็นพยานถึงพระธรรมล้ำลึกความเป็นอยู่ร่วมกันของพระตรีเอกภาพ และเพื่อนำพระธรรมล้ำลึกนี้ให้ปรากฏเป็นปัจจุบันและเผยแผ่แก่มวลมนุษย์ด้วย (เรื่องนี้จะเป็นเนื้อหากล่าวถึงในตอนต่อไป)

“เราจะกล่าวอีกว่าเราทุกคนซึ่งได้รับพระจิตเจ้าองค์เดียวกันแล้วนี้ย่อมรวมกันในแบบหนึ่งระหว่างเราเองและกับพระเจ้า แม้เราจะมีจำนวนมาก แยกกันอยู่ และพระคริสตเจ้าประทานพระจิตของพระบิดาและของพระองค์ให้สถิตอยู่ในเราแต่ละคน พระจิตเจ้านี้ก็ยังคงเป็นพระจิตเจ้าหนึ่งเดียวและไม่แบ่งแยก ซึ่งทรงรวบรวมจิตที่แตกต่างกันของแต่ละคนเข้าไว้ด้วยกันโดยพระองค์เอง และทรงบันดาลให้ปรากฏเป็นจิตเดียวกันในพระองค์ ข้าพเจ้าคิดว่า พระอานุภาพแห่งพระวรกาย(ของพระคริสตเจ้า)ทำให้ทุกคนที่พระองค์ประทับอยู่ด้วยร่วมเป็นกายเดียวกันฉันใด พระจิตของพระเจ้าหนึ่งเดียวซึ่งแบ่งแยกไม่ได้ผู้ประทับอยู่ในทุกคนก็ทรงบันดาลให้ทุกคนรวมเป็นจิตหนึ่งเดียวกันฉันนั้นด้วย”[117]

 739     เนื่องจากว่าพระจิตเจ้าทรงเป็นการเจิมของพระคริสตเจ้า พระคริสตเจ้าซึ่งทรงเป็นศีรษะของพระวรกายทิพย์ก็ทรงหลั่งพระจิตเจ้าลงมายังส่วนต่างๆ ในพระวรกายของพระองค์เพื่อทรงเลี้ยงดู บำบัดรักษา จัดให้แต่ละส่วนปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างเป็นระเบียบ ทรงบันดาลชีวิต ส่งออกไปให้เป็นพยานถึงพระองค์ ทรงรวมไว้กับการถวายองค์แด่พระบิดาและการวอนขอของพระองค์เพื่อมนุษย์ทั่วโลก อาศัยศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ของพระศาสนจักร พระคริสตเจ้าทรงบันดาลให้ส่วนต่างๆ แห่งพระวรกายมีส่วนรับพระจิตเจ้าผู้ทรงบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ (เรื่องนี้จะเป็นเนื้อหาสาระของหนังสือคำสอนฉบับนี้ภาคสอง)

 740      “พระราชกิจน่าพิศวงของพระเจ้า” เหล่านี้ที่แสดงตนในศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ของพระศาสนจักรแก่บรรดาผู้มีความเชื่อ เกิดผลเป็นชีวิตใหม่ในพระคริสตเจ้าเดชะพระจิตเจ้า (เรื่องนี้จะเป็นเนื้อหาสาระของหนังสือคำสอนฉบับนี้ภาคสาม)

 741      “พระจิตเจ้าเสด็จมาช่วยเหลือเราผู้อ่อนแอ เพราะเราไม่รู้ว่าจะต้องอธิษฐานภาวนาขอสิ่งใดที่เหมาะสม แต่พระจิตเจ้าทรงอธิษฐานภาวนาวอนขอแทนเราด้วยคำที่ไม่อาจบรรยาย” (รม 8:26) พระจิตเจ้า พระศิลปินพระราชกิจของพระเจ้า ทรงเป็นพระอาจารย์สอนเราให้อธิษฐานภาวนา (เรื่องนี้จะเป็นเนื้อหาสาระของหนังสือคำสอนฉบับนี้ภาคสี่)

 

[109] เทียบ กจ 2:33-36.         

[110] Officium Horarum Byzantinum. Vespertinum in die Pentecostes, Sticherum 4: Pentekostarion (Romae 1884) p. 390.

[111] เทียบ รม 8:23; 2 คร 1:22.   

[112] เทียบ 1 ยน 4:11-12.         

[113] เทียบ มธ 16:24-26.         

[114] เทียบ กท 5:25.             

[115] Sanctus Basilius Magnus, Liber de Spiritu Sancto 15, 36: SC 17bis, 370 (PG 32,132).             

[116] เทียบ ยน 15:5,8,16.        

[117] Sanctus Cyrillus Alexandrinus, Commentarius in Ioannem 11, 11: PG 74, 561.

สรุป

สรุป

742      “เพราะท่านทั้งหลายเป็นบุตร พระเจ้าจึงทรงส่งพระจิตของพระบุตรลงมาในดวงใจของเรา พระจิตผู้ตรัสด้วยเสียงดังว่า ‘อับบา พระบิดาเจ้าข้า’” (กท 4:6)

743      ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงวันสิ้นพิภพ เมื่อพระเจ้าทรงส่งพระบุตรของพระองค์ พระองค์ก็ทรงส่งพระจิตเจ้าด้วยเสมอ พระพันธกิจของพระบุตรและพระจิตเจ้านั้นเป็นหนึ่งเดียวกันและแยกจากกันไม่ได้

744      เมื่อถึงเวลาที่ทรงกำหนดไว้ พระจิตเจ้าทรงทำให้การเตรียมรับพระคริสตเจ้าเสด็จมาประทับอยู่ในหมู่ประชากรของพระเจ้าสำเร็จไปในพระนางมารีย์ อาศัยพระราชกิจของพระจิตเจ้าในพระนาง พระบิดาประทานองค์อิมมานูเอลพระเจ้าสถิตกับเราแก่โลกนี้ (มธ 1:23)

745      ในการรับสภาพมนุษย์ พระบุตรของพระเจ้าทรงได้รับเจิมจากพระจิตเจ้าให้เป็นพระคริสตเจ้า” (“พระเมสสิยาห์หรือพระผู้รับเจิม”)[118]

746      โดยการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพ พระเยซูเจ้าทรงได้รับแต่งตั้งเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าในพระสิริรุ่งโรจน์[119] ในความบริบูรณ์ของพระองค์ พระเยซูคริสตเจ้าทรงหลั่งพระจิตเจ้าลงมาเหนือบรรดาอัครสาวกและพระศาสนจักร

747      พระจิตเจ้าที่พระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นศีรษะ ทรงหลั่งลงมาเหนือส่วนต่างๆ แห่งพระวรกายนี้ ทรงเสริมสร้าง ทรงบันดาลชีวิตและความศักดิ์สิทธิ์แก่พระศาสนจักร พระศาสนจักรนี้เองเป็นเครื่องหมายและเครื่องมือ” (sacrament) แห่งความสัมพันธ์ของพระตรีเอกภาพกับมวลมนุษย์

 

[118] เทียบ สดด 2:6-7.

[119] เทียบ กจ 2:36.