บทที่สาม

มนุษย์ตอบสนองพระเจ้า

 

 142     อาศัยการเปิดเผย “พระเจ้าซึ่งมนุษย์ไม่อาจมองเห็นได้ตรัสกับมนุษย์อย่างเพื่อนด้วยความรักล้นเหลือของพระองค์และประทับอยู่กลางพวกเขาเพื่อจะได้ทรงเชื้อเชิญและรับเขาเข้ามาสนิทกับพระองค์”[1]การตอบสนองการเชิญชวนนี้อย่างเหมาะสมก็คือ “ความเชื่อ”

 143     อาศัยความเชื่อ มนุษย์ถวายสติปัญญาและเจตนาของตนอย่างเต็มที่แด่พระเจ้า มนุษย์ยอมเห็นด้วยกับการเผยของพระองค์ด้วยใจเสรี[2] การตอบสนองของมนุษย์ต่อพระเจ้าผู้ทรงเปิดเผยนี้  พระคัมภีร์เรียกว่า “การยอมรับ (หรือการเชื่อฟัง) ความเชื่อ”[3]

[1] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Dei Verbum, 2: AAS 58 (1966) 818.        

[2] Cf. Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Dei Verbum, 5: AAS 58 (1966) 819.     

[3] เทียบ รม 1:5; 16:20.          

ตอนที่ 1
ข้าพเจ้าเชื่อ

I.  การยอมรับความเชื่อ

I.  การยอมรับความเชื่อ

 144      ในเรื่องความเชื่อ การยอมรับ (หรือการเชื่อฟัง – จากรากศัพท์ ob-audire) คือการมอบตนเองอย่างเสรีให้อยู่ภายใต้พระวาจาที่ได้รับฟัง เพราะพระเจ้าซึ่งทรงเป็นความจริงทรงแสดงความจริงด้วยพระวาจาของพระองค์ พระคัมภีร์เสนออับราฮัมแก่เราให้เป็นแบบอย่างของความเชื่อฟังเช่นนี้ พระนางพรหมจารีมารีย์ทรงเป็นการยอมรับความเชื่อเช่นนี้อย่างสมบูรณ์


อับราฮัม
– “บิดาของทุกคนผู้มีความเชื่อ

 145     จดหมายถึงชาวฮีบรูที่กล่าวยกย่องบรรพบุรุษของอิสราเอลอย่างมากมายได้ย้ำเป็นพิเศษถึงความเชื่อของอับราฮัม “เพราะความเชื่อ อับราฮัมเชื่อฟังเมื่อพระเจ้าทรงเรียกให้ออกเดินทางไปสู่สถานที่ที่เขาจะได้รับเป็นมรดก เขาออกเดินทางโดยไม่รู้ว่าจะไปไหน” (ฮบ 11:8)[4] เพราะความเชื่อ เขาอาศัยอยู่ในแผ่นดินแห่งพระสัญญาอย่างคนต่างถิ่น[5] เพราะความเชื่อ นางซาราห์ได้รับพระพรให้ปฏิสนธิบุตรแห่งพระสัญญา ในที่สุด เพราะความเชื่ออับราฮัมจึงถวายบูชายัญบุตรคนเดียวของตน[6]

 146     ดังนี้ อับราฮัมจึงทำให้คำนิยามความเชื่อที่จดหมายถึงชาวฮีบรูกล่าวไว้เป็นจริง “ความเชื่อคือความมั่นใจในสิ่งที่เราหวังไว้ เป็นข้อพิสูจน์ถึงสิ่งที่มองไม่เห็น” (ฮบ 11:1) “อับราฮัมมีความเชื่อในพระเจ้า และนี่ก็นับได้ว่าเป็นความชอบธรรมสำหรับเขา” (รม 4:3)[7] เพราะ “ได้รับพละกำลังจากความเชื่อ” (รม 4:20) อับราฮัมจึงเป็น “บิดาของผู้มีความเชื่อทุกคน” (รม 4:11,18)[8]

 147     พันธสัญญาเดิมเป็นพยานยืนยันถึงความเชื่อนี้หลายต่อหลายครั้ง จดหมายถึงชาวฮีบรูประกาศยกย่องตัวอย่างความเชื่อที่ “คนในสมัยก่อนเคยมี” (ฮบ 11:2,39) แต่ “พระเจ้าทรงจัดเตรียมสิ่งที่ดีกว่าไว้ให้เรา” นั่นคือพระหรรษทานให้เราเชื่อในพระบุตรของพระองค์ “คือพระเยซูเจ้าผู้ทรงบุกเบิกความเชื่อและทรงทำให้ความเชื่อนั้นสมบูรณ์” (ฮบ 11:40; 12:2)


พระแม่มารีย์
– “ผู้เป็นสุขที่เชื่อ

 148     พระนางพรหมจารีมารีย์ทรงทำให้การยอมรับความเชื่อเป็นจริงอย่างสมบูรณ์ที่สุด พระนางมารีย์ทรงรับข่าวสารและพระสัญญาที่ทูตสวรรค์กาเบรียลนำมาแจ้งให้ทราบด้วยความเชื่อ เพราะทรงเชื่อว่า “ไม่มีสิ่งใดที่พระเจ้าจะทรงกระทำไม่ได้” (ลก 1:37)[9] และทรงน้อมรับพระประสงค์ “ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ขององค์พระผู้เป็นเจ้า ขอให้เป็นไปกับข้าพเจ้าตามวาจาของท่านเถิด” (ลก 1:38) นางเอลีซาเบธก็ทักทายพระนางด้วยถ้อยคำว่า “เธอเป็นสุขที่เชื่อว่าพระวาจาที่องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสแก่เธอไว้จะเป็นจริง” (ลก 1:45) เพราะความเชื่อนี้เองชนทุกสมัยจะกล่าวว่าพระนางเป็นสุข[10]

 149     ตลอดพระชนมชีพของพระนาง และจนถึงการทดสอบครั้งสุดท้าย[11] เมื่อพระเยซูเจ้าพระบุตรต้องสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน ความเชื่อของพระนางก็ไม่คลอนแคลน พระนางมารีย์ไม่ทรงเคยหยุดเชื่อเลยว่าพระวาจาของพระเจ้า “จะต้องสำเร็จเป็นจริง” เพราะเหตุนี้ พระศาสนจักรจึงให้ความเคารพนับถือพระนางมารีย์ว่าทรงเป็นผู้ทำให้ความเชื่อเป็นจริงอย่างสมบูรณ์

[4] เทียบ ปฐก 12:1-4.             

[5] เทียบ ปฐก 23:4.             

[6] เทียบ ฮบ 11:17.

[7] เทียบ ปฐก 15:6.              

[8] เทียบ ปฐก 15:5.              

[9] เทียบ ปฐก 18:14.             

[10] เทียบ ลก 1:48.

[11] เทียบ ลก 2:35.

II.  “ข้าพเจ้ารู้ว่าข้าพเจ้ามอบความวางใจไว้กับผู้ใด” (2 ทธ 1:12)

II.  “ข้าพเจ้ารู้ว่าข้าพเจ้ามอบความวางใจไว้กับผู้ใด” (2 ทธ 1:12)

เชื่อในพระเจ้าเท่านั้น

 150     ก่อนอื่นหมด ความเชื่อเป็นการที่มนุษย์มีความสนิทสัมพันธ์เป็นส่วนตัวกับพระเจ้า พร้อมกันนั้นยังรวมอย่างแยกไม่ออกถึงการเห็นด้วยโดยอิสระกับความจริงทั้งหมดที่พระเจ้าทรงเปิดเผยให้รู้ ความเชื่อของคริสตชน ในฐานะที่เป็นความสนิทสัมพันธ์เป็นส่วนตัวกับพระเจ้าและกับความจริงที่ทรงเปิดเผย จึงแตกต่างกับความเชื่อต่อมนุษย์คนหนึ่ง เป็นการดีและถูกต้องที่จะวางใจต่อพระเจ้าอย่างเต็มที่และเชื่อโดยไม่มีเงื่อนไขต่อเรื่องราวที่พระองค์ตรัส การที่จะมีความเชื่อวางใจเช่นนี้ต่อมนุษย์คนหนึ่งที่เป็นเพียงสิ่งสร้างจึงเป็นเรื่องไร้สาระและไม่ถูกต้อง[12]


เชื่อในพระเยซูคริสตเจ้า
พระบุตรของพระเจ้า

 151     สำหรับคริสตชน การเชื่อในพระเจ้าแยกกันไม่ได้กับการเชื่อในผู้ที่พระเจ้าทรงส่งมา นั่นคือในพระบุตรสุดที่รักซึ่งเป็นที่โปรดปรานของพระองค์[13] พระเจ้าทรงบอกเราให้ฟังองค์พระบุตร[14]  องค์พระผู้เป็นเจ้าเองก็ตรัสกับบรรดาศิษย์ว่า “จงเชื่อในพระเจ้า และเชื่อในเราด้วย” (ยน 14:1) เราอาจเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้าได้เพราะทรงเป็นพระเจ้าด้วย ทรงเป็นพระวจนาตถ์ผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ “ไม่มีใครเคยเห็นพระเจ้าเลย แต่พระบุตรเพียงพระองค์เดียวผู้สถิตในพระอุระของพระบิดานั้นได้ทรงเปิดเผยให้เรารู้” (ยน 1:18) เพราะพระองค์ “ทรงเห็นพระบิดา” (ยน 6:46) ทรงเป็นพระองค์เดียวที่ทรงรู้จักพระบิดาและเปิดเผยพระบิดาได้”[15]


เชื่อในพระจิตเจ้า

 152     เป็นไปไม่ได้ที่คนหนึ่งจะเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้า หากว่าเขาไม่ได้รับพระจิตเจ้า พระจิตเจ้าทรงเปิดเผยให้มนุษย์รู้ว่าพระเยซูเจ้าเป็นใคร เพราะ “หากพระจิตเจ้ามิได้ทรงดลใจก็ไม่มีผู้ใดพูดได้ว่า ‘พระเยซูคือองค์พระผู้เป็นเจ้า’” (1 คร 12:3) “พระจิตเจ้าทรงหยั่งรู้ทุกสิ่งแม้กระทั่งสิ่งที่ลึกล้ำของพระเจ้า [….] ไม่มีผู้ใดล่วงรู้ถึงความคิดของพระเจ้านอกจากพระจิตของพระเจ้า” (1คร 2:10-11) พระเจ้าเท่านั้นทรงรู้จักพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ เราเชื่อในพระจิตเจ้า เพราะพระองค์ทรงเป็นพระเจ้า

           พระศาสนจักรไม่เคยหยุดยั้งที่จะยืนยันความเชื่อของตนในพระเจ้าหนึ่งเดียว  พระบิดา พระบุตรและพระจิตเจ้า

[12] เทียบ ยรม 17:5-6; สดด 40 :5 ; 146 :3-4.

[13] เทียบ มก 1:11.

[14] เทียบ มก 9:7.

[15] เทียบ มธ 11:27.

III. คุณสมบัติของความเชื่อ

III. คุณสมบัติของความเชื่อ

ความเชื่อเป็นพระหรรษทานประการหนึ่ง

 153     เมื่อนักบุญเปโตรประกาศว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต พระเยซูเจ้าทรงบอกเขาว่าเขามีความรู้นี้ไม่ใช่จากมนุษย์ แต่จากพระบิดาของพระองค์ “ผู้สถิตในสวรรค์” (มธ 16:17)[16] ความเชื่อเป็นของประทานจากพระเจ้า เป็นคุณธรรมเหนือธรรมชาติที่พระเจ้าประทานให้ “เราจะแสดงความเชื่อเช่นนี้ได้ก็จำเป็นต้องมีพระหรรษทานของพระเจ้านำหน้าคอยช่วยเหลือ และมีพระจิตเจ้าคอยอนุเคราะห์อยู่ภายใน พระจิตเจ้าทรงเร้าจิตใจและทรงโน้มน้าวให้หันกลับมาหาพระเจ้า ทรงเปิดนัยน์ตาของสติปัญญาและประทาน ให้กับทุกคนซึ่งความยินดีที่จะยอมรับความจริงและเชื่อความจริงนั้น[17]


ความเชื่อเป็นการกระทำอย่างมนุษย์
(Human act)

 154     เป็นไปไม่ได้ที่จะมีความเชื่อถ้าไม่ได้รับความช่วยเหลือภายในของพระจิตเจ้า เป็นความจริงไม่น้อยกว่าเลยว่าการมีความเชื่อเป็นการกระทำอย่างมนุษย์จริงๆ ไม่เป็นการขัดแย้งกับอิสรภาพและสติปัญญาของมนุษย์เลยที่จะวางใจต่อพระเจ้าและยึดมั่นต่อความจริงที่พระองค์ทรงเปิดเผยให้เราทราบ ในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน การเชื่อสิ่งที่มนุษย์คนอื่นบอกเราเกี่ยวกับตนเองและเจตนาของตน รวมทั้งการเชื่อคำสัญญาของเขาเพื่อจะเข้ามาร่วมมีความสัมพันธ์ต่อกัน (เช่นเมื่อชายและหญิงสมรสกัน)  ก็ไม่ขัดกับศักดิ์ศรีของเรา ดังนั้น จึงยิ่งไม่ขัดกับศักดิ์ศรีของเรายิ่งขึ้น “ที่เราจะมอบความนอบน้อมอย่างเต็มเปี่ยมของสติปัญญาและเจตนาของเราด้วยความเชื่อแด่พระเจ้าผู้ทรงเปิดเผย”[18] และดังนี้จึงเข้าไปมีความสนิทสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระองค์

 155     ในความเชื่อ สติปัญญาและเจตนาของมนุษย์ทำงานร่วมกับพระหรรษทานของพระเจ้า “การเชื่อเป็นกิจกรรมของสติปัญญาที่เห็นด้วยกับความจริงของพระเจ้าตามคำสั่งของเจตนาที่พระเจ้าทรงปลุกเร้าด้วยพระหรรษทาน”[19]


ความเชื่อและสติปัญญา

 156     แรงบันดาลใจให้เชื่อไม่อยู่ที่ว่าความจริงที่พระเจ้าทรงเปิดเผยให้ทราบนั้นปรากฏว่าจริงและเข้าใจได้อาศัยแสงสว่างของเหตุผลตามธรรมชาติของเรา เราเชื่อ “เพราะอำนาจของพระเจ้าผู้ทรงเปิดเผยนั้นเอง พระองค์ไม่อาจทรงหลอกลวงผู้ใดและไม่มีผู้ใดหลอกลวงพระองค์ได้”[20] “ถึงกระนั้น ‘เพื่อให้การยอมรับความเชื่อของเราสอดคล้องกับเหตุผล’ พระเจ้าจึงทรงปรารถนาประทานข้อพิสูจน์ภายนอกเกี่ยวกับการเปิดเผยของพระองค์มาร่วมกับความช่วยเหลือภายในของพระจิตเจ้าอีกด้วย”[21] ดังนั้น การอัศจรรย์ของพระคริสตเจ้าและบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์[22] การประกาศพระวาจา การขยายตัวและความศักดิ์สิทธิ์ ความเจริญก้าวหน้าและความมั่นคงของพระศาสนจักร “จึงเป็นเครื่องหมายแน่ชัดที่สุดของการเปิดเผยของพระเจ้า และเครื่องหมายนี้ก็เป็นสิ่งที่สติปัญญาของทุกคนเข้าใจได้”[23] แสดงพลังบันดาลใจของความน่าเชื่อถือว่า “การเห็นด้วยกับความเชื่อไม่ใช่แรงผลักดันที่มืดบอดของจิตใจ”[24]

 157     ความเชื่อมีความชัดเจน ชัดเจนยิ่งกว่าความรู้ทุกอย่างของมนุษย์ เพราะมีรากฐานตั้งอยู่บนพระวาจาของพระเจ้าผู้ไม่อาจตรัสมุสาได้ ใช่แล้ว ความจริงต่างๆ ที่ทรงเปิดเผยอาจดูเหมือนว่าคลุมเครือสำหรับเหตุผลและประสบการณ์ของมนุษย์ แต่ “ความชัดเจนที่ได้มาอาศัยแสงสว่างของพระเจ้าย่อมยิ่งใหญ่กว่าความชัดเจนที่ได้มาอาศัยแสงสว่างของเหตุผลตามธรรมชาติ”[25] “ข้อความที่เข้าใจยากหมื่นข้อความไม่ทำให้เกิดความสงสัยหนึ่งข้อ”[26]

 158     “ความเชื่อแสวงหาความเข้าใจ:[27] คุณสมบัติประการหนึ่งของความเชื่อก็คือผู้มีความเชื่อย่อมปรารถนาจะรู้จักผู้ที่เขามอบความเชื่อถืออยู่ให้มากยิ่งขึ้นและปรารถนาจะเข้าใจความจริงที่เขาเปิดเผยให้รู้นั้นดีขึ้น โดยธรรมชาติแล้ว ความรู้ที่ยิ่งลึกซึ้งจะนำความเชื่อมากขึ้นมากับตน เป็นความเชื่อที่ความรักย่อมจุดให้ลุกเป็นไฟมากยิ่งขึ้นเสมอ พระหรรษทานความเชื่อย่อมเปิด “ตาแห่งใจ” (อฟ 1:18) ให้เข้าใจอย่างคล่องตัวเกี่ยวกับความจริงที่พบได้ในการเปิดเผย ซึ่งหมายถึงความเข้าใจแผนการของพระเจ้าและธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่อทั้งหมดว่ามีความสัมพันธ์อย่างไรระหว่างกันและกับพระคริสตเจ้าศูนย์กลางแห่งธรรมล้ำลึกที่ได้รับการเปิดเผย “พระจิตเจ้า ประทานพระคุณนานาประการอยู่ตลอดเวลาเพื่อความเข้าใจข้อความจริงที่พระเจ้าทรงเผยให้ทราบนั้นจะได้ก้าวหน้าลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้น”[28] ดังที่นักบุญออกัสตินเคยกล่าวไว้ว่า “จงเข้าใจเพื่อจะได้เชื่อ จงเชื่อเพื่อจะได้เข้าใจ”[29]

 159     ความเชื่อและความรู้  “เป็นความจริงว่าแม้ความเชื่อจะอยู่เหนือเหตุผล แต่ก็ไม่เคยมีความขัดแย้งแท้จริงได้เลยระหว่างความเชื่อกับเหตุผล เพราะพระเจ้าองค์เดียวกันที่ทรงเปิดเผยธรรมล้ำลึกและทรงหลั่งความเชื่อ ก็ประทานแสงสว่างของเหตุผลในใจมนุษย์ด้วย พระเจ้าคงไม่อาจปฏิเสธพระองค์เอง และขัดแย้งกับความจริงได้เลย”[30] “ดังนั้น การค้นคว้าอย่างเป็นระบบในวิชาการต่างๆ ถ้าดำเนินไปตามหลักวิชาการจริงๆ และตามกฎศีลธรรม จึงจะไม่มีวันขัดแย้งจริงๆเลยกับความเชื่อ เพราะทุกสิ่งทั้งทางโลกและที่เกี่ยวกับความเชื่อล้วนสืบเนื่องมาจากพระเจ้าองค์เดียวกัน ยิ่งกว่านั้น ผู้ที่พยายามค้นคว้าความลึกลับของสิ่งต่างๆ ด้วยใจที่ถ่อมตนและมั่นคงก็ถูกจูงโดยไม่รู้ตัวประหนึ่งจากพระหัตถ์ของพระเจ้าผู้ทรงดูแลทุกสิ่ง ทรงทำให้ทุกสิ่งเป็นอยู่อย่าง   ที่เป็น”[31]


เสรีภาพของความเชื่อ

 160     เพื่อให้การตอบสนองความเชื่อเป็นการกระทำอย่างมนุษย์ “ก่อนอื่นหมด มนุษย์ต้องตอบสนองต่อพระเจ้าโดยเชื่อจากใจจริง จึงไม่ต้องมีผู้ใดถูกบังคับให้ยอมรับความเชื่อ เพราะการแสดงความเชื่อนั้นโดยธรรมชาติแล้วต้องเป็นการกระทำโดยสมัครใจ”[32] “พระเจ้าทรงเรียกมนุษย์ให้มารับใช้พระองค์ด้วยจิตและความจริง มนุษย์จึงมีพันธะผูกมัดอยู่ในมโนธรรม แต่ไม่ใช่ถูกบังคับ […] ความจริงประการนี้ปรากฏชัดอย่างยิ่งในพระเยซูคริสตเจ้า”[33] พระคริสตเจ้าทรงเชิญทุกคนให้กลับใจ แต่ก็มิได้ทรงบังคับโดยวิธีใดเลย “พระองค์ทรงเป็นพยานถึงความจริง แต่ไม่ทรงปรารถนาจะใช้กำลังบังคับผู้ที่ขัดขืนความจริง เพราะพระอาณาจักรของพระองค์ […] เจริญเติบโตขึ้น [….] ด้วยความรักที่พระคริสตเจ้า เมื่อทรงถูกยกขึ้นตรึงบนไม้กางเขน ทรงใช้เพื่อดึงดูดมนุษย์ทุกคนมาหาพระองค์”[34]


จำเป็นต้องมีความเชื่อ

 161     ความเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้าและในพระองค์ผู้ทรงส่งพระองค์ท่านมาเพื่อช่วยเราให้รอดพ้น เป็นสิ่งที่จำเป็นที่เราต้องมีเพื่อรับความรอดพ้นนี้[35] “เพราะ ‘ถ้าไม่มีความเชื่อแล้ว จะเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าไม่ได้เลย’ (ฮบ 11:6) ดังนั้น จึงไม่มีผู้ใดจะเข้ามามีส่วนร่วมกับบรรดาบุตรของพระองค์ได้โดยไม่ได้รับความชอบธรรม และไม่มีผู้ใดนอกจาก ‘ผู้ที่ยืนหยัดจนถึงวาระสุดท้าย’ (มธ 10:22; 24:13) ที่จะได้รับชีวิตนิรันดร”[36]

 

การยืนหยัดในความเชื่อ

 162     ความเชื่อเป็นของประทานที่พระเจ้าประทานให้เปล่าๆ เราอาจสูญเสียของประทานล้ำค่านี้ได้ นักบุญเปาโลเตือนทิโมธีว่า “ข้าพเจ้าขอแนะนำท่าน [….] เพื่อท่านจะได้ [....] ต่อสู้อย่างกล้าหาญ โดยยึดความเชื่อและมโนธรรมที่ดีไว้ บางคนละทิ้งมโนธรรมที่ดี ความเชื่อของเขาจึงต้องพินาศ” (1ทธ 1:18-19) เพื่อจะมีชีวิต มีความเชื่อ และยืนหยัดในความเชื่อจนถึงวาระสุดท้าย เราต้องได้รับการเลี้ยงดูด้วยพระวาจาของพระเจ้า เราต้องอธิษฐานภาวนาต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าให้พระองค์ทรงเพิ่มพูนความเชื่อให้แก่เรา[37] ความเชื่อต้องแสดงออกเป็นการกระทำ “อาศัยความรัก” (กท 5:6)[38] ต้องได้รับการส่งเสริมจากความหวัง[39] และฝังรากอยู่ในความเชื่อของพระศาสนจักร


ความเชื่อ
จุดเริ่มของชีวิตนิรันดร

 163     ความเชื่อทำให้เราได้ลิ้มรสความยินดีและแสงสว่างของการแลเห็นพระเจ้าที่บันดาลความบรมสุขแล้วเป็นการชิมลางล่วงหน้า การแลเห็นพระเจ้าเช่นนี้เป็นจุดหมายปลายทางของการเดินทางในโลกนี้ เวลานั้นเราจะเห็นพระเจ้า “เหมือนพระองค์ทรงอยู่ต่อหน้าเรา” (1 คร 13:12) “อย่างที่พระองค์ทรงเป็น” (1 ยน 3:2) ความเชื่อจึงเป็นจุดเริ่มของชีวิตนิรันดร

             “พวกเรากำลังรอคอยพระพรที่ทรงสัญญาไว้ให้เราแล้วด้วยความเชื่อ เราก็เป็นเสมือนผู้ที่มองเห็นพระหรรษทานเหล่านี้เสมือนในกระจกเงา ประหนึ่งว่าพระพรที่จะได้รับในอนาคตนี้อยู่ต่อหน้าเราแล้ว”[40]

 164    แต่บัดนี้ “เราดำเนินชีวิตด้วยความเชื่อ มิใช่ตามที่มองเห็น” (2 คร 5:7) และรู้จักพระเจ้า “เพียงรางๆ เหมือนเห็นในกระจกเงา [....] อย่างไม่สมบูรณ์” (1คร 13:12) ถึงแม้ความเชื่อจะโชติช่วงสว่างไสวจากพระองค์ที่เรามีความเชื่อ แต่บ่อยๆ ชีวิตความเชื่อก็มืดมัว ความเชื่ออาจถูกทดสอบได้ โลกซึ่งเป็นที่อาศัยของเรา บ่อยๆ มักจะดูเหมือนว่าอยู่ห่างไกลจากสิ่งที่ความเชื่อบอกไว้ ประสบการณ์ความชั่วร้ายและความเจ็บปวด ความอยุติธรรมมากมายและความตายดูเหมือนว่าขัดแย้งกับข่าวดี สิ่งเลวร้ายเหล่านี้อาจทำให้ความเชื่อสั่นคลอนและเป็นการผจญให้เราปฏิเสธความเชื่อได้

 165    เราจึงต้องหันเข้าหาบรรดาพยานแห่งความเชื่อ ดังเช่นอับราฮัม “ผู้ที่แม้ดูเหมือนจะไม่มีความหวัง...แต่ก็ยังหวังและเชื่อ” (รม 4:18) เราต้องหันเข้าหาพระนางพรหมจารีมารีย์ซึ่ง “ในหนทางแห่งความเชื่อ”[41] ได้ทรงดำเนินไปจนถึง “กลางคืนแห่งความเชื่อ”[42] โดยทรงมีส่วนร่วมความทรมานขององค์พระบุตรจนถึงพระคูหาที่เป็นเสมือนกลางคืนมืดมิด[43] เรายังต้องเข้าหาพยานแห่งความเชื่อคนอื่นอีกหลายคน “พวกเราก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีพยานจำนวนมากห้อมล้อมอยู่ เราจงละทิ้งทุกสิ่งที่ถ่วงอยู่และบาปที่เกาะแน่น เราจงมีมานะวิ่งต่อไปในการแข่งขันซึ่งกำหนดไว้สำหรับเรา จงเพ่งมองไปยังพระเยซูเจ้าผู้ทรงบุกเบิกความเชื่อและทรงทำให้ความเชื่อนั้นสมบูรณ์” (ฮบ 12:1-2)

[16]   เทียบ กท 1:15-16;  มธ 11:25.

[17] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Dei Verbum, 5: AAS 58 (1966) 819.        

[18] Concilium Vaticanum I, Const. dogm. Dei Filius,  c.3: DS 3008.   

[19] Sanctus Thomas Aquinas, Summa Theologiae  2,2, q. 2, a. 9, c: Ed. Leon. 8, 7;  cf. Concilium Vaticanum I, Const. dogm. Dei Filius,  c.3: DS 3010.

[20] Concilium Vaticanum I, Const. dogm. Dei Filius,  c.3: DS 3008.   

[21] Concilium Vaticanum I, Const. dogm. Dei Filius,  c.3: DS 3009.   

[22] เทียบ มก 16 :20 ; ฮบ 2:4.     

[23] Concilium Vaticanum I, Const. dogm. Dei Filius,  c.3: DS 3009.   

[24] Concilium Vaticanum I, Const. dogm. Dei Filius,  c.3: DS 3010.   

[25] Sanctus Thomas Aquinas, Summa theologiae 2-2. Q.171, a. 5, 3um: Ed. Leon. 10, 373.              

[26] Iannes Henricus Newman, Apologia pro vita sua, c. 5, ed. M.J. Svaglic (Oxford 1976) p. 210.       

[27] Sanctus Anselmus Cantuarensis, Proslogion, Prooemium: Opera Omnia, ed. F.S. Schmitt, v. 1 (Edinburghi 1946) p. 94.

[28] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Dei Verbum, 5: AAS 58 (1966) 819.       

[29] Sanctus Augustinus,  Sermo  43, 7, 9: CCL 41, 512 (PL 38, 258).

[30] Concilium Vaticanum I, Const. dogm. Dei Filius,  c. 4: DS 3017.  

[31] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes,  36: AAS 58 (1966) 1054.

[32] Concilium Vaticanum II, Decl. Dignitatis humanae, 10: AAS 58 (1966) 936; cf. CIC canon 748 # 2. 

[33] Concilium Vaticanum II, Decl. Dignitatis humanae, 11: AAS 58 (1966) 936.       

[34] Concilium Vaticanum II, Decl. Dignitatis humanae, 11: AAS 58 (1966) 937.       

[35] เทียบ มก 16:16; ยน 3:36; 6:40  และที่อื่นๆ.Concilium Vaticanum I, Const. dogm. Dei Filius,  c. 4: DS 3017.           

[36] Concilium Vaticanum I, Const. dogm. Dei Filius,  c. 3: DS 3012; cf. Concilium Tridentinum, Sess 6a, Decretum de iustificatione, c 8: DS 1532.

[37] เทียบ มก 9:24; ลก 17:5; 22:32.             

[38] เทียบ ยก 2:14-26.           

[39] เทียบ รม 15:13.             

[40] Sanctus Basilius Magnus, Liber de Spiritu Sancto, 15, 36: SC 17bis, 370 (PG 32, 132); cf. Sanctus Thomas Aquinas, Summa theologiae  2-2, q. 4, a.1,c: Ed. Leon. 8, 44.  

[41] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 58: AAS 57 (1965) 61.    

[42] Cf. Ioannes Paulus II, Litt. Enc. Redemptoris  Mater, 17: AAS 79 (1987) 381.

[43] Cf. Ioannes Paulus II, Litt. Enc. Redemptoris  Mater, 18: AAS 79 (1987) 381-383.

ตอนที่ 2
ข้าพเจ้าทั้งหลายเชื่อ

 166     ความเชื่อเป็นกิจการส่วนตัว เป็นการที่มนุษย์ตอบสนองการริเริ่มของพระเจ้าผู้ทรงเปิดเผยพระองค์ แต่ความเชื่อไม่ใช่กิจการที่แยกอยู่โดดเดี่ยว ไม่มีใครมีความเชื่อได้เพียงคนเดียวเหมือนกับที่ไม่มีใครมีชีวิตอยู่ได้เพียงคนเดียว ไม่มีใครให้ความเชื่อแก่ตนเอง เหมือนกับไม่มีใครให้ชีวิตแก่ตนเอง ผู้มีความเชื่อย่อมรับความเชื่อมาจากผู้อื่นและต้องถ่ายทอดความเชื่อนั้นต่อไปแก่ผู้อื่น ความรักที่เรามีต่อพระเยซูเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์ย่อมผลักดันเราให้พูดถึงความเชื่อของเราแก่ผู้อื่น ผู้มีความเชื่อแต่ละคนเป็นเสมือนแหวนวงหนึ่งในโซ่ใหญ่ของผู้มีความเชื่อทั้งหลาย ข้าพเจ้าไม่อาจมีความเชื่อได้นอกจากจะได้รับความค้ำจุนจากความเชื่อของผู้อื่น และจากความเชื่อของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็นำความเชื่อไปช่วยพยุงความเชื่อของผู้อื่นด้วย

 167      วลี “ข้าพเจ้าเชื่อ”[44] เป็นความเชื่อของพระศาสนจักรที่ผู้มีความเชื่อแต่ละคนประกาศ โดยเฉพาะเมื่อเขารับศีลล้างบาป วลี “ข้าพเจ้าทั้งหลายเชื่อ” (หรือ “พวกเราเชื่อ”)[45]เป็นความเชื่อของพระศาสนจักรที่บรรดาพระสังฆราชซึ่งมาประชุมกันประกาศในสภาสังคายนา หรือโดยทั่วไปที่ประชุมของผู้มีความเชื่อประกาศในพิธีกรรม เมื่อเรากล่าวว่า “ข้าพเจ้าเชื่อ” ก็ยังเป็นพระศาสนจักรมารดาของเราด้วยที่ตอบสนองต่อพระเจ้าด้วยความเชื่อของตน และสอนเราให้กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเชื่อ” “ข้าพเจ้าทั้งหลายเชื่อ”

[44] Symbolum Apostolicum: DS 30.

[45] Symbolum Nicaenum-Constantinopolitanm: DS 150 (ในตัวบทดั้งเดิมภาษากรีก)        

I.  “ข้าแต่พระเจ้า โปรดทอดพระเนตรความเชื่อของพระศาสนจักรของพระองค์”

I.    “ข้าแต่พระเจ้า โปรดทอดพระเนตรความเชื่อของพระศาสนจักรของพระองค์

 168 พระศาสนจักรมีความเชื่อก่อน และดังนี้จึงแนะนำ หล่อเลี้ยงและช่วยพยุงความเชื่อของฉัน  ก่อนอื่นพระศาสนจักรประกาศองค์พระผู้เป็นเจ้าทั่วทุกแห่งหน (พวกเขาขับร้องว่า “Te per orbem terrarum sancta confitetur Ecclesia”, ซึ่งแปลว่า “พระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์ประกาศถึงพระองค์ไปทั่วโลก” ในบท “Te Deum”) และพร้อมกับพระศาสนจักรและในพระศาสนจักร พวกเราก็ได้รับการผลักดันและแนะนำให้ร้องประกาศเช่นเดียวกันด้วยว่า “ข้าพเจ้าเชื่อ” “ข้าพเจ้าทั้งหลายเชื่อ” พวกเรารับความเชื่อและชีวิตใหม่ในพระคริสตเจ้ามาจากพระศาสนจักรโดยศีลล้างบาป ตามหนังสือ “จารีตโรมัน” ผู้ประกอบพิธีศีลล้างบาปถามผู้ประสงค์จะรับศีลว่า “ท่านขออะไรจากพระศาสนจักรของพระเจ้า?” คำตอบก็คือ “ขอความเชื่อ” – “ความเชื่อให้อะไรแก่ท่าน?” – “ให้ชีวิตนิรันดร”[46]

 169 ความรอดพ้นมาจากพระเจ้าเท่านั้น แต่เพราะเรารับชีวิตความเชื่อผ่านทางพระศาสนจักร พระศาสนจักรจึงเป็นมารดาของเรา “เราเชื่อพระศาสนจักรในฐานะมารดาของการบังเกิดใหม่ ไม่ใช่เชื่อในพระศาสนจักรในฐานะผู้บันดาลความรอดพ้น”[47] เพราะพระศาสนจักรเป็นมารดาของเรา พระศาสนจักรจึงเป็นผู้อบรมสั่งสอนความเชื่อของเราด้วย

[46] Ordo initiationis christianae adultorum, 75, ed. Typica (Typis Polyglottis Vaticanis 1972) p. 24; Ibid., 247, p. 91.        

[47] Faustus Reiensis, De Spiritu Sancto 1, 2: CSEL 21, 104 (1,1: PL 62, 11).           

II.  ภาษาของความเชื่อ

II.  ภาษาของความเชื่อ

 170 เราไม่มีความเชื่อในสูตร แต่เชื่อในเรื่องที่สูตรเหล่านั้นแสดงออกและในสิ่งที่ความเชื่อยอมให้เรา “สัมผัส”  “กิจการของผู้มีความเชื่อไม่จบที่ข้อความที่กล่าวออกมา แต่จบที่ความเป็นจริงซึ่งถูกกล่าวถึง”[48] ถึงกระนั้น เราก็เข้ามาใกล้กับความเป็นจริงเหล่านั้นที่ช่วยให้เราแต่งสูตรซึ่งช่วยให้แสดงและถ่ายทอดความเชื่อ ให้เฉลิมฉลองความเชื่อในชุมชน ให้เราทำให้ความเชื่อนั้นเป็นของตนและช่วยให้เราดำเนินชีวิตจากความเชื่อนั้นมากยิ่งขึ้น

 171 พระศาสนจักรซึ่งเป็น “หลักและรากฐานของความจริง” (1 ทธ 3:15) ปกป้องความเชื่อที่พระเจ้าประทานแก่บรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ครั้งเดียวตลอดไป[49]ไว้อย่างซื่อสัตย์ พระศาสนจักรเป็นผู้รักษาเรื่องราวเกี่ยวกับพระคริสตเจ้าและการประกาศยืนยันความเชื่อของบรรดาอัครสาวกไว้และถ่ายทอดแก่อนุชนรุ่นต่อๆ มา มารดาย่อมสอนบุตรให้พูด เข้าใจและสื่อสารกับผู้อื่นได้ฉันใด พระศาสนจักรมารดาของเราก็สอนภาษาความเชื่อให้เราเข้าใจและแนะนำให้เราดำเนินชีวิตตามความเชื่อนั้น

[48] Sanctus Thomas Aquinas, Summa theologiae 2-2, q. 1, a. 2, ad 2: Ed. Leon. 8, 11.   

[49] เทียบ ยด 1:3.

III. ความเชื่อหนึ่งเดียว

III. ความเชื่อหนึ่งเดียว

 172     ตลอดมาทุกศตวรรษในอดีต พระศาสนจักรไม่เคยหยุดยั้งที่จะประกาศความเชื่อหนึ่งเดียวของตนเป็นภาษา วัฒนธรรม ประชากรและชนชาติหลากหลาย พระศาสนจักรได้รับความเชื่อหนึ่งเดียวนี้มาจากองค์พระผู้เป็นเจ้าพระองค์เดียว ถ่ายทอดโดยศีลล้างบาปหนึ่งเดียว ฝังรากอยู่ในความมั่นใจว่ามนุษย์ทุกคนมีพระเจ้าและพระบิดาเพียงพระองค์เดียว[50] นักบุญอีเรเนอุสแห่งลียง พยานความเชื่อนี้ ประกาศไว้ว่า

 173     “พระศาสนจักรที่แผ่ขยายไปทั่วโลกจนสุดปลายแผ่นดิน และได้รับความเชื่อนี้มาจากบรรดาอัครสาวกและศิษย์ของท่าน [….] รักษาคำเทศน์สอน [….] ความเชื่อ [….]นี้ไว้อย่างเอาใจใส่เหมือนผู้อาศัยอยู่ในบ้านเดียว และมีความเชื่อเช่นเดียวกันกับท่านเหล่านี้ นั่นคือเสมือนกับว่ามีจิตเดียวใจเดียว ประกาศสอนเป็นเสียงเดียวกันประหนึ่งว่ามีปากเดียว”[51]

 174     “แม้ว่าทั่วโลกมีภาษาแตกต่างกัน แต่สาระของธรรมประเพณีก็มีหนึ่งเดียวเหมือนกัน ความเชื่อและธรรมประเพณีของพระศาสนจักรที่ตั้งอยู่ในเยอรมนีก็ไม่แตกต่างจากความเชื่อและธรรมประเพณีในสเปน ไม่แตกต่างจากของชาวเชลติกและไม่แตกต่างจากในดินแดนตะวันออก ในอียิปต์และในลีเบีย และไม่แตกต่างจากพระศาสนจักรที่ตั้งอยู่ที่ใจกลางโลก”[52] “การเทศน์สอนของพระศาสนจักรจริงและมั่นคง แสดงให้เห็นแนวทางความรอดพ้นหนึ่งเดียวที่เหมือนกันทั่วโลก”[53]

 175      “เรารักษาความเชื่อที่ได้รับมาจากพระศาสนจักร ความเชื่อนี้มาจากพระจิตของพระเจ้าตลอดเวลา เป็นเสมือนคลังสมบัติล้ำค่าบรรจุอยู่ในภาชนะดีเลิศและสดชื่นอยู่เสมอและทำให้ภาชนะที่บรรจุนั้นสดใหม่อยู่เสมอด้วย”[54]

[50] เทียบ อฟ 4:4-6

[51] Sanctus Irenaeus Lugdunensis, Adversus haereses  1, 10, 1-2: SC 264, 154-158 (PG 7, 550-551).    

[52] Sanctus Irenaeus Lugdunensis, Adversus haereses  1, 10, 2: SC 264, 158-160 (PG 7, 531-534).

[53] Sanctus Irenaeus Lugdunensis, Adversus haereses  5, 20, 1: SC 153, 254-256 (PG 7, 1177).         

[54] Sanctus Irenaeus Lugdunensis, Adversus haereses  3, 24, 1: SC 211, 472 (PG 7, 966).             

สรุป

สรุป

 176      ความเชื่อเป็นความสัมพันธ์สมบูรณ์ส่วนตัวของมนุษย์กับพระเจ้าผู้ทรงเปิดเผยพระองค์ ความสัมพันธ์นี้ครอบคลุมสติปัญญาและเจตนาทั้งหมดเห็นพ้องด้วยกับการเปิดเผยที่พระเจ้าทรงแสดงออกด้วยกิจการและพระวาจาให้มนุษย์รู้เกี่ยวกับพระองค

 177      “เชื่อจึงหมายถึงความสัมพันธ์สองประการ คือ ความสัมพันธ์กับบุคคล และความสัมพันธ์กับความจริง ความสัมพันธ์กับความจริงเกิดจากความเชื่อถือต่อบุคคลที่เป็นพยานถึงความจริงนี้

 178      เราต้องไม่เชื่อผู้ใดอื่นนอกจากในพระเจ้า พระบิดา พระบุตร และพระจิตเจ้า

 179      ความเชื่อเป็นของประทานเหนือธรรมชาติจากพระเจ้า เพื่อจะมีความเชื่อได้มนุษย์จึงต้องการความช่วยเหลือของพระจิตเจ้า

 180      “เชื่อเป็นการกระทำอย่างมนุษย์ โดยมีจิตสำนึกและอย่างอิสระเสรี จึงสอดคล้องกับศักดิ์ศรีของมนุษย์ที่เป็นบุคคล

 181      “เชื่อเป็นกิจกรรมของพระศาสนจักร ความเชื่อของพระศาสนจักรมาก่อน ให้กำเนิด คอยพยุง และหล่อเลี้ยงความเชื่อของเรา พระศาสนจักรเป็นเสมือนมารดาของทุกคนผู้มีความเชื่อจะมีพระเจ้าเป็นพระบิดาไม่ได้ ถ้าไม่มีพระศาสนจักรเป็นมารดา[55]

 182      “เราเชื่อทุกสิ่งที่อยู่ในพระวาจาของพระเจ้า เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรหรือถ่ายทอดสืบต่อกันมาและพระศาสนจักร [….] เสนอให้เชื่อในฐานะที่ได้รับการเปิดเผยจากพระเจ้า[56]

 183      ความเชื่อจำเป็นสำหรับความรอด องค์พระผู้เป็นเจ้าเองทรงยืนยันว่าผู้ที่เชื่อและรับศีลล้างบาปก็จะรอดพ้น ผู้ที่ไม่เชื่อจะถูกตัดสินลงโทษ” (มก 16:16)

 184      “ความเชื่อ [….] เป็นการชิมรสล่วงหน้าอย่างหนึ่งถึงความรู้ที่จะทำให้เรามีความสุขในชีวิตหน้า[57]

[55] Sanctus Cyprianus Carthaginiensis,  De Ecclesiae catholicae unitate,  6: CCL 3, 253 (PL 4, 519).     

[56] Paulus VI, Sollemnis Professio fidei,  20: AAS 60 (1968) 441.   

[57] Sanctus Thomas Aquinas,  Compendium  theologiae,  1, 2: Ed. Leon. 42, 83.       

                                              สูตรยืนยันความเชื่อ

สูตรยืนยันความเชื่อของอัครสาวก58

 

 

ข้าพเจ้าเชื่อในพระเจ้า

พระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพ

ทรงเนรมิรฟ้าดิน

 

ข้าพเจ้าเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรหนึ่งเดียวของพระเจ้า

องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้าทั้งหลาย

 

 

 

 

 

 

ทรงปฏิสนธิเดชะพระจิตเจ้า

ทรงบังเกิดจากพระนางมารีย์พรหมจารี

 

ทรงรับทรมานสมัยปอนทิอัสปิลาต ทรงถูกตรึงกางเขน

สิ้นพระชนม์และทรงถูกฝังไว้ เสด็จสู่แดนมรณะ

วันที่สามทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย

เสด็จสู่สวรรค์ ประทับเบื้องขวาพระเจ้าพระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพ

แล้วจะเสด็จมาพิพากษาผู้เป็นและผู้ตาย

 

ข้าพเจ้าเชื่อในพระจิตเจ้า

 

 

 

 

พระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์สากล

ความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวของผู้ศักดิ์สิทธิ์

การอภัยบาป

การกลับคืนชีพของร่างกาย

และชีวิตนิรันดร

อาเมน

สูตรยืนยันความเชื่อ

ของสภาสังคายนานิเชอา-คอนสแตนติโนเปิล59

 

ข้าพเจ้าเชื่อในพระเจ้าหนึ่งเดียว

พระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพ

เนรมิตฟ้าดิน ทั้งสิ่งที่เห็นได้และเห็นไม่ได้

 

ข้าพเจ้าเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรหนึ่งเดียวของพระเจ้า

ทรงบังเกิดจากพระบิดาก่อนกาลเวลา ทรงเป็นพระเจ้าจากพระเจ้า

ทรงเป็นองค์ความสว่างจากองค์ความสว่าง

ทรงเป็นพระเจ้าแท้จากพระเจ้าแท้

มิได้ทรงถูกสร้าง แต่ทรงบังเกิดร่วมพระธรรมชาติเดียวกับพระบิดา

อาศัยพระบุตรนี้ ทุกสิ่งได้รับการเนรมิตขึ้นมา

เพราะเห็นแก่เรามนุษย์ เพื่อทรงช่วยเราให้รอด

พระองค์จึงเสด็จจากสวรรค์

พระองค์ทรงรับสภาพมนุษย์จากพระนางมารีย์พรหมจารีด้วย
พระอานุภาพของพระจิตเจ้า

และทรงบังเกิดเป็นมนุษย์

สมัยปอนทิอัสปิลาต พระองค์ทรงถูกตรึงกางเขนเพื่อเรา

พระองค์สิ้นพระชนม์และถูกฝังไว้

ทรงกลับคืนพระชนมชีพในวันที่สามตามความในพระคัมภีร์

เสด็จสู่สวรรค์ ประทับเบื้องขวาพระบิดา

พระองค์จะเสด็จมาอีกด้วยพระสิริรุ่งโรจน์

เพื่อทรงพิพากษาผู้เป็นและผู้ตาย  รัชสมัยของพระองค์จะไม่สิ้นสุด

ข้าพเจ้าเชื่อในพระจิต พระเจ้าผู้ทรงบันดาลชีวิต

ทรงเนื่องมาจากพระบิดาและพระบุตร

ทรงรับการถวายสักการะและพระสิริรุ่งโรจน์ร่วมกับพระบิดาและ

พระบุตร

พระองค์ดำรัสทางประกาศก

ข้าพเจ้าเชื่อว่ามีพระศาสนจักรหนึ่งเดียว ศักดิ์สิทธิ์ สากล

และสืบเนื่องจากอัครสาวก

ข้าพเจ้าประกาศยืนยันว่ามีศีลล้างบาปหนึ่งเดียวเพื่ออภัยบาป

ข้าพเจ้ารอวันที่ผู้ตายจะกลับคืนชีพ

และคอยชีวิตในโลกหน้า

อาเมน


58 Symbolum Apostolicum: DS 30

59 Symbolum Nicaenum-Constantinopolitanum: DS 150.