ตอนที่สอง
ศีลกำลัง
1285 ศีลกำลัง พร้อมกับศีลล้างบาปและศีลมหาสนิท รวมเป็นชุด “ศีลของกระบวนการรับเข้าเป็นคริสตชน” ที่เราต้องรักษาเอกภาพไว้ ดังนั้น จึงต้องอธิบายให้บรรดาผู้มีความเชื่อเข้าใจว่าการรับศีลนี้จำเป็นเพื่อความสมบูรณ์ของพระหรรษทานของศีลล้างบาป[90] ผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้ว “โดยอาศัยศีลกำลัง มีความสัมพันธ์สมบูรณ์ยิ่งขึ้นกับพระศาสนจักร รับพลังพิเศษของพระจิตเจ้า และดังนี้จึงมีพันธะยิ่งขึ้นที่จะปกป้องความเชื่อในฐานะพยานแท้จริงของพระคริสตเจ้า พร้อมทั้งเผยแผ่ความเชื่อนี้ทั้งด้วยวาจาและกิจการ”[91]
[90] Cf Ordo Confirmationis, Praenotanda 1 (Typis Polyglottis Vaticanis 1973) p. 16.
[91] Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 11: AAS 57 (1965) 15; cf Ordo Confirmationis, Praenotanda 2 (Typis Polyglottis
Vaticanis 1973) p. 16.
I. ศีลกำลังในแผนการความรอดพ้น
I. ศีลกำลังในแผนการความรอดพ้น
1286 ในพันธสัญญาเดิม บรรดาประกาศกประกาศว่าทุกคนรอคอยให้พระจิตขององค์พระผู้เป็นเจ้าเสด็จลงมาประทับเหนือพระเมสสิยาห์[92] เพื่อประกอบพระพันธกิจในการนำความรอดพ้นของพระองค์[93] การเสด็จลงมาของพระจิตเจ้าเหนือพระเยซูเจ้าเมื่อทรงรับพิธีล้างจากท่านยอห์นเป็นเครื่องหมายแสดงว่าพระองค์ (พระเยซูเจ้า) คือผู้ที่จะต้องเสด็จมา พระองค์เป็นพระเมสสิยาห์ เป็นพระบุตรของพระเจ้า[94] พระเยซูเจ้าทรงปฏิสนธิเดชะพระจิตเจ้า พระชนมชีพและพระพันธกิจทั้งหมดของพระองค์ดำเนินไปในความสัมพันธ์ร่วมกับพระจิตเจ้าที่พระบิดา “ประทานให้อย่างไม่จำกัด” (ยน 3:34)
1287 ความสมบูรณ์ของพระจิตเจ้าเช่นนี้ต้องไม่คงอยู่เพียงกับพระเมสสิยาห์เท่านั้น แต่ต้องแบ่งปันกับประชากรทั้งหมดของพระเมสสิยาห์ด้วย[95] พระคริสตเจ้าทรงสัญญาถึงการหลั่งของพระจิตเจ้านี้หลายครั้ง[96] และทรงทำให้พระสัญญานี้สำเร็จเป็นครั้งแรกในวันปัสกา[97] หลังจากนั้นในวันเปนเตกอสเต[98]ด้วยวิธีการที่ยิ่งใหญ่มากขึ้น บรรดาอัครสาวกซึ่งได้รับพระจิตเจ้าอย่างเต็มเปี่ยมเริ่มประกาศ “กิจการยิ่งใหญ่ของพระเจ้า” (กจ 2:11) และเปโตรก็ประกาศว่าการหลั่งพระจิตเจ้าลงมานี้เป็นเครื่องหมายของเวลาของพระเมสสิยาห์[99] ผู้ที่ขณะนั้นมีความเชื่อต่อการประกาศเทศน์สอนของบรรดาอัครสาวกรับศีลล้างบาป ก็ได้รับพระพรของพระจิตเจ้าด้วยเช่นเดียวกัน[100]
1288 “ตั้งแต่เวลานั้น บรรดาอัครสาวกก็ได้ปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระคริสตเจ้า ประทานพระพรของพระจิตเจ้า ซึ่งทำให้พระหรรษทานของศีลล้างบาปเต็มบริบูรณ์ โดยการปกมือแก่ผู้ที่เพิ่งรับศีลล้างบาป[101] ดังนั้น ในจดหมายถึงชาวฮีบรู คำสอนเรื่องศีลล้างบาปและการปกมือจึงถูกจัดไว้ในเรื่องแรกๆ ของการสั่งสอนคริสตศาสนา[102] จึงถูกต้องแล้วที่การปกมือเป็นที่ยอมรับจากธรรมประเพณีคาทอลิกว่าเป็นจุดเริ่มของศีลกำลัง ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้พระหรรษทานของวันเปนเตกอสเตคงอยู่ในพระศาสนจักรตลอดไป”[103]
1289 ต่อมาก็ได้เพิ่มการเจิมน้ำมันหอม (น้ำมันคริสมา) เข้ากับการปกมือ การเจิมนี้เป็นการย้ำนาม “คริสตชน” เพราะหมายถึง “ผู้รับเจิม” เพราะพระนาม “พระคริสต์” (หรือ “Christos”) ก็มาจากคำ “เจิม” นี้เอง “พระเจ้าทรงเจิมพระเยซูเจ้า...ด้วยพระอานุภาพเดชะพระจิตเจ้า” (กจ 10:38)พิธีเจิมนี้ยังคงมีอยู่จนถึงสมัยของเราทั้งในพระศาสนจักรตะวันออกและตะวันตก เพราะเหตุนี้ ในพระศาสนจักรตะวันออก ศีลนี้จึงเรียกว่า “Chrismatio” หรือ “การเจิมน้ำมันคริสมา” หรือยังเรียกอีกว่า “myron” ซึ่งก็หมายถึง “น้ำมันคริสมา” นั่นเอง ในพระศาสนจักรตะวันตก คำว่า “Confirmation” (= การทำให้มั่นคง การรับรอง) ชวนให้คิดว่าศีลนี้รับรองและทำให้พระหรรษทานของศีลล้างบาปมีความมั่นคง
ธรรมประเพณีสองสาย ของพระศาสนจักรตะวันออกและตะวันตก
1290 ในศตวรรษแรกๆ ตามปกติศีลกำลังมักประกอบเป็นพิธีเดียวกันกับศีลล้างบาป รวมเป็น “ศีลทั้งสอง” ตามสำนวนของนักบุญไซเปรียน[104] ในบรรดาเหตุผลต่างๆ เช่นการประกอบพิธีศีลล้างบาปทารกมีมากขึ้น และการประกอบพิธีศีลล้างบาปทำในเวลาใดก็ได้ตลอดปี การเพิ่มจำนวนเขตวัดตามชนบท สังฆมณฑลมีอาณาเขตใหญ่ขึ้น ทำให้พระสังฆราชไม่อาจไปอยู่ในการประกอบพิธีศีลล้างบาปได้ทุกครั้งอีกต่อไป ในพระศาสนจักรตะวันตก เพราะความต้องการที่จะสงวนการทำให้ศีลล้างบาปสมบูรณ์ไว้สำหรับพระสังฆราช จึงจัดให้มีการแยกเวลาประกอบสองศีลนี้ออกจากกัน พระศาสนจักรตะวันออกยังคงรักษาศีลทั้งสองนี้รวมกันไว้โดยให้พระสงฆ์ที่ประกอบพิธีศีลล้างบาปประกอบพิธีศีลกำลังด้วย ถึงกระนั้น เขาไม่อาจทำเช่นนี้ได้ถ้าไม่ใช้ myron ที่พระสังฆราชได้เสกไว้ก่อน[105]
1291 ธรรมเนียมหนึ่งของพระศาสนจักรโรมันทำให้การปฏิบัติแบบตะวันตกพัฒนาได้มากขึ้น คือการเจิมน้ำมันคริสมาสองครั้งหลังการรับศีลล้างบาป คือการเจิมผู้เพิ่งรับศีลล้างบาปโดยพระสงฆ์เมื่อเขาออกมาจากอ่างล้างบาป แล้วทำให้สมบูรณ์ด้วยการเจิมครั้งที่สองโดยพระสังฆราชที่หน้าผากของผู้เพิ่งรับศีลล้างบาปแต่ละคน[106]
1292 แนวปฏิบัติของพระศาสนจักรตะวันออกแสดงออกอย่างชัดเจนกว่าถึงเอกภาพของกระบวนการรับคริสตชนใหม่ ส่วนแนวปฏิบัติของพระศาสนจักรละตินแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนกว่าถึงสัมพันธภาพของคริสตชนใหม่กับพระสังฆราชของตน ในฐานะประกันและผู้รับใช้เอกภาพ สากลภาพ และการสืบเนื่องจากบรรดาอัครสาวกของพระศาสนจักร และดังนี้จึงแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของพระศาสนจักรของพระคริสตเจ้ากับจุดเริ่มต้นจากบรรดาอัครสาวกได้อย่างชัดเจน
[92] เทียบ อสย 11:2.
[93] เทียบ ลก 4:16-22; อสย 61:1.
[94] เทียบ มธ 3:13-17; ยน 1:33-34.
[95] เทียบ อสค 36:25-27; ยอล 3:1-2.
[96] เทียบ ลก 12:12; ยน 3:5-8; 7:37-39; 16:7-15; กจ 1:8.
[97] เทียบ ยน 20:22.
[98] เทียบ กจ 2:1-4.
[99] เทียบ กจ 2:17-18.
[100] เทียบ กจ 2:38.
[101] เทียบ กจ 8:15-17; 19:5-6.
[102] เทียบ ฮบ 6:2.
[103] Paulus VI, Const. ap. Divinae consortium naturae: AAS 63 (1971) 659.
[104] Cf Sanctus Cyprianus Carthaginiensis, Epistula 73, 21: CSEL 32, 795 (PL 3, 1169).
[105] Cf CCEO canones 695, § 1. 696, § 1.
[106] Cf Sanctus Hippolytus Romanus, Traditio apostolica, 21: ed. B. Botte (Münster i.W. 1989) p. 50 et 52.
II. เครื่องหมายและจารีตพิธีของศีลกำลัง
II. เครื่องหมายและจารีตพิธีของศีลกำลัง
1293 ในจารีตพิธีของศีลนี้ จำเป็นต้องพิจารณาถึงเครื่องหมายการเจิม และความหมายที่การเจิมแสดงให้เห็นและประทับไว้ คือ ตราประทับของพระจิตเจ้า
การเจิม มีความหมายหลายอย่างในสัญลักษณ์โบราณและของพระคัมภีร์ น้ำมันหมายถึงความอุดมสมบูรณ์[106] และความยินดี[107] ชำระล้าง (การเจิมก่อนและหลังการอาบน้ำ) ทำให้คล่องแคล่ว (การชโลมตัวนักกีฬาและนักมวยปล้ำ) เป็นเครื่องหมายของการรักษาโรค เพราะบรรเทาความเจ็บปวดและรักษาบาดแผล[108] ทำให้มีความงดงาม สุขภาพ พลังและความแช่มชื่นแจ่มใส
1294 ความหมายของการเจิมด้วยน้ำมันทั้งหมดนี้พบได้อีกในชีวิตศีลศักดิ์สิทธิ์ การใช้น้ำมันสำหรับ คริสตชนสำรองเจิมก่อนศีลล้างบาปหมายถึงการชำระและการให้พลัง การเจิมคนไข้หมายถึงการรักษาโรคและความบรรเทา การเจิมด้วยน้ำมันคริสมาหลังศีลล้างบาป ในศีลกำลังและศีลบวชเป็นเครื่องหมายของการมอบถวายแด่พระเจ้า โดยศีลกำลัง คริสตชน นั่นคือ “ผู้ได้รับเจิม”มีส่วนมากขึ้นในพันธกิจของพระเยซูคริสตเจ้าและในความสมบูรณ์ของพระจิตเจ้าที่เขาได้รับ เพื่อให้ชีวิตทั้งหมดของเขาขจายกลิ่นหอมของพระคริสตเจ้า[109]
1295 โดยการเจิม ผู้รับศีลกำลังรับเครื่องหมาย หรือ ตราประทับ ของพระจิตเจ้า ตราประทับเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวของบุคคล[110]หมายถึงอำนาจ[111]และกรรมสิทธิ์ของเขาเหนือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง[112] - ด้วยวิธีนี้ ทหารมักถูกหมายตัวด้วยเครื่องหมายของแม่ทัพของตน รวมทั้งทาสด้วยเครื่องหมายของนายของตน – ตราประทับรับรองนิติกรรม[113] หรือเอกสาร[114] และบางครั้งทำให้สิ่งนี้เป็นความลับด้วย[115]
1296 พระเยซูเจ้าเองทรงประกาศว่าพระองค์ทรงได้รับประทับตราของพระบิดา[116] คริสตชนก็ได้รับการประทับตราอย่างหนึ่งด้วย “ผู้ที่ทรงตั้งเราและท่านทั้งหลายในพระคริสตเจ้าและทรงเจิมเรานั้นคือพระเจ้า พระองค์ทรงประทับตราเราและประทานพระจิตเจ้าไว้ในดวงใจของเราเป็นเครื่องประกันด้วย” (2 คร 1:21-22)[117] ตราประทับของพระจิตเจ้านี้หมายถึงการเป็นกรรมสิทธิ์ของพระคริสตเจ้าโดยสิ้นเชิง หมายความว่าคนหนึ่งต้องรับใช้พระองค์ตลอดไป และยังเป็นคำสัญญาว่าพระเจ้าจะทรงปกป้องเขาในการพิพากษายิ่งใหญ่เมื่อสิ้นพิภพด้วย[118]
การประกอบพิธีศีลกำลัง
1297 พิธีสำคัญที่ประกอบก่อนพิธีศีลกำลัง แต่ในด้านหนึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของศีลนี้ก็คือ พิธีเสกน้ำมันคริสมา วันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์ ในมิสซาเสกน้ำมัน พระสังฆราชเสกน้ำมันคริสมาสำหรับทั้งสังฆมณฑล ในพระศาสนจักรจารีตตะวันออก การเสกนี้ยังสงวนไว้สำหรับพระสังฆบิดร
พิธีกรรมจารีตอันทิโอคกล่าวคำอัญเชิญพระจิตเจ้า (Epiclesis) ของการเสกน้ำมัน (ที่ภาษากรีกเรียกว่า “myron”) ว่าดังนี้ “[ข้าแต่พระบิดา (...) โปรดส่งพระจิตเจ้า] ลงมาเหนือข้าพเจ้าทั้งหลายและเหนือเครื่องหอมที่นำมาถวายนี้ และทรงบันดาลให้ศักดิ์สิทธิ์เพื่อจะได้เป็น “myron” ศักดิ์สิทธิ์ “myron” สำหรับสมณะ เป็นเครื่องหอมของกษัตริย์ เป็นอาภรณ์รุ่งโรจน์ เป็นเสื้อคลุมบันดาลความรอดพ้น เป็นเครื่องป้องกันชีวิต เป็นของถวายฝ่ายจิต เป็นความศักดิ์สิทธิ์ของวิญญาณและร่างกาย เป็นความยินดีของจิตใจ เป็นความสุขนิรันดร เป็นความยินดีไม่มีวันเสื่อมสลาย เป็นตราประทับที่ทำลายไม่ได้ เป็นโล่ความเชื่อ เป็นเกราะศีรษะน่าเกรงขามต่อต้านกิจการทุกอย่างของศัตรู”[119]
1298 ถ้าประกอบพิธีศีลกำลังแยกจากศีลล้างบาป ดังที่ปฏิบัติกันในจารีตโรมัน พิธีกรรมของศีลนี้เริ่มด้วยการรื้อฟื้นคำสัญญาของศีลล้างบาปและการประกาศความเชื่อของผู้จะรับศีลกำลัง ดังนี้จึงปรากฏชัดว่าศีลกำลังอยู่ต่อติดกับศีลล้างบาป[120] เมื่อผู้ใหญ่รับศีลล้างบาป เขาก็รับศีลกำลังทันทีและรับศีลมหาสนิทด้วย[121]
1299 ในจารีตโรมัน พระสังฆราชผายมือเหนือผู้รับศีลกำลังทุกคน การทำเช่นนี้ ตั้งแต่สมัยอัครสาวกมาแล้ว เป็นเครื่องหมายการประทานพระจิตเจ้า พระสังฆราชภาวนาอัญเชิญพระจิตเจ้าว่าดังนี้
“ข้าแต่พระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพ พระบิดาของพระเยซูคริสตเจ้าของข้าพเจ้าทั้งหลาย พระองค์โปรดให้ข้ารับใช้เหล่านี้เกิดใหม่ด้วย น้ำและพระจิตเจ้า ช่วยพวกเขาให้พ้นจากบาปและประทานชีวิตใหม่แก่พวกเขา โปรดส่งพระจิตของพระองค์ลงมาประทับอยู่กับเขา เพื่อจะได้เป็นผู้ช่วยเหลือและผู้นำทางของเขา โปรดให้มีปรีชาญาณและความเข้าใจ ความคิดอ่านและอานุภาพ ความรู้และความเลื่อมใสศรัทธา อีกทั้งโปรดให้เขารับใช้พระองค์ด้วยความยำเกรงเฉพาะพระพักตร์ ทั้งนี้ขอพึ่งพระบารมีพระคริสตเจ้าของข้าพเจ้าทั้งหลาย”[122]
1300 แล้วจึงถึงจารีตพิธีสำคัญ ในจารีตละติน “ศีลกำลังประกอบด้วยการเจิมน้ำมันคริสมาที่หน้าผากพร้อมกับการปกมือพลางกล่าวว่า ‘จงรับการประทับเครื่องหมายแห่งการรับพระพรของพระจิตเจ้าเถิด’”[123] จารีตในพระศาสนจักรตะวันออกจารีตไบซันติน การเจิมน้ำมัน (myron) ทำขึ้นหลังบทภาวนาอัญเชิญพระจิตเจ้า (Epiclesis) บนส่วนของร่างกายที่มีความสำคัญกว่าเพื่อน คือ หน้าผาก ตา จมูก หู ริมฝีปาก หน้าอก หลัง มือและเท้า การเจิมแต่ละครั้งควบคู่กับสูตรดังนี้ว่า “การประทับเครื่องหมายแห่งการรับพระพรของพระจิตเจ้า”[124]
1301 การมอบสันติภาพที่ลงท้ายพิธีประกอบศีลศักดิ์สิทธิ์มีความหมายและแสดงออกถึงความสัมพันธ์ในพระศาสนจักรกับพระสังฆราชและผู้มีความเชื่อทุกคน[125]
[106] เทียบ ฉธบ 11:14; ฯลฯ.
[107] เทียบ สดด 23:5; 104:15.
[108] เทียบ อสย 1:6; ลก 10:34.
[109] เทียบ 2 คร 2:15.
[110] เทียบ ปฐก 38:18; พซม 8:6.
[111] เทียบ ปฐก 41:42.
[112] เทียบ ฉธบ 32:34.
[113] เทียบ 1 พกษ 21:8.
[114] เทียบ ยรม 32:10
[115] เทียบ อสย 29:11.
[116] เทียบ ยน 6:27.
[117] เทียบ อฟ 1:13; 4:30.
[118] เทียบ วว 7:2-3; 9:4; อสค 9:4-6.
[119] Pontificale iuxta ritum Ecclesiae Syrorum Occidentalium id est Antiochiae, Pars I, Versio latina (Typis Polyglottis Vaticanis 1941) p. 36-37.
[120] Cf Concilium Vaticanum II, Const. Sacrosanctum Concilium, 71: AAS 56 (1964) 118.
[121] Cf CIC canon 866.
[122] Ordo Confirmationis, 25 (Typis Polyglottis Vaticanis 1973) p. 26.
[123] Paulus VI, Const. ap. Divinae consortium naturae: AAS 63 (1971) 657.
[124] Rituale per le Chiese orientali di rito bizantino in lingua greca, Pars 1 (Libreria Editrice Vaticana 1954) p. 36.
[125] Cf Sanctus Hippolytus Romanus, Traditio apostolica, 21: ed. B. Botte (Münster i.W. 1989) p. 54.
III. ผลของศีลกำลัง
III. ผลของศีลกำลัง
1302 เห็นได้ชัดจากการประกอบพิธีว่าผลโดยเฉพาะของศีลกำลังคือการหลั่งพระจิตเจ้าลงมา เหมือนกับที่บรรดาอัครสาวกเคยได้รับในวันเปนเตกอสเต
1303 ดังนั้น ศีลกำลังจึงเป็นการเพิ่มและเข้าลึกซึ้งยิ่งขึ้นในพระหรรษทานของศีลล้างบาป
- ทำให้เราหยั่งรากลึกยิ่งขึ้นในการเป็นบุตรของพระเจ้าที่ทำให้เราร้องออกมาว่า “อับบา พระบิดาเจ้าข้า” (รม 8:15)
- ทำให้เราร่วมสนิทกับพระคริสตเจ้าแนบแน่นยิ่งขึ้น
- เพิ่มพระพรของพระจิตเจ้าในเรา
- ทำให้ความสัมพันธ์ของเรากับพระศาสนจักรสมบูรณ์ขึ้น[127]
- ประทานพลังพิเศษของพระจิตเจ้าให้เราเผยแผ่และปกป้องความเชื่อเป็นพยานแท้จริงของพระคริสตเจ้าด้วยวาจาและกิจการ เพื่อเราจะได้ประกาศพระนามของพระคริสตเจ้าอย่างเข้มแข็งและไม่อับอายเพราะไม้กางเขน[128]
“ดังนั้น จงจำไว้ว่าท่านได้รับตราประทับของพระจิตเจ้า พระจิตแห่งปรีชาญาณและปัญญา พระจิตแห่งความคิดอ่านและคุณธรรม พระจิตแห่งความรู้และความเลื่อมใสศรัทธา พระจิตแห่งความยำเกรงพระเจ้า จงรักษาสิ่งที่ท่านได้รับไว้ พระเจ้าพระบิดาทรงหมายตัวท่านไว้ พระคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงทำให้ท่านเข้มแข็ง และประทานของประกันในใจของท่าน คือพระจิตเจ้า”[129]
1304 ศีลกำลังรับได้เพียงครั้งเดียว เช่นเดียวกับศีลล้างบาปที่ศีลนี้ทำให้สมบูรณ์ เพราะศีลกำลังประทับเครื่องหมายทางจิตที่ลบไม่ได้ หรือ “ตราประทับ”[130] ในวิญญาณของผู้รับ ตราประทับนี้หมายความว่าพระเยซูคริสตเจ้าทรงใช้ตราประทับของพระจิตเจ้าหมายตัวคริสตชนไว้แล้ว ประทานพลังจากเบื้องบนมาสวมไว้ให้เขาเป็นพยานของพระองค์[131]
1305 “ตราประทับ” ทำให้สมณภาพสามัญของบรรดาผู้มีความเชื่อที่ได้รับในศีลล้างบาปมีความสมบูรณ์ และ “ผู้รับศีลกำลังรับอำนาจประกาศความเชื่อของพระคริสตเจ้าด้วยวาจาแก่สาธารณชนอย่างเป็นทางการโดยหน้าที่”[132]
[127] Cf Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 11: AAS 57 (1965).
[128] Cf Concilium Florentinum, Decretum pro Armenis: DS 1319; Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 11: AAS 57 (1965) 15; Ibid., 12: AAS 57 (1965) 16.
[129] Sanctus Ambrosius, De mysteriis, 7, 42: CSEL 73, 106 (PL 16, 402-403).
[130] Cf Concilium Tridentinum, Sess. 7a, Decretum de sacramentis, Canones de sacramentis in genere, canon 9: DS 1609.
[131] เทียบ ลก 24:48-49.
[132] Sanctus Thomas Aquinas, Summa theologiae, III, q. 72, a. 5, ad 2: Ed. Leon. 12, 130.
IV. ผู้ใดอาจรับศีลนี้ได้
IV. ผู้ใดอาจรับศีลนี้ได้
1306 ผู้รับศีลล้างบาปแล้วทุกคนที่ยังไม่ได้รับศีลกำลังอาจรับศีลนี้ได้และต้องรับด้วย[133] เพราะศีลล้างบาป ศีลกำลังและศีลมหาสนิทรวมอยู่ด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว ดังนั้น “บรรดาผู้มีความเชื่อจึงจำเป็นต้องรับศีลนี้ตามเวลาที่เหมาะสม”[134] เพราะว่าศีลล้างบาปที่ไม่มีศีลกำลังและศีลมหาสนิท แม้ถูกต้องตามกฎหมายและมีผลก็จริง แต่กระบวนการรับคริสตชนใหม่ก็ยังไม่สมบูรณ์อยู่นั่นเอง
1307 ธรรมเนียมของพระศาสนจักรละตินตั้งแต่หลายศตวรรษมาแล้วกำหนดให้ “อายุรู้ความ” เป็นเวลาที่ควรจะต้องรับศีลกำลัง ถึงกระนั้น ถ้ามีอันตรายถึงชีวิต เด็กทารกก็ต้องรับศีลกำลัง แม้จะยังไม่ถึงอายุรู้ความก็ตาม[135]
1308 แม้บางครั้งมีการกล่าวถึงศีลกำลังว่าเป็น “ศีลแสดงวุฒิภาวะของคริสตชน” เราก็ต้องไม่เข้าใจสับสนเพราะเหตุนี้ว่าวุฒิภาวะด้านความเชื่อเป็นเรื่องเดียวกันกับวุฒิภาวะตามธรรมชาติ และต้องไม่ลืมว่าพระหรรษทานของศีลล้างบาปเป็นพระหรรษทานการเลือกสรรที่พระเจ้าประทานให้เราเปล่าๆ และไม่เรียกร้องให้มี “การรับรอง” เพื่อจะบังเกิดผลได้ นักบุญโทมัสเตือนเราในเรื่องนี้ว่า
“อายุของร่างกายไม่เป็นตัวกำหนดอายุของวิญญาณ ดังนั้น แม้ในวัยเด็ก คนหนึ่งก็อาจบรรลุถึงวุฒิภาวะของอายุทางจิตได้ ดังที่มีกล่าวไว้หนังสือปรีชาญาณ (4:8) ‘วัยชราที่น่านับถือไม่ใช่การมีอายุยืนยาว หรือวัดได้ด้วยจำนวนปี’ และดังนี้ หลายคนในวัยเยาว์จึงต่อสู้อย่างกล้าหาญจนหลั่งโลหิตเพื่อพระคริสตเจ้าได้เพราะพลังของพระจิตเจ้าที่ได้รับมา”[136]
1309 การเตรียมเพื่อรับศีลกำลังต้องมีเจตนานำคริสตชนให้มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกับพระคริสตเจ้า มีความคุ้นเคยที่มีชีวิตชีวายิ่งขึ้นกับพระจิตเจ้า กับการกระทำ ของประทาน และการเรียกของพระองค์ เพื่อจะรับความรับผิดชอบของชีวิตคริสตชนในการประกาศข่าวดีได้ เพราะเหตุนี้ การสอนคำสอนก่อนรับศีลกำลังจะต้องพยายามปลุกเร้าความสำนึกถึงการเป็นสมาชิกของพระศาสนจักรของพระเยซูคริสตเจ้า ทั้งพระศาสนจักรสากลและชุมชนในเขตวัด ชุมชนในเขตวัดนี้ต้องรับผิดชอบเป็นพิเศษในการเตรียมผู้จะรับศีลกำลัง[137]
1310 ผู้จะรับศีลกำลังจำเป็นต้องอยู่ในสถานะพระหรรษทาน เขาต้องรับศีลอภัยบาปเพื่อรับการชำระจะได้เข้าไปรับพระพรของพระจิตเจ้า การอธิษฐานภาวนาอย่างแข็งขันยิ่งขึ้นต้อง เตรียมเขาให้รับพลังและพระหรรษทานของพระจิตเจ้าด้วยความเชื่อฟังและพร้อมจะปฏิบัติงาน[138]
1311 ผู้จะรับศีลกำลัง เช่นเดียวกับผู้จะรับศีลล้างบาป ต้องแสวงหาความช่วยเหลือด้านจิตใจจากพ่อหรือแม่อุปถัมภ์ เพื่อเน้นถึงเอกภาพของศีลทั้งสองนี้ พ่อหรือแม่อุปถัมภ์ควรเป็นคนเดียวกันกับพ่อแม่อุปถัมภ์ของศีลล้างบาป[139]
[133] Cf CIC canon 889, § 1.
[134] CIC canon 890.
[135] Cf CIC canones 891. 883, 3.
[136] Sanctus Thomas Aquinas, Summa theologiae, III, q. 72, a. 8, ad 2: Ed. Leon. 12, 133.
[137] Cf Ordo Confirmationis, Praenotanda, 3 (Typis Polyglottis Vaticanis 1973) p. 16.
[138] เทียบ กจ 1:14.
[139] Cf Ordo Confirmationis, Praenotanda, 5 (Typis Polyglottis Vaticanis 1973) p. 17; Ibid., 6 (Typis Polyglottis Vaticanis 1973) p. 17; CIC canon 893, § 1-2.
V. ศาสนบริกรของศีลกำลัง
V. ศาสนบริกรของศีลกำลัง
1312 ศาสนบริกรดั้งเดิมของศีลกำลังคือพระสังฆราช[140] ในพระศาสนจักรจารีตตะวันออก โดยปกติพระสงฆ์ผู้ประกอบพิธีศีลล้างบาปก็ประกอบพิธีศีลกำลังให้ด้วยทันทีในพิธีเดียวกัน ถึงกระนั้น เขาก็ประกอบพิธีนี้โดยใช้น้ำมันคริสมาที่พระสังฆบิดรหรือพระสังฆราชได้เสกไว้ เป็นการแสดงถึงเอกภาพที่สืบเนื่องมาจากบรรดาอัครสาวกของพระศาสนจักร ศีลกำลังทำให้สัมพันธภาพนี้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ในพระศาสนจักรละตินก็ใช้ระเบียบปฏิบัติเดียวกันในพิธีศีลล้างบาปสำหรับผู้ใหญ่หรือเมื่อมีการรับผู้ที่ได้รับศีลล้างบาปในกลุ่มคริสตชนกลุ่มอื่นซึ่งไม่มีศีลกำลังที่ถูกต้องตามกฎหมายเข้ามาในพระศาสนจักร[141]
1313 ในจารีตละติน ศาสนบริกรตามปกติของศีลกำลังคือพระสังฆราช[142] ถึงแม้ว่าพระสังฆราชอาจ มอบอำนาจประกอบพิธีศีลกำลังให้แก่พระสงฆ์ได้ถ้าจำเป็น[143] ท่านเองก็ต้องประกอบพิธีศีลกำลัง เพื่อจะไม่ลืมว่าการประกอบพิธีศีลกำลังได้ถูกแยกให้มาประกอบต่างเวลากับศีลล้างบาปก็เพราะเหตุนี้เอง บรรดาพระสังฆราชเป็นผู้สืบตำแหน่งต่อจากบรรดาอัครสาวก ได้รับความบริบูรณ์ของศีลบวช การที่พระสังฆราชประกอบพิธีศีลกำลังจึงแสดงได้อย่างดีว่าศีลนี้มีผลทำให้ผู้รับมีความสัมพันธ์แนบแน่นยิ่งขึ้นกับพระศาสนจักร กับการที่พระศาสนจักรถือกำเนิดสืบต่อมาจากบรรดาอัครสาวกและกับพันธกิจของพระศาสนจักรที่จะเป็นพยานถึงพระคริสตเจ้า
1314 ถ้าคริสตชนอยู่ในอันตรายถึงชีวิต พระสงฆ์องค์ใดก็อาจประกอบพิธีศีลกำลังให้เขาได้[144] อันที่จริง พระศาสนจักรไม่ต้องการให้บุตรคนใดของตน แม้จะเป็นเพียงทารกอายุน้อยที่สุด ออกจากโลกนี้ไปโดยที่พระจิตเจ้ายังไม่ทรงทำให้เขาบรรลุถึงความบริบูรณ์ด้วยพระพรจากความสมบูรณ์ของพระคริสตเจ้าเสียก่อน
[140] Cf Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Lumen gentium, 26: AAS 57 (1965) 32.
[141] Cf CIC canon 883, § 2.
[142] Cf CIC canon 882.
[143] Cf CIC canon 884, § 2.
[144] Cf CIC canon 883, 3.
สรุป
สรุป
1315 “บรรดาอัครสาวกที่กรุงเยรูซาเล็มส่งเปโตรและยอห์นไปหาชาวสะมาเรียเมื่อรู้ว่าเขาได้รับพระวาจาของพระเจ้าแล้ว เมื่อเปโตรและยอห์นไปถึงก็อธิษฐานภาวนาเพื่อชาวสะมาเรียเหล่านั้น ให้ได้รับพระจิตเจ้า เพราะยังไม่มีผู้ใดได้รับพระจิตเจ้าเลย เขาเพียงแต่ได้รับศีลล้างบาปเดชะพระนามของพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น เปโตรและยอห์นจึงปกมือเหนือเขาทั้งหลาย และเขาเหล่านั้นก็ได้รับพระจิตเจ้า” (กจ 8:14-17)
1316 ศีลกำลังทำให้พระหรรษทานของศีลล้างบาปสมบูรณ์ เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ที่ประทานพระจิตเจ้าเพื่อทำให้เราหยั่งรากลึกยิ่งขึ้นในความเป็นบุตรของพระเจ้า ทำให้เราร่วมเข้าเป็นพระวรกายเดียวกับพระคริสตเจ้าอย่างมั่นคงยิ่งขึ้น เพื่อทำให้ความสัมพันธ์ของเรากับพระศาสนจักรเข้มแข็งยิ่งขึ้น เพื่อบันดาลให้เรามีความสัมพันธ์ยิ่งขึ้นกับพันธกิจของพระศาสนจักรและเพื่อช่วยเราให้เป็นพยานความเชื่อในพระคริสตเจ้าด้วยวาจาที่มีกิจการควบคู่ไปด้วย
1317 เช่นเดียวกับศีลล้างบาป ศีลกำลังประทับตราทางจิตที่ไม่มีวันจะลบได้ลงในวิญญาณของคริสตชนเพราะเหตุนี้ จึงรับศีลนี้ได้เพียงครั้งเดียวในชีวิต
1318 ในพระศาสนจักรจารีตตะวันออก ศีลนี้ประกอบพิธีทันทีหลังจากศีลล้างบาป ตามด้วยการร่วมรับศีลมหาสนิท ธรรมเนียมนี้แสดงให้เห็นเอกภาพของศีลทั้งสามในกระบวนการรับคริสตชนใหม่ ส่วนในพระศาสนจักรละติน ศีลนี้ประกอบเมื่อผู้รับมีอายุรู้ความแล้ว และตามปกติสงวนการประกอบพิธีศีลนี้ไว้สำหรับพระสังฆราช ดังนั้นจึงหมายความว่าศีลนี้ทำให้ความสัมพันธ์กับพระศาสนจักรมีความมั่นคง
1319 ผู้รับศีลกำลังที่บรรลุอายุรู้ความแล้วต้องประกาศความเชื่อ อยู่ในสถานะพระหรรษทานมีความตั้งใจจะรับศีลนี้ และพร้อมที่จะรับบทบาทการเป็นศิษย์และเป็นพยานของพระคริสตเจ้าในชุมชนของพระศาสนจักรและในกิจกรรมต่างๆ ของชีวิตประจำวันทั่วไป
1320 พิธีสำคัญของศีลกำลังคือการเจิมด้วยน้ำมันคริสมาบนหน้าผากของผู้รับศีลล้างบาป (ในพระศาสนจักรจารีตตะวันออกยังเจิมเหนืออวัยวะสัมผัสอื่นๆ ด้วย) พร้อมกับการปกมือของศาสนบริกรและถ้อยคำว่า “จงรับการประทับเครื่องหมายแห่งการรับพระพรของพระจิตเจ้าเถิด” ในจารีตโรมัน และ “การประทับเครื่องหมายแห่งการรับพระพรของพระจิตเจ้า” ในจารีตไบซันติน
1321 เมื่อศีลกำลังประกอบพิธีแยกจากศีลล้างบาป พิธีหนึ่งที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของศีลนี้กับศีลล้างบาปก็คือการรื้อฟื้นสัญญาของศีลล้างบาป การประกอบพิธีศีลกำลังในช่วงเวลาพิธีบูชาขอบพระคุณยังช่วยเน้นให้เห็นเอกภาพของศีลศักดิ์สิทธิ์ทั้งสามประการของของกระบวนการรับคริสตชนใหม่อีกด้วย