ตอนที่ 4
พระเยซูคริสตเจ้า “ทรงรับทรมานสมัยปอนทิอัสปีลาต
ทรงถูกตรึงกางเขน สิ้นพระชนม์ และทรงถูกฝังไว้”
571 พระธรรมล้ำลึกปัสกาการรับทรมานและกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าเป็นศูนย์กลางของข่าวดีที่บรรดาอัครสาวกและพระศาสนจักรหลังจากนั้นต้องประกาศ แผนการของพระเจ้าที่จะทรงช่วยให้มนุษยชาติได้รับความรอดพ้นนั้นสำเร็จบริบูรณ์ “เพียงครั้งเดียว” (ฮบ 9:26) โดยการที่พระเยซูคริสตเจ้าพระบุตรได้สิ้นพระชนม์เพื่อไถ่กู้
572 พระศาสนจักรยังคงซื่อสัตย์ต่อการอธิบายความหมายพระคัมภีร์ทั้งหมดเหมือนกับที่พระเยซูเจ้าเคยทรงอธิบายทั้งก่อนและหลังจากปัสกาของพระองค์[336] “พระคริสตเจ้าจำเป็นต้องทนทรมานเช่นนี้ เพื่อจะเข้าไปรับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์มิใช่หรือ” (ลก 24:26) พระทรมานของพระเยซูเจ้าได้รับรูปแบบดังที่ได้เกิดขึ้นก็เพราะว่าทรงถูก “บรรดาผู้อาวุโส มหาสมณะ และธรรมาจารย์ปฏิเสธไม่ยอมรับ” (มก 8:31) คนเหล่านี้ “มอบพระองค์ให้คนต่างชาติสบประมาท เยาะเย้ย โบยตีและนำไปตรึงกางเขน” (มธ 20:19)
573 ดังนั้น ความเชื่อจึงอาจพยายามตรวจสอบสภาพแวดล้อมการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้าตามที่ผู้นิพนธ์พระวรสารถ่ายทอดต่อมาอย่างซื่อสัตย์โดยละเอียด[337] รวมทั้งรายละเอียดที่แหล่งข้อมูลอื่นๆ ทางประวัติศาสตร์อธิบายเพิ่มเติมไว้อีก เพื่อจะเข้าใจความหมายของการไถ่กู้ได้ดียิ่งขึ้น
[336] ลก 24:44-45.
[337] Cf. Concilium Vaticanum II, Const. dogm. Dei Verbum, 19: AAS 58 (1966) 826-827.
วรรค 1
พระเยซูเจ้าและอิสราเอล
574 นับตั้งแต่แรกที่พระเยซูเจ้าทรงเริ่มเทศน์สอนประชาชน ชาวฟาริสีและพรรคพวกของกษัตริย์เฮโรด รวมทั้งบรรดาสมณะและธรรมาจารย์ ได้ประชุมปรึกษากันว่าจะกำจัดพระองค์ได้อย่างไร[338] เพราะกิจการบางอย่างที่ทรงกระทำ เช่น การขับไล่ปีศาจ[339] การอภัยบาป[340] การรักษาคนเจ็บป่วยในวันสับบาโต[341] การที่ทรงตีความตามแบบของพระองค์เกี่ยวกับกฎเรื่องการมีมลทินหรือไม่มี[342] การที่ทรงคบค้ากับคนเก็บภาษีเพื่อรัฐบาลโรมและคนบาป[343] บางคนที่มีเจตนาร้ายได้ตั้งข้อสงสัยว่าพระองค์ทรงถูกปีศาจสิง[344] พระองค์ยังทรงถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทพระเจ้า[345] และเป็นประกาศกเทียม[346] ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความผิดทางศาสนาที่ธรรมบัญญัติกำหนดโทษให้ประหารชีวิตโดยใช้ก้อนหินทุ่มให้ตาย[347]
575 การกระทำและพระวาจาในหลายกรณีจึงเป็น “เครื่องหมายแห่งการต่อต้าน”[348] สำหรับผู้นำทางศาสนาที่กรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งพระวรสารของยอห์นเรียกบ่อยๆ ว่า “ชาวยิว”[349] มากกว่าสำหรับสามัญชนประชากรของพระเจ้าโดยทั่วไป[350] โดยแท้จริงแล้ว ความสัมพันธ์ของพระองค์กับชาวฟาริสีมิได้มีแต่ความขัดแย้งกันเสมอไปเท่านั้น ชาวฟาริสีบางคนทูลเตือนพระองค์ถึงอันตรายที่พระองค์กำลังจะต้องเผชิญ[351] พระองค์ทรงกล่าวชมพวกเขาบางคน เช่นธรรมาจารย์ที่ มก 12:34 กล่าวถึง และหลายครั้งทรงรับเชิญไปเสวยพระกระยาหารที่บ้านของชาวฟาริสี[352] พระองค์ทรงยืนยันคำสอนที่กลุ่มศาสนาพิเศษในประชากรของพระเจ้ากลุ่มนี้ยอมรับเป็นคำสอนของตน เช่นคำสอนเรื่องการกลับคืนชีพของผู้ตาย[353] รูปแบบต่างๆ เพื่อแสดงความเลื่อมใสศรัทธา (การให้ทานการอธิษฐานภาวนาและการจำศีลอดอาหาร[354] และธรรมเนียมเรียกพระเจ้าเป็นพระบิดาและกำหนดว่าความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์เป็นบทบัญญัติสำคัญที่สุด[355]
576 สำหรับหลายคนในอิสราเอล ดูเหมือนว่าพระเยซูเจ้าทรงปฏิบัติพระองค์ขัดกับธรรมเนียมปฏิบัติสำคัญยิ่งของประชากรที่พระเจ้าทรงเลือกสรร ได้แก่การไม่ยอมปฏิบัติตามกฎบัญญัติทุกข้อที่มีเขียนไว้ในธรรมบัญญัติ และสำหรับชาวฟาริสี การไม่ยอมปฏิบัติตามธรรมประเพณีอธิบายธรรมบัญญัติที่เป็นเพียงคำสอนสืบต่อกันมาเท่านั้นด้วยการไม่ยอมรับว่าพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มเป็นศูนย์กลางเพียงแห่งเดียวที่พระเจ้าประทับอยู่เป็นพิเศษการไม่ยอมรับความเชื่อในพระเจ้าหนึ่งเดียวซึ่งไม่มีมนุษย์คนใดอาจมีส่วนร่วมพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ได้
[338] เทียบ มก เทียบ มก 3:6.
[339] เทียบ มธ 12:24.
[340] เทียบ มก 2:7.
[341] เทียบ มก 3:1-6.
[342] เทียบ มก 7:14-23.
[343] เทียบ มก 2:14-17.
[344] เทียบ มก 3:22; ยน 8:48; 10:20.
[345] เทียบ มก 2:7; ยน 5:18;10:33.
[346] เทียบ ยน 7:12; 7:52.
[347] เทียบ ยน 8:59; 10:31.
[348] เทียบ ลก 2:34.
[349] เทียบ ยน 1:19; 2:18; 5:10; 7:13; 9:22; 18:12; 19:38; 20:19.
[350] เทียบ ยน 7:48-49.
[351] เทียบ ลก 13:31.
[352] เทียบ ลก 7:36; 14:1.
[353] เทียบ มธ 22:23-34; ลก 20:39.
[354] เทียบ มธ 6:2-18.
[355] เทียบ มก 12:28-34.
I. พระเยซูเจ้าและธรรมบัญญัติ
I. พระเยซูเจ้าและธรรมบัญญัติ
577 เมื่อทรงเริ่มการเทศน์บนภูเขา พระเยซูเจ้าทรงประกาศเตือนอย่างสง่าผ่าเผยอธิบายธรรมบัญญัติที่พระเจ้าประทานให้ในการทำพันธสัญญาครั้งแรกบนภูเขาซีนาย โดยทรงคำนึงถึงพระหรรษทานของพันธสัญญาใหม่ดังนี้ว่า
“จงอย่าคิดว่าเรามาเพื่อลบล้างธรรมบัญญัติหรือคำสอนของบรรดาประกาศก เรามิได้มาเพื่อลบล้างแต่มาเพื่อปรับปรุงให้สมบูรณ์ เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ตราบใดที่ฟ้าและดินยังไม่สูญสิ้นไป แม้แต่ตัวอักษรหรือจุดเพียงจุดเดียวจะไม่ขาดหายไปจากธรรมบัญญัติ จนกว่าทุกอย่างจะสำเร็จไป ดังนั้น ผู้ใดละเมิดธรรมบัญญัติเพียงข้อเดียว แม้เล็กน้อยที่สุดและสอนผู้อื่นให้ละเมิดด้วย จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ต่ำต้อยในอาณาจักรสวรรค์ ส่วนผู้ที่ปฏิบัติและสอนผู้อื่นให้ปฏิบัติด้วย จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในอาณาจักรสวรรค์” (มธ 5:17-19)
578 พระเยซูเจ้า พระเมสสิยาห์แห่งอิสราเอล และดังนั้นจึงยิ่งใหญ่ที่สุดในอาณาจักรสวรรค์ ต้องปฏิบัติตามธรรมบัญญัติโดยครบครันทุกข้อ แม้ในเรื่องเล็กน้อยที่สุดดังที่ตรัสไว้ ยิ่งกว่านั้นพระองค์เพียงผู้เดียวเท่านั้น อาจปฏิบัติตามธรรมบัญญัตินี้ได้โดยสมบูรณ์[356] ชาวยิวยอมรับเองว่าตนไม่อาจปฏิบัติตามธรรมบัญญัติอย่างสมบูรณ์โดยไม่ละเมิดธรรมบัญญัติข้อเล็กน้อยเลยได้[357] ดังนั้น ทุกๆ ปีในวันฉลองชดเชยบาป ชาวอิสราเอลจึงอธิษฐานภาวนาขออภัยจากพระเจ้าเพราะการที่ตนฝ่าฝืนธรรมบัญญัติ อันที่จริงธรรมบัญญัติเป็นอะไรที่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง ดังที่นักบุญยากอบเตือนให้คิด “ผู้ที่ละเมิดธรรมบัญญัติแม้เพียงข้อเดียว ทั้งๆ ที่ปฏิบัตตามธรรมบัญญัติข้ออื่นทั้งหมดย่อมผิดต่อธรรมบัญญัติทั้งมวล” (ยก 2:10)[358]
579 หลักการที่ต้องปฏิบัติตามธรรมบัญญัติโดยครบถ้วนนี้ไม่หมายเพียงการปฏิบัติตามตัวอักษร แต่ตามเจตนารมณ์ด้วยนั้น ชาวฟาริสีถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เขาสอนหลักการนี้แก่ชาวอิสราเอล นำชาวยิวจำนวนมากในสมัยพระเยซูเจ้าให้มีความกระตือรือร้นอย่างยิ่ง[359] ความกระตือรือร้นนี้ ถ้าไม่สลายตัวกลายเป็นการถกเถียงกันถึงรายละเอียดแบบหน้าซื่อใจคดเท่านั้น[360] น่าจะเตรียมประชาชนไว้สำหรับการเสด็จมาของพระเจ้าอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนโดยที่ผู้ชอบธรรมเพียงผู้เดียวซึ่งจะปฏิบัติตามธรรมบัญญัติอย่างสมบูรณ์แทนที่คนบาปทุกคน[361]
580 การปฏิบัติตามธรรมบัญญัติอย่างสมบูรณ์สำเร็จได้ก็โดยพระผู้ประทานธรรมบัญญัตินั้นซึ่งทรงบังเกิดเป็นพระบุตรภายใต้ธรรมบัญญัติ[362] ในองค์พระเยซูเจ้า ธรรมบัญญัติไม่ปรากฏเป็นเพียงกฎหมายที่จารึกไว้บนแผ่นศิลา แต่จารึกไว้ “ภายใน” และ “ในจิตใจ” (ยรม 31:33) ของผู้รับใช้ซึ่งเป็น “ประชากรแห่งพันธสัญญา” (อสย 42:6) เพราะเขา “จะประกาศความยุติธรรมด้วยความสัตย์จริง” (อสย 42:3) พระเยซูเจ้าทรงปฏิบัติตามธรรมบัญญัติจนกระทั่งทรงรับ “การสาปแช่งของธรรมบัญญัติ” มาไว้กับพระองค์[363] คำสาปแช่งนี้ตกแก่ผู้ “ที่ไม่มั่นคงในการปฏิบัติตามทุกสิ่งที่เขียนไว้ในหนังสือธรรมบัญญัติ”[364] เพราะว่าการสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้าเกิดขึ้นก็เพื่อ “ลบล้างการล่วงละเมิดตามเงื่อนไขของพันธสัญญาเดิม” (ฮบ 9:15)
581 ประชาชนชาวยิวและผู้นำทางจิตใจของเขาเห็นว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นเพียง “อาจารย์” (รับบี) คนหนึ่ง[365] หลายครั้งพระเยซูเจ้าเองก็ทรงใช้เหตุผลในกรอบการอธิบายธรรมบัญญัติในรูปแบบของบรรดาธรรมาจารย์ด้วย[366] แต่ในขณะเดียวกันพระเยซูเจ้าก็จำเป็นต้องขัดแย้งกับบรรดานักกฎหมายเหล่านี้ เพราะพระองค์ไม่ทรงจำกัดวิธีที่ทรงอธิบายพระคัมภีร์อยู่ในขอบเขตการอธิบายของพวกเขา “เพราะพระองค์ทรงสอนเขาอย่างผู้มีอำนาจ ไม่ใช่สอนเหมือนบรรดาธรรมาจารย์ของเขา” (มธ 7:29) ในพระองค์ พระวาจาเดียวกันที่ดังก้องบนภูเขาซีนาย
เพื่อประทานธรรมบัญญัติให้โมเสสบันทึกไว้ แสดงตัวอีกครั้งหนึ่งให้ประชาชนได้ยินบนภูเขาที่ทรงเทศน์สอนเรื่องความสุขแท้[367] พระวาจานี้ไม่ได้ลบล้างธรรมบัญญัติ แต่ปรับปรุงให้สมบูรณ์โดยใช้พระวาจาของพระเจ้าให้คำอธิบายขั้นสุดท้าย “ท่านได้ยินคำกล่าวแก่คนโบราณว่า[…] แต่เราบอกท่านทั้งหลายว่า...” (มธ 5:33-34) พระองค์ยังทรงใช้อำนาจของพระเจ้าเช่นเดียวกันเพื่อลบล้าง “ธรรมเนียมของมนุษย์”[368] ซึ่งทำให้พระวาจาของพระเจ้าเป็นโมฆะ[369]
582 ยิ่งกว่านั้น พระเยซูเจ้ายังทรงปฏิรูปกฎเกี่ยวกับเรื่องอาหารมีมลทินหรือไม่มีมลทิน ที่เป็นเรื่องสำคัญในชีวิตประจำวันของชาวยิว ให้สมบูรณ์ขึ้น โดยทรงอธิบายความหมายในมุมมองของความเป็นเหมือน “ครูพี่เลี้ยง” ของกฎเหล่านี้[370] “สิ่งต่างๆ จากภายนอกที่เข้าไปในมนุษย์นั้นทำให้เขาเป็นมลทินไม่ได้ […] – ดังนี้ ทรงประกาศว่าอาหารทุกชนิดไม่เป็นมลทิน พระองค์ยังตรัสอีกว่า สิ่งที่ออกจากภายในมนุษย์นั้นแหละทำให้เขามีมลทิน จากภายใน คือจากใจมนุษย์นั้นเป็นที่มาของความคิดชั่วร้าย” (มก 7:18-21) พระเยซูเจ้าซึ่งทรงใช้อำนาจพระเจ้าอธิบายความหมายสุดท้ายของกฎเกณฑ์ต่างๆ จึงทรงขัดแย้งกับนักกฎหมายบางคนที่ไม่ยอมรับการอธิบายของพระองค์ ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงทำเครื่องหมายอัศจรรย์เพื่อยืนยันพระวาจาที่ทรงสั่งสอน[371] การเช่นนี้เห็นได้ชัดเป็นพิเศษในปัญหาเรื่องวันสับบาโต หลายครั้งพระเยซูเจ้าทรงใช้เหตุผลของบรรดาธรรมาจารย์เอง[372] เพื่อชี้ให้เห็นว่าการรับใช้พระเจ้า[373]และเพื่อนมนุษย์[374]ไม่เป็นการผิดพระบัญญัติให้หยุดพักในวันสับบาโต เพราะพระองค์ทรงรักษาโรคในวันสับบาโต
[356] เทียบ ยน 8:46.
[357] เทียบ ยน 7:19; กจ 13:38-41; 15:10.
[358] เทียบ กท 3:10; 5:3.
[359] เทียบ รม 10:2.
[360] เทียบ มธ 15:3-7; ลก 11:39-54.
[361] เทียบ อสย 53:11; ฮบ 9:15.
[362] เทียบ กท 4:4.
[363] เทียบ กท 3:13.
[364] เทียบ กท 3:10.
[365] เทียบ ยน 11:28; 3:2; มธ 22:23-24,34-36.
[366] เทียบ มธ 12:5; 9:12; มก 2:23-27; ลก 6:6-9; ยน 7:22-23.
[367] เทียบ มธ 5:1.
[368] เทียบ มธ 7:8.
[369] เทียบ มธ 7:13.
[370] เทียบ กท 3:24.
[371] เทียบ ยน 5:36; 10:25,37-38; 12:37.
[372] เทียบ มก 2:25-27; ยน 7:22-24.
[373] เทียบ มธ 12:5; กดว 28:9.
[374] เทียบ ลก 13:15-16; 14:3-4.
II. พระเยซูเจ้าและพระวิหาร
II. พระเยซูเจ้าและพระวิหาร
583 เช่นเดียวกับบรรดาประกาศกที่มาก่อนหน้าพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงแสดงความเคารพอย่างลึกซึ้งต่อพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม ที่นั่น โยเซฟและพระนางมารีย์นำพระองค์ไปถวายหลังจากทรงสมภพได้สี่สิบวัน[375] เมื่อทรงพระชนมายุสิบสองพรรษาพระองค์ทรงตัดสินพระทัยค้างอยู่ในพระวิหารเพื่อทรงเตือนบิดามารดาให้ระลึกว่าพระองค์จำเป็นต้องทำธุรกิจของ พระบิดา[376] ทุกปีในช่วงเวลาที่ทรงพระชนมชีพซ่อนเร้น พระองค์เสด็จขึ้นไปที่นั่นอย่างน้อยในเทศกาลปัสกา[377]
ช่วงเวลาที่ทรงเทศน์สอนประชาชนดูเหมือนจะถูกกำหนดโดยช่วงเวลาที่เสด็จขึ้นไปกรุงเยรูซาเล็มในโอกาสฉลองสำคัญของชาวยิว[378]
584 พระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นไปยังพระวิหารในฐานะสถานที่พิเศษเพื่อพบพระเจ้า สำหรับพระองค์ พระวิหารคือที่ประทับของพระบิดา เป็นบ้านการอธิษฐานภาวนา พระองค์ทรงขัดเคืองพระทัยเมื่อลานด้านนอกของพระวิหารกลายเป็นตลาดสถานที่ค้าขาย[379] ถ้าทรงขับไล่บรรดาพ่อค้าออกไปจากพระวิหาร พระองค์ทรงทำเช่นนี้เพราะความรักเป็นพิเศษต่อพระบิดา “อย่าทำบ้านของพระบิดาของเราให้เป็นตลาด บรรดาศิษย์จึงระลึกได้ถึงคำที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า ‘ความรักที่ข้าพเจ้ามีต่อบ้านของพระองค์เป็นเสมือนไฟที่เผาผลาญข้าพเจ้า’ (สดด 69:10)” (ยน 2:16-17) หลังจากทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว บรรดาอัครสาวกก็ยังคงมีความเคารพต่อพระวิหารต่อมาด้วย[380]
585 ถึงกระนั้น ก่อนที่จะทรงรับทรมาน พระเยซูเจ้าทรงทำนายไว้ว่าอาคารสง่างามนี้จะต้องถูกทำลาย จะไม่มีก้อนหินเหลือซ้อนกันอยู่เลย[381] ณ ที่นี้ พระองค์ทรงแจ้งเครื่องหมายของช่วงเวลาสุดท้ายที่กำลังจะเริ่มขึ้นพร้อมกับปัสกาของพระองค์[382] แต่คำพยากรณ์นี้จะถูกพยานเท็จบิดเบือนความหมายนำไปใช้ปรักปรำพระองค์ในการพิจารณาคดีต่อหน้ามหาสมณะ[383] และยังถูกใช้เป็นคำสบประมาทพระองค์ขณะที่ทรงถูกตรึงบนไม้กางเขนด้วย[384]
586 พระเยซูเจ้าไม่ทรงเป็นอริต่อพระวิหารเลย[385] พระองค์ทรงสั่งสอนหลักคำสอนของพระองค์ในพระวิหาร[386] ทรงประสงค์จ่ายภาษีแก่พระวิหารและทรงต้องการให้เปโตร[387] ที่เพิ่งทรงแต่งตั้งให้เป็นรากฐานของพระศาสนจักรในอนาคต[388] ปฏิบัติเช่นเดียวกันด้วย ยิ่งกว่านั้น พระองค์ยังตรัสว่าทรงเป็นพระวิหารที่แสดงว่าพระเจ้าประทับในหมู่มนุษย์ตลอดไปด้วย[389] เพราะเหตุนี้ การที่พระกายทรงถูกประหาร[390] จึงเป็นการแจ้งถึงการที่พระวิหารจะถูกทำลายซึ่งจะแจ้งว่ายุคใหม่ของประวัติศาสตร์ความรอดพ้นมาถึงแล้ว “ถึงเวลาแล้วที่ท่านทั้งหลายจะนมัสการพระบิดาเจ้าไม่ใช่เฉพาะบนภูเขานี้หรือที่กรุงเยรูซาเล็ม” (ยน 4:21)[391]
[375] เทียบ ลก 2:22-39.
[376] เทียบ ลก 2:46-49.
[377] เทียบ ลก 2:41.
[378] เทียบ ยน 2:13-14; 5:1,14; 7:1,10,14; 8:2; 10:22-23.
[379] เทียบ มธ 21:13.
[380] เทียบ กจ 2:46; 3:1; 5:20-21; ฯลฯ.
[381] เทียบ มธ 24:1-2.
[382] เทียบ มธ 24:3; ลก 13:35.
[383] เทียบ มก 14:57-58.
[384] เทียบ มธ 27:39-40.
[385] เทียบ มธ 8 :4; 23:21; ลก 17:14; ยน 4:22.
[386] เทียบ ยน 18:20.
[387] เทียบ มธ 17:24-27.
[388] เทียบ มธ 16:18.
[389] เทียบ ยน 2:21; มธ 12:6.
[390] เทียบ ยน 2:18-22.
[391] เทียบ ยน 4:23-24; มธ 27:51; ฮบ 9:11; วว 21:22.
III. พระเยซูเจ้าและความเชื่อของอิสราเอลในพระเจ้าและพระผู้ไถ่กู้หนึ่งเดียว
III. พระเยซูเจ้าและความเชื่อของอิสราเอลในพระเจ้าและพระผู้ไถ่กู้หนึ่งเดียว
587 ถ้าธรรมบัญญัติและพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มอาจเป็น “เครื่องหมายแห่งการต่อต้าน”[392] พระเยซูเจ้าสำหรับผู้นำทางศาสนาของอิสราเอล พันธกิจของพระองค์ในการไถ่บาปซึ่งเป็นผลงานยอดเยี่ยมของพระเจ้าจึงเป็นศิลาที่ทำให้พวกเขาสะดุดล้มโดยแท้จริง[393]
588 พระเยซูเจ้าทรงทำให้ชาวฟาริสีไม่พอใจเมื่อเสวยร่วมโต๊ะกับคนเก็บภาษีและคนบาป[394] อย่างคุ้นเคยเช่นเดียวกับเมื่อทรงร่วมโต๊ะกับพวกเขา[395] พระเยซูเจ้าทรงยืนยันไม่เห็นด้วยกับ “ผู้ที่ภูมิใจว่าตนเป็นผู้ชอบธรรมและดูหมิ่นผู้อื่น” (ลก 18:9)[396] ตรัสว่า “เราไม่ได้มาเพื่อเรียกคนชอบธรรม แต่มาเพื่อเรียกคนบาปให้กลับใจ” (ลก 5:32) พระองค์ยังทรงก้าวไปไกลยิ่งกว่านั้นอีก เมื่อทรงประกาศอย่างเปิดเผยต่อหน้าชาวฟาริสีว่า ในเมื่อมนุษย์ทุกคนเป็นคนบาป[397] พวกเขาที่คิดว่าตนไม่ต้องการ การกอบกู้ย่อมทำตนเป็นคนตาบอด[398]
589 พระเยซูเจ้าทรงทำให้ชาวฟาริสีไม่พอใจโดยเฉพาะ เพราะทรงประกาศว่าการที่ทรงแสดงพระทัยเมตตากรุณาต่อคนบาปนั้นเป็นเหมือนกับที่พระเจ้าทรงปฏิบัติต่อพวกเขาด้วย[399] พระองค์ยังตรัสเป็นนัยอีกว่าการที่ทรงร่วมโต๊ะกับพวกคนบาปนั้น[400] เป็นการที่ทรงรับพวกเขาให้ร่วมโต๊ะในยุคพระเมสสิยาห์[401] แต่โดยเฉพาะเมื่อทรงอภัยบาป พระเยซูเจ้าทรงทำให้ผู้นำทางศาสนาของอิสราเอลจนตรอก เขากล่าวถูกต้องแล้วด้วยความขัดเคืองมิใช่หรือว่า “ใครอภัยบาปได้นอกจากพระเจ้าเท่านั้น” (มก 2:7)? ดังนั้น เมื่อพระเยซูเจ้าทรงอภัยบาป ก็หมายความว่าพระองค์กล่าวดูหมิ่นพระเจ้า เป็นมนุษย์ผู้ตั้งตนเสมอเท่าพระเจ้า[402] หรือมิฉะนั้นก็ทรงกล่าวความจริง และพระองค์ก็ทรงเปิดเผยและทำให้พระนามของพระเจ้าเป็นที่รู้จักแก่ทุกคน[403]
590 ถ้าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเจ้าจริงๆ เท่านั้น พระองค์จึงทรงอาจเรียกร้องได้อย่างเต็มที่ว่า“ผู้ใดไม่อยู่กับเรา ย่อมเป็นปฏิปักษ์กับเรา” (มธ 12:30) เช่นเดียวกับเมื่อตรัสว่าทรง “ยิ่งใหญ่กว่าประกาศกโยนาห์ […] ยิ่งใหญ่กว่ากษัตริย์ซาโลมอน” (มธ 12:41-42) หรือยิ่งใหญ่กว่าพระวิหาร[404] เมื่อทรงชวนให้ระลึกว่ากษัตริย์ดาวิดทรงเรียกพระเมสสิยาห์ว่า ‘องค์พระผู้เป็นเจ้า’ ของพระองค์[405] เมื่อทรงยืนยันว่า “ก่อนอับราฮัมจะเกิด เราเป็น” (ยน 8:58) และยังตรัสอีกว่า “เรากับพระบิดาเป็นหนึ่งเดียวกัน” (ยน 10:30)
591 พระเยซูเจ้าทรงขอให้ผู้นำศาสนาที่กรุงเยรูซาเล็มเชื่อในพระองค์เพราะกิจการของพระบิดาที่พระองค์ทรงกระทำ[406] แต่การแสดงความเชื่อเช่นนี้จำเป็นต้องผ่านการตายอย่างลึกลับต่อตนเองข้ามไปรับ “การเกิดใหม่จากเบื้องบน”[407] โดยการชักนำของพระหรรษทานจากพระเจ้า[408] การที่ทรงเรียกร้องเช่นนี้ให้กลับใจเมื่อเห็นว่าพระสัญญาสำเร็จเป็นจริงแล้วอย่างน่าพิศวง[409]ช่วยให้เราเข้าใจว่าสภาซันเฮดรินเข้าใจผิดที่คิดว่าพระเยซูเจ้าทรงดูหมิ่นพระเจ้า จึงสมควรต้องตาย[410] สมาชิกของสภานี้จึงทำไปทั้งด้วยความไม่รู้[411] และด้วยความไม่เชื่อ[412]ที่ทำให้ตาบอด[413]
[392] เทียบ ลก 2:34.
[393] เทียบ ลก 20:17-18; สดด 118:22.
[394] เทียบ ลก 5:30.
[395] เทียบ ลก 7:36; 11:37; 14:1.
[396] เทียบ ยน 7:49; 9:34.
[397] เทียบ ยน 8:33-36.
[398] เทียบ ยน 9:40-41.
[399] เทียบ มธ 9:13; ฮชย 6:6.
[400] เทียบ ลก 15:1-2
[401] เทียบ ลก 15:23-32.
[402] เทียบ ยน 5:18; 10:33.
[403] เทียบ ยน 17:6,26.
[404] เทียบ มธ 12:6.
[405] เทียบ มก 12:36-37.
[406] เทียบ ยน 10:36-38.
[407] เทียบ ยน 3:7.
[408] เทียบ ยน 6:44.
[409] เทียบ อสย 53:1.
[410] เทียบ มก 3:6; มธ 26:64-66.
[411] เทียบ ลก 23:34; กจ 3:17-18.
[412] เทียบ รม 11:20.
[413] เทียบ มก 3:5; รม 11:25.
สรุป
สรุป
592 พระเยซูเจ้ามิได้ทรงลบล้างธรรมบัญญัติที่พระเจ้าประทานแก่อิสราเอลบนภูเขาซีนาย แต่ทรงปรับปรุงให้สมบูรณ์[414] ทรงปฏิบัติตามธรรมบัญญัติอย่างครบถ้วน[415] เพื่อทรงเปิดเผยความหมายสุดท้าย[416] และเพื่อทรงไถ่กู้การล่วงละเมิดธรรมบัญญัตินี้[417]
593 พระเยซูเจ้าทรงให้ความเคารพต่อพระวิหาร เสด็จขึ้นไปที่นั่นในวันสมโภชที่ชาวยิวต้องเดินทางไปร่วม และยังทรงมีความรักอย่างยิ่งต่อที่ประทับของพระเจ้าในหมู่มนุษย์แห่งนี้ พระวิหารยังแจ้งล่วงหน้าถึงพระธรรมล้ำลึกของพระองค์ พระองค์ทรงแจ้งล่วงหน้าว่าพระวิหารจะถูกทำลาย แต่การที่ทรงแจ้งล่วงหน้าเช่นนี้เป็นการแจ้งถึงการสิ้นพระชนม์ของพระองค์และการเข้าสู่ยุคใหม่ของประวัติศาสตร์ความรอดพ้น ซึ่งในยุคใหม่นี้พระกายของพระองค์จะเป็น
พระวิหารสมบูรณ์ที่สุด
594 พระเยซูเจ้าทรงประกอบกิจการหลายอย่างที่แสดงว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าผู้ทรงช่วยให้รอดพ้น[418] เช่นการอภัยบาป ชาวยิวบางคนซึ่งไม่ยอมรับว่าพระเจ้าทรงรับสภาพมนุษย์ในพระองค์[419] จึงคิดว่าพระองค์ทรงเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่อ้างว่าตนเป็นพระเจ้า[420] และตัดสินว่าพระองค์ทรงดูหมิ่นพระเจ้า
[414] เทียบ มธ 5:17-19.
[415] เทียบ ยน 8:46.
[416] เทียบ มธ 5:33.
[417] เทียบ ฮบ 9:15.
[418] เทียบ ยน 5:16-18.
[419] เทียบ ยน 1:14.
[420] เทียบ ยน 10:33.
วรรค 2
พระเยซูเจ้าทรงถูกตรึงกางเขนและสิ้นพระชนม์
I. การพิจารณาคดีพระเยซูเจ้า
I. การพิจารณาคดีพระเยซูเจ้า
ผู้นำชาวยิวมีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับพระเยซูเจ้า
595 ในหมู่ผู้นำทางศาสนาที่กรุงเยรูซาเล็มไม่ได้มีแต่เพียงนิโคเดมัสชาวฟาริสี[421] และโยเซฟชาวอาริมาเธียผู้มีสกุลซึ่งเป็นศิษย์ลับๆ ของพระเยซูเจ้า[422]เท่านั้น แต่เคยมีการถกเถียงเกิดขึ้นเกี่ยวกับพระองค์มานานแล้ว[423] จนกระทั่งว่าก่อนที่จะทรงรับทรมาน นักบุญยอห์นกล่าวได้ว่า “มีหัวหน้าชาวยิวหลายคนที่เชื่อในพระองค์ แต่ไม่กล้าแสดงความเชื่ออย่างเปิดเผย” (ยน 12:42) เป็นความเชื่อที่ยังไม่สมบูรณ์ เรื่องนี้ไม่น่าแปลกถ้าเราคิดว่าทันทีหลังวันเปนเตกอสเต “บรรดาสมณะหลายคนยอมรับความเชื่อด้วย” (กจ 6:7) และมี “บางคนที่เคยอยู่ในกลุ่มชาวฟาริสี” เข้ามารับความเชื่อ (เทียบ กจ 15:5) จนว่านักบุญยากอบพูดกับนักบุญเปาโลได้ว่า “น้องเอ๋ย ท่านเห็นแล้วว่าชาวยิวนับพันนับหมื่นคนมีความเชื่อและปฏิบัติตามธรรมบัญญัติอย่างเคร่งครัด”
(กจ 21:20)
596 บรรดาผู้นำศาสนาที่กรุงเยรูซาเล็มมีความเห็นไม่ตรงกันถึงวิธีการที่จะต้องใช้เกี่ยวกับพระเยซูเจ้า[424] ชาวฟาริสีข่มขู่จะลงโทษผู้ที่เป็นศิษย์ติดตามพระองค์[425] สำหรับผู้ที่กลัวว่า “ทุกคนจะเชื่อเขา แล้วชาวโรมันก็จะมาทำลายทั้งพระวิหารและชนชาติของเรา” (ยน 11:48) มหาสมณะคายาฟาสประกาศพระวาจาเสนอแนะว่า “ถ้าคนคนเดียวจะตายเพื่อประชาชนจะเป็นประโยชน์มากกว่าที่ชนทั้งชาติจะต้องพินาศไป” (ยน 11:50) เมื่อสภาซันเฮดรินตัดสินว่าพระเยซูเจ้ามีความผิดสมควรต้องตาย[426]เพราะดูหมิ่นพระเจ้า แต่เขาไม่มีอำนาจประหารชีวิตผู้ใดได้[427]จึงมอบพระองค์แก่ชาวโรมันโดยกล่าวหาว่าพระองค์ยุยงประชาชนให้เป็นกบฏ[428] ข้อกล่าวหานี้จะนำพระองค์มาเทียบกับบารับบัสที่มีความผิด “เพราะก่อการจลาจล” (ลก 23:19) บรรดาหัวหน้าสมณะยังข่มขู่ปีลาตด้วยข้อหาทางการเมืองเพื่อให้ปีลาตตัดสินประหารชีวิตพระเยซูเจ้า[429]
ชาวยิวโดยรวมไม่มีความผิดในการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้า
597 ถ้าคิดคำนึงถึงความซับซ้อนทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการพิจารณาคดีของพระเยซูเจ้าตามที่ปรากฏอยู่ในเรื่องเล่าของพระวรสารทั้งสี่ฉบับ และคิดคำนึงถึงความผิดส่วนตัวของแต่ละคนที่มีบทบาทในการพิจารณาคดีนี้ (ชาวยิว สภาซันเฮดริน ปีลาต) ที่พระเจ้าเท่านั้นทรงทราบ เราไม่อาจกล่าวได้ว่าชาวยิวที่กรุงเยรูซาเล็มทุกคนต้องรับผิดชอบ แม้ว่าประชาชนจำนวนมากถูกเสี้ยมสอนยุยงให้มาร้องตะโกนกล่าวโทษ[430] และมีการกล่าวโทษโดยรวมต่อทุกคนดังที่พบอยู่ในบทเทศน์ของบรรดาอัครสาวกหลังวันเปนเตกอสเตเพื่อเชิญชวนประชาชนให้กลับใจ[431]พระเยซูเจ้าเอง เมื่อประทานอภัยบนไม้กางเขน[432] และหลังจากพระองค์ เปโตรก็ให้เหตุผลการกระทำของชาวยิวที่กรุงเยรูซาเล็มและผู้นำของเขาว่ามาจาก “ความไม่รู้”[433] จึงเป็นการไม่ถูกต้องยิ่งขึ้นที่จะอ้างเอาการร้องตะโกนของประชาชนที่ว่า “ขอให้เลือดของเขาตกเหนือเราและเหนือลูกหลานของเราเถิด” (มธ 27:25) ที่เป็นสูตรรับรองความรับผิดชอบการ กระทำ[434]มาขยายความรับผิดชอบไปครอบคลุมชาวยิวต่างเวลาและสถานที่ด้วย
พระศาสนจักรได้ประกาศเช่นเดียวกันในสภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ด้วยว่า “กิจการที่เกิดขึ้นใน พระทรมานไม่ได้เป็นการกระทำที่ชาวยิวทุกคนซึ่งมีชีวิตอยู่ในเวลานั้นต้องรับผิดชอบร่วมกันทั้งหมด และจะถือว่าชาวยิวในสมัยนี้ต้องรับผิดชอบด้วยก็ไม่ได้เช่นกัน […] เราต้องไม่กล่าวถึงชาวยิวว่าถูกพระเจ้าตำหนิหรือสาปแช่งประหนึ่งว่าการทำเช่นนี้สรุปได้จากพระคัมภีร์”[435]
คนบาปทุกคนเป็นผู้ทำให้พระคริสตเจ้าต้องทรงรับทรมาน
598 พระศาสนจักรไม่เคยลืมความจริงนี้ในการสั่งสอนความเชื่อเป็นทางการและในการเป็นพยานยืนยันของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์เลยว่า “บรรดาคนบาปเป็นผู้ก่อให้เกิดและส่งเสริมความทุกข์ทรมานทุกอย่างที่พระคริสตเจ้าทรงรับทน”[436] เมื่อคิดถึงความจริงที่ว่าบาปของเรามีผลกระทบต่อพระคริสตเจ้า[437] พระศาสนจักรไม่ลังเลใจเลยที่จะสอนว่าบรรดาคริสตชนต้องรับผิดชอบอย่างยิ่งในการที่พระเยซูเจ้าทรงต้องรับทรมาน แต่บ่อยมากเขากลับปัดความรับผิดชอบนี้ไปไว้กับชาวยิวเท่านั้น
“เราต้องตัดสินว่าทุกคนที่ยังตกในบาปบ่อยๆ มีความผิดนี้ เนื่องจากว่าบาปของเราเป็นเหตุให้พระคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าต้องทรงรับทรมาน ผู้ที่ตกในความผิดและเกลือกกลั้วอยู่ในบาปจึงยังตรึงกางเขน พระบุตรของเจ้า ในตนเองและสบประมาทพระองค์ ความผิดนี้ในตัวเราดูเหมือนจะหนักกว่าในชาวยิวเสียอีก เพราะ ดังที่นักบุญเปาโลกล่าวไว้ “ถ้าเขาเหล่านั้นรู้ เขาคงไม่ตรึงองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระสิริรุ่งโรจน์” (1 คร 2:8) พวกเราทั้งรู้จักพระองค์และประกาศความเชื่อในพระองค์ แต่เมื่อเราปฏิเสธพระองค์โดยการกระทำ เราก็เป็นเหมือนกับว่าลงมือทำร้ายพระองค์”[438]
“แม้แต่ปีศาจก็ไม่ได้ตรึงพระองค์บนไม้กางเขน แต่ท่านได้ตรึงพระองค์บนไม้กางเขนพร้อมกับเขาเหล่านั้น (=ชาวยิว?) และยังคงตรึงพระองค์บนไม้กางเขน พอใจอยู่ในความชั่วและบาป”
[421] เทียบ ยน 7:50.
[422] เทียบ ยน 19:38-39.
[423] เทียบ ยน 9:16-17; 10:19-21.
[424] เทียบ ยน 9:16; 10:19.
[425] เทียบ ยน 9:22.
[426] เทียบ มธ 26:66.
[427] เทียบ ยน 18:31.
[428] เทียบ ลก 23:2.
[429] เทียบ ยน 19:12,15,21.
[430] เทียบ มก 15:11.
[431] เทียบ กจ 2:23,36; 3:13-14; 4:10; 5:30; 7:52; 10:39; 13:27-28; 1 ธส 2:14-15.
[432] เทียบ ลก 23:34.
[433] เทียบ กจ 3:17.
[434] เทียบ กจ 5:28; 18:6.
[435] Concilium Vaticanum II, Decl. Nostra aetate, 4: AAS 58 (1966) 743.
[436] Catechismus Romanus, 1,5, 11: ed. P. Rodriguez (Città del Vaticano-Pamplona 1989) p. 64; cf. Heb. 12:3.
[437] เทียบ มธ 25:45; กจ 9:4-5.
[438] Catechismus Romanus, 1,5, 11: ed. P. Rodriguez (Città del Vaticano-Pamplona 1989) p. 64.
II. การสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้าเพื่อกอบกู้มนุษย์ในแผนการช่วยให้รอดพ้นของพระเจ้า
II. การสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้าเพื่อกอบกู้มนุษย์ในแผนการช่วยให้รอดพ้นของพระเจ้า
“พระเยซูเจ้าทรงถูกมอบตามพระประสงค์ที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้แล้ว”
599 การสิ้นพระชนม์อย่างโหดร้ายของพระเยซูเจ้าในสภาพน่าสมเพชไม่ได้เกิดขึ้นโดยเป็นผลจากเหตุบังเอิญมาพบกัน เหตุการณ์นี้เกี่ยวข้องกับแผนการของพระเจ้าซึ่งเป็นพระธรรมล้ำลึก ดังที่นักบุญเปโตรอธิบายให้ชาวยิวที่กรุงเยรูซาเล็มฟังตั้งแต่การเทศน์ครั้งแรกในวันเปนเตกอสเต “พระเยซูเจ้าทรงถูกมอบในเงื้อมมือของท่านตามที่พระเจ้ามีพระประสงค์” (กจ 2:23) วิธีพูดเช่นนี้ของพระคัมภีร์ไม่หมายความว่าผู้ที่มอบพระเยซูเจ้า[439]เป็นเพียงผู้รับคำสั่งมาปฏิบัติตามในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามแผนที่พระเจ้าทรงเขียนไว้ก่อนแล้วเท่านั้น
600 เวลาทุกขณะเป็นปัจจุบันสำหรับพระเจ้าอยู่เสมอ ดังนั้นพระองค์จึงทรงสถาปนาแผนการนิรันดร “การกำหนดไว้ล่วงหน้า” (predestination) แล้ว ซึ่งรวมถึงการตอบสนองโดยอิสระของมนุษย์แต่ละคนต่อพระหรรษทานของพระองค์ในแผนการนี้: “ในเมืองนี้กษัตริย์เฮโรดและ ปอนทิอัสปีลาตร่วมกับคนต่างชาติและประชากรอิสราเอล[440]ต่อสู้กับพระเยซูเจ้าผู้รับใช้ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งพระองค์ทรงเจิมไว้ เพื่อทำให้พระประสงค์ที่ทรงกำหนดไว้ด้วยพระอานุภาพสำเร็จไป” (กจ 4:27-28) พระเจ้าทรงอนุญาตการกระทำที่เกิดจากความมืดบอดของเขา[441]เพื่อทำให้แผนการของพระองค์สำเร็จเป็นจริง[442]
“พระองค์สิ้นพระชนม์เพื่อบาปของเราตามความในพระคัมภีร์”
601 พระคัมภีร์กล่าวล่วงหน้าไว้แล้วในเรื่องการถูกประหารชีวิตของ “ผู้รับใช้ชอบธรรม”[443] ถึงแผนการของพระเจ้าที่จะช่วยมนุษยชาติให้รอดพ้น ซึ่งเป็นธรรมล้ำลึกการไถ่กู้มวลมนุษยชาติให้พ้นจากการเป็นทาสของบาป[444] ในการประกาศความเชื่อครั้งหนึ่งที่ท่านกล่าวว่าตน “ได้รับมา”[445] นักบุญเปาโลประกาศว่า “พระคริสตเจ้าได้สิ้นพระชนม์เพราะบาปของเราตามที่มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์” (1 คร 15:3)[446]การสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้าเพื่อกอบกู้มนุษยชาตินี้ทำให้คำประกาศพระวาจาเรื่อง “ผู้รับใช้ผู้รับทรมาน” สำเร็จเป็นจริง[447] พระเยซูเจ้าเองทรงอธิบายความหมายพระชนมชีพและการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ในมุมมองของ “ผู้รับใช้ผู้รับทรมาน”[448] หลังจากทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว พระองค์ทรงอธิบายความหมายนี้ของพระคัมภีร์แก่ศิษย์ที่กำลังเดินทางไปยังหมู่บ้านเอมมาอุส[449] และหลังจากนั้นแก่บรรดาอัครสาวกด้วย[450]
“พระเจ้าทรงทำให้พระองค์เป็นบาปสำหรับพวกเรา”
602 เพราะเหตุนี้ นักบุญเปโตรจึงอาจกล่าวถึงความเชื่อที่สืบทอดมาจากบรรดาอัครสาวกถึงแผนการที่พระเจ้าจะทรงช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นได้ดังนี้ “ท่านได้รับการไถ่กู้หลุดพ้นจากวิถีชีวิตไร้ค่าที่สืบมาจากบรรพบุรุษ […] ด้วยพระโลหิตประเสริฐของพระคริสตเจ้า ดังเลือดของลูกแกะไร้มลทินหรือจุดด่างพร้อย พระองค์ทรงกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้วตั้งแต่ก่อนสร้างโลก และทรงเปิดเผยพระคริสตเจ้าเพื่อท่านทั้งหลายในวาระสุดท้าย” (1 ปต 1:18-20) บาปต่างๆ ของมนุษย์ ซึ่งเป็นผลของบาปกำเนิด ต้องรับโทษถึงตาย[451] เมื่อทรงส่งพระบุตรของพระองค์มาในสภาพทาส[452] นั่นคือในสภาพของมนุษย์ผู้ตกในบาปและดังนั้นจึงจะต้องตายเพราะบาป[453]“เพราะเห็นแก่เรา พระเจ้าทรงทำให้พระองค์ผู้ไม่รู้จักบาปเป็นผู้รับบาป เพื่อว่าในพระองค์ เราจะได้กลายเป็นผู้ชอบธรรมของพระเจ้า” (2 คร 5:21)
603 ไม่มีผู้ใดพิสูจน์ได้ว่าพระเยซูเจ้าทรงทำบาป[454] แต่เพราะความรักเพื่อกอบกู้มนุษย์ที่รวมพระองค์ไว้กับพระบิดาเสมอ[455] พระองค์จึงทรงยอมอยู่ในสภาพของเราที่เป็นคนบาปเหินห่างจากพระเจ้า เพื่อจะตรัสแทนเราบนไม้กางเขนได้ว่า “ข้าแต่พระเจ้า ข้าแต่พระเจ้า ทำไมพระองค์จึงทรงทอดทิ้งข้าพเจ้า” (มก 15:34)[456]เมื่อทรงรวมพระองค์กับเราคนบาปเช่นนี้แล้ว พระเจ้าจึง “ไม่ทรงหวงแหนพระบุตรของพระองค์ แต่ทรงมอบพระบุตรเพื่อเราทุกคน” (รม 8:32) เพื่อเราจะได้ “กลับคืนดีกับพระเจ้าเดชะการสิ้นพระชนม์ของพระบุตร” (รม 5:10)
พระเจ้าทรงริเริ่มความรักที่ไถ่กู้มวลมนุษย์
604 เมื่อทรงมอบพระบุตรเพราะบาปของเรา พระเจ้าทรงแสดงให้เห็นว่าแผนการของพระองค์เกี่ยวกับเรานั้นเป็นแผนการความรักที่ประทานให้เปล่าโดยที่เราไม่สมจะได้รับความรักนี้เลย “ความรักมิใช่อยู่ที่เรารักพระเจ้า แต่อยู่ที่ว่าพระเจ้าทรงรักเรา และทรงส่งพระบุตรของพระองค์มาเพื่อชดเชยบาปของเรา” (1 ยน 4:10)[457] “พระเจ้าทรงพิสูจน์ว่าทรงรักเรา เพราะพระคริสตเจ้าสิ้นพระชนม์เพื่อเราขณะที่เรายังเป็นคนบาป” (รม 5:8)
605 ความรักนี้ไม่มีข้อยกเว้น ตอนปลายของเรื่องอุปมาเรื่องแกะที่หลงไปนั้น พระองค์ตรัสว่า “พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์ก็เช่นเดียวกัน ไม่ทรงปรารถนาให้คนธรรมดาๆ เหล่านี้แม้เพียงผู้เดียวต้องพินาศไป” (มธ 18:24) พระองค์ทรงย้ำอีกว่าพระองค์ “ทรงมอบชีวิตของพระองค์เป็นสินไถ่เพื่อมนุษย์ทั้งหลาย” (มธ 20:28) วลีสุดท้ายซึ่งตามตัวอักษรแปลว่า “เพื่อคนจำนวนมาก” มิได้มีความหมายจำกัด แต่เป็นการรวมมนุษยชาติไว้เป็นบุคคลเดียวตรงกันข้ามกับพระผู้ไถ่ซึ่งมอบพระองค์เพื่อช่วยบุคคลนี้ให้รอดพ้น[458] พระศาสนจักรก็ปฏิบัติตามบรรดาอัครสาวก[459] สอนว่าพระคริสตเจ้าสิ้นพระชนม์เพื่อมนุษย์ทุกคนโดยไม่ยกเว้น “ไม่ได้มี และจะไม่มีมนุษย์คนใด ที่พระคริสตเจ้ามิได้ทรงรับทรมานเพื่อเขา”[460]
[439] เทียบ กจ 3:13.
[440] เทียบ สดด 2:1-2
[441] เทียบ มธ 26:54; ยน 18:36; 19:11.
[442] เทียบ กจ 3:17-18.
[443] เทียบ อสย 53:11; กจ 3:14.
[444] เทียบ อสย 53:11-12; ยน 8 :34-36.
[445] เทียบ 1 คร 15 :3
[446] เทียบ กจ 3:18; 7:52; 13:29; 26:22-23 ด้วย.
[447] เทียบ อสย 53:7-8; กจ 8:32-35.
[448] เทียบ มธ 20:28.
[449] เทียบ ลก 24:25-27.
[450] เทียบ ลก 24:44-45.
[451] เทียบ รม 5:12; 1 คร 15:56.
[452] เทียบ ฟป 2:7.
[453] เทียบ รม 8:3.
[454] เทียบ ยน 8:46.
[455] เทียบ ยน 8:29.
[456] เทียบ สดด 22:1.
[457] เทียบ 1 ยน 4:19.
[458] เทียบ รม 5:18-19.
[459] เทียบ 2 คร 5:15; 1 ยน 2:2.
[460] Concilium Carisiacum (anno 853), De libero arbitrio hominis et de praedestinatione, canon 4: DS 624.
III. พระคริสตเจ้าทรงถวายพระองค์เพื่อบาปของเรา
III. พระคริสตเจ้าทรงถวายพระองค์เพื่อบาปของเรา
พระชนมชีพทั้งหมดของพระคริสตเจ้าเป็นของถวายแด่พระบิดา
606 พระบุตรของพระเจ้าซึ่งเสด็จลงมาจากสวรรค์ไม่ใช่เพื่อปฏิบัติตามพระทัยของพระองค์เอง แต่เพื่อปฏิบัติตามพระทัยของพระผู้ทรงส่งพระองค์มา[461] “เมื่อเสด็จมาในโลกตรัสว่า […] ข้าพเจ้ามาเพื่อปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระองค์ […] โดยพระประสงค์นี้เอง เราทั้งหลายได้รับความศักดิ์สิทธิ์เดชะการถวายพระวรกายของพระองค์เป็นการบูชาที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงกระทำแต่เพียงครั้งเดียวโดยมีผลตลอดไป” (ฮบ 10:5-10) นับตั้งแต่วาระแรกที่ทรงรับสภาพมนุษย์ พระบุตรทรงรับเอาแผนการไถ่กู้ของพระเจ้ามาเป็นพันธกิจของพระองค์ “อาหารของเราคือการทำตามพระประสงค์ของพระผู้ทรงส่งเรามา และการประกอบภารกิจของพระองค์ให้สำเร็จลุล่วงไป” (ยน 4:34) การถวายบูชาของพระเยซูเจ้า “เพื่อ(ชดเชยบาปของมนุษย์)ทั้งโลกด้วย” (1 ยน 2:2) จึงเป็นการแสดงถึงความสัมพันธ์ความรักของพระองค์กับพระบิดา “พระบิดาทรงรักเราเพราะเราสละชีวิตของเรา” (ยน 10:17) “โลกจะต้องรู้ว่ารักพระบิดาและรู้ว่าพระบิดาทรงบัญชาให้เราทำอย่างไร เราก็ทำอย่างนั้น”(ยน 14:31)
607 ความปรารถนาจะรับแผนการไถ่กู้เพราะความรักของพระบิดานี้เป็นพลังบันดาลใจตลอดพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า[462] เพราะพระทรมานเพื่อไถ่กู้มนุษยชาติก็คือเหตุผลที่ทรงรับสภาพมนุษย์ “ข้าแต่พระบิดาเจ้า โปรดช่วยข้าพเจ้าให้พ้นจากเวลานี้เถิด แต่ข้าพเจ้ามาก็เพื่อเวลานี้” (ยน 12:27) “เราจะไม่ดื่มจากถ้วยที่พระบิดาประทานให้เราหรือ” (ยน 18:11) และบนไม้กางเขน ก่อนที่จะตรัสว่า “สำเร็จบริบูรณ์แล้ว” (ยน 19:30) พระองค์ตรัสว่า “เรากระหาย” (ยน 19:28)
“ลูกแกะที่ทรงลบล้างบาปของโลก”
608 ยอห์นผู้ประกอบพิธีล้าง หลังจากยอมประกอบพิธีล้างให้พระเยซูเจ้าพร้อมกับบรรดาคนบาปแล้ว[463] เห็นในพระองค์และแจ้งให้ทุกคนรู้ว่าพระองค์คือ “ลูกแกะของพระเจ้า ซึ่งลบล้างบาปของโลก”[464]ดังนี้ เขาจึงเปิดเผยว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นทั้ง “ผู้รับใช้ผู้รับทรมาน” ที่ยอมมอบตนโดยไม่ปริปากให้ถูกนำไปฆ่า[465] และแบกบาปของคนทั้งปวง[466] ทั้งยังเป็น “ลูกแกะปัสกา” สัญลักษณ์การไถ่กู้อิสราเอลในการฉลองปัสกาครั้งแรก[467] พระชนมชีพทั้งหมดของพระคริสตเจ้าแสดงพันธกิจของพระองค์ คือการรับใช้และมอบชีวิตของพระองค์เป็นสินไถ่เพื่อมนุษย์ทั้งหลาย[468]
พระเยซูเจ้าทรงรับความรักของพระบิดาเพื่อไถ่กู้มวลมนุษย์
609 พระเยซูเจ้าทรงรับความรักของพระบิดาต่อมวลมนุษย์มาไว้ในพระหทัยมนุษย์ของพระองค์ “ทรงรักเขาจนถึงที่สุด” (ยน 13:1) เพราะ “ไม่มีใครมีความรักยิ่งใหญ่กว่าการสละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหาย” (ยน 15:13) ดังนี้ พระธรรมชาติมนุษย์ของพระองค์จึงถูกใช้ในพระทรมานและการสิ้นพระชนม์เป็นดังเครื่องมืออิสระและสมบูรณ์แสดงความรักของพระเจ้าที่ต้องการช่วยมนุษย์ให้รอดพ้น[469] โดยแท้จริงแล้ว พระองค์ทรงยอมรับพระทรมานและสิ้นพระชนม์โดยอิสระเสรีเพราะความรักที่ทรงมีต่อพระบิดาและต่อมนุษย์ที่ทรงประสงค์จะช่วยให้รอดพ้น “ไม่มีใครเอาชีวิตไปจากเราได้ แต่เราเองสมัครใจสละชีวิตนั้น” (ยน 10:18) ดังนี้จึงเป็นเสรีภาพสูงสุดของพระบุตรพระเจ้า เมื่อพระองค์เสด็จออกไปเผชิญหน้ากับความตาย[470]
ในการเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้าย พระเยซูเจ้าทรงถวายพระองค์ล่วงหน้า
610 พระเยซูเจ้าทรงแสดงการถวายองค์อย่างอิสระเสรียิ่งเมื่อเสวยพระกระยาหารในงานเลี้ยงอาหารพร้อมกับอัครสาวกทั้งสิบสองคน[471] “ในคืนที่ทรงถูกทรยศ” (1คร 11:23) ในวันก่อนจะทรงรับทรมาน ก่อนจะทรงถูกจับกุม พระเยซูเจ้าทรงทำให้การเลี้ยงอาหารมื้อค่ำครั้งสุดท้ายกับบรรดาอัครสาวกเป็นการระลึกถึงการถวายพระองค์โดยอิสระเสรีแด่พระบิดา[472] เพื่อความรอดพ้นของมวลมนุษย์ “นี่เป็นกายของเราที่ถูกมอบเพื่อท่านทั้งหลาย” (ลก 22:19) “นี่เป็นโลหิตของเรา โลหิตแห่งพันธสัญญาใหม่ที่หลั่งออกมาเพื่ออภัยบาปมนุษย์ทั้งหลาย” (มธ 26:28)
611 พิธีบูชาขอบพระคุณที่ทรงตั้งขึ้นขณะนั้นจะเป็น “การระลึกถึง”[473]การถวายบูชาของพระองค์พระเยซูเจ้าทรงรวมบรรดาอัครสาวกไว้ในการถวายของพระองค์และทรงขอให้เขาทั้งหลายปฏิบัติตลอดไป[474] ดังนี้ พระเยซูเจ้าจึงทรงแต่งตั้งบรรดาอัครสาวกให้เป็นสมณะของพันธสัญญาใหม่ “ข้าพเจ้าถวายตนเป็นบูชาสำหรับเขา เพื่อเขาจะได้รับความศักดิ์สิทธิ์อย่างแท้จริงด้วย” (ยน 17:19)[475]
ความทุกข์แสนสาหัสในสวนเกทเสมนี
612 ถ้วยแห่งพันธสัญญาใหม่ที่พระเยซูเจ้าทรงถวายพระองค์ล่วงหน้าในการเลี้ยงอาหารค่ำนั้น[476]ต่อมาพระองค์ทรงรับจากพระหัตถ์ของพระบิดาเมื่อทรงทนทุกข์แสนสาหัสในสวนเกทเสมนี[477]พระเยซูเจ้า “ทรงถ่อมพระองค์จนถึงกับทรงยอมรับแม้ความตาย” (ฟป 2:8)[478]ทรงอธิษฐานภาวนาว่า “พระบิดาเจ้าข้า ถ้าเป็นไปได้ ขอให้ถ้วยนี้พ้นข้าพเจ้าไปเถิด...” (มธ 26:39)นี่จึงแสดงให้เห็นความหวาดกลัวของธรรมชาติมนุษย์ขณะที่ต้องเผชิญกับความตาย โดยแท้จริงแล้ว ธรรมชาติมนุษย์นี้ของพระองค์ถูกกำหนดไว้สำหรับชีวิตนิรันดรเช่นเดียวกับธรรมชาติมนุษย์ของเรา แต่พระธรรมชาติมนุษย์ของพระองค์แตกต่างจากของเรา ปลอดจากบาปอย่างสมบูรณ์[479]บาปซึ่งเป็นเหตุของความตาย[480]แต่โดยเฉพาะเพราะว่าพระบุคคลพระเจ้า “เจ้าแห่งชีวิต” [481]“พระผู้ทรงชีวิต”[482] ได้ทรงรับเอาธรรมชาติมนุษย์นี้ พระองค์จึงทรงยอมรับจากเจตนาแบบมนุษย์ของพระองค์ให้พระประสงค์ของพระบิดาสำเร็จไป[483] พระองค์ทรงยอมรับความตายในฐานะเป็นความตายที่ไถ่กู้ เพื่อพระองค์จะได้ “ทรงแบกบาปของเราไว้ในพระวรกายบนไม้กางเขน” (1 ปต 2:24)
การสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้าเป็นการถวายบูชาหนึ่งเดียวที่สมบูรณ์
613 การสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้าเป็นทั้งการถวายบูชาปัสกา ซึ่งทำให้การไถ่กู้มนุษยชาติสำเร็จบริบูรณ์[484] อาศัยลูกแกะผู้ทรงลบล้างบาปของโลก[485] และเป็นการถวายบูชาแห่งพันธสัญญาใหม่[486] ซึ่งทำให้มนุษย์มีความสัมพันธ์ที่ดีกับพระเจ้าอีกครั้งหนึ่ง[487] ทำให้มนุษย์กลับคืนดีกับพระองค์อาศัยพระโลหิตที่หลั่งออกเพื่ออภัยบาปมนุษย์ทั้งหลาย[488]
614 การถวายบูชานี้ของพระคริสตเจ้าเป็นการถวายบูชาหนึ่งเดียว และทำให้การถวายบูชาทั้งหลายสำเร็จบริบูรณ์มีค่าเหนือกว่าการถวายบูชาเหล่านั้นทั้งหมด[489] ก่อนอื่นใด การถวายบูชานี้เป็นของประทานจากพระบิดาเจ้าเอง พระบิดาทรงมอบพระบุตรของพระองค์เพื่อพระบุตรจะได้ทรงทำให้เราคืนดีกับพระองค์[490] ในขณะเดียวกันการถวายบูชานี้ยังเป็นการถวายพระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงรับสภาพมนุษย์และถวายชีวิตของพระองค์อย่างอิสระเสรี[491] เพราะความรัก[492]ต่อพระบิดาเดชะพระจิตเจ้า[493] เพื่อชดเชยความไม่เชื่อฟังของเรา
พระเยซูเจ้าทรงเชื่อฟังเพื่อทดแทนความไม่เชื่อฟังของเรา
615 “มวลมนุษย์กลายเป็นคนบาปเพราะความไม่เชื่อฟังของมนุษย์คนเดียวฉันใด มวลมนุษย์ก็จะเป็นผู้ชอบธรรมเพราะความเชื่อฟังของมนุษย์คนเดียวฉันนั้น” (รม 5:19) พระเยซูเจ้าทรงเชื่อฟังจนยอมสิ้นพระชนม์ ทรงปฏิบัติตนแทนผู้รับใช้ผู้รับทรมานที่มอบชีวิตของตนเพื่อชดเชยบาป พระองค์ทรงแบกบาปของมนุษย์ทั้งหลายที่ทรงบันดาลให้เป็นผู้ชอบธรรมโดยทรงแบกความชั่วร้ายของเขา[494] พระเยซูเจ้าทรงชดเชยความผิดของเราและชดใช้โทษบาปของเราแก่พระบิดา[495]
พระเยซูเจ้าทรงถวายบูชาเสร็จสมบูรณ์บนไม้กางเขน
616 ความรัก “จนถึงที่สุด”[496] นี้ทำให้การถวายบูชาของพระคริสตเจ้ามีคุณค่าเป็นการไถ่กู้ แก้ไข ชดเชย และใช้โทษ พระองค์ทรงรู้จักและรักเราทุกคนเมื่อทรงถวายชีวิตของพระองค์[497] “ความรักของพระคริสตเจ้าผลักดันเรา เราแน่ใจว่าถ้าคนหนึ่งตายเพื่อทุกคน ก็เหมือนกับว่าทุกคนได้ตายด้วย” (2 คร 5:14) ไม่มีมนุษย์คนใด แม้จะศักดิ์สิทธิ์ที่สุด อาจรับเอาบาปของมนุษย์ทุกคนมาไว้กับตนและถวายตนเป็นเครื่องบูชาสำหรับทุกคนได้ การที่พระบุคคลพระเจ้าของพระบุตรสถิตในพระคริสตเจ้า อยู่เหนือและรวมบุคคลมนุษย์ทุกคนไว้เช่นนี้ แต่งตั้งให้พระองค์ทรงเป็นศีรษะของมวลมนุษยชาติ ทำให้การถวายบูชาของพระองค์สามารถกอบกู้มนุษย์ทุกคนได้
617 สภาสังคายนาที่เมืองเตร็นท์สอนว่า “พระทรมานศักดิ์สิทธิ์(ของพระคริสตเจ้า)บนไม้กางเขนบันดาลความชอบธรรมให้แก่เรา”[498] ทำให้การถวายบูชาของพระคริสตเจ้ามีลักษณะพิเศษเป็นผู้บันดาลความรอดพ้นนิรันดรแก่ทุกคน[499] พระศาสนจักรจึงขับร้องเคารพไม้กางเขนว่า “ขอคารวะไม้กางเขน ความหวังเพียงหนึ่งเดียว”[500]
การที่เรามีส่วนร่วมการถวายบูชาของพระคริสตเจ้า
618 ไม้กางเขนเป็นการถวายบูชาเพียงหนึ่งเดียวของพระคริสตเจ้า คนกลางเพียงผู้เดียวระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์[501] แต่เนื่องจากว่าพระองค์ “ทรงประหนึ่งว่ารวมเป็นหนึ่งเดียวกับมนุษย์ทุกคน”[502]ในพระบุคคลพระเจ้าผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ “พระองค์จึงประทานให้มนุษย์ทุกคนมีโอกาสร่วมส่วนในพระธรรมล้ำลึกปัสกาได้โดยวิธีการที่พระเจ้าทรงทราบ”[503]พระองค์ทรงเรียกร้องให้บรรดาศิษย์แบกไม้กางเขนของตนและตามพระองค์[504] เพราะพระองค์ทรงรับทรมานเพื่อเราและประทานแบบฉบับไว้ให้เราดำเนินตามรอยพระบาท[505] พระองค์ทรงประสงค์ให้ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการถวายบูชาไถ่กู้ของพระองค์ก่อนผู้อื่นได้มีส่วนร่วมในการถวายบูชานี้ด้วย[506] การนี้เป็นจริงอย่างสมบูรณ์ในองค์พระมารดาของพระองค์ ผู้ทรงมีส่วนร่วมพระธรรมล้ำลึกพระทรมานไถ่กู้ของพระองค์อย่างลึกซึ้งมากกว่าผู้ใดทั้งสิ้น[507]
“นี่คือบันไดแท้จริงเพียงหนึ่งเดียวเพื่อขึ้นสวรรค์ และไม่มีบันไดอื่นใดอีกนอกจากไม้กางเขนที่เราจะใช้เดินขึ้นสวรรค์ได้”[508]
[461] เทียบ ยน 6:38.
[462] เทียบ ลก 12:50; 22:15; มธ 16:21-23.
[463] เทียบ ลก 3:21; มธ 3:14-15.
[464] เทียบ ยน 1:29,36.
[465] เทียบ อสย 53:7; ยรม 11:19.
[466] เทียบ อสย 53:12.
[467] เทียบ อพย 12:3-14; ยน 19:36; 1 คร 5:7.
[468] เทียบ มก 10:45.
[469] เทียบ ฮบ 2:10,17-18; 4:15; 5:7-9.
[470] เทียบ ยน 18:4-6; มธ 26:53.
[471] เทียบ มธ 26:20.
[472] เทียบ 1 คร 5:7.
[473] เทียบ 1 คร 11:25.
[474] เทียบ ลก 22:19.
[475] Cf. Concilium Tridentinum, Sess. 22a, Doctrina de sanctissimo Missae Sacrificio, canon 2: DS 1752; Sess. 23a, Doctrina de Sacramento
Ordinis, c. 1: DS 1764.
[476] เทียบ ลก 22:20.
[477] เทียบ มธ 26:42.
[478] เทียบ ฮบ 5:7-8.
[479] เทียบ ฮบ 4:15.
[480] เทียบ รม 5:12.
[481] เทียบ กจ 3:15.
[482] เทียบ วว 1 :18 ; ยน 1:4 ; 5:26.
[483] เทียบ มธ 26:42.
[484] เทียบ 1 คร 5:7; ยน 8:34-36.
[485] เทียบ ยน 1:29; 1 ปต 1:19.
[486] เทียบ 1 คร 11:25.
[487] เทียบ อพย 24:8.
[488] เทียบ มธ 26:28; ลนต 16:15-16.
[489] เทียบ ฮบ 10:10.
[490] เทียบ 1 ยน 4:10.
[491] เทียบ ยน 10:17-18.
[492] เทียบ ยน 15:13.
[493] เทียบ ฮบ 9:14.
[494] เทียบ อสย 53 :10-12.
[495] Cf. Concilium Tridentinum, Sess. 6a, Decretum de iustificatione, c. 7: DS 1529.
[496] เทียบ ยน 13:1.
[497] เทียบ กท 2:20; อฟ 5:2,25.
[498] Concilium Tridentinum, Sess. 6a, Decretum de iustificatione, c. 1: DS 1529.
[499] เทียบ ฮบ 5:9.
[500] “O Crux, Ave, spes unica!”: Additio liturgica ad Hymnum “Vexilla Regis”: Liturgia Horarum, editio typica, v. 2 (Typis Polyglottis Vaticanis 1974) p. 313; v. 4 (Typis Polyglottis Vaticanis 1974) p. 1129.
[501] เทียบ 1 ทธ 2:5.
[502] Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 22: AAS 58 (1966) 1042.
[503] Cf. Concilium Vaticanum II, Const. past. Gaudium et spes, 22: AAS 58 (1966) 1043.
[504] เทียบ มธ 16:24.
[505] เทียบ 1 ปต 2:21.
[506] เทียบ มก 10:39; ยน 21:18-19; คส 1:24.
[507] เทียบ ลก 2:35.
[508] Sancta Rosa de Lima: P. Hansen, Vita mirabilis [...] venerabilis sororis Rosae de sancta Maria Limensis (Romae 1664) p. 137.
สรุป
สรุป
619 “พระคริสตเจ้าได้สิ้นพระชนม์เพราะบาปของเราตามที่มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์” (1 คร 15:3)
620 ความรอดพ้นของเราหลั่งมาจากการริเริ่มของพระเจ้าด้วยความรัก “เพราะพระองค์ทรงรักเราและทรงส่งพระบุตรของพระองค์มาเพื่อชดเชยบาปของเรา” (1 ยน 4:10) “พระเจ้าทรงทำให้โลกคืนดีกับพระองค์ในองค์พระคริสตเจ้า” (2 คร 5:19)
621 พระเยซูเจ้าทรงถวายพระองค์เพื่อความรอดพ้นของเรา พระองค์ทรงแสดงของประทานนี้ล่วงหน้าและทรงทำให้เป็นปัจจุบันในการเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้าย “นี่เป็นกายของเราที่ถูกมอบเพื่อท่านทั้งหลาย” (ลก 22:19)
622 งานไถ่กู้ของพระคริสตเจ้าอยู่ที่นี่คือ “พระองค์เสด็จมา […] เพื่อมอบชีวิตของพระองค์เพื่อมนุษย์ทั้งหลาย” (มธ 20:28) นั่นคือ “พระองค์ทรงรักผู้ที่เป็นของพระองค์ […] จนถึงที่สุด” (ยน 13:1) เพื่อเขาจะได้รับการไถ่กู้หลุดพ้นจากวิถีชีวิตไร้ค่าที่สืบมาจากบรรพบุรุษ[509]
623 เพราะพระเยซูเจ้าทรงรักพระบิดา พระองค์จึงทรงยอมเชื่อฟังพระบิดาอย่างสมบูรณ์ “จนยอมรับแม้ความตาย […] บนไม้กางเขน” (ฟป 2:8) พระองค์ทรงปฏิบัติพันธกิจชดเชยบาปของมนุษยชาติ[510]เช่นเดียวกับ “ผู้รับใช้ผู้รับทรมาน” ซึ่งนำความชอบธรรมมาให้แก่คนจำนวนมากรับความผิดของคนทั้งหลายไว้เอง[511]
[509] เทียบ 1 ปต 1:18.
[510] เทียบ อสย 53:10.
[511] เทียบ อสย 53:11; รม 5:19.
วรรค 3
พระเยซูคริสตเจ้าทรงถูกฝังไว้
624 “อาศัยพระหรรษทานของพระเจ้า พระองค์ทรงลิ้มรสความตายเพื่อมนุษย์ทุกคน” (ฮบ 2:9) พระเจ้าทรงจัดไว้ในแผนการความรอดพ้นให้พระบุตรของพระองค์ไม่เพียงแต่ “สิ้นพระชนม์เพื่อบาปของเรา” (1 คร 15:3) เท่านั้น แต่เพื่อทรง “ลิ้มรสความตาย” ด้วย ซึ่งหมายความว่าเพื่อทรงรู้จักสภาวะของความตาย คือสภาวะที่พระวิญญาณแยกจากพระกายในช่วงเวลาที่ทรงสิ้นพระชนม์กับเวลาที่จะทรงกลับคืนพระชนมชีพ สภาพของพระคริสตเจ้าที่สิ้นพระชนม์นี้เป็นธรรมล้ำลึกของพระคูหาและการเสด็จลงไปในแดนผู้ตาย เป็นธรรมล้ำลึกของวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์เมื่อพระคริสตเจ้าทรงถูกฝังอยู่ในพระคูหา[512] ทรงแสดงถึงการพักผ่อนยิ่งใหญ่ของพระเจ้าในวันสะบาโต[513] หลังจากที่การประทานความรอดพ้นแก่มนุษย์เสร็จบริบูรณ์แล้ว[514]ความรอดพ้นนี้นำสันติมาให้ทุกสิ่งในจักรวาล[515]
พระกายพระคริสตเจ้าในพระคูหา
625 การที่พระคริสตเจ้าทรงถูกฝังในพระคูหาสะท้อนความสัมพันธ์แท้จริงของสภาวะที่รับทรมานได้ของพระคริสตเจ้าก่อนวันปัสกากับสภาวะรุ่งโรจน์ปัจจุบันของพระองค์ผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว พระบุคคลเดียวกันของ “พระผู้ทรงพระชนม์อยู่” อาจกล่าวได้ว่า “เราตายไปแล้ว แต่บัดนี้เรามีชีวิตอยู่ตลอดนิรันดร” (วว 1:18):
“นี่คือธรรมล้ำลึกการจัดการของพระเจ้าเกี่ยวกับการสิ้นพระชนม์(ของพระบุตร)และการกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย เมื่อความตายแยกวิญญาณจากร่างกายแล้ว พระองค์ไม่ทรงขัดขวางผลที่จำเป็นต้องตามมาโดยธรรมชาติ แต่ทรงนำทั้งสองสิ่งกลับมาอยู่ด้วยกันอีกในพระองค์โดยการ กลับคืนพระชนมชีพ จนพระองค์ทรงเป็นเขตแดนของทั้งสองสิ่ง คือความตายและชีวิต จนว่าพระองค์ผู้ทรงกำหนดให้พระธรรมชาติถูกความตายแบ่งแยกนั้น กลับเป็นต้นเหตุให้ความตายและชีวิตที่แยกจากกันนั้นกลับมารวมกันอีก”[516]
626 ในเมื่อ “เจ้าชีวิต” ซึ่งถูกประหาร[517] ทรงเป็นบุคคลเดียวกับ “ผู้เป็นผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว”[518]จึงจำเป็นที่พระบุคคลพระบุตรของพระเจ้าต้องคงอยู่ต่อไปเพื่อรับพระวิญญาณและพระกายที่ความตายได้แยกออกจากกันกลับคืนมา:
“ดังนั้น แม้พระคริสตเจ้าในฐานะมนุษย์ได้สิ้นพระชนม์ พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์แยกจากพระกายไร้มลทิน แต่พระเทวภาพมิได้แยกจากทั้งพระวิญญาณและพระกายโดยวิธีใดเลย และดังนี้พระบุคคลหนึ่งเดียวก็มิได้ถูกแบ่งแยกเป็นสองบุคคล ทั้งพระกายและพระวิญญาณมีความเป็นอยู่ด้วยกันในพระบุคคลของพระวจนาตถ์มาตั้งแต่ต้น และแม้จะถูกแยกจากกันเมื่อสิ้นพระชนม์ ทั้งพระกายและพระวิญญาณก็มีพระบุคคลของพระวจนาตถ์เพียงหนึ่งเดียวตลอดเวลาซึ่งทำให้ทรงดำรงอยู่ต่อไป”[519]
“พระองค์จะไม่ทรงปล่อยผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ให้เน่าเปื่อย”
627 การสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้าเป็นความตายจริงๆ ที่ทำให้ความเป็นอยู่ของพระองค์ในโลกนี้จบลง แต่เนื่องจากความสัมพันธ์ที่พระบุคคลของพระบุตรมีอยู่กับพระวรกาย พระวรกายจึงไม่เหมือนศพมนุษย์ทั่วไป เพราะ “ความตายยึดพระองค์ไว้ใต้อำนาจอีกต่อไปไม่ได้” (กจ 2:24) ดังนั้น “พระอานุภาพของพระเจ้าจึงรักษาพระวรกายของพระคริสตเจ้าไว้มิให้เน่าเปื่อย”[520]เราอาจกล่าวถึงพระคริสตเจ้าได้ทั้ง “เขาถูกพรากไปจากแผ่นดินของผู้มีชีวิต” (อสย 53:8) และ “ร่างกายของข้าพเจ้าพำนักอยู่ในความหวัง เพราะพระองค์จะไม่ทรงละทิ้งข้าพเจ้าไว้ในแดนผู้ตาย และจะไม่ทรงปล่อยผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ให้เน่าเปื่อย” (กจ 2:26-27)[521]การกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า “ในวันที่สาม” (1 คร 15:4; ลก 24:46)[522] เป็นข้อพิสูจน์เรื่องนี้ เพราะมักจะคิดกันว่าความเปื่อยเน่ามักปรากฏตั้งแต่วันที่สี่[523]
“ถูกฝังไว้พร้อมกับพระคริสตเจ้า...”
628 ศีลล้างบาป ซึ่งแต่แรกใช้การจุ่มตัวลงในน้ำเป็นเครื่องหมาย แสดงอย่างชัดเจนถึงการที่คริสตชนลงไปในหลุมศพเพื่อตายต่อบาปพร้อมกับพระคริสตเจ้าและเพื่อจะรับชีวิตใหม่ “ดังนั้น เราถูกฝังไว้ในความตายพร้อมกับพระคริสตเจ้าอาศัยศีลล้างบาป เพื่อว่าพระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตายเดชะพระสิริรุ่งโรจน์ของพระบิดาฉันใด เราก็จะดำเนินชีวิตแบบใหม่ด้วยฉันนั้น” (รม 6:4)[524]
สรุป
629 พระคริสตเจ้าทรงลิ้มรสความตายเพื่อมนุษย์ทุกคน[525] พระบุตรของพระเจ้าทรงรับสภาพเป็นมนุษย์จริงๆ พระองค์สิ้นพระชนม์และทรงถูกฝังไว้
630 ระหว่างที่ทรงถูกฝังอยู่ในพระคูหา พระบุคคลพระเจ้าของพระองค์ยังทรงมีพระกายและพระวิญญาณอยู่ต่อไป แม้ว่าความตายทำให้พระกายและพระวิญญาณแยกจากกัน เพราะเหตุนี้ พระกายของพระคริสตเจ้าผู้สิ้นพระชนม์จึง “ไม่เน่าเปื่อย” (กจ 13:37).
[512] เทียบ ยน 19:42.
[513] เทียบ ฮบ 4:4-9.
[514] เทียบ ยน 19:30.
[515] เทียบ คส 1:18-20.
[516] Sanctus Gregorius Nyssenus, Oratio catechetica 16, 9: TD 7, 90 (PG 45, 52).
[517] เทียบ กจ 3:15.
[518] เทียบ ลก 24:5-6.
[519] Sanctus Ioannes Damascenus, Expositio fidei, 71 [De fide orthodoxa, 3, 27]: PTS 12, 170 (PG 94, 1098).
[520] Sanctus Thomas Aquinas, Summa theologiae 3, 51, 3, ad 2: Ed. Leon. 11, 490.
[521] เทียบ สดด 16:9-10.
[522] เทียบ มธ 12:40; ยน 2:1; ฮชย 6:2.
[523] เทียบ ยน 11:39.
[524] เทียบ คส 2:12; อฟ 5:26.
[525] เทียบ ฮบ 2:9.