สูตรยืนยันความเชื่อ
185 ผู้กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเชื่อ” ก็กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับข้อความที่เราเชื่อ” การมีส่วนร่วมในความเชื่อต้องการให้มีภาษาความเชื่อร่วมกันเพื่อเป็นแนวสำหรับทุกคนและรวมทุกคนไว้ให้ประกาศยืนยันความเชื่อเดียวกัน
186 ตั้งแต่แรกเริ่ม พระศาสนจักรในสมัยอัครสาวกได้แสดงความเชื่อของตนเป็นสูตรสั้นๆ ที่มีพลังเป็นแนวทางสำหรับทุกคนและถ่ายทอดสูตรเหล่านี้สืบต่อกันมา[1] แต่ต่อมาไม่นานพระศาสนจักรก็ปรารถนารวบรวมสาระสำคัญของความเชื่อของตนสรุปไว้อย่างเป็นระเบียบ โดยมุ่งพิเศษสำหรับผู้สมัครรับศีลล้างบาป
“ข้อความเชื่อที่นำมารวบรวมไว้ด้วยกันนี้ไม่ได้ทำตามที่มนุษย์พอใจ แต่คัดเลือกหัวข้อคำสอนสำคัญมาจากพระคัมภีร์ทั้งหมด เมล็ดมัสตาร์ดเล็กๆ แต่ละเมล็ดบรรจุกิ่งก้านมากมายไว้ฉันใด สูตรความเชื่อนี้ก็เช่นเดียวกัน ใช้คำพูดไม่มากนักรวบรวมความรู้ไว้ทั้งหมดเกี่ยวกับความศรัทธาภักดีต่อพระเจ้าที่มีอยู่ในพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่”[2]
187 ข้อความสรุปความเชื่อเหล่านี้เรียกว่า “การยืนยันความเชื่อ” (Professiones fidei) เพราะรวบรวมความเชื่อที่คริสตชนประกาศไว้แบบสั้นๆ สูตรเหล่านี้เรียกว่า “สูตรยืนยันความเชื่อ” หรือที่เรียกเป็นภาษาละตินว่า “บท Credo” เพราะมักจะขึ้นต้นด้วยคำนี้ที่แปลว่า “ข้าพเจ้าเชื่อ” (สูตรยืนยันความเชื่อเช่นนี้ยังมีชื่อเรียกอีกว่า “symbol of faith” หรือ “symbolum fidei”)
188 คำ symbolon ในภาษากรีก (จากรากศัพท์ว่า syn+bolon จากกริยา ballein ซึ่งแปลว่า “วางไว้ด้วยกัน”) หมายความถึงการนำครึ่งส่วนของสิ่งที่หักจากกัน (เช่น ตราประทับ) ทั้งสองชิ้นมารวมเข้าด้วยกัน ทำให้เห็นว่าทั้งสองส่วนเป็นองค์ประกอบของสิ่งเดียวกัน เป็นการแสดงว่าผู้มีชิ้นส่วนทั้งสองแต่ละคนเป็นพวกเดียวกัน “สูตรยืนยันความเชื่อ” หรือ “symbolum fidei” จึงเป็นเครื่องหมายแสดงเอกลักษณ์และความสัมพันธ์กันในหมู่ผู้มีความเชื่อ “สูตร” หรือ “symbol” จึงหมายถึงการสรุปความจริงที่เป็นสาระสำคัญของความเชื่อ และเป็นจุดพื้นฐานจุดแรกที่การสอนคำสอนต้องอ้างถึง
189 “การประกาศยืนยันความเชื่อ” เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อรับศีลล้างบาป “สูตรยืนยันความเชื่อ” ก่อนอื่นหมดจึงเป็นสัญลักษณ์ของศีลล้างบาป เนื่องจากว่าเรารับศีลล้างบาป “เดชะพระนามพระบิดา พระบุตร และพระจิต” (มธ 28:19) เราจึงประกาศความจริงของความเชื่อในศีลล้างบาปโดยพาดพิงถึงสามพระบุคคลของพระตรีเอกภาพ
190 สูตรยืนยันความเชื่อจึงแบ่งเป็นสามภาค เพื่อในภาคแรกจะได้กล่าวถึงพระบุคคลแรกและงานเนรมิตสร้างน่าพิศวงของพระเจ้า ในภาคสองกล่าวถึงพระธรรมล้ำลึกของพระบุคคลที่สองและงานกอบกู้มนุษยชาติ ในภาคสามกล่าวถึงพระบุคคลที่สามซึ่งเป็นจุดเริ่มและบ่อเกิดความศักดิ์สิทธิ์ของเรา”[3] นี่คือ “ตรา(ศีลล้างบาป)ทั้งสามตราของเรา”[4]
191 สูตรยืนยันความเชื่อ “ดูเหมือนว่าแบ่งได้เป็นสามภาคซึ่งสรุปได้ด้วยประโยคที่เหมาะสมต่าง ๆ เราเรียกประโยคเหล่านี้ว่า “ข้อ” ตามการอุปมาที่บรรดาปิตาจารย์เคยใช้บ่อยๆ อวัยวะของร่างกายแบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ ฉันใด ในการประกาศยืนยันความเชื่อ ความคิดต่างๆ ที่เราต้องเชื่อแยกกันอย่างชัดเจนนี้ เราก็เรียกได้อย่างเหมาะสมและถูกต้องว่า “ข้อ” (articles)[5] ตามธรรมประเพณีโบราณที่นักบุญอัมโบรสกล่าวถึงไว้แล้ว ยังมีธรรมเนียมที่จะนับข้อความในบทข้าพเจ้าเชื่อเป็น สิบสองข้อ ตามจำนวนของอัครสาวก จึงเป็นสัญลักษณ์หมายถึงความสมบูรณ์ของความเชื่อที่ได้รับตกทอดมาจากบรรดาอัครสาวก[6]
192 ตลอดเวลาในอดีตได้มีสูตรยืนยันความเชื่อ (หรือ symbola fidei) มาแล้วหลายแบบเพื่อตอบสนองสถานการณ์ของช่วงเวลาสมัยต่างๆ ได้แก่สูตรยืนยันความเชื่อของพระศาสนจักรต่างๆสมัยอัครสาวก หรือพระศาสนจักรเก่าแก่[7] สูตรยืนยันความเชื่อ “Quicumque” ที่ยังเรียกอีกว่า “symbolum Athanasianum’’ บทยืนยันความเชื่อของสภาสังคายนาต่างๆ (เช่น สภาสังคายนาที่เมืองโตเลโด[8] สภาสังคายนาแห่งลาเตรัน[9] สภาสังคายนาที่เมืองลียง[10] สภาสังคายนาที่เมืองเตร็นท์[11]) หรือสูตรยืนยันความเชื่อของพระสันตะปาปาบางพระองค์ เช่น “ความเชื่อของ
(พระสันตะปาปา)ดามาซัส”[12] หรือ “บทข้าพเจ้าเชื่อ” ที่สมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 ทรงแต่ง
(1968)[13]
193 ไม่มีสูตรยืนยันความเชื่อจากช่วงเวลาต่างๆ ในชีวิตของพระศาสนจักรสูตรใดที่อาจถือว่าล้าสมัยหรือไม่มีประโยชน์อีกต่อไป สูตรต่างๆ เหล่านี้ช่วยเราในปัจจุบันให้เข้าถึงและเข้าใจความเชื่อที่ได้รับการเสนอสรุปไว้ในรูปแบบต่างๆ ที่เคยทำมาแล้ว
ในบรรดาสูตรยืนยันความเชื่อเหล่านี้ มีสองแบบที่มีความสำคัญเป็นพิเศษในชีวิตของพระศาสนจักร
194 สูตรยืนยันความเชื่อของอัครสาวก ได้ชื่อเช่นนี้เพราะเชื่อได้ว่าเป็นข้อสรุปแท้จริงของความเชื่อของบรรดาอัครสาวก สูตรยืนยันความเชื่อสูตรนี้เป็นสูตรยืนยันความเชื่อแต่โบราณในพิธีศีลล้างบาป
ของพระศาสนจักรที่กรุงโรม ความสำคัญของสูตรนี้เนื่องมาจากการที่ “เป็นสูตรยืนยันความเชื่อ
ที่พระศาสนจักรแห่งกรุงโรมยึดถือ กรุงโรมเป็นสถานที่ ที่เปโตรประมุขของบรรดาอัครสาวก
ได้มาอยู่และนำความเชื่อที่พระศาสนจักรมีร่วมกันมาที่นี่”[14]
195 สูตรยืนยันความเชื่อที่เรียกว่าสูตรของสภาสังคายนานีเชอา-คอนสแตนติโนเปิล มีความสำคัญมากเพราะออกมาจากสภาสังคายนาสองครั้งก่อนหน้านั้น (ค.ศ. 325 และ 381) จนถึงทุกวันนี้
สูตรยืนยันความเชื่อนี้ยังคงใช้ร่วมกันในพระศาสนจักรใหญ่ทุกแห่งทั้งทางตะวันออกและตะวันตก
196 การอธิบายความเชื่อของเราจะดำเนินตามสูตรยืนยันความเชื่อของอัครสาวกที่กล่าวได้ว่าประกอบเป็น “หนังสือคำสอนโรมันเก่าแก่ที่สุด” อย่างไรก็ตามการอธิบายจะได้รับความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นโดยอ้างอิงบ่อยๆ ถึงสูตรยืนยันความเชื่อของสภาสังคายนานีเชอา-คอนสแตนติโนเปิล ซึ่งหลายครั้งชัดเจนและอธิบายความได้ละเอียดมากกว่า
197 เช่นเดียวกับในวันที่เราได้รับศีลล้างบาป เนื่องจากชีวิตทั้งหมดของเราถูกควบคุมโดย “พระธรรมคำสอนที่ได้รับมา” (รม 6:17) เราจึงรับสูตรแสดงความเชื่อของเราที่นำชีวิตมาให้ การที่เรากล่าวบท “ข้าพเจ้าเชื่อ” ด้วยความเชื่อเป็นการเข้ามาร่วมอยู่ในพระศาสนจักรสากลซึ่งถ่ายทอดความเชื่อมาถึงเรา และเราก็มีความเชื่ออยู่ในพระศาสนจักรนี้
“สูตรยืนยันความเชื่อเป็นตราประทับทางจิตใจ [….] เป็นการคิดคำนึงในใจของเรา และเป็นประหนึ่งยามเฝ้ารักษาอยู่ตลอดเวลา ใช่แล้ว เป็นสมบัติล้ำค่าของใจของเรา”[15]
[1] เทียบ รม 10:9; 1 คร 15 :3-5; ฯลฯ
[2] Sanctus Cyrillus Hierosolymitanus, Catecheses illuminandorum 5, 12; Opera, v. 1, ed. G.C.Reischl (Monaci 1848) p. 150 (PG 33, 521-524).
[3] Catechismus Romanus, 1, 1, 4: ed. P. Rodriguez (Città del Vaticano-Pamplona 1989) p. 20.
[4] Sanctus Irenaeus, Demonstratio apostolicae praedicationis, 100: SC 62,170.
[5] Catechismus Romanus, 1, 1, 4: ed. P. Rodriguez (Città del Vaticano-Pamplona 1989) p. 20.
[6] Cf. Sanctus Ambrosius, Explanatio Symboli, 8: CSEL 73, 10-11 (PL 17, 1196).
[7] Cf. Symbola fidei ab Ecclesia antiqua recepta: DS 1-64.
[8] Concilium Toletanum XI: DS 525-541.
[9] Concilium Lateranense IV: DS 800-802.
[10] Concilium Lugdunense II: DS 851-861.
[11] Professio fidei Tridentina: DS 1862-1870.
[12] Cf. DS 71-72.
[13] Sollemnis Professio fidei: AAS 60 (1968) 433-445.
[14] Sanctus Ambrosius, Explanatio Symboli, 7: CSEL 73, 10 (PL 17, 17, 1196).
[15] Sanctus Ambrosius, Explanatio Symboli, 7: CSEL 73, 3 (PL 17, 17, 1193).