คู่มือแนะแนวการสอนคำสอน - DIRECTORY FOR CATECHESIS (2020)

6. การสอนคำสอนกับบุคคลที่มีความพิการ

269.       ความห่วงใยของพระศาสนจักรสำหรับบุคคลที่มีความพิการเกิดจากวิธีปฏิบัติของพระเจ้า ตามหลักการของการรับสภาพมนุษย์ของพระบุตรของพระเจ้า ผู้ทรงกระทำให้พระองค์เองอยู่ในสถานะของมนุษย์ทุกอย่างพระศาสนจักรยอมรับในบุคคลผู้มีความพิการถึงการเรียกสู่ความเชื่อและสู่ชีวิตที่ดีงามและเต็มไปด้วยความหมาย ประเด็นเรื่องความพิการมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการประกาศข่าวดีและการอบรมแบบคริสตชน  ชุมชนได้รับเรียกว่าไม่เพียงแต่ดูแลผู้ที่เปราะบางที่สุดเท่านั้น แต่ยังรับรู้ถึงการประทับอยู่ของพระเยซูเจ้าผู้ทรงเผยแสดงพระองค์เองในพวกเขาในลักษณะพิเศษ สิ่งนี้ “เรียกร้องให้มีความสนใจเป็นสองเท่า  ตระหนักถึงความเป็นไปได้ที่จะให้ความรู้ในความเชื่อแก่ผู้คนที่มีความพิการอย่างรุนแรงหรือร้ายแรงมาก และเต็มใจที่จะถือว่าพวกเขาเป็นหัวข้อที่เห็นผลเร็วในชุมชนที่พวกเขาอาศัยอยู่”[32]  ในระดับวัฒนธรรม  น่าเสียดายที่มีความคิดเกี่ยวกับชีวิตอย่างกว้างขวาง ที่มักจะหลงตัวเองและถือประโยชน์เป็นสำคัญ ที่ไม่เข้าใจความหลากหลายของมนุษย์และความร่ำรวยฝ่ายจิตที่มีมากมายของคนพิการ โดยลืมไปว่าความเปราะบางนั้นเป็นส่วนสำคัญของมนุษยชาติและไม่ได้ขัดขวางความสุขและการบรรลุความสำเร็จในตนเอง[33]

 

270.      บุคคลผู้มีความพิการเป็นโอกาสในการเติบโตสำหรับชุมชนของพระศาสนจักร  ซึ่งการมีอยู่ของพวกเขาเป็นการกระตุ้นเตือนให้เอาชนะอคติทางวัฒนธรรม  ในความเป็นจริง  ผู้มีความพิการสามารถสร้างความตะขิดตะขวงใจได้เพราะดึงดูดความสนใจไปในความยากลำบากในการอ้าแขนรับความต่างกัน นอกจากนี้ยังสามารถกระตุ้นให้เกิดความกลัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีความเด่นชัดด้วยลักษณะที่ถาวร เนื่องจากเป็นการพาดพิงถึงสถานการณ์ที่รุนแรงของความเปราะบางของทุกคน ซึ่งเป็นความทุกข์ทรมานและความตาย ในที่สุด  เนื่องจากพวกเขาเป็นประจักษ์พยานถึงความจริงที่สำคัญของชีวิตมนุษย์ ผู้มีความพิการจึงต้องได้รับการต้อนรับในฐานะที่เป็นของขวัญอันยิ่งใหญ่  ชุมชนได้รับความร่ำรวยด้วยการมีอยู่ของพวกเขา มีความตระหนักมากขึ้นเกี่ยวกับธรรมล้ำลึกของการช่วยให้รอดพ้นแห่งไม้กางเขนของพระคริสตเจ้า  ในการดำรงชีวิตที่มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันของการต้อนรับและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน กลายเป็นแหล่งที่มาของความดีในชีวิตและเป็นเครื่องเตือนใจสำหรับโลก ดังนั้น การสอนคำสอนจะช่วยให้ผู้รับศีลล้างบาปตีความธรรมล้ำลึกของความทุกข์ของมนุษย์ในแง่ของการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า

 

271.       เป็นหน้าที่ของพระศาสนจักรท้องถิ่นที่จะเปิดให้มีการต้อนรับและการมีอยู่อย่างปรกติของผู้พิการในโครงการการสอนคำสอน ทำงานเพื่อวัฒนธรรมของการรวมเข้าไปที่ตรงข้ามกับตรรกะของการใช้แล้วทิ้ง  บุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาดำเนินชีวิตของพวกเขาในความสัมพันธ์กับพระเจ้าในความรวดเร็วของการรู้โดยสัญชาตญาณของพวกเขา  และเป็นสิ่งที่จำเป็นและต้องอยู่ร่วมกับพวกเขาในชีวิตแห่งความเชื่อ สิ่งนี้ต้องการให้ครูคำสอนแสวงหาช่องทางการสื่อสารและวิธีการใหม่ๆ ที่เหมาะกับการส่งเสริมในการพบปะพระเยซูเจ้าให้มากขึ้น ดังนั้น จึงเป็นประโยชน์ในการใช้พลังที่ได้มาจากประสบการณ์และภาษาที่เกี่ยวข้องกับประสาทสัมผัสทั้งห้า และวิธีการเล่าเรื่องที่สามารถเกี่ยวข้องกับผู้เข้าร่วมทั้งหมดในลักษณะที่เป็นส่วนตัวและมีความหมาย สำหรับการบริการนี้เป็นความคิดที่ดีสำหรับครูคำสอนบางคนที่จะได้รับการอบรมอย่างพิเศษ  ครูคำสอนควรอยู่ใกล้ชิดกับครอบครัวของผู้พิการ ร่วมทางไปกับพวกเขา และส่งเสริมการรวมตัวกันในชุมชนอย่างเต็มที่ การเปิดกว้างให้ชีวิตของครอบครัวเหล่านี้เป็นประจักษ์พยานสมควรได้รับความเคารพและชื่นชมอย่างยิ่ง[34]

 

272.        ผู้มีความพิการได้รับการเรียกให้เข้าสู่ความสมบูรณ์ของชีวิตศีลศักดิ์สิทธิ์ แม้จะมีความผิดปกติรุนแรงก็ตาม ศีลศักดิ์สิทธิ์และพิธีกรรมเป็นของประทานจากพระเจ้า แม้ก่อนที่จะเข้าใจอย่างมีเหตุมีผลก็จำเป็นต้องมีชีวิตอยู่ในศีลศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นจึงไม่มีใครสามารถปฏิเสธศีลศักดิ์สิทธิ์ให้กับบุคคลผู้มีความ   พิการได้ ชุมชนที่สามารถค้นพบความงามและความสุขแห่งความเชื่อซึ่งพี่น้องเหล่านี้มีความสามารถ  จะยิ่งร่ำรวยขึ้น  การรวมเข้าในการอภิบาลและการมีส่วนร่วมในพิธีกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันอาทิตย์[35] จึงมีความสำคัญ บุคคลผู้มีความพิการสามารถเชี่ยวชาญในมิติที่สูงส่งของความเชื่อซึ่งรวมถึงชีวิตในศีลศักดิ์สิทธิ์ การสวดภาวนา และการประกาศพระวาจา ในความเป็นจริงพวกเขาไม่เพียงแต่เป็นผู้รับการสอนคำสอนเท่านั้น แต่ยังมีส่วนร่วมในการประกาศข่าวดีด้วย เป็นที่พึงปรารถนาว่าพวกเขาเองควรเป็นครูคำสอน และด้วยการ
เป็นประจักษ์พยานของพวกเขาก็ถ่ายทอดความเชื่อด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

[32] Francis, Address to participants in the convention for persons with disabilities (11th June 2016)    

[33] Cf Francis, Address to participants in the conference “Catechesis and persons with disabilities” (21st October 2017)              

[34] Cf  AL 47.         

[45] Cf Benedict XVI, Apostolic Exhortation Sacramentum caritatis (22nd February 2007), 58.