คู่มือแนะแนวการสอนคำสอน - DIRECTORY FOR CATECHESIS (2020)

5. การสอนคำสอนกับผู้สูงอายุ

266.       ผู้สูงอายุเป็นผู้ที่มีมรดกแห่งความทรงจำ  และมักจะรักษาคุณค่าของสังคมการตัดสินใจทางสังคมและการเมืองที่ไม่ยอมรับศักดิ์ศรีของพวกเขาจะถูกมองว่าบุคคลนั้นมุ่งต่อต้านสังคม “พระศาสนจักรไม่สามารถและไม่ต้องการที่จะปฏิบัติตามความคิดว่าความไม่อดทน และความเฉยเมย และการดูหมิ่นในวัยชราว่ามีน้อยลง”[30] แต่พระศาสนจักรมองว่าผู้สูงอายุเป็นของขวัญจากพระเจ้า เป็นทรัพยากรสำหรับชุมชน และถือว่างานอภิบาลพวกเขาเป็นงานที่สำคัญ

 

267.       ผู้สูงอายุต้องได้รับการสอนคำสอนอย่างเพียงพอ ได้รับการเอาใจใส่ในมุมมองที่เป็นเอกลักษณ์ของเงื่อนไขแห่งความเชื่อของพวกเขา “ในกรณีที่ผู้สูงอายุอาจจะมีความเชื่อที่สมบูรณ์และเข้มแข็ง  การสอนคำสอนต้องเป็นลักษณะการนำไปสู่ความสมบูรณ์ของกระบวนการแห่งความเชื่อ ด้วยท่าทีของการขอบคุณและการมีความหวังในชีวิตหน้าอย่างเต็มเปี่ยม ส่วนในกรณีที่ผู้สูงอายุดำเนินชีวิตแห่งความเชื่อแบบอ่อนแอโดยการปฏิบัติในฐานะคริสตชนอย่างไม่สมบูรณ์การสอนคำสอนจะต้องเป็นช่วงเวลาแห่งการให้ความสว่างใหม่และความรู้จากประสบการณ์ทางศาสนา บางครั้ง กว่าที่มนุษย์เราจะถึงวัยสูงอายุ เขาก็ได้รับความเจ็บปวดแสนสาหัสทั้งร่างกายและวิญญาณ ในสภาพเช่นนี้ การสอนคำสอนสามารถช่วยเขาให้ทนต่อภาวะที่ประสบได้ ในท่าทีแห่งการสวดภาวนา การให้อภัย และความสงบในจิตใจ อย่างไรก็ดี ภาวะของผู้สูงอายุเรียกร้องให้มีการสอนคำสอนเพื่อให้เกิดความหวัง ซึ่งพัฒนามาจากเรื่องภาวะที่แน่นอนของการพบปะกับพระเจ้าในท้ายที่สุด”[31] ดังนั้นจึงเป็นเรื่องเด็ดขาดที่จะต้องคำนึงถึงสภาพส่วนบุคคลและสังคมที่แตกต่างกัน ซึ่งมักถูกทอดทิ้งให้อยู่อย่างโดดเดี่ยวและด้วยความรู้สึกที่ไร้ประโยชน์ การสอนคำสอนจึงควรพยายามที่จะทำให้   พวกเขารู้สึกได้รับการต้อนรับและเป็นที่ยอมรับในชุมชน

 

268. พระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์นำเสนอผู้สูงอายุที่มีความเชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของบุคคลที่ร่ำรวยด้วยปรีชาญาณและความยำเกรงพระเจ้า ดังนั้น จึงเป็นที่เก็บประสบการณ์อันเข้มข้นของชีวิต ซึ่งทำให้เขาเป็นครูคำสอนโดยธรรมชาติของชุมชน วัยชราเป็นช่วงเวลาแห่งพระหรรษทาน ซึ่งองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงฟื้นฟู การเรียกเขาให้รักษาและถ่ายทอดความเชื่อ ด้วยการสวดภาวนา โดยเฉพาะ อย่างยิ่งในรูปแบบของการวอนขอแทน เพื่อใกล้ชิดกับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ ด้วยการเป็นประจักษ์พยานของพวกเขาผู้สูงอายุถ่ายทอดความหมาย  ของชีวิตให้กับเยาวชน  คุณค่าของธรรมประเพณีและการปฏิบัติทางศาสนาและวัฒนธรรมบางประการ พวกเขานำศักดิ์ศรีมาสู่ความทรงจำและการเสียสละของคนรุ่นก่อน พวกเขามองความยากลำบากในปัจจุบันด้วยความหวัง ด้วยความตระหนักถึงคุณค่าของผู้สูงอายุ พระศาสนจักรจะช่วยให้พวกเขาสามารถรับใช้ชุมชนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกเขาสามารถมีบทบาทเป็นครูสอนคำสอนสำหรับเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ โดยแบ่งปันมรดกทางความเชื่ออันยาวนานที่พวกเขาแบกรับไว้ด้วยความเรียบง่าย  ชุมชนที่มีส่วนร่วมควรแสดงความขอบคุณสำหรับการปรากฏตัวที่มีคุณค่านี้ และส่งเสริมการสนทนาระหว่างวัยระหว่างผู้สูงอายุและคนหนุ่มสาว สิ่งนี้แสดงออกถึงความผูกพันระหว่างความทรงจำและอนาคต ระหว่างธรรมประเพณีและการรื้อฟื้น  สร้างวงจรการถ่ายทอดความเชื่อจากรุ่นสู่รุ่นอย่างแท้จริง

 

[30] Francis, General Audience (4th March 2015).      

[31] GDC 187.