คู่มือแนะแนวการสอนคำสอน - DIRECTORY FOR CATECHESIS (2020)

3. ความทรงจำ

201.    ความทรงจำเป็นมิติหนึ่งของประวัติศาสตร์แห่งความรอดพ้น ประชาชนชาวอิสราเอลได้รับการกระตุ้นให้รักษาความทรงจำอยู่ตลอดเวลา ไม่ลืมสิทธิพิเศษจากพระเจ้า นี่เป็นเรื่องของการเก็บไว้ในหัวใจของเหตุการณ์ที่แสดงถึงการริเริ่มของพระเจ้า  ซึ่งบางครั้งก็ยากที่จะเข้าใจ แต่ถูกมองว่าเป็นเหตุการณ์แห่งการช่วยให้รอดพ้น  พระนางมารีย์  รู้วิธีเก็บทุกอย่างไว้ในใจของพระนาง (เทียบ ลก 2:51) ดังนั้น ด้วยความรู้สึกที่ลึกซึ้งที่สุด  ความทรงจำจึงให้ความสนใจกลับไปสู่ความเป็นอันดับหนึ่งของพระหรรษทาน เพื่อรับรู้พระพรของพระเจ้า และเพื่อรู้คุณสำหรับสิ่งเหล่านี้  เพื่อเจริญชีวิตตามธรรมประเพณีโดยไม่ตัดออกจากรากเหล่านี้ การสอนคำสอนใช้ประโยชน์จากการเฉลิมฉลองหรือการระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์แห่งความรอดพ้นเพื่อช่วยให้ผู้มีความเชื่อรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์นี้ ในแง่นี้ จะเห็นได้ชัดเจนว่าเหตุใดความทรงจำจึงมีค่าในการสอนคำสอนในฐานะกุญแจสำคัญในการถ่ายทอดการเผยแสดง  นักบุญเปโตร อัครสาวกได้เขียนไว้ว่า “ข้าพเจ้าปรารถนาให้ท่านระลึกถึงเรื่องเหล่านี้อยู่เสมอ แม้ท่านจะรู้และเชื่อมั่นในความจริงที่มีอยู่แล้ว ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงเอาใจใส่ให้ท่านทั้งหลายระลึกถึงความจริงเหล่านี้เสมอ แม้เมื่อข้าพเจ้าจากไปแล้ว” (2 ปต 1:12,15) การสอนคำสอนเป็นส่วนหนึ่งของบทระลึกถึง(anamnesis หลังเสกศีล) ของพระศาสนจักรที่ช่วยให้การประทับขององค์พระผู้เป็นเจ้ามีชีวิตอยู่ ด้วยเหตุนี้ ความทรงจำจึงประกอบขึ้นเป็นส่วนสำคัญของการสอนความเชื่อตั้งแต่เริ่มต้นของศาสนาคริสต์


202.    ตามธรรมประเพณีที่ย้อนกลับไปในช่วงศตวรรษแรกๆ ของพระศาสนจักร ผู้มีความเชื่อต้องท่องจำบทยืนยันความเชื่อซึ่งไม่ได้กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ยังคงมีชีวิตอยู่ในความคิดและหัวใจของผู้มีความเชื่อทุกคน และด้วยเหตุนี้จึงกลายเป็นสิ่งบำรุงเลี้ยงประจำวัน  เป็นสิ่งสำคัญที่การสอนคำสอน  หลังจากนำเสนอคุณค่าและคำอธิบายเกี่ยวกับการยืนยันความเชื่อและข้อความอื่นๆ จากพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ พิธีกรรม และศรัทธาประชานิยม ควรช่วยในการท่องจำสิ่งเหล่านี้เพื่อนำเสนอเนื้อหาทันทีที่เป็นส่วนหนึ่งของมรดกร่วมกันของผู้มีความเชื่อ “พืชพันธุ์แห่งความเชื่อและความศรัทธา  ถ้าเราสามารถเรียกเช่นนี้ได้ จะไม่มีวันเจริญเติบโตในการสอนคำสอนที่แห้งแล้งปราศจากการท่องจำ สิ่งที่สำคัญคือ ข้อความที่ท่องจำนั้นจะต้องค่อยๆ เข้าใจอย่างลึกซึ้ง เพื่อที่จะให้สามารถกลายเป็นบ่อเกิดแห่งชีวิตคริสตชนทั้งในด้านส่วนตัวและส่วนรวม”[2]

 

203. “การเรียนรู้บทสูตรเกี่ยวกับความเชื่อ และการประกาศยืนยันความเชื่อว่าจะต้องเป็นไปในสภาวะที่ส่งเสริมกระบวนการสืบทอดความเชื่อคาทอลิก  หรือในสถานการณ์ที่มีการประกาศยืนยันความเชื่อที่รับมาจากพระศาสนจักร (traditio) และการมอบคืนการประกาศยืนยันความเชื่อแก่พระศาสนจักร (redditio) เพื่อให้การส่งต่อความเชื่อในการสอนคำสอน (traditio) สอดคล้องกับการตอบรับจากผู้เรียนระหว่างการก้าวเดินไปในแต่ละขั้นของการสอนคำสอน และในชีวิตช่วงต่อๆมา (redditio)”[3] อย่างไรก็ตามการตอบสนองนี้ไม่ได้เป็นไปโดยอัตโนมัติ เนื่องจากการถ่ายทอดความเชื่อไปยังผู้ฟังจำเป็นต้องมีการรับที่เหมาะสม(receptio) และการกระทำให้เป็นภายใน เพื่อป้องกันไม่ให้การท่องจำเป็นหมันหรือถูกมองว่าเป็นจุดมุ่งหมายในตัวมันเอง จึงควรพิจารณาให้สัมพันธ์กับองค์ประกอบอื่นๆ ของกระบวนการทางคำสอน เช่น ความสัมพันธ์ การเสวนาการไตร่ตรอง ความเงียบ และการเป็นเพื่อนร่วมทาง

 

[2]  CT 55. 

[3]  GDC 155