คู่มือแนะแนวการสอนคำสอน - DIRECTORY FOR CATECHESIS (2020)

6. โรงเรียนคาทอลิก

309. “โรงเรียนคาทอลิกไม่ต่างจากโรงเรียนทั่วไปอื่นๆ ที่มุ่งไปยังเป้าหมายทางวัฒนธรรมและอบรมความเป็นมนุษย์แก่บรรดาเยาวชน แต่หน้าที่เฉพาะของโรงเรียนคาทอลิกคือการสร้างบรรยากาศพิเศษที่ได้รับแรงบันดาลใจจากจิตตารมณ์พระวรสาร.. และในที่สุดเพื่อวัฒนธรรมมนุษย์จะได้รับข่าวสารแห่งการไถ่กู้เพื่อความรู้ที่นักเรียนค่อยๆ ได้รับเกี่ยวกับโลก ชีวิต และมนุษย์นั้นได้รับการส่องสว่างจากความเชื่อ” (GE 8) กล่าวอย่างสั้นๆ คือต้องมีลักษณะที่เด่นชัดดังต่อไปนี้ มีความกลมกลืนกับเป้าหมายการจัดการศึกษาของโรงเรียนทั่วไป โดยมีที่มาเริ่มต้นจากคุณค่าแห่งพระวรสาร  สนใจบรรดาเยาวชน  เอาใจใส่การสอนโดยบูรณาการความเชื่อ วัฒนธรรม และชีวิต

 

310.       “ความก้าวหน้าที่สำคัญในความคิดของโรงเรียนคาทอลิกคือการเปลี่ยนจากโรงเรียนในฐานะที่เป็นสถาบันเป็นโรงเรียนในฐานะที่เป็นชุมชน” ที่ซึ่ง “มิติของชุมชนอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดทางเทววิทยามากกว่าสังคมวิทยา” โรงเรียนคาทอลิกเป็นชุมชนแห่งความเชื่อ ซึ่งมีพื้นฐานและการริเริ่มในการจัดการศึกษาโดยอาศัยค่านิยมแห่งพระวรสาร การริเริ่มนี้จะส่งผลไปถึงโรงเรียนทั้งระบบ รวมทั้งบรรดาผู้ปกครองด้วย ให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางเสมอ ที่จะเติบโตไปด้วยกันโดยเคารพต่อการเติบโตของผู้อื่นด้วย “ให้ครูตระหนักว่าโรงเรียนคาทอลิกขึ้นอยู่กับพวกเขาเกือบทั้งหมดในการบรรลุเป้าหมายและโครงการต่างๆ”(GE 8)

 

311.       โรงเรียนคาทอลิก เป็นเรื่องของพระศาสนจักรแบบหนึ่ง ที่ทำให้พันธกิจของพระศาสนจักรเป็นที่ประจักษ์   ก่อนอื่นใดในด้านของการศึกษาและวัฒนธรรม  มีจุดยึดโยงอยู่ที่พระศาสนจักรท้องถิ่น ในส่วนที่มิใช่สิ่งแปลกปลอม ดังนั้น ต้องไม่ผลักไสหรือกีดกันอัตลักษณ์คาทอลิก หรือบทบาทของโรงเรียนในการประกาศข่าวดี  “จากอัตลักษณ์คาทอลิกนี้  โรงเรียนได้มาซึ่งลักษณะดั้งเดิมและ ‘โครงสร้าง’ ของโรงเรียนคาทอลิกเป็นเครื่องมือที่แท้จริงของพระศาสนจักรเป็นสถานที่ศาสนบริการในการอภิบาลที่แท้จริงและเฉพาะเจาะจงได้เริ่มขึ้น โรงเรียนคาทอลิกมีส่วนร่วมในพันธกิจการประกาศข่าวดีของพระศาสนจักร และเป็นสภาพแวดล้อมพิเศษที่การอบรมชีวิตคริสตชนนั้นดำเนินไป”[30]

               ศาสนบริการพระวาจาสามารถดำเนินการในโรงเรียนคาทอลิก ในหลากหลายรูปแบบ  โดยคำนึงถึงสภาพทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ที่แตกต่างกัน  ลักษณะทางวัฒนธรรม และผู้มีส่วนร่วม ที่สำคัญเป็นพิเศษคือ การสอนวิชาคริสตศาสนาและการสอนคำสอน

 

312.       อาจจะมีเหตุผลที่แตกต่างกันออกไปที่นักเรียนและครอบครัวของพวกเขาชอบโรงเรียนคาทอลิก จำเป็นต้องเคารพความหลากหลายในทางเลือกของพวกเขา   ถึงกระนั้น   แม้ว่าเหตุผลในการตัดสินใจของพวกเขาเป็นเรื่องของคุณภาพในการจัดหลักสูตรการเรียนการสอน แต่การสอนคำสอนและการสอนวิชาคริสตศาสนาควรจะต้องได้รับการนำเสนอถึงความสำคัญด้านวัฒนธรรมและวิธีการสอนด้วย

               “โรงเรียนคาทอลิก มุ่งมั่นทุ่มเทในการพัฒนามนุษย์ทั้งครบในความนอบน้อมต่อพระศาสนจักร โดยตระหนักว่าคุณค่าของมนุษย์ทั้งหมดนั้นถึงความสมบูรณ์และเอกภาพในองค์พระคริสตเจ้า”[31]

               ในบริบทความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรม เป็นหน้าที่ของสภาพระสังฆราช  และบิชอปในแต่ละสังฆมณฑลที่จะรับประกันว่าจัดให้มีการสอนคำสอนและวิชาคริสตศาสนาอย่างครบถ้วนและสอดคล้องกัน

 

[30] Congregation for Catholic Education, The Catholic School on the Threshold of the Third Millennium (28th December 1997), 11 
[31] Ibid,9.