คู่มือแนะแนวการสอนคำสอน - DIRECTORY FOR CATECHESIS (2020)

7. การสอนศาสนาคาทอลิกในโรงเรียน

313.       การสอนศาสนาคาทอลิกมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ หลายครั้งตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ของการสอนศาสนาคาทอลิกกับการสอนคำสอน เป็นสิ่งที่แตกต่างกันและเติมเต็มซึ่งกันและกัน หากการแยกแยะไม่ชัดเจนก็จะเกิดอันตรายแก่ทั้งสองเรื่อง ซึ่งอาจจะสูญเสียอัตลักษณ์ของทั้งสองอย่างไป ขณะที่การสอนคำสอน “ส่งเสริมความศรัทธาส่วนตัวต่อพระคริสตเจ้าและเติบโตในชีวิตคริสตชน ขณะที่การสอนศาสนาคาทอลิกในโรงเรียนจะให้นักเรียนในเรื่องความรู้เกี่ยวกับอัตลักษณ์ของศาสนาคริสต์และวิถีชีวิตคริสตชน”[32] “อะไรก็ตามที่เป็นข้อแนะนำเกี่ยวกับการสอนศาสนาในโรงเรียนซึ่งมีลักษณะเหมาะแก่การประกาศข่าวดีนั้นย่อมถูกเรียกร้องให้นำมาปรับใช้ในเขตพื้นที่ที่มีวัฒนธรรมเฉพาะและต้องสัมพันธ์กับความรู้ด้านอื่นๆ ในฐานะที่เป็นรูปแบบดั้งเดิมรูปแบบหนึ่งของศาสนบริการด้านพระวาจา  การสอนศาสนาในโรงเรียนทำให้พระวรสารยังคงมีอยู่ในกระบวนการผสมผสานทางวัฒนธรรม  มีการคิดวิเคราะห์และเป็นระบบ”[33] ในบริบทของปัจจุบันนี้ “การสอนศาสนาดูเหมือนจะเป็นโอกาสเดียวเท่านั้นสำหรับนักเรียนที่จะได้พบปะกับสารแห่งความเชื่อ”[34]

 

314.       ที่ซึ่งดำเนินการการสอนศาสนาคาทอลิกในโรงเรียน ถือเป็นบริการเพื่อมนุษยชาติและมีส่วนสนับสนุนอันมีค่าต่อโครงการการศึกษาของโรงเรียน “มิติทางศาสนาแท้ที่จริงแล้วมีอยู่ในวัฒนธรรม มีส่วนช่วยการอบรมบุคคลทั้งครบและทำให้ความรู้กลายเป็นทักษะในการดำเนินชีวิต”[35] ผู้ปกครองและนักเรียนมีสิทธิที่จะได้รับการอบรมอย่างครบถ้วน เนื่องจากองค์ประกอบทางศาสนาเป็นมิติหนึ่งของการดำรงอยู่และไม่สามารถถูกมองข้าม โดยเฉพาะในบริบทของโรงเรียน ที่คำนึงถึงการดำเนินการพัฒนาบุคลิกภาพที่กลมกลืนกัน ในความหมายนี้การสอนศาสนาคาทอลิกจึงมีคุณค่าอย่างมากและในขณะเดียวกันก็เป็นการช่วยพัฒนาสังคมด้วย

 

315.       ตามข้อกำหนดนั้น จำเป็นที่การสอนศาสนาคาทอลิกจะต้องแสดงความต้องการอย่างเข้มงวดและเป็นระบบเช่นเดียวกับวิชาอื่นๆ เนื่องจากเป็นสาขาวิชาเฉพาะ การปรับเปลี่ยนตามใจชอบนั้นเป็นอันตรายและต้องไม่กระทำ เป็นสิ่งที่เหมาะสมหากจะทำให้เป้าหมายของการสอนวิชานี้บรรลุผลสอดคล้องกับเป้าประสงค์ของสถานศึกษา  ด้วยความเคารพต่อวิชาอื่นๆ  การสอนวิชาศาสนาคาทอลิกถูกเรียกร้องให้พัฒนาลักษณะของการเสวนาที่มีความเคารพนับถือและเปิดกว้าง  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ในสมัยนี้ซึ่งสิ่งต่างๆ สามารถดำเนินไปอย่างสุดโต่งได้ง่ายจนนำไปสู่ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ที่รุนแรง “ดังนั้น  ศาสนาดำเนินต่อไปด้วยการเป็นประจักษ์พยานและสารของมนุษย์นิยมแบบบูรณาการ  มนุษย์นิยมแบบนี้เปี่ยมไปด้วยอัตลักษณ์ทางศาสนา  ชื่นชมในธรรมประเพณีอันยิ่งใหญ่ของศาสนา เช่น ความเชื่อ ความเคารพต่อชีวิตมนุษย์นับตั้งแต่ปฏิสนธิจนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายตามธรรมชาติ เคารพต่อครอบครัว ชุมชน การศึกษาและการงาน สิ่งเหล่านี้เป็นโอกาสและเครื่องมือไม่ใช่เพื่อปิดตัวเองแต่เปิดสู่การเสวนากับทุกคนและทุกสิ่ง นำไปสู่ความดีและความจริง การเสวนาถือเป็นทางออกที่เป็นไปได้เพียงสิ่งเดียว แม้กระทั่งเมื่อเผชิญกับการปฏิเสธความรู้สึกทางศาสนา  กับอเทวนิยม  และกับลัทธิที่ปฏิเสธความรู้เกี่ยวกับพระเจ้า”[36]

 

316.       “เป็นไปไม่ได้ที่จะลดรูปแบบของการสอนศาสนาในโรงเรียนที่มีอยู่หลากหลายให้น้อยลง  เพราะรูปแบบต่างๆ ที่ได้พัฒนามานี้เป็นผลของข้อตกลงระหว่างรัฐและสภาพระสังฆราชในที่นั้น  อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีความพยายามที่จะทำให้การสอนศาสนาในโรงเรียนตอบสนองวัตถุประสงค์และลักษณะเฉพาะของการสอนศาสนา”[37] การพิจารณาสถานการณ์ต่างๆ ในท้องถิ่น  สภาพระสังฆราช (และบิชอปในสังฆมณฑล) ในกรณีเฉพาะ จะสามารถแยกแยะความโน้มเอียงต่างๆ เพื่อนำไปปฏิบัติในการสอนศาสนาคาทอลิก ยิ่งกว่านั้น สภาพระสังฆราชถูกเรียกร้องให้จัดให้มีหนังสือเรียน วัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือในการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมด้วย

 

317.       เป็นที่น่าชื่นชม  หากสภาพระสังฆราชจะสนใจการสอนศาสนาในโรงเรียนโดยเฉพาะโรงเรียนที่มีสมาชิกต่างนิกายอยู่ ทั้งกรณีที่โรงเรียนมอบหมายให้ครูที่มีความเชื่อเฉพาะหรือครูที่ไม่มีความเชื่อเป็นผู้สอน  การสอนในลักษณะเช่นนี้มีคุณค่าในเชิงคริสตศาสนจักรสัมพันธ์เมื่อคำสอนของศาสนาคริสต์ถูกนำเสนออย่างถูกต้อง ในลักษณะเช่นนี้ความยินดีในการร่วมเสวนา แม้ว่าจะค่อนข้างดำเนินการได้ยาก ควรที่จะกระตุ้นสัมพันธภาพต่างๆ กับองค์กรทางศาสนาใหม่ของคริสตชนและของแรงบันดาลใจในการประกาศข่าวดีที่มีเกิดขึ้นอย่างมากในปัจจุบันนี้

 

318.       เพื่อการสอนศาสนาคาทอลิกจะบังเกิดผลดี ครูผู้สอนจะต้องมีพื้นฐาน ความสามารถในการนำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อกับวัฒนธรรม  มนุษย์
และปัจจัยทางศาสนา วิทยาศาสตร์และศาสนา โรงเรียนและผู้จัดการศึกษาในรูปแบบอื่น บทบาทของครูคือการให้การศึกษา ทำให้ผู้เรียนบรรลุวุฒิภาวะ   ขณะเดียวกัน จำเป็นที่ครูผู้มีความเชื่อ ต้องมุ่งมั้นที่จะเติบโตในความเชื่อส่วนบุคคล เข้าอยู่ในชุมชนคริสตชน ปรารถนาที่จะให้เหตุผลแห่งความเชื่อของตนผ่านทางความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพของตนด้วยเช่นกัน[38]

 

[32] Congregation for Catholic Education, Educating to Intercultural Dialogue in Catholic Schools: Living in Harmony for a Civilization of Love (28th October 2013), 74. 
[33] GDC 73. 
[34] Benedict XVI, Post-Synodal Apostolic Exhortation Verbum Domini (30th September 2010),111. 
[35] Benedict XVI, Address to participants in the meeting of Catholic religious teachers (25th April 2009).
[36] Congregation for Catholic Education, Educating to Intercultural Dialogue, op. cit., 72.    
[37] GDC 74. 
[38] Cf  CIC c. 804 § 2 and c. 805.