คู่มือแนะแนวการสอนคำสอน - DIRECTORY FOR CATECHESIS (2020)

5. สมาคม ขบวนการ และกลุ่มต่างๆ ของสัตบุรุษ

304.       เมื่อเห็นความสำคัญของชุมชนวัดแล้วไม่ได้หมายความว่าประสบการณ์ของพระศาสนจักรจะจำกัดอยู่เท่านั้น ภายหลังสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 นั้นเกิดมีสมาคม ขบวนการและกลุ่มต่างๆ ของพระศาสนจักรขึ้นมาอย่างมากมาย สิ่งเหล่านี้เป็นความจริงในพระศาสนจักรที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถอันยิ่งใหญ่ในการประกาศข่าวดี ในการเข้าไปสู่สภาพแวดล้อมที่มักอยู่ห่างไกลจากโครงสร้างตามธรรมประเพณีของพระศาสนจักร สมาคมต่างๆ ของสัตบุรุษได้มาจากประวัติศาสตร์ของคริสตชนและได้เป็นแหล่งของการฟื้นฟูของผู้เผยแผ่ศาสนา   กลุ่มสมาคมเหล่านี้จะต้องได้รับการสนับสนุน   และยอมรับว่าพระจิตเจ้าทรงแจกจ่ายพระพรตามที่ทรงพอพระทัย (เทียบ 1 คร 12:11) “ขบวนการเหล่านี้...สะท้อนถึงพระพรพิเศษของพระเจ้าอย่างแท้จริงทั้งเพื่อการประกาศข่าวดีใหม่และเพื่อกิจกรรมในการเผยแผ่ความเชื่อ”[24] ถึงแม้ว่าเป้าหมายและวิธีการต่างๆ ของกลุ่มเหล่านี้จะค่อนข้างแตกต่างกัน แต่องค์ประกอบร่วมกันก็ยังคงมีอยู่  กล่าวคือเป็นการค้นพบมิติใหม่ๆ ของการใช้ชีวิตหมู่คณะ เป็นการกระตุ้นแง่มุมต่างๆ ของชีวิตคริสตชนอย่างเช่น การรับฟังพระวาจาของพระเจ้า การปฏิบัติกิจเมตตา การสงเคราะห์ การสนับสนุนฆราวาสในพันธกิจของพระศาสนจักรและของสังคม

 

305.       พระศาสนจักรรับรู้สิทธิ์ของบรรดาสัตบุรุษในการเข้าร่วมในสมาคม โดยอยู่บนพื้นฐานของมิติทางสังคมตามธรรมชาติมนุษย์และศักดิ์ศรีแห่งศีลล้างบาป “เหตุผลที่ลึกซึ้งนั้น...มาจาก...มุมมองเรื่องพระศาสนจักร   เพราะว่าสภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 กล่าวไว้อย่างชัดเจนเมื่อพูดถึงกลุ่มเหล่านี้ว่าเป็น “เครื่องหมายของความสัมพันธ์และความเป็นหนึ่งเดียวของพระศาสนจักรของพระคริสตเจ้า”(AA 18)”[25] ในบางครั้งอาจจะมีความยากลำบากเกิดขึ้น ซึ่งโดยส่วนมากเป็นอันตรายเกี่ยวกับการแยกตัว การแสดงเอกลักษณ์เฉพาะตัวของกลุ่มมากจนเกินไป และมีการร่วมมือกับพระศาสนจักรท้องถิ่นที่ไม่เพียงพอ ซึ่งอันที่จริงพวกเขาจะต้องคอยรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันไว้ด้วย แนวทางของการเป็นพระศาสนจักร[26] นั้นสำคัญในการช่วยให้เอาชนะความยากลำบากเหล่านี้และเป็นพยานถึงความเป็นหนึ่งเดียวกัน การรวมตัวในรูปแบบต่างๆ ของพระศาสนจักร “เป็นความมั่งคั่งของพระศาสนจักร ซึ่งพระจิตเจ้าทรงบันดาลให้เกิดขึ้นเพื่อประกาศพระวรสารแก่ประชาชนทุกกลุ่มและทุกภาคส่วน  บ่อยครั้งหน่วยงานเหล่านี้นำความกระตือรือร้นใหม่ๆ ในการประกาศพระวรสารมาให้  รวมทั้งความสามารถที่จะเสวนากับโลกซึ่งจะฟื้นฟูพระศาสนจักรขึ้นใหม่  อย่างไรก็ตาม  จะเป็นการดีอย่างยิ่งหากสถาบันต่างๆ เหล่านี้ของพระศาสนจักรไม่สูญเสียความสัมพันธ์กับความเป็นจริงอันมั่งคั่งของชุมชนนัั้นๆ และยินดีทำงานร่วมกับหน่วยงานอภิบาลของพระศาสนจักรท้องถิ่น”[27]

 

306.       ระดับของวุฒิภาวะได้มาจากชุมชนคริสตชนขั้นพื้นฐานซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสภาพระสังฆราชหลายแห่งและแพร่หลายในบางประเทศ ซึ่งได้ช่วยก่อให้เกิดการฟื้นฟูพันธกิจ เริ่มต้นจากการรับฟังพระวาจาของพระเจ้าปลูกฝังค่านิยมแห่งพระวรสารในวัฒนธรรมและสถานการณ์ต่างๆ ของประชาชนในท้องถิ่น เหนืออื่นใดในบรรดาคนยากจน หล่อเลี้ยงประสบการณ์ของชีวิตการมีส่วนร่วม การผูกพันบุคคลต่างๆ ในการมีส่วนร่วมด้วยความเต็มใจในงานประกาศข่าวดี “ชุมชนเหล่านี้เป็นเครื่องหมายของชีวิตชีวาภายในพระศาสนจักร เครื่องมือในการอบรม  และการประกาศข่าวดี  เป็นจุดเริ่มต้นที่มั่นคงเพื่อสังคมใหม่ที่มีรากฐานบน ‘อารยธรรมแห่งความรัก’ ...ถ้าพวกเขาเจริญชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระศาสนจักรอย่างแท้จริง เป็นสิ่งที่แสดงออกอย่างแท้จริงของความสนิทสัมพันธ์และเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความสนิทสัมพันธ์ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ดังนั้น พวกเขาก็เป็นความหวังที่ยิ่งใหญ่สำหรับชีวิตของพระศาสนจักร”[28]

 

307.       เพื่อการหล่อหลอมปลูกฝังมิติพื้นฐานต่างๆ ของชีวิตคริสตชน บรรดาสมาคม  ขบวนการและกลุ่มของพระศาสนจักรเหล่านี้จะต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษในการอบรม  อันที่จริง “พวกเขามีความเป็นไปได้ที่จะมีวิธีการเป็นของตัวเองในการจัดการอบรมผ่านทางการแบ่งปันประสบการณ์อันลึกซึ้งในชีวิตของการเป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้า เช่นเดียวกันอาจจะมีโอกาสในการบูรณาการและจัดการอบรมพิเศษที่เป็นรูปธรรมเพื่อสมาชิกแต่ละคนจะได้รับฟังจากบุคคลต่างๆและจากชุมชนด้วย”[29]  โครงการการอบรมเหล่านี้  ซึ่งเป็นการเรียนรู้พระพรพิเศษเฉพาะของความจริงแต่ละอย่าง  ไม่สามารถนำมาทดแทนการสอนคำสอนซึ่งถือว่ายังคงเป็นสิ่งที่สำคัญในการอบรมคริสตชน ดังนั้นจำเป็นที่บรรดาสมาคม ขบวนการหรือกลุ่มต่างๆ จะต้องจัดเวลาประจำเพื่อให้มีการสอนคำสอนด้วย

 

308. เกี่ยวกับการสอนคำสอนในกลุ่มที่มีการรวมตัวเหล่านี้ จำเป็นจะต้องพิจารณาแง่มุมต่างๆ เหล่านี้ คือ

         ก. การสอนคำสอนเป็นงานประจำของพระศาสนจักร ดังนั้นหลักการในการสอนคำสอนของพระศาสนจักรจำเป็นจะต้องเน้นให้เด่นชัด บรรดาสมาคม ขบวนการและกลุ่มพิเศษต่างๆ จะต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับแผนอภิบาลของสังฆมณฑล

         ข. จำเป็นต้องเคารพธรรมชาติที่เด่นชัดของการสอนคำสอน พัฒนาให้สมาชิกผู้เข้าร่วมได้รับการอบรมและสัมผัสถึงความลุ่มลึกในชีวิตคริสตชน สอดคล้องกับจิตตารมณ์และรูปแบบอันเป็นพระพรพิเศษประจำของแต่ละกลุ่ม

         ค. ชุมชนวัดถูกเรียกร้องให้สนับสนุนการสอนคำสอนที่เกิดขึ้นในกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ เพราะบ่อยครั้งสิ่งนี้เป็นการดึงดูดผู้คนให้มีความเข้าใจและเข้าถึงบุคคลที่อยู่นอกขอบเขตวัดด้วย

 

[24] John Paul II, Encyclical Letter Redemptoris missio (7th December 1990), 72. 
[25] John Paul II, Post-Synodal Apostolic Exhortation Christifideles laici (30th December 1988), 29. 
[26] Ibid, 30. แนวทางของการเป็นพระศาสนจักรก็คือ การให้ความสำคัญต่อกระแสเรียกของคริสตชนในการไปสู่ความศักดิ์สิทธิ์ ความรับผิดชอบในการประกาศความเชื่อคาทอลิก การเป็นพยานถึงความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นแท้จริงขึ้นตรงต่อพระสันตะปาปาและพระสังฆราช ปฎิบัติและมีส่วนร่วมในเป้าหมายในการประกาศข่าวดีของพระศาสนจักร มีความทุ่มเทที่ปรากฎชัดในสังคมมนุษย์    
[27] EG 29.
[28] John Paul II, Encyclical Letter Redemptoris missio (7th December 1990), 51. Cf also EN 58. 
[29] John Paul II, Post-Synodal Apostolic Exhortation  Christifideles laici (30th December 1988), 62; cf GDC 261.