คู่มือแนะแนวการสอนคำสอน - DIRECTORY FOR CATECHESIS (2020)

5. ผู้รับเจิมในการให้บริการการสอนคำสอน

119.       การสอนคำสอนแสดงถึงลักษณะพิเศษสำหรับการแพร่ธรรมของบุคคลผู้ได้รับเจิม ที่จริงแล้ว ในประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักร พวกเขาถูกนับเป็นบุคคลที่อุทิศตนมากที่สุดในการขยายผลด้านคำสอน พระศาสนจักรได้ขอร้องบุคคลที่มีชีวิตผู้รับเจิมในลักษณะเฉพาะให้เข้าร่วมกิจกรรมทางด้านคำสอน ซึ่งการมีส่วนร่วมของพวกเขาเป็นต้นแบบและมีลักษณะเฉพาะ ซึ่งบาทหลวงหรือฆราวาสไม่สามารถแทนที่ได้ “หน้าที่ประการแรกของผู้รับเจิม คือทำให้เห็นได้ด้วยตา ถึงสิ่งมหัศจรรย์ทั้งหลาย  ซึ่งพระเจ้าทรงบันดาลให้เกิดขึ้น  ในความเป็นมนุษย์อันเปราะบางของบุคคลที่พระเจ้าทรงเรียกมา ยิ่งกว่าด้วยถ้อยคำ บุคคลดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นเป็นประจักษ์พยานถึงสิ่งที่น่าพิศวงเหล่านี้  ด้วยภาษาอันจับใจของการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนรูปไป  ชนิดที่สามารถทำให้โลกประหลาดใจ”[13] การสอนคำสอนแรกที่ดึงดูดความสนใจคือชีวิตของผู้รับเจิม ซึ่งในการดำเนินชีวิตตามธรรมชาติที่ลึกซึ้งของพระวรสารเป็นประจักษ์พยานถึงความสมบูรณ์ที่ชีวิตในพระคริสตเจ้าทำให้เป็นไปได้

 

120.       คุณค่าเฉพาะของพระพรพิเศษของพวกเขาเราสามารถมองเห็นได้เมื่อผู้รับเจิมบางคนรับหน้าที่ในการสอนคำสอน “ในขณะที่ยังคงรักษาลักษณะที่เหมาะสมของการสอนคำสอนไว้ พระพรพิเศษของคณะนักบวชต่างๆ แสดงออกถึงภารกิจร่วมกันนี้ แต่ด้วยการให้ความสนใจพิเศษที่แตกต่างกันในแต่ละคณะซึ่งบ่อยครั้งเป็นเรื่องความคิดลึกซึ้งอย่างมากด้านศาสนา สังคม และวิธีสอน ขณะที่ยังคงรักษาไว้ซึ่งลักษณะเฉพาะของการสอนคำสอน ประวัติศาสตร์ของการสอนคำสอนแสดงให้เห็นถึงความมีชีวิตชีวาที่พระพรพิเศษเหล่านี้นำมาสู่กิจกรรมการสอนคำสอนของพระศาสนจักร”[14] เหนืออื่นใด สำหรับผู้ที่ปลูกฝังการสอนคำสอนด้วยวิถีชีวิตของพวกเขา พระศาสนจักรยังคงได้รับพละกำลังจากการรับใช้ของพวกเขาและรอคอยด้วยความหวังถึงการอุทิศตนที่ได้รับการฟื้นฟูในการรับใช้ด้านการสอนคำสอน

 

[13] John Paul II, Post-Synodal  Apostolic Exhortation Vita Consecrata (25th March 1996), 20.              

[14] GDC 229.