คู่มือแนะแนวการสอนคำสอน - DIRECTORY FOR CATECHESIS (2020)

4. งานการสอนคำสอน

79.  เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมาย การสอนคำสอนดำเนินงานที่เชื่อมต่อกันหลายงาน ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิธีที่พระเยซูเจ้าทรงอบรมบรรดาศิษย์ของพระองค์ พระองค์ทรงทำให้พวกเขารู้ถึงธรรมล้ำลึกของพระอาณาจักร  ทรงสอนพวกให้ภาวนา  เสนอคุณค่าของพระวรสารให้กับพวกเขา  เริ่มต้นให้พวกเขาเข้าสู่ชีวิตแห่งความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์และในหมู่พวกเขา และเข้าสู่พันธกิจการแพร่ธรรม การเรียนการสอนของพระเยซูเจ้าจึงฝึกฝนขึ้นเป็นชีวิตของชุมชนคริสตชน “คนเหล่านี้ประชุมกันอย่างสม่ำเสมอเพื่อฟังคำสั่งสอนของบรรดาอัครสาวก ดำเนินชีวิตร่วมกันฉันพี่น้อง ร่วมพิธีบิขนมปัง และอธิษฐานภาวนา” (กจ 2:42) อันที่จริง  ความเชื่อเรียกร้องให้ได้รู้  เฉลิมฉลอง  เจริญชีวิต และหันเข้าสู่การภาวนา เพื่ออบรมผู้มีความเชื่อให้มีชีวิตคริสตชนที่สมบูรณ์  ดังนั้น การสอนคำสอนดำเนินงานดังต่อไปนี้ นำไปสู่ความรู้เรื่องความเชื่อ เริ่มเข้าสู่การเฉลิมฉลองธรรมล้ำลึก อบรมเพื่อชีวิตในพระคริสตเจ้า สอนการภาวนา  และนำเข้าสู่ชีวิตชุมชน

 

นำไปสู่ความรู้เรื่องความเชื่อ

80.  การสอนคำสอนมีหน้าที่ส่งเสริมความรู้และการตรวจค้นสารของคริสตชน ด้วยวิธีนี้จะช่วยให้ผู้มีความเชื่อรู้ความจริงของความเชื่อคริสตชน  แนะนำเขาให้รู้จักพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์และธรรมประเพณีการดำรงชีวิตของพระศาสนจักร เอาใจใส่ต่อความรู้เรื่องบทข้าพเจ้าเชื่อ(สัญลักษณ์ของความเชื่อ) และการสร้างวิสัยทัศน์ของหลักคำสอนที่สอดคล้องกันซึ่งสามารถใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในชีวิต เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องไม่ประเมินมิติความรู้ความเข้าใจทางความเชื่อนี้ต่ำเกินไป และสนใจที่จะบูรณาการให้เข้ากับกระบวนการศึกษาของการเติบโตอย่างสมบูรณ์ของคริสตชน อันที่จริง การสอนคำสอนที่สร้างความขัดแย้งระหว่างเนื้อหาและประสบการณ์ความเชื่อเป็นการแสดงว่าการสอนนั้นไร้คุณค่า ปราศจากประสบการณ์ความเชื่อคนคนหนึ่งจะปราศจากการพบปะกับพระเจ้าและพี่น้องของตนอย่างแท้จริง (กล่าวคือ) การไม่มีเนื้อหาจะปิดกั้นการเติบโตของความเชื่อ การเก็บคนหนึ่งไม่ให้พบความหมายในพระศาสนจักรและการเจริญชีวิตในการพบปะและการแลกเปลี่ยนกับผู้อื่น

 

เริ่มเข้าสู่การเฉลิมฉลองธรรมล้ำลึก

81.  การสอนคำสอนนอกเหนือจากการส่งเสริมความรู้ที่มีชีวิตชีวาเกี่ยวกับธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้าแล้ว ยังมีหน้าที่ช่วยในการทำความเข้าใจและให้มีประสบการณ์ของการเฉลิมฉลองพิธีกรรมทางศาสนา ด้วยหน้าที่นี้ การสอนคำสอนช่วยให้ผู้มีความเชื่อเข้าใจถึงความสำคัญของพิธีกรรมในชีวิตของพระศาสนจักร เริ่มต้นเขาให้มีความรู้เรื่องศีลศักดิ์สิทธิ์และเข้าสู่ชีวิตเกี่ยวกับศีลศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะศีลมหาสนิท ซึ่งเป็นแหล่งที่มาและจุดสูงสุดของชีวิตและพันธกิจของพระศาสนจักร การเฉลิมฉลองศีลศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรม เป็นวิธีพิเศษที่สื่อถึงผู้ที่พระศาสนจักรประกาศอย่างเต็มที่

 

82.  ยิ่งกว่านั้น การสอนคำสอนให้ความรู้แก่ผู้มีความเชื่อในทัศนคติที่การเฉลิมฉลองของพระศาสนจักรต้องการ  ความชื่นชมยินดีในคุณภาพของพิธีการเฉลิมฉลอง  ความรู้สึกของชุมชน  ตั้งใจฟังพระวาจาของพระเจ้า มีความมั่นใจในการภาวนา สรรเสริญและขอบพระคุณ การตระหนักถึงสัญลักษณ์และเครื่องหมาย โดยการมีส่วนร่วมอย่างรู้ตัวและกระตือรือร้นในการเฉลิมฉลองพิธีกรรม การสอนคำสอนผู้มีความเชื่อให้เข้าใจถึงปีพิธีกรรม ครูที่แท้จริงของความเชื่อ และความหมายของวันอาทิตย์ วันขององค์พระผู้เป็นเจ้าและของชุมชนคริสตชน การสอนคำสอนยังช่วยให้ชื่นชมการแสดงออกของความเชื่อที่พบในความศรัทธาประชานิยม

 

อบรมเพื่อชีวิตในพระคริสตเจ้า

83.  การสอนคำสอนมีหน้าที่ทำให้หัวใจของคริสตชนทุกคนสะท้อนการเรียกให้มีชีวิตใหม่เพื่อรักษาศักดิ์ศรีของการเป็นบุตรของพระเจ้าที่ได้รับในศีลล้างบาปและกับชีวิตของพระองค์ผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพที่ได้รับถ่ายทอดโดยทางศีลศักดิ์สิทธิ์ งานนี้ประกอบด้วยการแสดงให้เห็นถึงการตอบสนองต่อกระแสเรียกสู่ความศักดิ์สิทธิ์อันสูงส่ง (เทียบ LG 40)[35] เป็นวิถีชีวิตเยี่ยงบุตรที่สามารถนำทุกสถานการณ์กลับสู่ทางแห่งความจริงและความสุขในพระคริสตเจ้า  ในแง่นี้  การสอนคำสอนแนะนำผู้มีความเชื่อให้ติดตามองค์พระผู้เป็นเจ้าตามลักษณะที่อธิบายไว้ในความสุขแท้จริง (มธ 5:1-12) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงชีวิตของพระองค์ “พระเยซูเจ้าทรงอธิบายด้วยความเรียบง่ายอย่างยิ่งถึงความหมายของการเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์เมื่อพระองค์ประทานความสุขแท้จริงให้เรา (เทียบ มธ 5:3-12; ลก 6:20-23) ความสุขแท้จริงเป็นเหมือนบัตรประจำตัวของคริสตชน”[36]

 

84.  ในทำนองเดียวกัน งานคำสอนในการให้ความรู้กับผู้มีความเชื่อถึงการดำเนินชีวิตที่ดีของพระวรสารเกี่ยวข้องกับการสร้างมโนธรรมทางศีลธรรมแบบคริสตชน เพื่อที่ว่าในทุกสถานการณ์เขาจะได้ฟังเจตจำนงของพระบิดาเพื่อที่  จะแยกแยะ ภายใต้การนำทางของพระจิต และมีความสอดคล้องกับบัญญัติ  ของพระคริสตเจ้า (เทียบ กท 6:2)  ความชั่วที่ควรหลีกหนี และความดีที่ควรกระทำ  และนำสิ่งนี้ไปปฏิบัติด้วยจิตเมตตาอย่างพากเพียร  นี่คือเหตุผลว่าทำไมจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องสอนให้ผู้มีความเชื่อได้รับจากบัญญัติแห่งความ   เมตตาที่พัฒนามาจากบัญญัติ 10 ประการ (เทียบ อพย 20:1-17; ฉธบ 5:6-21) และจากคุณธรรมต่างๆ ทั้งของมนุษย์และของคริสตชน แนวทางในการทำหน้าที่เป็นคริสตชนในด้านต่างๆ ของชีวิต ไม่ลืมว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าเสด็จมาเพื่อประทานชีวิตอย่างสมบูรณ์ (เทียบ ยน 10:10) การสอนคำสอนควรรู้วิธีที่จะ      นำ “ความน่าดึงดูดใจและอุดมคติของชีวิตแห่งปรีชาญาณ การเติมเต็มและเพิ่มคุณค่าในตนเอง”  เพื่อทำให้ผู้มีความเชื่อ “เป็นผู้ส่งสารที่ชื่นชมยินดี  นำข้อเสนอที่ท้าทาย ผู้รักษาความดีและความงาม ซึ่งส่องสว่างชีวิตที่ซื่อสัตย์ต่อพระวรสาร”[37]

 

85.  ยิ่งกว่านั้น ควรจำไว้ว่าการตอบสนองต่อกระแสเรียกทั่วไปของคริสตชนเป็นจริงในลักษณะของการรับสภาพมนุษย์ เพราะบุตรของพระเจ้าทุกคน ตามลักษณะชี้วัดอิสรภาพของเขา  การฟังพระเจ้าและรับรู้ถึงพระพรพิเศษที่พระเจ้าทรงมอบให้ มีความรับผิดชอบในการค้นพบบทบาทของตนเองในแผนการแห่งการช่วยให้รอดพ้น ดังนั้น การแนะนำทางศีลธรรมในการสอนคำสอนจึงให้ความสำคัญกับภูมิหลังด้านกระแสเรียก สิ่งแรกที่มองในชีวิตของคนคนหนึ่งในฐานะที่เป็นกระแสเรียกแรกและพื้นฐาน  การสอนคำสอนทุกรูปแบบคือการทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักดิ์ศรีของกระแสเรียกคริสตชน เพื่อจัดการก้าวเดินไปด้วยกันในการแยกแยะกระแสเรียกเฉพาะ เพื่อช่วยผู้มีความเชื่อให้มั่นคงในสถานะของเขาในชีวิต  ขึ้นอยู่กับกิจการทางคำสอนเพื่อแสดงให้เห็นว่าความเชื่อดำรงอยู่ในความมุ่งมั่นที่จะรักเหมือนอย่างพระคริสตเจ้าทรงรัก  เป็นหนทางที่จะส่งเสริมการมาถึงของพระอาณาจักรของพระเจ้าในโลกและเพื่อหวังในพระสัญญาแห่งความสุขแท้นิรันดร์

 

สอนการภาวนา

86.  การภาวนาเป็นของขวัญจากพระเจ้า อันที่จริง ทุกคนที่รับศีลล้างบาป“พระจิตเจ้าทรงอธิษฐานภาวนาวอนขอแทนเราด้วยคำที่ไม่อาจบรรยาย” (รม 8:26) การสอนคำสอนมีหน้าที่ในการให้ความรู้แก่ผู้มีความเชื่อเพื่อการภาวนาและในการภาวนา การพัฒนามิติการภาวนาแบบไตร่ตรองของประสบการณ์   คริสตชน จำเป็นต้องสอนให้เขาภาวนากับพระเยซูเจ้าคริสตเจ้าและเหมือนกับพระองค์ “การเรียนรู้ที่จะภาวนากับพระเยซูเจ้านั้นเป็นการภาวนาด้วยความรู้สึกเดียวกับที่พระองค์ทรงมีต่อพระบิดา นั่นคือ นมัสการ สรรเสริญ ขอบพระคุณ วางใจในฐานะบุตร อ้อนวอน และยำเกรงในพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ เราใคร่ครวญความรู้สึกทั้งหมดนี้ในบทข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย เป็นบทภาวนาที่พระเยซูเจ้าทรงสอนบรรดาศิษย์ของพระองค์ และเป็นแบบอย่างของการภาวนาทั้งหลายของคริสตชน... เมื่อใดที่การสอนคำสอนมีบรรยากาศแห่งการภาวนาแทรกซึม ก็ทำให้เหมือนว่าชีวิตคริสตชนทั้งครบบรรลุถึงจุดสูงสุดของชีวิต”[38]

 

87.  งานนี้มีความหมายถึงการสอนทั้งการภาวนาส่วนตัว  การภาวนาในพิธีกรรม และการภาวนาในชุมชน  เป็นการเริ่มผู้มีความเชื่อในรูปแบบถาวรของการภาวนา การถวายพระพร  และการกราบนมัสการ การวอนขออภัยบาป การวอนขอแทน  การขอบพระคุณ  และการสรรเสริญ[39] มีหลายวิธีที่เป็นที่ยอมรับในการบรรลุถึงจุดหมายเหล่านี้ เช่น การภาวนาด้วยการอ่านพระคัมภีร์ โดยเฉพาะในการภาวนาทำวัตรและ lectio divina การภาวนาของหัวใจเรียกว่าบทภาวนาเยซู[40]การเคารพพระนางพรหมจารีมารีย์ โดยการปฏิบัติด้วยความเลื่อมใส เช่น การสวดสายประคำ การอ้อนวอน ขบวนแห่ ฯลฯ

 

การนำเข้าสู่ชีวิตชุมชน (ชีวิตหมู่คณะ)

88.  ความเชื่อได้รับการยืนยัน เฉลิมฉลอง แสดงออก และเจริญชีวิต เหนืออื่นใดคือในชุมชน “มิติของชุมชนไม่ได้เป็นเพียง ‘กรอบ’ ‘เค้าโครง’ แต่เป็นส่วนสมบูรณ์ของชีวิตคริสตชน ของการเป็นประจักษ์พยาน และของการประกาศข่าวดี”[41] สิ่งนี้แสดงออกได้ดีในหลักการที่ยอดเยี่ยมว่า “idem velle atque idem nolle (ต้องการสิ่งเดียวกัน และปฏิเสธสิ่งเดียวกัน) ได้รับการยอมรับในสมัยโบราณว่าเป็นเนื้อหาที่แท้จริงของความรัก  บุคคลหนึ่งกลายเป็นผู้ที่คล้ายๆ อีกคนหนึ่ง และสิ่งนี้นำไปสู่ชุมชนของเจตจำนงและความคิด”[42] สิ่งที่ทำให้เป็นไปได้คือการปลูกฝังชีวิตจิตของความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกัน สิ่งนี้ทำให้เราสามารถมองเห็นแสงแห่งพระตรีเอกภาพที่สะท้อนอยู่บนใบหน้าของพี่น้องคนหนึ่งได้เช่นกัน โดยรู้สึกได้ถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันที่ลึกซึ้งของพระกายทิพย์ที่เขาเป็นส่วนหนึ่งของตนเอง การแบ่งปันความชื่นชมยินดีและความทุกข์ของเขาเพื่อรับรู้ความปรารถนาของเขา การดูแลความต้องการของเขา การมอบมิตรภาพที่แท้จริงและลึกซึ้งให้กับเขา การมองสิ่งที่เป็นบวกในผู้อื่นเพื่อที่จะทะนุถนอมเขาในฐานะที่เป็นของขวัญจากพระเจ้าช่วยให้เราปฏิเสธการถูกล่อลวงที่เห็นแก่ตัวซึ่งนำไปสู่การแข่งขัน  การเหยียดอาชีพ  ความไม่ไว้วางใจ  และความอิจฉา

 

89.  ในการกล่าวถึงการเตรียมสู่ชีวิตชุมชน  ดังนั้น  การสอนคำสอนจึงมีหน้าที่ในการพัฒนาความรู้สึกของการเป็นเจ้าของพระศาสนจักร การสอนถึงความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกันของพระศาสนจักร การส่งเสริมการยอมรับอำนาจสอนของพระศาสนจักร ความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกับผู้อภิบาล การเสวนาฉันพี่น้อง การอบรมผู้มีความเชื่อในความรู้สึกของความรับผิดชอบร่วมกันของพระศาสนจักร  การมีส่วนร่วมในฐานะผู้เข้าร่วมที่กระตือรือร้นในการสร้างชุมชน และในฐานะศิษย์ธรรมทูตเพื่อการเติบโตของพระศาสนจักร

 

[35] On the call to holiness in the contemporary world, see: Francis, Apostolic Exhortation Gaudete et exsultate (19th March 2018)            

[36] Ibid 63    

[37] EG 168   

[38] GDC 85  

[39] Cf  CCC 2626-2649  

[40] CCC 435 “The prayer of the heart, the Jesus Prayer, says: “Lord Jesus Christ, Son of God, have mercy on me, a sinner.” The formula pronounced with the mouth is progressively received by the intellect and then descends into the heart and creates an intelligent heart, unifying the inner person and making him whole.        

[41] Francis, general audience (15th January 2014)             

[42] Benedict XVI, Encyclical letter Deus Caritas Est (25th December 2005), 17