คู่มือแนะแนวการสอนคำสอน - DIRECTORY FOR CATECHESIS (2020)

5. แหล่งที่มาของการสอนคำสอน

90.  แหล่งที่มาที่ใช้ในการสอนคำสอนซึ่งถือว่ามีความสัมพันธ์กัน จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ในขณะที่ทุกคนสามารถย้อนกลับไปสู่พระวาจาของพระเจ้าของสิ่งที่พวกเขาแสดงออก  การสอนคำสอนอาจจะเน้นตามผู้เข้าร่วมและบริบท  แหล่งหนึ่งที่มากกว่าและเหนือกว่าแหล่งอื่นๆ แต่ต้องทำด้วยความสมดุลและต้องไม่ปฏิบัติการสอนคำสอนแบบมิติเดียว (ตัวอย่างเช่น การสอนคำสอนที่มีเนื้อหาเฉพาะในพระคัมภีร์ พิธีกรรม หรือเชิงประสบการณ์ ...)  ในบรรดาแหล่งทั้งหลาย พระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์มีความโดดเด่นอย่างชัดเจนเนื่องจากมีความสัมพันธ์พิเศษกับพระวาจาของพระเจ้า แหล่งต่างๆ ในแง่หนึ่งอาจเป็นวิธีการสอนคำสอน

 

พระวาจาของพระเจ้าในพระคัมภีร์และในธรรมประเพณีศักดิ์สิทธิ์

91.  การสอนคำสอนดึงสารมาจากพระวาจาของพระเจ้า ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลหลัก ดังนั้น “เรื่องสำคัญที่พระวาจาซึ่งเผยแสดงนั้น จะทำให้การสอนคำสอน และความพยายามทุกประการในการถ่ายทอดความเชื่อบังเกิดผลอย่างเต็มที่”[43] พระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งพระเจ้าทรงดลใจ เข้าถึงส่วนลึกของจิตใจมนุษย์ได้ดีกว่าคำพูดอื่นๆ พระวาจาของพระเจ้าไม่หมดพลังในหนังสือพระคัมภีร์ เพราะเป็นความเป็นจริงที่มีชีวิต กระตือรือร้น และเกิดผล (เทียบ อสย 55:10-11; ฮบ 4:12-13) พระเจ้าตรัสและพระวาจาของพระองค์ปรากฏในสิ่งสร้าง (เทียบ ปฐก 1:3ff; สดด 33:6,9; ปชญ 9:1) และในประวัติศาสตร์ สุดท้าย “พระองค์ตรัสกับเราโดยทางพระบุตร” (ฮบ 1:2) พระบุตรแต่พระองค์เดียวทรงบังเกิดจากพระบิดา ทรงเป็นพระวาจาสุดท้ายของพระเจ้า ผู้ทรงประทับอยู่กับพระบิดา แล้วตั้งแต่แรกเริ่ม ทรงเป็นพระเจ้า ทรงประทับเหนือสิ่งสร้าง (เทียบ ยน 1:1ff) บังเกิดจากหญิงผู้หนึ่ง (เทียบ กท 4:4) ด้วยพระอานุภาพของพระจิตเจ้า (เทียบ ลก 1:35) เพื่อที่จะประทับอยู่ในหมู่เรา (เทียบ ยน 1:14) เสด็จกลับไปหาพระบิดา (เทียบ กจ 1:9) พระองค์ทรงนำสิ่งสร้างที่ทรงไถ่กู้ไว้ไปกับพระองค์  ซึ่งถูกสร้างไว้ในพระองค์และเพื่อพระองค์ (เทียบ คส 1:18-20)

 

92.  พระศาสนจักรดำเนินชีวิตตามพันธกิจของตน โดยคาดหวังในการแสดงถึงอันตกาลขององค์พระผู้เป็นเจ้า “การรอคอยนี้ไม่ใช่เพียงการรอรับ แต่เป็นการปฏิบัติงานที่มุ่งหน้าประกาศพระวาจาของพระเจ้าที่บำบัดรักษาโรคภัยและไถ่กู้มนุษย์ทุกคน ทุกวันนี้พระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วยังคงตรัสแก่พวกเราว่า “จงออกไปทั่วโลก ประกาศข่าวดีให้มนุษย์ทั้งปวง (มก 16:15)”[44]    แท้ที่จริง “ความเชื่อจึงมาจากการฟัง สิ่งที่ได้ฟังก็มาจากพระวาจาของพระคริสตเจ้า” (รม 10:17) พระจิตเจ้าเองทรงสอน  ทรงทำให้เกิดขึ้น  ทรงทำให้พบปะกับพระวาจาของพระเจ้า เจริญชีวิตและทำให้เกิดผลโดยทางการเทศน์สอนและการสอนคำสอน (เทียบ ฮบ 4:12) ในเรื่องของธรรมประเพณี  ความคิดและข้อเขียนของบรรดาปิตาจารย์ของพระศาสนจักรมีบทบาทสำคัญ ในฐานะที่เป็นการแสดงออกถึงประสบการณ์ของพระศาสนจักรในอดีตและความต่อเนื่องทรงพลังที่มีอยู่ระหว่างการประกาศของบรรดาศิษย์แรกกับของเราเอง[45] เป็นเรื่องดีที่ชีวิตและผลงานของบรรดาปิตาจารย์ควรมีที่ที่เหมาะสมอยู่ในเนื้อหาของการสอนคำสอน

 

อำนาจสอนของพระศาสนจักร

93.  พระคริสตเจ้าทรงมอบพระบัญชาที่ยืนยงถาวรให้กับบรรดาอัครสาวกและผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากพวกท่าน  ให้ประกาศพระวรสารไปยังสุดปลายแผ่นดิน สัญญากับพวกเขาว่าพระจิตเจ้าจะทรงเป็นพระผู้ช่วยเหลือ (เทียบ มธ 28:20; มก 16:15; ยน 20:21-22; กจ 1:8) จะทรงกระทำให้พวกเขาเป็นครูสอนมนุษยชาติที่เกี่ยวข้องกับการช่วยให้รอดพ้น การถ่ายทอดด้วยปาก (ธรรมประเพณี)  และในข้อเขียน (พระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์)  พระวาจาของพระเจ้า อำนาจการสอนของพระศาสนจักร รักษา ตีความ และถ่ายทอดคลังแห่งความเชื่อซึ่งเป็นสาระของการเผยแสดง โดยพื้นฐานแล้ว ประชากรทั้งมวลของพระเจ้ามีพันธะที่จะต้องปกป้องและเผยแพร่คลังแห่งความเชื่อ ซึ่งเป็นหน้าที่ของพระศาสนจักรทั้งมวลในการประกาศพระวรสารแก่มนุษย์ทุกคน แต่อำนาจในการสอนสารเกี่ยวกับการช่วยให้รอดพ้นอย่างเป็นทางการและมีอำนาจในพระนามของพระเยซูคริสตเจ้าเป็นของคณะบิชอป ดังนั้น สมเด็จพระสันตะปาปาและคณะบิชอปในความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกันกับพระองค์เป็นผู้ดูแลอำนาจการสอนของพระศาสนจักร  พวกท่านมีหน้าที่หลักในการสั่งสอนประชากรของพระเจ้าในเรื่องเนื้อหาของความเชื่อและศีลธรรมของคริสตชน ตลอดจนส่งเสริมการประกาศไปทั่วโลก (เทียบ LG 25)

 

94.  ความจริงแห่งการช่วยให้รอดพ้นในตนเองยังคงเหมือนเดิมเสมอและไม่เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาพระศาสนจักรได้รับรู้ถึงคลังแห่งการ เผยแสดงดีขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ความลึกซึ้งและการพัฒนาที่เป็นเนื้อเดียวกันสามารถค้นพบได้ในเส้นทางที่สอดคล้องกับพระวาจาของพระเจ้าเอง  ด้วยเหตุนี้ อำนาจสอนของพระศาสนจักรให้บริการต่อพระวาจาและต่อประชากรของพระเจ้าโดยการระลึกถึงความจริงแห่งการช่วยให้รอดพ้นของพระคริสตเจ้า  ทำให้ชัดเจนและใช้เป็นประโยชน์เมื่อเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ในยุคสมัยและสถานการณ์ต่างๆ ทำหน้าที่เป็นดุจสะพานเชื่อมระหว่างพระคัมภีร์และธรรมประเพณี อำนาจสอนของพระศาสนจักรเป็นสถาบันที่พระคริสตเจ้าทรงประสงค์ในทางบวกในฐานะที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของพระศาสนจักร พระคัมภีร์   ธรรมประเพณี  และอำนาจสอนของพระศาสนจักรจึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดซึ่งกันและกันและไม่มีอันใดอันหนึ่งสามารถดำรงอยู่ได้หากปราศจากอีกอันหนึ่ง เมื่อรวมกันทุกอย่างมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ละสิ่งมีหนทางของตน เพื่อความรอดพ้นของมนุษยชาติ (เทียบ DV 10)  เหนืออื่นใด  การสอนคำสอนเป็นสื่อกลางของคำแถลงของอำนาจสอนของพระศาสนจักร

 

พิธีกรรม

95.  พิธีกรรมเป็นหนึ่งในแหล่งที่มาที่สำคัญและขาดไม่ได้ในการสอนคำสอนของพระศาสนจักร ไม่เพียงเพราะการสอนคำสอนสามารถดึงเนื้อหา คำศัพท์การกระทำ และถ้อยคำแห่งความเชื่อจากพิธีกรรมเท่านั้น แต่เหนืออื่นใดเพราะทั้งสองเป็นของกันและกันในการกระทำของการเชื่อ แม้ว่าแต่ละกิจการจะมีความเฉพาะเจาะจงของตนเอง  แต่พิธีกรรมและการสอนคำสอนซึ่งเข้าใจในแง่ของธรรมประเพณีของพระศาสนจักรนั้นจะไม่ถูกวางซ้อนกัน แต่จะมองในบริบทของชีวิตคริสตชนและชีวิตของพระศาสนจักร เนื่องจากทั้งสองมุ่งเน้นไปที่การทำให้ประสบการณ์แห่งความรักของพระเจ้ามาสู่ชีวิต หลักการโบราณที่ว่า “กฎการอธิษฐานภาวนาก็คือกฎการเชื่อ (lex credendi lex orandi ดู ccc 1124)  อันที่จริงคือ พิธีกรรมเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของธรรมประเพณี

 

96.  พิธีกรรม “เป็นที่พิเศษเพื่อสอนคำสอนแก่ประชากรของพระเจ้า”[46]  สิ่งนี้ไม่ควรถูกเข้าใจในแง่ที่ว่าพิธีกรรมควรจะสูญเสียลักษณะการเฉลิมฉลองและกลายเป็นการสอนคำสอนหรือการสอนคำสอนนั้นไม่จำเป็น  แม้จะเป็นเรื่องถูกต้องที่การมีส่วนร่วมของทั้งสองควรคงไว้ซึ่งความเฉพาะเจาะจง  ต้องยอมรับว่าพิธีกรรมเป็นจุดสุดยอดและแหล่งที่มาของชีวิตคริสตชน อันที่จริง การสอนคำสอนนั้นเกิดขึ้นจากการพบปะครั้งแรกที่เกิดผลระหว่างผู้ที่ได้รับการสอนคำสอนและชุมชนที่เฉลิมฉลองธรรมล้ำลึก ซึ่งกล่าวได้ว่าการสอนคำสอนบรรลุผลอย่างแท้จริงเมื่อผู้ที่ได้รับการสอนคำสอนมีส่วนร่วมในชีวิตพิธีกรรมของชุมชน  ดังนั้น การสอนคำสอนจึงไม่สามารถคิดว่าเป็นเพียงการเตรียมเพื่อรับศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ แต่เราต้องเข้าใจในความสัมพันธ์กับประสบการณ์ทางพิธีกรรม “การสอนคำสอนมีความเกี่ยวพันอย่างแนบแน่นกับพิธีกรรมและกิจการด้านศีลศักดิ์สิทธิ์ เพราะอาศัยศีลศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะศีลมหาสนิท  ที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงเปลี่ยนแปลงมนุษย์ให้สำเร็จสมบูรณ์”[47] ดังนั้น พิธีกรรมและการสอนคำสอนจึงแยกออกจากกันไม่ได้และหล่อเลี้ยงซึ่งกันและกัน

 

97.  การเดินทางในการอบรมของคริสตชน ตามที่ได้รับการยืนยันในการสอน  คำสอนหลังรับศีลล้างบาปของบรรดาปิตาจารย์ของพระศาสนจักร มักจะมีลักษณะที่เป็นประสบการณ์ แต่ไม่ละเลยความเข้าใจเรื่องความเชื่อ การพบปะกับพระคริสตเจ้าแบบมีชีวิตและดึงดูด ได้รับการประกาศโดยอาศัยการเป็นประจักษ์พยานที่แท้จริงยังวิจารณ์ได้ ดังนั้น ผู้ที่แนะนำคนอื่นให้รู้จักกับธรรมล้ำลึกสิ่งแรกคือการเป็นประจักษ์พยาน การพบปะนี้พบแหล่งที่มาและจุดสุดยอดในการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิท และทำให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นโดยทางการสอนคำสอน

 

98.  ความจำเป็นสำหรับการเดินทางหลังรับศีลล้างบาป  จากโครงสร้างพื้นฐานของประสบการณ์ของคริสตชน  มีองค์ประกอบสำคัญสามประการ[48] คือ

 

ก. การตีความของศาสนพิธีในแง่ของเหตุการณ์ของการช่วยให้รอดพ้น ในการรักษาธรรมประเพณีของพระศาสนจักร การตีความอีกครั้งถึงธรรมล้ำลึกของชีวิตของพระเยซูเจ้าและธรรมล้ำลึกปัสกาของพระองค์โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางทั้งหมดของพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิม

 

ข. เป็นการนำเข้าสู่ความหมายของเครื่องหมายในพิธีกรรม  ดังนั้นการสอนคำสอนหลังรีบศีลล้างบาปสามารถปลุกขึ้นมาใหม่และให้ความรู้ในความรู้สึกของสัตบุรุษด้วยภาษาของเครื่องหมายและการกระทำ  ที่ประกอบกับคำพูดในจารีตพิธี

 

ค. การนำเสนอความหมายของพิธีที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคริสตชนทั้งครบ  เพื่อเน้นความเชื่อมโยงของพิธีกรรมกับความรับผิดชอบในการเป็นธรรมทูตของสัตบุรุษ และเพื่อเพิ่มความตระหนักว่าการดำรงอยู่ของผู้มีความเชื่อค่อยๆ ถูกเปลี่ยนไปด้วยธรรมล้ำลึกต่างๆ ที่เราเฉลิมฉลอง

 

อย่างไรก็ตาม มิติของการสอนคำสอนหลังรับศีลล้างบาปไม่สามารถลดลงเป็นเพียงการใช้ประโยชน์ของการเริ่มเข้าเป็นคริสตชนหลังจากได้รับศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ แต่ยังรวมถึงการรวมเข้าร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพิธีกรรมในวันอาทิตย์ และวันฉลองต่างๆของปีพิธีกรรมซึ่งพระศาสนจักรได้บำรุงเลี้ยงผู้สมัครเรียน คำสอนและเด็กที่รับศีลล้างบาปแล้วได้เป็นอย่างดี ก่อนที่พวกเขาจะสามารถรับศีลมหาสนิท  หรือเริ่มการเรียนคำสอนตามองค์ประกอบและโครงสร้าง

 

ประจักษ์พยานของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์และมรณสักขี

99.  ตั้งแต่ศตวรรษแรกๆ แบบอย่างของพระนางมารีย์พรหมจารี ชีวิตของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์และมรณสักขีเป็นส่วนสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพในการสอนคำสอน : จากการกระทำของบรรดามรณสักขีไปสู่ความเร่าร้อน จากภาพสีเฟรสโกและภาพวาดในวัดไปจนถึงเรื่องราวที่จรรโลงใจสำหรับเด็กและผู้ไม่รู้หนังสือ ประจักษ์พยานชีวิตและความตายเพื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าที่บรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์   และมรณสักขีมอบให้นั้นเป็นผลของการประกาศข่าวดีของผู้ศักดิ์สิทธิ์อย่างแท้จริง สารจากพระวรสารสามารถประกาศพระคริสตเจ้า ปลุกเร้า และหล่อเลี้ยงความเชื่อในพระองค์

 

100.  พระศาสนจักรมองว่าบรรดามรณสักขีฐานะเป็นครูผู้มีชื่อเสียงแห่งความเชื่อ ผู้ตรากตรำทำงานและทนทุกข์ทรมานในการแพร่ธรรมของพวกเขา ทำให้การขยายตัวครั้งแรกและการกำหนดข้อความเชื่อเดียวกันนั้นเป็นไปได้พระศาสนจักรพบว่าบรรดามรณสักขีเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งชีวิต “โลหิตของบรรดาคริสตชนเป็นเมล็ดพันธุ์[49] กฎเกณฑ์นี้ไม่ได้เป็นของศาสนาคริสต์ในสมัยแรกเท่านั้น แต่ใช้ได้กับตลอดประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรจนถึงสมัยของเรา ศตวรรษที่ยี่สิบ ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นศตวรรษแห่งการเป็นมรณสักขีได้แสดงให้ตนเองเห็นถึงความร่ำรวยเป็นพิเศษในการเป็นประจักษ์พยานของผู้ที่เต็มใจดำเนินชีวิตตามพระวรสารจนถึงจุดทดลองสูงสุดแห่งความรัก  การเป็นประจักษ์พยานแห่งความเชื่อของพวกท่านต้องได้รับการปกป้องและถ่ายทอดในการเทศน์สอนและการสอนคำสอน หล่อเลี้ยงการเติบโตของบรรดาศิษย์ของพระคริสตเจ้า การเป็นประจักษ์ของพระนางมารีย์พรหมจารีที่พระศาสนจักรยอมรับ ชีวิต และงานเขียนของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์และมรณสักขีของทุกวัฒนธรรมและทุกชาติเป็นแหล่งที่มาอย่างแท้จริงของการสอนคำสอน

 

เทววิทยา

101.  ข้อเท็จจริงที่ว่าการเผยแสดงของพระเจ้าเกินความสามารถของมนุษยชาติที่จะเข้าใจ ไม่ได้หมายความว่าเป็นสิ่งขัดแย้งกับเหตุผลของมนุษย์ แต่แทรกซึมและยกระดับขึ้น การแสวงหาของผู้มีความเชื่อในการเข้าใจเรื่องความเชื่อ หรือเทววิทยา จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้สำหรับพระศาสนจักร “งานทางเทววิทยาในพระศาสนจักรเป็นสิ่งแรกที่รับใช้การประกาศความเชื่อและการสอนคำสอน”[50] ซึ่งทะลุเข้าไปด้วยความฉลาดเฉลียวในวิกฤติเนื้อหาของความเชื่อ วินิจฉัยและจัดระเบียบอย่างเป็นระบบด้วยการสนับสนุนของเหตุผล อย่างไรก็ตามพระคริสตเจ้าไม่เพียงได้รับการวินิจฉัยด้วยการไตร่ตรองอย่างเป็นระบบโดยการหาเหตุผลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ในเหตุผลพระองค์ทรงเป็นความจริงทรงชีวิต และทรงเป็น “พระปรีชาญาณของพระเจ้า” (1 คร 1:24) พระองค์คือการปรากฏตัวที่ส่องสว่าง การเข้าถึงความฉลาดปราดเปรื่องช่วยให้เทววิทยาสามารถรวบรวมแง่มุมต่างๆ ของความเชื่อ ยิ่งกว่านั้น เทววิทยา “เสนอการมีส่วนร่วมเพื่อว่าความเชื่อจะได้รับการสื่อสารออกไป  เพื่อให้เกิดความเข้าใจกับผู้ที่ยังไม่รู้จักพระคริสตเจ้า ซึ่งช่วยให้พวกเขาแสวงหาและพบความเชื่อ”[51] ศาสตร์แห่งเทววิทยามีส่วนช่วยในการสอนคำสอน และเพื่อการปฏิบัติในด้านคำสอนโดยทั่วไปให้มากขึ้น  ผ่านทางความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะเช่น  เทววิทยาขั้นพื้นฐาน  เทววิทยาพระคัมภีร์  เทววิทยาข้อความเชื่อ  เทววิทยาด้านศีลธรรม เทววิทยาฝ่ายจิตฯลฯ และในวิธีที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้นในด้านวิชาคำสอน เทววิทยาการอภิบาล เทววิทยาการประกาศข่าวดี เทววิทยาทางการศึกษาและการสื่อสาร

 

วัฒนธรรมคริสตชน

102.  วัฒนธรรมคริสตชนเกิดจากการตระหนักถึงความเป็นศูนย์กลางของพระเยซูคริสตเจ้าและพระวรสารของพระองค์ ซึ่งเปลี่ยนแปลงชีวิตของมนุษยชาติ โดยการซึมซับวัฒนธรรมที่แตกต่างอย่างช้าๆ ความเชื่อของคริสตชนได้นำมาใช้ ทำให้บริสุทธิ์ และเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมเหล่านี้จากภายใน ทำให้รูปแบบการประกาศข่าวดีเป็นคุณลักษณะที่สำคัญ มีส่วนร่วมในการสร้างวัฒนธรรมใหม่และเป็นต้นฉบับ วัฒนธรรมคริสตชน ซึ่งตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมาได้ผลิตผลงานชิ้นเอกที่แท้จริงในทุกสาขาของความรู้  ทำหน้าที่เป็นเครื่องสนับสนุนและเป็นสื่อนำสำหรับการประกาศพระวรสาร และแม้บางครั้งจะมี การเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์โดยความขัดแย้งทางอุดมการณ์และวัฒนธรรม ประสบความสำเร็จในมุมมองของคุณค่าของการประกาศข่าวดีที่ แท้จริง ตัวอย่างเช่น ความมีลักษณะเฉพาะของบุคคลมนุษย์ ศักดิ์ศรีของชีวิต เสรีภาพในฐานะที่เป็นเงื่อนไขของชีวิตมนุษย์ ความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง  ความจำเป็นที่จะต้อง “รู้จักปฏิเสธความชั่วและเลือกความดี” (อสย 7:15)  ความสำคัญของความกรุณาปราณีและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน  ความหมายของการให้อภัยและความเมตตา และความจำเป็นของการเปิดกว้างสู่การอยู่เหนือความเข้าใจ (transcendence)

 

103.  ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา สังคมเหล่านั้นที่ได้รับการหล่อหลอมโดยวัฒนธรรมคริสตชนเป็นพิเศษได้มาถึงวิกฤตทางวัฒนธรรมซึ่งเป็นผลมาจากโลกีย์นิยมที่เกินจริงซึ่งนำไปสู่แนวคิดที่ผิดๆ เกี่ยวกับภาวะอิสระ เกณฑ์บรรทัดฐานเดียวที่ยอมรับได้คือเกณฑ์ที่ตั้งอยู่บนความเห็นที่สอดคล้องกันของสังคมหรือความคิดเห็นส่วนตัว ซึ่งบ่อยๆ มักจะตรงกันข้ามกับจริยธรรมตามธรรมชาติ“การแยกตัวระหว่างพระวรสารและวัฒนธรรมเป็นภัยร้ายแรงที่เกิดในสมัยของเรา”[52] ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดว่าจำเป็นต้องมีความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับวัฒนธรรม  คริสตชน วัฒนธรรมแห่งการพบปะ ซึ่งมีความสามารถในการรวมกัน[53] ยอมให้พระวรสารปล่อยพลังแห่งมนุษยชาติที่แท้จริง สันติภาพ และความยุติธรรม พลังเหล่านี้ที่เป็นพื้นฐานของวัฒนธรรมคริสตชนทำให้ความเชื่อเข้าใจง่ายขึ้นและเป็นที่ต้องการมากขึ้น

 

104.  วัฒนธรรมคริสตชนมีบทบาทสำคัญในการเก็บรักษาวัฒนธรรมที่มีมาก่อนและในความก้าวหน้าของวัฒนธรรมระหว่างประเทศ ตัวอย่างเช่น มีความสามารถในการตีความตามจิตใหม่ในความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของปรัชญากรีก  และนิติศาสตร์โรมันเพื่อทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นมรดกของมนุษยชาติทั้งมวล นอกจากนี้ยังหล่อหลอมการรับรู้ถึงสิ่งที่ดี ความยุติธรรม ความจริง  และความงาม โดยนำมาซึ่งการสร้างสรรค์ผลงาน วรรณกรรมและตำราวิชาการ บทประพันธ์ดนตรี  ผลงานชิ้นเอกของสถาปัตยกรรม และภาพวาด ที่จะยังคงเป็นประจักษ์พยานในการสนับสนุนความเชื่อของคริสตชน และประกอบกันเป็นมรดกทางปัญญา ศีลธรรม และสุนทรียะ

 

105.  มรดกที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และศิลปะอันยิ่งใหญ่นี้  เป็นทรัพยากรที่สร้างแรงบันดาลใจและเสริมการสอนคำสอน  ซึ่งถ่ายทอดวิสัยทัศน์ของคริสตชนแก่โลกด้วยพลังแห่งความงามที่สร้างสรรค์ การสอนคำสอนต้องใช้ประโยชน์จากมรดกทางวัฒนธรรมของคริสตชนในความพยายามที่จะ “(รักษา) ในหมู่มนุษย์ให้มีญาณทัศน์และการสังเกตซึ่งนำไปสู่ปรีชาญาณ” (GS 56) และเพื่อให้ความรู้แก่ผู้มีความเชื่อในช่วงเวลาแห่งความไม่สมบูรณ์   ถึงวิสัยทัศน์ของ “บุคคลมนุษย์ทั้งครบซึ่งคุณค่าของสติปัญญา เจตจำนง มโนธรรม และความเป็นพี่น้องให้เป็นสิ่งที่โดดเด่น คุณค่าเหล่านี้ล้วนมีรากฐานมาจากพระเจ้าพระผู้สร้าง และได้รับการฟื้นฟูและยกระดับอย่างน่าอัศจรรย์ในพระคริสตเจ้า” (GS 61) มรดกทางวัฒนธรรมคริสตชนจำนวนมหาศาลที่นำเสนอตามความคิดของพระผู้สร้าง   สามารถเป็นสื่อกลางในการทำให้องค์ประกอบหลักของสารของการประกาศข่าวดีเป็นสื่อกลางได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ความงาม

106.  พระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์นำเสนอ  พระเจ้าทรงเป็นแหล่งที่มาของความรุ่งโรจน์และความงามทั้งปวงในทางที่ไม่ผิดพลาด พันธสัญญาเดิมแสดงให้เห็นถึงการสร้าง โดยมีมนุษยชาติอยู่ในจุดสุดยอด ในฐานะเป็นสิ่งที่ดีและงดงาม ไม่มากในแง่ของความเป็นระเบียบและความกลมกลืน แต่เป็นการให้เปล่า เป็นอิสระจากทฤษฎีโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมแผนใหม่ที่เน้นถึงวัตถุประสงค์(functionalism) ต่อหน้าสิ่งสร้างซึ่งเป็นที่ (เรา) ชื่นชมและไตร่ตรองเพื่อประโยชน์ของตัวเอง  เรารู้สึกอัศจรรย์ใจ ความปลาบปลื้มยินดี มีอารมณ์ซาบซึ้ง และมีปฏิกิริยาแห่งความรัก  ผลงานของมนุษย์  เช่นเดียวกับพระวิหารอันวิจิตรของซาโลมอน (เทียบ 1พกษ 7-8)  สมควรได้รับการชื่นชมว่ามีสิ่งเหล่านี้ความเชื่อมโยงกับพระผู้สร้าง

 

107.  ในพระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่ ความงามทั้งหมดถูกเน้นในพระบุคคลของพระเยซูคริสตเจ้า ผู้เผยแสดงของพระเจ้าผู้ทรง “เป็นรังสีแห่งพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า ทรงเป็นภาพลักษณ์ที่สมบูรณ์ของพระเจ้า” (ฮบ1:3) พระวรสารของพระองค์น่าหลงใหลเพราะเป็นข่าวที่งดงาม ดีงาม ปิติยินดี เต็มไปด้วยความหวัง  พระองค์ “เปี่ยมด้วยพระหรรษทานและความจริง” (ยน 1:14) ทรงรับเอาความเป็นมนุษย์ไว้กับพระองค์เอง เล่าผ่านคำอุปมาถึงความงดงามของกิจกรรมของพระเจ้า ในความสัมพันธ์ของพระองค์กับชาย-หญิงพระองค์ตรัสด้วยถ้อยคำที่งดงาม ด้วยประสิทธิภาพของถ้อยคำเหล่านี้พระองค์ทรงรักษาส่วนลึกของวิญญาณว่า “บาปของท่านได้รับการอภัยแล้ว” (มก 2:5) “เราก็ไม่ลงโทษท่านด้วย” (ยน 8:11) “พระเจ้าทรงรักโลกอย่างมาก” (ยน 3:16) “ท่านทั้งหลายที่เหน็ดเหนื่อย และแบกภาระหนัก จงมาพบเราเถิด เราจะให้ท่านได้พักผ่อน” (มธ 11:28) พระองค์ทรงปฏิบัติกิจกรรมที่งดงาม ทรงรักษา ทรงปล่อยให้เป็นอิสระ พระองค์ทรงคลุกคลีกับมนุษยชาติและสัมผัสบาดแผลพระองค์ทรงอดทนต่อความโหดร้ายของการตัดสินลงโทษให้ถึงตาย ประหนึ่งผู้ที่ “ไม่มีความสง่าหรือความงามใด” (อสย 53:2)  พระองค์ทรงได้รับการยอมรับว่า “ทรงงามเลิศสุดยิ่งกว่าบุรุษใดๆ” (สดด 45:2) ด้วยวิธีนี้ พระองค์ทรงนำมนุษยชาติ ทำให้บริสุทธิ์ เข้าสู่พระสิริรุ่งโรจน์ของพระบิดา ที่ซึ่งทรงพบพระองค์เอง “ประทับ ณ เบื้องขวาแห่งพระมหิทธานุภาพ” (ฮบ 1:3) และได้ทรงเปิดเผยพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดของปัสกาของพระองค์

 

108.  ดังนั้น พระศาสนจักรจึงรับไว้ในจิตใจว่าเพื่อที่จะเข้าถึงจิตใจของมนุษย์ในการประกาศเรื่องพระผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพจะต้องเปล่งประกายออกมาด้วยความดี  ความจริง  และความงาม  ในแง่นี้เป็นสิ่งจำเป็นที่ “การสอนคำสอนต้องให้ความใส่ใจพิเศษต่อ ‘หนทางแห่งความงดงาม’(via pulchritudinis)”[54] ความงามทั้งหมดสามารถเป็นเส้นทางที่ช่วยนำไปสู่การพบปะกับพระเจ้า แต่เกณฑ์ของความถูกต้องแท้จริง ไม่ได้มีเพียงความสุนทรียภาพเท่านั้น ต้องมีการไตร่ตรองระหว่างความงามที่แท้จริงและรูปแบบที่เห็นได้ชัดว่าสวยงามแต่ว่างเปล่า หรือแม้กระทั่งเป็นอันตราย ดังเช่นผลไม้ต้องห้ามในสวรรค์บนแผ่นดิน (เทียบ ปฐก 3:6) เราพบเกณฑ์ในการเตือนใจของท่านนักบุญเปาโลว่า “สิ่งใดจริง สิ่งใดประเสริฐ สิ่งใดชอบธรรม สิ่งใดบริสุทธิ์ สิ่งใดน่ารัก สิ่งใดควรยกย่อง ถ้ามีสิ่งใดเป็นคุณธรรม ถ้ามีสิ่งใดน่าสรรเสริญ ท่านจงพิจารณาสิ่งเหล่านี้ด้วยความใคร่ครวญเถิด” (ฟป 4:8)

109.  ความงามคงอยู่เสมอและแยกออกจากกันไม่ได้กับความดีและความจริง ดังนั้น การไตร่ตรองถึงความงามจึงกระตุ้นให้เราเกิดความรู้สึกของความชื่นชมยินดี ความพอใจ ความอ่อนโยน ความบริบูรณ์ ความหมาย ด้วยเหตุนี้จึงเปิดเราให้เข้าสู่สิ่งเหนือธรรมชาติ วิธีการประกาศข่าวดีเป็นวิถีแห่งความงาม ดังนั้น   ความงามทุกรูปแบบจึงเป็นแหล่งที่มาของการสอนคำสอน  ในการแสดงให้เห็นถึงความเป็นอันดับหนึ่งของพระหรรษทาน ที่แสดงให้เห็นด้วยวิธีพิเศษในพระนางพรหมจารีมารีย์ ในการทำให้ชีวิตของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่รู้จักในฐานะประจักษ์พยานที่แท้จริงถึงความงดงามของความเชื่อ  ในการให้ความสำคัญกับความงามและความลึกลับของการสร้าง ในการค้นพบและอนุรักษ์มรดกทางพิธีกรรมและศิลปะทางศาสนาที่น่าทึ่งและยิ่งใหญ่ของพระศาสนจักร ในการให้คุณค่ากับศิลปะร่วมสมัยในรูปแบบสูงสุด การสอนคำสอนแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความงามที่ไม่มีที่สิ้นสุดของพระเจ้า  ซึ่งแสดงออกในผลงานของมนุษย์ด้วย (เทียบ SC 122)  และนำผู้ที่ได้รับการสอนคำสอนไปสู่ของขวัญแห่งความงามที่พระบิดาทรงสร้างในพระบุตรของพระองค์

 

[43] EG 175

[44] Benedict XVI, Post-Synodal Apostolic Exhortation Verbum Domini (30th September 2010). 121       

[45] Cf Benedict XVI, Speech to the Plenary Assembly of the Pontifical Council for Promoting New Evangelization (30th May 2011)

[46] CCC 1074              

[47] CT 23    

[48] Cf Benedict XVI, Apostolic Exhortation Sacramentum Caritatis (22nd February 2007), 64               

[49] Tertullian. Apologeticum, 50, 13: CCL 1, 171 (PL 1, 603)            

[50] John Paul II, Encyclical Letter Fides et Ratio (14th September 1998), 99        

[51] Congregation for the Doctrine of the Faith, Instruction on the ecclesial vocation of the theologian, Donum Veritatis (24th May 1990). 7

[52] EN 20   

[53] Cf John Paul II, Encyclical Letter Fides et Ratio (14th September 1998), 85   

[54] EG 167; cf Pontifical Council for Culture, The via pulchritudinis, Privileged Pathway for Evangeltsation and Dialogue: Concluding Document of the Plenary Assembly, 2006