คู่มือแนะแนวการสอนคำสอน - DIRECTORY FOR CATECHESIS (2020)

3. การส่งผ่านการเผยแสดงในความเชื่อของพระศาสนจักร

22.         การเผยแสดงมีไว้สำหรับมนุษยชาติทุกคน “พระเจ้ามีพระประสงค์ให้ทุกคนได้รับความรอดพ้น และรู้ความจริงที่สมบูรณ์” (1ทธ 2:4) โดยทางความปรารถนาสากลแห่งการช่วยให้รอดพ้นนี้ “ด้วยพระทัยดีอย่างที่สุด  พระเจ้าทรงจัดไว้ว่า  ความจริงที่พระองค์ทรงเปิดเผยให้รู้เพื่อความรอดพ้นของนานาชาตินั้นจะต้องคงอยู่เสมอไปอย่างครบถ้วน  และจะต้องถ่ายทอดให้แก่ชนรุ่นหลังสืบต่อกันไปทุกอายุขัย” (DV 7) นี่คือสาเหตุที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงตั้งพระศาสนจักรบนรากฐานของบรรดาอัครสาวก พระศาสนจักรปฏิบัติพันธกิจเดียวกับที่พระเยซูเจ้าได้รับจากพระบิดาในประวัติศาสตร์ พระศาสนจักรแยกออกไม่ได้จากพันธกิจของพระบุตร (เทียบ AG 3) และจากพันธกิจของพระจิตเจ้า (เทียบ AG 4) เพราะทั้งสองประกอบเป็นแผนการหนึ่งเดียวแห่งความรอดพ้น

 

23.         พระจิตเจ้าทรงเป็นตัวเอกที่แท้จริงของพันธกิจทั้งมวลของพระศาสนจักร ที่ทรงกระทำทั้งในพระศาสนจักรและในผู้ที่พระศาสนจักรต้องไปถึง และโดยใครในทางใดทางหนึ่งด้วย  พระศาสนจักรต้องไปให้ถึง  เพราะพระเจ้าทรงทำงานในหัวใจของทุกคน พระจิตเจ้ายังคงทำให้พระศาสนจักรมีชีวิตชีวา ซึ่งดำเนินชีวิตโดยพระวาจาของพระเจ้า และทำให้พระศาสนจักรเติบโตในความเข้าใจพระวรสารอยู่เสมอ ทรงส่งและสนับสนุนพระศาสนจักรในงานประกาศข่าวดีแก่โลก  จากภายในมนุษยชาติ  พระจิตเจ้าเองทรงหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งพระวาจา สนับสนุนความปรารถนาและงานที่ดี เตรียมการยอมรับพระวรสารและประทานความเชื่อ เพื่อว่ามนุษย์อาจรับรู้ถึงการประทับอยู่ด้วยความรักและการสื่อสารของพระเจ้าผ่านทางการเป็นประจักษ์พยานของพระศาสนจักรพระศาสนจักรยินดีต้อนรับการกระทำอันเป็นธรรมล้ำลึกของพระจิตเจ้าด้วยการเชื่อฟังและความกตัญญู พระศาสนจักรทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการดำรงชีวิตและอ่อนน้อมสอนง่ายเพื่อนำไปสู่ความจริงทั้งหมด (เทียบ ยน 16:13) และเป็นพระศาสนจักรเองที่มั่งคั่งจากการพบปะกับบรรดาผู้ที่ตนเองได้ถ่ายทอดพระวรสารให้

 

24.         บรรดาอัครสาวกซื่อสัตย์ต่อคำสั่งของพระเจ้า ด้วยการเป็นประจักษ์พยานและการทำงาน ด้วยการเทศน์สอน ด้วยการตั้งสถาบันและงานเขียนต่างๆ ที่ได้รับการดลใจจากพระจิตเจ้า ได้มอบสิ่งที่พวกเขาได้รับ และ“เพื่อรักษาพระวรสารหรือข่าวดีให้ครบถ้วนและเป็นปัจจุบันอยู่เสมอไว้ในพระศาสนจักรตลอดไป บรรดาอัครสาวกจึงตั้งบรรดาบิชอปให้เป็นผู้สืบตำแหน่งต่อไป และ ‘มอบหมายตำแหน่งหน้าที่สั่งสอนของท่านให้บรรดาบิชอป’” (DV 7) ธรรมประเพณีของบรรดาอัครสาวกนี้ “ยังคงดำรงอยู่ต่อไปในพระศาสนจักร ด้วยความช่วยเหลือของพระจิตเจ้า นั่นคือความเข้าใจถึงเรื่องราวและถ้อยคำที่สอนต่อกันมานั้นเพิ่มพูนขึ้น ทั้งด้วยการรำพึงพิจารณาและการศึกษาของบรรดาผู้มีความเชื่อที่เก็บรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ในจิตใจ  (เทียบ  ลก  2:19 และ 51)  ทั้งอาศัยความเข้าใจลึกซึ้งเกี่ยวกับความจริงทางจิตใจที่เขามีประสบการณ์ และด้วยการประกาศสอนของบรรดาผู้สืบตำแหน่งบิชอปต่อกันมา” (DV 8)

 

25.         การถ่ายทอดพระวรสารตามที่องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงสั่งไว้นั้นได้รับการดำเนินการในสองวิธี คือ “โดยการถ่ายทอดพระวาจาของพระเจ้าอย่างมีชีวิตชีวา (หรือเรียกง่ายๆ ว่า ธรรมประเพณี)  และโดยพระคัมภีร์  ซึ่งได้แก่การประกาศถึงความรอดพ้น ที่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร”[15] ดังนั้น ธรรมประเพณีและพระคัมภีร์สอดคล้องกันและเชื่อมโยงต่อกันอย่างมั่นคง และเกิดจากแหล่งเดียวกันคือการเผยแสดงของพระเยซูคริสตเจ้า สิ่งเหล่านี้รวมเข้าด้วยกันเป็นสายธารเดียว เป็นชีวิตความเชื่อของพระศาสนจักร และทำงานร่วมกันเพื่อจุดประสงค์เดียวกัน ซึ่งทำให้ธรรมล้ำลึกทั้งปวงของพระเยซูคริสตเจ้ามีความกระตือรือร้นและมีพลังในพระศาสนจักร

 

26.         ธรรมประเพณีไม่ได้เป็นการรวบรวมหลักคำสอนเป็นหลัก แต่เป็นชีวิตแห่งความเชื่อที่ได้รับการฟื้นฟูทุกวัน มีความก้าวหน้า “มีความมั่นคงขึ้นตามปี มีการพัฒนาตามกาลเวลา  ลึกซึ้งขึ้นตามอายุ”[16] อำนาจการสอนของพระศาสนจักรได้รับการสนับสนุนจากพระจิตเจ้า และกอปรด้วยพระพรพิเศษแห่งความจริง ปฏิบัติด้วยศาสนบริการในการตีความพระวาจาของพระเจ้าอย่างน่าเชื่อถือ ดังนั้น อำนาจการสอนของพระศาสนจักรจึงปฏิบัติศาสนบริการในการปกป้องความสมบูรณ์ของการการเผยแสดงของพระวาจาของพระเจ้าที่มีอยู่ในธรรมประเพณีและในพระคัมภีร์  และการถ่ายทอดอย่างต่อเนื่อง  เป็นอำนาจการสอนของพระศาสนจักรที่มีชีวิตนี้ที่ตีความในลักษณะที่สอดคล้องกันและควบคุมให้เป็นไปตามนั้น (เทียบ DV 10)

 

27.         ท้ายที่สุด “อาศัยงานของพระจิตเจ้าและอำนาจสอนของพระศาสนจักรคอยแนะนำ พระศาสนจักรก็ถ่ายทอดทุกสิ่งที่ได้รับการเปิดเผยในพระคริสตเจ้าแก่คนทุกรุ่น  พระศาสนจักรตระหนักอยู่เสมอว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าที่เคยตรัสในอดีตยังคงสื่อพระวาจาของพระองค์ต่อไปโดยไม่หยุดยั้งในปัจจุบันในธรรมประเพณีที่สืบทอดต่อมาจนถึงปัจจุบันของพระศาสนจักร พระเจ้าทรงมอบพระวาจาของพระองค์แก่เราในพระคัมภีร์เป็นการยืนยันถึงการเปิดเผยความจริงที่ได้รับการดลใจ เป็นบรรทัดฐานสูงสุดของความเชื่อ ร่วมกับธรรมประเพณีที่สืบทอดต่อมาถึงปัจจุบันของพระศาสนจักร”[17] และเป็นแหล่งที่มาอันดับแรกของการประกาศข่าวดี  พระวาจาของพระเจ้าเป็นแหล่งที่มาของแหล่งที่มาอื่นๆ ทั้งหมดที่ล้อมรอบและที่ได้ทำให้เป็นระเบียบ

 

การเผยแสดงและการประกาศข่าวดี

28.         พระศาสนจักร ศีลศักดิ์สิทธิ์สากลแห่งการช่วยให้รอดพ้น เชื่อฟังการกระตุ้นเตือนของพระจิตเจ้า ฟังการเผยแสดง ถ่ายทอดและสนับสนุนการตอบรับของความเชื่อ “พระศาสนจักรจึงใช้คำสั่งสอน ใช้การดำเนินชีวิตและคารวกิจ สงวนรักษาทุกสิ่งที่ตนเป็นและเชื่อนั้นไว้ให้ถาวรตลอดกาล และถ่ายทอดต่อไปให้กับชนทุกรุ่น ทุกอายุขัย” (DV 8) ด้วยเหตุนี้ คำสั่งให้ประกาศข่าวดีให้กับทุกคนถือเป็นพันธกิจสำคัญของพระศาสนจักร “ในความเป็นจริง การประกาศข่าวดีเป็นพระหรรษทานและกระแสเรียกเฉพาะของพระศาสนจักร เป็นเอกลักษณ์ที่ลึกที่สุด พระศาสนจักรมีอยู่เพื่อการประกาศข่าวดี”[18] อย่างไรก็ตาม ในพันธกิจนี้ของพระศาสนจักร “พระศาสนจักรเริ่มต้นด้วยการประกาศข่าวดีให้กับตนเอง พระศาสนจักรเป็นชุมชนของผู้มีความเชื่อ ชุมชนของความหวังที่สื่อสารการดำเนินชีวิตของตนแก่ผู้อื่น เป็นชุมชนที่มีความรักกันฉันพี่น้อง และต้องรับฟังสิ่งที่ตนต้องเชื่ออย่างไม่หยุดหย่อน  ต่อเหตุผลที่ตนมีความหวัง  ต่อบัญญัติใหม่แห่งความรัก... พระศาสนจักรมีความต้องการอย่างสม่ำเสมอในการรับการประกาศข่าวดี หากปรารถนาที่จะรักษาความสดใหม่ ความแข็งแรง และพลังเพื่อที่จะประกาศพระวรสาร”[19]

 

29.         ในตำแหน่งแรก การประกาศข่าวดีไม่ใช่การส่งมอบหลักคำสอน แต่เป็นการเสนอและประกาศพระเยซูคริสตเจ้า พันธกิจของพระศาสนจักรในการประกาศข่าวดีแสดงออกได้อย่างดีที่สุดถึงแผนการของการเผยแสดง ในความจริงที่พระบุตรของพระเจ้าทรงรับสภาพมนุษย์ เข้ามาในประวัติศาสตร์  และกลายเป็นมนุษย์ท่ามกลางมนุษยชาติ การประกาศข่าวดีทำให้การปรากฏตัวของพระคริสตเจ้าที่ยืนยงนี้เป็นรูปธรรม  ในแบบที่ผู้ที่เข้าใกล้พระศาสนจักรอาจพบปะกับพระบุคคลของพระองค์ เป็นทางไปสู่ “การช่วยชีวิตพวกเขา” (เทียบ มธ 16:25) และเปิดตัวเองสู่ขอบฟ้าใหม่

 

30.         การประกาศข่าวดีมีจุดมุ่งหมายสูงสุดในความสมบูรณ์ของชีวิตมนุษย์ ในการนำเสนอคำสอนนี้ คริสตชนทางตะวันตกใช้ลักษณะแห่งความรอดพ้น ในขณะที่คริสตชนทางตะวันออกต้องการที่จะพูดถึงการร่วมส่วนในเทวภาพ (divinisation) ทำไมพระเจ้าจึงทรงกลายมาเป็นมนุษย์? ทางตะวันตกกล่าวว่า “เพื่อช่วยเราให้รอดพ้น”[20] ทางตะวันออกยืนยันว่า “เพื่อมนุษย์จะได้กลายเป็นพระเจ้า”[21]  ในความเป็นจริง การแสดงความคิดทั้งสองเสริมกันและกันให้สมบูรณ์ พระเจ้าทรงกลายเป็นมนุษย์  เพื่อให้มนุษยชาติกลายเป็นมนุษย์อย่างแท้จริงตามที่พระองค์ทรงตั้งใจและสร้างให้เขาเป็น มนุษยชาติผู้ซึ่งมีภาพเป็นพระบุตร  มนุษย์ผู้ที่ได้รับการช่วยให้พ้นจากความชั่วร้ายและความตาย เพื่อที่จะมีส่วนร่วมในพระธรรมชาติของพระเจ้า ผู้มีความเชื่อสามารถสัมผัสความรอดพ้นนี้ได้แล้วที่นี่และตอนนี้  แต่จะพบกับความสมบูรณ์ในการกลับคืนชีพ

 

กระบวนการการประกาศข่าวดี

31.         การประกาศข่าวดีเป็นกระบวนการของพระศาสนจักร  ได้รับการดลใจและสนับสนุนโดยพระจิตเจ้า  ซึ่งพระวรสารได้รับการประกาศและเผยแผ่ไปทั่วโลก  ในกระบวนการการประกาศข่าวดี[22]พระศาสนจักร

          -  ขับเคลื่อนโดยเมตตาจิต แทรกซึมและเปลี่ยนแปลงระเบียบทางโลกทั้งหมด ผสมผสานวัฒนธรรมและเสนอการมีส่วนร่วมของพระวรสารเพื่อที่พวกเขาจะได้รับการฟื้นฟูจากภายใน

          -  เข้าใกล้มนุษยชาติทุกคนด้วยทัศนคติของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มิตรภาพ และการเสวนา ดังนั้นจึงเป็นประจักษ์พยานถึงความใหม่
ของชีวิตคริสตชน เพื่อให้ผู้ที่พบพวกเขาอาจได้รับการกระตุ้นเตือนให้อัศจรรย์ใจเกี่ยวกับความหมายของชีวิต  และเหตุผลของความเป็นพี่น้องกันและความหวังของพวกเขา

          -  ประกาศพระวรสารอย่างชัดเจนผ่านการประกาศครั้งแรก โดยเรียกให้กลับใจ

          -  เริ่มเข้าสู่ความเชื่อและชีวิตของคริสตชนอย่างต่อเนื่อง   ผ่านกระบวนการการเตรียมเป็นคริสตชน (การสอนคำสอน ศีลศักดิ์สิทธิ์ การเป็นประจักษ์พยานแห่งเมตตาจิต ประสบการณ์ความเป็นพี่น้องกัน) ผู้ที่เปลี่ยนใจมาหาพระเยซูคริสตเจ้า หรือกลับมาติดตามพระองค์ ผสมผสานอดีตและฟื้นฟูต่อเข้าสู่ชุมชนคริสตชน

          -  โดยการศึกษาอย่างต่อเนื่องในความเชื่อ การเฉลิมฉลองศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ และการปฏิบัติเมตตาจิตที่หล่อเลี้ยงความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกันในท่ามกลางผู้มีความเชื่อ และสนับสนุนพันธกิจการแพร่ธรรม ส่งบรรดาศิษย์ของพระคริสตเจ้าทุกคนออกไปประกาศพระวรสารในโลก ด้วยงานและคำพูด

 

32. การประกาศข่าวดีรวมถึงขั้นตอนและโอกาสต่างๆ ซึ่งสามารถทำซ้ำได้หากจำเป็น ในแง่ของการให้การบำรุงเลี้ยงประกาศข่าวดีอย่างเหมาะสมเพียงพอมากขึ้นเพื่อการเติบโตฝ่ายจิตของแต่ละบุคคลหรือชุมชน  ควรจำไว้ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงขั้นตอนที่ตามมาทีละขั้นตอน   แต่ยังรวมถึงแง่มุมของกระบวนการด้วย

 

33.  กิจกรรมธรรมทูต เป็นขั้นตอนแรกของการประกาศข่าวดี

       ก. การเป็นประจักษ์พยาน[23] เกี่ยวข้องกับการเปิดใจ ความสามารถในการเสวนาและเพื่อแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน  ความเต็มใจที่จะรับรู้เครื่องหมายแห่งความดีงามและการประทับอยู่ของพระเจ้าในผู้คนที่ได้พบเจอ  ในความเป็นจริง  พระเจ้าเข้ามาหาเราจากภายในจิตใจของผู้ที่ได้รับการสื่อสารพระวรสาร พระองค์ทรงเป็นคนแรกที่มาถึงเสมอ การรับรู้ถึงความเป็นเอกของพระหรรษทานเป็นพื้นฐานในการประกาศข่าวดีตั้งแต่วินาทีแรก ดังนั้น ศิษย์ของพระเยซูเจ้า แบ่งปันชีวิตกับทุกคน  เป็นประจักษ์พยานแม้ไม่มีคำพูดถึงความชื่นชมยินดีของพระวรสารที่ทำให้เกิดคำถาม  การเป็นประจักษ์พยานซึ่งแสดงออกด้วยการเสวนาแบบให้ความเคารพ  ในเวลาที่เหมาะสมจะกลายเป็นการประกาศ

       ข. เพื่อปลุกเร้าการเริ่มต้นให้หันไปสู่ความเชื่อและการกลับใจมีจุดมุ่งหมายเพื่อความสนใจในพระวรสารอาศัยการประกาศครั้งแรก นี่คือวิธีที่พระจิตเจ้าทรงใช้เพื่อสัมผัสหัวใจของมนุษย์ ในผู้ที่แสวงหาพระเจ้าผู้ไม่มีความเชื่อ ผู้ไม่แยแส สมาชิกของศาสนาอื่น บุคคลที่มีความเข้าใจเพียงผิวเผินหรือผิดเพี้ยนเกี่ยวกับความเชื่อคริสตชน  คริสตชนที่มีความเชื่อที่อ่อนแอหรือเสื่อมถอยไปจากพระศาสนจักร ความสนใจที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ยังไม่ใช่การตัดสินใจที่มั่นคง ทำให้เกิดความคิดที่จะรับความเชื่อ “การที่จิตใจมนุษย์ขยับเข้าหาความเชื่อครั้งแรกนี้ ก็เป็นผลหนึ่งจากพระหรรษทานแล้ว ซึ่งอาจจะบ่งบอกได้ด้วยเงื่อนไขต่างๆ เช่น  ‘ความนิยมชมชอบความเชื่อ’ ‘การเตรียมรับพระวรสาร’ การโน้มเอียงมาเชื่อ ‘การแสวงหาศาสนา’ พระศาสนจักรเรียกบรรดาผู้ที่แสดงความสนใจแบบนี้ในฐานะเป็น ‘ผู้สนใจศาสนา’”[24]

       ค. เวลาของการสอบถามและการเจริญเติบโต[25] เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อเปลี่ยนความสนใจขั้นแรกในพระวรสารให้กลายเป็นการเลือกโดยตั้งใจ ชุมชนคริสตชน  ร่วมมือกับงานของพระจิตเจ้า  ยินดีต้อนรับความสนใจของผู้ที่กำลังแสวงหาองค์พระผู้เป็นเจ้า  และในช่วงเวลาที่จำเป็น  ด้วยวิธีการที่กำหนดไว้ ดำเนินการรูปแบบแรกของการประกาศข่าวดี และการไตร่ตรองแยกแยะโดยมีเพื่อนร่วมทางและการนำเสนอการประกาศเรื่องพระเยซูเจ้า  ช่วงเวลานี้เรียกอีกอย่างว่าช่วงก่อนการเป็นคริสตชนสำรอง[26]ในโครงการการเตรียมเป็นคริสตชน เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการรับการประกาศและสำหรับการเริ่มต้นการตอบรับและการกลับใจ ในความเป็นจริงแล้ว นำมาซึ่งความปรารถนาที่จะหลีกหนีจากบาปและดำเนินตามรอยเท้าของพระคริสตเจ้า

 

34.         การสอนคำสอนขั้นแรกคือการให้ความช่วยเหลือในการประกาศยืนยันความเชื่อ ผู้ที่ได้พบพระเยซูคริสตเจ้าแล้วรู้สึกมีความปรารถนาที่จะรู้จักพระองค์อย่างใกล้ชิดให้มากขึ้น แสดงความชอบแรกที่มีต่อพระวรสาร การสอนคำสอนในชุมชนคริสตชนร่วมกับการเฉลิมฉลองทางพิธีกรรม งานเมตตาจิต และประสบการณ์ของความเป็นพี่น้องกัน “นำเขาให้รู้เรื่องความเชื่อและฝึกดำเนินชีวิตคริสตชน อันเป็นการส่งเสริมพัฒนาการด้านชีวิตจิต ‘นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้าทั้งด้านทัศนะและด้านศีลธรรม’ (AG 13) การพัฒนานี้สำเร็จได้ในการทำพลีกรรมและในความท้าทายต่างๆ เช่นเดียวกับในความชื่นชมยินดีต่างๆ ที่พระเจ้าทรงประทานให้อย่างอุดม”[27] ดังนั้น ศิษย์ของพระเยซูคริสตเจ้าก็พร้อมสำหรับการยืนยันความเชื่อเมื่อฉลองศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการเริ่มชีวิตคริสตชน เขาถูกทาบลงบนพระคริสตเจ้า ขั้นตอนนี้สอดคล้องกับระยะเวลาของการเตรียมผู้ใหญ่เข้าเป็นคริสตชน การชำระให้บริสุทธิ์ และการส่องสว่างในโครงการการสอนผู้ใหญ่เข้าเป็นคริสตชน[28]

 

35.         กิจกรรมการอภิบาลหล่อเลี้ยงความเชื่อของผู้ได้รับศีลล้างบาปแล้วและช่วยพวกเขาในกระบวนการการกลับใจอย่างต่อเนื่องของชีวิตคริสตชน ในพระศาสนจักร “ผู้ที่รับศีลล้างบาปถูกปลุกเร้าโดยพระจิตเจ้าอยู่เสมอ  ได้รับการบำรุงเลี้ยงด้วยศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ด้วยการสวดภาวนาและการปฏิบัติเมตตากิจ แล้วยังได้รับการช่วยเหลือในหลายรูปแบบของการฝึกอบรมต่อเนื่องในเรื่องความเชื่อ พยายามที่จะตระหนักถึงพระประสงค์ของพระคริสตเจ้า ‘จงเป็นคนดีอย่างสมบูรณ์ ดังที่พระบิดาเจ้าสวรรค์ของท่าน ทรงความดีอย่างสมบูรณ์เถิด’”[28]  ในนี้ประกอบด้วยการเรียกสู่ความศักดิ์สิทธิ์เพื่อเข้าสู่ชีวิตนิรันดร  การเริ่มต้นของขั้นตอนนี้สอดคล้องกับช่วงเวลาของการสอนคำสอนหลังรับศีลล้างบาป (mystagogy) ในโครงการการสอนคำสอนผู้ใหญ่เข้าเป็นคริสตชน[30]

 

36.         ตลอดขั้นตอนการประกาศข่าวดีนี้ ศาสนบริการแห่งพระวาจาของพระเจ้าถูกดำเนินการ เพื่อให้สารของพระวรสารไปถึงทุกคน ศาสนบริการนี้หรือการรับใช้พระวาจา (เทียบ กจ 6:4)  ส่งผ่านการเผยแสดง  ในความจริง  พระเจ้าตรัส “ทางมนุษย์และตามแบบอย่างมนุษย์” (DV 12) ในการใช้พระวาจาของพระศาสนจักร โดยทางพระศาสนจักร พระจิตเจ้าทรงเข้าถึงมนุษยชาติทั้งปวง พระองค์ทรงโปรดให้ “เสียงทรงชีวิตแห่งพระวรสารดังก้องในพระศาสนจักรและดังก้องไปทั่วโลก” (DV 8)

 

37.         เนื่องจาก “ไม่มีการประกาศข่าวดีอย่างแท้จริง   ถ้าไม่มีการประกาศพระนามคำสั่งสอน ชีวิต คำสัญญา พระอาณาจักร และธรรมล้ำลึกของพระเยซูชาวนาซาเร็ธ พระบุตรของพระเจ้า[31] ตั้งแต่สมัยอัครสาวก พระศาสนจักรในความปรารถนาที่จะเผยแผ่พระวาจาของพระเจ้าในหมู่ผู้ที่ไม่เชื่อและเพื่อให้ผู้มีความเชื่อมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ได้ใช้รูปแบบต่างๆ เพื่อให้พันธกิจนี้สามารถดำเนินการในด้านต่างๆ และการแสดงออกของชีวิต สิ่งที่น่าสังเกตในรูปแบบเหล่านี้คือ

       -  การประกาศครั้งแรก

       -  การสอนคำสอนแบบต่างๆ

       -  การเทศน์ในวจนพิธีกรรม (homily) และการเทศน์  (preaching)

       -  การภาวนาด้วยพระวาจา รวมทั้งในรูปแบบของ lectio divina

       -  ศรัทธาประชานิยม

       -  การแพร่ธรรมด้วยพระคัมภีร์(the biblical apostolate)

       -  การสอนเทววิทยา

       -  การเรียนการสอนศาสนา

       -  ศึกษาและการพบปะกันเพื่อค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างพระวาจาของพระเจ้ากับวัฒนธรรมร่วมสมัย รวมถึงการแลกเปลี่ยนระหว่างศาสนาและระหว่างวัฒนธรรมอื่นๆ

 

[15] Compendium of the Catechism of the Catholic Church 13            

[16] Vincent of Lérins, Commonitorium primum 23.9 (CCL 64.178; PL 50.668)              

[17] Benedict XVI, Post-Synodal Apostolic Exhortation Verbum Domini (30th September 2010) 18.        

[18] EN 14 

[19] EN 15 

[20] Cf, for instance, Anselm of Canterbury Cur Deus Homo, 2.18 (PL 158:425):”God become man, so that he might save mankind”.    

[21] Cf, for instance, Gregory of Nyssa Oratio catechetica, 37: Gregorii Nysseni Opera 3/4, 97-98 (PG 45:97): Win his manifestation God joined himself to mortal nature so that through participation in divinity humanity could be divinized together with him”.      

[22] Cf GDC 48        

[23] Cf  EN 21          

[24] GDC 56a; cf also RCIA 12 and 111.        

[25] Cf  GDC 56b   

[26] Cf  RCIA 7.9-13.           

[27] GDC 56c         

[28] Cf  RCIA 7.14-36          

[29] GDC 56d         

[30] Cf  RCIA 7.37-40          

[31] EN 22