คู่มือแนะแนวการสอนคำสอน - DIRECTORY FOR CATECHESIS (2020)

2. เชื่อในพระเยซูคริสตเจ้า : การตอบรับต่อพระเจ้าผู้ทรงเผยแสดงพระองค์เอง

17.         ทุกบุคคลได้รับการกระตุ้นเตือนจากความไม่สงบที่อาศัยอยู่ในหัวใจของเขา โดยการค้นหาความหมายของการดำรงอยู่ของเขาอย่างจริงใจ สามารถเข้าใจตัวเองอย่างถ่องแท้ในพระคริสตเจ้า ในการทำความรู้จักกับพระองค์ เขารู้สึกได้  ว่าเขากำลังเดินไปตามทางแห่งความจริง พระวาจาของพระเจ้าแสดงให้เห็นถึงลักษณะความสัมพันธ์ของทุกคน  และกระแสเรียกเยี่ยงบุตรของเขาเพื่อให้ตนเองสอดคล้องกับพระคริสตเจ้า “พระองค์ทรงสร้างเราเพื่อพระองค์เอง และหัวใจของเราก็กระสับกระส่ายจนกว่าจะได้พักผ่อนอยู่ในพระองค์”[6] เมื่อมนุษย์เข้ามาใกล้พระเจ้า เขาก็ถูกเรียกให้ตอบสนองด้วยการเชื่อฟังแห่งความเชื่อ และยึดมั่นด้วยการยอมรับอย่างเต็มเปี่ยมของสติปัญญาและความตั้งใจ การต้อนรับอย่างอิสระต่อ “ข่าวดีแห่งพระหรรษทานของพระเจ้า” (กจ 20:24) ด้วยวิธีนี้   ผู้มีความเชื่อ “จะพบสิ่งที่เขาแสวงหาเสมอ และพบอย่างสมบูรณ์ยิ่ง ความเชื่อตอบสนองต่อสิ่งที่ ‘กำลังรอคอย’ บ่อยครั้งที่เป็นไปโดยไม่รู้สึกตัว และมักจะถูกจำกัดอยู่ภายในการเรียนรู้ความจริงเกี่ยวกับพระเจ้า เกี่ยวกับตัวมนุษย์เอง และเกี่ยวกับชะตากรรมที่รอเขาอยู่”[7]

 

18.         ก่อนอื่น ความเชื่อคริสตชนคือ การต้อนรับความรักของพระเจ้าที่ทรงเผยแสดงในพระเยซูคริสตเจ้า การยึดมั่นอย่างจริงใจต่อพระบุคคลของพระองค์ และการตัดสินใจอย่างอิสระที่จะติดตามพระองค์ “ใช่” ต่อพระเยซูคริสตเจ้ามีสองมิติ คือ ยอมมอบความไว้วางใจต่อพระเจ้า (fides qua) และยินยอมด้วยความรักต่อทุกสิ่งที่พระองค์ทรงเผยแสดงแก่เรา (fides quae) ในความเป็นจริง “นักบุญยอห์น นำเสนอความสำคัญของความสัมพันธ์ส่วนตัวกับพระเยซูเจ้าสำหรับความเชื่อของเราโดยใช้รูปแบบต่างๆ ของคำกริยา ‘เชื่อ’ นอกเหนือจาก ‘การเชื่อว่า’ สิ่งที่พระเยซูเจ้าบอกเราเป็นความจริงแล้ว (เทียบ ยน 14:10; 20:31)  นักบุญยอห์นยังพูดถึง ‘เชื่อ’ พระเยซูเจ้า และ ‘เชื่อใน’ พระเยซูเจ้าอีกด้วย  เรา ‘เชื่อ’ พระเยซูเจ้าเมื่อเรายอมรับพระวาจาของพระองค์ คำยืนยันของพระองค์ เพราะพระองค์ทรงสัตย์จริง(เทียบ ยน 6:30) เรา ‘เชื่อใน’ พระเยซูเจ้าเมื่อเราต้อนรับพระองค์เป็นการส่วนตัวเข้ามาในชีวิตของเรา และการเดินทาง ไปหาพระองค์ ยึดมั่นในความรักและติดตามรอยพระบาทของพระองค์ไปตลอดทาง (เทียบ ยน 2:11; 6:47; 12:44)”[8]  ในการเดินทางที่ไม่หยุดนิ่งที่ยาวนานตลอดชีวิต ดังนั้น ความเชื่อเกี่ยวข้องกับการยึดมั่นเป็นสองเท่า “ความสัมพันธ์กับบุคคล และความสัมพันธ์กับความจริง ความสัมพันธ์กับความจริงเกิดจากความเชื่อถือต่อบุคคลที่เป็นพยานถึงความจริงนี้”[9] และต่อบุคคลนั้นเพราะตัวเขาเองเป็นผู้ยืนยันความจริง  คือการยึดมั่นของหัวใจ ความคิด และการกระทำ

 

19.         ความเชื่อเป็นพระพรจากพระเจ้าและเป็นคุณธรรมเหนือธรรมชาติที่สามารถเกิดในตัวเราในฐานะผลของพระหรรษทาน และเป็นการตอบสนองอย่างอิสระต่อพระจิตเจ้า ผู้ทรงเร้าหัวใจให้กลับใจและหันกลับไปหาพระเจ้าโดยให้ “กับทุกคนซึ่งความยินดีที่จะยอมรับความจริงและเชื่อความจริงนั้น” (DV 5) ชี้นำโดยความเชื่อ เรามาไตร่ตรองและลิ้มรสพระเจ้าเป็นความรัก (เทียบ 1 ยน 4:7-16) ความเชื่อเป็นการต้อนรับพระพรจากพระเจ้าเป็นการส่วนตัว ไม่ใช่เรื่องไร้เหตุผลหรือตาบอด “ทั้งแสงแห่งเหตุผลและแสงแห่งความเชื่อมาจากพระเจ้า...ดังนั้นจึงไม่มีความขัดแย้งระหว่างทั้งสอง”[10] ในความเป็นจริง ความเชื่อและเหตุผลเป็นส่วนเสริมกัน ในขณะที่เหตุผลไม่ยอมให้ความเชื่อตกอยู่ในศรัทธานิยมหรือมูลฐานนิยม “ความเชื่อเพียงอย่างเดียวทำให้สามารถเจาะลึกธรรมล้ำลึกในลักษณะที่ทำให้เราเข้าใจได้อย่างสอดคล้องกัน”[11]

 

20.         ความเชื่อหมายถึงการเปลี่ยนแปลงแบบอัตถิภาวนิยมอย่างลึกซึ้งโดยพระจิต เป็นการกลับใจ (metanoia) ซึ่ง “แสดงออกในทุกระดับของการเป็น   คริสตชน คือในชีวิตภายในแห่งการกราบนมัสการ  และการยอมรับพระประสงค์ของพระเจ้าด้วย  การมีส่วนร่วมแบบกระตือรือร้นในพันธกิจของพระศาสนจักร  ในชีวิตสมรสและชีวิตครอบครัว ในชีวิตอาชีพการงาน ด้วยความรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจและสังคม”[12] ผู้มีความเชื่อในการยอมรับพระพรแห่งความเชื่อ“กลายเป็นสิ่งสร้างใหม่  พวกเขาได้รับชีวิตใหม่  ในฐานะบุตรของพระเจ้า  บัดนี้พวกเขาเป็น ‘บุตรในพระบุตร’”[13]

 

21.         ความเชื่อเป็นกิจการส่วนบุคคลอย่างแน่นอน  อย่างไรก็ตาม  ไม่ใช่ทางเลือกของแต่ละบุคคลและเป็นการส่วนตัว  แต่มีลักษณะเชิงสัมพันธ์และเกี่ยวกับชุมชนคริสตชนเกิดจากครรภ์มารดาของพระศาสนจักร  ความเชื่อของเขาจึงเป็นการมีส่วนร่วมในความเชื่อของพระศาสนจักรที่มาก่อนความเชื่อของเขาเสมอ  ในความเป็นจริง การแสดงความเชื่อส่วนตัว แสดงถึงการตอบรับต่อความทรงจำที่มีชีวิตชีวาของเหตุการณ์ที่พระศาสนจักรได้ส่งมอบให้เขา ดังนั้น ความเชื่อของศิษย์ของพระคริสตเจ้าได้รับการกระตุ้น ได้รับการค้ำจุน และถ่ายทอดเฉพาะในความสนิทสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกับความเชื่อของพระศาสนจักร ที่ซึ่ง“ข้าพเจ้าเชื่อ” แห่งศีลล้างบาปเป็นการผูกพัน (แบบสามีภรรยา) สู่ “ข้าพเจ้าทั้งหลายเชื่อ” ของพระศาสนจักรทั้งครบ[14] ดังนั้น ผู้มีความเชื่อทุกคนจึงเข้าร่วมชุมชนของบรรดาศิษย์ และทำให้ความเชื่อของพระศาสนจักรเป็นของตนเองร่วมกับพระศาสนจักรซึ่งเป็นประชากรของพระผู้เป็นเจ้าในการเดินทางในประวัติศาสตร์และศีลศักดิ์สิทธิ์สากลแห่งการช่วยให้รอดพ้น ผู้มีความเชื่อเป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจ (ของพระศาสนจักร)

 

[6] Augustine of Hippo, Confessions 1.1.1(CCL 27.1; PL 32.661)        

[7] GDC 55             

[8] Francis, Encyclical Letter Lumen fidei, (29th June 2013), 18; Cf Thomas Aquinas Summa Theologiae II-II, q.2 a.2           

[9] CCC 177           

[10] John Paul II, Encyclical Letter Fides et ratio, ( 14th September 1998), 43 

[11] Ibid, 13             

[12] GDC 55             

[13] Francis, Encyclical Letter Lumen fidei, (29th June 2013),19            

[14] Cf CCC 166-167