คู่มือแนะแนวการสอนคำสอน - DIRECTORY FOR CATECHESIS (2020)

1. การสอนคำสอนและครอบครัว

226.       ครอบครัวเป็นชุมชนแห่งความรักและชีวิต ซึ่งประกอบด้วย “ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ซับซ้อน... ชีวิตแต่งงาน ความเป็นพ่อและแม่ ความเป็นบุตรและความเป็นพี่น้องกัน ที่มนุษย์แต่ละคนได้รับการนำให้เข้าสู่ ‘ครอบครัวมนุษย์’ และเข้าสู่ ‘ครอบครัวของพระเจ้า’ ซึ่งก็คือพระศาสนจักร”[2] อนาคตของบุคคล ของชุมชนมนุษย์ และของชุมชนพระศาสนจักรขึ้นอยู่กับครอบครัวซึ่งเป็นเซลล์พื้นฐานของสังคมเป็นส่วนใหญ่ ต้องขอบคุณครอบครัวพระศาสนจักรจึงกลายเป็นครอบครัวของครอบครัวทั้งหลาย และอุดมไปด้วยชีวิตของพระศาสนจักรระดับบ้านเหล่านี้ ดังนั้น “ด้วยความชื่นชมยินดีในจิตใจและความอบอุ่นใจอย่างยิ่ง พระศาสนจักรเห็นบรรดาครอบครัว ที่ถือซื่อสัตย์ต่อคำสอนของพระวรสาร เป็นกำลังใจให้พวกเขา และขอบคุณสำหรับการเจริญชีวิตเป็นประจักษ์พยานของพวกเขา ด้วยเหตุที่พวกเขาเป็นพยานอันเหลือเชื่อ ถึงความงดงามของการสมรส ซึ่งมั่นคงสถาพรและซื่อสัตย์ตลอดกาลในครอบครัว”[3]

 

พื้นที่ของการสอนคำสอนครอบครัว

การสอนคำสอนในครอบครัว

227.       ครอบครัวคือการประกาศความเชื่อ ในสถานที่ตามธรรมชาติที่ความเชื่อสามารถดำรงอยู่ได้ในลักษณะเรียบง่ายและเป็นธรรมชาติ  ครอบครัว “มีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งคือ  การถ่ายทอดพระวรสารได้รับการพัฒนาขึ้นในสิ่งแวดล้อมอันประกอบด้วยคุณค่าที่ลึกซึ้งของมนุษย์ บนพื้นฐานความเป็นมนุษย์นี้เองที่ทำให้การเริ่มเข้าสู่ชีวิตคริสตชนอันประกอบด้วยเรื่องต่างๆ ต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นคือ  การปลุกความสำนึกถึงพระเจ้า  ก้าวแรกในการสวดภาวนา   การอบรมสั่งสอนในเรื่องมโนธรรมทางศีลธรรม   การอบรมเรื่องความรักของมนุษย์ในความสำนึกแบบคริสตชน ที่เข้าใจได้ว่าเป็นการสะท้อนถึงความรักของพระเจ้าผู้ทรงเป็นพระบิดาและพระผู้สร้าง  โดยแท้จริงแล้ว การอบรมแบบคริสตชนนั้นได้การเป็นประจักษ์พยานสำคัญกว่าการสอน  เป็นไปตามโอกาสมากกว่ามากกว่าเป็นระบบ  เป็นไปอย่างต่อเนื่องและประจำวันมากกว่าการจัดเป็นช่วงเวลา”[4]

 

228.       ชีวิตคู่และชีวิตครอบครัว ดำเนินชีวิตตามแผนการของพระเจ้า ถือเป็นพระวรสารในตัวเองซึ่งสามารถอ่านความรักที่พระเจ้าให้เปล่าและอดทนต่อมนุษยชาติ โดยอาศัยคุณธรรมของศีลสมรส คู่สมรสคริสตชนมีส่วนร่วมในธรรมล้ำลึกของเอกภาพและความรักที่เกิดผลระหว่างพระคริสตเจ้าและพระศาสนจักร การสอนคำสอนในครอบครัวจึงมีหน้าที่ทำให้สิ่งนี้ปรากฏต่อผู้ที่มีส่วนร่วมในชีวิตครอบครัว  เหนือสิ่งอื่นใดต่อคู่สมรสและบิดามารดา  ของขวัญที่พระเจ้าประทานให้พวกเขาผ่านทางศีลสมรส

 

การสอนคำสอนกับครอบครัว

229. พระศาสนจักรประกาศพระวรสารแก่ครอบครัว ชุมชนคริสตชนเป็นครอบครัวของครอบครัวทั้งหลาย และเป็นครอบครัวของพระเจ้า ชุมชนและครอบครัวเป็นจุดอ้างอิงที่คงที่และซึ่งกันและกัน   ในขณะที่ชุมชนได้รับความเข้าใจจากครอบครัวถึงความเชื่อที่ใกล้ชิดและเชื่อมโยงอย่างเป็นธรรมชาติกับกิจการของชีวิต ในทางกลับกัน ครอบครัวก็ได้รับกุญแจที่ชัดเจนในการใช้ความเชื่อเพื่อตีความประสบการณ์ของชุมชน ความตระหนักถึงความเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งนี้  พระศาสนจักรในการอุทิศตนเพื่อการประกาศข่าวดี  ประกาศพระวรสารแก่ครอบครัว  แสดงให้พวกเขาเห็นโดยประสบการณ์ว่านี่คือ “ความชื่นชมยินดีที่ ‘เติมเต็มหัวใจและชีวิต’ เพราะในองค์พระคริสตเจ้า เราได้รับการปลดปล่อยจากบาป ความเศร้าโศก ความว่างเปล่าและความโดดเดี่ยวในจิตใจ”[5]

 

230.       ณ เวลาปัจจุบัน การสอนคำสอนกับครอบครัวได้รับการซึมทราบจากการประกาศเรื่องพระเยซูเจ้า (kerygma) เพราะถึงแม้ “สารของพระวรสารควรจะดังก้องอยู่และท่ามกลางครอบครัวทั้งหลาย การประกาศเรื่องพระเยซูเจ้า หรือ Kerygma เป็นสิ่งที่ “งดงามที่สุด ดีเลิศที่สุด น่าสนใจที่สุด และในขณะเดียวกันก็จำเป็นที่สุดด้วย” คำสอนนี้ “ต้องเป็นแกนกลางของกิจกรรมการประกาศข่าวดีทั้งมวล”[6] ยิ่งกว่านั้นในพลังของการกลับใจแบบธรรมทูต การสอนคำสอนกับครอบครัวนั้นมีลักษณะเฉพาะด้วยรูปแบบของความเข้าใจที่ถ่อมตัวและด้วยการประกาศที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่เชิงทฤษฎีและแยกออกจากปัญหาส่วนตัว ชุมชนในความพยายามที่จะนำการประกาศข่าวดีและการสอนคำสอนมาสู่ครอบครัว ได้กำหนดเส้นทางของความเชื่อที่จะช่วยให้พวกเขามีความตระหนักที่ชัดเจนเกี่ยวกับเอกลักษณ์และพันธกิจของตน ดังนั้น การเป็นเพื่อนร่วมทางและการสนับสนุนพวกเขาในหน้าที่การถ่ายทอดชีวิต  ช่วยพวกเขาในการปฏิบัติหน้าที่โดยเป็นธรรมชาติของพวกเขาในการอบรม และส่งเสริมชีวิตฝ่ายจิตของครอบครัวที่แท้จริง ด้วยวิธีนี้ ทำให้ครอบครัวตระหนักถึงบทบาทของตน และกลายเป็นผู้มีส่วนร่วมที่กระตือรือร้นในงานการประกาศข่าวดีในชุมชนและควบคู่ไปกับครอบครัวด้วย

 

การสอนคำสอนของครอบครัว

231.       ครอบครัวประกาศพระวรสาร ในฐานะที่เป็นพระศาสนจักรระดับบ้านที่ตั้งขึ้นจากศีลสมรสจึงมีมิติด้านธรรมทูตด้วยเช่นกัน ครอบครัวคริสตชนมีส่วนร่วมในพันธกิจของการประกาศข่าวดีของพระศาสนจักร ดังนั้นจึงเป็นตัวแทนของการสอนคำสอน “งานส่งมอบความเชื่อให้แก่ลูก ในลักษณะที่สนับสนุนการแสดงออกและการเจริญเติบโต จะช่วยทั้งครอบครัวในการปฏิบัติพันธกิจการประกาศพระวรสาร โดยธรรมชาติการประกาศพระวรสารนี้จะเริ่มต้นที่การเผยแผ่ความเชื่อไปยังทุกคนที่อยู่รอบตัวพวกเขา แม้กระทั่งผู้ที่ไม่ได้เป็นเครือญาติ”[7] นอกเหนือจากการดูแลเลี้ยงดูบุตรตามธรรมชาติแล้ว ครอบครัวได้รับเรียกให้มีส่วนร่วมในการสร้างชุมชนคริสตชนและเป็นประจักษ์พยานถึงพระวรสารในสังคม “ศาสนบริการการประกาศข่าวดีและการสอนคำสอนของพระศาสนจักรระดับบ้าน มีรากฐาน อยู่ใน และได้รับมาจากพันธกิจหนึ่งของพระศาสนจักร และได้รับแต่งตั้งให้สร้างพระกายหนึ่งเดียวของพระคริสตเจ้าจะต้องอยู่ในการมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดและในการรับผิดชอบร่วมกันในการประกาศข่าวดีและกิจกรรมด้านคำสอนอื่นๆทั้งหมดที่มีอยู่ และทำงานในชุมชนของพระศาสนจักรในระดับสังฆมณฑลและระดับวัด”[8] การสอนคำสอนของครอบครัวจึงเป็นการมีส่วนร่วมอย่างเฉพาะเจาะจงทุกอย่างที่ครอบครัวคริสตชนทำด้วยความรู้สึกที่เหมาะสมกับพวกเขา ต่อการเดินทางแห่งความเชื่อต่างๆ ที่ชุมชนเสนอ

 

แนวทางการอภิบาล

232.       ในความห่วงใยเยี่ยงมารดาพระศาสนจักรเป็นเพื่อนร่วมทางกับลูกๆ ของตนตลอดช่วงอายุขัยของพวกเขา อย่างไรก็ตาม พระศาสนจักรตระหนักดีว่าบางช่วงเวลาเป็นการเปลี่ยนอย่างแน่วแน่ซึ่งผู้คนพร้อมยอมให้ตนเองสัมผัสกับพระหรรษทานของพระเจ้าได้ง่ายขึ้นและเปิดกว้างสำหรับการเดินทางแห่งความเชื่อ  ตามเส้นทางเหล่านี้เป็นเรื่องเหมาะสมที่จะใช้ประโยชน์จากความช่วยเหลืออย่างใจกว้างและมีคุณค่าของคู่สามีภรรยาคู่อื่นๆ ที่มีประสบการณ์ยาวนานในชีวิตสมรส ชุมชนควรให้ความสำคัญกับช่วงเวลาของการเป็นเพื่อนร่วมทางที่ระบุไว้ที่นี่ให้มากขึ้น

 

               ก. การสอนคำสอนของคนหนุ่มสาวและผู้ใหญ่ที่กำลังเตรียมการแต่งงาน[9] มีการเตรียมการอบรมไว้ล่วงหน้าเป็นอย่างดี เมื่อเวลาใกล้เข้ามาและทันทีก่อนการประกอบพิธีศีลสมรสซึ่งได้รับการนำเสนอว่าเป็นกระแสเรียกที่แท้จริง ในการเดินทางของความเชื่อเหล่านี้ ค่อยเป็นค่อยไป และอย่างต่อเนื่อง ตามแรงบันดาลใจของช่วงเวลาสมัครเรียนคำสอน “ควรให้ความสำคัญ ควบคู่ไปกับการรื้อฟื้นการประกาศเรื่องพระเยซูเจ้า (kerygma) โดยการนำเสนอข้อมูลอย่างที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ ซึ่งจะช่วยให้คู่แต่งงานสามารถดำเนินชีวิตร่วมกันไปจนตลอดชีวิต...ควรจะมีลักษณะของ “การรับเข้าสู่” ศีลสมรสที่มอบความช่วยเหลือคู่แต่งงานที่ต้องรับศีลศักดิ์สิทธิ์อย่างมีคุณค่า และเริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างมั่นคงในฐานะครอบครัว”[10] เป็นความคิดที่ดีที่จะหยุดใช้ชื่อ ซึ่งยังคงใช้อยู่ในหลักสูตรเตรียมการแต่งงาน เพื่อที่จะฟื้นฟูการเดินทางครั้งนี้ในความหมายที่แท้จริงของการอบรมและการสอนคำสอน

 

               ข. การสอนคำสอนของคู่แต่งงานที่ยังหนุ่มสาว[11] คือการสอนคำสอนที่นำเสนอในรูปแบบการสอนคำสอนหลังรับศีลล้างบาปสำหรับคู่สมรสใหม่หลังแต่งงาน  เพื่อที่จะนำพวกเขาไปสู่การค้นพบสิ่งที่พวกเขาต้องขอบคุณศีลศักดิ์สิทธิ์ที่ได้เฉลิมฉลอง เป็นการดีสำหรับการเดินทางแบบให้ความรู้เหล่านี้ โดยคำนึงถึงพระวาจาของพระเจ้า เพื่อนำทางชีวิตของคู่รักหนุ่มสาวในลักษณะที่พวกเขาตระหนักมากขึ้นถึงพระพรและพันธกิจที่พวกเขาได้รับ

 

               ค. การสอนคำสอนของพ่อแม่ที่ขอให้ลูกที่ได้รับรับศีลล้างบาปแล้ว ชุมชน ในบุคคลที่สอนคำสอน ควรเอาใจใส่ดูแลต้อนรับ รับฟัง และเข้าใจเหตุผลของคำขอของผู้ปกครอง และจัดเตรียมเส้นทางที่เหมาะสมสำหรับพวกเขาเพื่อปลุกพระหรรษทานแห่งพระพรของความเชื่อที่พวกเขาได้รับ นอกจากนี้ยังเป็นการดีที่พ่อแม่อุปถัมภ์จะมีส่วนร่วมในการเดินทางครั้งนี้และให้เวลาอย่างเพียงพอ

 

               ง. การสอนคำสอนของพ่อแม่ที่ลูกๆ กำลังเดินทางไปสู่การเริ่มเข้าสู่ชีวิตคริสตชน ชุมชนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพ่อแม่ในเดินทางไปสู่การเริ่มเข้าสู่ชีวิตคริสตชนของลูกๆ ซึ่งสำหรับพวกเขาบางคนเป็นช่วงเวลาที่จะทำให้ความเชื่อของพวกเขาลึกซึ้งยิ่งขึ้น และสำหรับคนอื่นๆ เป็นพื้นที่ที่แท้จริงสำหรับการประกาศครั้งแรก

 

               จ. การสอนคำสอนระหว่างคนต่างวัย ลองนึกภาพการเดินทางของความเชื่อว่าเป็นประสบการณ์การอบรมที่ไม่ได้มุ่งเป้าไปที่กลุ่มอายุใดกลุ่มหนึ่ง แต่แบ่งปันระหว่างคนรุ่นต่างๆ ภายในครอบครัว หรือชุมชน บนเส้นทางที่กำหนดไว้ในปีพิธีกรรม ความคิดริเริ่มนี้ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์แห่งความเชื่อในหมู่คนรุ่นต่อรุ่นโดยได้รับแรงบันดาลใจจากชุมชนคริสตชนกลุ่มแรก

 

               ฉ. การสอนคำสอนในกลุ่มคู่สมรสและในกลุ่มครอบครัวที่ดำเนินการโดยคู่แต่งงานเอง การเดินทางของการสอนคำสอนเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาชีวิตฝ่ายจิตคู่สามีภรรยาและของครอบครัว ให้สามารถฟื้นฟูพลังและความมีชีวิตชีวาให้กับชีวิตแต่งงาน  ค้นพบมิติของคู่สมรสอีกครั้งของพันธสัญญาระหว่างพระเจ้ากับมนุษยชาติ และบทบาทของครอบครัวในการสร้างพระอาณาจักรของพระเจ้า

 

สถานการณ์ครอบครัวใหม่

233.       ความไม่แน่นอนและความไม่สามารถคาดเดาได้ของกระบวนการทางสังคมและวัฒนธรรมที่กำลังดำเนินอยู่มีการเปลี่ยนแปลง เหนือสิ่งอื่นใด แม้แต่ความคิดและความเป็นจริงของครอบครัว มีวิกฤตเกี่ยวกับการสมรสและครอบครัวเพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัว ซึ่งมักได้รับการแก้ไขโดยการให้ “เกิดความสัมพันธ์ใหม่ คู่สมรสใหม่ ความสัมพันธ์ทางบ้านเมืองใหม่ และการสมรสใหม่ ซึ่งทำให้เกิดสภาพของครอบครัวที่ซับซ้อนและสร้างปัญหาให้แก่วิถีชีวิตแบบคริสต์”[12] แม้จะมีบาดแผล  การสูญเสียความสำคัญเหนือธรรมชาติและจุดอ่อนที่บ่งบอกลักษณะของครอบครัว อย่างไรก็ตามมีความคิดถึงครอบครัวเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีหลายคนที่เข้าใจคุณค่าของครอบครัวยังคงแสวงหาและต้องการสร้างครอบครัวขึ้นมา

 

234.       ด้วยความกังวล ความเคารพ และความห่วงใยในการอภิบาล พระศาสนจักรต้องการก้าวเดินไปกับบรรดาบุตรเหล่านั้น ผู้ซึ่งถูกทำลายโดยความรักที่บอบช้ำ  ซึ่งพบว่าตัวเองอยู่ในสภาพที่เปราะบางที่สุด  ต้องการคืนความไว้วางใจและความหวังให้พวกเขา “ตามการสอนอันศักดิ์สิทธิ์นี้ พระศาสนจักรหันไปมองด้วย    ความรักต่อผู้ที่มีส่วนร่วมในชีวิตพระศาสนจักรในลักษณะที่ยังบกพร่องอยู่  พระศาสนจักรวอนขอพระพรแห่งการกลับใจเพื่อพวกเขา พระศาสนจักรสนับสนุนให้พวกเขาทำความดี ให้ความรักเอาใจใส่แก่กันและกัน และรับใช้ชุมชนที่พวกเขาอาศัยและทำงานอยู่”[13]  เป็นสิ่งจำเป็นที่ชุมชนคริสตชนทุกแห่งต้องมีมุมมองที่เป็นจริงเกี่ยวกับความเป็นจริงของครอบครัวที่มีความแตกต่างกันกับการขึ้นลงของพวกเขา  เพื่อประโยชน์ใน  การเป็นเพื่อนร่วมทางกับพวกเขาอย่างเพียงพอและไตร่ตรองความซับซ้อนของสถานการณ์ต่างๆ โดยไม่ให้ในรูปแบบของความเพ้อฝันและการมองโลกในแง่ร้าย แต่ในสาระสำคัญ “ประเด็นสำคัญคือให้ทุกคนมีส่วนร่วม โดยการช่วยเหลือให้ชายหญิงแต่ละคนสามารถแสวงหาวิธีการที่เหมาะสมในการมีส่วนร่วมในชุมชนพระศาสนจักร และด้วยเหตุนี้  จึงรู้สึกว่าตนเองได้รับสัมผัสพระเมตตาแม้ไม่สมควรได้รับ  โดยไม่มีเงื่อนไขและให้เปล่า”[14]

 

235.       การเป็นเพื่อนร่วมทางในความเชื่อและแนะนำให้รู้จักกับวิถีชีวิตของชุมชนในสถานการณ์ที่เรียกว่าผิดปกติ (irregular) ดังนั้น “เรียกร้องให้ใส่ใจแต่ละบุคคลอย่างจริงจัง ในแผนการที่พระเจ้าทรงมีต่อเขา”[15] ด้วยรูปแบบของการร่วมกัน การรับฟัง และความเข้าใจ นอกเหนือจากการเป็นเพื่อนร่วมทางชีวิตฝ่ายจิตเป็นส่วนตัวแล้ว  ครูคำสอนควรหาแนวทางและวิธีการที่จะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพี่น้องเหล่านี้ในการสอนคำสอนด้วย ในการแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มเฉพาะของบุคคลที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการสมรสหรือครอบครัวแบบเดียวกัน หรือในกลุ่มครอบครัวหรือผู้ใหญ่อื่นๆ ที่มีอยู่ก่อนแล้ว วิธีนี้ทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่จะหลีกเลี่ยงรูปแบบของความอ้างว้าง หรือการแบ่งแยก และเพื่อปลุกความปรารถนาที่จะยอมรับและตอบสนองความรักของพระเจ้าอีกครั้ง

 

[2] John Paul II, Apostolic Exhortation Familiaris consortio (22nd November 1981), 15.              

[3]  AL 86.   

[4]  GDC 255.            

[5]  AL 200; cf also EG 1.       

[6]  AL 58; cf see EG 35 and 164        

[7]  AL 289. 

[8]  John Paul II, Apostolic Exhortation Familiaris consortio (22nd November 1981), 53.              

[9] Cf  AL 205-216. 

[10] AL 207.             

[11] Cf  AL 217-230.            

[12] AL 41.              

[13] AL 78.              

[14] AL 297.           

[15] EG 160.