คู่มือแนะแนวการสอนคำสอน - DIRECTORY FOR CATECHESIS (2020)

2. วิธีการอบรมในความเชื่อของพระศาสนจักร

164.  เรื่องเล่าต่างๆ ในพระวรสารยืนยันถึงข้อมูลสำคัญของแนวทางการอบรมของพระเยซูเจ้า และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่วิถีการอบรมของพระศาสนจักรด้วย ตั้งแต่แรกเริ่มพระศาสนจักรได้ดำเนินพันธกิจของตน “ในลักษณะที่เป็น การสืบเนื่องวิธีสอนของพระบิดาและพระบุตรอย่างแท้จริงและสามารถเห็นได้     พระศาสนจักร ‘ในฐานะที่เป็นมารดาของเรายังเป็นผู้ให้การศึกษาเรื่องความเชื่อแก่เราด้วย’ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือ เหตุผลอันลึกซึ้งที่ทำให้กลุ่มคริสตชนอยู่ในการสอนคำสอนอันเป็นชีวิตของกลุ่มเอง ดังนั้น กลุ่มคริสตชนจึงประกาศ  เฉลิมฉลอง ปฏิบัติงาน และยังคงเป็นศูนย์กลางของการสอนคำสอนที่สำคัญที่สุดและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับชีวิต ตลอดเวลาหลายศตวรรษที่ผ่านมาพระศาสนจักรได้ผลิตสิ่งล้ำค่าอันหาเที่เปรียบมิได้เกี่ยวกับวิธีสอนในเรื่องความเชื่อ ดังนี้ สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าสิ่งใดคือ การเป็นประจักษ์พยานของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์และครูคำสอนทั้งหลาย  วิถีทางดำเนินชีวิตอันหลากหลายและรูปแบบดั้งเดิมต่างๆ ของการสื่อสารเรื่องศาสนา อย่างเช่นในระยะเวลาเรียนคำสอน หนังสือคำสอนต่างๆ คู่มือต่างๆ สำหรับการดำเนินชีวิตคริสตชน มรดกที่มีค่าของบรรดาปิตาจารย์ในเรื่องการสอนคำสอนเกี่ยวกับวัฒนธรรมความเชื่อ ในเรื่องหน่วยงานทั้งหลายและงานบริการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการสอนคำสอน ทุกๆ สิ่งที่กล่าวถึงนี้ก่อเกิดเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ของการสอนคำสอนและเข้าสู่ความทรงจำของกลุ่มชน  และการดำเนินงานของครูคำสอนโดยความชอบธรรม”[4]

 

165.    การสอนคำสอนได้รับการดลใจตามคุณลักษณะวิธีการอบรมของพระเจ้าดังที่ได้อธิบายมาแล้ว ด้วยวิธีนี้การสอนคำสอนจึงกลายเป็นงานให้การอบรมที่ก่อให้เกิดการเสวนาแห่งความรอดพ้นระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์  ดังนั้น ลักษณะต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง

       -  ทำให้ความคิดสร้างสรรค์เรื่องความรักของพระเจ้าที่ไม่หวังผลใดๆ เป็นที่ประจักษ์  

       -  ชูเรื่องเป้าหมายปลายทางแห่งความรอดพ้นสากลให้โดดเด่นขึ้น 

       -  กระตุ้นให้เกิดการกลับใจ อันจำเป็นเพื่อการนอบน้อมในความเชื่อ 

       -  ประยุกต์ใช้หลักเกณฑ์ของธรรมชาติเชิงก้าวหน้าของการเปิดเผยและการอยู่เหนือทุกสิ่งของพระวาจาของพระเจ้า  รวมทั้งการอยู่ในวัฒนธรรมเข้ากับวัฒนธรรมมนุษย์ด้วย 

       -  รับรู้ถึงความเป็นศูนย์กลางของพระเยซูคริสตเจ้า พระวจนาถต์ของพระเจ้าผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ ผู้ทรงกำหนดให้งานคำสอนเป็นวิธีการอบรมแห่งการรับสภาพมนุษย์

       -  ให้ความสำคัญแก่ประสบการณ์แห่งความเชื่อในชุมชน อย่างเหมาะสมแก่ประชากรของพระเจ้า 

       -  ประสานวิธีการอบรมเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ต่อกันระหว่างการกระทำและคำพูด

       -  ระลึกว่าความรักอันไม่จำกัดขอบเขตของพระเจ้านั้น  เป็นเหตุผลสุดท้ายของทุกสิ่ง   

 

166.    หนทางของพระเจ้าที่ได้เปิดเผยมาและที่ประทานความรอดพ้น ร่วมกับการตอบสนองความเชื่อของพระศาสนจักรในประวัติศาสตร์ กลายเป็นบ่อเกิดและรูปแบบของวิธีการอบรมความเชื่อ เหตุนี้ การสอนคำสอนจึงมีลักษณะเป็นกระบวนการที่นำสู่วุฒิภาวะแห่งความเชื่อ อาศัยการเคารพต่อการก้าวเดินของผู้ที่เชื่อแต่ละคน ดังนั้น การสอนคำสอนจึงเป็นวิธีการอบรมด้านความเชื่อในภาคปฏิบัติ ควบคู่ไปกับ การนำสู่การเริ่มต้น การให้การศึกษา และการสอน โดยมีเอกภาพชัดเจนอยู่เสมอระหว่างเนื้อหาและวิธีการถ่ายทอด พระศาสนจักรตระหนักว่าพระจิตเจ้าทรงปฏิบัติงานเมื่อมีการสอนคำสอน กล่าวคือ การประทับอยู่ของพระองค์ทำให้การสอนคำสอนเป็นการอบรมด้านความเชื่อแบบดั้งเดิม 

 

หลักเกณฑ์ในการประกาศสารแห่งพระวรสาร 

167.  ในการสอนคำสอน พระศาสนจักรเอาใจใส่ที่จะซื่อสัตย์ต่อหัวใจของสารแห่งพระวรสาร “บางครั้ง สิ่งที่บรรดาสัตบุรุษรับฟังในภาษาดั้งเดิมตามประเพณีนั้น อาจไม่สอดคล้องกับพระวรสารที่แท้จริงของพระเยซูเจ้าก็เป็นได้ ทั้งนี้ เพราะภาษาที่ใช้และเข้าใจกัน แม้มีความตั้งใจอันศักดิ์สิทธิ์ที่จะสื่อสารความจริงเกี่ยวกับพระเจ้าและมนุษยชาติก็ตาม แต่บางครั้งกลับเป็นการมอบพระเท็จเทียม หรืออุดมคติแบบมนุษย์ซึ่งมิใช่คริสตชนแท้จริงแก่พวกเขา เมื่อเป็นเช่นนี้ เราได้เพียงแต่ซื่อสัตย์ต่อรูปแบบ แต่มิได้สื่อสารถึงสาระสำคัญ”[5]ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายนี้และเพื่อให้งานการประกาศพระวรสารได้รับการดลใจด้วยวิธีการอบรมของพระเจ้า  จึงเป็นการดีที่การสอนคำสอนต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด เนื่องจากทั้งหมดล้วนมีที่มาจากพระวาจาของพระเจ้า

 

หลักเกณฑ์เชิงพระตรีเอกภาพและเชิงสัจธรรมว่าด้วยเรื่องพระคริสต์

168.  การสอนคำสอนจำเป็นต้องอยู่ในเชิงพระตรีเอกภาพและเชิงพระคริสตเจ้า “พระธรรมล้ำลึกเรื่องพระตรีเอกภาพเป็นพระธรรมล้ำลึกศูนย์กลางของความเชื่อและชีวิตคริสตชน เป็นพระธรรมล้ำลึกของพระเจ้าในพระองค์เอง ดังนั้นจึงเป็นที่มาของพระธรรมล้ำลึกอื่นๆ ทั้งหมดของความเชื่อ เป็นแสงที่ส่องสว่างพระธรรมล้ำลึกเหล่านั้น”[6] พระคริสตเจ้าทรงเป็นหนทางที่นำไปสู่ธรรมล้ำลึกอันลึกซึ้งของพระเจ้า พระเยซูคริสตเจ้าไม่ทรงเพียงแต่ถ่ายทอดพระวาจาของพระเจ้าเท่านั้น พระองค์เองทรงเป็นพระวาจาของพระเจ้า การเปิดเผยของพระเจ้าว่าทรงเป็นพระตรีเอกภาพนั้นจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องต้นกำเนิดของศาสนาคริสต์และของพระศาสนจักร ไม่เพียงเท่านั้น ยังจำเป็นสำหรับการเข้าใจเรื่องความคิดของบุคคลในฐานะสิ่งที่มีสัมพันธภาพและ ความเป็นหนึ่งเดียวกัน การสอนคำสอนที่ปราศจากความชัดเจนเรื่องสารแห่งพระตรีเอกภาพ ที่ผ่านทางพระคริสตเจ้าไปยังพระบิดาในองค์พระจิตเจ้านั้นเป็นคำสอนที่อาจทรยศต่อเอกลักษณ์แท้ของการสอนคำสอนนั่นเอง 

 

169.  การยึดพระคริสตเจ้าเป็นศูนย์กลาง เป็นลักษณะเฉพาะของสารที่ถ่ายทอดในการสอนคำสอน   สิ่งนี้หมายความว่าก่อนอื่นใดหมด ตรงศูนย์กลางของการสอนคำสอนทั้งมวลคือพระบุคคลของพระเยซูคริสตเจ้า ผู้ทรงชีวิต ประทับอยู่และทรงปฏิบัติงาน  การประกาศพระวรสารหมายความถึง  การนำเสนอพระคริสตเจ้าและทุกสิ่งในความสัมพันธ์กับพระองค์  ยิ่งกว่านั้น  เพราะพระคริสตเจ้าทรงเป็น “กุญแจ  ศูนย์กลาง และเป้าหมายแห่งประวัติศาสตร์มนุษยชาติทั้งหมด” (GS 10)  การสอนคำสอนช่วยให้ผู้ที่เชื่อสามารถนำตนเองเข้าร่วมในประวัติศาสตร์ โดยการแสดงให้เห็นว่าพระคริสตเจ้าทรงเป็นความสมบูรณ์และความหมายสุดท้ายของประวัติศาสตร์นี้ ในที่สุดการยึดพระคริสตเจ้าเป็นศูนย์กลางหมายความว่า  การสอนคำสอนมุ่งมั่นจะ“ถ่ายทอดสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงสอนเกี่ยวกับพระเจ้า มนุษย์ ความสุข ชีวิตด้านศีลธรรม ความตาย”[7] เหตุว่าสารแห่งพระวรสารมิได้มาจากมนุษย์  แต่เป็นพระวาจาของพระเจ้า  การเน้นลักษณะพระคริสตเจ้าเป็นศูนย์กลางของสารนี้ช่วยส่งเสริมให้เกิดการติดตามพระคริสตเจ้าและความสนิทสัมพันธ์กับพระองค์   

 

170.  โดยอาศัยการรวบรวมความเชื่อของบรรดาปิตาจารย์ของพระศาสนจักร  การสอนคำสอนและพิธีกรรมจึงทำให้เกิดวิธีเฉพาะในการอ่านและตีความพระคัมภีร์  ที่ยังคงรักษาคุณค่าที่สว่างไสวอยู่จนทุกวันนี้  คุณลักษณะของการนำเสนอพระบุคคลของพระเยซูเจ้าอาศัยธรรมล้ำลึกของพระองค์[8] หมายถึงการรวมเหตุการณ์สำคัญๆ ในชีวิตของพระองค์ที่เข้าใจกันในความหมายถาวรเชิงเทววิทยาและชีวิตฝ่ายจิต การเฉลิมฉลองธรรมล้ำลึกเหล่านี้ในวันฉลองต่างๆของปีพิธีกรรม และถูกนำเสนอในลักษณะภาพแบบที่ประดับตามวัดต่างๆ มากมาย การนำเสนอพระบุคคลของพระเยซูเจ้ารวมเอาข้อมูลทางพระคัมภีร์และธรรมประเพณีของพระศาสจักรเข้าไว้ด้วยกัน กล่าวคือ วิธีการอ่านพระคัมภีร์นี้มีคุณค่ายิ่งต่อการสอนคำสอน การสอนคำสอนและพิธีกรรมไม่เคยถูกจำกัดด้วยการอ่านหนังสือในพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่แบบแยกกัน  ตรงกันข้าม การอ่านร่วมกันทั้งสองภาคแสดงให้เห็นว่าการตีความด้านภาษาศาสตร์ของพระคัมภีร์จะช่วยให้เข้าใจถึงความหมายของเหตุการณ์และงานเขียนซึ่งเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์แห่งความรอดหนึ่งเดียวนั้นได้  วิธีการตีความนี้ทำให้การสอนคำสอนมีความหมายที่ยั่งยืน ซึ่งยังตรงกับสภาพในทุกวันนี้ วิธีนี้ช่วยให้ผู้เติบโตในความเชื่อเข้าใจข้อเท็จจริงที่ว่ากับพระคริสตเจ้าไม่มีสิ่งใดในพันธสัญญาเดิมสูญหายไปเลย  แต่ทุกสิ่งจะพบความสมบูรณ์ในพระองค์นั่งเอง  

 

หลักเกณฑ์เชิงประวัติศาสตร์แห่งความรอดพ้น 

171.  ความหมายของพระนามของพระเยซูเจ้าที่ว่า “พระเจ้าทรงช่วยให้รอดพ้น” บ่งบอกว่าทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพระองค์ล้วนเป็นเรื่องของความรอดพ้น   การสอนคำสอนไม่สามารถมองข้ามธรรมล้ำลึกปัสกา ซึ่งประทานความรอดพ้นแก่มนุษยชาติ อันเป็นรากฐานของศีลศักดิ์สิทธิ์ทุกประการและบ่อเกิดแห่งพระหรรษทานทั้งมวลได้ การไถ่กู้ การทำให้ชอบธรรม การทำให้เป็นอิสระการกลับใจ และการเป็นบุตรบุญธรรมของพระเจ้านั้นล้วนเป็นประเด็นหลักของพระคุณอันยิ่งใหญ่แห่งความรอดพ้น “‘แผนการแห่งความรอดพ้น’ จึงมีลักษณะตามประวัติศาสตร์ เนื่องจากแผนการนี้ได้ถูกกระทำสำเร็จผลแล้วในกาลเวลา... ด้วยเหตุนี้เองพระศาสนจักรจึงเริ่มต้นด้วยความสำนึกรู้ที่มีอยู่  ซึ่งพระศาสนจักรได้มาด้วยความพยายามเข้าใจในสารแห่งการช่วยให้รอดพ้น มี ‘ความทรงจำ’ เกี่ยวกับเหตุการณ์การช่วยให้รอดพ้นในอดีต  และทำให้เหตุการณ์เหล่านั้นเป็นที่รู้จักในการถ่ายทอดสารแห่งคริสตชน หลังจากที่ได้พิจารณาเหตุการณ์แห่งการช่วยให้รอดพ้นที่มีอยู่มากมายแล้ว พระศาสนจักรจึงตีความเหตุการณ์ต่างๆ ในปัจจุบันอันจะเป็นประวัติศาสตร์ของมนุษย์ โดยที่พระจิตของพระเจ้ายังทรงเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของโลกนี้ใหม่อย่างต่อเนื่อง และพระศาสนจักรยังรอคอยการเสด็จมาขององค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยความเชื่อ”[9] ดังนั้น  การนำเสนอเรื่องความเชื่อจึงต้องพิจารณาถึงกิจการต่างๆ และพระวาจาซึ่งพระเจ้าทรงใช้เพื่อเปิดเผยพระองค์เองแก่มนุษยชาติ ผ่านทางเหตุการณ์สำคัญๆ ในพันธสัญญาเดิมในชีวิตของพระเยซูเจ้า พระบุตรพระเจ้า และในประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักร

 

172.  ด้วยพระอานุภาพของพระจิตเจ้า ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติจึงเป็นประวัติศาสตร์แห่งความรอดพ้นที่ต่อเนื่องมาในกาลเวลา ที่ซึ่งพระศาสนจักรก็เป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์นี้ด้วย อันที่จริง พระเยซูเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเปิดเผยว่า ประวัติศาสตร์นี้มีเป้าหมายชัดเจน เหตุเพราะมีการประทับของพระเจ้าอยู่ภายใน พระศาสนจักรซึ่งมุ่งหน้าจาริกสู่ความไพบูลย์ของพระอาณาจักรนั้น เป็นเครื่องหมายทรงประสิทธิภาพที่นำโลกไปสู่เป้าหมายสุดท้าย  พระวรสารซึ่งเป็นหลักแห่งความหวังของทั่วโลกและของผู้คนในทุกสมัย  ได้มอบวิสัยทัศน์ซึ่งทำให้เกิดความไว้วางใจในความรักของพระเจ้า ดังนั้น จึงต้องนำเสนอสารของคริสตศาสนาในความสัมพันธ์กับความหมายของชีวิตความจริง  และศักดิ์ศรีของบุคคลเสมอ  พระคริสตเจ้าเสด็จมาเพื่อความรอดพ้นของเรา และเพื่อเราจะได้มีชีวิตในความรอดพ้นนั้นอย่างสมบูรณ์ “ความจริงก็คือว่า มีแต่เฉพาะด้วยพระธรรมล้ำลึกแห่งการที่พระวจนาถต์ได้ทรงรับเอากายเท่านั้นที่ความลี้ลับของมนุษย์ได้เผยแสดงออกมา” (GS 22) โดยอาศัยการสอนคำสอน พระวาจาของพระเจ้าส่องสว่างชีวิตของมนุษย์ ทำให้ชีวิตมนุษย์มีความหมายสูงสุด และพระวาจานี้อยู่เคียงข้างเขาบนหนทางแห่งความงดงาม ความจริง  และความดี 

 

173.  การประกาศเรื่องพระอาณาจักรของพระเจ้านั้นครอบคลุมไปถึงสารแห่งการช่วยให้บรรลุอิสรภาพและการพัฒนามนุษย์ให้เจริญก้าวหน้าด้วย  ซึ่งเชื่อมโยงอย่างแน่นแฟ้นกับการดูแลรักษาและการรับผิดชอบต่อสิ่งสร้าง ความรอดพ้นที่พระเจ้าประทานให้และที่พระศาสนจักรประกาศนั้นเกี่ยวข้องกับทุกแง่มุมของชีวิตด้านสังคม ดังนั้น จึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงความซับซ้อนของโลกปัจจุบันและความเชื่อมโยงภายในที่มีอยู่ระหว่างวัฒนธรรม  การเมือง เศรษฐกิจการงาน  สภาพแวดล้อม  คุณภาพชีวิต  ความยากจน ความวุ่นวายทางการเมือง และสงคราม[10] “พระวรสารมีเกณฑ์ของภาพรวมทั้งหมด และพระวรสารนี้จะไม่หยุดการเป็นข่าวดี ตราบใดที่เราไม่หยุดประกาศข่าวดีนี้แก่ทุกคน  และไม่หยุดที่จะบังเกิดผล และรักษาทุกมิติของมนุษย์ไว้ จนกว่าจะได้นำชายหญิงทั้งหลายเข้าร่วมในงานเลี้ยงของพระอาณาจักรพระเจ้า”[11] กระนั้นก็ดี ที่ปลายสุดขอบฟ้าของการประกาศถึงความรอดพ้นนั้นคือชีวิตนิรันดรเสมอ เป็นที่ซึ่งความเพียรพยายามในการแสวงหาความยุติธรรมและความปรารถนาเห่งการเป็นอิสระจะพบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์

 

หลักเกณฑ์แห่งความเป็นเอกของพระหรรษทานและความงดงาม

174.  อีกหลักเกณฑ์หนึ่งของวิสัยทัศน์แห่งชีวิตคริสตชนก็คือ ความเป็นเอกของพระหรรษทาน การสอนคำสอนทั้งหมดต้องเป็น “การสอนคำสอนเรื่องพระหรรษทาน เพราะเราจึงได้รับความรอดพ้นอาศัยพระหรรษทาน และพระหรรษทานยังช่วยให้เราทำงานบังเกิดผลสำหรับชีวิตนิรันดร”[12] ดังนั้น การสอนเรื่องความจริงจึงเริ่มจากความคิดสร้างสรรค์ของพระเจ้า และต่อเนื่องไปด้วยการตอบของมนุษย์ซึ่งมาจากการฟังและเป็นผลของพระหรรษทานเสมอ “ชุมชนแห่งผู้ประกาศพระวรสารมีประสบการณ์ว่าพระเจ้าทรงเป็นผู้ริเริ่ม พระองค์ทรงนำพวกเขาไปในความรัก (เทียบ 1ยน 4:19) และด้วยเหตุนี้ผู้ประกาศพระวรสารจึงมุ่งไปข้างหน้า”[13] ถึงแม้จะตระหนักว่าผลของการสอนคำสอนนั้นไม่ขึ้นกับความสามารถในการวางแผนและการปฏิบัติงานก็จริง แต่ก็แน่นอนว่าพระเจ้าทรงเรียกร้องให้เราร่วมมือกับพระหรรษทานของพระองค์  และทรงเชื้อเชิญเราให้ใช้พละกำลังทั้งหมดในในการรับใช้พระอาณาจักร ทั้งในด้านสติปัญญาและในการจัดกิจกรรมที่จำเป็นสำหรับงานด้านคำสอน  

 

175.  “การประกาศพระคริสตเจ้า หมายถึงการแสดงให้เห็นว่า การเชื่อในพระองค์และการติดตามพระองค์นั้นมิได้เป็นเพียงแค่สิ่งจริงแท้และถูกต้องเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งงดงาม สามารถเติมเต็มชีวิตด้วยความงดงามใหม่ และเป็นความชื่นชมยินดีที่ลึกซึ้ง แม้ในปัญหาความทุกข์ยาก”[14] การสอนคำสอนจำเป็นต้องถ่ายทอดความงดงามของพระวรสารอยู่เสมอ ที่ดังก้องจากพระโอษฐ์ของพระเยซูเจ้าแก่ทุกคน คือ คนยากจน คนธรรมดา คนบาป คนเก็บภาษีและโสเภณี ให้พวกเขารู้สึกว่าได้รับการต้อนรับ เข้าใจ ได้รับความช่วยเหลือ เป็นผู้รับเชิญและรับการอบรมจากองค์พระผู้เป็นเจ้าเอง  อันที่จริง การประกาศถึงความรักที่เปี่ยมด้วยความเมตตาและไม่หวังผลตอบแทนของพระเจ้า ซึ่งแสดงออกมาอย่างเต็มเปี่ยมในองค์พระเยซูคริสตเจ้า ผู้ทรงสิ้นพระชนม์และกลับคืนพระชนมชีพนั้น เป็นหัวใจของการประกาศข่าวดีแรกเริ่ม (Kerygma) มีบางด้านของสารแห่งพระวรสารที่ตามปกติแล้วยอมรับค่อนข้างยาก เฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่พระวรสารเรียกร้องสู่การกลับใจและการยอมรับรู้ถึงบาป ทว่าก่อนอื่นใด การสอนคำสอนมิใช่เป็นการนำเสนอด้านศีลธรรม แต่เป็นการประกาศถึงความงดงามของพระเจ้า  ซึ่งเราสามารถสัมผัสกับประสบการณ์นี้ได้ด้วยหัวใจและสติ อันนำสู่การเปลี่ยนแปลงชีวิตได้[15]    

 

หลักเกณฑ์แห่งพระศาสนจักร (ecclesiality)

176.  “ความเชื่อมีลักษณะของชุมชนพระศาสนจักรเป็นสำคัญ  เป็นการประกาศยืนยันจากภายในพระกายของพระคริสตเจ้า ซึ่งเป็นชุมชนแห่งความเชื่อที่เห็นเป็นรูปธรรม”[16] อันที่จริง “เมื่อการสอนคำสอนถ่ายทอดเกี่ยวกับพระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้า ความเชื่อของประชากรพระเจ้าทั้งหมดจึงก้องอยู่ในสารแห่งการสอนคำสอนตลอดช่วงเวลาของประวัติศาสตร์  โดยที่ความเชื่อซึ่งบรรดาอัครสาวกได้รับจากองค์พระคริสตเจ้าเองและอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ    พระจิตเจ้า เป็นความเชื่อที่บรรดามรณสักขีได้เป็นพยานยืนยันและยังคงเป็นพยานยืนยันถึงความเชื่อนี้ด้วยโลหิตของพวกเขา  เป็นความเชื่อที่นักบุญทั้งหลายได้ดำเนินชีวิตอย่างลึกซึ้ง  เป็นความเชื่อของบรรดาปิตาจารย์และนักปราชญ์ทั้งหลายของพระศาสนจักรผู้ซึ่งสอนเรื่องนี้อย่างหลักแหลม  เป็นความเชื่อที่บรรดาธรรมทูตได้ประกาศอย่างไม่หยุดหย่อน  เป็นความเชื่อของนักเทววิทยาทั้งหลายผู้ซึ่งช่วยให้เราเข้าใจความเชื่อนี้ดีขึ้น เป็นความเชื่อของบรรดาผู้อภิบาลซึ่งเก็บรักษาความเชื่อด้วยความตั้งใจอย่างมากและด้วยความรัก และตีความอย่างถูกต้องจริงๆ อันที่จริงแล้วในการสอนคำสอนก็มีความเชื่อของบรรดาผู้ที่เชื่อและยอมให้พระจิตเจ้าเป็นผู้นำทางของพวกเขา”[17] ยิ่งไปกว่านั้น การสอนคำสอนริเริ่มนำบรรดาผู้ที่เชื่อให้เข้าสู่ธรรมล้ำลึกแห่งการสนิทสัมพันธ์ ไม่เพียงแต่ในความสัมพันธ์กับพระบิดาเจ้า อาศัยพระคริสตเจ้า ในองค์พระจิตเจ้าเท่านั้นแต่ในชุมชนของบรรดาผู้ที่เชื่อด้วยโดยกิจการของพระจิตเจ้าองค์เดียวกันการสอนคำสอนให้การอบรมในเรื่องความสนิทสัมพันธ์ด้วยการดำเนินชีวิตในพระศาสนจักรและในฐานะที่เป็นพระศาสนจักร

 

หลักเกณฑ์แห่งความเป็นหนึ่งเดียวและความครบครันของความเชื่อ

177.  ความเชื่อที่ถ่ายทอดโดยพระศาสนจักรนั้นมีเพียงหนึ่งเดียว แม้บรรดาคริสตชนจะกระจายอยู่ทั่วโลก  แต่ก็รวมเป็นประชากรเดียวกัน  การสอนคำสอนก็เช่นกัน แม้ใช้การอธิบายเรื่องความเชื่อด้วยภาษาตามวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างหลากหลาย ต่างก็ยืนยันถึงศีลล้างบาปและความเชื่อเดียวกัน (เทียบ อฟ 4:5) “ผู้เป็นศิษย์ของพระคริสต์ย่อมมีสิทธิ์ที่จะได้รับพระวาจาแห่งความเชื่อแบบครบถ้วนสมบูรณ์  ทั้งในด้านของความครบถ้วน  ความสมบูรณ์ และด้านความชัดเจนความมีชีวิตชีวา   ไม่ใช่อยู่ในรูปตกๆ หล่นๆ มีการแปลงปน   หรือแบบย่นย่อ    ทั้งนี้เพื่อให้คารวกิจตามความเชื่อของพวกเขาบรรลุผลอย่างสมบูรณ์”[18] ดังนั้น หลักเกณฑ์พื้นฐานของการสอนคำสอนคือการถ่ายทอดสารอย่างครบถ้วน โดยหลีกเลี่ยงการนำเสนอแบบเป็นส่วนๆ หรือแบบที่แตกแยกออกไป  อันที่จริง  พระคริสตเจ้ามิได้ประทานความรู้ลับๆ บางอย่างให้แก่ผู้เลือกสรรที่ทรงโปรดปรานเพียงบางคนเท่านั้น แต่คำสอนของพระองค์นั้นมีไว้เพื่อทุกคน ในสัดส่วนที่แต่ละคนจะสามารถน้อมรับไว้ได้   

 

178.  การนำเสนอความจริงแห่งความเชื่ออย่างครบถ้วนนั้นต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์ของลำดับชั้นแห่งความจริงด้วย (เทียบ UR 11) อันที่จริง “ความจริงทุกประการที่ถูกเปิดเผยนั้น ล้วนมีต้นธารจากพระเจ้า และผู้คนรับไว้ด้วยความเชื่อเดียวกัน   แต่มีความจริงบางประการที่สำคัญมากกว่า  เพื่อแสดงถึงแก่นของพระวรสารอย่างชัดเจนมากขึ้น”[19] เอกภาพแห่งความเชื่อนี้เป็นพยานถึงสาระสำคัญสูงสุด และทำให้ความเชื่อนี้ได้รับการประกาศและสอนได้ในทันทีโดยปราศจากการลดทอนหรือย่นย่อลงไป  ถึงแม้การสอนเรื่องความจริงจะต้องเป็นไปตามลำดับขั้นตอนและประยุกต์ให้เข้ากับบุคคลและสภาพแวดล้อม  แต่ก็ต้องไม่ขัดกับความเป็นเอกภาพและธรรมชาติของความจริงดังกล่าว

 

[4] GDC 141; และเทียบ CCC 169  

[5] EG 41

[6] CCC 234     

[7]  GDC 98

[8]   เทียบ CCC 512 ff.       

[9]   GDC 107       

[10] เทียบ พระสมณสาส์น Laudato si’, 17-52      

[11] EG 237       

[12]  CCC 1697      

[13] EG 24        

[14] EG 167      

[15] EG 165 นำเสนอเล็กน้อยเกี่ยวกับ “องค์ประกาอบของการประกาศที่จำเป็นที่สุดในปัจจุบัน”  

[16] พระสมณสาส์น Lumen Fidei ข้อ 22  

[17] GDC 105    

[18] CT 30        

[19] EG 36