คู่มือแนะแนวการสอนคำสอน - DIRECTORY FOR CATECHESIS (2020)

1. พระศาสนจักรและศาสนบริการพระวาจาของพระเจ้า

283.       พระเจ้าทรงปรารถนาที่จะรวมพระศาสนจักรของพระองค์ไว้รอบพระวาจาและพระองค์ทรงหล่อเลี้ยงพระศาสนจักรด้วยพระกายและพระโลหิตของพระบุตรของพระองค์ ผู้ที่เชื่อในพระคริสตเจ้าได้เกิดใหม่มิใช่จากเมล็ดพันธ์ุที่เสื่อมสลายได้ แต่จากเมล็ดพันธ์ุที่ไม่มีวันเสื่อมสลายคือพระวาจาที่ทรงชีวิตของพระเจ้า (เทียบ 1 ปต 1:23)  อย่างไรก็ดีการเกิดใหม่นี้มิใช่การกระทำที่ครบสมบูรณ์  พระวาจาของพระเจ้าเป็นอาหารประจำวันที่ก่อเกิดพระศาสนจักรและหล่อเลี้ยงพระศาสนจักรอย่างต่อเนื่องตลอดการก้าวเดินของพระศาสนจักร “อันที่จริงพระศาสนจักรถูกสร้างขึ้นบนพระวาจาของพระเจ้า พระศาสนจักรเกิดจากพระวาจาและเจริญชีวิตโดยอาศัยพระวาจา ตลอดประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักร ประชากรของพระเจ้าได้พบขุมพลังอยู่ในพระวาจาของพระเจ้า และในปัจจุบันก็เช่นเดียวกันที่ชุมชนของพระศาสนจักรเจริญเติบโตขึ้นโดยการรับฟัง   การเฉลิมฉลองและการศึกษาพระวาจานั้น[1]  ความสำคัญของพระวาจานี้ทำให้พระศาสนจักรทั้งครบมีท่าทีใน “การรับฟังพระวาจาของพระเจ้าด้วยความเคารพ (DV1) ต้นแบบของประชากรของพระเจ้าคือพระนางมารีย์พรหมจารีแห่งการรับฟัง ผู้ซึ่ง“ทรงเก็บเรื่องทั้งหมดเหล่านี้ไว้ในพระทัยและยังทรงคำนึงถึงอยู่” (ลก 2:19) ดังนั้นศาสนบริการของพระวาจาพระเจ้าเริ่มต้นจากการรับฟังและทำให้ผู้มีความเชื่อทั้งหลายได้เรียนรู้ศิลปะแห่งการรับฟัง เหตุเพราะว่าผู้ที่รับฟังเท่านั้นจึงจะสามารถประกาศได้ “การประกาศข่าวดีทุกรูปแบบต้องอยู่บนพื้นฐานของพระวาจาของพระเจ้า เป็นพระวาจาที่ได้รับฟัง รำพึงภาวนา  ดำเนินชีวิต เฉลิมฉลอง และเป็นประจักษ์พยาน พระคัมภีร์เป็นต้นธารแห่งการประกาศข่าวดี”[2]

 

284.       พระวาจาของพระเจ้าเป็นพลวัต กล่าวคือพระวาจาของพระเจ้าเติบโตและแผ่ขยายมากขึ้น และผู้มีความเชื่อก็เพิ่มจำนวนขึ้นด้วย (เทียบ กจ 12:24)  และ “มีพลังในตัวเองที่เราไม่อาจคาดคิดล่วงหน้าได้ พระวรสารกล่าวถึงเมล็ดพันธุ์ที่เมื่อหว่านไปแล้ว จะเจริญเติบโตด้วยตัวมันเอง  แม้เมื่อชาวนานอนหลับ (เทียบ มก 4: 26-29) พระศาสนจักรต้องยอมรับอิสรภาพที่ไม่อาจควบคุมได้ ซึ่งมีประสิทธิผลและรูปแบบที่หลากหลาย พระวาจานี้อยู่เหนือความคาดหมายและวิธีการคิดของเราเสมอ”[3] พระศาสนจักรยืนยันเช่นเดียวกับพระนางมารีย์ว่า“ขอให้เป็นไปกับข้าพเจ้าตามวาจาของท่านเถิด” (ลก 1:38) พระศาสนจักรจึงวางตนเป็นผู้รับใช้แห่งการประกาศพระวาจาของพระเจ้า เป็นผู้ปกป้องพระวาจาของพระเจ้าที่สัตย์ซื่อ อย่างไรก็ดี องค์พระผู้เป็นเจ้าเองได้ทรงมอบพระวาจานี้แก่พระศาสนจักร  ไม่ใช่เพื่อปกปิดไว้แต่เพื่อพระวาจาของพระเจ้าจะได้ส่องแสงส่องสว่างสำหรับทุกคน ดังนั้นพระวาจาของพระเจ้าจึงเป็นจุดกำเนินของพันธกิจของพระศาสนจักร “เป็นพระวาจาของพระเจ้านี้เองที่ผลักดันให้เราไปสู่พี่น้องชายหญิงของเรา เป็นพระวาจาที่ส่องสว่าง ชำระล้าง นำการกลับใจ เราเป็นเพียงผู้รับใช้พระวาจาเท่านั้น”[4]

 

285.       พระศาสนจักรดำเนินศาสนบริการแห่งการเป็นคนกลางของตนโดยอ้างถึงพระวาจาของพระเจ้า กล่าวคือพระศาสนจักรประกาศพระวาจาของพระเจ้าในทุกสถานที่และทุกเวลา พระศาสนจักรมีหน้าที่ปกป้อง ส่งผ่านพระวาจาของพระเจ้าโดยไม่เปลี่ยนแปลงไปยังชนรุ่นต่อไป (เทียบ 2 ทธ 1:14)   พระศาสนจักรตีความพระวาจาด้วยพระพรพิเศษที่เหมาะสมสอดคล้องกับอำนาจสอนของ   พระศาสนจักร กล่าวคือพระศาสนจักรประกาศพระวาจาด้วยความซื่อสัตย์และเชื่อถือได้ เพื่อว่า “มนุษย์ทั่วโลกจะได้ฟังการประกาศความรอดพ้นและมีความเชื่อ ด้วยความเชื่อจะได้มีความหวัง และด้วยความหวังจะได้มีความรัก” (DV 1) พระศาสนจักรรวบรวมผู้มีความเชื่อใหม่เข้าในตนเอง โดยอาศัยการยอมรับพระวาจาและโดยทางศีลล้างบาป (เทียบ กจ 2:41)

 

286.       “ในพลวัตแห่งการประกาศข่าวดี บุคคลที่ยอมรับพระวรสารในฐานะพระวาจาที่ช่วยให้รอดพ้นนั้น โดยปกติจะแสดงการยอมรับด้วยกิจการของศีลศักดิ์สิทธิ์”[5] เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่มีความขัดแย้งระหว่างพระวาจาและศีลศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ชัดเจนว่าศาสนบริการพระวาจานั้นย่อมขาดไม่ได้ สำหรับศาสนบริการแห่งศีลศักดิ์สิทธิ์ นักบุญออกัสติน เขียนว่า “เราเกิดในพระจิตเจ้าโดยทางพระวาจาและศีลศักดิ์สิทธิ์”[6] การผสมผสานเข้าด้วยกันนี้บรรลุประสิทธิภาพสุงสุดในพิธีกรรม  เหนือสิ่งอื่นใด  ในพิธีบูชาขอบพระคุณ  ซึ่งเผยแสดงความสำคัญของพระวาจาพระเจ้าด้วยเครื่องหมายศักดิ์สิทธิ์ “พระวาจาและพิธีบูชาขอบพระคุณจึงมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด จนว่าเราจะเข้าใจสิ่งหนึ่งไม่ได้โดยไม่มีอีกสิ่งหนึ่ง พระวาจาของพระเจ้ากลายเป็นพระกายที่เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ใน  การประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณ พิธีบูชาขอบพระคุณเปิดใจเราให้เข้าใจพระคัมภีร์เช่นเดียวกับที่พระคัมภีร์ส่องสว่างและอธิบายพระธรรมล้ำลึกของพิธีบูชาขอบพระคุณ”[7]

 

287.       ตัวแทน (agent) ของการประกาศข่าวดีก็คือประชากรของพระเจ้า “เป็นผู้จาริกและผู้ประกาศข่าวดี”[8]  สภาสังคายนาวาติกัน ที่ 2 กล่าวถึงประชาชนแห่งยุคพระผู้ไถ่ ที่ได้รับโดยทางพระคริสตเจ้าในฐานะเป็นเครื่องมือแห่งการไถ่กู้และถูกส่งไปยังประชาชนทุกคนในฐานะเป็นแสงสว่างส่องโลกและเป็นเกลือดองแผ่นดิน (เทียบ LG 9) การเจิมขององค์พระจิตเจ้า (1ยน 2:20) ทำให้เป็นผู้มีส่วนร่วมในหน้าที่ประกาศกของพระคริสตเจ้า ตกแต่งด้วยพระพรต่างๆ อย่างเช่น ความสำนึกเหนือธรรมชาติถึงความเชื่อของมวลประชากรของพระเจ้า (sensus fidei) สามารถแยกแยะ เป็นประจักษ์พยานและประกาศพระวาจาของพระเจ้า “ทุกคนได้รับพระจิตเจ้าเต็มเปี่ยมและเริ่มประกาศพระวาจาของพระเจ้าอย่างกล้าหาญ (parrhesia)” (กจ 4:31) เช่นเดียวกับการประกาศข่าวดี การสอนคำสอนก็เป็นการกระทำที่พระศาสนจักรทั้งครบตระหนักถึงความรับผิดชอบนี้เช่นกัน

 

288.       ความรับผิดชอบนี้เกี่ยวข้องกับทุกคน “ด้วยพระหรรษทานที่ได้รับจากศีลล้างบาป  สมาชิกแต่ละคนของประชากรพระเจ้ากลายเป็นสานุศิษย์ธรรมทูต(เทียบ มธ 28:19) ผู้รับศีลล้างบาปแต่ละคน  ไม่ว่าจะมีหน้าที่ใดในพระศาสนจักรหรือมีความรู้ในเรื่องความเชื่อระดับใด ต่างเป็นสมาชิกที่กระตือรือร้นในการประกาศพระวรสาร และไม่เป็นการเพียงพอที่จะคิดถึงรูปแบบการประกาศพระวรสารที่ใช้สำหรับผู้ที่มีคุณสมบัติ ในขณะที่ประชากรผู้ซื่อสัตย์ที่เหลือนั้นเป็นเพียงผู้รับที่ไม่มีบทบาทใดๆ การประกาศพระวรสารครั้งใหม่ต้องทำให้ผู้รับศีลล้างบาปแต่ละคนเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้วยวิธีการใหม่   ความเชื่อมั่นนี้เปลี่ยนเป็นเสียงเรียกที่มีต่อคริสตชนแต่ละคน”[9] อย่างไรก็ตาม ในลักษณะเดียวกัน  ถ้าทุกคนมีความรับผิดชอบ  ทั้งหมดจะไม่เป็นเช่นนั้น   ความรับผิดชอบนั้นย่อมแตกต่างกันไปตามพระพรพิเศษและศาสนบริการต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความสำคัญสำหรับชีวิตและพันธกิจของพระศาสนจักร[10] ทุกคนมีส่วนตามสภาพชีวิตและพระหรรษทานที่ตนได้รับจากพระคริสตเจ้า (เทียบ อฟ 4:11-12)

 

289.       รูปแบบที่เป็นรูปธรรมของการประกาศข่าวดีคือ การปฏิบัติแบบก้าวเดินไปด้วยกัน ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ทั้งในระดับสากลและระดับท้องถิ่น และแสดงออกในซีนอดของบิชอปและสภาสังคายนาต่างๆ ในปัจจุบัน การฟื้นฟูความตระหนักถึงอัตลักษณ์ของธรรมทูตเรียกร้องความสามารถในการแบ่งปันการสื่อสาร และการพบปะมากขึ้น เพื่อจะได้ก้าวไปด้วยกันในหนทางของพระคริสตเจ้าและในความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อพระจิตเจ้า ที่ประชุมซีนอดของบรรดาบิชอปนำเสนอเป้าหมายที่สำคัญในการประกาศข่าวดี  คือก่อให้เกิดการพิจารณาร่วมกันว่า ควรจะดำเนินไปอย่างไร อันนำไปสู่การประสานพระพรต่างๆ ที่ทุกคนมี และป้องกันการโดดเดี่ยวฝ่ายที่ขัดแย้งหรือของปัจเจกบุคคล“พระศาสนจักรภายใต้ซีนอดเป็นพระศาสนจักรที่รับฟัง ซึ่งตระหนักว่าการรับฟัง “เป็นอะไรที่มากกว่าการได้ยิน” เป็นการรับฟังซึ่งกันและกันโดยที่ทุกคนจะได้เรียนรู้บางสิ่งบางอย่าง กล่าวคือ บรรดาผู้มีความเชื่อ คณะบิชอป และพระสันตะปาปา ทุกคนต่างรับฟังซึ่งกันและกัน และทุกคนกำลังรับฟังองค์พระจิตเจ้า”[11] สิ่งที่ได้รับการนำเสนอเกี่ยวกับศาสนบริการพระวาจาพระเจ้าถูกทำให้เป็นจริงอย่างเป็นรูปธรรมในบริบทของธรรมประเพณีในพระศาสนจักรที่แตกต่างกัน และพระศาสนจักรท้องถิ่น ในพื้นที่ต่างๆ ของพระศาสนจักร

 

[1] Benedict XVI, Post-Synodal Apostolic Exhortation Verbum Domini (30th Spetember 2010), 3  
[2] EG 174. 
[3]  EG 22. 
[4] Benedict XVI, Post-Synodal Apostolic Exhortation Verbum Domini (30th September 2010),93  
[5] EN 23.  
[6] Augustine of Hippo, In Iohannis evangelium tractatus,12.5 (CCL 36.123; PL 35.1486). 
[7] Benedict XVI, Post-Synodal Apostolic Exhortation Verbum Domini (30th September 2010),55. 
[8] EG111. 
[9] EG 120. 
[10] เทียบ Congregation for the Doctrine of the Faith, Letter Iuvenescit ecclesia (15th May 2016),10. 
[11] Francis, Address at the ceremony commemoration the 50th Anniversary of the Institution of the Synod of Bishops(17th October 2015; cf also EG 171.