คู่มือแนะแนวการสอนคำสอน - DIRECTORY FOR CATECHESIS (2020)

1. หนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก 

บันทึกเชิงประวัติศาสตร์

182.    ตั้งแต่ช่วงเวลาแห่งการบันทึกพันธสัญญาใหม่ พระศาสนจักรได้กำหนดแบบสรุปสั้นๆ เพื่อการประกาศ เฉลิมฉลอง และเป็นประจักษ์พยานถึงความเชื่อของตน ตั้งแต่ในศตวรรษที่ 4 มาแล้วที่บรรดาบิชอปได้รับการนำเสนอที่ครอบคลุมมากขึ้นเกี่ยวกับความเชื่อในรูปแบบของบทสรุปและประมวลคำสอน ในสองช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์คือ หลังจากสภาสังคายนาแห่งเตรนท์และหลังจากสภาสังคายนาวาติกัน ที่ 2 นั้น พระศาสนจักรได้เห็นว่าเป็นโอกาสดีที่จะนำเสนอการอธิบายเรื่องความเชื่ออย่างเป็นระบบอาศัยหนังสือคำสอนที่เป็นสากล ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างเสริมเอกภาพของพระศาสนจักร และเป็นแหล่งอ้างอิงสำหรับงานคำสอนด้วย[1]  

 

183.    ในปี ค.ศ.1985 ระหว่างช่วงสมัชชาพิเศษของบิชอป ที่เฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบยี่สิบปีแห่งการปิดประชุมสังคายนาวาติกัน ที่ 2 บรรดาปิตาจารย์หลายท่านได้แสดงความปรารถนาให้มีการจัดทำหนังสือคำสอน หรือหนังสือประมวลคำสอนของข้อคำสอนคาทอลิกทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับข้อความเชื่อและด้านศีลธรรม จึงมีการประกาศใช้หนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิกในวันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ.1992  โดยสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 จากนั้นต้นฉบับหนังสือในภาษาละตินได้ออกมาในวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1997 เป็นผลงานที่เกิดจากการร่วมมือและการปรึกษาหารือกันของคณะบิชอปคาทอลิก  สถาบันเทววิทยาและคำสอนมากมายหลายแห่ง และรวมถึงบรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างๆ จากหลากหลายสาขาวิชา ดังนั้นหนังสือคำสอนนี้จึงเป็นผลงานร่วมและผลผลิตของสภาสังคายนาวาติกัน ที่ 2   


อัตลักษณ์ เป้าหมาย และผู้อ่าน ของหนังสือคำสอน 

184.    หนังสือคำสอนนี้เป็น “หนังสือที่เป็นทางการตามอำนาจสอนของพระศาสนจักร  ที่ได้รวบรวมเหตุการณ์และความจริงพื้นฐานเกี่ยวกับการช่วยให้รอดพ้นซึ่งแสดงถึงความเชื่อของประชากรของพระเจ้า  และข้ออ้างอิงพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการสอนคำสอน”[2] ซึ่งเป็นการนำเสนอคำสอนถาวรแห่งความเชื่อ ทว่ามีความแตกต่างจากเอกสารอื่นๆ ของอำนาจการสอนของพระศาสนจักรเหตุว่าเป้าหมายของหนังสือนี้เป็นการนำเสนอบทสรุปอย่างเป็นระบบของมรดกแห่งความเชื่อ ชีวิตฝ่ายจิต และเทววิทยาของประวัติศาสตร์พระศาสนจักร   แม้ว่าจะมีความต่างจากหนังสือคำสอนในท้องถิ่น ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับประชากรของพระเจ้าเฉพาะในแต่ละท้องถิ่น อย่างไรก็ตามหนังสือคำสอนนี้ก็เป็นเนื้อหาที่เที่ยงแท้และแน่นอนสำหรับการอ้างอิงเพื่อการจัดทำคู่มือคำสอนท้องถิ่น หนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิกเป็น “ความช่วยเหลือประการสำคัญในพันธกิจการเป็นหนึ่งเดียว ที่พระศาสนจักรสื่อสารเนื้อหาความเชื่อทั้งหมดของพระศาสนจักร”[3]  

 

185.    ก่อนอื่นใด หนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิกได้ถูกจัดทำขึ้นทั้งสำหรับผู้อภิบาลและสัตบุรุษ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบรรดาผู้มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบในศาสนบริการด้านการสอนคำสอนในพระศาสนจักร   โดยมีเป้าหมายเพื่อกำหนด “กฎเกณฑ์ที่แน่นอนสำหรับการสอนด้านความเชื่อ”[4] ด้วยเหตุนี้จึงนำเสนอคำตอบที่ชัดเจนและเชื่อถือได้แก่ผู้รับศีลล้างบาปทุกคนซึ่งมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะได้รับการนำเสนอความเชื่อของพระศาสนจักรในรูปแบบที่ครบถ้วน เป็นระบบและเข้าใจได้ เนื่องจากหนังสือคำสอนนี้ แสดงให้เห็นถึงธรรมประเพณีของพระศาสนจักร  จึงส่งเสริมการเสวนาเชิงคริสตศาสนสัมพันธ์  และยังสามารถนำประโยชน์ต่อทุกคนได้ แม้สำหรับผู้ที่มิใช่คริสตชนก็ตาม ที่ปรารถนาจะรู้จักความเชื่อคาทอลิก   

 

186.    หนังสือคำสอนนี้  ซึ่งมีความห่วงใยแรกเกี่ยวกับเอกภาพของพระศาสนจักรในด้านความเชื่อหนึ่งเดียวกัน จึงไม่สามารถยึดถือเอาบริบทวัฒนธรรมเฉพาะแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม “จากข้อความนี้จะช่วยให้ครูคำสอนทุกคนได้รับความช่วยเหลือที่ดีในการสื่อสารถึงคลังแห่งความเชื่อหนึ่งเดียวและถาวรในระดับท้องถิ่น  อาศัยความช่วยเหลือของพระจิตเจ้า  ด้วยการพยายามเชื่อมโยงเอกภาพอันน่าพิศวงของธรรมล้ำลึกคริสตธรรมกับความต้องการและสภาพที่หลากหลายของบุคคลเป้าหมายของการประกาศ”[5] การสอนคำสอนในบริบทที่แตกต่างกันจำเป็นต้องให้การใส่ใจอย่างมากในเรื่องการนำเข้าสู่วัฒนธรรม  (inculturation)

 

แหล่งกำเนิดและโครงสร้างของหนังสือคำสอน

187.    หนังสือคำสอนนี้ถูกมอบให้แก่พระศาสนจักรทั้งครบ “เพื่อการฟื้นฟูการสอนคำสอนสู่แหล่งกำเนิดแห่งความเชื่ออันทรงชีวิต”[6] อันดับแรกในบรรดาแหล่งข้อมูลเหล่านี้คือพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับการดลใจจากพระเจ้า เป็นหนังสือเพียงเล่มเดียวที่พระเจ้า “ตรัสเพียงพระวาจาเดียวเท่านั้น ได้แก่พระวจนาตถ์เพียงหนึ่งเดียวของพระองค์ ในพระวจนาตถ์นี้เองพระองค์ทรงสำแดงพระองค์ทั้งหมด”[7] โดยการติดตามวิสัยทัศน์ของบรรดาปิตาจารย์ ที่ “มีเพียงพระวาจาเดียวของพระเจ้าซึ่งได้มีการอธิบายมาตลอดในพระคัมภีร์ ซึ่งก็คือพระวจนาตถ์ ที่ดังก้องอยู่ในปากของผู้เขียนศักดิ์สิทธิ์ทุกคน”[8]   

 

188.    นอกจากนั้น หนังสือคำสอนนี้ ยังตักตวงจากแหล่งของธรรมประเพณีที่ถูกบันทึกด้วยหลากหลายรูปแบบที่มั่งคั่งของหลักการบัญญัติความเชื่อ ซึ่งนำมาจากงานเขียนของบรรดาปิตาจารย์ จากบทยืนยันความเชื่อต่างๆ จากสภาสังคายนา จากอำนาจการสอนของสมเด็จพระสันตะปาปา จากคารวกิจพิธีกรรมทางตะวันออกและตะวันตก และรวมทั้งจากประมวลกฎหมายพระศาสนจักรด้วย   อีกทั้งยังมีการอ้างอิงมากมายจากบรรดาผู้เขียนหลายคนในพระศาสนจักร บรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์และนักปราชญ์ของพระศาสนจักร ยิ่งกว่านั้น คำอธิบายประกอบเชิงประวัติศาสตร์ ข้อมูลจากชีวประวัติ รวมทั้งข้อมูลสำคัญจากภาพไอคอน   ล้วนทำให้การนำเสนอข้อความเชื่อมีความมั่งคั่งมากยิ่งขึ้นด้วย

 

189.    หนังสือคำสอนนี้แบ่งเป็นสี่ภาค บนพื้นฐานมิติหลักของชีวิตคริสตชน ซึ่งมีแหล่งกำเนิดและรากฐานมาจากหนังสือกิจการอัครสาวกที่ว่า “คนเหล่านั้นประชุมกันอย่างสม่ำเสมอเพื่อฟังคำสั่งสอนของบรรดาอัครสาวก ดำเนินชีวิตร่วมกันฉันพี่น้องร่วม “พิธีบิขนมปัง” และอธิษฐานภาวนา”(กจ 2:42)[9] ขบวนการสอนคำสอนในพระศาสนจักรดั้งเดิมได้จัดโครงสร้างรอบๆ มิติเหล่านี้  ดังที่ต่อมามีการนำเสนอด้านความเชื่อในหนังสือคำสอนต่างๆ ตลอดช่วงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา โดยมีจุดเน้นและแนวทางที่ต่างกัน มิติหลักเหล่านี้คือ การประกาศความเชื่อ  (บทข้าพเจ้าเชื่อ) พิธีกรรม (ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งความเชื่อ) ชีวิตของผู้เป็นศิษย์ (พระบัญญัติ) การภาวนาของคริสตชน (บทข้าแต่พระบิดาฯ)  มิติต่างๆ เหล่านี้เป็นเสาหลักของงานคำสอนและกระบวนทัศน์ที่ใช้สำหรับการอบรมชีวิต            คริสตชน อันที่จริง การสอนคำสอนนำผู้เชื่อให้เปิดรับความเชื่อในพระเจ้าหนึ่งเดียวที่เป็นสามพระบุคคล  และสู่แผนการของพระเจ้าในการไถ่กู้มนุษย์  ให้ความรู้แก่พวกเขาในการปฏิบัติด้านพิธีกรรมของพระศาสนจักร และนำพวกเขาใน  การเริ่มสู่ชีวิตแห่งศีลศักดิ์สิทธิ์ ส่งเสริมพวกเขาให้ตอบรับพระหรรษทานของพระเจ้า และนำพวกเขาให้ปฏิบัติการภาวนาของคริสตชน   

 

ความหมายเชิงเทววิทยา-คริสตศาสนธรรมของหนังสือคำสอน

190.    หนังสือคำสอนนี้มิใช่เป็นเพียงหนังสือที่เสนอแนะวิธีการสอนคำสอน  ไม่ต้องการให้แนวทางเกี่ยวกับเรื่องนี้ อีกทั้งไม่ต้องการให้สับสนกับกระบวนการสอนคำสอน ซึ่งเรียกร้องให้มีสื่อกลางเสมอ[10] แม้กระนั้น ก็มีโครงสร้างที่เป็นระบบดี “ตามแนวพัฒนาการแห่งความเชื่อที่สอดคล้องกับหัวข้อหลักๆ ของชีวิตประจำวัน ในแต่ละหน้าของหนังสือนี้ช่วยให้ค้นพบว่า สิ่งที่นำเสนอนั้นมิใช่เป็นภาคทฤษฎี แต่เป็นการพบปะกับพระบุคคลหนึ่งซึ่งทรงชีวิตอยู่ในพระศาสนจักร”[11] มีการอ้างอิงถึงชีวิตคริสตชนทั้งครบที่มุ่งให้เกิดกระบวนการแห่งการกลับใจและการบรรวุฒิภาวะ และจะบรรลุเป้าหมายเมื่อความเข้าใจ  ด้านวาจานำไปสู่การเปิดใจ และรวมถึงในทางกลับกันที่พระหรรษทานของการเปิดใจทำให้เกิดความปรารถนาแห่งการรู้จักพระองค์   ผู้ซึ่งคริสตชนได้มอบความไว้วางใจ ดังนั้นการรู้จักหนังสือคำสอนนี้กล่าวถึงจึงมิใช่เป็นแบบนามธรรมกล่าวคือ ที่จริงแล้วโครงสร้างทั้งสี่ภาคทำให้เกิดความกลมกลืนกันเป็นอย่างดีระหว่างความเชื่อที่ประกาศ ที่เฉลิมฉลอง ที่ดำเนินชีวิต และที่ภาวนา ดังนี้เองจึงช่วยให้บรรลุการพบปะกับพระคริสตเจ้าได้อย่างเป็นลำดับขั้นตอน  อย่างไรก็ตามการสอนคำสอนก็ไม่จำเป็นต้องติดตามลำดับทั้งสี่ภาคของหนังสือคำสอนนี้เสมอไป    

 

191. เราสามารถพบโครงสร้างที่ประสานกลมกลืนกันของหนังสือคำสอนนี้ได้จากความเชื่อมโยงเชิงเทววิทยาระหว่างเนื้อหาและแหล่งที่มาที่ปรากฏอยู่   และการบูรณาการระหว่างธรรมประเพณีด้านตะวันตกและตะวันออก  ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งนี้สะท้อนถึงเอกภาพระหว่างธรรมล้ำลึกคริสตศาสนธรรมกับการบูรณาการระหว่างคุณธรรมด้านเทววิทยาและความงดงามที่กลมกลืน ซึ่งแสดงถึงคุณลักษณะเฉพาะของความจริงคาทอลิก  ในเวลาเดียวกัน  ก็เชื่อมโยงความจริงนิรันดร์นี้กับการพัฒนาที่เกิดขึ้นในพระศาสนจักรและในสังคม เป็นที่ชัดเจนว่าหนังสือคำสอนนี้ที่ถูกจัดทำในแนวทางนี้จะช่วยส่งเสริมให้เกิดความสมดุลและความลงตัวที่สำคัญในการนำเสนอเรื่องความเชื่อ 

 

192.    เนื้อหาของหนังสือคำสอนนี้ถูกนำเสนอในลักษณะที่เป็นวิถีทางเพื่อเปิดเผยถึงวิธีการสอนของพระเจ้า อธิบายถึงข้อความเชื่อทั้งหมดด้วยความเคารพต่อวิถีทางของพระเจ้าพร้อมกับมนุษยชาติและทำให้เกิดความโน้มเอียงที่เข้มแข็งสำหรับการฟื้นฟูการสอนคำสอนในศตวรรษที่ยี่สิบ มีการบรรยายเรื่องของความเชื่อที่สงวนไว้ซึ่งความโดดเด่นอย่างแท้จริงสำหรับพระเจ้าและการทำงานของพระหรรษทาน พื้นที่ส่วนใหญ่ของเนื้อหาถูกใช้เพื่อเน้นว่า นี่เป็นหนังสือแห่งการประกาศด้านคำสอนที่แท้จริง  ในทำนองเดียวกัน  มีการนำเสนอโดยปริยายเกี่ยวกับหลักเกณฑ์อื่นๆ ทั้งหมดที่กำหนดไว้แล้วว่าจำเป็นสำหรับการประกาศพระวรสารให้เกิดผล  กล่าวคือ  ความเป็นศูนย์กลางของพระตรีเอกภาพและพระคริสตเจ้า เรื่องราวของประวัติศาสตร์แห่งความรอดพ้น ข่าวสารที่มีธรรมชาติเชิงพระศาสนจักร ลำดับความสำคัญของความเชื่อและความสำคัญ  ของความงดงาม  จากทุกสิ่งเหล่านี้เราสามารถพบว่าเป้าหมายของหนังสือคำสอนนี้คือ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความปรารถนารู้จักพระคริสตเจ้า ซึ่งทรงเป็นพระเจ้าที่น่าแสวงหา ผู้ทรงปรารถนาความดีของมนุษยชาติ ดังนั้นหนังสือคำสอนนี้จึงมิใช่เป็นการนำเสนอข้อความเชื่อแบบไร้ปฏิกิริยาใดๆ แต่ในแบบเครื่องมือที่เป็นพลวัต เหมาะสมสำหรับการสร้างแรงบันดาลใจและหล่อเลี้ยงการเดินทางแห่งความเชื่อในชีวิตของแต่ละบุคคล  ด้วยเหตุนี้จึงมีคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับการ ฟื้นฟูการสอนคำสอน  

 

[1] เทียบ ยอห์น ปอล ที่ 2, Apostolic Costitution Fidei depositum (11 october 1992), I; CCC 11.

[2]  GDC 124  

[3]  ฟรังซิส, พระสมณสาส์น แสงสว่างแห่งความเชื่อ (29 มิถุนายน 2013), 46.    

[4]  ยอห์น ปอล ที่ 2, Apostolic Constitution Fidei depositum (11 october 1992), IV       

[5]  ยอห์น ปอล ที่ 2, Apostolic Letter Laetamur magnopere (15 August 1997)    

[6]   ยอห์น ปอล ที่ 2, Apostolic Constitution Fidei depositum (11 october 1992), I

[7]  CCC 102       

[8]  Augustine of Hippo, Enarratio in Psalmum 103, 4, 1: CCL 40, 1521 (PL 37, 1378)   

[9]   เนื้อหาของ กจ 2:42 ได้ถูกอ้างอิงในข้อ 79 ของคู่มือคำสอนปัจจุบันด้วย ที่ว่า มิติที่เป็นรากฐานของชีวิตคริสตชนก่อให้เกิดงานคำสอนขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงเป็นโครงสร้างของหนังสือคำสอนนี้ด้วย  

[10] เทียบ CCC 24         

[11] เบเนดิกต์ที่ 16, สมณลิขิต Porta Fidei (11 ตุลาคม 2011), 11.