คู่มือแนะแนวการสอนคำสอน - DIRECTORY FOR CATECHESIS (2020)

4. สังฆมณฑล

416. พระศาสนจักรท้องถิ่น ซึ่งเป็นการปรากฎอย่างเป็นรูปธรรมของพระศาสนจักรในพื้นที่ของโลก อยู่ภายใต้การนำของพระสังฆราช เป็นตัวแทนของการประกาศข่าวดี ด้วยเหตุนี้ “จะต้องเป็นมากกว่าสถาบันที่เป็นองค์กร  หรือตามฐานานุกรม เพราะก่อนสิ่งอื่นใด คือประชากรที่กำลังเดินมุ่งไปหาพระเจ้า...ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการแสดงออกของสถาบันต่างๆ”[8] ประชาชนผู้ประกาศข่าวดีเหล่านี้จะได้รับการดูแลรับใช้จากคูเรียของสังฆมณฑลซึ่งมีโครงสร้างต่างๆ (สำนักงาน, สภา, กรรมาธิการ...) ซึ่งจะช่วยในการไตร่ตรองและจัดลำดับความสำคัญของการอภิบาลด้านต่างๆ ตั้งเป้าหมายร่วมกัน พัฒนายุทธศาสตร์ในการปฏิบัติการ และช่วยให้สามารถหลีกเลี่ยงการริเริ่มต่างๆ ที่กระจัดกระจายขาดเอกภาพ

 

สำนักงานคำสอนของสังฆมณฑลและงานของสำนักงาน

417.       ภายในคูเรียของสังฆมณฑลการเอาใจใส่ดูแลและการสนับสนุนเรื่องเกี่ยวกับการสอนคำสอนนั้นเป็นภารกิจของสำนักงานคำสอนของสังฆมณฑล[9] การสอนคำสอนเป็นกิจกรรมพื้นฐานสำหรับชีวิตของพระศาสนจักรท้องถิ่นซึ่งทุกสังฆมณฑลถูกเรียกร้องให้ต้องมีสำนักงานคำสอนของตนเอง หากเป็นไปได้ควรต้องดูแลโดยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านคำสอน ได้รับการสนับสนุนโดยบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ  ในลักษณะที่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ด้วยความสามารถอันสมควร ซึ่งควรประกอบไปด้วยพระสงฆ์ นักบวชและฆราวาส สำนักงานคำสอนของสังฆมณฑลทำงานประสานกับสำนักงานคำสอนระดับชาติภายใต้สภาพระสังฆราช และร่วมงานกับหน่วยงานระดับชาติอื่นๆ และควรมีความสัมพันธ์อันดีในการทำงานร่วมกับสังฆมณฑลอื่นๆ ด้วย  สำนักงานคำสอนของสังฆมณฑลมีหน้าที่ดูแลการวิเคราะห์สถานการณ์ การประสานงานกับฝ่ายงานอภิบาลของสังฆมณฑลโดยรวม การพัฒนาแผนการสอนและแผนงานเชิงปฏิบัติการ และการอบรมครูคำสอน

 

การวิเคราะห์สถานการณ์

418.       ในการจัดการกิจกรรมเกี่ยวกับการสอนคำสอน  สำนักงานคำสอนจะต้องเริ่มโดยมีการวิเคราะห์สถานการณ์  การตรวจสอบความเป็นจริงนี้เกี่ยวข้องกับแง่มุมทางสังคม วัฒนธรรมและศาสนา ในมุมมองของการตีความเชิงอภิบาลเพื่อการนำความเชื่อเข้าในวัฒนธรรม  การวิเคราะห์สถานการณ์นี้ป็นการช่วยเหลือเริ่มแรกในลักษณะที่เป็นการให้ความรู้พื้นฐานแก่บรรดาครูคำสอน  การวิเคราะห์บริบททางด้านสังคมวัฒนธรรมช่วยให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมซึ่งมีอิทธิพลต่อชีวิตของทุกคน  ในทำนองเดียวกัน การวิเคราะห์สถานการณ์ด้านศาสนา ศึกษา“ระดับความสำนึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งก็คือ ประสบการณ์ทั้งหลายของมนุษย์ที่โน้มเอียงไปสู่การเปิดรับพระธรรมล้ำลึกอันเกิดจากความคิดลึกซึ้งในประสบการณ์ทั้งหลายนั้นเอง  ระดับความสำนึกด้านศาสนาคือ  ลักษณะการมีความนึกคิดถึงพระเป็นเจ้า และมีการติดต่อกับพระองค์ของประชากรในท้องถิ่นหนึ่ง และระดับสถานการณ์เกี่ยวกับความเชื่อ  ซึ่งพิจารณาจากรูปแบบที่หลากหลายของผู้มีความเชื่อ”[10] การวิเคราะห์เหล่านี้จะช่วยให้สามารถมองเห็น
ถึงคุณค่าที่ประชาชนยอมรับและปฏิเสธ ในการทำความเข้าใจบริบททางด้านสังคม วัฒนธรรมและศาสนา จะมีประโยชน์ในการใช้การศึกษาที่ดำเนินการโดยสถาบันทางวิทยาศาสตร์และโดยศูนย์การวิจัยเฉพาะทางนั้น

 

419.       การดำเนินการเหล่านี้ช่วยสำนักงานคำสอนในการประเมินสภาพของการสอนคำสอนภายในกระบวนการประกาศข่าวดี ในแง่ที่เป็นรูปธรรม นี่เป็นเรื่องของการตรวจสอบความสมดุลและการแบ่งโปรแกรมของการสอนคำสอน และพยายามทำความเข้าใจว่าจริงๆ แล้วมีการดำเนินการอย่างไร (ในเรื่องเนื้อหาคำสอน รูปแบบ วิธีการ และเครื่องมือในการสอนคำสอน เป็นต้น) นอกจากนี้ สำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาสภาพของบรรดาครูคำสอนและการอบรมพวกเขาด้วย อย่างไรก็ตาม “การวินิจฉัยอาการมากเกินไป” (diagnostic overload) ที่มิได้ให้ข้อเสนอหรือการแก้ปัญหาเสมอไป รวมทั้งไม่อาจนำไปใช้ได้อย่างแท้จริง  ยิ่งกว่านั้น  การมองด้วยสายตาแบบสังคมวิทยาที่มักอ้างว่าได้รวมเอาความจริงทุกอย่างเข้าไว้ ด้วยวิธีการที่มีลักษณะเป็นเพียงสมมติฐานกลางๆและปลอดภัยซึ่งเรามิอาจนำไปใช้ได้ สิ่งที่ข้าพเจ้าอยากจะนำเสนอนี้ อยู่ในแนวการพิเคราะห์แยกแยะแบบพระวรสารมากกว่า ซึ่งเป็นสายตาของสานุศิษย์ธรรมทูต”[11] ด้วยจิตตารมณ์ของความเชื่อและท่าทีในการรับฟังและเสวนา การซาบซึ้งอย่างสงบเงียบในสิ่งที่เป็นมาพร้อมกับการเติบโตในความเชื่ออย่างอดทน

 

การประสานงานของการสอนคำสอน

420.       สิ่งสำคัญคือต้องประสานการสอนคำสอนกับมิติอื่นๆ ของการดูแลอภิบาลของพระศาสนจักรท้องถิ่น สิ่งนี้ “มิได้เป็นเพียงเรื่องที่เกี่ยวกับยุทธวิธีซึ่งมุ่งให้การประกาศพระวรสารมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีความหมายอัน     ล้ำลึกทางด้านเทววิทยาด้วย   กิจกรรมประกาศพระวรสารจะต้องประสานกันอย่างดีกับงานด้านการสอนคำสอน เพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องเอกภาพของความเชื่อที่  ช่วยค้ำจุนงานทั้งหมดของพระศาสนจักร”[12] การสอนคำสอนมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการดูแลอภิบาลครอบครัว คนหนุ่มสาว และกระแสเรียกต่างๆ เช่นเดียวกับการดูแลอภิบาลตามโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ แม้ว่างานอภิบาลของพระศาสนจักรจะกว้างกว่าการสอนคำสอน   แต่โดยอาศัยลักษณะที่มีบทบาทในการริเริ่มของมัน ทำให้งานอภิบาลมีชีวิตชีวาและเกิดผล การเน้นย้ำในเรื่องการประกาศและการเป็นธรรมทูตของการสอนคำสอนในปัจจุบันช่วยส่งเสริมการกลับใจและด้วยเหตุนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการเป็นธรรมทูตของพระศาสนจักร

 

421.       ความจำเป็นในการอภิบาลแบบองค์รวมต้องอาศัยการประสานการสอนคำสอนกับกิจกรรมอื่นๆ ของการประกาศข่าวดี สิ่งนี้อาจทำให้เหมาะสม ตัวอย่างเช่น สำหรับพระศาสนจักรท้องถิ่นแห่งหนึ่งแห่งใดจะจัดระเบียบของคณะกรรมการการเริ่มชีวิตคริสตชน ซึ่งควรรวมงานประกาศครั้งแรก การสอนคำสอน การดูแลอภิบาล พิธีกรรมและงานด้านการสงเคราะห์ สมาคมฆราวาสและกลุ่มองค์กรต่างๆ คณะกรรมการนี้สามารถเสนอแนวทางร่วมกันในการดูแลอภิบาลระดับสังฆมณฑลเพื่อการริเริ่มในชีวิตคริสตชน  ทั้งในรูปแบบของคริสตังสำรอง สำหรับผู้ยังไม่ได้รับศีลล้างบาป และการสอนคำสอนเพื่อสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้รับศีลล้างบาปแล้ว  เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญที่การริเริ่มเชิงอภิบาลทั้งสองมีแรงบันดาลใจที่แฝงอยู่เหมือนกัน

 

โครงการการสอนคำสอนของสังฆมณฑล

422.       มีความจำเป็นที่สังฆมณฑลจะดำเนินกิจการอภิบาลที่เป็นองค์รวมในลักษณะที่พระพรพิเศษ พันธกิจ บริการ โครงสร้างและองค์กรที่แตกต่างกันไปสามารถร่วมเข้ามาในโครงการเดียวกันของการประกาศข่าวดี ในบริบทกว้างๆ ของโครงการเพื่อการอภิบาลของสังฆมณฑล “โครงการคำสอนระดับสังฆมณฑล ก็คือ โครงการคำสอนทั่วไปของพระศาสนจักรเฉพาะถิ่นแห่งหนึ่งซึ่งได้รวบรวมโครงการคำสอนอันหลากหลายที่สังฆมณฑลได้พยายามทำเพื่อกลุ่มวัยต่างๆ  ให้อยู่ในแนวทางหนึ่งที่ได้มีการวางแผนอย่างรอบคอบและโครงการต่างๆ สอดคล้องกัน”[13] โครงการการสอนคำสอนต่างๆ จะต้องไม่จัดแยกกันแต่จะจัดในความสอดคล้องซึ่งกันและกัน โดยคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า “หลักการจัดการ (organizing pirnciple) ที่ให้มีการเชื่อมโยงกันระหว่างโครงการสอน คำสอนมากมายที่พระศาสนจักรท้องถิ่นที่เสนอไว้นั้น ก็คือการเอาใจใส่ต่อการสอนคำสอนผู้ใหญ่ และหลักเกณฑ์นี้เป็นแนวหลักในการพัฒนาการสอนคำสอน”[14] ของกลุ่มอายุอื่นๆ ด้วย จึงไม่เป็นเรื่องของการเพิ่มกิจกรรมบางอย่างสำหรับผู้ใหญ่ควบคู่ไปกับการสอนคำสอนเด็กและวัยรุ่น แต่เป็นการทำความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับกิจกรรมด้านคำสอนโดยรวม

 

423.       โดยปกติโครงการจะมีโครงสร้างตามวัย วิธีการจัดโครงการคำสอนแบบนี้ยังคงสมเหตุสมผลอยู่ แต่ในปัจจุบันจำเป็นจะต้องพิจารณาแนวทางอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งอันที่จริงโครงการอาจจะสามารถพัฒนาโดยพิจารณาจากขั้นตอนการเติบโตในความเชื่อ ในข้อเท็จจริงที่ว่าบางคนกำลังอยู่ในขั้นตอนแรกๆในการแสวงหาพระเจ้า   ส่วนคนอื่นๆ กำลังฝึกปฏิบัติตนตามความเชื่อและยังไม่ได้รับความรู้คำสอนที่เพียงพอ  ขณะที่บางคนต้องการการร่วมเดินทางในการทำให้ความเชื่อลงลึกมากขึ้น ยังมีแนวทางอื่นๆ ที่สามารถนามเข้ามาพิจารณาประกอบในการจัดโครงการคำสอนได้ โดยการพิจารณาจากสถานการณ์ชีวิตของผู้เข้าร่วม อาทิเช่น  คู่แต่งงาน  คนที่มีชีวิตในสถานการณ์ที่เปราะบาง  กลุ่มอาชีพต่างๆ ฯลฯ โครงสร้างที่หลากหลายของความคิดริเริ่มในการจัดการอบรมของสำนักงานด้านคำสอนคือ การเคารพกระบวนการส่วนบุคคลและท่วงทำนองของชุมชน  สิ่งที่สำคัญเช่นเดียวกันก็คือ โครงการของสังฆมณฑลเกี่ยวกับการสอนคำสอนจะต้องไม่มาแทนที่การร่วมก้าวเดินส่วนตัว  แต่จะให้บริการในสถานการณ์ของปัจเจกชนเหล่านี้ โดยจัดทำแนวทางที่จำเป็นเพื่อให้บรรดาครูคำสอนสามารถเคียงข้างกับพี่น้องของตนในระดับของการเดินทางความเชื่อที่พวกเขากำลังทำอยู่

 

โครงการในทางปฏิบัติ

424.       ในขณะที่โครงการสังฆมณฑลเกี่ยวกับการสอนคำสอนเป็นแผนองค์รวมของแนวทางพื้นฐานที่ออกไปไว้ในระยะยาว โครงการในภาคปฏิบัติก็จะเป็นการปรับที่เป็นรูปธรรมสำหรับสถานการณ์เฉพาะและตามช่วงเวลาที่กำหนด “ประสบการณ์ยืนยันถึงความมีประโยชน์ของโครงการการดำเนินงานเพื่อการสอนคำสอนเช่นนั้น  และการกำหนดจุดประสงค์ร่วมกันอย่างชัดเจน (ทั้งในระดับสังฆมณฑลและระหว่างสังฆมณฑล) จะส่งเสริมกลุ่มคนหลายกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับงานอภิบาลนี้ได้มาทำงานร่วมกันด้วยเป้าหมายเดียวกัน  ดังนั้น  ความสนใจสภาพความเป็นจริง จึงควรเป็นเอกลักษณ์อันดับแรกของโครงการดำเนินงานด้านการอภิบาลสัตบุรุษ และลำดับต่อไปก็คือ ความเรียบง่าย ความรัดกุมและความชัดเจน”[15]  ดังนั้น โครงการนี้จึงระบุเนื้อหา ระบุวัตถุประสงค์ ตัวชี้วัดซึ่งต้องมีความชัดเจน มีลำดับขั้นตอนการดำเนินการ วัดประเมินได้ จัดให้มีกิจกรรมและเทคนิค  การพัฒนาหรือระบุเครื่องมือช่วยเหลือและวัสดุต่างๆ และกำหนดเวลาดำเนินการที่ชัดเจน  นอกจากนั้น  ในการออกแบบโครงการจำเป็นต้องมีการกำหนดช่วงเวลาประเมินผล  ซึ่งทำให้สามารถทบทวนขั้นตอนต่างๆ ที่ได้ดำเนินการมา เพื่อจะได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงให้ดีขึ้นได้

 

การอบรมครูคำสอน

425.       สำนักงานคำสอนของสังฆมณฑลต้องใส่ใจพิเศษในการอบรมครูคำสอน[16] โดยรู้ดีว่าพระจิตเจ้าทรงใช้ความร่วมมืออันมีค่าและชาญฉลาดของพวกเขาเพื่อพระวรสารจะได้รับการต้อนรับจากทุกคน การประเมินความต้องการที่แท้จริงของบรรดาครูคำสอนเป็นอย่างแรก และด้วยรูปแบบที่เหมาะสมกับเวลาและความรู้สึกร่วมสมัย สำนักงานคำสอนต้องพยายามจัดหาหัวข้อการอบรมที่ตอบสนองต่อมิติของชีวิต การอยู่ร่วมกัน ความรู้ ทักษะสังคม โดยหลีกเลี่ยงการเน้นที่มิติใดมิติหนึ่งจนทำให้เสียมิติด้านอื่นๆ ไป เป้าหมายซึ่งสามารถดำเนินการได้ดีกว่าในศูนย์อบรม เป็นทั้งการเตรียมครูคำสอนให้มีพื้นฐานความรู้และได้รับการอบรมต่อเนื่อง และการอบรมเฉพาะผู้นำและผู้ประสานงานด้านคำสอน  บนทางเลือกและความจำเป็นของพระศาสนจักรท้องถิ่น  ด้วยเหตุผลดังกล่าว  จึงสำคัญที่สำนักงานคำสอนจะต้องทำงานร่วมกับสำนักงานอื่นๆ และองค์กรต่างๆ ของสังฆมณฑล และสร้างสัมพันธภาพที่มีความไว้วางใจ เกื้อหนุนและร่วมมือกันด้วยดีกับฆราวาสและพระสงฆ์ในเขตวัดต่างๆ ที่จัดให้มีการอบรมครูคำสอน

 

[8] EG 111.            
[9] The diocesan catechetical office (Officium catecheticum) was instituted with the decree Provido sane: cf Sacred congregation of the Council, Decree Provido sane (12th January 1935); cf CIC c. 775 §1.
[10] GDC 279.         
[11] EG 50.
[12] GDC 272.         
[13] GDC 274.          
[14] GDC 275.
[15] GDC 281.         
[16] On the general principles for the formation of catechists, cf Chapter IV of the present Directory.