คู่มือแนะแนวการสอนคำสอน - DIRECTORY FOR CATECHESIS (2020)

3. การสอนคำสอนในบริบทวัฒนธรรมและสังคม

การสอนคำสอนและความคิดทางวิทยาศาสตร์

354.       ความเจริญอย่างต่อเนื่องต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์ที่ส่งผลอย่างกว้างขวางในสังคม ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อวัฒนธรรมร่วมสมัย ผู้ที่มีความคิดเชิงวิทยาศาสตร์อย่างมากสงสัยว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์จะประนีประนอมกับความเป็นจริงของความเชื่อได้อย่างไร สิ่งนี้ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับกำเนิดของโลกและชีวิตมนุษย์บนโลก ประวัติศาสตร์ของบรรดาประชากร กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ควบคุมธรรมชาติ ลักษณะทางจิตวิญญาณที่ทำให้ชีวิตมนุษย์แตกต่าง จากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ พัฒนาการของมนุษย์ และอนาคตของโลก คำถามเหล่านี้เป็นการแสดงออกถึงการค้นหาความหมาย ซึ่งเข้ามาสัมผัสกับคำถามเกี่ยวกับความเชื่อ  และด้วยเหตุนี้จึงดึงดูดความสนใจของพระศาสนจักร  เอกสารที่เกี่ยวกับสิ่งที่พระศาสนจักรสั่งสอนในหลายฉบับกล่าวถึงโดยตรงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อกับวิทยาศาสตร์[39]

 

355.       ในขณะที่ตระหนักถึงแนวโน้มทางความคิดของผู้ที่ยึดถือความรู้ทางวิทยาศาสตร์และลัทธิที่ยึดถือความรู้ตามธรรมชาติ[40] (ปฏิเสธความรู้เหนือธรรมชาติ-ผู้แปล) แตกต่างจากความพยายามทางวิทยาศาสตร์เช่นนั้น  และขณะที่ตระหนักถึงปัญหาทางศีลธรรมต่างๆ ที่เกิดจากผลของวิทยาศาสตร์ประยุกต์บางประการ  การตัดสินของพระศาสนจักรเกี่ยวกับวัฒนธรรมทางวิทยาศาสตร์นั้นเป็นไปในเชิงบวก  โดยพิจารณาว่าเป็นกิจกรรมที่มนุษย์มีส่วนร่วมในแผนการของพระเจ้าในการสร้างและในความก้าวหน้าของครอบครัวมนุษย์ทั้งหมด ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง “การประกาศข่าวดีนั้นต้องใส่ใจในความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เพื่อส่องแสงด้วยแสงแห่งความเชื่อและกฎธรรมชาติ”[41]  อีกด้านหนึ่งก็เป็นความจริงที่ว่า “เมื่อรูปแบบของเหตุผลและวิทยาศาสตร์ได้รับการต้อนรับในการประกาศพระวรสาร  รูปแบบต่างๆ เหล่านี้ก็จะกลายเป็นเครื่องมือในการประกาศพระวรสาร”[42] ข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างความรู้ทางวิทยาศาสตร์กับคำสอน  บางประการของพระศาสนจักรจะต้องได้รับการชี้แจ้งด้วยการจัดให้มีการตีความพระคัมภีร์และการไตร่ตรองทางเทววิทยา  ตีความการเผยแสดงของพระเจ้าโดยการปรับใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง พลางชี้แจงความเข้าใจผิดทางประวัติศาตร์และนำอคติและอุดมการณ์มาสู่แสงสว่าง

 

356.       เทคโนโลยี  เป็นผลของความเฉลียวฉลาดของมนุษย์  อยู่ควบคู่ประวัติศาสตร์ของมนุษย์มาโดยตลอด ศักยภาพของมันควรต้องนำไปสู่การพัฒนาความเป็นอยู่ของมนุษย์และความก้าวหน้าของครอบครัวมนุษยชาติ  กระนั้นก็ดี  เพราะมันอยู่ควบคู่และส่งผลต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ ทำให้ดูเหมือนว่าเทคโนโลยีเข้ามามีผลต่อมุมมองของมนุษย์ด้วย ยิ่งไปกว่านั้น การประยุกต์ใช้งานวิจัยทางเทคโนโลยีบางอย่างโดยปราศจากการคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา ก็ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในมนุษย์ในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ในบรรดางานวิจัยหลายๆด้าน ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และประสาทวิทยา (neuroscience) ก่อให้เกิดคำถามเชิงปรัชญาและจริยธรรมอย่างมาก ปัญญาประดิษฐ์สามารถช่วยมนุษย์และในบางกรณีใช้แทนที่มนุษย์ แต่มันไม่สามารถทำการตัดสินใจต่างๆ ได้โดยลำพัง ยิ่งกว่านั้นเมื่อ มันมาถึงประสาทวิทยา ซึ่งมีความสามารถในการเข้าใจที่ดีกว่าเกี่ยวกับร่างกายของมนุษย์ ความสามารถและการทำงานต่างๆ ของสมอง ถึงแม้ว่าพวกมันจะเป็นปัจจัยเชิงบวกแต่ไม่สามารถอธิบายได้อย่างสมบูรณ์ถึงอัตลักษณ์ส่วนบุคคล หรือลบล้างความรับผิดชอบที่ควรมีต่อพระผู้สร้างได้ เป้าหมายของเทคโนโลยีคือเพื่อรับใช้บุคคล ดังนั้น ความก้าวหน้าจะต้องได้รับการชื่นชมเพียงเพราะมิติความเป็นมนุษย์ที่มีอยู่ในมัน ที่ปรับปรุงสภาพชีวิตให้ดีขึ้น ที่ให้บริการเพื่อพัฒนาบรรดาประชาชาติ เทคโนโลยียังสะท้อนถึงพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าเมื่อมันถูกใช้อย่างชาญฉลาด[43] ในเวลาเดียวกันพระศาสนจักรยอมรับความท้าทายทางมนุษยวิทยาที่เกิดจากความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และทำให้เป็นเรื่องของการหยั่งรู้ที่ลึกซึ้ง

 

357.       ในหน้าที่ของการสอนคำสอนตามปกติ ครูคำสอนจะคำนึงถึงอิทธิพลที่ความคิดทางวิทยาศาสตร์มีต่อผู้คนที่มักถูกโน้มน้าวโดยทฤษฎีบางอย่างที่นำเสนอในรูปแบบผิวเผิน  ซึ่งสนับสนุนโดยการเผยแพร่ทางวิทยาศาสตร์ที่ค่อนข้างไม่เที่ยงตรง  และหลายครั้งจากการดูแลอภิบาลที่ไม่เพียงพอด้วย  ดังนั้นการสอนคำสอนควรจุดประเด็นคำถามและแนะนำผู้เรียนในหัวข้อที่มีนัยสำคัญเฉพาะ เช่น  ความซับซ้อนของจักรวาล  การสร้างในฐานะเครื่องหมายนำไปสู่พระผู้สร้างต้นกำเนิดและจุดสิ้นสุดของมนุษยชาติและของจักรวาล นอกจากนี้ ยังควรใส่ใจอีกทั้งทำให้เข้าใจง่ายโดยใช้สื่อต่อความยุ่งยากทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญๆ บางอย่างที่ปรากฏและมีอิทธิพลอยู่ การหาคำตอบที่น่าพึงพอใจต่อประเด็นปัญหาต่างๆ เหล่านั้น หรือบางกรณีการชี้ให้เห็นวิธีการที่เหมาะสมในการเสาะหาคำตอบ บ่อยครั้งเป็นสิ่งที่สำคัญในการรักษาการเปิดสู่ความเชื่อ โดยเฉพาะในบรรดาเด็กและเยาวชน ด้วยเหตุผลนี้เองประจักษ์พยานของนักวิทยาศาสตร์คริสตชนจึงมีประโยชน์ ในการที่พวกเขาจะแสดงให้เห็นด้วยความสอดคล้องของชีวิตของพวกเขาถึงความกลมกลืนและการทำงานร่วมกันของความเชื่อและเหตุผล ผู้สอนคำสอนจำเป็นต้องรู้เอกสารหลักๆ เกี่ยวกับคำสอนของพระศาสนจักรเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อและเหตุผล เทววิทยาและวิทยาศาสตร์  การใช้แหล่งข้อมูลและความช่วยเหลือเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่เพียงพอเป็นสิ่งที่จำเป็นด้วยเช่นเดียวกัน

 

358.       พระศาสนจักรได้รับเรียกให้เสนอความช่วยเหลือของตนเพื่อการประกาศข่าวดีของชายและหญิงที่อยู่ในแวดวงวิทยาศาสตร์ ซึ่งมักจะอุดมไปด้วยคุณสมบัติต่างๆ ที่ผู้ทำงานด้านอภิบาลรู้จักที่จะชื่นชม ชายและหญิงที่อยู่ในแวดวงวิทยาศาสตร์เป็นประจักษ์พยานที่ร้อนรนถึงความเร้นลับ พวกเขาแสวงหาความจริงด้วยความจริงใจ มีความโน้มเอียงที่จะร่วมมือ สื่อสาร และเสวนาโดยธรรมชาติ ได้รับการปลูกฝังในการเจาะลึก เข้มงวด และความถูกต้องของการให้เหตุผล รักความซื่อตรงทางสติปัญญา เหล่านี้เป็นลักษณะนิสัยที่ส่งเสริมในการพบปะกับพระวาจาของพระเจ้าและการรับความเชื่อ นี่เป็นเรื่องของการส่งเสริมการปลูกฝังความเชื่อในโลกวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง บรรดาคริสตชนที่ทำงานในฐานะผู้เชี่ยวชาญในโลกวิทยาศาสตร์มีบทบาทสำคัญอย่างมาก พระศาสนจักรจะต้องให้การอภิบาลที่จำเป็นแก่พวกเขาเพื่อว่าการเป็นประจักษ์พยานชีวิตของพวกเขาจะได้บังเกิดผล

 

การสอนคำสอนและวัฒนธรรมดิจิทัล

คุณลักษณะโดยทั่วไป

359.       การแนะนำเครื่องมือดิจิทัลและการใช้งานในวงกว้าง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งและซับซ้อนในหลายระดับ ด้วยผลกระทบทางวัฒนธรรม สังคม และจิตวิทยา ที่ยังไม่ชัดเจนอย่างแท้จริง ดิจิทัลซึ่งไม่เพียงสอดคล้องกับการมีอยู่ของวิธีการทางเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น อันที่จริงแล้ว เป็นตัวกำหนดลักษณะของโลกร่วมสมัย และอิทธิพลของมันได้กลายเป็นเรื่องธรรมดาและต่อเนื่องในระยะเวลาอันสั้นมากจนดูเป็นธรรมชาติ บุคคลมีชีวิต “อยู่ในวัฒนธรรมดิจิทัลที่มีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อแนวคิดของเรื่องเวลาและสถานที่ ในการทำความเข้าใจในตัวเราเอง ความเข้าใจต่อผู้อื่นและโลก และความสามารถของเราในการสื่อสาร เรียนรู้ รับทราบ และมีความสัมพันธ์กับผู้อื่น”[44] ดังนั้น ดิจิทัลจึงมิได้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่มีอยู่เท่านั้น แต่ยังเป็นการยืนยันตัวตนว่าเป็นวัฒนธรรมใหม่อีกด้วย คือ การเปลี่ยนแปลงภาษา การสร้างความคิด และการปรับโครงสร้างลำดับชั้นของคุณค่า และทั้งหมดนี้อยู่ในระดับทั่วโลก เพราะด้วยระยะทางทางภูมิศาสตร์ที่ถูกกำจัดโดยอุปกรณ์ออนไลน์ที่แพร่หลาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับบุคคลที่อยู่ในทุกส่วนของโลก

 

360. อินเทอร์เน็ตและโซเชียลเน็ตเวิร์กสร้าง “โอกาสพิเศษสำหรับการสนทนา การพบปะ และการแลกเปลี่ยนกันระหว่างบุคคล รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลและความรู้ นอกจากนี้ โลกดิจิทัลเป็นอีกโลกหนึ่งในการมีส่วนร่วมทางสังคม การเมือง และการเป็นพลเมืองที่กระตือรือร้น และสามารถอำนวยความสะดวกในการส่งต่อเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นอิสระ ซึ่งให้การป้องกันที่มีประสิทธิภาพสำหรับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้เปราะบางที่สุด และได้เผยแพร่การถูกล่วงละเมิดสิทธิของพวกเขา ในหลายประเทศ อินเตอร์เน็ตและเครือข่ายสังคมเป็นตัวแทนของพื้นที่ในการสนทนาที่ถูกจัดตั้งขึ้นอย่างมั่นคงสำหรับการเข้าถึงและเกี่ยวข้องกับบรรดาเยาวชน ไม่น้อยเลยที่เดียวที่มีเรื่องของการริเริ่มและกิจกรรมในงานอภิบาลทางศาสนาด้วย”[45] องค์ประกอบเชิงบวกอื่นๆ ของดิจิทัลคือการขยายและเพิ่มพูนความสามารถทางความรู้ความเข้าใจของมนุษย์ เทคโนโลยีดิจิทัลสามารถช่วยความจำได้ เช่น ผ่านเครื่องมือในการเก็บข้อมูล การเก็บข้อมูลแบบถาวร และการค้นคืนข้อมูล การรวบรวมข้อมูลแบบดิจิทัลและเครื่องมือของการสนับสนุน เพื่อการตัดสินใจช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการเลือกและอนุญาตให้มีการรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประเมินผลกระทบในด้านต่างๆ ในเรื่องต่างๆเหล่านี้ เราสามารถพูดในเชิงบวกถึงการเพิ่มประสิทธิภาพดิจิทัล

 

361.       อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า “สภาพแวดล้อมดิจิทัลก็เป็นอีกหนึ่งในเรื่องของความเหงา การจัดการควบคุม การเอารัดเอาเปรียบ และการใช้ความรุนแรง แม้กระทั่งในกรณีที่รุนแรงที่สุด ‘เว็บด้านมืด’ สื่อดิจิทัลสามารถทำให้ผู้คนเสี่ยงต่อการเสพติด การแยกตัวออกจากสังคม และการสูญเสียการติดต่อพบปะกับข้อเท็จจริงที่เป็นรูปธรรม ค่อยๆปิดกั้นการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่แท้จริง ความรุนแรงรูปแบบใหม่กำลังแพร่กระจายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น การกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต อินเทอร์เน็ตยังเป็นช่องทางในการแพร่ภาพลามกอนาจาร และการแสวงหาผลประโยชน์จากบุคคลเพื่อจุดประสงค์ทางเพศ หรือทางเรื่องการพนัน”[46] ยิ่งกว่านั้น ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ดำเนินงานในโลกดิจิทัล “สามารถใช้รูปแบบการควบคุมที่ละเอียดอ่อนได้ เช่น การแพร่กระจายการสร้างกลไกสำหรับการควบคุมมโนธรรมและกระบวนการประชาธิปไตย”[47] ต้องจำไว้ว่า หลายๆ กลุ่มเครื่องมือ(platforms)มักจะส่งเสริม “การพบปะระหว่างคนที่คิดเหมือนกัน การปกป้องพวกเขาจากการถกเถียง  วงจรปิดเหล่านี้อำนวยความสะดวกในการแพร่กระจายของข่าวเท็จและข้อมูลเท็จ ทำให้เกิดอคติและความเกลียดชัง”[48] พื้นที่ดิจิทัลสามารถสร้างวิสัยทัศน์ที่บิดเบี้ยวของความเป็นจริง จนนำไปสู่การละเลยชีวิตภายใน มองเห็นได้ในการสูญเสียเอกลักษณ์และรากเหง้า ในการเยาะเย้ยถากถางเป็นดั่งการตอบสนองต่อความว่างเปล่า ในความก้าวหน้าที่ลดทอนความเป็นมนุษย์และความโดดเดี่ยวที่มากขึ้นในตัวเอง

 

การเปลี่ยนแปลงทางมานุษยวิทยา

362.       ผลกระทบของดิจิทัลแบบก้าวกระโดดของการสื่อสารและของสังคมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางมานุษยวิทยาอย่างแท้จริง “ผู้ที่เกิดในยุคดิจิทัล (digital natives)” หมายถึงบุคคลที่เกิดหรือเติบโตในยุคเทคโนโลยีดิจิทัลในสังคมใช้สื่อหน้าจอที่หลากหลาย ถือว่าเทคโนโลยีเป็นองค์ประกอบทางธรรมชาติ ไม่รู้สึกอึดอัดในการจัดการและโต้ตอบกับพวกมัน ในทางตรงข้าม สถานการณ์ปัจจุบันยังรวมถึงการปรากฏตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะนักการศึกษา ครู และครูคำสอน ของผู้ที่ไม่ได้เกิดในยุคดิจิทัล “ผู้อพยพสู่โลกดิจิทัล (digital immigrants)” ผู้ที่ไม่ได้เกิดในโลกยุคดิจิทัลแต่เข้ามาในภายหลัง ความแตกต่างพื้นฐานระหว่างผู้เข้าร่วมเหล่านี้ คือความแตกต่างทางความคิดที่มีต่อเทคโนโลยีใหม่และการใช้งาน ยังมีรูปแบบการสนทนาที่แตกต่างกัน ซึ่งในอดีตมีความเป็นธรรมชาติ โต้ตอบ และมีส่วนร่วมมากกว่า

 

363. ดูเหมือนว่าผู้ที่เกิดในยุคดิจิทัล(digital natives) จะให้สิทธิพิเศษกับภาพลักษณ์มากกว่าการฟัง จากมุมมองด้านความรู้ความเข้าใจและพฤติกรรม เขาถูกหล่อหลอมโดยการบริโภคสื่อที่เขาต้องเผชิญในทางใดทางหนึ่ง น่าเสียดายที่ลดการพัฒนาที่สำคัญของเขา ดังนั้น การบริโภคเนื้อหาดิจิทัลนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงกระบวนการเชิงปริมาณเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเชิงคุณภาพด้วย ทำให้เกิดภาษาอื่นและวิธีใหม่ในการจัดระบบความคิด ความสามารถในการทำหลายสิ่งพร้อมกัน(Multi-tasking) ลักษณะการเป็นทุติยบท (hypertextuality) และความสามาถในการตอบโต้กับผู้ใช้ (interactivity) เป็นเพียงลักษณะเฉพาะบางประการของสิ่งที่ปรากฏ เป็นวิธีการทำความเข้าใจและการสื่อสารรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของคนรุ่นดิจิทัล มีความสามารถที่สัญชาตญาณและอารมณ์มากกว่าการวิเคราะห์ปรากฏออกมา ศิลปะการเล่าเรื่องซึ่งใช้หลักการของวาทศิลป์และภาษาของตนเองที่นำมาจากการตลาด ถือว่าเยาวชนให้ความน่าเชื่อถือและน่าสนใจมากกว่าวาทกรรมรูปแบบเดิม ภาษาที่มีอิทธิพลมากที่สุดในยุคดิจิทัลคือภาษาของเรื่องราว มากกว่าภาษาของการโต้แย้ง

 

364. อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมทางภาษานี้ทำให้ผู้บริโภคเพียงคนเดียว ไม่ถอดรหัสของข้อความ คือ เรื่องเล่าสุดโต่งและความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดความตื่นเต้น ทำให้เกิดการอภิปรายในหัวข้อที่ซับซ้อนโดยไม่มีการเสนอข้อโต้แย้งหรือรวมทั้งวิธีแก้ปัญหาในการไกล่เกลี่ย หากเรื่องเล่ากลายเป็นเครื่องมือเดียวในการสื่อสารก็มีความเสี่ยงว่าความคิดเห็นส่วนตัวของความเป็นจริงเท่านั้นที่ได้รับการพัฒนา อัตวิสัยนิยมนี้คุกคามจะผลักไสคำถามทางการเมืองและจริยธรรมไปสู่ขอบเขตส่วนตัวและส่วนบุคคล บรรทัดฐานทางศีลธรรมมีความเสี่ยงที่จะถูกมองว่าเป็นเผด็จการ ในขณะที่เรื่องเล่ากลายเป็นความจริงที่ขัดขวางการค้นหาความจริงและความดี ยิ่งกว่านั้น เรื่องเล่าสากลถูกกำหนดค่าให้เป็นการทดลองซึ่งทุกสิ่งเป็นไปได้และคาดเดาไม่ได้ และความจริงซึ่งไม่มีเนื้อหาที่มีอยู่จริง ขอบเขตอันไกลโพ้นเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่าดิจิทัลและเครื่องมือต่างๆ เป็นเครื่องมือที่มีศักยภาพในการค้นหารูปแบบการถ่ายทอดความเชื่อรูปแบบใหม่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ก็เป็นความจริงเช่นกันที่การดำเนินการของพระศาสนจักรจะต้องทำให้ทราบถึงความคลุมเครือที่เป็นไปได้ของภาษาที่สื่ออารมณ์ได้ แต่แทบจะไม่สื่อสารถึงความจริงเลย

 

วัฒนธรรมดิจิทัลฐานะเป็นปรากฏการณ์ทางศาสนา

365.       วัฒนธรรมดิจิทัลยังนำเสนอตัวเองในฐานะผู้รับความเชื่อที่มีลักษณะทางศาสนา ลักษณะที่กระจายไปทั่วของเนื้อหาดิจิทัล การแพร่กระจายของพาหนะที่ทำงานโดยอัตโนมัติด้วยกลไก algorithms และซอฟต์แวร์ที่ซับซ้อนมากขึ้น กระตุ้นให้คนรับรู้ทั้งจักรวาลว่าเป็นกระแสของข้อมูล เพื่อให้เข้าใจชีวิตและสิ่งมีชีวิตมากกว่ากลไก algorithms ทางชีวเคมีเพียงเล็กน้อย และในเวอร์ชั่นที่รุนแรงที่สุด ที่จะเชื่อว่ากระแสเรียกของจักรวาลสำหรับมนุษยชาติในการสร้างระบบที่ครอบคลุมทุกด้านของการประมวลผลข้อมูล

 

366.       เราต้องเผชิญกับวิธีการที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและท้าทาย  เปลี่ยนสิ่งที่อยู่ในระดับเดียวกันของการอ้างอิงในกระบวนการของความไว้วางใจ  และการแสดงที่มาของความมีอำนาจ  ลักษณะที่เราถามเครื่องมือค้นหา  อัลกอริธึมของปัญญาประดิษฐ์หรือคอมพิวเตอร์สำหรับตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับชีวิตส่วนตัวเปิดเผยให้เห็นว่าเกี่ยวข้องกับกลอุปกรณ์และการตอบสนองด้วยทัศนคติของความจงรักภักดี  มีการสร้างศาสนาปลอมแบบสากลขึ้นมา  กำลังถูกสร้างให้เป็นแหล่งอำนาจใหม่ที่ถูกต้องตามกฎหมายและมีองค์ประกอบทั้งหมดของพิธีกรรมทางศาสนา คือ จากการเสียสละไปสู่ความกลัวอย่างรุนแรง ทุกวิธีที่จะครอบงำสู่การยอมจำนนต่อผู้เสนอญัตติใหม่ซึ่งได้รับมาแต่ไม่ให้ความรัก

 

367.       องค์ประกอบทางเทคโนโลยีและศาสนาเหล่านี้สามารถก่อให้เกิดวัฒนธรรมระดับโลกที่ก่อตัวขึ้นเหนือวิธีคิดและความเชื่อของคนหนุ่มสาวรุ่นต่อไป สิ่งเหล่านี้จะเป็นดิจิทัลมากขึ้นและจะนำเสนอลักษณะและวิธีคิดระดับโลกด้วยแพลตฟอร์มหลักของการโต้ตอบ และพลังของการแพร่กระจายและความทันทีทันใด สิ่งนี้นอกจากจะเป็นความท้าทายแล้วยังสามารถเป็นโอกาสได้อีกด้วย การพัฒนารูปแบบและเครื่องมือที่มีความสามารถในการถอดรหัสความต้องการทางมานุษยวิทยาที่อยู่ในพื้นฐานของปรากฏการณ์เหล่านี้ และการปรับปรุงแนวทางที่ไม่เคยมีมาก่อนในการประกาศพระวรสารทำให้สามารถมีความเป็นไปได้ที่จะนำเสนอความเอาใจใส่ในการอภิบาลที่เป็นสากลเช่นเดียวกับวัฒนธรรมดิจิทัลทั่วโลก

 

คำถามเกี่ยวกับวัฒนธรรมดิจิทัลและการศึกษา

368. การพัฒนาเทคโนโลยีในด้านสื่อดิจิทัลเปิดโอกาสให้เข้าถึงเนื้อหาทุกประเภทได้ทันที โดยตัดขาดจากลำดับความสำคัญใดๆก็ตาม สร้างวัฒนธรรมที่บ่อยครั้งถูกทำเครื่องหมายด้วยความฉับไว โดย “ตอนนี้” ด้วยความอ่อนแอของหน่วยความจำ และทำให้ขาดมุมมองและความเข้าใจในภาพรวม โดยธรรมชาติแล้ว สื่อจะนำเสนอเรื่องราวที่คัดเลือกมาแล้วของโลก แทนที่จะเข้าถึงได้โดยตรง โดยจัดกลุ่มภาษาต่างๆ ที่กระจายอยู่ทั่วโลกและในพริบตาเดียว ไม่เสมอไปที่ชนรุ่นใหม่จะถูกสร้างและมีความพร้อมในทางวัฒนธรรมให้เผชิญกับความท้าทายที่สังคมดิจิทัลนำเสนอ  ดังนั้น จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องให้การศึกษาเกี่ยวกับสื่อเพราะสิ่งที่เสี่ยงคือการไม่รู้รูปแบบหนังสือดิจิทัล ท่ามกลางการผลิตดิจิทัลที่ไม่รู้จบในปัจจุบัน คนไม่รู้หนังสือจะเป็นผู้ที่ไม่สามารถรับรู้ถึงความแตกต่างในด้านคุณภาพและความน่าเชื่อถือของเนื้อหาดิจิทัลต่างๆ ที่พวกเขาพบ

 

369.       เป็นที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าสื่อสังคมออนไลน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อดิจิทัลนั้นแท้จริงแล้วเป็นตัวแทนหลักในการขัดเกลาทางสังคมจนเกือบจะถึงจุดที่เข้ามาแทนที่คนดั้งเดิมเช่น ครอบครัว พระศาสนจักร โรงเรียน การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันดูเหมือนจะได้รับการพัฒนามากขึ้นในเครือข่ายสังคมออนไลน์ และน้อยลงเรื่อยๆ ในพื้นที่ทางสังคมแบบดั้งเดิม ในทางปฏิบัติ เราต้องประเมินและเข้าใจข้อจำกัดของประสบการณ์การเรียนรู้โดยปริยายที่ยุคดิจิทัลมีให้ในแต่ละวันรูปแบบการโต้ตอบส่วนบุคคล (interaction) หลายรูปแบบอยู่ในลักษณะเสมือนจริง (virtual) แทบจะเข้ามาแทนที่ความสัมพันธ์ในรูปแบบดั้งเดิมต่างๆ ทั้งหมดโดยเฉพาะสำหรับคนรุ่นใหม่ เป็นอุปสรรคมิให้พวกเขา “สัมผัสโดยตรงกับความรู้สึกเศร้าโศกเสียใจ ความกังวล และความชื่นชมยินดีของผู้อื่น รวมทั้งความซับซ้อนในประสบการณ์ของแต่ละบุคคล”[49]

 

การประกาศและการสอนคำสอนในยุคดิจิทัล

370.       พระศาสนจักรได้รับเรียกให้ไตร่ตรองถึงแนวทางเฉพาะในการแสวงหาความเชื่อในหมู่คนหนุ่มสาวยุคดิจิทัล  และยังผลให้เป็นแนวทางในการประกาศข่าวดีแห่งพระวรสารให้ทันสมัยด้วยภาษาของคนรุ่นใหม่ เชิญชวนพวกเขาให้สร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของหมู่คณะขึ้นมาใหม่ซึ่งรวมถึงสิ่งที่พวกเขาไม่ได้สัมผัสทางออนไลน์ด้วย  ซึ่งดูเหมือนว่าฤดูกาลจะเริ่มต้นขึ้นด้วยการสอนคำสอนซึ่งจะสามารถกลายเป็นตัวแทนของความสนใจได้เพื่อออกแบบเส้นทางไปสู่ความเชื่อที่มีมาตรฐานน้อยลงและใส่ใจในเอกลักษณ์ของแต่ละคนมากขึ้น  ความท้าทายในการอภิบาลคือการร่วมเดินทางไปกับคนหนุ่มสาวในการแสวงหาตัวตน ซึ่งหมายถึงการค้นพบอิสรภาพภายในและการเรียกของพระเจ้า ที่ทำให้เขาแตกต่างจากกลุ่มสังคมที่เขาอยู่ ความท้าทายอีกประการหนึ่งคือความชัดเจนในเรื่องภาษาที่ใช้ออนไลน์ ซึ่งมักฟังดูเหมือนภาษาทางศาสนา  เช่นว่า การเรียกของพระเยซูเจ้าให้เป็นศิษย์ติดตามพระองค์ ซึ่งจำเป็นต้องอธิบายเพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนกับพลวัตตามแบบฉบับของอินเทอร์เน็ต กล่าวคือ พลวัตของการเป็นศิษย์อันที่จริงไม่เหมือนกับที่จัดตั้งขึ้นของบรรดาผู้มีอิทธิพลต่อความคิด (influencers) และผู้ติดตามเสมือนจริงของเขา การสร้างศิษย์เรียกร้องรูปแบบที่มีพลังโดยอาศัยการร่วมก้าวเดินเป็นส่วนตัวกับเขาอาจทำให้คนหนุ่มสาวแต่ละคนค้นพบเป้าหมายชีวิตส่วนตัวของเขา  การเดินทางนี้ต้องผ่านจากความสันโดษ หล่อเลี้ยงด้วยความชอบ (likes) ไปสู่การทำให้โครงการส่วนบุคคลและเพื่อสังคมเป็นจริงในชุมชน

 

371.       ในกระบวนการประกาศข่าวดีแห่งพระวรสาร  คำถามที่แท้จริงไม่ใช่ว่าจะใช้เทคโนโลยีใหม่ในการประกาศพระวรสารอย่างไร  แต่จะเป็นการประกาศข่าวดีในโลกดิจิทัลได้อย่างไร การสอนคำสอนซึ่งไม่ใช่เพียงแค่กลายเป็นเนื้อหาดิจิทัล จำเป็นแน่นอนที่สุดที่จะต้องเข้าใจพลังของสื่อดิจิทัลนี้และใช้ศักยภาพ และแง่มุมเชิงบวกต่างๆ ทั้งหมดของมันขณะที่ยังคงต้องตระหนักว่าการสอน    คำสอนไม่เพียงแค่ดำเนินไปโดยการใช้เครื่องมือดิจิทัลต่างๆ เท่านั้น  แต่ด้วยการเสนอพื้นที่สำหรับการมีประสบการณ์ทางความเชื่อด้วย สิ่งนี้เป็นวิธีเดียวที่จะหลีกเลี่ยงการสอนคำสอนในโลกเสมือน ซึ่งจะทำให้กิจกรรมการสอนคำสอนอ่อนแอและไร้ประสิทธิภาพ หน้าที่ของผู้ใหญ่ที่ต้องการปลูกฝังความเชื่อก็คือการหล่อเลี้ยงด้วยประสบการณ์ต่างๆ โดยการสอนคำสอนที่เป็นการให้เนื้อหาศาสนาควบคู่ไปกับการมีประสบการณ์กับพระเจ้าเท่านั้นที่จะสามารถให้ความหมายได้  การปลูกฝังความเชื่อมีพื้นฐานอยู่บนประสบการณ์ที่แท้จริงซึ่งจะต้องไม่สับสนกับการพิสูจน์ทดลองต่างๆ กล่าวคือ ประสบการณ์ความเชื่อจะเปลี่ยนแปลงชีวิตและให้หลักในการทำความเข้าใจ  ขณะที่การทดลองเป็นเพียงการจำลองทำซ้ำในลักษณะที่เหมือนกันเท่านั้น การสอนคำสอนจะต้องหาวิธีการที่เหมาะสมในการตอบคำถามสำคัญเกี่ยวกับความหมายของชีวิต ภาพลักษณ์   อารมณ์ความรู้สึก   อัตลักษณ์ทางเพศ   ความยุติธรรมและสันติภาพ ซึ่งในยุคดิจิทัลได้รับการปฏิบัติที่ต่างออกไป

 

372.       การสอนคำสอนในยุคดิจิทัลจะต้องมีลักษณะเป็นแบบเฉพาะบุคคล แต่ต้องไม่เป็นกระบวนการของปัจเจกบุคคล กล่าวคือจะต้องทำการเปลี่ยนผ่านจากโลกโซเชียลมีเดียที่เป็นปัจเจกและแปลกแยกไปสู่การร่วมในหมู่คณะของ พระศาสนจักร ที่ซึ่งประสบการณ์ของพระเจ้าก่อให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวและการแบ่งปันชีวิต เราต้องไม่ตีค่าต่ำเกินไปของพลังของพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ในการสื่อสารความเชื่อและนำประชาชนให้มีประสบการณ์กับพระเจ้า พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์นั้นนอกจากจะสื่อสารด้วยถ้อยคำแล้วยังประกอบไปด้วยสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายต่างๆ มากมายที่เอื้อให้เกิดการรับรู้โดยประสาทสัมผัสต่างๆ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะค้นให้พบถึงสิ่งที่พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์สามารถช่วยได้ รวมทั้งศิลปะศักดิ์สิทธิ์ด้วยเพื่อแสดงให้เห็นถึงธรรมล้ำลึกของความเชื่อ ความท้าทายของการประกาศข่าวดีเกี่ยวเนื่องกับการนำความเชื่อให้หยั่งรากลึกในวัฒนธรรมโลกดิจิทัลนั่นเอง สิ่งสำคัญคือต้องช่วยให้ผู้คนไม่สับสนระหว่างวิธีการกับเป้าหมาย ช่วยให้เข้าใจวิธีท่องโลกออนไลน์  ในลักษณะที่จะเติบโตในฐานะบุคคล และสามารถจะก้าวข้ามเทคโนโลยีเพื่อฟื้นฟูความเป็นมนุษย์ในความสัมพันธ์กับองค์พระคริสตเจ้า

 

การสอนคำสอนและคำถามบางอย่างเกี่ยวกับชีวจริยธรรม

373.       ชีวิตและความดีของสิ่งสร้างอยู่บนพื้นฐานของพระพรแต่แรกเริ่มของพระเจ้า กล่าวคือ “พระ​เจ้า​ทรง​เห็น​ว่า​ทุกสิ่ง​ที่​ทรง​สร้าง​นั้น​ดี​มาก” (ปฐก 1:31) พระพรนี้มอบโลกที่เป็นระเบียบให้กับมนุษยชาติ  แต่พระองค์ทรงขอให้ทุกคนมีส่วนช่วยเหลือในการรักษาและการเติบโตของโลก ในแวดวงคาทอลิก จริยธรรมทางชีวภาพขับเคลื่อนไปในระดับที่ใช้เหตุผล แต่ได้รับแรงบันดาลใจจากข้อมูลจากการเผยแสดงของพระเจ้า ซึ่งเป็นรากฐานของมานุษยวิทยาของชาวคริสต์ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการประยุกต์ใช้จึงไม่เป็นกลางทางศีลธรรม และเกณฑ์ชี้นำไม่สามารถอนุมานจากประสิทธิภาพทางเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว จากประโยชน์ใช้สอยหรือจากอุดมการณ์ใดใดที่ครอบงำอยู่ ประเด็นหลักๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวจริยธรรมนั้นจะกล่าวถึงเรื่องกำเนิดชีวิต (สถานะของตัวอ่อนมนุษย์ การให้กำเนิดโดยใช้ความช่วยเหลือทางการแพทย์...) จนถึงจุดสิ้นสุดของชีวิต (คำจำกัดความของการตาย การุณยฆาต การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง...) ไปจนถึงสุขภาพและการใช้มนุษย์ในการทดลอง (วิศวพันธุกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ...)

 

374.       การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านชีววิทยาได้ปรับปรุงสภาพชีวิตเพื่อมนุษยชาติ พันธุศาสตร์เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาด้านนี้  พระศาสนจักรนั้นให้การสนับสนุนและซาบซึ้งในบุคคลที่อุทิศตนในความพยายามและการวิจัยต่างๆ  อย่างไรก็ตาม   ถ้าในทางหนึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้รับเรียกให้มองหาความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยี ในอีกทางหนึ่งเขาต้องตระหนักว่าไม่ใช่ทุกสิ่งที่เป็นไปได้ทางเทคโนโลยีจะยอมรับได้ในทางศีลธรรม จำเป็นจะต้องพิจารณาถึงมิติทางด้านจริยธรรมในการวิจัยและการประยุกต์ใช้ด้วย อันที่จริง การกระทำที่มีประสิทธิภาพทางเทคโนโลยีอาจขัดกับศักดิ์ศรีของบุคคลก็เป็นได้

 

375.       สิ่งสำคัญคือต้องแยกแยะความแตกต่างระหว่างการรักษาและการเข้าไปจัดการอย่างผิดศีลธรรม การบำบัดรักษาเพื่อแก้ไขความผิดปกติทางพันธุกรรมอาจทำได้ตราบเท่าที่มันส่งเสริมความดีของบุคคลโดยไม่ส่งผลต่ออัตลักษณ์ความเป็นตัวตนของเขา กล่าวคือธรรมชาติของมนุษย์นั้นจะต้องไม่ถูกทำให้เปลี่ยนแปลงไป  การทำการรักษาในระดับเซลล์ร่างกายต่างๆ เป็นไปโดยที่ยังคงรักษาศักดิ์ศรีของบุคคล ขณะที่การคัดเลือกสายพันธุ์ โดยการคัดเลือกลักษณะของสายพันธุ์มนุษย์ตามที่ต้องการนั้นไม่สอดคล้องกับความเคารพต่อบุคคล

 

376.       เทคโนโลยีชีวภาพอนุญาตให้มีการแทรกแซงไม่เฉพาะในข้อบกพร่องเท่านั้น แต่ยังรวมถึงลักษณะทางพันธุกรรมอื่นๆ ด้วย จะต้องให้ความสนใจอย่างใกล้ชิดกับการทดลองทางพันธุกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงในการคัดเลือกสายพันธุ์ (Eugenics) ซึ่งในความเป็นจริงเป็นวิธีปฏิบัติที่ส่งผลต่อการเลือกปฏิบัติในหมู่มนุษย์  ยิ่งกว่านั้น ความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยีของสิ่งที่เรียกว่าพันธุวิศวกรรมเข้ามาแตะต้องถึงแก่นแท้ของมานุษยวิทยาในความเป็นไปได้ที่เป็นรูปธรรมของการจัดการตนเองและการกำหนดตนเองตามปรัชญาของสิ่งที่เรียกว่ามนุษย์ข้ามเพศ (transhumanism) ให้ชีวิตแก่ปัจเจกชนทั้งหลายที่มีเพศสภาพที่ต่างจากธรรมชาติที่ได้รับมาโดยกำหนดได้ตามความต้องการ

 

377.       แนวโน้มที่แพร่หลายในสิ่งที่นำเสนอภายใต้หัวข้อเรื่อง เพศ(Gender) ในปัจจุบันทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความจริงที่ได้รับการเผยแสดง กล่าวคือ “พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ให้เป็นชายและหญิง” (ปฐก 1:27) ในแง่นี้ อัตลักษณ์ทางเพศจะไม่เกิดขึ้นมาก่อนโดยที่มนุษย์ต้องยอมรับและทำให้มันมีความหมายอีกต่อไป แต่เป็นโครงสร้างทางสังคมที่ตัดสินใจเองโดยอิสระอย่างเต็มที่โดยแยกจากเพศสภาพของตนโดยสิ้นเชิง  มนุษย์ปฏิเสธธรรมชาติของตนเองและตัดสินใจว่าพวกเขาจะสร้างขึ้นเองโดยลำพัง ขณะที่พระคัมภีร์บันทึกไว้พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ให้เป็นชายและหญิง พระศาสนจักรตระหนักดีถึงความซับซ้อนของสถานการณ์ส่วนบุคคลที่เกิดขึ้นซึ่งในบางครั้งมีลักษณะขัดแย้งกัน  พระศาสนจักรไม่ตัดสินใคร  แต่เรียกร้องให้พวกเขาได้รับการร่วมเดินไปกับพระศาสนจักรเสมอไม่ว่าในสถานการณ์ใดก็ตาม อย่างไรก็ตาม ในมิติแห่งความเชื่อนั้นพระศาสนจักรตระหนักดีว่าลักษณะทางเพศนั้นไม่ใช่เพียงแค่ความจริงทางกายภาพเท่านั้นแต่เป็นบุคคลทั้งครบ  เป็นคุณค่าที่ได้รับมอบหมายไว้ในความรับผิดชอบของบุคคล ในแง่นี้ อัตลักษณ์ทางเพศและประสบการณ์ของชีวิตจะต้องเป็นการตอบสนองต่อกระแสเรียกแรกเริ่มของพระเจ้าด้วย

 

378.       ประเด็นปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับจริยศาสตร์ชีวภาพนั้นเป็นความท้าทายต่อการสอนคำสอนและหน้าที่ในการให้การอบรมสั่งสอน เมื่อเห็นว่ามีความเหมาะสมและตามสภาพแวดล้อมต่างๆ ผู้ทำงานด้านอภิบาลควรจัดโครงการการศึกษาเฉพาะด้านความเชื่อและศีลธรรมของศาสนาคริสต์  ซึ่งประเด็นต่างๆ เช่น ชีวิตมนุษย์ในฐานะของขวัญจากพระเจ้า การเคารพต่อบุคคลและการพัฒนาที่สมบูรณ์ของเขา  วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมุ่งสู่ความดีของมนุษยชาติ ซึ่งอาจเป็นโอกาสให้ได้รับแนวทางจากอำนาจสอนของพระศาสนจักร ซึ่งมีเนื้อหาอยู่ในหนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิกด้วย การสอนคำสอนให้ความรู้แก่บรรดาครูคำสอนในการสร้างมโนธรรมที่สัมพันธ์กับคำถามเกี่ยวกับชีวิต  โดยให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะให้ความสนใจกับความท้าทายที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนำองค์ประกอบพื้นฐานเหล่านั้นมาใช้เพื่อการประกาศความเชื่อ

          -  พระเจ้าเป็นจุดอ้างอิงอันดับแรกและสำคัญที่สุดสำหรับชีวิต นับตั้งแต่การปฏิสนธิจนถึงความตายตามธรรมชาติ

          -  บุคคลประกอบด้วยร่างกายและจิตวิญญาณเสมอ

          -  วิทยาศาสตร์นั้นเพื่อบริการรับใช้บุคคล

          -  ชีวิตต้องได้รับการยอมรับไม่ว่าสภาพจะเป็นเช่นไร เพราะชีวิตได้รับการไถ่กู้โดยธรรมล้ำลึกปัสกาขององค์พระเยซูคริสตเจ้า   

 

การสอนคำสอนและความสมบูรณ์ (integrity) ของบุคคล

379.       ทุกคนที่ถูกสร้างตามภาพลักษณ์และเหมือนพระเจ้าล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและมีศักดิ์ศรีอันแท้จริงและไม่อาจแบ่งแยกได้ สิ่งนี้พบรากฐานในความจริงที่ได้รับการเผยแสดง เป็นหลักการซึ่งถูกจารึกในธรรมชาติของมนุษย์ อันเป็นที่ยอมรับรู้สากลถึงตราประทับของพระเจ้าองค์พระผู้สร้าง  การเปิดเผยทั้งหมดมุ่งสู่ความจริงนี้และเป็นเครื่องยืนยันถึงความเท่าเทียมกันของทุกคนต่อพระพักตร์พระเจ้า ผู้ทรงเป็นผู้ค้ำประกันและผู้ตัดสินชีวิตแต่เพียงผู้เดียว ในบริบทสมัยใหม่ มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมีความมุ่งมั่นอย่างเป็นรูปธรรมในการปกป้องชีวิตและศักดิ์ศรีของมัน ในการเผชิญกับการแสดงออกที่หลากหลายของวัฒนธรรมแห่งความตายที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ในภาคส่วนอันกว้างใหญ่ของสังคมโลก (เทียบ GS 27) “การปกป้องศักดิ์ศรีของชีวิตมนุษย์นับแต่วินาทีแรกของการปฏิสนธิไปจนถึงความตายตามธรรมชาติได้รับการสอนโดยพระศาสนจักรอย่างสม่ำเสมอและเชื่อถือได้”[50]

 

380.       ในพันธกิจของพระศาสนจักรในการส่งเสริมชีวิตมนุษย์ในทุกที่ทุกเวลา ตลอดจนการปกป้องชีวิตเมื่อถูกคุกคาม พระศาสนจักรยืนยันอย่างชัดเจนว่าชีวิตของบุคคลนั้นศักดิ์สิทธิ์และล่วงละเมิดมิได้ ในแง่นี้ การยอมรับความก้าวหน้าในหลักคำสอนที่บรรลุผลโดยอำนาจของพระสันตะปาปาเมื่อไม่นานนี้ “ต้องระบุให้ชัดเจนว่าโทษประหารเป็นมาตรการที่ไร้มนุษยธรรม ไม่ว่าจะดำเนินการด้วยวิธีใด เป็นการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งในตัวมันเอง(per se) ขัดแย้งกับข่าวดีแห่งพระวรสาร เพราะเป็นการจงใจกดขี่ชีวิตมนุษย์ที่พระเจ้าไม่เคยหยุดที่จะดูแลเอาใจใส่”[51] ดังนั้น การสอนคำสอนจึงต้องพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ความเข้าใจคำสอนของพระศาสนจักรในเรื่องนี้ และเพื่อช่วยสร้างวัฒนธรรมใหม่  ความท้าทายเรื่องการเคารพในศักดิ์ศรีและความเป็นบุคคลทั้งครบจึงยังคงเป็นสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องสำหรับการประกาศความรักเมตตาของพระเจ้าในโลกร่วมสมัย

 

การสอนคำสอนและการมีส่วนร่วมด้านสิ่งแวดล้อม

381.       ถ้าในด้านหนี่งการเติบโตของเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของจิตวิญญาณมนุษย์  ในทางกลับกัน  เทคโนโลยี “มิได้ดำเนินไปพร้อมกับการพัฒนามนุษย์ในเรื่องความรับผิดชอบ  คุณค่า  และมโนธรรม”[52] ประเด็นหนึ่งที่เป็นผลมาจากการถือมนุษย์เป็นศูนย์กลางมากจนเกินไปนั้นที่เห็นได้ชัดเจนก็คือวิกฤตสิ่งแวดล้อม วิกฤตที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่จะต้องจัดการพร้อมๆ กัน กล่าวคือ ปัญหามลภาวะและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การใช้วัตุดิบและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ความไม่เท่าเทียมกันในระดับโลก การเสื่อมถอยของคุณภาพชีวิตและความเสื่อมของสังคมมนุษย์ เมื่อเผชิญกับความเร่งด่วนและความซับซ้อนของปัญหาสิ่งแวดล้อม บรรดาพระสันตะปาปา[53]  ได้เรียกร้องอย่างไม่หยุดหย่อนให้มีการกลับใจด้านสิ่งแวดล้อมอย่างลึกซึ้ง แตะต้องไปถึงแก่นแท้ของมนุษย์  ซึ่งในที่สุดแล้วจะพบรากเหง้าของปัญหาและวิธีการแก้ไข

 

382.       ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้รับความสนใจจากผู้คนและองค์กรที่มีภูมิหลังทางวัฒนธรรมและปรัชญาที่หลากหลาย  แต่สำหรับผู้มีความเชื่อได้รับการเรียกร้องให้รู้สึกว่ามันเกี่ยวข้องกับพวกเขาเช่นกัน   โดยตระหนักว่า “ความรับผิดชอบของพวกเขาในการสร้างสรรค์และหน้าที่ของเขาที่มีต่อธรรมชาติและต่อพระผู้สร้างนั้นเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อของพวกเขาด้วย”[54] วิสัยทัศน์ของคริสตชนในเรื่องการสร้างและกิจกรรมของมนุษย์เชื้อเชิญให้ “การตั้งมั่นอยู่ในความเชื่อจะเป็นแรงจูงใจที่ยิ่งใหญ่ให้คริสตชนและศาสนิกอื่นๆ ปกป้องดูแลธรรมชาติและพี่น้องที่อ่อนแอที่สุด”[55] พร้อมกับเกณฑ์ทางเลือกสำหรับการทบทวนถึงความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจ การปกป้องสิ่งสร้างของพระเจ้า ความยุติธรรมทางสังคม  และการตัดสินใจทางการเมือง  ดังนั้นจึงจำเป็นต้องฟังเสียงร้องของแผ่นดินซึ่งเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับเสียงร้องของคนจน  ในเสียงร้องครวญครางนี้  ซึ่งเป็นเสียงคร่ำครวญของสรรพสิ่ง (เทียบ รม 8:22)  มีการอุทธรณ์ที่มาจากพระเจ้าซ่อนอยู่

 

383.       การสอนคำสอนสามารถรับรู้ถึงเสียงของพระเจ้าในเครื่องหมายต่างๆ ดังกล่าว และด้วยเหตุนี้ ร่วมกับกิจกรรมอื่นๆ ทั้งหมดของการอภิบาลของพระศาสนจักร จึงต้องไม่ละเลยหน้าที่ในการจูงใจและสนับสนุนจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อมในบรรดาผู้มีความเชื่อ โดยมีพื้นฐานจากปรีชาญาณที่มาจากเรื่องราวในพระคัมภีร์และคำสอนของพระศาสนจักร  การสอนคำสอนเพื่อการมีส่วนร่วมในการปกป้องสิ่งสร้างจะส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมแห่งความห่วงใยในสิ่งแวดล้อมรวมทั้งผู้ที่อาศัยอยู่ในมันด้วย  นี่หมายถึงการส่งเสริมทัศนคติที่ให้ความเคารพต่อทุกคน สอนความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบของมนุษย์ อบรมสั่งสอนคนให้มีคุณธรรม ถ่อมตนและมีสติสัมปชัญญะ พ้นจากการบริโภคนิยม นำไปสู่คุณค่าเชิงสัญลักษณ์ของความเป็นจริงที่ถูกสร้างขึ้นโดยเฉพาะเครื่องหมายในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องของการส่งเสริมให้มีทัศนคติและพฤติกรรมที่เป็นผลจากการใส่ใจสิ่งแวดล้อมรอบด้าน ซึ่งรวมถึงแง่มุมต่างๆ ของคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ได้แก่ สิ่งแวดล้อมเศรษฐกิจ สังคม และนิเวศวิทยาทางการเมือง นิเวศวิทยาทางวัฒนธรรม และนิเวศวิทยาในชีวิตประจำวัน

 

384.       การสอนคำสอนก่อนอื่นใดจำเป็นต้องดูแลให้ผู้มีความเชื่อตระหนักว่าการเอาใจใส่ต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นส่วนสำคัญของชีวิตคริสตชน แล้วต่อจากนั้นจึงเป็นการประกาศความจริงของความเชื่อที่อยู่ภายใต้เรื่องของสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ พระเจ้าพระบิดาในฐานะพระผู้สร้างผู้ทรงสรรพานุภาพ ความล้ำลึกของสิ่งสร้างในฐานะของขวัญจากพระเจ้าที่มีอยู่ก่อนมนุษย์  ซึ่งเป็นสุดยอดของสิ่งสร้างและผู้ปกป้อง เรื่องของความสัมพันธ์และความกลมกลืนของความเป็นจริงของสรรพสิ่งที่ถูกสร้าง การไถ่กู้ที่เกิดขึ้นโดยองค์พระคริสตเจ้า พระบุตรหัวปีของการสร้างใหม่ของพระเจ้า[56] และที่สุดเพื่อให้มิติการเรียนรู้เกิดขึ้นจะต้องเคียงข้างบรรดาคริสตชนในการเจริญชีวิตตามศีลธรรมที่ความเชื่อเรียกร้อง  ชี้ให้เห็นถึงทัศนคติต่างๆ ที่นำไปสู่การแก้ปัญหา ให้แรงจูงใจทางด้านเทววิทยาและชีวิตจิตเพื่อการกลับใจด้านสภาพแวดล้อม และสนับสนุนการกระทำที่เป็นรูปธรรมในการดูแลบ้านที่เราอาศัยอยู่ร่วมกัน[57]

 

การสอนคำสอนและการเลือกผู้ยากจน

385.       ทางเลือกพิเศษหรือความรักต่อผู้ยากไร้เป็นรูปแบบพิเศษของกิจกรรมเริ่มแรกของความรักเมตตาที่สัมผัสกับชีวิตของคริสตชนทุกคนในฐานะผู้เลียนแบบอย่างองค์พระคริสตเจ้า[58] ความรักของพระศาสนจักรที่มีต่อคนยากจนและต่อทุกคนที่อยู่ในความขัดสนเป็นธรรมประเพณีที่คงอยู่ในพระศาสนจักร[59] “สำหรับพระศาสนจักร การเลือกอยู่ข้างผู้ยากไร้เป็นเรื่องในระดับเทววิทยาก่อนที่จะเป็นเรื่องของวัฒนธรรม สังคม การเมืองหรือปรัชญา”[60] อันที่จริงทางเลือกนี้มีพื้นฐานจากความรักของพระเจ้าที่มีต่อผู้ถูกเนรเทศ ผู้ไม่มีสิทธิในมรดก  ผู้ถูกทอดทิ้ง  หญิงม่าย  เด็กกำพร้าและคนเจ็บป่วย  ดังที่บรรยายไว้อย่างต่อเนื่องในพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์

 

386.       ในพระบุตรแต่องค์เดียวนั้น พระเจ้าพระองค์เองทรงยอมกลายเป็นคนยากจนเพื่อทำให้มนุษยชาติเป็นผู้ร่ำรวย (เทียบ ฟป 2:6-8) พระเยซูเจ้าทรงประกาศถึงพระอาณาจักรของพระเจ้าว่า ผู้รับสิทธิพิเศษคือคนยากจน (เทียบ ลก 4:18-19; มธ 11:5) พระองค์ประกาศว่าผู้ยากจนนั้นเป็นสุข (เทียบ ลก 6:20-21) ดังนั้นการสอนว่าการบริการรับใช้และให้การต้อนรับทุกคนที่อยู่ในความขัดสนเท่ากับการรับรู้ว่าพระเยซูเจ้าพระองค์เองทรงประทับอยู่ ราวกับพวกเขาเป็นพระองค์เอง “ท่านก็ทำสิ่งนั้นต่อเรา” (มธ 25:40) พระเยซูเจ้าจึงทรงแสดงให้เห็นถึงความผูกพันอันล้ำลึกระหว่างการไตร่ตรองเรื่องพระเจ้าและความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับบรรดาผู้บาดเจ็บและถูกทอดทิ้ง ทรงเรียกบรรดาศิษย์ให้ไม่เพียงแต่รับใช้บรรดาคนยากจนแต่ค้นพบพระองค์ที่ทรงประทับอยู่ในพวกเขาเหล่านั้น และโดยผ่านทางพวกเขาจะได้พบกับองค์พระบิดาเจ้าเช่นเดียวกัน สำหรับบรรดาศิษย์ขององค์พระคริสตเจ้า ความยากจนนั้นอันดับแรกเป็นเสียงเรียกเพื่อติดตามองค์พระเยซูเจ้าผู้ทรงเป็นคนยากจน  กล่าวคือเป็นท่าทีจิตใจที่ช่วยไม่ให้ยึดความจริงอันผิวเผินมาเป็น เป้าหมายของชีวิตและเงื่อนไขเพื่อได้มาซึ่งความสุขในชีวิต พระศาสนจักรเองได้รับเรียกให้เจริญชีวิตในความยากจนโดยยอมมอบตนทั้งครบแด่พระเจ้า  ไม่ไว้วางใจในวิธีการของโลก

 

387.       การเลือกคนยากจนนั้นมีพลวัติของการเผยแผ่ความเชื่อที่ช่วยส่งเสริมคุณค่าซึ่งกันและกัน กล่าวคือเป็นการช่วยให้พวกเขาเป็นอิสระ แต่ก็ได้รับการเป็นอิสระโดยพวกเขาด้วย เป็นการเยียวยาบาดแผลของพวกเขาแต่ก็ได้รับการเยียวยาด้วยเช่นกัน เป็นการประกาศข่าวดีแก่พวกเขาและในขณะเดียวกันก็ได้รับการประกาศข่าวดีจากพวกเขาด้วย “บรรดาคนยากจนมีหลายสิ่งหลายอย่างที่จะสอนเรา  ยิ่งกว่านั้น ในการรับรู้ sensus fidei (ความสำนึกเหนือธรรมชาติถึงความเชื่อ) จากความทุกข์ทรมานที่พวกเขาได้รับ พวกเขาจึงได้รู้จักพระคริสตเจ้าผู้ทุกข์ทรมาน เป็นสิ่งจำเป็นที่เราทุกคนต้องยอมให้ผู้ยากไร้ประกาศพระวรสารแก่เรา การประกาศพระวรสารครั้งใหม่เป็นการเชื้อเชิญให้ยอมรับพลังที่ช่วยให้รอดของชีวิตบรรดาผู้ยากไร้  และให้พวกเขาอยู่ตรงใจกลางการเดินทางของพระศาสนจักร”[61] การพบปะกับองค์พระคริสตเจ้าซึ่งเป็นเป้าหมายปลายทางของทุกการเดินทางแห่งความเชื่อนั้นเกิดขึ้นได้ด้วยวิธีพิเศษในการพบปะกับคนยากจน ด้วยประสบการณ์ของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและการทำงานอาสาสมัคร กล่าวคือ “หากเราปรารถนาอย่างแท้จริงที่จะพบกับองค์พระคริสตเจ้า  เราต้องสัมผัสพระวรกายของพระองค์ในร่างกายที่กำลังทนทุกข์ของบรรดาคนยากจน เพื่อเป็นการตอบสนองต่อความเป็นหนึ่งเดียวแห่งศีลศักดิ์สิทธิ์ในศีลมหาสนิท”[62]

 

388.       การสอนคำสอนได้รับความท้าทายจากความยากจน โดยมองว่าความยากจนนี้เป็นเนื้อแท้ของสารแห่งข่าวดี  เพราะรับรู้ได้ถึงคุณค่าของมันและในแง่ของการอบรมคริสตชนนั้นความยากจนช่วยสอนผู้มีความเชื่อให้เข้าใจถึงความยากจนตามคุณค่าแห่งพระวรสารและชีวิตที่สมถะ ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการส่งเสริมทัศนคติพื้นฐานบางอย่างในตัวสัตบุรุษ ได้แก่ การเคารพในศักดิ์ศรีของบุคคล สนับสนุนให้เจริญเติบโตและส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความเป็นพี่เป็นน้องกัน มีความขุ่นเคืองต่อสถานการณ์ของความทุกข์ยากและความอยุติธรรม นอกจากนี้   การสอนคำสอนยังถือว่าความยากจนเป็นคุณธรรมที่ช่วยให้สามารถใช้สิ่งของวัตถุได้อย่างถูกต้อง แม้กระทั่งช่วยให้คนๆ หนึ่งดำเนินชีวิตตามสายสัมพันธ์แห่งความรักอย่างเสรีและเหมาะสม  ดังนั้นจึงเรียกร้องบรรดาครูคำสอนที่อาจต้องปลุกจิตสำนึก เหนือสิ่งอื่นใดในช่วงใกล้ถึง “วันสากลเพื่อคนยากจน”  ว่าการไตร่ตรองทางคำสอนนั้นมาพร้อมกับความพยายามที่เป็นรูปธรรมและมีความพยายามที่จับต้องได้ในเครื่องหมายความสนใจต่อคนยากจนและบุคคล ชายขอบทั้งหลาย

 

การสอนคำสอนและการมีส่วนร่วมในสังคม

389.       ความซับซ้อนของปัญหาด้านสังคมร่วมสมัยอาจทำให้ผู้มีความเชื่อเกิดท่าทีของความไม่ไว้วางใจและการวางเฉย ขณะที่การรับใช้ผู้อื่นเป็นหัวใจของพระวรสาร ดังนั้น “ทั้งการเทศน์สอนและการใช้ชีวิตของคริสตชนจึงมีความหมายที่มุ่งก่อให้เกิดผลทางสังคม”[63] พระศาสนจักรโดยเน้นถึงความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดระหว่างการประกาศข่าวดีแห่งพระวรสารและการพัฒนามนุษย์ที่สมบูรณ์[64]  ย้ำว่าความเชื่อจะต้องไม่ดำรงอยู่ในฐานะความจริงของแต่ละบุคคล โดยปราศจากผลที่เป็นรูปธรรมในสังคม “ความเชื่อที่แท้จริงไม่เคยเป็นเรื่องสะดวกสบายหรือเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล แต่เป็นความปรารถนาอย่างลึกซึ้งที่จะเปลี่ยนแปลงโลก  ถ่ายทอดคุณค่า  และมอบบางสิ่งบางอย่างที่ดี  หลังจากที่เราผ่านจากโลกนี้ไปแล้ว”[65] ส่วนที่ครบถ้วนของการเดินทางแสวงหาความเชื่อคือการพัฒนามุมมองด้านสังคมและการเมือง มุ่งที่จะขจัดความอยุติธรรม มีส่วนในการสร้างสันติภาพ  และปกป้องสิ่งสร้างของโลกนี้ รวมทั้งการส่งเสริมรูปแบบต่างๆ ของความเป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียวกันและการอุดหนุนช่วยเหลือกัน

 

390.       การสอนคำสอนโดยอาศัยแนวทางจากคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร[66] และโดยการปรับแนวทางนี้ในสภาพชีวิตของแต่ละคน ช่วยให้เห็นมุมมองของพระเยซูเจ้าเกี่ยวกับความเป็นจริงที่ทำให้เราตระหนักถึงการมีอยู่ของโครงสร้างของบาป ที่ส่งผลกระทบในทางลบต่อโครงสร้างทางสังคม และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังกระตุ้นให้สัตบุรุษทำงานเพื่อความดีส่วนรวม ทั้งในขอบเขตของชีวิตประจำวันของพวกเขาเอง และในระดับที่กว้างขึ้น ในการมีส่วนร่วมทางสังคมและการเมืองโดยตรงมากขึ้น “ความรักต่อสังคมและการ กระทำหน้าที่เพื่อความดีส่วนรวม เป็นรูปแบบเมตตาธรรมที่ดีเลิศ ซึ่งมิใช่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเท่านั้น แต่ยังเป็น “ความสัมพันธ์ระดับมหภาคคือ
ความสัมพันธ์ระหว่าง  สังคม  เศรษฐกิจและการเมือง”[67]

 

391.       บรรดาสัตบุรุษที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม วัฒนธรรม สื่อ เศรษฐกิจและการเมืองมากขึ้นต้องได้รับความสนใจเป็นพิเศษ  อันที่จริง  โดยอาศัยบทบาทตามอาชีพหรือบริการของตนภายในสถาบันที่ตนสังกัด พวกเขามีโอกาสมากที่จะมีส่วนสนับสนุนเพื่อความดีส่วนรวม  โดยผ่านทางองค์กรฆราวาสต่างๆ เพื่อสภาพแวดล้อมหรือรูปแบบอื่นๆ ของการมีส่วนร่วมในงานอภิบาล จำเป็นที่จะต้องเสนอเนื้อหาคำสอนที่สนับสนุนการยึดมั่นที่พระบุคคลของพระคริสตเจ้าอย่างมีชีวิตชีวา เสริมทักษะในการทำความเข้าใจในพระวรสารในสถานการณ์ซับซ้อน  การเปิดกว้างในการเสวนากับทุกคน  และความเที่ยงตรงทางศีลธรรมที่ไม่แบ่งแยกระหว่างความเชื่อกับชีวิต  ระหว่างการเป็นสมาชิกในพระศาสนจักรและการมีส่วนร่วมในโลก

 

การสอนคำสอนและสภาพแวดล้อมในการทำงาน

392.       โดยการทำงานด้วยมือของตนเอง ณ เมืองนาซาเร็ธ องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ประทานศักดิ์ศรีสูงสุดแก่แรงงาน ดังนั้นโดยการถวายงานของตนแด่พระเจ้า มนุษย์จึงร่วมส่วนในงานไถ่กู้ขององค์พระคริสตเจ้าอย่างแท้จริง “โดยการทำงานของเขา มนุษย์คนหนึ่งสามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว ร่วมมือและรับใช้เพื่อนมนุษย์ ตลอดจนสามารถแสดงความรักที่แท้จริงและเป็นส่วนหนึ่งในการนำการสร้างของพระเจ้าไปสู่ความดีบริบูรณ์” (GS 67) ผ่านการทำงานที่เสรี สร้างสรรค์ และงานที่ต้องร่วมมือกับผู้อื่น ทุกคนแสดงออกถึงศักดิ์ศรีของชีวิตของตนเอง เนื่องจาก “งานเป็นคุณลักษณะอย่างหนึ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสิ่งสร้างอื่นๆ”[68] ในบริบทของโลกาภิวัตน์  ความซับซ้อนและความขัดแย้งมากมายส่งผลกระทบต่อโลกแห่งการทำงาน  การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกของการทำงานทำให้ต้องมีการประกาศข่าวดีและการอบรมคริสตชนโดยเฉพาะแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงมากที่สุดหรือมีความรับผิดชอบสูงสุด

 

393.       ในการให้บริการการศึกษาในเรื่องความเชื่อนั้น  การสอนคำสอนเสนอหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักรอันเป็นจุดอ้างอิงสำหรับการอบรมคริสตชน สามารถกระตุ้นการประกาศข่าวดีในสถานการณ์ความเป็นจริงต่างๆ และในการทำงานโดยตรงมากขึ้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับการอบรมโดยมีโปรแกรมเฉพาะให้แก่องค์กรคนงานฆราวาส และกิจกรรมอภิบาลในสภาพแวดล้อมการทำงาน ก็ปรากฎอยู่ในการสอนคำสอนกับวัยรุ่น คนหนุ่มสาว และผู้ใหญ่อันที่จริงแล้วสิ่งเหล่านี้มีส่วนช่วยสร้างบุคลิกภาพแก่ผู้มีความเชื่อทั้งหลายด้วยเกี่ยวกับการทำงาน   การสอนคำสอนจะต้องแสดงให้เห็นความสำคัญของมนุษย์ที่มีต่อโลก   สนับสนุนให้คริสตชนเป็นประจักษ์พยานในที่ทำงาน   ช่วยให้สัตบุรุษเป็นเชื้อแป้งแห่งการคืนดีในสถานการณ์ขัดแย้ง  ส่งเสริมความพยายามในการมีมนุษยธรรมในการทำงาน  เรียกร้องให้ปกป้องสิทธิของผู้อ่อนแอที่สุด 

 

[39] Among all of these a prominent place belongs to the encyclical Fides et Ratio of John Paul II, specifically dedicated to this issue. Cf also some passages of the Second Vatican Council: GS 5, 36, 57, 62; OT 13, 15 and AA7; and of the CCC: 31-34, 39, 159, 2292-2296, 2417. The pontiffs, moreover, have delivered a number of addresses at universities, to scientists, and to men and women of culture. 
[40] ลัทธินิยมความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ลดปรากฎการณ์ที่ซับซ้อนของมนุษย์เหลือเพียงแค่องค์ประกอบทางด้านวัตถุเท่านั้น ในแง่นี้ ความเนื่องจากความจริงทางจิตวิญญาณ ทางจริยศาสตร์ และความจริงทางศาสนาไม่สามารถพิสูจน์เชิงประจักษ์ได้ จึงถือว่าไม่เป็นความรู้ที่แท้จริงและมีความจำกัดอยู่ที่จินตนาการของแต่ละคน cf John Paul II, Encyclical Letter Fides et Ratio (14th September 1998), 88.  
[41] EG 242.  
[42]  EG 132.
[43]  Cf John Paul II, Address to Pontifical Academy of Sciences (13th November 2000).
[44] ChV 86  
[45]  ChV 87
[46] ChV 88  
[47] ChV 89  
[48] ChV 89 
[49] Francis, Encyclical Letter Laudato si’ (24th May 2015), 47.  
[50] Francis, Address to participants in the meeting promoted by the Pontifical Council for Promoting the New Evangelization (11th October 2017). 
[51] Ibidem; cf also CCC 2267 (new edition 1st August 2018) 
[52] Francis, Encyclical Letter Laudato si’ (24th May 2015), 105.  
[53] Cf particularly Paul Vi, Octogesima adveniens(14th May 1971); John Paul II Centesimus annus (1st May 1991); Benedict XVI, Caritas in veritate (29th June 2009). The encyclical Laudato si’ of Pope Francis holds a prominent place in this regard. 
[54] John Paul II, Message for the Celebration of the World Day of Peace (1st January 1990), 15. 
[55] Francis, Encyclical Letter Laudato si’ (24th May 2015), 64. 
[56] Cf ibid, Chapter 2 and CCC 279-384. 
[57] See, in the encyclical Laudato si’, guidelines on the obstructing attitudes: no. 14; on the motivations: nn. 62-64 and 216; on concreate actions: chapters V-VI.
[58] Cf John Paul II Encyclical Letter Sollicitudo rei socialis (30th December 1987), 42. 
[59] For more on the Magisterium concerning the option for the poor over the past two centuries, cf Leo XIII, Rerum Novarum (15th May 1891); Pius XI, Quadragesimo anno (15th May 1931); John XXIII, Mater et magistra (15th May 1961); Second Vatican Council, Gaudium et spes (7th December 1965); Paul VI, Populorum Progressio (26th March 1967); John Paul II,  Sollicitudo rei socialis (30th December 1987); Id., Centesimus annus (1st May 1991); Pontifical Council for Justice and Peace, Compendium of the Social Doctrine of the Church (2nd April 2004); Benedict XVI, Caritas in Veritate (29th June 2009).             
[60] EG 198.
[61] EG 198.
[62] Francis, Message for the First World Day of the Poor (13th June 2017), 3.       
[63] EG 180; cf also EG 178-185.
[64] Cf Paul VI, Encyclical Letter Populorum progressio (26th March 1967), 14.  
[65] EG 183.
[66] For an overall view of the Church’s social doctrine, see: Pontifical Council for Justice and Peace,  Compendium of the Social Doctrine of the Church (2nd April 2004).
[67] Francis, Encyclical Letter Laudato si’ (24th May 2015), 231; cf also Benedict XVI, Encyclical Letter Caritas in veritate (29th June 2009), 2.   
[68] John Paul II, Encyclical Letter Laborem exercens (14th September 1981), 1.