คู่มือแนะแนวการสอนคำสอน - DIRECTORY FOR CATECHESIS (2020)

1. การสอนคำสอนในสถานการณ์พหุนิยม (ความหลากหลาย) และความซับซ้อน

320.       วัฒนธรรมในสมัยปัจจุบันเป็นความเป็นจริงที่ซับซ้อนอย่างมาก เนื่องมาจากปรากฎการณ์ของโลกาภิวัตน์และการใช้สื่ออย่างมหาศาลที่เพิ่มความเชื่อมโยงและความเกี่ยวข้องกันระหว่างปัญหาและภาคส่วนต่างๆ มีมากขึ้นซึ่งในอดีตอาจพิจารณาได้เป็นเรื่องๆ ไป ขณะที่ในปัจจุบันจำเป็นจะต้องใช้การพิจารณาแบบบูรณาการเข้ามาช่วย  อันที่จริงในโลกปัจจุบันนี้  ความก้าวหน้าในการทำความเข้าใจและแนวโน้มทางวัฒนธรรมมีการผสมผสานกันอย่างต่อเนื่อง รูปแบบของชีวิตเชิงโลกาภิวัตน์ และอิทธิพลของระบบการเมืองและเศรษฐกิจต่างๆ เช่น อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และทางศาสนา ปัญหาสังคมที่มีอยู่เดิมและที่อุบัติขึ้นใหม่ กำลังก่อให้เกิดสถานการณ์ที่ผสมปนเปและหลากหลาย ในเงื่อนไขของความซับซ้อนอันยิ่งใหญ่นี้มนุษย์มีจุดยืนที่แตกต่างกันอย่างมากในเรื่องชีวิตและความเชื่อ ทำให้เกิดพหุนิยมทางวัฒนธรรมและศาสนาที่เน้นเป็นพิเศษและยากต่อการบันทึกในบัญชีรายชื่อ

 

321.       ความเป็นจริงนี้ ต่างกันมากและแปรผันทั้งจากมุมมองทางด้านวัฒนธรรมทางสังคมและศาสนา จำเป็นจะต้องตีความในแบบรูปทรงที่มีหลายด้าน[2]   (polyhedral) โดยสงวนลักษณะเฉพาะและความสมเหตุสมผลของมุมมองแต่ละด้าน ไว้ขณะที่ในเวลาเดียวกันยังคงอยู่ในความสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อนกับทั้งหมดด้วย วิธีการนี้ทำให้สามารถตีความหมายปรากฎการณ์จากมุมมองที่แตกต่างกันได้ ขณะที่ยังคงสามารถมองเห็นความสัมพันธ์ที่มีต่อกันของแต่ละมุมมองได้ เป็นสิ่งสำคัญที่พระศาสนจักรซึ่งต้องการที่จะนำเสนอความงดงามแห่งความเชื่อแก่ทุกคนและแก่แต่ละคน จะต้องตระหนักถึงความซับซ้อนอันนี้ และพัฒนามุมมองต่อความจริงให้ลุ่มลึกและชาญฉลาดยิ่งขึ้น  เงื่อนไขเช่นนี้ทำให้เห็นว่ายิ่งมีความจำเป็นในการที่จะปรับใช้มุมมองของซีนอดพระสังฆราชเป็นเครื่องมือและแนวทางร่วมไปกับข้อเรียกร้องให้ก้าวเดินไปกับชุมชนด้วย นี่เป็นหนทางร่วมกันที่ปัจเจกบุคคลที่มีความแตกต่างกัน และบทบาทต่างๆ ที่มีร่วมกันเพื่อการประกาศข่าวดีจะได้สามารถดำเนินไปได้ในลักษณะที่เป็นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

 

322.       ในด้านความเคร่งครัดยิ่งขึ้นทางศาสนา มีบริบทท้องถิ่นมากมายในที่ซึ่งพระศาสนจักรเจริญชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบพหุศาสนาหรือแบบคริสตศาสนจักรสัมพันธ์  แต่บ่อยครั้งในท่ามกลางคริสตชนด้วยกันมักจะมีความเฉยชาหรือขาดความกระตือรือร้น มีลักษณะของสัมพัทธ์นิยมหรือลักษณะของการผสมศาสนาเข้าด้วยกัน (syncretism) กับภูมิหลังที่เป็นฆราวาสนิยมที่ปฏิเสธมุมมองที่ยอมรับสิ่งเหนือธรรมชาติ ในการเผชิญกับสิ่งท้าทายต่างๆ ที่เกิดจากวัฒนธรรมพิเศษนั้น ปฏิกิริยาแรกอาจจะเป็นความรู้สึกงุนงงสับสนไม่สามารถวัดและประเมินปรากฎการที่อยู่เบื้องหลัง สิ่งนี้ต้องไม่นำไปสู่การเมินเฉยในส่วนของชุมชนคริสตชน ซึ่งนอกจากจะประกาศพระวรสารแก่ผู้ที่ยังไม่รู้จักพระวรสารแล้ว พระศาสนจักรยังได้รับเรียกให้สนับสนุนลูกๆ ในการตระหนักรู้ถึงความเชื่อของพวกเขาด้วย คุณค่าที่วัฒนธรรมในยุคปัจจุบันให้น้ำหนักคือเสรีภาพในการเลือกความเชื่อของตนเองนั้น  สามารถเข้าใจได้ว่าเป็นโอกาสอันมีค่าที่จะทำให้เกิดความยึดมั่นในพระเจ้า เป็นการกระทำที่เข้าถึงเป็นส่วนตัวอย่างลึกซึ้ง มีวุฒิภาวะและเกิดจากการไตร่ตรองอย่างรอบคอบ ด้วยเหตุผลประการนี้เองจึงเป็นที่ชัดแจ้งว่าทำไมการสอนคำสอนจะต้องมีความเกี่ยวพันลึกซึ้งกับการประกาศข่าวดี สิ่งนี้จะช่วยบรรดาคริสตชนให้มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนมั่นคงและสงบนิ่งในการเสวนากับโลก ในการให้คำอธิบายถึงเหตุผลเกี่ยวกับความหวังของคริสตชนด้วยความอ่อนโยน ด้วยความเคารพและด้วยมโนธรรมที่ตรงไปตรงมา (เทียบ 1 ปต 3:15-16)

 

323.       จากมุมมองด้านวัฒนธรรมทางสังคมนั้นเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า กระบวนการต่างๆ ด้านการสื่อสารมวลชนมีอิทธิพลสำคัญในการเร่งให้เกิดกระแสสังคม ซึ่งหากในแง่หนึ่งมันเสนอความเป็นไปได้ในทันที่ที่จะทำให้เกิดความรู้สึกว่าตนเองเป็นสมาชิกของครอบครัวมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่มีส่วนร่วมในโครงการและทรัพยากรต่างๆ ในทางกลับกันทำให้เกิดการสร้างรูปแบบและการเลียนแบบ และที่สุดนำไปสู่การทำให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของอำนาจที่หลายครั้งมักจะมองไม่เห็น มากกว่านั้น “เรากำลังอยู่ในสังคมที่ถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูลข่าวสาร ซึ่งถาโถมใส่เรา โดยปราศจากการพิเคราะห์แยกแยะถึงเนื้อหา  ทุกข่าวสารอยู่ในระดับเดียวกัน และจบด้วยการนำเราไปสู่ความผิวเผิน ในช่วงเวลาที่ต้องพูดถึงปัญหาทางจริยธรรม เพราะฉะนั้น การศึกษาที่สอนให้คิดในลักษณะการวิพากษ์และการเสนอแนวทางการบรรลุวุฒิภาวะในเรื่องของคุณค่านั้น จึงเป็นเรื่องจำเป็น”[3]

 

324.       ชุมชนพระศาสนจักร ถูกเรียกให้มองดูด้วยจิตวิญญาณแห่งความเชื่อในสังคมที่อาศัยอยู่เพื่อ “ค้นหารากฐานของวัฒนธรรม ซึ่งในแกนที่ลึกที่สุดของมันมักจะเปิดกว้างและแสวงหาพระเจ้า”[4] เพื่อตีความหมายของการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่ดำเนินไปเพื่อนำความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสารแก่พวกเขา ซึ่งจะฟื้นฟูและทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างมีชีวิตชีวา ด้วยเหตุผลนี้เอง จำเป็นจะต้องกระตือรือร้นที่จะเข้าไปในจุดเชื่อมต่อต่างๆ ของการดำรงอยู่ สภาพแวดล้อมทางมานุษยวิทยา และ modern areopagi อภิรัฐสภาสมัยใหม่ (ดู กจ 17:22 คำปราศรัยของเปาโลต่ออภิรัฐสภา) ที่ซึ่งแนวโน้มทางวัฒนธรรมนั้นถูกสร้างขึ้น ที่ซึ่งกระแสความคิดใหม่ๆ ได้ก่อตัวขึ้น กล่าวคือในโรงเรียน การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และสภาพของที่ทำงานต่างๆ เป็นต้นว่าพื้นที่ของสื่อสังคมและการติดต่อสื่อสาร  ขอบเขตของความรู้ความคิดและความสนใจของความพยายามในการสร้างสันติภาพ  การพัฒนา  การปกป้องสิ่งสร้าง  การปกป้องสิทธิต่างๆ ของผู้ที่อ่อนแอที่สุด  โลกของเวลาว่าง  ของการท่องเที่ยว  ความเป็นอยู่ที่ดี  พื้นที่ทางด้านวรรณกรรม  ดนตรี และของการแสดงออกทางด้านศิลปกรรมที่หลากหลาย

 

325.       โฉมหน้าที่มีรูปแบบหลากหลายของความเป็นจริงอันเกิดจากองค์ประกอบที่สับสนของพหุนิยมทางศาสนาและวัฒนธรรม ที่สำคัญที่สุดนั้นปรากฎในชีวิตมนุษย์แต่ละปัจเจก  ซึ่งลักษณะภายในที่สะท้อนออกมาโดยเฉพาะในปัจจุบันนี้มีความเป็นพลวัต  ซับซ้อน  และหลากหลายแง่มุม  เพื่อการรับใช้มนุษยชาติอย่างเป็นรูปธรรมเป็นเหตุผลสูงสุดที่ทำให้พระศาสนจักรจะต้องมองไปที่วัฒนธรรมต่างๆ ของมนุษย์ และด้วยท่าทีของการรับฟังและการเสวนา จะต้องตรวจสอบทุกสิ่งขณะที่สงวนรักษาในสิ่งที่ดีเอาไว้ (เทียบ 1 ธส 5:21) ภายในพระศาสนจักรท้องถิ่นและชุมชนคริสตชนทุกแห่งหรือกลุ่มต่างๆ ของพระศาสนจักรจะต้องเป็นผู้ที่ตระหนักถึงการอภิบาลนี้เพื่อที่จะสร้างความเข้าใจเรื่องการประกาศข่าวดี เรื่องพระเยซูเจ้า(Kerygma) ที่สามารถปรับใช้กับแนวความคิดที่หลากหลาย เพื่อว่ากระบวนการสอนคำสอนจะได้อยู่ในวัฒนธรรมอย่างแท้จริงในสถานการณ์ต่างๆ และข่าวดีแห่งพระวรสารจะได้ส่องสว่างแก่ทุกๆชีวิต การประเมินผลด้านการอภิบาลจึงต้องคำนึงถึงพื้นที่ของมนุษย์บางส่วนที่มีลักษณะเฉพาะด้วย กล่าวคือ บริบทชุมชนเมืองตามเมืองใหญ่ ชนบท และพื้นที่ที่มีวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น

 

บริบทในเมือง

326.       ความเป็นจริงของเมืองและการรวมตัวของมหานครใหญ่ในลักษณะพิเศษเป็นปรากฎการณ์หลากหลายรูปแบบและเป็นสากลที่มีความสำคัญยิ่งต่อมนุษยชาติมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการได้สัมผัสความเป็นรูปธรรมชองชีวิตประจำวันในรูปแบบต่างๆ นั้นส่งผลต่อความเข้าใจในตัวเอง  ต่อความสัมพันธ์ที่เขาเจริญชีวิต และต่อความหมายของชีวิต  ในเมืองใหม่ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับสภาพเมืองในสมัยก่อนหรือวัฒนธรรมชนบทจะเห็นว่ารูปแบบต่างๆ ทางวัฒนธรรมนั้นจะถูกกำหนดโดยสถาบันอื่นๆ ไม่ได้ถูกกำหนดโดยชุมชนคริสตชนอีกต่อไปโดยมี “ภาษาใหม่ สัญลักษณ์ สาร และกระบวนทัศน์ ซึ่งเสนอแนวทางชีวิตรูปแบบใหม่ ซึ่งบ่อยครั้งตรงข้ามกับพระวรสารของพระเยซูเจ้า”[5] ซึ่งไม่ได้หมายความว่าสำนึกทางศาสนาหายไปจากชีวิตของชาวเมือง แม้ว่าจะสอดแทรกอยู่ในรูปแบบต่างๆ ก็ตาม  ดังนั้นจึงต้องค้นให้พบและชื่นชม  พระศาสนจักรถูกเรียกให้ก้าวเดินด้วยความถ่อมตนและกล้าหาญบนหนทางของการประทับอยู่ของพระเจ้าและ “เราต้องมองดูเมืองด้วยสายตาที่พิศเพ่งรำพึง ซึ่งหมายถึงสายตาแห่งความเชื่อที่ค้นพบพระเจ้าผู้ทรงประทับอยู่ในบ้านของพวกเขา  ในถนน  และบนลานเมือง”[6] กลายเป็น “สิ่งที่มีอยู่ของคำทำนายซึ่งทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับคุณค่าและหลักการของพระอาณาจักรของพระเจ้า”[7] ก่อนที่จะกลายเป็นความสับสนและความขัดแย้งของการดำรงอยู่ทางสังคม

 

327.       ในการตื่นตัวของการอภิบาลนั้นสามารถส่องสว่างด้วยพระวาจาขององค์พระผู้เป็นเจ้าสู่ใจกลางเมือง “ที่ซึ่งเรื่องราวและกระบวนทัศน์ใหม่ๆ ได้ถูกทำให้ก่อตัวขึ้น”[8] ความคิดริเริ่มในการสอนคำสอนจะต้องเป็นการประกาศที่โปรงใส มีมนุษยธรรมและเต็มไปด้วยความหวังเมื่อเปรียบเทียบกับการแบ่งแยก ความไร้มนุษยธรรมและความรุนแรงที่มักปรากฏในบริบทของเมืองใหญ่ “การประกาศพระวรสารจะเป็นฐานสร้างศักดิ์ศรีของชีวิตมนุษย์ในบริบทเหล่านี้ เพราะพระเยซูเจ้าทรงปรารถนาจะประทานชีวิตอย่างอุดมสมบูรณ์ในเมือง” (เทียบ ยน 10:10)”[9]

 

328.       หากชีวิตคนเมืองเป็นโอกาสเดียวสำหรับหลายๆ คนในการเปิดมุมมองใหม่ๆ โอกาสสำหรับการแบ่งปันแบบพี่น้องและการใช้ชีวิตของตน ก็แทบจะกลายเป็นสถานที่แห่งความโดดเดี่ยว ความผิดหวังและความหวาดระแวงที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เพียงเพราะว่ามันเปลี่ยนเป็นพื้นที่ที่คนในสังคมกลุ่มต่างๆ มาจบลงที่การไม่รู้จักกันและกันหรือดูถูกซึ่งกันและกัน นี่เป็นโอกาสในการนำเสนอการสอนคำสอนอย่างสร้างสรรค์โดยได้รับแรงบันดาลใจจากการสอนคำสอนผู้ใหญ่เข้าเป็นคริสตชนจะสามารถนำเสนอต่อชุมชนในเนื้อหาของความเชื่อ ซึ่งโดย   การเปิดตัวเองจะได้เห็นคุณค่าของแต่ละบุคคลและทุกคนจะได้รับการนำเสนอน้ำมันหอมแห่งความเชื่อปัสกาเพื่อจะบรรเทาความเจ็บปวดที่มีอยู่ในสังคม ในบริบทของกระบวนการทางคำสอน  เราสามารถ “จินตนาการถึงพื้นที่การภาวนาและความเป็นหนึ่งเดียวกัน  พร้อมด้วยคุณลักษณะที่คิดค้นขึ้นใหม่  ที่น่าดึงดูดและมีความหมายสำหรับประชากรชาวเมือง”[10] อาทิเช่น โดยการสร้างสัญลักษณ์และเรื่องราวต่างๆ ที่นำจิตสำนึกของการเป็นเจ้าของชุมชนให้กลับมา  ซึ่งมักจะเลือนหายไปง่ายๆ  การสอนคำสอนในเมืองใหญ่ที่มีเนื้อหาสร้างแรงบันดาลใจจะสามารถเปลี่ยนวัดให้กลายเป็นชุมชนของชุมชนทั้งหลายหรือกลุ่มต่างๆ ซึ่งโดยการจัดให้มีประสบการณ์ของความใกล้ชิดกันฉันพี่น้องอย่างแท้จริง  ก็เผยแสดงให้เห็นความเป็นมารดาของพระศาสนจักรและนำเสนอประจักษ์พยานที่เป็นรูปธรรมของความเมตตาและความอ่อนโยนซึ่งก่อให้เกิดทิศทางและความหมายแก่ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเมือง

 

บริบทในชนบท

329.       มีความสำคัญเท่าๆ กับกระบวนการของการกลายเป็นเมืองที่กำลังดำเนินอยู่ เราไม่สามารถลืมบริบทชนบทจำนวนมากที่ผู้คนต่างอาศัยอยู่และที่พระศาสนจักรอยู่ด้วยที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน ในสมัยของเรา ความใกล้ชิดนี้จะต้องได้รับการกล่าวย้ำและฟื้นฟูเพื่อช่วยให้ชุมชนในชนบทปรับทิศทางตนเองเมื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่คุกคามที่จะเปลี่ยนอัตลักษณ์และค่านิยมของพวกเขา แผ่นดินเป็นพื้นที่ซึ่งเป็นไปได้ที่จะมีประสบการณ์เกี่ยวกับพระเจ้า เป็นที่ที่พระองค์ได้เผยแสดงพระองค์เอง (เทียบ สดด 19:1-7) ในแผ่นดิน “ซึ่งไม่ใช่ผลของความบังเอิญ  แต่เป็นของขวัญจากความรักของพระองค์ (เทียบ ปฐก 1-2) องค์พระผู้สร้างอนุญาตให้ความใกล้ชิด พระญาณเอื้ออาทร และการเอาใจใส่ดูแลได้ฉายแสงมายังทุกชีวิตโดยเฉพาะครอบครัวมนุษย์ พระเยซูเจ้าทรงได้ใช้ฤดูกาลและการเพาะปลูกในนิทานเปรียบเทียบและคำสอนต่างๆ ของพระองค์ เริ่มต้นจากสิ่งสร้างเพื่อไปถึงองค์พระผู้สร้าง เป็นความเฉลียวฉลาด หากได้นำวิธีการนี้มาใช้ ซึ่งจะทำให้ชุมชนคริสตชนได้พบหนทางในการประกาศข่าวดีและการสอนคำสอนเสมอ

 

330.       การเพาะปลูกบนผืนดิน การดูแลพืชพันธุ์และสัตว์ต่างๆ การผลัดเปลี่ยนของวันและคืน การผ่านไปของสัปดาห์ ของเดือน และของฤดูกาลต่างๆ เป็นเครื่องเตือนให้เคารพจังหวะเวลาของสิ่งสร้าง  เตือนให้เจริญชีวิตตามวิถีธรรมชาติรักษาสุขภาพ และดังนั้นเป็นการค้นพบช่วงเวลาสำหรับตนเองและสำหรับพระเจ้า นี่คือสารแห่งความเชื่อที่การสอนคำสอนจะช่วยให้ค้นพบ การแสดงถึงความสมบูรณ์ในรอบปีพิธีกรรมและองค์ประกอบทางธรรมชาติที่พิธีกรรมนำมาปรับใช้ นอกจากนี้ วัฒนธรรมการเพาะปลูกยังรักษาค่านิยมในลักษณะที่มองเห็นได้ชัดยิ่งขึ้น  ซึ่งไม่ได้รับการส่งเสริมนักจากสังคมบริโภคนิยม เช่น ความเรียบง่ายและความเป็นปึกแผ่นของวิถีชีวิต การต้อนรับและความสามัคคีในความสัมพันธ์ทางสังคม คุณค่าของการทำงานและการเฉลิมฉลอง การปกป้องสิ่งสร้าง ล้วนเป็นทางเปิดแล้วสำหรับการประกาศข่าวดีแห่งพระวรสาร การสอนคำสอนเป็นการให้คุณค่าของขุมทรัพย์อันนี้ เน้นให้เห็นความหมายในมุมมองของคริสตชน สิ่งที่เพิ่งถูกกล่าวถึงคือการเพิ่มคุณค่าให้กับทั้งพระศาสนจักรซึ่งได้รับเรียกให้แผ่ขยายความคิดนี้โดยผ่านทางโครงการการอบรมให้เกิดการไตร่ตรองเกี่ยวกับการเอาใจใส่ต่อสิ่งสร้างและต่อวิถีชีวิต

 

ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น

331.       แนวโน้มของวัฒนธรรมสากลที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นรูปแบบเดียวกัน การรุกรานของสื่อมวลชนและการอพยพย้ายถิ่นเพื่อมีชีวิตที่ดีกว่า เป็นเงื่อนไขและมีผลกระทบต่อประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างมาก ในบางกรณี“โลกาภิวัตน์ก่อให้เกิดการทำลายรากฐานทางวัฒนธรรมอย่างรวดเร็ว  อันเนื่องมาจากการบุกรุกเข้ามาของแนวโน้มในวัฒนธรรมอื่นๆ ซึ่งพัฒนาแล้วทางเศรษฐกิจ แต่อ่อนแอทางจริยธรรม”[11] ความขัดแย้งต่างๆ บางประการของวัฒนธรรมปัจจุบันได้ถูกกล่าวถึงโดยสภาสังคายนา ดังตัวอย่างเกี่ยวกับความกลมกลืมระหว่างวัฒนธรรมสากลและลักษณะเฉพาะของประชาชนแต่ละกลุ่ม ระหว่างการส่งเสริมสิ่งที่รวมผู้คนจากทั่วโลกเป็นหนึ่งเดียวกันกับความซื่อสัตย์ต่อวัฒนธรรมท้องถิ่นต่างๆ (เทียบ GS 53-62) การไตร่ตรองเช่นนี้มีความเร่งด่วนอันเป็นผลมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องทำให้เข้ากับประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ พระศาสนจักรย้ำเสมอถึงความจำเป็นในการให้ความสนใจเป็นพิเศษกับความเฉพาะเจาะจงของท้องถิ่นและความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่มีความเสี่ยงที่จะถูกประนีประนอมโดยกระบวนการทางเศรษฐศาสตร์การเงินทั่วโลก

 

332.       ในหลายประเทศมีชนพื้นเมือง (เรียกอีกอย่างว่าชาวอะบอริจินหรือชาวพื้นเมือง) ที่มีลักษณะเฉพาะทางภาษา พิธีการ และขนบธรรมเนียมที่เป็นเอกลักษณ์ของพวกเขา การฉลอง ประเพณี และจัดระเบียบชีวิตครอบครัวตามขนบธรรมเนียมของพวกเขาเอง ชนเผ่าบางกลุ่มรับความเชื่อคาทอลิกมาเป็นเวลานานแล้วเนื่องจากสอดคล้องกับวัฒนธรรมของพวกเขา โดยแสดงออกทางพิธีกรรมที่มีความเฉพาะ ผู้ทำงานอภิบาลที่สามารถมีส่วนร่วมในชีวิตของพวกเขาและมุ่งมั่นที่จะรู้จักและรักวัฒนธรรมท้องถิ่นเหล่านี้ “ควรหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งพระวาจาที่ซ่อนอยู่ท่ามกลางเพื่อนๆ ของตนด้วยความยินดีและเคารพ” (AG 11) พระศาสนจักรที่กำลังค้นพบการประทับอยู่ของพระจิตเจ้าซึ่งทำงานอยู่ในท่ามกลางชนพื้นเมืองต่างๆ ที่ทรงนำพวกเขาไปสู่การพัฒนาอย่างครบถ้วนในพระคริสตเจ้า ด้วยเหตุนี้ “ความดีใดๆ ที่พบหว่านอยู่ในหัวใจและสติปัญญาของมนุษย์  หรือในจารีตประเพณีและวัฒนธรรมโดยเฉพาะของชาติต่างๆ นั้น  มิใช่ไม่ให้สูญหายไปเท่านั้น แต่ยังได้รับการชำระให้บริสุทธิ์และเชิดชูจนถึงขั้นดีพร้อมเพื่อพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า” (AG 9)

 

333.       การสอนคำสอนที่เผยแผ่ในบริบทของประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น  จะต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษตั้งแต่แรกเพื่อทำความรู้จักกับผู้คนที่เสวนาด้วยความจริงใจและอดทน และจะต้องพยายามพิสูจน์วัฒนธรรมนั้นๆ โดยอาศัยความสว่างแห่งพระวรสารเพื่อค้นพบการทำงานขององค์พระจิตเจ้า “ซึ่งหมายถึงมากกว่าการยอมรับเมล็ดพันธุ์ของพระวาจาเป็นครั้งคราว เนื่องจากจะต้องมีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อที่แท้จริงของคริสตชน  โดยมีรูปแบบการแสดงออกและการเป็นสมาชิกของพระศาสนจักรในลักษณะเฉพาะเจาะจง”[12]  ในที่สุด  เนื่องจากทุกการแสดงออกทางวัฒนธรรมเช่นเดียวกับทุกกลุ่มสังคมต้องการการทำให้บริสุทธิ์และเติบโตเต็มที่ เป็นการแสดงถึงความสมบูรณ์และความใหม่ขององค์พระเยซูคริสตเจ้าผู้ทรงรักษาพวกเขาและปลดปล่อยพวกเขาให้พ้นจากความอ่อนแอและการบิดเบือนทั้งหลาย

 

334.       การเป็นครูคำสอนสำหรับชนพื้นเมืองเรียกร้องให้ละทิ้งทัศนคติที่ภาคภูมิใจและการดูถูกเหยียดหยามต่อผู้ที่อยู่ในวัฒนธรรมที่แตกต่างอย่างถ่อมตน จะต้องหลีกเลี่ยงความใจแคบและการประณามแบบอัตโนมัติ เช่นเดียวกับการตัดสินแบบง่ายๆ หรือยกย่องแบบง่ายๆ การยอมรับการเป็นศิษย์ธรรมทูตขององค์พระผู้เป็นเจ้าจะนำมาซึ่งความกล้าที่จะเสนอกระบวนการประกาศข่าวดีและการสอนคำสอนที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองโดยไม่ต้องฝืนใจตนเอง “ศาสนาคริสต์มิได้มีการแสดงออกทางวัฒนธรรมเพียงอย่างเดียว (...) ในความหลากหลายของผู้คนที่ได้รับพระพรจากพระเจ้า ในวัฒนธรรมเฉพาะของพวกเขา  พระศาสนจักรได้แสดงถึงความเป็นสากลที่แท้จริงและแสดงให้เห็นถึง ‘ความงดงามของใบหน้าที่มีรูปลักษณ์หลากหลาย’”[13]

 

335.       บรรดาครูคำสอนที่ทำงานอยู่ท่ามกลางชนพื้นเมืองจะต้องเอาใจใส่

-  ไม่ไปในนามของตนเองและตามลำพัง แต่ถูกส่งโดยพระศาสนจักรท้องถิ่น และยิ่งกว่านั้นไปเป็นกลุ่มกับศิษย์ธรรมทูตคนอื่นๆ

-  นำเสนอตนเองเป็นผู้สานต่องานประกาศข่าวดี  ถ้ามีผู้มาก่อน

-  แสดงตนอย่างชัดเจนว่ามีแรงจูงใจในการทำหน้าที่มาจากความเชื่อเท่านั้น ไม่ใช่ด้วยเจตนาทางด้านการเมืองหรือเศรษฐกิจ ควรใส่ใจใกล้ชิดก่อนอื่นหมดกับผู้เจ็บป่วย คนยากจนที่สุดและบรรดาเด็กๆ

-  พยายามที่จะเรียนรู้ภาษาพื้นเมือง พิธีการ ประเพณี โดยแสดงออกด้วยความเคารพ

-  ร่วมในพิธีการและการเฉลิมฉลองต่างๆ โดยรู้วิธีแก้ไขในเวลาที่เหมาะสมเพื่อเสนอแนะการปรับเปลี่ยนเล็กน้อยหากจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีอันตรายจากการประสานกันทางศาสนา (syncretism)

-  จัดให้มีการสอนคำสอนโดยแยกตามกลุ่มอายุ และจัดพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ โดยการปรับใช้ส่วนที่ดีของการเฉลิมฉลองตามประเพณีที่มีอยู่

 

ศรัทธาประชานิยม

336.       ศรัทธาประชานิยม เป็นผลของการอยู่ในวัฒนธรรมความเชื่อของประชากรของพระเจ้าในบริบทที่ปรากฏในหลากหลายรูปแบบตามความรู้สึกนึกคิดและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันออกไป ในชุมชนคริสตชนบางแห่งถือเป็นขุมทรัพย์อันมีค่าที่พระศาสนจักรครอบครอง  ที่มี “การแสดงออกเป็นพิเศษในการแสวงหาพระเจ้าและชีวิตด้านศาสนาต่างๆ ซึ่งเปี่ยมไปด้วยความร้อนรนและเจตนาอันบริสุทธิ์ซึ่งเราอาจเรียกได้ว่าเป็น ‘ศรัทธาประชานิยม’”[14] แต่อาจเรียกได้ว่าเป็น “‘จิตตารมณ์ท้องถิ่น’ หรือ ‘ศรัทธาประชาชน’ ซึ่งเป็นจิตตารมณ์ที่เกิดขึ้นในวัฒนธรรมของผู้คนสามัญทั่วไป ความศรัทธานี้มีใช่ว่าปราศจากเนื้อหาสาระ แต่แสดงออกถึงเนื้อหาในลักษณะที่เป็นสัญลักษณ์มากกว่าการใช้เหตุผล และเป็นการเน้นถึงเชื่อในพระเจ้า มากกว่า เชื่อถึงพระเจ้า[15] “เพื่อที่จะเข้าใจความเป็นจริงนี้ จำเป็นต้องมองด้วยสายตาของผู้เลี้ยงแกะที่ดี  ที่มิได้ต้องการพิพากษา แต่ต้องการที่จะรักโดยการเริ่มจากความรู้สึกร่วมตามธรรมชาติที่ความรักนำมาให้เท่านั้นที่เราจะซาบซึ้งในชีวิตพระที่ปรากฏอยู่ในความศรัทธาของประชากรคริสตชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนยากจนของพวกเขา”[16]

 

337.       ศรัทธาประชานิยมมีความสำคัญด้านชีวิตจิตอย่างปฏิเสธมิได้ เนื่องจาก “ได้แสดงให้เห็นถึงความกระหายหาพระเจ้า ซึ่งเฉพาะคนสุภาพและยากจนเท่านั้นที่จะรู้ มันทำให้ประชาชนมีใจกว้างและเสียสละได้จนถึงขั้นวีรกรรมตราบเมื่อมันเป็นการแสดงออกซึ่งความเชื่อนั้น มันเกี่ยวกับการรับรู้อย่างเฉียบแหลมถึงคุณลักษณะอันลึกซึ้งของพระเจ้า คือ ความเป็นบิดา พระญาณเอื้ออาทร และการประทับอยู่อย่างมั่นคงในความรักของพระเจ้า ทำให้เกิดท่าทีภายในจิตใจที่ไม่อาจเห็นได้ในที่อื่น ไม่ว่าจะเป็นความอดทน ความเข้าใจถึงกางเขนในชีวิตประจำวัน การตัดสละ การเปิดกว้างต่อผู้อื่น ความศรัทธาภักดี”[17] ยิ่งกว่านั้นศรัทธาประชานิยมก็มีความสำคัญทางสังคมเช่นกัน เพราะแสดงถึงความเป็นไปได้ในการเยียวยาผู้อ่อนแอทั้งหลาย เช่น ลัทธิชาตินิยมพิษสุราเรื้อรัง  ผู้ใช้ความรุนแรงในครอบครัว  ผู้เชื่อถือโชคลาง  ซึ่งในหลายๆ ครั้งมีอยู่ในวัฒนธรรมสมัยนิยม[18]

 

338.       ศรัทธาประชานิยมเฉลิมฉลองธรรมล้ำลึกต่างๆ ในชีวิตของพระเยซูคริสตเจ้า เหนืออื่นใดคือพระทรมานของพระองค์ เคารพพระมารดาพระเจ้าด้วยความอ่อนโยน   เฉลิมฉลองบรรดานักบุญและมรณสักขีทั้งหลาย  และภาวนาเพื่อผู้ตาย แสดงออกด้วยการเคารพต่อพระธาตุ การเยี่ยมสักการสถานต่างๆการจาริกแสวงบุญ การร่วมในขบวนแห่ การเดินรูป การฟ้อนรำทางศาสนา การสวดสายประคำ เหรียญที่ระลึก และการปฏิบัติต่างๆ ของแต่ละคน แต่ละครอบครัวและความศรัทธาชุมชน สิ่งนี้ “ในบริบททางโลกในที่ซึ่งประชาชนอาศัยอยู่ ค่อยๆ เป็นการประกาศความเชื่อที่ยิ่งใหญ่ของพระเจ้าผู้ทรงชีวิตที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ และเป็นหนทางในการส่งผ่านความเชื่อ”[19]  จนประกอบขึ้นเป็นการรักษาความเชื่อและความหวังของสังคมที่กำลังสูญเสียความเชื่อในพระเจ้าไป ในแง่นี้ศรัทธาประชานิยม “การแสดงออกที่แท้จริงถึงกิจการธรรมทูตของประชากรพระเจ้า  คือความเป็นจริงในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งพระจิตเจ้าทรงเป็นบุคคลสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่”[20]  เป็น“แหล่งทางเทววิทยา (locus theologicus)  ซึ่งเราต้องให้ความสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่เราคิดถึงการประกาศพระวรสารครั้งใหม่”[21]

 

339.       อย่างไรก็ดีเราไม่สามารถละเลยความจริงที่ว่าศรัทธาประชานิยมนั้นยังต้องการการดูแลและการทำให้บริสุทธิ์ เพราะ“มันมักจะถูกแทรกแซงโดยการบิดเบือนศาสนา และแม้แต่จากความเชื่อทางไสยศาสตร์มากมาย บ่อยครั้งมักอยู่ในระดับที่เป็นรูปแบบของการนมัสการหรือการบูชาต่างๆ ที่ไม่เป็นที่ยอมรับโดยความเชื่อแท้จริง และยังสามารถนำไปสู่การเกิดลัทธิต่างๆ ที่เป็นอันตรายต่อความเชื่อของชุมชนคริสตชนด้วย”[22] นอกจากนี้ รูปแบบต่างๆ ของศรัทธาประชานิยมอาจเสื่อมลงตามกาลเวลา โดยที่เป็นการปฏิบัติเพื่อเป็นไปตามประเพณีที่สืบต่อกันมาขณะที่หลงลืมความหมายดั้งเดิมที่แท้จริงไป อันตรายต่างๆ เช่นนี้มีสูงขึ้นโดยบทบาทของสื่อมวลชนที่มีต่อวัฒนธรรม ซึ่งมักเน้นแง่มุมด้านอารมณ์ความรู้สึกที่มีต่อปรากฎการณ์ทางศาสนา และหลายๆ ครั้งเพื่อจุดประสงค์ทางด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว

 

340.       เหนืออื่นใด การสอนคำสอนคือการเอาใจใส่ดูแลเพื่อเพิ่มพลังในการประกาศข่าวดีของการแสดงออกต่างๆ ของศรัทธาประชานิยม บูรณาการและส่งเสริมสิ่งเหล่านี้ในการอบรม โดยการรับแรงบันดาลใจจากการเฉลิมฉลองและสัญลักษณ์ต่างๆ ของประชาชนเพื่อรักษาความเชื่อและการถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง ในแง่นี้ศรัทธาประชานิยมที่ปฏิบัติอยู่หลายอย่างก็เป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์สำหรับการสอนคำสอนอยู่แล้ว ยิ่งไปกว่านั้นการสอนคำสอนจะต้องพยายามที่จะแสดงให้เห็นว่า ศรัทธาประชานิยมที่แสดงออกต่างๆ นั้นมีรากฐานมาจากการประกาศข่าวดี จากพระตรีเอกภาพจากองค์พระคริสตเจ้า  และพระศาสนจักรทำให้บริสุทธิ์ปราศจากทัศนคติผิดหลงและเปลี่ยนให้เป็นโอกาสสำหรับการอุทิศตนในการดำเนินชีวิตคริสตชน  การตีีความองค์ประกอบที่สำคัญต่างๆ ของกิจศรัทธาโดยอาศัยปรีชาญาณและการรับรู้ถึงแง่มุมต่างๆ ที่มีคุณค่าของมัน  โดยที่การสอนคำสอนจะแสดงถึงความเชื่อมโยงกับพระคัมภีร์และพิธีกรรม โดยเฉพาะพิธีบูชาขอบพระคุณในวันอาทิตย์  ด้วยวิธีนี้จะนำไปสู่การเป็นสมาชิกที่จริงใจในพระศาสนจักร การเป็นประจักษ์พยานที่แท้จริงในแต่ละวันและการแสดงออกซึ่งความรักที่แท้จริงต่อคนยากจน

 

สักการสถานและการจาริกแสวงบุญ

341. การเยี่ยมสักการสถานเป็นการแสดงถึงศรัทธาประชานิยมอย่างหนึ่ง  สักการสถานต่างๆ ซึ่งมี “คุณค่าเชิงสัญลักษณ์ในพระศาสนจักร” และ “ยังคงเป็นที่รับรู้ว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่บรรดาผู้แสวงบุญไปเพื่อจะได้มีโอกาสได้พบความเงียบสงบ  การพักผ่อนและการไตร่ตรองในชีวิตปัจจุบันที่มักเต็มไปได้ด้วยความวุ่นวาย” นั้นเป็น “สถานที่แห่งการประกาศข่าวดีที่แท้จริง  ที่ซึ่งตั้งแต่การประกาศครั้งแรกจนถึงการฉลองธรรมล้ำลึกศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เป็นการกระทำอันทรงพลานุภาพอันเป็นที่ซึ่งพระเมตตาของพระเจ้าทำงานในชีวิตของประชาชนถูกทำให้ปรากฎขึ้น”[23] การบริการด้านการอภิบาลของสักการสถานต่างๆ เป็นโอกาสที่เอื้อต่อการประกาศพระวาจาและการสอนคำสอน ซึ่งถูกเชื่อมโยงกับความทรงจำ (...) กับสารที่มีความพิเศษในตัวเอง กับ “พรพิเศษ” ที่ได้รับจากองค์พระผู้เป็นเจ้าและเป็นที่พระศาสนจักรรับรอง และกับขุมทรัพย์ของธรรมประเพณีต่างๆ ซึ่งบ่อยครั้งมีความร่ำรวยลุ่มลึกและฝังรากในที่แห่งนั้นอยู่แล้ว”[24]

 

342.       มีความเชื่อมโยงระหว่างมิติด้านอภิบาลของสักการสถานต่างๆ กับประสบการณ์ของการจาริกแสวงบุญซึ่งมีคุณค่าอย่างยิ่ง อันที่จริง “การตัดสินใจเพื่อไปเยี่ยมสักการสถานนั้นก็เป็นการประกาศความเชื่ออยู่แล้ว กล่าวคือการจาริกแสวงบุญนี้เป็นบทเพลงแห่งความหวัง และการมาถึงยังเป้าหมายเป็นการพบปะแห่งความรัก”[25] โดยการค้นพบรากเหง้าของพระคัมภีร์และความสำคัญทางมานุษยวิทยาของการเดินทางอีกครั้ง และด้วยการตามรอยเส้นทางของนักแสวงบุญผู้ศักดิ์สิทธิ์จำนวนมาก ชุมชนคริสตชนจะสามารถสะท้อนให้เห็นว่าการแสวงบุญเป็นเครื่องมือที่เกิดผลในการประกาศและการเติบโตในความเชื่อ

 

[2]  รูปแบบของรูปทรงที่มีหลายด้านถูกใช้เป็นครั้งแรกในการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นท้องถิ่นและโลกาภิวัตน์ : cf EG 236 and Francis, Message for the third festival of the social doctrine of the Church (21st November 2013). รูปแบบนี้สามารถช่วยให้เข้าใจความสำคัญของพรสวรรค์และพระพรต่างๆ ในความเป็นหนึ่งเดียวกันของพระศาสนจักรด้วย cf ibid, Address to the Renewal in the Holy Spirit movement (3rd July 2015) and ChV 207, และในที่สุดจะมาพร้อมกับพลวัตของการเข้าใจสถานการณ์ที่มีความซับซ้อนของงานอภิบาล cf AL 4, และในความหมายท้ายสุดนี้เองที่ข้อความนี้หมายถึง 
[3] EG 64.
[4] Francis, Address to Paritciapnts at the International Pastoral Congress on the World’s Big Cities (27th November 2014)  
[5] EG 73.
[6] EG 71.
[7] Fifth general conference of the episcopate of Latin America and the Caribbean, document of Aparecida (30th May 2007), 518. 
[8] EG 74.
[9] EG 75.
[10] EG 73.
[11] EG 62.
[12] EG 68. 
[13] EG 116; Cf also John Paul II, Apostolic Letter Novo millennio ineunte (6th January 2001). 
[14] GDC 195; cf Congregation for Divine Worship and the Discipline of the Sacraments, Directory on Popular Piety and the Liturgy. Principles and Guidelines (17th December 2001). 
[15] EG 124: cf also Fifth general conference of the episcopate of Latin America and the Caribbean, document of Aparecida (30th May 2007), 262-263.
[16] EG 125.
[17] EN 48.
[18] Cf  EG 69.
[19] Fifth general conference of the episcopate of Latin American and the Caribbean, document of Aparecida (30thMay 2007), 264. 
[20] EG 122. 
[21] EG 126.
[22] EN 48.             
[23] Francis, Apostolic Letter Sanctuarium in ecclesia (11th February 2017).  
[24] Pontifical Council for the Pastoral Care of Migrants and Itinerant People, The Shrine, Memory, Presence and Prophecy of the Living God (8th May 1999), 10.
[25] Fifth general conference of the episcopate of Latin America and the Caribbean, document of Aparecida (30th May 2007), 259.