ครอบครัวคาทอลิกในเอเชีย  พระศาสนจักรระดับบ้านของผู้ยากไร้ในพันธกิจแห่งเมตตาธรรม

บทนำ   เรา  ตัวแทนในการประชุมสามัญครั้งที่  11  ของสหพันธ์สภาพระสังฆราชแห่งเอเชีย (FABC) ได้มารวมกันที่โคลัมโบ  ศรีลังกา  ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน  ถึง 4  ธันวาคม 2016 ขอสรรเสริญพระเจ้าที่โปรดให้เรามีโอกาสมาพบปะกันในฐานะพระศาสนจักรในเอเชีย  เป็นการแสดงออกถึงความสัมพันธ์  และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มิใช่กับพระศาสนจักรสากลเท่านั้น แต่กับพระศาสนจักร  เฉพาะในเอเชียด้วย เราคิดถึงพี่น้องพระศาสนจักรในประเทศจีน   และหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในไม่ช้า  การรวมกันเช่นนี้ในอนาคตอาจเป็นตัวแทนแท้จริงถึงความเป็นหนึ่งเดียว และความแตกต่างยิ่งใหญ่ของเอเชีย

ขอขอบคุณรัฐบาล และพระศาสนจักรในศรีลังกาที่ได้ต้อนรับอย่างอบอุ่น การมาเยือนประเทศในช่วงเวลาที่ผ่านไปไม่นาน  ได้เห็นการทำงานเพื่อการคืนดีอย่างสร้างสรรค์  และเพียรพยายาม  เราอธิษฐานขอพระเจ้า ประทานสันติภาพแก่แผ่นดินนี้  และในหัวใจของทุกคน

การเสวนาต่อเนื่องเรื่องครอบครัว

ไม่นานมานี้  สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ตระหนักถึงความสำคัญของครอบครัวต่อพระศาสนจักร และสังคม จึงได้ริเริ่มศึกษาเรื่องครอบครัวในพระศาสนจักรกล่าวคือ  สมัชชาพิเศษครั้งที่ 3  ของบรรดาพระสังฆราชเรื่องข้อท้าทายงานอภิบาลด้านครอบครัวในบริบทการประกาศข่าวดี (5-19  ตุลาคม 2014) การประชุมสามัญครั้งที่ 14  ของสมัชชาพระสังฆราช เรื่อง กระแสเรียก และพันธกิจของครอบครัวในพระศาสนจักรและในโลกสมัยปัจจุบัน (4-25ตุลาคม 2015)  ปีศักดิ์สิทธิ์พิเศษแห่งเมตตาธรรม (8 ธันวาคม  2015 - 20 พฤศจิกายน  2016) และการพิมพ์สมณลิขิตหลังสมัชชา ชื่อ  ความปิติยินดีแห่งความรัก (19  มีนาคม  2016)   การตระหนักถึงเรื่องดังกล่าวเพราะ “วัฒนธรรมมีหลักการทั่วไปที่เหมือนกัน และ แตกต่างกัน... ..จึงจำเป็นต้องรับการสอดแทรกความเชื่อเข้าในวัฒนธรรม  โดยต้องเคารพ  และรับการประยุกต์” (AL 3) สหพันธ์สภาพระสังฆราชแห่งเอเชียจึงได้เลือก สนทนากันเรื่องนี้ต่อในการประชุมสามัญครั้งที่ 11 ด้วยหัวข้อว่า ครอบครับคาทอลิกในเอเชีย พระศาสนจักรระดับบ้านของผู้ยากไร้ ในพันธกิจแห่งเมตตาธรรม

ความปิติยินดีในชีวิตครอบครัว

ระหว่างเวลาที่เราอยู่ด้วยกัน เราตระหนักถึงความสำคัญของครอบครัวต่อลักษณะพื้นฐานวัฒนธรรมเอเชีย  หลายศตวรรษ ครอบครัวเป็นรากฐานของสังคม และประเทศชาติ ความงดงามของครอบครัวต่างๆที่เรามิได้สร้างขึ้นด้วยครอบครัวที่ประกอบด้วยพ่อแม่ลูกเท่านั้น แต่เราเจริญชีวิต และเอาใจใส่เพื่อครอบครัวขยาย   เด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุ  ยังมีความสัมพันธ์กับครอบครัวเข้มแข็ง  เราจึงเรียนรู้คุณค่าของความเชื่อ  และการดำรงชีวิตชุมชน  ด้วยจิตตารมณ์แห่งเอกภาพ และเคารพซึ่งกันและกัน  ครอบครัวที่บิดามารดามีความเชื่อต่างกัน  และวัฒนธรรมต่างกัน แม้มีการท้าทายบ้าง แต่ก็ทำให้ชีวิตของพระศาสนจักรเพิ่มคุณค่าขึ้น   และส่งเสริมคุณค่าของความเข้าใจและการผสานกลมกลืนในสังคม

เราสัมผัสการประทับอยู่ของพระเจ้าในหลายครอบครัว ทำให้มีแนวทาง  การสนับสนุน และแรงบันดาลใจให้ยังคงซื่อสัตย์  เราดีใจที่ครอบครัวเอเซียมากมายให้ชีวิตและค้ำจุนความเชื่อในหลายชุมชน และหลายประเทศที่พวกเขาเลือกไปเริ่มชีวิตใหม่  ด้วยการเป็นศิษย์ธรรมทูต เราได้ฟังซึ่งกันและกัน และฟังความเห็นจากผู้นำศาสนาอื่น  เราขอบคุณพระเจ้าสำหรับของขวัญแห่งครอบครัวต่อพระศาสนจักรในเอเซีย เพราะเรารู้ว่าพระศาสนจักรเป็นความสัมพันธ์ของหลายครอบครัวที่ได้แบบอย่างความสัมพันธ์ของพระตรีเอกภาพ

ข้อท้าทายต่างๆต่อชีวิตครอบครัว

แม้เรายอมรับความปิติยินดีของชีวิตครอบครัว  เราก็มิได้ลืมข้อท้าทายต่างๆที่ครอบครัวมากมายได้เผชิญ  ทุกประเทศในเอเชียพบการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วที่มีผลกระทบชีวิตครอบครัว  ในช่วงเวลารุนแรงของประวัติศาสตร์  เราในเอเชียเผชิญข้อเท็จจริงที่กระทบแก่นชีวิตครอบครัว  เช่น ความยากจน  การอพยพ การคอร์รัปชั่น การค้ามนุษย์ และ  การโสเภณี รูปแบบใหม่ของลัทธิล่าอาณานิคม ความไม่เสมอภาคด้านเพศ  ความรุนแรงต่อชนกลุ่มน้อย  สภาพแวดล้อมเสื่อม ลัทธิหัวรุนแรงด้านศาสนา ครอบครัวลำเค็ญและแตกแยก  และสถานการณ์อื่นๆมากมาย   สิ่งเหล่านี้ทำให้ครอบครัวเครียดทั้งๆที่พวกเขาพยายามซื่อสัตย์  และหลายครอบครัวถูกทำร้าย และได้รับบาดแผล  ข้อท้าทายเหล่านี้ถูกทำให้รุนแรงขึ้นด้วยการเข้าถึงง่ายมาก  อาศัยสื่อแบบต่างๆมากมาย ที่ดูเหมือนกำลังเปลี่ยนแปลงคุณค่าพระวรสาร  ทีครอบครัวเอเชียให้ความสำคัญตลอดเวลา

การยอมรับข้อท้าทายมากมายที่เราเผชิญในเอเชีย  เรารู้ว่าชีวิตครอบครัวอยู่ในความลำบากในหลายทาง  ถึงแม้ในส่วนต่างๆของทวีป มี ความยากจนด้านเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง  เราสนใจความยากจนรูปแบบอื่นๆด้วย ทางด้านอารมณ์ จิตวิญญาณ ความสัมพันธ์ วัฒนธรรม สติปัญญา ร่างกายและสังคม  รูปแบบใหม่ของความยากจนมีผลทำให้ทิวทัศน์เอเชียกำลังเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว  ถึงแม้รูปแบบความยากจนสามารถทำให้ชีวิตเป๋ไป ครอบครัวต้องไม่กลัวที่จะอ้าแขนรับของขวัญแห่งชีวิต

ก้าวไปข้างหน้า

ในวันเหล่านี้ที่เราอยู่ด้วยกัน เราตระหนักถึงสถานการณ์ซับซ้อนที่อยู่ต่อหน้า  เราไม่มีคำตอบต่อทุกข้อท้าทายเหล่านี้  อย่างไรก็ดี สิ่งที่ชัดเจนคือ  เราต้องร่วมใจ รวมพลัง  และทรัพยากร มียุทธศาสตร์อย่างสร้างสรรค์เพื่อครอบครัวของเรา ดังที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสได้ตรัสว่า  “เรามิได้กำลังดำเนินชีวิตในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง  แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงยุคสมัย” (ประชุมระดับชาติของพระศาสนจักอิตาลี 2016) การเปลี่ยนแปลงยุคนี้มีผลกระทบครอบครัวพระศาสนจักรระดับบ้านของเรา ไม่เพียงต้องทำงานร่วมกันเท่านั้น   แต่ต้องส่งเสริมกันและกันด้วยในพันธกิจนี้  เราต้องร่วมกันแสวงหา  “ชีวิตจิตของครอบครัว” ที่มีรากฐานบนการพบปะส่วนตัวกับพระเยซูคริสตเจ้า เพื่อว่าเราสามารถช่วยเหลือและสนับสนุนกันระหว่างเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงและท้าทายนี้   หลายครอบครัวมีรากในวัฒนธรรมที่ร่ำรวย แห่ง การอธิษฐานภาวนาในครอบครัวและการแบ่งปันพระวาจา  ศีลมหาสนิทเป็นศูนย์กลางของครอบครัว  เพื่อดำรงวิถีชีวิตแบบประกาศก  เราเน้นสนับสนุนการดำเนินชีวิต เช่นนี้

เราขอให้บิดามารดาอบรมดูแลลูกๆในครอบครัว  เพราะ “ครอบครัวมิได้เป็นที่เกิดชีวิตใหม่เท่านั้น แต่เป็นของขวัญจากพระเจ้า”  (AL 166)  ขอให้เราเข้าใจว่า “ชีวิตใหม่ทำให้เราชื่นชมความรักที่ได้เปล่า   และทำให้เรามหัศจรรย์ใจเสมอ” (AL 166)

ถึงแม้เรามาจากบริบทที่แตกต่างกัน การเปลี่ยนแปลงครอบครัวก็เป็นปรากฏการณ์ที่มีผลต่อเราทุกคน ผลรูปธรรมของการประชุมสามัญครั้งที่ 11 นี้ คือ เอกสาร ครอบครัวคาทอลิกในเอเชีย  พระศาสนจักรระดับบ้านฃองผู้ยากไร ในพันธกิจแห่งเมตตาธรรม ซึ่งเราขอมอบให้ทุกครอบครัวเอเชีย ขอเชิญพระศาสนจักรท้องถิ่น  และครอบครัวศึกษา  และไตร่ตรองเอกสารฉบับนี้  หวังว่าบรรดาผู้เกี่ยวข้องกับงานครอบครัว จะนำวิถีทางนี้ไปปฏิบัติ จนเกิดความยินดีในชีวิตครอบครัว ส่งเสริมชีวิต  การแต่งงาน  และครอบครัว เป็นเพื่อนก้าวเดินไปด้วยกัน ส่งเสริม และสนับสนุนครอบครัวต่างๆ

ขอครอบครัวศักดิ์สิทธิ์แห่งนาซาแร็ธให้แรงบันดาลใจพระศาสนจักรในเอเชีย  และครอบครัวของเราให้เป็นศิษย์ธรรมทูตแห่งเมตตาธรรม


       พระคาร์ดินาล ออสวัลด์ กราซีอัส                                                        คุณพ่อเรย์มอนด์ โอทูล SFM
               ประธาน FABC                                                                              เลขาธิการ FABC
                                                                                                   พระสังฆราช วีระ อาภรณ์รัตน์ แปล
                                                                                                         16 ธันวาคม  2016