ในวารสารวิชาการวิทยาลัยแสงธรรม
ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2556 หน้า 129-152) ผศ. ดร. ประเสริฐ อินทร์รักษ์ และ ลัดดาวรรณ์ ประสูตร์แสงจันทร์ ได้เสนอบทความการวิจัยเรื่อง รูปแบบการพัฒนาครูคำสอนในโรงเรียนคาทอลิก
บทคัดย่อการวิจัยครั้งนี้
มีวัตถุประสงค์เพื่อทราบ 1) องค์ประกอบการพัฒนาครูคำสอนในโรงเรียนคาทอลิก 2) รูปแบบการพัฒนาครูคำสอนในโรงเรียนคาทอลิก 3) ผลการยืนยันรูปแบบการพัฒนาครูคำสอนในโรงเรียนคาทอลิก ประชากร คือ โรงเรียนคาทอลิกในประเทศไทย จำนวน 232 โรงเรียน กลุ่มตัวอย่างคือ โรงเรียนคาทอลิกในประเทศไทย จำนวน 144 โรงเรียน ผู้ให้ข้อมูลคือ ผู้บริหาร และครูคำสอน จำนวน 576 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่ามัชฌิมเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจ การวิเคราะห์สหสัมพันธ์ คาโนนิคอล และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจับพบว่า 1.องค์ประกอบการพัฒนาครูคำสอนในโรงเรียนคาทอลิก เป็นพหุองค์ประกอบ
มี 9 องค์ประกอบ คือ 1) ค่าตอบแทนและสวัสดิการ 2) ปัจจัยภายใน ตัวครูคำสอน 3) การจัดกิจกรรม อบรม ประชุม สัมมนา 4) ผู้บริหารโรงเรียน 5) การเสริมสร้างชีวิตจิต 6) การจัดตั้งกลุ่มครูคำสอน 7) การวางแผนพัฒนา 8) สถานที่ทำงาน และ 9) การกำหนดนโยบาย เป้าหมาย ทิศทางงานคำสอน
2.รูปแบบการพัฒนาครูคำสอนในโรงเรียนคาทอลิก เป็นความสัมพันธ์ของพหุองค์ประกอบ โดยองค์ประกอบด้านปัจจัยแวดล้อม ซึ่งประกอบด้วย
ค่าตอบแทนและสวัสดิการ การจัดกิจกรรม อบรม ประชุม สัมมนา ผู้บริหารโรงเรียน การเสริมสร้างชีวิตจิต การวางแผนพัฒนา สถานที่ทำงาน และ การกำหนดนโยบาย เป้าหมาย ทิศทางงานคำสอน มีความสัมพันธ์กับองค์ประกอบด้านทักษะความสามารถของครูคำสอน ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยภายในตัวครูคำสอนและการจัดตั้งกลุ่มครูคำสอน
3.ผลการยืนยันรูปแบบการพัฒนาครูคำสอนในโรงเรียนคาทอลิก
ผู้ทรงคุณวุฒิเห็นสอดคล้องกันว่า รูปแบบการพัฒนาครูคำสอนในโรงเรียนคาทอลิก มีความถูกต้องครอบคลุม เหมาะสม เป็นไปได้ และเป็นประโยชน์
ข้อเสนอแนะเพื่อนำผลวิจัยไปใช้ 1.ควรมีระบบค่าตอบแทนที่ชัดเจน
เหมาะสม ยุติธรรม เท่าเทียมกันทั่วประเทศ มีการมอบสวัสดิการพื้นฐานที่เหมาะสมจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตและสวัสดิการพิเศษเมื่อครูคำสอนเจ็บป่วย/เสียชีวิต มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของครูคำสอนให้สมดุล มีกองทุนช่วยเหลือครูคำสอนและครอบครัว มีการสร้างแรงจูงใจ โดยการมอบผลประโยชน์อื่นๆ ทั้งด้านวัตถุและด้านจิตใจ มีการกำหนดเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพ การพัฒนาสายอาชีพครูคำสอนที่ชัดเจนมีการจัดสรรทุน/งบประมาณที่เพียงพอสำหรับการฝึกอบรมพัฒนาครูคำสอน และการทำงานคำสอน รวมถึงมีการสร้างระบบรุ่นพี่ดูแลรุ่นน้อง และมีครูพี่เลี้ยง/ที่ปรึกษา/วิญญาณรักษ์ สำหรับครูคำสอน
2.ควรมีการเสริมสร้างให้ ครูคำสอนมีความตั้งใจ
เสียสละ อุทิศตนเพื่อส่วนรวม มีความรัก ความเชื่อ วางใจ และมีความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า ดำเนินชีวิตตามแบบอย่างของพระเยซูเจ้า มีความรักศรัทธาในอาชีพและมีจิตวิญญาณของความเป็นครู มีความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน มีชีวิตจิต/จิตตารมณ์ที่ดี มีทัศนคติที่ดี ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
3.ควรมีการจัดกิจกรรม อบรม ประชุม สัมมนาต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อครูคำสอนอย่างต่อเนื่อง
เพื่อให้ครูคำสอนมีการพัฒนาทั้งครบ ทั้งการประชุม อบรม สัมมนา ด้านพัฒนาบุคลิกภาพ ด้านการปฏิบัติงาน การจัดการ ด้านวิชาชีพ การสอนคำสอน การใช้และผลิตสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านพระคัมภีร์ ข้อความเชื่อ ชีวิตจิต การจัดกิจกรรม ทัศนศึกษาและกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ และเพื่อกระตุ้นจูงใจครูคำสอนให้มีพลังในการทำงาน สร้างสรรค์งาน บรรลุตามเป้าหมาย และเป็นไปในทิศทางที่ผู้บริหารและพระศาสนจักรคาทอลิกต้องการ
4.ผู้บริหารโรงเรียนควรให้ความสำคัญ
ส่งเสริม สนับสนุนครูคำสอน/งานคำสอน มีความเข้าในใจชีวิตครูคำสอน มีภาวะผู้นำและมีระบบการบริหารงานที่ดี มีจิตตารมณ์ด้านคำสอน เปิดโอกาสให้ครูคำสอนมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายและการวางแผนงานคำสอน กระจายอำนาจความรับผิดชอบให้ครูคำสอน กำหนดภาระงานให้ครูคำสอนอย่างสมดุล สอดคล้องกับความรู้และความสามารถของครูคำสอน ให้ความร่วมมือกับศูนย์คำสอนในการพัฒนาครูคำสอน และสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี
5.ควรมีการส่งเสริมให้ครูคำสอนได้เพิ่มประสบการณ์กับพระเจ้า
ได้ไตร่ตรอง รำพึง สวดภาวนา และพูดคุยกับพระเจ้าอย่างสม่ำเสมอ มีการเสริมสร้างชีวิตให้ครูคำสอนอย่างต่อเนื่อง และให้ครูคำสอนได้เข้าเงียบ/ฟื้นฟูจิตใจอย่างต่อเนื่อง
6.ควรมีการจัดตั้งกลุ่มครูคำสอนในระดับโรงเรียน ระดับสังฆมณฑล
และระดับชาติ/ประเทศ รวมถึงควรมีการสร้างความตระหนักถึงคุณค่าและประโยชน์ร่วมกันภายในกลุ่มครูคำสอน
7.ควรมีการวางแผนอัตรากำลังครูคำสอน
และการวางแผนงานคำสอนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง มีการพัฒนาโครงสร้างการบริหารจัดการงานคำสอน รวมถึงมีการพัฒนาหลักสูตรการสอนคำสอนให้สอดคล้องกับความต้องการขององค์กร ครูคำสอน และการดำเนินชีวิตในสังคมไทย
8.ควรมีสถานที่ทำงาน/ห้องทำงาน/ห้องศาสนา/ห้องคำสอน/ห้องจิตตาภิบาล ที่มีความสงบเงียบ ปลอดภัย มีสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการปฏิบัติงาน
และมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้ครูคำสอนใช้ในการทำงานคำสอน
9.ผู้บริหารระดับชาติ/พระศาสนจักรท้องถิ่น ผู้บริหารระดับเขตการปกครอง/สังฆมณฑล และผู้บริหารระดับโรงเรียน ควรมีการกำหนดนโยบายเป้าหมายและทิศทางงานคำสอนที่ชัดเจน
เป็นไปได้และสัมพันธ์สอดคล้องกันในแต่ละระดับ รวมทั้งมีการประกาศนโยบาย เป้าหมาย และทิศทางงานคำสอนให้บุคลากรทุกคนทุกระดับรับทราบร่วมกัน
ข้อเสนอแนะเพื่อการวิจัยครั้งต่อไป 1.ควรศึกษา
การทดลองใช้รูปแบบการพัฒนาครูคำสอนในโรงเรียนคาทอลิก กับโรงเรียนคาทอลิกของสังฆมณฑลและคณะนักบวช เพื่อสรุปเป็นองค์ความรู้ที่สมบูรณ์ต่อไป
2.ควรศึกษาเชิงลึกในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้นำและภาวะผู้นำที่ส่งผลต่อการพัฒนาครูคำสอนในโรงเรียนคาทอลิก 3.ควรศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบการพัฒนาครูคำสอนกับประสิทธิผลของการจัดการศึกษาแบบคาทอลิก
4.ควรศึกษารูปแบบการพัฒนาครูคำสอนของวัดคาทอลิก
|